ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




09-07-2551 (1608)

การสืบทอดและการปรับเปลี่ยนความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
แนวคิดเกี่ยวกับ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ของ หลวงวิจิตรวาทการ
(๒)
รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทวิจัยนี้นำมาจากบทที่ ๗ เรื่อง
การสืบทอดและการปรับเปลี่ยนความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
โดยปัญญาชนภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475: หลวงวิจิตรวาทการ
(เนื่องจากต้นฉบับมีความยาว ๓๘ หน้า จึงได้แบ่งเสนอออกเป็น ๒ ตอน)

สรุปความ: นับว่าหลวงวิจิตรวาทการเป็นปัญญาชนที่มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยน
ความหมายของ "ความเป็นไทย" เพื่อตอบสนองปัญหาและความจำเป็นของระบอบ
การเมืองการปกครองใหม่ในช่วงหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ แต่ความเปลี่ยนแปลง
ทางการเมืองภายในประเทศที่ฝ่าย "กษัตริย์นิยม" มีอำนาจและอิทธิพลสูงขึ้น
กับความเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศในยุคสงครามเย็น ก็ทำให้หลวงวิจิตรวาทการ
กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ความหมายของ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการ
สถาปนาขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมามีพลังสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จนหล่อหลอม
วิธีคิดกระแสหลักเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทยสืบมา

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๐๘
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๐๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



การสืบทอดและการปรับเปลี่ยนความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
แนวคิดเกี่ยวกับ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ของ หลวงวิจิตรวาทการ
(๒)
รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

3. การกีดกัน "ลูกจีน" มิให้มีอำนาจทางการเมือง
การเน้น "ชาติไทย" ในแง่ "เชื้อชาติ" มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะต้านทานการขยายอำนาจทางการเมืองของ "ลูกจีน" อยู่มากทีเดียว เพราะมีลูกจีนได้รับการศึกษาแผนใหม่จากโรงเรียนฝรั่งจำนวนมาก และหลายคนทำการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น เสนอความคิดเห็นทางการเมืองตามหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

ความพยายามของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่จะให้หลวงวิจิตรวาทการดำเนินการต่อต้านจีน เกิดขึ้นตั้งแต่จอมพล ป. เริ่มมีอำนาจมากขึ้นภายหลังการรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ซึ่งจอมพล ป. เป็นผู้นำในการยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ต่อมาในเดือนกันยายน 2476 หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ได้ตีพิมพ์ข่าวจอมพล ป. มอบหมายให้หลวงวิจิตรวาทการแต่ง "เพลงชาติ" เพื่อใช้อย่างเป็นทางการแทน "เพลงชาติ" ของขุนวิจิตรมาตราซึ่งแพร่หลายอยู่ในเวลานั้น โดยต้องการให้เป็น "เพลงชาติ" ที่เน้นความเป็นศัตรูของจีน (*)

(*) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา" ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547). หน้า 87.

ผู้แทนราษฎรชั่วคราวที่ได้รับแต่งตั้งในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 มีลูกจีน 3 คนซึ่งมีบทบาททางการเมืองอย่างกระตือรือร้น คือนายมังกร สามเสน, นายมานิต วสุวัติ, และนายซุ่นใช้ คูตระกูล (*) บรรยากาศของประเทศในเวลานั้น มีการเคลื่อนไหวของหลายฝ่ายที่จะให้รัฐบาลเห็นว่า "ประเทศชาติไม่ได้เจริญด้วยรู้ราชการหรือรู้กฎหมายอย่างเดียว จุดสำคัญอยู่ที่การกสิกรรมและพาณิชยกรรมต่างหาก" (**) ดังนั้น ลูกจีนที่มีความรู้ในทางเศรษฐกิจหรือมีความเอาใจใส่ในปัญหา "การกสิกรรมและพาณิชยกรรม" ของคนในประเทศ ย่อมจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ระบอบการเมืองที่มีการเลือกตั้งจะเป็นช่องทางสำคัญที่เปิดโอกาสให้ "ลูกจีน" จำนวนมากสามารถก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองระดับชาติ ดังนั้น นักการเมืองที่เฉลียวฉลาดอย่างจอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการ ย่อมเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อกีดกันลูกจีนเหล่านี้ออกไปจากพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งการปลุกระดมความรู้สึกชาตินิยมแบบที่เน้นเรื่อง "เชื้อชาติ" จะตอบสนองปัญหาทางการเมืองในข้อนี้ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการได้เป็นอย่างดี

(*)นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 21 ฉบับที่ 3 (2542) หน้า 29.

(**)หอม นิลรัตน์ "นักการเมืองมีมากเท่าขนวัว แต่รัฐบุรุษเสมือนเขาวัวเท่านั้น" สยามหนุ่ม 30-31 ตุลาคม 2475. อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับโครงการ 60 ปีประชาธิปไตย, 2535. หน้า 227.

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาหนึ่งที่หลวงวิจิตรวาทการยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "ไทย" ก็คือการที่รัฐธรรมนูญระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของ "ปวงชนชาวสยาม" ซึ่งคำว่า "ชาวสยาม" นี้ "ย่อมจะหมายความไม่เฉะเพาะแต่ชาติไทย ต้องหมายความถึงชนชาติอื่น ๆ ที่เป็นชาวสยามด้วย" ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงวินิจฉัยว่า "ลูกจีน" ที่เกิดในประเทศสยาม ย่อมเป็นชาวสยาม "เด็กเหล่ากำเนิดจีนเหล่านี้ จะต้องเรียนประถมศึกษาให้เป็นที่พอใจแก่รัฐบาล เพราะในฐานที่เป็นชาวสยามเด็กเหล่านี้จะมีสิทธิการเมืองในประเทศสยาม" (*) และหลวงวิจิตรวาทการยังชี้ให้เห็นด้วยว่า การที่กฎหมายเลือกตั้ง "จำกัดให้ฉะเพาะชนชาติไทยนั้น...ขัดกับรัฐธรรมนูญ" (**) ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการวิเคราะห์ปัญหาที่แสดงถึงความกังวลใจเป็นอย่างมากในเรื่องที่ลูกจีนจะเข้ามามีอำนาจทางการเมือง เพราะกลุ่ม "ลูกจีน" ซึ่งเกิดในประเทศสยามจะสามารถใช้สิทธิทางการเมืองในฐานะที่เป็น "ชาวสยาม" และมีสัญชาติไทย นับเป็นความหวั่นเกรงที่มาจากผลประโยชน์ทางการเมืองโดยแท้ มิใช่มาจากอคติทางเชื้อชาติแต่อย่างใด (***)

(*) พลตรี กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, "ประชาชาติกับมนุษยธรรม" ใน ชุมนุมพระนิพนธ์ของท่านวรรณฯ กรุงเทพฯ: ผดุงศึกษา, 2508. หน้า 447-448.
(**) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482 ศิลปวัฒนธรรม 25, 8 (มิถุนายน 2547).: 77-96.
(***) หากอคติทางเชื้อชาติมีความสำคัญ หลวงวิจิตรวาทการย่อมไม่ประกาศว่า ญวน และเขมรเป็นคน "เชื้อชาติไทย" เป็นแน่

ความหวาดหวั่นในเรื่องการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของลูกจีนยังเห็นได้จากคำกล่าวของหลวงวิจิตรวาทการในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2481 ความว่า

นายเอ๊กโป้ย (เอก วีสกุล) เคยขอให้ข้าพเจ้าเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้มีการปกครองคนจีนอย่างเดิม คือมีกรมท่าซ้าย ...และทราบมาว่าเตรียมจะสละเงินในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรคราวหน้า เพื่อให้พวกจีนเข้ามาในสภาได้อีกด้วย (*)

(*) อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา" ฟ้าเดียวกัน 2, 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547): 98.

