ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




08-07-2551 (1607)

การสืบทอดและการปรับเปลี่ยนความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
แนวคิดเกี่ยวกับ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ของ หลวงวิจิตรวาทการ
(๑)
รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทวิจัยนี้นำมาจากบทที่ ๗ เรื่อง
การสืบทอดและการปรับเปลี่ยนความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
โดยปัญญาชนภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475: หลวงวิจิตรวาทการ
(เนื่องจากต้นฉบับมีความยาว ๓๘ หน้า จึงได้แบ่งเสนอออกเป็น ๒ ตอน)

สรุปความ: นับว่าหลวงวิจิตรวาทการเป็นปัญญาชนที่มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยน
ความหมายของ "ความเป็นไทย" เพื่อตอบสนองปัญหาและความจำเป็นของระบอบ
การเมืองการปกครองใหม่ในช่วงหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ แต่ความเปลี่ยนแปลง
ทางการเมืองภายในประเทศที่ฝ่าย "กษัตริย์นิยม" มีอำนาจและอิทธิพลสูงขึ้น
กับความเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศในยุคสงครามเย็น ก็ทำให้หลวงวิจิตรวาทการ
กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ความหมายของ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการ
สถาปนาขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมามีพลังสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จนหล่อหลอม
วิธีคิดกระแสหลักเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทยสืบมา

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๐๗
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๐๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



การสืบทอดและการปรับเปลี่ยนความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
แนวคิดเกี่ยวกับ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ของ หลวงวิจิตรวาทการ
(๑)
รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

ต่อจาก บทความที่ 1524


การสืบทอดและการปรับเปลี่ยนความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
โดยปัญญาชนภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475: หลวงวิจิตรวาทการ

ความนำ
ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 การนิยาม "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยปัญญาชนในระบบอบใหม่ มิได้เปลี่ยนแปลงมากถึงระดับที่รื้อถอน หรือเบียดขับความหมายเดิม ตรงกันข้าม แม้จะมีการเสนอความคิดใหม่บางประการขึ้นมาเพื่อตอบสนองบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป แต่ความคิดใหม่เหล่านั้น ก็มิได้ขัดแย้งกับความคิดเดิม และนับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา กลับมีความพยายามในการรื้อฟื้นความหมายเดิมของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ทำให้วิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทยไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบอบการปกครองมากนัก จนกล่าวได้ว่า มีความสืบเนื่องของวิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ในช่วงก่อนและหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 เป็นอย่างมาก

ปัญญาชนภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ในช่วงสองทศวรรษแรกภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ได้แก่หลวงวิจิตรวาทการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และพระยาอนุมานราชธน
(หมายเหตุ: ในส่วนของบทความนี้ จะกล่าวเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ของ หลวงวิจิตรวาทการ - กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน)

หลวงวิจิตรวาทการ - การเสียกรุงและการกอบกู้เอกราช
หลวงวิจิตรวาทการ เสนอความคิดชาตินิยมมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2470 หลังจากหนังสือเรื่อง "หลักไทย" ของขุนวิจิตรมาตราได้รับการตีพิมพ์เพียง 2 ปี หลวงวิจิตรวาทการก็ได้แต่งหนังสือชุด "ประวัติศาสตร์สากล" ตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ.2472-2474 ในหนังสือชุดนี้ หลวงวิจิตรวาทการทำให้ประวัติศาสตร์ "ชาติไทย" กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สากล และได้เขียนประวัติศาสตร์ "ชาติไทย" แตกต่างจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและขุนวิจิตรมาตราอยู่ไม่น้อย เพราะถึงแม้ว่าบางส่วนจะเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตามลำดับรัชกาลของพระราชวงศ์ของพระมหากษัตริย์ แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นการอภิปรายปัญหาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย การปกครองของไทย "ฐานะของพลเมือง" และ "สิทธิของคน" ตลอดจน "วีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน" ก่อนหน้าการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (*) โดยเน้นถึงความรักชาติและการเสียสละชีวิตเพื่อชาติของชาวบ้านบางระจันอย่างเต็มที่

