1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะต้องได้รับในฐานะของผู้ใช้แรงงาน อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคอย่างมากทั้งจากภายในและภายนอกโรงงาน แม้จะเผชิญกับปัญหามากมายแต่การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันของคนตัวเล็กๆ อย่างแข็งขัน. ความสำเร็จของสหภาพแรงงานแห่งนี้อาจไม่ได้หมายถึงเฉพาะชัยชนะในการต่อรองกับทางฝ่ายนายจ้างเท่านั้น บทเรียนที่เกิดขึ้นในระหว่างการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในความพยายามกำหนดชะตาชีวิตของกลุ่มร่วมกันในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับอุ้งมือที่มองไม่เห็นขนาดใหญ่ ...
23-08-2552 (1756)
Midnight
University Statement:
Charern Watagsorn Prize 2009 for Triumph Workers, Thailand
คำประกาศเนื่องในโอกาสการมอบเหรียญเจริญ
วัดอักษร ประจำปี ๒๕๕๒
แก่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ (และสารัตถะเกี่ยวเนื่อง)
กองบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
ด้วยในปีนี้ สภามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้มีมติเป็นเอกฉันท์มอบเหรียญเจริญ
วัดอักษร ประจำปี ๒๕๕๒ ให้แก่
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ (เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.)
ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สามเสน กรุงเทพฯ
กำหนดการมอบเหรียญ ปาฐกถา
และการอภิปราย
๑๐.๐๐ - ๑๐.๒๐ น. คุณกรอุมา พงษ์น้อย กล่าวเปิดงานเรื่อง พลังและความหมายของคนตัวเล็กๆ
๑๐.๒๐ - ๑๑.๐๐ น. ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ (จิตรา คชเดช) แสดงปาฐกถาเรื่อง
บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ
๑๑.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. อภิปราย เรื่องทางเลือก ทางรอดของขบวนการแรงงานในยุคเสรีนิยมใหม่
โดย รศ. แล ดิลกวิทยรัตน์, รศ. ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ
๑๒.๐๐ - ๑๒.๑๕ น. พิธีมอบเหรียญเจริญ วัดอักษร แก่ ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์
สำหรับบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นการรวบรวมคำประกาศ รายงานเหตุการณ์ และปาฐกถาไว้ดังนี้
๑. คำประกาศเนื่องในโอกาสการมอบเหรียญเจริญ วัดอักษร ประจำปี ๒๕๕๒ แก่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์
๒.รายงาน: ม.เที่ยงคืน มอบเหรียญเจริญ วัดอักษร ให้ 'สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ'
๓. "บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ"
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด
"แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน")
สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๕๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
Midnight
University Statement:
Charern Watagsorn Prize 2009 for Triumph Workers, Thailand
คำประกาศเนื่องในโอกาสการมอบเหรียญเจริญ
วัดอักษร ประจำปี ๒๕๕๒
แก่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ (และสารัตถะเกี่ยวเนื่อง)
กองบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
1.
