1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
กาดาเมอร์ ชี้ว่า เราไม่อาจได้รับหรือมีประสบการณ์ใดๆ ได้เลยหากปราศจากการตั้งคำถาม ดังนั้นวิภาษวิธี ซึ่งเป็นวิธีที่ดำเนินการด้วยคำถาม-คำตอบจึงเป็นช่องทางที่ความรู้จะถูกส่งผ่านคำถาม หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ คำถามเป็นหนทางนำไปสู่ความรู้ ทั้งนี้เพราะว่าการตั้งคำถามจะทำให้เกิด "การเปิด" (openness) ของสิ่งที่ถูกถาม ซึ่งบ่งนัยว่า คำตอบยังไม่เป็นที่ยุติแน่ชัด ยังไม่ใช่ "คำตอบสุดท้าย" ที่สม บูรณ์ การเปิดเป็นการรวมเอาการตัดสินทั้งแง่ลบและแง่บวกไว้ด้วยกัน ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นสารัตถะสำคัญของความสัมพันธ์ ระหว่างคำถามกับความรู้ เนื่องจากความรู้ไม่ใช่แค่เพียงการตัดสินว่าสิ่งใดถูกต้องเท่านั้น หากยังรวมถึงการที่จะต้องแยกแยะเอาสิ่งที่ผิดออกไปด้วย เหตุนี้ผู้ที่สามารถตั้งคำถามเท่านั้นจึงจะสามารถได้รับความรู้
17-04-2552
(1720)
ทฤษฎีการตีความของฮันส์-จอร์จ
กาดาเมอร์ (Hans-Georg Gadamer):
กรณีศึกษาการตีความเรื่องการหลุดพ้นในพระพุทธศาสนาของ ดร. บี. อาร์. อัมเบดการ์
ทฤษฎีการตีความของฮันส์-จอร์จ
กาดาเมอร์ กับการตีความในพระพุทธศาสนา
พระเดโชพล ชนาสโภ (เหมนาไลย) : เขียน
นิสิตสาขาวิชาพระพุทธศาสนา หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความวิชาการเพื่อประเมินผู้รับทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย
บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีการศึกษา ๒๕๕๐
โครงเรื่องของบทความเรื่องนี้
ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญคือ...
- ทฤษฎีการตีความของฮันส์-จอร์จ กาดาเมอร์
- "รากฐานด้านการตีความ" (Hermeneutical Foundations) ของกาดาเมอร์
- "การตั้งคำถาม" - "หลักวิภาษวิธี" ช่องทางได้มาซึ่งความรู้
- "ความรู้เชิงศีลธรรม"และ"ความรู้เชิงทฤษฎี"
- ภววิทยา (Ontology) และศาสตร์แห่งการตีความ (Hermeneutics)
- สุนทรียศาสตร์(Aesthetics) และอัตวิสัยนิยม (Subjectivism)
- ศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญา" (Philosophical Hermeneutics) ของกาดาเมอร์
- ขอบเขตด้านสุนทรียศาสตร์ (aesthetic sphere)
- ขอบเขตด้านประวัติศาสตร์ (historical sphere)
- อคติที่มืดบอด" (blind prejudice) - "อคติที่เป็นไปได้" (enabling
prejudice)
- "อคติ"(prejudice) กับความเกี่ยวเนื่องกับ "ขอบฟ้า" (horizon)
- ขอบเขตด้านภาษา (sphere of language)
- การตรงประเด็นของศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญาของกาดาเมอร์
- กรณีศึกษาการตีความเรื่องการหลุดพ้นในพระพุทธศาสนาของดร. บี. อาร์. อัมเบดการ์
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด
"ปรัชญาและศาสนา)
สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๒๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๓๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ทฤษฎีการตีความของฮันส์-จอร์จ
กาดาเมอร์ (Hans-Georg Gadamer):
กรณีศึกษาการตีความเรื่องการหลุดพ้นในพระพุทธศาสนาของ ดร. บี. อาร์. อัมเบดการ์
ทฤษฎีการตีความของฮันส์-จอร์จ
กาดาเมอร์ กับการตีความในพระพุทธศาสนา
พระเดโชพล ชนาสโภ (เหมนาไลย) : เขียน
นิสิตสาขาวิชาพระพุทธศาสนา หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความฉบับนี้เป็นการนำเสนอทฤษฎีการตีความ (hermeneutic theory) ของ ฮันส์-จอร์จ กาดาเมอร์ (Hans-Georg Gadamer, ค.ศ.1900-2002) นักปรัชญาและ "นักทฤษฎีการตีความ" (hermeneut) (1) ชาวเยอรมัน โดยจะได้อธิบายมโนทัศน์สำคัญ (key concept) ต่างๆ ที่ปรากฏในทฤษฎีการตีความของกาดาเมอร์ เพื่อให้ทราบสาระสังเขปและเห็นภาพรวมของทฤษฎีดังกล่าว จากนั้นจะนำมาอธิบายกรณีศึกษาซึ่งในที่นี้ ได้แก่ การตีความเรื่องการหลุดพ้นในพระพุทธศาสนา(Buddhist Liberation) ของ ดร. บี. อาร์. อัมเบดการ์ (B. R. Ambedkar, ค.ศ.1891-1956) เพื่อให้เข้าใจทฤษฎีการตีความของกาดาเมอร์ได้ชัดเจนขึ้น
ทฤษฎีการตีความของฮันส์-จอร์จ กาดาเมอร์
๑. บทนำ
ฮันส์-จอร์จ กาดาเมอร์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาในด้านศาสตร์แห่งการตีความ
(Hermeneutics)ในยุคคริสตศตวรรษที่ 20 มากที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจาก
"งานชิ้นเอก" (magnum opus) ของเขาคือ "Truth and Method"
ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1960 งานเขียนเล่มนี้ซึ่งเป็นงานที่สร้างขึ้นจากภูมิปัญญาที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของกาดาเมอร์
ได้ก่อให้เกิดทั้งคุณูปการและข้อถกเถียงในวงการศาสตร์แห่งการตีความรวมถึงแวดวงวิชาการอื่นๆ
ด้านมนุษยศาสตร์ เช่น วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ อย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
หากเราจะกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ ถือเป็นหนังสือซึ่งงานเขียนร่วมสมัยใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับศาสตร์แห่งการตีความ
ไม่ว่าจะเป็นบทความหรือตำราต่าง"ต้อง" ใช้เป็นหนึ่งในหนังสืออ้างอิงเล่มสำคัญ
(1) คำว่า "Hermeneut" น่าจะเป็นศัพท์ที่ David Jasper บัญญัติขึ้นใหม่ในหนังสือของเขา คือ David Jasper, A Short Introduction to Hermeneutics (Louisville, London: Westminster John Knox Press, 2004) เนื่องจากผู้เขียนยังไม่เคยพบการใช้คำนี้ในที่อื่น แม้กระทั่งพจนานุกรมภาษาอังกฤษ (Dictionary) ทั่วๆ ไป แต่ก็คิดว่าการใช้ศัพท์นี้มีความเหมาะสม หากเรามองว่าศาสตร์แห่งการตีความเป็นศาสตร์เฉพาะด้านที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ย่อมต้องมีผู้ชำนาญการเฉพาะสาขาไม่ต่างจากศาสตร์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน
กล่าวสำหรับการศึกษาปรัชญาของกาดาเมอร์ แม้ว่าเขาเองจะเริ่มต้นจากการศึกษาแนว "คานท์ใหม่" (Neo-Kantian) (2) แต่ต่อมากาดาเมอร์ได้หันมาให้ความสนใจกับปรัชญากรีก. วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก (dissertation) ที่เขาเขียนจบการศึกษาเมื่ออายุเพียง 22 ปีนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเพลโต และงานวิจัยสำหรับวัดคุณสมบัติเพื่อเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมัน ที่เรียกกันว่า "Habilitationsschrift" (Habilitation) (*) ซึ่งเขาทำเมื่ออายุ 28 ปี ก็เป็นเรื่อง "จริยศาสตร์เชิงวิภาษวิธีของเพลโต" ("Plato's Dialectical Ethics") เขายังได้รับอิทธิพลจาก มโนทัศน์เรื่อง "ปัญญาเชิงปฏิบัติ" ("phronesis"/practical wisdom) ของอริสโตเติล (Aristotle) มาอีกด้วย (3) นอกจากนี้ผู้ที่มีอิทธิพลต่อกาดาเมอร์อย่างสำคัญยิ่ง ได้แก่ มาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ (Martin Heidegger, ค.ศ.1889-1976) ซึ่งกาดาเมอร์เคยทำงานเป็นผู้ช่วยอยู่ถึง 5 ปี และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยสำหรับวัดคุณสมบัติของกาดาเมอร์ที่กล่าวข้างต้นนั่นเอง
(2) <http://en.wikipedia.org/wiki/Hans-Georg_Gadamer>; แนวคิดแบบ "คานท์ใหม่" (Neo-Kantianism) เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมันช่วงปีทศวรรษที่ 1860 โดยเป็นการรื้อฟื้นปรัชญาของอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant, ค.ศ.1724-1804) ขึ้นมา เพื่อใช้โต้แย้งแนวคิดวัตถุนิยม (materialism) ในช่วงปีทศวรรษที่ 1950; ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน "Neo-Kantianism" http://en.wikipedia.org/wiki/Neo-Kantianism
(*) Habilitation is the highest academic qualification a person can achieve by their own pursuit in certain European and Asian countries. Earned after obtaining a research doctorate (Ph.D. or equivalent degrees), the habilitation requires the candidate to write a professorial thesis based on independent scholarly accomplishments, reviewed by and defended before an academic committee in a process similar to that for the doctoral dissertation. However, the level of scholarship has to be considerably higher compared to a PhD thesis. Sometimes a book publication is required for the defence to take place. Whereas in the United States, the United Kingdom and most other countries, the PhD is sufficient qualification for a senior faculty position at a university, in other countries only the habilitation qualifies the holder to supervise doctoral candidates. Such a post is known in Germany as Privatdozent and there are similarly termed posts elsewhere. After service as a Privatdozent, one may be admitted to the faculty as a professor.