(*)ฉลอง สุนทราวาณิชย์, "พงสาวะดานลาว ของ มหาสิลา วีระวงศ์" ใน จักรวาลวิทยา: บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่นิธิ เอียวศรีวงศ์ กรุงเทพฯ: มติชน, 2549. หน้า 24.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หลวงวิจิตรวาทการให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สงครามระหว่างไทยกับพม่าในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ แต่ถึงแม้หลวงวิจิตรวาทการจะยอมรับว่า ส่วนที่ว่าด้วยสงครามไทย-พม่านี้ดึ งมาจากพระนิพนธ์เรื่อง "ไทยรบพม่า" เป็นส่วนใหญ่ แต่ในหนังสือ"ประวัติศาสตร์สากล" หลวงวิจิตรวาทการให้ความสำคัญค่อนข้างมากแก่การเสียกรุงทั้งสองครั้ง และสงคราม "กอบกู้เอกราช" ของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อเน้น "วีรกรรม" และ "บทเรียน" สำหรับ "ชาติไทย" (*)

(*)ฉลอง สุนทราวาณิชย์, "พงสาวะดานลาว ของ มหาสิลา วีระวงศ์" ใน จักรวาลวิทยา: บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่นิธิ เอียวศรีวงศ์ กรุงเทพฯ: มติชน, 2549. หน้า 24-25.

การเน้นแนวคิดชาตินิยม - โกวิท ป. ประพันธ์ไพรัชพากษ์
การเน้นชาตินิยมอย่างเข้มข้นเกิดขึ้นในทศวรรษ 2480 ซึ่งนอกจากหลวงวิจิตรวาทการแล้ว ยังมีปัญญาชนในแขนงวิชาต่าง ๆ อีกหลายแขนง ที่ได้พยายามสร้างความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ขึ้นมาในแขนงวิชาที่ตนเชี่ยวชาญ เช่น โกวิท ป. ประพันธ์ไพรัชพากษ์ (หลวงประพันธ์ไพรัชพากษ์ -บุญเชย ปิตรชาติ) (*) ซึ่งแสดงปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียงเรื่อง "วัธนธัมทางจิตใจ" เพื่อทำให้คนใน "ชาติไทย" มีจิตใจเป็นหนึ่งเดียว มีความตอนหนึ่งว่า

(*) โกวิท ป. ประพันธ์ไพรัชพากษ์ (3 เมษายน พ.ศ. 2442-18 พฤษภาคม พ.ส. 2536) จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านปรัชญา การเมือง เศรษฐกิจ จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ในพ.ศ.2466 ได้รับการแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ใน พ.ศ. 2485 และเป็นเลขาธิการราชบัณฑิตสถานระหว่าง พ.ศ. 2485-2490.

ฉันรู้สึกเป็นเกียรติหย่างยิ่งที่ทางการวิทยุกะจายเสียงได้ไห้โอกาสฉันมาพูดเรื่อง"วัธนธัมทางจิตใจ" ไนวันนี้...
ฉันได้พูดไว้ไนเรื่องปรัชญาเบื้องต้นว่า "การส้างจิตไจของคนไทยทั้งมวนไห้เปนน้ำหนึ่งไจเดียวกัน หรือไห้เปนเหมือนน้ำไจคน ๆ เดียว ซึ่งจะมีความแขงแกร่งขึ้นเปนร้อยเท่าพันทวีนั้น เปนสิ่งพึงปราถนาและสำคันยิ่ง...ถ้าเราเตรียมไว้ไห้คนทั้งชาติเปนน้ำหนึ่งไจเดียวกัน ถือปรัชญาทางสังคม ทางการเมือง และทางเสถกิจอันเดียวกันแล้ว เราก็คงจะต่อสู้กับเหตุการน์ทุกด้านได้อย่างแน่นอน...อันจิตไจของมนุสนั้นย่อมเปนสิ่งสำคันยิ่งไนการดำเนินชีวิตของมนุสแต่ละคน อันจิตไจของมนุสแต่ละคนนี้รวมกันเข้าก็คือจิตไจของชาตินั่นเอง ถ้าชาติใดมีจิตไจซึ่งเปนส่วนรวมดีงามแล้ว ชาตินั้นก็คงพบแต่ความจเริน (*)

(*)โกวิท ป. ประพันธ์ไพรัชพากษ์,"วัธนธัมทางจิตใจ" (27 พ.ย.2485) ใน ๗๐ ปี ราชบัณฑิตวิชาชาญ ราชบัณฑิตสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสคล้ายวันสถาปนาราชบัณฑิตสถานครบ ๗๐ ปี ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๗. หน้า 48-49. (พิมพ์ครั้งแรกใน สมุดที่ระลึกวันราชบัณฑิตสถาน 31 มีนาคม พ.ศ. 2487).

