ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้เป็นสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ : Release date 03 July 2009 : Copyleft MNU.

หากถือค่ามัธยฐาน(กึ่งกลาง) ของทรัพย์สินสุทธิของครัวเรือนซึ่งกระ เตื้องดีขึ้นก่อนวิกฤตเป็นเกณฑ์คำนวณ (จากปี ค.ศ.1982-2004), ก็จะต้องใช้เวลาอีก 594 ปี กว่าคนผิวดำจะบรรลุฐานะเสมอภาคทัดเทียมกับคนผิวขาว วิกฤตซับไพรม์ครั้งนี้น่าจะทำให้คนผิวดำต้องใช้เวลานานกว่านี้อีกมาก กว่าจะไต่เต้าถึงจุดดังกล่าว อัตราส่วนการถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้านตัวเอง (ฝันแบบฉบับของคนอเมริกัน) ในหมู่คนผิวดำ เปรียบเทียบกับคนผิวขาวที่เขยิบสูงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เริ่มจะถดถอยกลับลงไปอีก หากถือตามอัตราส่วนที่กระเตื้องดีขึ้นก่อนวิกฤตซับไพรม์เป็นเกณฑ์คำนวณ (จากปี ค.ศ.1970-2006) กว่าคนผิวดำจะมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้านในอัตราส่วนเท่าเทียมกับคนผิวขาวก็จะต้องใช้เวลาอีกถึง 5,423 ปี (คัดมาบางส่วนจากบทความ)

H



03-07-2552 (1741)
ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก: เศรษฐกิจล่มปีที่แล้ว โลกาภิวัตน์ซ้ำเติม
ขึ้นต้นด้วยปัญหาซับไพรม์ จบลงด้วยเศรษฐศาสตร์ของคาร์ล โพลันยี
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ: เขียน
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความรวบรวมต่อไปนี้ เคยเผยแพร่แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วทุกทวีป
เริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาและทุกวันนี้ทุกภูมิภาคยังได้รับผลจากปัญหาซับไพรม์
บทความเหล่านี้จะให้ภาพและสร้างความเข้าใจในปัญหาดังกล่าวอย่างค่อนข้างชัดเจน
ตลอดรวมถึงเรื่องของทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ แนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่
ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาแรงงาน ธรรมชาติ และเงินตรา

บทความเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ที่รวบรวมนำเสนอนี้ ประกอบด้วยบทความ ๗ ชิ้นดังนี้
๑. วิกฤตซับไพรม์ในอเมริกา
๒. วิกฤตซับไพรม์ ๓ ชั้นของอเมริกา - ตลาดสินเชื่อพังทลาย
๓. วิกฤตซับไพรม์ ๓ ชั้นของอเมริกา ราคาบ้านตก-คนชั้นกลางไม่มั่นคง
๔. แผลกลัดหนองพุพองของทุนนิยมโลกาภิวัตน์
๕. ฝีทุนนิยมโลกาภิวัตน์แตก
๖. วินิจฉัยอาการ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ แรงงาน และธรรมชาติ
๗. วินิจฉัยอาการทุนนิยมโลกาภิวัตน์: เงินตรา
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจร่วมสมัย")

สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๔๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก: เศรษฐกิจล่มปีที่แล้ว โลกาภิวัตน์ซ้ำเติม
ขึ้นต้นด้วยปัญหาซับไพรม์ จบลงด้วยเศรษฐศาสตร์ของคาร์ล โพลันยี
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ: เขียน
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

๑. วิกฤตซับไพรม์ในอเมริกา
เคยตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10926

สังเกตไหมว่าพอเจอวิกฤตหนี้ "ซับไพรม์" (subprime mortgage loan หมายถึงสินเชื่อด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสถาบันการเงินปล่อยกู้ให้ลูกหนี้เครดิตต่ำนำไปซื้อบ้านด้วยการจำนอง) จนธุรกิจการเงินการธนาคารใหญ่ในอเมริกา เสียหายกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐเข้า

ฝรั่งมะริกันไม่ยักรัดเข็มขัดงบประมาณรัฐบาลจนไส้กิ่ว, ขึ้นดอกเบี้ยจนสูงลิบ, ลดสภาพคล่อง ในระบบการเงินจนแห้งขอด, สร้างภาวะเงินฝืด, เดินนโยบายเศรษฐกิจหดตัว ฯลฯ เพื่อบีบให้พวกธนาคารและสถาบันการเงิน "ทุนนิยมเล่นพวก" (crony capitalism) ที่สุ่มเสี่ยงงี่เง่าด้อยประสิทธิภาพ ซี้ซั้วปล่อยกู้จนหนี้เน่ากองสูงท่วมหัวทั้งหลาย มันเหี่ยวแห้งตายคาตลาดเสียให้เข็ด เหมือนอย่างที่เคยอบรมสั่งสอนบังคับเคี่ยวเข็ญให้ไทยและบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกทั้งหลาย หลับหูหลับตาทำตามต้อยๆ ผ่านเงื่อนไขโครงการเงินกู้ไอเอ็มเอฟตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อสิบปีก่อน จนบริษัท ธนาคารใหญ่น้อยบ้านเราพากันเจ๊งระนาว ผู้คนเดือดร้อนกันทั่วบ้านทั่วเมือง

ตรงกันข้าม ถึงทีตัวเองมั่ง พ่อเจ้าประคุณทูนหัวทำกลับตาลปัตรตรงกันข้ามทุกอย่างเลย ทั้งลดดอกเบี้ยฉุกละหุก (ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยต่อกัน 2 รอบในชั่ว 8 วันถึง 1.25% จนเหลือ 3%) ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉุกเฉิน (สภาผู้แทนสหรัฐออกกฎหมายการคลังมูลค่า 146,000 ล้าน US$ แบ่งเป็นให้ครัวเรือนคนชั้นกลางและยากจนอเมริกันราวแสนล้านในรูปส่วนลดภาษีและเงินอุดหนุน ให้ธุรกิจอเมริกันราว 5 หมื่นล้านในรูปลดหย่อนภาษีสำหรับการลงทุนทางธุรกิจ เพื่อช่วยสร้างงาน และปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยลดดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ลง) อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงิน ไม่ยี่หระว่าเงินจะยิ่งเฟ้อ, เดินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจขยายตัว ฯลฯ (VOA News - "Deal Reached in Washington to Aid Economy", 24 January 2008)

เพื่อใช้รัฐโอบอุ้มไอ้พวกธนาคารและสถาบันการเงิน "ทุนนิยมเล่นพวก" (crony capitalism) ที่สุ่มเสี่ยงงี่เง่าด้อยประสิทธิภาพ ซี้ซั้วปล่อยกู้จนหนี้เน่ากองสูงท่วมหัวทั้งหลาย ได้ต่อลมหายใจลอยคอ เอาตัวรอดในตลาดต่อไปอีก จู่ๆ พวกที่เคยเทศนาเศรษฐศาสตร์ซึ่งเน้นด้านอุปทานการผลิต (supply-side economics) อันเป็นฐานทฤษฎีของอุดมการณ์ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ที่ว่า "รัฐแย่ ตลาดดี" ใส่คนอื่น พลันหันไปสมาทานนโยบายเศรษฐกิจแบบ "เคนเชียน" (Keynesian economics) ซึ่งใช้มือที่มองเห็นของรัฐแทรกแซงกระตุ้นอุปสงค์เพื่อแก้ไขกอบกู้เศรษฐกิจตกต่ำในตลาดตัวเองเฉยเลย! สมดังที่ อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของอเมริกาเคยบอกว่า "We are all Keynesians Now." (อ้างจาก Mark Weisbrot, "Big Rate Cuts and Fiscal Stimulus: Are We "All Keynesians Now?", AlterNet, 22 January 2008) มันชวนให้สรุปใช่ไหมครับว่า "เสรีนิยมใหม่มีไว้สำหรับสั่งสอนยู ส่วนเคนเชียนมีไว้สำหรับไอใช้ยามจำเป็นว่ะ" แหะๆ

ในยามเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ แน่นอนว่าคนอ่อนแอเบี้ยน้อยหอยน้อยย่อมเจ็บตัวก่อน และหนักกว่าเพื่อน ความข้อนี้ก็เป็นจริงในสังคมอเมริกันคราวนี้เช่นกัน และคนอ่อนแอเบี้ยน้อยหอยน้อยในอเมริกาก็มักหนาแน่นกว่าในหมู่คนผิวสี (people of color นอกกลุ่มคนผิวขาว) โดยเฉพาะคนผิวดำและคนลาติโน (Latinos หมายถึงคนเชื้อสายละตินอเมริกัน/พูดภาษาสเปนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา)

รายงานวิจัยล่าสุดของกลุ่มองค์กรเอกชน United for a Fair Economy ซึ่งเคลื่อนไหว รณรงค์ต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจและทรัพย์สิน เพื่อความเสมอภาคยิ่งขึ้นทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในสังคมอเมริกันเรื่อง "Foreclosed: The State of the Dream 2008" ("ติดจำนองจนถูกยึด: ภาวะ ความฝันปี 2008") สรุปผลกระทบของวิกฤตซับไพรม์ต่อคนจนและคนผิวสีชาวอเมริกันว่า: -คนผิวสีที่เป็นลูกหนี้ซับไพรม์กู้เงินมาผ่อนซื้อบ้านในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา ต้องสูญเสียทรัพย์สินเป็นมูลค่าระหว่าง 164,000-213,000 ล้าน US$ เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ซึ่งปะทุขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว นี่นับเป็นการสูญเสียทรัพย์สินครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของคนผิวสีในประวัติศาสตร์อเมริกันสมัยใหม่

