ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้เป็นสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๐๗ สิงหาคม ๒๕๕๒ : Release date 07 August 2009 : Copyleft MNU.

เมื่อจักรวาลแห่งประสบการณ์อันกว้างใหญ่ได้ถูกปิดลง เหลือเพียงสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้แล้ว และกีดกันเอาจักรวาลอันกว้างใหญ่ของความไม่รู้ หรือ เรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ เป็นเรื่องงมงายหรือเรื่องเท็จเสียแล้ว ความหลากหลายทางศักยภาพของมนุษย์ก็ถูกลดทอนลงอย่างน่าใจหาย เราได้แยกตัวเองออกมาจากองคาพยพอันศักดิ์สิทธิ์ของการเลื่อนไหลแห่งจักรวาล นำมาซึ่งความหยิ่งทะนง ความโลภ ความเกลียดชัง ฯลฯ เรากำลังตัดขาดตัวเองจากประสบการณ์การเรียนรู้ จากความสัมพันธ์ อันแนบแน่นของสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์ หรือบรรพบุรุษในตำนาน หมกมุ่นอยู่แต่กับความรู้อันคับแคบแบบแยกส่วน ที่ถูกพัฒนาขึ้น ในช่วงเวลา- เพียงไม่กี่ร้อยปีเท่านั้น ความศักดิ์สิทธ์ของประสบการณ์ที่เลือนหาย หมายความถึงจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่ค่อยๆ เลือนค่าไป

H



07-08-2552 (1754)

วรรณกรรมปริทัศน์: แนะนำหนังสือน่าอ่านสำหรับสังคมไทย
แนะนำหนังสือน่าอ่านจากบล็อค เล่มที่หนึ่งร้อยหนึ่ง
กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
http://onehundredfirst.blogspot.com/2007_02_01_archive.html
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

วรรณกรรมปริทัศน์ ว่าด้วยการแนะนำหนังสือน่าอ่านนี้ กอง บก.ม.เที่ยงคืน
ได้รวบรวมมาจากบล็อค"เล่มที่หนึ่งร้อยหนึ่ง"ซึ่งบริหารโดย อ.ชลนภา อนุกูล
ซึ่งเคยร่วมงานกับคณาจารย์ ม.เที่ยงคืนหลายครั้ง ณ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับบนหน้าเว็บเพจนี้ สมาชิกและผู้สนใจจะได้อ่านงานเขียนเชิงแนะนำหนังสือ
อันหลากหลาย ประกอบด้วยหนังสือที่น่าสนใจ ๓ เล่ม ประกอบด้วย
1. Myth and Reality
2. From Murder to Forgiveness
3. On Dialogue

ในแต่ละเรื่อง ประกอบด้วยหัวข้อที่สำคัญชวนติดตามดังนี้
1. Myth and Reality
- Myth and Reality - ตำนานกับความเป็นจริง
- เทพปรณัมคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง พิสูจน์ได้จากการมีอยู่ของสรรพสิ่ง
- หน้าที่ที่สำคัญของตำนานคือการเป็นสะพาน
- โลกวิทยาศาสตร์: จักรวาลที่เปราะแตกแยกส่วน
- เทคโนโลยี: ไสยศาสตร์ตะวันตกในโลกวัตถุ

2. From Murder to Forgiveness
- อาซิม กามิซา ผู้สูญเสียบุตรชาย
- ทาริก กามิซา: ถูกแก๊งวัยรุ่นยิงตายขณะไปส่งพิซซา
- หลังจากเสียงปืนหนึ่งนัด สังคมต้องสูญเสียเยาวชนไปถึงสองคน
- ความยุติธรรมแบบสมานฉันท์ เน้นความสำคัญของการคืนดี

3. On Dialogue
- อะไรคือสุนทรียสนทนา?
- ปัจเจกภาพและสมุหภาพ
- การเชื่อมโยงระหว่างกันของอนุภาค (เมื่อฟิสิกส์ถูกนำมาประยุกต์ใช้ทางสังคม)
- "ภาพตัวแทนที่ผิด" เป็นต้นเหตุจำนวนมากของปัญหา
- ปัญหาทางเทคนิคมุ่งพิจารณาสิ่งนอกตัว ปัญหาทางจิตใจมุ่งพิจารณาสิ่งในตัว
- "ความคิดอย่างเสรี"กับ"ความคิดอย่างมีส่วนร่วม"
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "วรรณกรรมปริทัศน์")

สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๕๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๐๗ สิงหาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วรรณกรรมปริทัศน์: แนะนำหนังสือน่าอ่านสำหรับสังคมไทย
แนะนำหนังสือน่าอ่านจากบล็อค เล่มที่หนึ่งร้อยหนึ่ง
กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
http://onehundredfirst.blogspot.com/2007_02_01_archive.html
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

1. Myth and Reality
ผู้แต่ง เมอชิเอ เอลิอาเด / ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๖
ประเภท ศาสนา ปรัชญา / พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์ แอนด์ โรว์

แนะนำโดย วิจักขณ์ พานิช

อิทธิพลของเมอชิเอ เอลิอาเด ที่มีต่อวงการวิชาการ ในทางปรัชญาและศาสนาของตะวันตกนั้น มีมากเกินกว่าที่จะกล่าวได้หมด เขาถือเป็นนักปราชญ์ร่วมสมัยของตะวันตกเพียงไม่กี่คนที่อุทิศชีวิตทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ เพื่อเปิดโลกทางความคิดให้ชาวตะวันตกได้เข้าใจความหมายของคุณค่าชีวิต ทางด้านจิตวิญญาณอันลึกซึ้ง เป็นการเปิดมุมมองในเรื่องศาสนาให้มากไปกว่าการเป็นเพียงความเชื่อ หรือหลักถกเถียงทางปรัชญา ที่สำคัญคือ เขาเป็นนักวิชาการที่แสวงหาคุณค่า และความหมายของการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความรุนแรงทางความเชื่อและวัฒนธรรม ที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของคริสตจักรในซีกโลกตะวันตก

Myth and Reality - ตำนานกับความเป็นจริง
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงผลงานของเขาที่มีชื่อว่า Myth and Reality - ตำนานกับความเป็นจริง
เอลิอาเดตั้งคำถามให้กับงานชิ้นนี้ของเขาว่า อะไรเล่าคือความจริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตำนาน? เขาพยายามถอดถอนตัวตน เพื่อการพยายามที่จะเข้าใจ ไขกุญแจสู่ความหมายอันลึกซึ้ง ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเล่าของชนพื้นเมือง ราวกับเขาสามารถมองด้วยสายตาของคนเหล่านั้น โดยเฉพาะตำนานอันศักดิ์สิทธิ์หรือเทพปกรณัมว่า อิทธิพลของเรื่องเล่าสามารถสร้างสรรค์ให้เกิดวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนอันซับซ้อนได้อย่างไร

ความหมายของคำว่า "ตำนาน" นั้นได้ถูกบิดเบือนไปมาก การจะเอามุมมองแบบตะวันตกไปนิยามความหมายของตำนาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะมองตำนานเป็นเรื่องเล่าลมๆ แล้งๆ ประเภทนิทาน ปรัมปรา หรือเรื่องหลอกเด็กให้กลัว ซึ่งทั้งหมดนี้หาใช่ความหมายที่แท้จริงในวัฒนธรรมพื้นเมือง ผู้คนในสังคมสมัยใหม่มักจะใช้มาตรทางวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมไปตีค่าความงามในประสบการณ์และวิถีชีวิตผู้คนอย่างปราศจากความเคารพ จึงยากที่เราจะเข้าถึงความลึกซึ้งของความหมายที่มีชีวิตในตำนานหรือเทพปกรณัมที่ว่านี้