โกวิท ป. ประพันธ์ไพรัชพากษ์ มีความเห็นไปในทางเดียวกับปัญญาชนกระแสหลัก คือเห็นว่า "วัฒนธรรมทางจิตใจ" มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเจริญของชาติ

อันความจเรินของชาติบ้านเมืองนั้น มีข้อน่าสังเกตหยู่สองประการ คือความจเรินทางวัตถุประการหนึ่ง และความจเรินทางจิตไจอีกประการหนึ่ง ทั้งสองประการนี้บางคราวก็สนับสนุนซึ่งกันและกัน บางคราวก็เปนปฏิปักษ์ต่อกัน...ความจเรินทางวัตถุหรือความจเรินตา หาได้ช่วยไห้ชาติบ้านเมืองนั้นพ้นจากความเสื่อมไม่ ด้วยเหตุนี้ วัธนธัมทางจิตไจจึงเปนสิ่งสำคันยิ่ง ที่จะทำไห้ชาติบ้านเมืองจเรินรุ่งเรือง (*)
(*) เรื่องเกียวกัน หน้า 51

ดังนั้น การเปลี่ยน "จิคใจ" หรือ "นิสัยใจคอ" ของพลเมือง ให้มีคุณลักษณะที่เอื้อต่อการสร้างความเจริญแก่ชาติ (ตามทัศนะของชนชั้นนำ) จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง โกวิท ป. ประพันธ์ไพรัชพากษ์ ได้นิยาม "ผู้มีวัธนธัมทางจิตใจ" ว่าจะต้องมีคุนสมบัติดังนี้

1. เปนผู้รักสาไว้ซึ่งเกียรติและความเปนเอกราชของชาติ
2. เปนผู้เสียสละให้แก่ชาติ
3. เปนผู้ซื่อตรง
4. เปนผู้รักสาวินัยอย่างเคร่งครัด
5. เปนผู้กล้าหาน
6. เปนผู้รักความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุส
7. เปนผู้รักเกียรติสักติของตน
8. เปนผู้ทำงานด้วยความเข้มแข็งอดทน
9. เปนผู้มีความสุภาพเปนนิสัย (*)
(*) เรื่องเกียวกัน หน้า 51-52

โกวิท ป. ประพันธ์ไพรัชพากษ์เน้นในตอนท้าย เกี่ยวกับความหมายของ "การเปนผู้รักษาไว้ซึ่งเกียรติและความเปนเอกราชของชาติ" ในแนวทางเดียวกับปัญญาชนกระแสหลักอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและหลวงวิจิตรวาทการ ดังความว่า

การเปนผู้รักษาไว้ซึ่งเกียรติและความเปนเอกราชของชาตินั้น หมายถึงว่า เมื่อเราถือตามรัถนิยมว่า ชาติไทยต้องอยู่เหนือสิ่งได ๆ แล้ว เราก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อรักสาความสักดิสิทธิแห่งรัถนิยมนี้ ที่จะทำได้ดังนี้ เราจะต้องส้างจิตไจของเราไห้รู้สึกว่า เราภูมิใจที่เปนคนไทย โดยประการที่เรามีอิสระภาพ เรามีสาสนา เรามีภาสา เรามีขนบทำเนียมประเพนี และเรามีวัธนธัมประจำชาติดีเท่ากับชาติอื่นที่มีอารยะธัมสูงด้วยกัน และบางอย่างดีกว่าเสียด้วยซ้ำ... (*)
(*) เรื่องเดียวกัน หน้า 52

ในตอนท้าย โกวิท ป. ประพันธ์ไพรัชพากษ์ ชี้ให้เห็นเป้าหมายที่จะบรรลุถึง หากการสร้างวัฒนธรรมทางจิตใจสำเร็จลง ซึ่งไม่แตกต่างจากปัญญาชนกระแสหลักอื่น ๆ นั่นคือ

ผู้ซึ่งมีวัธนธัมทางจิตใจดังกล่าวนี้คงคิด คงพูด และคงทำหย่างเดียวกัน และสืบเนื่องกันทุกคนไป นี่ก็คือถือปรัชญาอันเดียวกันนั่นเอง เมื่อดังนี้แล้ว แต่ละคนก็จะแข่งกันทำความดีให้แก่ชาติบ้านเมือง...ไนที่สุดก็จะแข่งขันรักสาความเปนไทย เพราะไม่ยอมเปนทาสซึ่งจิตไจจะพบแต่ความทรมาน (*)
(*) เรื่องเดียวกัน หน้า 62

นาถ โพธิประสาท - การสร้างศิลปะประจำชาติ
ส่วนสถาปนิก เช่น นาถ โพธิประสาท (*) ก็ให้ความสำคัญแก่การสร้างศิลปะประจำชาติ เพื่อเป็นเครื่องช่วยรวมจิตใจของคนในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเสนอความคิดว่า

โดยเหตุที่งานงานสิลปกัมเปนงานที่เกี่ยวกับชีวิตจิตไจของมนุส ...การยึดถือแนวทางร่วมกันเปนอุดมคติ ย่อมบังเกิดผลดีทางส่วนรวม, และไม่ทำให้เกิดความรู้สึกไนเรื่องชาติผสม งานสถาปัตยกรรมจะเปนสื่อที่ประสานสามัคคีธัมของประเทสชาติได้เปนหย่างดี...