ผลจากหนี้ซับไพรม์ ลูกหนี้ผิวดำจะสูญเสียทรัพย์สินประมาณ 71,000-92,000 ล้าน US$ ส่วนลูกหนี้ลาติโนจะสูญเสียทรัพย์สินประมาณ 75,000 - 98,000 ล้าน US$ ตามข้อมูลของรัฐบาลกลางสหรัฐ คนผิวสีมีโอกาสเป็นลูกหนี้ซับไพรม์มากกว่าคนผิวขาว 3 เท่า; ในบรรดาหนี้สินที่คนผิวดำกู้ยืมมานั้น มีถึง 55% เป็นหนี้ดอกเบี้ยสูง ขณะที่บรรดาหนี้สินที่คนผิวขาวกู้ยืมมาเป็นหนี้ดอกเบี้ยสูงเพียง 17% หากหนี้ซับไพรม์กระจายไปในคนอเมริกันกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน คนผิวขาวจะสูญเสียทรัพย์สินสูงขึ้น 44.5% ขณะที่คนผิวสีจะสูญเสียทรัพย์สินต่ำลง 24% นี่เป็นหลักฐานว่ามีอคติลำเอียงอย่างเป็นระบบและลัทธินิยมเชื้อชาติเชิงสถาบันอยู่ในสังคมอเมริกัน

หากถือค่ามัธยฐาน (กึ่งกลาง) ของทรัพย์สินสุทธิของครัวเรือนซึ่งกระเตื้องดีขึ้นก่อนวิกฤตเป็นเกณฑ์คำนวณ (จากปี ค.ศ.1982-2004), ก็จะต้องใช้เวลาอีก 594 ปี กว่าคนผิวดำจะบรรลุฐานะเสมอภาคทัดเทียมกับคนผิวขาว วิกฤตซับไพรม์ครั้งนี้น่าจะทำให้คนผิวดำต้องใช้เวลานานกว่านี้อีกมากกว่าจะไต่เต้าถึงจุดดังกล่าว อัตราส่วนการถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้านตัวเอง (ฝันแบบฉบับของคนอเมริกัน) ในหมู่คนผิวดำเปรียบเทียบกับคนผิวขาวที่เขยิบสูงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เริ่มจะถดถอยกลับลงไปอีก หากถือตามอัตราส่วนที่กระเตื้องดีขึ้นก่อนวิกฤตซับไพรม์เป็นเกณฑ์คำนวณ (จากปี ค.ศ.1970-2006) กว่าคนผิวดำจะมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้านในอัตราส่วนเท่าเทียมกับคนผิวขาวก็จะต้องใช้เวลาอีกถึง 5,423 ปี

วิกฤตซับไพรม์ส่งผลกระทบข้างเคียงเชิงลบต่อชุมชนทั้งปวงในแง่บ้านเรือนถูกทิ้งร้าง, อาชญากรรมเพิ่มขึ้น, บ้านในละแวกข้างเคียงถูกประเมินค่าต่ำลง, ฐานภาษีเสื่อมทรุด, ส่งผลให้งบประมาณรายได้ภาครัฐต่ำกว่าเป้า และจำต้องตัดทอนบริการสาธารณะลง จะเห็นได้ว่าไม่ว่าเจ้าของทรัพย์สิน, ชุมชนละแวกบ้าน, รัฐบาลท้องถิ่นหรือระดับมลรัฐต่างได้รับผลกระทบเชิงลบกันถ้วนหน้า ฯลฯ ภาพรวมเหล่านี้ทำให้ Robert Kuttner นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคารอเมริกันถึงแก่กล่าวว่า: "...ดังนั้นผมบอกได้แน่เลยว่า นี่เป็นวิกฤตการเงินที่ร้ายแรงที่สุดนับแต่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (ปี ค.ศ.๑๙๒๙) เป็นต้นมา และเราเพิ่งจะเริ่มเห็นว่ามันเลวร้ายแค่ไหนเท่านั้นเอง" (สัมภาษณ์ในรายการวิทยุ Democracy Now, 23 January 2008)

๒. วิกฤตซับไพรม์ ๓ ชั้นของอเมริกา - ตลาดสินเชื่อพังทลาย
มติชนรายวัน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10933

เมื่อรายการข่าวโลกของสถานีวิทยุบีบีซี สอบถามถึงมูลเหตุของวิกฤตหนี้ซับไพรม์ในอเมริกาขณะนี้ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอเมริกันรายหนึ่ง ก็ให้สัมภาษณ์ฟันธงตอบเปรี้ยงไปว่า: "ต้นตอของวิกฤตหนี้ซับไพรม์น่ะมันอยู่ที่วอลล์ สตรีทกับปักกิ่ง!" สายสนกลในของวิกฤตซับไพรม์โยงใยถึง "ปักกิ่ง" อย่างไรนั้น ผมขออนุญาตเก็บไว้เล่าตอนต่อๆ ไป สำหรับตอนนี้ ผมอยากโฟกัสที่ "วอลล์ สตรีท" ก่อน

แน่ล่ะครับ "วอลล์ สตรีท" เป็นสัญลักษณ์แทนศูนย์อำนาจทุนการเงินการธนาคารในอเมริกาที่ตั้งอยู่ ณ มหานครนิวยอร์ก ในประเด็นนี้ โรเบิร์ต คุตเนอร์ นักหนังสือพิมพ์สายเศรษฐศาสตร์และการเงินที่คร่ำหวอด ผู้ก่อตั้งและร่วมเป็นบรรณาธิการนิตยสาร The American Prospect แนวเสรีนิยมก้าวหน้า และเคยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวน ของคณะกรรมาธิการการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ขยายความไว้ในคำให้สัมภาษณ์แก่ Amy Goodman ในรายการวิทยุ Democracy Now เมื่อ 23 มกราคมศกนี้ว่า "วิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงที่สุดนับแต่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (ปี ค.ศ.1929 ในอเมริกา) เป็นต้นมานี้... เป็นผลจากอุดมการณ์เอียงขวาและอำนาจการเมืองของวอลล์ สตรีท"

ท่ามกลางสารพัดอาการป่วยเปลี้ยที่เร้ารุมสุมทับเศรษฐกิจอเมริกัน ไม่ว่าวิกฤตหนี้ซับไพรม์, ตลาดบ้านและที่อยู่อาศัยทรุดต่ำ, สัญญาณคนตกงานเพิ่มขึ้นขณะผู้บริโภคเขียมลง, อีกทั้งราคาน้ำมันยังสูงเป็นประวัติการณ์อีกนั้น..... มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 152,000 ล้าน US$ ของรัฐบาลบุชผู้ลูกกับรัฐสภาสหรัฐ (ปรับเพิ่มจากเดิมโดยวุฒิสภา) บวกการลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องถึง 1.25% จนลงมาเหลือ 3% ของธนาคารกลางสหรัฐ นับแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา-ในสายตาประเมินของคุตเนอร์-ยังไม่ทันเริ่มที่จะพอด้วยซ้ำไป!

เหตุเพราะคุตเนอร์วินิจฉัยว่าวิกฤต หนี้ซับไพรม์ครั้งนี้ต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งก่อนๆ รวม 10 ครั้งในอเมริกานับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ตรงที่มันประกอบไปด้วยปัญหาใหญ่ทับซ้อนกันถึง 3 ชั้น ได้แก่:

1) ตลาดสินเชื่อพังทลาย
2) ราคาบ้านและที่อยู่อาศัยตกดิ่ง
3) ภาวะไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเรื้อรังสั่งสมร่วม 30 ปีในหมู่คนชั้นกลางอเมริกัน

1) ตลาดสินเชื่อพังทลาย
วิกฤตหนี้ซับไพรม์เริ่มต้นและสำแดงอาการต่อเนื่องออกมาในรูปการพังทลายของตลาดสินเชื่อ และการพังทลายดังกล่าวก็เป็นผลมาจากการตัดตอนลดทอนกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลเศรษฐกิจการเงิน (deregulation) ตามอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่อย่างบ้าคลั่งขาดสติ. ในแง่นี้ มันคล้ายสภาพตลาดการเงินอเมริกันสมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1920 ตรงที่มีการเก็งกำไรและกู้ยืมเงินมือเติบเกินขนาด โดยธุรกรรมทางการเงินเหล่านี้ปราศจากความโปร่งใสอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นเอาเข้าจริงตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่กำกับดูแล หรือสาธารณชนต่างก็ไม่รู้เลยว่าบรรดาหุ้นกู้ (bonds) ที่ธนาคารและสถาบันการเงินอเมริกันโดยเฉพาะแถววอลล์ สตรีทสร้างขึ้นมาจากสินเชื่อจำนองบ้านคุณภาพต่ำ (subprime mortgages) ซึ่งเอามาจัดหีบห่อมัดรวมเข้าด้วยกันใหม่ แล้วปล่อยขายให้ธนาคาร สถาบันการเงินและผู้ลงทุนนานาชาติเหล่านี้ มันมีอะไรอยู่ข้างในบ้าง? มูลค่าแท้จริงเท่าไหร่? ทั้งนี้ก็เพราะพวกที่จัดหีบห่อมัดรวมสินเชื่อจำนองซับไพรม์เข้าด้วยกันเป็นหุ้นกู้นั้น ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของทางการแต่อย่างใด

แล้วพอปรากฏชัดว่าหนี้สินเหล่านี้จำนวนมากจะกลายเป็นหนี้สูญ ไม่มีวันได้เงินคืน บรรดาหุ้นกู้และหลักทรัพย์ (securities) ที่อาศัยหุ้นกู้เหล่านั้นเป็นฐานอีกทีก็ค่อยๆ พังทลายลงมาเป็นชั้นๆ - เหมือนภาพตอนตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์โดนเครื่องบินพุ่งชนจนทรุดฮวบถล่มลงมาเป็นชั้นๆ หรือวงแชร์พีระมิด (แบบแชร์ของชาร์ลส์ พอนซี ในอเมริกาสมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1920 หรือแชร์แม่ชม้อยและแชร์แม่นกแก้วของไทยสมัยพุทธทศวรรษที่ 2520) ทยอยร่วงล้มเป็นระนาวยังไงยังงั้น

ในสภาพหนี้สูญซึ่งเสียหายนับแสนล้านดอลลาร์เช่นนี้ ตลาดการเงินย่อมตกอยู่ในภาวะสินเชื่อหดตัวอย่างแรง เพราะธนาคารเหลือเงินทุนสำรองที่จะใช้เป็นฐานในการปล่อยกู้รายใหม่น้อยลง จำต้องเข้มงวดเงื่อนไขการกู้ยืมมากขึ้น สำหรับปัญหาแบบนี้ ลำพังการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐย่อมแก้ไขไม่ตก.

