1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
กล่าวในเชิงเปรียบเทียบกับรูปแบบการบูรณาการของสหภาพยุโรป ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความหลากหลายทางด้านวัฒน ธรรมมากเกินกว่าที่จะบูรณาการทางการเมือง และเศรษฐกิจตามรูปแบบของสหภาพยุโรปได้ และที่สำคัญคือทางด้านกายภาพ ซึ่งประ เทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดของประเทศ ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ระดับการพัฒนาประชาธิปไตย และระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่แตกต่างเกินกว่าที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ด้วยความแตกต่างเหล่านี้เองที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการจัดตั้งองค์กรตามแบบพิธีการ ตามแนวทางของสหภาพยุโรป... Berkofsky, A. (2005). Comparing EU and Asian integration process: The EU a role model for Asia?
19-04-2552
(1721)
รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
(Political Science and International Relations)
องค์กรเหนือรัฐและองค์กรระหว่างรัฐบาล:
จากทฤษฎีสู่กรณีเปรียบเทียบ
ดร.ธนวัฒน์ พิมลจินดา : เขียน
สถาบันการศึกษานานาชาติ (IIS) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความวิชาการนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
สำหรับเผยแพร่บนเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน
ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ดังมีโครงร่างสำคัญดังต่อไปนี้...
- ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐภายใต้องค์กรระดับภูมิภาค
- การบูรณาการตามแนวคิดหน้าที่นิยมใหม่ (Neo-functionalist approach)
- การบูรณาการตามแนวคิดองค์กรระหว่างรัฐบาล (Intergovernmentalism)
- จากแนวคิดสู่ความเป็นจริง / จากแนวคิดสู่ความเป็นจริง / การปรับตัวของอาเซียน
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด
"รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ)
สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๒๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๔.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
(Political Science and International Relations)
องค์กรเหนือรัฐและองค์กรระหว่างรัฐบาล:
จากทฤษฎีสู่กรณีเปรียบเทียบ
ดร.ธนวัฒน์ พิมลจินดา : เขียน
สถาบันการศึกษานานาชาติ (IIS) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
๑. ความนำ
จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสู่การบูรณาการระดับภูมิภาค รวมทั้งตัวแสดงหลัก
(Key actor) ที่กระตุ้นให้เกิดการบูรณาการยังคงเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ประเด็นที่น่าสนใจในการวิเคราะห์กระบวนการบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐ คือ
การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบระหว่าง "การเมืองนำการบูรณาการ" (Politic-led
integration) และ "ตลาดนำการบูรณาการ" (Market-led integration) และระหว่าง
"การบูรณาการตามแบบพิธีการ" (Formal integration) และ "การบูรณาการอย่างไม่เป็นทางการ"
(Informal integration)
จากข้อเสนอของ Williams Wallace (1990) การบูรณาการตามแบบพิธีการ หมายถึง "การบูรณาการเชิงนิตินัย" (De jure) โดยผ่านกระบวนการใช้อำนาจของรัฐในการจัดทำข้อตกลง ปฎิญญา สนธิสัญญา ร่วมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดกรอบความร่วมมือและวิธีปฏิบัติระหว่างรัฐสมาชิก ขณะที่การบูรณาการอย่างไม่เป็นทางการ หมายถึง "การบูรณาการเชิงพฤตินัย" (De facto) ซึ่งเป็นผลมาจากการติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ และแรงงานระหว่างกันขององค์กรเอกชนของรัฐในตลาดระดับภูมิภาค (1) จากแนวคิดเหล่านี้ สามารถจัดระเบียบในการอธิบายได้ ตามตารางต่อไปนี้
(1) Wallace, W. (Ed.). (1990). The dynamics of European integration. London: Pinter.
จากที่กล่าวมาเปรียบเสมือนประเด็น "ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน" กล่าวคือ การบูรณาการระดับภูมิภาคจำเป็นต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือทางการเมืองระหว่างรัฐตามแบบพิธีการ เพื่อนำไปสู่การติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในตลาด หรือจะเกิดขึ้นในทางกลับกัน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเข้าถึงการวิเคราะห์ถกเถียงในประเด็นข้างต้น ยังมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับความหมายที่แตกต่างของศัพท์เฉพาะ (Terminology) ระหว่างคำว่า ภูมิภาค (Region) ภูมิภาคาภิวัตน์ (Regionalization) และภูมิภาคนิยม (Regionalism) ซึ่งจะได้นำเสนอดังต่อไปนี้
๒. คำนิยามศัพท์
โดยทั่วไป ความร่วมมือระหว่างรัฐมีรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งในระดับทวิภาคี
(Bilateral) และพหุภาคี (Multilateral) ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในขอบเขตภูมิภาค (Regional)
ระดับข้ามภูมิภาค (Cross-regional) และระหว่างภูมิภาค (Inter-regional) จากรูปแบบที่แตกต่างเหล่านี้
จึงเกิดคำถามตามมาว่า ความหมายและลักษณะของความร่วมมือระดับภูมิภาคจะถูกกำหนดขึ้นจากตัวแปรอะไรและอย่างไร
เพื่อเป็นการนำทางเข้าสู่สาระสำคัญ ผู้เขียนได้เสนอคำจำกัดความโดยสังเขปของศัพท์ที่สำคัญ
ซึ่งประกอบด้วย ภูมิภาค (Region) ภูมิภาคาภิวัตน์ (Regionalization) และภูมิภาคนิยม
(Regionalism) ดังนี้
๒.๑ ภูมิภาค (Region)
ความหมายและขอบเขตของ "ภูมิภาค" เป็นประเด็นพื้นฐานที่ได้รับการถกเถียงอยู่พอสมควรในการศึกษาลักษณะขององค์กรระหว่างประเทศ
(International organization) ปัจจัยเบื้องต้นที่ใช้ในการกำหนดขอบเขตของภูมิภาคมี
2 ปัจจัยสำคัญ คือ
(1) ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ (Geography) ตามความหมายนี้ ภูมิภาคจะถูกกำหนดจากการปักปันเขตแดนด้วยปัจจัยทางกายภาพ (Physical barriers) และบ่งชี้ลักษณะจำเพาะด้วยระบบนิเวศน์ (Ecological characteristics) จากปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์นี้ ความเป็นภูมิภาคจึงถูกอธิบายว่าเป็นสิ่งที่ "เกิดขึ้นตามธรรมชาติ" (Region as a given)
(2) ภูมิภาคมักจะถูกกำหนดโดยกลุ่มประเทศที่อยู่ในขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เดียวกัน (Geographically specified area) ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน และมีการพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน (Degree of mutual interdependence) ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ตามความหมายนี้ ความเป็นภูมิภาคจึงถูกอธิบายว่าเป็นสิ่งที่ "ถูกสร้างขึ้น" (Region as a constructed)
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการกำหนดนิยามใหม่ให้กับความเป็นภูมิภาค คือ ความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงทฤษฎีสังคมโลก เช่น แนวคิดตามแบบการตีความหมาย (Constructivism) จากข้อเสนอของ Alexander Wendt (1992) (*)
(*) Alexander Wendt (born 1958 in Mainz, West Germany) is one of the core social constructivist scholars in the field of international relations. Social Theory of International Politics: Wendt's most widely cited work to date is Social Theory of International Politics (Cambridge University Press, 1999), which builds on and goes beyond his 1992 article "Anarchy Is What States Make Of It". Social Theory of International Politics places itself as a response to Kenneth Waltz's 1979 work, Theory of International Politics, the canonical text of the neorealist school.
"สังคมโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว การก่อตัวของโครงสร้างทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างกันมีปัจจัยที่สำคัญ 3 ส่วน คือ
- การรับรู้และเข้าใจร่วมกัน (Shared understanding)
- ความคาดหวัง (Expectation) และ
- ความรู้ (Knowledge)สิ่งเหล่านี้ได้ประกอบกันขึ้นเป็นบทบาทของตัวแสดงแต่ละตัวที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ ซึ่งหมายรวมถึงลักษณะของความสัมพันธ์ของตัวแสดงเหล่านั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความร่วมมือหรือความขัดแย้ง ยกตัวอย่างเช่น สภาวะหนีเสือปะจระเข้ในเรื่องความมั่นคง (Security dilemma) นับเป็นสภาวการณ์หนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สลับซับซ้อน ทั้งนี้เป็นผลมาจาก "ความเข้าใจเชิงอัตวิสัยระหว่างกัน" (Inter-subjective understandings) ในแง่มุมที่ว่า รัฐเป็นตัวแสดงที่ไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งต่างก็ระแวงแคลงใจในบทบาทและเป้าหมายของอีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นฐานความคิดในการพึ่งตัวเองเพื่อผลประโยชน์. ในทางกลับกัน การสร้างประชาคมความมั่นคง (Security community) เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างจากที่กล่าวมา ในแง่มุมที่ว่า การรับและรู้เข้าใจร่วมกันระหว่างรัฐ จะนำไปสู่การสร้างความเชื่อถือไว้วางใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกันด้วยสันติวิธี" (2)
(2) Wendt, A. (1992). Anarchy is what states make of it. International Organization, 46, 394-419.
จากแนวคิดตามแบบการตีความหมายนี้ ความเป็นภูมิภาคจึงประกอบขึ้นจากความร่วมมือทางการเมืองและสังคม โดยใช้กลไกของตลาดเป็นตัวประสาน นอกจากนี้ Peter Katzenstein (2000) ได้กล่าวเพิ่มเติมไว้ว่า การกำหนดความเป็นภูมิภาคในทางภูมิศาสตร์ ไม่ใช่สิ่งที่แท้จริงและไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปโดยธรรมชาติหรือเกิดขึ้นเอง หากแต่ภูมิภาคเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นในเชิงสังคมและการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ (3) ข้อเสนอนี้มีความคล้ายคลึงกับแนวคิดในทางสังคมวิทยาของ Benedict Anderson (1991) ที่กล่าวว่า ชาติ คือ ประชาคมที่ถูกกำหนดขึ้นจากจินตนากรรม (Imagined community) ซึ่งประชาชนในสังคมสาธารณะจะแลกเปลี่ยนลักษณะพื้นฐานทางภาษาและวัฒนธรรม หรือมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันทางการเมืองและเศรษฐกิจ (4)
(3) Katzenstein, P. (2000).
New political economy. Abingdon, 5(3), 353-370.
(4) Anderson, B. (Ed.). (1991). Imagined communities: Reflections on the origin
and spread of nationalism. London: Verso.
Toshiro Tanaka และ Takashi Inoguchi (1996) กล่าวย้ำว่า ความเป็นภูมิภาคเปรียบเสมือนระบบทางสังคม ที่แสดงให้เห็นถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในแต่ละท้องถิ่น โดยผ่านกระบวนการจัดการความร่วมมืออย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร หรือแม้แต่วัฒนธรรม เป็นต้น (5) และด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบ จึงนำไปสู่การตีความว่าเป็นภูมิภาคตามแบบพิธีการ (Formal region) และภูมิภาคตามรูปแบบนี้เอง ที่นำไปสู่การสร้างความมั่นคงเชิงซ้อน ซึ่งหมายถึง การที่หน่วยทางสังคมแต่ละหน่วย มีการพึ่งพาระหว่างกันได้ ตราบเท่าที่ความมั่นคงในภูมิภาคนั้นยังคงอยู่
(5) Tanaka, T., & Inoguchi, T. (Eds.). (1996). Globalism and regionalism: The new face of regionalism. Paper delivered at the United Nations University, Global Seminar 1996 Shonan Session, Hayama, Japan.
เราจะสังเกตได้ว่า ภูมิภาคถูกสร้างขึ้นจากการรับรู้และตีความของตัวแสดงแต่ละตัวในภูมิภาค ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ภูมิภาคเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์และสร้างสรรค์ขึ้น ทั้งจากการเชื่อมต่อในเชิงภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์ในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยผ่านกระบวนการติดต่อสื่อสารระหว่างกันทางสังคม
๒.๒ ภูมิภาคาภิวัตน์ (Regionalization)
ภูมิภาคาภิวัตน์ หรือ การสร้างความเป็นภูมิภาค เป็นกระบวนการเชื่อมโยงทางสังคมภายในอาณาบริเวณหนึ่งๆ
โดยผ่านกระบวนการติดต่อทางเศรษฐกิจระหว่างสังคมชุมชน Andrew Hurrell (1995) ได้กล่าวว่า
ภูมิภาคาภิวัตน์เป็นกระบวนการเชื่อมโยงข้ามผ่านเขตแดนระหว่างกัน รวมถึงการเคลื่อนย้ายสินค้า
บริการ ทุน เทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร และคน เป็นต้น กระบวนการดังกล่าว เป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทของตลาดและตัวแสดงทางเศรษฐกิจ
ในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันภายในขอบเขตภูมิภาคเป็นหลัก โดยผ่านกลไกสำคัญคือการจัดทำข้อตกลงทางการค้า
(6)
(6) Hurrell, A. (1995). Regionalism in theoretical perspective. In Fawcett Louise, & Hurrell Andrew (Eds.), Regionalism in world politics: Regional organization and international order. New York: Oxford University Press.
จากแนวคิดตามแบบการตีความหมาย (Constructivism) แม้ว่าเครือข่ายเชื่อมโยงในภูมิภาคอาจเกิดขึ้นเองหรือถูกชักนำให้มาบรรจบกัน โดยผลจากระบอบการปกครอง นโยบายทางเศรษฐกิจ หรือประเด็นความมั่นคงที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันของแต่ละรัฐ แต่ถ้าหากรัฐบาลและประชาชนในรัฐปฏิเสธต่อความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับแล้วนั้น เครือข่ายเชื่อมโยงในภูมิภาคก็จะเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย
๒.๓ ภูมิภาคนิยม (Regionalism)
ภูมิภาคนิยมเป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐที่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบมากกว่าแค่การพึ่งพาระหว่างกันทางเศรษฐกิจ
โดยผ่านกระบวนการจัดตั้งองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างเป็นทางการ (Formal
regional organization) หรือสถาบันที่สามารถจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในแต่ละมิติได้อย่างชัดเจน
กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ภูมิภาคนิยมจึงหมายถึงแนวทางที่รัฐและประชาชนของแต่ละรัฐ
ได้สร้างประชาคมความร่วมมือระหว่างกันโดยสมัครใจและยินยอมเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ทั้งโดยผ่านการจัดทำข้อตกลงตามแบบพิธีการ
(Formal agreements) หรือการเจราจาหารือร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างรัฐบาล
ข้อตกลงที่จัดทำขึ้นนี้ จึงมีเป้าประสงค์เพื่อที่จะจัดการหรือบูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งอาจหมายรวมถึงการระดมทรัพยากรต่างๆ เพื่อการจัดระบบในเชิงสถาบันและหน้าที่การทำงานระหว่างกันของรัฐสมาชิกตามข้อตกลงร่วม ตามรูปแบบเช่นว่านี้ Kanishka Jayasuriya (1994) ได้กล่าวว่า ภูมิภาคนิยม (Regionalism) คือ ชุดของธรรมเนียมปฎิบัติตามพิธีการซึ่งถูกกำหนดขึ้นจากวาทกรรมทางการเมือง รวมทั้งกระบวนการสร้างมโนทัศน์เพื่อที่จะกำหนดว่าความเป็นภูมิภาคและภูมิภาคาภิวัตน์ควรมีลักษณะอย่างไรและมีองค์ประกอบอะไรบ้าง (7) ภายใต้แนวคิดนี้ จึงครอบคลุมถึงการระบุตัวแสดง บทบาท และความสัมพันธ์ของตัวแสดงแต่ละตัว ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องภายในภูมิภาค และเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดอัตลักษณ์ของภูมิภาคอีกด้วย
(7) Jayasuriya, K. (1994). Singapore: The politics of regional definition. In Peter Katzenstein (2000), New political economy. Abingdon, 5(3), 411-420. โปรดดูเพิ่มเติมที่ Rosamond, B. (2000). Theories of European integration. Basingstoke: Macmillan Press.
