ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




27-07-2551 (1621)

ชุดความรู้เที่ยงคืน: แนวคิดทฤษฎีกายา โลกมีชีวิต
เวลาและอากาศสัมบูรณ์ ลางสังหรณ์ และช่วงปัจจุบันขณะ
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : นักแปลและนักวิชาการอิสระ
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความนี้ แปลจาก ผลงานเขียนเกี่ยวกับโลกธรรมชาติอันงดงาม ชวนพิศวงของ Jeremy W. Hayward
เรื่อง Letters to Vanessa: On Love, Science and Awareness in an Enchanted World
สาระสำคัญของงานเขียนนี้ พยายามชี้ให้เห็นถึงโลกธรรมชาติอันมีชีวิตชีวา ตายลงได้อย่างไร?
แน่นอนด้านหนึ่งคือคำอธิบายโลกฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ แต่มันมีอย่างอื่นที่ซับซ้อนมากกว่านั้น
งานเขียนอันงดงามอธิบายโลกมีชีวิตนี้ ได้แสดงออกผ่านงานเขียนในรูปจดหมาย และใช้ภาษาที่เรียบง่าย
ทำให้เราหันกลับมาทบทวนกับความเชื่อ คำอธิบายที่เราได้รับจากโรงเรียน และกระบวนทัศน์แบบยุคสว่าง
สู่การภาวนา และตรวจดูจิตใจภายใน

บทความก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวเนื่อง
1448. โลกตายหรือโลกเป็น: อำนาจของฟิสิกส์กับความดิบงามของธรรมชาติ
1450. Enchanted World: โลกที่มีชีวิตอันชวนพิศวง โลกที่มีวิญญาน

1603. จดหมายถึงวาเนสสา: โลกพิศวงแต่เดิมเป็นอย่างไร?

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๒๑
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ชุดความรู้เที่ยงคืน: แนวคิดทฤษฎีกายา โลกมีชีวิต
เวลาและอากาศสัมบูรณ์ ลางสังหรณ์ และช่วงปัจจุบันขณะ
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : นักแปลและนักวิชาการอิสระ
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

จดหมายฉบับที่ 5
โลกพิศวงอยู่ที่ปัจจุบันขณะ

วาเนสสาลูกรัก
เมื่อวานพ่อเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นิดหน่อย พ่อบอกให้ลูกรู้ว่าเราสูญเสียโลกพิศวงในยุคกลางไปอย่างไร แต่พ่อก็สงสัยว่าลูกจะรู้สึกสับสนบ้างหรือเปล่า เมื่อคิดถึงปรากฏการณ์มหัศจรรย์อื่น ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ให้คำอธิบายตั้งแต่ยุคของนิวตันเป็นต้นมา บางทีการเล่าเรื่องเกี่ยวกับกาลิเลโอ นิวตัน และเดส์คาร์ตอาจทำให้ลูกเริ่มสงสัยว่า "แล้วในโลกของเรายังคงมีพื้นที่ให้กับจิตที่แตกต่างกันอย่างไม่รู้จบ การรับรู้และความรู้สึก หรือวิญญาณที่มีคนพูดและได้สัมผัสบ้างหรือเปล่า? ยังคงมีพื้นที่เหลืออยู่สำหรับภูตผี พระเจ้า เทวดานางฟ้า กามิ ตราลา และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บ้างหรือเปล่า?"

พ่ออยากจะเริ่มจากการเล่าถึงสิ่งที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นกับพ่อเมื่อเช้านี้ พ่อตื่นขึ้นตอนกลางคืน เมื่อคืนพ่อคิดได้ว่าพ่ออาจจะจบจดหมายเมื่อวานซึ่งพาเราเข้าไปสู่กับดักเดิม ซึ่งเป็นกับดักของสังคม โดยลืมไปว่าวิทยาศาสตร์กำลังบอกเล่าเรื่องราวและเชื่อมั่นในเรื่องราว ซึ่งพยายามแยกจิตออกจากจักรวาล พ่อหลับไม่ดีเท่าไรเพราะกังวลว่าทำอย่างไรเราจะไปพ้นจากกับดักนั้น เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้า พ่อยังรู้สึกติดกับดักอยู่

พ่อเดินไปอาบน้ำและระหว่างที่อาบไปครึ่งหนึ่ง ผมยังเปียกชุ่มด้วยแชมพู น้ำก็เปลี่ยนเป็นน้ำเย็นในทันใดโดยไม่มีสัญญาณเตือน พ่อจึงต้องล้างตัวในน้ำเย็น เช็ดตัว ใส่เสื้อผ้าและเตรียมอาหารเช้า ระหว่างที่ทำสิ่งเหล่านี้พ่อครุ่นคิดว่าจะอธิบายว่ายังคงมีพื้นที่สำหรับพระเจ้าหรือพลังแห่งตราลาอยู่ในโลกที่วิทยาศาสตร์สร้างขึ้นมาได้ดีที่สุดได้อย่างไร ในขณะเดียวกันพ่อก็สงสัยว่าเหตุใดน้ำจึงเปลี่ยนเป็นเยือกเย็นเฉพาะตอนเช้าวันนี้

