ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




26-07-2551 (1620)

ชุดความรู้เที่ยงคืน: Neoliberalism on Trial. David Harvey
ลงเอย: บทพิสูจน์ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (สิทธิมนุษยชนอันตราย)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทแปลและเรียบเรียงต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

สำหรับบทความทางด้านเศรษฐศาสตร์นี้ แปลจาก:
Chapter 6 "Neoliberalism on Trial"เขียนโดย David Harvey,
A Brief History of Neoliberalism, Oxford University Press: 2007, p. 152-182.
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความล้มเหลวของแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ซึ่งปรากฏตัวไปในพื้นที่หลายทวีป
แนวคิดดังกล่าวเป็นการสะสมทุนด้วยการปล้นชิง ส่งผลให้ชนชั้นนำร่ำรวยขึ้นตามลำดับ ในเวลาเดียวกัน
ก็ส่งผลให้ชนชั้นล่างยากจนลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นความวิปริต ผิดปกติอย่างรุนแรง
กล่าวคือ ช่างเป็นโลกที่แปลกประหลาดนัก ดังที่สติกลิทซเคยกล่าวเอาไว้ว่า (มันเป็น)
"โลกที่ประเทศยากจน กลับต้องสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มประเทศร่ำรวยที่สุด"

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๒๐
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๐.๕ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ชุดความรู้เที่ยงคืน: Neoliberalism on Trial. David Harvey
ลงเอย: บทพิสูจน์ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (สิทธิมนุษยชนอันตราย)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

Quotation:

- การปล่อยให้กลไกตลาดเป็นผู้ชี้นำชะตากรรมของมนุษย์และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเพียงหนึ่งเดียว หรือแม้กระทั่งปล่อยให้ตลาดควบคุมปริมาณและอำนาจซื้อ สุดท้ายแล้วย่อมลงเอยที่การทำลายสังคมจนพินาศ สำหรับการเป็นสินค้าที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา "กำลังแรงงาน" ไม่ใช่สิ่งที่จับไปโยนไว้ตรงไหนก็ได้ ไม่สามารถใช้สอยอย่างไม่บันยะบันยัง หรือกระทั่งทิ้งขว้างไม่ใช้สอยก็ไม่ได้ เพราะมันย่อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์ปัจเจกบุคคลที่เป็นผู้ครอบครองสินค้าอันแปลกประหลาดนี้ไว้ หากกำจัดกำลังแรงงานของมนุษย์ทิ้งไป ย่อมหมายความว่าระบบกำลังกำจัดทิ้งสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "คน" ซึ่งผูกติดอยู่กับส่วนประกอบที่เป็นสินค้าในตัวเขา ทั้งในเชิงกายภาพ, จิตวิทยา และศีลธรรม เมื่อสิ้นไร้สถาบันทางวัฒนธรรมที่เป็นเครื่องห่อหุ้มคุ้มครองตัวเขา มนุษย์ย่อมย่อยยับจากผลกระทบที่เกิดจากความล่อนจ้อนทางสังคม มนุษย์ย่อมด่าวดิ้นล้มตายเพราะตกเป็นเหยื่อการแตกสลายทางสังคมอย่างรุนแรง ทั้งความชั่ว, ความวิปริต, อาชญากรรมและความอดอยาก ธรรมชาติย่อมถูกย่อยสลายลงจนเหลือแค่ธาตุ สิ่งแวดล้อมและภูมิประเทศถูกทำลาย, แม่น้ำเน่าเสีย, แนวป้องกันทางทหารเสียหาย, อำนาจในการผลิตอาหารและวัตถุดิบมอดมลาย ในประการสุดท้าย ตลาดที่บริหารจัดการอำนาจซื้อย่อมทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวลงเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้เพราะความขาดแคลนและความล้นเกินของเงินตราย่อมเป็นหายนภัยต่อธุรกิจ ไม่ต่างจากอุทกภัยและความแห้งแล้งที่เป็นหายนภัยในสังคมบุพกาล"

Polanyi, The Great Transformation

- ลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพในระเบียบสังคมของแรงงาน ผู้หญิงและกลุ่มชนพื้นเมือง โดยการเน้นย้ำว่าแรงงานคือสินค้าเหมือนสินค้าอื่น ๆ เมื่อสถาบันที่มีบทบาทในระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายลง เท่ากับเป็นการฉีกทึ้งเครื่องห่อหุ้มคุ้มครองและคุกคามให้เกิดการแตกสลายทางสังคมในทุกรูปแบบ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แรงงานไร้ค่าจะหันไปหาสถาบันรูปแบบอื่นที่จะช่วยสร้างความสามัคคีทางสังคมและแสดงออกถึงเจตจำนงของหมู่คณะ สถาบันทุกรูปแบบ นับตั้งแต่แก๊งอันธพาลและซ่องโจร เครือข่ายค้ายาเสพย์ติด มาเฟียและเจ้าพ่อในสลัม ตลอดจนองค์กรชุมชน องค์กรรากหญ้าและเอ็นจีโอ ไปจนถึงลัทธิความเชื่อฝ่ายฆราวาสและนิกายศาสนา จึงผุดขึ้นมามากมายเป็นดอกเห็ด ทั้งหมดนี้คือรูปแบบสังคมทางเลือกที่เข้ามาเติมเต็มสุญญากาศ หลังจากที่อำนาจรัฐ พรรคการเมืองและสถาบันรูปแบบอื่นถูกล้มล้างลง หรือเสื่อมโทรมลงจนไม่อาจทำหน้าที่ศูนย์กลางของพันธะทางสังคม และการทำเพื่อส่วนรวมอีกต่อไป ในแง่นี้ การหันไปหาศาสนาเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

- ลัทธิเสรีนิยมใหม่ให้ความสำคัญแก่ปัจเจกบุคคลมากกว่าสังคมประชาธิปไตยที่มีความเสมอภาค มีกระบวนการประชาธิปไตยและความสามัคคีทางสังคม ยิ่งกว่านั้น การนิยมใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการฟ้องร้องทางกฎหมาย เท่ากับยอมรับค่านิยมของเสรีนิยมใหม่ที่ให้น้ำหนักต่อฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหารมากกว่าอำนาจฝ่ายรัฐสภา เนื่องจากการใช้หนทางเชิงกฎหมายมีต้นทุนสูงและเสียเวลามาก อีกทั้งศาลมักมีอคติเข้าข้างผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ทำให้ฝ่ายตุลาการมักผูกสมัครภักดีกับชนชั้นสูงมากกว่า การตัดสินคดีมักให้ประโยชน์แก่สิทธิของกรรมสิทธิ์เอกชนและอัตราผลกำไร มากกว่าสิทธิด้านความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางสังคม ดังที่ Chandler สรุปว่า "ชนชั้นนำเสรีนิยม ไม่ไว้วางใจในสามัญชนและกระบวนการทางการเมือง ทำให้ชนชั้นนำหันไปให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลที่มีอำนาจมากกว่า โดยนำปัญหาของตนไปหาผู้พิพากษาที่ยินดีรับฟังและตัดสิน"

D. Chandler, From Kosovo to Kabul: Human Rights and International Intervention

การทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้า
การเชื่อในสมมติฐานว่า ตลาดและสัญญาณของตลาดคือสิ่งที่ดีที่สุดในการกำหนดการตัดสินใจด้านการจัดสรรปันส่วนทั้งหมด ก็เท่ากับเชื่อว่า โดยหลักการแล้ว เราสามารถปฏิบัติต่อทุกสิ่งทุกอย่างในฐานะสินค้าได้ การทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้าตั้งอยู่บนสมมติฐานความเชื่อในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเหนือกระบวนการ สิ่งของและความสัมพันธ์ทางสังคม เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างตั้งราคาได้ และทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเป็นสิ่งที่ถูกค้าขายภายใต้สัญญาทางกฎหมาย เชื่อว่าตลาดสามารถทำหน้าที่ชี้นำได้อย่างเหมาะสม หรือเป็นหลักจริยธรรมกำกับการกระทำทั้งหมดของมนุษย์

แน่นอน ในทางปฏิบัติ ทุกสังคมกำหนดขอบเขตว่าการทำให้เป็นสินค้าเริ่มต้นและสิ้นสุดตรงไหน ส่วนขอบเขตควรอยู่ตรงไหนเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน ยาเสพย์ติดบางอย่างเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย การซื้อขายบริการทางเพศเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในเกือบทุกมลรัฐของสหรัฐอเมริกา แต่ในประเทศอื่น มันอาจถูกกฎหมาย ไม่ใช่อาชญากรรม หรือกระทั่งเป็นอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ. ในสหรัฐอเมริกา ภาพลามก (pornography) ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง กระนั้นก็ตาม ภาพบางอย่าง (โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเด็ก) ก็ถือว่าเกินกว่าขอบเขตที่ยอมรับกันได้ ในสหรัฐอเมริกา มโนธรรมและเกียรติยศถือเป็นสิ่งที่ซื้อขายไม่ได้ และมีแนวโน้มแปลก ๆ ในการขุดคุ้ย "การคอร์รัปชั่น" ราวกับเราสามารถแยกแยะมันออกจากการใช้อิทธิพลและการปั่นราคาในตลาดที่ทำกันเป็นเรื่องปรกติได้ง่าย ๆ

การทำให้เป็นสินค้าที่เกิดกับเพศสภาพ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ มรดกของประเทศ ธรรมชาติ ทั้งในแง่ของทิวทัศน์หรือสถานที่หย่อนใจ การผูกขาดค่าธรรมเนียมจากความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นของแท้และความไม่เหมือนใคร (เช่น งานประดิษฐ์หรือศิลปะ) ทั้งหมดนี้คือการตั้งราคาให้สิ่งที่เมื่อก่อนมนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสินค้า (17) มนุษย์มักมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับความเหมาะสมของการทำให้เป็นสินค้า (เช่น เทศกาลและสัญลักษณ์ทางศาสนา) หรือใครควรเป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์และได้รับค่าธรรมเนียมต่าง ๆ (เช่น การเข้าไปชมซากโบราณสถานของชนเผ่าแอสเท็ค หรือการทำตลาดผลงานศิลปะของชนเผ่าอะบอริจิน เป็นต้น)

(17) D. Harvey, 'The Art of Rent: Globalization, Monopoly and the Commodification of Culture', Socialist Register (2002), 93-110.