คำประกาศเนื่องในโอกาสการมอบเหรียญเจริญ วัดอักษร
ประจำปี ๒๕๕๒
แก่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้ใช้แรงงานตัวเล็กๆ ในการปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนในการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นที่อยู่ร่วมสังคม ในการปกป้องสิทธิของตนจากการแสวงหาประโยชน์ทั้งจากบรรดานักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยด้วยกันหรือต่างชาติ และจากทางภาครัฐที่มักมองเห็นความสำคัญของตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าชีวิตและความกินดีอยู่ดีของผู้ใช้แรงงาน
ด้วยบทบาทในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงาน ทำให้สหภาพแรงงานมักถูกมองไปในด้านลบ หรือถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ตระหนักถึงประโยชน์หรือความเจริญของส่วนรวม สหภาพแรงงานจึงมักไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคมมากเท่าใดในการดำเนินบทบาทเพื่อปกป้องคุณค่าและความหมายของผู้ใช้แรงงาน
อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกในห้วงเวลาปัจจุบันมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อระบบการจ้างงาน ระบบเสรีนิยมใหม่ที่เปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรี การแข่งขันในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ เป็นผลให้สหภาพแรงงานต้องตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบากมากขึ้น
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะต้องได้รับในฐานะของผู้ใช้แรงงาน อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคอย่างมากทั้งจากภายในและภายนอกโรงงาน แม้จะเผชิญกับปัญหาอย่างมากมายแต่การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันของคนตัวเล็กๆ อย่างแข็งขัน
ความสำเร็จของสหภาพแรงงานแห่งนี้อาจไม่ได้หมายถึงเฉพาะชัยชนะในการต่อรองกับทางฝ่ายนายจ้างเท่านั้น บทเรียนที่เกิดขึ้นในระหว่างการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในความพยายามกำหนดชะตาชีวิตของกลุ่มร่วมกันในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับอุ้งมือที่มองไม่เห็นขนาดใหญ่ นับเป็นคุณูปการที่จะมอบให้ทั้งกับผู้ใช้แรงงานและกับสังคมไทยที่จะได้มองเห็นถึงบทเรียน ข้อจำกัด รวมถึงการสร้างทางเลือกที่จะเป็นทางรอดให้กับคนตัวเล็กๆ ในสังคมไทยกลุ่มอื่นได้เรียนรู้ต่อไปในอนาคต
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอมอบเหรียญเจริญ วัดอักษร ประจำปี ๒๕๕๒ ให้กับทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์
2.
รายงาน: ม.เที่ยงคืน มอบเหรียญเจริญ วัดอักษร
ให้ 'สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ'
คัดมาบางส่วนจากประชาไทออนไลน์
http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25554
23 กรกฎาคม 52 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
จัดพิธีมอบเหรียญเจริญ วัดอักษร ประจำปี 2552 ให้แก่ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย
ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อ่านคำประกาศเนื่องในโอกาสการมอบเหรียญเจริญ
วัดอักษร ประจำปี 2552 แก่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ (ดังเนื้อความที่ปรากฏในตอน 1.)
จากนั้น รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านแรงงาน เป็นตัวแทนมอบเหรียญเจริญ
วัดอักษร แด่ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ บุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพฯ
กรอุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก - กุยบุรี กล่าวถึง "พลังและความหมายของคนตัวเล็กๆ" ว่า ที่วันนี้เราต้องมาค้นหาความหมายของคนตัวเล็กๆ ซึ่งก็คือประชาชนตาดำๆ เพราะในอดีต คนตัวเล็กๆ ถูกตีค่าให้เป็นแค่เพียงสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม ถูกตีค่าโดยคนตัวใหญ่ที่คิดว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียงออกแบบทุกอย่างได้ แต่ที่ผ่านมา กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกฯ ได้รู้จักตัวเองในอีกความหมายหนึ่ง ผ่านประสบการณ์คัดง้างกับนโยบายรัฐ และต่อสู้การกระทำของทุน ซึ่งมีกำหนดการสร้างโรงไฟฟ้าที่บ้านของพวกเรา ตอนนั้นถ้าคิดแบบที่เขาตีค่าวันนี้ ต้องประสบปัญหาวิถีชีวิตแน่ เพราะตอนนั้นคนตัวใหญ่บอกว่ากำลังพัฒนาประเทศชาติ และพลังงานไฟฟ้ากำลังขาดแคลน ทั้งที่ตอนนั้นไฟสำรองเหลือ 20% แต่การสร้างโรงไฟฟ้าเป็นไปเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ถูกกำหนดให้มีขึ้น แบบเดียวกับอิสเทิร์นซีบอร์ดที่ระยอง