คุณค่าของตำนานในสังคมดั้งเดิม เกิดขึ้นจากพื้นฐานของการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างไม่แยกขาดออกจากผืนดินและธรรมชาติ ความซับซ้อนของวิถีชีวิต การดำรงชีพเพื่อความอยู่รอด ลมฟ้าอากาศ โรคภัยไข้เจ็บ และความสงบสุขของชุมชน ตำนานคือระบบการศึกษาในตัวของมันเอง คือการเรียนรู้ที่แทรกตัวอยู่กับทุกมุมของชีวิตประจำวัน เอลิอาเดกล้าหาญที่จะตั้งคำถามอย่างถึงรากต่อการตีความคำว่า "ความจริง" ของผู้คนสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการตั้งคำถามเชิงคุณค่าว่า วัฒนธรรมชนพื้นเมือง ได้ให้ความหมายของความจริงต่างออกไปอย่างไร ความสนใจของเขาในงานชิ้นนี้มุ่งเน้นไปที่ตำนานที่มีชีวิต ซึ่งหมายถึงตำนานอันยังคงเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของผู้คนในสังคม

หนังสือประกอบด้วย ๘ บท ดังนี้

๑) โครงสร้างของตำนาน
๒) กลับสู่ต้นกำเนิด
๓) ตำนานและพิธีกรรมสู่การกำเนิดใหม่
๔) กำเนิดจักรวาล
๕) ก้าวข้ามข้อจำกัดของเวลา
๖) ศาสตร์แห่งตำนานและประวัติศาสตร์
๗) ความยิ่งใหญ่และการเสื่อมถอยของตำนาน
๘) การอยู่รอดและการปรับเปลี่ยนของตำนานในโลกสมัยใหม่

เทพปรณัมคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง พิสูจน์ได้จากการมีอยู่ของสรรพสิ่ง
ในบริบทของโลกที่มีชีวิตและศักดิ์สิทธิ์ "เทพปรณัม"หรือ"ตำนานอันศักดิ์สิทธิ์" ถือเป็นการเล่าเรื่องในแบบของพิธีกรรม พิธีกรรมเป็นหนทางที่ทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีผ่านเข้าสู่โลกเหนือกาลเวลา มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจุดเริ่มแห่งเวลา ตัวละครที่เป็นสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์เป็นผู้ก่อกำเนิดสิ่งต่างๆ จนเกิดเป็นจักรวาลอันมีชีวิต เกิดเป็นมนุษย์ สรรพสัตว์ ภูเขา ต้นไม้ ฯลฯ เทพปกรณัมจะกล่าวถึงเฉพาะเหตุการณ์อันเป็นจุดกำเนิด ให้เราเข้าใจถึงความหมายของการมีอยู่ของชีวิตและสรรพสิ่งรอบตัว

เทพปกรณัม
ดังนั้น เทพปกรณัมคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง พิสูจน์ได้จากการมีอยู่ของสรรพสิ่งในโลก เรื่องจริงจะต้องมีนัยของความศักดิ์สิทธิ์ สามารถพาผู้ฟังให้เข้าไปสัมผัสกับประสบการณ์เหนือกาลเวลา นำมาซึ่งการตระหนักถึงคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

เทพนิยาย
ส่วนเทพนิยาย นิทาน เรื่องเล่าทั่วไป จะบอกถึงเรื่องราวสามัญ การผจญภัยของเหล่าวีรบุรุษ วีรสตรีบนโลกที่เราอาศัยอยู่ โดยไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกเหนือการเวลา ณ จุดเริ่มต้นของจักรวาลแต่อย่างใด

ตำนาน
"เทพปกรณัม"หรือ"ตำนานอันศักดิ์สิทธิ์"ที่กล่าวถึงจุดเริ่มของจักรวาล จะประกอบด้วยตำนานย่อยๆ อันแสดงถึงรายละเอียดของความสัมพันธ์อันซับซ้อนของชีวิตและสรรพสิ่งในจักรวาล เช่นเดียวกันกับเทพปกรณัม ตำนานจะประกอบด้วยตัวละครเหนือมนุษย์ โดยมากมักจะเป็นเหล่าทวยเทพที่มีอิทธิฤทธิ์บันดาลสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ในพริบตา การกระทำของตัวละครในตำนาน จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโลกที่เราอาศัยอยู่โดยตรง เพราะผลของการกระทำนั้นเกิดขึ้นในจุดเริ่มต้นแห่งกาลเวลาและการมีอยู่ ส่วนการกระทำของตัวละครในเทพนิยายหรือนิทานหาได้ส่งผลใดๆ เป็นเพียงเรื่องสอนใจ ในบริบทของความสามัญในขั้นโลกๆ ของมนุษย์เดินดินเท่านั้น

เช่น ในตำนานการกำเนิดของมนุษย์ เหตุการณ์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง พิสูจน์ได้จากการดำรงอยู่ของมนุษย์ในปัจจุบัน แต่มนุษย์ก็หาได้เป็นอมตะ วันหนึ่งเราทุกคนต้องตาย เหตุผลของการไม่เป็นอมตะ ก็เพราะมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นในจุดเริ่มต้นแห่งกาลเวลา ถ้าเหตุการณ์นั้นไม่อุบัติขึ้น เราก็คงมีชีวิตอยู่เป็นอมตะอย่างภูเขาหรือท้องฟ้า ตำนานแห่งความตายบอกให้เราได้รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกศักดิ์สิทธิ์เหนือกาลเวลา ที่มีผลกระทบสืบเนื่องมาสู่ความดำรงอยู่ในปัจจบัน

โครงสร้างของตำนาน
โครงสร้างของตำนาน ประกอบด้วยส่วนสำคัญๆดังต่อไปนี้

๑) เหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันเป็นผลจากการกระทำของเทพเจ้า หรือสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์
๒) ประวัติศาสตร์นั้นถือเป็นเรื่องจริง อันพิสูจน์ได้จากการดำรงอยู่ของผลพวงในปัจจุบัน
๓) ตำนานจะเกี่ยวข้องกับการกำเนิดเกิดขึ้นของบางสิ่งบางอย่างเสมอ

๔) เมื่อเราเข้าใจถึงต้นกำเนิด สัมผัสถึงความหมายของการดำรงอยู่ เราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนาน มีชีวิตอยู่ในตำนาน และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนที่เหมาะสมตามเหตุปัจจัยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าตำนานหาใช่เรื่องนอกตัว เรื่องนามธรรมอันจับต้องไม่ได้ แต่ตำนานคือปัญญาที่เกิดจากประสบการณ์ตรง จากการเป็นส่วนหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์ ในวิถีแห่งพิธีกรรมอันเป็นสะพานเชื่อมนำเราจากโลกสามัญร่วมสมัย ไปสู่โลกศักดิ์สิทธิ์เหนือกาลเวลา อันเป็นจุดกำเนิดแห่งสรรพสิ่ง เพราะความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์เหนือกาลเวลาเท่านั้น

๕) ชีวิตที่มีความหมายที่แท้จริง คือชีวิตที่ดำเนินไปบนพลังความศักดิ์สิทธิ์ของตำนาน เป็นชีวิตที่ไม่แยกขาดจากจุดกำเนิดเดิมแท้ในทุกลมหายใจ ชีวิตในตำนานแสดงถึงประสบการณ์อันลึกซึ้งทางจิตวิญญาณที่แตกต่างไปจากประสบการณ์ธรรมดาสามัญ ในชีวิตอย่างโลกๆ

หน้าที่ที่สำคัญของตำนานคือการเป็นสะพาน
หน้าที่ที่สำคัญของตำนานก็คือ การเป็นสะพานให้เราก้าวข้ามผ่านโลกแห่งกาลเวลา กลับไปสู่จุดกำเนิด ความว่างอันเป็นอนันตกาล ความสมบูรณ์อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง ยามที่ผู้คนเจ็บไข้ เกิดภัยธรรมชาติ เหตุการณ์ร้ายแรงทำให้ผู้คนเสียขวัญ ภูตผีวิญญาณร้าย หรือแม้จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นแต่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล ขึ้นปีใหม่ หรือ ภัยธรรมชาติเพิ่งผ่านพ้น พิธีกรรมรวมถึงวิธีการเล่าตำนานหรือเทพปกรณัม จะเป็นหนทางที่จะนำให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสถึงการเริ่มต้นที่สดใหม่อีกครั้ง และดูเหมือนโลกและจักรวาลอันศักดิ์สิทธิ์มีชีวิต จะเข้าใจความหมายอันเป็นสากลแห่งพิธีกรรมเหล่านั้นเป็นอย่างดี จนกลายเป็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่ไม่สามารถแยกขาดกันได้ ระหว่างจิตวิญญาณของความมนุษย์กับความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติในสากลจักรวาล

ในวัฒนธรรมพื้นเมืองนั้น วิถีชีวิตของผู้คนเป็นวิถีชีวิตที่เปิดรับข้อความที่ส่งมาจากโลกเหนือมนุษย์อยู่เสมอ คุณค่าเหล่านั้นเป็นคุณค่าที่อยู่เหนือจิตสำนึกด้านสว่างที่บ่งบอกถึงแบบแผนตายตัวที่คับแคบ แทนที่พวกเขาจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขารู้ กลับพยายามสร้างความสัมพันธ์กับมณฑลแห่งความไม่รู้ ความเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอน โดยใช้ตำนานและพิธีกรรมเป็นสะพานเชื่อมต่อเพื่อเข้าสู่ธรรมชาติอันมีชีวิต อันมีเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้นอย่างแท้จริง

โลกวิทยาศาสตร์: จักรวาลที่เปราะแตกแยกส่วน
แต่ปัจจุบันในโลกวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมสมัยใหม่ คุณค่าและความหมายของพิธีกรรม ตำนาน และความศักดิ์สิทธิ์ดูจะค่อยๆ ถูกลบเลือนลงไปเรื่อยๆ เกิดเป็นปรากฏการณ์ของการสูญค่าความศักดิ์สิทธิ์แห่งตำนาน กลายเป็นจักรวาลที่เปราะแตกแยกส่วน

โลกวิทยาศาสตร์ได้นำมามนุษย์สู่วิถีการมองโลกเป็นวัตถุ ที่ต้องอาศัยการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตัดขาดจากแง่มุมทางประสบการณ์ตรงที่เกินกว่าคำอธิบาย อีกทั้งยังได้เปลี่ยนนิยามของ "เรื่องจริง" กับ "เรื่องเท็จ" จากหน้ามือเป็นหลังมือ เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ถูกตัดสินว่าเป็นเรื่องเท็จ ไร้ข้อพิสูจน์ อย่างที่ไม่ต้องให้ความสนใจใดๆ จึงทำให้ตำนานถูกลดทอนคุณค่ากลายเป็นเหมือนนิทานหลอกเด็กเรื่องหนึ่งก็เท่านั้น

เมื่อจักรวาลแห่งประสบการณ์อันกว้างใหญ่ได้ถูกปิดลง เหลือเพียงสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้แล้ว กีดกันเอาจักรวาลอันกว้างใหญ่ของความไม่รู้หรือเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ เป็นเรื่องงมงายหรือเรื่องเท็จเสียแล้ว ความหลากหลายทางศักยภาพของมนุษย์ก็ถูกลดทอนลงอย่างน่าใจหาย เราได้แยกตัวเองออกมาจากองคาพยพอันศักดิ์สิทธิ์ของการเลื่อนไหลแห่งจักรวาล นำมาซึ่งความหยิ่งทะนง ความโลภ ความเกลียดชัง ฯลฯ เรากำลังตัดขาดตัวเองออกจากประสบการณ์การเรียนรู้ จากความสัมพันธ์อันแนบแน่นของสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์ หรือบรรพบุรุษในตำนาน หมกมุ่นอยู่แต่กับความรู้อันคับแคบแบบแยกส่วน ที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปีเท่านั้น ความศักดิ์สิทธ์ของประสบการณ์ที่เลือนหาย หมายความถึงจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่ค่อยๆ เลือนค่าตามไปด้วย เพราะมันถูกมองเป็นเพียงแค่ ฝันลมๆ แล้งๆ หรืออุดมคติที่กินไม่ได้

เทคโนโลยี: ไสยศาสตร์ตะวันตกในโลกวัตถุ
ในโลกปัจจุบัน ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารก่อให้เกิดเมฆหมอกแห่งโลกาภิวัตน์ครอบคลุมไปทั่วทุกวัฒนธรรม ไสยศาสตร์ตะวันตกในรูปของเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวัตถุ ได้ครอบงำโลกศักดิ์สิทธิ์แห่งประสบการณ์ ความหมาย และคุณค่าแทบหมดสิ้น จะหาระบบวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่ยังหลงเหลือไม่เจือปนไปกับวัฒนธรรมตะวันตกนั้น แทบจะไม่มี. คำถามของสังคมสมัยใหม่รวมถึงสังคมไทยในตอนนี้จึงเป็นคำถามเดียวกับที่อีไลอะเดได้ตั้งไว้เมื่อ ๕๐ ปีก่อน นั่นคือ จะทำเช่นไรให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของคุณค่าทางจิตวิญญาณแห่งมนุษยชาติ เพื่อที่จะสามารถสร้างเป็นรากฐานทางสังคมสมัยใหม่ที่ยั่งยืนได้

การศึกษาผลงานของเอลิอาเด จึงน่าจะที่จะทำให้วิธีการมองโลกอย่างตะวันตกที่เราไปรับเอามาขยายกว้างขึ้น อย่างน้อยก็สามารถโยงกลับมาสู่คุณค่าดั้งเดิมอย่างไทยเราได้บ้าง แม้เราจะตามก้นฝรั่งอยู่ต้อยๆ แต่ในความเป็นจริง เราเองก็ยังคงหลงเหลือภูมิปัญญาและรากฐานทางวัฒนธรรมที่ยังสามารถที่จะหันกลับไปเรียนรู้ และเห็นคุณค่าในรากเหง้าของเราได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตระหนักรู้คุณค่า และเต็มใจที่จะกลับไปค้นหาความหมายแท้จริงของรากฐานทางวัฒนธรรมดั้งเดิมเหล่านั้นหรือไม่ก็เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าของภูมิปัญญาชาวบ้าน ตำนาน เรื่องเล่าท้องถิ่น เพลงหรือการละเล่นพื้นบ้าน วัฒนธรรมชนเผ่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมถึงการตามหารากเหง้าทางวัฒนธรรมที่แท้จริงของชนชาติไทยเอง ที่นับวันจะถูกลบเลือนไปมากเข้าทุกที

ประวัติสังเขป: Mircea Eliade, 1907-1986
เมอชิเอ เอลิอาเด (Mircea Eliade, 1907-1986) เรียนจบมาทางด้านปรัชญา ใช้เวลาในวัยหนุ่มเรียนรู้ปรัชญาตะวันตกจนแตกฉานในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในยุโรป จากนั้น เขาได้เดินทางไปศึกษาภาษาสันสกฤต และปรัชญาศาสนาตะวันออกที่ประเทศอินเดีย สี่ปีที่เขาใช้ชีวิตเรียนรู้อยู่ที่อินเดีย ทำให้แนวคิดทางปรัชญาของเขามีความลึกซึ้งมากกว่าการเป็นแค่หลักการที่ใช้ในการถกเถียงทั่วไป งานของเอลิอาเด แม้จะมีกลิ่นอายของการวิเคราะห์ด้วยหลักการแบบตะวันตก แต่ก็มีแนวทางที่แปลกออกไป นั่นคือเป็นการวิเคราะห์เพื่อการเข้าถึงซึ่งความหมาย และคุณค่าของประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของปัจเจก

งานชิ้นแรกที่เขาเขียนหลังจากกลับจากอินเดีย มีชื่อว่า "โยคะ: ศาสตร์แห่งความเป็นอมตะและการหลุดพ้น" (Yoga: Immortality and Freedom) ความโดดเด่นทางความคิดของเอลิอาเด ทำให้เขาถูกเชิญไปสอนที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งที่นั่นเขาได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ และหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศาสนา ซึ่งในยุคนั้น โรงเรียนเทวศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโกถือเป็นศูนย์รวมของนักคิด นักวิชาการชาวตะวันตก ผู้แสวงหาคุณค่าและความหมายของชีวิตอย่างมากมาย โดยเฉพาะคุณค่าที่อยู่นอกกรอบอิทธิพลของอำนาจแห่งโบสถ์คริสตจักร

เรจินัลด์ เรย์ อาจารย์คนสำคัญของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ผู้เป็นลูกศิษย์ของเอลิอาเด สมัยที่เขาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่ที่โรงเรียนเทวศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้กล่าวถึงอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเขาไว้ว่า… "เอลิอาเดถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งของวงการวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา เขาเปรียบเหมือนผู้เปิดโลกแห่งคุณค่าและความหมายให้ชาวตะวันตกได้เห็นว่า ศาสนาหาใช่เป็นเพียงแค่ปรัชญาทางความคิดหรือความเชื่อศรัทธา แต่ศาสนาคือคุณค่าทางจิตวิญญาณของมนุษยชาติ ที่สามารถสัมผัสได้จากประสบการณ์ตรงในชีวิตประจำวัน เอลิอาเดจะเน้นย้ำกับนักเรียนของเขาเสมอว่า หากการเรียนรู้เรื่องปรัชญาและศาสนาที่เรากำลังทำอยู่นี้ ไม่สามารถส่งผลต่อการสร้างรากฐานทางจิตวิญญาณให้กับสังคมตะวันตกได้แล้ว แสดงว่างานที่เราตรากตรำทำมาทั้งหมดล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง"

ด้วยแนวคิดก้าวหน้าเช่นนี้นั่นเอง ทำให้งานของเขาถูกใช้เป็นตำราพื้นฐานโดยเฉพาะในด้านการศึกษาศาสนาของตะวันออก และด้านมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชนชาติอื่น ซึ่งถือเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่ตะวันตกเพิ่งมาให้ความสำคัญจริงจังได้ไม่นานนัก

งานชิ้นสำคัญที่สุดของเอลิอาเดคือ การนำเสนอความคิดในเรื่องของ "ความศักดิ์สิทธิ์ (The Sacred)" เขาได้ทำลายกำแพงที่จำกัดความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ จากเดิมที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงาย หรือเพียงแค่เป็นภาพของวัตถุบูชาในความเชื่อทางศาสนาที่ล้าหลัง ซึ่งถือเป็นวิธีที่ชาวตะวันตกมักจะใช้ตัดสินวัฒนธรรมอื่นมาโดยตลอด เขาได้นำเสนอความหมายที่กว้างออกไป ครอบคลุมความหมายในเชิงคุณค่า ประสบการณ์ และการเปลี่ยนแปลงด้านใน เพิ่มนัยทางความหมายให้กับโลก ดวงดาว จักรวาล ฤดูกาล และธรรมชาติสรรพสิ่งรอบตัว โยงใยเป็นวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมอันซับซ้อนของวัฒนธรรมพื้นเมืองชาติต่างๆ เขาได้พยายามอธิบายให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของประสบการณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ในรูปของสัญลักษณ์ พิธีกรรม และตำนานเทพปกรณัม ซึ่งถักทอรวมกันเป็นองคาพยพทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อวิถีการมองโลก และการใช้ชีวิตของผู้คนในวัฒนธรรมนั้นๆ ได้อย่างเป็นองค์รวม งานของเขาจึงเป็นที่รู้จักและใช้อ้างอิงในหลากหลายสาขาวิชา ไม่เพียงแต่ทางด้านศาสนา แต่รวมไปถึงศาสตร์ทางมานุษยวิทยา สังคมวิทยา จิตวิทยา และนิเวศวิทยาแนวลึกอีกด้วย

2. From Murder to Forgiveness
From Murder to Forgiveness : A Father's Journey

ผู้แต่ง อาซิม กามิซา / ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๒
ประเภท สารคดี กฎหมาย จิตวิญญาณ / พิมพ์โดย สำนักพิมพ์เอเอ็นเค

แนะนำโดย ชลนภา อนุกูล

ในปัจจุบันสมัย ท่ามกลางกระแสข่าวความรุนแรงไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญ การยกพวกตีกันของวัยรุ่นกลางเมือง การบันทึกภาพความรุนแรงในโรงเรียนเผยแพร่ผ่านสื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไปจนถึงสงครามก่อการร้ายทั้งใกล้และไกลตัว วิธีแก้ไขปัญหาก็มักจะเป็นไปในระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน อาการตอบโต้ด้วยความรุนแรงไม่แพ้กันเหล่านี้ เกิดขึ้นเสียจนกลายเป็นความเคยชิน เคยชินกับการแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยความรุนแรง

บางคนไม่ยอมรับความเคยชินอันเลวร้ายนี้ และมองว่าหนทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงนั้นมีทางออกที่ดีกว่า ทางออกนั้นก็คือ"สันติวิธี" หากหนทางที่จะนำไปสู่สันติวิธีนั้นไม่ง่าย และหลายคนไม่เชื่อจริงๆ บ่อยครั้งคำว่าสันติวิธีถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันเลื่อนลอย และไม่มีทางที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ หนังสือ From Murder to Forgiveness: A Father's Journey เป็นหนึ่งในตาน้ำแห่งปัญญาญาณของมนุษย์ที่ยืนยันว่า มนุษย์มีทางเลือกที่ทรงพลังกว่า"ความรุนแรง"

อาซิม กามิซา ผู้สูญเสียบุตรชาย
อาซิม กามิซา ผู้สูญเสียบุตรชายไปจากเหตุฆาตกรรม ฆาตกรเป็นเด็กวัยรุ่นอายุยังไม่ถึง ๑๕ ปีดี เขาได้ให้อภัยแก่ฆาตกร ทั้งยังร่วมมือกับปู่ฆาตกรก่อตั้งมูลนิธิ ทำงานด้านการศึกษา เพื่อหาทางออกจากความรุนแรงในวัยเด็กและเยาวชน เขาได้แปรเปลี่ยนความโศกเศร้า ความสิ้นหวัง และความทรงจำอันเจ็บปวด ไปเป็นความเบิกบาน ความยินดี และความหวัง เรื่องราวของเขาเมื่อถูกถ่ายทอดเป็นหนังสือ เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่

ชื่อเดิมของหนังสือเล่มนี้คือ Azim's Bardo: From Murder to Forgiveness คำว่า บาร์โด เป็นภาษาทิเบต หมายถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างชีวิตและความตาย ชาวทิเบตเชื่อว่า ภายหลังความตาย เราจะเข้าไปอยู่ในบาร์โด เพื่อรอการเกิดใหม่ คุณภาพของจิตในขณะตาย และขณะที่อยู่ในบาร์โดจะเป็นเครื่องกำหนดภพภูมิใหม่ ฉะนั้น คำว่า บาร์โดของอาซิม ก็คือเรื่องเล่าของการเปลี่ยนผ่านภายใน บนวิถีแห่งการเดินทางของจิตวิญญาณ

เนื้อหาแบ่งเป็น ๑๐ บท อาซิมเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ โดยเริ่มจากเหตุฆาตกรรม คำพิพากษาและการลงโทษ จากนั้นก็ค่อยเล่าถึงจุดเริ่มต้นแห่งการเดินทาง บนพื้นฐานของความเชื่ออิสลามที่ตั้งใจให้มรณกรรมของบุตรชาย กลายเป็นสิ่งที่เปี่ยมความหมาย ไปจนถึงจุดสิ้นสุดแห่งการเดินทางอันสมบูรณ์ ระหว่างนั้นเขาได้เล่าเรื่องราวของตนเองและผู้คนแวดล้อม เขาไม่ใช่นักเขียนอาชีพ ไม่ใช่ผู้นำทางจิตวิญญาณ ภาษาที่ใช้จึงค่อนข้างง่าย เต็มไปด้วยรายละเอียด ที่สำคัญด้วยความตระหนักว่า สิ่งที่เขาเขียนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงบนโลกนี้ เราสามารถสัมผัสได้ถึงหัวใจผู้เขียน