ดังนั้น หากพิจารณาบริบททางการเมืองภายในก็จะเห็นได้ชัดเจน ถึงความจำเป็นที่หลวงวิจิตรวาทการและจอมพล ป. จะต้องเน้นความคิดเชื้อชาตินิยมต่อต้านจีน ดังนั้น หลวงวิจิตรวาทการจึงแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับ "สยามกับไทย" ในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2482 ชี้ให้เห็นว่าจะเกิดปัญหาหลายประการหากยังคงใช้ "สยาม" เป็นชื่อประเทศ ปัญหาสำคัญที่หลวงวิจิตรวาทการเน้นในปาฐกถานี้ ก็คือปัญหาเกี่ยวกับ "ลูกจีน" ซึ่งจะมีสิทธิเลือกตั้ง (*)

(*) อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482" ศิลปวัฒนธรรม 25, 8 (มิถุนายน 2547): 84.

ใน สุนทรพจน์เนื่องใน "วันชาติ" ครั้งแรกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ก็กล่าวถึงการที่คนไทย "ถูกเลือดของชนชาติอื่นเข้ามาผสม" ซึ่ง "ทำให้เลือดไทยจางลงทุกขณะ...ชนชาติไทยกำลังจะถูกกลืนด้วยการผสมพันธุ์" (*) เห็นได้ชัดว่าต้องการให้คนไทยเกิดความหวั่นเกรงภัยที่มาจากการถูกพวก "เลือดผสม" หรือพวก "ลูกจีน" กลืนชาติ การสร้างความรู้สึกต่อต้านจีนเช่นนี้จะส่งผลให้คนไทยเกลียดชังพวก "เลือดผสม" หรือพวก "ลูกจีน" และไม่เลือกคนเหล่านี้เข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร และปิดโอกาสที่ "ลูกจีน" เหล่านี้จะก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง หรือเป็นคู่แข่งสำคัญทางการเมืองของผู้นำทางทหาร

(*) อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา" ฟ้าเดียวกัน 2, 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547): 99.

นอกจากนี้รัฐบาลจอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการยังต้องทำการนิยามความหมายของ "ชาติไทย" เพื่อช่วงชิงอำนาจครอบงำให้เหนือกว่าคำนิยามของบรรดา "ลูกจีน" ทั้งหลายอีกด้วย ดังนั้น ใน พ.ศ.2476 หลวงวิจิตรวาทการก็ตีพิมพ์เรื่อง "ลัทธิชูชาติ" ซึ่งเป็นคำที่หลวงวิจิตรวาทการแปลมาจาก Nationalism หลังจากนั้นก็ปลุกระดมความรู้สึกชาตินิยมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการแข่งขันกับคำนิยามของบรรดา "ลูกจีน" แล้ว ยังเป็นความพยายามที่จะเบียดขับคำนิยามของคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมไปพร้อมกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่ปัญญาชนที่ใกล้ชิดกับรัฐภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 เน้น "เชื้อชาติ" ในแง่การสืบสายเลือด จนกลายเป็นความคิดที่มีอิทธิพลสูง หรือเป็นความคิดกระแสหลัก แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีอยู่มาก เช่น นับตั้งแต่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาแล้ว ที่ได้ทรงระมัดระวังไม่เน้นมโนทัศน์ "ชาติไทย" เนื่องจากทรงมีพระประสงค์จะ "ประสานประโยชน์" ระหว่างชนชาติต่าง ๆ ในประเทศสยาม ต่อมาใน พ.ศ.2479 พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ก็ทรงเสนอพระราชดำริในแนวเดียวกัน โดยได้ทรงเน้นว่า

ที่เราว่า "ชาติ" นั้น เราไม่หมายความว่าไทย...อันที่จริงเมื่อเราใช้คำว่า "ชาติ" นั้น เราหมายความว่าชนชาวสยาม แต่ชนชาวสยามปะปนกันมาก ไม่พึงกล่าวถึงไทยที่มีเชื้อจีนปน (เช่นผู้เขียนนี้เอง) หรือไทยที่มีเชื้อแขก เชื้อฝรั่ง หรือเชื้ออื่น ๆ ซึ่งไม่รังเกียจหรือแตกแยกกับไทยแท้ 100 เปอร์เซ็นต์เลย ย่อมถือเหมือนญาติร่วมเชื้อกันหมด ชนชาวสยามมีเป็นอันมาก ที่เป็นมลายู แขกครัว แขกเทศ กะเหรี่ยง คะมู ลว้า เขมร ล้วนแต่ไม่ใช่ไทย แต่เป็นชาวสยามทั้งนั้น บางพวกอยู่ในสยามก่อนไทยมาอยู่เสียอีก นอกจากนี้ยังมีจีนนอก และพวกแปลงสัญชาติ คือฝรั่งแท้และแขกแท้ เป็นต้น เราไม่รังเกียจพวกนั้นเลย (*)

(*) กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, "ชาติและอารยะ" ใน ผสมผสาน ชุด 3. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2513. หน้า 141-142.

ในพระนิพนธ์เรื่อง "รักชาติ" (พ.ศ.2481) พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ยังคงทรงยืนยันว่า ประเทศสยามประกอบด้วยคนหลายชนชาติ แม้แต่คนไทยก็มีทั้ง "ไทยเต็ม ไทยซีก ไทยเสี้ยว" ส่วนศาสนาก็มีทั้งพุทธ อิสลาม คริสต์ และผี "รวมเป็นเดียวรักหมู่ไม่หู่หัน แม้จะต่างศาสนาบูชานันท์ ไม่สำคัญอะไรดอกบอกให้รู้" (*)

(*) กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, "รักชาติ" ใน ผสมผสาน ชุด 3. หน้า 480-486.