จากที่กล่าวมา เราสามารถกำหนดลักษณะของความเป็นภูมิภาคได้ค่อนข้างชัดเจน ทว่าลักษณะของ "ภูมิภาคาภิวัตน์" และ "ภูมิภาคนิยม" ยังคงมีข้อถกเถียงอยู่พอสมควร นั้นเป็นเพราะว่า ความหมายของทั้ง 2 คำนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องในเชิงภูมิศาสตร์หรือการรับรู้และตีความเพียงเท่านั้น หากแต่จำเป็นต้องคำนึงถึงการเชื่อมโยงระหว่างการกำหนดนโยบายของแต่ละรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรระดับภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้น มโนทัศน์เกี่ยวกับภูมิภาคาภิวัตน์และภูมิภาคนิยมยังมีผลกระทบต่ออำนาจรัฐและการพัฒนาภายในรัฐ ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่การวิเคราะห์ผลกระทบของภูมิภาคนิยมและระดับการบูรณาการความร่วมมือที่มีต่อรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐอื่นในเวทีระดับภูมิภาค ทั้งในประเด็นด้านความมั่นคง อำนาจอธิปไตย และผลประโยชน์แห่งรัฐ
๓. ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐภายใต้องค์กรระดับภูมิภาค
รูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐ (Pattern of interstate relations) และระดับของการบูรณาการในภูมิภาค
(Degree of regional integration) มีส่วนเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพและความมั่นคงแห่งรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม
ในเบื้องต้น รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐภายใต้กรอบขององค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค
สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบหลัก คือ
- องค์กรเหนือรัฐ (Supranational organization) และ
- องค์กรระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental organization)
เพื่อจำแนกลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐภายใต้กรอบความร่วมมือตามรูปแบบดังกล่าว ตลอดจนผลกระทบที่มีต่ออำนาจอธิปไตยและผลประโยชน์แห่งรัฐ ในส่วนต่อไปนี้จะได้นำเข้าสู่ข้อเสนอเชิงทฤษฎีและบทวิเคราะห์ ควบคู่กับกรณีตัวอย่างระหว่างสหภาพยุโรป (EU) และอาเซียน (ASEAN)
๓.๑ การบูรณาการตามแนวคิดหน้าที่นิยมใหม่
(Neo-functionalist approach)
แนวคิดตามแบบหน้าที่นิยมใหม่ (Neo-functionalism) มีรากฐานมาจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนวเสรีนิยม
(Liberalism) นักคิดที่สำคัญในกลุ่มนี้ คือ Ernst Haas จากผลงานเรื่อง The Uniting
of Europe ที่นำเสนอในปี 1958 ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมโดย Leon N. Lindberg
จากผลงานเรื่อง The Political Dynamics of European Integration ที่นำเสนอในปี
1963 (8) แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับกระบวนการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างรัฐ รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคม
ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักของการบูรณาการระดับภูมิภาค โดยที่แนวคิดนี้เน้นการอธิบายในขอบเขตของประชาคมยุโรป
(European Community)
(8) Haas, E. B. (1958).
The Uniting of Europe. Stanford: Stanford University Press และ Lindberg, L.
N. (1963).
The political dynamic of European integration. Stanford: Stanford University.
จากคำอธิบายของ Haas การบูรณาการระดับภูมิภาคเป็นกระบวนการไหลบ่า (Spillover) และการขยายขอบเขตความร่วมมือเพื่อการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรัฐ (Ramification) โดยที่การพึ่งพาอาศัยกันในภาคหนึ่งจะนำไปสู่การพึ่งพาในภาคอื่นๆ ด้วยแนวทางนี้ การเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐในเชิงนโยบายจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในมิติอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ระบบการค้าเสรีภายใต้กรอบสหภาพภาษีศุลกากรของยุโรป จะนำไปสู่การประสานกลมกลืนของนโยบายทางเศรษฐกิจ และท้ายที่สุดแล้วก็จะเกิดสภาวะของการไหลบ่าเข้าสู่ความร่วมมือทางการเมือง
นอกจากนี้ Haas (1958) ยังให้ข้อเสนอว่า การบูรณาการระดับภูมิภาคเป็นกระบวนการที่ตัวแสดงทางการเมืองถูกชักนำให้โยกย้ายถ่ายโอนความภักดีที่มีต่ออำนาจสูงสุดแห่งรัฐ (Loyalties) ผ่านทางกิจกรรมทางการเมือง (Political activities) เพื่อผลประโยชน์ที่คาดหวัง (Expectations) เข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจใหม่ซึ่งมีอิทธิพลเหนือรัฐ กระบวนการบูรณาการยังอาจได้รับแรงขับเคลื่อนจากกลไกความร่วมมือทางวิชาการ (Epistemic community) และการขยายขอบเขตองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อน ในขณะที่กระบวนการถ่ายโอนอำนาจกำลังดำเนินอยู่นั้น ค่านิยมร่วมและผลประโยชน์ที่คาดหวังจะถูกปรับเปลี่ยนจากระดับรัฐสู่ระดับภูมิภาคด้วย
จากข้อเสนอของ Lindberg (1963) การบูรณาการ คือ กระบวนการดำเนินงานระหว่างรัฐเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน นั่นคือ การรวมตัวทางการเมือง (Political unification) กระบวนการนี้จึงมีลักษณะเป็นวิวัฒนาการที่มีความต่อเนื่องของระบบการตัดสินใจร่วมกันระหว่างรัฐ โดยที่รัฐยินยอมที่จะสละความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย เพื่อแสวงหาแนวทางการดำเนินงานและการตัดสินใจร่วมกันในระดับสถาบันเหนือรัฐ รวมถึงความสมัครใจที่จะลดหรือยกเลิกข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคต่อการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ ทุน และแม้แต่การติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชน จากแนวคิดของ Lindberg (1963) นี้ การบูรณาการระดับภูมิภาคจะประสบความสำเร็จได้ในบริบทที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจมีอิทธิพลเหนือการเมือง ซึ่งการเมืองจะเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการบูรณาการเท่านั้น
๓.๒ การบูรณาการตามแนวคิดองค์กรระหว่างรัฐบาล
(Intergovernmentalism)
การบูรณาการระดับภูมิภาคตามแบบระหว่างรัฐบาล (Intergovernmentalism) เป็นหนี่งในแนวคิดที่พัฒนาขึ้นเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกับลักษณะของความร่วมมือของสหภาพยุโรป
โดยมีพื้นฐานแบบสัจนิยม (Realist perspective) นักคิดที่สำคัญคือ Stanley Hoffmann
และ Andrew Moravcsik ซึ่งมีมุมมองเกี่ยวกับการบูรณาการระดับภูมิภาคที่แตกต่างจากแนวคิดตามแบบหน้าที่นิยมใหม่
โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสภาวะการไหลบ่าของความร่วมมือจากภาคส่วนหนึ่งไปสู่อีกภาคส่วนหนึ่ง
นักคิดในกลุ่มนี้เห็นพ้องต้องกันเป็นพื้นฐานว่า รัฐเป็นตัวแสดงหลักท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เต็มไปด้วยการช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์
ซึ่งบทบาทและการตอบโต้ต่อภัยคุกคามต่างๆ ก็เป็นไปเพื่อปกป้องอำนาจและผลประโยชน์แห่งรัฐนั่นเอง
โดยเฉพาะการปกป้องอำนาจอธิปไตย
จากแนวคิดของ Hoffmann (1966) การคงอยู่และเปลี่ยนแปลงของระบบระหว่างประเทศ (International system)(*) ต่างก็มีเหตุปัจจัยและบทสรุปในตัวของมันเอง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงตัวแสดงตั้งแต่ระดับภายในประเทศ สู่สถานการณ์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ และสิ้นสุดที่ผลลัพธ์ของเหตุปัจจัยนั้น จากแนวคิดนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐหรือการบูรณาการระดับภูมิภาค จึงเป็นกลยุทธ์ที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเมืองภายในของรัฐสมาชิก และแนวร่วมหรือพันธมิตรของแต่ละรัฐในระบบระหว่างประเทศนั้น (9)
(*) ณ ที่นี้ หมายถึง จากระบบสองขั้วอำนาจในยุคสงครามเย็น สู่ระบบเอกะอภิมหาอำนาจในยุคหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จนถึงระบบหลายขั้วอำนาจ ในยุคโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ
(9) Hoffmann, S. (1966).
