ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้เป็นสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ : Release date 18 July 2009 : Copyleft MNU.

บทบาทของญี่ปุ่นที่มีต่อ ADB และ GMS เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูงอันดับต้นของโลก และได้ให้ความช่วยเหลือลุ่มน้ำโขง คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ การที่หนึ่งในรัฐมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ให้ความสนใจพื้นที่หนึ่ง นั้น มีเป้าหมายแอบแฝงใดหรือไม่? การที่ ADB ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก ทำให้ ADB กลายเป็นเสมือนเครื่องมือในการดำ เนินนโยบายเศรษฐกิจให้แก่ญี่ปุ่นหรือไม่ และมีเป้าหมายอย่างไร อีกทั้งโครงการ GMS ที่ผ่านออกมาจาก ADB ได้ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรัฐผู้รับนโยบายเช่นไร? เพราะญี่ปุ่นได้เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายของ ADB ค่อนข้างมาก สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นมีบทบาทใน ADB เกิดจากการที่ญี่ปุ่นเป็นผู้บริจาคเงินสูง

H



18-07-2552 (1745)
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ: เมื่อทุนญี่ปุ่นเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Pax Nipponica กับบทบาทของญี่ปุ่นที่มีต่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขง
นรุตม์ เจริญศรี: เขียน
นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ...
"วาทกรรมการพัฒนาและบทบาททุนญี่ปุ่นในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง: บทศึกษารัฐไทยในกระแสโลกาภิวัตน์"
ซึ่งเป็นบทความนำเสนอ ณ การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๕๐)
กรุงเทพฯ, วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นเรื่องเกี่ยวกับแรงกดดันจากตะวันตกที่มีผลต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
ทำให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตของตนเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำโขง
เหตุนี้ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างหลักหลายประการเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ทุนญี่ปุ่น
สำหรับบทความต้นฉบับนี้ค่อนข้างยาว จึงนำเสนอเป็นสองตอนคือ บทความลำดับที่ ๑๗๔๕ - ๑๗๔๖

Pax Nipponica กับบทบาทของญี่ปุ่นที่มีต่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้
(หัวข้อสำคัญต่อไปนี้ รวบรวมจากบทความลำดับที่ ๑๗๔๕ -๑๗๔๖)
- ความนำเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์
- ประเทศไทย กับการเข้าร่วมในโครงการ GMS ปี ค.ศ.๑๙๙๒
- Pax Nipponica กับบทบาทของญี่ปุ่นที่มีต่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขง
- Pax Nipponica และวาทกรรมเรื่องการพัฒนาจากญี่ปุ่น
- ปัจจัย ๓ ประการที่ทำให้ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ
- ข้อตกลงพลาซา ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
- ADB กับการสร้าง"วาทกรรมว่าด้วยเรื่องการพัฒนา"
- ADB กับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง (GMS) ๑๙๙๒
- วาทกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำโขง (ดูบทความลำดับที่ ๑๗๔๖)
- รัฐไทยเข้าร่วม ADB ในปี ค.ศ.1966
- MOFA, JBIC และ JODC: จีน ไทย และเวียดนาม สามพื้นที่ที่น่าลงทุนสูง
- Soft Infrastructure:
- EXIM Bank กับ JBIC ในการสนับสนุนการลงทุน
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจร่วมสมัย")

สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๔๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ: เมื่อทุนญี่ปุ่นเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Pax Nipponica กับบทบาทของญี่ปุ่นที่มีต่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขง
นรุตม์ เจริญศรี: เขียน
นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

"วาทกรรมการพัฒนาและบทบาททุนญี่ปุ่นในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง: บทศึกษารัฐไทยในกระแสโลกาภิวัตน์"
(บทความนำเสนอ ณ การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 8 (พ.ศ.2550), กรุงเทพฯ, วันที่ 13 ธันวาคม 2550)

ความนำเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์ (Globalization) มิได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาเพียงเร็ววัน หากเป็นความต่อเนื่องของพัฒนาการเชื่องโยงของภาคส่วนต่างๆ ในโลกจากอดีตจวบจนปัจจุบัน ตามความหมายของบทความด้านสังคมศาสตร์ โลกาภิวัตน์จึงเป็นการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เป็นการลดพื้นที่และเวลาให้มีขนาดเล็กลง ในขณะที่มุมมองแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองมองว่า เป็นการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระดับโลกให้เล็กลง (1)

(1) Anthony McGrew, "The Logics of Globalization", Global Political Economy, John Ravenhill (ed.), (Oxford: Oxford University Press), 2005, p.209.

คำจำกัดความของโลกาภิวัตน์จึงมีความแตกต่างกันไปตามนักคิดที่มีมุมมองโลกาภิวัตน์ต่างกัน เช่น กิดเดนส์ (Anthony Giddens) นิยามว่า เป็นการหดย่อของความสัมพันธ์สังคมระดับโลกที่เชื่อมระยะทางที่ห่างไกลกัน ในลักษณะที่หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแม้อยู่ห่างไกลออกไปก็จะส่งผลต่อพื้นที่อีกที่หนึ่งได้" (2) หรือที่ กิลพิน (Robert Gilpin) นิยามว่า "เป็นการบูรณาการของเศรษฐกิจโลก"(3) กล่าวได้คือ โลกาภิวัตน์เป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงในระดับต่างๆ ของโลก อันเนื่องมาจากการย่นย่อของสถานที่และเวลา กระนั้นผลประโยชน์ที่มักกล่าวอ้างว่าเกิดจากการเชื่อมโยงเพราะโลกาภิวัตน์นั้น หาใช่ว่าจะเกิดขึ้นสู่ทุกแห่งอย่างเท่าเทียมเสมอกัน เพราะขึ้นอยู่กับช่วงเวลา และสถานที่ เพราะผู้ที่มีอำนาจในการบังคับย่อมได้เปรียบ และย่อมมีความสามารถในการแสวงหาผลประโยชน์ และเอาเปรียบจากผู้ที่เล็ก หรืออ่อนกำลังกว่า ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมในโครงสร้างที่ถูกสร้างภาพขึ้นมาให้ดูเหมือนว่าจะก่อให้เกิดความเท่าเทียมทางผลประโยชน์

(2) Anthony Giddens, The Consequences of Modernity, (Cambridge: Polity Press), 1990, p.21.
(3) Robert Gilpin, Global Political Economy, Global Political Economy: Understanding the International Economic Order, (New Jersey: Princeton University Press), 2001, p.364.