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นอีกผู้หนึ่งที่หลีกเลี่ยงการเน้น "เชื้อชาติไทย" ใน "เพลงชาติ" ที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแต่ง จึงไม่มีคำว่า "คนไทย" แต่ใช้คำว่า "ชาวสยาม" (*) นอกจากนี้ผู้นำสำคัญคนหนึ่งในช่วงหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 คือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็ได้แสดงความเห็นคัดค้านเมื่อจอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการต้องการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "ไทย" ตามชื่อ "เชื้อชาติ" หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์แสดงความเห็นว่า

คนในสยามมีหลายชาติ เวลานี้เขารักใคร่สยาม ถึงคราวเราพูดอะไรจะให้กินความส่วนรวมแล้ว ก็ใช้ว่า "สยาม" เขาอาจจะน้อยใจได้ถ้าเราเลิกใช้ "สยาม" ใช้แต่ "ไทย" จะเกิดความรู้สึกว่า เอาพวกชาติอื่นออกเพราะไม่ใช่ไทย พวกปัตตานีก็ไม่ใช่ไทย ถ้าเราเรียกว่า "สยาม" ก็รวมพวกปัตตานีด้วย เขาก็พอใจ (**)

(*)โปรดดู สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. หน้า 48.
(**)อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482" ศิลปวัฒนธรรม 25, 8 (มิถุนายน 2547): 80.

นอกจากสมาชิกของชนชั้นสูงในระบอบเก่าส่วนหนึ่ง และชนชั้นนำในระบอบใหม่จำนวนไม่น้อย จะไม่เห็นด้วยกับการเน้นคติ "เชื้อชาตินิยม" แล้ว ในกลุ่ม "ลูกจีน" ทั่วไปที่ไม่ได้สังกัดในฝ่ายรัฐบาล ก็ไม่เน้นเรื่อง "เชื้อชาติ" เช่นเดียวกัน โดยต่างก็พูดถึง "คนไทย" และมีความสำนึกในความเป็น "คนไทย" ในความหมายที่ไม่ได้เน้น "เชื้อชาติ" ในทางสายเลือด เช่น ในทศวรรษ 2470 นายมังกร สามเสนซึ่งเป็น "ลูกจีน" คนหนึ่ง ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอุดหนุน "พ่อค้าไทย" รวมทั้ง "อบรมราษฎรให้รู้จักรักเพื่อนคนไทยด้วยกัน" ซึ่ง "พ่อค้าไทย" และ "เพื่อนคนไทย" ที่นายมังกร สามเสนระบุในที่นี้ มีความหมายรวมไปถึง "คนไทยเลือดผสม" หรือบรรดา "ลูกจีน" ทั้งหลายด้วย (*)

(*) อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ" รัฐศาสตร์สาร 21, 3 (2542): 26-28.

ในทศวรรษ 2470 ภายหลังปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การแข้งขันกันทางการค้าในตลาดโลกและตลาดภายในประเทศดำเนินไปอย่างรุนแรง ใน พ.ศ.2476 "ลูกจีน" จำนวนหนึ่งจึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง "หอการค้าไทย" ขึ้นมา ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการริเริ่มของ "ลูกจีน" หลายคน เช่น นายเล็ก โกเมศ, นายเจือ เพ็ญภาคกุล, และนายประทุม สุสังกรกาญจน์ ซึ่ง "ปรับทุกข์ถึงเรื่องถูกบีบคั้นจากอิทธิพลและอำนาจจากต่างชาติ ทำไมคนไทยเราจึงไม่ตั้ง Chamber of Commerce เพื่ออุดหนุนเกื้อกูลและป้องกันผลประโยชน์ของบรรดาพ่อค้าไทย" (*)

(*) อ้างใน เรื่องเดียวกัน, หน้า 31.

บรรดา "พ่อค้าไทย" ที่จัดตั้ง "หอการค้าไทย" ขึ้นมานี้ คงไม่คิดว่าการมี "เชื้อชาติไทย" ในแง่การสืบสายเลือดจากคน "ไทยแท้" เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็น "คนไทย" หรือเป็นสมาชิกของ "ชาติไทย" เป็นแน่ ในเวลานั้นความเป็น "คนไทย" ที่ไม่เน้นการสืบสายเลือดเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแนวความคิดเรื่อง "การกลายเป็นไทย" (ที่ปัญญาชนกระแสหลักหลายคนให้ความสำคัญ) เป็นฐานทางความคิด ที่ช่วยให้ "ลูกจีน" ทั้งหลายสามารถมีอัตลักษณ์เป็น "คนไทย" ได้เช่นกัน แม้ว่าจะยังมีปัญหาอยู่ไม่น้อย เนื่องจากความคิดเรื่อง "เชื้อชาติ" ที่มีนัยยะของการสืบทอดลักษณะทางกายภาพทางสายเลือดยังคงเป็นข้อจำกัดของการ "กลายเป็นไทย" อย่างแท้จริง ในขณะที่ชาวจีนอีกจำนวนมากไม่มีความต้องการที่จะ "กลายเป็นไทย" แต่ต้องการจะรักษา "ความเป็นจีน" เอาไว้ เนื่องจากชาวจีนเหล่านี้ยังคงมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับชาวจีนด้วยกัน ซึ่ง "ความเป็นจีน" มีความสำคัญอย่างมากต่อการรักษาเครือข่ายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม นอกเหนือไปจากความผูกพันและความรู้สึกภาคภูมิใจใน "ความเป็นจีน" จากอิทธิพลของลัทธิชาตินิยมจีน ที่แพร่หลายในหมู่ชาวจีนในประเทศสยามนับตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา

การนิยาม "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ
นอกจากหลวงวิจิตรวาทการจะมีบทบาทสำคัญในการทำให้วิธีคิดที่ว่า "ชาติไทย" เป็นชาติของคน "เชื้อชาติไทย" มีพลังสูงขึ้น จนนำไปสู่การเบียดขับคนที่มิได้มี "เชื้อชาติไทย" ให้เป็น "คนอื่น" (the others) แล้ว หลวงวิจิตรวาทการยังได้นิยาม "ความเป็นไทย" ให้เป็นคุณลักษณะอันสำคัญของ "ชาติไทย" โดยที่ความหมายของ "ความเป็นไทย" ที่หลวงวิจิตรวาทการนิยามในช่วงเวลาราวสามทศวรรษ คือตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2470 จนถึงต้นทศวรรษ 2500 นั้น มิได้เป็นความหมายเดิม หากแต่หลวงวิจิตรวาทการได้ปรับเปลี่ยนความหมายและจุดเน้นเพื่อตอบสนองบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัต

เริ่มจากการสร้างความสืบเนื่องกับความหมายบางด้านของ "ความเป็นไทย" ที่ปัญญาชนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สถาปนาขึ้น แล้วได้ปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายของ "ความเป็นไทย" เป็นอย่างมากในทศวรรษ 2480 เพื่อตอบสนองนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และในท้ายที่สุด คือในต้นทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา หลวงวิจิตรวาทการได้หันไปนำเอาความหมายของ "ความเป็นไทย" จากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเน้นอย่างเต็มที่เพื่อตอบสนองนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาล รวมทั้งตอบสนองต่อกระบวนการฟื้นฟูอุดมการณ์ทางการเมืองแบบ "จารีตนิยม" และ "กษัตริย์นิยม" ที่กระทำโดยหลายฝ่ายนับตั้งแต่สงครามโลกยุติลง