กรอุมา กล่าวว่า จากการได้ฟังประสบการณ์การต่อสู้ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ทำให้ทราบว่า ประสบปัญหาแบบเดียวกัน คือต่อสู้กับปัญหาโครงสร้างที่รัฐกับทุนร่วมมือกันและแปรวิกฤตเป็นโอกาสของตัวเอง ขณะที่สหภาพแรงงานไทรอัมพฯ เจอประสบการณ์ทุนหว่านล้อมอิทธิพลท้องถิ่น เพื่อให้สามารถกระจายงานไปยังชนบท ชาวบ่อนอกเองก็เจอแรงเสียดทานแบบเดียวกัน กรณีของบ่อนอกฯ โชคร้ายกว่าที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนต้องเสียเจริญ วัดอักษรไป นอกจากนี้ ความเป็นคนเล็กคนน้อย ทำให้มีหลายท่านโดนคดี รวมทั้งตนเองด้วย ทั้งคดีแพ่งและอาญา โดยแม้ว่าโรงไฟฟ้าจะไปแล้ว แต่คดีความก็ยังไม่จบ
ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก - กุยบุรี กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาทั้งสองรอบไม่ได้กระทบกลุ่มของเธอแม้แต่น้อย โดยยังขายว่านหางจระเข้ สับปะรด กุ้งแชบ้วย ฯลฯ ได้ราคาดีอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากการยืนหยัดต่อสู้เพื่อรักษาวิถีชีวิตเอาไว้ และมีผลพลอยได้ คือ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นี่คือพลังเปลี่ยนแปลงสังคมที่เกิดจากการรวมตัวของคนเล็กคนน้อย และที่ผ่านมา ประเทศไทย มีคนเล็กคนน้อยอีกหลายกลุ่ม แม้ไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน แต่ก็ทำให้สังคมได้ตื่นรู้
กรอุมา กล่าวว่า ปัญหาที่พี่น้องไทรอัมพ์ประสบอยู่นั้น ไม่ได้เกิดจากเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เป็นสันดานของนายทุนที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ ที่คิดเพียงว่า ต้องเแสวงหากำไรสูงสุดและต้นทุนต่ำสุด โดยสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้เปิดเผยข้อมูลของบริษัทมาตลอดว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและยอดส่งออกยังดีอยู่ แต่สาเหตุที่มีการเลิกจ้างนั้น เป็นเพราะฝ่ายทุนพยายามสลายการรวมตัวของสหภาพแรงงานฯ ที่ที่เข้มแข็งและสามารถต่อรองกับนายทุนได้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของบริษัทถือเป็นความเลวร้ายอย่างที่สุด
เธอกล่าวว่า จากที่เคยประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน อยากให้กำลังใจว่า ตราบใดสหภาพฯ ไม่หมดพลังและเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง ก็เชื่อว่า จะพลิกฟื้นสถานการณ์และฝ่าฝันวิกฤตร่วมกันได้ สังคมเราโหดร้ายขึ้น พร้อมบดขยี้คนเล็กคนน้อยตลอดเวลา ถ้าไม่ช่วยกัน เราอาจจะราพณาสูร ถ้าจะให้มีพลังต้องรวมตัวกัน
อนึ่ง เหรียญเจริญ วัดอักษร เริ่มต้นขึ้นหลังจาก เจริญ วัดอักษร นักต่อสู้ภาคประชาชนของชาวบ้านกรูด-บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ทั้งนี้ เพื่อที่จะกระตุ้นให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงสิ่งที่เจริญ วัดอักษร ได้กระทำให้กับสังคมไทย ในฐานะผู้ดูแลปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงจัดให้มีการสร้างเหรียญเจริญ วัดอักษรขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่มอบให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ในการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย โดยผ่านกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การปกป้องทรัพยากร หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนในทุกรูปแบบ
ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้มอบเหรียญเจริญ วัดอักษร แด่ ชุมชนบ่อนอก-บ้านกรูด (2547) พระอธิการเอนก จนทปญโญ เจ้าอาวาสวัดคลองศิลา (สันทรายคองน้อย) พระนักอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง (2548) เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อ.จะนะ จ.สงขลา (2549) อรุณี ศรีโต ผู้นำแรงงาน (2550) และกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ (2551)
3.
"บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ"
"ความเข้มแข็งของเรา
ไม่มีอำนาจใดที่จะล้มล้างไปได้ และผมคิดว่า
ชุมชนของเราต้องดีขึ้นเมื่อพี่น้องประชาชนรวมตัวกัน
พลังของเรายิ่งใหญ่
หลายๆ เรื่องที่จะเข้ามาในชุมชน แม้แต่นายทุนข้ามชาติก็แล้วแต่
เราสู้ได้
ถ้าพี่น้อง ประชาชน ยังรวมตัวกัน"
เจริญ วัดอักษร
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 ได้ผ่านการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย)จำกัด มาอย่างต่อเนื่อง เรื่องค่าจ้างและสวัสดิการเรื่องสิทธิเสรีภาพของคนงาน เช่น การลางาน เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย
ในปี 2524 มีการยื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างเยอรมันหยุดกิริยาเหยียดหยามคนไทย ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการยื่นข้อเรียกร้องของคนงานและสหภาพแรงงานฯต่อบริษัทฯทั้งหมด ทุกอย่างไม่ได้มาจากนายจ้างใจดี และให้มาเฉยๆ โดยที่ไม่มีสาเหตุ บริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย)จำกัด ได้จดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้เช่าอาคารสิวะดล แถวถนนคอนแวนต์ สีสม กรุงเทพฯ โดยมีคนงานไม่กี่ร้อยคน และเริ่มขยายกิจการ
มีผู้ถือหุ้นที่น่าสนใจ คือนายเดวิด ไลแมน เจ้าของบริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์ บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายเก่าแก่ที่สุดในมืองไทย 100 กว่าปีและนางเลียวนี่ เดซี่ เวชชาชีวะ มีชาวเยอรมันเป็นหุ้นส่วนใหญ่ จดทะเบียนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุปันบริษัทตั้งอยู่ที่ที่ 393 หมู่ 17 นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ. สมุทรปราการ มีคนงานประมาณ 4,200 คน และทำการผลิตชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ วาเลเซีย สล๊อคกี้ AMO ,HOM และได้รับจ้างผลิตชุดชั้นในชื่อดังหลายยี่ห้อ เช่น มาร์คแอนสเปนเซอร์
ต่อมา บริษัทได้เริ่มขยายสาขาไปที่จังหวัดนครสวรรค์ ชื่อบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด. ที่อยู่ : 194/2 หมู่ 5 พหลโยธิน ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง จ. นครสวรรค์ 60240. และเมื่อปี 2551 บริษัทบอดี้แฟชั่นฯ นครสวรรค์ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นเงิน 75.5 ล้านบาท ได้ขยายโรงงานรองรับการผลิต บรรจุพนักงานได้ 2,000 กว่าคน
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เป็นสหภาพแรงงานฯ ที่ทำงานกับสมาชิกและคนงานมาโดยตลอด เราเป็นสหภาพแรงงานฯ ที่ใช้ระบบการเก็บเงินค่าบำรุง สื่อข่าวสาร รับเรื่องราวร้องทุกข์ รับคำเสนอแนะ ผ่านระบบตัวแทนไลน์ ตัวแทนแผนก และเป็นสหภาพแรงงานที่ประธานสหภาพมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่