กลไกการปล่อยสินเชื่อจำนองบ้านแบบเดิม

1) ธนาคารรับจำนองบ้านและปล่อยกู้
2) ผู้ซื้อบ้านชำระเงินคืนธนาคาร

กลไกการปล่อยสินเชื่อจำนองบ้านแบบซับไพรม์

1) ธนาคารขายหุ้นกู้จำนองในตลาด
2) ธนาคารรับจำนองบ้านและปล่อยกู้
3) ผู้ซื้อบ้านชำระเงินคืนธนาคาร
4) ธนาคารจ่ายเงินคืนผู้ถือหุ้นกู้จำนองอีกที

เดิมที ธนาคารอเมริกันอาศัยเงินฝากจากลูกค้ามาปล่อยกู้รับจำนองบ้านกับลูกหนี้ วิธีการนี้ย่อมจำกัดปริมาณสินเชื่อจำนองบ้าน ที่ธนาคารจะสามารถปล่อยได้ มาระยะหลังนี้ ธนาคารใช้รูปแบบวิธีการใหม่โดยเอาสินเชื่อจำนองไปขายต่อในตลาดหุ้นกู้ (bond markets) ทำให้หาเงินมาปล่อยกู้เพิ่มง่ายขึ้นมาก, เปรียบเสมือนธนาคารเปลี่ยนบทบาทเป็น "คนกลาง" ส่วนนักลงทุนนานาชาติผู้ถือหุ้นกู้กลายเป็น "เจ้าหนี้" ถือครองสินเชื่อจำนองเหล่านั้นไว้แทน แต่มันก็เปิดช่องให้เกิดการทุจริตฉ้อฉลด้วยเช่นกัน ในเมื่อธนาคารไม่มีแรงจูงใจที่จะตรวจสอบสินเชื่อจำนองบ้าน ที่ตนปล่อยอย่างรอบคอบรัดกุมดังก่อน และธุรกรรมการเงินของบริษัทในวอลล์ สตรีทก็ไม่ได้ถูกทางการสหรัฐ กำกับควบคุมเข้มงวดเหมือนอย่างธนาคาร ยิ่งไม่ต้องพูดถึงตลาดการเงิน-หุ้นกู้-หลักทรัพย์ระดับโลก ที่ไร้การกำกับควบคุม

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนอเมริกันได้เข้าไปขยายบทบาทในตลาดหุ้นกู้จำนอง (mortgage bond market) เป็นการใหญ่ ซึ่งเดิมทีตลาดนี้จะถูกครอบงำโดยหน่วยงานที่รัฐบาลอุดหนุนอย่างเช่น Freddie Mac (ชื่อเต็มคือ Federal Home Loan and Mortgage Corporation) ธนาคารและสถาบันการเงินเอกชนเหล่านี้จะเน้นปล่อยกู้สินเชื่อจำนองบ้านรูปแบบใหม่ๆ อาทิ สินเชื่อคุณภาพต่ำ (subprime) ซึ่งปล่อยให้แก่ผู้กู้ยืมที่ประวัติการกู้ยืมไม่ดี, หลักฐานเอกสารรับรองรายได้ไม่หนักแน่นมั่นคง, จึงถูกผู้ให้กู้ชั้นหนึ่งอย่าง Freddie Mac ปฏิเสธคำขอกู้ยืม; หรือสินเชื่อจำนองขนาด "จัมโบ้" สำหรับทรัพย์สินมูลค่าเกิน 417,000 US$ อันเป็นเพดานที่ Freddie Mac รับจำนองได้

ปรากฏว่าธุรกิจดังกล่าวทำกำไรให้ธนาคารมหาศาลในรูปค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากสินเชื่อจำนองทุกอันที่ขายต่อได้ ธนาคารจึงไปกระตุ้นบรรดานายหน้าจัดจำนองให้เอาสินเชื่อจำนองบ้านโดยเฉพาะแบบซับไพรม์ไปขายให้บริษัทในวอลล์ สตรีทมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจัดหีบห่อมัดรวมกันแปลงเป็นหลักทรัพย์ (securitization or the pooling of mortgages) ปล่อยขายในตลาดหุ้นกู้จำนองอีกที จนปัจจุบัน ตลาดหุ้นกู้จำนองมีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้าน US$ และเป็นภาคส่วนใหญ่โตที่สุดในตลาดพันธบัตร/หุ้นกู้อเมริกันทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่ารวม 27 ล้านล้าน US$ เรียกว่าใหญ่กว่าตลาดพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐด้วยซ้ำไป

ผลจากวิกฤตหนี้ซับไพรม์ทำให้สินเชื่อเอกชนหดตัวอย่างแรง ธนาคารพากันเข้มงวดมาตรฐานการปล่อยกู้รัดกุมยิ่งขึ้น เช่น ปฏิเสธคำขอเครดิตการ์ดมากขึ้น, เรียกเงินฝากประเดิมก้อนใหญ่ขึ้นเพื่อเปิดบัญชีผ่อนบ้านจำนองกับธนาคาร, ตรวจสอบคำขอกู้ยืมหนี้ส่วนบุคคลละเอียดถี่ถ้วนขึ้น เป็นต้น (อ่านต่อเรื่องที่ 3.)

๓. วิกฤตซับไพรม์ ๓ ชั้นของอเมริกา ราคาบ้านตก-คนชั้นกลางไม่มั่นคง
มติชนรายวัน วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10940

ตามการวิเคราะห์ของ โรเบิร์ต คุตเนอร์ นักหนังสือพิมพ์คร่ำหวอดสายเศรษฐศาสตร์และการเงินอเมริกัน ผู้ได้ไปให้การเรื่องวิกฤตซับไพรม์ปัจจุบัน เปรียบเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจการเงินตกต่ำ ปี ค.ศ.1929 ของอเมริกา ต่อคณะกรรมการบริการทางการเงิน สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อ 2 ตุลาคมศกก่อน (ดู Robert Kuttner, "1929 Redux : Heading for a Crash?", AlterNet, October 11, 2007) วิกฤตซับไพรม์ 3 ชั้นของอเมริกาครั้งนี้ นอกจากประกอบไปด้วยอาการ 1) ตลาดสินเชื่อพังทลายแล้ว ยังมี 2) ราคาบ้านและที่อยู่อาศัยตกดิ่ง และ 3) ภาวะไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเรื้อรังสั่งสมร่วม 30 ปี ในหมู่คนชั้นกลางอเมริกันด้วย

2) ราคาบ้านและที่อยู่อาศัยตกดิ่ง
ผลกระทบต่อเนื่องสำคัญอย่างหนึ่งของวิกฤตหนี้ซับไพรม์คือ ราคาบ้านและที่อยู่อาศัยในอเมริกาตกดิ่งจากภาวะราคาบ้านและที่อยู่อาศัยถีบตัวขึ้นสูงผิดปกติ ช่วงฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ระหว่างปี ค.ศ.2004-2006 คาดว่าราคาบ้านและที่อยู่อาศัยซึ่งโป่งพองเกินขนาดเหล่านี้ จะกลับฟุบแฟบลงมาสู่ระดับแนวโน้มปกติในระยะสองสามปีข้างหน้า

นั่นหมายความว่า เบ็ดเสร็จแล้วราคาจริงของบ้านและที่อยู่อาศัยจะตกต่ำลงมาราว 40% (คิดรวมอัตราเงินเฟ้อ) หรือเกือบ 30% ในราคาตามตัวเลข ขณะนี้ราคาบ้านและที่อยู่อาศัยในอเมริกาตกลงมาจวนจะถึง 10% แล้ว เราจึงอาจจะเห็นราคาตามตัวเลขของมันตกดิ่งลงไปอีกกว่า 20% (ตามการประเมินของ Dean Baker นักเศรษฐศาสตร์มหภาค และผู้อำนวยการร่วมของ Center for Economic and Policy Research ณ Washington, DC ใน "The Beat the Press Weekly Roundup", CEPR, 11 February 2008)

แนวโน้มราคาบ้านในอเมริกา (ค.ศ.1998-2008)
แนวโน้มฟองสบู่แตกราคาบ้านตกเช่นนี้ แปลว่าคนอเมริกันที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งมีอยู่ราว 70% ของประชากรทั้งหมด จะสูญเสียมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่มีอยู่ไป 2.2 ล้านล้าน US$ แน่นอนว่า เมื่อจู่ๆ บ้านช่องทรัพย์สินที่สู้อุตส่าห์อดออมเก็บหอมรอมริบหามาไว้อย่างลำบากแสนเข็ญเลือดตาแทบกระเด็น มันดันลดค่าไปเสียเฉยๆ ตั้ง 2.2 ล้านล้าน US$ ชาวอเมริกันย่อมชะงักมือลังเลที่จะล้วงกระเป๋าควักแบงก์ หรือเครดิตการ์ดออกมารูดปื๊ดๆ ดำเนินแผนการใช้จ่ายบริโภคประดามีที่วางไว้ ไม่ว่าซ่อมแซมต่อเติมบ้าน, ถอยรถ, ถอยทีวีจอแบน, ตู้เย็น, สเตอริโอ, คอมพิวเตอร์, มือถือเครื่องใหม่ ฯลฯ นั่นก็คือผู้บริโภคสูญเสียความมั่นใจ -การบริโภคหดตัว ตลาดชะงักงัน -บริษัทห้างร้านปรับลดการผลิตและการลงทุนตาม -ปลดโละลูกจ้างคนงาน -ยิ่งซ้ำเติมให้ผู้บริโภคสูญเสียความมั่นใจหนักขึ้น -การบริโภคยิ่งหดตัว ฯลฯ เป็นวงจรอุบาทว์ของเศรษฐกิจถดถอยวนเวียนไปอย่างนี้