การสร้าง "ความเป็นไทย" ในทศวรรษ 2470 - 2490
ในปลายทศวรรษ 2470 หลวงวิจิตรวาทการในฐานะอธิบดีกรมศิลปากร เน้นการค้นหาและสืบทอด "ความเป็นไทย" อันดีงามที่เคยมีมาในอดีต ด้วยเหตุผลที่ปรากฏในเรื่อง "ลัทธิชูชาติ" ว่า "การเห็นของชาติอื่น เป็นของดีกว่าของตนเองนั้น เป็นการทำลายกำลังหัวใจที่รักชาติ" จำเป็นจะต้องค้นหาของดีของชาติ ทั้งสิ่งที่เห็นด้วยตา และสิ่งที่มองไม่เห็น ก็จะทำให้ตระหนักว่าชาติมีตัวตน และจับหลักได้ว่าในการรักชาติผดุงชาตินั้นเราจะต้องรักอะไรบ้าง และจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อชาติของเรา ซึ่งการค้นหา "ความเป็นไทย" อันดีงามนี้ สามารถกระทำได้โดยการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี อักษรศาสตร์ และศิลปะของชาติ พร้อมกับการรักษาจารีตประเพณีที่เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติของชาติเอาไว้ (*)

(*) หลวงวิจิตรวาทการ, "ลัทธิชูชาติ" วารสารดวงประทีป 2, 36 (พ.ศ.2475): 17-21.

เมื่อแสดงปาฐกถา เรื่อง "การศิลปากร(ส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ข้าหลวงประจำจังหวัด)" ในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2478 หลวงวิจิตรวาทการระบุว่า

ชาติใด ๆ จะได้รับความนับถือเป็นชาติอันแท้จริง จะต้องมีศิลปะของตนเอง ซึ่งมีลักษณะผิดแปลกกับชาติอื่น ๆ และมีเครื่องแสดงว่าเกิดจากความคิดประดิษฐ์ของตนเอง ไม่ใช่เอาอย่างชาติอื่นเสมอไป...เพราะเหตุว่า การที่ประชาชนหมู่ใด จะสามารถมีศิลปะของตนเองได้ ประชาชนหมู่นั้นจะต้องก่อร่างสร้างตัวมานาน มีวัฒนธรรมสูง และมีคนฉลาดมาแล้ว

แต่ก่อนชาติไทยเราแม้จะเป็นชาติเล็ก กำลังน้อยแต่เมื่อชาวต่างประเทศได้เข้ามาแลเห็นศิลปกรรมของเรา ก็ต้องยอมรับว่าชาติไทยใช่ป่าเถื่อน ตรงกันข้ามศิลปกรรมกระทำให้ชาติไทยได้รับการยกย่องขึ้นสู่ฐานะพิเศษ

...เรายิ่งมีของเก่าซึ่งจะแสดงให้เห็นอายุยืนยาวมากเพียงไร ยิ่งเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมืองเพียงนั้น เพราะของเก่าที่มีอยู่นั้น เป็นเครื่องแสดงว่าเราเจริญแล้วมาแต่โบราณ (*)

(*)หลวงวิจิตรวาทการ, "การศิลปากร(ส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ข้าหลวงประจำจังหวัด)" ใน อธิบดีคนแรกของกรมศิลปากร พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ: จงเจริญการพิมพ์, 2435. หน้า 66-69.

การเน้นเช่นนี้ เป็นการสืบทอดวิธีคิดของปัญญาชนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับแนวความคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งกล่าวว่า "ศิลปะเป็นของสำคัญส่วนหนึ่งของชาติ เพราะว่าศิลปะของชาติ เป็นเครื่องจูงใจให้ประชาชนรักชาติ และภาคภูมิใจในเกียรติของชาติ...ศิลปะเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้เราได้รับความนิยมนับถือของนานาชาติ" (*) ความสอดคล้องเช่นนี้ สะท้อนว่าเป็นแนวโน้มของยุคสมัย มิใช่ความคิดของหลวงวิจิตรวาทการแต่เพียงลำพัง อย่างไรก็ตามในฐานะอธิบดีกรมศิลปากร หลวงวิจิตรวาทการมีบทบาทมากในการทำให้ความคิดดังกล่าวนี้มีอิทธิพลในสังคมมากยิ่งขึ้น และปรากฏอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม

(*) หลวงวิจิตรวาทการ, หลวงวิจิตรวาทการ, "นาฏศิลป์" ใน รำลึก ๑๐๐ หลวงวิจิตรวาทการ บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, 2541. หน้า 225-227.

หลวงวิจิตรวาทการหวังด้วยว่า ความเจริญทางศิลปะของไทย จะทำให้ประเทศสยามกลายเป็น "หัวใจแห่งสุวรรณภูมิ" คือเป็นศูนย์กลางความเจริญในแหลมทอง ดังความในเรื่อง "นาฏศิลป์" ต่อไปนี้

เพียงให้เราสามารถรักษาไว้ ซึ่งสิ่งที่บรรพบุรุษของเราได้รักษามาแล้วแต่โบราณกาล... โดยเฉพาะนาฏศิลป์...เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งแห่งความเจริญของชาติ ชาวต่างประเทศที่มีความรู้ได้มาแลเห็น ก็ยอมรับว่า ชาติไทยได้มีวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองมาแต่โบราณ...เป็นสิ่งที่เรามีดีกว่าของชาติอื่น...พม่า เขมร ไทยใหญ่ และไทยในฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ย่อมนับถือไทยสยามเป็นครูในศิลปกรรมอันนี้ ...สยามกำลังเป็นหัวใจแห่งสุวรรณภูมิ เหมือนเอเธนส์เป็นหัวใจของกรีก... (*)

(*)เรื่องเดียวกัน, หน้า 233-234.

เนื่องจากหลวงวิจิตรวาทการเน้นว่า "ชาติไทย" เป็นชาติของ "คนเชื้อชาติไทย" ซึ่งหมายถึง "คนเชื้อชาติไทย" ทั้งในและนอกประเทศ ในการแสดงสุนทรพจน์ เมื่อ พ.ศ.2478 หลวงวิจิตรวาทการจึงกล่าวว่า หากสามารถรักษา "ศิลปะของชาติไทย" เอาไว้ได้ "ชนชาติไทยทั้งหลายที่ยังแตกฉานซ่านเซ็นอยู่ในดินแดนต่าง ๆ" ก็จะรู้สึกว่าประเทศสยามเป็น "แหล่งกลางแห่งอารยธรรมและวัฒนธรรมของเขา" (*) พร้อมกันนั้นยังเป็นการ "แสดงให้ต่างชาติแลเห็นว่า เรามีอารยธรรมและวัฒนธรรม เรามีหน้าที่ช่วยพลเมืองให้ดำรงชีพอยู่ด้วยความเบิกบานรื่นรมย์ และเห็นโลกเป็นที่สุขสบาย" (**)

(*) หลวงวิจิตรวาทการ, "สุนทรพจน์อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวต้อนรับข้าราชการที่โอนมาจากกระทรวงวัง" ใน อธิบดีคนแรกของกรมศิลปากร
พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ. หน้า 75.
(**) เรื่องเดียวกัน, หน้า 75.

