ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




08-03-2552 (1697)

สถานการณ์มลพิษทางอากาศในเขตภาคเหนือตอนบน: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
กฎหมายอากาศ: มาตรการกำจัดมลพิษฝุ่นควันในเขตภาคเหนือ (๑)
ไพสิฐ พาณิชย์กุล : เขียน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

หมายเหตุ: บทความวิชาการทางกฎหมายนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ:
"สถานการณ์มลพิษทางอากาศในเขตภาคเหนือตอนบน: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต"
เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อพิจารณามาตรการทางกฎหมายเกี่ยวเนื่อง มาเป็นเครื่องมือในการลดมลพิษทางอากาศ

บทความวิชาการกฎหมายต่อไปนี้ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ คือ
- มลพิษทางอากาศกับบริบททางกฎหมาย
- ข้อพิจารณาเบื้องต้นเกี่ยวกับอากาศและแนวคิดที่สำคัญๆในมิติทางกฎหมาย
- อากาศ กับ ความเป็นเจ้าของในทางกฎหมาย
- แนวคิดที่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐในการจัดการ คุ้มครอง และ ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
- ที่มาของอำนาจรัฐในทางด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- แนวคิด "ผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย"
- แนวคิดว่าด้วยการเรียนรู้ของระบบกฎหมาย (legal learning)
- บทบัญญัติกฎหมายในปัจจุบันที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษทางอากาศ
- กฎหมายพื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการควบคุมมลพิษทางอากาศ
- กฎหมายและองค์กรที่เกี่ยวกับการจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทต่างๆ
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๙๗
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๐๘ มีนาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๕ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สถานการณ์มลพิษทางอากาศในเขตภาคเหนือตอนบน: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
กฎหมายอากาศ: มาตรการกำจัดมลพิษฝุ่นควันในเขตภาคเหนือ (๑)
ไพสิฐ พาณิชย์กุล : เขียน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

(หมายเหตุ) สำหรับในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย จากสภาพทางภูมิศาสตร์ซึ่งเต็มไปด้วยภูเขา และหลายแห่งมีลักษณะเป็นแอ่งกะทะ ทำให้สภาพการไหลเวียนของภูมิอากาศในช่วงฤดูร้อนค่อนข้างนิ่ง มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากหลายๆ สาเหตุ จึงสะสมภายในแอ่งกะทะเหล่านั้น ซึ่งก่อให้เกิดผลต่อสุขภาวะของประชากรและสิ่งแวดล้อมตามมา ในบทความชิ้นนี้ พยายามที่จะพิจารณาปัญหามลพิษทางอากาศดังกล่าว ผ่านแนวคิดสำคัญๆ ในมิติทางกฎหมาย

มลพิษทางอากาศกับบริบททางกฎหมาย
จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศและปัญหามลพิษ ที่มีลักษณะเลวร้ายเพิ่มขึ้นและเสื่อมทรามลงทุกวัน ทำให้เกิดกฎเกณฑ์ในทางกฎหมายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม แต่การเกิดขึ้นของกฎเกณฑ์หรือกฎหมายนั้น เกิดขึ้นภายใต้พัฒนาการของบริบทและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ที่จัดลำดับหรือให้ความสำคัญของปัญหาที่อยู่ในลำดับที่น้อยกว่าหรือต่ำกว่าปัญหาอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบกันกับปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาทางการเมือง. กล่าวอย่างตรงไปตรงมา การให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาในทางการเมือง และการไม่แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และทางการเมืองของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง อาจเป็นสาเหตุที่สำคัญที่นำไปสู่การก่อให้เกิดเงื่อนไขต่างๆ อีกมากมายที่เอื้อต่อการก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ มลพิษในทางด้านอื่นๆ และในขณะเดียวกันก็ทำให้กลไกและสถาบันในทางกฎหมาย ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการคุ้มครอง แก้ไข หรือเยียวยาความเสียหายได้อย่างที่ควรจะเป็น

ข้อพิจารณาเบื้องต้นเกี่ยวกับอากาศและแนวคิดที่สำคัญๆในมิติทางกฎหมาย
ด้วยเหตุที่สภาพอากาศเป็นสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ดังนั้น โดยพื้นฐานในทางกฎหมายของประเทศส่วนใหญ่ จะพิจารณาความสัมพันธ์หรือวางรากฐานระหว่าง สภาพอากาศ บรรยากาศ กับ กฎหมายในประเด็นที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

1.1 อากาศ กับ ความเป็นเจ้าของในทางกฎหมาย
แม้ว่าอากาศจะเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ "มนุษย์" แต่มนุษย์จัดความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่จำเป็นทั้งหลายต่อมนุษย์กับความต้องการของมนุษย์ด้วยกันเองภายใต้แนวคิดเรื่อง "สิทธิ" และ "หน้าที่" หรือที่เรียกกันในทางกฎหมายว่า "ทรัพยสิทธิ" กันอย่างไร? ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง"ทรัพยสิทธิ"ในทางกฎหมายว่ามีความหมายว่าอย่างไร ซึ่งในท่ามกลางทรัพย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด(ซึ่งหมายถึงว่าทุกคนไม่สามารถที่จะเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน) ใครหรือผู้ใดควรที่จะมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ในแต่ละด้านได้มากกว่าคนอื่น ซึ่งเมื่อนำแนวคิดที่ว่าด้วยทรัพยสิทธิมาอธิบายในแง่มุมของอากาศ จะทำให้เห็นว่า "อากาศ" เป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ เป็นสิ่งที่เรียกว่า "ของสาธารณะ" เป็น open access (เปิดให้เข้าถึงได้) ดังนั้น "อากาศ " จึงเป็นทรัพย์ที่ไม่มี (เอกชน / ปัจเจกบุคคล) คนใดเป็นเจ้าของ และ เมื่อเป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ ก็จะไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ เช่น การลักทรัพย์ การทำให้เสียทรัพย์ การยักยอกทรัพย์ ฯลฯ เว้นแต่ว่าอากาศดังกล่าวจะมีผู้ที่หวงกันหรือครอบครองเป็นเจ้าของอยู่ เช่น อากาศที่บรรจุในกระป๋องไว้ขาย อากาศที่บรรจุอยู่ในยางรถยนต์ เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้อากาศจึงจะมีสภาพเป็นทรัพย์ที่มีเจ้าของในสายตาของกฎหมาย

