1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
ความจริงที่ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก เนื่องจากเป็นแหล่งผ่านของอารยธรรมโบราณ ทั้งจากจีน อินเดีย อาหรับ และตะวันตก และยังได้รับความเชื่อและคติทางศาสนาที่สำคัญของโลก เช่น พุทธ ฮินดู คริสต์ อิสลาม เป็นต้น และยังมีประสบการณ์ รวมถึงความทรงจำที่หลากหลายจากยุคแห่งการล่าอาณานิคม แต่ในความหลากหลายนี้มิควรถูกมองว่าเป็นอุปสรรคในการร่วมมือ แต่ควรมองความหลากหลายว่าเป็นคุณลักษณะพิเศษที่จะผลักดันให้ภูมิภาคนี้มีความมั่งคั่งในทางภูมิปัญญา ดังในคำขวัญของสหประชาชาติที่ต้องการให้มนุษยชาติเฉลิมฉลองและภาคภูมิใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของตนเอง ...(คัดมาบางส่วนจากบทความ)...
30-07-2552 (1750)
ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(อาเซียน)
๑.เสียงเพรียกถึงคาร์ตีนี
๒.พิมพ์เขียวประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน
กอง บก. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
รวบรวมจากบทความที่เคยเผยแพร่แล้วบนเว็บไซต์
และสิ่งพิมพ์
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความวิชาการเหล่านี้
รวบรวมมาจากงานเขียนที่ได้รับการเผยแพร่แล้ว
ทั้งจากเว็บไซต์และสิ่งพิมพ์ ประกอบด้วยหัวเรื่องดังต่อไปนี้...
๑. เรียกฉันว่าคาร์ตีนีก็พอ: คาร์ตีนีกับวันสตรีสากลในอินโดนีเซีย
- ใครคือคาร์ตีนี
- จดหมายของคาร์ตีนี
- วันสตรีสากลที่อินโดนีเซียปี ๒๐๐๘
๒. บทบาทและอุดมการณ์ของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในเวทีโลก
- สหภาพยุโรป - อาเซียน (ความต่างและความเหมือน)
- สามเสาหลักของกฏบัตรอาเซียน (ASEAN Charter)
- พิมพ์เขียวประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
- ความร่วมมือทางวัฒนธรรม (นามธรรมสู่รูปธรรม)
- ความร่วมมือในด้านสาธารณสุขอาเซียน
- ความร่วมมือในด้านการพัฒนาและสวัสดิการสังคมอาเซียน
- ความร่วมมือทางการศึกษาของอาเซียน
- ความร่วมมือในด้านแรงงานของอาเซียน
- ความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม อีกก้าวหนึ่งของอาเซียน
- อาเซียนกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- อาเซียนกันความร่วมมือทางด้านการปกป้องภัยพิบัติ
- ความร่วมมือกับประเทศนอกลุ่มอาเซียน
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด
"ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มประเทศอาเซียน")
สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๕๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(อาเซียน)
๑.เสียงเพรียกถึงคาร์ตีนี
๒. พิมพ์เขียวประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน
กอง บก. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
รวบรวมจากบทความที่เคยเผยแพร่แล้วบนเว็บไซต์
และสิ่งพิมพ์
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
๑. "เรียกฉันว่าคาร์ตีนีก็พอ":
คาร์ตีนีกับวันสตรีสากลในอินโดนีเซีย
อรอนงค์ ทิพย์พิมล (เคยเผยแพร่แล้วในประชาไท)
คาร์ตีนีและสามีของเธอ: ภาพจากhttp://id.wikipedia.org/wiki/Kartini
"เรียกฉันว่าคาร์ตีนีก็พอ" เป็นคำพูดของระเด่น อาเจ็ง คาร์ตีนี (Raden Ajeng Kartini) ที่ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ นักเขียนอินโดนีเซียผู้โด่งดัง ได้หยิบยกมาเป็นชื่อหนังสือเกี่ยวกับคาร์ตีนีที่เขาประพันธ์ขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่า คำดังกล่าวได้สะท้อนความคิดในเรื่องความเท่าเทียมกันในเรื่องความเป็นมนุษย์ตามความคิดของคาร์ตีนี ... ชื่อของคาร์ตีนีจะเป็นชื่อแรกๆ เมื่อคนคิดถึงหากพูดถึงเรื่องสิทธิสตรีอินโดนีเซีย เธอเป็นที่รู้จักในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีคนแรกของอินโดนีเซียและได้เป็นแรงบันดาลใจในขบวนการผู้หญิงในอินโดนีเซียในเวลาต่อมา
ใครคือคาร์ตีนี
คาร์ตีนี เป็นผู้หญิงที่มีบทบาทมากในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย เธอเกิดเมื่อวันที่
21 เมษายน ค.ศ. 1879 [1] ในครอบครัวชนชั้นสูงของชวา ในช่วงที่ดินแดนที่ยังไม่มีชื่อว่าอินโดนีเซีย
ในขณะนั้นได้ถูกครอบครองโดยเจ้าอาณานิคมฮอลันดา บิดาของเธอคือระเด่น มัส ซอสโรนิงรัต
(Raden Mas Sosroningrat) เป็นบูปาตี (bupati) [2] เมืองเจอปารา (Jepara) มารดาของเธอชื่องาซีระฮ์
(M.A. Ngasirah) เป็นบุตรีของผู้นำทางศาสนาอิสลามในชวา มารดาของเธอเป็นภรรยาคนแรกของบิดา
แต่มิใช่เป็นภรรยาเอก
[1] วันเกิดของคาร์ตีนีได้รับการยกย่องให้เป็นวันคาร์ตีนี (Kartini Day) ซึ่งถือเป็นวันสำคัญแห่งชาติ ในวันนี้บรรดาผู้หญิงอินโดนีเซียจะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติที่เรียกว่า"เกอบายา" (Kebaya) ไปทำงานหรือไปโรงเรียน แม้กระทั่งคนกวาดถนนหรือคนขับรถประจำทาง ก็จะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติด้วยเช่นกัน และจะการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดอบรม อภิปราย หรือสัมมนาต่างๆ
