1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
นอกจากนี้"ภูมิภาคนิยม"และ"ภูมิภาคานุวัติ"ยังมีความแตกต่างกันอีกประการหนึ่ง คือ "ภูมิภาคนิยม"นั้นเป็นกระบวนการที่รัฐนำกระบวนการจาก "บนสู่ล่าง"(top-down) ในขณะที่"ภูมิภาคานุวัติ"เป็นกระ บวนการที่เกิดจาก "ล่างสู่บน" (bottom-up) กล่าวคือ ในกระบวนการของ"ภูมิภาคนิยม"หรือจากบนลงล่างนั้น เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นแบบเป็นทางการหรืออาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการนำของรัฐ มีกระ บวนการเรื่องตัวแทนของรัฐเข้าไปเกี่ยว(participants) ในขณะที่กระบวนการของ"ภูมิภาคนุวัติ"เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นผ่านกลไกของตลาด การเคลื่อนย้ายของการลงทุน และการตัดสินใจของธุรกิจ ซึ่งเห็นได้ว่ามิได้เกิดจากการนำของภาครัฐ บทความนี้จึงมุ่งศึกษาภูมิภาคานุวัติเป็นสำคัญ ...(คำชี้แจงเกี่ยวกับวัตถุประสงค์บทความ)...
15-07-2552
(1743)
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ:
เมื่อทุนญี่ปุ่นเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทุนญี่ปุ่นกับระเบียงเศรษฐกิจ:
ภูมิภาคานุวัติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นรุตม์ เจริญศรี: เขียน
นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตของตนเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สาระสำคัญของบทความชิ้นนี้พยายามจะชี้ให้เห็นว่า อะไรคือสาเหตุที่เพิ่มแรงกกดันดังกล่าว
และเหตุใดโครงการระเบียงเศรษฐกิจโดยทุนญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้น ผู้อ่านจะได้พบคำตอบต่อปัญหา
เหล่านี้โดยครบถ้วน ตลอดรวมถึงผลกระทบที่มีต่อโครงการดังกล่าวในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ทุนญี่ปุ่นกับระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้
- โครงการระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor)
- แนวคิดเกี่ยวกับภูมิภาคานุวัติ
- ระเบียงเศรษฐกิจ: แรงผลักดันและเป้าหมาย
- สงครามเกาหลี ทำให้ญี่ปุ่นฟื้นฟูเศรษฐกิจของตน
- วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นได้ดุลมากกว่าสหรัฐอเมริกา
- ข้อตกลงพลาซา: สาเหตุญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต
- แผนยุทธศาสตร์การค้า การลงทุน การผลิต ในพื้นที่สามผืน
- ระเบียงเศรษฐกิจกับภูมิภาคานุวัติ
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด
"ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจร่วมสมัย")
สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๔๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ:
เมื่อทุนญี่ปุ่นเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทุนญี่ปุ่นกับระเบียงเศรษฐกิจ:
ภูมิภาคานุวัติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นรุตม์ เจริญศรี: เขียน
นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
Japanese Capitalism and
Economic Corridor: Regionalization in South-East Asia
บทความนี้นำเสนอใน การจัดประชุมวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ ๔
จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, วันที่ ๑๓ พศจิกายน
๒๕๕๑
บทคัดย่อ
หนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่รอบแม่น้ำโขงของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ซึ่งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้เสนอให้เกิดขึ้นนั้น
คือ "โครงการระเบียงเศรษฐกิจ" โดยมีวัตถุประสงค์ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ระหว่างประเทศให้เกิดการขนส่งเพื่อความสะดวกสบายเท่านั้น
หากยังมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรตามพื้นที่ที่ถนนได้พาดผ่าน โครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขงได้รับการสนับสนุนหลักจากญี่ปุ่น
คำถามที่เกิดขึ้น คือญี่ปุ่นมีเป้าหมายอย่างไรในการให้ความช่วยเหลือโครงการดังกล่าว
โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดผลดีต่อญี่ปุ่นอย่างไร อีกทั้งส่งผลดีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร?
ข้อเสนอของบทความนี้คือ ทุนญี่ปุ่นที่ก่อให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจนั้น ส่งผลดีต่อญี่ปุ่นในฐานะที่ญี่ปุ่นได้ความสะดวกในพื้นที่ทั้งความสะดวกเชิงโครงสร้างและกายภาพ อันได้แก่ถนนหนทางในการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลดีในแง่ที่ ถนนกลายเป็นปัจจัยการเชื่อมโยงในภูมิภาค ก่อให้เกิดการรวมเป็นภูมิภาค หรือ "ภูมิภาคานุวัติ"
คำสำคัญ: ทุนญี่ปุ่น, ภูมิภาคานุวัติ, ระเบียงเศรษฐกิจ
Abstract
Economic Corridor is a development program initiated by the Asian Development
Bank (ADB) to further cooperation within the Greater Mekong Subregion (GMS)
framework. It aims at facilitating cross-borders transports to promote interconnectivity
among the countries in the area as well as to alleviate the quality of life
for the peoples who live nearby. The GMS program is mainly funded by the Japanese
Government. This, however, led some to question about the role and benefits
of Japan and the program's impacts in South-East Asia. The article is to examine
the Japanese (investment's) benefits both from the development of structural
and physical facilities in the area. It also touches upon the process of regionalization
in South-East Asia fueled by the outcomes of such development scheme.