Obstinate or obsolete? The fate of the nation-state and the case of Western
Europe.
Daedalus, 95, 892-908.
นอกจากนี้ Hoffmann (1966) ได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างตรรกของการบูรณาการกับตรรกของความหลากหลาย โดยที่ตรรกของความหลากหลายนี้เอง ที่เป็นตัวกำหนดระดับของกระบวนการไหลบ่าตามที่เสนอไว้ตามแบบหน้าที่นิยม. Hoffmann (1966) ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์แห่งรัฐแล้วนั้น รัฐแต่ละรัฐจึงพยายามที่จะ "แสวงหาความมั่นคง" หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็น "ความไม่มั่นคงที่ยังสามารถควบคุมได้" จากความร่วมมือกับรัฐอื่น มากกว่า "ความไม่มั่นคงที่ไม่สามารถควบคุมได้" อันเกิดมาจากการบูรณาการ. ความไม่มั่นคงตามที่ Hoffmann (1966) เสนอมา คือ สภาวะที่การเมืองเข้ามามีบทบาทต่อผลประโยชน์แห่งรัฐ มากกว่าสภาวะการไหลบ่าของความร่วมมือที่การเมืองมีบทบาทอยู่ในระดับต่ำ
Moravcsik (1993) กล่าวว่า ผลประโยชน์แห่งรัฐ เป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมืองภายใน จากการที่กลุ่มสังคมต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมือง การทำความเข้าใจกับการเมืองภายในประเทศ จึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญสำหรับการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐ (10) สำหรับ Moravcsik (1995) แล้ว แนวคิดการบูรณาการระดับภูมิภาคตามแบบระหว่างรัฐบาลแนวเสรี (Liberal intergovernmentalism) เชื่อว่า การตัดสินใจร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือของประชาคมยุโรป (EC) ไม่ได้เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะอนาธิปไตย หากแต่คงอยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงร่วมกันที่ได้รับการยอมรับมาแต่เดิม ควบคู่กับการเคารพในสิทธิและทางเลือกในการตัดสินใจตามบทบาทและความต้องการของตัวแสดงทางสังคมและรัฐสมาชิก (11)
(10) Moravcsik, A. (1993).
Preferences and power in the EC: A liberal intergovernmentalist approach.
Journal of Common Market Studies, 31(4), 473-524.
(11) Moravcsik, A. (1995).
Liberal intergovernmentalism and integration: A rejoinder. Journal of Common
Market Studies,
33(4), 611-628.
การบูรณาการตามแนวทางนี้ จึงเป็นวิถีทางที่สำคัญสำหรับรัฐสมาชิกในการบรรลุถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยผ่านกระบวนการเจรจาในระดับภูมิภาค นั่นเป็นเพราะการรักษาผลประโยชน์แห่งรัฐจากการบรรลุผลการเจรจาระดับภูมิภาค ทำให้รัฐบาลสามารถขยายขอบเขตอำนาจในระดับภูมิภาค และเมื่อพิจารณาในทางกลับกัน รัฐบาลก็ยังสามารถสร้างความน่าเชื่อถือและฐานอำนาจภายในประเทศ
Moravcsik (1995) อ้างเหตุผลว่า พื้นฐานของกระบวนการบูรณาการ คือ การรับรู้และเล็งเห็นถึงผลประโยชน์แห่งรัฐ ความร่วมมือในเชิงสถาบันของประชาคมยุโรป (EC) ได้สร้างฐานอำนาจให้กับรัฐสมาชิกใน 2 มิติ กล่าวคือ
(1) ความร่วมมือระดับประชาคมยุโรปได้พัฒนาประสิทธิภาพในการต่อรองระหว่างรัฐ (Interstate bargaining) ในเวทีระหว่างประเทศ และ
(2) ความร่วมมือระดับประชาคมยุโรป ได้เพิ่มเอกสิทธิ์ให้กับผู้นำของแต่ละรัฐโดยปริยาย รวมทั้งความชอบธรรม และความไว้วางใจในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและสังคม
นอกจากนี้ การขยายจำนวนรัฐสมาชิกและความต้องการของประเทศรอบนอกในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป รวมทั้งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการขยายตัวในอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด หากแต่ผู้นำรัฐสมาชิกเดิมเห็นว่า การขยายจำนวนสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปหมายถึงผลประโยชน์ทั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคต จากแนวคิดการบูรณาการตามแบบระหว่างรัฐบาลแนวเสรี (Liberal intergovernmentalism) ตรรกที่ใช้ในการอธิบายโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐภายใต้กรอบความร่วมมือของสหภาพยุโรป สรุปได้ดังนี้
(1) ความสัมพันธ์ตามแบบระหว่างรัฐบาลให้ความสำคัญกับบทบาทของรัฐในการบูรณาการระดับภูมิภาค โดยอ้างเหตุผลว่า ผลประโยชน์ในทางการเมือง คือ ตัวแปรที่สามารถควบคุมได้ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการบูรณาการ
(2) กระบวนการบูรณาการมีการพัฒนาแบบวิวัฒนาการ (Evolutionary) มากกว่าเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากตัวแปรใดตัวแปรหนึ่ง ซึ่งผลักดันให้การบูรณาการนั้นเกิดขึ้นและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตัวแปรเช่นว่านั้น (Teleological)
(3) กระบวนการบูรณาการโดยเนื้อแท้แล้ว ไม่ได้มีลักษณะเป็นอุดมคติตามแนวคิดแบบหน้าที่นิยม หากแต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในเชิงสัจนิยม โดยมีผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นตัวแปรหลักในการผลักดัน
๔. จากแนวคิดสู่ความเป็นจริง
จากที่ได้นำเสนอไปแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่า ไม่มีแนวคิดทฤษฎีใดที่สามารถอธิบายกระบวนการและเป้าหมายของการบูรณาการนั้นได้อย่างชัดเจน
หากแต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อมและแนวโน้มทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งภายในประเทศ
ภูมิภาค และสังคมระหว่างประเทศ
๔.๑ บทเรียนจากสหภาพยุโรป
ความแข็งแกร่งของสหภาพยุโรป (European Union: EU) เป็นผลผลิตจากวิวัฒนาการความร่วมมือระหว่างรัฐอันยาวนาน
แม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สหภาพยุโรปเป็นองค์การความร่วมมือระหว่างรัฐที่มีรูปแบบและโครงสร้างที่มั่นคง
และได้รับความสนใจจากองค์การระดับภูมิภาคอื่นในการนำไปปรับใช้อย่างแพร่หลาย ทว่ากว่าที่สหภาพยุโรปจะมีความเข้มแข็งได้ถึงทุกวันนี้
ต้องผ่านอุปสรรคและการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเช่นกัน (12)
(12) โปรดดูเพิ่มเติมที่
Laffan, B., O'Donnell, R., & Smith, M. (2000). Europe's experimental union:
Rethinking integration.