ทันใดนั้นพ่อก็คิดถึงคำว่า "ความบังเอิญ" และพ่อตระหนักว่า "ความบังเอิญ" เป็นคำตอบของทั้งสองคำถาม เป็นการตอบว่าเหตุใดตราลาจึงยังคงอยู่ร่วมในโลกที่เป็นจริงได้ก็คงเป็นเพราะความบังเอิญ ในลักษณะเดียวกันน้ำที่เปลี่ยนเป็นเย็นเฉียบก็คงเป็นเพราะความบังเอิญ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีความหมายบางอย่าง พ่ออยากบอกว่ามันเป็นสัญญาณของตราลาที่บอกกับพ่อว่า คำตอบสำหรับคำถามว่าสิ่งเหล่านั้นจะอยู่ร่วมในโลกได้อย่างไร ก็เป็นเพราะความบังเอิญอย่างมีความหมายนั่นเอง ความบังเอิญเกิดขึ้นในชั่วขณะเฉพาะขณะนี้ และนักวิทยาศาสตร์มักไม่สนใจกับชั่วขณะใดขณะหนึ่ง วิทยาศาสตร์ไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่เป็นชั่วขณะใดขณะหนึ่งในความเป็นจริงได้

พ่อเชื่อว่ามีคำอธิบายในเชิงกายภาพว่าเหตุใดน้ำร้อนจึงหยุดลงในวันนี้ได้ อาจเป็นปัญหาจากระบบท่อก็ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่มีทางบอกได้ว่าเหตุใดปัจจัยต่าง ๆ ในชีวิตพ่อจึงมาบรรจบกันในวันนี้ และทำให้น้ำร้อนหมดลงในชั่วจังหวะตอนเช้านี้ได้ ซึ่งเป็นเช้าที่พ่อจะต้องจดจำความบังเอิญนี้ไว้ ลูกเข้าใจไหม? มันมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เหตุใดประสบการณ์เฉพาะจึงเกิดขึ้น ณ จังหวะที่เฉพาะเจาะจงเช่นนั้น? เรากำลังพูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับเวลา เราเชื่อว่าชีวิตเราดำเนินไปตามเส้นเวลาสากลซึ่งเหมือนกันในทุกแห่งหนสำหรับทุกคนในจักรวาลนี้ ลองใช้เวลาพิจารณา "เวลา" ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตเราเหลือเกิน

ในการเขียนกฎการเคลื่อนที่อันมีชื่อเสียง ซึ่งอธิบายว่าก้อนของสสารเคลื่อนที่ได้อย่างไรเมื่อได้รับแรงผลัก และดาวพระเคราะห์หมุนรอบดวงอาทิตย์ได้อย่างไร นิวตัน (*) ต้องจินตนาการถึงหลักการสองสามอย่าง (**) เขาต้องจินตนาการว่ามีฉากหลังที่คงที่สำหรับการเคลื่อนที่เหล่านั้น เขาต้องบอกได้ว่ามันมีฉากหลังที่ตายตัวและไม่เคลื่อนไหวในทุกแห่งหนในจักรวาล ทั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นการเคลื่อนที่ของสิ่งต่าง ๆ เขาเรียกสิ่งนี้ว่าอากาศสัมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงอากาศที่ว่างเปล่า ไม่เคลื่อนไหวและไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งใด ๆ ในนั้นเลย มันเป็นเหมือนเวทีอันเป็นที่แสดงของจักรวาล และเขาต้องจินตนาการว่ามีเวลาสากลซึ่งตรงกันในทุกที่ในดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ และในสิ่งอื่น ๆ ในจักรวาล แต่เป็นเวลาที่ไม่เชื่อมโยงกับสิ่งใด ๆ ในจักรวาลเลย เขาเรียกสิ่งนี้ว่า เวลาสัมบูรณ์

(*)Sir Isaac Newton, (pronounced 4 January 1643 - 31 March 1727 [OS: 25 December 1642 - 20 March 1726]) was an English physicist, mathematician, astronomer, natural philosopher, alchemist and theologian. His Philosophiae Naturalis Principia Mathematica, published in 1687, is considered to be the most influential book in the history of science. In this work, Newton described universal gravitation and the three laws of motion, laying the groundwork for classical mechanics, which dominated the scientific view of the physical universe for the next three centuries and is the basis for modern engineering. Newton showed that the motions of objects on Earth and of celestial bodies are governed by the same set of natural laws by demonstrating the consistency between Kepler's laws of planetary motion and his theory of gravitation, thus removing the last doubts about heliocentrism and advancing the scientific revolution.

(**)Newton's laws of motion are three physical laws which provide relationships between the forces acting on a body and the motion of the body. They were first compiled by Sir Isaac Newton in his work Philosophiae Naturalis Principia Mathematica, first published on July 5, 1687. The laws form the basis for classical mechanics and Newton himself used them to explain many results concerning the motion of physical objects. In the third volume of the text, Newton showed that these laws of motion, combined with his law of universal gravitation, explained Kepler's laws of planetary motion.

