1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
บทความทางปรัชญา: ว่าด้วยปรากฏการณ์วิทยาของจิตสำนึกเรื่องเวลา
ฮุสเซิลกับแนวคิดปรากฏการณ์วิทยา
: การทำพื้นที่ให้มีความหมายของเวลา
จริยา
นวลนิรันดร์ : ผู้วิจัย
คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความต่อไปนี้ ได้รับมาจากผู้วิจัย
จากเดิมชื่อ:
การทำพื้นที่ให้มีความหมายของเวลา
ในคำบรรยายของฮุสเซิลว่าด้วยปรากฏการณ์วิทยาของจิตสำนึกเรื่องเวลา
Temporalizing Space in Husserl's Lectures on Phenomenology of Time Consciousness
โดยได้ลำดับหัวข้อการนำเสนอดังต่อไปนี้ :
- พื้นที่
เวลาและประสบการณ์ที่มีชีวิตชีวา
- การปรากฏตัวขึ้นของปัจจุบันกาล : ปัจจัยที่ทำให้เกิดความมีชีวิต
- การทำพื้นที่ให้มีความหมายของเวลา ในทัศนะของฮุสเซิลกับแดริดา
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๖๕๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความทางปรัชญา: ว่าด้วยปรากฏการณ์วิทยาของจิตสำนึกเรื่องเวลา
ฮุสเซิลกับแนวคิดปรากฏการณ์วิทยา
: การทำพื้นที่ให้มีความหมายของเวลา
จริยา
นวลนิรันดร์ : ผู้วิจัย
คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
การทำพื้นที่ให้มีความหมายของเวลา
ในคำบรรยายของฮุสเซิลว่าด้วยปรากฏการณ์วิทยาของจิตสำนึกเรื่องเวลา
Temporalizing Space in Husserl's Lectures on Phenomenology of Time Consciousness
จริยา นวลนิรันดร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์งานเขียนของฮุลเซิล ในเรื่องการทำพื้นที่ให้มีความหมายของเวลาซึ่งเขาได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่าพื้นที่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาในงานศิลปะนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ฮุสเซิลเสนอว่า ประสบการณ์ที่มีชีวิตก็คือ การปรากฏขึ้นของปัจจุบันกาลซึ่งไม่เพียงแต่ดำรงอยู่อย่างถาวรในจิตสำนึกของเราได้เท่านั้น แต่ยังสามารถก้าวข้ามผ่านจากจิตสำนึกไปสู่พื้นที่ใดๆ ก็ได้ เพื่อทำให้พื้นที่ทางกายภาพนั้นมีความหมายของเวลา ฮุสเซิลได้ใช้จิตสำนึกเรื่องเวลากับพื้นที่ เพื่อสืบทอดจุดมุ่งหมายทางปรากฏการณ์วิทยา และแสดงว่าความจริงที่เป็นกลางเกิดขึ้นได้โดยอิงอาศัยจิตสำนึก งานชื่อคำบรรยายเรื่องจิตสำนึกเกี่ยวกับเวลาในปี 1928 ของเขา ได้รับการวิจารณ์ในเรื่องความไม่เป็นระบบอันสังเกตเห็นได้จากการใช้คำศัพท์ที่ซับซ้อนของเขาเอง โดยเฉพาะนักปรัชญาคนสำคัญคือ แดริดาถึงกับวิจารณ์ว่า ปรากฏการณ์วิทยาของฮุสเซิลเป็นมายาคติ บทความนี้ยืนยันว่า วิธีการทางปรากฏการณ์วิทยาของฮุสเซิลเป็นวิธีการที่มีระบบรัดกุม ในงานชิ้นนี้ ฮุสเซิลได้พยายามสืบค้นอย่างละเอียดทุกขั้นตอนว่าภาพตัวแทนของสิ่งที่มีความหมายของเวลา ทั้งอดีตและอนาคตได้รับการตั้งเจตนาให้เป็นปัจจุบันกาลที่ให้ความมีชีวิตชีวาได้อย่างไร ในท้ายที่สุดความพยายามของฮุสเซิลก็บรรลุผล เขาประสบความสำเร็จในการอธิบายการสร้างพื้นที่และเวลาในจิตสำนึก ซึ่งสัมพันธ์กับการสร้างพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนมุมมองให้ดำเนินไปในเส้นทางที่แตกต่างกันของเวลาได้
คำสำคัญ: พื้นที่ จิตสำนึกของเวลา ฮุสเซิล แดริดา
ABSTRACT
This paper aims at analyzing Husserl's texts in order to clarify his systematic thought about temporalizing space he had continuously developed to affirm the possibility of emerging meaningful space on the basis of lived experience. Such presence of the living present not only exists immanently in our consciousness, but also can transcend itself to occupy some significant place in the objective world. In other words, he used this space-time consciousness to carry out his phenomenological aim of showing that the objective reality is fully dependent upon the subject. Husserl's lectures on the Phenomenology of Internal Time-Consciousness(1928) has been criticized for its noticeable inconsistency in providing his complicated terminology. Especially, Derrida therefore evaluates Husserl's phenomenological aim as illusory. The paper postulates that Husserl's phenomenological approach toward the temporalizing space had been well organized. In Husserl's lectures on time consciousness, he attempted to investigate how temporal object, either as the same thing has just passed or as the same thing has not yet come, is intended to be "now" in a feature of lively experience, with great care. At last, he succeeded in enumerating the constitution of space and time in our consciousness in relation to the construction of place of intersubjectivity going through different phases of time