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ขยายพรมแดนของการทำให้เป็นสินค้าและขอบเขตการทำสัญญาทางกฎหมายออกไปอย่างมาก มันสรรเสริญเชิดชูความไม่จีรัง (เช่นเดียวกับทฤษฎีโพสต์โมเดิร์นส่วนใหญ่) และสัญญาระยะสั้น ยกตัวอย่างเช่น เดี๋ยวนี้การแต่งงานคือการจัดการเชิงสัญญาระยะสั้น ไม่ใช่พันธะที่ศักดิ์สิทธิ์และฝ่าฝืนไม่ได้เหมือนแต่ก่อน ความแตกต่างส่วนหนึ่งระหว่างนักเสรีนิยมใหม่กับนักอนุรักษ์นิยมใหม่ อยู่ตรงความแตกต่างของความเชื่อว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน นักอนุรักษ์นิยมใหม่มักกล่าวโทษ "นักเสรีนิยม" "ฮอลลีวู้ด" หรือแม้กระทั่ง "นักโพสต์โมเดิร์น" ว่าเป็นต้นเหตุของความเหลวแหลกและไร้ศีลธรรมในระเบียบสังคมปัจจุบัน แทนที่จะกล่าวโทษนายทุนบรรษัท (เช่น รูเพิร์ต เมอร์ดอค) ที่เป็นตัวการแท้จริงในการสร้างความเสื่อมโทรม ด้วยการขายวัตถุทางเพศอย่างแอบแฝง หรือบางครั้งก็ถึงขั้นลามกอนาจาร อีกทั้งคนเหล่านี้ยังนิยมในข้อผูกมัดระยะสั้นมากกว่าระยะยาว เพื่อแสวงหากำไรอย่างไม่สิ้นสุด

แต่ยังมีประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าแค่การพยายามปกป้องสิ่งของมีค่า พิธีกรรมบางอย่างหรือแง่มุมงดงามของชีวิตสังคม ให้พ้นจากการคิดคำนวณเป็นเงินเป็นทองและสัญญาระยะสั้น หัวใจของทฤษฎีเสรีนิยมและเสรีนิยมใหม่อยู่ที่ ความจำเป็นในการสร้างตลาดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้แก่ที่ดิน แรงงาน และเงิน ดังที่คาร์ล โปลันยีชี้ให้เห็นว่า ที่ดิน แรงงาน และเงิน "ไม่ใช่สินค้าอย่างเห็นได้ชัด....การทำให้แรงงาน ที่ดิน และเงินเป็นสินค้า เป็นเรื่องสมมติขึ้นมาทั้งสิ้น" ถึงแม้ระบบทุนนิยมไม่สามารถเดินหน้าหากปราศจากกลไกดังกล่าว แต่มันก็สร้างความพินาศอย่างเหลือจะกล่าว หากมันไม่ยอมรับความเป็นจริงซับซ้อนที่อยู่เบื้องหลังแรงงาน ที่ดิน และเงิน ข้อเขียนตอนหนึ่งของโปลันยีที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างมาก บรรยายไว้ดังนี้:

"การปล่อยให้กลไกตลาดเป็นผู้ชี้นำชะตากรรมของมนุษย์และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเพียงหนึ่งเดียว หรือแม้กระทั่งปล่อยให้ตลาดควบคุมปริมาณและอำนาจซื้อ สุดท้ายแล้วย่อมลงเอยที่การทำลายสังคมจนพินาศ สำหรับการเป็นสินค้าที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา "กำลังแรงงาน" ไม่ใช่สิ่งที่จับไปโยนไว้ตรงไหนก็ได้ ไม่สามารถใช้สอยอย่างไม่บันยะบันยัง หรือกระทั่งทิ้งขว้างไม่ใช้สอยก็ไม่ได้ เพราะมันย่อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์ปัจเจกบุคคลที่เป็นผู้ครอบครองสินค้าอันแปลกประหลาดนี้ไว้ หากกำจัดกำลังแรงงานของมนุษย์ทิ้งไป ย่อมหมายความว่าระบบกำลังกำจัดทิ้งสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "คน" ซึ่งผูกติดอยู่กับส่วนประกอบที่เป็นสินค้าในตัวเขา ทั้งในเชิงกายภาพ, จิตวิทยา และศีลธรรม เมื่อสิ้นไร้สถาบันทางวัฒนธรรมที่เป็นเครื่องห่อหุ้มคุ้มครองตัวเขา มนุษย์ย่อมย่อยยับจากผลกระทบที่เกิดจากความล่อนจ้อนทางสังคม มนุษย์ย่อมด่าวดิ้นล้มตายเพราะตกเป็นเหยื่อการแตกสลายทางสังคมอย่างรุนแรง ทั้งความชั่ว, ความวิปริต, อาชญากรรมและความอดอยาก ธรรมชาติย่อมถูกย่อยสลายลงจนเหลือแค่ธาตุ สิ่งแวดล้อมและภูมิประเทศถูกทำลาย, แม่น้ำเน่าเสีย, แนวป้องกันทางทหารเสียหาย, อำนาจในการผลิตอาหารและวัตถุดิบมอดมลาย ในประการสุดท้าย ตลาดที่บริหารจัดการอำนาจซื้อย่อมทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวลงเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้เพราะความขาดแคลนและความล้นเกินของเงินตราย่อมเป็นหายนภัยต่อธุรกิจ ไม่ต่างจากอุทกภัยและความแห้งแล้งที่เป็นหายนภัยในสังคมบุพกาล"(18)

(18) Polanyi, The Great Transformation, 73.

ความพินาศที่เกิดจาก "อุทกภัยและความแห้งแล้ง" ของทุนสมมติภายในระบบสินเชื่อโลก ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย อาร์เจนตินา เม็กซิโก หรือแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกา ย่อมพิสูจน์ประโยคสุดท้ายของโปลันยีในข้อความข้างต้นเป็นอย่างดี แต่แนวคิดของเขาเกี่ยวกับแรงงานและที่ดิน สมควรได้รับการขยายความให้ละเอียดกว่านี้

ปัจเจกบุคคลเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะบุคคลที่มีแบบแผนพฤติกรรม พวกเขาเป็นปัจเจกบุคคลที่ฝังอยู่ในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและถูกสังคมประกิตมาในแบบต่าง ๆ พวกเขาเป็นสิ่งมีชีวิตทางกายภาพที่บ่งชี้ได้ด้วยลักษณะเฉพาะบางอย่าง (เช่น ลักษณะทางพันธุกรรมและเพศ) เป็นปัจเจกบุคคลที่สั่งสมความชำนาญต่าง ๆ (บางครั้งจึงถูกเรียกว่า "ทุนมนุษย์") และมีรสนิยมต่างกันไป (บางครั้งจึงถูกเรียกว่า "ทุนทางวัฒนธรรม") และเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความฝัน ความปรารถนา ความทะเยอทะยาน ความหวัง ความสงสัยและความกลัว แต่สำหรับนายทุน ปัจเจกบุคคลเหล่านี้เป็นแค่ปัจจัยการผลิต ถึงแม้ไม่ใช่ปัจจัยที่ไม่มีความแตกต่าง ทั้งนี้เพราะนายจ้างก็ต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติบางอย่าง เช่น ความแข็งแรงของร่างกาย ความชำนาญ ความยืดหยุ่น ความเชื่อฟัง ฯลฯ ที่เหมาะสมต่องาน คนงานถูกจ้างงานด้วยสัญญา และในแบบแผนการจัดการแบบเสรีนิยมใหม่ สัญญาระยะสั้นเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะมันทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากที่สุด

ในประวัติศาสตร์ตลอดมา นายจ้างมักสร้างความแตกแยกภายในหมู่แรงงานเพื่อแบ่งแยกและปกครอง การแบ่งแยกในตลาดแรงงานจึงเกิดขึ้น มักมีการใช้ความแตกต่างในด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศ และศาสนา ทั้งโดยลับและโดยแจ้ง เพื่อทำให้นายจ้างมีความได้เปรียบสูงสุด ในอีกด้านหนึ่ง คนงานอาจใช้โครงข่ายทางสังคมที่พวกเขาฝังตัวอยู่ เพื่อสร้างความมีอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงการจ้างงานบางอาชีพ พวกเขามักพยายามผูกขาดความชำนาญเอาไว้ รวมทั้งหาทางทำให้เกิดการกำกับดูแลตลาดแรงงานเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของตน โดยอาศัยปฏิบัติการเป็นหมู่คณะและการสร้างสถาบันที่เหมาะสม ในแง่นี้ คนงานกำลังสร้าง "สถาบันทางวัฒนธรรมที่เป็นเครื่องห่อหุ้มคุ้มครองตัวเขา" ดังที่โปลันยีกล่าวถึงนั่นเอง

ลัทธิเสรีนิยมใหม่พยายามฉีกทึ้งเครื่องห่อหุ้มคุ้มครองนี้ออกไป ถึงแม้ว่าลัทธิเสรีนิยมที่มีการกำกับดูแลจะส่งเสริมและเชิดชูเครื่องห่อหุ้มคุ้มครองนี้เป็นครั้งคราวก็ตาม การโจมตีแรงงานมีหัวหอกสองด้านด้วยกัน ในบางประเทศ อำนาจของสหภาพแรงงานและสถาบันของชนชั้นแรงงานถูกลิดรอนหรือล้มล้าง (ถ้าจำเป็นก็ใช้ความรุนแรง) มีการใช้มาตรการที่ทำให้ตลาดแรงงานยืดหยุ่น ภาครัฐเลิกอุดหนุนสวัสดิการสังคม อีกทั้งเทคโนโลยียังทำให้โครงสร้างการจ้างงานเปลี่ยนไป ส่งผลให้แรงงานจำนวนมากกลายเป็นส่วนเกิน ทั้งหมดนี้ทำให้ทุนมีอำนาจเหนือแรงงานในตลาดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