เอาล่ะโปรดจำไว้ว่า นิวตันจินตนาการทั้งอากาศและเวลาขึ้น และเขายังพูดด้วยว่า "มันเป็นแค่สมมติฐาน" แต่คนอื่นก็เริ่มจะเชื่อว่าอากาศสัมบูรณ์และเวลาสัมบูรณ์ของเขาเป็นอากาศที่แท้จริงและเวลาที่แท้จริงของโลกที่แท้จริงที่เราอาศัยอยู่จริง และอากาศสัมบูรณ์และเวลาสัมบูรณ์นี่เองเป็นสิ่งที่เรานำติดตัวไปด้วยในทุกที่โดยไม่รู้ตัว และเรามีประสบการณ์ต่อโลกโดยผ่านเวลาและอากาศเช่นนั้น เช่นเดียวกับการติดยึดกับเส้นทัศนมิติ (perspective) ที่เราใช้มองโลก แบบที่พ่อชี้ให้ลูกเห็นในจดหมายฉบับที่หนึ่ง อากาศและเวลาสัมบูรณ์ก็เหมือนกับเวทีที่พวกเรา (และนักวิทยาศาสตร์) อย่างเช่น นิวตัน จินตนาการถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก บนเวทีนี้ ในกล่องอากาศ-เวลาอันว่างเปล่า นักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ยุคของนิวตันเป็นต้นมา ได้ใช้เป็นสถานที่เพื่อจินตนาการและสร้างโลกจำลองของตนขึ้นมา และพวกเขาโน้มน้าวให้เราเชื่อว่ามันเป็นโลกของประสบการณ์ที่แท้จริงของเรา

เราพูด เราคิดและจัดการชีวิตราวกับมีเวลาสัมบูรณ์ที่แท้จริง นักวิทยาศาสตร์พยายามสร้างแบบจำลองโลกขึ้นมา ราวกับว่าเวลาไม่มีส่วนสัมพันธ์ใด ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก เราเรียนรู้ที่จะเชื่อว่าเวลาสัมบูรณ์อันแท้จริงนี้เลื่อนไหลไปตามเส้น ๆ เดียว ไม่มีวงจรหวนกลับ ไม่มีการแบ่งสาขา ไม่มีการไหลเป็นวงโคจร เป็นเพียงเวลาที่ไหลจากอดีตอันเป็นอนันตกาลสู่อนาคตอันเป็นอนันตกาล และชีวิตเราก็เป็นแสงแค่แวบเดียวในเวลานั้น เรามักไม่ค่อยคิดถึงเรื่องนี้เพราะมันทำให้เราเกิดความกังวล แต่อันที่จริงชีวิตของเราถูกครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จภายใต้แนวคิดของเวลาสัมบูรณ์และเป็นภววิสัย ซึ่งมีลักษณะเดียวกันสำหรับทุกคน มีลักษณะเดียวกันทั่วสากลจักรวาล

เวลาเคลื่อนที่ไปโดยไม่ต้องมีเรา และยังคงเคลื่อนที่ไปหลังจากเราตายไปแล้ว เวลากลายเป็นฉากหลังของทุกสิ่งที่เราทำ ทุกขณะของชีวิต เป็นเหมือนกล่องว่างเปล่าที่เราพยายามปรับชีวิตให้ใส่เข้าไปในกล่องได้ เราจินตนาการถึงเวลาเหมือนกับเส้นบรรทัดบนกระดาษ เราแบ่งเวลาออกเป็นปี เดือน วัน ชั่วโมง นาที วินาที และเข็มวินาทีจะเคลื่อนทีละน้อยและเวลาของเรากำลังหมดลงไปเรื่อย ๆ พวกเราบางคนจึงพยายามเร่งรีบและทำอะไรให้ได้มากที่สุดในเวลาที่มีอยู่ สิ่งที่เรายัดเข้าไปในเวลาเป็นความทรงจำและความคิดและภาพลักษณ์ของชีวิตเรา

เราไม่มีประสบการณ์กับสิ่งที่เราทำเหมือนที่เราทำมัน เราไม่รู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตในแต่ละขณะและคุณภาพของชีวิตในขณะนั้น ๆ ในตอนเย็นของแต่ละวัน หรือในช่วงปลายปี เราเอาแต่เฝ้ามองย้อนหลังและคำนวณว่าเราได้ "ทำ" สิ่งใดบ้างเพื่อเติมเต็มชีวิต และเป็นการพิสูจน์ว่าเราประสบความสำเร็จแค่ไหน ตอนที่พ่อยังเป็นเด็ก เวลาที่เราทำอะไรสนุก ๆ แม่มักจะบอกว่า "นี่คงเป็นสิ่งที่น่าจดจำใช่ไหมล่ะลูก" และเราก็ตื่นเต้นมากขึ้นและพยายามที่จะยัดเยียดประสบการณ์ต่าง ๆ เข้าไปในความทรงจำของเราโดยไม่ได้มีประสบการณ์กับมันอย่างจริงจัง ทำให้เกิดสภาพที่น่าเศร้าและกดดัน

แต่อันที่จริงมันไม่มีเวลาสัมบูรณ์ที่อยู่นอกเหนือปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลง วิทยาศาสตร์แขนงใดก็ตามไม่มีหลักฐานยืนยันได้เลยว่า เวลาที่เป็นเส้นตรง เวลาสากลหรือเวลาที่เป็นภววิสัยนั้นมีอยู่จริง มันเป็นแค่ข้อสันนิษฐานของวิทยาศาสตร์ว่าเวลามีอยู่จริง และเราก็เชื่อในสิ่งนั้น และปล่อยให้เวลาเป็นตัวขับเคลื่อนชีวิต... บ่อยครั้งจนถึงขั้นที่เราเกือบจะเป็นบ้า เรามักคิดว่าเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากเวลาได้

