1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
...โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าเกษตรที่เราผลิตส่วนหนึ่งใช้ในประเทศ ส่วนหนึ่งผลิตเพื่อการส่งออก ยกตัวอย่าง ในกรณีข้าวก็ดี น้ำตาลก็ดี ยางพาราก็ดี หรือมันสำปะหลังก็ดี ราคาส่งออกเป็นราคาที่กำหนด-ราคาภายในประเทศ ทั้งๆ ที่สินค้าหลายอย่างหรือสินค้าหลายตัวมีปริมาณความต้องการใช้ในประเทศมากกว่าปริมาณการส่งออกมากมาย เช่น ในกรณีข้าวปริมาณการส่งออกมีจำนวนน้อยกว่าปริมาณที่ใช้บริโภคภายในประเทศ แต่เนื่องจากปริมาณหน่วยสุดท้าย เป็นตัวกำ หนดราคาข้าวทั้งข้าวสารและข้าวเปลือก ถ้าความต้องการข้าวไทย มีสูงกว่าปริมาณที่เราผลิตได้เพียง ๕-๖ เปอร์เซ็นต์ ราคาข้าวทั้งหมดรวมทั้งข้าวที่เราใช้บริโภคในประเทศก็จะสูงขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าปริมาณความต้องการข้าวไทยในต่างประเทศ ลดลงเพียง ๕-๖ %...
30-07-2552 (1749)
บทความวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
- การเมืองการปกครอง
จากทฤษฎีหน่วยสุดท้าย
ถึงการเมืองและการปกครองของจีน
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร: เขียน / กอง บก. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
รวบรวมจากบทความที่เคยพิมพ์เผยแพร่แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความวิชาการเหล่านี้
รวบรวมมาจากงานเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว
บนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับ ประกอบด้วยหัวเรื่องดังต่อไปนี้...
๑. ทฤษฎีหน่วยสุดท้าย (เศรษฐศาสตร์)
๒. การเงินของพรรคการเมือง อีกด้านหนึ่งของเหรียญ
๓. รางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ ปี ๒๐๐๘
- ทฤษฎีประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศ หรือ "gain from trade"
- Comparative advantage theory
- Capital intensive goods / Labor intensive goods
- Intra-industry trade
๔. เลิกให้ดอลลาร์เป็นเงินตราระหว่างประเทศ
- เงินตรากลางของโลก: "SDR" หรือ "Special Drawing Right"
๕. การเมืองและการปกครองของจีน
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด
"เศรษฐศาสตร์-การเมืองการปกครอง")
สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๔๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
- การเมืองการปกครอง
จากทฤษฎีหน่วยสุดท้าย
ถึงการเมืองและการปกครองของจีน
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร: เขียน / กอง บก. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
รวบรวมจากบทความที่เคยพิมพ์เผยแพร่แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
1. ทฤษฎีหน่วยสุดท้าย
คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3840 (3040)
พฤติกรรมของตลาดสินค้าบางที่ก็มีเรื่องแปลกๆ ที่เป็นเส้นผมบังภูเขา แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เห็นกันอยู่ แต่บางทีก็คิดกันไม่ออกหรือมองไม่เห็น แล้วก็อธิบายได้ยากก็มักจะเกิดขึ้นให้เห็นอยู่เสมอ
เรื่องหนึ่งที่เรามักจะคิดไม่ออกและไม่ค่อยได้คิด เมื่อถึงเวลาพิจารณาตัดสินนโยบายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของตลาดสินค้า ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอ คือเรื่องของทฤษฎีหน่วยสุดท้าย หรือ "marginality theory"
ทฤษฎีนี้เน้นให้เห็นว่าบางทีหลายๆ เรื่อง หน่วยสุดท้ายมีความสำคัญมากที่สุด บางทีก็มากกว่าของหน่วยต้นๆ ที่มีจำนวนมากมายเสียอีก
เช่นราคาสินค้าโดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรซึ่งต้องใช้เวลาเพาะปลูก ตามระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น 4 เดือน 5 เดือน หรือปีหนึ่งปลูกได้ครั้งเดียว ปีหนึ่งสมมติว่าผลิตได้ 50 ล้านตัน แต่ความต้องการของตลาด ณ ราคาสมมติตันละ 10,000 บาท มีอยู่ 50 ล้านตันพอดี ราคา 10,000 บาทต่อตัน จึงเป็นราคาที่ทำให้ของที่คนขายทั้งตลาดต้องการขาย และในขณะเดียวกันก็เป็นราคาที่มีผู้คนทั้งตลาดต้องการซื้อ ของที่มีผู้ผลิตทั้งหมดก็มีเพียงพอ กับปริมาณของที่ผู้ซื้อทั้งหมดต้องการซื้อพอดี ไม่มีเหลือ ไม่มีขาด
แต่สมมติเหตุการณ์เปลี่ยนไปผู้ต้องการซื้อที่ราคา 10,000 บาทต่อตัน ยังมีอยู่เท่าเดิม แต่เกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่คาดไม่ถึง เช่น น้ำท่วม หรือฝนแล้งอย่างรุนแรง ทำให้ปริมาณการผลิตขาดหายไปสัก 5 ล้านตัน ถ้าสมมติว่าไม่มีตลาดที่อื่นที่เราจะนำเข้ามาทดแทนได้ หรือทดแทนได้ก็แพงกว่า เช่น กรณีข้าว หรืออ้อย หรือมันสำปะหลัง ราคาสินค้าชนิดนั้นซึ่งเคยผลิตได้ 50 ล้านตัน ลดลงมาเหลือ 45 ล้านตัน ราคาทั้ง 45 ล้านตัน จะถีบตัวสูงขึ้นทันทีทั้งหมด ไม่ใช่จะถีบตัวสูงขึ้นเฉพาะส่วนที่ขาดหายไป 5 ล้านตันเท่านั้นเอง
ในทางกลับกัน ถ้าสมมติที่ราคา 10,000 บาทต่อตัน ตลาดมีความต้องการ 50 ล้านตัน แต่เกิดมีเหตุการณ์พิเศษอะไรบางอย่าง ที่เราคาดการณ์ไม่ถึง ทำให้สามารถผลิตได้ 55 ล้านตัน เกินความต้องการมา 5 ล้านตัน 5 ล้านตันที่ล้นตลาดขึ้นมา จะทำให้ราคาสินค้าชนิดนั้นทั้ง 55 ล้านตัน ราคาตกลงไปหมดทั้งตลาด ไม่ใช่ตกลงไปแต่ส่วนที่ล้นตลาดขึ้นมา 5 ล้านตันเท่านั้น
ในทำนองเดียวกันถ้าปริมาณสินค้าที่ต้องการขายเท่าเดิม 50 ล้านตัน ณ ราคา 10,000 บาทต่อตัน แต่ความต้องการ ณ ราคา 10,000 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นเป็น 55 ล้านตัน อาจจะเพราะความต้องการส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านตัน ราคาสินค้าชนิดนั้นทั้ง 50 ล้านตันก็จะขึ้นราคาทั้งหมด ไม่ใช่จะขึ้นราคาเฉพาะ 5 ล้านตันสุดท้ายที่ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น
เหมือนกันในทางตรงกันข้าม ถ้าปริมาณสินค้าที่ต้องการขายมีอยู่ 50 ล้านตันที่ราคา 10,000 บาทต่อตัน แต่ความต้องการซื้อของตลาดลดลง 5 ล้านตัน ณ ราคานี้อาจจะด้วยสาเหตุอะไรก็ได้ เช่น ความต้องการของต่างประเทศลดลง ราคาสินค้าทั้ง 50 ล้านตันในตลาดก็จะลดลงหมด ไม่ใช่ลดลงเฉพาะ 5 ล้านตันสุดท้ายที่ความต้องการของตลาดลดลง เรื่องง่ายๆ อย่างนี้แต่บางทีก็ลืมมองข้อเท็จจริง หรือมองข้ามข้อเท็จจริงอันนี้
ในสมัยหนึ่งที่ยังจำได้เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯจะเปิดเผยข้อมูลมูลค่าการซื้อหุ้นของสถาบันกับบุคคลธรรมดา ก็มีคนติงว่าควรจะเปิดเผยข้อมูลของชาวต่างประเทศที่เข้ามาซื้อขายหุ้นด้วย ก็มีเสียงติงในขณะนั้นว่ามูลค่าการซื้อขายหุ้น ของชาวต่างประเทศมีเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเป็นอย่างมาก ไม่มีความหมาย เมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายของคนในประเทศ ไม่จำเป็นจะต้องแยกตัวเลขให้เห็น
แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ราคาหุ้นที่ซื้อขายนั้นบางทีขึ้นอยู่กับหน่วยที่ซื้อขาย 5-10 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย เพราะ 95 เปอร์เซ็นต์ต้นๆ ที่ซื้อขายอาจจะไม่มีผลต่อราคาเลย กลายเป็น 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายเป็นตัวกำหนดราคาของทั้งตลาด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรที่เราผลิตส่วนหนึ่งใช้ในประเทศ ส่วนหนึ่งผลิตเพื่อการส่งออก ยกตัวอย่างในกรณีข้าวก็ดี น้ำตาลก็ดี ยางพาราก็ดี หรือมันสำปะหลังก็ดี ราคาส่งออกเป็นราคาที่กำหนดราคาภายในประเทศ ทั้งๆ ที่สินค้าหลายอย่างหรือสินค้าหลายตัวมีปริมาณความต้องการใช้ในประเทศมากกว่าปริมาณการส่งออกมากมาย เช่น ในกรณีข้าวปริมาณการส่งออกมีจำนวนน้อยกว่าปริมาณที่ใช้บริโภคภายในประเทศ แต่เนื่องจากปริมาณหน่วยสุดท้าย เป็นตัวกำหนดราคาข้าวทั้งข้าวสารและข้าวเปลือก ถ้าความต้องการข้าวไทย มีสูงกว่าปริมาณที่เราผลิตได้เพียง 5-6 เปอร์เซ็นต์ ราคาข้าวทั้งหมดรวมทั้งข้าวที่เราใช้บริโภคในประเทศก็จะสูงขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าปริมาณความต้องการข้าวไทยในต่างประเทศ ลดลงเพียง 5-6 เปอร์เซ็นต์ ราคาข้าวสารและราคาข้าวเปลือกซึ่งเกี่ยวข้องกันโดยตรงก็จะตกลงทันที