ดังนั้น เมื่ออากาศเป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่มีใครที่กฎหมายรับรองในความเป็นเจ้าของไว้ให้ อากาศจึงกลายเป็นของสาธารณะเมื่อยังใช้ได้อยู่อย่างไม่มีจำกัดก็ไม่เป็นที่เดือดร้อน หรือต้องวิตกกังวลเหมือนกับทรัพย์ที่หายาก ดังเช่น ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ที่เกิดการช่วงชิงครอบครองเพื่อเป็นเจ้าของ. ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของก็ไม่มีสำนึกที่จะดูแลรักษา เพราะการเข้าไปคุ้มครองดูแลรักษาก็ไม่สามารถที่จะอ้างอิงแสวงสิทธิเพื่อประโยชน์เฉพาะตัวได้แต่ประการใด ในขณะเดียวกันเมื่ออากาศกลายเป็นของสาธารณะที่ใครๆ ก็สามารถที่จะเข้าถึงได้และไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ที่ดำเนินการควบคุม-จัดการอย่างจริงจัง ส่งผลให้สภาพการใช้ประโยชน์จากอากาศตกอยู่ในสภาพที่กลายเป็นที่ระบายของเสียทั้งหลายออกสู่ชั้นบรรยากาศ

ส่วนนี้ในระยะแรกของพัฒนาการของกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสภาพอากาศ ไม่ค่อยมีความชัดเจนนัก ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใน บรรพ 4 ที่ว่าด้วยทรัพย์สิน มาตรา 1304 (*) ซึ่งวางหลักเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่แสดงให้เห็นว่า "รัฐ" หรือ " แผ่นดิน " เป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือทรัพยากรต่างๆ เหล่านั้น แต่ก็ไม่ได้ระบุชัดถึงสภาพอากาศ เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพยากรที่ดิน แหล่งน้ำ และป่าไม้ ที่มีความชัดเจนและเป็นระบบมากกว่า ดังจะเห็นได้จาก มาตรา 1304 (2 ) ดังปรากฎในเชิงอรรถด้านล่างที่มิได้บัญญัติถึงเรื่องสภาพอากาศไว้ในกฎหมายด้วย ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่พลเมืองทุกคนใช้ร่วมกัน (**)

(*) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 บัญญัติว่า "สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น

(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่าที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ
(3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่าป้อม และโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์ "

(**) ความเป็นระบบมากกว่าไม่ได้หมายถึงประสิทธิภาพของระบบ หากต้องการที่จะหมายถึงระดับของความชัดเจนในทางกฎหมายเกี่ยวกับบทบัญญัติที่ว่าด้วยการคุ้มครองดูแลรักษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติแต่ละประเภท

อย่างไรก็ตาม แม้อากาศเป็นทรัพยากรที่ไม่มีบุคคลใดเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถที่จะอ้างสิทธิตามกฎหมายได้ ทั้งนี้ก็เพราะในทางกฎหมายไม่มีบทบัญญัติโดยตรงที่จะรับรองสิทธิในอากาศเหมือนเช่นในต่างประเทศที่เคยประสบปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศมาก่อน อาทิเช่น พระราชบัญญัติว่าด้วย อากาศที่สะอาด (Clean Air Act ค.ศ. 1970)(*) ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือของประเทศอื่นๆ ที่มีการบัญญัติในการคุ้มครองสภาพบรรยากาศอย่างชัดเจน เป็นระบบ และมีมาตราการในการดำเนินการอย่างจริงจัง (**) อันเป็นรากฐากความคิดที่สำคัญที่นำไปสู่การขยายแนวคิดในทางกฎหมายที่หลักๆ ซึ่งมีผลต่อการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมไม่เฉพาะในทางด้านอากาศเท่านั้น แต่ยังขยายผลไปยังด้านแหล่งน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ ซึ่งนำไปสู่การยกระดับการดำเนินการต่างๆ ที่ทำให้รัฐทำหน้าที่ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในเชิงรุกในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น

(*)The Clean Air Act Extension of 1970 (84 Stat. 1676, Public Law 91-604) is a United States federal law that requires the Environmental Protection Agency (EPA) to develop and enforce regulations to protect the general public from exposure to airborne contaminants that are known to be hazardous to human health. This law is an amendment to the Clean Air Act originally passed in 1963. It is sometimes called the Muskie Act because of the central role Senator Edmund Muskie played in drafting the content of the bill.

In accordance with Sections 111 and 112 of the CAA, EPA established New Source Performance Standards (NSPS) and National Emissions Standards for Hazardous Air Pollutants (NESHAP) to protect the public.
The Clean Air Act was made federal law in 1970 and is listed under the 42 U.S.C. ? 7401. The Clean Air Act is significant in that it was the first major environmental law in the United States to include a provision for citizen suits.

(**) แม้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 จะบัญญัติรับรองสิทธิขององค์กรเอกชนที่ขึ้นทะเบียนอาจจะเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายได้ และตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว และในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ฉบับปัจจุบัน ซึ่งก็บัญญัติรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่เป็นสิทธิของประชาชน และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการจัดทำให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่หลักดังกล่าวยังเป็นเพียงหลักการที่เป็นบทบัญญัติเท่านั้น

ในปัจจุบัน ทั้งโดยข้อจำกัดของสภาพตามธรรมชาติของอากาศ และข้อจำกัดของการพัฒนาแนวความคิดใหม่ในทางกฎหมายที่เป็นไปอย่างล่าช้า และไม่ค่อยที่จะรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลให้กลไกในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของอากาศ(และสภาพแวดล้อมอื่นๆ)ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กล่าวคือเกิดสภาพนิ่ง วางเฉย เกี่ยวกับกลไกทางกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการจัดการมลพิษและสภาพแวดล้อมอย่างยิ่ง

1.2 แนวคิดที่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐในการจัดการ คุ้มครอง และ ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ในกรณีประเทศไทยคือ เมื่อไม่มีใครในฐานะที่เป็นเอกชนซึ่งกฎหมายรับรองความเป็นเจ้าของอากาศ หรือบรรยากาศ ดังนั้น เมื่อทรัพย์ไม่มีเจ้าของแต่อยู่ในเขตอำนาจปกครองของรัฐ ซึ่งโดยรากฐานความคิดอันเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายว่า รัฐมีอำนาจสูงสุดเหนืออาณาเขตประเทศของตน ดังนั้นเมื่อรัฐมีอำนาจจึงหมายถึงว่า รัฐต้องมีหน้าที่ที่จะใช้อำนาจรัฐด้วย ซึ่งในทางทฤษฎี การที่รัฐมีหน้าที่จะต้องใช้อำนาจก็เพราะ การที่รัฐอ้างตนว่ามีอำนาจเหนือคนอื่นๆ โดยชอบธรรมได้คือ การมีอำนาจเพื่อการดูแลความมั่นคง ส่งเสริมความมั่งคั่งยั่งยืน และจัดทำบริการสาธารณะ ฯลฯ และในที่นี้การบริการสาธารณะก็คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งหมายรวมถึงการป้องกัน การแก้ไข การฟื้นฟู และการส่งเสริมให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยสำหรับประชาชน

ภายในดินแดนของรัฐประชาธิปไตยหนึ่งๆ รัฐมีอำนาจเหนือดินแดนตามหลักการที่ว่าด้วยหลักอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของปวงชนและของรัฐ ซึ่งในปัจจุบันรัฐเหล่านี้ต่างยอมรับในหลักการดังกล่าว การยอมรับหลักอำนาจอธิปไตยนั้น นอกจากรัฐจะมีสิทธิหรืออำนาจเหนือดินแดนแล้ว สิทธิหรืออำนาจดังกล่าวจะต้องถูกใช้อย่างชอบธรรม เป็นระบบ และความชอบธรรมของกระบวนการในการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวนี้เอง ที่นำไปสู่การก่อให้เกิดหน้าที่ของรัฐ และเรียกร้องให้รัฐต้องทำหน้าที่ในด้านต่างๆ ซึ่งเรียกหน้าที่เหล่านั้นว่า "บริการสาธารณะ". สำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นหน้าที่บริการสาธารณะอย่างหนึ่งซึ่งรัฐจะต้องดำเนินการใช้อำนาจ ดังจะเห็นได้จากการจัดองค์กรของรัฐที่ถูกกำหนดโดยกฎหมายให้ทำหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงในด้านที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ซึ่งในระยะแรกมักจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในทางโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ปัญหาเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน รวมถึงการมีบทบัญญัติของกฎหมายต่างๆ อันนอกเหนือไปจากการจัดองค์กร บุคคลากร งบประมาณ และวิธีการบริการในรูปแบบอื่นอีกมากมาย

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ รัฐถูกคาดหวังว่าจะต้องทำหน้าที่ในการดูแลคุ้มครองสภาพอากาศ แต่การที่รัฐเข้ามาดูแลคุ้มครองสภาพอากาศซึ่งเป็นการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด และ ณ ขณะนี้ พัฒนาการของกฎหมายเท่าที่เป็นมา สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆ ไม่ได้เป็นไปหรือมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการที่จะคุ้มครองดูแลสภาพอากาศให้ดีขึ้นโดยเฉพาะเจาะจงเหมือนกับทรัพยากรอื่นๆ

จากลักษณะของกฎหมายในการคุ้มครองสภาพอากาศมีลักษณะที่เป็น"การคุ้มครองป้องกันสิทธิของบุคคล เพื่อให้อยู่ในสภาพอากาศที่เป็นปรกติ" เป็นหลัก มากกว่าการให้ความสำคัญกับสภาพอากาศ ซึ่งรากฐานความคิดดังกล่าวถือเป็นความคิดพื้นฐานที่สุดในทางกฎหมาย โดยจะปรากฎแนวคิดหรือเหตุผลดังกล่าวในหลักกฎหมายว่าด้วยละเมิด(*) ซึ่งมุ่งที่จะคุ้มครองสิทธิของปัจเจกเพื่อมิให้บุคคลอื่นมากระทำการใด ให้เกิดการกระทบกระเทือนถึงสิทธิ โดยการกระทบกระเทือนถึงสิทธิจะวัดกันที่ระดับของความเสียหายที่เจ้าของสิทธิได้รับ โดยเหตุนี้ หลักกฎหมายละเมิดดังกล่าวจึงก่อให้เกิดการรักษาสภาพอากาศโดยทางอ้อม ด้วยการเข้าไปดำเนินการในกรณีที่มีผู้มาก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นปรกติ

(*) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ตามกฎหมายรับมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการที่ไม่สามารถจะใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นปรกติ โดยตามกฎหมายรัฐจะเข้าไปดำเนินการต่อการกระทำที่จะเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการที่จะใช้ชีวิตอย่างปรกติ แต่ความเสียหายนั้นจะต้องเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น (*) ที่มีผลกระทบอย่างฉับพลันและรุนแรงถึงขนาดที่ทำให้ไม่สามารถที่ใช้ชีวิตอยู่ได้โดยปรกติ และที่สำคัญคือ จะต้องได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำนั้น จึงจะทำให้มาตราการตามกฎหมายละเมิดเข้าไปดำเนินการได้

(*) ในปัจจุบัน นอกจากกรณีที่เอกชนเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้ทำละเมิด สามารถที่จะเรียกร้องให้ผู้ทำละเมิดจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายแล้ว ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้มีหน้าที่ในการดูแล ป้องกัน หรือแก้ไขปัญหา แต่มิได้ใช้อำนาจหรือไม่ทำหน้าที่ดังกล่าวจนก่อให้เกิดความเสียหาย ต้องถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดทางปกครองของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน-เสียหาย สามารถที่จะเรียกร้องหรือฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้รับผิดชอบได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีปัญหาเรื่องสารเคมีระเบิดที่ท่าเรือคลองเตย และกรณีการที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติไม่ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลเก็บรักษาอุปกรณ์เครื่องฉายเอ็กซ์เรย์ที่หมดอายุการใช้งาน ฯลฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในทางปฎิบัติแล้วยังมีองค์ประกอบและเงื่อนไขอื่นๆ อีกมาก ที่จะทำให้หลักการดังกล่าวอาจจะถูกนำมาใช้ในทางปฎิบัติหรือไม่ก็ได้ อาทิเช่น ความรู้สึกว่าตนเองเสียหายหรือได้รับผลกระทบ, ความคิดเห็นของผู้พิพากษา, และกลไกต่างๆในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง, ระบบฐานข้อมูลและระยะเวลาที่จะทำให้อุบัติการณ์สามารถที่จะระบุหรือชี้ชัดได้ถึงผลของการกระทำ เพื่อวินิจฉัยได้ว่าเกิดความเสียหายและเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าว ฯลฯ


นอกจากรัฐจะมีหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองสิทธิของปัจเจกบุคคลเพื่อให้อยู่ในสภาพอากาศที่เป็นปรกติแล้ว ในแง่การปกป้องสังคมโดยส่วนรวมที่จะไม่ตกอยู่ในสภาพความเดือดร้อนรำคาญ ถือได้ว่าเป็นหน้าที่อีกประการหนึ่งของรัฐ ที่จะต้องคุ้มครองป้องกันสิทธิของประชาชนหรือของสังคม ซึ่งจัดเป็นบริการสาธารณะอีกด้านหนึ่งที่รัฐจะต้องดำเนินการ ดังนั้น การเข้าไปคุ้มครองสิทธิดังกล่าวกฎหมายได้กำหนดให้รัฐเข้าไปดำเนินการโดยการใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ เพื่อ วางแผน ป้องกัน แก้ไข และกำหนดให้ทำการปรับปรุงให้ดีขึ้น ฯลฯ ส่วนประสิทธิภาพในการแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญ นอกจากจะขึ้นอยู่กับสำนึกในการทำหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับสำนึกในเรื่องสิทธิของบุคคล สำนึกของชุมชน ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญมากน้อยเพียงใดด้วย