หากลูกเพ่งพินิจชั่วขณะที่เปลี่ยนแปลงไปในประสบการณ์ของตนเอง ลูกจะพบว่ามันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเวลานอกจากการเปลี่ยนแปลงนั่นหรอก เวลาไม่ใช่สิ่งที่แยกขาดจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เรามักจะวัดเวลาโดยการมองที่นาฬิกา และการมองตัวเลขที่เปลี่ยนไป หรือการมองเข็มนาฬิกาที่เคลื่อนไปบนหน้าปัด นักวิทยาศาสตร์อาจพึ่งพานาฬิกาปรมาณู แต่การวัดเวลาเช่นนั้นก็ยังต้องพึ่งพาอยู่กับบางสิ่งที่เปลี่ยนแปลง

มีปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่ส่งผลกระทบต่อปัจจุบันขณะ มันอาจจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลซึ่งออกมาจากเส้นเวลาสัมบูรณ์ที่ตรงและแคบ ซึ่งอันที่จริงก็เป็นเพียงสิ่งที่จินตนาการขึ้น เป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ และมีปรากฏการณ์ที่แสดงสิ่งตรงข้ามกับทัศนะอันคับแคบเกี่ยวกับเวลา หนึ่งในปรากฏการณ์เหล่านี้คือ ความบังเอิญอย่างมีความหมาย และอีกอย่างหนึ่งคือลางสังหรณ์ ตามแนวคิดของลางสังหรณ์ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อปัจจุบันขณะรวมไปถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

แม้ว่าลางสังหรณ์จะเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมากในแวดวงวิทยาศาสตร์แบบดั้งเดิม แต่ในปัจจุบันก็มีการศึกษาอย่างเป็นระบบในเชิงวิทยาศาสตร์ถึงลางสังหรณ์ ในจดหมายฉบับต่อไปพ่อจะเล่าให้ลูกฟังถึงการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ลางสังหรณ์ พ่ออยากบอกลูกตรงนี้ว่าเมื่อปี 1989 นักสถิติบางคนได้รวบรวมผลการทดลองทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับลางสังหรณ์ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา (ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการอภิวิเคราะห์) พวกเขาได้อ่านงานศึกษา 309 ชิ้นที่เป็นผลงานของนักวิจัยที่แตกต่างกัน 62 คน ซึ่งเป็นการทดลองที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 50,000 คน สำหรับการทดลองเกือบ 2 ล้านครั้ง สำหรับคำถามว่า "ลางสังหรณ์เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้หรือไม่?" คำตอบค่อนมาในทางใช่ ผลการทดลองที่แตกต่างออกไปมีโอกาสเกิดขึ้นในสัดส่วนประมาณ 1 ใน 1024 (1 ตามด้วยเลข 0 24 ตัว)

แต่ในตอนนี้ ลองมาดูเรื่องเล่าเกี่ยวกับลางสังหรณ์บางเรื่อง
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1966 กองถ่านหินได้ไหลลงจากภูเขาเข้าสู่เมืองถ่านหินอาเบอร์ฟัน ในแคว้นเวลส์ และกลบฝังโรงเรียนทั้งหลัง ทำให้เด็ก 128 คน และผู้ใหญ่ 16 คนเสียชีวิต ในตอนเย็นของวันที่ 20 ตุลาคม ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าตนเองเกิดฝันร้าย และเธอได้เล่าความฝันให้กับคนอื่นอีก 6 คนฟัง "ครั้งแรกดิฉันเห็นโรงเรียนเก่า ๆ หลังหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขา จากนั้นก็เห็นคนงานเหมืองชาวเวลส์ จากนั้นก็มีก้อนถ่านหินขนาดใหญ่ที่ไหลกลิ้งลงมาจากภูเขา..." ความฝันนี้เกิดขึ้นในสถานที่ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองอาเบอร์ฟัน 200 ไมล์

ส่วนอีกคนหนึ่งบอกกับเพื่อนเขาสองคน 7 วันก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรมว่า "ผมมีความฝันน่ากลัวและชัดเจนถึงโศกนาฏกรรมที่จะเกิดขึ้นกับหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เหมืองถ่านหิน มันเป็นหุบเขาที่มีอาคารขนาดใหญ่เต็มไปด้วยเด็ก ๆ กองถ่านหินและน้ำกำลังไหลลงอย่างรวดเร็วไปสู่หุบเขาและกลบฝังอาคารหลังนั้น เสียงร้องของเด็ก ๆ ดังกังวานจนผมต้องร้องออกมาด้วย" มีรายงานที่ได้รับการบันทึกอย่างน้อยอีกสองฉบับที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน ซึ่งจัดทำขึ้นก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรม ที่น่าสงสารที่สุดคือกรณีของแม่ซึ่งมีลูกสาวเล็ก ๆ ซึ่งบอกกับเธอในช่วงเช้าวันนั้นว่า เธอฝันว่าเธออยู่ที่โรงเรียนและทันใดนั้นมันก็เปลี่ยนเป็นสีดำทะมึน ลูกสาวขอแม่ว่าไม่อยากไปโรงเรียน แต่แม่ไม่ยอมฟัง

ในช่วงทศวรรษ 1960 จีบี พริสต์ลี (G.B.Priestley) กวีและผู้เขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษประกาศในรายการโทรทัศน์ของบีบีซีว่า เขากำลังศึกษาประสบการณ์แปลกประหลาดที่เกี่ยวเนื่องกับเวลา เขาขอให้ผู้ชมเขียนจดหมายมาหาเขา และเขาได้รับจดหมายหลายพันฉบับ เขาได้ให้คณะผู้ศึกษาที่ผ่านการอบรมและ (แน่นอนว่า) มีข้อกังขาต่อการทดลองนี้ มาทำหน้าที่คัดแยกจดหมายที่เล่าเรื่องโกหกและเรื่องที่ไม่เป็นจริงหรือเรื่องที่อธิบายได้แบบทั่วไปออกไป ที่เหลือเป็นรายงานที่ไม่สามารถแยกออกไปได้ และเขาได้รวบรวมเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า Man and Time