Keywords : space, time-consciousness, Husserl, Derrida
ความนำ
มีนักปรัชญาสองกลุ่มที่สนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับเวลา
- กลุ่มแรกคือ นักปรัชญาแนวสสารนิยม กลุ่มนี้เชื่อว่า มีแต่พื้นที่และเวลาทางกายภาพอันมีลักษณะเป็นวัตถุวิสัย(Objectivity) เท่านั้น
- อีกกลุ่มหนึ่งคือนักปรัชญาแนวจิตนิยม กลุ่มนี้เชื่อว่า จิตเป็นปัจจัยทำให้ปรากฏพื้นที่และเวลาขึ้น หรืออีกนัยหนึ่ง
พื้นที่และเวลามีลักษณะเป็นอัตวิสัย(Subjectivity)
ปรากฏการณ์วิทยาของฮุสเซิล(Edmund Husserl 1859-1938) มีความพิเศษตรงที่ไม่อาจจัดให้เข้าเป็นพวกของปรัชญาแนวสสารนิยมหรือแนวจิตนิยมได้ ทั้งนี้เพราะ ถึงแม้ฮุสเซิลจะยืนยันว่า มีพื้นที่และเวลาที่เป็นวัตถุวิสัย แต่วัตถุวิสัยในที่นี้ไม่ใช่กายภาพ ในขณะเดียวกัน เขาก็ปฏิเสธทวินิยมที่แยกจิตออกไปจากกาย แต่กลับยอมรับในความเป็นอัตวิสัยของพื้นที่และเวลา(Zahavi 1994 : 38) ฮุสเซิลมักใช้พื้นที่ในงานศิลปะมาเป็นตัวอย่างในการพิสูจน์ความมีอยู่ของจิตสำนึกแบบข้ามพ้น(transcendence)จากสภาวะอัตวิสัยไปสู่สภาวะวัตถุวิสัย
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์งานเขียนของฮุลเซิล ในเรื่อง"การทำพื้นที่ให้มีความหมายของเวลา" ซึ่งเขาได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่าพื้นที่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวานั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ฮุสเซิลเสนอว่า ประสบการณ์ที่มีชีวิตชีวาก็คือ การปรากฏขึ้นของปัจจุบันกาลซึ่งไม่เพียงแต่ดำรงอยู่อย่างถาวรในจิตสำนึกของเราได้เท่านั้น แต่ยังสามารถก้าวข้ามผ่านจากจิตสำนึกไปสู่พื้นที่ใดๆ ก็ได้เพื่อทำให้พื้นที่ทางกายภาพนั้นมีความหมายของเวลา อันได้แก่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้ ฮุสเซิลได้ใช้จิตสำนึกเรื่องเวลากับพื้นที่เพื่อสืบทอดจุดมุ่งหมายทางปรากฏการณ์วิทยา เพื่อแสดงว่าความเป็นจริงทางวัตถุจะเกิดขึ้นได้โดยอิงอาศัยจิตใจ
คำบรรยายเรื่องจิตสำนึกของเวลาในระหว่างปี1904-05 ของเขาเป็นงานที่ได้รับคำนิยมว่า เป็นต้นธารของปรัชญาสายภาคพื้นทวีป(Hodge 2007 : 4, Cutrofello 2005: 45) แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความไม่เป็นระบบ อันสังเกตเห็นได้จากการใช้ศัพท์ที่ยุ่งยาก และพร้อมจะเปลี่ยนคำศัพท์เมื่อสมมุติฐานของตนเปลี่ยนไป(Brough 1977 : 93) โดยเฉพาะนักปรัชญาคนสำคัญคือ แดริดา(Jacques Derrida 1930-2004) ถึงกับวิจารณ์ว่า ปรากฏการณ์วิทยาของฮุสเซิลเป็นมายาคติ และเป็นเพียงการสืบทอดจารีตของอภิปรัชญาแบบกรีกซึ่งได้พ้นสมัยไปแล้ว (Derrida 1973 : 9) เพื่อแก้ต่างให้แก่ฮุสเซิล ผู้เขียนจึงจะวิเคราะห์งานชิ้นนี้ของฮุสเซิลใน 3 ประเด็น
- ประเด็นแรก ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ เวลา และประสบการณ์ที่มีชีวิตชีวา
- ประเด็นที่สอง ปัจจัยที่ทำให้เกิดความมีชีวิต และ
- ประเด็นสุดท้าย เปรียบเทียบการทำพื้นที่ให้มีความหมายของเวลาในทัศนะของฮุสเซิลและแดริดา
พื้นที่ เวลาและประสบการณ์ที่มีชีวิตชีวา
ฮุสเซิลยืนยันว่า งานศิลปะทั่วไปอาจให้จินตภาพที่เพ้อฝันบรรเจิดได้ จะมีก็แต่งานศิลปะที่บรรจุความหมายของเวลาไว้เต็มเปี่ยมเท่านั้น
ที่จะทำให้ผู้ทัศนาได้ตระหนักถึงความจริง การตระหนักรู้เช่นนี้เป็นรูปการณ์หนึ่งของจิตสำนึก
ฮุสเซิลถือว่าจิตสำนึกเป็นแหล่งกำเนิดของการรับรู้ความจริงซึ่งเป็นจริงยิ่งกว่าการรับรู้สรรพสิ่งใดๆ
ทางกายภาพเสียอีก เขาได้วิเคราะห์บทบาทของจิตสำนึกในการสร้างสื่อแทนความหมาย(sings)มาตั้งแต่ปี
1900 ในงานบุกเบิกของเขาที่ชื่อว่า Logical Investigations (1900-1901) ว่า
...อย่างไรก็ตาม เราอาจสงสัยเรื่องความมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของสรรพสิ่ง
ภายนอกที่ปรากฏขึ้นได้ แต่ความจริงของพวกมันกลับไม่เคยได้รับการ
ทำความเข้าใจสักทีว่าเป็นความจริงที่เกิดจากความซับซ้อนของสัมผัส
ที่ถูกรับรู้ภายในจิตสำนึกต่างหาก (LI/2 :862 quoted by Zahavi 1994 : 38)
ฮุสเซิลได้พยายามอธิบายถึงความมีอยู่จริงของปรากฏการณ์ภายในจิตสำนึกไว้ในงานที่ตามหลังมาอีกหลายชิ้น งานที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางพื้นที่และเวลาโดยตรงมีด้วยกัน 2 ชิ้น
- ชิ้นแรกเป็นการรวบรวมคำบรรยายเรื่องจิตสำนึกของเวลา ซึ่งเขาได้วิเคราะห์ธรรมชาติของเวลาไว้ระหว่างปี 1905-10 ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในปี 1928
ในชื่อว่า Phenomenology of Internal Time-Consciousness- อีกชิ้นหนึ่งเป็นการรวบรวมคำบรรยายเกี่ยวกับพื้นที่ ในปี 1907 ในชื่อว่า Thing and Space: Lectures from 1907