ตัวแทนไลน์ ตัวแทนแผนกมาจากใหน? ก็คือ ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกในไลน์การผลิตนั้นๆ โดยใช้โครงสร้างของบริษัทให้เกิดประโยชน์คือตัวแทนไลน์เทียบเท่าหัวหน้างาน แต่มาจากการเลือกตั้งของคนในไลน์นั้น หนึ่งไลน์การผลิต เท่ากับประมาณห้าสิบคน ตัวแทนไลน์จะนำเรื่องต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมตัวแทนไลน์ซึ่งจัดให้มีเดือนละหนึ่งครั้ง และกรณีเร่งด่วนนำสู่กรรมการสหภาพแรงงานฯ กรรมการจะนำเรื่องเข้ามาแก้ปัญหาโดยเร็ว เมื่อมีคนงานใหม่ตัวแทนไลน์จะแนะนำให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานฯ จึงมีสมาชิกในฝ่ายผลิตเกือบร้อยเปอร์เซนต์ซึ่งถือว่าเป็นสหภาพแรงงานที่เป็นประชาธิปไตย
การจัดกิจกรรมสมาชิก สหภาพแรงงานจัดให้มีกลุ่มศึกษาในเวลาพักกลางวันใช้เวลาประมาณยี่สิบนาที เราจะคุยกันทุกเรื่อง เรื่องปัญหาในบ้าน ในโรงงาน ในบ้านเมือง และจัดให้การศึกษาหลังเวลาเลิกงานในเเรื่องต้นทุนการผลิต กำไร จำนวนงานที่ทำกับสิ่งที่เราได้รับผลตอบแทน และจัดให้กับเพื่อนคนงานในโรงงานทุกคน
สหภาพแรงงานฯ ได้ป็นสหภาพที่ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ได้เข้าร่วมเรียกร้องประกันสังคม เรียกร้องประกันการว่างงาน เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่สำคัญ เช่นเหตุการณ์พฤษภาปี 35 เข้าร่วมต่อต้านรัฐประหาร ปี 49 เราเรียกร้องสิทธิทำแท้งเข้าถึงสุขอนามัยและถูกกฎหมายรวมถึงเรียกร้องรัฐสวัสดิการ
ในปี 2535 สหภาพแรงงานฯ
ได้พาคนงานผละงานทั้งหมดเรียกร้องให้นายจ้างเข้ามาดูแลคนงานเรื่องสวัสดิการรถรับส่ง
ได้หยุดงาน 18 วัน จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีใช้มาตรา 35 ให้คนงานกลับเข้าทำงาน
เมื่อปี 2542 สหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ ไม่สามารถตกลงกันได้จนถึงขั้นนายจ้างปิดงาน
คนงานชุมนุมอยู่หน้าโรงงาน 22 วัน และได้มีข้อตกลงสภาพการจ้างออกมา เรื่องการเลิกจ้างให้นายจ้างต้องร่วมกับสหภาพแรงงานฯ
ให้เกิดความเป็นธรรมและเสมอภาค
ในบริษัทบอดี้ แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัด ได้มีระบบการจ้างงานที่ให้คนงานมีแรงจูงใจในการทำงานสำหรับพนักงานเย็บ คือเย็บงาน 40 ชิ้น บริษัทจะจ่ายเป็นคูปอง ในคูปองจะกำหนดนาทีแล้วแต่ความยากง่าย เมื่อได้นาทีแล้วจะต้องนำไปส่งตอนเย็นเลิกงาน และบริษัทจะนำคูปองมาคิดเป็นเงิน (ราคาต่อนาที มาจากการยื่นข้อเรียกร้อง ตัวอย่างเช่น วันนี้ทำงานได้ 500 นาที X ราคาคูปอง 1.300บาท = 650 บาท เท่ากับคนงานจะได้ค่าจ้าง 650 บาท ถ้าทำไม่ได้จะได้ค่าจ้างมาตรฐาน 333 บาท) ฉะนั้นคนงานยิ่งทำงานมากยิ่งได้เงินมาก พวกเราเลยได้เห็นการทำงานที่ไม่กินน้ำ ไม่เข้าห้องน้ำ เข้างานก่อนเวลา และป่วยเป็นโรคไต ปวดหลังกันมากที่สุด
เมื่อต้นปี 2547 บริษัทฯได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิต และจะใช้ที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรกนำร่อง และเริ่มใช้กับส่วนที่ผลิตชุดว่ายน้ำเท่านั้น ถ้าที่ไทยประสพความสำเร็จจะนำไปปฎิบัติที่อื่นต่อไป คือลดนาทีคูปองเคยเย็บได้ 40 ชิ้น ได้ 10 นาที มาเปลี่ยนเป็น 5 นาที สหภาพแรงงานฯ ได้ออกมาคัดค้านจนเป็นเหตุให้บริษัทฯไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จนถึงปัจจุปัน(พวกเราเชื่อว่าเป็นระบบการจ้างงานที่ขูดรีดแรงงานของเรามากที่สุดในโลก)