ทาริก กามิซา: ถูกแก๊งวัยรุ่นยิงตายขณะไปส่งพิซซา
จุดเริ่มแรกของเรื่องราวทั้งหมดเริ่มด้วยเหตุการณ์สำคัญ - ทาริก กามิซา อายุ ๒๐ ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยซานดิเอโก ถูกแก๊งวัยรุ่นยิงตาย ขณะไปส่งพิซซา. อาซิม กามิซา ได้เล่าลำดับเหตุการณ์อย่างค่อนข้างละเอียดถึงปฏิกิริยาของผู้คนรอบข้างเมื่อได้รับทราบข่าวร้าย เราได้รู้จักบุคคลใกล้ชิดอาซิมได้อย่างค่อนข้างครบถ้วนในช่วงแรกของหนังสือ อาซิมมีญาติสนิทมิตรสหายจำนวนมาก ความที่เป็นครอบครัวใหญ่ แม้จะอยู่ห่างกันต่างบ้านต่างเมือง ยังมีคู่หมั้นของลูกชาย ภรรยาที่หย่าจากกันแล้วกับลูกสาว บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า

ในพิธีทำบุญให้กับผู้ล่วงลับตามแบบอิสลามเมื่อครบรอบ ๔๐ วัน เขาก็ได้เรียนรู้จากคุรุทางจิตวิญญาณว่า ตามความเชื่อทางอิสลาม วิญญาณจะยังคงอยู่ร่วมกับครอบครัว หลังจากนี้แล้ววิญญาณจะเปลี่ยนสภาพสู่ระดับใหม่ แต่หากยังมีความโศกเศร้าอยู่มากก็จะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตวิญญาณไว้ ควรที่จะระงับอารมณ์นั้นไว้ และทำกิจอันเป็นกุศลให้กับวิญญาณผู้ล่วงลับ โดยเหตุนี้ อาซิมจึงถือว่าภารกิจดังกล่าวในส่วนของเขาเองนั้นเพิ่งเริ่มต้น

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง กระบวนการค้นหาฆาตกรก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เด็กผู้หญิงคนหนึ่งโทรศัพท์ไปที่เครือข่ายปกป้องเด็ก และให้เบาะแสสำคัญกับตำรวจในการติดตามตัววัยรุ่น ๔ คน หนึ่งในนั้นคือ โทนี ฮิกส์ อายุ ๑๔ ปี. แม่ของโทนีตั้งครรภ์เมื่ออายุ ๑๕ ปี กับคู่รักที่อายุเท่ากัน พ่อของโทนีติดยาและเข้าแก๊งอันธพาลในนิวยอร์ก ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ เมื่อโทนีอายุ ๖ ขวบ ก็ถูกล่วงเกินทางเพศ แม่เขาเลยส่งให้มาปู่ - เพล็ส เฟลิกซ์ - เลี้ยงดู

โทนีเพิ่งหนีออกจากบ้าน เขาเพิ่งขโมยปืนของปู่มา และไปเข้าแก๊งอันธพาลวัยรุ่นในคืนนั้น หัวหน้าแก๊งวางแผนหลอกคนส่งพิซซา เผอิญที่คนส่งพิซซาคืนนั้นคือทาริก. มือใหม่อารมณ์ร้อนอย่างโทนีลั่นกระสุนปืนใส่ทาริก เพียงเพราะเขาไม่มีทีท่าว่าจะกลัวปืนเลย กระสุนทะลุปอดซ้าย ผ่านหัวใจออกไปทางปอดขวา ทาริกสิ้นใจเกือบจะในทันที. คดีของโทนีนั้นกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพราะโทนีอายุไม่ถึง ๑๕ ปี แต่เนื่องจากอัตราอาชญากรรมที่เกิดจากเด็กและวัยรุ่นในช่วงหลังสูงมาก อัยการและผู้พิพากษาจึงตัดสินใจที่จะพิจารณาคดีเขาในฐานะผู้ใหญ่ โทนีรับสารภาพ และถูกตัดสินจำคุก ๒๕ ปี

หลังจากเสียงปืนหนึ่งนัด สังคมต้องสูญเสียเยาวชนไปถึงสองคน
อาซิมกล่าวว่า เขาไม่พบอารมณ์แก้แค้นในใจ หลังจากเสียงปืนหนึ่งนัด สังคมต้องสูญเสียเยาวชนไปถึงสองคน คนหนึ่งจบชีวิตลงด้วยกระสุนปืน คนหนึ่งเสียวัยเยาว์และอนาคตอันสดใสไปในคุก. ผู้คนจำนวนมากต่างถามถึงสาเหตุที่เขาไม่โกรธแค้น อาซิมพยายามสืบค้นหาคำตอบ เขาคิดว่า ต้นทุนทางจิตวิญญาณที่สั่งสมไว้น่าจะเป็นเหตุให้เขาปฏิเสธวิถีแห่งความรุนแรง เขาเชื่อว่าศาสนิกชนที่แท้ย่อมปรารถนาสันติภาพ จึงจำต้องปฏิเสธความรุนแรง กรณีการตายของทาริกก็เช่นเดียวกัน

มูลนิธิทาริก กามิซา
อาซิมจึงได้ก่อตั้งมูลนิธิทาริก กามิซาขึ้นมา เพื่อทำงานด้านการศึกษาและปลูกฝังความตระหนักรู้ถึงโทษร้ายของความรุนแรงให้กับเด็ก เขายังเชิญเพล็ส เฟลิกซ์ ปู่ของฆาตกรที่ฆ่าลูกชายเขามาร่วมงานด้วย มิตรภาพและความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณของผู้ชายสองคนถือว่าเป็นเรื่องน่าทึ่งและน่าประทับใจมาก

มูลนิธิทาริก กามิซาตระเวณจัดกิจกรรมตามโรงเรียนต่างๆ โดยใช้ละครในการสื่อสาร อาซิมและเพล็สกลายเป็นนักพูดปาฐกถาที่โด่งดัง พวกเขาย้ำว่า เด็กและเยาวชนล้วนมีศักยภาพและอิสรภาพที่จะแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง งานของมูลนิธิได้รับการยอมรับค่อนข้างมาก มีผู้คนให้ความสนับสนุนมากหลาย งานอาสาสมัครนี้ได้ทำให้แต่ละคนค้นพบบาร์โดของตนเองเช่นเดียวกับอาซิม และเมื่อมีโอกาสพบกับผู้ทำงานด้านเดียวกันมากขึ้นก็พบว่า แต่ละคนล้วนมีประสบการณ์ใกล้ชิดกับความรุนแรงคล้ายคลึงกันมาก แต่ก็เลือกที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาตามหนทางของสันติวิธี

ความยุติธรรมแบบสมานฉันท์ เน้นความสำคัญของการคืนดี
กระบวนทัศน์ใหม่ได้ทำให้เกิดกระบวนการยุติธรรมแบบสมานฉันท์ ซึ่งเน้นความสำคัญของการคืนดี ระหว่าง"เหยื่อ"กับ"ผู้กระทำผิด" บทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้อุทิศให้กับเนื้อหาส่วนนี้โดยเฉพาะ

สามปีหลังจากมรณกรรมของทาริก การเดินทางของอาซิมกำลังใกล้ถึงจุดสุดท้าย เขาพร้อมแล้วที่จะพบกับโทนี ฆาตกรฆ่าลูกชายคนเดียวของเขา เขามุ่งหวังที่จะกล่าวคำให้อภัยต่อโทนี และเชื้อเชิญให้โทนีมาทำงานร่วมกับมูลนิธิ หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ การเดินทางของเขาก็จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์