นอกจากคำบรรยายทั้งสองชิ้นนี้จะเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันแล้ว ยังมีเนื้อหาสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันด้วย เนื่องจากการวิเคราะห์พื้นที่เป็นเสมือนงานที่ยังค้างอยู่ อาจเป็นเพราะฮุสเซิลได้ค้นพบคำตอบแล้วในการวิเคราะห์เรื่องจิตสำนึกของเวลา (Mohanty 1995 : 58) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้งานชิ้นหลังได้รับการยกย่องโดยนักปรัชญารุ่นต่อมา ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดใหม่เกี่ยวกับ"เวลา"นับตั้งแต่ยุคอริสโตเติลเป็นต้นมา (Derrida 1973 : 61)
ใน Thing and Space : Lectures from 1907 ฮุสเซิลได้ชี้ให้เห็นถึงความมีชีวิตชีวาภายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ในคำบรรยายดังกล่าวเขาได้วิเคราะห์ว่า การรับรู้สิ่งของในพื้นที่ผ่านการเห็นและการสัมผัส ร่างกายไม่ได้เป็นแค่การรับรู้ความสัมพันธ์แบบกายภาพ (spatial things) อันมีสองมิติอย่างที่เข้าใจกันในทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่การรับรู้ดังกล่าวมีมิติที่สามด้วย เขาเรียกมิตินี้ว่า การเคลื่อนไหว (kinaesthesia) อันเป็นการรับรู้ได้ถึงศักยภาพที่จะดำเนินการต่อไปได้ (Mohanty 1995 : 58) การรับรู้นี้เป็นการรับรู้ในระดับลึกซึ่งเทียบเคียงได้กับการรับรู้ได้ถึงความมีชีวิต เนื่องจากคุณสมบัติสำคัญของชีวิตคือ ศักยภาพที่จะเคลื่อนไหวได้นั่นเอง ฮุสเซิลยืนยันว่า การรับรู้ถึงศักยภาพในการเคลื่อนไหวได้นี้ แม้จะอิงอาศัยประสาทสัมผัส แต่ก็ให้ภาพที่ไม่เหมือนเสียทีเดียว เพราะเป็นการรับรู้ที่เกิดจากการสร้าง(constitution)ขึ้นภายในจิตสำนึกเอง การนำเสนอมิติของความเคลื่อนไหวนี้ นับได้ว่าเป็นการค้นพบสำคัญที่นำไปสู่การสร้างพื้นที่ให้มีชีวิตชีวา ดังที่เขากล่าวไว้ในคำนำว่า
สิ่งของสิ่งหนึ่งซึ่งเปี่ยมไปด้วยความหมาย ถูกสร้างขึ้นภายในจิตสำนึก
เป็นสิ่งที่รับรู้กันได้ในชีวิตประจำวันจนดูเหมือนสิ่งของนั้นมีเลือดมีเนื้อ
ทางกายภาพ และยังเกาะเกี่ยวสรรพสิ่งอื่นให้มีความหมายไปด้วย(TS, xiii)
และยืนยันความสำเร็จของการค้นพบของเขาในการวิเคราะห์จิตสำนึกของเวลาว่า "จินตภาพที่ได้รับการตระหนักรู้ว่าเป็นกลางสำหรับทุกคนคือ สภาวะที่พื้นที่กับเวลาสามารถเคลื่อนไหวเป็นหนึ่งเดียวกัน" (PITC, 167)
การปรากฏตัวขึ้นของปัจจุบันกาล : ปัจจัยที่ทำให้เกิดความมีชีวิต
เนื่องจากปรากฏการณ์วิทยาของฮุสเซิลถือว่า มีความจริงที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ปรากฏการณ์วิทยาของเวลาจึงถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อยืนยันว่า เวลาให้ความหมายได้มากกว่าความหมายของวัน เดือน ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ประสบการณ์ที่มีชีวิตแก่มนุษย์ ฮุสเซิลจึงมุ่งสืบค้นหาแหล่งกำเนิดของปรากฏการณ์ดังกล่าวภายในจิตสำนึก ด้วยวิธีการที่รัดกุมและเป็นระบบ ดังที่เขากล่าวไว้ว่า
แก่นสารที่มีมาก่อนการรับรู้ทางประสาทสัมผัสนี้เอง ที่ทำให้มนุษย์และ
สิ่งมีชีวิตทั้งหลายรับรู้ถึงความมีอยู่ของพื้นที่และเวลา.....สิ่งที่เราสนใจคือ
ประสบการณ์ที่มีชีวิต เป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้ได้ตรงกัน และเนื้อหาของพวกมัน
ก็เป็นสิ่งที่อธิบายได้ (PITC, 28)
ฮุสเซิลสงสัยว่า อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดประสบการณ์ที่มีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ เขาจึงได้สืบค้นจากปรากฏการณ์ทางพื้นที่ไปสู่ปรากฏการณ์ทางเวลา โดยนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ เช่น
- กฎแห่งการส่งผ่าน (Law of transitivity)
- กฎแห่งการปรุงแต่ง (Law of modification)
- กฎการเป็นสาเหตุและผล (Law of cause and effect) และ
- ตัวแบบของการตีความเนื้อหา (Model of interpretation of content)
มาใช้ในการวิเคราะห์ ต่อจากนั้นเขาจึงได้ค้นพบว่า "จิตสำนึกของเวลา" คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่หนึ่งมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ โดยอธิบายว่า เวลาในลักษณะดังกล่าวเป็นแหล่งกำเนิดของความจริงแท้ เขาเรียก "เวลาในจิตสำนึก"นี้ว่า เวลาที่ทุกคนสำนึกรู้ได้ตรงกัน (objective time - เวลาที่เป็นวัตถุวิสัย) เวลาที่เป็นกลางแบบนี้ไม่ใช่เวลาที่วัดได้จากการใช้เครื่องมือทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาหรือปฏิทิน แต่เป็นการปรากฏขึ้นของสิ่งเดียวกัน ปรากฏขึ้นเช่นนั้น ณ ชั่วขณะหนึ่งในกระแสของจิตสำนึกเรื่องเวลา. ฮุสเซิลจึงยืนยันว่า จิตสำนึกซึ่งมีความเป็นอัตวิสัย(subjectivity) เป็นพื้นฐานของวัตถุวิสัย(objectivity) ดังเห็นได้จาก ถึงทุกคนจะมีเวลาส่วนตัว แต่ทุกคนก็สามารถระบุถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในความต่อเนื่องของเวลาได้ เพราะทุกๆ เรื่องในความทรงจำมีตำแหน่งของเวลากำกับอยู่(temporal object) ดังนั้น ฮุสเซิลจึงพยายามอธิบายว่า เวลาที่ทุกคนเข้าใจความหมายได้ตรงกันนั้นมีจริง ดังที่เขากล่าวว่า
เราสันนิษฐานการเลื่อนไหลของเวลาที่ทำให้เราสำนึกรู้ได้ตรงกัน และ
การศึกษา ปัจจัยการเกิดขึ้นของการรู้แจ้งแห่งเวลา และความรู้ที่แท้จริง