[2] บูปาตีเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน รากศัพท์ของคำว่า bupati มาจากภาษาสันสกฤต bhupati ซึ่งมีความหมายว่า "ราชาแห่งโลก" บูปาตีทำหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจเทียบเท่านายกเทศมนตรีในปัจจุบัน ในสมัยอาณานิคมตำแหน่งบูปาตีถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ และต้องเป็นชนชั้นสูงเท่านั้นจึงจะดำรงตำแหน่งนี้ได้ ในปัจจุบันตำแหน่งนี้ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในท้องถิ่น
ในขณะนั้นทางเจ้าอาณานิคมฮอลันดากำหนดว่า ผู้ที่จะสามารถดำรงตำแหน่งบูปาตีได้ จะต้องแต่งงานกับผู้หญิงที่เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นเหตุให้บิดาของคาร์ตีนีแต่งงานใหม่กับระเด่น อาเจ็ง วูรจัน (Raden Ajeng Woerjan) ซึ่งเป็นเชื้อสายราชามาดูรา หลังจากที่แต่งงานกับระเด่นอาเจ็ง วูรจัน บิดาของคาร์ตีนีก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบูปาตีแห่งเมืองเจอปารา คาร์ตีนีมีพี่น้องทั้งจากมารดาเดียวกันและต่างมารดาทั้งสิ้น 11 คน เธอเป็นบุตรีคนที่ 5 จากพี่น้องทั้งหมด
คาร์ตีนีได้รับการศึกษาที่โรงเรียน Europese Lagere School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยฮอลันดา ผู้ที่เข้าศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ส่วนมากจะเป็นลูกหลานชาวยุโรป และชนพื้นเมืองชั้นสูงเท่านั้น เด็กผู้หญิงอายุรุ่นราวคราวเดียวกับคาร์ตีนีน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ศึกษาในโรงเรียน เนื่องจากว่าการศึกษาในสมัยนั้นเป็นเรื่องของผู้ชายและชนชั้นสูง ที่โรงเรียนแห่งนี้คาร์ตีนีได้เรียนรู้วิชาการต่างๆ รวมถึงภาษาฮอลันดา จนอายุได้ 12 ปีจบการศึกษาระดับประถมศึกษาก็ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาเก็บตัวอยู่ที่บ้านตามประเพณีดั้งเดิมของชวา เรียนงานเย็บปักถักร้อย งานบ้าน เพื่อเตรียมตัวออกเรือนกับผู้ชายที่พ่อแม่เห็นชอบ
หลังจากออกจากโรงเรียน คาร์ตีนีได้ใช้เวลาเรียนด้วยตัวเองที่บ้าน เธอได้ใช้ความรู้ภาษาฮอลันดาที่เรียนมาเขียนจดหมายโต้ตอบกับเพื่อนชาวฮอลันดา และได้กลายมาเป็นหนังสืออันโด่งดังและทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักกว้างขวาง หนึ่งในบรรดาผู้ที่คาร์ตีนีเขียนจดหมายโต้ตอบไปมาคือ Rosa Abendanon ซึ่งได้ให้การสนับสนุนคาร์ตีนีอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นสหายรักของเธอ
คาร์ตีนีเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมตะวันตกโดยผ่านการอ่านหนังสือ, นิตยสาร, และหนังสือพิมพ์ สิ่งที่ดึงดูดใจคาร์ตีนีคือความก้าวหน้าทางความคิดของผู้หญิงยุโรป ทำให้เธอคิดที่จะพัฒนาผู้หญิงพื้นเมืองให้เหมือนผู้หญิงยุโรป มีการศึกษา มีความคิดที่ทันสมัย สามารถกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ในเรื่องการแต่งงาน และโอกาสในการทำงาน ภายใต้สภาพที่ผู้หญิงพื้นเมืองมีสถานภาพต่ำกว่าผู้ชายอย่างมากในขณะนั้น
แต่ทว่า แม้คาร์ตีนีจะมีแนวคิดที่ก้าวหน้ามากเพียงใดก็ตาม เธอได้ถูกบิดามารดาจัดการให้แต่งงานกับบูปาตีเมืองเริมบัง (Rembang) ชื่อว่า ระเด่น อาดีปาตี โจโยดีนิงรัต (Raden Adipati Joyodiningrat) ผู้ซึ่งมีภรรยาอยู่แล้ว 3 คน คาร์ตีนีแต่งงานเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 1903 ซึ่งนั่นเป็นการปิดโอกาสความหวังของเธอที่ต้องการไปศึกษาต่อและทำงนที่ยุโรป อย่างไรก็ตาม สามีของคาร์ตีนีเข้าใจความต้องการของเธอ จึงให้อิสระและสนับสนุนแนวความคิดของเธอ จึงให้เธอตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงขึ้นที่ทางด้านตะวันออกของประตูรั้ว ณ ที่ทำการอำเภอเริมบัง ที่โรงเรียนแห่งนี้คาร์ตีนีได้สอนหนังสือให้เด็กผู้หญิงพื้นเมือง ซึ่งนับว่าเป็นแสงแรกของการได้รับการศึกษาแบบตะวันตกของผู้หญิงพื้นเมือง
คาร์ตีนีให้กำเนิดบุตรชายคนแรกและคนสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 กันยายน 1904 หลังจากนั้นไม่กี่วันเธอก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 กันยายน 1904 เมื่ออายุได้ 25 ปี สุสานของคาร์ตีนีตั้งอยู่ที่เดซา บูลู (Desa Bulu) เมืองเริมบัง
ด้วยความมุมานะและตั้งใจจริงของคาร์ตีนี ที่ต้องการต่อสู้เพื่อให้เด็กหญิงชาวพื้นเมืองได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียน ทำให้เกิดมูลนิธิคาร์ตีนี (Yayasan Kartini) โดยครอบครัวของ Van Deventer [3] และได้ตั้งโรงเรียนสำหรับผู้หญิง (Sekolah Wanita) ที่เมืองเซอมารัง (Semarang) เมื่อปี 1912 และต่อมาได้ขยายไปยังสุราบายา (Surabaya), ย็อกยาการ์ตา, มาลัง (Malang), มาดียุน (Madiun), จีเรอบน (Cirebon) และพื้นที่อื่นๆ โดยตั้งชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนคาร์ตีนี" (Sekolah Kartini)
[3] Van Deventer เป็นผู้นำทางการเมืองชาวฮอลันดาที่สนับสนุนให้ใช้นโยบายจริยธรรมในดินแดนอาณานิคมอินเดียฮอลันดา เขาเคยเขียนบทความเรื่อง "หนี้เกียรติยศ" วิพากษ์นโยบายของรัฐบาลฮอลันดา และกล่าวว่าชาวฮอลันดาเป็นหนี้ชาวพื้นเมืองจากการปกครองหรือการเป็นเจ้าอาณานิคม ซึ่งทำให้ฮอลันดามความเจริญรุ่งเรือง
ประธานาธิบดีซูการ์โนได้ออกคำสั่งประธานาธิบดี แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เลขที่ 108 ปี 1964 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 1964 ยกย่องให้คาร์ตีนีเป็นวีรสตรีแห่งเอกราชของชาติ (Pahlawan Kemerdekaan Nasional) พร้อมกับกำหนดให้วันเกิดคาร์ตีนีเป็นวันสำคัญแห่งชาติ และมีกิจกรรมรำลึกถึงคุณงามความดีของคาร์ตีนี ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อว่า "วันคาร์ตีนี"