ส่วนที่ว่าปริมาณสุดท้ายที่เกินความต้องการในตลาด หรือปริมาณสุดท้ายที่ขาดตลาด จะทำให้ราคาลดลง หรือเพิ่มขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ มากหรือน้อยเมื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ขาดตลาด หรือปริมาณที่เกินความต้องการของตลาด ก็สุดแต่ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทใด ชนิดไหน ผู้คนมีความจำเป็นจะต้องใช้บริโภคหรือใช้สอยแค่ไหน มีของอย่างเดียวกันจากที่อื่นมาทดแทนได้ยากง่ายเพียงใด หรือมีของอย่างอื่นมาทดแทนกันมากน้อยอย่างไร มีระยะเวลาผลิตสั้นยาวแค่ไหน
ถ้าตลาดมีความจำเป็นต้องใช้มาก ใช้ของอื่นมาทดแทนไม่ได้ หรือหาจากประเทศอื่นได้ยาก ถ้าปริมาณไม่พอ กับความต้องการเล็กน้อย ราคาก็จะถีบตัวสูงขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่า จำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ขาดหายไปจากตลาด แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ตลาดไม่มีความจำเป็นต้องใช้มากนัก หรือมีของอื่นมาทดแทนได้ง่าย หรือผู้ผลิตสามารถผลิตเพิ่มขึ้นได้เร็ว หรือหาซื้อจากประเทศอื่นได้ง่าย แม้ราคาจะถีบตัวสูงขึ้นบ้าง แต่ก็จะสูงขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ไม่มาก เมื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ขาดหายไป
เนื่องจากโลกทุกวันนี้เป็นโลกที่วิทยาการผลิต การคมนาคม การหาสิ่งทดแทนได้ก้าวหน้าไปเป็นอันมาก จึงเป็นการยากที่ประเทศใดประเทศหนึ่งหรือแม้แต่กลุ่มประเทศที่ผลิตสินค้าใดสินค้าหนึ่ง จะรวมกลุ่มแล้วกักตุนสินค้า หรือร่วมกันกักตุนสินค้า เพื่อจัดตั้งมูลภัณฑ์กันชน หรือที่เคยเรียกกันว่า "buffer stock"
ผู้ที่ต้องการจะยกระดับราคาสินค้าเพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตจริงๆ เช่น ชาวนา ชาวไร่ หากจะให้ราคาสูงขึ้นจริงๆ ต้องซื้อสินค้าทั้งหมดที่ชาวนา หรือชาวไร่ผลิตไปจนถึงหน่วยสุดท้าย ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศกำลังพัฒนา หรือกึ่งพัฒนาซึ่งเกินกำลังงบประมาณ. หากจัดงบประมาณรับซื้อบางส่วน ไม่ได้ซื้อทั้งหมดไปจนถึงหน่วยสุดท้ายก็จะไม่มีผลต่อราคาตลาด ชาวไร่ ชาวนาส่วนใหญ่ก็จะขายสินค้าของตนได้ตามราคาตลาดอยู่นั่นเอง ผู้ที่จะได้ประโยชน์ก็คือผู้ที่ได้รับสิทธิ ให้เป็นผู้ซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด แล้วตัวเองถ้าซื่อสัตย์พอก็จะไปซื้อผลิตผลเกษตรตามราคาตลาดซึ่งต่ำกว่าราคาประกัน หรือราคาพยุงมาส่งมอบให้รัฐบาล ถ้าไม่ซื่อตรงพอก็อาจจะไม่ได้ซื้อขายอะไร ทำเป็นสต๊อกลมไปเลย
ในแง่การค้าขายระหว่างประเทศ ถ้าประเทศหนึ่งจัดเกินสต๊อกสินค้าเอาไว้ไม่ขาย หวังว่าจะช่วยให้ราคาตลาดโลกสูงขึ้น ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการที่ประเทศหนึ่งลงทุน ซื้อของเข้าสต๊อกมาเก็บไว้ เพื่อให้ของหายไปจากตลาดโลก ก็เท่ากับช่วยให้ประเทศคู่แข่งขายของได้ง่ายขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น ประเทศที่รัฐบาลซื้อของกักตุนในสต๊อกเอาไว้ เมื่อถึงตอนระบายของออกราคาก็อาจจะไม่ขึ้นก็ได้ เพราะผู้ซื้อก็มีข้อมูลว่ามีประเทศใดเก็บของเอาไว้ วันหนึ่งก็ต้องระบายของออก เท่ากับประเทศที่ลงทุนกักเก็บผลิตภัณฑ์หรือสินค้าช่วยลงทุนชดเชยคู่แข่งให้ขายของได้ง่าย สะดวกและขายได้ก่อนประเทศที่ลงทุนกักตุนสินค้า
ประเทศที่พัฒนาแล้วที่เจริญทางอุตสาหกรรมมากๆ แล้ว เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จึงใช้วิธีชดเชยการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม เพื่อช่วยให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น เพราะการส่งออกเป็นหน่วยสุดท้ายของสินค้านั้นๆ แทนที่จะใช้วิธีพยุงราคาหรือวิธีรับจำนำพืชผลทางการเกษตร เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากกว่า เห็นจะมีแต่สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวในขณะนี้ ที่ใช้วิธีรับจำนำพืชผลทางด้านการเกษตร
ทฤษฎีหน่วยสุดท้ายยังให้ความรู้อย่างอื่นอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าหน่วยสุดท้าย ในระยะสั้นมีความสำคัญกว่าต้นทุนเฉลี่ยของสินค้าที่ผู้ผลิตทำการผลิต เพราะตราบใดที่ ผู้ผลิตสามารถกำหนดการผลิตสินค้าได้โดยมีต้นทุนการผลิตหน่วยสุดท้ายต่ำกว่าราคาสินค้าในท้องตลาด ผู้ผลิตก็ควรจะผลิตสินค้าในจำนวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้กำไรโดยรวมมากขึ้นไปเรื่อยๆ
ราคาสินค้าส่วนใหญ่ในระยะสั้นจึงขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตของหน่วยสุดท้าย แทนที่จะเป็นต้นทุนเฉลี่ยของสินค้าที่พ่อค้าหรือผู้ผลิตเป็นผู้ผลิต ถ้าหากว่าการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ต้นทุนของการผลิตหน่วยสุดท้ายจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาอย่างที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ถือว่าแปลกและถกเถียงกันมาเรื่อยๆ
อีกด้านหนึ่งก็คล้ายๆ กัน สินค้าในท้องตลาดเมื่อผู้คนมีของใช้ก่อนคนอื่น ผู้คนก็จะมีความพอใจที่จะยอมจ่ายเงินซื้อของในราคาที่สูง เมื่อซื้อของใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ความพอใจที่จะซื้อของหน่วยสุดท้ายในราคาเดิมก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการผลิตสิ่งของมากขึ้นเรื่อยๆ หน่วยสุดท้ายหรือจำนวนสิ่งของหน่วยสุดท้าย จึงมีความสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดราคาของสินค้าในท้องตลาด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงก่อให้เกิดการกำหนดราคาสินค้าและบริการในท้องตลาด ที่ทำให้เกิดการซื้อขายในท้องตลาด ที่ทำให้เกิดความพอดี ไม่ทำให้สินค้าหรือบริการขาดตลาด หรือล้นตลาดขึ้น
แต่ในระยะยาวเมื่อผู้ผลิตเห็นว่า ถ้าคนผลิตมากขึ้นต้นทุนหน่วยสุดท้ายยังต่ำกว่าราคาในท้องตลาด ผู้ผลิตก็อยากจะลงทุนขยายโรงงาน หรือลงทุนสร้างโรงงานใหม่ทำการผลิตมากขึ้น จนในที่สุด ในระยะยาวต้นทุนเฉลี่ยของผู้ผลิตจึงจะมีความสำคัญ
ทฤษฎีหน่วยสุดท้ายจึงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดสินค้า ตลาดแรงงาน หรือตลาดบริการ
ส่วนใหญ่ปริมาณสินค้าหรือบริการที่ส่งออก หรือนำเข้าจะเป็นหน่วยสุดท้ายที่สำคัญ ที่เป็นตัวกำหนดราคาสินค้าทั้งตลาด การกำหนดนโยบายการส่งออก หรือการนำเข้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำให้ราคาหรือปริมาณที่ผลิตจะเป็นอย่างไร ปริมาณและราคาที่ผลิตก็จะเป็นตัวทำให้เศรษฐกิจในประเทศรุ่งเรืองหรือซบเซา ในโลกสมัยใหม่ การค้าระหว่างประเทศจึงกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศ
ประเด็นปัญหาความขัดแย้งกันในทางการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจมากขึ้นทุกที
และในทางตรงกันข้าม ประเด็นความร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจ และการค้าก็เป็นประเด็นที่ต้องเจรจาร่วมมือ
เพื่อสร้างกฎเกณฑ์การร่วมมือทางการค้ามากขึ้นทุกที จนในขณะนี้เป็นประเด็นที่มีมากกว่าความขัดแย้งทางการเมือง
เวทีเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ จึงเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดมากมาย ส่วนเวทีการเจรจาทางการเมือง
กลับมีเท่าเดิมหรือมีน้อยลงไป ความสำคัญของทฤษฎีหน่วยสุดท้ายจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
หากจะสังเกตให้ดี
วันนี้ขอเอาเรื่องทฤษฎีเศรษฐกิจพื้นๆ มา คุยเล่น
2. การเงินของพรรคการเมือง
อีกด้านหนึ่งของเหรียญ
คอลัมน์ คนเดินตรอกโดย วีรพงษ์ รามางกูร
วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เวลา 12:20:11 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เมื่อวันก่อนอ่านหนังสือพิมพ์ลงข่าวผลการสำรวจความเห็นของสำนักเอแบคโพล ผลของการสำรวจความเห็นจากการสุ่มตัวอย่างของคนไทยร้อยละ 84.5 เห็นว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว และร้อยละ 51.2 รับได้สำหรับรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าทุจริตคอร์รัปชั่นแล้วทำงาน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี
ถ้าหากตัวอย่างที่ทางเอแบคไปสุ่มสำรวจสอบถามมาเป็นตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ถูกต้องของประชากรไทยทั้งประเทศก็เป็นเรื่องน่าห่วง เป็นเรื่องที่จะต้องสร้างทัศนคติกันให้เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นของไม่ดี เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง พวกเราต้องพยายามช่วยกันขจัดให้หมดสิ้นไป หรือไม่ก็ให้น้อยลงไปเรื่อยๆ จึงขอให้ข้อสังเกตบางประการดังนี้
ประการแรก วัฒนธรรมของสังคมตะวันออก นับตั้งแต่อินเดียซึ่งนับถือศาสนาฮินดู เรื่อยไปถึงจีนและญี่ปุ่น วัฒนธรรมทางศาสนาของเราไม่ถือว่าการ "บน" และการให้ "สินบน" เป็นเรื่องเสียหาย ถ้าดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่า ใครอยากขอให้ "เทพ" ประทานอะไรให้ ก็ต้องไปบนบานศาลกล่าว ถ้าผู้เป็นเทพเจ้าประทานอะไรให้มาก็จะทำหรือจะถวายอะไรให้เป็นการตอบแทน ซึ่งศาสนาอื่นที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวไม่มีการติดสินบนเทวดาหรือเทพที่เป็นเจ้า
ถ้าเราไปงาน "กงเต็ก" ก็จะเห็นได้ชัดว่า กว่าลูกหลานจะพาวิญญาณพ่อหรือแม่ขึ้นสวรรค์ได้ ก็ต้องพกเงินใส่ถุงไว้จ่าย "เทวดา" เป็นเบี้ยบ้ายตลอดทาง จะข้ามน้ำข้ามสะพานก็ต้องจ่าย ยิ่งด่านสุดท้ายก่อนจะเข้าประตูสวรรค์ได้ต้องจ่าย "เง็กเซียนฮ่องเต้" จนอาจจะหมดกระเป๋า จึงจะพาวิญญาณพ่อหรือแม่ผ่านประตูสวรรค์ไปได้ เมื่อส่งดวงวิญญาณพ่อแม่ข้ามน้ำ ข้ามภูเขา ขึ้นสวรรค์แล้ว ขากลับพวกลูกหลานก็ต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้กับเจ้าหรือเทพเจ้าอีกจึงจะกลับบ้านได้ ว่าไปแล้วก็เท่ากับเทวดาของจีนต่างก็รับสินบน จนเด็กๆ เอาปัญหามาทายล้อเล่นกันว่า ทำไมท่าน "เปา บุ้น จิ้น" จึงไม่มีใครสร้างศาลให้ท่าน คำตอบก็คือ ท่านไม่รับสินบน ศาลเจ้านั้นมีไว้ "บน" เมื่อท่านไม่รับสินบนก็ไม่มีประโยชน์ที่จะสร้างศาลให้ เพราะคนไปศาลเจ้าไม่ได้ไปไหว้สักการะเจ้า แต่ไปเสนอให้สินบนเจ้า เจ้าจะสามารถให้อะไรอย่างโน้นอย่างนี้ได้
เราชาวพุทธ พุทธศาสนาสอนให้เชื่อในกฎแห่งกรรม แต่เราก็ยังเชื่อสิ่งลึกลับว่าจะดลบันดาลอะไรให้เราได้ ทางพุทธเราสอนให้เชื่อว่า ทำกรรมอย่างไรไว้ก็ได้ผลเช่นนั้น ถ้าปลูกมะม่วง ผลไม้ที่ได้ก็เป็นมะม่วง ไม่ใช่ได้ผลลำไยหรือลิ้นจี่ แต่เวลาไปไหว้พระแก้วมรกตก็ยังอุตส่าห์ไปติดสินบนท่านว่า ถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จะนำไข่ต้ม 50 ฟอง พร้อมกับน้ำพริกปลาร้ามาถวาย ที่เป็นน้ำพริกปลาร้าเพราะเชื่อว่าท่านเป็นลาวที่มาจากเวียงจันทน์
ถ้าเราไปที่สี่แยกราชประสงค์ที่โรงแรมเอราวัณ หรือที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เราก็จะเห็นคนนำรูปปั้นผู้หญิง ช้าง ม้า ตุ๊กตาต่างๆ มาถวายพระพรหมหรือเจ้าพ่อหลักเมือง โดยไม่มีใครตำหนิว่า กล่าวว่าเทพเจ้าหรือเทวดาที่เคารพนับถือนั้นรับสินบน ส่วนที่ไม่รับสินบนอย่างเปา บุ้น จิ้น ก็ไม่มีใครนับหน้าถือตา ไม่สร้างศาลเจ้าให้เป็นที่สิงสถิต -ประเทศไทยถ้ารวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วยแล้ว จึงต้องนับว่าเป็น "อินโดจีน" อย่างแท้จริง กล่าวคือรับวัฒนธรรมทั้งของอินเดียและของจีนไว้อย่างเต็มที่-
เมื่อรวมเข้ากับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ลักษณะของสังคมที่ฝรั่งเรียกเราว่าระบบอุปถัมภ์ หรือระบบพึ่งพา "ผู้ใหญ่" แล้ว ก็ถือว่าสวมเข้ากันพอดี กล่าวคือ ถ้ามีผู้สนองความต้องการของตนได้ ทำประโยชน์ให้ตนได้ก็จะกลายเป็นบุคคลที่ตนชื่นชอบ เรื่องอื่นๆ เป็นอันว่ารับได้ เช่น ถ้ามีเรื่องทุจริตก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกแต่อย่างใด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ
ทีนี้ลองมาดูทางด้านพรรคการเมืองที่ส่งนักการเมืองลงเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งก็อ้างว่า มีค่าใช้จ่าย พรรคการเมืองต้องทำป้ายโฆษณา ทำใบปลิว ค่ารถยนต์อำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนมาลงคะแนน ค่าโฆษณาสร้างกระแสความนิยมในพรรค ผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ต้องมีค่าใช้จ่ายมากมายอย่างยิ่ง ถ้าเป็นหัวหน้า "มุ้ง" ก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สมัครที่อยู่ในมุ้ง ถ้าสามารถ "หิ้ว" ผู้สมัครในมุ้งเข้าสภาได้มาก ถ้าพรรคที่ตนสังกัดได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือพรรคได้เข้าร่วมรัฐบาล ตนก็จะได้เป็นรัฐมนตรีตามโควตา ดังที่เราจะได้ยินเสมอว่า กลุ่มวังโน้น กลุ่มวังนี้ หรือกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แล้วแต่สื่อมวลชนจะเรียกขานกันอย่างไร
หลังเลือกตั้งแล้ว หลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว "พรรค" และ "หัวหน้ามุ้ง" ยังไม่หมดภาระ พรรคและหัวหน้ามุ้งยังต้องจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้ ส.ส.อีก. เมื่อจะต้องผ่านร่าง พ.ร.บ.สำคัญๆ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณ หรือ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน พรรคและหัวหน้ามุ้งก็ต้องช่วยกันจ่าย เพื่อมิให้ ส.ส.ในสังกัดขาดประชุมอีกต่างหาก ไม่เว้นว่าเป็นพรรคใด มาค่อยยังชั่วเมื่อมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บัญญัติว่า ถ้า ส.ส.ถูกไล่ออกจากพรรคแล้วจะต้องพ้นจากสมาชิกภาพ ส่วนใครจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล "มุ้ง" หรือ "กลุ่ม" ต่างๆ ก็แล้วแต่พรรค พรรคใหญ่พรรคหนึ่ง เลขาธิการพรรคเป็นผู้ดูแล ส่วนพรรคอื่นๆ หัวหน้าพรรครับผิดชอบร่วมกับเลขาธิการพรรค กล่าวคือต้องมีใครคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
สำหรับตัวนักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังมีภาระต้องดูแลหัวคะแนน จะต้องไปงานสังคมในเขตเลือกตั้งของตน ไม่ว่าจะเป็นงานศพ งานแต่งงาน งานบวช งานกฐิน งานวันเกิดคนสำคัญในเขตต้องมีรถปิกอัพ ต้องตั้งสำนักงานไว้คอยเลี้ยงอาหาร จิปาถะ สังคมของเราเป็นสังคมเกษตรกรรมและยังคงเป็นอย่างนั้น นอกจากนั้นต้องคอยจี้ข้าราชการกรมทางหลวงแผ่นดิน กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน และอื่นๆ ให้ทำงาน ทำแผนก่อสร้าง แผนพัฒนา วิ่งเต้นเอาโครงการมาลงในเขตเลือกตั้งของตน
อาจจะยกเว้นสำหรับ ส.ส.ในเขตกรุงเทพฯชั้นใน และ ส.ส.ในเขตจังหวัดภาคใต้ ที่แบบแผนการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นอีกแบบหนึ่ง ที่ผู้ลงคะแนนเสียงเลือก ส.ส.จากพรรคเดียวตามบิดามารดา แต่ไหนแต่ไรก็เลือกมาอย่างนั้น และมิได้คาดหมายว่า ส.ส.จะต้องทำหน้าที่รับใช้ท้องถิ่นมากนัก แต่ ส.ส.ก็ยังมีภาระหน้าที่เกี่ยวกับงานสังคมอยู่ดี ภาระทางการเงินของพรรคในเมืองก็ดี กลุ่มหรือมุ้งในพรรคการเมืองก็ดี ตัวผู้แทน ส.ส.เองก็ดี จึงเป็นเรื่องที่หนักหน่วง ไม่มีทางปฏิเสธได้
แม้ว่าระยะ 5-6 ปีมานี้สถานการณ์จะเปลี่ยนไปบ้าง โดยใช้กระแสเป็นตัวช่วยให้ชนะการเลือกตั้ง แต่ภาระพื้นฐานก็ยังมีอยู่ เป็นต้นว่า ประชาชนในภาคอีสานและภาคเหนือรวมทั้งภาคกลางส่วนมากจะออกไปทำงานที่กรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง หรือไปทำงานในภูมิภาคอื่นๆ แต่มิได้ย้ายทะเบียนบ้าน เมื่อถึงคราวเลือกตั้งก็ต้องกลับไปลงคะแนนเสียงที่บ้าน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หัวคะแนนก็ต้องช่วยออกให้เป็นค่ารถไป-กลับ ซึ่งบางทีก็สูงกว่าเงินช่วยเหลือที่พรรคการเมืองหรือหัวคะแนนออกให้ด้วยซ้ำ แต่เขาก็ยังกลับไปลงคะแนนอยู่ดี
ที่ได้เห็นได้ยินมาคิดว่ายังเป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ยังมีภาระอื่นๆ อีกมาก เช่น ต้องช่วยฝากเด็กเข้าโรงเรียน ฝากเด็กเข้าทำงาน เจ็บป่วยต้องมีรถพร้อมคนขับนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล มีคดีความถูกทางการบ้านเมืองรังแกก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ภาระของ ส.ส.โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบทจึงเป็นงานที่หนักหนาสาหัสมาก