ของเวลา อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรายอมรับคือ....การปรากฏขึ้นของเวลาและ
ช่วงเวลาเช่นนั้น....เราสันนิษฐานถึงเวลาที่มีอยู่ชั่วขณะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม
สิ่งนี้ไม่ใช่เวลาในโลกแห่งประสบการณ์ แต่เป็นเวลาที่ดำรงอยู่ถาวรใน
การเลื่อนไหลไปของจิตสำนึก (PITC, 23)
เวลาแบบนี้ทำให้เกิด"พื้นที่ที่ทุกคนรับรู้ได้ตรงกัน"(Objective space - พื้นที่ที่เป็นวัตถุวิสัย) "มุมมองของเวลา(ภายในการปรากฏขึ้นของเวลาแต่ดั้งเดิม) อุปมาเหมือนมุมมองของพื้นที่" (PITC, 47) อย่างไรก็ตาม เมื่อสืบค้นถึงสาเหตุแล้ว "การสำนึกรู้ถึงเวลา"เป็นเงื่อนไขจำเป็นของ"การสำนึกรู้ถึงพื้นที่" กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่เรารับรู้ถึงความมีชีวิตชีวาของพื้นที่ จิตสำนึกของเวลาจะปรากฏขึ้นเสมอ ตัวอย่างเช่น การลืมอะไรบางอย่างไปจนดูเหมือนไม่อาจรื้อฟื้นความทรงจำให้กลับมาสดใหม่ได้อีกเลย ก็เป็นเพราะความไม่ตั้งใจที่จะรื้อฟื้นและใส่ความมีชีวิตให้แก่พื้นที่นั้นของเราเอง เหมือนกับที่เราเคลื่อนตัวเดินออกห่างไปจากสถานีรถไฟ เราเป็นผู้เคลื่อนตัวไม่ใช่สถานี เพราะจริงๆ แล้วสถานียังคงอยู่ที่เดิม ไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน แสดงว่าภาพจำลองของสถานีได้นอนสงบนิ่งอยู่ภายในจิตสำนึก แต่เมื่อใดก็ตามที่เราระลึกถึง ภาพของสถานีรถไฟจะกลับมาอยู่ในความทรงจำของเราอีกครั้ง ราวกับถูกชุบให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่กระนั้น
เป็นเพราะตำแหน่งในจิตสำนึกของเวลาของข้าพเจ้าต่างหากที่ถอยหลัง
เหมือนกับการถอยหลังของวัตถุซึ่งยังคงปักหลักอยู่ในพื้นที่ของมัน
ตำแหน่งในเวลาของมันไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย (PITC, 45)
ฮุสเซิลได้วิเคราะห์ลึกไปถึงโครงสร้างของเวลาอันประกอบด้วย สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ปัจจุบันขณะ และสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และชี้ให้เห็นว่า ความมีชีวิตชีวาเกิดขึ้นมาจากการปรากฎตัวขึ้นของปัจจุบันกาล ซึ่ง "การปรากฏตัวขึ้นของปัจจุบันกาล" ในที่นี้คือการปรากฏตัวของศักยภาพสามประการ
- ประการแรก คือ ศักยภาพในการตัดสินลำดับของเวลาได้ กล่าวคือ รู้ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นในเวลาใด และสิ่งใดมาก่อน มาหลัง และยังไม่มาได้อย่างแม่นยำ
- ประการที่สอง คือ ศักยภาพที่จะเคลื่อนไหวได้ ไม่ต่างไปจากสิ่งที่มีชีวิต และ
- ประการสุดท้าย ศักยภาพที่จะแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน อันเป็นสภาวะของจิตสำนึกสากล ดังที่ฮุสเซิลกล่าวว่า "การเคลื่อนไหวที่ถูกจดจำได้อย่างสดชื่นและเวลาที่ทุกคนสำนึกรู้ได้ตรงกันของมันในเรื่องนี้ คล้ายคลึงกับเส้นทางอันเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสำนึกรู้ได้ตรงกันได้เข้ามาแทนที่อาณาบริเวณของการมองเห็นแล้ว" (PITC, 52)
ประการแรก ศักยภาพในการตัดสินลำดับของเวลามีกระบวนการดังนี้ เริ่มจากความประทับใจแต่แรก(primal impression) จากการสัมผัสวัตถุทางกายภาพหรือเหตุการณ์ใดๆ แล้วจิตสำนึกได้สร้างภาพตัวแทน(representation) ของวัตถุหรือเหตุการณ์นั้นขึ้นมา ถึงแม้เราจะหลับตาหรือเราอาจจะสัมผัสวัตถุทางกายภาพนั้นได้ไม่หมดทุกด้านทุกมุม แต่จิตสำนึกก็สามารถขจัดเงามืดที่คลุมเครือออกไปและเติมภาพให้เต็มเปี่ยม ทำให้เราตระหนักรู้ถึงวัตถุนั้นในสภาพที่มีเนื้อหา(hyle) และตำแหน่งปัจจุบันกาลเคลื่อนที่ไปด้วยกัน(temporality) (Gurwitsch 1982 : 70) การตระหนักรู้นี้จึงเป็นการสร้างภาพตัวแทนที่ให้ความหมาย(sign)อันคงทนถาวร(immanence)ในจิตสำนึกของเรา "เนื้อหาทนนาน : พวกมันมีเวลาของมัน" (PITC, 111) รวมทั้งสามารถอ้างอิงถึงเวลาของมันเองได้ด้วย การตระหนักรู้จึงเป็นการระบุได้ทั้งเอกลักษณ์ของภาพตัวแทนนั้น และเวลาของการปรากฏตัวของมัน "มันเป็นสิ่งเดียวกัน และช่วงเวลาของมันคือสิ่งเดียวกัน"(PITC, 44) วัตถุดิบทั้งหมดนี้จะถูกเก็บไว้ในคลังแห่งความทรงจำ(retention) จับจองพื้นที่เป็นหน่วยย่อยๆ ภายในจิตสำนึกของเรา เมื่อเราระลึกถึง สิ่งนั้นก็พร้อมที่จะกลับมาแสดงตัวในปัจจุบัน รวมทั้งส่วนของความคาดหวัง(protention)อันเกี่ยวข้องกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
ประการที่สอง ศักยภาพที่จะเคลื่อนไหวได้ ศักยภาพดังกล่าวเป็นผลมาจากการปรากฏตัวขึ้นของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยเกาะเกี่ยวกันมาแสดงตัวเป็นปัจจุบันขณะได้อย่างอิสระ ฮุสเซิลเรียก คุณสมบัติอันเป็นแก่นแท้ของจิตสำนึกนี้ว่า การก้าวข้ามพ้น(transcendence) คุณสมบัตินี้ทำให้เวลาไหลเลื่อนจากสภาวะหนึ่งไปยังอีกสภาวะหนึ่งได้อย่างไม่มีส่วนใดหายหกตกหล่นไป ดังที่ฮุสเซิลเรียกว่า เป็นจิตสำนึกที่ไหลเลื่อนไปได้อย่างความสมบูรณ์แบบ(Absolute flow of time consciousness) ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าเหตุการณ์ A ซึ่งได้ผ่านไปแล้ว ก่อนหน้าที่จะรับรู้เหตุการณ์ B แต่ต่อมาเหตุการณ์ A กลับเข้ามาสู่การรับรู้ในกาลปัจจุบันเป็น A' และขณะนี้เหตุการณ์ B ยังไม่มา แต่คาดหวังได้ว่า B จะตามมาในอนาคตอันใกล้ B ในความคาดหวังนี้จึงเป็น B' ดังที่ฮุสเซิลกล่าวว่า