Keywords: Japanese Capitalism, Regionalization, Economic Corridors
โครงการระเบียงเศรษฐกิจ
(Economic Corridor)
โครงการระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) เป็นหนึ่งในโครงการที่ญี่ปุ่นให้งบประมาณสนับสนุนจำนวนมหาศาล
โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนภาคพื้นทวีป
(1) ให้เป็นระบบเดียวกันและมีความสะดวก โครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณสนับสนุนมหาศาลจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย
(Asian Development Bank - ADB) เพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าว โดยโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก
เป็นโครงการระเบียงเศรษฐกิจที่มีความคืบหน้าทางการก่อสร้างมากที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ของจีนตอนใต้
พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา
(1) ตลอดบทความนี้จะใช้คำว่า "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" อย่างไรก็ดี คำว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในบทความนี้มิได้กินความครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิบประเทศอันเป็นสมาชิกของอาเซียน หากหมายถึงประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตั้งอยู่บนภาคพื้นทวีปรวมไปถึงบริเวณตอนใต้ของประเทศจีนเท่านั้น
การก่อสร้างถนนเพื่อเชื่อมระบบขนส่งภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพิจารณาว่าเป็นกระบวนการการเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ กล่าวคือ ผลของการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางกายภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หรือการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของประเทศที่ถนนพาดผ่านนั้นส่งผลให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน ผลของโครงการระเบียงเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนหลักโดยให้ความช่วยเหลือผ่าน ADB นั้น จึงแสดงให้เห็นบทบาททุนของญี่ปุ่นที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข้อเสนอของบทความนี้คือ "ทุนญี่ปุ่น" ก่อให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลดีต่อญี่ปุ่นในฐานะที่ญี่ปุ่นได้ความสะดวกในพื้นที่ ทั้งความสะดวกเชิงโครงสร้างและกายภาพ อันได้แก่ ถนนหนทางในการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลดีในแง่ที่ ถนนกลายเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงภูมิภาค ก่อให้เกิดการรวมเป็นภูมิภาค หรือ "ภูมิภาคานุวัติ" (Regionalization) (2)
(2) แม้พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะบัญญัติคำว่า "Regionalism" เป็นภาษาไทยว่า "ภูมิภาคนิยม" และถูกใช้อย่างแพร่หลายในสังคมไทยแล้ว กระนั้น คำว่า "Regionalization" ยังไม่มีการสร้างบรรทัดฐานเป็นที่ร่วมกันในการใช้คำภาษาไทยว่า "การทำให้เป็นภูมิภาค" หรือ "แนวคิดเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม" บทความนี้ถอดคำว่า "Regionalization" เป็นภาษาไทยว่า "ภูมิภาคานุวัติ" โดยเป็นสนธิคำระหว่าง "ภูมิภาค" และ "อนุวัติ" โดยผู้คิดคำภาษาไทยคำนี้ คือ ดร.ขจิต จิตตเสวี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อย่างไรก็ดี บทความนี้มิได้กล่าวถึงมิติของการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงโครงสร้างและทางกายภาพในแง่ลบ อันเป็นผลจากเป้าหมายของญี่ปุ่นในประเด็นดังกล่าว หากมุ่งศึกษาว่าบทบาทการดำเนินนโยบายของญี่ปุ่นได้ส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการภูมิภาคานุวัติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งมิได้ศึกษาบทบาทของ ญี่ปุ่นในส่วนที่ผลักดันในกรอบโครงการลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion -GMS) ผ่าน ADB. โดยการนำเสนอแบ่งออกเป็นสามส่วนสำคัญ ประกอบด้วย
(1) นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับภูมิภาคานุวัติ
(2) นำเสนอเกี่ยวกับที่มาของโครงการระเบียงเศรษฐกิจ
(3) แสดงถึงผลประโยชน์ต่อญี่ปุ่นและภูมิภาคานุวัติ อันเกิดจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจ และส่วนสุดท้ายเป็นส่วนสรุป
แนวคิดเกี่ยวกับภูมิภาคานุวัติ
"ภูมิภาคานุวัติ"เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่อง"ภูมิภาคนิยม"(Regionalism)