3) คนชั้นกลางไม่มั่นคง
สภาพเงื่อนไขอันสั่นคลอนเปราะบางที่ทำให้วิกฤตหนี้ซับไพรม์ครั้งนี้หนักหนาสาหัสเป็นพิเศษ เกิดจากแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่เน้นด้านอุปทานการผลิต (neo-liberalism, supply-side economics) ที่รัฐบาลทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ดำเนินสืบต่อกันร่วม 30 ปี เริ่มตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ แห่งพรรคเดโมแครต (ค.ศ.1977-81) และมาเข้มข้นจริงจังเป็นระบบในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แห่งพรรครีพับลิกัน (ค.ศ.1981-89) เป็นต้นมา มันส่งผลลัพธ์โดยรวมให้ชีวิตสามัญชนชาวอเมริกันไม่มั่นคงและคลอนแคลนสุ่มเสี่ยงยิ่งขึ้นในด้านต่างๆ นานัปการ ไม่ว่าเสี่ยงตกงานยิ่งขึ้น, เสี่ยงว่ารายได้เงินเดือนขยับขึ้นไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ, ราคาพลังงานแพงขึ้น, ค่าเล่าเรียนแพงขึ้น, เบี้ยประกันสุขภาพสูงขึ้น ฯลฯ

พูดง่ายๆ ก็คือสรรพสารพันเสาค้ำยันหลักพักพิงทางเศรษฐกิจสังคมที่ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากเหยียบหยั่งไต่เต้าขึ้นเป็น "คนชั้นกลาง" ได้ และมีชีวิตที่มั่นคงสุขสบายตามสมควรในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กลับมีอันเอื้อมหยิบไขว่คว้าไม่ถึง หรือถึงด้วยความยากลำบากสาหัสสากรรจ์ขึ้นทุกทีในช่วง 30 ปีหลังนี้ เมื่อมาถูกซ้ำเติมถมทับด้วยวิกฤตหนี้ซับไพรม์ ก็ง่ายที่ฐานชีวิตเศรษฐกิจของพวกเขาจะหักพัง พลอยพาให้คนชั้นกลางอเมริกันอันเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ ที่มีฐานะสำคัญทางยุทธศาสตร์ในเศรษฐกิจโลก ร่วงรูดตกฐานะชนชั้นอย่างหนักหน่วงเป็นพิเศษและฟื้นตัวคืนฐานะยากยิ่งเป็นทวีคูณ

งานเขียนที่สะท้อนฐานะตกต่ำไม่มั่นคงของคนชั้นกลางอเมริกันดังกล่าวข้างต้นได้ดียิ่งเล่มหนึ่งคือ Bait and Switch : The (Futile) Pursuit of the American Dream (ค.ศ.2005) โดยบาบาร์รา เอห์เรนไรช์ นักหนังสือพิมพ์และนักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้าชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้จบปริญญาเอกทางชีววิทยา แต่หันมาเอาดีทางหนังสือพิมพ์แทน เธอมีงานเขียนตีพิมพ์บ่อยครั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำไม่ว่า The New York Times, Harpers, Time, The Progressive เป็นต้น

หนังสือเล่มเด่นของเธอก่อนหน้านี้ได้แก่ Nickel and Dimed : On (Not) Getting By in America (ค.ศ.2001) ซึ่งแปลเป็นไทยโดย ดาหาชาดา และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนภายใต้ชื่อ คำให้การของคนเปื้อนเหงื่อ (พ.ศ.2549) ครั้งนั้นเอห์เรนไรช์ถอดคราบนักหนังสือพิมพ์ ปลอมตัวแปลงโฉมเป็นคนงานหญิงไร้ฝีมือค่าแรงต่ำ (6-8 US$ / ชั่วโมง) เร่ร่อนหางานทำจากมลรัฐฟลอริดาไปเมนและมินนิโซตา เพื่อล้วงลึกโฉมหน้าชีวิตที่แท้จริงของคนจนคนชั้นล่างอเมริกัน เธอรับงานสารพัดตั้งแต่สาวเสิร์ฟ, สาวใช้ในโรงแรม, พนักงานทำความสะอาด, ผู้ช่วยในสถานพักฟื้นคนชรา, เสมียนขายของห้างวอล-มาร์ท และพบว่าทั้งที่ตัวเองอยู่ในสภาพเงื่อนไขค่อนข้างดีกว่าคนจนอเมริกันทั่วไปคือ ผิวขาว มีการศึกษา สุขภาพแข็งแรง ไม่มีลูกเต้าห่วงหน้าพะวงหลัง แต่กระนั้นก็ยังหาเงินได้แค่เดือนชนเดือนแทบไม่พอยาไส้

มาเที่ยวนี้เพื่อสืบค้นสภาพชีวิตคนชั้นกลางอเมริกันที่ทำงานออฟฟิศกินเงินเดือนหรือที่เรียกว่าคนงาน "ปกคอขาว" บ้าง เธอก็ปลอมตัวอีกครั้งเป็นสาวใหญ่นักวิชาชีพวัยกลางคนออกเที่ยวหาสมัครงานเป็นพนักงานประชาสัมพันธ์ตามบรรษัทใหญ่น้อยต่างๆ แล้วเอห์เรนไรช์ก็พบว่า:

- คนชั้นกลางอเมริกันกำลังตกงานขนานใหญ่ เนื่องจากบรรษัทเอกชนทั้งหลายพากันหาทางลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มกำไรผ่านการตัดลดคนงานด้วยมาตรการลดขนาด, ปรับลดคนงาน, จ้างเหมาภายนอก (downsized, laid off, outsourced) หรือไม่ก็บีบพนักงานเก่าให้ลาออกจะได้จ้างพนักงานหนุ่มสาวที่กินเงินเดือนต่ำกว่ามาแทน เหล่านี้ส่งผลให้หางานทำยากมาก ทุกๆ ปีมีคนถูกเลิกจ้างราว 1 ล้านคน และในบรรดาคนอเมริกันที่ตกงานระยะยาวนั้น มีถึง 44% ที่เป็นคนงานปกคอขาว

- คนชั้นกลางอเมริกันที่พยายามมุมานะฟันฝ่าไต่เต้าสร้างฐานะอาชีพไปตามขั้นตอนกฎกติกา เช่น เข้าเรียนมหาวิทยาลัย, ซื่อสัตย์ภักดีกับนายจ้าง ฯลฯ กลับมักจะลงเอยในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว อาทิ บางคนถูกบริษัทเลิกจ้างแล้วหางานใหม่ไม่ได้นานหลายเดือน จนขาดส่งค่าเช่า ค่าผ่อนและถูกยึดบ้าน หรือไล่ออกจากที่พักกลายเป็นคนไร้บ้าน, บ้างถูกหมอตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรง ค่ารักษาแพงหูฉี่แต่ตัวเองไม่มีประกันสุขภาพ เป็นต้น ทั้งที่พวกเขาเหล่านี้มีปริญญาตรีหรือกระทั่งปริญญาโทติดตัว แต่มันไม่ช่วยอะไรเลย สุดท้ายก็ตกหล่มกลายเป็นประชากรยากจนไป

- ส่วนเอห์เรนไรช์เองนั้น ใช้วิธีสารพัดตั้งแต่สมัครงานทางอินเตอร์เน็ต, ไปจ้างโค้ชฝึกอบรมอาชีพ, แปลงรูปโฉมโนมพรรณเสื้อผ้าท่าทางเสียใหม่ให้ดูสอดรับกับบุคลิกแบบ "บรรษัท" ขึ้น, ไปร่วมงานกิจกรรมสังสรรค์ต่างๆ เพื่อแนะนำตัว แจกนามบัตร ทำความรู้จัก สร้างเครือข่ายเสาะหางาน ฯลฯ

- เธอพบว่าเอาเข้าจริงบรรษัทเอกชนทั้งหลายไม่ค่อยสนใจทักษะหรือประสบการณ์ของผู้สมัครเท่าไหร่ หากเน้นแต่บุคลิกภาพ (มองโลกแง่บวก, อวดเก่ง, คึกคักกระตือรือร้น, น่าคบหา), ส่วนโค้ชฝึกอบรมอาชีพก็จะล้างสมองคนหางานว่า จะหางานได้หรือไม่ได้, สำเร็จหรือล้มเหลว, ทั้งหมดขึ้นอยู่กับทัศนคติ (attitude) ของตัวเอง อย่าไปมัวโทษเศรษฐกิจไม่ดี หรือด่าว่านายจ้างงี่เง่าอยู่เลย

สุดท้าย 10 เดือนผ่านไป เอห์เรนไรช์ได้งานมา 2 ตำแหน่ง:

1) พนักงานขายประกันสุขภาพเสริมของบริษัท Aflac ไม่มีเงินเดือน ไม่มีประกันสุขภาพให้, ได้แต่ค่าคอมมิสชั่นเมื่อขายประกันได้
และต้องควักเนื้อตัวเองลงทุนล่วงหน้าอีก 2,000 US$ ก่อน เพื่อให้ได้ใบอนุญาตนายหน้าค้าประกันมา

2) พนักงานขายตรงเครื่องสำอางของบริษัท Mary Kay Cosmetics ก็ไม่มีเงินเดือน ไม่มีสิทธิประโยชน์ ไม่มีประกันความมั่นคงใดๆ ทั้งสิ้นเช่นกัน

ความจริงก็คือ มีคนอเมริกัน 13 ล้านคน ทำงานขายตรงในสภาพเช่นนี้ และกว่าครึ่งทำรายได้ต่ำกว่า 10,000 US$ ต่อปี (เดือนละไม่ถึง 1,000 US$) คนชั้นกลางอเมริกันจำนวนไม่น้อยส่ายหน้าไม่อยากทำงานแบบนี้ แต่หลังจากตกงานอยู่อีกหลายเดือน หมดทางเลือก ก็ต้องกัดฟันกลืนเลือด บากหน้าเข้าร้านฟาสต์ฟู้ดหรือห้างสรรพสินค้าใกล้บ้านและรับจ้างทำงานเก็บถ้วยล้างชาม กดเครื่องเก็บเงิน ถูส้วม ทิ้งขยะ ฯลฯ ชั่วโมงละ 6-8 US$ ไป