ที่มาของอำนาจรัฐในทางด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากจะมีที่มาจากอำนาจภายในที่ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยมอบให้แล้ว ยังมีที่มาจากสัญญาที่รัฐไปทำกับกลุ่มประเทศต่างๆ ซึ่งนำไปสู่หน้าที่รัฐในการบัญญัติกฎหมายภายในประเทศขึ้น เพื่อกำหนดมาตราการกลไกต่างๆ ให้บังเกิดผล สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มีอนุสัญญาในฐานะที่เป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศมากมายหลายฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านอากาศ เช่น พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) (*) อันนำไปสู่การจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก (Climate Change Convention) หรือ Vienna Convention for Protection of the Ozone Layer 1985 หรือ Montreal Protocol ฯลฯ

(*)The Kyoto Protocol is a protocol to the United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC or FCCC), an international environmental treaty produced at the United Nations Conference on Environment and Development (UNCED), informally known as the Earth Summit, held in Rio de Janeiro, Brazil, from 3-14 June 1992. The treaty is intended to achieve "stabilization of greenhouse gas concentrations in the atmosphere at a level that would prevent dangerous anthropogenic interference with the climate system." The Kyoto Protocol establishes legally binding commitments for the reduction of four greenhouse gases (carbon dioxide, methane, nitrous oxide, sulphur hexafluoride), and two groups of gases (hydrofluorocarbons and perfluorocarbons) produced by "Annex I" (industrialized) nations, as well as general commitments for all member countries.

และนอกจากนั้น แม้จะไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นอนุสัญญาที่มีการลงนามกัน แต่บางครั้งการมีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล และมีการจัดทำเป็นบันทึกช่วยจำ หรือรายงานความร่วมมือในลักษณะต่างๆ ก็เป็นที่มาที่สำคัญในการพัฒนาบทบาทหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินการอย่างใดๆ เพื่อแก้ไขหรือส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องสภาพอากาศที่มีลักษณะข้ามพรมแดน เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และหากจะแก้ไข จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศ ดังเช่น กรณีหมอกควันที่เกิดจากไฟไหม้ป่าในประเทศอินโดนีเชียครอบคลุมประเทศมาเลเซียและในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย. หรือกรณีที่มีการค้นพบกลุ่มหมอกควันสีน้ำตาลคลุมภูมิภาคเอเชียใต้ บริเวณคาบสมุทรอินเดียจากศรีลังกาถึงอัฟกานิสถาน (ABC (Asian Brown Cloud or Atmospheric Brown cloud) หรือกรณีหมอกควันจากการเผาป่าเพื่อการเพาะปลูกที่เป็นปัญหาในภาคเหนือของประเทศ ในสภาพการณ์เช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ทั้งในเวทีระดับภูมิภาค ระหว่างประเทศ และกระทั่งเวทีระดับท้องถิ่น ทั้งในระดับปัจเจกและชุมชน ที่จะต้องสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ว่าด้วย "หน้าที่ของรัฐ" (ภายในประเทศ) คือส่วนที่เป็นปัญหาอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากรัฐใช้อำนาจในการทำหน้าที่ผ่านทางระบบราชการ และปัญหาของระบบราชการดังกล่าวเอง ซึ่งทำให้การทำหน้าที่ของรัฐในส่วนเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะในทางด้านสิ่งแวดล้อมล้มเหลว. ในปัจจุบัน ภายใต้กระแสการปฎิรูปทางการเมือง การจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับหลังๆ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550) กระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เข้ามามีบทบาทในการปฎิรูปทางการเมืองและผลักดันให้เกิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้บทบาทของภาคประชาชนและชุมชนมีสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง โดยการเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น อย่างน้อยก็ในระดับกฎหมายพื้นฐานของประเทศซึ่งถือว่าเป็นรากฐานและเป็นกฎหมายสูงสุดที่จัดโครงสร้างอำนาจรัฐให้ทำหน้าที่ในด้านต่างๆ และครอบคลุมถึงเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

แต่เนื่องจากระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการภายใต้ระบบราชการ และกลไกในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ยังไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมดจึงไม่ถูกให้ความสำคัญ และยิ่งเป็นประเด็นมลพิษอากาศ ซึ่งเป็นปัญหามลพิษที่ยังไม่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้นโยบายการแก้ปัญหา การบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินการและการเตรียมมาตราการต่างๆ จึงไม่มีการดำเนินการกันอย่างจริงจัง

นอกจากนั้น บทบาทหน้าที่ของรัฐไม่ควรที่จะหยุดลงตรงหน้าที่ภายในประเทศเท่านั้น การทำหน้าที่ของรัฐในการริเริ่มเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศในหลายๆ กรณี ไม่ได้มีแหล่งกำเนิดจากภายในประเทศที่รัฐมีอำนาจเต็มในการใช้มาตราการต่างๆ เข้าไปแก้ไขได้

1.3 แนวคิด "ผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย"
แนวคิดดังกล่าวมีปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ตามมาตรา 96 (*) แนวคิดนี้แต่เดิมเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และถูกนำมาเสนอในการประชุมสิ่งแวดล้อมโลกที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล และในที่สุดแนวคิดนี้ก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและมีอิทธิพลนำไปสู่การพัฒนาทางความคิดขึ้นเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของกฎหมายสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามแม้จะกล่าวได้ว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ก็ตาม หากพิจาณาในทางกฎหมายเองแล้วก็จะพบว่า ในข้อเท็จจริงมีบางส่วนของหลักการนี้ปรากฎในทางกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ได้เรียกว่า "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย" แต่ในทางกฎหมายจะรู้จักกันในชื่อของ"หลักความรับผิดในความเสียหาย" ซึ่งหลักความรับผิดในความเสียหายดังกล่าวอาจจะอยู่ในรูปของการถูกลงโทษในรูปแบบของค่าปรับ การชดใช้ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น การถูกห้ามมิให้กระทำการใดๆ ที่เป็นการก่อให้เกิดความเสียหายเช่นนั้นอีกต่อไป เป็นต้น

(*) พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ตามมาตรา 96
มาตรา 96 แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหายด้วยประการใดๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้น จะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ามลพิษเช่นว่านั้นเกิดจาก