อำนาจของโลกาภิวัตน์ที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับรัฐ มีทั้งอำนาจที่ส่งผลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีทั้งกลุ่มที่มองว่าโลกาภิวัตน์ส่งผลให้อำนาจของรัฐลดน้อยลง ในขณะที่บางกลุ่มมองว่าอำนาจของรัฐมีอำนาจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บทความนี้มิได้มุ่งเน้นศึกษาว่าด้วยอำนาจของโลกาภิวัตน์ว่า อำนาจของรัฐได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงเช่นไร เพียงแต่ต้องการยกสถานการณ์ความเข้าใจในโลกาภิวัตน์ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นถึงมุมมองที่มีต่อโลกาภิวัตน์ที่แตกต่างกันออกไป

โลกาภิวัตน์นอกจากจะมีผลกระทบที่สามารถก่อให้เกิดปัญหา หรือความสั่นสะเทือนต่อการเมืองของรัฐได้แล้ว ยังมีความสามารถที่จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของรัฐได้เช่นกัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กล่าวถึงอาจเป็นได้ทั้งในแง่ที่โลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางข้อมูล ข่าวสาร หรือความรวดเร็วในการสื่อสาร จนนำไปสู่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง การเพิ่มขึ้นของความรวดเร็วในการตัดสินใจ หรือความสามารถที่มากขึ้นในการแข่งขัน

ในทางกลับกันโลกาภิวัตน์อาจส่งผลในแง่ลบแก่ผู้ที่ถูกกระทบ ทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ลักษณะทางเศรษฐกิจที่กล่าวถึง คือ ผลของการที่เกิดการเคลื่อนย้ายของทุนเข้าออกจากรัฐหนึ่งไปสู่รัฐหนึ่ง อย่างรวดเร็ว หรืออาจจะเป็นการลงทุนด้วยการเคลื่อนย้ายที่มีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสนับสนุน การเคลื่อนย้ายของทุนที่กล่าวถึงในลักษณะนี้ เป็นการเคลื่อนย้ายที่ก่อให้เกิดผลที่เป็นข้อถกเถียงในประเด็นปัญหาว่า การเคลื่อนย้ายนั้นจะก่อเกิดผลประโยชน์แก่รัฐผู้รับมากน้อยเพียงใด (4) เพราะการเคลื่อนย้ายของทุนในแง่นี้ มิได้หมายถึงเพียงแต่ทุนระยะสั้น แต่หมายรวมถึงทุนที่เคลื่อนย้ายไปแล้วก่อให้เกิดการลงทุนในโครงสร้าง การก่อสร้าง การจ้างงาน หรือการใช้ทรัพยากร ซึ่งอาจกลายเป็นประเด็นทางสังคมต่อประเทศปลายทางด้วย

(4) ข้อถกเถียง ดู กวัลชิต สิงห์, ถามท้าโลกาภิวัตน์, พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ (แปล), (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 2550.

อำนาจของโลกาภิวัตน์อีกแบบ คือ อำนาจที่โลกาภิวัตน์สามารถกำหนดรูปแบบการเปลี่ยนแปลงได้ กล่าวคือ โลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดความแตกต่างของระดับการพัฒนา ทั้งในระดับพื้นที่และระดับรัฐ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเกิดขึ้นของ "วาทกรรมว่าด้วยการพัฒนา" ที่เข้าไปสร้างแนวคิดให้แก่รัฐต่างๆ มีมุมมองต่อรัฐอื่น หรือประเด็นต่างๆ ว่าเป็นเรื่องที่ "พัฒนาแล้ว" (Developed) หรือ "ด้อยพัฒนา" (Undeveloped)

สิ่งที่เรียกว่าพัฒนาแล้วและด้อยพัฒนาเป็น "วาทกรรม" ประเภทหนึ่งซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรัฐ เพราะอำนาจของวาทกรรมดังกล่าว สามารถส่งผลต่อความช่วยเหลือ ความร่วมมือ หรือความขัดแย้งระหว่างรัฐได้ ถ้าจะพัฒนาต้องทำให้ทันสมัย และต้องเป็นความทันสมัยแบบเดียว คือ แบบของตะวันตก (5) ดังนั้น คำถามที่ว่า "อะไรคือการพัฒนา" นั้น จะช่วยให้เราเห็นถึงความโยงใยของอำนาจในระหว่างสังคมว่า ใครมีอำนาจ/ชอบธรรมที่จะพูดถึงเรื่องพัฒนา และพูดอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

(5) ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น, (กรุงเทพฯ: วิภาษา), พิมพ์ครั้งที่ 3, 2545, น.7.

รัฐไทยได้รับผลจากการเกิดขึ้นของวาทกรรมในยุคโลกาภิวัตน์เช่นเดียวกัน หนึ่งในวาทกรรมที่ไทยได้รับมา คือ "วาทกรรมว่าด้วยการพัฒนา" เพราะการพัฒนาเป็นวาทกรรมประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาแล้ว และความด้อยพัฒนาได้ก่อให้เกิดมุมมองเรื่องความช่วยเหลือ หรือความพยายามที่จะเข้าไปพัฒนาเพื่อให้เกิดการพัฒนา

ประเทศไทย กับการเข้าร่วมในโครงการ GMS ปี ค.ศ.๑๙๙๒
บริเวณตอนเหนือของรัฐไทยที่เชื่อมต่อกับประเทศ และพื้นที่ข้างเคียง ที่มีส่วนร่วมในการใช้แม่น้ำโขง หรือที่เรียกกันว่า "ลุ่มน้ำโขง" เป็นบริเวณที่ "ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย" (Asian Development Bank - ADB) เรียกว่า "บริเวณด้อยพัฒนา" เนื่องจากมีการสำรวจและพบว่า ประชากรในบริเวณดังกล่าวมี "รายได้ต่อวันที่ต่ำว่า 2 เหรียญสหรัฐฯ" (6) อีกทั้งยังไม่มีความเจริญ ทั้งๆ ที่บริเวณดังกล่าวควรที่จะเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นเขตความเจริญได้ เพราะว่ามีทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ แม่น้ำโขง ที่มีศักยภาพทั้งการเป็นเส้นทางเพื่อการขนส่ง หรือการมีทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำ เป็นต้น ด้วยเหตุผลที่ ADB อธิบาย เป็นเหตุให้ ADB ได้ก่อตั้งโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion - GMS) ขึ้น เพื่อดึงเอาศักยภาพเหล่านั้นขึ้นมาพัฒนาพื้นที่ ขจัดความยากจน และจัดการทรัพยากรที่มีอยู่