๔. แผลกลัดหนองพุพองของทุนนิยมโลกาภิวัตน์
มติชนรายวัน วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10989

ขณะบางแวดวงในเมืองไทยยังปลื้มทุนนิยมโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่กันไม่เสร็จ น่าสนใจว่ากระแสทรรศนะในกลุ่มประเทศทุนนิยมศูนย์กลางกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงข้าม ท่ามกลางวิกฤตหนี้ซับไพรม์ที่แผ่ขยายลุกลาม ไปเป็นวิกฤตการเงินการธนาคารในอเมริกา และหลายประเทศตะวันตกแล้วตอนนี้ อาทิ: Peter S. Goodman เจ้าของคอลัมน์ IDEAS & TRENDS ในหน้าธุรกิจของหนังสือพิมพ์ The New York Times ในอเมริกา ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวที่ช่ำชองเศรษฐกิจจีน, เอเชียอาคเนย์และอเมริกา ได้ตั้งชื่อบทความส่งท้ายปีเก่า ค.ศ.2007 ของเขาว่า "The Free Market : A False Idol After All?" หรือ "ตลาดเสรี : สุดท้ายก็แค่เทวรูปจอมปลอมหรือ?" (The New York Times, 30 December 2007)

Frederic Lemaitre ผู้เขียนบทบรรณาธิการประจำหนังสือพิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศส ได้วิเคราะห์สรุปภาพรวมปี ค.ศ.2007 ที่ผ่านไปว่า "2007, annee du grand retour des Etats" หรือ "ค.ศ.2007 ปีแห่งการกลับมาผงาดของรัฐทั้งหลาย" (Le Monde, 28 December 2007) และ BBC World Service ของอังกฤษได้เผยแพร่ผลการสำรวจทัศนคติต่อสภาพเศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ของพลเมือง 34,528 คนใน 34 ประเทศทั่วโลกซึ่งจัดทำให้บีบีซีโดยบริษัท GlobeScan ร่วมกับ Program on International Policy Attitudes (PIPA) แห่งมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ระหว่าง 31 ตุลาคมศกก่อน ถึง 25 มกราคมศกนี้ พบว่า:

- ผู้ถูกสำรวจส่วนใหญ่ใน 22 จาก 34 ประเทศเห็นว่า "โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจรวมทั้งการค้าและการลงทุน กำลังเติบโตเร็วเกินไป" เฉลี่ยโดยรวมแล้ว ผู้ถูกสำรวจ 50% ของทั้งหมดเห็นเช่นนี้ ขณะที่อีก 35% เห็นว่าโลกาภิวัตน์เติบโตช้าเกินไป

- ผู้ถูกสำรวจส่วนใหญ่ใน 27 จาก 34 ประเทศ - เฉลี่ยโดยรวมแล้วถึง 64% ของทั้งหมดเห็นว่า "ผลประโยชน์ และภาระของการพัฒนาเศรษฐกิจในปีหลังๆ นี้ไม่ได้แบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม" ขณะที่ผู้เห็นว่าแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมแล้วมี 29%

- Doug Miller ประธานบริษัท GlobeScan สรุปผลสำรวจว่า "มีความไม่สบายใจในหมู่สาธารณชนจริงๆ เกี่ยวกับทิศทางที่เศรษฐกิจที่ดำเนินไป แต่นี่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่มันตกต่ำลงเท่านั้น หากยังเป็นเรื่องที่ว่าผลประโยชน์ กับภาระของมันถูกแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมเพียงใด และเรื่องจังหวะก้าวของโลกาภิวัตน์ด้วย" (BBC World Service, "Widespread Unease about Economy and Globalization : Global Poll," 7 February 2008)

การที่เสียงข้างมากของชาวโลกผู้ถูกสำรวจทัศนคติข้างต้น มองว่าโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเร็วเกินไปและไม่เป็นธรรม อีกทั้งเริ่มมีผู้สังเกตเห็นความเป็นจริงทางเศรษฐกิจว่า มันกำลังแล่นทวนสวนทางอุดมคติแห่งลัทธิเสรีนิยมใหม่ (ที่อ้างว่า "รัฐแย่ ตลาดดี") มากขึ้นนั้น อาจเปรียบได้กับอาการแผลกลัดหนองพุพอง ณ บริเวณ จุดอ่อนเปราะที่สุดของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรีของโลก

คาร์ล โพลันยี (ค.ศ.1886-1964) นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวออสเตรีย
จุดอ่อนเปราะเหล่านี้ Karl Polanyi (คาร์ล โพลันยี, ค.ศ.1886-1964) นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวออสเตรีย ผู้เฉียบแหลมถี่ถ้วนที่สุดคนหนึ่งแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งสอนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และลอนดอนในอังกฤษ รวมทั้งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในอเมริกา ได้ชี้ไว้ตั้งแต่ 60 ปีก่อน ในหนังสือประวัติศาสตร์ระบบเศรษฐกิจตลาด จากคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อันลือชื่อของเขาเรื่อง The Great Transformation : the political and economic origins of our time (ค.ศ.1944) ว่ามันได้แก่ แรงงาน, ธรรมชาติ และเงินตรา

(อนึ่ง อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย ได้แนะนำความคิดของคาร์ล โพลันยี ให้วงการเศรษฐ ศาสตร์ไทยรู้จักตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อนในหนังสือ กระแสความคิดที่กำลังข้ามพ้นความคิดสังคมนิยม : บทศึกษาความคิดของคาร์ล โพลันยี (Karl Polanyi) กับคาร์ล วิตโฟเกล (Karl Wittfogel), 2529; โดยเฉพาะงานเรื่อง The Great Transformation ของโพลันยี ถูกหยิบยกกลับมากล่าวขวัญอภิปรายกันกว้างขวาง ในวงวิชาการนานาชาติอีกครั้งหนึ่ง หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา)

โพลันยีอธิบายว่า เทียบกับสินค้าทั้งหลายในตลาดแล้ว แรงงาน, ธรรมชาติ และเงินตรา เป็นเพียง "สินค้าในนิยาย" (fictitious commodities) ที่ทุนสร้างขึ้น ไม่ใช่สินค้าจริงๆ ทั้งนี้เพราะแม้ทั้งสามอย่างจะถูกนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในตลาด แต่ทว่ามัน ล้วนไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อขาย แต่ต้น กล่าวคือ:

- แรงงาน เอาเข้าจริงก็คือกิจกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์เราที่ดำเนินควบคู่ไปกับการดำรงชีวิต และชีวิตมนุษย์นั้นก็ถูกก่อกำเนิดขึ้นมา
ไม่ใช่เพื่อขาย แต่ด้วยเหตุผลอื่น

- ธรรมชาติ ย่อมดำรงอยู่มาแต่เดิมของมันอย่างนั้นเอง หาได้ถูกผลิตขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ไม่ และ

- เงินตรา ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ของอำนาจซื้อ ซึ่งตามหลักแล้วก็มิได้ถูกผลิตขึ้นแต่อย่างใด หากมีที่มาจากกลไกการธนาคารหรือการเงินของรัฐ

ทว่า ยามใดที่ นิยายเสรีนิยม (ว่าแรงงาน, ธรรมชาติ และเงินตราเป็นแค่สินค้าเหมือนสินค้าอย่างอื่น) เข้าครอบงำสังคมอย่างเต็มที่ และเราปล่อยให้ทั้งสามอย่างถูกกำกับด้วยตรรกะ และพลังของตลาดอย่างไร้ขีดจำกัดควบคุม และปราศจากการอนุรักษ์คุ้มครองป้องกันจากรัฐ ชุมชน หรืออำนาจสาธารณะรูปใดรูปหนึ่งแล้ว สังคมมนุษย์เองก็มิอาจจะดำรงคงทนยั่งยืนอยู่ได้

หาก แรงงาน/มนุษย์เรา ถูกถอดถอนจนปลอดการคุ้มครองป้องกันทางสังคมใดๆ และเหลือเป็นแค่สินค้าเปลือยเปล่าเท่านั้นแล้ว เราก็จะเหมือนเศษสวะลอยคออยู่ในท้องทะเลไร้ฝั่งแห่งตลาดเสรี แล้วแต่คลื่นลมมรสุมแห่งอุปสงค์กับอุปทาน (demand & supply) จะซัดเหวี่ยงเคว้งไปทางนั้นทีคว้างมาทางนี้ที ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีอะไรให้ยึดเหนี่ยวเกาะกุมคุ้มภัย รอวันจมดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทรเมื่อไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่อไป. การเพิ่มขึ้นของแรงงานทาส แรงงานเถื่อน โสเภณีเด็ก การค้ามนุษย์และการค้าอวัยวะเพื่อปลูกถ่าย ฯลฯ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์เป็นดัชนีบ่งชี้ปรากฏการณ์ดังกล่าว (ดูหนังสือเล่มล่าสุดของนักเศรษฐศาสตร์ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวอิตาเลียน Loretta Napoleoni, Rogue Economics : Capitalism"s New Reality, 2008)

ส่วนทรัพยากร ธรรมชาติ ก็จะถูกพร่าผลาญจนแห้งเหี้ยน ภูมิทัศน์และภูมิลำเนาของผู้คนถูกย่ำยี แม่น้ำเน่า ปลาตายทั้งสายเพราะมลพิษ พลังศักยภาพในการผลิตอาหารและวัตถุดิบถูกบ่อนทำลายป่นปี้ ส่งผลกระทบถึงความมั่นคงปลอดภัยของสังคม (ทุกประเด็นที่กล่าวมาล้วนนึกกรณีตัวอย่างรูปธรรมในเมืองไทย และโลกออกได้มากมาย...ลองคิดดูเถอะ) ปัญหาโลกร้อน ภูมิอากาศโลกเปลี่ยน เพราะผลลัพธ์สะสมโดยรวมของการนำเอาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไปขายหากำไร หรือผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งตลาด จนกลายเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่โตและจวนตัวที่สุดต่อการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติในปัจจุบัน เป็นกรณีตัวอย่างชัดเจนที่สุด

ขณะที่ไม่ว่าเงินตราจะขาดแคลนหรือล้นเกิน (เงินฝืดหรือเงินเฟ้อ) ก็ย่อมส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อธุรกิจเหมือนภัยแล้ง หรือน้ำท่วมในสังคมกสิกรรมแต่ก่อนยังไงยังงั้น ดังที่ไทยเรา, อินโดนีเซีย, อาร์เจนตินา, อเมริกา เป็นต้น ได้/กำลังประสบพบพานในวิกฤตการเงินครั้งต่างๆ รอบสิบปีที่ผ่านมา. คาร์ล โพลันยี สรุปฟันธงเรื่องนี้ไว้ว่า: "การปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวชี้นำชะตากรรมของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของพวกเขา และเอาเข้าจริงแล้ว แม้กระทั่งชี้นำจำนวนและการใช้อำนาจซื้อแต่เพียงลำพัง ย่อมจะส่งผลให้สังคมพังทลายลง....

"ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตลาดแรงงาน, ตลาดที่ดิน และตลาดเงินตราจำเป็นต่อเศรษฐกิจตลาด ทว่าไม่มีสังคมใดจะทนทานผลกระทบของระบบนิยายหยาบดิบอย่างนั้นได้ แม้เพียงชั่วเวลาสั้นที่สุด เว้นเสียแต่ว่าแก่นสารของสังคมนั้นทั้งที่เป็นมนุษย์และธรรมชาติ รวมทั้งองค์การทางธุรกิจของมันได้รับการปกป้องคุ้มครอง จากความพินาศฉิบหายของโรงงานนรกนี้" (The Great Transformation, pp.72-73)

๕. ฝีทุนนิยมโลกาภิวัตน์แตก
มติชนรายวัน วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10996

เพียงช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังผมเขียนเรื่อง "แผลกลัดหนองพุพองของทุนนิยมโลกาภิวัตน์" เกี่ยวกับจุดอ่อนเปราะที่สุด ของระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีของโลก อันได้แก่ ปัญหาการแปรแรงงาน, ธรรมชาติ และเงินตราให้กลายเป็น "สินค้าในนิยาย" ลงคอลัมน์มติชนรายวัน (11 เม.ย.2551) ก็ปรากฏข่าวอื้อฉาวที่ส่อสำแดงอาการกำเริบร้ายแรงของปัญหาเหล่านี้ต่อเนื่องกัน กล่าวคือ:

แรงงาน: 9 เม.ย.2551 ตำรวจ จ.ระนอง พบศพแรงงานเถื่อนชาวพม่าที่แอบลักลอบเข้าเมืองในตู้คอนเทนเนอร์แช่แข็งอาหารทะเล บนรถบรรทุกสิบล้อรวม 54 คน ซึ่งเสียชีวิตเพราะยืนยัดเยียดกันอยู่ในตู้ขนาด 7 X 20 ฟุตใบนั้นถึง 121 คนกว่าสองชั่วโมง และเครื่องทำความเย็นขัดข้องจนขาดอากาศหายใจตาย ชาวพม่าผู้รอดชีวิตให้การว่ากำลังมุ่งหน้าไปพังงาและภูเก็ต เพื่อรับจ้างทำงาน โดยจ่ายค่านายหน้าในการลักลอบขนย้ายเที่ยวนี้ 5,000 บาทต่อคน. ทั้งนี้ การลักลอบขนย้ายแรงงานเถื่อนโดยไม่คำนึงถึงสภาพที่เหมาะสม จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วหลายครั้ง โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนประเมินว่า มีแรงงานต่างด้าวเถื่อนในไทยสูงถึง 1 ล้านคน ขณะที่กระทรวงแรงงานระบุว่ามีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมายเพียง 540,000 ราย (จากเว็บข่าวประชาไทและ Sutin Wannabovorn, "Fifty-Four Burmese Migrants Killed in Thailand", The Associated Press, 10 เม.ย.2551

ธรรมชาติ: ในโอกาสวันอนามัยโลกที่ 7 เม.ย.ศกนี้ ดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ ได้แถลงชี้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำอันตรายสุขภาพมนุษย์ แม้ภาวะโลกร้อนจะค่อยเป็นค่อยไป แต่ผลลัพธ์ของสภาพอากาศแปรปรวนสุดโต่ง เช่น พายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง และคลื่นความร้อนที่เกิดบ่อยขึ้นนั้น จะเฉียบพลันรุนแรง แนวโน้มทั้งสองด้านจะกระทบปัจจัยมูลฐานที่สุดบางประการที่กำหนดสุขภาพของคนเรา ได้แก่ อากาศ น้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย และการปลอดโรค ทุกวันนี้มนุษยชาติก็ได้รับผลจากบรรดาโรคภัยไข้เจ็บที่อ่อนไหวต่อภูมิอากาศ ซึ่งทำให้คนเสียชีวิตนับเป็นล้านๆ แล้ว อาทิ ภาวะทุพโภชนาการทำให้คนล้มตายกว่า 3.5 ล้านคนต่อปี, โรคท้องร่วงฆ่าคนกว่า 1.8 ล้านคนต่อปี, และไข้มาลาเรียคร่าชีวิตคนเกือบ 1 ล้านคนต่อปี เป็นต้น

ภัยธรรมชาติและโรคระบาดอย่างเช่น กรณีคลื่นความร้อนในยุโรป ปี ค.ศ.2003, ไข้หุบเขาริฟท์ในแอฟริกา, พายุเฮอร์ริเคนแคทรินาในอเมริกาปี ค.ศ.2005, ไข้มาลาเรียบนที่ราบสูงแอฟริกาตะวันออก, อหิวาตกโรคระบาดในบังกลาเทศ ฯลฯ คือตัวอย่างสิ่งที่มนุษย์จะต้องเผชิญในอนาคต แน่นอนว่าแนวโน้มและภัยพิบัติเหล่านี้ มิได้เกิดจากสาเหตุการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว แต่ก็คาดการณ์ได้ว่ามันจะถี่ขึ้นและเข้มข้นรุนแรงขึ้น พร้อมกับภูมิอากาศที่ยิ่งเปลี่ยนแปลงไป

ดร.ชานตบท้ายว่า ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก แต่ผลกระทบของมันจะกระจายไปไม่ทั่วถึงเท่าเทียมกัน สรุปก็คือมันอาจจะกระทบปัญหาที่ใหญ่โตอยู่แล้ว ซึ่งส่วนมากรวมศูนย์อยู่ในโลกกำลังพัฒนาและยากแก่การควบคุม (World Health Organization, "Climate change will erode foundations of health", 7 April 2008) และสุดท้าย เงินตรา.....

เงินตรา: กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่ รายงานเสถียรภาพการเงินโลก ทุกครึ่งปีฉบับล่าสุดเมื่อ 8 เม.ย.ศกนี้ ซึ่งประเมินว่าวิกฤตการเงินปัจจุบันจะก่อความเสียหายให้ระบบการเงินโลกในรูปภาวะขาดทุน และการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์มวลรวมประมาณ 945,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (นับถึงเดือนมีนาคมศกนี้) ในจำนวนดังกล่าว เป็นส่วนที่เกิดจากบรรดาธนาคารทั่วโลกเข้าไปลงทุนเกี่ยวเนื่องกับหนี้จำนองบ้าน และหลักทรัพย์ในอเมริกา (โดยเฉพาะที่เรียกว่าหนี้ซับไพรม์หรือสินเชื่อจำนองบ้านด้อยคุณภาพ) ราว 565,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายงานระบุว่า: "วิกฤตได้แพร่กระจายพ้นตลาดซับไพรม์สหรัฐออกไป ถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ชั้นหนึ่ง, ตลาดสินเชื่อผู้บริโภคและสินเชื่อบรรษัทธุรกิจตั้งแต่เกรดต่ำถึงสูง (อย่างเป็นรูปธรรม) แล้ว" (International Monetary Fund, Global Financial Stability Report: Containing Systemic Risks and Restoring Financial Soundness, April 2008, Executive Summary, p. ix, x)

นายโดมินิค สเตร๊าส์-คาน ผู้อำนวยการบริหารไอเอ็มเอฟ.จึงแถลงข่าวเมื่อ 10 เม.ย.ศกนี้ว่า ผลกระทบจากวิกฤตซับไพรม์อเมริกัน ทำให้เศรษฐกิจโลกปัจจุบันเหมือนทรงตัวอย่างหวาดเสียว อยู่ระหว่างความเสี่ยงสองอย่าง ได้แก่ การเติบโตที่ชะลอลงกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

- ด้านหนึ่ง โลกกำลังเผชิญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างหนัก บรรดาประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มเฟื่องฟูขึ้น (emerging economies เช่น จีน อินเดีย ไทย เป็นต้น) จะไม่ถูกคุ้มกันจากภาวะทรุดต่ำในบรรดาประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า (advanced economies เช่น อเมริกา, ญี่ปุ่น, เยอรมนี เป็นต้น) ถึงแม้การเติบโตในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มเฟื่องฟูจะฟื้นคืนตัวได้ดีกว่า แต่ประเทศเหล่านี้ก็จะไม่ปลอดพ้นจากภาวะชะลอตัวลง ความคิดที่ว่าเศรษฐกิจของประเทศสองกลุ่มนี้แยกทางกันได้แล้ว (decoupling) เป็นความหลงผิดเสถียรภาพทางการเงินของโลกกำลังเสี่ยงภัยมากขึ้น ความเสี่ยงเหล่านี้ส่วนหนึ่งรวมศูนย์อยู่ที่วิกฤตสินเชื่อ กับการเคหะที่หนุนเสริมกันและกันในสหรัฐอเมริกา แต่นอกจากนี้ยังมีการพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk aversion) มากขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และกระแสเงินไหลเวียนจากตลาดเงินทุนไปยังตลาดที่กำลังเฟื่องฟูลดฮวบลง การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากขึ้นและการพยายามลดหนี้สินให้ต่ำกว่าทุนทั่วโลก (global deleveraging) อาจชักนำให้กระแสเงินทุนไหลเข้าลดฮวบลง