(1) เหตุสุดวิสัยหรือการสงคราม
(2) การกระทำตามคำสั่งของรัฐบาลหรือเจ้าพนักงานของรัฐ
(3) การกระทำหรือละเว้นการกระทำของผู้ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายเอง หรือของบุคคลอื่น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงหรือโดยอ้อม

ในการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษนั้น
ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นด้วย

เท่าที่ผ่านมา ความรับผิดในความเสียหายดังกล่าวยังไม่มีการบังคับกันอย่างเป็นระบบแบบแผน จึงทำให้เสมือนหนึ่งว่า "รัฐ" หรือ "สังคม" เป็นผู้แบกรับความเสียหายดังกล่าว และส่วนที่ยังไม่มีปรากฎในทางกฎหมายคือ ในด้านที่แต่เดิมเป็นส่วนซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐหรือหน้าที่ที่รัฐอ้างว่าเป็นหน้าที่ของตน เช่น หน้าที่ในการเก็บและกำจัดขยะ การดูแลเรื่องความสะอาดทั้งหลายในพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายจึงส่งผลต่อบทบาทและหน้าที่ทั้งของรัฐและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้าที่ของประชาชนที่เป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษซึ่งมิได้เป็นความผิดในทางกฎหมาย เช่น การสร้างขยะหรือการก่อให้เกิดมลภาวะเท่าที่จำเป็น ในกรณีเช่นนี้เป็นสิ่งซึ่งในทางกฎหมายไม่เคยเข้าไปดำเนินการแต่อย่างใดให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังมาก่อน ภายใต้หลักการนี้ส่งผลให้รัฐจำเป็นจะต้องสนใจและให้ความสำคัญในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการจัดการมลภาวะจากผู้ก่อให้เกิดมากขึ้น

ดังนั้นสาระสำคัญในทางกฎหมายของแนวคิดที่ว่าด้วย "ผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย" ก็คือ ผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการจัดการมลพิษ และยังรวมถึงกรณีที่มีการกระทำความผิดในทางด้านสิ่งแวดล้อม บรรดาค่าความเสียหาย ค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่รัฐได้ใช้ไปหรือที่สังคมเกิดความเสียหาย ผู้ก่อให้เกิดมลพิษก็ต้องรับผิดชอบด้วย

1.4 แนวคิดเกี่ยวกับการชดเชยเยียวยาความเสียหาย
การชดเชยเยียวยาความเสียหาย เป็นองค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งของรากฐานความคิดในทางกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางสังคมที่รัฐใช้ในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน การใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมกำกับพฤติกรรมของบุคคล โดยกฎหมายใช้สิทธิ - หน้าที่ ซึ่งเป็นคู่แห่งความสัมพันธ์เพื่อกำหนดว่าใครเป็นผู้มีสิทธิและใครเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในทางกฎหมาย

ดังนั้น หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิทธิ วิธีคิดในทางกฎหมายก็จะเริ่มต้นในการตรวจสอบขอบเขตของสิทธิว่า ได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญก็คือ ใครเป็นผู้ที่กระทำหรือก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว บุคคลที่ก่อความเสียหายฯ จึงเป็นผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชดเชยหรือเยียวยาความเสียหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน ซึ่งการชดเชยหรือการเยียวยาความเสียหายนั้นมีหลักการในทางกฎหมายอยู่ว่า จะต้องชดเชยหรือเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิ ในลักษณะที่เป็นการทำให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อนที่จะเกิดความเสียหายขึ้น หลักการที่สำคัญนี้นำไปสู่การกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายที่จะต้องเป็นจริงในทางปฎิบัติด้วย จึงมีการกำหนดเป็นหลักการที่สำคัญอีกสองประการคือ

- ค่าความเสียหายนั้นจะต้องได้รับการชดเชยเยียวยาในจำนวนที่ "เพียงพอ " และ
- การชดใช้ค่าความเสียหายนั้นจะต้องมีการชดใช้ "อย่างทันทีทันใดด้วย

หลักการเยียวยาความเสียหายนี้ เป็นหลักการที่สำคัญของระบบกฎหมายและขณะเดียวกันก็เป็นหลักการสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสร้างหลักประกันสิทธิดังกล่าวนี้ให้กับประชาชน ดังนั้น จึงนำไปสู่การก่อให้เกิดหน้าที่ต่อรัฐในการที่จะต้องสร้างกลไกในการป้องกันการละเมิดสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำระหว่าง"ประชาชน"ต่อ"ประชาชน"ด้วยกันเอง หรือจะเป็น"การกระทำที่เกิดจากรัฐ"ก็ตาม และเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิใดๆ ขึ้น ก็จะต้องมีการเยียวยาความเสียหายในสิ่งที่เกิดขึ้น

ดังนั้น หากนำหลักการเยียวยาความเสียหายมาปรับใช้กับกรณีมลพิษทางอากาศแล้ว ก็จะสามารถเห็นถึงแนวทางที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหาได้ดังต่อไปนี้
ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการกับแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ แต่รัฐไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการล่าช้าเกินสมควรจนเกิดความเสียหายเกิดขึ้น กฎหมายก็จะกำหนดให้รัฐเป็นผู้ที่มีหน้าที่จะต้องชดใช้ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ไม่ปฎิบัติหน้าที่ ซึ่งในกรณีแหล่งมลพิษทางอากาศ อาจจะเป็นกรณีที่รัฐอนุญาตให้แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศสามารถที่จะปล่อยมลพิษได้ โดยต้องไม่เกินค่ามาตราฐานที่กฎหมายกำหนด แต่รัฐไม่ได้ทำหน้าที่ในการควบคุม ติดตามตรวจสอบ ให้การปล่อยมลพิษเป็นไปตามหลักเกณฑ์. เงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายกำหนด อาทิเช่น แหล่งมลพิษที่เป็นโรงงานหรือสถานประกอบการที่รัฐอนุญาตให้ดำเนินกิจการ หรือการใช้เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันซึ่งเป็นไปตามมาตราฐานที่รัฐได้ตรวจสอบ รับรองและอนุญาตให้ใช้ได้