คนงานต้องโดดเดี่ยวและไร้อำนาจเมื่อเผชิญหน้ากับตลาดแรงงานที่มีแต่สัญญาระยะสั้นและปรับเปลี่ยนเงื่อนไขตามความพอใจของนายจ้าง ความมั่นคงของหน้าที่การงานกลายเป็นเรื่องในอดีต (ยกตัวอย่างเช่น แธตเชอร์ทำลายความมั่นคงนี้ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น) "ระบบความรับผิดชอบส่วนบุคคล" (เติ้งเสี่ยวผิง ช่างใช้ถ้อยคำได้เหมาะเหม็ง!) เข้ามาแทนที่การคุ้มครองของสังคม (บำเหน็จบำนาญ การดูแลสุขภาพ การคุ้มครองจากการบาดเจ็บ) ซึ่งเคยเป็นพันธะผูกมัดนายจ้างและรัฐ ปัจเจกบุคคลต้องหันมาซื้อผลิตภัณฑ์ในตลาดที่ขายการคุ้มครองทางสังคมแทน ความมั่นคงของปัจเจกบุคคลจึงเป็นทางเลือกของแต่ละคน ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการซื้อหาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (หมายถึงการประกันต่าง ๆ) ที่ฝังอยู่ในตลาดการเงินที่ง่อนแง่น

การโจมตีอีกด้านหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงเทศะและกาละของตลาดแรงงาน "การแข่งขันสู่จุดต่ำสุด" ทำให้เกิดกำลังแรงงานราคาต่ำติดดินและเชื่องเชื่อ อีกทั้งการที่ทุนสามารถเคลื่อนย้ายเชิงภูมิศาสตร์ ในขณะที่แรงงานเคลื่อนย้ายไม่ได้ ทำให้ทุนมีอำนาจเหนือแรงงานทั้งโลก แรงงานส่วนใหญ่ติดอยู่กับที่ เพราะการอพยพย้ายถิ่นมีข้อจำกัด หากจะหลบเลี่ยงกำแพงนี้ ก็ต้องลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย (ทำให้เกิดแรงงานอพยพที่ขูดรีดง่าย) หรืออาศัยสัญญาระยะสั้น เช่น แรงงานชาวเม็กซิกันข้ามมาทำงานในธุรกิจเกษตรที่แคลิฟอร์เนีย แต่พวกเขาต้องเสี่ยงกับการถูกเสือกไสไล่ส่งกลับไปเม็กซิโกเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย หรือกระทั่งเสียชีวิตจากยาฆ่าแมลงที่ต้องสัมผัสในการทำงาน

ภายใต้นโยบายเสรีนิยมใหม่ โฉมหน้าของ "คนงานที่ไร้ค่า" ปรากฏขึ้นมาบนเวทีโลก (19) ตัวอย่างของสภาพการทำงานอันเลวร้ายและกดขี่ที่แรงงานต้องเผชิญในโรงงานนรกมีมากมายทั่วโลก

(19) K. Bales, Disposable People: New Slavery in the Global Economy (Berkeley: University of California Press, 2000); M. Wright, 'The Dialectics of Still Life: Murder, Women and the Maquiladoras', Public Culture, 11 (1999), 453-74.

- ในประเทศจีน สภาพการทำงานของคนงานหญิงสาวที่อพยพมาจากชนบท ชวนให้สลดหดหู่อย่างยิ่ง "ชั่วโมงทำงานยาวนานจนแทบทนไม่ไหว อาหารต่ำกว่ามาตรฐาน หอพักแออัด ผู้จัดการจอมซาดิสต์ที่ชอบทุบตีและล่วงเกินทางเพศ ค่าจ้างจ่ายช้าไปเป็นเดือน หรือบางทีก็ไม่ได้ค่าจ้างเลย"(20)

(20) A. Ross, Low Pay High Profile: The Global Push for Fair Labor (New York: The New Press, 2004), 124.

- ในอินโดนีเซีย คนงานหญิงสองคนเล่าประสบการณ์การทำงานให้ผู้รับงานเหมาช่วงของบริษัทลีวาย-สเตราส์ที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ดังนี้:

"แน่นอน เราถูกด่าว่าตลอดเวลา เมื่อไรเจ้านายโมโห เขาก็ด่าคนงานผู้หญิงเป็นหมูหมาหรือกะหรี่ เราก็ต้องทน อย่าตอบโต้ เวลาทำงานของเราคือเจ็ดโมงเช้าถึงบ่ายสามโมง (ค่าจ้างน้อยกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน) แต่มักมีการบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ยิ่งถ้ามีออเดอร์ด่วน บางครั้งก็ต้องทำงานถึงสามทุ่ม ถึงเราจะเหนื่อยแค่ไหน เราก็ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน เราอาจได้เงินพิเศษอีก 200 รูเปียะห์ (10 เซนต์)....เราต้องเดินจากบ้านไปทำงาน ในโรงงานร้อนมาก หลังคาเป็นสังกะสี และคนงานก็ต้องทำงานเบียด ๆ กัน มันอึดอัดคับแคบมาก มีคนงานกว่า 200 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่ทั้งโรงงานมีห้องส้วมห้องเดียว....พอเลิกงานกลับบ้าน เราก็หมดแรงทำอะไรไม่ไหว นอกจากกินข้าวแล้วเข้านอน....(21)

(21) J. Seabrook, In the Cities of the South: Scenes from a Developing World (London: Verso, 1996), 103.

เรื่องเล่าคล้าย ๆ กันนี้ยังมีให้ได้ยินจากโรงงานของชาวต่างชาติในเม็กซิโก โรงงานของชาวไต้หวันและเกาหลีในฮอนดูรัส อัฟริกาใต้ มาเลเซีย และประเทศไทย อันตรายต่อสุขภาพ การต้องสัมผัสกับสารพิษสารพัดชนิด และการเสียชีวิตจากการทำงาน เกิดขึ้นโดยไม่มีการกำกับดูแลและไม่มีใครเอ่ยถึง. ในเซี่ยงไฮ้ นักธุรกิจชาวไต้หวันเจ้าของโกดังเก็บสิ่งทอที่ "คนงาน 61 คนถูกขังอยู่ข้างในจนตายในเพลิงไหม้" ได้รับ "ผ่อนผัน" ด้วยโทษจำคุกสองปีแต่รอลงอาญา เพราะเขา "แสดงความสำนึกผิด" และ "ให้ความร่วมมือหลังเหตุไฟไหม้"(22)

(22) J. Sommer, 'A Dragon Let Loose on the Land: And Shanghai is at the Epicenter of China's Economic Boom', Japan Times, 26 Oct. 1994, 3.

คนงานที่ต้องทนรับความทุกข์จากงานหนักที่ต่ำต้อย เหนื่อยยากและอันตรายนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และบางครั้งก็รวมถึงเด็ก (23) ผลกระทบทางสังคมของลัทธิเสรีนิยมใหม่ค่อนข้างรุนแรงมาก การสะสมทุนด้วยการปล้นชิงทำลายอำนาจที่ผู้หญิงเคยมีภายในระบบตลาด/การผลิตแบบครัวเรือน ตลอดจนในโครงสร้างสังคมดั้งเดิม แล้วจัดวางทุกสิ่งทุกอย่างเสียใหม่ภายใต้ตลาดสินค้าและสินเชื่อที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ในประเทศกำลังพัฒนา เส้นทางของผู้หญิงที่ปลดปล่อยตัวเองจากการควบคุมของประเพณีแบบปิตาธิปไตย ถ้าไม่จบลงที่การเป็นแรงงานโรงงานนรกก็กลายเป็นผู้ให้บริการด้านเพศสภาพ ซึ่งมีตั้งแต่งานที่น่านับถือ เช่น พนักงานต้อนรับและบริกรหญิง ไปจนถึงการขายบริการทางเพศ (ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทำกำไรมากที่สุดในปัจจุบัน รวมทั้งมีการใช้แรงงานทาสอย่างมากด้วย) การสูญสิ้นเครื่องคุ้มครองทางสังคมในประเทศทุนนิยมก้าวหน้า ส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้หญิงชนชั้นล่างมากเป็นพิเศษ ส่วนในประเทศอดีตค่ายคอมมิวนิสต์โซเวียต การสูญเสียสิทธิของผู้หญิงจากนโยบายเสรีนิยมใหม่คือความเสื่อมถอยอย่างร้ายแรงโดยแท้

(23) C. K. Lee, Gender and the South China Miracle (Berkeley: University of California Press, 1998); C. Cartier, Globalizing South China (Oxford: Basil Blackwell, 2001, particularly ch. 6.

ถ้าเช่นนั้น แรงงานที่ไร้ค่าเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้หญิง จะเอาตัวรอดในสังคมและในจิตใจอย่างไร? ในโลกของตลาดแรงงานยืดหยุ่นและสัญญาระยะสั้น ความไม่มั่นคงเรื้อรังของการงานอาชีพ การคุ้มครองทางสังคมที่หมดสิ้นไป การใช้แรงงานที่อันตรายต่อสุขภาพ ท่ามกลางความพินาศของสถาบันแรงงานที่เคยให้การสนับสนุนและทำให้พวกเขามีศักดิ์ศรีอยู่บ้าง

สำหรับคนบางกลุ่ม ตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นคือสภาพอันพึงปรารถนา ต่อให้มันไม่ทำให้เกิดผลได้ทางวัตถุ แต่เพียงแค่การมีสิทธิในการเปลี่ยนงานที่ง่ายกว่าเดิม และเป็นอิสระจากข้อจำกัดทางประเพณีของครอบครัวและสังคมแบบปิตาธิปไตย เพียงแค่นี้ก็ถือเป็นผลดีที่จับต้องได้แล้ว. สำหรับกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จในการต่อรองในตลาดแรงงาน โลกวัฒนธรรมบริโภคแบบทุนนิยมดูเหมือนจะมีรางวัลให้เก็บเกี่ยวมากมาย แต่เคราะห์ร้ายที่วัฒนธรรมแบบนั้น ซึ่งแม้จะน่าตื่นตาตื่นใจ มีเสน่ห์และน่าเพลิดเพลิน แต่ก็เป็นวัฒนธรรมที่เล่นกับความอยากตลอดเวลา ไม่เคยให้ความอิ่มอกอิ่มใจใด ๆ ที่พ้นไปจากขอบเขตจำกัดของห้างสรรพสินค้า ตอกย้ำความวิตกกังวลในสภานภาพที่จำต้องดูดีอยู่เสมอ (ในกรณีของผู้หญิง) หรือต้องครอบครองทางวัตถุ "ฉันช็อปฉันจึงมีอยู่" และลัทธิปัจเจกบุคคลนิยมที่เต็มไปด้วยความอยาก คือสิ่งที่สร้างโลกของความพึงพอใจจอมปลอม เปลือกนอกของมันอาจดูน่าตื่นเต้น แต่ข้างในกลวงเปล่า