เมื่อได้ดูรายจ่ายของพรรคการเมือง หัวหน้ามุ้งของตัว ส.ส.เองแล้ว ลองมาดูทางด้านรายได้บ้าง พรรคการเมืองในประเทศที่เจริญแล้วมักจะมีรายได้มาจาก "เงินบริจาค" อย่างเปิดเผย ส่วนที่ไม่เปิดเผยก็คงจะมี ที่เห็นเป็นข่าวอยู่ก็บ่อย ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่คงจะน้อยกว่าที่เปิดเผย ส่วนที่เปิดเผยของเราแทบจะไม่มีเลย หรือมีก็น้อยมาก ดังนั้นการที่พรรคการเมืองก็ดี หัวหน้ามุ้งที่เป็นรัฐมนตรีก็ดี จึงต้อง "หาเงิน" มาให้พรรคเพื่อใช้จ่าย หัวหน้ามุ้งที่เป็นรัฐมนตรีก็ต้อง "หาเงิน" มาใช้จ่ายกับ ส.ส.ที่สังกัดอยู่ในมุ้ง. ส่วน ส.ส.ก็ต้อง "หาเงิน" มาใช้จ่ายกับหัวคะแนน และเครือข่ายในเขตเลือกตั้งของตน มิฉะนั้นก็จะดำรงอยู่ในการเลือกตั้งคราวต่อไปไม่ได้
เมื่อโครงสร้างของสังคมเป็นอย่างนี้ ถ้าจะมองจากสายตาของคนกรุงเทพฯที่ไม่เคยต้อง "พึ่งพา" ส.ส. ที่ไม่เคยจะรู้ว่าใครเป็น ส.ส.ในเขตของตนเสียด้วยซ้ำ ก็จะไม่เข้าใจประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงที่อยู่ในชนบท ไม่เข้าใจสิ่งที่คนในชนบทคาดหวังจากผู้แทนของตน. โครงสร้างของผู้ลงคะแนนเสียงแบบที่เป็นอยู่ก็จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของพรรคการเมือง ของหัวหน้ากลุ่มการเมืองในพรรค ของนักการเมืองเอง พฤติกรรมการเมืองและพฤติกรรมของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นอย่างนั้น สมกับคำพูดของนักรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งที่ว่า "ในระบบประชาธิปไตยประชาชนเป็นอย่างไร ก็ได้รัฐบาลเป็นอย่างนั้น"
ถ้าเราต้องการจะพัฒนาการเมืองของเราให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง ยั่งยืน ขาวสะอาด ก็คงต้องคำนึงถึงปัจจัยทางด้าน "การเงินของพรรคการเมือง" หรือที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า "Political Financing" ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ว่าจะต้องแก้ไขกันอย่างไร. พรรคพวกเพื่อนฝูงที่เป็นนักการเมือง หลายคนเป็น ส.ส.มาตลอดชีวิต แต่ไม่ได้เป็นหัวหน้ามุ้ง หรือรัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอ ก็ไม่เห็นว่าร่ำรวยอะไรมากมาย หลายคนภรรยาขอหย่าเพราะทนทำอาหารและล้างจานไม่ไหว พอจะเลือกตั้งทีก็กู้ยืมเงินจากธนาคารของรัฐที พอเป็น ส.ส.ก็ผ่อนส่งหนี้ หนี้ใกล้จะหมด เกิดยุบสภาหรือเกิดปฏิวัติ เลือกตั้งใหม่ก็กู้ยืมกันใหม่ ชีวิตนักการเมืองแบบนี้ก็มีอยู่มาก ที่ร่ำรวยได้สัมปทานได้งานรับเหมาก็มีอยู่เยอะ มีหลายรูปแบบ
ถ้าอยากให้การเมืองมีการพัฒนาก็ต้องอดทน อย่าล้มกระดาน ถ้ากฎหมายทะเบียนราษฎร์บังคับใช้อย่างจริงจัง ใครย้ายที่อยู่เกิน 15 วัน ก็ให้ย้ายสำมะโนครัวเสีย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปลงคะแนนเสียงก็อาจจะลดลง สิ่งต่างๆ เหล่านี้น่าจะช่วยกันคิด ดีกว่าไปโจมตีด่าทอกัน ซึ่งไม่มีประโยชน์ มีแต่ทำให้เกิดการแบ่งแยกแตกความสามัคคีกัน
แม้จะเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญ แต่ก็ไม่ควรสนับสนุนความคิดที่จะยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่น
3. รางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์
ปี 2008
คอลัมน์ คนเดินตรอกโดย วีรพงษ์ รามางกูร
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02edi04050152&day=2009-01-05§ionid=0212
ความจริงคณะกรรมการรางวัล โนเบลทางเศรษฐศาสตร์ได้ตัดสินและประกาศมาตั้งแต่วันที่ 13 เดือนตุลาคม (2008) แล้ว คิดว่าจะได้นำมาเขียนเล่าสู่กันแต่ก็หลงลืมไปอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่ได้เขียน นึกขึ้นได้ก็ผ่านมาถึง 2 เดือนแล้ว แต่ก็คิดว่าคงไม่ช้าเกินไป
ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ปีนี้คือ ศาสตราจารย์พอล ครุกแมน ขณะนี้เป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา พอล ครุกแมน เพิ่งอายุได้ 55 ปี เป็นผู้ที่ได้รางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ ที่อายุน้อย เป็นที่สองรองจาก ดร.เคเนธ แอร์โรว์ ผู้ได้รางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ในปี 1972 ซึ่งขณะนั้น แอร์โรว์อายุ 51 ปี เมื่อปีกลายนี้ ศ.เลียวนิค เฮอร์วิคซย์ ที่ได้รับรางวัลนี้อายุถึง 90 ปี งานที่พอล ครุกแมน ได้รับรางวัลก็เป็น งานที่เขาเสนอเมื่อ 30 ปีก่อน เขาทำเอาไว้เมื่ออายุเพียง 25 เท่านั้น
พอล ครุกแมน เคยได้รับเหรียญรางวัล "จอห์น เบตส์ คลาร์ค" ในปี 1991 สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหนุ่มสาวที่เก่งที่สุด "The best young economist" นอกจากเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันแล้ว พอล ครุกแมน ยังเป็นนักเขียนประจำของหนังสือพิมพ์ "นิวยอร์กไทม์" สัปดาห์ละ 2 ฉบับ สลับกับ ดร.โจเซฟ สติกลิสต์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอีกคนหนึ่ง. ดร.พอล ครุกแมน เคยมีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อคราวที่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง จากการแสดงความไม่เห็นด้วยกับยาที่ ไอเอ็มเอฟให้กับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาวิกฤตการณ์ดังกล่าว
เหตุผลที่คณะกรรมการรางวัลโนเบล ได้มีมติมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2008 ให้กับ พอล ครุกแมน ก็ด้วยเหตุผลที่พอล ครุกแมนได้เป็นผู้เสนอทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศใหม่ต่อยอดทฤษฎีเก่า หรือ "new trade theory" และทฤษฎีภูมิเศรษฐศาสตร์ใหม่ หรือ "new economic geography"
ทฤษฎีประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศ
หรือ "gain from trade"
เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยอดัม สมิธ เมื่อต้นศตวรรษ ที่ 18 หรือราวๆ สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีที่
อดัม สมิธ เขียนไว้ในหนังสือ "Wealth of Nation" อธิบายเหตุผลที่ประเทศต่างๆ
ควรจะเปิดประเทศค้าขายกัน เพราะการเปิดประเทศค้าขายกัน จะทำให้ทั้งสองฝ่ายดีขึ้น
เช่น ประเทศหนึ่งถนัดในการผลิตอาวุธ ประเทศหนึ่งถนัดในการผลิตอาหาร ประเทศที่มีประสิทธิภาพในการผลิตอาวุธควรจะหยุดผลิตอาหาร
เอาแรงงานมาผลิตอาวุธ อีกประเทศหนึ่งเก่งในการผลิตอาหาร เมื่อเทียบกับผลิตอาวุธ
ก็หยุดผลิตอาวุธเอาแรงงานมาผลิตอาหารแทน แล้วทั้งสองก็มาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน
ทั้งคู่ก็จะได้สินค้าทั้งสองอย่างมากกว่าที่ตนจะปิดประเทศแล้วผลิตสินค้าทั้งสองอย่าง
ทฤษฎีนี้เรียกว่า ทฤษฎีการได้เปรียบอย่างสมบูรณ์ หรือ "absolute advantage
theory"
Comparative advantage
theory
ไม่กี่ปีต่อมา เดวิด ริคาร์โด ลูกศิษย์ของอดัม สมิธ ได้สร้างทฤษฎีเพิ่มเติมว่า
แม้ว่าประเทศหนึ่งจะเก่งในการผลิตสินค้าทั้งสองอย่าง กล่าวคือ มีต้นทุนน้อยกว่า
อีกประเทศหนึ่งทั้งสองอย่าง แต่ประเทศ ทั้งสองก็ยังค้าขายกัน เช่น ประเทศหนึ่งสามารถผลิตทั้งอาหารและอาวุธเก่งกว่าอีกประเทศหนึ่ง
แต่ประเทศทั้งสองก็ยังค้าขายกันอยู่ดี เพราะประเทศหนึ่งผลิตอาหารเก่งกว่าประเทศหนึ่ง
เมื่อเปรียบเทียบกับความเก่งของการผลิตอาวุธ ดังนั้น ถ้าประเทศแรกผลิตอาหาร แล้วเอาอาหารส่งออกไปขายแลกอาวุธ
กับอีกประเทศหนึ่ง ทั้งสองประเทศ ต่างก็จะมีทั้งอาหารและอาวุธไว้ใช้ มากกว่าเดิม
ทฤษฎีนี้เรียกว่า "ทฤษฎีการได้เปรียบเชิงเทียบ" หรือ "comparative
advantage theory"
ทฤษฎีการได้เปรียบอย่างสมบูรณ์ และทฤษฎีการได้เปรียบเชิงเทียบ สามารถอธิบายเหตุผลของการค้า ระหว่างประเทศ ที่ร่ำรวยกับประเทศยากจนได้ดี
Capital intensive goods
/ Labor intensive goods
ต่อมาในทศวรรษที่ 1920 และทศวรรษที่ 1930 นักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดนชื่อ แอริ เฮคเซอร์
หรือ "Eli Heckscher" และ เบทิล โอลิน "Bertil Ohlin" อธิบายว่าการค้าระหว่างประเทศ
เกิดขึ้นจากการที่ประเทศต่างๆ มีสัดส่วนของปัจจัยการผลิต แรงงาน และทุน ไม่เท่ากัน
เช่น บางประเทศมีทุนมากกว่าแรงงาน เมื่อเทียบกับประเทศหนึ่งซึ่งมีแรงงานมากกว่าทุน