หลวงวิจิตรวาทการพยายามแสดงให้เห็นด้วยว่า ศิลปะไทยในด้านวรรณศิลป์ ก็บรรลุความเจริญขั้นสูงมาแล้ว เช่น วรรณกรรมของสุนทรภู่นั้น "มีดี ๆ เท่ากับของเชคสเปียร์" ทีเดียว "นักเรียนไทยเราที่ตื่นเชคเปียร์ ...พึงทราบว่าของสุนทรภู่มีดี ๆ เท่ากับของเชคเปียร์อยู่แล้ว เราลองอ้างของเราบ้างเป็นไร" (*)

(*) หลวงวิจิตรวาทการ, "คติสุนทรภู่" วารสารดวงประทีป 1, 15 (1 มกราคม 2474): 5.

ในทศวรรษ 2470 หลวงวิจิตรวาทการยังพยายามทำให้คนในชาติยึดมั่นใน "ศีลธรรมไทย" ด้วย ถึงแม้ว่าหลวงวิจิตรวาทการจะเห็นว่าการสร้างความเจริญแก่ "ชาติไทย" มีอุปสรรคส่วนหนึ่งมาจากจารีตประเพณีที่ไม่ดี และควรจะรักษาไว้แต่จารีตประเพณีที่ดี พร้อมกับ "รู้จักผ่อนผันรับเอาของใหม่ที่มีประโยชน์เข้ามา" (*) โดยเฉพาะการรับเอาความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีจากตะวันตกมาใช้เพื่อสร้างความเจริญทางวัตถุ (**) แต่ในด้านจิตใจนั้น หลวงวิจิตรวาทการก็มีความคิดเช่นเดียวกับปัญญาชนกระแสหลักทั้งหลาย นั่นก็คือจะต้องการรักษา "ความเป็นไทย" ทางจิตใจเอาไว้ เพื่อที่คนไทยจะได้ยอมรับโครงสร้างการเมืองและสังคมที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้โดยง่าย ไม่ทำการเคลื่อนไหวใด ๆ ในทางที่ต่อต้านรัฐบาล หรือไม่เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

(*) หลวงวิจิตรวาทการ, "ลัทธิชูชาติ" วารสารดวงประทีป 2, 36 (พ.ศ.2475): 5-6.
(**) ห.จ.ช., ศธ.0701.9/108 ปาฐกถาหลวงวิจิตรวาทการแสดงที่กรมโฆษณาการ เรื่องวัฒนธรรมสุโขทัย (6 มีนาคม 2482).

เพื่อให้คนไทยเห็นความสำคัญของการรักษา "จิตใจแบบไทย" หลวงวิจิตรวาทการจึงพยายามยืนยันว่า "ชาติต่าง ๆ ที่เจริญแล้ว เขาพยายามรักษาจารีตประเพณีของเขา ถ้าเห็นเป็นของเก่าเกินสมัยจริง ๆ เขาก็เอามาดัดแปลงให้เหมาะแก่ความเป็นไปในสมัยใหม่ ให้น่าดูสำหรับสมัยใหม่ แต่เขาไม่ยกทิ้งเสียทีเดียว" (*) และ "ความเป็นไทย" ประการหนึ่งที่หลวงวิจิตรวาทการเห็นว่าจะต้องรักษาไว้อย่างมั่นคง ก็คือ "ศีลธรรมอันดีงาม" นั่นเอง ดังที่ได้ระบุไว้ในหนังสือ "การเมืองการปกครองของกรุงสยาม" ว่า "รวมความว่าเราเปลี่ยนจากเก่าเป็นใหม่ แต่มีอย่างหนึ่งซึ่งเราต้องไม่ยอมให้เปลี่ยนไป คือศีลธรรมอันดีงาม" (**) ทั้งนี้ หลวงวิจิตรวาทการอธิบายว่า

สิ่งที่จะต้องระวังกันมากที่สุดก็คือธรรมจรรยา เพราะในการเปลี่ยนวิธีการปกครองใหม่ ๆ นั้น ไม่ว่าในประเทศใด เวลาหัวต่อจากเก่าไปหาใหม่นั้น ธรรมจรรยาของพลเมืองมักจะลดต่ำลงไปชั่วคราว ด้วยความคึกคะนองหรือเข้าใจคำว่าอิสรภาพผิดจากที่ควรเข้าใจ...การสอนธรรมจรรยานั้น เดินทางเก่าไว้ดีกว่าใหม่ (***)

(*)หลวงวิจิตรวาทการ, "ลัทธิชูชาติ" วารสารดวงประทีป 2, 36 (พ.ศ.2475): 16.
(**)หลวงวิจิตรวาทการ, การเมืองการปกครองของกรุงสยาม. กรุงเทพฯ: ไม่ปรากฏที่พิมพ์, 2475. หน้า 241.
(***)หลวงวิจิตรวาทการ, การเมืองการปกครองของกรุงสยาม. หน้า 236.

กล่าวได้ว่า ในทศวรรษ 2470 ซึ่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองนั้น หลวงวิจิตรวาทการได้พยายามสืบทอดมรดก "ความเป็นไทย" เป็นอย่างมาก แม้จะตระหนักว่า "การรักษาของไทยให้ดำรงอยู่เป็นไทยนั้น ยากอย่างสาหัส" (*) แต่ก็พยายามให้สังคมไทยมีความสืบเนื่องกับอดีต มิใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน แม้แต่ในส่วนที่จะต้องทำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่ "ชาติไทย" หลวงวิจิตรวาทการก็ยังเห็นว่า "ดำเนินตามญี่ปุ่นเป็นดีที่สุด" เพราะ "เป็นชาวบุรพทิศด้วยกัน...นับถือศาสนาพุทธเหมือนกับเรา เราจะไปเอาอย่างฝรั่งชาติอื่น ๆ เขาก็มีขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีผิดกับเราห่างไกลมาก" (**)

(*) ห.จ.ช., 0701.31/4 เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร โรงเรียนศิลปากร, หน้า 2.
(**) หลวงวิจิตรวาทการ, การเมืองการปกครองของกรุงสยาม หน้า 193.


ความพยายามของหลวงวิจิตรวาทการในทศวรรษ 2470 ที่จะสืบทอด "ความเป็นไทย" ดังกล่าวมานี้ เกิดขึ้นในบริบทที่กลุ่มอำนาจใหม่ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ไม่ต้องการแตกหักกับกลุ่มอำนาจเดิม ขณะเดียวกันผู้นำในคณะราษฎรก็ต้องการลดความแหลมคมของความขัดแย้งทางอุดมการณ์และทางการเมือง ระหว่างผู้สนับสนุนระบอบเก่ากับผู้สนับสนุนระบอบใหม่ ด้วยการสืบทอด "ความเป็นไทย" เพราะในเวลานั้นมีกระแสการโจมตีว่าคณะราษฎรที่นำระบอบรัฐธรรมนูญและรัฐสภามาใช้แทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ว่า "ลืมความเป็นไทย" (*) หากรัฐบาลแสดงให้เห็นว่ายังคงเห็นคุณค่าและพยายามเชิดชู "ความเป็นไทย" อย่างเต็มที่ ก็จะช่วยลดการต่อต้านรัฐบาลลงได้มาก ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้คนที่ยังวางตัวเป็นกลางหันมาให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลในระบอบการปกครองใหม่เพิ่มมากขึ้น

(*) หนังสือพิมพ์สยามรีวิว 11 กันยายน 2475 อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ" รัฐศาสตร์สาร 21, 3 (2542): 36.