(3) Hans-Georg Gadamer, Truth and Method, Second Revised Edition, Translation revised by Joel Weinsheimer and Donald G. Marshall (New York: Continuum, 1989), p. 540.
เดวิด อี.เคล็มม์ (David E. Klemm) ถึงกับกล่าวว่าผลงานเรื่อง "Truth and Method" ของ กาดาเมอร์ คือ "งานปรัชญาเชิงบูรณาการ (intregative philosophy) ที่สร้างขึ้นจากปัญญาญาณ (insight) ของไฮเด็กเกอร์" (4) เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ทฤษฎีการตีความของกาดาเมอร์จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับของไฮเด็กเกอร์เสมอ แต่อาจมีการเรียกชื่อกลุ่มแตกต่างกันไป บางท่านเรียกว่า "ศาสตร์แห่งการตีความเชิงภววิทยา" (ontological hermeneutics) (5) บางท่านเรียกว่า "ศาสตร์แห่งการตีความเชิงวิภาษวิธี" (dialectical hermeneutics) (6) หรือบางท่านจัดว่าเป็น "ปรัชญาเชิงปฏิบัติ" (practical philosophy) และ "ภววิทยาเชิงเก็งความจริง" (speculative ontology) (7) เป็นต้น
(4) David E. Klemm, Hermeneutical
Inquiry Volume I: The Interpretation of Texts
(Atlanta, Georgia: Scholars Press, 1986), p. 173.
(5) Dan R. Stiver, The
Philosophy of Religious Language: Sign, Symbol, and Story
(Cambridge, Mass.: Blackwell Publishers, 1996), p. 92.
(6) F.P.A. Demeterio
III, "Dialectical Hermeneutics"
<http://www.geocities.com /philodept/diwatao/dialectical_hermeneutics.htm>
(7) David E. Klemm, Hermeneutical Inquiry Volume I: The Interpretation of Texts, p. 37-44.
๒. "รากฐานด้านการตีความ"
(Hermeneutical Foundations) ของกาดาเมอร์
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเหตุให้ เจฟฟ์ มาลพาส (Jeff Malpas) ซึ่งเป็นผู้รู้เกี่ยวกับประวัติและผลงานของกาดาเมอร์เป็นอย่างดีคนหนึ่ง
(8) ได้สรุปว่า "ฐานความคิดด้านการตีความ" (Hermeneutical Foundations)
ของกาดาเมอร์นั้น มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
2.1 การเสวนา (Dialogue) และปัญญาเชิงปฏิบัติ (Phronesis)
2.2 ภววิทยา (Ontology) และศาสตร์แห่งการตีความ (Hermeneutics)
2.3 สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) และ "อัตวิสัยนิยม" (Subjectivism) (9)
(8) นอกจากเป็นผู้เขียนบทความเรื่อง "Hans-Georg Gadamer" ใน Stanford Encyclopedia of Philosophy ซึ่งรวบรวมประวัติ ทฤษฎี และผลงานทั้งภาษาเยอรมันและอังกฤษที่เป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิเกี่ยวกับกาดาเมอร์อย่างค่อนข้างครบถ้วนแล้ว มาลพาส ยังเคยเป็นบรรณาธิการร่วมในหนังสือรวมบทความในวาระที่กาดาเมอร์อายุครบ 100 ปี คือ Jeff Malpas, Ulrich Arnswald and Jens Kertscher (eds.), Gadamer's Century: Essays in Honour of Hans-Georg Gadamer (Cambridge, Mass.: MIT Press, 2002)
(9) Jeff Malpas, "Hans-Georg Gadamer" <http://plato.standford.edu/entries /gadamer>
องค์ประกอบทั้ง 3 ประการนี้ ถือเป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดรูปแบบของการตีความที่มีความเฉพาะตัวของกาดาเมอร์ ซึ่งกาดาเมอร์เองเรียกรูปแบบของการตีความนี้ว่า "ศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญา" (Philosophical Hermeneutics) (10) โดยรายละเอียดขององค์ประกอบแต่ละประการนั้น ผู้เขียนขออภิปรายเป็นลำดับไป ดังต่อไปนี้
(10) ริชาร์ด อี. พาลเมอร์ (Richard E. Palmer) ซึ่งเคยทำการศึกษาหลังปริญญาเอก(postdoctoral study) และทำงานใกล้ชิดกับกาดาเมอร์อย่างยาวนาน ตั้งแต่ ค.ศ.1965-1996 ได้กล่าวว่า กาดาเมอร์เป็นผู้ที่ใช้คำนี้เป็นคนแรก และอันที่จริงแล้วคำๆ นี้ อยู่ในชื่อรองของ Truth and Method ในฉบับภาษาเยอรมันด้วย (ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "Elements of Philosophical Hermeneutics") แต่ชื่อรองนี้กลับถูกตัดทิ้งไปเมื่อหนังสือได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยไม่ทราบสาเหตุ; ดู Richard E. Plamer, "The Relevance of Gadamer's Philosophical Hermeneutics to Thirty-Six Topics or Fields of Human Activity" <http://www.mac.edu /faculty/richardpalmer/relevance.html>
๒.๑ การเสวนา (Dialogue)
และปัญญาเชิงปฏิบัติ (Phronesis)
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่ามโนทัศน์ทั้ง 2 นี้ เป็นสิ่งที่กาดาเมอร์ได้รับมาจากปรัชญากรีกคือจากเพลโตและอริสโตเติลตามลำดับ
สำหรับมโนทัศน์เรื่องการเสวนานั้น กล่าวโดยสาระแล้วก็มีลักษณะเป็น "ทวิวัจนะ"
(dialogical) เช่นเดียวกับวิภาษวิธี (dialectic) นั่นเอง คือจะต้องอาศัยการสนทนาของ
2 ฝ่าย กิจกรรมทั้ง 2 คือการเสวนาและวิภาษวิธีจึงจะสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งกาดาเมอร์ได้อาศัยรูปแบบของการเสวนาแบบเพลโต
เพื่อที่จะเข้าใจปรัชญาของเพลโตเอง การกระทำดังกล่าวไม่ใช่แค่เพียงการศึกษารูปแบบของการเสวนา
ที่อยู่ในตัวบทของเพลโตเท่านั้น หากแต่เป็นการเสวนาโดยตรงกับตัวบทของเพลโต เปรียบเสมือนตัวบทนั้นเป็นคู่สนทนาเองเลยทีเดียว
(11) ด้วยเหตุนี้กาดาเมอร์จึงให้ความสำคัญกับการเสวนา (อาจเรียกเป็นอย่างอื่นว่าการสนทนา
(conversation) หรือการเจรจา (negotiation) ก็ได้) และการตั้งคำถาม (questioning)
ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับการตีความและการสร้างความเข้าใจอย่างมาก
(11) Jeff Malpas, "Hans-Georg Gadamer"
"การตั้งคำถาม"
- "หลักวิภาษวิธี" ช่องทางได้มาซึ่งความรู้
ในหัวข้อ"ตัวแบบของวิภาษวิธีแบบเพลโต" (The Model of Platonic Dialectic)ในหนังสือ
"Truth and Method" (12) กาดาเมอร์ ชี้ว่า เราไม่อาจได้รับหรือมีประสบการณ์ใดๆ
ได้เลยหากปราศจากการตั้งคำถาม ดังนั้นวิภาษวิธี ซึ่งเป็นวิธีที่ดำเนินการด้วยคำถาม-คำตอบจึงเป็นช่องทางที่ความรู้จะถูกส่งผ่านคำถามหรือกล่าวง่ายๆ
ก็คือ คำถามเป็นหนทางนำไปสู่ความรู้ ทั้งนี้เพราะว่าการตั้งคำถามจะทำให้เกิด
"การเปิด" (openness) ของสิ่งที่ถูกถาม ซึ่งบ่งนัยว่าคำตอบยังไม่เป็นที่ยุติแน่ชัด
ยังไม่ใช่ "คำตอบสุดท้าย" ที่สมบูรณ์ การเปิดเป็นการรวมเอาการตัดสินทั้งแง่ลบและแง่บวกไว้ด้วยกัน
ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นสารัตถะสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างคำถามกับความรู้
เนื่องจากความรู้ไม่ใช่แค่เพียงการตัดสินว่าสิ่งใดถูกต้องเท่านั้น หากยังรวมถึงว่าในขณะเดียวกันจะต้องแยกแยะเอาสิ่งที่ผิดออกไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่สามารถตั้งคำถามเท่านั้นจึงจะสามารถได้รับความรู้
(12) Hans-Georg Gadamer, Truth and Method, p. 362-369.
อย่างไรก็ตาม การเปิดของคำถามไม่ได้ไร้ขอบเขต แต่จะถูกจำกัดด้วย "ขอบฟ้า" (horizon) ของตัวคำถามเอง คำถามที่ปราศจากขอบฟ้าจะเป็นลักษณะที่เรียกว่าคำถาม "ลอย" (floating) ไม่อาจนำไปสู่ความรู้ได้ นอกจากนี้หัวใจสำคัญเกี่ยวกับการเสวนาหรือวิภาษวิธีอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การเสวนาไม่ใช่การมุ่งหักล้างหรือโต้เถียงคู่เสวนา แต่เป็นการ "ชั่งน้ำหนัก" ของความเห็นที่คู่เสวนาแสดงออกมา
สำหรับมโนทัศน์ปัญญาเชิงปฏิบัตินั้น กาดาเมอร์ระบุอย่างชัดเจนว่า เขานำมโนทัศน์ปัญญาเชิงปฏิบัติของอริสโตเติลมาใช้ในการพิจารณาโครงสร้างของกระบวนการทำความเข้าใจ (13) ในหัวข้อ "The Hermeneutic Relevance of Aristotle" (14) เขาเห็นด้วยกับอริสโตเติลที่ว่า "ความรู้"ที่ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับสถานการณ์จริงที่เป็นรูปธรรม ถือว่าเป็นความรู้ที่ไร้ความหมาย ทั้งยังอาจเป็นการเสี่ยง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อสิ่งที่สถานการณ์นั้นเรียกร้องอีกด้วย
(13) Ibid., p. 540. อนึ่ง คำแปลภาษาอังกฤษของคำว่า "phronesis" ใน "Truth and Method" ใช้คำว่า "moral knowledge" (ความรู้เชิงศีลธรรม) ไม่ใช่ "practical wisdom"
(14) Ibid., p. 312-324.
