ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




04-03-2552 (1695)

โลกหมุนกลับ: การเมืองไทยภายใต้อาณาจักรแห่งความกลัว
ฉันเพื่อน และคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ : เขียนและตอบสัมภาษณ์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

หมายเหตุ: บทความรวบรวมต่อไปนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย
ภายใต้บรรยากาศการควบคุมและการคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
โดยฝ่ายอำนาจนำที่กำลังนำพาสังคมไทยไปสู่อาณาจักรแห่งความกลัว โดยอิงอาศัย
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ และ พรบ.ความมั่นคง

บทความรวบรวมต่อไปนี้ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ คือ
๑. "ฉันเพื่อน" : พวกเราที่ "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน"
๒. เรื่องเกี่ยวเนื่อง: 'สมเกียรติ ตั้งนโม' ยันใช้สิทธิเสนอแก้ไข ม.112 ตามรัฐธรรมนูญ แนะหากเห็นว่าผิดให้ไปแจ้งความ
๓. คำสัมภาษณ์ 'เกษียร เตชะพีระ' เรื่องคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย

ภาคผนวก: กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องปฏิรูป
- ถ้อยแถลงจากธงชัย วินิจจะกูล และเครือข่ายนักวิชาการนานาชาติ
- สถานการณ์ในประเทศไทย กับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ
- ความเป็นมาของการรณรงค์นี้
- ปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
- ผลกระทบของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๙๕
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๐๔ มีนาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗.๕ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

โลกหมุนกลับ: การเมืองไทยภายใต้อาณาจักรแห่งความกลัว
ฉันเพื่อน และคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ : เขียนและตอบสัมภาษณ์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

๑. "ฉันเพื่อน"

คำนูณ สุวินัย พิชิต
สิบกว่าปีก่อน หลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ๒๕๓๕ ไม่นาน เพื่อนรุ่นพี่ของผมคนหนึ่ง
เป็นบรรณาธิการข่าวการเมือง และคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ธุรกิจชื่อดัง ปรากฏว่าการทำข่าวขุดคุ้ยเปิดโปงกรณีไม่ชอบมาพากลในการสั่งซื้อรถถังรถเกราะด้อยคุณภาพจากจีนในยุคของอดีตผู้บัญชาการทหารบก ทำให้พี่คนนั้นตกเป็นเป้ากระหน่ำโจมตีอย่างหนักจากบริษัทบริวารของท่านนายพล

ด้วยความห่วงใยฉันเพื่อนที่มีใจผูกพันกันมากกว่าแค่ร่วมงาน พวกเราที่เป็นคอลัมนิสต์หรือเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวในช่วงนั้นได้ปรึกษาหารือแล้วออกเงินลงขันให้ผมไปซื้อรถถังเด็กเล่นคันเล็กน่ารักมาเป็นของขวัญให้กำลังใจแก่เพื่อนรุ่นพี่ พร้อมทั้งชวนให้มาร่วมดื่มสังสันทน์กันที่ห้องพักของเพื่อนอาจารย์ในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตอนบ่ายแก่ ๆ วันหนึ่ง

ผมจำไม่ได้แน่ว่าดื่มอะไร แค่ชากาแฟหรือไวน์ด้วย แต่ที่จำได้แม่นคือผู้นั่งล้อมวงสังสันทน์ฉันเพื่อนวันนั้น นอกจากผมและพี่คำนูณ สิทธิสมาน บรรณาธิการแห่งเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ที่มาชั้นหลังนี้กลายเป็นผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุด คมช. และวุฒิสมาชิกสรรหาชุดปัจจุบันแล้ว ก็มี.....

- อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย เจ้าของคอลัมน์มองอย่างตะวันออก/บูรพา ไม่แพ้ที่โด่งดังในหน้าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันตอนนั้น ผู้กลายมาเป็นนักวิชาการเสื้อเหลืองแถวหน้า และ

- อาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เจ้าของห้องพักและผู้เขียนบทความการเมือง, โหราศาสตร์
แบบยูเรเนี่ยน และดนตรีคลาสสิกลงแจมในผู้จัดการรายวันเป็นครั้งคราว ที่ผันตัวเองมาเป็นที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ปัญญาชนนักทฤษฎีและนักยุทธศาสตร์เสื้อแดงคนสำคัญ

แค่คิดว่าสมาชิกร่วมวงวันนั้นทั้งสี่ ต่างแยกย้ายกันไปยืนอยู่ฟากไหนข้างใดบ้างในการเมืองแบ่ง
สีเสื้อปัจจุบัน ก็ชวนให้สะทกสะท้อนใจ

สิบกว่าปีถัดมา เพื่อนร่วมวงวันนั้น ต่างมีอันแตกกระจัดพลัดกระจายไปตามทางเดินของแต่ละคน เห็นต่างกันบ้าง โต้แย้งถกเถียงกันบ้าง เลิกคบกันบ้าง วนเวียนมาพบปะโอภาปราศรัยกันบ้าง ออกความคิดความเห็นช่วยเหลือกันบ้าง ตามวาระโอกาสที่ผ่านเข้ามา

สามสี่ปีหลังนี้ แม้เส้นแบ่งและความขัดแย้งทางการเมืองจะแหลมคมเข้มข้นขึ้นทุกที แต่ผมยังได้ต้อนรับอาจารย์สุวินัยที่เอาหนังสือของท่านมาฝากให้ที่ห้องพัก และสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันฉันมิตรเป็นครั้งคราว และพอหนังสือของผมพิมพ์ออกมาบ้าง ผมก็จะคอยส่งไปกำนัลอาจารย์สุวินัยเป็นการตอบแทน รวมทั้งถือติดมือไปฝากให้พี่คำนูณไว้ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ด้วย

แล้วจู่ ๆ ราวเดือนเมษายนศกก่อน ผมก็ได้อีเมล์จากพี่คำนูณอย่างไม่คาดหมาย เป็นคำเชิญชวนให้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเพื่อนของพี่คำนูณในเว็บ Hi 5 ผมลองเปิดเข้าไปดูหน้าเว็บนั้น ก็ได้เห็นรูปพี่คำนูณและครอบครัว โดยเฉพาะลูกเล็กของพี่ซึ่งน่ารักน่าเอ็นดูมาก ผมลองตอบรับคำเชิญนั้น แต่ความที่ใหม่ต่อโปรแกรม Hi 5 ซึ่งสำหรับผมออกจะยุ่งยากซับซ้อน จึงพิมพ์ข้อมูลไม่ทันครบถ้วน ค้างคาไว้ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ....