แต่สำหรับกลุ่มคนที่ตกงานหรือไม่เคยหนีพ้นเศรษฐกิจนอกระบบที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง และตอนนี้กลายเป็นแหล่งพักพิงอันง่อนแง่นของคนงานไร้ค่าในเกือบทุกพื้นที่ของโลก ภาพที่เห็นย่อมแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง สำหรับประชาชนราว 2 พันล้านคนที่ต้องดำรงชีวิตด้วยรายได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน โลกของวัฒนธรรมบริโภคแบบทุนนิยมคือการเยาะหยัน เงินโบนัสก้อนมหึมาในภาคการเงิน การโฆษณาชวนเชื่อที่ยกหางตัวเองเกี่ยวกับศักยภาพในการปลดปล่อยของลัทธิเสรีนิยมใหม่ การแปรรูปและความรับผิดชอบส่วนบุคคล ทั้งหมดนี้อาจดูคล้ายตลกโหดมากกว่า จากเขตชนบทอันยากจนข้นแค้นของจีน ไปจนถึงชุมชนคนมีเงินในสหรัฐฯ การสูญเสียสวัสดิการด้านสุขภาพและการเก็บค่าธรรมเนียมทุกรูปแบบที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งซ้ำเติมภาระทางการเงินของคนจนให้เลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิม (24)

(24) ผลกระทบที่มีต่อโลกนั้น มีการอภิปรายถึงอย่างละเอียดใน Navarro, The Political Economy of Social Inequalities; Navarro and Muntaner, Political and Economic Determinants.

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพในระเบียบสังคมของแรงงาน ผู้หญิงและกลุ่มชนพื้นเมือง โดยการเน้นย้ำว่าแรงงานคือสินค้าเหมือนสินค้าอื่น ๆ เมื่อสถาบันที่มีบทบาทในระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายลง เท่ากับเป็นการฉีกทึ้งเครื่องห่อหุ้มคุ้มครองและคุกคามให้เกิดการแตกสลายทางสังคมในทุกรูปแบบ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แรงงานไร้ค่าจะหันไปหาสถาบันรูปแบบอื่นที่จะช่วยสร้างความสามัคคีทางสังคมและแสดงออกถึงเจตจำนงของหมู่คณะ สถาบันทุกรูปแบบ นับตั้งแต่แก๊งอันธพาลและซ่องโจร เครือข่ายค้ายาเสพย์ติด มาเฟียและเจ้าพ่อในสลัม ตลอดจนองค์กรชุมชน องค์กรรากหญ้าและเอ็นจีโอ ไปจนถึงลัทธิความเชื่อฝ่ายฆราวาสและนิกายศาสนา จึงผุดขึ้นมามากมายเป็นดอกเห็ด ทั้งหมดนี้คือรูปแบบสังคมทางเลือกที่เข้ามาเติมเต็มสุญญากาศ หลังจากที่อำนาจรัฐ พรรคการเมืองและสถาบันรูปแบบอื่นถูกล้มล้างลง หรือเสื่อมโทรมลงจนไม่อาจทำหน้าที่ศูนย์กลางของพันธะทางสังคมและการทำเพื่อส่วนรวมอีกต่อไป ในแง่นี้ การหันไปหาศาสนาเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

เราได้ยินได้ฟังเรื่องราวของนิกายศาสนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและแพร่ขยายอย่างปุบปับในเขตชนบทยากจนของประเทศจีน มิพักต้องกล่าวถึงการเกิดขึ้นของลัทธิฝ่าหลุนกง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของกระแสแนวโน้มนี้ (25) การหันมาเข้ารีตศาสนาคริสต์นิกายหนึ่งที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในเศรษฐกิจนอกระบบอันยุ่งเหยิง ที่เฟื่องฟูขึ้นมาภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ในละตินอเมริกา รวมถึงการรื้อฟื้นศาสนาแบบชนเผ่า หรือในบางกรณีก็สร้างศาสนาขึ้นมาใหม่ในอัฟริกา และลัทธิมูลฐานนิยมทางศาสนา (fundamentalism) ที่เกิดขึ้นในโครงสร้างทางการเมืองของตะวันออกกลาง พิสูจน์ให้เห็นถึงความโหยหาต้องการสร้างกลไกที่มีความหมายที่จะมาเชื่อมความสามัคคีในสังคม

(25) J. Kahn, 'Violence Taints Religion's Solace for China's Poor', New York Times, 25 Nov. 2004, A1 and A24.

การขยายตัวของศาสนาคริสต์ที่ยึดมั่นในพระคัมภีร์ไบเบิลในสหรัฐอเมริกา มีส่วนเชื่อมโยงกับความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการสูญเสียความสามัคคีในสังคมรูปแบบอื่น ๆ รวมทั้งความกลวงเปล่าของวัฒนธรรมบริโภคแบบทุนนิยม ตามคำบรรยายของ Thomas Frank ฝ่ายขวาเคร่งศาสนาเพิ่งเกิดขึ้นในแคนซัสเมื่อปลายทศวรรษ 1980 นี้เอง หรือหลังจากการปรับโครงสร้าง และการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายเสรีนิยมใหม่เกิดขึ้นมาแล้วราวสิบกว่าปี (26) ความเชื่อมโยงเช่นนี้อาจดูเหมือนไกลเกินไป แต่หากแนวคิดของโปลันยีถูกต้อง และการปฏิบัติต่อแรงงานเยี่ยงสินค้านำไปสู่การแตกสลายของสังคม ถ้าเช่นนั้น ความพยายามที่จะสร้างเครือข่ายสังคมแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อปกป้องตัวเองจากภัยคุกคามนั้น ก็ย่อมเป็นไปได้อย่างยิ่ง

(26) Frank, What's the Matter with Kansas.

ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
การใช้สอยสิ่งแวดล้อมด้วยตรรกะของการทำสัญญาระยะสั้น ก่อให้เกิดผลกระทบที่มีแต่ความวิบัติฉิบหาย โชคดีที่ในค่ายเสรีนิยมใหม่เองก็มีทัศนะค่อนข้างแตกแยกในประเด็นนี้ ในขณะที่ประธานาธิบดีเรแกนไม่แยแสสิ่งแวดล้อมเลย มิหนำซ้ำถึงขนาดเคยกล่าวโทษว่าต้นไม้เป็นแหล่งสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศด้วยซ้ำ แต่นายกรัฐมนตรีแธตเชอร์กลับใส่ใจปัญหานี้อย่างจริงจัง แธตเชอร์มีบทบาทสำคัญในการเจรจาพิธีสารมอนทรีออล ในการจำกัดการใช้สาร CFCs ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้โอโซนมีรูโหว่ขยายกว้างขึ้นรอบ ๆ ทวีปแอนตาร์กติกา เธอสนใจปัญหาภัยคุกคามของโลกร้อน ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอย่างยิ่ง แน่นอน การปวารณาตัวเพื่อสิ่งแวดล้อมของเธอใช่ว่าไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงเสียทั้งหมด เนื่องจากเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างความชอบธรรมส่วนหนึ่งแก่การปิดเหมืองถ่านหินและการทำลายสหภาพแรงงานเหมือง

ด้วยเหตุนี้ นโยบายรัฐเสรีนิยมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจึงแตกต่างกันไปในเชิงภูมิศาสตร์และไม่คงเส้นคงวาในเชิงเวลา (กล่าวคือ ขึ้นอยู่กับใครขึ้นมากุมอำนาจรัฐ ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลเรแกนและจอร์จ ดับเบิลยู บุช ถือว่าถอยหลังเข้าคลองมากกว่ารัฐบาลชุดอื่นๆ) นอกจากนั้น ขบวนการสิ่งแวดล้อมเติบโตขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ขบวนการนี้มักมีอิทธิพลยับยั้งขัดขวางได้บ้าง ทั้งนี้ขึ้นกับกาละและเทศะ ในบางกรณี บริษัททุนนิยมเองก็ค้นพบว่า การเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ กระนั้นก็ตาม หากวัดดูโดยรวมแล้ว ลัทธิเสรีนิยมใหม่สร้างผลกระทบด้านลบแก่สิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน

ความพยายามที่จะสร้างดัชนีชี้วัดความอยู่ดีกินดีของมนุษย์โดยครอบคลุมถึงต้นทุนที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นแนวโน้มด้านลบที่เร่งเร็วขึ้นตั้งแต่ราว ค.ศ. 1970 ถึงแม้มาตรฐานการวัดอาจมีปัญหาให้ถกเถียงกันอยู่บ้างก็ตาม อีกทั้งยังมีตัวอย่างมากมายถมเถที่แสดงถึงความสูญเสียด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลมาจากการใช้หลักการเสรีนิยมใหม่อย่างไม่บันยะบันยัง ทั้งหมดนี้ยืนยันถึงผลกระทบด้านลบดังกล่าว การทำลายป่าดงดิบเขตร้อนในอัตราเร่งเร็วขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1970 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทราบกันดี ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ยุคของลัทธิเสรีนิยมใหม่ยังเป็นยุคที่มีการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของโลก (27)

(27) N. Myers, Ultimate Society: The Environmental Basis of Political Stability (New York: Norton, 1993); id., The Primary Resource: Tropical Forests and Our Future/ Updated for the 1990s (New York: Norton, 1993); M. Novacek (ed.), The Biodiversity Crisis: Losing What Counts (New York: American Museum of Natural History, 2001).