- อีกด้านหนึ่ง ปัญหาสำคัญน่ากังวลคือ เงินเฟ้อสูงอย่างยืนนานที่ถูกขับดันโดยราคาสินค้าแพง เงินที่ยิ่งเฟ้อสะท้อนเหตุปัจจัยทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงวงจร อาทิ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของเชื้อเพลิงชีวภาพ นี่เป็นเรื่องน่าห่วงเพราะราคาอาหารประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้นถึง 48% นับแต่ปลายปี ค.ศ.2006 เป็นต้นมา ซึ่งอาจบ่อนทำลายความสำเร็จที่ช่วงชิงมาได้ในการลดทอนความยากจนไปหมด โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำ (Gita Bhatt and Marjorie Henriquez, "IMF Survey: Rising Inflation Complicating Response to World Slowdown", 10 April 2008)

เสต๊าส์-คานยังให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ว่า กำลังเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้นทุกทีว่า การแทรกแซงโดยรัฐบาลประเทศต่างๆ เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์, ตลาดการเคหะหรือภาคการธนาคารระดับโลกนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเล่นบท "แนวรับที่สาม" ในการหนุนช่วยแนวรับด้านนโยบายการเงินและการคลังต่อวิกฤตการเงินโลกขณะนี้ (Krishna Guha, "IMF head calls for global help on turmoil", The Financial Times, 7 April 2008)

๖. วินิจฉัยอาการ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ แรงงาน และธรรมชาติ
มติชนรายวัน วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11003

ภายหลังเศรษฐกิจการเมืองโลกผ่าน "การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่" ระลอกที่สองจากกระแสโลกาภิวัตน์ / เสรีนิยมใหม่ นับแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ได้เกิดการผันแปรเชิงโครงสร้างที่สำคัญอย่างไรบ้างในขอบเขตทั่วโลกกับ "สินค้าในนิยาย" ทั้งสามคือ แรงงาน, ธรรมชาติ, และเงินตรา อันเป็นจุดอ่อนเปราะของระบบทุนนิยมตลาดเสรีโลกาภิวัตน์? (ดูแนวคิด "สินค้าในนิยาย" ใน Karl Polanyi, The Great Transformation, 1944, Chapter 6: The Self-regulating Market and the Fictitious Commodities: Labor, Land, and Money)

1) แรงงานภายใต้การกำกับช่วงใช้ของทุนได้ทวีคูณขึ้นในอัตราที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
ขณะที่เมื่อปี ค.ศ.1980 กำลังแรงงานในเศรษฐกิจของประเทศทุนนิยมทั่วโลกมีราว 960 ล้านคน และต่อมาเพิ่มเป็นประมาณ 1,460 ล้านคน ในปี ค.ศ.2000. การที่ จีน, อดีตสหภาพโซเวียต} และอินเดีย เปิดประเทศเข้าสมทบระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีของโลก ทั้งในแง่การผลิต และการบริโภค ในช่วงสองทศวรรษเดียวกันนั้น ก็ได้เพิ่มยอดจำนวนคนงานรับจ้างของทุนทั่วโลกขึ้นไปอีก 1,470 ล้านคน หรือกว่าเท่าตัว

การทวีคูณชนชั้นกรรมกรของโลกเป็นราว 3,000 ล้านคนภายในเวลาไม่กี่ปี ภายใต้สภาพเงื่อนไขการทำงานที่บ่อยครั้งลำบากยากแค้นพอๆ กับโรงงานอุตสาหกรรมสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในอังกฤษ ซึ่งโพลันยีเคยบรรยายไว้ในหนังสือ The Great Transformation นั้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ที่สุด ของระบบทุนนิยมโลกในช่วงดังกล่าว

- ในระยะสั้น การเพิ่มจำนวนแรงงานรับจ้างของทุนอย่างมหาศาลทั่วโลกกลายเป็นปัจจัยบวกมากกว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อทุน เพราะทำให้อำนาจต่อรองของฝ่ายแรงงานอ่อนเปลี้ยลง และดุลอำนาจเอียงกระเท่เร่ไปทางฝ่ายทุน โดยบั่นทอนอัตราส่วนระหว่างทุน/แรงงานทั่วโลก (อันเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดค่าจ้างแรงงานและผลตอบแทนของทุน) ลงราว 55-60%-ตามการประเมินของ Richard Freeman นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำแห่งมหาวิทยาลัย Harvard และผู้อำนวยการโครงการแรงงานศึกษาแห่ง National Bureau of Economic Research ของอเมริกา ใน "What Really Ails Europe (and America): the Doubling of the Global Workforce", The Globalist, 3 June 2005.

- ทว่าในระยะยาว ผลลัพธ์สืบเนื่องของมันจะเป็นดังที่ คาร์ล มาร์กซ กับเฟรเดอริค เองเกลส์ เคยวิเคราะห์ไว้หรือไม่ว่า "ฉะนั้น สิ่งที่ชนชั้นกระฎุมพีผลิตขึ้นมาเหนืออื่นใดก็คือ ผู้ขุดหลุมฝังศพตัวมันเอง ความล่มจมของพวกมัน และชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพต่างก็หลีกเลี่ยงไม่ได้พอๆ กัน"? (Manifesto of the Communist Party, ค.ศ.1848) ก็เป็นเรื่องที่ยังคงต้องรอดูกันต่อไป

สรุปคือเฉพาะหน้านี้ ในแง่แรงงาน ดูเหมือนอาการของทุนนิยมโลกาภิวัตน์จะยังปลอดภัยดีอยู่

2) ธรรมชาติเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ที่คาดการณ์ยากกว่าว่าจะคลี่คลายไปเช่นไร
รายงานการค้นพบสะสมต่อเนื่อง 4 ฉบับในโครงการศึกษาวิจัยนาน 20 ปีจาก ค.ศ.1988 ถึงปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือค้นคว้าตรวจสอบโดยนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญสามพันกว่าคนจาก 130 ประเทศของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC หรือองค์คณะระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) แห่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก กับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้ฟันธงแล้วว่า:

- มีหลักฐานประจักษ์ชัดว่า ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนและโลกกำลังร้อนขึ้น
- เหตุเกิดจากการสั่งสมตัวของก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก
- ภาวะโลกร้อนขึ้นในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา "น่าเป็นไปได้มาก" (very likely ซึ่งรายงาน IPCC ให้น้ำหนักทางสถิติเท่ากับ 90-95%) ว่าเป็นเพราะกิจกรรมของมนุษย์ (ดู IPCC, Climate Change 2007: Synthesis Report: Summary for Policymakers, 2008, p. 2, 5)

สรุปก็คือมองจากมุมวิทยาศาสตร์ ภาวะโลกร้อนขึ้นที่เกิดจากฝีมือมนุษย์เป็นความจริงที่มิพักต้องโต้เถียงกันอีกต่อไปแล้ว! ...ยกเว้นถ้าเกิดเราเป็นพ่อค้าน้ำมันหรือนายหน้าขายที่ดิน แบบนั้นมันก็มีเหตุให้ต้องเถียงกันหน่อยแล้วล่ะใช่ไหม. อนึ่ง นิตยสาร Science ของ American Association for the Advancement of Science ได้สำรวจพบเมื่อปี ค.ศ.2004 ว่า ในบรรดาบทความวิทยาศาสตร์เรื่องภาวะโลกร้อนที่รับรองมาตรฐานคุณภาพโดยผ่านการอ่านตรวจสอบของนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน ก่อนตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือนัยหนึ่ง peer-reviewed papers (ซึ่งต่างจากประเภทเขียนเอง เออเอง ส่งลงเองตามเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ต่างๆ ...อย่างชิ้นที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้) รวมทั้งสิ้น 928 บทนั้น ไม่มีบทความใดเลยที่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนฉันทามติว่าโลกร้อนขึ้นเพราะฝีมือมนุษย์

สำหรับประเด็นว่า ภาวะโลกร้อนมีศักยภาพเป็นภัยคุกคามเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโลก ทั้งในแง่ความมั่นคงและสุขภาพนั้น ก็เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้วเช่นกัน กล่าวคือปรากฏความเป็นไปได้ชัดว่า มันอาจก่ออาการช็อคทั้งระบบ ที่สามารถพลิกเปลี่ยนการคาดคำนวณในอนาคตทั้งหมด

- ในแง่ภัยคุกคามของภาวะโลกร้อนต่อความมั่นคง ดูการประเมินของฝ่ายอเมริกันใน Kurt M. Campbell, et al, The Age of Consequences: The Foreign Policy and National Security Implications of Global Climate Change, Washington, D.C.: Center for Strategic and International Studies, 2007.

- สำหรับการประเมินของฝ่ายสหภาพยุโรป ดูบทความของผู้รับผิดชอบด้านนโยบายต่างประเทศ และความสัมพันธ์ภายนอกแห่งสหภาพยุโรปใน Javier Solana and Benita Ferrero-Waldner, "Climate Change and International Security", 2008.

- ส่วนในแง่ภัยคุกคามของภาวะโลกร้อนต่อสุขภาพ ดูการประเมินขององค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ ใน "10 Facts on Climate Change and Health", World Health Organization website, 7 April 2008, www.who.int/features/factfiles/climate_change/en/index.html.