แนวคิดทั้งสองเป็นเรื่องที่ว่าด้วยการรวมภูมิภาคเป็นหนึ่งเดียว อย่างไรก็ดี ความแตกต่างระหว่างสองแนวคิดดังกล่าวมีรายละเอียดดังต่อไปนี้คือ
- "ภูมิภาคนิยม" เป็นแนวคิดที่อธิบาย "นโยบายหรือยุทธศาสตร์" ที่รัฐและตัวแสดงอื่นที่มิใช่รัฐร่วมมือกันในภูมิภาค ในขณะที่
- "ภูมิภาคานุวัติ" เป็นแนวคิดที่อธิบาย "กระบวนการหรือกิจกรรม" ที่เชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือที่ขาดไปในภูมิภาคให้เกิดขึ้นมา
(Fawcett, 2005; Schulz, Soderbaum, & Ojendal, 2001)
กระนั้นในบทความนี้ได้เลือกแนวคิดเรื่องภูมิภาคานุวัติเท่านั้นมาศึกษา ด้วยเหตุที่ว่าระเบียงเศรษฐกิจเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่า ผลของการก่อสร้างนั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่เชิงโครงสร้างเท่านั้น หากยังส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพเช่นเดียวกัน แม้ว่าผลของการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่บวกและแง่ลบก็ตาม
นอกจากนี้"ภูมิภาคนิยม"และ"ภูมิภาคานุวัติ"ยังมีความแตกต่างกันอีกประการหนึ่ง คือ "ภูมิภาคนิยม"นั้นเป็นกระบวนการที่รัฐนำกระบวนการจาก "บนสู่ล่าง" (top-down) ในขณะที่"ภูมิภาคานุวัติ"เป็นกระบวนการที่เกิดจาก "ล่างสู่บน" (bottom-up) กล่าวคือ ในกระบวนการของ"ภูมิภาคนิยม"หรือจากบนลงล่างนั้น เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นแบบเป็นทางการหรืออาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการนำของรัฐ มีกระบวนการเรื่องตัวแทนของรัฐเข้าไปเกี่ยว(participants) ในขณะที่กระบวนการของ"ภูมิภาคนุวัติ"เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นผ่านกลไกของตลาด การเคลื่อนย้ายของการลงทุน และการตัดสินใจของธุรกิจ ซึ่งเห็นได้ว่ามิได้เกิดจากการนำของภาครัฐ (Pempel, 2005: 19-21)
บทความนี้จึงมุ่งศึกษาภูมิภาคานุวัติเป็นสำคัญ เนื่องจากเชื่อว่ากระบวนการภูมิภาคนิยมอันเกิดจากการนำของภาครัฐซึ่งต้องใช้สถาบันหรือความร่วมมืออย่างเป็นทางการนั้นอาจจะมิก่อให้เกิดกระบวนการเชื่อมโยงภูมิภาค ด้วยเหตุผลเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐที่ยังมีการหวงแหนและมิอาจปล่อยให้เกิดความหละหลวมได้. แต่ในทางกลับกัน กระบวนการภูมิภาคานุวัติอันเกิดจากบริษัท เครือข่ายการผลิตซึ่งเป็นภาคเอกชนนั้น มีความน่าจะเป็น ที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า เพราะมิได้มีการแตะต้องอำนาจอธิปไตยที่รัฐแสวงหาและหวงแหน หากแต่เปิดช่องโอกาสทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจอันเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐที่พึงแสวงหา
การกล่าวถึงภูมิภาคานุวัติ ในลักษณะของกระบวนการจากล่างสู่บนที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้ จะกล่าวถึง "ทุนญี่ปุ่น" (Japanese Capitalism) ในลักษณะที่มองว่า "ทุนนิยม" ของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นนั้น ก่อตัวอย่างเป็นรูปเป็นร่างในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งญี่ปุ่นต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของสหรัฐอเมริกาในฐานะของประเทศผู้แพ้สงคราม อย่างไรก็ดี ในระหว่างสงครามเย็นญี่ปุ่นได้พัฒนาระบบเศรษฐกิจของตนเองกระทั่งกลับมามีความสามารถทางเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองได้อีกครั้ง และกลายเป็นประเทศทุนนิยมที่สหรัฐอเมริกามอบหมายให้ญี่ปุ่นเป็นตัวแทนของทุนนิยมในเอเชีย ความเจริญเติบโตของญี่ปุ่นส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อให้การย้ายฐานการผลิตนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นต่อระบบการทำงานของเครือข่ายการผลิตของญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นต้องเข้ามามีบทบาทในการเสนอแนวทางการพัฒนาต่อประเทศต่างๆ ผ่านดำริของญี่ปุ่นเอง หรือผ่านองค์การระหว่างประเทศที่ญี่ปุ่นเป็นสมาชิกและมีอำนาจอยู่ในองค์การนั้นๆ
ระเบียงเศรษฐกิจ: แรงผลักดันและเป้าหมาย
ภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ก่อให้เกิดรัฐสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ระบบความสัมพันธ์รูปแบบเก่าที่แต่เดิมเป็นระหว่างดินแดนต่อดินแดน รัฐต่อดินแดน
รัฐต่อรัฐ และรัฐต่อรัฐอาณานิคมได้เปลี่ยนไป กลายเป็นความสัมพันธ์เต็มรูปแบบที่รัฐกลายเป็นตัวแสดงหลักและมีอำนาจสูงสุด.