London: Routledge.
ในช่วงต้น ความร่วมมือระหว่างประเทศทางฝั่งยุโรปเป็นผลมาจากการที่ผู้นำประเทศตระหนักถึงปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Post-war economic depression) จากปัญหานี้ ผู้นำประเทศของฝรั่งเศสและเยอรมันตะวันตก จึงได้เห็นพ้องในการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Common market) ทางด้านถ่านหินและเหล็กกล้าตามแผนการมาร์แชลล์ (Marshall Plan) (*) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ตามแผนการดังกล่าว ทำให้มีการลงนามในสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) 6 ฝ่าย คือ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ ในปี 1951 ทั้งนี้เพื่อการจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้า (European Coal and Steel Community: ECSC) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 กรกฎาคม 1952
(*) The Marshall Plan (from its enactment, officially the European Recovery Program, ERP) was the primary plan of the United States for rebuilding and creating a stronger foundation for the countries of Western Europe, and repelling communism after World War II. The initiative was named for Secretary of State George Marshall and was largely the creation of State Department officials, especially William L. Clayton and George F. Kennan. George Marshall spoke of the administration's want to help European recovery in his address at Harvard University in June 1947.
เป้าหมายพื้นฐานของการจัดตั้ง ECSC มี 2 ประการสำคัญ คือ
(1) ต้องการผนวกรวมอำนาจทางการเมืองของฝรั่งเศสเข้ากับอำนาจทางเศรษฐกิจของเยอรมันตะวันตก
เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนแผนการบูรณาการระดับภูมิภาค และ
(2) ผลจากความร่วมมือหวังที่จะให้เกิดสันติภาพในภูมิภาค โดยเฉพาะเป็นการประสานรอยร้าวระหว่างเยอรมันตะวันตกและฝรั่งเศส
ดังนี้แล้ว จึงกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจได้ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาทางการเมือง (The motivation was political, but the means for achieving it was the economy) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปตามแนวทางความร่วมมือระหว่างรัฐบาล (Intergovernmentalism) ตามที่ได้นำเสนอไว้ในตอนต้นแล้ว
เพื่อสานต่อการพัฒนาระหว่างกัน ผู้นำรัฐสมาชิกได้จัดทำสนธิสัญญาเพื่อการจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป (European Atomic Energy Community: EAEC หรือ Euratom) และสนธิสัญญาเพื่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community: EEC) ณ กรุงโรมในปี 1957 ซึ่งสนธิสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ รวมเรียกว่า สนธิสัญญากรุงโรม โดยเฉพาะในกรณีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ (EEC) มีเจตจำนงเพื่อการจัดตั้งสหภาพภาษีศุลกากร (Customs Union) และเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างรัฐสมาชิก และเพื่อให้บรรลุถึงเจตนารมณ์ของสนธิสัญญานี้เอง ที่ทำให้รัฐสมาชิกจำเป็นต้องถ่ายโอนอำนาจการกำหนดนโยบายอย่างเป็นอิสระจากระดับรัฐ สู่สถาบันร่วมระดับภูมิภาค (Common institutions)
กระทั้งวันที่ 1 กรกฎาคม 1967 สนธิสัญญารวมประชาคมยุโรป (Merger Treaty) ได้รับการลงนาม เพื่อให้ความร่วมมือของประชาคมที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นจากสนธิสัญญาทั้ง 3 ฉบับข้างต้น ดำเนินไปอย่างราบรื่นภายใต้ชื่อ "ประชาคมยุโรป" (European Community: EC) การรวมตัวครั้งนี้ส่งผลต่อการรวมคณะมนตรี (Council of Ministers) ของทั้ง 3 ประชาคมเข้าด้วยกัน พร้อมกับเป็นการรวมคณะกรรมาธิการระดับสูง (High Authority) ของ ECSC เข้ากับคณะกรรมาธิการ (The Commission) ของ EEC และ EURATOM โดยรวมเรียกว่า "คณะกรรมาธิการยุโรป" (The European Commission) (13)
(13) ในห้วงช่วงเวลานี้
ประชาคมยุโรปได้รับสมาชิกใหม่เพิ่มอีก 6 ประเทศ คือ อังกฤษ ไอร์แลนด์ และเดนมาร์กในปี
1973 กรีซในปี 1981 และสเป
นและโปรตุเกสในปี 1986
ความคืบหน้าของการบูรณาการระดับภูมิภาคเริ่มปรากฏภาพชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากที่รัฐสมาชิกได้ลงนามความร่วมมือในสนธิสัญญาจัดตั้ง "ตลาดเดียวแห่งยุโรป" (Single European Act) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1987 ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะเป็นการยกเลิกข้อจำกัดทางการค้า การเงิน และภาษีศุลกากรเท่านั้น หากแต่มีเจตจำนงในการขยายขอบเขตการดำเนินงานและความร่วมมือไปสู่ภาคการเมือง จนกระทั้งวันที่ 1 พฤศจิกายน 1993 แนวคิดการรวมภูมิภาคยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียวก็สัมฤทธิ์ผล หลังจากที่รัฐสมาชิกได้ลงนามในสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป หรือสนธิสัญญามาสทริกท์ (Treaty of European Union หรือ Maastricht Treaty) ณ เมืองมาสทริกท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ (14)
(14) ในปี 2007 สหภาพยุโรปมีจำนวนสมาชิก 27 ประเทศ โดยที่ออสเตรีย ฟินแลนด์ และสวีเดนเข้าร่วมในปี 1995 ตามมาด้วยไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์ สโลวาเกีย และสโลวีเนียในปี 2004 และโรมาเนียและบัลแกเรียในปี 2007
ทั้งนี้ มีรัฐสมาชิกบางรัฐที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจในลักษณะการลงคะแนนเสียงข้างมากแบบมีเงื่อนไข (Qualified-majority vote) โดยเฉพาะในกรอบของ "คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป" (The Council of the European Union) ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ประกอบด้วยตัวแทนระดับรัฐมนตรีของรัฐสมาชิก ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจและประสานนโยบายของรัฐสมาชิก รวมทั้งมีหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติและมีอำนาจในการบริหาร (15) คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป มีแนวทางการตัดสินใจและลงคะแนนเสียง 2 รูปแบบ คือ
(1) แบบเป็นเอกฉันท์ (Unanimity) สำหรับกรณีที่รัฐสมาชิกจำเป็นต้องทำข้อตกลงเพื่อบังคับเป็นหลักปฏิบัติร่วมกัน และ
(2) แบบเสียงข้างมากแบบมีเงื่อนไข (Qualified-majority vote) สำหรับการตัดสินใจในกรณีที่เป็นประเด็นอ่อนไหว
(15) โปรดดูเพิ่มเติมที่ Hix, S. (2002). Linking national politics to Europe. London: The Foreign Policy Center.