หนังสือเล่มนี้ได้ให้ภาพของชาวมุสลิมที่แปลกไปจากการรับรู้ทั่วไปของสังคม ซึ่งเชื่อว่าพวกมุสลิมเป็นพวกหัวรุนแรง แต่เรื่องราวของอาซิมเป็นเครื่องยืนยันว่า หากเป็นศาสนิกชนที่แท้เข้าถึงหัวใจของศาสนาตน เราจำต้องปฏิเสธความรุนแรงอย่างถึงที่สุด อาซิมอาจจะไม่เหมือนมุสลิมที่เคร่งครัด หากด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง เขาจึงสามารถเรียนรู้ได้มาก ทั้งจากคัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบต คำเทศน์จากหมออินเดียอย่างดีปัค โชปรา บทกวีของรูมี เป็นต้น

การมี"สังฆะ"หรือ"ชุมชน"ที่เกื้อหนุนต่อการปฏิบัติ ก็เป็นสิ่งที่หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด ในวิถีชีวิตของนักธุรกิจที่บ้างานอย่างเขา ก็ยังมีพื้นที่ให้กับมิตรทางจิตวิญญาณ ดังที่อุทิศหนึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์ที่บ้าน แปรเปลี่ยนเป็นมัสยิดใ ห้ชุมชนอิสมาอิลมาพบปะรวมตัวกัน และทุกช่วงจังหวะของชีวิตของอาซิมจะมีกัลยาณมิตรร่วมอยู่ด้วยเสมอ

เรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกนี้ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง ในการสร้างศรัทธา และแรงบันดาลใจ ต่ออภัยวิถี ทั้งในส่วนของปัจเจกบุคคลและโครงสร้างทางสังคม แก่นแกนของหนังสือเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ การนำผู้อ่านร่วมเดินทางไปสู่เป้าหมายปลายทางกับอาซิม - การให้อภัย - ทั้งนี้ การเดินทางและเป้าหมายถึงที่สุดแล้วก็เป็นสิ่งเดียวกัน

อาซิม เอ็น กามิซา นักธุรกิจ ผู้บริหาร เชื้อสายดั้งเดิมของเขามาจากเปอร์เซีย อินเดีย และอัฟริกา ก่อนที่จะย้ายครอบครัวมาตั้งหลักแหล่งในแคนาดาและอเมริกาตามลำดับ กามิซาถูกส่งตัวไปเรียนหนังสือที่อังกฤษตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี แต่ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาก็ต้องกลับมารับช่วงธุรกิจของครอบครัว เพราะบิดาล้มป่วย ถึงกระนั้นเขาก็ดำเนินธุรกิจครอบครัวจนประสบความสำเร็จ

เขาก่อตั้งมูลนิธิทาริก กามิซา เพื่อระลึกถึงบุตรชายคนเดียวผู้เสียชีวิตด้วยเหตุฆาตกรรม และสนับสนุนกิจกรรมสันติวิธี ตัวเขาเองได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาบ่อยครั้ง และแม้จะไม่ใช่นักเขียน เขาก็เขียนบอกเล่าประสบการณ์ของตนออกมาได้อย่างดีเยี่ยมในเล่ม From Murder to Forgiveness: A Father's Journey หนังสือเล่มแรกและยังคงเป็นเล่มเดียวของเขา

3. On Dialogue
ผู้แต่ง เดวิด โบห์ม / ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๙
ประเภท สังคมศาสตร์ ปรัชญา และจิตวิทยา / พิมพ์โดย สำนักพิมพ์รูทเลดจ์

แนะนำโดย ปกรณ์ เลิสเสถียรชัย

ก่อนที่จะบอกกล่าวเล่าความถึงหนังสือ On Dialogue ขอเล่าความย้อนไปว่าได้รู้จักหนังสือเล่มนี้ได้อย่างไร?
เมื่อวันพุธที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลาเย็นย่ำ ผู้ปริทัศน์ได้มีส่วนร่วมจัดการสัมมนาโต๊ะกลม "สังคม-วิทย์คิดสะท้อน: ย้อนความรู้ หวนดูองค์ชีวิต" ขึ้น ที่ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานสัมมนาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ที่ข้องเกี่ยว ทั้งด้านสายสังคมและสายวิทยาศาสตร์ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ด้วยความหวังลึกๆ ว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายเช่นนี้ จะทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน ที่สำคัญคือแปรความแตกต่างทั้งภูมิหลังและความคิดให้มาเสริมซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ได้ผลเช่นนี้ กระบวนการสนทนาอย่างเปิดใจเป็นกุญแจสำคัญ และการสนทนานี้ต้องประกอบจากการลดอัตตา น้อมตัวรับฟังความเห็นของผู้อื่น อย่างไม่ด่วนตัดสิน ถือเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่วิทยากรคนหนึ่งในงานสัมมนาวันนั้นคือ ดร. สรยุทธ รัตนพจนารถ นักวิทยาศาสตร์หนุ่มไฟแรง ผู้สนใจทั้งในระดับรากหญ้า คือวิทยาศาสตร์ชุมชนไปจนกระทั่งระดับภาพกว้าง คือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ก่อนการสัมมนา ดร. สรยุทธ ได้รับทราบผลที่ต้องการจากการสัมมนาครั้งนี้ และเขาได้เสนอว่าน่าจะทดลองใช้กระบวนการ "สุนทรียสนทนา" เพื่อให้ได้ผลดังต้องการ ผู้ปริทัศน์เห็นด้วยและผลที่ได้รับปรากฏว่าเป็นไปตามเป้าประสงค์

อะไรคือสุนทรียสนทนา?
อะไรคือสุนทรียสนทนา? สรุปคร่าวได้ความว่า คำนี้มาจากคำว่า dialogue ซึ่งมีรากมาจาก dia + logos ตัวคำว่า logos นั้นมาจากคำภาษากรีกที่แปลว่า "ถ้อยคำ" หรือ "ความหมายของคำ" ส่วนคำว่า dia นั้นแปลว่า "สอง" ดังนั้นในความหมายปกติของ dialogue แล้วคือ "การสนทนาของคนสองคน" นั่นเอง ฟังดูไม่น่าจะสุนทรียะเท่าไร ทว่าหากลองคิดใหม่แบบเดวิด โบห์มว่า dia แทนที่จะแปลว่า "สอง" ก็เปลี่ยนเป็นแปลว่า "ทะลุ" ดังนี้แล้วความหมายอันสุนทรียะของวงสนทนาก็จะปรากฏขึ้น ความหมายใหม่คือ การสนทนาเพื่อทะลุความหมายของคำอันจะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ ในประเด็นนี้ เดวิด โบห์มได้กล่าวอย่างละเอียดไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าว

แก่นหลักของหนังสือ On Dialogue ได้ให้คำอธิบายทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติของสุนทรียสนทนา โบห์มเห็นว่า "การใช้ภาษา" ซึ่งหมายถึง "การสื่อสาร" มิใช่การถ่ายทอดเพียงความรู้ความคิดเท่านั้น แต่ยังเป็นที่มาของความสร้างภาพลวงและสร้างความเข้าใจใหม่. เขาเห็นว่าการสื่อสารคือการสร้างโลกแห่งความหมายร่วมกัน นั่นคือผู้สื่อสารมีความเข้าใจร่วมกัน แต่นั่นคือสภาวะทางอุดมคติ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว มนุษย์แต่ละคน ต่างก็สร้างเกราะปราการขึ้นปกป้องความคิดความเห็นของตนเอง และบอกปัดปฏิเสธความคิดความเห็นของผู้อื่น แทนที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกัน

โบห์มเห็นว่า สุนทรียสนทนาสามารถสลายปัญหานี้ได้ ด้วยกระบวนการกลุ่มร่วมกัน โดยให้แต่ละคนส่องสะท้อนความคิดและความรู้สึกของตนเองผ่านคนอื่นในกลุ่ม ให้การสนทนาเป็นไปอย่างลื่นไหล โดยไร้การตั้งญัตติล่วงหน้าไว้แล้ว เน้นให้ผู้เข้าร่วมสุนทรียสนทนาทุกท่านได้พูด โดยพยายามไม่ให้ใครนำวงสนทนา และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ให้ผู้เข้าร่วมทุกท่านทิ้งสมมติฐานใดๆ ที่อยู่ในใจไปเสียก่อน คือ อย่าเพิ่งรีบตัดสินผู้เข้าร่วมคนอื่น หรือความเห็นของผู้เข้าร่วมคนอื่นโดยฉับพลัน แต่ให้ละเลียดรับฟัง ละเอียดพิเคราะห์ จนทั้งวงสุนทรียสนทนาเกิดความหมายใหม่ร่วมกันที่ไม่อาจจะคาดเดาล่วงหน้าได้

ปัจเจกภาพและสมุหภาพ
ความคิดของโบห์มนับว่าเป็นความพยายามฝ่าข้ามขั้วตรงข้ามทางปรัชญาสังคม นั่นคือ ขั้วตรงข้ามระหว่างปัจเจกภาพและสมุหภาพ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของผู้อ่าน (หรือไม่ก็ปัญหานี้เป็นปัญหาลวงที่ไม่มีความสลักสำคัญอะไรเอาเลย)

พวกปัจเจกนิยมนั้นเน้นว่าหน่วยย่อยในระดับปัจเจกนั้นเป็นผู้สร้างส่วนรวมอย่างอิสระ ตัวอย่างที่สำคัญคือ แนวความคิดเสรีนิยมที่เน้นคุณค่าของปัจเจกบุคคลเป็นหลัก และเห็นว่าปฏิสัมพันธ์ของปัจเจกอย่างอิสระจะสร้างส่วนรวมที่ดีเอง. ในทางตรงกันข้าม สมุหภาพนิยมกลับเน้นความเป็นส่วนรวมอย่างชัดเจน และมองว่าปัญหาสังคมในปัจจุบันนั้นเกิดจากการให้เสรีกับปัจเจกมากเกินไป นักคิดสายสมุหภาพมักจะพูดถึงการจัดระเบียบสังคมว่าเป็นการทำให้ปัจเจกรู้ที่ทางของตนเอง เป็นการสร้างสังคมอันสงบสุข

การเชื่อมโยงระหว่างกันของอนุภาค (เมื่อฟิสิกส์ถูกนำมาประยุกต์ใช้ทางสังคม)
เนื่องจากโบห์มเป็นนักฟิสิกส์ควอนตัม การเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาปรัชญาสังคมของเขาจึงต่างออกไป เขามองสังคมผ่านความคิดทางฟิสิกส์ที่เขาเป็นผู้คิดค้นขึ้นมาคือ "การเชื่อมโยงระหว่างกันของอนุภาค"

กล่าวคือ ในขณะที่การตีความโคเปนฮาเกนของควอนตัมฟิสิกส์จาก นีลส์ บอห์ร และ แวร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์กกล่าวว่า อนุภาคขนาดเล็กนั้นประพฤติตัวแบบไม่สามารถคาดเดาได้เพราะความน่าจะเป็น แต่โบห์มเห็นต่างออกไปโดยมองว่า เบื้องหลังการประพฤติเช่นนั้นของอนุภาคมีระเบียบในระดับลึกลงไปจากควอนตัวฟิสิกส์อีกเป็นรากฐานอยู่ ระเบียบนั้นเป็นตัวเชื่อมโยงอนุภาคทั้งหมดเข้าระหว่างกัน กล่าวได้ว่าอนุภาคทั้งหมดกลายเป็นทะเลขององค์รวม อนุภาคทั้งหมดส่งผลต่ออนุภาคหนึ่ง และอนุภาคหนึ่งส่งผลกระทบต่อองค์รวม

ความคิดทางฟิสิกส์ถูกนำมาประยุกต์ใช้ทางสังคมด้วย เขาเสนอว่าการพิจารณาว่าความคิดเป็นของ/เกิดจากกระบวนการของปัจเจกบุคคลนั้นเป็นเรื่องที่ผิด หน่วยปัจเจกบุคคลนั้นไม่เคยแยกส่วน แต่อยู่อย่างเชื่อมโยงระหว่างกัน ผ่านทางวัฒนธรรม ผ่านทางอารยธรรม ผ่านทางความรู้ในคน ผ่านทางภาพแสดงแทน ที่ไหลเวียนในสังคม ความคิดจึงเป็นเรื่องที่ผ่านสิ่งที่อยู่ภายนอกตลอดเวลา และกล่าวในภาษาทางปรัชญาคือ โลกภายนอกไหลเข้ามาเป็นส่วนภายในตลอดเวลา นอกจากนี้ความคิดก็ไม่ใช่แค่ความคิด แต่เป็นภาพตัวแทนของประสบการณ์ด้วย การใช้คำว่า "ภาพตัวแทน" นับว่าเป็นคำที่เหมาะสม เพราะในรากของศัพท์มันคือ "การแสดงซ้ำของความคิดที่ถูกแปรให้เป็นรูปธรรม"

"ภาพตัวแทนที่ผิด" เป็นต้นเหตุจำนวนมากของปัญหา
"ภาพตัวแทน"นี้เองที่ทำให้ความคิดของเรา ความหมายของคำพูดของเรา เป็นสิ่งที่มีอันตรายในตัวมันเอง และนี่ไปสร้างอคติที่ทำให้เราตัดสินคนอื่นหรือความคิดคนอื่นอย่างไขว้เขว อย่างรุนแรง กระทั่งหลอกลวงตัวเองด้วยซ้ำไป ภาพตัวแทนได้ไปสร้างชาตินิยม, การแบ่งเขาแบ่งเรา, อคติทางชาติพันธุ์. โบห์มเห็นว่า "ภาพตัวแทน" นี้ เป็นต้นเหตุจำนวนมากของปัญหามากมาย ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งลวงที่ทำให้เห็นบางสิ่งบางอย่างเป็นปัญหา คำถามตัวอย่างในเมืองไทยคือ คำว่า "วัยรุ่น" เป็นภาพตัวแทนของอะไร? ที่หลายคนมองว่า "วัยรุ่น" เป็นปัญหาสังคมนั้นจริงหรือเป็นแค่ภาพลวง? หรือว่า "การมองวัยรุ่นเป็นปัญหาสังคม" คือปัญหาสังคม?

เขาเสนอว่าการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นทางคือต้องแก้"ภาพตัวแทน"ที่สังคมมีร่วมกัน ประเด็นนี้เป็นแก่นหลักของหนังสือเล่มนี้ เขาเสนอความคิดโดยเน้นไปที่เรื่อง"การสื่อสาร" แต่ก็ละเลยเหตุการณ์ทางสังคมจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง และไม่ได้พูดถึงปฏิบัติการทางการเมืองและอำนาจของเงินตราในการบิดเบือนการสื่อสาร กระนั้นการสำรวจต้นทางของปัญหาว่าเป็นภาพตัวแทนก็นับว่าเป็นความท้าทายยิ่ง

ปัญหาทางเทคนิคมุ่งพิจารณาสิ่งนอกตัว ปัญหาทางจิตใจมุ่งพิจารณาสิ่งในตัว
โบห์มตั้งคำถามว่าด้วยการแยกขาดจากกันของผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต ซึ่งคือประเด็นสืบเนื่องจากควอนตัมฟิสิกส์ที่ผู้วัดไม่สามารถแยกขาดจากสิ่งที่ถูกวัดได้ เขาพิจารณาปัญหาทางจิตใจเป็นหลัก ซึ่งมีลักษณะที่ต่างจากปัญหาทางเทคนิค ในขณะที่ปัญหาทางเทคนิคมุ่งพิจารณาสิ่งนอกตัว ปัญหาทางจิตใจมุ่งพิจารณาสิ่งในตัว นั่นคือ ให้ความคิดส่องสะท้อนตัวความคิดเอง นี่ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างประธานของการกระทำ กับการกระทำ ซึ่งการแบ่งแยกนี้เขามองว่า เป็นปฏิทัศน์มากกว่าเป็นปัญหา เพราะว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่ลักษณะของการคิดและภาษาทำให้เราเห็นว่ามันจริง