ความคาดหวังพบความเต็มเปี่ยมในการรับรู้ มันบรรจุสาระได้ประหนึ่งถูกรับรู้
ถ้าความคาดหวังปรากฎเป็นจริงได้ ก็ไม่ต้องคาดหวังอีกต่อไป แต่ถ้าอนาคต
ได้กลายเป็นปัจจุบัน แล้วปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นอดีต....ด้วยความตั้งใจ
พวกมันได้รับการเติมเต็มผ่านความจริงแท้ของประสบการณ์ที่มีชีวิตแบบ
ประทับไว้ในความทรงจำแล้ว(PITC, 80)
ประการสุดท้าย ศักยภาพที่จะเป็นจิตสำนึกสากล(universal consciousness) ฮุสเซิลใช้คุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบของเวลามาอธิบายการเปลี่ยนผ่านจากเวลาไปยังพื้นที่ และจากพื้นที่ไปยังเวลา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนระหว่างพื้นที่ส่วนบุคคลกับพื้นที่สาธารณะด้วย ตัวอย่างเช่น ถึงแม้เราจะตระหนักรู้ว่า A และ A' เป็นสิ่งเดียวกัน(the same thing) แต่เมื่อเป็นการแสดงตัวอีกครั้งหรือได้รับการชุบชีวิตใหม่ เราก็ตระหนักรู้ได้เช่นกันว่า A และ A' มีความเป็น A เหมือนกัน (the same thing) และถึงจะเป็น A เดียวกันแต่เราก็ตระหนักรู้ได้เช่นกันว่าเป็น A คนละอัน (nonidentical) ดังที่เขากล่าวว่า " 'อดีต' กับ 'ปัจจุบัน' ต่างกีดกันกัน ถึงบางสิ่งที่เป็นอดีตและบางสิ่งที่เป็นปัจจุบันจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน แต่ก็เป็นได้เพียงแค่นั้นเพราะมันได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าส่วนใดเป็นอดีต ส่วนใดเป็นปัจจุบัน"(PITC, 57)
ด้วยศักยภาพของการแสดงตัวเป็นปัจจุบันกาลได้นี้เอง ฮุสเซิลจึงเห็นว่า ถ้าทุกคนสามารถรับรู้ภาพตัวแทนได้ตรงกัน ณ เวลาเดียวกัน(at the same time) ภาพตัวแทนเช่นนั้นจะสื่อความหมายได้เต็มเปี่ยม รวมทั้งให้ความแม่นยำและเที่ยงตรงสำหรับทุกคนได้ว่า "อะไรปรากฏขึ้นในลำดับที่ของมัน และ...อะไรปรากฏขึ้นอย่างแท้จริง" (PITC, 47-48) เพราะภาพตัวแทนนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภาพตัวแทนที่มีความเป็นกลาง(Objectivity) อันเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน โดยประสบการณ์ของคนหนึ่งไปปรากฏอยู่ในประสบการณ์ของอีกคนหนึ่ง (intersubjectivity) ในทัศนะวิสัยของการแลกเปลี่ยนนี้จะมีพื้นที่อันมีความหมายของเวลาปรากฏอยู่ในรูปของความเห็นที่ทุกคนมีร่วมกัน(unity) ดังนั้นพื้นที่ของงานศิลปะที่ทำให้เรื่องราวในอดีตกลับมามีชีวิตและดำเนินสืบเนื่องต่อไปยังอนาคตได้ จึงเป็นหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันถึงการมีอยู่ของจิตสำนึกสากล ดังที่ไฮเด็กเกอร์ นักปรากฏการณ์วิทยาที่โดดเด่นอีกคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า นี่คือ สภาวะของ "การปล่อยให้งานศิลปะทำงานไป ให้ปรากฏโลกของมันและปรากฏสัจธรรมต่อหน้าเรา" (Heidegger quoted by Brough 2000 :227)
การทำพื้นที่ให้มีความหมายของเวลา ในทัศนะของฮุสเซิลกับแดริดา
แดริดา เป็นทั้งนักปรัชญา ผู้เสนอทฤษฎีการรื้อประกอบสร้าง(Deconstruction) อันเป็นทฤษฎีที่มีส่วนก่อเกิดปรัชญายุคหลังสมัยใหม่ขึ้น แดริดาตั้งทฤษฎีของเขามาจากการหักล้างทฤษฎีสื่อแทนความหมายของฮุสเซิล ดังปรากฏในงานของแดริดาที่ชื่อว่า Speech and Phenomena and Other Essays on Husserl's Theory of Signs ในปี 1973 ถึงแม้ในงานชิ้นนี้ เนื้อหาส่วนใหญ่ แดริดาจะเน้นไปที่การวิจารณ์ทฤษฎีดังกล่าวของฮุสเซิลจากงานชื่อ Logical Investigationsโดยเจาะจงไปที่ ความหมายกับภาษา แต่แดริดาก็ได้วิจารณ์ไปถึงสื่อแทนความหมายในงานศิลปะด้วย โดยยกงานชื่อ Phenomenology of Internal Time-Consciousness ของฮุสเซิลมาวิจารณ์ ในที่นี้ผู้เขียนจะยกความเห็นของแดริดา เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ"การทำพื้นที่ให้มีความหมายของเวลา"มาเปรียบเทียบกับฮุสเซิล ใน 3 ประเด็นด้วยกัน
- ประเด็นแรก ปัญหาเรื่องการลำดับที่ของเวลา
- ประเด็นที่สอง ปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวของเวลา และ
- ประเด็นสุดท้ายคือ ปัญหาเรื่องจิตสำนึกสากล
ประเด็นแรก ปัญหาเรื่องการลำดับที่ของเวลา แดริดาเห็นว่า ภาพตัวแทนในทัศนะของฮุสเซิลไม่สามารถทำให้ผู้ดูงานศิลปะจัดลำดับที่ของเวลาได้ถูกต้อง ดังที่เขากล่าวว่า "...อะไรที่เป็นตัวสร้างปัญหา สิ่งนั้นคือแนวความคิดเรื่องเวลานั่นเอง"(Derrida 1973 : 63) นอกจากนั้นเขายังเห็นว่า ฮุสเซิลมีคำอธิบายที่ขัดแย้งในตัวเองในเรื่องวิถีการปรากฏตัวขึ้นเป็นปัจจุบันกาล โดยบางครั้งก็อธิบายว่า ตำแหน่งปัจจุบันเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยสิ่งอื่น บางครั้งก็อธิบายว่าเป็นแก่นแกนที่เหนี่ยวนำตัวเองได้ รวมทั้งการที่ฮุสเซิลปฏิเสธ "จิตไร้สำนึก"(unconscious) ด้วย "....คลังเก็บเนื้อหาของสิ่งที่เราไม่เคยสำนึกเลยนั้นเป็นไปไม่ได้" (PITC, 163)