ดังนั้น ประเทศที่มีทุนมากกว่าแรงงาน เมื่อเทียบกับอีกประเทศหนึ่งก็ควรผลิตสินค้าที่ใช้ทุนมากกว่าแรงงาน
"capital intensive goods" แล้วนำไปแลกเปลี่ยนกับอีกประเทศหนึ่งซึ่งจะผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานมากกว่าทุนหรือ
"labor intensive goods" ทฤษฎีนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า ทฤษฎี "การได้เปรียบจากปัจจัยการผลิต"
หรือ "ทฤษฎีเฮกเชอร์ โอลิน" หรือ Heckscher-Ohlin Theory
ทั้งทฤษฎีของอดัม สมิธ ของริคาร์โด และของเฮกเชอร์ โอลิน เป็นทฤษฎีที่ว่าประเทศต่างๆ ควรจะผลิตของที่ตนได้เปรียบที่สุดไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคโนโลยี หรือได้เปรียบเพราะมีสัดส่วนของปัจจัยการผลิตที่มากกว่าแล้วส่งออกไป ไปแลกสินค้าอีกอย่าง เช่น ผลิตแต่สินค้าอุตสาหกรรม แล้วนำไปแลกสินค้าเกษตรกรรม หรือผลิตแต่สินค้าเกษตรกรรมแล้วนำไปแลกสินค้าอุตสาหกรรม
แม้ว่าปริมาณการค้าส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลของอดัม สมิธ, ริคาร์โด และ เฮกเชอร์ ชโอลิน ก็ตาม แต่ต่อมาในระยะหลังๆ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการค้าที่เปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้ เกิดจากเหตุผลดังกล่าวเท่านั้น กล่าวคือ การค้าสินค้าชนิดเดียวกันระหว่างประเทศ ที่เจริญแล้วมีสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี สวีเดน อเมริกา ต่างก็ผลิตรถยนต์เหมือนกัน แล้วก็ซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์กัน เกาหลีผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกับญี่ปุ่น ไต้หวัน แล้วก็ค้าขายกัน การที่ประเทศเหล่านี้ผลิตรถยนต์เหมือนกัน ส่งออกรถยนต์แล้วนำเข้ารถยนต์ ผลิตโทรทัศน์ส่งออก ขณะเดียวกัน ก็นำเข้าโทรทัศน์ พฤติกรรมเหล่านี้ อธิบายโดยทฤษฎีการได้เปรียบเชิงเทียบ หรือทฤษฎีความได้เปรียบจากการผลิต หรือ ทฤษฎีเฮกเชอร์-โอลินไม่ได้
การนำเข้าสินค้าที่ตนก็ผลิตเพื่อส่งออกด้วยของประเทศต่างๆ และจากหลายๆ แห่งในโลกมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูป เสื้อผ้า วัสดุก่อสร้าง และอื่นๆ มีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับทฤษฎีทั้งสามทฤษฎี ดังเดิมที่กล่าวมาแล้ว
Intra-industry trade
ดร.พอล ครุกแมน ยังค้นพบอีกว่า ทฤษฎีการผลิตของเป็นจำนวนมากจะทำให้ต้นทุนถูกลง
เพราะมีการประหยัดในกระบวนการผลิต ซึ่งอดัม สมิธ เป็นคนแรกที่กล่าวถึงเรื่องนี้ก็ยังเป็นความจริงอยู่
ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงมุ่งผลิตสินค้า เพื่อขายในตลาดโลก มิใช่เพื่อขายให้กับประเทศคู่ค้าประเทศใดประเทศหนึ่งหรือ
ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งจะทำให้ต้นทุน การผลิตถูกลง ประเทศที่ซื้อสินค้าก็ทำอย่างเดียวกัน
แล้วก็พากันซื้อสินค้าที่ตนผลิตส่งออกด้วย เป็นการค้าในกลุ่มประเทศที่ผลิตสินค้าอย่างเดียวกัน
หรือที่เรียกว่า "intra-industry trade" ที่การค้าดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะผู้บริโภคนอกจากจะพิจารณาเรื่องราคา
เรื่องคุณภาพแล้ว ยังพิจารณาเรื่องความหลากหลายของสินค้าที่ตนบริโภคด้วย เช่น
มีรถยนต์จากญี่ปุ่นแล้วคันต่อไปก็อยากมีรถยนต์จากสวีเดน แล้วก็อาจจะอยากจะลองใช้รถยนต์จากเยอรมนีอีก
เป็นต้น
การประหยัดจากขนาดของโรงงาน หรือการประหยัดจากการผลิตเป็นจำนวนมากๆ หรือที่เรียกว่า "economy of scale" ยังใช้อธิบายพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ด้วย พื้นที่เมืองที่มีประชากรมากกว่าหรือมีกำลังซื้อมากกว่า ก็จะมีความได้เปรียบที่จะเป็นตลาดรองรับปริมาณสินค้าได้มากกว่า โอกาสที่อุตสาหกรรมหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะโยกย้ายเข้าไปตั้งในพื้นที่นั้นก็จะมีมากกว่า เพราะสามารถผลิตสินค้าขายได้ในปริมาณที่มากกว่า ต้นทุนก็จะต่ำกว่า กำไรก็จะมากกว่าพื้นที่เมืองที่มีประชากรและกำลังซื้อน้อยกว่า เช่น ประเทศจีนและอินเดียมีจำนวนประชากรมาก ย่อมได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุน การผลิต และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ดังนั้น พื้นที่ที่มีประชากรมากกว่าก็จะได้เปรียบที่เงินทุนและแรงงานจะไหลเข้ามาลงทุน และเกิดการกระจุกตัว ในกรณีเช่นนี้ ความต้องการแรงงานก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ทำให้ผลตอบแทนต่อแรงงานที่หักส่วนต่างของค่าครองชีพออกแล้วก็ยังสูงกว่าพื้นที่ที่มีประชากรและกำลังซื้อน้อยกว่า
ค่าขนส่งและอุปสรรคในการขนส่งสินค้าก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่อธิบายพฤติกรรมของที่ตั้งของโรงงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย จะโยกย้ายเข้าไปตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีตลาดใหญ่ มีประชากรและกำลังซื้อมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประเทศที่มีประชากรน้อยเกินไปจึงไม่เป็นที่ดึงดูดการลงทุนเท่ากับประเทศที่มีประชากรมากกว่า แม้ว่าจะมีทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบมากกว่าก็ตาม และมีแนวโน้มว่าแรงงานจากประเทศที่มีประชากรน้อยกว่า จะหาทางอพยพมาหางานทำในประเทศที่มีประชากรมากกว่า เพราะหางานทำได้ง่ายกว่า และขณะเดียวกันก็ได้ค่าตอบแทน เมื่อหักรายจ่ายและค่าครองชีพแล้วได้มากกว่าความต้องการอย่างหลากหลายของผู้บริโภค และการประหยัดอันเกิดจากปริมาณการผลิต จึงสามารถอธิบายว่าเหตุใดจึงมีการค้าระหว่างประเทศสำหรับสินค้าประเภทเดียวกัน กล่าวคือ ประเทศต่างๆ อาจจะทั้งผลิตและซื้อสินค้าประเภทเดียวกัน และสามารถอธิบายที่ตั้งของอุตสาหกรรมธุรกิจ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลายเป็นทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ และทฤษฎีภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ทฤษฎีใหม่ทั้งสองทฤษฎี พอล ครุกแมน ใช้คณิตศาสตร์ เป็นเครื่องมือในการพิสูจน์
ความจริงเรื่องที่เขาค้นพบก็ไม่ใช่ เรื่องใหม่อะไรเลย
4. เลิกให้ดอลลาร์เป็นเงินตราระหว่างประเทศ
คอลัมน์ คนเดินตรอกโดย วีรพงษ์ รามางกูร
เวลาเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เศรษฐกิจชะลอตัว หรือเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักสกุลอื่น ประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐก็มักจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาที่ไม่รับผิดชอบ ปล่อยให้ค่าเงินของตนมีค่าต่ำลงเมื่อเทียบกับทองคำและเงินสกุลหลักสกุลอื่นๆ
คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน ในการเตรียมการที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมและกำลังพัฒนา หรือที่เรียกกันต่อๆ ว่า กลุ่มประเทศจี-20 ที่จะจัดขึ้นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในสัปดาห์หน้า (*) ผู้ว่าการธนาคารชาติของจีน นายโจว เสี่ยว ชวน ได้ตีพิมพ์บทความวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกา และประเทศที่มั่งคั่งทางเศรษฐกิจทั้งหลายให้ลดการครอบงำทางเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เงินตราของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศ เป็นเงินที่ใช้ลงทุน เป็นเงินที่ใช้เทียบค่าสินค้า ตราสารหนี้ รวมทั้งใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ และทุนสำรองของนิติบุคคลเอกชน
(*) The G-20 Leaders' Summit on Financial Markets and the World Economy was held in London on 2 April 2009 at the ExCeL Centre. It followed the first G-20 Leaders Summit on Financial Markets and the World Economy, which was held in Washington, D.C. on 14-15 November 2008. Heads of government or heads of state from the Group of Twenty Finance Ministers and Central Bank Governors (G-20), plus some regional and international organisations attended. Due to the extended membership it has been referred to as the London Summit.