"ความรู้เชิงศีลธรรม"และ"ความรู้เชิงทฤษฎี"
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ "ความรู้เชิงศีลธรรมของอริสโตเติล"นั้น
เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ใช่ความรู้ที่เป็นภววิสัย (objective knowledge) ผู้รู้ (the
knower) ไม่ใช่เป็นเพียงผู้สังเกตสถานการณ์อยู่ภายนอก แต่เป็นผู้ที่เผชิญหน้ากับสถานการณ์นั้นด้วยตัวเองโดยตรง
และต้องลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่างต่อสถานการณ์นั้น อริสโตเติลจึงได้แยก"ความรู้เชิงศีลธรรม"(phronesis
/ moral knowledge) กับ"ความรู้เชิงทฤษฎี" (episteme / theoretical
knowledge) ออกจากกัน กาดาเมอร์เห็นว่าสาขาวิชาด้านมนุษยศาสตร์ (เช่น ปรัชญา
ศาสนา ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปะ) เกี่ยวข้องกับความรู้เชิงศีลธรรมมากกว่าความรู้เชิงทฤษฎี
สำหรับกาดาเมอร์แล้วมนุษยศาสตร์จึงเป็น "ศาสตร์ ทางศีลธรรม" (moral
sciences) ซึ่งมีจุดหมายอยู่ที่มนุษย์และสิ่งที่มนุษย์รู้เกี่ยวกับตัวเอง แต่เนื่องจากมนุษย์รู้จักตัวเองในฐานะ
"สัตที่มีการแสดงออก/กระทำ" (acting/active being) ดังนั้นความรู้ของมนุษย์จึงต้องมีเป้าหมายเพื่อการควบคุม/กำกับ
(govern) การกระทำของตนเอง
เขายังชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างความรู้ทางศีลธรรมกับความรู้เชิงทฤษฎีหรือความรู้เชิงเทคนิค (technical knowledge) อีกด้วยว่า ความรู้ทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องเรียนรู้ (ในความหมายของการเรียนรู้แบบเรียนหนังสือหรือเรียนแบบทฤษฎี)อย่างความรู้เชิงทฤษฎีหรือความรู้เชิงเทคนิค ความรู้ทางศีลธรรมเป็นความรู้ที่เราไม่มีทางลืมแต่ความรู้เชิงทฤษฎีหรือความรู้เชิงเทคนิคเราอาจลืมได้ และความรู้ทางศีลธรรมเป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอยู่อย่างดีงามซึ่งใช้ได้กับคนทั่วไป ในขณะที่ความรู้เชิงทฤษฎีหรือความรู้เชิงเทคนิคเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงกับเพียงบางคน หรือใช้ได้เฉพาะบางกรณีเท่านั้น
๒.๒ ภววิทยา (Ontology)
และศาสตร์แห่งการตีความ (Hermeneutics)
จากข้อสรุปของไฮเด็กเกอร์ที่ว่า หากกล่าวในเชิงภววิทยาแล้ว มนุษย์ (human beings)
ถือว่าเป็น "สัต" ที่เกี่ยวข้องกับการตีความ (hermeneutical beings)
ได้ส่งอิทธิพลไปสู่กาดาเมอร์อย่างมาก ดังที่กาดาเมอร์ได้ชี้แจงว่า ความสนใจทั้งหมดที่เขามีคือเรื่องลักษณะหรือธรรมชาติของความเข้าใจ
(nature of understanding) ของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องทางภววิทยา (16) ศาสตร์แห่งการตีความในทัศนะของเขาจึงเป็นความพยายามทางปรัชญา
ในการอธิบายทำความเข้าใจในฐานะที่เป็นกระบวนการทางภววิทยาในตัวมนุษย์นั่นเอง
(17)
(16) Hans-Georg Gadamer,
Truth and Method, p. xxviii.
(17) Richard E. Plamer, Hermeneutics: Interpretation Theory in Schleiermacher,
Dilthey, Heidegger, and Gadamer
(Evanston: Northwestern University Press, 1996), p. 163.
ทฤษฎีการตีความของไฮเด็กเกอร์
มีความแตกต่างจากทฤษฎีการตีความที่มีมาก่อนหน้านั้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ
ไฮเด็กเกอร์มิได้มุ่งแสวงหาทฤษฎีการแปลความตัวบทหรือวิธีการ (method) ทำความเข้าใจอย่าง
"เป็นวิทยาศาสตร์" (scientific) แต่เน้นไปที่การเปิดเผยตนเอง (self-disclosure)
ของโครงสร้างแห่งความเข้าใจ นั่นคือหากเราเข้าใจบางสิ่งบางอย่างอย่างแท้จริง
เราจะพบว่าตัวเราจะเข้าไปอยู่ "ใน" โลก "ร่วมกับ" (along
with) สิ่งที่เราเข้าใจนั้น จะเห็นได้ว่า ทฤษฎีการตีความของไฮเด็กเกอร์มีนัยทางปรากฏการณ์วิทยา
(phenomenological sense) อยู่ด้วย
กาดาเมอร์ได้นำแนวคิดของไฮเด็กเกอร์ร่วมกับมโนทัศน์เรื่องการเสวนา และปัญญาเชิงปฏิบัติมาใช้อธิบายให้เห็นว่า
ศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญานั้นสามารถค้นหา "ความเป็นสากล" (universality)
ของลักษณะหรือธรรมชาติของความเข้าใจได้อย่างไร นอกจากนั้น กาดาเมอร์ได้ปฏิเสธความพยายามที่จะแสวงหาความเข้าใจด้วยวิธีการ
(method) (18) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือชุดของกฏเกณฑ์ใดๆ ก็ตาม แต่นี่ไม่ใช่การไม่เห็นความสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับวิธีวิทยา
(methodological concerns) หากเป็นการยืนยันถึงบทบาทอันจำกัดของวิธีการ และแสดงให้เห็นว่า
การทำความเข้าใจนั้น เป็นการให้ความสำคัญกับการเสวนา การปฏิบัติ และเป็นกิจกรรมที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
(situated activity) มากกว่า (19)
(18) คำว่า "method" ที่กาดาเมอร์ใช้ในหนังสือ "Truth and Method" นั้น หมายถึง "scientific method" คือวิธีการหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการรวบรวมหลักฐานจากการสังเกต (observable evidence) หลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) และหลักฐานที่วัดได้(measurable evidence) ซึ่งขึ้นอยู่กับหลักการแห่งการใช้เหตุผล (reasoning); ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน "Scientific method" http://en.wikipedia.org/wiki/Scientific_method
(19) Jeff Malpas, "Hans-Georg Gadamer"
๒.๓ สุนทรียศาสตร์(Aesthetics) และอัตวิสัยนิยม (Subjectivism)
ศิลปะคือการเปิดเผยความจริง
ความจริงแบบจารีตคือความถูกต้อง (อันนี้ผิดหรือไม่ถูกต้อง)
แต่ความจริงควรหมายถึงการไม่ปิดบัง
ความถูกต้องจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการไม่ปิดบังเสียก่อน
แนวคิดด้านสุนทรียศาสตร์ของกาดาเมอร์ ได้รับอิทธิพลมาจากไฮเด็กเกอร์อีกเช่นกัน ไฮเด็กเกอร์มีความเห็นว่า "สารัตถะ" (essence) ของงานศิลปะต่างๆ นั้นไม่ได้อยู่ที่การมีลักษณะเป็น "ตัวแทน" ('representational' character) (ของธรรมชาติ ความงาม ความจริง ฯลฯ) แต่อยู่ที่ความสามารถในการทำให้เกิด "การเปิดเผยเกี่ยวกับโลก" (disclosure of the world) ออกมา และเหตุการณ์ (event) ที่โลกเปิดเผยออกมาก็คือเหตุการณ์ที่ความจริง (truth) ปรากฏออกมานั่นเอง ไฮเด็กเกอร์จึงชี้ว่า มโนทัศน์เรื่องความจริงแบบจารีตที่ว่าความจริงคือ "ความถูกต้อง" (correctness) นั้นยังไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เขาคิดว่าความจริงควรจะหมายถึง "การไม่ปิดบัง" (unconcealment) ต่างหาก เนื่องจากความถูกต้องจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการไม่ปิดบังเสียก่อน
มโนทัศน์เรื่องความจริงของไฮเด็กเกอร์ ได้ถูกกาดาเมอร์นำมาใช้เพื่อโต้ตอบรากฐานความคิดแบบอัตวิสัยนิยมและจิตนิยม (subjectivist and idealist elements) ซึ่งปรากฏในสำนักคานท์ใหม่ ศาสตร์แห่งการตีความแบบจินตนิยม (romantic hermeneutics) และทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ (aesthetic theory) กาดาเมอร์เห็นว่า ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากคานท์อย่างมาก ได้แปลกแยกไปจากประสบการณ์ที่แท้จริงทางศิลปะ การรู้สึกตอบสนองต่อศิลปะกลายเป็นเรื่องนามธรรมและ "ถูกทำให้สุนทรีย์" (aestheticised) ในขณะเดียวกันการตัดสินเชิงสุนทรียภาพ (aesthetic judgement) ก็กลายเป็นเรื่องของรสนิยม (taste) ล้วนๆ และเป็นเรื่องการรู้สึกตอบสนองอย่างเป็นอัตวิสัยจนเกินไป
ในลักษณะเดียวกันอิทธิพลของการเขียนประวัติศาสตร์ (historiography) อย่างเป็น "วิทยาศาสตร์" และศาสตร์แห่งการตีความแบบจินตนิยมที่นำโดย ฟรีดริช ชไลเออร์มาเคอร์ (Friedrich Schleiermacher, ค.ศ.1768-1834) นำมาซึ่งความต้องการ "ความเป็นภววิสัย" (objectivity) ทำให้การทำความเข้าใจกับตัวบทเริ่มแปลกแยกออกจาก "สถานการณ์จริงที่กำลังดำเนินอยู่" (contemporary situation) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวบทตรงประเด็น (relevant) และมีนัยสำคัญ (significant) (20)
(20) Ibid.