เนื่องจากแดริดาเห็นว่า ในความเป็นจริงแล้ว การไม่นึกถึงเลย ไม่ได้หมายความว่าไม่มีประสบการณ์ดังกล่าว แต่เป็นเพราะสิ่งเหล่านั้นถูกเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก แดริดาอ้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์(Sigmund Freud 1856-1939) ที่ยืนยันถึงความมีอยู่ของจิตไร้สำนึก และจิตไร้สำนึกนี้เองที่เก็บกดประสบการณ์เจ็บปวดในวัยเด็ก จึงไม่อาจเล่าเรื่องราวในอดีตได้อย่างตรงไปตรงมา ในทัศนะของแดริดา จิตไร้สำนึกเป็นที่บรรจุสิ่งที่ปรากฏตัวอย่างโจ่งแจ้งไม่ได้(nonpresence) เพราะถูกปิดกั้น ขัดขวาง จึงมีเพียงส่วนน้อยของประสบการณ์ในอดีตเท่านั้นที่ย้อนกลับมาแสดงตัวเป็นปัจจุบันกาลได้ ในขณะที่ส่วนใหญ่ยังคงล้าหลัง(delay-หน่วง) ทำให้กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเกินไป ด้วยเหตุนี้แดริดาจึงเห็นว่า คำอธิบายของฮุสเซิลไม่เพียงพอ และเป็นไปไม่ได้ที่การตัดสินว่าสิ่งใดมาก่อนมาหลังจะถูกต้องแม่นยำเสมอไป ตรงกันข้ามเรามักพบความผิดพลาด คลาดเคลื่อน อันเกิดจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งหลายที่มีตำแหน่งของเวลาเป็นของตัวเองมาไม่หมดนั่นเอง
ในขณะที่ฮุสเซิลเห็นว่า ประสบการณ์ใดก็ตามเมื่อเข้ามาอยู่ในจิตสำนึกของเวลาแล้ว ย่อมไม่มีทางสูญหายได้ แต่อาจมีการลืมเลือนไปซึ่งเป็นผลมาจากการตั้งเจตนา(Intentionality)ไม่มากพอที่จะเกาะเกี่ยวประสบการณ์นั้นให้ขึ้นมาปรากฏเป็นปัจจุบันกาล หรืออีกนัยหนึ่งไม่เคยระลึกถึงนั่นเอง ฮุสเซิลอธิบายว่า การตั้งเจตนาจะเป็นตัวดึงประสบการณ์ทั้งหลายในคลังเก็บความทรงจำ ให้ขึ้นมาเป็นปัจจุบันกาลและสืบทอดความสดใหม่ให้กันได้ราวกับขบวนรถไฟ(PITC, 60) นั่นคือลำพังประสบการณ์ในคลังเก็บ ไม่อาจใช้ตำแหน่งปัจจุบันผลักดันตัวเองให้โผล่ผุดขึ้นมาได้ ด้วยเหตุนี้บางครั้งฮุสเซิลจึงระบุว่า ตำแหน่งปัจจุบันเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยสิ่งอื่น บางครั้งก็ระบุว่าเป็นสิ่งที่นำตัวเองได้ เนื่องจากวิถีแห่งเจตนาทำงานสัมพันธ์กันแบบทบทวี(double intentionality) โดยส่วนหนึ่งให้ความติดแน่นทนนาน(immanence) อีกส่วนหนึ่งให้ความหลุดพ้นจากสภาวะหนึ่งไปอีกสภาวะหนึ่งได้(transcendence)(จริยา นวลนิรันดร์ 2549 : 177) จึงทำให้เราจัดลำดับเวลาท่ามกลางความเลื่อนไหลได้อย่างถูกต้อง
ประเด็นที่สอง ปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว แดริดาเห็นด้วยกับฮุสเซิลว่า ภาพตัวแทนมีศักยภาพในการเคลื่อนไหว แต่ไม่เห็นด้วยที่ฮุสเซิลอธิบายว่า การเคลื่อนไหวนี้เป็นการเคลื่อนไหวเฉพาะตำแหน่งปัจจุบันเท่านั้น ส่วนสิ่งที่อยู่ในคลังเก็บไม่เคลื่อนไหวแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะแดริดาเห็นว่า การเคลื่อนไหวนี้เป็นได้ทั้งตำแหน่งปัจจุบัน และตำแหน่งที่ไม่ใช่ปัจจุบัน ซึ่งก็คืออดีตที่อยู่ในจิตไร้สำนึกด้วย เนื่องจากประสบการณ์อันหลากหลายเหล่านั้นไม่ได้อยู่นิ่ง เพราะต่างก็ต่อสู้ และช่วงชิงการปรากฏตัวเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องในระหว่างทางเดินของเวลา แต่ประสบการณ์ดังกล่าวกลับได้รับการปรุงแต่งให้มีความหมายว่าไม่มี ไม่ใช่ ไม่เหมือน(difference) และเนื่องจากเป็นตัวทำลายเอกลักษณ์จึงมีความเป็นอื่น(otherness) ด้วย แดริดาแนะนำว่า ควรนำความไม่เหมือนและความเป็นอื่นเหล่านี้มาแสดงตัวให้ได้รับรู้ทั่วกัน ด้วยการย้อนและตอกย้ำซ้ำรอยเดิม(trace)ของเวลา ทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง เพื่อเก็บตกสื่อแทนความหมายต่างๆ ระหว่างทางและเตือนความจำว่าความแตกต่างหลากหลายเป็นของจริง ดังที่เขากล่าวว่า
ตัวตนของปัจจุบันกาลต้องได้รับการคิดบนพื้นฐานของร่องรอย
ไม่ใช่การพลิกกลับด้าน...ความหมายที่กลายเป็นเวลาในธรรมชาติ
อย่างที่ฮุสเซิลว่าไว้ ไม่เคยปรากฏขึ้นง่ายดายเลย มันมักจะขัดกัน
ใน "การเคลื่อนไหว" ของร่องรอย กล่าวคือในลำดับที่ของ "ความเป็น
สื่อแทนความหมาย" (Derrida 1973 : 85)
ในขณะที่ฮุสเซิลเห็นว่า ไม่มีความเคลื่อนไหวและการปรุงแต่งใดๆ ในคลังเก็บความทรงจำจนกว่าเจ้าตัวจะตั้งใจดึงภาพตัวแทนนั้นให้กลับมามีความหมายเป็นปัจจุบัน การผลิตซ้ำ(reproduction)ภาพตัวแทนออกมาเป็นความทรงจำครั้งแรก(primary memory) หรือความทรงจำครั้งต่อๆ มา(second memory) จะเป็นไปอย่างรู้ตัวและแจ่มชัดเสมอ เราจึงตระหนักได้ว่า เวลาเป็นสิ่งที่เลื่อนไหล ส่วนในคลังเก็บ หน่วยความจำอันแตกต่างหลากหลายจะตกตะกอนอยู่ในก้นบึ้งตามลำดับและจับจองพื้นที่ของตนอย่างสงบนิ่ง โดยปกติจึงไม่มีความไม่เหมือนและความเป็นอื่นในความหมายของแดริดา แต่หากจะมีแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็น่าจะเกิดขึ้นในระดับพื้นผิวของการรับรู้ ไม่ใช่การรับรู้ในระดับลึกอย่างในจิตสำนึก เพราะสำหรับฮุสเซิลแล้ว จะมีก็แต่ รับรู้(perception) กับ ไม่รับรู้(nonperception)เท่านั้น เพราะสิ่งที่รับรู้จะเป็นสิ่งที่ประทับใจแต่แรกแล้วรับเข้ามาสู่จิตสำนึกเป็นการตระหนักรู้ ส่วนสิ่งที่ไม่รับรู้นั่นก็เป็นเพราะไม่ประทับใจ จึงไม่โน้มนำให้เข้ามาอยู่ในความทรงจำ