ช่วงนั้นเผอิญมีข่าวครึกโครมเรื่องคุณโชติศักดิ์ อ่อนสูงและเพื่อนไม่ลุกขึ้นยืนในโรงหนังระหว่างเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีพอดี รายการวิทยุของผู้จัดการรายการหนึ่งได้นำไปประณามโจมตีและเลยเถิดถึงแก่ชักชวนให้ใช้กำลังกับคุณโชติศักดิ์ ผมได้เขียนบทความแสดงความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณโชติศักดิ์ทำ ขณะเดียวกันก็ทักท้วงวิจารณ์ปฏิกิริยาเลยเถิดดังกล่าว รวมทั้งในกรณีคำปราศรัยที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของ รมว. จักรภพ เพ็ญแข ว่าอาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองเหมือนเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ดำเนินการกรณีเหล่านี้ไปตามกรอบกฎหมาย

เท่านั้นเอง ผมก็ได้รับความสนใจถูกนำไปกล่าวขวัญขุดคุ้ยวิพากษ์วิจารณ์จากนานาคอลัมน์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์และรายการทีวีวิทยุของผู้จัดการ-เอเอสทีวี อย่างเที่ยงตรงบ้างผิดเพี้ยนบ้าง (คอลัมนิสต์บางคนสะกดชื่อผมยังไม่ถูก, แถมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมเข้าป่าหลัง ๖ ตุลาฯ เป็นต้น) อึงคนึงต่อเนื่องกันหนึ่งสัปดาห์เต็ม เล่นเอาผมอิ่มและอ่วมอรทัยไปทีเดียว

หลังจากนั้น ผมก็เลยลังเลใจมากที่จะกลับไปพิมพ์ข้อมูลเข้ากลุ่มเพื่อนพี่คำนูณใน Hi 5 ต่ออีก
จนตราบเท่าทุกวันนี้

ในช่วงหลายปีหลังที่ผมห่างหายจากวงเพื่อนสังสันทน์ทั้งสี่ออกไป (ความจริงผมเขียนคอลัมน์ประจำที่"ผู้จัดการรายวัน"เป็นแห่งแรกตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ก่อนจะย้ายวิกมา"มติชน"ในปี ๒๕๔๐ เนื่องจากพี่คำนูณกระซิบบอกว่า "นาย" ไม่ชอบคอลัมน์ที่ผู้จัดการของผม, ไม่ใช่เขียนที่มติชนก่อนแล้วจึงย้ายไปขอเขียนที่ผู้จัดการอย่างที่ "นาย" อ้างบนเวทีพันธมิตรฯ) ผมได้คบค้าไปมาหาสู่ร่วมกิจกรรมหลายอย่างอยู่กับกลุ่มเพื่อนอาจารย์ทางเชียงใหม่ที่เรียกตัวเองว่า "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน"

พวกเราที่ "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน"
พวกเราที่ "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน" ก็จะประชุมอภิปรายสัมมนาวิชาการกันบ้าง, เคลื่อนไหวช่วยเหลือให้กำลังใจและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับชาวบ้านสมัชชาคนจนที่ประท้วงโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งรุกรานฐานทรัพยากรของพวกเขาที่ปากมูล, บ่อนอก-หินกรูด และทำเนียบรัฐบาลบ้าง, แสดงทรรศนะท่าทีต่อสาธารณะในประเด็นการเมืองเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคมบ้าง, ร่วมกันทำบุญถวายพระพุทธรูปให้วัดป่าทางอีสานบ้าง, แต่ที่บ่อยหน่อยและเราโปรดปรานกันมาคือ ซอกแซกไปเที่ยวหาของอร่อย ๆ กินกันตามจังหวัดหัวเมืองต่าง ๆ และเดินทางขับรถไปเที่ยวตากอากาศกันไกลๆ ตามชายทะเลและชายแดนพม่า ลาว มาเลเซีย ฯลฯ

ขึ้นชื่อว่าปัญญาชนนักวิชาการนั้น คบกันรวมหมู่ไม่ง่าย เพราะต่างคนต่างมีลักษณะปัจเจกและวีรชนเอกชนสูง ร่ำเรียนกันมาก็ไม่น้อย ภูมิรู้แน่นในสาขาวิชาของตน ค่อนข้างถือว่ากูก็แน่ ไม่ยอมลงให้กันง่าย ๆ พูดมาก ช่างคิด แก่ตำรา บ้าทฤษฎี จึงลงมือทำอะไรร่วมกันลำบาก ฯลฯ

ลักษณะที่กล่าวมานี้ ปัญญาชนกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็มีอยู่บ้างเป็นธรรมดา แต่ที่พวกเขาทนกันได้ รวมกันติดและร่วมไม้ร่วมมือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะมามากมายหลายอย่างนับสิบปี ก็เพราะพวกเขาตั้งใจดีต่อบ้านเมืองและสังคม เริ่มต้นจากผลประโยชน์ของส่วนรวม โดยเฉพาะคนชายขอบที่เสียเปรียบไร้อำนาจทรัพย์สินอย่างบริสุทธิ์ใจ

เจตนาที่ดีและบริสุทธิ์กิจกรรมที่หลากหลายทั้งเชิงปัญญาวิชาการและปฏิบัติทางการเมือง การได้ใช้ชีวิตคลุกคลีตีโมงรู้จักใกล้ชิดกัน ทั้งยามทำงานยามกินยามเที่ยวยามลำบากยามสบาย ทำให้พวกเขาเรียนรู้อุปนิสัยใจคอ ข้ออ่อนจุดแข็งของกันและกันและค่อย ๆ ปรับตัวถ้อยทีถ้อยอาศัย ลดทิฐิมานะ น้อมใจรับฟัง แสวงหาฉันทามติ หาช่องทางและรูปแบบวิธีการที่แต่ละคนจะได้แสดงบทบาทความสามารถที่ตัวถนัดที่สุดเพื่อประสานภารกิจร่วมกันอย่างลงตัว

ไม่มีใครในหมู่พวกเขาสมบูรณ์แบบ อย่างเช่น อาจารย์ อ. ช่างคิด แหลมคม แต่ร้อยเรียงไม่ค่อยเป็นระบบ ทำให้คนฟังงง ๆ ต้องถามต่อว่าแล้วไง?, อาจารย์ ส.๑ ชอบคุยเขื่องแล้ววนหาที่ลงไม่ได้ สุดท้ายก็ปักหัวดิ่งลงเอาดื้อ ๆ หยั่งงั้นเอง, อาจารย์ ส.๒ รู้กฎหมายดี แต่ปากคอเราะร้ายเชือดเฉือนผิดธรรมเนียมนักกฎหมายทั่วไป, อาจารย์ พ. ก็รู้กฎหมายดี แต่คนกลับมักขอให้แกช่วยแก้ปัญหาเทคนิคร้อยแปดที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายเลย แล้วแกก็ดันแก้ได้เสียด้วยจนได้สมญาว่า "แม็คไกเวอร์", อาจารย์ ช.๑ เมตตา สูงธรรมะธรรโม จนนึกว่าแกเป็นมหาที่เพิ่งสึกออกมาเป็นฆราวาส, อาจารย์ ช.๒ น่ากลัวมาก เพราะถ้าแกชวนคุยติดลมแล้ว แกจะเกาะติดกัดไม่ปล่อยจนคุณมึนงงสมองหมุนตาลายอยากร้องไห้เลยเทียวฯลฯ