จีนกับรัสเซียอึดอัดกับการที่ต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และต้องใช้เงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมาตั้งแต่ตอนที่เป็นสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์แล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้นายกรัฐมนตรีเหวิน เจีย เป่า ของจีนได้ออกมากล่าวว่า อย่าทำอะไรในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐโดยวิธีที่จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ลดลง แสดงให้เห็นชัดว่าจีนซึ่งมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลกประมาณ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทุนสำรองจำนวนนี้อยู่ในรูปเงินดอลลาร์ และตราสารหนี้ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทองคำหรือเงินตราสกุลสำคัญอื่นๆ เช่น เงินยูโร เงินเยน เงินปอนด์ และอื่นๆ จีนก็จะขาดทุนจากการถือเงินดอลลาร์เป็นจำนวนมาก ส่วนสหรัฐในฐานะลูกหนี้ผู้ออกเงินดอลลาร์ มูลค่าหนี้ของตนเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่นๆ ในโลกก็จะมีมูลค่าลดลง
เท่ากับว่าทรัพย์สินในรูปของดอลลาร์มีมูลค่าลดลง ผู้ถือทรัพย์ในรูปนี้ก็ขาดทุน ส่วนอเมริกาซึ่งเป็นลูกหนี้ หนี้สินของตนก็มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ก็เท่ากับอเมริกาได้กำไร ประเทศอื่นๆ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และอื่นๆ ก็คงจะคิดอย่างเดียวกัน แต่ไม่มีใครกล้าพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น ค่าเงินดอลลาร์ตกลงมากเมื่อเทียบกับเงินเยน จนอุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่เป็นหลักกำลังประสบปัญหาอย่างมาก แต่ญี่ปุ่นคงจะเกรงใจอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของตน แต่ญี่ปุ่นไม่ใช่ตลาดใหญ่ของอเมริกา ไม่เหมือนกับจีนไม่ค่อยจะเกรงใจและไม่ค่อยจะตามใจอเมริกามากนัก อาจจะเป็นเพราะว่าจีนเป็นตลาดใหญ่ ที่บริษัทใหญ่ๆ ของอเมริกาไปลงทุน หรือไม่ก็จีนเองที่คิดว่าตนเป็นมหาอำนาจเหมือนกัน
เงินตรากลางของโลก: "SDR"
หรือ "Special Drawing Right"
ผู้ว่าการธนาคารชาติจีน นายโจว เสี่ยว ชวน เสนอว่า ควรจะมีเงินตรากลางที่ไม่ใช่ของประเทศใด
เป็นเงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางในการชำระหนี้ระหว่างประเทศ และเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
เงินตรานี้ออกและจัดการโดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศ แทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
หรือเงินตราของกลุ่มประเทศใด เช่น เงินยูโร เป็นหลัก ถ้าโลกมีเงินตราที่ไม่ใช่เงินตราของประเทศใดเป็นหลักใช้แล้ว
เศรษฐกิจการเงินของโลกก็จะมีเสถียรภาพดีกว่าที่เป็นอยู่และเมื่อมีวิกฤตการณ์ทางการเงิน
การแก้ไขก็จะง่ายกว่าอย่างทุกวันนี้ ที่ต้องพึ่งการตัดสินใจของรัฐบาลและธนาคารกลางของสหรัฐเป็นหลัก
พร้อมกันนั้นผู้ว่าการโจวก็เสนอให้รื้อฟื้นความคิดในเรื่องการให้เงินตรากลางของโลกที่เคยออกโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ที่เรียกว่า "SDR" หรือ "Special Drawing Right" หรือ "สิทธิถอนเงินพิเศษ" กลับมาใช้แทนเงินดอลลาร์ใหม่. ความคิดที่จะให้โลกมีเงินตรากลางที่ไม่ใช่เงินตราของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นเงินที่ใช้เป็นทุนสำรองและใช้เป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศ ออกโดยองค์การระหว่างประเทศ เช่น ไอเอ็มเอฟ ไม่ใช่ความคิดใหม่ เป็นความคิดที่มีมานานแล้ว โดยจอห์น เมนารด เคนส์
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของท่านลอร์ดเคนส์ พร้อมๆ กันนั้นก็มีความพยายามลดบทบาทของเงินดอลลาร์ ซึ่งเข้ามาแทนที่เงินปอนด์ของอังกฤษ หลังจากอังกฤษไม่สามารถให้เงินปอนด์ดำรงอยู่ในมาตรฐานทองคำได้ ได้มีการตกลงให้ไอเอ็มเอฟเป็นผู้ออกเงินตราสกุลหนึ่ง และแทนที่จะเรียกชื่อเงินด้วยคำคำเดียว เช่น ดอลลาร์ เยน หยวน หรือบาท กลับใช้ชื่อเรียกยาวๆ ว่า "สิทธิถอนเงินพิเศษ" หรือ "Special Drawing Right" หรือ SDR
เงิน "สิทธิถอนเงินพิเศษ" หรือ SDR จะไม่ออกธนบัตรเหมือนกับเงินสกุลอื่นๆ ในโลก แต่จะตั้งเป็นบัญชีเงิน SDR ขึ้นมาเฉยๆ ที่ไอเอ็มเอฟโดยไม่มีทุนหนุนหลัง. ค่าเงิน SDR ก็กำหนดตรึงไว้กับทองคำในตอนแรก ในสมัยที่เงินดอลลาร์ยังตรึงค่าเงินของตนไว้กับทองคำ คือ 36 เหรียญต่อหนึ่งทรอยเอาซ์ ต่อมาเมื่อเงินดอลลาร์ไม่ผูกค่าไว้กับทองคำ ค่าเงิน SDR ก็ผูกกับตะกร้าเงิน ในตะกร้านั้นก็มีทอง ดอลลาร์ ปอนด์ มาร์ก (ต่อมาเป็นเงินยูโร) เยน โดยมีสูตรกำหนดไว้ตายตัว
พอเริ่มออกเงิน SDR ก็เกิดปัญหาว่าจะแจกเงิน SDR ในตอนเริ่มต้นอย่างไร พวกประเทศกำลังพัฒนาก็บอกว่า แจกประเทศกำลังพัฒนาก่อนตามสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ หรือตามสัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศ ประเทศพัฒนาก็ไม่ยอม เสนอให้แจกตามสัดส่วนของทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศนั้นๆ ประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่ยอม. ปัญหาต่อไปก็คือ ไอเอ็มเอฟไม่สามารถทำให้ประเทศต่างๆ ยอมรับ SDR ในการชำระหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และประเทศอื่นๆ สภาพคล่องของเงิน SDR จึงไม่มี. เงิน SDR ซึ่งใช้มากว่า 60 ปีแล้วก็ยังไม่แพร่หลายจนผู้คนจะลืมๆ ไปแล้วว่า เรายังมีเงิน SDR ที่ใช้ชำระหนี้และเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศได้อยู่
ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินในอเมริกา เช่น ในสมัยประธานาธิบดีนิกสันก็ดี สมัยประธานาธิบดีเรแกนก็ดี อย่างในขณะนี้ก็จะมีเสียงเรียกร้องจากประเทศที่ถือทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปทรัพย์สินที่เป็นดอลลาร์สหรัฐ ให้รื้อฟื้นแนวความคิดที่จะใช้เงินตรากลางของโลก เช่น SDR มาแทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อจีนโดยผู้ว่าการธนาคารกลางซึ่งเป็นเจ้าของทุนสำรองของประเทศ ก็ออกมาเสนอให้นำความคิดเรื่องเงิน SDR มาปัดฝุ่นใช้กันใหม่ ข้อเสนอของจีนคราวนี้เสนอให้เพิ่มเงินตราสกุลสำคัญๆ เช่น เงินหยวน และเงินสกุลอื่นในยุโรปเข้าไปในตะกร้าเงินที่ใช้เทียบค่าเงิน SDR
และแทนที่จะใช้วิธีคำนวณค่าเงิน SDR กับตะกร้าเงินแล้ว SDR ควรจะมีทุนสำรองเงินตราจริงๆ หนุนหลัง (คงจะเช่นเดียวกับเงินบาท มีทุนสำรองเงินตราจริงๆ หนุนหลัง) แทนที่จะตั้งบัญชีขึ้นมาเฉยๆ แล้วให้ไอเอ็มเอฟไปจัดสรรให้แก่ประเทศต่างๆ ทำให้ประเทศต่างๆ มีความเชื่อถือ SDR ให้ยอมรับชำระหนี้ระหว่างกันด้วย SDR ประเทศต่างๆ จะได้ลดการถือเงินดอลลาร์ โดยยอมรับการชำระหนี้ในรูปของ SDR มากขึ้น เท่ากับไอเอ็มเอฟเป็นธนาคารกลางของธนาคารกลางของโลกจริงๆ
จากที่อ่านในบทความของผู้ว่าการโจว ก็ไม่ได้เสนอการแก้ไขปัญหาสำคัญที่ทำให้การแพร่ขยาย SDR ใช้แทนเงินดอลลาร์ล้มเหลว ก็คือในตอนเริ่มแรกจะแจกเงิน SDR ให้กับประเทศสมาชิกกันอย่างไร ถ้าจะให้ประเทศต่างๆ เอาเงินดอลลาร์ไปซื้อ SDR จีนกับญี่ปุ่นก็ได้เปรียบ อเมริกาก็จะกลายเป็นลูกหนี้ IMF แทน อเมริกาก็คงไม่ชอบ เพราะเงินดอลลาร์จะตกและกลายเป็นเศษกระดาษ
การจะมีทุนจริงๆ หนุนหลัง SDR ทุนจริงๆ ที่ใช้หนุนหลังนั้น ไอเอ็มเอฟจะเอามาอย่างไร จะให้ธนาคารกลางประเทศสมาชิกเอาเงินดอลลาร์หรือเงินตราสกุลอื่นมาแลก SDR จากไอเอ็มเอฟหรืออย่างไร แล้วถ้าไอเอ็มเอฟไม่กำหนดค่าเงิน SDR กับตะกร้าเงินโดยมีสูตรตายตัว จะให้ค่าเงิน SDR ถูกกำหนดอย่างไร เพราะตลาดเงิน SDR ก็ยังไม่มี ยังไม่เกิด จะทำให้มีให้เกิดได้อย่างไร จึงจะทำให้ SDR แพร่หลายขึ้น