ญี่ปุ่นแปรสภาพจากประเทศที่มีความสามารถทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชียสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
เป็นประเทศผู้แพ้สงครามที่มีหนี้สินทางสงคราม และประสบกับปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ
และการเมืองที่ย่อยยับ
สงครามเกาหลี ทำให้ญี่ปุ่นฟื้นฟูเศรษฐกิจของตน
สหรัฐอเมริกาเข้าควบคุมญี่ปุ่นโดยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ของญี่ปุ่นประกาศยกเลิกสิทธิการใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการจัดการกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ
รวมทั้งจะไม่มีกองกำลังใดๆ ในประเทศ (ศิริพร, 2547: 118) ส่งผลให้ญี่ปุ่นหันเหการพัฒนาและทุ่มทรัพยากรที่มีไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ.
ในช่วงระยะเวลาสงครามเย็นที่ญี่ปุ่นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเองนั้น ได้มีเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ช่วยสนับสนุนให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองได้มากขึ้น
คือ สงครามเกาหลี (Korean War 1950-1953) กล่าวคือ ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาต้องเข้าไปทำสงครามในเกาหลี
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสั่งซื้อสินค้ายุทโธปกรณ์จากญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนการทำสงคราม
อาทิ เครื่องนุ่งห่ม ผ้าฝ้าย ผ้าห่ม รถบรรทุก รถไฟ รถขนระเบิด รถบรรทุกน้ำมันเครื่องบิน
เหล็ก เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการจัดระบบใหม่ของทุนนิยมของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
สหรัฐอเมริกาจึงมีผลทางตรงต่อระบบของญี่ปุ่นทั้งมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของญี่ปุ่น
ส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวระบบเศรษฐกิจของตนเองได้ด้วยความรวดเร็ว (สุวินัย,
2523: 26)
ในระยะเวลาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นสามารถส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้เป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่งผลให้ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าจากสหรัฐอเมริกา. โดยทั่วไป การพัฒนาระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงดังกล่าว ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีความสามารถในการผลิตสูงขึ้นอย่างเป็นลำดับ และสามารถทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศปลายทางที่ญี่ปุ่นส่งสินค้าออกไปได้มากเป็นอันดับที่หนึ่ง และมีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายของการส่งออกเป็นอันดับที่สอง ทั้งนี้เพราะในช่วง ค.ศ.1950-1954 ญี่ปุ่นได้ส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นอัตราส่วนมากที่สุด โดยมีเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองลงมา ซึ่งทั้งสองตลาดนี้รวมกันแล้ว จากปี ค.ศ.1950-1970 ได้มีอัตราส่วนในจำนวนสินค้าออกทั้งหมดประมาณร้อยละ 55-70 มาโดยตลอด (สุวินัย, 2523: 16)
วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นได้ดุลมากกว่าสหรัฐอเมริกา
เอซรา เอฟ โวเกล (Vogel, 1986: 752) วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นได้ดุลมากกว่าสหรัฐอเมริกาว่า
เป็นเพราะญี่ปุ่นได้ใช้นโยบายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
- "การปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่" ในเรื่องอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (New Industrial Revolution in Manufacturing Technology)
- "การมุ่งเน้นในภาคการบริการ" และ
- "การขยายตัวของการวิจัยและกิจกรรมเพื่อการพัฒนา"
อีกทั้ง ญี่ปุ่นได้กำหนดให้ค่าเงินของตนเองต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า สินค้าของญี่ปุ่นจึงเข้าตีตลาดในสหรัฐอเมริกาจนได้ดุลการค้าอย่างมาก การได้ดุลการค้ามากกว่าสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ญี่ปุ่นเกิดความบาดหมางกับสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้หลายประเทศเกรงว่าดุลการชำระเงินเกินดุลของญี่ปุ่น จะนำไปสู่ปัญหาด้านเสถียรภาพของระบบการเงินโลกซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่แล้ว (ผาสุก และ เบเคอร์, 2546: 189) สหรัฐอเมริกาเองมีมุมมองในเรื่องที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเจริญเติบโตอย่างมากในห้วงเวลาดังกล่าวว่า เป็นการที่ญี่ปุ่นกำลังเป็น "ผู้โดยสารที่ชอบตีตั๋วฟรี" (Free Rider) โดยแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าที่มีเสถียรภาพซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จ่ายเพื่อให้เกิดขึ้น ส่งผลให้ในการประชุมของ G-5 ณ กรุงเจนีวาในปี ค.ศ.1985 เกิด "ข้อตกลงพลาซา" (Plaza Accord) (*) โดยให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 89 (ผาสุก และ เบเคอร์, 2546: 189)
(*) The Plaza Accord or Plaza Agreement was an agreement between the governments of France, West Germany, Japan, the United States and the United Kingdom, agreeing to depreciate the US dollar in relation to the Japanese yen and German Deutsche Mark by intervening in currency markets. The five governments signed the accord on September 22, 1985 at the Plaza Hotel in New York City.