อนึ่ง การนิยาม "ความเป็นไทย" ในทศวรรษ 2470 ยังต้องคำนึงถึงการสร้างความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนทุกชาติพันธุ์ในภาคต่าง ๆ ดังนั้น หลวงวิจิตรวาทการจึงพยายามทำให้คนในประเทศเห็นว่า "ประชาชน...พื้นเมืองของสยาม...ล้วนเปนไทย" และวัฒนธรรมภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ล้วนแต่เป็น "ไทยแท้" ด้วยกันทั้งสิ้น ดังความว่า

ประชาชนที่เป็นพื้นเมืองของสยาม ที่มีอยู่ในบัดนี้ ก็ล้วนเปนไทยด้วยกันทั้งนั้น และถ้าจะพิสูจน์กันก็จะได้หลักฐานสมจริง โดยเฉพาะในทางภาษาพูด ชาวปักษ์ใต้กับฝ่ายเหนือ มีภาษาพูดที่เปนไทยยิ่งกว่าพวกที่อยู่ในท่ามกลางประเทศเราเสียอีก พวกที่อยู่ในท่ามกลางประเทศนั้นถูกอานุภาพของเขมรบ้าง อินเดียบ้าง มาทำให้ภาษาเลือนไป แต่พวกไทยทางปักษ์ใต้และฝ่ายเหนือ ยังรักษาภาษาไทยไว้ได้ดี จึงต้องนับเปนไทยแท้ด้วยกันโดยไม่ต้องสงสัย (*)

(*) หจ..ช.,ศธ.0701.9/108 ปาฐกถาหลวงวิจิตรวาทการแสดงที่กรมโฆษณาการ เรื่องวัฒนธรรมสุโขทัย (6 มีนาคม 2482).

ในด้านนาฏศิลป์ หลวงวิจิตรวาทการก็พยายามยืนยันว่า นาฏศิลป์ของคนในภาคต่าง ๆ "เป็นของไทยแท้" เช่นกัน "ในจำพวกฟ้อนรำต่าง ๆ เช่น รำซุย รำแม่ศรี รำเพลงเกี่ยวข้าว และฟ้อนรำต่าง ๆ ของไทย ทั้งภาคเหนือภาคอีสานนั้น เป็นแบบรำของไทยเราตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งควรจะกล่าวได้ว่าเป็นของไทยแท้" (*)

(*) หลวงวิจิตรวาทการ, "นาฏศิลป์" ใน "รำลึก ๑๐๐ หลวงวิจิตรวาทการ บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน" หน้า 209.

ความพยายามของหลวงวิจิตรวาทการเช่นนี้ นับว่าสอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ผู้นำในระบอบใหม่ต้องการเน้น เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบใหม่ นั่นคือ การให้ความสำคัญแก่ประชาชนมากขึ้น ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า "หลักเขตของความเป็นไทยที่ต้องตามกาลเทศะ" ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการพยายามเน้นในทศวรรษ 2470 ได้แก่ มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็น "ของดี" ของไทยในอดีต รวมทั้ง "ของดี" ที่มีอยู่ในศิลปะและวัฒนธรรมของประชาชนในภาคต่าง ๆ พร้อมกันนั้นก็ยังต้องยึดมั่นใน "ความเป็นไทย" ด้านอื่น ๆ อันได้แก่ "ต้องถือชาติเป็นสำคัญที่สุด ต้องมั่นคงในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ต้องเคารพบูชารัฐธรรมนูญและพระมหากษัตริย์ และไม่เป็นคอมมิวนิสต์" (*) ด้วย

(*) หลวงวิจิตรวาทการ, "ลัทธิชูชาติ" วารสารดวงประทีป 2, 36 (พ.ศ.2475): 16.

ต่อมาในต้นทศวรรษ 2480 หลวงวิจิตรวาทการยังคงพยายามสืบทอดการเน้น "ความเป็นไทยแท้" ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมชาวบ้าน รวมทั้งคุณค่าของวัฒนธรรมชาวบ้าน เพื่อสร้างความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ "ชาติไทย" เช่น ในการแสดงปาฐกถาเรื่อง "วัฒนธรรมสุโขทัย" เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2482 หลวงวิจิตรวาทการกล่าวว่า

วัฒนธรรมของชาติ ก็คือสิ่งซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นความเจริญงอกงามใหญ่หลวงของชาติ ในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ และภาคพายัพ เราจะได้เห็นพี่น้องชาวไทยของเรา มีบ้านเรือนเคหสถานเป็นระเบียบเรียบร้อย...ปลูกทำด้วยความประณีตบรรจง...ถึงเล็กก็มีศิลปะในการก่อสร้าง... หญิงชายแต่งกายเรียบร้อย...เขาจะต้อนรับเราด้วยไมตรีจิต...แม้เป็นบ้านยากจนก็เรียบร้อยสะอาด...มีความสามัคคีกลมเกลียวช่วยเหลือกันและกัน ทั้งนี้ เป็นเครื่องหมายอันหนึ่งของวัฒนธรรม (*)

(*)ห.จ.ช., ศธ.0701.9/108 ปาฐกถาหลวงวิจิตรวาทการแสดงที่กรมโฆษณาการ เรื่องวัฒนธรรมสุโขทัย (6 มีนาคม 2482).

ในระยะใกล้เคียงกัน หลวงวิจิตรวาทการได้แสดงปาฐกถาเรื่อง "ของดีในอีสาน" นอกจากนี้ บทละครหลายเรื่องที่หลวงวิจิตรวาทการแต่งในต้นทศวรรษ 2480 ก็มีตัวละครเอกเป็น "คนเหนือ" หรือ "คนใต้" เช่น เจ้าหญิงแสนหวี, มหาเทวี, และศึกถลาง เป็นต้น (*)

(*) สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ ไความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. หน้า 131-132.