เรื่องของการเล่น
กาดาเมอร์มีความเห็นว่า ถ้าหากงานศิลปะถูกใช้เป็นศูนย์กลางและเป็นตัวกำหนดประสบการณ์ทางศิลปะแล้ว
ความเข้าใจก็ย่อมถูกกำหนดโดยสิ่งที่ถูกเข้าใจเช่นเดียวกัน โดย กาดาเมอร์ได้สร้างมโนทัศน์เรื่อง
"การเล่น" ("play") ขึ้นเพื่อใช้อธิบายประสบการณ์ทางความจริงดังกล่าวนี้
ซึ่งเดวิด จัสเปอร์ (David Jasper) (21) ได้ทำให้คำอธิบายของกาดาเมอร์ง่ายขึ้น
กล่าวคือ มโนทัศน์เรื่อง "การเล่น" มีหลักการสำคัญอยู่ 3 ข้อ ซึ่งสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้กับการอ่านตัวบท
(text) ได้เป็นอย่างดี ได้แก่
1. จุดมุ่งหมายของการเล่นจะบรรลุได้ก็ต่อเมื่อผู้เล่น "ลืมตัวเอง" (lose himself/ herself) โดยสิ้นเชิงในขณะที่กำลังเล่นเกมอยู่
เกมดังกล่าวได้กลายเป็น "โลก" (ของผู้เล่น)2. ผู้เล่นจะต้องเล่นเกมนั้นอย่างจริงจัง การเล่นนั้นจึงจะสัมฤทธิ์ผล ดังเราจะพบว่าการเล่นกีฬา / เกม / ละครที่ผู้เล่นไม่จริงจัง
จะทำลายความสนุกของการเล่นนั้นไปสิ้น3. เมื่อเราเล่นเกมอย่างเต็มที่ และถูก "ดูดกลืน" เข้าไปในเกมจนหมดสิ้น เกมนั้นก็จะกลายเป็น "ขอบเขตแห่งการเปิดเผย" (sphere of disclosure) ที่เราจะได้ตระหนักและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือมองเกมนั้นๆ ในมุมมองใหม่ นี่คือสาเหตุที่เกมมีความสำคัญ และจะเป็นเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราเล่นตามกฎกติกาของเกมเท่านั้น
(21) David Jasper, A Short Introduction to Hermeneutics, p. 107-108.
มโนทัศน์เรื่อง "การเล่น" แสดงให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เกมจะมีส่วนกำหนดการเล่นของผู้เล่นว่า จะต้องเล่นอย่างไร หรืออาจกล่าวว่า "ผู้เล่นไม่ได้เล่นเกมแต่ 'ถูกเล่น' ต่างหาก" (22) เมื่อประยุกต์ไปสู่การทำความเข้าใจกับตัวบทก็หมายความว่า ตัวบทเองเป็นตัวกำหนดผู้อ่านว่าจะต้องอ่านหรือทำความเข้าใจอย่างไรนั่นเอง ดังนั้นการจัดว่าทฤษฎีของกาดาเมอร์อยู่ในกลุ่มที่เชื่อว่า "ความหมายสมบูรณ์อยู่ที่ผู้อ่าน" (23) จึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะผู้อ่านมิได้เป็นผู้กำหนดหรือควบคุมกระบวนการทำความเข้าใจทั้งหมดเพียงผู้เดียว หากต้องทำความเข้าใจภายใต้การกำหนดหรือควบคุมของตัวบทด้วย
(22) Dan R. Stiver, The
Philosophy of Religious Language, p. 92.
(23) เช่น ปรุตม์ บุญศรีตัน, "รูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท,"
วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,
2550, น. 45.
๓."ศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญา"
(Philosophical Hermeneutics) ของกาดาเมอร์
ดังที่กล่าวแล้วว่า รากฐานด้านการตีความที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ได้นำไปสู่การพัฒนาเป็นทฤษฎีการตีความของกาดาเมอร์
ที่เรียกว่า "ศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญา" ซึ่งประกอบ ด้วยมโนทัศน์สำคัญๆ
หลายประการ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจกับศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญาของกาดาเมอร์ได้ง่ายขึ้น
ผู้เขียนขอแบ่ง "ขอบเขต" (sphere) ของทฤษฎีของกาดาเมอร์ตามที่ ปอล
ริเกอร์ (Paul Ricoeur, ค.ศ.1913-2005) ได้นำเสนอเอาไว้ว่ามี 3 ขอบเขต (24) ได้แก่
3.1 ขอบเขตด้านสุนทรียศาสตร์ (aesthetic sphere)
3.2 ขอบเขตด้านประวัติศาสตร์ (historical sphere)
3.3 ขอบเขตด้านภาษา (sphere of language)
โดยผู้เขียนจะขออภิปรายถึงขอบเขตทั้ง
3 โดยจะนำมโนทัศน์สำคัญๆ ที่อยู่ในแต่ละ
ขอบเขตนั้นมาอธิบายเป็นลำดับไป ดังต่อไปนี้
(24) Paul Ricouer, Hermeneutics and the Human Sciences: Essays on Language, Action and Interpretation, ed., trans. John B. Thompson. (Cambridge: Cambridge University Press, 1998), p. 60-62.
๓.๑
ขอบเขตด้านสุนทรียศาสตร์ (aesthetic sphere)
ในตอนแรกของหนังสือ "Truth and Method" (มีทั้งหมด 3 ตอน) ซึ่งมีชื่อว่า
"The question of truth as it emerges in the experience of art" (25)
(คำถามเกี่ยวกับความจริง ดังที่ปรากฏในประสบการณ์ทางศิลปะ) กาดาเมอร์ได้อุทิศให้กับการอธิบายความคิดของเขาที่อยู่ในขอบเขตด้านสุนทรียศาสตร์
สำหรับสาระสำคัญของเนื้อหา ผู้เขียนได้นำมาอภิปรายในหัวข้อว่าด้วยสุนทรียศาสตร์
(Aesthetics) และ "อัตวิสัยนิยม" (Subjectivism) ที่ผ่านมาข้างต้นแล้วเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามผู้เขียนอยากจะขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนความคิดของกาดาเมอร์ไว้ในที่นี้
และเพื่อให้เข้าใจแนวคิดของเขาดีขึ้นอีกด้วย
(25) Hans-Georg Gadamer, Truth and Method, p. 1-169.
ก่อนที่จะยกตัวอย่าง
ควรกล่าวด้วยว่ากาดาเมอร์มีความเห็นว่าสาขาวิชาต่างๆ ด้านมนุษยศาสตร์ เช่น วรรณกรรม
ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศิลปะ บทกวี ดนตรี ซึ่งสามารถทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริงได้ไม่แตกต่างจากที่สาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
(modern science) ทำได้ โดยกาดาเมอร์ได้ชี้ให้เห็นว่าวิธีการ (method) ที่วิทยาศาสตร์ใช้มีข้อจำกัด
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ความจริงที่วิทยาศาสตร์เข้าถึงนั้นเป็นเพียงความจริงบางส่วน
ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ดังนั้นการที่สังคมในยุค"ลัทธิสมัยใหม่" มักอ้างความเป็นสากลของวิทยาศาสตร์ว่าเป็นหนทางเข้าถึงความจริงเพียงสาขาเดียว
จึงเป็นสิ่งที่กาดาเมอร์ไม่เห็นด้วย
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นข้อจำกัดของวิธีการที่ผู้เขียนขอยกมาแสดงในที่นี้คือ เมื่อเราบอกว่าเพลงๆ
หนึ่ง (ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในฝ่ายมนุษยศาสตร์) มีความไพเราะนั้น เราจะไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการใช้เหตุผล
(ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ที่วิทยาศาสตร์ใช้อธิบายสิ่งต่างๆ) หากเราบอกว่าเพลงนั้นไพเราะเพราะว่า
มีเนื้อเพลงที่เขียนได้ดี การกล่าวเช่นนั้นไม่สมเหตุสมผล (valid) เพราะเรากล่าวได้แค่เพียงว่าเนื้อเพลงดีไม่ใช่เพลงไพเราะ
หากจะกล่าวต่อไปอีกว่าเพลงไพเราะเพราะว่ามีเนื้อเพลงดีและทำนองไพเราะสละสลวย
ก็อาจแย้งได้อีกว่าหาก 2 อย่างนั้นดีจริง แต่การเล่นดนตรีในเพลงนั้นแย่มาก เพลงจะยังไพเราะอยู่อีกหรือไม่
หากกล่าวต่อไปอีกว่าทั้ง 3 ส่วนคือเนื้อเพลง ทำนอง และดนตรีดีหมดทำให้เพลงไพเราะ
ก็อาจจะแย้งได้อีกว่าหากคนร้องเพลงนั้นเสียงไม่ดีเลย เพลงจะยังไพเราะอยู่อีกหรือไม่
หากกล่าวต่อไปอีกว่าทั้ง 4 ส่วนคือเนื้อเพลง ทำนอง ดนตรี และนักร้องดีหมดทำให้เพลงไพเราะ
ก็อาจจะถามว่าถ้าคนฟังอยู่ในสถานการณ์ที่เพิ่งสูญเสียคนสำคัญในชีวิต เช่น สามี
ภรรยา หรือบุตร เพลงๆ นั้นจะยังไพเราะอยู่อีกหรือไม่ จะเห็นได้ว่าถึงที่สุดแล้วเราไม่อาจหาเหตุผลมาอธิบายประสบการณ์ทางสุนทรียศาสตร์
(ซึ่งในที่นี้ก็คือความไพเราะของบทเพลง) ได้ หากต้องเข้าถึงด้วยวิถีทางแบบมนุษยศาสตร์อย่างที่กาดาเมอร์แสดงไว้ในมโนทัศน์เรื่อง
"การเล่น" นั่นเอง
๓.๒
ขอบเขตด้านประวัติศาสตร์ (historical sphere)
ในตอนที่ 2 ของหนังสือ "Truth and Method" ซึ่งมีชื่อว่า "The
extension of the question of truth to understanding in the human sciences"
(26) (การขยายคำถามเกี่ยวกับความจริง เพื่อทำความเข้าใจในมนุษยศาสตร์) กาดาเมอร์ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์กับศาสตร์แห่งการตีความ
เขาได้กล่าวย้อนไปถึงการนำศาสตร์แห่งการตีความแบบจินตนิยมมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์
โดยได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของศาสตร์แห่งการตีความจาก "ยุคสว่าง"
(the Enlightenment) มาสู่ยุค จินตนิยม ซึ่งกาดาเมอร์ชี้ว่าแนวความคิดในยุคสว่างซึ่งเป็นยุคที่เน้นการใช้เหตุผลและปฏิเสธจารีตประเพณี
(tradition) (27) ได้สร้างปัญหาสำคัญประการหนึ่งต่อศาสตร์แห่งการตีความ นั่นคือการทำให้
"อคติ" (prejudice) ถูกมองเป็นลบเท่านั้น
(26) Hans-Georg Gadamer,
Truth and Method, p. 171-379.