ประเทศไทย ได้เข้าร่วมในโครงการ GMS ในปี ค.ศ.1992 โดยในช่วงดังกล่าวพื้นที่ตอนบนของภาคเหนือ หรือบริเวณ GMS นั้น โครงสร้างทางเศรษฐกิจภาคเหนือตอนบน ได้ปรับไปสู่กิจกรรมนอกภาคการเกษตรมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคบริการมีสัดส่วนเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 16.66) นำภาคพาณิชกรรม (ร้อยละ 15.76) และภาคเกษตร (ร้อยละ 15.01) (7) ตามลำดับ

(7) ลือชัย จุลาสัย และคณะ, ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือตอนบน: อุตสาหกรรม การลงทุน และการค้าชายแดน, (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษา GMS สถานวิชาการนานาชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), 2544, น.5.

รัฐไทยหลังการเข้าร่วมใน GMS ได้วางนโยบายเพื่อการพัฒนาพื้นที่ไว้ในหลายมิติ ทั้งนโยบายต่างประเทศที่จะสนับสนุนการสร้าง"เหลี่ยมเศรษฐกิจ" นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการผลิตการค้า การเงิน การสื่อสาร โทรคมนาคม และการคมนาคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ เร่งรัดการจัดสร้างเครือข่ายการคมนาคม ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำพลังงานทดแทนอื่นๆ มาใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น (8) บทความนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาการปรับตัวของรัฐไทย ที่ได้รับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการปรับตัวของรัฐไทยเมื่อต้องเข้าไปร่วมกับโครงการ GMS เพราะโครงการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐไทยซึ่งต้องปรับตัวให้เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมภายในภูมิภาค

(8) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และศูนย์เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี มณฑลยูนนาน, โครงบทความการจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำโขงไทย-ยูนนาน เล่มที่ 2: ภาคเหนือตอนบน, (กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย), 2541, น. 46-47.

อย่างไรก็ดี บทความนี้มิได้ชี้หรือมีความเชื่อโดยพื้นฐานว่าโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งเลวร้ายที่เข้ามากระทบจนเกิดผลในแง่ลบกับประเทศไทยเท่านั้น หากแต่บทความเชื่อว่าวาทกรรมของญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นมาในกระแสโลกาภิวัตน์ เช่น วาทกรรมว่าด้วยเรื่องการพัฒนาลุ่มน้ำโขง การพัฒนาเพื่อความเจริญ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อรัฐไทยเพื่อผลประโยชน์ของญี่ปุ่น

โครงการ GMS เป็นโครงการขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยหลายภาคส่วนความร่วมมือ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้หากจะศึกษาให้ครอบคลุมและสามารถเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของรัฐไทยในทุกมิติที่ GMS ได้เข้าไปมีส่วนร่วมนั้น จะต้องใช้เวลาศึกษาระยะยาวและต่อเนื่อง อีกทั้งด้วยความจำกัดในหลายประการ ส่งผลให้บทความนี้หยิบยกเพียงประเด็นเรื่องการเชื่อมโยงทางการคมนาคมขนส่งที่โครงการ GMS ได้ให้ความสำคัญขึ้นมาศึกษาเท่านั้น เนื่องจากโครงการเชื่อมโยงการขนส่งดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่สามารถเป็นตัวแสดงที่พอจะชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหรือการปรับตัวของรัฐไทยได้อย่างชัดเจนกว่าโครงการอื่น

Pax Nipponica กับบทบาทของญี่ปุ่นที่มีต่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขง
บทความนี้ใช้มุมมองเรื่อง Pax Nipponica (9) ศึกษาการเข้ามามีบทบาทของญี่ปุ่นที่มีต่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขง โดยบทความเชื่อว่าการที่ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงนั้น เพื่อประโยชน์ต่อญี่ปุ่นเอง ผลประโยชน์ที่กล่าวถึงคือ ประโยชน์ที่เครือข่ายการผลิต (Production Network) จะได้รับ โดยการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ซึ่งญี่ปุ่นได้ดำเนินการผ่านองค์การของญี่ปุ่นที่เข้าไปก่อตั้งในประเทศต่างๆ เพื่อสนับสนุน หรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ญี่ปุ่นจะได้ผลประโยชน์

ข้อเสนอของบทความนี้คือ การที่ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามข้อตกลงพลาซา (*) ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องสร้างวาทกรรมผ่านองค์การที่ญี่ปุ่นเข้าไปมีบทบาท เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ หรือเตรียมความพร้อมของสถานที่ กฎระเบียบให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ที่ญี่ปุ่นต้องการ

(9) บ้างว่า "Pax Japonica" ดู Friedemann Bartu, Ugly Japanese: Nippon's Economic Empire in Asia, (Singapore: Longman), 1992.

(*) The Plaza Accord or Plaza Agreement was an agreement between the governments of France, West Germany, Japan, the United States and the United Kingdom, agreeing to depreciate the US dollar in relation to the Japanese yen and German Deutsche Mark by intervening in currency markets. The five governments signed the accord on September 22, 1985 at the Plaza Hotel in New York City.