หากเรากำลังก้าวเข้าสู่เขตอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของโลก โดยเฉพาะภูมิอากาศ จนถึงขั้นทำให้โลกไม่เหมาะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์อีกต่อไป ถ้าเช่นนั้น การอ้าแขนรับจริยธรรมและการปฏิบัติแบบเสรีนิยมใหม่ ย่อมมิใช่อะไรเลยนอกจากการฆ่าตัวตายชัด ๆ รัฐบาลบุชมักปฏิบัติต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการถามหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็ไม่ทำอะไรเลย (นอกจากตัดลดงบประมาณที่ให้แก่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในสาขาที่เกี่ยวข้อง) แม้แต่ทีมวิจัยของบุชเองยังรายงานว่า ปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เพิ่มมากขึ้นหลัง ค.ศ. 1970. เพนตากอนกล่าวด้วยว่า ปัญหาโลกร้อนอาจกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาในระยะยาวที่ร้ายแรงกว่าการก่อการร้าย (28)

(28) Climate Change Science Program, 'Our Changing Planet: The US Climate Change Science Program for Fiscal Years 2004 and 2005', http://www.usgcrp.gov/usgcrp/Library/ocp2004-5; M. Townsend and P. Harris, 'Now the Pentagon Tells Bush: Climate Change Will Destroy Us', Observer, 22 Feb. 2004, online.

เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ผู้ร้ายตัวเอ้สองรายที่เป็นตัวการในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ ก็คือหัวจักรที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลก นั่นคือ สหรัฐอเมริกาและจีนนั่นเอง (จีนปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นถึง 45% ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา) ในสหรัฐอเมริกา ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระบบอุตสาหกรรมและการก่อสร้างที่อยู่อาศัย มีความก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมมาก แต่การผลาญทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยส่วนใหญ่มาจากลัทธิบริโภคนิยม ที่กระตุ้นให้เกิดย่านชานเมืองที่บริโภคพลังงานสิ้นเปลืองอย่างสูง รวมทั้งการขยายเมืองออกไปอย่างไร้ทิศทาง และวัฒนธรรมที่นิยมซื้อรถเอสยูวีที่ซดน้ำมันมหาศาล แทนที่จะหาซื้อรถที่ใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

การที่สหรัฐฯ ต้องพึ่งพิงน้ำมันนำเข้ามากขึ้นทำให้เกิดผลพวงปัญหาทางด้านภูมิศาสตร์การเมืองตามมา ในกรณีของจีนนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วและการขยายตัวของการครอบครองรถยนต์ทำให้การบริโภคพลังงานทวีคูณขึ้น ในปลายทศวรรษ 1980 จีนยังผลิตน้ำมันพอใช้ในประเทศ แต่ในปัจจุบัน จีนกลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ในกรณีนี้ก็เช่นกัน เกิดผลพวงทางด้านภูมิศาสตร์การเมืองตามมา เมื่อจีนพยายามเข้าไปมีอิทธิพลในประเทศซูดาน เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง เพื่อสร้างหลักประกันให้ตนเองในแหล่งผลิตน้ำมัน นอกจากนี้ จีนยังมีแหล่งถ่านหินคุณภาพต่ำอีกจำนวนมาก ถ่านหินเหล่านี้มีสารกำมะถันสูง การใช้ถ่านหินมาผลิตพลังงานจึงสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน ยิ่งกว่านั้น ปัญหาการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอกำลังสร้างผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจจีน ปัญหาไฟตกและไฟดับเกิดขึ้นเป็นประจำ ดังนั้น รัฐบาลท้องถิ่นจึงไม่มีแรงจูงใจใด ๆ ที่จะปิดโรงไฟฟ้าที่ไร้ประสิทธิภาพและ "สกปรก" ตามคำสั่งของรัฐบาลกลาง

การซื้อและใช้รถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ในเมืองใหญ่ ๆ อย่างปักกิ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่หันมาใช้รถยนต์แทนจักรยาน ทำให้เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก 20 เมือง เป็นเมืองที่อยู่ในประเทศจีนถึง 16 เมือง (29) ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อปัญหาโลกร้อนอย่างเห็นได้ชัด ดังที่ปรากฏให้เห็นเสมอๆ ในขั้นตอนของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ผลกระทบด้านลบที่เกิดจากความไม่แยแสต่อสิ่งแวดล้อมมีให้เห็นทุกหนแห่ง แม่น้ำลำธารเกิดมลภาวะอย่างรุนแรง แหล่งน้ำเต็มไปด้วยสารก่อมะเร็งอันตราย ระบบสาธารณสุขอ่อนแอ (ดังที่สะท้อนให้เห็นจากปัญหาโรค SARS และไข้หวัดนก) ทรัพยากรที่ดินถูกใช้ไปกับการขยายตัวของเมืองหรือโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดยักษ์ (เช่น ที่แม่น้ำแยงซีเกียง) ทั้งหมดนี้ล้วนซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนรัฐบาลกลางก็เพิ่งไหวตัวเริ่มแก้ปัญหา จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่เป็นเช่นนี้ การเติบโตอย่างรวดเร็วในอินเดียตามมาด้วยความเปลี่ยนแปลงด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน สืบเนื่องจากการขยายตัวของการบริโภคและการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น

(29) K. Bradsher, 'China's Boom Adds to Global Warming', New York Times, 22 Oct. 2003, A1 and A8; J. Yardley, 'Rivers Run Black, and Chinese Die of Cancer', New York Times, 12 Sept. 2004, A1 and A17; D. Murphy, 'Chinese Province: Stinking, Filthy, Rich', Wall Street Journal, 27 Oct. 2004, B2H.

ในแง่ของการถลุงทรัพยากรธรรมชาตินั้น ลัทธิเสรีนิยมใหม่มีสถิติที่แย่มาก เหตุผลนั้นหาไม่ยากนัก การนิยมใช้ความสัมพันธ์แบบสัญญาระยะสั้นสร้างแรงกดดันให้ผู้ผลิตทุกรายต้องขูดรีดทุกอย่างเท่าที่ทำได้ในอายุสัญญานั้น ถึงแม้สัญญาและสิทธิการซื้อขายอาจต่ออายุได้ แต่ก็ไม่เคยมีความแน่นอน เพราะอีกฝ่ายอาจย้ายไปแหล่งอื่น การขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติมีขีดจำกัดด้านเวลาที่ยาวนานที่สุดอยู่ที่อัตราส่วนลด (discount rate) (g)g (นั่นคือประมาณ 25 ปี) แต่สัญญาสมัยนี้ส่วนใหญ่มีระยะเวลาสั้นกว่านั้นมาก

(g) discount rate แนวคิดที่มาจากภาคการเงิน หมายถึง อัตราการลดทอนมูลค่าของผลประโยชน์หรือต้นทุนตัวเงินในอนาคตให้มาเป็นมูลค่าปัจจุบัน เพราะเงินในอนาคตย่อมมีค่าน้อยกว่าในปัจจุบัน เมื่อคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบันจะต้องลดทอนลงมา

เดิมทีเราเชื่อกันว่า ความสูญสิ้นของทรัพยากรดำเนินไปเป็นเส้นตรง แต่เดี๋ยวนี้มีหลักฐานชี้ชัดแล้วว่า ระบบนิเวศวิทยาจำนวนไม่น้อยพังทลายลงอย่างปัจจุบันทันด่วน หลังจากที่ระบบนั้นถูกขูดรีดจนเลยจุดสูงสุดที่ความสามารถในการผลิตซ้ำทางธรรมชาติจะทดแทนได้ ตัวอย่างคลาสสิกของการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติในอัตรา "สูงสุด" แล้วจู่ ๆ ทรัพยากรนั้นก็ล่มสลายสูญสิ้นไปปุบปับโดยไม่มีคำเตือนล่วงหน้า ได้แก่ทรัพยากรปลา ปลาซาร์ดีนหมดไปแล้วจากแคลิฟอร์เนีย ปลาคอดหมดไปจากนิวฟันด์แลนด์ และปลาซีเบสหมดไปจากชิลี (30)

(30) Petras and Veltmeyer, System in Crisis, ch. 6.

ส่วนที่ดูน่าตกใจน้อยกว่า แต่เลวร้ายพอๆ กัน ก็คือทรัพยากรป่า การที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่หนุนหลังการแปรรูปสุดตัว ทำให้ไม่สามารถสร้างข้อตกลงระดับโลกเกี่ยวกับหลักการการจัดการป่า ที่จะช่วยคุ้มครองถิ่นที่อยู่และความหลากหลายทางชีวภาพอันทรงคุณค่า โดยเฉพาะในป่าดงดิบเขตร้อน ในกลุ่มประเทศยากจนที่อุดมด้วยทรัพยากรป่า แรงกดดันให้เพิ่มการส่งออก อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาครอบครองและทำสัมปทาน ทำให้การปกป้องป่าในระดับต่ำสุดต้องพังทลายลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้ก็คือ การทำลายทรัพยากรป่าหลังการแปรรูปในชิลี แต่โครงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไอเอ็มเอฟเข้ามาอำนวยการ สร้างผลกระทบที่เลวร้ายกว่านั้นอีก

การบังคับให้รัฐบาลรัดเข็มขัดหมายความว่า ประเทศยากจนย่อมมีงบประมาณในการจัดการป่าน้อยลง นอกจากนี้ยังถูกกดดันให้แปรรูปป่าและเปิดให้บริษัทไม้ต่างชาติเข้ามาขูดรีดด้วยสัญญาระยะสั้น ภายใต้แรงบีบคั้นที่ต้องหาเงินตราต่างประเทศมาชำระหนี้ จึงเกิดแรงจูงใจที่จะยอมให้มีการขูดรีดอัตราสูงสุดในระยะสั้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อการรัดเข็มขัดของรัฐบาลตามแนวทางไอเอ็มเอฟและการว่างงานสร้างผลกระทบขึ้น ประชาชนชายขอบจึงต้องแสวงหาการยังชีพจากที่ดิน จนทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างไม่บันยะบันยัง เนื่องจากวิธีที่นิยมใช้กันคือการเผาป่า เกษตรกรไร้ที่ดินและบริษัทไม้จึงทำลายทรัพยากรป่าลงอย่างมหาศาลในระยะเวลาสั้น ๆ ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในบราซิล อินโดนีเซียและหลายประเทศในอัฟริกา (31)

(31) American Lands Alliance, 'IMF Policies Lead to Global Deforestation', http://americanlands.org/imfreport.htm.