แต่พวกเขาน่ารักก็ตรงที่ไม่สมบูรณ์แบบนี่เอง เพราะเราได้เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา และความเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญที่ถูกบ้างผิดบ้าง ดีบ้างเพี้ยนบ้าง ฉลาดบ้าง โง่บ้าง งามบ้าง ขี้เหร่บ้าง น่าเบื่อบ้าง น่าสนใจบ้าง น่าทึ่งบ้าง น่าขำบ้าง ฯลฯ ความเป็นมนุษย์ที่มีตำหนิด่างพร้อยเหมือนรอยลักยิ้มริมแก้ม อันทำให้พวกเขาไม่ใช่อภิมนุษย์นี่แหละที่ทำให้พวกเขาน่ารัก

ไม่มีใครในหมู่พวกเขาชั่วร้าย แม้ในยามที่มืดมิดผิดหวังที่สุด พวกเขาก็พยายามยึดหลักศีลธรรมบางอย่างไว้แน่น ถึงมันจะเป็นการลงโทษตัวเองและคนที่เขาเคารพรักนับถืออย่างเจ็บปวดก็ตาม

ผมรู้จักพวกเขาดี พวกเขาไม่ใช่เครือข่ายขบวนการล้มเจ้าบ้าบอคอแตกอะไรนั่นหรอกครับ คนที่ละเมอเพ้อพกว่าอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ทำแนวร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้น แสดงว่าไม่รู้จักทั้งอาจารย์ใจและชาว ม.เที่ยงคืน เพราะเอาเข้าจริงอาจารย์ใจแค่ทำแนวร่วมกับอาจารย์ร่วมคณะเดียวกันยังลำบากเลย.....

ในสมัยที่รัฐบาลคุณทักษิณเรืองอำนาจที่สุด ชาว ม.เที่ยงคืนร่วมกับนิตยสารฟ้าเดียวกันนี่แหละ ที่ริเริ่มการสัมมนาวิชาการเปิดฉากวิพากษ์โจมตีระบอบทักษิณขึ้นมาอย่างเป็นงานเป็นการ ขณะที่หนังสือพิมพ์บางฉบับยังยกย่องทักษิณเป็นนายกฯ ที่ดีที่สุดของประเทศไทยอยู่ด้วยซ้ำไป

และเพราะความที่พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง เคารพพตัวเองนั่นแหละ พวกเขาจึงร่วมวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหาร และเปิดฉากคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติของ คมช.ด้วยจุดยืนประชาธิปไตย

ผมเข้าใจได้ว่าทำไมบางคนในหมู่พวกเขาร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพราะในรอบสี่ปี่ที่ผ่านมา คู่ขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายต่างใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมฯ มาฟ้องร้องเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างไม่เลือกหน้าและไม่ยับยั้งชั่งใจ ทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายใหญ่โตออกไป และยังความเดือดร้อนให้กับองค์พระประมุขและสถาบันพระมหากษัตริย์ จนถึงแก่พระองค์ตรัสเรื่องนี้ออกมาเอง

การปล่อยให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลายเป็นเครื่องมือเล่นงานคู่ขัดแย้งทางการเมือง จะไม่ช่วยปกป้องและไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด การปกป้ององค์พระประมุขจากการหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้าย ควรทำด้วยการนำเครื่องมือในการปกป้องคือกฎหมายหมิ่นพระบรมฯ ออกไปอยู่ห่างต่างหากจากการเมือง อย่าปล่อยให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองไม่ว่าของฝ่ายใด ด้วยการจัดตั้งองค์กรที่เป็นกลางไม่อยู่ใต้สังกัดการเมืองขึ้นมารับผิดชอบตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมฯทั้งหลายทั้งปวง แทนที่จะให้ตำรวจซึ่งอยู่ใต้การบังคับบัญชาและกดดันของนักการเมืองและกระแสสังคมโดยตรงทำดังที่ผ่านมา

สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมั่นคงยงยืนอยู่ได้ท่ามกลางความผันผวนเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ ก่อนอื่นและเหนืออื่นใดด้วยพระราชอำนาจนำ และพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร ไม่ใช่ด้วยอำนาจบังคับข่มขู่คุกคามทางกฎหมายอันเป็นเพียงเครื่องประกอบ ประชาชนไทยควรได้ดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความไว้วางใจ ไม่ใช่ด้วยความกลัวและหวาดระแวง

ผมหวังว่าพี่คำนูณและอาจารย์สุวินัย จะรับฟังคำทักท้วงฉันเพื่อนเก่าจากผมสักครั้ง

๒. เรื่องเกี่ยวเนื่อง:

'สมเกียรติ ตั้งนโม' ยันใช้สิทธิเสนอแก้ไข ม.112 ตามรัฐธรรมนูญ แนะหากเห็นว่าผิดให้ไปแจ้งความ
คณบดีวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ยืนยันลงชื่อเสนอแก้ ม.112 ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แนะคณาจารย์ที่ล่าชื่อขับ ไปศึกษารัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าทำผิดให้ไปแจ้งความดำเนินคดี ยืนยัน ม.112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายฝ่ายตรงข้าม กระเทือนสิทธิพลเมืองและไม่สามารถปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้สมเจตนา จึงควรยกเลิกและตรากฎหมายใหม่ อธิการบดีแนะหากจะยื่นถอดถอน ต้องไปยื่นคำร้องที่สภา มช.

เมื่อ 16 ก.พ. รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงกรณีที่คณาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ ออกแถลงการณ์และยื่นหนังสือให้สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ กรณีร่วมลงชื่อแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 ที่มี รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแกนนำคนสำคัญ โดย รศ.สมเกียรติกล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องการยื่นถอดถอน แต่ก็ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ไม่ว่าใครจะยื่นถอดถอนหรือออกแถลงการณ์ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ และจะไม่ชี้แจงใดๆ เนื่องจากตนเองไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับเต็มปี 2550 ได้ระบุแล้วว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เสนอแก้ไขกฎหมายฉบับใดก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งตนเองก็ขอย้ำอีกรอบว่าไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ซึ่งอาจารย์ที่ร่วมออกแถลงการณ์ก็ควรจะกลับไปลองอ่านและศึกษารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวดู อย่างไรก็ตาม ถ้าใครเห็นว่าผิดก็ไปแจ้งความดำเนินคดีได้เลย ไม่มีปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ รศ.ใจ หลบหนีการดำเนินคดีหมิ่นไปที่ประเทศอังกฤษนั้น ในฐานะที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนดังกล่าว รศ.สมเกียรติ กล่าวว่า ไม่อยากพูดถึงอาจารย์ใจอีก และขอปฏิเสธข่าวที่มีการนำเสนอคำพูดตนเองที่บอกว่า "อาจารย์ใจหนีเอาตัวรอดคนเดียว" ไม่เป็นความจริง เพียงแต่บอกว่าอาจารย์ที่ร่วมเซ็นชื่อแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ ถูกหลอก