ขอบเขตและระยะเวลาการศึกษาของบทความชิ้นนี้ แม้จะมิได้ระบุหรือจำกัดช่วงเวลาอย่างชัดเจน หากแต่ได้เริ่มศึกษาตั้งแต่การเกิดขึ้นของ ADB ในส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง และเน้นศึกษาโครงการ GMS โดยเฉพาะ ดังนั้นบทความนี้จึงมีลักษณะต่อเนื่องตั้งแต่การก่อตั้ง ADB จนกระทั่งถึงการก่อตั้งโครงการ GMS และเชื่อมโยงช่วงเวลาต่อมา เพื่อให้เห็นภาพที่มีความสัมพันธ์กัน

บทความแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก คือ

1. "บทนำ"

2. "Pax Nipponica และวาทกรรมเรื่องการพัฒนาจากญี่ปุ่น" แสดงประวัติศาสตร์ของ Pax Nipponica เพื่อชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนย้ายของฐานการผลิตของญี่ปุ่นมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของ ADB และบทบาทที่ ADB ได้สร้างวาทกรรมขึ้นมาว่าด้วยเรื่องลุ่มน้ำโขง จนนำไปสู่แนวทางหรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ ADB ที่มีต่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขง

3. "การพัฒนาลุ่มน้ำโขง: ผลประโยชน์ของญี่ปุ่น และการปรับตัวของรัฐไทย" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของบทความนี้ เพราะเป็นประเด็นที่ต้องการชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวของรัฐไทย เมื่อได้รับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจาก ADB โดยศึกษาว่ารัฐไทยปรับตัวตามดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน และมีทิศทางอย่างไร

4. "สรุป"
(หมายเหตุ: บทความนี้คัดลอกมาบางส่วนจากฉบับเต็ม หากจะอ่านให้ครบถ้วนสมบูรณ์ กรุณาคลิกอ่านบทความต่อเนื่องลำดับที่ 1746)

"Pax Nipponica และวาทกรรมเรื่องการพัฒนาจากญี่ปุ่น"
"Pax Nipponica" ได้รับการเสนอโดย โวเกล (Ezra F. Vogel) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา และผู้อำนวยการโครงการความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา-ญี่ปุ่น จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) โดยโวเกลเสนอบทบาทของญี่ปุ่นในบทความที่มีชื่อว่า "Pax Nipponica?" ในวารสาร Foreign Affairs ฉบับฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ.1986 โวเกลเสนอบทบาททางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เจริญขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเปลี่ยนโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจโลกได้ (10)

(10) ก่อนหน้าที่โวเกลจะเขียนบทความนี้ หนังสือที่สำคัญของโวเกล คือ "Japan as Number One: Lessons for America" ได้สร้างความตระหนักให้แก่ชาวสหรัฐอเมริกาถึงบทบาททางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมาแล้ว

บทความนี้ได้เลือกศึกษา ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรัฐที่มีบทบาทความเจริญทางเศรษฐกิจในโลกยุคปัจจุบัน (11) การเจริญเติบโตของญี่ปุ่นสามารถมองได้ว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของพลังอำนาจที่ญี่ปุ่นจะเป็นศูนย์กลางของอำนาจ และจะกลายเป็นศูนย์กลางของการแบ่งการผลิต (Division of Labor) (12) โดยเมื่อศึกษาจากอดีต การพ่ายแพ้สงครามของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาได้เข้าควบคุมการเมืองภายในญี่ปุ่น เช่น การกำหนดให้ระบุรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น มาตรา 9 ที่ประกาศยกเลิกสิทธิการใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการจัดการกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมทั้งจะไม่มีกองกำลังใดๆ ในประเทศ (13) การเข้ามามีบทบาทของสหรัฐอเมริกานั้น นอกเหนือจากด้านการเมืองแล้ว ยังรวมไปถึงการกำหนดบทบาทในเรื่องเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน สหรัฐอเมริกาได้ทำการค้าขายกับญี่ปุ่น โดยหวังให้ญี่ปุ่นเป็นตลาดที่รับซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกา

(11) การพัฒนาของญี่ปุ่นจนเกิดความก้าวหน้า และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้ามากลำดับต้นของโลก เกิดขึ้นจากการที่ประชากรมีคุณภาพมากประเทศหนึ่งในโลก หนึ่งในงานวิจัยที่ศึกษาบทบาทบทความของญี่ปุ่นเปรียบเทียบกับไทย ว่าด้วยเหตุใดญี่ปุ่นจึงมีความก้าวหน้ามากกว่าไทย ทั้งๆ ที่เริ่มพัฒนาในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับไทย ดู สุกัญญา นิธังกร, การศึกษาไทย-ญี่ปุ่น ยุคปรับตัวสู่สมัยใหม่: เหตุใดก้าวไกลต่างกัน, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2549.)

(12) Hartwig Hummel, "Pax Nipponica? Global Hegemony and Japan in IR Theory", presented at the Symposium on "The Global Meaning of Japan: European and Asia Perspectives", Kyoto, Japan, 20-22 March 1998.

(13) ศิริพร วัชชวัลคุ, "พันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐ ในยุคหลังสงครามเย็น", ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: แนวคิด ทฤษฎี และกรณีศึกษา, จุลชีพ ชินวรรโณ (บก.), (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2547, น.118.

การที่ญี่ปุ่นมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ดูแลด้านความมั่นคงให้ ส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถทุ่มเทการพัฒนาตนเองไปด้านเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ เพียงชั่วระยะเวลาทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวจากภัยพิบัติสงคราม และใน ค.ศ. 1977 ญี่ปุ่นพัฒนาตนเองจนสามารถมีระดับการพัฒนาที่เทียบเคียงกับยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันเป็นช่วงระยะเวลาที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอยู่ในสภาพที่เสื่อมถอย แต่ญี่ปุ่นกลับมีบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจำนวนมาก จนในที่สุด ค.ศ.1980 สหรัฐอเมริกาได้เริ่มบังคับให้ญี่ปุ่นลดส่วนขาดดุลการค้าระหว่างประเทศทั้งสองอย่างจริงจัง (14)

(14) รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ระเบียบเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ กับสงครามการค้า, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: คบไฟ), 2543, น.157-158

ปัจจัย ๓ ประการที่ทำให้ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ
โวเกล ได้เสนอปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นได้เปรียบและดุลการค้ามากกว่าสหรัฐฯ เขาเสนอว่าเป็นเพราะญี่ปุ่นได้ใช้ 3 นโยบายสำคัญ ได้แก่

- การปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ ในเรื่องอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (New Industrial Revolution in Manufacturing Technology)
- การมุ่งเน้นในภาคการบริการ และ
- การขยายตัวของการวิจัยและกิจกรรมเพื่อการพัฒนา (15)