จดหมายของคาร์ตีนี
จดหมายจำนวนมากมายของคาร์ตีนีถึงบรรดามิตรสหายของเธอในช่วงระหว่างปี 1899 ถึง
1904 ได้ถูกรวบรวมและตีพิมพ์เป็นภาษาฮอลันดาภายใต้ชื่อ Door Duisternis Tot Licht
และได้มีการแปลเป็นภาษาอินโดนีเซียใช้ชื่อว่า Habis Gelap Terbitlah Terang (Letters
of a Javanese Princess) หากจะแปลเป็นไทย ความว่า "สิ้นความมืด พลันเกิดแสงสว่าง"
(จดหมายของเจ้าหญิงแห่งชวา) จดหมายต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าคาร์ตีนีมีความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ที่ต้องการจะปลดปล่อยสตรีพื้นเมืองจากการกดขี่ที่กลายเป็นวัฒนธรรมในยุคสมัยของเธอ
ต้องการให้ผู้หญิงชาวพื้นเมืองได้มีการศึกษาเหมือนกับผู้ชาย เพื่อจะได้มีโอกาสในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง
และมีความเท่าเทียมเสมอภาคกับผู้ชาย จากจดหมายเหล่านี้ทำให้คาร์ตีนีมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะที่เป็น
"ผู้บุกเบิกการปลดปล่อยผู้หญิงอินโดนีเซีย" หนังสือเล่มนี้ยังได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มผู้หญิงอินโดนีเซียในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีอินโดนีเซีย
ในช่วงที่เกิดกระแสชาตินิยมอินโดนีเซียต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คาร์ตีนีได้ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของชาตินิยมและการตื่นตัวของขบวนการผู้หญิงอินโดนีเซียโดยนักชาตินิยม และกลุ่มผู้หญิงในขณะนั้น แม้ว่าในบรรดาจดหมายทั้งหมดของเธอ จะไม่ได้สื่อสารกับชาวพื้นเมืองโดยเฉพาะในชวาบ้านเกิดของเธอเลยก็ตาม เนื่องจากว่าจดหมายทั้งหมดนั้นเขียนขึ้นในภาษาดัชต์ ซึ่งมีชนพื้นเมืองจำนวนไม่มากที่สามารถอ่านและเข้าใจได้
นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว ยังมีหนังสืออีกจำนวนหนึ่งที่รวบรวมจดหมายและงานของคาร์ตีนี อาทิเช่น Surat-surat Kartini, Renungan Tentang dan Untuk Bangsanya, Kartini: Surat-surat kepada Ny RM Abendanon-Mandri dan Suaminya, Letters from Kartini, An Indonesian Feminist 1900-1904, Panggil Aku Kartini Saja, Aku Mau ... Feminisme dan Nasionalisme, Surat-surat Kartini kepada Stella Zeehandelaar 1899-1903 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีกระแสจากคนบางกลุ่มที่สงสัยว่าจดหมายคาร์ตีนีเป็นของจริงหรือไม่ ข้อสงสัยนี้เกิดขึ้นเพราะว่าหนังสือของคาร์ตีนีได้รับการตีพิมพ์ในขณะที่รัฐบาลอาณานิคมฮอลันดากำลังดำเนินนโยบายจริยธรรมที่หมู่เกาะอินเดียฮอลันดา (อินโดนีเซีย) และ Abendanon เป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนนโยบายนี้อย่างแข็งขัน และจวบจนกระทั่งปัจจุบันจดหมายส่วนใหญ่ของคาร์ตีนีก็ยังไม่สามารถยืนยันการมีอยู่จริงๆ ของต้นฉบับได้
นอกจากนี้การกำหนดให้วันเกิดคาร์ตีนีเป็นวันสำคัญก็มีข้อโต้แย้งจากผู้ไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดยให้ความเห็นว่า ควรจะรำลึกถึงคาร์ตีนีและจัดงานเฉลิมฉลองในวันแม่แห่งชาติคือวันที่ 22 ธันวาคมไปเลยทีเดียว [4] เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากว่ายังมีวีรสตรีแห่งชาติอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการยกย่องให้มีวันรำลึกถึงเหมือนกับคาร์ตีนี ในความเห็นของคนเหล่านี้ การต่อสู้ของคาร์ตีนีจำกัดอยู่แค่เมืองเจอปาราและเริมบังเท่านั้น ไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อชาติทั้งหมด และคาร์ตีนีไม่เคยจับอาวุธขึ้นสู้กับผู้รุกรานเลย
[4] วันแม่แห่งชาติของอินโดนีเซียตรงกับวันที่ 22 ธันวาคมของทุกปี โดยมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม เมื่อมีการประชุมผู้หญิงอินโดนีเซียครั้งที่หนึ่งที่เรียกว่า Kongres Perempuan Indonesia I ที่เมืองย็อกยาการ์ตา เมื่อวันที่ 22-25 ธันวาคม 1928 โดยมีกลุ่มองค์กรผู้หญิงประมาณ 30 องค์กรเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้จาก 12 เมืองในชวาและสุมาตรา และต่อมาได้มีการกำหนดให้วันที่ 22 ธันวาคมเป็นวันเฉลิมฉลองวันแม่ (Hari Ibu) โดยการตัดสินใจของที่ประชุมคองเกรสผู้หญิงอินโดนีเซียครั้งที่สามเมื่อปี 1938
ในทางกลับกัน อีกฝ่ายหนึ่งก็แย้งว่า คาร์ตีนีไม่ได้เป็นแค่ผู้นำในการปลดปล่อยสตรีอินโดนีเซียจากความโง่เขลาเท่านั้น และเธอยังเป็นวีรสตรีแห่งชาติด้วยอุดมการณ์และแนวคิดสมัยใหม่ที่เธอได้ต่อสู้เพื่อชาติ และจิตวิญญาณของคาร์ตีนีได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ขบวนการสตรีรุ่นต่อๆ มา
วันสตรีสากลที่อินโดนีเซียปี
๒๐๐๘
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2008 ที่ผ่านมา กลุ่ม Komisi Kesetaraan Nasional Konfederasi
Serikat Buruh Sejahtera Indonesia ได้จัดแสดงละครกลางแจ้งจำลองเหตุการณ์การทำร้ายกดขี่ผู้หญิงที่วงเวียนน้ำพุหน้าโรงแรมอินโดนีเซีย
เพื่อเป็นการรำลึกวาระครบรอบหนึ่งร้อยปีวันสตรีสากล มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจากหลากหลายอาชีพ
ตั้งแต่หมอไปจนถึงชาวนา โดยในการชุมนุมได้มีการแจกจ่ายผ้าเช็ดหน้าให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงจะหยุดร้องไห้และลบรอยน้ำตาทิ้ง
[5]
[5] ผู้สนใจสามารถเข้าไปชมคลิปข่าวได้จาก "Teatrikal 100 Tahun Hari Perempuan" (ละครร้อยปีวันสตรีสากล)
นอกจากที่จาการ์ตาแล้ว ที่บันดุง นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานได้รวมตัวกันในวันที่ 6 มีนาคมภายใต้ชื่อ Front Mahasiswa Nasional (แนวร่วมนักศึกษาแห่งชาติ) ในปีนี้พวกเขาได้เดินขบวนเพื่อรำลึกถึงวันสตรีสากล และได้เรียกร้องให้ผู้หญิงที่เป็นผู้ใช้แรงงานและชาวนามีองค์กรของตัวเองเพื่อที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้ต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงได้รับสิทธิทางสังคม, การเมืองและเศรษฐกิจเท่าๆ กับผู้ชาย โดยข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมซึ่งกลุ่มนี้เรียกร้องได้แก่ ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายการจ้างงานที่เหมาะสมกับผู้ใช้แรงงานหญิง, มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร และเพิ่มเงินช่วยเหลือในด้านสาธารณสุข
ปัญหาของแรงงานสตรีในอินโดนีเซียขณะนี้คือ ส่วนใหญ่แล้วพวกเธอได้รับค่าจ้างเพียงสองในสามของค่าจ้างแรงงานผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีการออกกฎที่เป็นการแบ่งแยกและกีดกันผู้หญิงว่า ผู้หญิงจะไม่สามารถเบิกค่ารักษาด้านสุขภาพ หากว่าสามีของเธอได้ใช้สิทธินี้ไปแล้ว Dewi ผู้ประสานงานของกลุ่มกล่าวว่า "ผู้หญิงอินโดนีเซียถูกทำให้เป็นพลเมืองชั้นสองทางการเมือง และถูกทำให้เป็นรองทางด้านวัฒนธรรม" [6]
[6] Erick P. Hardi, "Mahasiswa dan Buruh Peringati Hari Perempuan Sedunia" (นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานรำลึกวันสตรีสากล)
และในวันที่ 8 มีนาคมซึ่งเป็นวันสตรีสากล องค์กรผู้หญิงได้ร่วมกันจัดการกิจกรรมเพื่อรำลึกวันสตรีสากลที่วงเวียนน้ำพุหน้าโรงแรมอินโดนีเซีย ซึ่งนำโดยนักเคลื่อนไหวจาก Srikandi Demokrasi Indonesia, Lembaga Partisipasi Perempuan, Public Service International dan perempuan PKS พวกเขาได้ยกประเด็นขึ้นมาเรียกร้องตั้งแต่เรื่องราคาน้ำมันประกอบอาหาร และสินค้าจำเป็นอื่นๆ ที่สูงมากในขณะนี้ ไปจนถึงเรื่องประกันสุขภาพที่คนจนเข้าถึงได้ลำบาก นอกจากนี้ พวกเขายังได้สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2009 ด้วย [7]
[7] "Aksi Perempuan di Hari Perempuan Dunia" (กิจกรรมของผู้หญิงในวันสตรีสากล) http://www.metrotvnews.com/berita.asp?id=54934
นอกจากที่จาการ์ตาและที่บันดุงแล้ว ตามเมืองอื่นๆ ก็มีการจัดงานรำลึกถึงวันสตรีสากลเช่นกัน [8] โดยประเด็นที่กลุ่มต่างๆ หยิบยกขึ้นมานำเสนอต่อรัฐบาลและสังคมนั้น ก็คล้ายๆ กัน กล่าวคือ การเรียกร้องให้มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อสตรี และนอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นที่พุ่งสูงขึ้นและเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้
[8] ตัวอย่างรายงานข่าวการจัดงานรำลึกวันสตรีสากลตามเมืองต่างๆ ได้แก่ Reny Sri Ayu Taslim, "Perempuan Palu Peringati Hari Perempuan" (ผู้หญิงปาลูรำลึกวันสตรี)http://www.kompas.co.id/read.php?cnt=.xml.2008.03.08.20182116&channel=&mn=&idx= หรือ "Aksi Memperingati Hari Perempuan Sedunia di Daerah" (กิจกรรมรำลึกวันสตรีสากลที่ภูมิภาค) http://www.metrotvnews.com/berita.asp?id=54932
หากคาร์ตีนีไม่จากโลกนี้ไปก่อนวัยอันสมควร และมีชีวิตยืนยาวกว่า 120 ปีอยู่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน เธออาจจะผิดหวังกับความเป็นไปในดินแดนหมู่เกาะอินโดนีเซียที่การกดขี่ผู้หญิง ความไม่เท่าเทียมกันทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจยังฝังรากอยู่อย่างเหนียวแน่น อันเนื่องมาจากระบบศักดินาที่ไม่เคยมีพื้นที่ให้กับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ทั้งๆ ที่เธอพยายามต่อสู้เพื่อปลดปล่อยผู้หญิงจากความโง่เขลา เพื่อให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาเฉกเช่นเดียวกับผู้ชายตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน
แต่อย่างไรก็ตาม การออกมาเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางของกลุ่มองค์กรเอกชนและกลุ่มผู้หญิงต่างๆ ในการรำลึกถึงวันสตรีสากล และได้ป่าวประกาศข้อเรียกร้องและข้อเสนอของกลุ่มตัวเอง เป็นสัญญาณที่ดีว่า ผู้หญิงอินโดนีเซียรู้ถึงปัญหาของตัวเอง และพร้อมที่จะต่อสู้กับสภาพที่ไม่เท่าเทียม ไม่เสมอภาคระหว่างเพศ และไม่ได้นิ่งดูดายให้ปัญหานั้นดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ
เอกสารประกอบการเขียน
Elizabeth Martyn. The Women's Movement in Post-Colonial Indonesia: Gender and Nation in a New Democracy. London: RoutledgeCurzon, 2005.
F. G. P. Jaquet. Kartini: Surat-surat kepada Ny. R.M. Abendanon-Mandri dan suaminya. Penerjemah, Sulastin Sutrisno. Jakarta: Penerbit Djambatan, 2000.
Kathryn Robinson and Sharon Bessell (eds.). Women in Indonesia: Gender, Equity and Development. Singapore: ISEAS, 2002.