ในจดหมายฉบับหนึ่งที่มาถึงพริสต์ลีเป็นเรื่องของพลอากาศโทเซอร์ วิคเตอร์ กอดดาด (Victor Goddard) ซึ่งในระหว่างที่บินอยู่เหนือสายหมอกและสายฝนในแคว้นสก็อตแลนด์เมื่อปี 1934 และกำลังหลงทาง ที่ตรงหน้า เขาเห็นเหมือนกับเป็นสนามบินเดร็มที่อยู่เบื้องล่าง แต่ภาพที่เห็นแทนที่จะเป็นโรงเก็บเครื่องบินเก่า ๆ ที่ไม่ได้ใช้แล้วที่อยู่ท่ามกลางท้องทุ่งซึ่งเป็นภาพของสนามบินในตอนนั้น ภาพของสนามบินที่เขาเห็นกลับอยู่ในช่วงที่มีการปรับปรุง มีเครื่องยนต์กลไกสีน้ำเงินล้วนสลับกับเครื่องบินสีเหลืองสี่ลำ อีกสี่ปีต่อมา รายละเอียดจากคำบอกเล่าของกอดดาดก็เป็นจริงขึ้นมา มีการสร้างสนามบินขึ้นมาใหม่ เครื่องบินสำหรับฝึกบินก็ทาด้วยสีเหลือง (แทนที่จะเป็นสีเงินเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา) และมีการทาสีน้ำเงินล้วนสำหรับเครื่องจักรกลที่ใช้ในสนามบิน ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นมาตรฐานในวงการบิน

คนทั่วไปจำนวนมากมีลางสังหรณ์แบบเดียวกับนายพลอากาศท่านนี้ แต่พวกเขาไม่มีวิธีที่จะบอกเล่าเรื่องราวนั้นให้สอดคล้องกับโลกที่พวกเขาเชื่อมั่น พวกเขาจึงเพิกเฉยต่อลางสังหรณ์นั้นหรือเก็บงำไว้ตามลำพัง กลัวว่าถ้าบอกออกไปจะถูกด่าว่าโง่ ถ้าพวกเขามีโอกาสบอกเล่าเรื่องเช่นนี้ให้กับกลุ่มคนอื่น พวกเขาอาจรู้สึกโล่งใจก็ได้ พวกเขาอาจจะเริ่มพรรณนาถึงเรื่องราวเหล่านี้ที่พวกเขาไม่เคยบอกให้คนอื่นทราบมาก่อน ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่มีความหมายและสำคัญอย่างมากสำหรับชีวิตเขา นักจิตเวชรับฟังเรื่องราวของลางสังหรณ์ในช่วงที่ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา ซึ่งคงเป็นช่วงที่เรามีความกลัวน้อยลงที่จะถูกมองว่าโง่ และพร้อมจะพูดถึงความฝันและนิมิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สิ่งที่ทำให้เรื่องเล่าเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือก็เพราะ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่น มันอาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และเราไม่สามารถกุมันขึ้นมาได้ และมักเป็นเรื่องที่ไม่มีความสำคัญโดยเฉพาะ สิ่งที่เรื่องราวเหล่านี้บอกกับเราก็คือ เราต้องปลดปล่อยความรู้สึกที่ว่า เวลาอยู่นอกเหนือตัวเราออกไป เราต้องปลดปล่อยความรู้สึกที่ว่าเส้นเวลามีความสัมบูรณ์ เป็นเพียงกล่องอันเป็นภววิสัยที่ครอบประสบการณ์ของเราไว้

นักวิทยาศาสตร์สร้างภาพของโลกที่มีเวลาเป็นฉากหลังตลอดมา โลกที่พวกเขาพูดถึงไม่ใช่โลกที่แท้จริงของปัจจุบันขณะนี้ แต่เป็นโลกสามัญของหญิงและชายสามัญ สุนัขสามัญ ต้นไม้สามัญ การกระทำสามัญ ทั้งนี้เพื่อปรับให้มันเข้ากับกฎสามัญให้ได้ ซึ่งไม่ใช่กฎที่จะนำมาใช้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเฉพาะ อย่างเช่น เวลา 1.23 นาฬิกาในตอนบ่าย วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม ปี 1996 เป็นต้น

ลูกอาจสังเกตว่าในตอนนี้มีแฟชั่นใหม่ที่ใช้โฆษณาในทีวี แทนที่จะใช้ภาพจริง พวกเขากลับใช้ภาพที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์แทน อย่างเช่น ตัวอย่างของบริษัทสร้างบ้าน แทนที่จะแสดงภาพของคนจริง ๆ ที่ขับรถเข้าไปในบ้านจริง ๆ พวกเขากลับใช้ภาพจำลองจากคอมพิวเตอร์แทน หรือโฆษณารถยนต์ที่ใช้ภาพจำลองรถยนต์จากคอมพิวเตอร์ และขับอยู่บนถนนที่จำลองขึ้นมา ตอนที่พ่อเห็นโฆษณานี้ครั้งแรก พ่อพบว่ามันให้ผลลัพธ์ที่แปลกประหลาด