ปัจจัยอีกประการที่ทำให้ญี่ปุ่นได้ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามาก คือ ญี่ปุ่นได้กำหนดให้ค่าเงินของตนเองต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า สินค้าของญี่ปุ่นจึงเข้าตีตลาดในสหรัฐอเมริกาจนได้ดุลการค้าอย่างมาก การได้ดุลการค้ามากกว่าสหรัฐอเมริกาส่งผลให้ญี่ปุ่นเกิดความบาดหมางกับสหรัฐฯ นอกจากนี้หลายประเทศเกรงว่าดุลการชำระเงินเกินดุลของญี่ปุ่น จะนำไปสู่ปัญหาด้านเสถียรภาพของระบบการเงินโลก ซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่แล้ว (16) สหรัฐอเมริกาเองมีมุมมองในเรื่องที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเจริญเติบโตอย่างมากในห้วงเวลาดังกล่าวว่า เป็นการที่ญี่ปุ่นกำลังเป็น "ผู้โดยสารที่ชอบตีตั๋วฟรี" (Free Rider) (17) โดยแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าที่มีเสถียรภาพที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้จ่ายเพื่อให้เกิดขึ้น (18) ส่งผลให้ในการประชุมของ G-5 (19) ณ กรุงเจนีวาในปี ค.ศ.1985 เกิด "ข้อตกลงพลาซา" (Plaza Accord) โดยให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญของสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 89 (20)

(15) Ezra F. Vogel, "Pax Nipponica", Foreign Affairs, Spring, 1986, p.752.
(16) ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริสเบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: ซิลค์เวอร์ม), 2546, น.189.
(17) ถอดความตาม รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, อ้างแล้ว, น.158.
(18) Ezra F. Vogel, Ibid., p.755.
(19) การประชุมประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น.
(20) ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริสเบเคอร์, อ้างแล้ว.

ข้อตกลงพลาซา ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
ข้อตกลงพลาซา ได้ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีต้นทุนในการผลิตสินค้ามากขึ้น เพราะค่าเงินเยนมูลค่าสูงขึ้น ญี่ปุ่นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องลดต้นทุนการผลิตของตนเอง โดยการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า ได้แก่ ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ร่วมส่งเสริมการให้ย้ายฐานการผลิตโดยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปลงทุน ณ ต่างประเทศ องค์กรส่งเสริมการค้าต่างประเทศ เช่น เจโทร (JETRO) มีหน้าที่ช่วยเหลือธุรกิจเหล่านี้โดยตรงเพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็นและช่วยเหลือด้านอื่นๆ

ดังที่ได้กล่าวมาถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีความจำเป็นที่จะต้องย้ายฐานการผลิต อันเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าเงินญี่ปุ่น ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่เป็นแรงขับเสริมให้ญี่ปุ่นมีความจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้นคือ ในช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐอเมริกาได้ถอนบทบาทของตนเองไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ทั้งนี้เพราะสงครามเวียดนามได้สิ้นสุดลงแล้ว ทำให้ญี่ปุ่นมีความกังวลว่าจะรักษาความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ได้อย่างไร เพื่อยังคงรักษาผลประโยชน์ไว้ ส่งผลให้ญี่ปุ่นทำการวิจัยเกี่ยวกับสถานภาพที่จะเปลี่ยนแปลง ผลการวิจัยออกมาเป็นรายงานการวิจัยกลางเทอมที่มีชื่อว่า "การมองหาความร่วมมือแบบใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" โดยมีประเด็นหลักที่ว่า "บทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้" อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นต้องเข้าไปมีบทบาทในการแบ่งเบาภาระของสหรัฐอเมริกา หรือเข้าไปทำหน้าที่แทนสหรัฐอเมริกาที่กำลังเริ่มถอนตัวออกจากภูมิภาคดังกล่าว แนวคิดดังกล่าวของญี่ปุ่นได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความร่วมมือต่อภูมิภาค กล่าวคือ ได้เปลี่ยนไปจากที่เน้น "การพัฒนาที่พึ่งพาสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก" ไปเป็นภูมิภาคที่ "แบ่งหน้าที่กันตามสถานะทางเศรษฐกิจของตน" (Division of Labor) (21)

(21) โฮะโซะกาว่า ฮิซาชิ, ญี่ปุ่น: ยุทธศาสตร์การค้าและอุตสาหกรรม, กนิฏฐา มุทซุโอะ (แปล), (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์), 2545, น.131-133

การย้ายฐานการผลิตของญี่ปุ่นอันเกิดจากข้อตกลงพลาซาในปี ค.ศ.1985 ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมของสถานที่ กฎระเบียบ และปัจจัยที่จะเอื้อต่อการผลิตของญี่ปุ่นที่จะย้ายไป ข้อเสนอของบทความนี้ คือ การที่ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทการพัฒนาลุ่มน้ำโขง เป็นไปเพื่อให้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวมีความพร้อมที่จะรองรับฐานการผลิตของญี่ปุ่นที่จะย้ายมา โดยเตรียมความพร้อมผ่านกฎระเบียบที่องค์การซึ่งญี่ปุ่นตั้งขึ้นเพื่อให้มาปฏิบัติการในประเทศไทย รวมไปถึงการให้องค์การเหล่านั้นได้มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะเอื้อต่อประโยชน์ของญี่ปุ่นมากที่สุด

องค์การที่ญี่ปุ่นเข้าไปมีบทบาทจึงมีส่วนสำคัญในการเตรียมพื้นที่ให้ญี่ปุ่นเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ โดยหนึ่งในองค์การที่มีบทบาทมากที่สุดในบทความนี้ได้เลือกศึกษา คือ ADB ด้วยเชื่อว่า ADB จะเป็นแขนขาที่สำคัญหนึ่งให้ญี่ปุ่นได้เข้าไปใช้พื้นที่ที่ต้องการ การเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่ซึ่งญี่ปุ่นต้องการทำให้ญี่ปุ่นต้องแสวงหาความชอบธรรมที่จะเข้าไป ความชอบธรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมี "วาทกรรม" รองรับเท่านั้น