ในทศวรรษที่ 1960 ตอนที่คิดจะออก SDR มาแทนเงินดอลลาร์ ตลาดเงิน ตลาดทุนก็ยังไม่ยุ่งยาก สลับซับซ้อนอย่างนี้ ประเทศต่างๆ ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะแจกจ่ายเงิน SDR กันอย่างไร ยิ่งตอนนี้ขนาดของปริมาณเงินดอลลาร์ในตลาดเงินตลาดทุน ชนิดของตราสารการเงินที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน ก็คงจะยิ่งตกลงกันยากยิ่งขึ้น. ยิ่งตอนนี้สหรัฐอเมริกาไม่ต้องดำรงทองคำเป็นทุนสำรอง อเมริกาอาจจะเขียนเช็คจ่ายเงินดอลลาร์ซื้อ SDR จากไอเอ็มเอฟได้ไม่จำกัด ในตอนต้นของการแจกจ่าย SDR ถ้าไม่แจกฟรีอย่างที่คิดในตอนแรก ประเทศอื่นๆ ก็คงไม่ยอม ถ้าตอนแรกจะแจกฟรีก็ติดปัญหาว่า จะแจกกันอย่างไรอีก จึงจะเป็นที่ยอมรับกันได้
การออกเงินตรากลางระหว่างประเทศฟังดูเป็นของดี แต่ในทางปฏิบัติ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็ติดอยู่กับปัญหาง่ายๆ อย่างนี้แหละ
5. การเมืองและการปกครองของจีน
คอลัมน์ คนเดินตรอกโดย วีรพงษ์ รามางกูร
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3984 (3184)
เมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ หนังสือเอเชี่ยน วอลล์สตรีต เจอร์นัล วิเคราะห์การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ซึ่งเปิดสมัยประชุมในวันพุธที่ 5 มีนาคมว่า จะมีการปรับโครงสร้างรัฐบาลครั้งใหญ่ นับตั้งแต่จีนเริ่มมีนโยบายปฏิรูป และเปิดประเทศหลังยุค"ปฏิวัติวัฒนธรรม" ในปี 1975 หรือ พ.ศ.2518 ที่จะมีการกำหนดตัวผู้นำจีนในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะสภาประชาชนแห่งชาติจีน 5 ปีจึงจะมีการประชุมครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ก็คงจะเป็นการลงมติของสภาประชาชนแห่งชาติจีนเพื่อเลือก "ประธานสาธารณรัฐประชาชน" หรือ "ประธานาธิบดี" ซึ่งคาดว่าท่านหู จิน เทา คงจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่ง และท่านหู จิน เทา ก็คงเสนอท่านเหวิน เจีย เป๋า ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้สภาประชาชนแห่งชาติรับรอง อีกวาระหนึ่งเช่นเดียวกัน
ที่สำคัญก็คือท่านหู จิน เทา ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการและประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะได้เสนอท่านลี จิ้น ผิง เป็นรองประธานสาธารณรัฐประชาชน และท่านหลี่ เคอ เฉียง เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย ท่านลี จิ้น ผิง ปัจจุบันเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง ก่อนที่จะถึงแก่อสัญกรรม ได้วางหลักการไว้แน่ชัดในธรรมนูญของพรรคว่า การคัดสรรผู้นำพรรคและผู้นำรัฐบาลต้องทำเป็นระบบ 5 ปีล่วงหน้า เพื่อจะได้ดูผลงานและความสามารถเพื่อให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจเป็นไปอย่างเรียบร้อย
ขณะเดียวกัน ผู้นำของจีนทั้งที่พรรคและรัฐบาล คือตัวประธานสาธารณรัฐประชาชน และนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระ หรือเกิน 10 ปีไม่ได้ เมื่อดำรงตำแหน่งครบ 5 ปีในวาระแรกต้องเตรียมผู้นำไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้ไม่ต้องแย่งชิงอำนาจกันเหมือนสมัยที่ท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเกิดความวุ่นวายทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา การส่งต่ออำนาจไม่เป็นไปอย่างสันติ ท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง จึงแก้รัฐธรรมนูญทั้งของสาธารณรัฐประชาชน และของพรรคให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจเป็นไปตามระเบียบและอย่างสันติ
ประเทศจีนนั้นยังประกอบด้วยมณฑลหรือแคว้นต่างๆ คือมณฑลหรือแคว้นดั้งเดิม 21 มณฑลหรือแคว้น ต่อมาพระเจ้าเฉียน หลง แห่งราชวงศ์ชิงได้ผนวกแคว้นซินเกียง หรือแคว้น "ชายแดนใหม่" ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยหน้าตาเหมือนฝรั่งแต่เป็นชาวมุสลิม สืบเชื้อสายมาจากชาวเติร์ก เข้ามาเป็นแคว้นที่ 22 ในขณะเดียวกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตเข้ามาปลดอาวุธ และยึดพื้นที่ครึ่งหนึ่งของแคว้นมองโกลไปแล้วสถาปนาเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมมองโกเลีย เป็นประเทศเอกราชหรือนิยมเรียกว่า "มองโกเลียนอก" ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งยังเป็นแคว้นหนึ่งของจีน แต่เรียกว่า "เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน" หรือ "เน่ยเหมิงกู่" ส่วนแคว้นแมนจูเลียก็ผนวกมาเป็นมณฑลเหลียวหนิง ส่วนแคว้นที่มีคน "ไต" หรือ "จ้วง" อยู่ก็เป็นเขตปกครองตนเอง "กวางสีจ้วง" นอกจากนั้นก็มีเทศบาลนครปักกิ่ง นครเทียนสิน เซี่ยงไฮ้ นครฉงชิ่ง เขตปกครองพิเศษฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ต่อมาได้มีการแยกจังหวัดเกาะไหหลำ ยกฐานะขึ้นเป็นมณฑล ขณะนี้จีน จึงมี 23 มณฑลหรือแคว้น มีเทศบาลนครที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง 4 แห่ง มีเขตปกครองตนเอง 7 แห่ง การปกครองภายในมณฑล เขตปกครองตนเองก็แบ่งเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มณฑลหรือแคว้นแต่ละแห่งใหญ่กว่าประเทศไทยเรา อำเภอก็ใหญ่กว่าจังหวัดด้วย
จีนปกครองโดยระบบพรรคเดียวคือ พรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้จะมีการอนุญาตให้มีพรรคอื่นก็เป็นพรรคเล็กๆ ไม่มีความหมาย ระบบการปกครองเป็นระบบคู่ขนานไประหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล ทั้งที่เป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภาครัฐที่เรียกว่า "รัฐบาลกลาง" ซึ่งประกอบด้วยรัฐบาล สภาประชาชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาประชาชนหรือสภาสูง และศาล ส่วนของพรรคที่เรียกว่าศูนย์กลางพรรคคู่กับสภาประชาชนแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาประชาชนแห่งชาติก็คือ สมัชชาพรรค
สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยงานพรรค ซึ่งมีการจัดตั้ง ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด มณฑล เทศบาล เขตปกครองตนเอง และเขตปกครองพิเศษ แต่ละระดับมีคณะกรรมการพรรคเลือกตั้งจากสมาชิกพรรค มีการเลือกตั้งโดยตรงในระดับหมู่บ้านและตำบล กรรมการระดับอำเภอ กรรมการตำบลและหมู่บ้านเป็นผู้เลือก กรรมการระดับจังหวัดกรรมการระดับอำเภอเป็นผู้เลือก ระดับมณฑลมีกรรมการระดับจังหวัดเป็นผู้เลือก นอกจากนั้นก็มีผู้แทนจากองค์กรแนวร่วม องค์กรสตรี ผู้แทนชนเผ่า ผู้แทนกองทัพทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมเป็นสมาชิกสมัชชาพรรค สมัชชาพรรคจะประชุมทุกๆ 5 ปีเพื่อเลือกคณะ "กรรมการกลางพรรค" กรรมการกลางพรรคมีจำนวนทั้งสิ้น 300 คน คณะกรรมการกลางพรรคเป็นผู้เลือก "กรมการเมือง" หรือภาษาฝรั่งนิยมเรียกว่า "poliburo" ปัจจุบันมีสมาชิกสามัญ 24 คน และมีสมาชิกสมทบ 1 คน รวมเป็น 25 คนในสมาชิก 24 คน เลือกคณะกรมการเมืองประจำ 9 คน
จำนวน 9 คนในปีนี้จะมีการคัดเลือกผู้นำ 1 หรือ 2 คนไว้ล่วงหน้า ที่จะก้าวเข้าไปเป็นเลขาธิการพรรคในอีก 5 ปีข้างหน้า แทนเลขาธิการพรรคคนปัจจุบันคือ ท่านหู จิน เทา นอกจากจะเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคแล้ว ยังจะเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต่อสภาประชาชนแห่งชาติให้ดำรงตำแหน่ง "ประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน" หรือประธานาธิบดี อันเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดของ "รัฐ" และจะได้รับเลือกเป็น "ประธานคณะกรรมการทหาร" ของพรรค พร้อมกันนั้นจะได้รับการเสนอชื่อให้สภาประชาชนแห่งชาติดำรงตำแหน่ง "ประธานกรรมาธิการทหาร" ของสภาประชาชน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา "สำนักงานบัญชาการกองทัพปลดแอกประชาชนจีน" ด้วย