ข้อตกลงพลาซา: สาเหตุญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต
ข้อตกลงพลาซาได้ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีต้นทุนในการผลิตสินค้ามากขึ้น เพราะค่าเงินเยนมูลค่าสูงขึ้น
ญี่ปุ่นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องลดต้นทุนการผลิตของตนเอง โดยการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า
ได้แก่ ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ร่วมส่งเสริมการให้ย้ายฐานการผลิตโดยการให้กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปลงทุน
ณ ต่างประเทศ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศ เช่น เจโทร (JETRO) มีหน้าที่ช่วยเหลือธุรกิจเหล่านี้โดยตรง
เพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็นและช่วยเหลือด้านอื่นๆ ให้สามารถไปลงทุนได้โดยสะดวก
ดังที่ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีความจำเป็นที่จะต้องย้ายฐานการผลิต อันเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าเงินญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นอีกที่เป็นแรงขับเสริมให้ญี่ปุ่นมีความจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ในช่วงเวลาดังกล่าวสหรัฐอเมริกาได้ถอนบทบาทของตนเองไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะสงครามเวียดนาม (Vietnam War) ได้สิ้นสุดลงแล้ว ทำให้ญี่ปุ่นมีความกังวลว่าจะรักษาความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้อย่างไร เพื่อยังคงรักษาผลประโยชน์ไว้ ส่งผลให้ญี่ปุ่นทำการวิจัยเกี่ยวกับสถานภาพที่จะเปลี่ยนแปลง. ผลการวิจัยชื่อว่า "การมองหาความร่วมมือแบบใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" โดยมีประเด็นหลักที่ว่า "บทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้" อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นต้องเข้าไปมีบทบาทในการแบ่งเบาภาระของสหรัฐอเมริกา หรือเข้าไปทำหน้าที่แทนสหรัฐอเมริกาที่กำลังเริ่มถอนตัวออกจากภูมิภาคดังกล่าว แนวคิดข้างต้นนี้ของญี่ปุ่นได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความร่วมมือต่อภูมิภาค กล่าวคือ ได้เปลี่ยนไปจากที่เน้น "การพัฒนาที่พึ่งพาสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก" ไปเป็นภูมิภาคที่ "แบ่งหน้าที่กันตามสถานะทางเศรษฐกิจของตน" (Division of Labor) (โฮะโซะกาวา, 2545: 131-133)
กล่าวโดยสรุป คือ ปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ ได้แก่ เหตุการณ์สงครามเกาหลี, ข้อตกลงพลาซา, การถอนตัวของสหรัฐอเมริกาออกจากเวียดนาม, หรือปัจจัยภายในประเทศที่ญี่ปุ่นพัฒนาระบบเศรษฐกิจของตนเองให้ฟื้นตัวจากความล่มสลายเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้ญี่ปุ่นเกิดข้อบาดหมางกับสหรัฐอเมริกาในประเด็นทางเศรษฐกิจ และต้องย้ายฐานการผลิตมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วิธีการหนึ่งที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกในการย้ายฐานการผลิตของญี่ปุ่น คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและทางกายภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิต นั่นคือการให้ทุนผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB) เพื่อสนับสนุนการสร้างเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ อีกทั้งสร้างวาทกรรมการพัฒนาเพื่อให้รัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องปรับตัวเชิงโครงสร้างให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงและการเข้ามาทำงานของระบบทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะเครือข่ายการผลิตของญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (นรุตม์, 2550)
แผนยุทธศาสตร์การค้า การลงทุน
การผลิต ในพื้นที่สามผืน
แนวคิดเรื่องการย้ายฐานการผลิตมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ถูกอธิบายไว้โดย
รอบ สตีเวน (Steven, 1996) ที่เสนอว่า เป้าหมายของการย้ายฐานการผลิตนั้นเกิดขึ้นตามแนว
"โซนยุทธศาสตร์" (Zones Strategies) ที่ต้องการเชื่อมโยงการลงทุน ผลผลิต
การตลาด และการเงินเข้าไว้ด้วยกัน. สาเหตุที่ต้องมีการแบ่งโซนยุทธศาสตร์ก็เพื่อที่จะวางแผนยุทธศาสตร์การค้า
การลงทุน การผลิตในพื้นที่สามผืน อันประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเอเชียที่ให้เหมาะสม
เนื่องจากญี่ปุ่นพิจารณาแล้วว่าสามพื้นที่นี้ต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป
การแบ่งโซนออกเป็นสามโซนตามแนวตามแนวทางของญี่ปุ่นนั้นมองว่า
- สหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นแหล่งของเทคโนโลยีชั้นสูง
- ในขณะที่เอเชียเป็นพื้นที่ที่ครอบครองอำนาจการผลิตมากที่สุดในโลก และเป็นพื้นที่ที่สามารถขยายตลาดได้มากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน
แนวทางการศึกษาของสตีเวนชี้ให้เห็นว่า
ญี่ปุ่นได้ใช้แนวทางให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่รับเอาส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ไปเพื่อขายหรือผลิต
เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากร แรงงานราคาถูก หรือเป็นการแบ่งหน้าที่กันตามสถานะทางเศรษฐกิจของตนนั่นเอง
ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายของญี่ปุ่นในช่วง ค.ศ.1996 มองว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่ต้องเป็นฐานการผลิตและส่งออก
จากข้อเสนอของสตีเวนจะพบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ญี่ปุ่นริเริ่มให้มีการจัดทำโครงการระเบียงเศรษฐกิจผ่านการเสนอของ
ADB สู่รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย ADB ได้กำหนดแนวคิดในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง
โดยให้แนวคิดดังกล่าวมีเนื้อหาที่ระบุให้ลุ่มน้ำโขงกลายเป็น "เศรษฐกิจแบบตลาดภูมิภาค"
(Regional Market Economy) โดยได้ระบุไว้ใน Regional Workshop on Achieving Results
in Private Sector Development - A Strategic Process ว่า:
"โครงการ GMS เป็นกรณีตัวอย่างที่คลาสสิก ของการบูรณาการตลาด (market integration) ที่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากการบูรณาการเชิงสถาบัน (institutional integration) เพราะ
- การบูรณาการเชิงสถาบันถูกกำหนดโดยข้อตกลงทางกฎหมาย และข้อกำหนดเชิงสถาบันที่สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศสมาชิก
ในความตกลงพิเศษร่วมกัน- ในขณะที่การบูรณาการตลาดเป็นการใช้ความร่วมมือเชิงสถาบันที่ไม่เป็นทางการ และพยายามสร้างสินค้าสาธารณะสำหรับภูมิภาค (regional public goods) เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายที่หลายฝ่ายต้องจ่าย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ" (Oehlers, 2006: 468)
จากตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงบทบาทของอำนาจ "ทุนนิยม" ที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและกายภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลต่อการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีความร่วมมือกันมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
ระเบียงเศรษฐกิจกับภูมิภาคานุวัติ
ในสองส่วนแรกของบทความ ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดคิดเกี่ยวภูมิภาคานุวัติ และประวัติที่เกี่ยวข้องกับการย้ายฐานการผลิตมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันก่อให้เกิดการสร้างระเบียงเศรษฐกิจแล้ว
ในส่วนต่อมาจะแสดงความเชื่อมโยงให้เห็นถึงกระบวนการของระเบียงเศรษฐกิจ อันมีผลต่อภูมิภาคานุวัติอันเป็นประเด็นหลักของบทความ
ดังที่ได้เสนอไปในส่วนทฤษฎีว่าด้วยเรื่องภูมิภาคานุวัติ ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในลักษณะจากล่างสู่บน หรือเกิดจากกระบวนการการเชื่อมโยงของภาคธุรกิจระหว่างกัน ในทฤษฎีดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอของหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่แสดงให้เห็นว่า กระบวนการการย้ายฐานการผลิตมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อให้เกิดการผลักดันให้มีการสร้างระเบียงเศรษฐกิจนั้น ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงภูมิภาคไปสู่เศรษฐกิจแบบตลาดภูมิภาค กล่าวในอีกแง่คือ หากพิจารณาตามแนวคิดว่าด้วยเรื่องภูมิภาคานุวัติจะเห็นได้ว่า การสร้างเส้นระเบียงเศรษฐกิจก่อให้เกิดการเชื่อมโยงภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ผลของการสร้างระเบียงเศรษฐกิจก่อให้เกิดระบบการให้ความช่วยเหลือระหว่างญี่ปุ่นกับรัฐผู้รับความช่วยเหลือ ทั้งการให้ความช่วยเหลือทางการก่อสร้าง การให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการ GMS อันเป็นโครงการในความดูแลของ ADB ที่มุ่งพัฒนาระบบสังคมและเศรษฐกิจในมิติต่างๆ การเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ เอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจ เป็นต้น
บทบาทของทุนญี่ปุ่น (Japanese
Capitalism) ที่เข้ามามีส่วนในประเด็นนี้คือ ญี่ปุ่นในฐานะตัวแทนทุนนิยมในเอเชีย
ได้ให้ความช่วยเหลือผ่านทุน (funding) ผ่านองค์การระหว่างประเทศซึ่งญี่ปุ่นเป็นสมาชิก
หรือเป็นผู้ริเริ่มขึ้น เช่น ADB ที่ญี่ปุ่นเป็นสมาชิกหลัก อีกทั้งยังได้รับบทบาทเป็นประธานมาโดยตลอด
นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือผ่านองค์การอื่นๆ อีก เช่น JBIC (*) และ JODC (**)
เป็นต้น
(*) The Japan Bank for
International Cooperation , also known by its acronym, JBIC, is a Japanese
public financial institution created in October 1, 1999, through the merging
of the Export-Import Bank of Japan (JEXIM) and the Overseas Economic Cooperation
Fund, Japan (OECF). The bank is wholly owned by the Japanese government, and
its budget and operations are regulated by the JBIC law. It is headquartered
in Tokyo and operates in 18 countries with 21 offices.
The main purpose of the
institution is to promote economical cooperation between Japan and oversea
countries, by providing resources to foreign investments and by fostering
international commerce. It also has a major role in promoting Japanese exports
and imports, and the country's activities overseas.