ในช่วงกลางของหนังสือ โบห์มสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างตัวตนกับอคติ ได้แก่ ภาพตัวแทนที่ผิดๆ และภาพลวงตาของการแยกออกจากกันของผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกต ซึ่งก็มีปัญหาสืบเนื่องต่อไปอีกว่า ขอบเขตของตัวตนคืออะไร? โดยเฉพาะขอบเขตของความคิดว่าเป็นเช่นไร? เขาเสนอว่า แทนที่เราจะปล่อยตัวไปตามความคิดหรืออารมณ์ที่เกิดจากอคติ และแทนที่จะเก็บกดอารมณ์เอาไว้ แต่ให้เราห้อยแขวนสมมติฐานต่างๆ ที่เรามีเอาไว้ก่อน และให้พิจารณาอารมณ์อันแสดงออกทางกายภาพด้วย เช่นจังหวะการหายใจ ความแรงของการสูบฉีดโลหิต เป็นต้น หากย้อนความไปยังตอนต้นของหนังสือ เขาได้ให้ความสำคัญของการแขวนนี้ไว้แล้วว่า ทำให้การสร้างความหมายใหม่ในสุนทรียสนทนาเป็นจริงได้

"ความคิดอย่างเสรี"กับ"ความคิดอย่างมีส่วนร่วม"
ในช่วงท้าย เขาได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างความคิดอย่างเสรีกับความคิดอย่างมีส่วนร่วม สิ่งแรกนั้นเกิดจากอารายธรรมที่ทำให้เกิดการแยกผู้รู้ออกจากสิ่งที่ถูกรู้ และคิดว่าสิ่งที่ถูกรู้นั้นถูกรู้อย่างที่มันเป็นอยู่จริงๆ ซึ่งนี่คือความคิดที่เรียกว่าเป็นกลาง หรือเป็นวิทยาศาสตร์

แต่อีกด้านหนึ่ง ความคิดอย่างมีส่วนร่วมนั้น เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ยุคบรรพกาล มีลักษณะเป็นความคิดแบบสมุหภาพ นี่มีทั้งผลร้ายและผลดี ในด้านผลร้าย คือ ความคิดร่วมกันอย่างชาตินิยมของคนทั้งชาติ ที่จะนับว่าชาติอื่นต่างจากตนมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่า ในด้านผลดีเขามองว่า นี่คือการสร้างความเข้าใจร่วมกัน และไม่พึงจะหยุดแค่มีส่วนร่วมกับมนุษย์ทั้งมวลเท่านั้น แต่ความท้าทายคือ เราจะมีส่วนร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไร? เราจะมีส่วนร่วมกับเอกภพได้อย่างไร?

โดยรวมของหนังสือเล่มนี้ ประการแรก คงทำให้ยากที่จะจัดประเภทว่า หนังสือเล่มนี้ควรไปอยู่ในประเภทใดระหว่าง สังคมศาสตร์ ปรัชญา และจิตวิทยา อย่างไรก็ดี การไม่สามารถระบุประเภทได้ แทนที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้ด้อยค่า กลับทำให้หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนในวงกว้างมากกว่า กระนั้นพื้นฐานเดิมของโบห์ม ที่เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีก็สร้างความยุ่งยากลำบากแก่ผู้อ่านไม่น้อย เนื่องจากการบรรยายในเล่มโดยมากเป็นการบรรยายเชิงนามธรรม และมีการอ้างอิงกับหนังสือเล่มหลักในสาขาวิชาอื่นๆ น้อยมาก

ประการถัดมา แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะสามารถดึงดูดผู้อ่านได้ข้ามสาขาวิชา แต่การที่เขามุ่งประเด็นการสื่อสารโดยละเลยการเมือง และเศรษฐกิจไป ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้ลดความดึงดูดใจต่อนักปฏิบัติลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในภาพกว้าง

กระนั้น คงไม่ยากเกินไปนัก ที่ผู้ปฏิบัติงานสานความเข้าใจในสังคมในระดับย่อย จะมีใจให้กับหนังสือเล่มนี้ และหากว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้ยากเกินไปสำหรับบางท่าน วิธีที่ดีที่สุดเพื่อทำความเข้าใจหนังสือเล่มนี้คือ หาการสัมมนาที่ดำเนินโดยวิธีสุนทรียสนทนา ทำใจให้สงบปลอดโปร่ง แล้วโดดเข้าไปร่วมวงในทันที

ประวัติสังเขป: เดวิด โจเซฟ โบห์ม
เดวิด โจเซฟ โบห์ม (ค.ศ. ๑๙๑๗ - ๑๙๙๒) นักฟิสิกส์ควอนตัม ผู้มีชื่อเสียงจากฝั่งอเมริกา ผลงานอันโดดเด่นของเขาอยู่ในพื้นที่ของฟิสิกส์ทฤษฎี ปรัชญา จิตวิทยาสมอง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมในโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยว่าด้วยการผลิตระเบิดปรมาณู โดยการคัดสรรรับรองจากโรเบิร์ต อ็อปเพนไฮม์เมอร์ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ หากแต่เจ้าหน้าที่ซีไอเอไม่ยอมรับเพราะไม่ไว้วางใจเขา 57'แม้จะนำผลงานของเขาไปใช้ก็กีดกันเขาทุกวิถีทาง ซึ่งรวมถึงการห้ามตีพิมพ์ผลงานวิทยานิพนธ์ของตัวเขาเองด้วยซ้ำ และเมื่อยุคใส่ร้ายป้ายสีคอมมิวนิสต์ระบาดในอเมริกา ตัวเขาก็จำต้องระเห็จออกจากประเทศ ไปเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยต่างแดนอยู่หลายปี

ทัศนะทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาของโบห์ม ออกจะแนบแน่นพอควร เมื่อภรรยาแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งของเจ กฤษณมูรติในห้องสมุด โบห์มก็บังเกิดความประทับใจยิ่ง ในความบรรสานสอดคล้องระหว่างกลไกควอนตัม กับความคิดเชิงปรัชญาของกฤษณมูรติ และแสดงออกมาอย่างชัดเจนในเล่ม Wholeness and the Implicate Order ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๘๐ และในเล่ม Science, Order and Creativity

ในช่วงหลังเกษียณ โบห์มยังทำงานต่อเนื่องทางด้านควอนตัมฟิสิกส์ งานเขียนชิ้นสุดท้ายของเขาคือเล่ม The Undivided Universe: An ontological interpretation of quantum theory เป็นผลงานที่ทำร่วมกับบาซิล ไฮเลย์ มานานปี ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเขาก็ร่วมสนทนากับกฤษณมูรติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือออกมา โดยเขาเชื่อว่า "สุนทรียสนทนา" เป็นรูปแบบหนึ่งของการเยียวยาเชิงสังคม

ในปีค.ศ. ๑๙๙๐ เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติของ The Royal Society (*) ถัดจากนั้นสองปีก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลวที่ลอนดอน

(*) The Royal Society of London for the Improvement of Natural Knowledge, known simply as the Royal Society, or even the Royal, is a learned society for science that was founded in 1660 and is considered by most to be the oldest such society still in existence. Although a charitable body, it serves as the Academy of Sciences of the United Kingdom (in which role it receives funding from HM Government). Fellowship, granted for life, is awarded to scientists after their election by existing fellows, and is considered a great honour. Fellows must be citizens or residents of a member of the Commonwealth of Nations or the Republic of Ireland, while the smaller number of Foreign Members are drawn from other countries. The Royal Society is a member organisation of the Science Council and the International Council for Science.

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com