ในขณะเดียวกันเมื่อ ปี 2549 สหภาพแรงงานได้ตั้งคณะกรรมการสหภาพแรงงานชุดใหม่มี จิตรา คชเดช เป็นประธานสหภาพแรงงานฯ และเป็นพนักงานเย็บชุดว่ายน้ำและกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมดส่วนใหญ่เกินครึ่ง มาจากส่วนผลิตชุดว่ายน้ำ และในปีนี้เองเป็นปีแรกที่ประธานสหภาพมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่ ตั้งแต่กรรมการชุดใหม่ถูกเลือกตั้งมา เมื่อมีการเลิกจ้างคนงานไม่เป็นธรรม การจัดรถรับส่งที่ไม่ได้มาตรฐาน การจัดผ้ายูนิฟอร์มที่คุณภาพต่ำให้กับคนงาน การจัดงานวันครอบครัว การจัดงานไปเที่ยวต่างจังหวัดที่เป็นไปแบบไม่โปร่งใส รวมถึงการออกคำสั่งใบเตือนเร่งเป้าการผลิตสำหรับคนท้อง คนงานอายุมาก และความปลอดภัยในโรงงาน
คนงานในส่วนชุดว่ายน้ำจะเริ่มหยุดทำงานล่วงเวลา
และนำไปสู่การหยุดทำงานล่วงเวลาของคนงานทั้งโรงงาน และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบทุกเรื่องอย่างเข้มงวด
และสหภาพแรงงานได้ส่งกรรมการสหภาพเข้าไปดูแลทุกเรื่องอย่างใกล้ชิด มีอยู่ครั้งหนึ่งในบริษัทฯ
มีพนักงานเอาเหล้ามาดื่มในเวลาทำงานในวันหยุดทั้งหมดประมาณ 20 คน รวมถึงหัวหน้างานด้วย
บริษัทฯเลิกจ้างคนงานกินเหล้าในโรงงาน 5 คน สั่งพักงาน 1 คน ที่เหลือไม่มีการลงโทษใดๆ
ครั้งนั้นสหภาพแรงงานเรียกร้องให้บริษัทฯไม่เลือกปฏิบัติและมีคนงานหยุดการทำงานล่วงเวลา
จนเป็นเหตุให้บริษัทฯ รับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานตามปกติ
เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 พนักงานฝ่ายขายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้พร้อมใจกันผละงาน
เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเอาผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายขายออกไป และให้ผู้บริหารชาวสิงคโปรค์ออกมาขอโทษคนงาน
กรณีที่เอาเท้าเต๊ะงานให้พนักงานขายคนไทย และให้คืนค่าคอมมิชชั่นจากการขายให้เท่าเดิม
ในขณะนั้นสหภาพแรงงานได้เข้าไปร่วมเจรจาจนสามารถตกลงกันได้ และในครั้งนั้นพนักงานทั้งฝ่ายขายทั่วประเทศได้มาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด
ในปี 2550 ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ในขณะที่คนงานไทรอัมพ์กำลังจะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเพื่อปากท้องของตัวเอง พวกเราไม่สามารถจัดให้มีการประชุมสมาชิกได้ พวกเรามีทหารมาแจ้งว่า ไม่ให้จัดการประชุม และเราก็มีทหารมาตั้งเต๊นที่หน้าโรงงานเพื่อตรวจบัตรคนงานที่ทำโอที และถามว่าพวกเราจะไปใหนกัน ในขณะที่ประธานสหภาพแรงงานโดนนายจ้างเรียกไปขอความร่วมมือห้ามหยุดงานเพราะ กอ รมน. จังหวัดได้ขอร้อง
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 ประธานสหภาพแรงงานฯ จิตรา คชเดช ได้รับเชิญให้ไปออกรายการโทรทัศน์ ช่อง NBT เรื่อง "ทำท้องทำแท้ง" เวลา 5 ทุ่ม ในขณะที่ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองบริษัทฯ ได้ฉวยโอกาส วันที่ 28 เมษายน เริ่มมีใบปลิวเป็นกระดาษที่ใช้แล้วของบริษัทฯ ออกมาโจมตีประธานสหภาพฯ มีผู้จัดการบางคนทำใบปลิวด่าประธานสหภาพฯ โดยใช้กระดาษอุปกรณ์ทุกอย่างของบริษัททั้งหมด และในใบปลิวมีข้อความให้ทำร้ายและถ่ายเอกสารคอมเม้นท้ายข่าวเวปไซร์ผู้จัดการมาแจกคนงานวันที่ 30 เมษายน บริษัทฯ เรียกจิตรา ให้ไปชี้แจง เรื่องดังกล่าวและบอกว่าบริษัทไม่ได้มีปัญหาอะใร หลังการชี้แจงอนุญาตให้ใช้เครื่องเสียงและพื้นที่โรงอาหารของบริษัทฯ ในการชี้แจงต่อเพื่อนพนักงาน แต่สมาชิกสหภาพแรงงานเข้าใจทันทีว่า เป็นการทำลายสหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของประธาน
วันที่ 9 มิถุนายน 2551 สหภาพแรงงานฯ ยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง บริษัทฯได้นัดการเจรจาข้อเรียกร้อง ตัวแทนของบริษัทโดยนายมาคูส คาร์บิส(Markus Kabisch)กล่าวว่า "ไทรอัมพ์เป็นบริษัทที่มีบริษัทเป็นของตัวเอง ยังเป็นบริษัทท้ายๆที่คงโรงงานไว้ ตามตารางเห็นว่าไทรอัมพ์มีต้นทุนสูง เจ้าของกิจการอาจมีมุมมองในเรื่องการจ้างซับคอนแทคแทน" การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ จนนำไปสู่การพิพาทแรงงาน การเจรจาวันที่ 30 มิถุนายน 2551 สหภาพแรงงานฯ ได้แจ้งบริษัทว่า จะขอมตินัดหยุดงานในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551. วันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บริษัทฯและสหภาพแรงงานบรรลุข้อตกลง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหภาพแรงงานฯ ไม่คิดว่าจะได้ฟัง แบบไม่เชื่อว่าบริษัทจะให้ แต่เป็นที่พอใจของคนงานเป็นอย่างมาก
วันที่ 29 กรกฎคม 2552 เป็นวันที่บริษัทฯ เรียก จิตรา ประธานสหภาพแรงงาน ไปที่อาคารวานิชแล้วแจ้งว่าบริษัทได้เลิกจ้างตามคำสั่งศาล เมื่อคนงานทราบข่าว วันที่ 30 กรกฎาคม 2551 สมาชิกสหภาพแรงงานและคนงานเกือบทั้งหมดได้ผละงานออกมาประท้วง เรียกร้องให้บริษัทรับประธานสหภาพกลับเข้าทำงาน สมาชิกเชื่อว่าเป็นการทำลายสหภาพแรงงาน. วันที่ 12 กันยายน 2551 สามารถหาข้อยุติได้ เป็นเวลา 45 วัน
สหภาพแรงงานเข้าใจว่าที่สุดพวกเราไม่สามารถทนต่อสภาพที่ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน เงินให้ลูกไปโรงเรียน และเงินที่ต้องส่งให้พ่อกับแม่ที่ต่างจังหวัดได้ จึงปรึกษากันว่าทุกคนจะกลับเข้าทำงานและจะเก็บเงินเป็นค่าจ้างให้จิตรา อยู่กับสหภาพแรงงาน โดยเป็นเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาและจิตราไปสู้ในชั้นศาล
ศาลใช้เวลาไต่สวนสี่วันและหลังจากนั้นหนึ่งอาทิตย์ ศาลตัดสินว่าการใส่เสื้อที่มีข้อความ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ไปออกทีวีนั้นเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ให้นายจ้างเลิกจ้างได้ เพราะลูกจ้างไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติไทย
ในขณะที่บริษัทฯ มี CODE OF CONDUCT หลักปฎิบัติของไทรอัมพ์ได้พูดสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออก ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ได้รับมาตรฐานแรงงานไทย แต่รัฐบาล กระทรวงแรงงานไม่สามารถดำเนินการอะใรกับบริษัทฯ ได้ อ้างอย่างเดียวว่าอยู่ในชั้นศาล