เช่น เพราะไม่ตั้งใจจึงสักแต่ว่ามองหรือสักแต่ว่าได้ยิน ด้วยเหตุนี้ฮุสเซิลจึงอุปมาความทรงจำที่รางเลือนเหมือนผ้าม่านบางๆ กั้น "ภาพที่จำได้ปรากฏขึ้นต่อหน้าเราไม่ค่อยชัดนักเหมือนกับมองผ่านผ้าม่านบางๆ...ภาพดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพอย่างแท้จริง"(PITC, 72) และแนะนำว่างานศิลปะสามารถดึงผู้ชมให้หวนกลับมายังเส้นทางเดิมของเวลาเพื่อให้เข้าใกล้ความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังได้ เพราะถ้าไม่มีงานศิลปะแล้ว พื้นที่ทั้งหลายก็จะได้รับการมองเพียงผ่านตาไปเท่านั้น แล้วความกระจ่างแจ้งราวกับได้ชีวิตใหม่ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ การให้ภาพเล่าเรื่องในอดีต จึงไม่ได้มีขึ้นเพื่อเตือนความจำ แต่เพื่อโน้มนำให้ตระหนักถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่มีอยู่จริง ดังที่เขากล่าวว่า
ทุกๆ สิ่งในการรับรู้มีส่วนที่สะท้อนกลับของมันเป็นภาพเบื้องหลัง
(สำหรับมันไม่ใช่คำถามถึงภาพเบื้องหลังไปตามความสนใจ แต่เป็น
ความเข้าใจ)...ภาพเบื้องหน้าไม่มีอะไรเลยหากปราศจากภาพเบื้องหลัง
การปรากฏขึ้นของอีกด้านหนึ่งจะไม่มีอะไรเลย หากปราศจากการไม่
ปรากฏขึ้น มันเป็นสิ่งเดียวกันเพื่อพิจารณาถึงความเป็นอันหนึ่งอัน
เดียวกันของจิตสำนึกเรื่องเวลา---ช่วงเวลาถูกผลิตซ้ำขึ้นมาอีกครั้ง
เป็นภาพเบื้องหน้า ภาพเบื้องหลังมีเวลากำกับ(PITC, 78)
ประเด็นสุดท้าย ปัญหาเรื่องจิตสากล แดริดาเห็นว่า จิตสากลในทัศนะของฮุสเซิลไม่ใช่จิตสากลแท้ แต่กลับเป็นสิ่งปิดกั้นขัดขวางความเป็นอื่นและลดระดับชั้นความสำคัญของความเป็นอื่นลงไปเพื่อให้คงไว้แต่เพียงความเห็นร่วม ซึ่งแดริดาเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะในทัศนะของเขา จิตสากลคือจิตสำนึกอันบริสุทธิ์ที่อธิบายได้ด้วยการเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้งเปรียบเสมือนการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ดังที่เขากล่าวว่า
เพื่อพูดกับคนบางคนก็คือเพื่อให้ได้ยินตัวเองพูด เพื่อให้ตัวเราได้ฟัง
แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ถ้าคนๆ หนึ่งพูดให้ใครก็ตามได้ยิน การพูด
นั้นก็เป็นไปเพื่อทำให้เขาทบทวนตัวเองได้ทันทีถึงการได้ยินตัวเองพูด
ในแบบที่ก่อให้เกิดผลประทับไว้ในใจ การทบทวนโดยทันทีคือ
การผลิตซ้ำจิตสำนึกอันบริสุทธิ์(pure auto-affection) โดยปราศจากการ
อาศัยปัจจัยภายนอกใดๆ ทั้งสิ้น (Derrida 1973 : 80)
ในประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่า จิตสากลตามความเข้าใจของแดริดากับฮุสเซิลนั้นไม่ต่างกัน สำหรับฮุสเซิล จิตสากลเป็นการร่วมเดินทางไปกับทุกๆ คนในเส้นทางของเวลา ประจักษ์พยานที่สำคัญคือ งานศิลปะที่สามารถโน้มนำสาธารณชนให้ดื่มด่ำไปกับสื่อแทนความหมายได้อย่างลืมเวลาส่วนตัว กล่าวคือ ถึงแม้ผู้คนจะมีประสบการณ์และจินตนาการที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถร่วมกันวินิจฉัยคุณค่าของงานศิลปะได้ตรงกัน อันเป็นการก้าวข้ามพ้นจากความเห็นส่วนตัวไปสู่ความเห็นสาธารณะ การก้าวข้ามพ้นเช่นนั้นจำเป็นต้องลำดับเวลาได้ตรงกันก่อน ดังที่เลียวตาร์ด นักปรัชญาแห่งยุคหลังสมัยใหม่อีกผู้หนึ่ง กล่าวว่า "ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่อาจเข้าใจได้นอกจากในรูปแบบของความหมายภายใน(internal sense) ซึ่งก็คือเวลานั่นเอง" (Lyotard 1991 : 232) ด้วยเหตุที่ "เวลา" เป็นภาพสะท้อนของจิตสากล ดังนั้นทั้งฮุสเซิลและแดริดาจึงเข้าใจสภาวะของจิตสากลไม่แตกต่างกัน
ถึงกระนั้น ฮุสเซิลก็น่าจะเห็นต่างจากแดริดาไปบ้างในส่วนของวิธีการได้มาซึ่งจิตสำนึกสากล ในขณะที่แดริดาจะเน้นไปที่ความเป็นคู่ขัดกัน แต่ปรากฏการณ์วิทยาของฮุสเซิลกลับเห็นว่าวิธีการเช่นนั้นแทนที่จะดึงสิ่งที่ขาดหายไปให้ปรากฏชัดขึ้น แต่กลับจะทำให้สิ่งที่ปรากฏชัดขึ้นอยู่แล้ว ต้องหายไป และกลายเป็นข้อจำกัดทำให้การสำนึกรู้ไม่อาจสมบูรณ์แบบได้ กล่าวคือ ถ้าใส่สื่อแทนความหมายที่เป็นคู่ขัดกันกับภาพรวมแล้ว อาจทำให้ความมีชีวิตชีวาขาดหายไปและดูไม่รู้เรื่องได้ ที่สำคัญภาพในลักษณะนี้ก็คงไม่อาจเข้าถึงจิตสำนึกสากลได้ ดังที่เขากล่าวว่า
ในการประสานแก่นแท้ของมัน ทุกๆ การเลื่อนไหลของการรับรู้
เปิดรับข้อต่อซึ่งในท้ายที่สุดกลับแปลงสิ่งที่รับรู้ให้ไปอยู่ในสิ่งที่ไม่
รับรู้...การปรากฏขึ้นเหล่านี้ทำให้การแสดงตัวของสิ่งๆ หนึ่งและความ
เป็นสากลแบบเดียวกันนี้ไม่อาจสมบูรณ์ไปได้เลย(PITC, 169)
สรุป