ตามแนวทางที่ 2 นี้เอง ที่รัฐสมาชิกแต่ละรัฐจะมีคะแนนเสียงที่ถูกกำหนดแตกต่างกันไปตามสัดส่วนของจำนวนประชากรภายในประเทศ แม้ว่าจะคำนึงถึงรัฐสมาชิกขนาดเล็กแล้วก็ตาม การตัดสินใจร่วมกันตามรูปแบบนี้จะเป็นผลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ (1) ข้อเสนอในที่ประชุมต้องได้รับเสียงสนับสนุนประมาณ 74 เปอร์เซ็นต์ จากคะแนนเสียงทั้งหมด หรือ (2) ข้อเสนอในที่ประชุมต้องได้รับการผลักดันจากรัฐสมาชิกส่วนใหญ่ หรือ (3) รัฐที่สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวต้องมีประชากรรวมกันอย่างน้อยที่สุดประมาณ 62 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนประชากรรวมทั้งหมดของรัฐสมาชิก
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สนธิสัญญามาสทริกท์มีผลบังคับใช้
สหภาพยุโรปได้ปรับโครงสร้างและขอบเขตความร่วมมือขององค์การ
ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก (Three pillars)
(1) ประชาคมยุโรป (European Community) โดยที่รูปแบบการตัดสินใจจะเป็นไปในลักษณะองค์กรเหนือรัฐ (Supranational approach) เป็นหลัก ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
(2) นโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคง (Common Foreign and Security Policy) เป็นการส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นระบบในการกำหนดท่าทีร่วม (Common position) การดำเนินงานร่วม (Joint action) รวมถึงการพัฒนามาตรการป้องกันร่วม (Common defense policy) ระหว่างรัฐสมาชิกในเวทีระหว่างประเทศ โดยที่กระบวนการกำหนดนโยบายมีพื้นฐานตามแบบความร่วมมือระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental approach) หรือการยอมรับเสียงส่วนใหญ่สำหรับประเด็นปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงร่วม
(3) ความร่วมมือด้านกิจการยุติธรรมและกิจการภายใน (Justice and Home Affairs) เป็นการผลักดันการร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐสมาชิก อันเนื่องมาจากผลของประชาคมยุโรป (EC) ในการเปิดเสรีการค้าทำให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า ทุน และแรงงานข้ามผ่านเขตแดนระหว่างรัฐสมาชิก ดังนั้น การประสานกระบวนการยุติธรรมและกิจการภายในระหว่างรัฐสมาชิกจึงเป็นประเด็นสำคัญในการบูรณาการระดับภูมิภาค นโยบายการให้ที่พักพิง (Asylum policy) (*) นโยบายด้านการเข้าเมืองของคนต่างด้าว (Immigration policy) การร่วมมือของหน่วยงานตำรวจระหว่างรัฐและการต่อต้านยาเสพติด เป็นต้น กระบวนการกำหนดนโยบายเหล่านี้มีพื้นฐานตามแบบความร่วมมือระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental approach) เช่นเดียวกับการกำหนดนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคง
(*) The European Union Policy towards a Common European Asylum System
Asylum is a form of protection given by a State on its territory based on the principle of non-refoulement and internationally or nationally recognised refugee rights. It is granted to a person who is unable to seek protection in his/her country of citizenship and/or residence in particular for fear of being persecuted for reasons of race, religion, nationality, membership of a particular social group or political opinion.
The European Union (EU) is an area in which freedom of movement must be ensured. Since the beginning of 1990s, the flow of persons seeking international protection in the EU has been such that the Member States have decided to find common solutions to this challenge. A set of commonly agreed principles at European Community level in the field of asylum can provide a clear added value while continuing to safeguard Europe's humanist tradition.หลังจากการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปในปี 1993 ในปีเดียวกันนี้ได้มีการจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับการรับสมาชิกใหม่ (Copenhagen Criteria) (*) ซึ่งครอบคลุมเงื่อนไขสำคัญทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการภายในของรัฐผู้สมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (16) กล่าวคือ
(*) The Copenhagen criteria are the rules that define whether a country is eligible to join the European Union. The criteria require that a state have the institutions to preserve democratic governance and human rights, have a functioning market economy, and accept the obligations and intent of the EU. These membership criteria were laid down at the June 1993 European Council in Copenhagen, Denmark, from which they take their name.
(16) โปรดดูเพิ่มเติมที่ Cuyvers, L. (2002). Contrasting the European Union and ASEAN integration and solidarity. Paper presented at the Fourth EU-ASEAN Think Tank Dialogue on EU and ASEAN Integration and Solidarity, 25-26 November 2002, European Parliament, Brussels.
(1) เงื่อนไขทางด้านการเมือง (Political criterion) กำหนดให้รัฐผู้สมัครเป็นสมาชิกจะต้องมีสถาบันทางการเมืองที่มีเสถียรภาพและมีระบบธรรมาภิบาล ที่เป็นเครื่องรับประกันต่อการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตย กฎเกณฑ์ของกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อย ให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วม เงื่อนไขทางการเมืองนี้ ได้กำหนดให้รัฐผู้สมัครเป็นสมาชิกจะต้องให้การสนับสนุนต่อนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคง (Common Foreign and Security Policy) ของสหภาพยุโรปด้วย
(2) เงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจ (Economic criterion) กำหนดให้รัฐผู้สมัครเป็นสมาชิกจะต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการผ่อนคลายมาตรการทางการค้าและการลงทุน ในขณะเดียวกัน รัฐผู้สมัครเป็นสมาชิกจะต้องให้การสนับสนุนต่อมาตรการทางด้านการค้าและการลงทุนต่อสหภาพยุโรป
(3) เงื่อนไขทางด้านการบริหารจัดการภายใน (Administrative criterion) กำหนดให้รัฐผู้สมัครเป็นสมาชิก จะต้องจัดการระบบการบริหารงานภายใน ให้มีความสอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสหภาพการเงิน (Monetary union) ของสหภาพยุโรป
นอกเหนือจาก Copenhagen Criteria แล้วนั้น สหภาพยุโรปยังได้กำหนดมาตรการล่วงหน้า (Pre-accession strategy) เพื่อเป็นการลดความแตกต่างระหว่างรัฐสมาชิกและสมาชิกใหม่ในอนาคต 2 มาตรการ ด้วยกัน คือ
(1) มาตรการเชิงโครงสร้าง ซึ่งกำหนดให้รัฐสมาชิกและรัฐผู้สมัครเป็นสมาชิกจ ะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงถึงกัน เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และแรงงาน และ
(2) มาตรการทางด้านการเกษตร ซึ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการผลิต ช่องทางทางการตลาด และการควบคุมคุณภาพอาหา
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ความสำเร็จของการบูรณาการของสหภาพยุโรป เป็นผลจากกระบวนการใช้ระเบียบแบบแผนเชิงสถาบันและกฎหมายที่เคร่งครัด ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎเกณฑ์และรูปแบบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันของรัฐสมาชิก อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการจำนวนมากกล่าวว่า ถึงแม้รัฐบาลจำต้องยอมถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยในระดับปัจเจกสู่สถาบันเหนือรัฐ โดยเฉพาะในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่อำนาจในการตัดสินใจของรัฐบาลได้ถูกตีกรอบตั้งแต่มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) และถูกจำกัดมากขึ้นหลังจากสนธิสัญญาจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรป (Single European Act) มีผลบังคับใช้ หากแต่รัฐบาลเหล่านั้นยังคงสมัครใจที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง โดยเล็งเห็นผลของการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศและอำนาจในการต่อรองในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นหลัก