วันที่ 29 มิถุนายน 2552 บริษัทได้ประกาศเลิกจ้างคนงานทั้งหมด 1,959 คน คนงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตชุดว่ายน้ำทั้งหมดถูกเลิกจ้าง เหลือไว้แต่พนักงานเย็บตัวอย่างชุดว่ายน้ำ ทำแพทเทิน ทำนาทีคูปอง และเหลือหัวหน้างานไว้ เพียง 8 คน คนงานในการผลิตชุดชั้นในที่ถูกเลือกส่วนใหญ่ คนท้อง คนอายุใกล้เกษียณ คนป่วย คนพิการ และคนที่ลงชื่ออันดับต้นๆ ที่แสดงเจตนารมณกลับเข้าทำงานเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551 มีกรรมการสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้างทั้งหมด 13 คน จากกรรมการสหภาพแรงงาน 18 คน
การเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯอ้างว่า "ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง" พวกเราเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน หาแหล่งค่าจ้างราคาถูก เตรียมใช้ระบบจ้างงานซับคอนแทค ที่นายทุนไม่ต้องรับผิดชอบสวัสดิการ การเรียกร้องจากสหภาพแรงงาน
ตลอดระยะเวลา 29 ปีของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เป็นเวลาที่ต้องต่อสู้ตลอดนับตั้งแต่วันเริ่มต้นที่พวกพี่ๆ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ กว่าจะมีองค์กรได้ ก็ต้องเริ่มต้นปกป้อง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ปากท้อง ความเป็นอยู่ที่ดีของคนงานต่อนายทุน ต่อรัฐบาล ไม่เคยมีสักครั้งที่ทุกอย่างจะได้มาโดยง่ายดายแต่พวกเรายังได้บ้าง ไม่ได้บ้างถึงจะไม่ถึงเป้าหมายแต่มันเกิดจากการ "รวมตัวกัน" ของคนงานจึงทำให้เรามีอำนาจ พลังที่จะสามารถต่อรองได้
สหภาพแรงงานฯ กำลังถูกทำลายโดยนายทุนที่ร่วมมือกับรัฐบาล กลไกทุกอย่างของรัฐที่สร้างขึ้นมา เช่น คุก ศาล ทหาร ตำรวจ กระทรวงแรงงาน มีไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน เพราะนายทุนต้องการกำไรสูงสุด ในขณะที่รัฐบาลก็มีแต่ตัวแทนนายทุน ในขณะที่คนงานคนจนไม่มีตัวแทนของเราในรัฐบาล มีแต่คอยเรียกร้องให้รัฐบาลช่วย เพราะเชื่อว่ารัฐจะเป็นกลาง แต่ตลอดระยะเวลาการต่อสู้ของคนงานไทรอัมพ์ ไม่เคยมีสักครั้งที่รัฐจะช่วยเหลือและเป็นกลาง มีแต่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงเมื่อคนงานอย่างพวกเรากำลังจะได้อะใรจากนายทุนบ้าง เมื่อพวกเราถูกกระทำเราไม่เคยเห็นหน้ารัฐ เช่นทุกวันนี้ที่พวกเราชุมนุมกันที่หน้าโรงงานเพราะถูกเลิกจ้าง ทำไมต้องเลิกจ้างเพราะนายทุนและรัฐกำลังทำลายการรวมตัวของเรา เพราะเขารู้ว่าเราสู้ได้ เรานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเรารวมตัวกัน
กลไกสำคัญที่รัฐสร้างขึ้นมาที่คนงานส่วนใหญ่หลงเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคนงานดีขึ้น คือระบบไตรภาคี ระบบไตรภาคีเป็นระบบที่ทำให้คนงานแบ่งแยก ช่วงชิงและไม่ได้ให้ประโยชน์กับขบวนการแรงงานแต่เป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้นำบางคน ที่สุดแล้วคนงานก็ยังถูกควบคุมมากขึ้นจากพวกเรากันเองด้วยซ้ำ
เมื่อเราย้อนถึงคำพูดของคุณเจริญ
วัดอักษร "เราสู้ได้ ถ้าพี่น้อง ประชาชน ยังรวมตัวกัน" เช่นเดียวกันคนงานสู้ได้ถ้าเรารวมตัวกัน
การต่อสู้ของคนงานคนจนไม่มีวันจบสิ้น ตราบใดที่นายทุนยังไม่หยุดการแสวงหากำไรสูงสุด
ตราบใดที่อำนาจรัฐอยู่ในมือนายทุน และตราบใดที่คนงานคนจนยังขาดการรวมตัวกัน และคนงานคนจนยังไม่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ
จิตรา คชเดช
ที่ปรึกษา/เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com