The bank's presence can be seen both in developed and developing countries. It tries to contribute to the stability of the international financial order and to the promotion of sustainable development. It follows a policy of not competing with ordinary financial institutions. The bank is one of the instruments of Japan's official development assistance (ODA), which contributes to the execution of the country's foreign policy. As it aims at sustainable development, JBIC is concerned about social and environmental issues, [2] and requires Environmental Impact Assessment studies in order to provide funding to any project.
(**) Japan Overseas Development Corporation, or JODC, is a non-profit corporation subsidized by the Ministry of Economy, Trade and Industry (METI), having the purposes of contributing to the industrial development of mainly developing countries, and energizing of Japanese affiliated companies. For these purposes, we encourage the transfer of technology with support for the development of human resources by dispatching experts to Japanese affiliated companies and other appropriate companies or organizations in such countries.
ระบบทุนญี่ปุ่นที่ดำเนินการผ่านทุนดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของอำนาจทุนนิยมซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและทางกายภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างดี โดยการเปลี่ยนแปลงทั้งสองลักษณะนั้น ล้วนก่อให้เกิดผลดีต่อบริษัทของญี่ปุ่นเองในการเข้ามาแสวงหาวัตถุดิบ แรงงานราคาถูก และการตั้งบริษัทในพื้นที่ อีกทั้งเอื้ออำนวยความสะดวกในการขนย้ายปัจจัยการผลิต ในขณะเดียวกัน ผลที่เกิดขึ้นต่อรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มิได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่รัฐได้มีสาธารณูปโภคที่ระเบียงเศรษฐกิจได้พาดผ่านไปเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงผลของการรับความช่วยเหลือในมิติต่างๆ คือ การคมนาคม การพลังงาน การติดต่อสื่อสาร สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว การค้าขาย การลงทุนภาคเอกชน และการเกษตร
หากจะพิจารณาถึงการลงทุนจากญี่ปุ่น และจากรัฐบาลในบริเวณแม่น้ำโขงเองว่ามีการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจเป็นประมาณเท่าใดนั้น สามารถเห็นได้จากข้อมูลในตารางที่หนึ่ง
ตารางที่หนึ่ง: ตารางแสดงการเปรียบเทียบการให้เงินกู้ยืมแก่ GMS เพื่อพัฒนาการคมนาคมขนส่ง
เปรียบเทียบระหว่าง ADB และรัฐบาลใน GMS ช่วง ค.ศ.1992-2006 (หน่วย: ล้านดอลล่าร์สหรัฐ)
จากตารางที่ ๑ แสดงการเปรียบเทียบการลงทุนในการมีส่วนสนับสนุนเพื่อก่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจเส้นทางตะวันออก-ตะวันตก จากตารางจะเห็นได้ว่าไม่เพียงแต่ ADB ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนหลักให้ความช่วยเหลือเท่านั้น หากรัฐบาลของรัฐที่ระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก ก็ได้ร่วมกันลงทุนในโครงการดังกล่าวเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความคาดหวังในโครงการของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ
กระนั้นก็คงปฏิเสธมิได้ว่า ผลกระทบของการก่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดผลในแง่ดีเสมอไป หากแต่เมื่อพิจารณาผลของการก่อสร้างในแนววิเคราะห์แบบภูมิภาคานุวัติเท่านั้น ก็จะสามารถเห็นถึงบทบาทของภาคธุรกิจที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน เพราะไม่เพียงแต่ความร่วมมือที่รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีกับญี่ปุ่นเพื่อขอรับความช่วยเหลือแล้วเท่านั้น หากยังรวมไปถึงบทบาทของภาคเอกชนหรือธุรกิจที่มีต่อกันภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเป้าประสงค์ที่จะพัฒนาความร่วมมือและการขนส่งให้ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างร่วมกัน เช่น การลดกฎระเบียบการขนส่งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายการค้า การปรับปรุงระบบศุลกากร เป็นต้น
ภูมิภาคานุวัติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นภูมิภาคานุวัติบริเวณลุ่มน้ำโขง เกิดขึ้นจากการมีความร่วมมือในหลายมิติ ทั้งผ่านกระบวนการความร่วมมือทางการพัฒนาศูนย์อุตสาหกรรมที่สามารถเชื่อมโยงประชาชนได้ หรือบทบาทของบรรษัทข้ามชาติ เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์โดยทางอ้อมผ่านด้านสังคมและเศรษฐกิจ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการบูรณาการอย่างไม่เป็นทางการ หรือ Soft Regionalism (สีดา, 2547: 198-199) ซึ่งญี่ปุ่นมีบทบาทผลักดันและให้การสนับสนุน
บทบาทญี่ปุ่นที่เข้ามามีส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงแสดงให้เห็นถึงบทบาทของอำนาจทุนนิยมโลกที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นแสวงหาฐานการผลิตใหม่ และเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์แก่ญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นก็ต้องปรับตัวเองและผู้อื่นให้พร้อมกับความต้องการของญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้รับผลกระทบจากความต้องการของญี่ปุ่นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองมิสามารถหลีกเลี่ยงไปจากกระแสโลกาภิวัตน์ อันเนื่องมาจากการครอบงำและส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นทอดๆ