ต่อมา รศ.สมเกียรติยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ "ประชาไท" วานนี้ (18 ก.พ.) ว่า เรื่องนี้เป็นการอาศัยเหตุการณ์ที่ตัวเขาร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฉบับแรก ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิเสรีภาพทางวิชาการและการใช้ กม.อาญามาตรา 112 ในการเป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอาจารย์วิจิตรศิลป์ใช้กรณีดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการปลดเขาจากการเป็นคณบดี

"คณบดีไม่ใช่ศาลพระภูมิที่มีไว้กราบไหว้ คณบดีในมหาวิทยาลัยต้องยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ และเมื่อเห็นอะไรไม่เป็นไปตามครรลองหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ควรจะนิ่งเฉยหรือ กรณีนี้เกี่ยวกับ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือได้โดยง่าย สามารถนำขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมได้โดยลำพัง โดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง ย่อมกระทบกระเทือนสิทธิของพลเมือง และยังไม่สามารถปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้สมเจตนา ดังนั้นจึงเห็นควรยกเลิกและตรากฎหมายใหม่ขึ้นมา ตามสิทธิประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 163"

รศ.สมเกียรติยังกล่าวด้วยว่า "เรื่องนี้เป็นความขัดแย้งภายในคณะวิจิตรศิลป์ เป็นเรื่องของกลุ่มอำนาจเก่าที่สูญเสียอำนาจ มีใบปลิวโจมตีผมก่อนที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นคณบดี และตลอดเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่ ก.ค. 51) ซึ่งผมดำรงตำแหน่งคณบดี คนกลุ่มนี้เป็นพวกที่โหนกระแส เป็นพวกโดยสารฟรี (Free Rider) อาศัยเหตุที่ผมไปลงชื่อกับแถลงการณ์ อ.ใจ อึ๊งภากรณ์ (แถลงการณ์เสนอแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112) เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ และการใช้ประโยชน์กฎหมายอาญา ม.112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายกัน โดยไม่ได้เป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นประเด็นที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำเรื่องนี้มาพิจารณาในรอบ 20 ปี (ดูบทความลำดับที่ 899 เรื่อง "คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : พิทักษ์สถาบันหรือเครื่องมือคุกคามประชาชน") http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2545/document95084.html

"ที่สำคัญคือ ผมลงชื่อในฐานะสมาชิกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในฐานะพลเมืองไทยที่เสียภาษี ในฐานะที่ได้รับการรับรอง"สิทธิในการมีส่วนร่วมในทางการเมือง"ตามรัฐธรรมนูญ จะมาบิดเบือนว่าผมเป็นคณบดีวิจิตรศิลป์แล้วทำอย่างนี้ไม่ได้ คำถามของผมคือ เรื่องนี้ตราไว้เป็นกฎข้อบังคับใดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือถ้ามีอยู่จริงก็ขัดรัฐธรรมนูญ" รศ.สมเกียรติกล่าว

ด้านหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน กรอบบ่าย วันที่ 17 ก.พ. รายงานว่า ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีถอดถอน รศ.สมเกียรติว่า หากจะยื่นถอดถอนตำแหน่งใคร ต้องไปยื่นคำร้องที่สภา มช.
(ประชาไทออนไลน์)

๓. คำสัมภาษณ์ 'เกษียร เตชะพีระ' เรื่องคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย
(ประชาไทออนไลน์)

การถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมากว้างขวางอย่างที่คนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันอาจจะไม่เคยสัมผัสมาก่อน แม้จะมีประเด็นที่ถกเถียงแตกต่างและหลากหลาย กระนั้นก็ยังอาจจะกล่าวได้ว่า ความวิตกกังวลในระดับต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่แล้วมิใช่เป็นเรื่องการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ หากแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้กฎหมาย ม.112 หรือที่เรียกกันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งล่าสุด นักวิชาการชื่อดังจากทั่วโลก 54 ได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการ 'ปฏิรูป' กฎหมายนี้ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็เพื่อ 'ปกป้องพระเกียรติยศ' ของพระมหากษัตริย์ไทย ดังปรากฏความในแถลงการณ์ว่า

"แทนที่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะเป็นไปเพื่อปกป้องพระเกียรติยศ กลับยิ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และประเทศไทย"

อย่างไรก็ตามมีความพยายามของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม และแม้แต่คนในรัฐบาลที่พยายามเบี่ยงเบนประเด็น จงใจบิดข้อเท็จจริง กระทั่งเข้าข่ายใสร้ายป้ายสีผ่านสื่อสารมวลชนบางฉบับให้คนเข้าใจผิด ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงได้. ประชาไท' จึงเรียนขอสัมภาษณ์ อ.เกษียร เตชะพีระ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 54 นักวิชาการนานาชาติ แต่น่าจะช่วยทำให้ข้อถกเถียงในประเด็นข้างต้น ชัดเจน และสร้างสรรค์ต่อไป
(หมายเหตุประชาไท การสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นการสัมภาษณ์ผ่านทางอีเมลล์ และกองบรรณาธิการ 'ประชาไท' ของดแสดงความเห็นท้ายบทสัมภาษณ์)

1. ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงนั้น ต้องอยู่ได้ด้วย 'พระคุณ' มิใช่ 'พระเดช' อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

เกษียร : ฐานคติของสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนจาก [ลัทธิเทวสิทธิ์และ L'Etat, c'est moi. หรือรัฐคือองค์กษัตริย์เอง] ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ? [popular consent หรือฉันทานุมัติ/การยินยอม-ยอมรับโดยสมัครใจของประชาชน] ในระบอบประชาธิปไตย หลัง 2475 - กล่าวให้ถึงที่สุด popular consent นี่แหละเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กที่ปกปักรักษาสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

popular consent ตรงข้ามกับ state coercion หรือการที่รัฐใช้อำนาจบังคับให้สยบยอม; popular consent เป็นเครื่องมือหลักในการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย ขณะ state coercion เป็นเครื่องมือหลักในการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในระบอบเผด็จการอำนาจนิยม