เมื่อพิจารณาในเชิงทฤษฎี ในมุมหนึ่ง การสร้างความร่วมมือ การขยายจำนวนรัฐสมาชิก และความต้องการของรัฐรอบนอกที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป จึงเป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งรัฐตามแนวคิดระหว่างรัฐบาลแนวเสรี (Liberal intergovernmentalism) ที่เสนอไว้เบื้องต้น ในขณะที่อีกมุมหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการพัฒนากรอบความร่วมมือจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจสู่การบูรณาการทางการเมือง เป็นลักษณะของกระบวนการไหลบ่า (Spillover) ของความร่วมมือตามแนวคิดของหน้าที่นิยมใหม่ (Neo-functionalism) นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่า ความร่วมมือตามแบบองค์กรเหนือรัฐของสหภาพยุโรป เป็นรูปแบบที่เพิ่มอำนาจในการต่อรองให้กับรัฐสมาชิก โดยผ่านการร่วมมือโดยสมัครใจ มากกว่าที่จะตีความว่าเป็นการบั่นทอนอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ
๔.๒ การปรับตัวของอาเซียน
ในกรณีของอาเซียน การเปลี่ยนแปลงของระบบระหว่างประเทศ (International system)
และอิทธิพลจากแนวคิดภูมิภาคนิยม (Regionalism) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ได้ส่งผลต่อการกำหนดแนวนโยบายต่างประเทศของรัฐ
ผลจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดกรอบ (Scope) เป้าหมาย
(Goal) รวมทั้งรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐภายใต้กรอบความร่วมมือของอาเซียน
ในช่วงต้น อาเซียนถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการลดแรงปะทะที่เกิดจากความขัดแย้งในมิติต่างๆ
และเป็นเวทีในการเจรจาใกล่เกลี่ยข้อพิพาท เช่น กรณีความขัดแย้งระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย
ซึ่งเป็นผลมาจากการสถาปนารัฐมาเลเซียในปี 1963 กรณีความขัดแย้งระหว่างฟิลิปปินส์และมาเลเซียเกี่ยวกับการอ้างสิทธิเหนือดินแดนซาบาห์
(Sabah) บนเกาะบอร์เนียว และการแยกตัวของสิงคโปร์ออกจากมาเลเซียในปี 1965 ตลอดจนการขยายขอบเขตอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเหนือได้กลายเป็นตัวประสานความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียนในช่วงเวลานั้น
เป็นต้น
ในกรณีเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่า ความรุนแรงของปัญหาที่มีต่อรัฐอาจจะลดน้อยลง เมื่อรัฐเหล่านั้นได้เริ่มสร้างความร่วมมือระหว่างกัน หรือภัยคุกคามที่มีต่อรัฐ (ซึ่งไม่ใช่สมาชิกของกลุ่ม) จะลดน้อยลง เมื่อรัฐนั้นได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดทั้งจากภายในและภายนอกนี้เอง ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า รูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียนในยุคสงครามเย็นนี้ เป็นเพียงเครือข่ายความร่วมมือหรือองค์การความร่วมมือระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental organization) มากกว่าองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยมีโครงสร้างและรูปแบบความสัมพันธ์ที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม บริบทการพัฒนาระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงจากยุคสองขั้วอำนาจช่วงสงครามเย็น (Bipolar Cold War) สู่ยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ (Economic Globalization) ทำให้นโยบายสาธารณะและนโยบายต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน การพัฒนาทางเศรษฐกิจภายในเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และเพื่อการรักษาฐานเสียงและสถานะของตัวรัฐบาลเอง ทำให้การติดต่อค้าขาย การพึ่งพา หรือการขอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed countries) หรือการพึ่งพาอาศัยประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ ระดับความร่วมมือจะเหนียวแน่นมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับเจตจำนงและความเชื่อมั่นของรัฐสมาชิก รวมทั้งสภาพแวดล้อมภายในประเทศ บรรยากาศในภูมิภาค และทิศทางการพัฒนาระดับสากล
เป็นที่รู้กันดีว่าประสบการณ์อันเลวร้ายจากการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากเจ้าอาณานิคม รวมทั้งอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น อยู่เบื้องหลังการกำหนดนโยบายเพื่อปกป้องเอกราชและอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ผลการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงในภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น ความขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียตกับจีนในยุคของการช่วงชิงพื้นที่อิทธิพลในคาบสมุทรอินโดจีน หรือความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้รัฐสมาชิกอาเซียนต้องสร้างความมั่นคงในภูมิภาค และยังส่งผลทำให้รัฐเหล่านี้มีท่าทีที่จะปฏิเสธการบูรณาการระดับภูมิภาคตามรูปแบบของสหภาพยุโรป ซึ่งคงจำกัดอยู่เพียงแค่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จากรูปแบบนี้ อาเซียนจึงมีลักษณะเป็นเพียงองค์การตามสนธิสัญญา ซึ่งปราศจากการสนับสนุนจากสถาบันที่เป็นตัวกลางในการกำหนดระเบียบแบบแผนและบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศ
Axel Berkofsky (2005) กล่าวเชิงเปรียบเทียบกับรูปแบบการบูรณาการของสหภาพยุโรปไว้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมมากเกินกว่าที่จะบูรณาการทางการเมืองและเศรษฐกิจตามรูปแบบของสหภาพยุโรปได้ และที่สำคัญคือทางด้านกายภาพ ซึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดของประเทศ ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ระดับการพัฒนาประชาธิปไตย และระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่แตกต่างเกินกว่าที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ด้วยความแตกต่างเหล่านี้เอง ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการจัดตั้งองค์กรตามแบบพิธีการ (Formal regional organization) (17) ตามแนวทางของสหภาพยุโรป
(17) Berkofsky, A. (2005).
Comparing EU and Asian integration process: The EU a role model for Asia?
The European Policy Center, 3-19. < เนื้อหาโดยสรุปเกี่ยวกับเรื่อง Comparing
EU and Asian Integration Processes - The EU a Role Model for Asia? ซึ่งนำมาจาก...
http://www.isn.ethz.ch/isn/Digital-Library/Publications/Detail/?ots591=0C54E3B3-1E9C-BE1E-2C24-A6A8C7060233&lng=en&id=10941
มีดังนี้... >
The article offers a comparative study of the European and Asian integration processes. The EU is widely considered as a successful example of integration whereas Asian integration lags behind. However, according to the author, it would be mistaken to take the EU as a role model for Asia and to consider Asia's integration efforts a failure. The author argues that certain factors, such as a distinct cultural background, may direct Asia towards a different integration process than the one Europe has undergone. The report assesses China's role as leader in this process and examines the impact of Japan's economic recovery. The author anticipates that for the immediate future Asia's integration will remain limited to the economic level and that political integration is likely to continue on a bilateral basis.