Pramoedya Ananta Toer. Panggil Aku Kartini Saja: Sebuah Pengatar pada Kartini. (เรียกฉันว่าคาร์ตีนีก็พอ). Jakarta: Hasta Mitra, 2000.
Susan Blackburn. Women and the State in Modern Indonesia. Cambridge, U.K.: Cambridge University Press, 2004.
Websites
"Aksi Memperingati Hari Perempuan Sedunia di Daerah" (กิจกรรมรำลึกวันสตรีสากลที่ภูมิภาค) http://www.metrotvnews.com/berita.asp?id=54932"Aksi Perempuan di Hari Perempuan Dunia" (กิจกรรมของผู้หญิงในวันสตรีสากล) http://www.metrotvnews.com/berita.asp?id=54934
Erick P. Hardi, "Mahasiswa dan Buruh Peringati Hari Perempuan Sedunia" (นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานรำลึกวันสตรีสากล) http://www.tempointeractive.com/read.php?NyJ=cmVhZA==&MnYj=MTE4NzE3
Reny Sri Ayu Taslim, "Perempuan Palu Peringati Hari Perempuan" (ผู้หญิงปาลูรำลึกวันสตรี) http://www.kompas.co.id/read.php?cnt=.xml.2008.03.08.20182116&channel=&mn=&idx=
"Teatrikal 100 Tahun Hari Perempuan" (ละครร้อยปีวันสตรีสากล) http://tv.kompas.com/berita/metropolitan/teatrikal_100_tahun_hari_perempuan_.html
๒. บทบาทและอุดมการณ์ของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในเวทีโลก
ภาณุทัต ยอดแก้ว (นักวิชาการ สนใจในประเด็นเกี่ยวกับอาเซียน)
สหภาพยุโรป - อาเซียน
(ความต่างและความเหมือน)
สหภาพยุโรปเป็นการรวมตัวกันของบรรดาประเทศที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในหลายประการ
เช่น ความใกล้กันในทางภูมิศาสตร์ ความคล้ายคลึงกันในระบบการเมือง ความคล้ายคลึงกันในทางวัฒนธรรม
หรือ ความเชื่อในความคิดว่าด้วยเสรีประชาธิปไตย เป็นต้น นอกจากนั้น สหภาพยุโรปได้พัฒนาจากแนวคิดอุดมคติที่มีเป้าหมายสูงสุด
ให้ยุโรปสามารถมีคณะปกครองหรือรัฐบาลกลางที่มีลักษณะอำนาจเหนือรัฐชาติ (supranational
governing body) หลายคนสังเกตว่า สหภาพยุโรปได้กำเนิดขึ้นเพราะยุโรปต้องการรื้อฟื้นหรือรักษาแกนอำนาจเดิมของตนไว้ในเวทีโลก
โดยเฉพาะหากพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว นับจากการขึ้นมาของจักรวรรดิอเมริกันในต้นศตวรรษที่
20 ยุโรปคงเริ่มมองตนเองเหมือนคนแก่ที่กำลังจะต้องอำลาเวที เพราะรัศมีของยุโรปได้ถูกเบียดบังจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวีตที่เริ่มมีอำนาจขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งที่ ยุโรปเป็นต้นกำเนิดของการปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และยังเป็นแม่แบบแนวคิดทางปรัชญาที่สำคัญของโลก แต่การที่ยุโรปต้องกลายเป็นสนามทดลองจริงของการแข่งขันระหว่างทฤษฏีและอุดมการณ์ เช่น เสรีนิยม สังคมนิยม ฟาสซิสต์ เป็นต้น ได้ส่งผลให้ยุโรปอยู่ในสภาพบอบช้ำ จนถึงขั้นต้องขอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาในการฟื้นฟูและบูรณะประเทศ หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง สหภาพยุโรปในปัจจุบัน หรือ ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปในสมัยนั้น จึงเกิดขึ้นมาในบริบทนี้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเพื่อรื้อฟื้นศักดิ์ศรีของโลกเก่า (ยุโรป) ที่สูญเสียไป ให้กลับฟื้นขึ้นมาใหม่
อาเซียนมิได้กำเนิดขึ้นมาจากปรัชญาที่สหภาพยุโรปยึดถือ หรือจากความคิดแบบอุดมคติ (utopic vision) ของนักปกครองหรือนักวิชาการที่ปารีส บอนน์ หรือบรัสเซลส์ ดังที่กล่าวมาแล้ว อาเซียนรวมตัวกันบนพื้นฐานของความต้องการที่จะรักษาสันติภาพในภูมิภาคที่มีความหลากหลายในระบอบการปกครองและศาสนา ซึ่งเป็นความคิดที่เป็นอุดมคติแบบมนุษย์นิยมโดยแท้ ด้วยการมีเป้าหมายที่จะไม่ให้ลัทธิความรุนแรง และลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งไม่เคารพในความสำคัญของการเป็นปัจเจกชนสามารถเข้ามามีอำนาจในภูมิภาค อาเซียนมิได้พิจารณาเรื่องการเมือง เรื่องอำนาจทหาร หรือเรื่องความบ้าคลั่งในอุดมการณ์ที่ทำให้คนเราต้องแบ่งออกเป็นสี หรือค่าย
อย่างไรก็ตาม ทั้งสหภาพยุโรปและอาเซียนยังมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน คือ ความพยายามที่จะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ทางสังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาค เนื่องจากอาเซียนกำลังพัฒนาเข้าสู่การรวมตัวในระดับที่เข้มข้นขึ้นภายใต้กฏบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งผู้นำอาเซียนทั้งสิบประเทศได้ลงนามกันในที่ประชุมสุดยอด ณ สิงคโปร์เรียบร้อยแล้ว
สามเสาหลักของกฏบัตรอาเซียน
(ASEAN Charter)
ตามระเบียบของกฎบัตรอาเซียนได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในเดือนธันวาคม ปี 2551
ประชาคมอาเซียนจะประกอบด้วยสามประชาคมย่อย หรือ"สามเสา"คือ
- ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน
- ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ
- ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
ในบรรดาสามเสานี้ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เป็นเสาที่ปรารถนาที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาค โดยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันทันสมัยร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สนับสนุนการใช้ทรัพยากรในภูมิภาคอย่างยั่งยืน จัดหาการศึกษาที่ดีที่สุดเท่าที่รัฐจะหาได้ และพยายามทุกวิถีทางที่จะสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของประเทศสมาชิก ตลอดจนส่งเสริมความตระหนักในมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน และพยายามทำให้อัตลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของภูมิภาคมีความโดดเด่นและเข้มแข็ง เพื่อตอบรับกับกระแสโลกาภิวัฒน์ และเพื่อสะท้อนปรัชญาที่ว่าประชาสังคมหรือประชาชนแท้จริงเป็นหัวใจของอาเซียน
พิมพ์เขียวประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
(ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint)
เอกสารพิมพ์เขียวประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ประกอบด้วยแนวคิดหลัก ดังนี้
1. การพัฒนามนุษย์
2. สวัสดิการและการพิทักษ์ทางสังคม
3. สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม
4. ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม
5. การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
6. การลดช่องว่างในการพัฒนา (ระหว่างสมาชิกดั้งเดิมและสมาชิกใหม่
อาเซียน)