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยเมื่อวิกฤตการณ์ด้านงบประมาณพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด จนทำให้คนหลายล้านถูกเบียดขับออกจากตลาดแรงงานในอินโดนีเซียช่วง ค.ศ. 1997-8 ไฟป่าจึงเกิดขึ้นในเกาะสุมาตราจนไม่อาจควบคุม (ผสมกับการทำป่าไม้ของนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่ร่ำรวยที่สุดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งใกล้ชิดกับซูฮาร์โต) ทำให้เกิดหมอกควันจำนวนมากปกคลุมทั่วทั้งทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นานหลายเดือน ทว่าเมื่อไรก็ตามที่รัฐและกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ ร่วมมือกันขัดขืนกฎเกณฑ์ของเสรีนิยมใหม่ รวมทั้งมีกลุ่มผลประโยชน์ทางชนชั้นมาสนับสนุน ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายกรณี เมื่อนั้นเองที่เราอาจเห็นการใช้สอยสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลเกิดขึ้นบ้าง

ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ลัทธิเสรีนิยมใหม่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการต่อต้านอย่างกว้างขวาง กระนั้นก็ตาม ฝ่ายต่อต้านมักยอมรับสมมติฐานเบื้องต้นจำนวนมากของลัทธิเสรีนิยมใหม่ นี่ชี้ให้เห็นความขัดแย้งภายในตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ขบวนการต่อต้านมักตั้งประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลอย่างจริงจัง ต่อต้านอำนาจนิยมและการทำตามอำเภอใจของชนชั้นที่มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ขบวนการต่อต้านยังยอมรับโวหารแบบเสรีนิยมใหม่ในเรื่องของการยกระดับความอยู่ดีกินดีของทุกคน อีกทั้งประณามลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ทำตามคำพูดไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ลองพิจารณาย่อหน้าแรกของเอกสารที่เป็นหัวใจของลัทธิเสรีนิยมใหม่ กล่าวคือ ข้อตกลง WTO เป้าหมายของ WTOคือ:

ยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ทำให้เกิดการจ้างงานเต็มอัตรา ทำให้รายได้ที่แท้จริงและอุปสงค์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขยายการผลิตและการค้าสินค้าและบริการ ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรโลกโดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมวิธีการอนุรักษ์ในลักษณะที่สอดคล้องกับความจำเป็น และความต้องการของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป (32)

(32) D.Rodrik, The Global Governance of Trade: As If Development Really Mattered (New York, United Nations Development Program, 2001), 9.

ในคำประกาศของธนาคารโลกก็มีความหวังศรัทธาคล้าย ๆ กัน ("การลดระดับความยากจนคือเป้าหมายหลักของเรา") แต่โวหารแบบนี้ไปด้วยกันไม่ได้เลยกับการปฏิบัติจริง ซึ่งตั้งอยู่บนการฟื้นฟูหรือสร้างอำนาจทางชนชั้น รวมทั้งผลลัพธ์ที่ตามมาคือความยากจนและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม. การที่ฝ่ายต่อต้านคัดค้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ ค.ศ. 1980 ดังที่ Chandler รายงานไว้ ก่อนหน้านั้น วารสารที่มีชื่อเสียงอย่าง Foreign Affairs ไม่เคยตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแม้แต่บทเดียว (33)

(33) D. Chandler, From Kosovo to Kabul: Human Rights and International Intervention
(London: Pluto Press, 2002), 89.

ประเด็นสิทธิมนุษยชนโดดเด่นขึ้นมาหลังจาก ค.ศ. 1980 และแพร่หลายอย่างมากหลังจากเหตุสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และการสิ้นสุดของสงครามเย็นใน ค.ศ. 1989 นี่สอดคล้องเป็นอย่างดีกับวงโคจรของลัทธิเสรีนิยมใหม่ และจะว่าไป ความเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายก็มีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ยืนยันว่าปัจเจกบุคคลเป็นองค์ประกอบรากฐานในชีวิตทางเศรษฐกิจ-การเมือง เท่ากับเปิดประตูให้แก่การเคลื่อนไหวด้านสิทธิของปัจเจกบุคคล แต่การมุ่งเน้นสิทธิเหล่านี้ แทนที่จะมุ่งเน้นการสร้างโครงสร้างทางการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีสาระและเปิดกว้าง เท่ากับฝ่ายต่อต้านรับเอาวิธีการที่หนีไม่พ้นกรอบของเสรีนิยมใหม่

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ให้ความสำคัญแก่ปัจเจกบุคคลมากกว่าสังคมประชาธิปไตยที่มีความเสมอภาค มีกระบวนการประชาธิปไตยและความสามัคคีทางสังคม ยิ่งกว่านั้น การนิยมใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการฟ้องร้องทางกฎหมาย เท่ากับยอมรับค่านิยมของเสรีนิยมใหม่ที่ให้น้ำหนักต่อฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหารมากกว่าอำนาจฝ่ายรัฐสภา เนื่องจากการใช้หนทางเชิงกฎหมายมีต้นทุนสูงและเสียเวลามาก อีกทั้งศาลมักมีอคติเข้าข้างผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ทำให้ฝ่ายตุลาการมักผูกสมัครภักดีกับชนชั้นสูงมากกว่า การตัดสินคดีมักให้ประโยชน์แก่สิทธิของกรรมสิทธิ์เอกชนและอัตราผลกำไร มากกว่าสิทธิด้านความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางสังคม ดังที่ Chandler สรุปว่า "ชนชั้นนำเสรีนิยม ไม่ไว้วางใจในสามัญชนและกระบวนการทางการเมือง ทำให้ชนชั้นนำหันไปให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลที่มีอำนาจมากกว่า โดยนำปัญหาของตนไปหาผู้พิพากษาที่ยินดีรับฟังและตัดสิน" (34)

(34) Ibid. 230.

วิพากษ์ NGOs: ม้าโทรจันที่เปิดทางให้ลัทธิเสรีนิยมใหม่
เนื่องจากปัจเจกบุคคลส่วนใหญ่ขาดไร้ทรัพยากรทางการเงินที่จะใช้เรียกร้องสิทธิของตนเอง วิธีเดียวที่จะแสดงออกถึงอุดมคตินี้ได้ ก็ด้วยการรวมกลุ่มที่มีความคิดเห็นพ้องต้องกัน ความเติบโตของกลุ่มนักเคลื่อนไหวและเอ็นจีโอก็เช่นเดียวกับวาทกรรมเกี่ยวกับสิทธิ มันเกิดขึ้นพร้อมกับหัวเลี้ยวหัวต่อในลัทธิเสรีนิยมใหม่ และขยายตัวอย่างน่าทึ่งนับตั้งแต่ราว ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา ในหลาย ๆ กรณี เอ็นจีโอก้าวเข้ามาในสุญญากาศของการบริการทางสังคม ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่รัฐถอนตัวออกไป นี่เท่ากับเอ็นจีโอคือการแปรรูปบริการทางสังคม ในบางกรณี สภาพเช่นนี้ยิ่งเร่งให้รัฐถอนตัวออกจากการบริการทางสังคมได้เร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้ เอ็นจีโอจึงทำหน้าที่เสมือน "ม้าโทรจันที่เปิดทางให้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ระดับโลก"(35)

(35) T. Wallace, 'NGO Dilemmas: Trojan Horses for Global Neoliberalism?', Socialist Register (2003), 202-19. ส่วนการสำรวจบทบาทของเอ็นจีโอ โปรดดู M. Edwards and D. Hulme (eds.), Non-Governmental Organizations: Performance and Accountability (London: Earthscan, 1995).

ยิ่งกว่านั้น เอ็นจีโอมักไม่มีกระบวนการเชิงประชาธิปไตยภายในสถาบัน เอ็นจีโอส่วนใหญ่มักเต็มไปด้วยคนที่ทำตัวเป็นผู้นำ ไม่มีความโปร่งใส (ยกเว้นต่อผู้บริจาคทุน) และมีช่องว่างเหินห่างจากประชาชนที่พวกเขาพยายามเข้าไปช่วยเหลือคุ้มครอง ไม่ว่าเอ็นจีโอเหล่านี้จะมีความปรารถนาดีหรือมีความคิดก้าวหน้าแค่ไหนก็ตาม พวกเขามักปกปิดวาระของตน และชมชอบเจรจาโดยตรงหรือใช้อิทธิพลกดดันรัฐและชนชั้นที่มีอำนาจ พวกเขามักควบคุมชาวบ้านมากกว่าเป็นตัวแทนของชาวบ้าน พวกเขาอ้างและทึกทักว่าตนพูดแทนประชาชนที่พูดไม่เป็น ถึงขนาดยึดกุมการนิยามผลประโยชน์ให้ชาวบ้านเสียเอง (ราวกับประชาชนทำอะไรเองไม่เป็น) แต่สถานภาพของพวกเขามีความชอบธรรมแค่ไหน เป็นเรื่องที่ตั้งข้อกังขาได้เสมอ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อองค์กรหนึ่งประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้สั่งห้ามการใช้แรงงานเด็ก โดยยึดตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล พวกเขาอาจกำลังบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจที่แรงงานเป็นพื้นฐานในการอยู่รอดของครอบครัว หากไม่มีทางเลือกทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ เด็กเหล่านี้อาจถูกขายเป็นโสเภณีแทน (แล้วค่อยให้นักเคลื่อนไหวอีกกลุ่มมารณรงค์ให้ยกเลิกโสเภณีเด็กอีกทีหนึ่ง) "โวหารเรื่องสิทธิ" ที่ทึกทักว่าเป็นสากล รวมทั้งการที่เอ็นจีโอและกลุ่มนักเคลื่อนไหวทั้งหลายต่างยึดมั่นในหลักการสากล ย่อมไม่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะในท้องถิ่นและการปฏิบัติประจำวันของชีวิตทางการเมืองและเศรษฐกิจ ภายใต้แรงกดดันของการทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้าและนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ (36)

(36) L. Gill, Teetering on the Rim (New York: Columbia University Press, 2000); J. Cowan, M.-B. Dembour, and R. Wilson (eds.), Culture and Rights: Anthropological Perspectives (Cambridge: Cambridge University Press, 2001).