การทำพื้นที่ให้มีความหมายของเวลาเป็นการสร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่พื้นที่ จากการวิเคราะห์งานของฮุสเซิลชื่อ Phenomenology of Time-Consciousness เห็นได้ถึงพัฒนาการทางความคิดของฮุสเซิลจากงานก่อนหน้าได้แก่ Logical Investigations และ Thing and Space : Lectures from 1907 ที่มีความคงเส้นคงวา เป็นระบบ จนกระทั่งได้คำตอบว่า การทำพื้นที่ให้มีความหมายของเวลา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แนวคิดของเขาเป็นพื้นฐานของปรัชญาสำนักปรากฏการณ์วิทยา ที่ได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในศาสตร์หลายสาขา อาทิ จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ และศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างงานศิลปะให้เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายของชีวิตด้วยการสะท้อนความทรงจำรวมหมู่อันทรงคุณค่ายิ่ง ในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม อย่างไรก็ตามง านวิเคราะห์เวลาและพื้นที่ของฮุสเซิล ได้ถูกวิจารณ์โดยนักปรัชญารุ่นหลัง โดยเฉพาะแดริดา ถึงกับกล่าวว่า คำอธิบายของฮุสเซิลมีความขัดแย้งในตัวเอง ถึงแม้การสร้างพื้นที่ให้มีความหมายของเวลานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ก็ไม่ควรเป็นไปเพื่อนำเอกลักษณ์ของสังคมมาเผยแพร่แบบยัดเยียด เพราะจุดหมายเช่นนั้นไม่มีจริง แดริดาจึงปฏิเสธทั้งวิธีการและจุดหมายของปรากฏการณ์วิทยาแบบฮุสเซิลด้วย ผู้เขียนเห็นว่า ฮุสเซิลยอมรับในความมีอยู่ของความแตกต่างหลากหลาย แต่ความแตกต่างเหล่านั้นควรกลมกลืนกับภาพรวมเพื่อเกาะเกี่ยวความมีชีวิตชีวาให้ไหลเลื่อนไปด้วยกัน
-------------------------
บรรณานุกรม
จริยา นวลนิรันดร์ (2549). "ตัวแบบแห่ง Intentionality ในฐานะที่เป็นการตีความเนื้อหาในคำ
บรรยายระยะแรกของฮุสเซิลว่าด้วยปรากฏการณ์วิทยาแห่งจิตสำนึกเรื่องเวลา." ใน
วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. 26(กันยายน-ธันวาคม 2549) :166-182.Brough, John B.(1977). "The Emergence of an Absolute Consciousness in Husserl's Early Writings on Time-Consciousness." In F.A. Elliston and P. McCormick. Ed. Husserl : Expositions and Appraisals. London : University of Notre Dame Press, pp. 83-100.
Brough, John B. (2000). "Plastic Time : Time and the Visual Arts." In John B. Brough and Lester Embree. Ed. The Many Faces of Time. Dordrecht : Kluwer Academic Publishers, pp. 223-244.Cutrofello, Andrew (2005). Continental Philosophy. New York : Routledge.
Derrida, Jacques(1973). Speech and Phenomena and Other Essays on Husserl's Theory of Sign. Trans. and ed. David Allison. Evanston IL: Northwestern University.
Gurwitsch, A. (1982). "Husserl's Theroy of the Intentionality of Consciousness." In H.L.Dreyfus. Ed. Husserl's Intentionality and Cognitive Science. Cambridge : The MIT
Press, pp. 59-71.Hodge, Joanna (2007). Derrida on Time. London : Routledge
Husserl, Edmund. (1964). The Phenomenology of Internal Time-Consciousness. Trans. James S. Churchill. Bloomington : Indiana University Press.
Lyotard, Jean-Francois (1991). "Sensus communis : The Subject in statu nascendi." In
Educardo Cadava, Peter Connoz and Jean-Luc Nancy. Ed. Who Comes After the
Subject? London : Routledge.Mohanty, J.N. (1995). "The development of Husserl's thought." In B. Smith and D.W. Smith. Ed. The Cambridge Companion to Husserl. New York : Cambridge University Press, pp. 45-77.
Zahavi, D. (1994) "Intentionality and the Representative Theory of Perception." Man and World. 27(1), pp. 37-47.
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
จิตสากลในทัศนะของฮุสเซิลไม่ใช่จิตสากลแท้ แต่กลับเป็นสิ่งปิดกั้นขัดขวางความเป็นอื่นและลดระดับชั้นความเป็นอื่นลงไปเพื่อให้คงไว้แต่เพียงความเห็นร่วม ซึ่งแดริดาเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะว่าในทัศนะของเขา จิตสากลคือจิตสำนึกอันบริสุทธิ์ที่อธิบายได้ด้วยการเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้งเปรียบเสมือนการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ดังที่เขากล่าวว่า เพื่อพูดกับคนบางคนก็คือเพื่อให้ได้ยินตัวเองพูด เพื่อให้ตัวเราได้ฟัง แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ถ้าคนๆ หนึ่งพูดให้ใครก็ตามได้ยิน การพูดนั้นก็เป็นไปเพื่อทำให้เขาทบทวนตัวเองได้ทันทีถึงการได้ยินตัวเองพูดในแบบที่ก่อให้เกิดผลประทับไว้ในใจ การทบทวนโดยทันทีคือการผลิตซ้ำจิตสำนึกอันบริสุทธิ์(pure auto-affection) โดยปราศจากการอาศัยปัจจัยภายนอกใดๆ ทั้งสิ้น (คัดมาจากบทความ)