ภาพจำลองจากคอมพิวเตอร์ดูเหมือนจะกระทบกับใจเรามากกว่าภาพจริง ภาพจำลองของบ้านและรถ หรือคนจากคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่ดูเหนือจริง เป็นสิ่งที่ดูจริงกว่าสิ่งของจริง ๆ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? พ่อคิดว่าเป็นเพราะมันเป็นภาพในอุดมคติ เพราะบ้านจริง ๆ อาจมีสีที่ทาไม่เท่ากัน มีหลังคาที่ขรุขระบ้างเล็กน้อยและอื่น ๆ แต่บ้านจำลองที่สร้างจากคอมพิวเตอร์มีความสมบูรณ์แบบอย่างในอุดมคติ มันจึงกระทบใจเรามากกว่าเพราะว่ามันเป็นเหมือนแนวคิดที่เราพกติดตัวตลอดเวลาเกี่ยวกับบ้านหรือรถ ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับบ้านหรือรถนี้เป็นสิ่งที่เหมือนจริงมากกว่าบ้านหรือรถจริง ๆ ที่เรามี มันเป็นเหมือนโลกที่วิทยาศาสตร์สร้างขึ้นมา

นักวิทยาศาสตร์กำลังสร้างเรื่องราวของโลกในอุดมคติ โลกในจินตนาการ โลกสามัญ พวกเขากำลังพัฒนากฎสามัญเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ดำเนินไปอย่างสามัญ และดูเหมือนว่ามันจะมีความเป็นจริงมากกว่าโลกที่เราสัมผัสได้จริง ๆ แต่มันก็ยังคงเป็นโลกเทียม ๆ เป็นโลกที่จำลองขึ้นมาจากคอมพิวเตอร์ เป็นโลกที่ไม่มีปัจจุบันขณะ มันไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งต่าง ๆ จะมีพฤติกรรมอย่างไร ณ ปัจจุบันขณะนั้น ในโลกจำลองซึ่งนักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นมา ลูกรู้ได้ว่าถ้าเมฆมารวมตัวกัน มีแนวโน้มมากว่าจะเกิดฝน แต่ลูกไม่มีทางรู้อย่างชัดเจนว่ามันจะเริ่มตกเมื่อไร ลูกรู้ว่าน้ำที่ออกจากฝักบัวอาจจะเปลี่ยนเป็นเย็นเฉียบวันใดวันหนึ่ง แต่ลูกไม่มีทางรู้ว่ามันจะเป็นวันไหนกันแน่ ลูกรู้ว่าลูกจะต้องตกหลุมรักใครบางคน แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถบอกลูกได้ และคงไม่สามารถบอกลูกได้อย่างแน่นอนว่าจะเป็นตอนไหน

ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 1987 เมื่อท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเจ (*) อาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ทางพุทธศาสนาสายทิเบตซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสำนักสัมพลเสียชีวิตลงที่เมืองฮาลีแฟก ในแคว้นโนวาสโกเชียร์ ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้าและหลังการเสียชีวิต ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่หลายสิบก้อนซึ่งมีความยาวหลายสิบฟุต และก้อนน้ำแข็งขนาดเล็กได้ลอยเข้ามาสู่ท่าเรือในเมืองฮาลีแฟก ก้อนน้ำแข็งเหล่านี้ปิดกั้นท่าเรือทำให้การขนส่งทางเรือต้องหยุดชะงัก ท่าเรือฮาลีแฟกไม่ใช่ท่าเรือขนาดเล็ก แต่เป็นท่าเรือธรรมชาติขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เหตุการณ์ครั้งนี้จึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมดา เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเท่าที่คนยังจำได้ และไม่เคยเกิดขึ้นมาในช่วงสิบปีก่อนหน้าเลย แล้วเหตุใดก้อนน้ำแข็งเหล่านั้นจึงเกิดขึ้นในชั่วขณะที่อาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่กำลังเสียชีวิต ท่านเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการสถาปนาพุทธศาสนาขึ้นในโลกตะวันตก และโดยเฉพาะในโนวาสโกเชียร์? มันเป็นแค่เหตุบังเอิญหรือ? หรือมันเป็นความบังเอิญอย่างมีความหมาย?

(*) ท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเจ ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านพุทธศาสนาสายทิเบต ท่านได้ลี้ภัยจากทิเบตเมื่อปลายทศวรรษ 1950 เพื่อไปยังประเทศอังกฤษและศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ท่านสามารถศึกษาจนพูดภาษาอังกฤษได้แตกฉานและเริ่มเผยแพร่พุทธธรรมต่อศรัทธาในประเทศอังกฤษ ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ท่านพบว่าผ้าจีวรที่นุ่งห่มเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างความประหลาดใจและเบี่ยงเบนความสนในของผู้ฟังจากหลักธรรมอันเรียบง่ายของพุทธศาสนา ท่านจึงเปลี่ยนจากการนุ่งห่มจีวรเป็นเสื้อผ้าแบบทั่วไปของชาวตะวันตกและได้แต่งงานกับสตรีชาวอังกฤษ