การรักษาเสริมสร้างการยินยอม-ยอมรับโดยสมัครใจของประชาชนอาศัยพระคุณ ไม่ใช่พระเดช ยิ่งใช้พระเดชหรือ coercion มาก ยิ่งไปลดทอนน้ำหนักของ consent ลง กลายเป็นเปลี่ยนย้ายสถานะความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ไปตั้งบนฐานพระเดช บนฐานของการใช้อำนาจรัฐบังคับให้สยบยอม มิใช่การยินยอม-ยอมรับโดยสมัครใจภักดิ์ของประชาชนต่อพระราชอำนาจนำ และพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันกษัตริย์อันเป็นจุดเด่นของรัชกาลปัจจุบัน

ผู้เสนอและทำการปกป้องสถาบันกษัตริย์โดยใช้พระเดชเป็นหลักเหนือพระคุณ จนบดบังพระคุณให้จางเลือนไป จะทำให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อนโดยมิตั้งใจ นั่นจะเป็นการผลักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ไถลเลื่อนไปสู่ลักษณะของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในนามของสถาบันกษัตริย์โดยไม่รู้ตัว

2. การต่อสู้ทางการเมืองในรอบ 4 ปีที่ผ่านมามีการใช้สถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง มีคำขวัญในการปลุกระดมเช่น "เราจะสู้เพื่อในหลวง" หรือการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อจะสื่อไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น 'เสื้อเหลือง' 'ผ้าพันคือสีฟ้า' ปรากฏการณ์เช่นนี้เคยมีในประวัติศาสตร์การปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ใดมาก่อนหรือไม่ และ อาจารย์มองปรากฏการณ์เช่นนื้อย่างไร

เกษียร : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

1) พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และ
2) อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

(ทั้ง 2 ข้อ) เป็น historic compromise ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯและคณะราษฎรในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทยเมื่อ พ.ศ. 2475 ดังปรากฏความในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับแรก 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งพระองค์ทรงร่างขึ้นด้วยพระองค์เองตามพระราชประสงค์ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญสมัยนั้นเห็นพ้องทุกประการและมิได้แก้ไขแต่ประการใดว่า: -

"จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประสิทธิ์ประสาทประกาศพระราชทานแก่ประชากรของพระองค์ ให้ดำรงอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"

แปลว่า ณ วินาทีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมไปสู่ระบอบใหม่ พระมหากษัตริย์และปวงชนชาวไทยได้บรรลุฉันทามติร่วมกันว่า ชาติไทยไม่ต้องการกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ใต้กฎหมายและอำนาจอธิปไตยเป็นของพระองค์) และไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ (ที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์) หากต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นี่เป็นเรื่องที่ตกลงกันไปแล้วในประวัติศาสตร์ไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯได้ตรัสกับพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาและอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก 10 ธันวาคม 2475 ว่า "เมื่อพระองค์พระราชทาน (รัฐธรรมนูญ) แล้วก็เท่ากับให้สัตยาธิษฐาน.....มีความในพระราชปรารภที่ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์สมัครสมานกับประชาราษฎร์ ในอันที่จะรักษาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เจ้านายที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ ไป ก็เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" (ปรีดี พนมยงค์, 'จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม', ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, น. 439)

การเรียกร้องให้ถวายพระราชอำนาจคืน ให้พระองค์ทรงใช้อำนาจพระราชทานนายกฯ อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและเป็นการปกครองแบบมั่วก็ดี, การยึดอำนาจ-โค่นรัฐบาลด้วยวิธีการใดๆ อันนอกกติการัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าเพื่อสถาบันกษัตริย์ก็ดี, การเสนอให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐก็ดี ก็คือการพยายามรื้อ historic compromise นั้นกลับมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ เหมือนหนึ่งเสนอให้สังคมไทยถามและตอบกันใหม่ว่า ตกลงพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือหรือภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ? อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์หรือประชาชน? และจะมีสถาบันกษัตริย์หรือไม่? ซึ่งจะส่งผลสะเทือนต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหลัง 2475 อย่างยิ่ง

3. การที่นักวิชาการทั่วโลก ลงชื่อเรียกร้องให้ 'ปฏิรูป' กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เราสามารถพูดได้หรือยังว่าประเด็นเรื่องการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยมิได้เป็นเรื่องกิจการภายในประเทศแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว และถ้าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องทางสากลแล้ว จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในประเทศอย่างไรบ้าง รวมทั้งอาจารย์คิดว่าเรื่องดังกล่าวจะดำเนินต่อไปอย่างไร

เกษียร : การธำรงคงไว้, ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือแม้กระทั่งยกเลิกกฎหมายฉบับใดๆ ของไทยย่อมเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยที่กระทำได้ผ่านสถาบันการเมืองและกระบวนการนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ในความหมายนี้ เรื่องดังกล่าวก็ย่อมเป็นกิจการของรัฐชาติไทย ตราบเท่าที่ประชาคมโลกยังอยู่ในระบบรัฐชาติ และเคารพหลักอำนาจอธิปไตยของกันและกัน

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ประชาคมอารยะของโลก และภาคีข้อตกลง สนธิสัญญารวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่างๆ แน่นอนว่าการดำเนินการใดๆ ของรัฐไทยย่อมต้องคำนึงถึงและรักษากรอบกติกาเหล่านั้นที่เราได้ตกลงผูกพันตนเองร่วมกันไว้กับนานาอารยะประเทศ

ที่สำคัญ สังคมไทยยังเป็นสังคมเปิดและเป็นมิตรกับประชาคมโลก ชาติไทยเอาตัวรอดมาได้ท่ามกลางความผันผวนเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของโลกก็โดยการเปิดรับ ปรับตัว รับมือการท้าทายนานาชนิดจากกระแสโลกด้วยสติปัญญานับแต่รัชกาลที่ 4 และ 5 เป็นต้นมา จึงไม่แปลกที่เราจะรับฟังและพิจารณาข้อคิดเห็นของมิตรผู้ห่วงใยและหวังดีต่อประเทศไทยที่อาจเห็นตรงหรือเห็นต่างไปจากเรา การสานเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นฉันมิตรอย่างเปิดเผยกับพวกเขาว่าอะไรทำได้และควรทำ อะไรทำไม่ได้และไม่ควรทำ เพราะเหตุผลใด เพื่อหาแง่คิดข้อเสนอที่จะอำนวยประโยชน์สุขและความเจริญก้าวหน้าแก่ชาติเรา จึงควรเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปอย่างปกติธรรมดาและเยือกเย็น เพราะถึงอย่างไรในท้ายที่สุดแล้ว อำนาจพิจารณาตัดสินใจเรื่องนี้ย่อมอยู่กับประชาชนไทย

4. การที่นายกรัฐมนตรียืนยันที่จะไม่ทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยอ้างลักษณะเฉพาะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย หรือการที่รัฐมนตรีว่ากรการกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่า การที่นักวิชาการเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีวาระซ่อนเร้นเรื่องการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐอาจารย์มีความเห็นอย่างไร