หรือในกรณีที่มีการก่อให้เกิดมลพิษเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีกฎหมายเข้าไปควบคุมหรือรับรอง ซึ่งในกรณีเช่นนี้ เท่ากับว่าไม่มีกฎหมายห้ามไว้ในกรณีที่การก่อให้เกิดมลพิษดังกล่าวไม่เกินค่ามาตราฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกระบวนการก่อให้เกิดมลพิษในลักษณะเช่นนี้ไม่ต้องขออนุญาตก่อนจึงจะปล่อยมลพิษ อาทิเช่น การประกอบอาหารโดยทั่วไป การสูบบุหรี่ในสถานที่ที่กำหนดไว้ เป็นต้น แต่ต่อมาเกิดเหตุการณ์การก่อมลพิษทางอากาศในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อน แต่รัฐมิได้ดำเนินการเพื่อป้องกันหรือแก้ไขอย่างเพียงพอ หรือรัฐวางเฉยมิได้เข้าไปดำเนินการอย่างใดๆ ในกรณีเช่นนี้ จึงเกิดความรับผิดของรัฐขึ้น ดังปรากฎรายละเอียดที่กล่าวมาในหัวข้อ "หน้าที่ของรัฐในการจัดการ คุ้มครอง และ ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม"

1.5 แนวคิดว่าด้วยการเรียนรู้ของระบบกฎหมาย (legal learning)
ในที่นี้ผู้วิจัยเสนอแนวคิดที่สำคัญมากอีกประการของระบบกฎหมาย แต่มิใช่แนวคิดในทางกฎหมายโดยตรง หากแต่ผู้วิจัยได้ปรับปรุงโดยมีรากฐานความคิดมาจาก แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ในทางสังคม (social learning)

แนวคิดว่าด้วยการเรียนรู้ของระบบกฎหมาย ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าสังคมที่จะอยู่รอดได้นั้น สังคมต้องเรียนรู้ในการจะต้องปรับตัว ในทำนองเดียวกัน ระบบกฎหมายที่ดีหรือที่มีประสิทธิภาพ จะต้องเป็นระบบที่ต้องมีสำนึกในเชิงระบบ บุคคลากรจะมีการเรียนรู้ภายในระบบ ซึ่งแนวคิดดังกล่าว จริงๆ แล้วก็คือ แนวคิดที่ว่าด้วยการเรียนรู้ของระบบต่างๆ ในสังคมนั่นเอง

ในประเทศที่ระบบต่างๆ ของสังคมที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ หรือที่เราเรียกกันว่าเป็นสังคมฐานความรู้ (Knowledge Base Society) พบว่าในสังคมแบบนี้จะมีส่วนที่ทำหน้าที่ในการศึกษาในหน่วยย่อยๆ ของสังคมและทำการศึกษารวบรวมข้อมูลวิเคราะห์สังเคราะห์กันอย่างจริงจัง ในระบบกฎหมายของสังคมดังกล่าวจะมีความก้าวหน้าในเชิงแนวคิดใหม่ที่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งส่งผลให้ระบบกลไกต่างๆ ในทางกฎหมาย และมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา(อย่างไรก็ตามก็มักจะช้ากว่าในด้านอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ดังที่เราจะเห็นได้จากการมีกระบวนการในการปรับปรุงกฎหมายอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะมีระบบการติดตามผลอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

แนวคิดดังกล่าวนี้ กล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีอยู่เลยในระบบกฎหมายไทย ทั้งนี้เนื่องจากระบบของสังคมไทยยังมิอาจเรียกได้ว่าเป็นสังคมฐานความรู้ (ที่จะใช้ในการแก้ปัญหา, ที่จะเป็นที่พึ่งของตนเอง) สังคมไทย(กล่าวคือ)เป็นสังคมแห่งอำนาจ ดังนั้น จึงทำให้ประชาชนหวังจะพึ่งพิงผู้ที่มีอำนาจทั้งในทางกฎหมาย และโดยทางพฤตินัยที่จะมาแก้ปัญหาให้ ดังนั้น การแสวงหาความรู้ การเรียนรู้ การสรุปบทเรียน จึงไม่สำคัญเท่ากับการที่มักจะหันไปพึ่งพิงอำนาจของใครที่จะมาแก้ปัญหาให้ตัวเราได้

ดังนั้น เมื่อสังคมไม่เรียนรู้ นักกฎหมายไม่เรียนรู้ ไม่มีการสรุปบทเรียน ไม่คิดค้น แนวคิดทั้งหลายที่ระบบกฎหมายหยิบยืมมาจากสังคมอื่น แม้ว่าจะมีการนำมาบัญญัติเป็นกฎหมายแล้วก็ตาม แต่เมื่อจะนำมาบังคับใช้ในสังคมไทยก็จะเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น ทั้งนี้ด้วยความที่ไม่เข้าใจถึงหลักการ แนวคิด และผลที่จะเกิดขึ้น. ในกรณีปัญหามลภาวะทางอากาศก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีกฎหมายบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการกับมลภาวะทางอากาศมากมาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสภาวะทางอากาศได้ ทั้งนี้เนื่องจากความเคยชินซึ่งเชื่อว่าภาวะมลพิษทางอากาศ, ธรรมชาติจะทำหน้าที่แก้ไขจัดการให้.

จากเหตุผลหนึ่งของการมีรัฐขึ้นก็เพื่อที่จะทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับสังคมดังนั้นแนวคิดที่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อที่ 1.2 แม้จะเป็นแนวคิดที่มีความจำเป็นสำหรับการเป็นรัฐสมัยใหม่ก็ตาม แต่ประสิทธิภาพของการทำหน้าที่ของรัฐสมัยใหม่ขึ้นอยู่กับสำนึกในเรื่อง "สิทธิ" ของความเป็นพลเมืองของประชาชน ความเป็นพลเมืองของประชาชนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเกิดสำนึก หรือเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นเจ้าของทรัพยากร เป็นเจ้าของอากาศและสภาพแวดล้อม ดังนั้น หากตราบใดที่ความรู้สึกและสำนึกความเป็นพลเมืองยังไม่เกิด ยังติดอยู่กับการเป็นผู้ถูกปกครอง ตราบนั้นก็ยังต้องต้องช่วยกันแบ่งปันสูดดมอากาศเสียกันต่อไป การที่จะทำให้สำนึกประชาชนผู้ถูกปกครองเปลี่ยนไปเป็นประชาชนที่มีฐานะเป็นพลเมือง จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ มีการถอดประสบการณ์ มีการสรุปบทเรียน และสร้างความตระหนักเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สำนึกใหม่. สังคมที่มีการเรียนรู้จะนำไปสู่การสร้างระบบกฎหมายที่มีการปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพ และระบบกฎหมายที่จะปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพได้นั้น จะต้องเป็นระบบกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้

บทบัญญัติกฎหมายในปัจจุบันที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษทางอากาศ
ปัจจุบันมีบทบัญญัติกฎหมายมากมายที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการสภาพอากาศ โดยสามารถที่จะแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ

1. กฎหมายพื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการควบคุมมลพิษทางอากาศ
หลักการพื้นฐานของกฎหมายกลุ่มนี้ได้แก่