ไม่กี่สิบปีก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ยังงมงายอยู่กับความเชื่อที่ว่าไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ขนาดเล็กเพียงใดก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่พยากรณ์ได้ทั้งสิ้น จากความสำเร็จของกฎนิวตันในการพยากรณ์ตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ ทำให้พวกเขาเชื่อว่า ไม่ช้าไม่นานพวกเขาจะสามารถพยากรณ์สิ่งต่าง ๆ ที่มีขนาดเล็กได้ทุกอย่าง และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากในทุกวันนี้ก็ยังมีความอหังการและมีความเชื่ออย่างงมงายเช่นนั้น "ก็แค่เรายังไม่รู้เท่านั้นแหละ..." พวกเขาบอกและมักจะเน้นคำว่า "ยัง"

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งศึกษาระบบที่ซับซ้อนอย่างเช่น สภาพภูมิอากาศและตระหนักว่า ระบบดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่อาจพยากรณ์ได้แม้แต่ในทางทฤษฎี ระบบที่มีความซับซ้อนอย่างเช่น แบบแผนของภูมิอากาศทั่วโลก เป็นสิ่งที่เปราะบางมาก การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในที่ใดที่หนึ่งอาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางในที่อื่น พวกเขาเรียกกระบวนการนี้ว่า"ปรากฏการณ์ผีเสื้อขยับปีก" ตามชื่อที่ตั้งโดยผู้ค้นพบ ซึ่งเสนอว่าเหตุการณ์แม้จะเล็ก ๆ อย่างเช่น การขยับปีกของผีเสื้อในอเมริกาใต้ ในทางทฤษฏีแล้วก็อาจก่อให้เกิดพายุเฮอร์ริเคนในแอตแลนติกเหนือได้ ที่เล่ามาเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของเรื่อง แต่ในความเป็นจริงมีปัจจัยต่าง ๆ มากมายทั้งเล็กและใหญ่ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดพายุเฮอร์ริเคนขึ้น เราคงไม่อาจสรุปได้ว่ามันเกิดขึ้นเพราะการกระพือปีกของผีเสื้อเพียงอย่างเดียว แต่หลักการนี้ยังเป็นความจริง เหตุการณ์เล็ก ๆ อาจมีผลอันยิ่งใหญ่ต่อระบบที่ใหญ่กว่านั้น อย่างเช่น สภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเหตุให้ระบบนั้นไม่อาจพยากรณ์ได้แม้ในทางทฤษฎี

โลกจริงที่เราอาศัยอยู่ไม่ได้ดำเนินไปตามหลักเหตุ-ปัจจัยที่เป็นเส้นตรง แบบที่บรรดานักวิทยาศาสตร์อยากให้เป็น มีปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เกิดสถานการณ์จริงขึ้นมา และการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ณ ที่ใดที่หนึ่งในจักรวาล อาจมีผลกระทบมหาศาลต่อที่ซึ่งอยู่ไกลออกไป. ลองดูตัวอย่างจากคำพูดของดอน โฮเซ มัตซูวา (don Jose Matsuwa) ผู้เฒ่าและหมอผีประจำเผ่า Huichol ซึ่งได้พูดเมื่อครั้งที่เขามาเยือนรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นครั้งที่สองว่า

(*) Don Jose Matsuwa is the renowned Huichol shaman from Mexico who passed away in 1990 at the age of 110. He was a farmer, healer, and master ceremonial leader, and a revered and respected elder throughout the Huichol Sierra. He dedicated his whole life to completing the sacred path of the shaman and it is his life and vision that are the inspirations for the Dance of the Deer Foundation. Before he died he left Brant Secunda this message: "I leave you in my place. Tell your people to pray and follow the deer all the way to their hearts."

"ครั้งก่อนที่ข้าได้มาในแผ่นดินของท่าน เราได้จัดพิธีกรรม ข้าได้สวดจากหัวใจ หลังจากพิธีนั้น เกิดฝนห่าใหญ่ ใช่แล้วเราได้ชำระตัวเราที่มหาสมุทรในตอนเช้า หลังจากเฉลิมฉลองตลอดทั้งคืน เมื่อเมฆมารวมตัว และไม่กี่ชั่วโมงก็ปรากฏเป็นห่าฝนลงมา ท่านควรจะบอกข้าก่อนหน้านี้ว่ามีปัญหาเช่นนี้ ข้าคงจะมาก่อนเพื่อทำพิธีปัดเป่าและคลี่คลายสถานการณ์นั้น"

คำพูดเช่นนี้ขัดแย้งกับกฎของวิทยาศาสตร์หรือไม่? ไม่เลย! เพราะเป็นคำพูดที่เกี่ยวกับชั่วขณะนั้น ขณะปัจจุบัน นักอุตินิยมวิทยาอาจให้หลักการกว้าง ๆ เกี่ยวกับอากาศและความน่าจะเป็นที่จะมีผลในแต่ละวัน แต่พวกเขาไม่มีทางระบุอย่างชัดเจนว่าฝนจะเกิดขึ้นในช่วงใด และถ้าการสั่นกระพือเล็ก ๆ ในบราซิลสามารถเปลี่ยนสภาพอากาศในมหาสมุทรแอตแลนติกได้ ไม่มีเหตุผลเลยว่าเหตุใดพิธีกรรมอันเป็นภูมิปัญญาจากหลายชั่วคน จะไม่สามารถนำสายฝนมาสู่แคลิฟอร์เนียได้