(27) Ibid., p. 272.; ดูรายละเอียดของยุคสว่างเพิ่มเติมได้ใน "Age of Enlightenment"
<http://en.wikipedia.org/wiki/Age_of_Enlightenment>
อคติที่มืดบอด" (blind
prejudice) - "อคติที่เป็นไปได้" (enabling prejudice)
กาดาเมอร์ชี้ให้เห็นว่า อคติมิได้เป็นอุปสรรคแก่การทำความเข้าใจดังที่เชื่อกันโดยทั่วไป
หากแต่เป็นสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ในการทำความเข้าใจ กล่าวอีกอย่างก็คือ เราจะไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย
หากเราปราศจากอคติใดๆ อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่อคติทุกประเภทจะดีไปเสียทั้งหมด
กาดาเมอร์ได้แบ่งอคติออกเป็น 2 ประเภทคือ "อคติที่มืดบอด" (blind prejudice)
กับ "อคติที่ทำให้ (ความเข้าใจ) เป็นไปได้" (enabling prejudice) (28)
อคติประเภทหลังเท่านั้นที่เป็นประโยชน์ สำหรับเขาแล้ว "อคติที่ (ยุคสว่าง)
มีต่ออคติ" (prejudice against prejudice) เป็นอคติที่มืดบอด เพราะเป็นอคติที่ส่งผลเสียต่อการทำความเข้าใจ
สำหรับความเกี่ยวข้องระหว่างอคติกับประวัติศาสตร์นั้น เป็นไปในแง่ที่ว่า ก่อนที่เราจะสามารถเข้าใจตัวเองโดยผ่านกระบวนการสำรวจตรวจสอบตนเอง (self-examination) ได้นั้น เราย่อมจะต้องเข้าใจตัวเองผ่านครอบครัว สังคม และรัฐ ที่เราอาศัยอยู่ อคติของแต่ละบุคคลจึงเป็นสิ่งที่สร้างผ่านประวัติศาสตร์ของบุคคลนั้นๆ นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงอาจสรุปได้ว่า "ประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีเป็นสิ่งที่ตระเตรียม (prepare) เราให้รู้และเข้าใจ" และ "การคิดว่าเราสามารถหนีไปจาก 'การเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง' (immersion) กับประวัติศาสตร์และสภาวการณ์ที่เราเป็นนั้น เป็นเพียงมายาภาพเท่านั้น" (29)
(28) F.P.A. Demeterio
III, "Dialectical Hermeneutics"
(29) Dan R. Stiver, The Philosophy of Religious Language, p. 93.
จากข้อสรุปข้างต้นจึงกล่าวได้ว่า มนุษย์เป็น "สัตทางประวัติศาสตร์" (historical being) จากประเด็นนี้ได้นำไปสู่มโนทัศน์ที่สำคัญอีกมโนทัศน์หนึ่ง นั่นคือ "จิตสำนึกที่เป็นผลจากประวัติศาสตร์" (historically effected consciousness) หรือที่พาลเมอร์เรียกว่า "จิตสำนึกที่ประวัติศาสตร์กำลังทำงาน" (consciousness in which history is at work) (30) ซึ่งหมายถึง "การดำรงอยู่ของสำนึกที่เราต่างเป็นอยู่ โดยมีประวัติศาสตร์เป็นเงื่อนไขสำคัญในการกำหนด และจำกัดความเข้าใจ" (31) จิตสำนึกของมนุษย์จึงได้ถูกหล่อหลอมอยู่ในกระแสแห่งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่ตลอดเวลา
(30) Richard E. Plamer,
"The Relevance of Gadamer's Philosophical Hermeneutics to Thirty-Six
Topics
or Fields of Human Activity"
(31) เกษม เพ็ญภินันท์, "ว่าด้วยมโนทัศน์ 'ความเข้าใจ' ในศาสตร์การตีความทางปรัชญาของกาดาเมอร์" http://www.shi.or.th/Download/download.php?hId=454
"อคติ"(prejudice)
กับความเกี่ยวเนื่องกับ "ขอบฟ้า" (horizon)
นอกจากนี้ อคติยังมีความเกี่ยวเนื่องกับมโนทัศน์ที่สำคัญอีกมโนทัศน์หนึ่งในทฤษฎีการตีความของกาดาเมอร์
นั่นคือมโนทัศน์ "ขอบฟ้า" (horizon) ซึ่งหมายถึง "ชุดของความรู้ที่ถูกให้มาและอคติซึ่ง
'กำหนดเขต' (circumscribe) ขององค์ประธาน (subject) และสร้างจุดเริ่มต้นของความเข้าใจของมนุษย์"
(32)(*) กาดาเมอร์ยังเน้นด้วยว่า ขอบฟ้าตามแนวคิดของเขานั้นมีความเปลี่ยนแปลงได้
(mutability) และมีลักษณะที่ปรับปรุงใหม่ได้ (revisable nature) โดยขอบฟ้าจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ด้วยการเปิดเผยตนเองต่อขอบฟ้าอื่นๆ
ซึ่งตัวแบบของการปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวที่กาดาเมอร์เสนอก็คือการทำเสวนา ด้วยเหตุนี้
เป้าหมายของการเสวนาจึงอยู่ที่"การผสานขอบฟ้า" (fusion of horizons)
ซึ่งก็คือ"การผสานมุมมอง" (fusion of perspectives) (33) นั่นเอง สำหรับเรื่องนี้ศาสตราจารย์กีรติ
บุญเจือ อธิบายเพิ่มเติมว่า
(32) F.P.A. Demeterio
III, "Dialectical Hermeneutics"
(*) คำว่า"ขอบฟ้า" ในที่นี้อาจเปรียบเทียบกับแนวคิดของฟูโก ก็คือ "วาทกรรม"
(33) เป็นคำของ อี.ดี.เฮิรส์ช, จูเนียร์ (E.D. Hirsch, Jr); ดู E.D. Hirsch,
Jr, The Aims of Interpretation
(Chicago and London: The University of Chicago Press, 1976), p. 49.
เกเดอเมอร์จึงชักชวนให้ทำการเสวนาปรัชญา (philosophical dialogue) และสนทนาอรรถปริวรรต (hermeneutical conversation) เป้าหมายมิใช่เพื่อตกลงหาความหมายร่วมกัน (one meaning) แต่เพื่อขยายขอบฟ้าของกันและกันให้ขอบฟ้าเหลื่อมกัน เกิดการผสานขอบฟ้า ซึ่งมิได้หมายความว่า ผสมเป็นเนื้อเดียวกัน เพียงแต่ขอบฟ้าของคู่เสวนาหันหน้าเข้าหากันจนเหลื่อมกัน แต่ไม่ทำลายกัน เพราะขอบฟ้าของแต่ละคนก็ยังคงเป็นของเจ้าของเดิม เพียงแต่ว่าแต่ละฝ่ายต่างก็ขยายและร่ำรวยทางปัญญามากขึ้น (mutual enrichment) (34)
(34) กีรติ บุญเจือ, อรรถปริวรรต คู่เวรคู่กรรมปรัชญาหลังนวยุค (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549), น.48.
การสะกดว่า "เกเดอเมอร์" เป็นไปตามต้นฉบับ
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จึงมีข้อสรุปตามที่พาลเมอร์ได้กล่าวไว้ว่า "สำหรับกาดาเมอร์แล้ว การตีความทุกอย่าง เป็นเรื่องของการรวมกัน (combination) ของขอบฟ้าแห่งปัจจุบันกับ ขอบฟ้าแห่งอดีต" (35) ขอบฟ้าทั้ง 2 ไม่มีทางที่จะแยกขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิงได้ เนื่องจากมีการผสานกันอย่างมีพลวัต (dynamically) อยู่ตลอดเวลา (36)
(35) Richard E. Plamer,
"The Relevance of Gadamer's Philosophical Hermeneutics to Thirty-Six
Topics
or Fields of Human Activity"
(36) Dan R. Stiver, The
Philosophy of Religious Language, p. 93.