ADB กับการสร้าง"วาทกรรมว่าด้วยเรื่องการพัฒนา"
"วาทกรรม" (Discourse) เป็นตัวสร้างสรรพสิ่งต่างๆขึ้นมา ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนชุดหนึ่ง กฎเกณ์นี้จะเป็นตัวกำหนดการดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลง หรือการเลือนหายไปของสรรพสิ่ง นั่นคือ ควบคู่ไปกับสรรพสิ่งต่างๆ ที่สังคมสร้างขึ้นมา (22) วาทกรรมว่าด้วยเรื่องการพัฒนาก็เช่นกัน "การพัฒนา" หรือ "การด้อยพัฒนา" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดังที่ เอสโคบาร์ (Arturo Escobar) ได้ชี้ให้เห็นว่าก่อนหน้า ค.ศ.1955 วิชาที่ว่าด้วยเรื่อง "เศรษฐศาสตร์การพัฒนา" นั้นไม่มี บทบาทของวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา คือ การสร้างเอกลักษณ์/ตัวตนของสิ่งที่เรียกว่า "ความด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ" (Underdeveloped Economy) ขึ้นมา ด้วยการนำเอามาตรฐาน กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกมาเป็นมาตรวัด (23) บทความนี้มิได้มุ่งเน้นศึกษาประเด็นที่มาที่ไป หรือข้อถกเถียงเกี่ยวกับ "วาทกรรม" หากมุ่งเน้นชี้ให้เห็นว่า วาทกรรมว่าด้วยเรื่องการพัฒนา ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรัฐ (24)

(22)ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, อ้างแล้ว, น.21.
(23)เพิ่งอ้าง, น. 51.
(24) บทความว่าด้วยเรื่อง วาทกรรมการพัฒนา ได้เกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีการนำเสนอข้อถกเถียงแบบละเอียด ดู ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น, (กรุงเทพฯ: วิภาษา), พิมพ์ครั้งที่ 3, 2545 และ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, รัฐศาสตร์แนววิพากษ์, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2544, น.87-130.

บทความนี้เลือกประเด็นวาทกรรมขึ้นมาศึกษาว่า ADB ได้สร้างวาทกรรมว่าด้วยเรื่องการพัฒนา ขึ้นมาอย่างไร เพื่อเสนอแนวนโยบายการพัฒนาพื้นที่ หรือการวางแผนโครงการขึ้นมาอย่างไร? โดยผ่านแนวคิดไปยังโครงการ GMS เพื่อให้เกิดการวางแผนการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม

ADB กับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง (GMS) 1992
ADB ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1966 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในเอเชียแปซิฟิค ผ่านการให้เงินกู้ยืม และการช่วยเหลือทางวิชาการ (Technical Assistance) ADB ได้ดำเนินการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries) จำนวน 67 ประเทศ โดย 48 ประเทศมาจากเอเชีย และที่เหลือมาจากทั่วโลก. ADB ดำเนินงานโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการทำงานจากประเทศสมาชิก ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้เงินบริจาคแก่ ADB มากที่สุดในโลก (25) โดยบริจาคผ่านโครงการจำนวนสามโครงการ คือ

- Asian Development Fund (ADF)
- ADB Institute Special Fund และ
- Japan Special Fund (JSF)

(25) Asian Development Bank, "Asian Development Bang & Japan: A Fact Sheet",

หนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ ADB คือ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง (GMS) โครงการ GMS เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1992 เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผ่านการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น (closer economic linkage) ภายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบไปด้วย พื้นที่ทางตอนใต้ของสาธารณประชาธิปไตยประชาชนจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

GMS ประกอบไปด้วยโครงการสนับสนุนที่มุ่งพัฒนาภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่. โครงการที่ GMS มุ่งพัฒนา คือ การคมนาคม พลังงาน การติดต่อสื่อสาร สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว การค้าขาย การลงทุนภาคเอกชน และการเกษตร โดย ADB จะเข้าไปมีบทบาทใน GMS ในด้านเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน เป็นผู้ประสานงานโครงการต่างๆ และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และการให้คำปรึกษา

บทบาทของญี่ปุ่นที่มีต่อ ADB และ GMS เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูงอันดับต้นของโลก และได้ให้ความช่วยเหลือลุ่มน้ำโขง คำถามที่เกิดขึ้นคือ การที่หนึ่งในรัฐมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ให้ความสนใจพื้นที่หนึ่งๆ นั้น มีเป้าหมายแอบแฝงใดหรือไม่? การที่ ADB ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนหลัก ทำให้ ADB กลายเป็นเสมือนเครื่องมือในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้แก่ญี่ปุ่นหรือไม่ และมีเป้าหมายอย่างไร อีกทั้งโครงการ GMS ที่ผ่านออกมาจาก ADB ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรัฐผู้รับนโยบายเช่นไร? เพราะญี่ปุ่นได้เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายของ ADB ค่อนข้างมาก สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นเข้าไปมีบทบาทใน ADB นั้น เกิดจากการที่ญี่ปุ่นเป็นผู้บริจาคเงินสูงสุดให้แก่ ADB คิดเป็นร้อยละ 15.63 ของผู้ที่บริจาคจากทั้งโลก ทำให้มีสิทธิ์ในการออกเสียงมาก คือ ญี่ปุ่นมีสิทธิ์ในการออกเสียง (vote) คิดเป็นจำนวนร้อยละ 12.80 ของประเทศสมาชิก ADB และสิทธิ์ในการออกเสียงร้อยละ 19.74 ของระดับประเทศในภูมิภาค (26) นอกจากนี้ตำแหน่งประธาน (President) ของ ADB จะตกเป็นของญี่ปุ่นเสมอมา (27)

(26) Ibid.
(27) ประธานของ ADB ที่ผ่านมา เป็นคนญี่ปุ่นทั้งสิ้น ลำดับประธาน ADB จากอดีตจนถึงปัจจุบัน คือ ทาเคชิ วาตานาเบ (Takeshi Watanabe; 1966-1972), ชิโร อิโนอุเนะ (Shiro Inoune; 1972-1976), ทาโรอิจิ โยชิดะ (Taroichi Yoshida; 1976-1981), มาซาโอะ ฟูจิโอกะ (Masao Fujioka; 1981-1989), คิมิมาซะ ทารุมิซุ (Kimimasa Tarumizu; 1989-1993), มิซึโอะ ซาโต (Mitsuo Sato; 1993-1999), ทาดาโอะ จิโนะ (Tadao Chino; 1999-2004) และคนปัจจุบัน คือ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ (Haruhiko Kuroda; 2004-ปัจจุบัน).