(ก) การกำหนดมาตราฐานคุณภาพอากาศ
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 32 (*) ได้กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่จะกำหนดมาตราฐานคุณภาพของอากาศ แต่การกำหนดมาตราฐานนั้นจะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วย ผลที่เกิดขึ้นจากหลักการดังกล่าวก็คือ การที่จะกำหนดมาตราฐานคุณภาพของอากาศได้ จะต้องเริ่มต้นจากการมีระบบฐานข้อมูลของอากาศที่กว้างขวาง ลุ่มลึก และเห็นถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงระยะเวลา สามารถที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ การคาดการณ์ได้. ซึ่งในปัจจุบันมีการกำหนดค่ามาตราฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป โดยประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (**) และมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ค่ามาตราฐานคุณภาพอากาศสอดคล้องกับค่ามาตราฐานสากลยิ่งขึ้น

(*) มาตรา 32 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเรื่องต่อไปนี้

มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่งจะต้องอาศัยหลักวิชาการ กฎเกณฑ์ และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน และจะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วย

(**)โปรดดูรายละเอียดใน ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตราฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป ฉบับต่างๆ รายละเอีดยโปรดดูใน www. pcd.go.th

(ข) การกำหนดค่ามาตราฐานขั้นต่ำในการปล่อยอากาศจากแหล่งกำเนิดมลพิษ
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ได้กำหนดวิธีการในการจัดการมลพิษโดยการไปดำเนินการที่แหล่งกำเนิดมลพิษ โดยใช้วิธีการควบคุมการปล่อยหรือระบาย การกำหนดมาตราฐานขั้นต่ำของมลพิษที่จะสามารถที่จะปล่อยออกมาได้ ช่วงระยะเวลาที่จะปล่อย(*) การกำหนดประเภทของแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุม การอุดช่องว่างของการใช้และการไม่ใช้อำนาจของหน่วยงานอื่น(**) การขัดแย้งกันระหว่างมาตราฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิดชนิดต่างๆ ตามกฎหมายอื่นที่มีมาตราฐานต่ำกว่ามาตราฐานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 (***) การให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดให้สามารถที่จะประกาศมาตราฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางอากาศ ที่สูงกว่ามาตราฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตราฐานกลางซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดไว้ก็ได้ (****)

(*) มาตรา 55 ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด สำหรับควบคุมการระบายน้ำทิ้ง การปล่อยทิ้งอากาศเสีย การปล่อยทิ้งของเสีย หรือมลพิษอื่นใดจากแหล่งกำเนิดออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

(**) มาตรา 57 ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้อำนาจส่วนราชการใดกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดในเรื่องใดไว้ แต่ส่วนราชการนั้นไม่ใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดมาตรฐานดังกล่าว ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดในเรื่องนั้นได้ และให้ถือว่าเป็นมาตรฐานตามกฎหมายในเรื่องนั้นด้วย

(***) มาตรา 56 ในกรณีที่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการระบายน้ำทิ้ง การปล่อยทิ้งอากาศเสีย การปล่อยทิ้งของเสีย หรือมลพิษอื่นใดจากแหล่งกำเนิดออกสู่สิ่งแวดล้อมโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอื่น และมาตรฐานดังกล่าวไม่ต่ำกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 55 ให้มาตรฐานดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ถ้ามาตรฐานดังกล่าวต่ำกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 55 ให้ส่วนราชการที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้นแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ในกรณีที่มีอุปสรรคไม่อาจดำเนินการเช่นว่านั้นได้ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นผู้ชี้ขาด เมื่อมีคำชี้ขาดเป็นประการใดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำชี้ขาดนั้น

(****) มาตรา 58 ในกรณีที่เห็นสมควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดสูงกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่กำหนดตามมาตรา 55 หรือมาตรฐานซึ่งกำหนดตามกฎหมายอื่นและมีผลใช้บังคับตามมาตรา 56 เป็นพิเศษ สำหรับในเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 59

ในปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพ.ศ. 2535
แหล่งกำเนิดมลพิษที่มีการบทบัญญัติให้ดำเนินการโดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้แก่

1. ยานพาหนะ ดังปรากฎอยู่ในมาตรา 64- 67 (*) ที่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานที่จะดำเนินการกับยานพาหนะที่ไม่ได้มาตราฐานการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ตามมาตรา 55 มีการกำหนดค่ามาตราฐานเพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศจากแหล่งมลพิษที่เป็นยานพาหนะในรูปของกฎหมายลำดับรองต่างๆมากมาย

(*) มาตรา 64 ยานพาหนะที่จะนำมาใช้จะต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่กำหนดตามมาตรา 55

มาตรา 65 ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า ได้มีการใช้ยานพาหนะโดยฝ่าฝืนตามมาตรา 64 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะนั้นโดยเด็ดขาด หรือจนกว่าจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่กำหนดตามมาตรา 55

มาตรา 66 ในการออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะตามมาตรา 65 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทำเครื่องหมายให้เห็นปรากฏเด่นชัดเป็นตัวอักษรที่มีข้อความว่า "ห้ามใช้เด็ดขาด" หรือ "ห้ามใช้ชั่วคราว" หรือเครื่องหมายอื่นใดซึ่งเป็นที่รู้และเข้าใจของประชาชนโดยทั่วไปว่า มีความหมายอย่างเดียวกันไว้ ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของยานพาหนะนั้นด้วย

การทำและการยกเลิกเครื่องหมายห้ามใช้ตามวรรคหนึ่ง หรือการใช้ยานพาหนะในขณะที่มีเครื่องหมายดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

2. แหล่งกำเนิดมลพิษตามประกาศของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ และเมื่อมีประกาศให้กิจการหรือการก่อให้เกิดมลพิษใดเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมแล้ว (*) ก็จะส่งผลให้เจ้าหรือผู้ครอบครองมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องติดตั้ง จัดให้มีระบบการบำบัดอากาศ เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการควบคุม กำจัด ลด หรือขจัดมลพิษทางอากาศ ดังปรากฎอยู่ในมาตรา 68 (**) ยังมีการกำหนดควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย การกำหนดมาตรฐานค่าก๊าซ ค่าควันดำ ควันขาว ไอน้ำมัน และค่าทึบแสงของเขม่า ที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษและจากกิจการต่างๆ อีกทั้งยังกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ทำหน้าที่ในการควบคุมมลพิษ และนำไปสู่การมีกลไกในทางกฎหมายอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาได้ เช่น การกำหนดเป็นเขตควบคุมมลพิษ การดำเนินการเพื่อจัดทำแผนในการแก้ไขปัญหามลพิษ ฯลฯ