เกษียร : พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์บางฉบับชวนให้คิดเห็นไปเช่นนั้น แต่เมื่ออ่านเนื้อข่าวดู ก็พบว่านายกฯอภิสิทธิ์หรือแม้กระทั่งรองนายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณ ต่างก็เห็นว่ามีบางอย่างในการใช้กฎหมาย หมิ่นฯ (หมายถึงมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา) ที่เป็นปัญหา ทำให้มันกลายเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายต่างๆ ใช้รังแกฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง กลายเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ลงมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างมิบังควร และทำให้เรื่องลุกลามบานปลายออกไป เช่น การเปิดช่องให้ใครก็ได้ฟ้องร้องผู้อื่นว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, หรือการขาดหน่วยงานที่อิสระจากการเมืองมาทำหน้าที่กลั่นกรองดูแลคดีความเรื่องนี้อย่างเป็นกลาง เป็นต้น

ผมไม่คิดว่าสิ่งที่นายกฯอภิสิทธิ์หรือรองนายกฯสุเทพเป็นห่วง และอยากปฏิรูปแก้ไขเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแสดงว่าทั้งสองท่านมีวาระซ่อนเร้นเรื่องจะเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ ผมเชื่อว่าบรรดานักวิชาการทั้งหลายที่เรียกร้องทำนองเดียวกันนี้ก็ทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจเช่นกัน พูดให้ถึงที่สุดมีฉันทามติพอสมควรในสังคมการเมืองไทยว่า เรื่องนี้มีปัญหา ว่าการใช้ข้อหานี้รังแกกันทางการเมืองทำให้พระมหากษัตริย์ทรงเดือดร้อน ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท สมควรปรับปรุงแก้ไข เพื่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อลดความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยลงให้อยู่ในระดับปกติ

ลักษณะเฉพาะพิเศษของสังคมวัฒนธรรมไทยก็ดี ของสถาบันกษัตริย์ไทยก็ดี เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งกว้างขวางทางประวัติศาสตร์ มีประเด็นหลากหลายซับซ้อน ชวนคิดค้นถกเถียงอภิปราย ควรแก่การศึกษาวิจัยทางวิชาการสืบไปในสังคมไทยให้มากกว่าที่ผ่านมา ไม่ควรหยิบมาใช้อ้างกันในบริบททางการเมืองเฉพาะหน้าอย่างง่ายๆ เพื่อตัดบทการสนทนา

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

(ภาคผนวก)

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องปฏิรูป
ถ้อยแถลงจากธงชัย วินิจจะกูล และเครือข่ายนักวิชาการนานาชาติ
07 มี.ค. 2009 - 00:53:59. หมวด: กฎหมาย

"การคุมประชากรด้วยข้อมูลและแนวคิดที่โกหก อาจจะไม่นำไปสู่ประเทศไทยที่สำเร็จได้ แต่กลับเป็นการทำลายการพัฒนาและอนาคตของสังคมไทยเอง"
ธงชัย วินิจจะกูล (3 มี.ค. 2551)

วันที่ 3 มีนาคม 51 / เวลา 10.00 น. ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศหรือ FCCT นายธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนสิน แมดิสัน และ นายแอนดรู วอร์เกอร์ นักวิชาการทางด้านไทยศึกษา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้แถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ผ่านโปรแกรมสไกป์ (skype) เกี่ยวกับการรณรงค์ของนักวิชาการทางด้านอุษาคเนย์และไทยศึกษา นักวิชาการทางด้านกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน และผู้มีชื่อเสียงแวดวงอื่น ๆ กว่า 50 คนทั่วโลก ที่เรียกร้องให้มีการปฎิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบรมเดชานุภาพ

ก่อนเริ่มแถลงข่าว นายธงชัยได้อธิบายว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ได้เป็นการจัดโดยสมาคมนักข่าวต่างประเทศ แต่ทางเครือข่ายซึ่งเป็นการริเริ่มขึ้นโดยการประสานงานผ่านอีเมล์ โดยที่สมาคมฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทางสมาคมนักข่าวฯ ได้ให้ทางเครือข่ายใช้สถานที่เหมือนกับองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายค่าใช้สถานที่ โดยเครือข่ายเลือกที่จะใช้สมาคมนักข่าวฯ เนื่องจากเป็นที่ ๆ เหมาะสำหรับใช้เป็นที่แถลงข่าวกับนักข่าวต่างประเทศในประเทศไทย

นายธงชัยได้กล่าวต่อในฐานะตัวแทนของเครือข่ายการรณรงค์ฯ ที่จะส่งจดหมายต่อนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ว่าทางเครือข่ายมีข้อเรียกร้องให้มีการปฎิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ดูรายละเอียดข่าว) http://www.prachatai.com/05web/th/home/15766

สถานการณ์ในประเทศไทย กับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ
นายธงชัยระบุว่าสถานการณ์วิกฤติทางการเมืองในประเทศไทยในระยะหลายปีที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การทำลายประชาธิปไตยและสิทธิ เสรีภาพในหลาย ๆ ด้าน ในไม่กี่เดือนที่ผ่านมากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ถูกนำมาใช้และมีการฟ้องคดีหมิ่นฯ และจับกุมบุคคลในแวดวงต่าง ๆ หลายคน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้นำไปสู่การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวขึ้นมาในชุมชนทางการเมืองและชุมชนวิชาการในประเทศ

"ในฐานะที่เราเป็นนักวิชาการและผู้สังเกตการณ์กับสถานการณ์ในประเทศไทย พวกเราได้มีความกังวลเกี่ยวกับการคุกคามประชาชนไทยและประชาชนชาวต่างประเทศโดยใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากว่าวิกฤติการณ์ทางการเมืองนำไปสู่เหตุการณ์เหล่านี้"

การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบ่อยครั้งต่อกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม เป็นการทำลายกระบวนการทางประชาธิปไตย การที่นักข่าว นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปถูกฟ้องโดยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ เนื่องจากแสดงออกทางการเมือง กรณีเหล่านี้ได้นำไปสู่การปิดกั้นการพูดคุยประเด็นสำคัญในเวทีสาธารณะ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ด้วยข้อกล่าวอ้างว่าทำไปเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการโกหก เนื่องจากคดีต่าง ๆ ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ได้ปกป้องชื่อเสียงเกียรติยศของสถาบันฯ แต่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ และประเทศไทย ทั้งในและนอกประเทศ