๓.๓ ขอบเขตด้านภาษา (sphere of language)
ประเด็นนี้จะสืบเนื่องจากประเด็นแรก นั่นคือกาดาเมอร์เห็นว่า ในการทำความเข้าใจโดยการเสวนา/สนทนานั้น
จะต้องใช้ภาษาเป็นสื่อกลางเสมอ สำหรับกาดาเมอร์แล้ว ภาษามิใช่เพียงเครื่องมือบางอย่างที่ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อกับโลกเท่านั้น
แต่ภาษาเป็นสื่อกลางที่แท้จริงในการเชื่อมต่อกับโลกต่างหาก กล่าวได้ว่าเราอยู่
"ในโลก"ผ่านการอยู่ "ในภาษา" กาดาเมอร์ยังกล่าวอีกด้วยว่า
"ภาษาคือขอบฟ้าสากลแห่งประสบการณ์ทางการตีความ" (37) ศาสตราจารย์กีรติ
บุญเจือ ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ด้วยเช่นกันว่า
ภาษาจึงมิเป็นเพียงเครื่องมือระบายความรู้สึกนึกคิดเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเก็บวัฒนธรรมและอดีต ภาษายังเป็นตัวพูดถึงอดีตและวัฒนธรรม ทำให้ผู้ใช้ภาษาอยู่ในกระแสแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อย่างเช่น ไบเบิลย่อมเป็นสื่อเสวนาระหว่างพระเจ้ากับผู้อ่านปัจจุบัน โดยมีบริบทของผู้เขียนเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขให้เข้าใจน้ำพระทัยได้ลึกซึ้ง (38)
(37) Jeff Malpas, "Hans-Georg Gadamer"
(38) กีรติ บุญเจือ, ศาสนาอรรถปริวรรตของมนุษยชาติ (ช่วงพหุนิยม) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, 2546), น.196.
๔. การตรงประเด็นของศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญา
(The Relevance of Philosophical Hermeneutics) ของกาดาเมอร์
สำหรับเรื่อง "การตรงประเด็น"
ซึ่งมีความหมายว่า "ความสามารถในการทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการหรือความเหมาะสมต่อภารกิจที่ต้องทำ"
ของศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญาของกาดาเมอร์นั้น พาลเมอร์ (39) ได้กล่าวสรุปว่ามีการ
"ตรงประเด็น" ใน 3 มิติด้วยกัน
มิติแรก คือ "มิติของเวลา" (the dimension of time/ the temporal dimension) ซึ่งการตรงประเด็นในมิติของเวลาหมายความว่า "มีความหมาย ณ ขณะปัจจุบัน, ที่นี่และเดี๋ยวนี้" (currently meaningful, here and now) มีความหมายสำหรับวันนี้และสำหรับผู้คนที่กำลังมีชีวิตอยู่ในตอนนี้ กล่าวอีกอย่างได้ว่าทฤษฎีการตีความของกาดาเมอร์มี "ความเกิดขึ้นร่วมสมัย" (contemporaneity) ฌอง กรองแด็ง (Jean Grondin) นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญาของกาดาเมอร์อีกผู้หนึ่ง จึงได้สรุปว่า "การทำความเข้าใจกับตัวบทในอดีตคือการแปลตัวบทนั้นให้เข้ากับสภาวการณ์ (ที่กำลังเป็นอยู่) ของเรา คือการฟังคำตอบที่ตัวบทมีต่อคำถามในช่วงเวลาของเรา" (40)
มิติที่สอง คือ "มิติของการวิพากษ์" (the dimension of critique) การวิพากษ์ในที่นี้เป็นการวิพากษ์ตนเอง โดยการตั้งคำถามกับโลกทัศน์ (worldview) แนวทาง (approach) และสภาวะเกิดก่อน (presupposition) ของตนเอง หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นวิพากษ์ขอบฟ้าปัจจุบันของตนเอง หากกล่าวโดยสาระแล้ว การวิพากษ์ตนเองนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การตรวจสอบอคติของตัวเองว่า อคติที่มีอยู่นั้นเป็นอุปสรรค หรือเอื้อให้เกิดความเข้าใจได้ดีขึ้นนั่นเอง
มิติที่สาม คือ "มิติของการปฏิรูป" (the dimension of transformation/ the transformative dimension) โดยตัวบทหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะมีการตรงประเด็นในมิติของการปฏิรูปก็ต่อ เมื่อตัวบทนั้นหรือสิ่งนั้นได้ให้นิยามใหม่ (redefine) กับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ทำให้เราเข้าใจทั้งตัวบทนั้นหรือสิ่งนั้น และตัวเราเองในแบบใหม่หรือแนวทางใหม่ เราจะเริ่มมีความต้องการ การกระทำ การมองเห็นคุณค่าและเป้าหมายในสิ่งที่เราทำอยู่แตกต่างไปจากเดิม. การตรงประเด็นในมิติของการปฏิรูปอาจทำลายขอบฟ้าที่มีอยู่ของเรา ทำให้เราสร้างขอบฟ้าใหม่ขึ้นมาแทนและเกิดความตระหนักรู้ในตัวเองมากขึ้น การตรงประเด็นจึงไม่ใช่เพียงแค่วิพากษ์ แต่ยังเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ในการมองหรือการกระทำให้แก่เราด้วย หากกล่าวในแง่นี้อาจเรียกมิติของการปฏิรูปอีกอย่างว่า "มิติของการบำบัดรักษา" (therapeutic dimension) ก็ได้
5. กรณีศึกษาการตีความเรื่องการหลุดพ้นในพระพุทธศาสนาของดร.
บี. อาร์. อัมเบดการ์ (B. R. Ambedkar)
ดร. บี. อาร์. อัมเบดการ์ (B. R. Ambedkar) ถือว่าเป็นผู้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับ
มาเจริญงอกงามในมาตุภูมิคือประเทศอินเดียอีกครั้งหนึ่ง เขาเกิดในวรรณะจัณฑาลที่ยากจนมากตระกูลหนึ่ง
แต่โชคดีที่ได้ทุนการศึกษาจนในที่สุดเขาจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเป็นผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ
หลังจากนั้น ดร. อัมเบดการ์ได้หันมานับถือพุทธศาสนา และเป็นผู้นำชาวอินเดียวรรณะต่ำประมาณ
5 แสนคน ประกาศตัวเป็นพุทธมามกะเมื่อปี พ.ศ.2500 (41)
(41) ชำนาญ จันทร์เรือง, "ดร.อัมเบดการ์ มหาบุรุษผู้นำพุทธศาสนากลับคืนสู่มาตุภูมิ" <http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999678.html>
ในบั้นปลายของชีวิต ดร. อัมเบดการ์ ได้เขียนหนังสือที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเล่มหนึ่งคือ "The Buddha and His Dhamma" (พระพุทธเจ้าและธรรมะของพระองค์) ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงการชาวพุทธอินเดียอย่างมากเนื่องจากพระพุทธศาสนาของ ดร. อัมเบดการ์ แตกต่างไปจากพระพุทธศาสนาที่เคยเป็นมา เพราะว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับชีวิตนักบวช. คำสอนเรื่องการทำสมาธิ การตรัสรู้ กรรม และการเวียนว่ายตายเกิด ที่สำคัญที่สุดก็คือคำสอนเรื่องอริยสัจ 4 ซึ่ง ดร. อัมเบดการ์ เห็นว่าเป็นความหมายที่ถูกเข้าใจผิด เนื่องจากเขาเห็นว่า เป็นคำสอนที่ถูกสอดแทรกเข้ามาโดยพวกนักบวชเสียมากกว่า. ตามความคิดของเขาแล้ว ทุกขอริยสัจคือ"ความทุกข์" ไม่ได้เกิดจากสมุทัยอริยสัจ คือ "อวิชชา"และ"ตัณหา"ของผู้ได้รับความทุกข์นั้น หากแต่เกิดจากการเอาเปรียบทางสังคม (social exploitation) และความยากจน ขาดแคลนทางวัตถุอันเป็นผลจากความเลวร้ายของผู้อื่นต่างหาก นอกจากนั้นเขายังให้นิยามการหลุดพ้นในพระพุทธศาสนาเสียใหม่ว่า ได้แก่ การทำให้สภาพทางวัตถุและความสัมพันธ์ทางสังคมดีขึ้นในชีวิต (ชาติ) นี้ (42)
(42) Christopher S. Queen,
"Dr.Ambedkar and the Hermeneutics of Buddhist
Liberation" in Christopher S. Queen and Sallie B. King, Engaged Buddhism:
Buddhist Liberation Movements in Asia (Albany: State University of New York
Press, 1996), p.47.