แต่ยังมีเหตุผลอีกประการหนึ่งที่อธิบายว่า เหตุใดวัฒนธรรมต่อต้านนี้จึงได้รับแรงขับเคลื่อนอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การสะสมทุนด้วยการปล้นชิงมีชุดปฏิบัติการที่แตกต่างมาก จากการสะสมทุนด้วยการขยายแรงงานรับจ้างในระบบอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม การสะสมทุนแบบหลังนี้เป็นกระบวนการหลักในการสะสมทุนในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 และก่อให้เกิดวัฒนธรรมต่อต้านแบบหนึ่ง (เช่น วัฒนธรรมต่อต้านที่ฝังอยู่ในสหภาพแรงงาน และพรรคการเมืองของชนชั้นแรงงาน) โดยก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามมาคือ ระบบเสรีนิยมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสังคม ในทางตรงกันข้าม การสะสมทุนด้วยการปล้นชิงมีลักษณะแยกส่วนและเฉพาะถิ่น เช่น มีการแปรรูปที่นี่ มีความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่โน่น มีวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดจากหนี้สินเกิดขึ้นอีกที่หนึ่ง มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะต่อต้านปัญหาเฉพาะเรื่องเฉพาะถิ่นทั้งหมดได้โดยไม่ต้องอาศัยหลักการสากล การปล้นชิงทำให้เกิดการสูญเสียสิทธิตามมา ดังนั้น จึงจำต้องหันไปหาโวหารสากลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรี นิเวศวิทยาที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับรวบรวมการเมืองของฝ่ายต่อต้านให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

การอาศัยหลักการสากลของสิทธิอาจกลายเป็นดาบสองคม มันอาจนำมาใช้และใช้ได้ดีโดยมีเป้าหมายที่ก้าวหน้าอยู่ในใจ แนวทางนี้มีตัวแทนที่เด่นชัด เช่น องค์การนิรโทษกรรมสากล องค์การหมอไร้พรมแดน ฯลฯ เราย่อมไม่สมควรเหยียดหยามองค์กรเหล่านี้ว่าเป็นแค่ผลพวงของวิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ประวัติศาสตร์ของลัทธิมนุษย์นิยม (ทั้งสำนักเสรีนิยมคลาสสิกของตะวันตกและสำนักอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตะวันตก) มีความซับซ้อนกว่านั้น แต่การที่วาทกรรมเกี่ยวกับสิทธิส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ที่มีขอบเขตจำกัด (เช่น ในกรณีขององค์การนิรโทษกรรมสากล มักมุ่งเน้นแต่สิทธิของพลเมือง และสิทธิด้านการเมืองเป็นหลัก โดยไม่ค่อยสนใจสิทธิด้านเศรษฐกิจ จนเมื่อเร็ว ๆ นี้เองที่เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนจุดมุ่งเน้นใหม่) ทำให้เป็นเรื่องง่ายเหลือเกินที่จะดูดซับวาทกรรมเหล่านี้เข้าไปไว้ในกรอบของเสรีนิยมใหม่

ลัทธิสากลนิยมอาจดูเหมือนใช้ได้ดีเป็นพิเศษกับปัญหาระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ รูโหว่ของโอโซน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเพราะถิ่นที่อยู่ถูกทำลาย ฯลฯ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในด้านสิทธิมนุษยชนกลับมีปัญหามากกว่า เนื่องจากเงื่อนไขด้านการเมือง-เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในโลกมีความหลากหลายอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายอย่างยิ่งที่ปัญหาสิทธิมนุษยชนจะถูกนำไปใช้เป็น "ดาบของจักรวรรดิ" (คำนิยามอันคมกริบของ Bartholomew และ Breakspear)(37) ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่เรียกกันว่า "สายเหยี่ยวเสรีนิยม" ในสหรัฐอเมริกาก็ใช้วาทกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนมาอ้างความชอบธรรมให้การแทรกแซงของจักรวรรดินิยมในโคโซโว ติมอร์ตะวันออก เฮติ และที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ อัฟกานิสถานและอิรัก พวกเขาอ้างความชอบธรรมให้แก่การทหารแบบมนุษย์นิยม "ในนามของการปกป้องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แม้ในกรณีที่มันเป็นการดำเนินนโยบายฝ่ายเดียวของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมที่เสนอหน้าเข้ามาจุ้นจ้านเอง" เช่น สหรัฐอเมริกา (38)

(37) A. Bartholomew and J. Breakspear, 'Human Rights as Swords of Empire', Socialist Register
(London: Merlin Press, 2003), 124-45.

(38) Ibid. 126.

เมื่อมองภาพกว้างๆ แล้ว คงยากที่จะไม่คล้อยตามข้อสรุปของ Chandler ที่ว่า "ลัทธิมนุษยธรรมที่ตั้งอยู่บนสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน มีรากเหง้ามาจากฉันทามติที่สนับสนุนให้ตะวันตกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของโลกกำลังพัฒนานับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา" เหตุผลสำคัญก็คือ "สถาบันระหว่างประเทศ ศาลโลกและศาลในประเทศ เอ็นจีโอหรือคณะกรรมการด้านจริยธรรม กลายเป็นตัวแทนความต้องการของประชาชนที่ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลและตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งถูกมองด้วยความหวาดระแวง เพียงเพราะพวกเขาต้องตอบสนองต่อฐานเสียงของตน ดังนั้น พวกเขาจึงถูกมองว่าเป็นแค่ตัวแทนผลประโยชน์ 'เฉพาะกลุ่ม' ซึ่งตรงกันข้ามกับการประพฤติปฏิบัติตามหลักการทางจริยธรรม"(39) แม้กระทั่งภายในประเทศเอง ผลกระทบก็เลวร้ายไม่แพ้กัน ผลที่ตามมาคือการพยายามตีกรอบให้ "วิวาทะทางการเมืองสาธารณะ" อยู่ในวงแคบ ๆ และ "สร้างความชอบธรรมให้กับการยกบทบาทการตัดสินใจด้านการพัฒนาแก่ภาคตุลาการ คณะทำงานที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งและคณะกรรมการทางจริยธรรมทั้งหลาย" ทั้งหมดนี้ทำให้การเมืองอ่อนแอลง

(39) Chandler, From Kosovo to Kabul, 27, 218.

"แทนที่จะตั้งคำถามท้าทายต่อสภาพความโดดเดี่ยวของปัจเจกบุคคลและความเฉื่อยชาในสังคมที่ถูกแบ่งแยกของเรา การกำกับดูแลด้านสิทธิมนุษยชนก็คือการทำให้การแบ่งแยกเหล่านี้กลายเป็นสถาบันไปนั่นเอง" ที่ร้ายกว่านั้น "ภาพความเสื่อมโทรมของโลกสังคมที่วาทกรรมจริยธรรมของสิทธิมนุษยชนนำเสนอ มันกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ค้ำจุนความเชื่อมั่นในตัวเองของชนชั้นปกครอง ไม่ต่างจากทฤษฎีอื่น ๆ ที่รองรับความชอบธรรมของชนชั้นนำนั่นเอง" (40)

(40) Ibid. 235.

การวิจารณ์ข้างต้นนี้ชวนให้เราเห็นว่า การอ้างหลักการสากลมีข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรง สมควรโยนมันทิ้งไปและเลิกกล่าวอ้างถึงสิทธิเสียเลย เพราะสิทธิเป็นแค่การยัดเยียดจริยธรรมนามธรรมที่มีพื้นฐานมาจากกลไกตลาด และเป็นแค่หน้ากากอำพรางการฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นนำขึ้นมา แม้ว่าข้อเสนอข้างต้นอาจสมควรนำมาพิจารณาให้ถี่ถ้วนอย่างจริงจัง แต่ผู้เขียนคิดว่า เราไม่ควรละทิ้งแนวคิดเรื่องสิทธิเพียงเพราะการครองความเป็นใหญ่ของอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ มีสนามรบที่เราต้องต่อสู้ ทั้งในประเด็นว่าหลักการสากลข้อไหนและสิทธิอะไรที่เราควรเรียกร้องในสถานการณ์หนึ่ง ๆ ตลอดจนถึงเราควรสร้างหลักการสากลและแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิขึ้นมาอย่างไร

การที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ในฐานะชุดปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ-การเมืองแบบหนึ่งมีความเกี่ยวโยงอย่างสำคัญกับการเรียกร้องให้หลักการสากลของสิทธิบางอย่างเป็นรากฐานทางจริยธรรมสำหรับความชอบธรรมทางศีลธรรมและการเมือง เรื่องนี้ควรทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น รัฐบาลรักษาการของเบรเมอร์ ยัดเยียดแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิบางอย่างให้อิรัก ในขณะเดียวกันก็ละเมิดสิทธิการกำหนดชะตากรรมตัวเองของชาวอิรัก "ระหว่างสิทธิสองอย่าง" นี่คือคำกล่าวอันโด่งดังของมาร์กซ์ "กำลังคือผู้ตัดสิน"(41) หากการฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นนำ หมายถึงการยัดเยียดชุดของสิทธิบางอย่าง ถ้าเช่นนั้น การต่อต้านการยัดเยียดย่อมหมายถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

(41) Marx, Capital, i. 225.

ยกตัวอย่างเช่น จิตสำนึกที่เห็นว่าความยุติธรรมคือสิทธิประการหนึ่ง เป็นแรงกระตุ้นที่ทรงพลังในขบวนการทางการเมือง การต่อสู้กับความอยุติธรรมมักปลุกเร้าขบวนการให้มุ่งหาความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประวัติศาสตร์ของขบวนการสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกาเป็นกรณีตัวอย่างที่ให้แรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี แน่นอน ปัญหาก็คือ เราอาจมีแนวคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมได้มากมายหลากหลายแบบ แต่การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า กระบวนการทางสังคมที่สำคัญมักเกิดขึ้นและตั้งอยู่บนแนวคิดบางประการเกี่ยวกับความยุติธรรมและสิทธิ การท้าทายสิทธิที่มีลักษณะเฉพาะเหล่านั้น เท่ากับท้าทายกระบวนการสังคมที่สิทธินั้นแฝงอยู่

ในทางตรงกันข้าม มันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่มีทางชักนำสังคมให้หันเหจากกระบวนการที่ครอบงำสังคมอยู่ (เช่น การสะสมทุนด้วยการแลกเปลี่ยนในตลาด) เพื่อก้าวไปสู่อีกกระบวนการหนึ่ง (เช่น ประชาธิปไตยทางการเมืองและการร่วมมือเป็นหมู่คณะ) โดยไม่ต้องเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิและความยุติธรรมไปพร้อม ๆ กัน แต่ปัญหาก็คือ การนิยามสิทธิและความยุติธรรมแบบจิตนิยมมักซุกซ่อนความเชื่อมโยงดังกล่าวไว้ สิทธิและความยุติธรรมจะมีความหมายทางสังคมได้ ก็ต่อเมื่อ มันมีความสัมพันธ์กับกระบวนการทางสังคมบางอย่างเท่านั้น (42)42

(42) D. Harvey, 'The Right to the City', in R. Scholar (ed.), Divided Cities: Oxford Amnesty Lectures 2003
(Oxford: Oxford University Press, forthcoming).

ลองพิจารณากรณีของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ฝ่ายขวาเกาะกลุ่มกันรอบๆ ตรรกะของอำนาจที่สำคัญสองประการ กล่าวคือ ทุนกับรัฐที่มีอาณาเขต (43) ไม่ว่าเราอยากให้สิทธิเป็นเรื่องสากลแค่ไหน แต่รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้ทำให้สิทธิเกิดผลในทางปฏิบัติ หากอำนาจทางการเมืองไม่เต็มใจรับรองสิทธิ ความหมายของสิทธิก็ยังคงว่างเปล่าอยู่ดี ดังนั้น สิทธิจึงเป็นส่วนขยายและเป็นเงื่อนไขของความเป็นพลเมือง เขตอำนาจปกครองจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ นี่เป็นทั้งด้านดีและด้านเสีย สำหรับคนไร้รัฐ ผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ฯลฯ พวกเขาต้องเผชิญปัญหายากลำบาก ใครบ้างคือ "พลเมือง" และใครบ้างไม่ใช่ "พลเมือง" กลายเป็นปัญหาสำคัญที่กำหนดนิยามหลักการในการรับเข้ามาและการกีดกันออกไปภายในอาณาเขตดินแดนของรัฐ

(43) Harvey, The New Imperialism, ch. 2.

รัฐมีอำนาจอธิปไตยในการจัดการเรื่องสิทธิแค่ไหน ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียง กระนั้นก็ตาม อำนาจอธิปไตยนั้นย่อมมีขีดจำกัดจากกฎเกณฑ์ระดับโลกที่ฝังอยู่ในการสะสมทุนแบบเสรีนิยมใหม่ (ดังที่จีนประสบกับตัวเองมาแล้ว) อย่างไรก็ตาม รัฐชาติเป็นผู้ผูกขาดความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ดังนั้น ด้วยวิธีคิดแบบโธมัส ฮอบส์ รัฐย่อมเป็นผู้กำหนดนิยามความหมายของสิทธิภายในดินแดนของตน และการแทรกแซงของต่างชาติมีผลผูกมัดเพียงหลวม ๆ เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกายืนกรานสิทธิของตนที่ไม่ต้องรับผิดในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามที่นิยามไว้ในเวทีระหว่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ยืนยันว่า อาชญากรสงครามจากประเทศอื่นต้องถูกนำตัวขึ้นศาลโลก ทั้ง ๆ ที่สหรัฐฯ ไม่ยอมรับว่าศาลแห่งเดียวกันนี้เองมีอำนาจเหนือพลเมืองของตน

การดำรงชีวิตภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ย่อมหมายถึงการยอมรับหรือยอมจำนนต่อสิทธิชุดหนึ่งที่จำเป็นต่อการสะสมทุน ดังนั้น เราจึงมีชีวิตในสังคมที่ปัจเจกบุคคลมีสิทธิที่แยกออกจากบุคคลไม่ได้ (inalienable rights-หรือสิทธิที่โอนให้แก่ผู้อื่นไม่ได้ เช่น เสรีภาพส่วนบุคคล เป็นต้น) เหนือกรรมสิทธิ์เอกชนและผลกำไร สิทธินี้มีความสำคัญยิ่งกว่าสิทธิอื่นใดเท่าที่ท่านจะนึกออก (และอย่าลืมว่า บรรษัทถูกนิยามเป็นบุคคลในสายตาของกฎหมาย) ผู้ที่ถือข้างระบบสิทธิแบบนี้ให้เหตุผลอย่างน่าฟังว่า สิทธินี้จะส่งเสริม "คุณธรรมของชนชั้นกลาง" ซึ่งหากปราศจากคุณธรรมนี้ ทุกคนในโลกย่อมมีชีวิตลำบากกว่านี้มาก สิทธินี้ยังรวมถึงความรับผิดชอบและความรับผิดในหนี้สินของปัจเจกบุคคล การมีอิสระจากการแทรกแซงของรัฐ (โดยมักอ้างว่าระบบสิทธิแบบนี้เป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงกับสิทธิที่รัฐเป็นผู้นิยาม)

ความเท่าเทียมของโอกาสในตลาดและความเท่าเทียมเบื้องหน้ากฎหมาย รางวัลแก่ผู้ริเริ่มและความพยายามของผู้ประกอบการ การดูแลและพึ่งตัวเอง ตลาดเปิดที่ส่งเสริมเสรีภาพในการเลือก ทั้งในด้านการทำสัญญาและการแลกเปลี่ยน ระบบสิทธิแบบนี้ยิ่งน่าดึงดูดใจ เมื่อขยายไปใช้กับสิทธิในการมีกรรมสิทธิ์เอกชนเหนือร่างกายของตนเอง (ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิทธิของบุคคลในการมีอิสระที่จะทำสัญญาขายแรงงานของตน รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและความเคารพ เป็นอิสระจากการข่มขู่ทางร่างกาย เช่น การค้าทาส เป็นต้น) ตลอดจนสิทธิในการมีเสรีภาพทางความคิด การแสดงออกและการพูด สิทธิส่วนขยาย (derivative rights) เหล่านี้ล้วนแต่น่าดึงดูดใจ พวกเราไม่น้อยก็พึ่งพิงสิทธิเหล่านี้อย่างมาก แต่เราเปรียบเสมือนยาจกที่พึ่งพิงเศษอาหารที่ร่วงหล่นจากโต๊ะอาหารของคนรวยมากกว่า

ผู้เขียนไม่อาจจูงใจใครด้วยการให้เหตุผลทางปรัชญาว่า ระบบสิทธิแบบเสรีนิยมใหม่เต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรม แต่ข้อโต้แย้งต่อระบบสิทธิแบบนี้คือเหตุผลที่เข้าใจไม่ยากเลย การยอมรับระบบสิทธิแบบเสรีนิยมใหม่เท่ากับการยอมรับว่า เราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องมีชีวิตภายใต้ระบบของการสะสมทุนและความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร้ที่สิ้นสุด โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมาทางสังคม นิเวศวิทยาหรือการเมือง ในทางตรงกันข้าม การสะสมทุนอย่างไร้ที่สิ้นสุดหมายความว่า ระบบสิทธิแบบเสรีนิยมใหม่จะต้องขยายไปในเชิงภูมิศาสตร์ทั่วทั้งโลกโดยอาศัยความรุนแรง (ดังที่เกิดขึ้นในชิลีและอิรัก) ด้วยวิธีการแบบจักรวรรดินิยม (เช่น วิธีการขององค์การการค้าโลก ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก) หรือด้วยวิธีสะสมทุนแบบบุพกาล (เช่น ในจีนและรัสเซีย) แล้วแต่ความจำเป็น ไม่ว่าใช้วิธีไหนก็ตาม สิทธิในกรรมสิทธิ์เอกชนที่แยกออกจากบุคคลไม่ได้และการแสวงหากำไรจะต้องได้รับการสถาปนาทั่วทั้งโลก นี่แหละคือความหมายในคำพูดของประธานาธิบดีบุช เมื่อเขากล่าวว่า สหรัฐฯ จะทุ่มเททุกอย่างเพื่อขยายปริมณฑลของเสรีภาพไปทั่วโลก

แต่สำหรับเรา สิทธิไม่ได้มีแค่นั้น แม้กระทั่งในแนวคิดแบบเสรีนิยมที่ปรากฏในกฎบัตรสหประชาชาติ ก็ยังมีสิทธิส่วนขยายอื่น ๆ เช่น เสรีภาพในการพูดและการแสดงออก สิทธิในการศึกษาและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สิทธิในการจัดตั้งสหภาพ ฯลฯ หากสิทธิเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมอย่างแท้จริง ย่อมเป็นการท้าทายที่สำคัญต่อลัทธิเสรีนิยมใหม่ การทำให้สิทธิส่วนขยายเหล่านี้กลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานในกรรมสิทธิ์เอกชนและการแสวงหากำไรกลายเป็นแค่สิทธิส่วนขยาย ย่อมทำให้เกิดการปฏิวัติที่สำคัญอย่างยิ่งในภาคการเมืองและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเราอาจนำมาเรียกร้อง เช่น สิทธิในการเข้าถึงสมบัติส่วนรวมของโลก หรือสิทธิในการมีความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น "ระหว่างสิทธิที่เท่าเทียมกัน กำลังคือผู้ตัดสิน" การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิและแม้กระทั่งเสรีภาพที่เหมาะสม นี่คือสมรภูมิศูนย์กลางในการแสวงหาทางเลือกอื่น

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกกลับไปอ่านบทความเกี่ยวเนื่องก่อนหน้านี้

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑ : Release date 26 July 2008 : Copyleft by MNU.

เดิมทีเทคโนโลยีมีขึ้นเพื่อส่งเสริมการผลิตและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ตอนนี้มันถูกเปลี่ยนใหไปรับใช้ภาคการเงินที่ขับดันด้วยกลไกตลาด ซึ่งเป็นยี่ห้อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอภิสิทธิ์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่ มันมีประโยชน์ต่อการเก็งกำไร และการเพิ่มจำนวนสัญญาในตลาดระยะสั้น มากกว่าจะมีประโยชน์ต่อการยกระดับการผลิต สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ภาคส่วนการผลิตที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคืออุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นใหม่ (ภาพยนตร์ วิดีโอ วิดีโอเกม ดนตรี การโฆษณา การแสดงศิลปะ) ซึ่งใช้ไอทีเป็นพื้นฐานด้านนวัตกรรมและการวางตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การโหมโฆษณา ช่วยหันเหความสนใจของสาธารณชนไปจากความล้มเหลวในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและทางสังคม

 

H