ดังนั้น ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงมีพื้นที่ความรับผิดชอบที่กว้างใหญ่ไพศาล เพราะต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมในเกือบทุกมิติ ดังจะเห็นว่า ประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียนมีบทบาทและหน้าที่ดูแลความก้าวหน้าในภารกิจที่หลากหลาย ซึ่งประกอบด้วย งานสาธารณสุข งานการศึกษา งานวัฒนธรรม งานแรงงาน งานสวัสดิการสังคม งานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี งานสิ่งแวดล้อม และงานป้องกันภัยพิบัติ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจะทำให้การบรรลุวิสัยทัศน์อาเซียน (ASEAN Vision) สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าที่แท้จริงคงเป็นเรื่องของรัฐบาลในแต่ละประเทศสมาชิกที่จะต้องพัฒนาประเทศ และพยายามทุกวิถีทางที่จะจัดการกับปัญหาสังคมในประเทศของตน อาเซียนจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำและเชื่อมต่อการพัฒนาของประเทศดังกล่าวกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งรับความร่วมมือจากประเทศหรือองค์กรที่มีความชำนาญพิเศษภายนอกประชาคมอาเซียน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ อาเซียนทำให้ประชาชนชาวไทยสามารถเติบโตและเชื่อมต่อกับประชาคม และสามารถขยายเส้นขอบฟ้าทางความคิดของตนได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบโดยผ่านกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค
ความร่วมมือทางวัฒนธรรม
(นามธรรมสู่รูปธรรม)
โดยเฉพาะความร่วมมือทางวัฒนธรรม ที่ผู้คนมักคิดว่าเป็นเรื่องนามธรรม แท้จริงแล้วมีความสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะเกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้สึกร่วมกันของประชากรประมาณ 600 ล้านคนในภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ในระยะหลายปีที่ผ่านมา อาเซียนจึงทุ่มเทความพยายามในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม
เช่น การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะและดนตรีโดยเน้นให้ประชาสังคม โดยเฉพาะเยาวชนอาเซียนซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดของภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วม
นอกจากนี้อาเซียนยังมีความพยายามในการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ร่วมกันของภูมิภาค เช่น
การสร้างเพลงประจำอาเซียน และรวมถึงการดำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของภูมิภาค หรือการทำให้อัตลักษณ์เก่าที่มีอยู่ร่วมกันในภูมิภาคให้มีลักษณะโดดเด่นขึ้น
เช่น มหาภารตะและรามายณะ (รามเกียรติ์) ซึ่งเป็นมหากาพย์ที่สามารถพบได้ในทุกประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่ทว่า ทั้งสองสิ่งนั้นล้วนเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมและศาสนาที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้นำเข้าจากนอกภูมิภาคทั้งสิ้น
ความยากลำบากของเสาสังคมวัฒนธรรมนี้อีกประการหนึ่ง คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนตระหนักว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม และทำอย่างไรให้ประชาชนทราบว่าอาเซียนมีความปรารถนาที่จะให้ประชาชนในทุกระดับมีการแลกเปลี่ยนและสื่อสารทางวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนในประเทศสมาชิกทั้งในด้านวัตถุและภูมิปัญญาทางสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องเร่งกระบวนการของการบูรณาการประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน คือ เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ให้เข้ามาสู่กระแสหลักของการพัฒนาของอาเซียน โดยพยายามส่งเสริมโครงการเพื่อยกระดับของการพัฒนาให้ไกล้เคียงกับประเทศสมาชิกดั่งเดิมของอาเซียน
อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับความจริงที่ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก เนื่องจากเป็นแหล่งผ่านของอารยธรรมโบราณ ทั้งจากจีน อินเดีย อาหรับ และตะวันตก และยังได้รับความเชื่อและคติทางศาสนาที่สำคัญของโลก เช่น พุทธ ฮินดู คริสต์ อิสลาม เป็นต้น และยังมีประสบการณ์และความทรงจำที่หลากหลายจากยุคแห่งการล่าอาณานิคม แต่ความหลากหลายนี้มิควรถูกมองว่าเป็นอุปสรรคในการร่วมมือ แต่ควรมองความหลากหลายว่าเป็นคุณลักษณะพิเศษที่จะผลักดันให้ภูมิภาคนี้มีความมั่งคั่งในทางภูมิปัญญา ดังในคำขวัญของสหประชาชาติที่ต้องการให้มนุษยชาติเฉลิมฉลองและภาคภูมิใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของตนเอง เพราะเราเชื่อว่า สังคมหรือประชาคมที่มีความหลากหลายมักเป็นประชาคมที่มีพลวัตรและสามารถผลักดันนวัตกรรมทางความคิดได้อย่างเต็มที่ อาเซียนจึงเป็นตัวแบบของความพยายามที่จะสร้างความร่วมมือจากความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม
ประเทศไทยจะใช้โอกาสของการเป็นประธานอาเซียนในครั้งนี้ สร้างสรรอัตลักษณ์ร่วมกันทางวัฒนธรรม โดยการจัดการประกวดเพลงประจำอาเซียน ซึ่งจะใช้บรรเลงในวาระสำคัญต่างๆ ของอาเซียน ความพยายามนี้น่าจะมีส่วนสำคัญให้ประชาชนประมาณ 600 ล้านคนในภูมิภาคเกิดความรู้สึกผูกพันกับอาเซียนมากยิ่งขึ้น และแน่นอนในอนาคต อาเซียนจึงยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่ตนจะต้องสร้างความรู้สึกหรือความตระหนักร่วมกันในอัตลักษณ์ที่ประเทศต่างๆจะต้องร่วมใจกันสร้างสรรต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ความร่วมมือในด้านสาธารณสุขอาเซียน
ความร่วมมือในด้านสาธารณสุขเป็นอีกเรื่องที่ประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างมากจากอาเซียน
ดังเห็นว่าประเทศไทยคงมิสามารถจัดการกับการระบาดของโรคติดต่อฉับพลันที่อาจเกิดขึ้นได้ในประเทศโดยเพียงลำพัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากโรคระบาดดังกล่าวมีเชื้อไวรัส หรือบัคทีเรีย ที่มีอานุภาพที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
เช่น ไวรัสหวัด ไข้หวัดนก โรคซาร์ส เป็นต้น ประสบการณ์จากอดีตได้ชี้ชัดว่า เชื้อโรคเหล่านี้สามารถเดินทางไปทุกแห่งในโลกอย่างรวดเร็วและสามารถฆ่าชีวิตมนุษย์มาแล้วอย่างมากมาย
และยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ดังนั้น อาเซียนจึงเป็นเวทีและกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ทุกประเทศสมาชิกสามารถร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ
ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยอาศัยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุขระหว่างประเทศ
เพื่อให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในการหาวิธีจัดการในกรณีที่เกิดการระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว
นอกจากโรคระบาดติดต่อฉับพลันแล้ว โรคที่ไม่ติดต่อได้ง่าย แต่ทว่ามีผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เช่น โรคเอดส์ ยังเป็นประเด็นที่ประชาคมอาเซียนได้ให้ความสนใจเสมอมา
ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในความร่วมมือกับอาเซียนในด้านสาธารณสุข
อาเซียนเชื่อว่าสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และหากประชาชนในภูมิภาคมีสุขภาพไม่สมบูรณ์
จะส่งผลต่อการพัฒนาของประชาคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
ความร่วมมือในด้านการพัฒนาและสวัสดิการสังคมอาเซียน
ความร่วมมือในด้านการพัฒนาและสวัสดิการสังคมอาเซียน เป็นอีกเวทีหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมของไทย
เพราะอาเซียนมีเจตนารมณ์ในการสร้างสรรสังคมที่ดีงามในภูมิภาค ดังเห็นว่าในปี
2550 ที่ผ่านมา อาเซียนได้ออก"ปฏิณญาเซบู"ว่าด้วยประชาคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน
โดยมีวัตถุประสงค์หลักให้ภูมิภาคนี้มีความเอื้ออาทรและการแบ่งปัน โดยเฉพาะกับคนพิการ
เด็กและสตรี และในปีที่ผ่านมา อาเซียนได้เรียกร้องให้ทุกประเทศสมาชิกนำคนพิการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลักในการพัฒนาประเทศ
ในหลายเวที ประเทศไทยได้เรียนรู้นโยบายและหลักปฏิบัติที่ดีจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
และในทางกลับกัน ประเทศต่างๆ ได้ทราบถึงความสำเร็จในการบริหารจัดการระบบสวัสดิการสังคมจากประเทศไทย
ความร่วมมือทางการศึกษาของอาเซียน
การศึกษาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์และการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจ
ประเทศไทยได้รับทั้งประโยชน์และเกียรติจากอาเซียน กล่าวคือ ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากองค์การรัฐมนตรีการศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หรือ ซีมีโอ (*) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทยและมีภารกิจในการส่งเสริมความร่วมมือในด้านการฝึกอบรมและการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาในภูมิภาค
อาเซียนมีปรัชญาส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสร้างองค์ความรู้และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำรงชีวิตให้กับประชาชนในอาเซียน
ซึ่งรวมทั้งคนไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน
ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสมาชิกอาเซียน
21 แห่ง โดยเน้นความร่วมมือทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ทุนการศึกษา การพัฒนาหลักสูตรและการวิจัยร่วมกัน
(*) องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Southeast Asian Ministers of Education Organization) หรือเรียกโดยย่อว่า ซีมีโอ
(SEAMEO) เป็นองค์การระหว่าง ประเทศส่วนภูมิภาค ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ และได้มีการ
ลงนามในกฎบัตร วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยรัฐมนตรีศึกษาของประเทศอินโดนีเซีย
ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และสาธารณรัฐเวียดนาม (ใต้) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
สาธารณรัฐเขมรเข้าเป็นสมาชิกในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ และปี พ.ศ. ๒๕๔๙ สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต
เข้าเป็นสมาชิกล่าสุด
http://www.seameo.org/vl/library/whatis/i16seameo/index.htm
ความร่วมมือในด้านแรงงานของอาเซียน
แรงงานเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทุกประเทศสมาชิก อาเซียนจึงได้พยายามผลักดันให้ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญในด้านแรงงาน
โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถในด้านแรงงานอย่างเต็มที่ ความร่วมมือในด้านแรงงานของอาเซียนมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะและยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานของอาเซียน
ให้สามารถแข่งขันได้และเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ
อาเซียนได้ขอให้รัฐบาลของทุกประเทศสมาชิกพัฒนาปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และความปลอดภัยในการทำงานของผู้ใช้แรงงาน โดยเห็นว่ารัฐจะต้องส่งเสริมสวัสดิการและให้ความคุ้มครองที่เป็นธรรมแก่คนงาน ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาแรงงานที่ตนประสบ นอกจากนั้น อาเซียนยังมีกรอบนโยบายระดับภูมิภาคที่ชัดเจนระหว่างประเทศสมาชิกในการร่วมมือด้านแรงงานกับประเทศสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาค และกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้มีการรับรองสิทธิแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องเพื่อเป็นมาตรการรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในอนาคต
ความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม
อีกก้าวหนึ่งของอาเซียน
ความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกก้าวของความสำเร็จของภูมิภาค ทั้งนี้เพราะอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
เช่น กรณีหมอกควันอันเกิดจากไฟป่าในเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซีย ซึ่งลอยมาปกคลุมพื้นที่ทางอากาศของประเทศมาเลเซีย
สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และภาคใต้ของไทย อันส่งผลให้ประชาชนเกิดปัญหาทางสุขภาพ
ในหลายกรณีได้นำไปสู่โรคทางเดินหายใจ และยังมีผลกระทบต่อการคมนาคมทางอากาศ
ปัญหาโลกร้อน ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีพของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นปัญหาที่อาเซียนให้ความสำคัญเช่นกัน
การที่อาเซียนพยายามรวมตัวกันจัดตั้งระบบเตือนภัยเพื่อตรวจสภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม
ล้วนแต่มีคุณประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประเทศสมาชิก การแลกเปลี่ยนความรู้และผู้เชียวชาญในสาขาต่างๆ
เพื่อประเมินสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลกยังมีความสำคัญสำหรับหลายประเทศที่ยังขาดแคลนความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ในด้านนี้
อาเซียนกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นมิติที่เริ่มทวีความสำคัญ และสามารถต่อยอดความร่วมมือทางด้านการศึกษา
เนื่องจากการศึกษาและเทคโนโลยีถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับคุณภาพชีวิตสมัยใหม่
อาเซียนได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันส่งเสริมการวิจัยในสาขาที่สำคัญ
เพื่อนำความรู้ไปใช้ในทางพาณิชย์และอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
และขอให้รัฐบาลในแต่ละประเทศสมาชิกเร่งเผยแพร่การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประยุกต์
เพื่อที่ประชาชนในระดับรากหญ้าสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง
อาเซียนกันความร่วมมือทางด้านการปกป้องภัยพิบัติ
ภัยพิบัติดูจะเป็นคำที่คุ้นหูคนไทยในยุคนี้กันพอสมควร เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนต่างประสบกับสถานการณ์ด้านภัยพิบัติจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน
เช่น เหตุการณ์สึนามิในปี 2547 เหตุการณ์แผ่นดินไหวในอินโดนีเซีย หรือแม้แต่เหตุการณ์จากพายุไซโคลนนาร์กิสในพม่า
ปัจจุบัน ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นและความสูญเสียที่ตามมาในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่ามหาศาล
ดังนั้น รัฐบาลของประเทศสมาชิกจึงเห็นประโยชน์ในความร่วมมือทางด้านการปกป้องภัยพิบัติ
โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติให้เหลือน้อยที่สุด
ที่เห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ การรวมตัวเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่มีชื่อเรียกว่าคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการป้องกันภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management หรือ ACDM) ทำหน้าที่ดูแลปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติในเขตภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบัน ACDM จัดประชุมไปแล้ว 12 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 51 และการประชุมระดับรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์.2552 โดยมีบรูไนเป็นเจ้าภาพ
นอกจากนี้ อาเซียนยังมีกรอบความร่วมมือว่าด้วยการจัดการป้องกันภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
(ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือร่วมกันในกรอบอาเซียน
ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้อาเซียนสามารถจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
หรือเรียกสั้นๆ ว่า อาฮาเซนเตอร์ (AHA Centre) ตั้งอยู่ ณ ประเทศอินโดนีเซียขึ้นมาได้
นอกจากนี้ อาเซียนได้เตรียมความพร้อมอย่างสม่ำเสมอ และไม่ดำรงอยู่ในความประมาทจึงได้จัดแผนฝึกซ้อมป้องกันภัยพิบัติฉุกเฉินระดับภูมิภาคอาเซียนประจำปี
(ARDEX) โดยในเดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา อาเซียนได้ร่วมกับประเทศไทยในการจัดการฝึกซ้อมเพื่อปกป้องภัยพิบัติฉุกเฉินที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง
ความร่วมมือกับประเทศนอกลุ่มอาเซียน
น่าสังเกตว่า การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความน่าสนใจและอำนาจการต่อรองนั้นเป็นกระแสที่สำคัญของโลก
ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่สามารถเมินเฉยต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้
นอกเหนือจากสหภาพยุโรป อาเซียนยังได้มองไปทางกลุ่มความร่วมมือในที่อื่นๆ ของโลก
เช่น ลาติอเมริกา อเมริกาเหนือ และแอฟริกา และเห็นว่าอาเซียนต้องปรับตัวเองอย่างต่อเนื่อง
เพื่อหาประโยชน์จากกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลก อาเซียนจึงไม่เพียงจำกัดความร่วมมืออยู่ในกลุ่มตนเองเท่านั้น
แต่ยังมองออกไปนอกกลุ่ม ดังเห็นจากอาเซียนในทศวรรษที่ผ่านมา ได้เริ่มเกี่ยวข้องกับประเทศผู้นำเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก
คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี (Asian Plus Three) โดยผ่านกรอบความร่วมมือ เนื่องจากอาเซียนพิจารณาแล้วเห็นว่า
การร่วมมือกับกลุ่มประเทศอิทธิพลเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก จะเพิ่มอำนาจในการต่อรองของตนในเวทีโลกมากขึ้น
ในสภาวะการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระบบการเงินและเศรษฐกิจโลก
อาเซียนเริ่มมีทวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะโลกตะวันตกและลาตินอเมริกามองว่า
เอเชียน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเงินที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะความร่วมมือกับบรรดาชาติตะวันตกในการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินของโลก
เพราะเอเชียเป็นแหล่งเงินทุนสำรองที่สำคัญ
นักวิชาการบางคนมองว่า แกนอำนาจของโลกกำลังจะเคลื่อนกลับมาสู่อาณาจักรโบราณในเอเชีย
คือ จีน และอินเดีย ซึ่งครั้งหนึ่งได้เป็นผู้ให้กำเนิดระบบตัวเลขและปรัชญาที่สำคัญของโลก
อาเซียนเองก็จับตากระแสที่กำลังเกิดขึ้นในโลกเช่นกัน ทั้งนี้เพราะทั่วโลกรู้ดีว่า
เอเชียมีเงินทุนสำรองที่มากมายมหาศาล แต่ยังขาดระบบการจัดการอันเนื่องมาจากการหวาดระแวงกันเอง
และเอเชียยังถือว่าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของโลก คือ เอเชียเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญ
เนื่องจากการย้ายทุนและฐานการผลิตจากประเทศอุตสาหกรรมมาสู่จีนและกลุ่มประเทศอาเซียน
เหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับความมุ่งมั่นของจีนในการสำรวจอวกาศ และการประกาศของผู้นำจีนที่กรุงปักกิ่งในความพยายามที่จะร่วมกับญี่ปุ่น เกาหลี และอาเซียนในการสร้างกองทุนเอเชีย ซึ่งมีมูลค่า 80 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ไทยเสนอให้จัดตั้งกองทุน ซึ่งมีมูลค่า 350 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน) เพื่อบรรเทาสถานการณ์การเงินที่กำลังเกิดขึ้นในเอเชียอันเป็นผลมาจากภาวะความปั่นป่วนทางการเงินของโลก ซึ่งมีต้นกำเนิดจากปัญหาวิกฤตในด้านสินเชื่อของภาคอสังหาริมทรัพย์และในระบบตราสารหนี้ของสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งลุกลามไปทั่วโลก
สรุป
ทั้งหมดเราสามารถเห็นได้ว่า อาเซียนเป็นความร่วมมือของประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลายมิติ
โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาและช่วยเหลือตนเองและยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าในบางครั้ง อาเซียนอาจถูกโจมตีจากตะวันตกว่าเป็นกลุ่มประเทศที่ต้องการปกป้องตัวเองจากการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่อง
สิทธิมนุษยชน และพัฒนากลไกในการจัดการตนเองไปอย่างเชื่องช้าก็ตาม...
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv@hotmail.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com