บทบาทของญี่ปุ่นในการสร้างวาทกรรมเรื่องการพัฒนาลุ่มน้ำโขง สามารถดูได้จากการที่ญี่ปุ่นได้สร้างความเชื่อหรือคำจำกัดความว่าด้วยเรื่องความเจริญของภูมิภาคว่า ลุ่มน้ำโขงมีลักษณะเป็นเช่นไร และต้องได้รับการพัฒนาไปในทิศทางใด. ในช่วงปี ค.ศ.1992 ที่เกิดโครงการ GMS และ มิซึโอะ ซาโต (Mitsuo Sato; 1993-1999) ประธาน ADB ในขณะนั้น ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "ลุ่มน้ำโขง" ไว้ว่า

"ลุ่มน้ำโขงกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การก้าวเปลี่ยนภายในอนุภูมิภาคและการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ได้สร้างสภาวะที่สำคัญยิ่งที่จะค้ำจุนเศรษฐกิจของภูมิภาคไว้ GMS ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า เป็นพื้นที่ซึ่งมีพลวัตสูง และเปิดโอกาสให้แก่การลงทุน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ การพัฒนานี้จะต้องเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ภูมิภาคด้วย" (28)

(28) Mitsuo Sato, "Welcome and Opening Remarks at Seventh Conference on Subregional Economic Cooperation", <http://www.adb.org/printer-friendly.asp?fn=%2FDocuments%2FSpeeches%2F1997%2Fms1997010.asp&news=none>

จากคำพูดข้างต้น คือ ในสภาวะของโลกาภิวัตน์ซึ่งก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวจะช่วยก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ผู้เข้าไปร่วมในระบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มน้ำโขง ที่มีศักยภาพสูง โดยการเปิดเสรีดังที่ ซาโต พูดถึง นั่นคือ "การเปิดเสรีความร่วมมือ" (Cooperative) รวมไปถึงแง่ของการแข่งขัน (Competitive) ในระบบเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ

ซาโต ให้เหตุผลและมุมมองต่อลุ่มน้ำโขงว่ามีศักยภาพด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ ประชากรของลุ่มน้ำโขงจะมีจำนวนกว่า 350 ล้านคนภายในปี ค.ศ.2020 สัดส่วนประชากรภายในภูมิภาคจะย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองจากปัจจุบันร้อยละ 25 ไปเป็นร้อยละ 50 ในอนุภูมิภาคจะมีประชากรกว่า 100 ล้านคนอาศัยอยู่ในตัวเมือง และภายใน 25 ปี ภาคการเกษตรจะถูกลดความสำคัญลง โดยจะมีอุตสาหกรรมและการบริการเข้ามาแทนที่ อย่างไรก็ตาม ซาโต มองว่าการที่ประชากรย้ายไปสู่ตัวเมือง และการเกษตรจะได้รับความสำคัญน้อยลง แต่ก็จะยังคงเป็นภาคการจ้างงานที่สำคัญต่อไป ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่ในชนบท และการเข้าไปลงทุนจะช่วยให้เกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้น (29) โดยเน้นย้ำว่า โครงการความร่วมมือในระดับภูมิภาค หรือ GMS นี้ จะส่งผลดีต่อการค้า การลงทุน และจะส่งผลต่อประชากรในภูมิภาคในที่สุด

(29) Ibid

หากเปรียบเทียบกับประธาน ADB คนปัจจุบัน ฮารุฮิโกะ คุโรดะ (Haruhiko Kuroda; 2004-ปัจจุบัน) ซึ่งแสดงทัศนคติต่อลุ่มน้ำโขงไว้ว่า

"การเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจได้ส่งผลให้ประชากรหลายล้านคนของเอเชียสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวเอเชียจำนวน 2 ใน 3 ยังคงถูกจัดว่าเป็นประชากรที่ยากจนของโลก ความแตกต่างในเรื่องรายได้ มาตรฐานในการครองชีพ และสภาพสังคมเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความแตกต่างมากยิ่งขึ้น หากเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ความร่วมมือในภูมิภาคและการบูรณาการจะเป็นวิธีการที่ที่สุด และวิธีการที่จะช่วยลดความยากจนนั้น ต้องใช้กระบวนการที่ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานอยู่ในระดับสูง" (30)

(30) Haruhiko Kuroda, "New Dynamics, New Opportunities: Towards Deeper Asian Economic Integration",
<http://www.adb.org/Documents/Speeches/2005/ms2005084.asp>

จากแนวคิดของ ซาโต และ คุโรดะ เมื่อเปรียบเทียบกันสองยุค จะพบว่าแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาลุ่มน้ำโขงยังคงมีความคล้ายคลึงกันอยู่ กล่าวคือ การมีมุมมองเรื่องเศรษฐกิจแบบเสรี และความเชื่อว่าการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งประเทศผู้ที่รับความช่วยเหลือเข้าไป และประเทศอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก ดังนั้น วาทกรรมว่าด้วยเรื่องการพัฒนา จึงกลายเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดมุมมองต่อ "ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี" ที่ว่า การเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินเศรษฐกิจในภาคส่วนชนบทที่แต่เดิมไม่ได้รับความสนใจ ให้กลายเป็นดินแดนที่ถูกเชื่อว่าจะกลายเป็นส่วนที่มีความสำคัญทางระบบเศรษฐกิจ และจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ หากนำเอาแนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจระบบเสรีเข้าไป

ADB จึงได้กำหนดแนวคิดในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง โดยให้แนวคิดดังกล่าวมีเนื้อหาที่ระบุให้ลุ่มน้ำโขง กลายเป็น "ภูมิภาคระบบเศรษฐกิจแบบตลาด" (Regional Market Economy) (31) โดยได้ระบุไว้ใน Regional Workshop on Achieving Results in Private Sector Development - A Strategic Process ว่า