ในทศวรรษ 2480 นี้ หลวงวิจิตรวาทการมิได้เน้นความเจริญทางศิลปะของไทยแต่โบราณ แต่เปลี่ยนมาเน้น "นิสสัย" หรือ "จิตใจ" หรือ "ศีลธรรม" ของคน "เชื้อชาติไทย" ที่จะเป็นปัจจัยให้คน "เชื้อชาติไทย" สามารถสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็น "ชาติอารยะ" และเป็น "มหาอำนาจในแหลมทอง" ได้สำเร็จ อันได้แก่ "นิสสัยก่อสร้าง...นิสสัยรักความประณีต นิสสัยงอกงาม...นิสสัยต่อสู้" (*) ทั้งนี้ โดยใช้วิธีนำคุณลักษณะเหล่านี้ใส่เข้าไปในบริบทสมัยสุโขทัย เพื่อแสดงให้เห็นว่า "คนไทย" ในอดีต ได้เคยมีคุณลักษณะเหล่านี้จริง และได้เคยใช้คุณลักษณะเหล่านี้ในการสร้างความเจริญและความยิ่งใหญ่ให้แก่ "ชาติไทย" มาแล้ว แต่คุณลักษณะดังกล่าวได้ถูกทำลายลงไปในสมัยอยุธยา หากสามารถฟื้นฟูคุณลักษณะเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ ก็จะสามารถสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นชาติที่เจริญและเป็นมหาอำนาจในแหลมทองได้เช่นเดียวกับในสมัยสุโขทัย (**)

(*)ห.จ.ช., ศธ.0701.9/108 ปาฐกถาหลวงวิจิตรวาทการแสดงที่กรมโฆษณาการ เรื่องวัฒนธรรมสุโขทัย (6 มีนาคม 2482).
(**)โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. หน้า 140-143.

อนึ่ง ในการทำให้ "ชาติไทย" เป็น "ชาติอารยะ" ในทศวรรษ 2480 นี้ รัฐบาลตัดสินใจที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยบางส่วน และหันไปรับวัฒนธรรมตะวันตกบางประการ เช่น การเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม และการเปลี่ยนมาสวมกางเกงและกระโปรง เป็นต้น แต่เนื่องจากหลวงวิจิตรวาทการเคยประณาม "ความหลงนิยมวัฒนธรรมของต่างด้าว" เพื่อเน้นคุณค่าของ "ความเป็นไทย" มามากแล้ว ดังนั้น จึงต้องหาทางอธิบายว่า การเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ และการสวมกางเกงหรือกระโปรง มิใช่การรับอิทธิพลตะวันตก แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่ "ประเพณีดั้งเดิมของไทยเรา" (*)

(*) สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ ไความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. หน้า 143-146..

ในทศวรรษ 2480 หลวงวิจิตรวาทการไม่เน้นความสำคัญของ "พระมหากษัตริย์" เนื่องจากต้องเน้นคติ "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" การกล่าวถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในอดีต ทั้งในงานเขียนทางประวัติศาสตร์และในบทละคร มุ่งทำให้เห็นความสำคัญของ "ผู้นำแห่งชาติ" มิใช่เป็นการยกย่องสรรเสริญสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความรู้สึกจงรักภักดี. ส่วนพุทธศาสนานั้น รัฐบาลพยายามเชื่อมโยงพุทธศาสนาเข้ากับระบอบประชาธิปไตย แทนการเชื่อมโยงเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นที่ปัญญาชนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เคยพยายามกระทำ ดังปรากฏว่า เมื่อรัฐบาลคิดโครงการสร้างวัดสำคัญซึ่งรู้จักกันในปัจจุบัน ว่า "วัดพระศรีมหาธาตุ" ใน พ.ศ.2483 รัฐบาลก็ต้องการจะตั้งชื่อวัดว่า "วัดประชาธิปไตย" และระบุไว้ในโครงการว่า

พุทธศาสนาเป็นศาสนาประเสริฐสุด...เป็นศาสนาที่ทันสมัยอยู่เสมอ และยิ่งประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยด้วยแล้ว พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่เหมาะสมยิ่งด้วยประการทั้งปวง เพราะพุทธศาสนาเป็นหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตย (*)

(*) ห.จ.ช., ศธ.0701.46/2 เรื่องสร้างวัดประชาธิปไตย (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ) พ.ศ.2483-2496. (เน้นโดยผู้วิจัย).

นอกจากนี้ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลเข้าสู่ประเทศไทย โดยที่ชนชั้นนำในระบอบใหม่ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันว่าควรเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นหรือไม่ พุทธศาสนาก็ได้รับการอ้างอิงในฐานะ "ศาสนาแห่งชาติ" ซึ่งส่งผลให้ชาวไทยมีจิตใจที่ต้องการสร้างสันติสุขแก่โลก ทั้งนี้ เพื่อจะชะลอการประกาศสงคราม และยังเป็นการป้องกันมิให้ชาวโลกเห็นว่า ไทยเต็มใจร่วมมือกับญี่ปุ่นในการรุกรานชาติอื่นอีกด้วย ใน "คำแถลงเรื่องการวิงวอนเพื่อสันติภาพ" ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ร่าง มีข้อความที่เน้นว่า "ประเทศไทยเป็นแดนแห่งพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาถือศานติภาพเป็นส่วนสำคัญ และถือความสุขของมนุษยชาติเป็นที่หมาย" และชาวไทยนับถือพุทธศาสนา ซึ่งทำให้ "...มีความผูกพันทางใจที่จะต้องพยายามประกอบก่อศานติสุขให้แก่โลก... คำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งฝังอยู่ในดวงจิตของชาวไทยมาตั้งสองพันปี ทำให้ชาวไทยมีนิสสัยแผ่เมตตาจิตแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย และมุ่งความร่มเย็นเป็นสุขของโลกโดยทั่วไป" (*)

(*) ห.จ.ช., ศธ.0701.28/23 เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร หลวงวิจิตรวาทการร่างคำแถลงเรื่องการวิงวอนเพื่อสันติภาพ 1 กันยายน 2584.

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับทศวรรษ 2490 แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า ในทศวรรษ 2480 รัฐบาลจอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการให้ความสำคัญแก่พุทธศาสนาไม่มากนัก เพราะมุ่งเน้น "การสร้างชาติไทยให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง" ด้วยการทำสงคราม ทั้ง "สงครามอินโดจีน" กับฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่ 2 กับฝ่ายสัมพันธมิตร

จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงแล้ว ในทศวรรษ 2490 หลวงวิจิตรวาทการจึงเปลี่ยนมานิยาม "ความเป็นไทย" โดยเน้นพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาในฐานะหัวใจของ "ความเป็นไทย" อีกครั้งหนึ่ง (*) เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไปมาก กล่าวคือ ถึงแม้คณะรัฐประหาร พ.ศ.2490 และกองทัพบก จะมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่จอมพล ป. แต่จอมพล ป. ก็ไม่สามารถยึดครองอำนาจสูงสุดทางการเมืองดังในทศวรรษ 2480 นอกจากจะต้องสร้างดุลย์อำนาจระหว่างพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้ว ยังต้องหาทางที่จะได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา "เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์" ในสถานการณ์ที่โลกเกิดสงครามเย็น ทำให้จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการหันมาเชิดชู "หัวใจของความเป็นไทย" ที่เคยได้รับการเน้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ เพื่อจะทำให้คนไทยเกรงกลัวภัยคอมมิวนิสต์ และให้ความสนับสนุนแก่รัฐบาลที่ได้ดำเนินนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง หลวงวิจิตรวาทการได้ชี้ให้เห็นว่า หากคอมมิวนิสต์ยึดครองประเทศไทยได้สำเร็จ หัวใจของ "ความเป็นไทย" ทั้งพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนา ก็จะถูกพวกคอมมิวนิสต์ทำลายลงไปอย่างแน่นอน

(*) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ ไความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. หน้า 149-156.