เพื่อสัมผัสกับความพิศวงในแต่ละขณะของชีวิต เราต้องสามารถสัมผัสโดยตรงกับปัจจุบันขณะได้ และชั่วขณะนั้นต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา โดยเราต้องเชื่อมโยงกายและจิตเข้าด้วยกัน เมื่อเราสามารถสัมผัสกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในได้ ประสบการณ์การรับรู้ของเราจะเต็มเปี่ยมและลึกซึ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สูญเสียไปเป็นเวลาหลายชั่วคนแล้ว. เมื่อเราไม่พยายามบีบประสบการณ์ของเราให้กลายเป็นเพียงท่อของเวลาที่เป็นเส้นตรง คับแคบและเป็นภววิสัย เราจะเริ่มทำความรู้สึกกับจังหวะอันไพศาล ความซับซ้อนของแบบแผนประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของเรา เราจะเริ่มทำความรู้สึกกับเวลาแท้จริงที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตซึ่งมีจังหวะ มีคุณภาพ และสัมผัสได้ แม้ในช่วงที่ขาดหรือเป็นช่องว่างของเวลา ในช่องว่างระหว่างชั่วขณะ สิ่งต่าง ๆ อาจรวมกัน บรรจบเข้าหากัน ในลักษณะที่ดูลึกลับ มันเป็นความบังเอิญ แต่ก็มีความหมายต่อเรา และถ้าเราให้ความใส่ใจกับสิ่งนั้น มันจะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตกตะลึงและทำให้เราตื่นขึ้น

ทุกขณะของชีวิตเป็นความบังเอิญ (coincidence) ซึ่งโดยนัยยะหมายถึง "การอยู่ร่วมกัน" "co" หมายถึง "ร่วมกัน" และ incidence มาจากคำละตินที่แปลว่า "ตก" (fall) สิ่งต่าง ๆ มาบรรจบกัน ณ ชั่วขณะหนึ่ง แต่วิทยาศาสตร์ไม่มีทางและไม่สามารถบอกเราได้อย่างแน่ชัดว่าอะไรบ้างที่จะมาบรรจบกันในขณะนั้น ๆ ในปัจจุบันขณะ และจุดนี้เองเป็นจุดที่ความรู้สึก พระเจ้าหรือพลังตราลากำธรต่อกัน เฉพาะในปัจจุบันขณะ

สิ่งใดก็ตามที่ทำให้เกิดช่องว่างในประสบการณ์ของลูก ช่วยหยุดและนำลูกมาสู่ปัจจุบันขณะ จะช่วยเปิดหัวใจของลูกเพื่อให้ได้ยินและรู้สึกถึงบทเพลงแห่งตราลา และบทเพลงนั้นมักขับขานโดยท่วงทำนองที่เป็นความบังเอิญอย่างมีความหมาย พ่อจะเขียนเกี่ยวกับความบังเอิญอย่างมีความหมายในจดหมายถัดไป แต่ในตอนนี้พ่ออยากให้ลูกพยายามสังเกตถึงความบังเอิญที่กำลังจะเกิดขึ้น ในระหว่างที่ลูกทำหน้าที่ตามปรกติแต่ละวัน ลูกอาจประหลาดใจกับการค้นพบบางสิ่งที่โผล่พ้นจากช่องว่างของเวลาอันเป็นเส้นตรงออกมาเป็นช่วง ๆ ความบังเอิญเช่นนั้นอาจมีส่วนเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกได้ ความบังเอิญเช่นนั้นอาจนำมาซึ่งรอยยิ้ม และบ่อยครั้งมันช่วยให้ลูกรู้ว่าควรจะตัดสินใจไปทางใด ซึ่งมักจะนำสิ่งที่เป็นความหมายและความพิศวงมาสู่ชีวิตลูก ถ้าลูกไม่มองข้ามมันว่าเป็นแค่ "ความบังเอิญเท่านั้นเอง" เพราะการเข้าใจความบังเอิญเช่นนั้น จะทำให้ลูกสามารถเชื่อมโยงกับโลกที่มีชีวิตได้
10

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกไปอ่านบทความเกี่ยวเนื่องก่อนหน้านี้

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑ : Release date 27 July 2008 : Copyleft by MNU.

กฎการเคลื่อนที่อันมีชื่อเสียง ซึ่งอธิบายว่าก้อนของสสารเคลื่อนที่ได้อย่างไร และดาวพระเคราะห์หมุนรอบดวงอาทิตย์ได้อย่างไร นิวตัน ต้องจินตนาการถึงหลักการสองสามอย่าง เขาต้องจินตนาการว่ามีฉากหลังที่คงที่สำหรับการเคลื่อนที่เหล่านั้น เขาต้องบอกได้ว่ามันมีฉากหลังที่ตายตัว และไม่เคลื่อนไหวในทุกแห่งหนในจักรวาล ทั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นการเคลื่อนที่ของสิ่งต่าง ๆ เขาเรียกสิ่งนี้ว่าอากาศสัมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงอากาศที่ว่างเปล่า ไม่เคลื่อนไหวและไม่มีปฏิสัม พันธ์กับสิ่งใดๆ ในนั้นเลย มันเป็นเหมือนดั่งเวทีอันเป็นที่แสดงของจักรวาล และเขาต้องจินตนาการว่ามีเวลาสากลซึ่งตรงกันในทุกที่ในดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ และในสิ่งอื่น ๆ ในจักรวาล แต่เป็นเวลาที่ไม่เชื่อมโยงกับสิ่งใด ๆ ในจักรวาลเลย เขาเรียกสิ่งนี้ว่า เวลา

H