ที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอแนะจากหลายส่วนให้มีการปฎิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านเองก็ได้กล่าวว่าการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่กระทำได้ พวกเรามีความกังวลเพราะแทนที่รัฐบาลจะรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ รัฐบาลกลับนำกฎหมายมาใช้เพื่อกดขี่สิทธิเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้มีผู้แทนฯ ของรัฐบาลหลายคนกลับเรียกร้องให้มีบทลงโทษกรณีหมิ่นฯ ให้สูงกว่าเดิม โดยอ้างว่าสิ่งเหล่านี้ได้ทำไปเพื่อปกป้องสถาบันฯ

จากประสบการณ์ของหลาย ๆ ประเทศ ได้เป็นที่รู้กันว่า ความจริง ความโปร่งใส่ การแลกเปลี่ยนอย่างเป็นอารยะ และกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนความขัดแย้งทางความคิดไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติได้ การกดทับทางความคิดไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่กลับมีความเป็นไปได้ในการสร้างโทษให้กับสถาบันฯ มากกว่าสร้างประโยชน์

ความเป็นมาของการรณรงค์นี้
การณรงค์ครั้งนี้เริ่มจากการที่นักวิชาการสามคนที่เป็นที่มีชื่อเสียงทางด้านอุษาคเนย์ศึกษาและไทยศึกษาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากกฎหมายหมิ่น คือ อาจารย์เจมส์ สกอตต์ (James C. Scott) จากมหาวิทยาลัยเยล, อาจารย์ชาร์ล เอฟ เคน (Charles F. Keyes) จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และ อาจารย์เครก เจ เรโนลด์ (Craig J. Reynold) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย พร้อมกับนายธงชัย และ ดร.แอนดรูว์ ในฐานะเป็นผู้ประสานงาน

โดยการณรงค์นี้ได้ทำให้เกิดความสนใจและกังวลโดยผู้นำทางด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ นักวิชาการด้านไทยศึกษา และนักวิชาการทั่วไปจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการเริ่มลงชื่อซึ่งริเริ่มขึ้นในราวต้นเดือนกุมภาพันธ์โดยนักวิชาการสามท่านข้างต้น และขณะนี้มีนักวิชาการระดับโลกมาร่วมลงชื่อมากกว่าห้าสิบคนแล้ว

นายธงชัยได้อธิบายต่อว่า ทางกลุ่มขอประกาศว่า บุคคลที่เป็นห่วงกับสถานการณ์ประชาธิปไตยและเสรีภาพในประเทศไทย นักวิชาการทางด้านอุษาคเนย์ศึกษาและไทยศึกษา หรือทางด้านอื่น ๆ จนถึงประชาชนทั่วไป และบุคคลที่ต้องการให้ประเทศไทยพัฒนาไปในอนาคต เพื่อที่จะเป็นตัวอย่างของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เป็นสังคมอารยะ ห่วงใยกัน และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน สามารถลงชื่อในจดหมายที่จะถูกส่งไปให้นายกรัฐมนตรีได้

โดยต่อจากนี้ ทางกลุ่มจะส่งอีเมล์จำนวนมากไปตามอีเมล์กรุ๊ป และองค์กรที่สนใจ โดยจะส่งจดหมายนี้ให้กับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน หลังจากที่ได้รายชื่อมากที่สุดเท่าที่ทำได้

ปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ มีปัญหาหลัก ๆ อยู่สามข้อ

ประเด็นแรก คือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ได้รับการบิดเบือนเป็นระยะเวลาหลายปี เนื่องจากข้อคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา หรือแม้แต่ข้อคิดเห็นที่ไม่รุนแรง หรือข้อคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ได้แสดงความต่อต้านหรือสร้างโทษให้กับสถาบันฯ ได้ถูกอธิบายว่าเป็นอาชญากรรมหรือภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ

เราไม่สามารถอธิบายได้ว่า "การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย" หมายความว่าอะไร คำพูดนี้ไม่ได้มีการให้คำนิยามอย่างชัดเจน แต่ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดอย่างง่ายดาย และอย่างไม่มีความรับผิดชอบ นอกจากนี้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ไม่ได้อธิบายว่าใครบ้างที่ถูกคุ้มครองภายใต้กฎหมายนี้ กฎหมายนี้รวมถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ราชวงศ์ พระมหากษัตริย์องค์อื่น ๆ จนถึงกษัตริย์อยุธยาด้วยหรือไหม นอกจากนี้ยังที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการทำให้กฎหมายนี้ครอบคลุมองคมนตรีด้วย

ประเด็นที่สอง กฎหมายนี้ประชาชนคนไหนก็สามารถแจ้งความได้ โดยที่รัฐมีหน้าที่ในการฟ้อง ต่อใครก็ได้โดยอ้างว่าหมิ่นสถาบันฯ โดยส่วนนี้เปิดโอกาสให้มีการใช้ในทางที่ผิด และได้มีการใช้อย่างมากในการคุกคามกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม บุคคลที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาล และนักวิชาการ

ประเด็นสุดท้าย การลงโทษทางสังคมเกิดขึ้นกับผู้ถูกกล่าวหาคดีหมิ่น ฯ ก่อนที่จะมีกระบวนการทางกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น ประเด็นนี้ไม่ได้แสดงถึงข้อบกพร่องของกฎหมาย แต่แสดงให้เห็นปัญหาของกฎหมายโดยตรง

ผลกระทบของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ มีผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลที่ได้รับการแจ้งความ เนื่องจากได้ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ และลงโทษก่อนที่มีการพิสูจน์ แต่ผลกระทบนี้เกิดขึ้นมากกว่าแค่กับปัจเจกบุคคล เนื่องจากได้นำไปสู่การสร้างภาวะความกลัวและการถูกกดขี่ทั่วไปในสังคม ดังนั้นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ได้นำไปสู่การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ทำลายกระบวนการการเมืองแบบประชาธิปไตย สร้างการไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างและขาดมนุษยธรรมต่อประชาชนคนไทย และไม่ได้สร้างประโยชน์กับใครทั้งสิ้น แม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์เอง

นายธงชัยได้ตั้งคำถามต่อคนที่เข้าร่วมแถลงข่าวว่า พวกเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับการแถลงข่าวครั้งนี้หรือไหม เราต้องถามญาติ เพื่อน หรือคนใกล้ชิดของเหยื่อที่ถูกกล่าวหาว่ากลัวที่จะเป็นเหยื่อคนต่อไปหรือไม่ ทุกคนกลัวคดี และกลัวการถูกลงโทษทางสังคมก่อนที่คดีจะเริ่มต้นขึ้น