(*) ในปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย และฝุ่นละอองจากกิจการต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1. โรงไฟฟ้า 2. โรงโม่ บด หรือย่อยหิน 3 . เตาเผามูลฝอย 4 . โรงงานเหล็ก

(**) มาตรา 68 ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดประเภทของแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุม การปล่อยอากาศเสีย รังสี หรือมลพิษอื่นใดที่อยู่ในสภาพเป็นควัน ไอ ก๊าซ เขม่า ฝุ่น ละออง เถ้าถ่าน หรือมลพิษอากาศ ในรูปแบบใดออกสู่บรรยากาศไม่เกินมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่กำหนดตามมาตรา 55 หรือมาตรฐานที่ส่วนราชการใดกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอื่นและมาตรฐานนั้นยังมีผลใช้บังคับตามมาตรา 56 หรือมาตรฐานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดเป็นพิเศษสำหรับเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 58

เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่กำหนดตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่ต้องติดตั้ง หรือจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย อุปกรณ์ หรือเครื่องมืออื่นใดสำหรับการควบคุม กำจัด ลด หรือขจัดมลพิษ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศตามที่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษกำหนด เว้นแต่จะได้มีระบบ อุปกรณ์หรือเครื่องมือดังกล่าว ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษได้ทำการตรวจสภาพและทดลองแล้วเห็นว่ายังใช้การได้อยู่แล้ว เพื่อการนี้เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษจะกำหนดให้มีผู้ควบคุมการดำเนินงานระบบบำบัดอากาศเสีย อุปกรณ์ หรือเครื่องมือดังกล่าวด้วยก็ได้

ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ปล่อยหรือก่อให้เกิดเสียงหรือความสั่นสะเทือนเกินกว่าระดับมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่กำหนดตามมาตรา 55 หรือมาตรฐานที่ส่วนราชการใดกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอื่น และมาตรฐานนั้นยังมีผลใช้บังคับตามมาตรา 56 หรือมาตรฐานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดเป็นพิเศษสำหรับเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 58 ด้วยโดยอนุโลม

2. กฎหมายและองค์กรที่เกี่ยวกับการจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทต่างๆ

นอกจากจะมีบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพ.ศ. 2535 แล้ว ยังมีบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติอื่นๆ อีกที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการมลพิษทางอากาศได้ ซึ่งในบางกรณีเป็นการนำเข้ามาในฐานะที่เป็นมาตราการเสริม ในบางกรณีเป็นมาตราการที่เป็นกลไกในการจัดการหลัก ดังมีบทบัญญัติและหลักการโดยย่อ ดังต่อไปนี้

(ก) กฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษจากยานพาหนะ

1. พระราชบัญญัติมาตราฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511
พระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นเพื่อต้องการกำหนดมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัย หรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชนหรือแก่กิจการอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจของประเทศ (*) ดังนั้น ในแง่ของการที่จะนำเอามาตราการตามพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับสามารถที่จะนำมากำหนดให้สินค้าที่จะนำมาจำหน่ายหรือใช้ในประเทศจะต้องได้มาตราฐาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขในการใช้อำนาจไว้ค่อนข้างจะกว้างขวางและสามารถที่จะขยายความให้ครอบคลุมถึงมาตราการต่างๆทางสิ่งแวดล้อมได้

(*) มาตรา 15 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม รัฐมนตรีอาจกำหนด แก้ไข และยกเลิกมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใดๆ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการได้

การกำหนด แก้ไข และยกเลิกมาตรฐานตามวรรคหนึ่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา 17 เพื่อความปลอดภัย หรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชน หรือแก่กิจการอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจของประเทศ จะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดต้องเป็นไปตามมาตรฐานก็ได้

การกำหนดตามวรรคหนึ่งให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และระบุวันเริ่มใช้บังคับไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

2. พระราชบัญญัติ รถยนต์ พ.ศ. 2522
หลักการและวิธีการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ สามารถที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมีและสร้างกลไกในการควบคุมและดำเนินการกับยานพาหนะในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เนื่องจาก ตามพระราชบัญญัตินี้ได้ใช้ระบบการจดทะเบียนและการต่อทะเบียนในการควบคุมรถยนต์(*) ดังนั้นในด้านการจัดการมลพิษทางอากาศสามารถที่จะนำระบบการจดทะเบียนมาใช้ดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการป้องกันไว้ก่อน และหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่ายได้เป็นอย่างดี

(*) มาตรา 7 รถที่จะจดทะเบียนได้ต้อง

(1) เป็นรถที่มีส่วนควบและมีเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และ
(2) ผ่านการตรวจสภาพรถจากนายทะเบียน หรือจากสถานตรวจสภาพที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ในเวลาที่ขอจดทะเบียนแล้ว

ในกรณีที่ขอจดทะเบียนเป็นรถยนตร์สาธารณะ รถยนตร์บริการธุรกิจ หรือรถยนตร์บริการทัศนาจร รถนั้นต้องมีลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนตร์และของรถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้ขอจดทะเบียนต้องแจ้งสถานที่เก็บรถยนตร์สาธารณะ หรือรถยนตร์บริการซึ่งมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++คลิกไปอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกันตอนที่ ๒

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1650 เรื่อง หนากว่า 33000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๐๘ มีนาคม ๒๕๕๒ : Release date 08 March 2009 : Copyleft MNU.

ภายในดินแดนของรัฐประชาธิปไตยหนึ่งๆ รัฐมีอำนาจเหนือดินแดนตามหลักการที่ว่าด้วยหลักอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของปวงชนและของรัฐ ซึ่งในปัจจุบันรัฐเหล่านี้ต่างยอมรับในหลักการดังกล่าว การยอมรับหลักอำนาจอธิปไตยนั้น นอกจากรัฐจะมีสิทธิหรืออำนาจเหนือดินแดนแล้ว สิทธิหรืออำนาจดังกล่าว จะต้องถูกใช้อย่างชอบธรรม- เป็นระบบ และความชอบธรรมของกระบวนการในการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวนี้เอง ที่นำไปสู่การก่อให้เกิดหน้าที่ของรัฐ และเรียกร้องให้รัฐต้องทำหน้าที่ในด้านต่างๆ ซึ่งเรียกหน้าที่เหล่านั้นว่าบริการสาธารณะ สำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นหน้าที่บริการสาธารณะอย่างหนึ่งซึ่งรัฐจะต้องดำเนินการใช้อำนาจ ดังจะเห็นได้จากการจัดองค์กรของรัฐที่ถูกกำหนดโดยกฎหมายให้ทำหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจง

H