จากที่กล่าวมา ความแตกต่างสำคัญระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียนที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของความร่วมมือระดับภูมิภาค จึงไม่ได้เป็นผลมาจากประวัติศาสตร์เพียงเท่านั้น หากแต่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐสู่สถาบันระดับภูมิภาค ซึ่งรัฐสมาชิกอาเซียนมีท่าทีที่จะปฏิเสธต่อเรื่องนี้ ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เงื่อนไขการรับสมาชิกใหม่ จะสังเกตได้ว่า ไม่มีสนธิสัญญาฉบับใดที่กำหนดให้รัฐผู้สมัครเป็นสมาชิกใหม่ต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนระบอบการปกครอง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อย่างที่ Copenhagen Criteria ของสหภาพยุโรปได้กำหนดไว้ คงมีก็เพียงแค่การลงนามในข้อตกลงว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือ (Treaty of Amity and Cooperation: TAC) ซึ่งให้ความสำคัญกับการปกป้องอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐเป็นหลัก
ตามความเห็นของ Amitav Acharya (1997) กระบวนการความร่วมมือระหว่างรัฐอย่างไม่เป็นทางการ (Informal procedure) และไม่อิงอยู่กับระเบียบกฎเกณฑ์ (Non-legalistic procedure) นั้น เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่สนับสนุนวิถีแห่งอาเซียน (ASEAN Way) (*) ซึ่งเชื่อว่าเป็นรูปแบบความร่วมมือที่จะไม่สร้างบรรยากาศอันตึงเครียดให้กับรัฐสมาชิก อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานในการแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาระหว่างกันอย่างสันติ (18) การบูรณาการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นกระบวนการที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากแรงผลักดันของความร่วมมือระหว่างตัวแสดงหลักในภูมิภาค อย่างเช่น ความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมันในการจัดตั้ง ECSC ในทางกลับกัน ความร่วมมือด้านความมั่นคงแบบทวิภาคี อย่างเช่น ความร่วมมือระหว่างไทยและฟิลิปปินส์กับสหรัฐอเมริกา และมาเลเซียและสิงคโปร์กับอังกฤษ เป็นส่วนที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดความสำคัญลง (19)
(*)On the surface, the process of consultations and consensus is supposed to be a democratic approach to decision making, but the ASEAN process has been managed through close interpersonal contacts among the top leaders only, who often share a reluctance to institutionalize and legalize co-operation which can undermine their regime's control over the conduct of regional co-operation. All of these features, namely non-interference, informality, minimal institutionalization, consultation and consensus, non-use of force and non-confrontation have constituted what is called the ASEAN Way.
(18) Acharya, A. (1997).
Multilateralism: Is there an Asia-Pacific way? The National Bureau of Asian
Research Analysis, 8(2), 5-18.
(19) Jorgensen-Dahl,
A. (1982). Regional organization and order in Southeast Asia. London: Macmillan.
ที่สำคัญคือ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้
ยังคงเป็นรูปแบบที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการน้อยกว่าสหภาพยุโรปมากนัก และมีความเป็นพหุนิยมสูง
อีกทั้งยังไม่มีสถาบันระดับภูมิภาคใดที่เป็นตัวแสดงหลักที่มีอำนาจเหนือรัฐ ขณะเดียวกัน
องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ อย่างเช่น ASEAN Regional Forum (ARF) (*) และ
Asia Pacific Economic Cooperation (APEC) ดูเหมือนกำลังแสดงบทบาทที่มีผลกระทบต่ออาเซียนใน
2 มิติ กล่าวคือ
(*) The ASEAN Regional Forum (ARF) is a formal, official, multilateral dialogue in Asia Pacific region. As of July 2007, it is consisted of 27 participants. ARF objectives are to foster dialogue and consultation, and promote confidence-building and preventive diplomacy in the region.[35] The ARF met for the first time in 1994. The current participants in the ARF are as follows: all the ASEAN members, Australia, Bangladesh, Canada, the People's Republic of China, the European Union, India, Japan, North Korea, South Korea, Mongolia, New Zealand, Pakistan, Papua New Guinea, Russia, Timor-Leste, United States and Sri Lanka.[36] The Republic of China (also known as Taiwan) has been excluded since the establishment of the ARF, and issues regarding the Taiwan Strait is neither discussed at the ARF meetings nor stated in the ARF Chairman's Statements.
(1) ในกรณีของ ARF ซึ่งเป็นเวทีความมั่นคงที่รัฐสมาชิกอาเซียนได้เข้าร่วมกับประเทศมหาอำนาจทางทหารหลายประเทศ เช่น
สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน และ(2) ในกรณีของ APEC เป็นเวทีทางเศรษฐกิจ ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐสมาชิกอาเซียนจะใช้เป็นช่องทางในการเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลก เป็นต้น
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าผู้นำรัฐสมาชิกอาเซียนได้มีความพยายามที่จะปรับโครงสร้างองค์การและกรอบความร่วมมือให้มีความชัดเจน โดยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) หากแต่จะสังเกตได้ว่ารัฐสมาชิกกลับสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาคมากกว่าประเทศหุ้นส่วนสมาชิก ตลอดจนกรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ
- ประชาคมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (Political and Security Community)
- ประชาคมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (Economic Community) และ
- ประชาคมความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม (Socio-Cultural Community)
ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการลอกเลียนแบบมาจาก 3 เสาหลักของสหภาพยุโรปนั้น ก็มีรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐตามแบบระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental organization) มากกว่าตามแบบองค์การเหนือรัฐ (Supranational organization)
บทสรุป
จากบทวิเคราะห์เชิงกรณีศึกษา จึงกล่าวได้ว่า ไม่มีแนวคิดและทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใดเพียงหนึ่งเดียว
ที่สามารถใช้ในการอธิบายจุดประสงค์และรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐได้อย่างชัดเจน
การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์จากยุคสงครามเย็นสู่ยุคโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ
และระหว่างรัฐกับองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค ความท้าทายจากสมมติฐานเชิงทฤษฎีและการพิจาณาถึงสภาพความเป็นจริง
จึงไม่ใช้เรื่องของการบูรณาการเป็นสำคัญ หากแต่เป็นเรื่องของการเรียนรู้และจัดการโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ แม้ว่าการศึกษาการบูรณาการระดับภูมิภาคจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจถึงตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการบูรณาการ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐสมาชิก แต่มันคงเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ถ้าหากว่าเราไปกำหนดรูปแบบของการบูรณาการที่คาดหวังเอาไว้ล่วงหน้า โดยไม่มีการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในภูมิภาค และที่สำคัญ คือ การบรรลุผลของการบูรณาการในระดับภูมิภาค ไม่ควรถูกนิยามหรือกำหนดด้วยระดับความเข้มข้นของการบูรณาการ แต่ควรจะวัดจากการที่รัฐสมาชิกเหล่านั้น สามารถจัดการกับความร่วมมือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
จากที่กล่าวมาแล้วในกรณีของสหภาพยุโรป ซึ่งมีวิวัฒนาการความร่วมมือภายใต้บริบทจำเพาะเจาะจง ได้นำไปสู่การกำหนดรูปแบบความร่วมมือแบบเฉพาะตัว ดังนั้น การศึกษารูปแบบความร่วมมือระดับภูมิภาคเชิงเปรียบเทียบ จึงควรใช้เพื่อการศึกษาวิเคราะห์ลักษณะของวิวัฒนาการและแนวทางการบูรณาการระดับภูมิภาค รวมทั้งการวิเคราะห์ผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อองค์กรและรัฐสมาชิก มากกว่าที่จะเป็นการลอกเลียนแบบเพื่อหวังที่จะให้เกิดผลเช่นเดียวกันกับองค์กรต้นแบบนั้น สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ ไม่มีประเด็นอธิบายใดที่สามารถยืนยันได้ว่า สหภาพยุโรปเป็นรูปแบบความร่วมมือที่เป็นประโยชน์สำหรับภูมิภาคอื่น ที่จะนำไปปรับใช้ โดยเฉพาะสำหรับองค์การอาเซียน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com