เช่นเดียวกัน นายธงชัยอธิบายว่าเราต้องถามนักข่าวไทยว่า บรรณาธิการจะรายงานการแถลงข่าวครั้งนี้หรือไหม พร้อมกับอธิบายว่าตัวเขาเองได้ข้อมูลมาว่า มีหลายสำนักข่าวที่ไม่กล้าแม้กระทั้งจะส่งนักข่าวมางานแถลงข่าวครั้งนี้ บางสำนักข่าวได้ส่งคนมา แต่จะไม่รายงานการแถลงข่าวครั้งนี้ คำถาม คือ ทำไมเราต้องเซ็นเซอร์ตัวเองโดยที่ไม่มีภัยคุกคาม เช่นมีตำรวจมายืนอยู่หน้าสำนักข่าว ดังนั้นเราจะเรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่าอะไร ถ้าไม่ใช่ภาวะแห่งความกลัว

นอกจากนี้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบรมเดานุภาพ ได้ทำลายการยอมรับความคิดเห็นและหลักมนุษยธรรมในสังคม. ในหลาย ๆ กรณี เมือใครก็ตามถูกมองว่าได้แสดงความไม่เคารพหรือถูกมองว่าแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมต่อสถาบันกษัตริย์ บุคคลเหล่านั้นจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า "ถ้าไม่ชอบสถาบันฯ ก็น่าจะย้ายไปประเทศอื่น" "คุณไม่น่าเกิดเป็นคนไทย" หรือ "ไร้ค่า มึงเป็นหมา" ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องตลกหรือเรื่องทั่วไป อันตรายที่เกิดขึ้นนี้เป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกรณีการแสดงละครแขวนคอ (ที่ถูกอ้างว่าเป็นการหมิ่นสถาบันฯ) จนนำไปสู่การฆาตกรรมหมู่นักศึกษาในเหตุการณ์หกตุลา

ท้ายสุด นายธงชัยอธิบายว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบรมเดชานุภาพไม่มีประโยชน์กับใครเลย รวมถึงสถาบันฯ ด้วย. การคุกคามและกดขี่โดยใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ หรืออ้างว่าเป็นการปกป้องสถาบันฯ สามารถกลายเป็นภัยคุกคามการคงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้

ช่วงถาม-ตอบ

นักข่าวได้ถามนายธงชัยเกี่ยวกับการดำเนินคดีกรณีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ. นายธงชัยได้ตอบว่าในปี 2004 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พูดในที่สาธารณะว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ต้องเป็นสิ่งที่ทำได้ เช่นเดียวกันกับ ดร. เตช บุนนาค ที่ได้พูดว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ มีปัญหา เช่นเดียวกันกับนักวิชาการในไทยที่ได้เสนอว่า ต้องมีการปฎิรูปหรือยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นายธงชัยกล่าวว่าเป็นที่น่าเศร้าที่รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐ จนรวมถึงคนที่คลั่งเจ้า (Royalist fanatic) พยายามจะทำตรงกันข้าม โดยเชื่อว่าการปราบปรามอย่างรุนแรงเป็นทางออก ปัจจุบันนี้รัฐบาลไทยและวุฒิสภากำลังดูว่าจะเพิ่มโทษกฎหมาย และวิธีที่จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปราม "เว็ปไซต์" ที่เป็นภัยได้อย่างไรบ้าง

ในเดือนที่แล้วมีเว็ปไซต์ "ปกป้องในหลวง" ขึ้นมาเพื่อที่ใครก็ได้จะสามารถรายงานบุคคลที่เชื่อว่าละเมิดสถาบันฯ ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลไทยกำลังสร้างสังคมอำนาจนิยมที่กำลังทำให้ประชากรส่วนหนึ่ง ต้องจับตาดูการกระทำของประชากรด้วยกันเอง

นอกจากนี้ได้มีนักข่าวถามว่า คิดอย่างไรถ้าคนมองว่าการรณรงค์นี้เป็นการรณรงค์ของนักวิชาการต่างประเทศที่ต้องการเข้ามายุ่งกับสถานการณ์การเมืองไทย. นายธงชัยตอบว่า ในประเทศไทยมีมุมมองที่ชอบอธิบายว่า คนต่างประเทศชอบเข้ามาทำลายประเทศไทยและประชาชนไทย แต่ในอีกมุมหนึ่งพวกเรารู้ว่าประเทศไทยได้มีน้ำใจต่อคนต่างชาติมาก ดังนั้นแสดงว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีทัศนะข้างต้น

คนที่มาลงชื่อนี้เป็นคนที่เห็นอกเห็นใจกับประเทศไทย หลาย ๆ คนรักประเทศไทยมาก ดังนั้นถึงอุทิศชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตเขาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทย และต้องการให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จ และกลายเป็นที่ ๆ มีความห่วงใยกัน และสามารถยิ้มให้กันได้ (โดยไม่ต้องเอามีดแทงหลังกัน) เนื่องจากการควบคุมประชากรด้วยข้อมูลและแนวคิดที่โกหก อาจจะไม่นำไปสู่ประเทศไทยที่สำเร็จได้ แต่กลับเป็นการทำลายการพัฒนาและอนาคตของสังคมไทยเอง

เมือถามว่า การรณรงค์นี้มีความเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ของนายใจ อึ๊งภากรณ์ หรือไม่. นายธงชัยตอบว่าไม่, เพราะเป็นการรณรงค์ที่ต้องการให้มีการปฎิรูปครั้งใหญ่ ไม่ได้มีการติดต่อกับอาจารย์ใจโดยตรง เพราะการรณรงค์ครั้งนี้เป็นการรณรงค์เพื่อปฎิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ในภาพรวม. แต่ถ้าถามว่านายใจมาลงชื่อได้หรือไหม นายธงชัยบอกได้ แต่โดยส่วนตัวกรณีการปฎิเสธการประกันตัวของนางสาวดารุณี ชาญเชิงศิลปะกุล เป็นกรณีที่ทำให้เขาอยากมารณรงค์กรณีนี้ เนื่องจากส่วนตัวเห็นว่า กรณีนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นการปฎิเสธความยุติธรรม

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1650 เรื่อง หนากว่า 33000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๐๔ มีนาคม ๒๕๕๒ : Release date 04 March 2009 : Copyleft MNU.

popular consent ตรงข้ามกับ state coercion หรือการที่รัฐใช้อำนาจบังคับให้สยบยอม; popular consent ถือเป็นเครื่องมือหลัก ในการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ state coercion เป็นเครื่องมือหลักในการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในระบอบเผด็จการอำ
นาจนิยม การรักษาเสริมสร้างการยินยอม-ยอมรับโดยสมัครใจของประชาชนอาศัยพระคุณ ไม่ใช่พระเดช ยิ่งใช้พระเดชมาก ยิ่งไปลดทอนน้ำหนักของ consent ลง กลายเป็นเปลี่ยนย้ายสถานะความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ไปตั้งบนฐานพระเดช บนฐานของการใช้อำนาจรัฐบังคับให้สยบยอม มิใช่การยินยอม-ยอมรับโดยสมัครใจภักดิ์ของประชาชนต่อพระราชอำนาจนำ และพระมหากรุณาธิคุณของสถาบัน

H