สรุป
ภูมิภาคานุวัติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นข้อเสนอของบทความนี้ เกิดขึ้นจากบทบาทของทุนญี่ปุ่นที่แสวงหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันมีผลทำให้ตนเองเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และเพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับตนเองมากที่สุด ญี่ปุ่นจึงได้ตระเตรียมพื้นที่ทั้งเชิงโครงสร้างและกายภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับตัวเอง
ทั้งผ่านบทบาทของญี่ปุ่นเองและผ่านบทบาทขององค์การระหว่างประเทศที่ญี่ปุ่นเป็นสมาชิก
การเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงโครงสร้างและกายภาพ ก่อให้เกิดความร่วมมือในมิติต่างๆ อาทิ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ส่งผลให้เกิดการสร้างความร่วมมือจากระดับล่างหรือระดับธุรกิจ อันนำไปสู่การทำให้ภูมิภาคเกิดบูรณาการ โดยจะเห็นได้ว่าการบูรณาการระดับภูมิภาคนี้ เป็นการรวมกันในลักษณะที่เกิดจากภาคธุรกิจหรือระดับล่างขึ้นสู่บน (bottom-up). อย่างไรก็ตาม กระบวนการภูมิภาคานุวัติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นกระบวนการที่มิได้เกิดขึ้นภายในภูมิภาคโดยปราศจากบทบาทภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วม จะเห็นได้ว่า กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงผลักดันอำนาจภายนอกภูมิภาค อันได้แก่ บทบาทของทุนญี่ปุ่นที่เข้ามากระทำ (ด้วยมูลเหตุหลายประการซึ่งเป็นแรงผลักดันดังที่กล่าวมาแล้ว) ดังนั้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีความเหมาะสมในหลายด้าน จึงเป็นเป้าหมายและเข้ารวมอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคมาโดยลำดับ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บรรณานุกรม
นรุตม์ เจริญศรี. "วาทกรรมการพัฒนาและบทบาททุนญี่ปุ่นในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง: บทศึกษารัฐไทยในกระแสโลกาภิวัตน์." เอกสารนำเสนอใน การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ.2550 "เมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน". กรุงเทพฯ, 13 ธันวาคม 2550.
ผาสุก พงษ์ไพจิตร, และ คริส เบเคอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. 3. กรุงเทพฯ: ซิลค์เวอร์ม, 2546.
ศิริพร วัชชวัลคุ. "พันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐ ในยุคสงครามเย็น." ใน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: แนวคิด ทฤษฎี และกรณีศึกษา, (บก.) จุลชีพ ชินวรรโณ. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547.
สีดา สอนสี. "ความร่วมมือส่วนภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: จากสงคามเย็นศุ่โลกภิวัตน์" ใน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: แนวคิด ทฤษฎี และกรณีศึกษา, (บก.) จุลชีพ ชินวรรโณ. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547.
สุวินัย ภรณวลัย. เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นกับการพัฒนาของระบบทุนนิยมโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2523.
ฮิซาชิ โฮะโซะกาว่า. ญี่ปุ่น: ยุทธศาสตร์การค้าและอุตสาหกรรม. แปลโดย กนิฎฐา มัทซุโอะ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2545.
Asian Development Bank. Midterm-Review of the Greater Mekong Subregion Strategy Framework 2002-2012. June 2007. http://www.adb.org/documents/reports/mid-term-review-gms/MidTerm-Review-GMS-4June2007.pdf (accessed October 8, 2008).
Breslin, Shuan, Christopher W. Hughes, Nicola Phillips, and Ben Rosamond, . New Regionalisms in Global Political Economy: Thories and Cases. London: Routledge, 2002.
Fawcett, Louise. "Regionalism from an Historical Perspective." In Global Polotics of Regionalism: Theory and Practice, edited by Marry Farrell, Bjorn Hettne and Luk Van Langenhove. London: Pluto, 2005.
Hook, Glenn D. "Japan's Role in the East Asian Political Economy." In The Political Economy of Japanese Globalization, edited by Glenn D. Hook and Harukiyo Hasegawa. London: Routledge, 2001.
Oehlers, Alfred. "A Critique of ADB Policies towards the Greater Mekong Sub-Region." Journal of Contemporary Asia 36, no. 4 (2006).
Pempel, T.J. "Introduction: Emerging Webs of Regional Connectedness." In Remapping East Asia: The Construction of Region, edited by T. J. Pempel. New York: Cornell University, 2005.
Steven, Rob. Japan and the World Order: Global Investments, Trade and Finance. London: Mackillan Press, 1996.
Twu, Jaw-Yann. "Globalization and Oriental Capitalism: The Global Meaning of Japan." In The Political Economy of Japanese Globalization, edited by Glenn D. Hook and Harukiyo Hasegawa. London: Routledge, 2001.
Vogel, Ezra F. "Pax Nipponica." (Foreign Affairs) Spring (1986).
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com