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่หลวงวิจิตรวาทการนำความหมายของ "ความเป็นไทย" อันเป็นอุดมการณ์ของในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเน้น เพื่อทำให้คนไทยยึดมั่นใน "หัวใจของความเป็นไทย" คือพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนา นับว่าสอดคล้องกับกระแสความคิดแบบ "จารีตนิยม" และ "กษัตริย์นิยม" ที่ถูกหลายฝ่ายทำให้มีพลังสูงขึ้นมากในช่วงหลังสงครามโลก โดยเฉพาะหลังจากเกิดกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ.2489 ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของจอมพล ป. และมีอิทธิพลอย่างสูงในรัฐสภา เป็นหัวหอกสำคัญในการฟื้นฟูอุดมการณ์ "จารีตนิยม" และ "กษัตริย์นิยม" รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญที่ถวายพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์อย่างมาก การกดดันให้รัฐบาลต้องอัญเชิญพระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากประเทศอังกฤษกลับมาประดิษฐานในประเทศไทย และการเปลี่ยนแปลงวันหยุดราชการโดยเพิ่มวันหยุดที่เป็นวันสำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตลอดจนวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกหลายวัน ในขณะที่ลดความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ และสร้างความรู้ที่เน้นบทบาทของพระมหากษัตริย์ในการ "พระราชทานเสรีภาพ" และ "พระราชทานรัฐธรรมนูญ" แก่ปวงชนชาวไทย

แม้ว่าพลังของอุดมการณ์"จารีตนิยม" ที่เพิ่มสูงขึ้น จะไม่สร้างปัญหาทางการเมืองให้แก่จอมพล ป. เพราะจอมพล ป. สามารถปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองให้สอดคล้องกับกระแสความคิดแบบจารีตนิยมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ้างอิงตนเองเข้ากับพ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัย เช่น การตั้งชื่อพรรคการเมืองว่า "เสรีมนังคศิลา" การอุปถัมภ์พุทธศาสนา การจัดแสดงละครเรื่อง "อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง" การบูรณะโบราณสถานและโบราณวัตถุในเขตเมืองเก่าสุโขทัย ฯลฯ

แต่บทบาทของหลวงวิจิตรวาทการในการทำให้ "พระมหากษัตริย์" มีความสำคัญต่อ "ชาติไทย" มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามในเรื่องนี้ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จอมพล ป. โปรดปรานหลวงวิจิตรวาทการน้อยลงเป็นลำดับ เพราะจอมพล ป. ย่อมไม่ต้องการจะให้ "พระมหากษัตริย์" มีความสำคัญเหนือผู้นำประเทศคือจอมพล ป. เอง ดังนั้น ในกลางทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา หลวงวิจิตรวาทการจึงมิได้ทำงานใกล้ชิดกับจอมพล ป. หลังจากทำงานในหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ระยะหนึ่ง หลวงวิจิตรวาทการก็ต้องออกไปเป็นเอกอัครราชทูตในต่างประเทศ ในที่สุดก็ได้หันไปสนับสนุนศัตรูทางการเมืองของจอมพล ป. แทน โดยมีบทบาทสำคัญในฐานะที่ปรึกษาของจอมพลสฤษดิ์ในการรัฐประหาร พ.ศ.2500

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ.2501 หลวงวิจิตรวาทการก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เลขาธิการกับที่ปรึกษาหลักของจอมพลสฤษดิ์ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาในเรื่องเกี่ยวกับการฟื้นฟูความสำคัญของ "พระมหากษัตริย์" และช่วยเขียนคำปราศรัยในโอกาสต่าง ๆ ให้แก่จอมพลสฤษดิ์ ตราบจนกระทั่งหลวงวิจิตรวาทการป่วยหนักและถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ.2505

บทสรุป
เท่าที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า "ความเป็นไทย" ที่นิยามโดยหลวงวิจิตรวาทการในช่วงสามทศวรรษมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด แต่มโนทัศน์ "ความเป็นไทย" ที่มีอิทธิพลสืบต่อมาในสมัยหลัง ได้แก่ มโนทัศน์ที่เน้นความสำคัญของ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการได้พยายามเผยแพร่ในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา และนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490 ปัญญาชนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในสมัยหลัง คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้นิยาม "ความเป็นไทย" โดยเน้นมโนทัศน์"ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" อย่างเข้มข้น ทำให้มโนทัศน์ดังกล่าวนี้ครอบงำวิธีคิดของคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ส่งผลให้คนไทยมีวิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ในแง่ที่เห็นว่าสังคมไทยซึ่งแบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นนั้นเป็นสังคมที่ดี และ "ความเป็นไทย" ซึ่งมีพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาเป็นหัวใจนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" เพราะทำให้เกิดศิลปะและวัฒนธรรมไทยอันมีคุณค่าซึ่งบ่งบอกถึงความมีอารยะของ "ชาติไทย" และทำให้ "ชาติไทย" เป็นชาติที่เต็มไปด้วยระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า และตราบใดที่คนไทยยังคงสามารถรักษา "ความเป็นไทย" นี้เอาไว้ "เมืองไทยนี้ก็จะดี" อยู่ตราบนั้น

นับว่าหลวงวิจิตรวาทการเป็นปัญญาชนที่มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนความหมายของ "ความเป็นไทย" เพื่อตอบสนองปัญหาและความจำเป็นของระบอบการเมืองการปกครองใหม่ในช่วงหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 แต่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศที่ฝ่าย "กษัตริย์นิยม" มีอำนาจและอิทธิพลสูงขึ้น กับความเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศในยุคสงครามเย็น ก็ทำให้หลวงวิจิตรวาทการกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ความหมายของ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมามีพลังสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จนหล่อหลอมวิธีคิดกระแสหลักเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทยสืบมา

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๐๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ : Release date 09 July 2008 : Copyleft by MNU.

ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ การนิยาม"ชาติไทย" และ"ความเป็นไทย" โดยปัญญาชนในระบบอบใหม่ มิได้เปลี่ยนแปลงมากถึงระดับที่รื้อถอนหรือเบียดขับความหมายเดิม ตรงกันข้าม แม้จะมีการเสนอความคิดใหม่บางประการขึ้นมาเพื่อตอบสนองบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป แต่ความคิดใหม่เหล่านั้น ก็มิได้ขัดแย้งกับความคิดเดิม และนับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา กลับมีความพยายามในการรื้อฟื้นความหมายเดิมของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ทำให้วิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทยไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบอบการปกครองมากนัก จนกล่าวได้ว่ามีความสืบเนื่องของวิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ในช่วงก่อนและหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 เป็นอย่างมาก

H