มรรคมีองค์ 8 ตามทัศนะของเขาจึงถูกตีความว่าไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่นิพพาน (ซึ่งเป็นเป้าหมายแบบจารีตของพระพุทธศาสนาเถรวาท) แต่เป็นหนทาง "เพื่อขจัดความอยุติธรรม และความไร้มนุษยธรรมซึ่งมนุษย์ได้กระทำกับมนุษย์ด้วยกันเอง"
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น หากมองจากมุมมองของศาสตร์แห่งการตีความ อาจพูดได้ว่าดร.อัมเบดการ์ ตีความคำสอนของพระพุทธศาสนาใหม่ ซึ่งได้ก่อให้เกิดคำถาตามมาว่า การตีความของดร.อัมเบดการ์นั้นมีความสมเหตุสมผล (validity) หรือไม่ การแสวงหาคำตอบต่อคำถามดังกล่าวสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ในที่นี้ผู้เขียนจะนำเอาทฤษฎีการตีความของกาดาเมอร์ซึ่งได้อภิปรายข้างต้นมาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์การตีความของ ดร.อัมเบดการ์. ในด้านหนึ่งนั้น เราจะได้รับคำตอบตามต้องการว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่ ส่วนอีกด้านหนึ่งจะทำให้เราเข้าใจทฤษฎีการตีความของกาดาเมอร์ได้ดีขึ้นด้วย
ขอเริ่มพิจารณาจากความหมายของการตีความของกาดาเมอร์ที่ว่า หมายถึง "การผสานขอบฟ้าแห่งอดีตกับขอบฟ้าแห่งปัจจุบัน" การตีความของ ดร.อัมเบดการ์ กล่าวได้ว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ "จิตสำนึกที่เป็นผลจากประวัติศาสตร์" ของเขาย่อมถูกหล่อหลอมจากประวัติศาสตร์ชีวิตและสังคมที่เขาอาศัยอยู่ นั่นหมายความว่า การที่ ดร.อัมเบดการ์เติบโตขึ้นมาในครอบครัววรรณะต่ำสุดในระบบวรรณะของอินเดีย เขามีประสบการณ์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอันเกี่ยวเนื่องกับการถูกกดขี่ข่มเหงทั้งกายและใจ สิ่งเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลต่อ ชีวทัศน์และโลกทัศน์อย่างลึกซึ้ง นี่คืออคติและจารีตประเพณีที่เป็นเสมือนพื้นฐานที่เขาใช้ทำความเข้าใจกับคำสอนของพระพุทธศาสนา. พื้นฐานที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของเขาก็คือ การศึกษาในระดับสูงที่เขาได้รับจากประเทศตะวันตก หรือแม้กระทั่งจารีตประเพณีของสังคมตะวันตกที่เขาได้อยู่ "ใน" นั้นเป็นเวลาช่วงหนึ่งด้วย
หากจะถามว่า ดร.อัมเบดการ์ ทำความเข้าใจกับตัวบทของพระพุทธศาสนาอย่างไร? ในที่นี้เห็นว่า หากเรามองว่าเขาได้รับการฝึกฝนเรียนรู้ตามวิธีการศึกษาแบบตะวันตก ซึ่งเน้นวิธีหาความรู้ด้วยการตั้งคำถาม ค้นคว้าหาข้อเท็จจริง เมื่อประกอบกับการที่เขาต้องการแสวงหาศาสนาเพื่อที่จะ "นำไปใช้จริง" กับคนทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะคนหรือเฉพาะกรณี โดยมีการศึกษาวิเคราะห์อย่างระมัดระวังเป็นเวลานาน (43) เขาคงจะต้องตั้งคำถามกับตัวบทประหนึ่ง ตัวบทเป็นคู่สนทนา เพื่อค้นหาว่าพระพุทธศาสนามีคำตอบให้กับในแต่ละสถานการณ์ทางสังคมที่เป็นจริงในขณะนั้นอย่างไรบ้าง เหล่านี้คงเพียงพอให้ได้ข้อสรุปว่า ดร.อัมเบดการ์ ใช้วิธีเสวนากับ ตัวบทเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญาเชิงปฏิบัติดังที่กาดาเมอร์กล่าวไว้เช่นกัน และสอดคล้องกับข้อสรุปของกรองแด็งที่ยกมาแสดงข้างต้นว่า "การทำความเข้าใจกับตัวบทในอดีตคือการแปลตัวบทนั้น ให้เข้ากับสภาวการณ์ (ที่กำลังเป็นอยู่) ของเรา คือการฟังคำตอบที่ตัวบทมีต่อคำถามในช่วงเวลาของเรา"
(43) อัมเบดการ์, บี.อาร์.ดร.,พระพุทธศาสนา: แนวคิดเพื่อพัฒนาสังคมและการเมือง แปลโดย พระราชปัญญาเมธี (กรุงเทพฯ: นิติธรรมการพิมพ์, 2548), น. 39.
สำหรับข้อสงสัยว่า การตีความของ ดร.อัมเบดการ์ เป็นการตีความที่ "เกินเลย" หรือ "บิดเบือน" ไปจากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาหรือไม่นั้น มโนทัศน์เรื่อง "การเล่น" ของกาดาเมอร์สามารถนำมาช่วยสร้างความชอบธรรมของดร.อัมเบดการ์ได้พอสมควร โดยยังไม่ต้องกลับไปดูหลักฐานอ้างอิงในพระไตรปิฎก เนื่องจากเราได้ทราบแล้วว่า ตัวบทจะเป็นตัวกำหนดผู้ตีความในระดับหนึ่ง ผู้ตีความไม่ได้มีความเป็นองค์ประธาน (subjectivity) อย่างเต็มที่ หมายความว่าผู้ตีความไม่อาจจะตีความได้ตาม "อำเภอใจ" ของตนเองได้ ในที่นี้ผู้เขียนคิดว่า ตัวบทของพระพุทธศาสนามีกรอบอยู่ที่หลักตัดสินพระธรรมวินัยนั่นเอง
หลักตัดสินพระธรรมวินัยนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
2 ชุด คือใน "สังขิตตสูตร" (44) ที่ตรัสกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี และ
"สัตถุสาสนสูตร" (45) ที่ตรัสกับพระอุบาลี โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ได้สรุปใจความของพระสูตรทั้งสองไว้ตามลำดับ (46) ดังต่อไปนี้
(44) พระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อที่ 53.
(45) พระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อที่ 83.
(46) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม,
ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ หรือ หลักกำหนดธรรมวินัย ๘
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ
1.วิราคะ คือ ความคลายกำหนัด,ความไม่ติดพัน เป็นอิสระ มิใช่เพื่อความกำหนัด ย้อมใจ หรือเสริมความติดใคร่
2.วิสังโยค คือ ความหมดเครื่องผูกรัด,ความไม่ประกอบทุกข์ มิใช่เพื่อผูกรัดหรือ ประกอบทุกข์
3.อปจยะ คือ ความไม่พอกพูนกิเลส มิใช่เพื่อพอกพูนกิเลส
4.อัปปิจฉตา คือ ความอยากอันน้อย,ความมักน้อย มิใช่เพื่อความอยากอันใหญ่ ,ความมักใหญ่ หรือมักมากอยากใหญ่
5.สันตุฏฐี คือ ความสันโดษ มิใช่เพื่อความไม่สันโดษ
6.ปวิเวก คือ ความสงัด มิใช่เพื่อความคลุกคลีอยู่ในหมู่
7.วิริยารัมภะ คือ การประกอบความเพียร มิใช่เพื่อความเกียจคร้าน
8.สุภรตา คือ ความเลี้ยงง่าย มิใช่เพื่อความเลี้ยงยาก ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่าเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์คือคำสอนของพระศาสดา
ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๗ หรือ หลักกำหนดธรรมวินัย ๗
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ
1.เอกันตนิพิทา ความหน่ายสิ้นเชิง,ไม่หลงใหลเคลิบเคลิ้ม
2.วิราคะ ความคลายกำหนัด,ไม่ยึดติดรัดตัว เป็นอิสระ
3.นิโรธ ความดับ,หมดกิเลสหมดทุกข์
4.อุปสมะ ความสงบ
5.อภิญญา ความรู้ยิ่ง,ความรู้ชัด
6.สัมโพธะ ความตรัสรู้
7.นิพพาน นิพพาน
ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่าเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์คือคำสอนของพระศาสดา
หลักตัดสินพระธรรมวินัยนี้สามารถนำไปใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินวิธีประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่า นอกหรือในพระพุทธศาสนาก็ตามได้อย่างครอบคลุม จะเห็นได้ว่าหลักตัดสินพระธรรมวินัยทั้ง 14 ข้อ (มีวิราคะอยู่ทั้ง 2 ชุด) ล้วนแล้วแต่เป็นเป้าหมายที่แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ตามหลักการของพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน แม้จะกล่าวได้ว่า การตีความของ ดร.อัมเบดการ์ เป็นไปในระดับ "โลกียะ" เท่านั้น แต่เรายังสามารถสงเคราะห์ได้ว่า เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เมื่อประกอบกับเจตนาและความตั้งใจอันดี ของ ดร.อัมเบดการ์แล้ว ผู้เขียนเห็นว่า การตีความมีความสมเหตุสมผล
สิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการตีความของ ดร.อัมเบดการ์ ก็คือ การแสดงให้เห็นถึงการตรงประเด็นของศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญาของกาดาเมอร์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในมิติของเวลาซึ่งได้เห็นแล้วว่า การตีความของดร.อัมเบดการ์ "มีความหมาย ณ ขณะปัจจุบัน, ที่นี่และเดี๋ยวนี้" ส่วนมิติของการปฏิรูปก็ค่อนข้างชัดเจนว่า การตีความทำให้ตัวเขาเองและผู้ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนาตามเขานั้น "เริ่มมีความต้องการ การกระทำ การมองเห็นคุณค่าและเป้าหมายในสิ่งที่เราทำอยู่แตกต่างไปจากเดิม" อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของประเทศอินเดียไปจนถึงสังคมโลกในเวลาต่อมา
บทสรุป
จากที่ได้นำเสนอมาทั้งหมด คงจะพอทำให้เข้าใจศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญาของกาดาเมอร์ได้ดีขึ้นตามสมควร
เราคงได้เห็นแล้วว่า กาดาเมอร์ได้สร้างความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่คนในศาสตร์แห่งการตีความ
อย่างไรก็ตาม คุณูปการสำคัญสำหรับมนุษย์ในฐานะที่เป็น "สัตแห่งการตีความ"
(hermeneutical being) คือ ข้อเสนอที่ว่าความเข้าใจนั้นเป็นกระบวนการที่กำลังดำเนินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
(ongoing process) ยังไม่สิ้นสุดหรือยังไม่สมบูรณ์ (47) ข้อเสนอนี้บ่งนัยต่อไปว่า
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่มีความเห็นหรือความเข้าใจใดที่มี "เอกสิทธิ์"
(privilege) เหนือกว่าความเห็นอื่นๆ (48) ผู้เขียนคิดว่าหมายถึงทุกความเข้าใจหรือความเห็นมีความเท่าเทียมกันในแง่ที่สามารถจะผิดหรือถูกได้เท่าๆ
กัน
(47) Jeff Malpas, "Hans-Georg
Gadamer"
(48) David Jasper, A Short Introduction to Hermeneutics, p. 108.
เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอนำมโนทัศน์ทางพุทธศาสนามาเปรียบเทียบในประเด็นนี้ ตามความเห็นของผู้เขียนแล้ว "ขอบฟ้า" ในทฤษฎีของกาดาเมอร์ น่าจะเทียบได้กับ "ทิฏฐิ" ในพระพุทธศาสนา. คำว่า "ทิฏฐิ" นี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
ทิฏฐิ หรือเขียนลดรูปเป็น ทิฐิ แปลว่า ความเห็น หมายรวมถึงความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎี ความเข้าใจตามนัยเหตุผล ข้อที่เข้ากับความเข้าใจของตน หลักการที่เห็นสม ข้อที่ถูกใจ ข้อที่เชิดชูเอาไว้ ความใฝ่นิยม หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ค่านิยม รวมไปถึงอุดมการณ์ แนวทัศนะในการมองโลกและชีวิตที่เรียกกันว่า โลกทัศน์และชีวทัศน์ต่างๆ ตลอดจนทัศนคติพื้นฐานที่สืบเนื่องจากความเห็นความเข้าใจ และความใฝ่นิยมเหล่านั้น (49)
(49) พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม,ฉบับปรับปรุงและขยายความ, พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิกจำกัด, 2546), น. 735-736. ตัวเอนเป็นไปตามต้นฉบับ.
หากกล่าวตามแนวคิดของพระพุทธศาสนา ทิฏฐิของปุถุชนที่ไม่ได้เป็นอริยบุคคลต่างเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือทิฏฐุปาทาน คือการยึดถือความรู้เพียงบางส่วนด้วยกันทุกคน มีตัวอย่างอยู่ในนิทานเรื่องตาบอดคลำช้างที่รู้จักกันดี ซึ่งมีปรากฏอยู่ในปฐมนานาติตถิยสูตร (50) พวกคนตาบอดเหล่านั้นต่างรู้จักช้างเฉพาะส่วนที่ผ่านการสัมผัสด้วยมือของตนเท่านั้น เปรียบเหมือนผู้ที่รู้โดยอาศัยแหล่งความรู้อื่น ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความรู้ที่แท้จริง ต่างจากผู้ที่รู้ด้วยประสบการณ์ตรงของตนเอง ไม่ต้องรู้ผ่านแหล่งอื่นจึงเข้าถึงความรู้ทั้งหมด เหมือนคนตาดีที่เห็นช้างทั้งตัวได้ด้วยตนเอง นอกจากผู้ที่มีทิฏฐุปาทานจะได้ชื่อว่าเข้าถึงความรู้หรือความจริงได้เพียงบางส่วนแล้ว ยังมีปัญหาสำคัญที่ตาม มาก็คือ ขณะที่ตนรู้ไม่จริง รู้ไม่หมด เมื่อไปพบกับผู้ที่มีความเห็นต่างไป (อันที่จริงก็คือ รู้ไม่จริง รู้ไม่หมดเช่นกัน - รู้คนละส่วน) ย่อมจะเกิดความขัดแย้งทางความคิดเห็นนำไปสู่การทะเลาะวิวาทจนถึงการใช้ความรุนแรงได้ (51)
(50) พระไตรปิฎกเล่มที่
25 ขุททกนิกาย อุทาน ข้อที่ 54.
(51) เรื่องเดียวกัน, ทุติยนานาติตถิยสูตร ข้อที่ 55 และเล่มที่ 13 มัชฌิมนิกายมัชฌิมปัณณาสก์
ทีฆนขสูตร ข้อที่ 202.
ด้วยเหตุดังนั้น ข้อปฏิบัติของพุทธศาสนาต่อความจริง (และความรู้) ก็คือ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดว่า "นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง" (52) ข้อปฏิบัติหรือทัศนคติดังกล่าวเรียกว่า "สัจจานุรักษ์" (คุ้มครองสัจจะ) ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์อธิบายว่า หมายถึงการ "ยินดีรับฟังหลักการ ทฤษฎี คำสอน ความเห็นต่างๆ ของทุกฝ่ายทุกด้าน ด้วยใจเป็นกลาง ไม่ด่วนตัดสินสิ่งที่ยังไม่รู้ไม่เห็นว่าเป็นเท็จ ไม่ยืนกรานยึดติดแต่สิ่งที่ตนรู้หรือคิดเห็นเท่านั้นว่าถูกต้อง เป็นจริง" (53) ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือ มีท่าทีที่ไม่"ผูกขาด"ว่าความรู้หรือความเชื่อของตนเท่านั้น ว่าจริงหรือถูกต้อง และพร้อมเปิดใจกว้างรับฟังด้วยความเคารพต่อความเห็นของผู้อื่น
(52) พระไตรปิฎกเล่มที่
13 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ จังกีสูตร ข้อที่ 429.
(53) พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม, น. 650.
ผู้เขียนเห็นว่ามโนทัศน์เรื่องการผสานขอบฟ้าของกาดาเมอร์ หากมองจากมุมของพระพุทธศาสนาก็คือ การทำทิฏฐิให้เสมอกันนั่นเอง จึงอาจกล่าวได้ว่า ทั้งพระพุทธศาสนาและศาสตร์แห่งการตีความเชิงปรัชญาของกาดาเมอร์ มีเป้าหมายตรงกัน นั่นคือการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างสงบสุข และทุกคนคงยอมรับโดยทั่วกันว่า สิ่งนี้ก็คือเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาตินั่นเอง
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บรรณานุกรม
พระไตรปิฎกภาษาไทย
- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ 13, 23, 25. กรุงเทพ:
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.
หนังสือและบทความในหนังสือ
- กีรติ บุญเจือ. อรรถปริวรรต คู่เวรคู่กรรมปรัชญาหลังนวยุค. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.
- ธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พระ. พุทธธรรม. ฉบับปรับปรุงและขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546.- พรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พระ. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ: บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง
แมส โปรดักส์ จำกัด, 2548.- อัมเบดการ์, บี.อาร์.ดร.พระพุทธศาสนา: แนวคิดเพื่อพัฒนาสังคมและการเมือง แปลโดย พระราชปัญญาเมธี. กรุงเทพฯ: นิติธรรมการพิมพ์, 2548.
เอกสารอื่นๆ
- ปรุตม์ บุญศรีตัน. "รูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท." วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2550
อินเตอร์เน็ต
- เกษม เพ็ญภินันท์. "ว่าด้วยมโนทัศน์ 'ความเข้าใจ' ในศาสตร์การตีความทางปรัชญาของกาดาเมอร์." <http://www.shi.or.th/Download/download.php?hId=454>
- ชำนาญ จันทร์เรือง, "ดร.อัมเบดการ์ มหาบุรุษผู้นำพุทธศาสนากลับคืนสู่มาตุภูมิ" <http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999678.html>
Books
Gadamer, Hans-Georg. Truth and Method. Second Revised Edition. Translation revised
by Joel Weinsheimer and Donald G. Marshall. New York: Continuum, 1989.Grondin, Jean. Introduction to the Philosophical Hermeneutics. New Haven and London:
Yale University Press, 1991Hirsch, Jr, E.D. The Aims of Interpretation. Chicago and London: The University of
Chicago Press, 1976.Jasper, David. A Short Introduction to Hermeneutics. Louisville, London: Westminster
John Knox Press, 2004.Klemm, David E. Hermeneutical Inquiry Volume I: The Interpretation of Texts. Atlanta,
Georgia: Scholars Press, 1986.Malpas, Jeff, Ulrich Arnswald and Jens Kertscher (eds.). Gadamer's Century: Essays in
Honour of Hans-Georg Gadamer. Cambridge, Mass.: MIT Press, 2002.Plamer, Richard E. Hermeneutics: Interpretation Theory in Schleiermacher, Dilthey,
Heidegger, and Gadamer. Evanston: Northwestern University Press, 1996.Queen, Christopher S. "Dr.Ambedkar and the Hermeneutics of Buddhist Liberation" in
Christopher S. Queen and Sallie B. King. Engaged Buddhism: Buddhist
Liberation Movements in Asia. Albany: State University of New York Press,
1996.Ricouer, Paul. Hermeneutics and the Human Sciences: Essays on Language, Action
and Interpretation, ed. trans. John B. Thompson. Cambridge: Cambridge
University Press, 1998.Stiver, Dan R. The Philosophy of Religious Language: Sign, Symbol, and Story.
Cambridge, Mass.: Blackwell Publishers, 1996.
Internet
Demeterio III, F.P.A. "Dialectical Hermeneutics"
<http://www.geocities.com/philodept/diwatao/dialectical_hermeneutics.htm>"Age of Enlightenment" <http://en.wikipedia.org/wiki/Age_of_Enlightenment>
"Hans-Georg Gadamer" <http://en.wikipedia.org/wiki/Hans-Georg_Gadamer>
"Neo-Kantianism" <http://en.wikipedia.org/wiki/Neo-Kantianism>"Scientific method" <http://en.wikipedia.org/wiki/Scientific_method>
Malpas, Jeff. "Hans-Georg Gadamer" <http://plato.standford.edu/entries/gadamer>
Plamer, Richard E. "The Relevance of Gadamer's Philosophical Hermeneutics to Thirty- Six Topics or Fields of Human Activity" <http://www.mac.edu/faculty/richardpalmer/relevance.html>
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com