"โครงการ GMS เป็นกรณีตัวอย่างที่คลาสสิก ของการบูรณาการตลาด (market integration) ที่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากการบูรณาการเชิงสถาบัน (institutional integration) เพราะการบูรณาการเชิงสถาบันถูกกำหนดโดยข้อตกลงทางกฎหมาย และข้อกำหนดเชิงสถาบันที่สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศสมาชิกในความตกลงพิเศษร่วมกัน ในขณะที่การบูรณาการตลาดเป็นการใช้ความร่วมมือเชิงสถาบันที่ไม่เป็นทางการ และพยายามสร้างสินค้าสาธารณะสำหรับภูมิภาค (regional public goods) เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายที่หลายฝ่ายต้องจ่าย เพราะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้า และบริการ" (32)

(31) Alfred Oehlers, "A Critique of ADB Policies towards the Greater Mekong Sub-Region",
Journal of Contemporary Asia, (36:4), 2006, 468.
(32) Ibid

การกำหนดดังกล่าวจึงเป็นการสร้างแนวคิดเรื่องการพัฒนาให้เกิดการบูรณาการ การเชื่อมโยงโครงข่ายการติดต่อ เพื่อให้เกิดการบูรณาการของตลาดของภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ทำให้ GMS มีโครงการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ที่สำคัญ คือ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอนุภูมิภาค (Subregional Economic Cooperation) เป็นโครงการแรกของ GMS โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างชายแดน ต่อมาได้พัฒนาครอบคุลมไป 9 ส่วน คือ การคมนาคม พลังงาน การติดต่อสื่อสาร สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว การค้าขาย การลงทุนภาคเอกชน และการเกษตร ดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ โดยทั้งหมดเกิดขึ้นมาเพื่อให้พื้นที่ได้พัฒนาจาก "การด้อยพัฒนา" ไปสู่สภาพของ "การพัฒนา"

โครงการที่สำคัญลำดับแรกๆ เกิดขึ้นเพื่อรองรับ GMS คือ การสร้างทางเชื่อมต่อการคมนาคมภายในภูมิภาค กล่าวคือ โครงการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนภาคพื้นทวีป ด้วยการสร้างถนนจากไทย ลาว และเวียดนาม ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมต่อถนน เพื่อเสริมสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศดังกล่าว อาเซียนได้ศึกษาข้อมูลและให้เหตุผลสนับสนุนการเพิ่มความร่วมมือทางด้านคมนาคมว่าจะส่งผลที่ดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพบว่าเมื่อมีการเชื่อมโยงด้านคมนาคมแล้วจะก่อให้เกิดผลดี เกิดการบูรณาการของภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ญี่ปุ่นได้เข้าช่วยเหลือ GMS ในโครงการหลัก คือ "East-West Economic Corridor" โครงการนี้เชื่อมโยงภาคพื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก มุกดาหาร - สะหวันนะเขต (ลาว) - ลาวบาว (ลาว) - เว้ (เวียดนาม) - ดองฮา (เวียดนาม) - ดานัง (เวียดนาม). การวางแผนเพื่อก่อสร้างเส้นทางดังกล่าว ส่งผลให้ไทย ลาว และเวียดนาม ต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ เพื่อเข้ามาสนับสนุนการก่อสร้าง โดยได้กู้เงินจาก Japan Bank for International Cooperation (JBIC) และ ADB ในการก่อสร้างเส้นทางช่วงต่างๆ (33)

(33) "แนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor) และเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)"
<http://www.thaifta.com/ThaiFTA/Portals/0/GMS_Corridor.pdf>

นอกจากนี้ GMS ยังได้ส่งผลต่อรัฐไทยในแง่อื่นๆ เช่น พบว่าเมื่อดูจากประวัติศาสตร์แล้ว รัฐไทยได้ปรับตัวให้เป็นไปตามโครงการ GMS ซึ่งการปรับตัวนี้กลายเป็นการเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ญี่ปุ่น เช่น การใช้ทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าว ดูได้จากมีการปลูกพืช คือ "ถั่วเขียวผิวดำ" (Black Matpe) (34) ที่ไม่เคยปลูกในประเทศไทยมาก่อน แต่ได้มีการขยายพื้นที่ในการปลูกในเขตภาคเหนือตอนบนถึงประมาณ 600,000 ไร่ ในช่วงดังกล่าว เป็นผลจากการที่มีพ่อค้าส่งออก นำเมล็ดพันธุ์จากอินเดียและพม่ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก เพื่อรวบรวมผลผลิตส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น (35)

(34) ถั่วเขียวผิวดำหรือที่เรียกว่าถั่วแขก ชาวญี่ปุ่นนิยมใช้ทำถั่วงอก ในขณะที่อินเดียใช้ทำแป้งเพื่อประกอบอาหาร เศษซากของถั่วเขียวผิวดำสามารถใช้ทำเชื้อเพลิงได้ดี
(35) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และศูนย์เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี มณฑลยูนนาน

อีกทั้งรัฐไทยมีการเปลี่ยนแปลงให้มีการยกเลิกเงื่อนไขสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติ อนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร และทำงานในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยมีเป้าหมายนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นต้น โดยไทยมองว่า โอกาสขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยยังคงมีแนวโน้มที่ดีทั้งตลาดประชาคมยุโรป และเขตการค้าเสรีของสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ตลอดจนแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค "นโยบายการเปิดตลาดของประเทศญี่ปุ่น" และประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย (36)

(36) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ส่วนที่ 1, "สรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7"
<http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=89>

ตามที่ได้กล่าวมาได้แสดงให้เห็นภาพบทบาทของญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามามีส่วนในการกำหนดแนวทางการพัฒนาดินแดนลุ่มน้ำโขง คือ ญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างแนวคิดเรื่องการพัฒนา การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ว่าจะช่วยให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจ การต่อเชื่อมเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศที่ได้รับการพัฒนา โครงการ GMS ที่ได้รับเงินสนับสนุนและการวางแผนการจาก ADB ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนหลัก ทำให้ญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทในการเสนอแนวทางดังกล่าว อย่างไรก็ดีเป้าหมายของญี่ปุ่นที่เข้ามามีบทบาทต่อการกำหนดแนวนโยบายเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า แท้จริงแล้ว ญี่ปุ่นมีเป้าหมายเช่นไร

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++(คลิกไปอ่านต่อบทความเกี่ยวเนื่อง ลำดับที่ 1746)

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com