ตำแหน่งประธานคณะกรรมการทหารของพรรค และประธานกรรมาธิการทหารของสภาประชาชนแห่งชาติ ตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2492 ซึ่งถือเป็น "วันชาติ" ของจีน มีเพียง 4 คนคือ ท่านเหมา เจ๋อ ตุง ท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง ท่านเจียง เจ๋อ หมิน และท่านหู จิน เทา
กรรมการประจำของกรมการเมืองก็เลือกสมาชิกอีกคนหนึ่งเตรียมไว้ล่วงหน้า 5 ปีเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี การที่พรรคกรองและเลือกตั้งผู้นำพรรคไว้ล่วงหน้าก่อนเป็นเวลา 5 ปี และให้อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย หรือ 10 ปี เป็น "นวัตกรรม" ทางการเมืองของท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง
ภายในพรรคจะมี "สำนักงานเลขาธิการพรรค" ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบริหารของพรรค ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขาธิการ สมัชชาพรรค คณะกรรมการกลางพรรค กรรมการกรมการเมือง กรรมการถาวรกรมการเมือง และทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการชุดต่างๆ ของพรรค มีเลขาธิการพรรคซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดเป็นหัวหน้า
ทางด้าน "อำนาจรัฐ" หรือ "รัฐบาล" ในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวกันก็แบ่งเป็นมณฑล เขตปกครองตนเอง เทศบาล เขตปกครองพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า ไต้หวัน จีน จึงมีแต่ท้องถิ่นไม่มีภูมิภาค แต่ละเขตปกครองแบ่งเป็นจังหวัดหรือเขต อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และหมู่บ้านชนกลุ่มน้อย แต่ละหน่วยงานก็มี "สภาประชาชน" หน่วยนั้นๆ มีผู้ว่าการมณฑล ผู้ว่าการเขตปกครองตนเอง นายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า เลือกตั้งโดย "สภาประชาชน" ประจำมณฑล เขตปกครองตนเอง จังหวัด แยกลงไปก็เป็นอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน หรือหมู่บ้านชนชาติส่วนน้อย นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้งของสภาประชาชนในระดับต่างๆ อำเภอ ตำบล หมู่บ้านก็เป็นท้องถิ่น
สภาประชาชนระดับหมู่บ้าน ตำบล มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นๆ ส่วนตั้งแต่ระดับอำเภอขึ้นไปมาจากการเลือกตั้งของสภาประชาชนระดับล่าง เป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไป. สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติมาจากการเลือกตั้งของสภาประชาชนของมณฑล เขตปครองตนเอง เทศบาลนคร ที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง กองทัพ รวมทั้งจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ผู้แทนของสภาประชาชนแห่งชาติ มีจำนวนไม่เกิน 3,000 คน ขณะนี้มีสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจำนวน 2,985 คน
สภาประชาชนแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี จำนวนผู้แทนของสภาประชาชนมาจากทุกระดับตั้งแต่หมู่บ้าน ไปถึงเขตปกครองตนเอง และอื่นๆ มีจำนวน 3.2 ล้านคน จำนวนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีประมาณ 70 ล้านคน จากประชาชน 1,300 ล้านคน สภาประชาชนแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งประธานและรองประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือประธานาธิบดี ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของประธานสาธารณรัฐ ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานกรรมาธิการ ผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดิน โดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญที่สุดเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งประธานกรรมาธิการ สมาชิกกรรมาธิการทหารแห่งชาติ บุคลากรในคณะกรรมาธิการทหาร โดยคำแนะนำของประธานคณะกรรมการทหารของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยปกติทั้งประธานกรรมาธิการ กรรมาธิการทหารจะเป็นคณะเดียวกันกับประธานและคณะกรรมการของพรรค ทหารกองทัพปลดแอกประชาชนจีนจึงเป็นทั้งของชาติและของพรรค
นอกจากนั้น สภาประชาชนแห่งชาติยังเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งประธาน รองประธานศาลประชาชนสูงสุด หรือศาลฎีกา รวมทั้งให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งอัยการ และรองอัยการสูงสุดของสำนักงานอัยการประชาชนสูงสุด โดยคำแนะนำของประธานสาธารณรัฐประชาชนด้วย
สภาประชาชนแห่งชาติมีสมัยประชุมสามัญ 5 ปีครั้ง สภาประชาชนแห่งชาติจะแต่งตั้งกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่สำคัญคือ คณะกรรมาธิการประจำ ขณะนี้มีจำนวน 155 คน มีสมัยประชุมทุกปีในไตรมาสแรกของปี และมีหน้าที่พิจารณาอนุมัติเรื่องต่างๆ แทนสภาประชาชนแห่งชาติในช่วงปี 1975-1982 รัฐธรรมนูญจีนได้ยกเลิกตำแหน่งประธานสาธารณรัฐประชาชน หรือตำแหน่งประธานาธิบดี ให้ประธานคณะกรรมาธิการประจำของสภาประชาชนจีนแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานสาธารณรัฐประชาชนแทน ทั้งในแง่บริหาร พิธีการและทางการทูต การตั้งอนุกรรมาธิการ
คณะกรรมาธิการที่สำคัญที่สุดคณะหนึ่งคือ คณะกรรมาธิการทหารประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และกรรมการ ซึ่งเป็นชุดเดียวกับคณะกรรมการทหารของพรรค อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี แต่ไม่จำกัดจำนวนสมัย เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนประกอบด้วย กองกำลังกองทัพปลดแอกประชาชน กองกำลังตำรวจติดอาวุธ และทหารบ้านซึ่งรับผิดชอบเสบียงเครื่องใช้ในยามสู้รบ ยามสงบมีหน้าที่ช่วยรักษาระเบียบของสังคม
ที่น่าสังเกตก็คือ กองกำลังตำรวจที่ติดอาวุธก็อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของประธานกรรมาธิการของสภาประชาชนแห่งชาติ หรือประธานคณะกรรมการทหารของพรรคด้วย ดังนั้นประธานคณะกรรมาธิการทหารจึงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ขณะนี้เป็นคนเดียวกับประธานสาธารณรัฐประชาชน แต่บางครั้งก็ไม่ใช่ เช่น สมัยท่านเหมา เจ๋อ ตุง สมัยท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง ท่านไม่ได้เป็นประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือเมื่อท่านเจียง เจ๋อ หมิน พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค และประธานสาธารณรัฐประชาชน ท่านก็ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการทหารของสภาประชาชน และประธานกรรมการทหารของพรรคต่อมาอีก 2 ปีจึงลาออกและให้ท่านหู จิน เทา ขึ้นแทน
ในการประชุมสมัชชาพรรคและการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่ง 5 ปีจะมีการประชุมครั้งหนึ่ง คราวนี้ก็ได้เลือกทายาทไว้ทั้ง 2 คน คือว่าที่เลขาธิการพรรคหรือประธานสาธารณรัฐ และผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างที่เป็นข่าว
ระบบการปกครองที่ยังเป็นระบบคอมมิวนิสต์อยู่ก็เหลือแต่จีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ ลาว และคิวบาเท่านั้น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com