๗. วินิจฉัยอาการทุนนิยมโลกาภิวัตน์: เงินตรา
มติชนรายวัน วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11024

จ๊าค อัตตาลี ปัญญาชนเทคโนแครตชั้นนำของฝรั่งเศส อดีตผู้ช่วยสูงสุดของประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ มิตเตอรองด์, ผู้ก่อตั้งและประธานคนแรกของธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาแห่งยุโรป, และล่าสุดหัวหน้าคณะกรรมาธิการ จัดทำรายงานเสนอแนะ "เพื่อปลดปล่อยการเติบโต" ของเศรษฐกิจฝรั่งเศสแก่ประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โคซี ได้วาดจินตภาพสมมุติกรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเป็นไปได้ ของวิกฤตซับไพรม์และการเงินโลกปัจจุบันว่า:

ตรงข้ามกับการประเมินของผู้บริหารไอเอ็มเอฟ และสถาบันการเงินการธนาคารชั้นนำของโลกที่มองแง่ดีว่า ควบคุมวิกฤตซับไพรม์และการเงินไว้ได้, เศรษฐกิจจริงภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกยังเติบโตแข็งแรง, และธนาคารกลางนานาประเทศมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศล้นเหลือเกินพอจะสู้วิกฤต หากมันกำเริบขึ้นมาอีกนั้น การณ์กลับกลายเป็นว่า...

- ธนาคารใหญ่ที่สุดของอเมริกาและของโลกพลันล้มละลาย
- ประธานาธิบดีบุชผู้ลูก ตัดสินใจโอนกิจการธนาคารแห่งนี้เป็นของรัฐ โดยเรียกเก็บเงินภาษีบริโภคพิเศษจากประชาชน มาเป็นทุนสนับสนุน
- แม่แบบเศรษฐกิจตลาดเสรีทั้งหมดถูกตั้งคำถาม

- ชาวอเมริกันตื่นกลัวข่าวลือ แห่กันไปถอนเงินฝากจากธนาคาร ตลาดหุ้นล่ม คนตกงานเกลื่อนกลาด การบริโภคหดตัวหนัก เศรษฐกิจเริ่มถดถอย ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยเป็น 0% แต่ก็ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจกระเตื้องแต่อย่างใด

- รัฐบาลอเมริกันจนปัญญา จึงตัดสินใจให้ยาแรงโดยระงับตลาดตราสารออปชั่นทั้งหมด และหวนกลับไปฟื้นฟูระบบการเงิน สมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ธนาคารอเมริกันหยุดปล่อยสินเชื่ออย่างสิ้นเชิง เศรษฐกิจอเมริกันยิ่งทรุดต่ำ และจีนพลอยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยทันที

- ประธานาธิบดีอเมริกันที่ชนะเลือกตั้งคนใหม่ ประกาศแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับลูกโลก เชิญชวนมหาอำนาจเศรษฐกิจอย่างจีน รัสเซีย และประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ ให้ออกทุนสนับสนุนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา โดยมีบริษัทอเมริกันเป็นผู้รับเหมา โครงการนี้ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นในชั่วไม่ถึงสองปี

- เศรษฐกิจโลกพลิกโฉมใหม่ จีนเข้าครอบงำระบบการเงินโลก อเมริกาหวนกลับไปเป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรมการผลิตรวมทั้งไฮเทคอีก ส่วนยุโรปถูกลืมทิ้งไว้ข้างหลังเพราะปรับตัวไม่ทัน

(สรุปจาก Jacques Attali, "Imagining the worst-case scenario", Bangkok Post, 13 April 2008, p.9; อนึ่งสำหรับท่านผู้สนใจการวินิจฉัยคาดเดาอาการในเชิง "ประวัติศาสตร์แห่งอนาคต" ของโลกทุนนิยมเพิ่มเติม จ๊าค อัตตาลี ได้เสนอไว้โดยพิสดารใน Jacques Attali, Une breve histoire de l"avenir, Fayard, 2006)

สำหรับท่านที่เห็นว่าอัตตาลีออกจะมองโลกในแง่ร้ายเกินเหตุ ขออย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะอภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกมูลค่า 62 พันล้าน US$ ชาวอเมริกัน นายวอร์เรน บัฟเฟ็ต เพิ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ จะดำเนินไปนานกว่าและหนักกว่าที่ผู้คนส่วนใหญ่วิตกไว้ ไม่ใช่เพียงระยะสั้นๆ และผิวเผินเท่านั้น (""วอร์เรน บัฟเฟ็ต" ชี้เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยแย่กว่าที่คาด", มติชนออนไลน์, 29 เม.ย. 2551)

ดังนั้น ตามการประเมินของเปอรี่ แอนเดอสัน แห่งกองบรรณาธิการวารสาร New Left Review ในบรรดา "สินค้าในนิยาย" ซึ่งเป็นจุดอ่อนเปราะของเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรีโลกาภิวัตน์ทั้ง 3 อัน ได้แก่ แรงงาน, ธรรมชาติ, และเงินตรานั้น เงินตรายังคงเป็นห่วงโซ่ข้อที่อ่อนเปราะที่สุดในปัจจุบันและอนาคตที่พอเล็งเห็นได้ (Perry Anderson, "Jottings on the Conjuncture", New Left Review, II/48 (November-December 2007) กล่าวคือ:

ภาวะเสียดุลในระเบียบการเงินโลกกลายเป็นประเด็นวิตกวิจารณ์ในสื่อธุรกิจโลกเป็นประจำ มันก่อให้เกิดสภาพวิปริตผิดประหลาดชวนพิศวงที่....

- อเมริกาตกเป็นหนี้ชาวโลกเพิ่มขึ้นนาทีละ 1 ล้าน US$!
- แต่ละวันจีนส่งเงินมาให้ชาวอเมริกันหยิบยืมใช้ 1 พันล้าน US$ ทุกวัน!!
- ชาวอเมริกันทุกคนเป็นหนี้คนจีนโดยเฉลี่ย 4,000 US$!!! เป็นต้น

(ข้อมูลจาก The Associated Press, "National Debt Grows $1 Million a Minute", Truthout, accessed 4 December 2007, www.truthout.org/ docs_2006/printer_120307J.s html; และ James Fallows, Interview "Market Turmoil Highlights China"s Impact on U.S. Economy", PBS Online NewsHour, accessed 12 March 2008, www.pbs.org/newshour/ bb/asia/jan-june08/china_01-23.html 3/12/2008)

สมุฏฐานของมันประกอบด้วย:

- สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าหนักขึ้นเรื่อย ๆ
- ขณะจีนกับญี่ปุ่นสะสมเงินดอลลาร์จากการได้เปรียบดุลการค้ากองใหญ่โตมโหฬารเท่าภูเขาเลากาท่วมท้นทวี
- ส่วนยุโรปต้องแบกรับผลสะเทือนจากสินค้านำเข้าราคาถูกจากเอเชีย แต่กลับส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศแข่งกับอเมริกาลำบากขึ้น เพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกำลังถูกลงเมื่อเทียบกับเงินยูโร

การขยายสินเชื่ออย่างหน้ามืดตามัว ขับดันให้เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ในเศรษฐกิจทุนนิยมชั้นนำของโลกประเทศแล้วประเทศเล่า ไม่ว่าอเมริกา, อังกฤษ, สเปน, ไอร์แลนด์, ออสเตรเลีย จนแม้ประเทศที่ยังไม่เกิดฟองสบู่อสังหาฯ อย่างเยอรมนี ก็พลอยติดร่างแห รับผลสะเทือนของวิกฤตผ่านการเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ ที่แปรรูปมาจากสินทรัพย์ (securitization) กับเขาด้วย. แน่นอนว่าด้านหนึ่งก็มีการออกแบบจัดวางกลไกประสานงานระหว่างรัฐขึ้นมา เพื่อระวังป้องกันการล่มสลาย ของตลาดทุนนับแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 ภายใต้การนำของกลุ่มประเทศ G-8 (ฝรั่งเศส, อเมริกา, อังกฤษ, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, อิตาลี, แคนาดา, สหภาพยุโรป, รัสเซีย) รวมทั้งการตกลงทำความเข้าใจร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการ ในหมู่ธนาคารกลางของนานาประเทศ

แต่ก็เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่นักสังเกตการณ์ว่า อัตราลุกลามรวดเร็วราวประกายไฟไหม้ลามทุ่ม และขอบเขตแผ่ขยายกว้างไพศาลของวิกฤตการเงินทุกวันนี้ อาจเหลือวิสัยที่กลไกเหล่านี้จะรับมือไหวก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม มรสุมเงินตราดังกล่าวเป็นเพียงอาการแสดงออกที่ผันผวนปรวนแปรที่สุด ของการเคลื่อนย้ายแปรสัณฐานครั้งมหึมาในภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งอยู่เบื้องหลัง

ณ ระดับภาคเศรษฐกิจจริง เห็นได้ชัดว่าปัญหาหลักที่ยังแก้ไม่ตก - ตั้งแต่ก่อนจีนกับอินเดียเข้าร่วมเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรีของโลกด้วยซ้ำไป - คือภาวะการผลิตล้นเกิน (over-production) ในหลายอุตสาหกรรมสำคัญในตลาดโลก เช่น สิ่งทอ, รถยนต์ ฯลฯ เมื่อบวกจีนกับอินเดียเข้ามา (ประชากรประมาณ 1,330 ล้าน + 1,100 ล้านคน) คำถามก็คือการขยายอุปสงค์โลก (global demand) ที่เกิดขึ้นจากผู้บริโภคอีก 2,400 ล้านคน จะถ่วงทันอุปทานผลผลิตล้นเกิน (over-supply) ที่ยิ่งหนักหน่วงขึ้น ซึ่งอาจตามมาจากพลังการผลิตเพิ่มเติมของสองประเทศยักษ์ใหญ่นี้หรือไม่? หรือว่าอุปทานจะท่วมท้นล้นเกินอุปสงค์เสียจนกระทั่งเกิดอาการตึงตัวเขม็งเกลียวไปทั้งระบบหนักกว่าก่อนอีก?

ไม่ว่าคำตอบสุดท้ายจะเป็นเช่นใด เห็นได้ว่าเงินตราน่าจะเป็นตัวกระตุกกระตุ้นให้เกิดความไร้เสถียรภาพในระบบทุนนิยมโลกต่อไปมากที่สุด

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com