ความคิดที่จะประดิถไนงานสถาปัตยกัมเพื่อไห้เกิดลักสนะ "สถาปัตยกัมประจำชาติ" ขึ้นได้นั้น เปนสิ่งซึ่งทุกประเทสชาติพึงหวังเปนหย่างมาก เพื่อไห้ประชากรทั้งมวลได้สำนึกว่า งานสถาปัตยกัมทุกส่วนที่ได้เสกสัน, ปั้นขึ้นด้วยน้ำมือของเรา ด้วยจิตไจของชาวไทเรา ซึ่งจะได้ฝังแฝงอยู่ไนงานประดิถนั้นทุกชิ้นทุกอัน.... (**)

(*)นาถ โพธิประสาท (นารถ โพธิประสาท) จบการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาวิทยาลัยลิ้วอร์พูล ประเทศอังกฤษ เป็นผู้ริเริ่มและจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

(**)นาถ โพธิประสาท, "งานสถาปัตยกัมของเราจะก้าวไปทางไหน" ใน 70 ปี ราชบัณฑิตวิชาชาญ ราชบัณฑิตสถานจัดพิมพ์ เป็นที่ระลึกในโอกาสคล้ายวันสถาปนาราชบัณฑิตสถานครบ 70 ปี 31 มีนาคม 2547 กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2547. (พิมพ์ครั้งแรกใน สมุดที่ระลึกวันราชบัณฑิตสถาน 31 มีนาคม 2486).

หลวงวิจิตรวาทการ - ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่หลวงวิจิตรวาทการเน้นในทศวรรษ 2480 สอดคล้องกับความหมายที่บรรดาปัญญาชนข้างต้นเสนอ หลังจากทศวรรษ 2480 แล้ว หลวงวิจิตรวาทการได้เปลี่ยนมาเน้นความสำคัญของ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ตามแนวทางที่ปัญญาชนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สถาปนาไว้มากขึ้น ดังจะวิเคราะห์โดยละเอียดต่อไปข้างหน้า

แม้ว่าหลวงวิจิตรวาทการจะเป็น "ลูกจีน" โดยกำเนิด แต่เป็นผู้ที่ได้รับการกล่อมเกลาในวัฒนธรรมทางความคิดของไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะได้บรรพชาเป็นสามเณรในชนบทแถบอุทัยธานีตั้งแต่มีอายุได้ 5 ปี (*) และได้บวชเรียนจนกระทั่งสอบได้เปรียญ 5 ประโยค ในระหว่างที่บวชเรียน ณ วัดมหาธาตุในกรุงเทพฯ ได้ติดตามอ่านพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยความกระตือรือร้น และเมื่อลาสิกขาออกมารับราชการ ก็เลือกรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในนามของ "ชาติไทย" ในความสัมพันธ์กับนานาประเทศ เมื่อหลวงวิจิตรวาทการออกไปประจำในสถานทูตไทย ณ ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ก็ต้องทำงานโดยคำนึงถึง "เอกลักษณ์" ของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" อยู่เสมอ

(*) ครอบครัวชาวจีนที่อพยพไปอยู่ในชนบทในเวลานั้นยังมีจำนวนน้อย จึงกลืนตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวบ้าน ต่างจากครอบครัวชาวจีนที่อาศัยอยู่ในชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ เช่น ชาวจีนในแถบเยาวราช ซึ่งจะสืบทอดวัฒนธรรมจีนเอาไว้มาก

นับตั้งแต่ทศวรรษ 2470 หลวงวิจิตรวาทการได้สร้างสรรค์ผลงานจำนวนมาก ทั้งงานเขียนประวัติศาสตร์ บทความ บทละคร บทเพลง การแสดงปาฐกถา และซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นไปเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐ ทำให้หลวงวิจิตรวาทการมีบทบาทอย่างมากในการปลูกฝังวิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" โดยเฉพาะวิธีคิดที่มาจากมโนทัศน์ที่ว่า "ชาติไทย" เป็น "ชาติของคนเชื้อชาติไทย" เป็นชาติเก่าแก่ที่มี "ความเป็นไทย" อันเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ และคนไทยพึงเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพื่อให้ชาติมีเอกราชและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น โดยที่ความคิดบางประการเป็นความคิดที่หลวงวิจิตรวาทการสืบทอดจากปัญญาชนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ความคิดบางประการก็ได้รับการสร้างขึ้นโดยหลวงวิจิตรวาทการเอง ดังจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป

ความคิดสำคัญประการหนึ่งที่ปัญญาชนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างขึ้น และหลวงวิจิตรวาทกาได้พยายามสืบทอด ก็คือความคิดว่า "ชาติไทย" มีความศิวิไลซ์ทางศิลปะมาแต่โบราณ เพื่อให้คนไทยเกิดความภูมิใจในความยิ่งใหญ่และเก่าแก่ของ "ชาติไทย" และพร้อมที่จะเสียสละเพื่อชาติ. ในฐานะอธิบดีกรมศิลปากร หลวงวิจิตรวาทการพยายามทำให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางถึงเอกลักษณ์ของศิลปะไทย ที่บ่งบอกความเจริญระดับสูงของ "ชาติไทย" (*) ความคิดสำคัญที่สุดที่หลวงวิจิตรวาทการทำให้มีพลังสูงขึ้นมาก คือความคิดที่ว่า "ชาติไทย" เป็นชาติของคน "เชื้อชาติไทย"

(*) หลวงวิจิตรวาทการ, "ปาฐกถาเรื่องการศิลปากร (ส่วนที่เกี่ยวกับข้าหลวงประจำจังหวัด)" 8 มิถุนายน 2478 ใน อธิบดีคนแรกของกรมศิลปากร พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ: จงเจริญการพิมพ์, 2435. หน้า 66-69.

ภูมิหลังและความหมายทางการเมืองของการเน้น "เชื้อชาติไทย"
การเน้น "เชื้อชาติ" ในแง่กลุ่มคนที่สืบสายเลือดกันมาแต่โบราณ แม้จะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในสมัยนั้นยังมิได้ให้ความสำคัญแก่การสืบสายเลือดในลักษณะที่จะทำให้คนใน "ชาติไทย" มีความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยอัตโนมัติ เพราะมุ่งเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอันเนื่องมาจากการยึดมั่นในพระมหากษัตริย์องค์เดียวกัน และการนับถือศาสนาพุทธเหมือนกันมากกว่า

ส่วนการเน้นประวัติศาสตร์อันยาวนานของ "ชาติไทย" แต่โบราณ แม้ว่ามีนัยของการเล่าเรื่องราวของ "ชนชาติไทย" ที่สืบสายเลือดกันมาอย่างยาวนานอยู่ด้วย แต่จุดเน้นก็อยู่ที่การทำให้คนไทยรับรู้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของ "ชาติไทย" ก่อนชาติอื่น ๆ และการที่ "ชาติไทย" สามารถรักษาเอกราชเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความภาคภูมิในความสามารถ ความเสียสละ และความสามัคคีของชนชาติไทย อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างที่คนไทยทั้งปวงจะต้องมีความสามัคคีและเสียสละได้แม้แต่ชีวิตเพื่อชาติเช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษได้เคยทำมาแล้ว นอกจากนี้ ความภาคภูมิใจนี้ยังทำให้เกิดความรักใน "ชาติไทย" และเห็นความสำคัญของผู้นำแห่งชาติ รวมทั้งช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองในภาวะที่ต้องเผชิญกับความเหนือกว่าของชาติตะวันตก ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติอัตลักษณ์เพราะสูญเสียความเชื่อมั่นในคุณค่าของ "ความเป็นไทย" อีกด้วย

เนื่องจาก "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการนิยามโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีจุดมุ่งหมายหลักอยู่ที่การทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มั่นคง หัวใจของ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการนิยามจึงเน้นอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ พระพุทธศาสนา (รวมถึงศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา) และภาษาไทย ทั้งสามส่วนนี้ เป็น "ภูมิธรรม" ของไทย ซึ่งช่วยจรรโลงความสัมพันธ์ทางสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น และจรรโลงโครงสร้างการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่สถาบันและองค์พระมหากษัตริย์ เช่น

- มีขนบธรรมเนียมประเพณี "แบบไทย" รวมทั้งพระราชพิธี "แบบไทย" จำนวนมากที่แวดล้อมพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้พระองค์ทรงอยู่ในสถานะศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง

- มีพระพุทธศาสนา "แบบไทย" ที่ช่วยให้ความหมายแก่พระมหากษัตริย์ เช่น มีการแสดงพระธรรมเทศนา "พระมงคลวิเสสกถา" สรรเสริญพระคุณลักษณะอันวิเศษขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้พระองค์ทรงมีความชอบธรรมทุกประการที่จะทรงครอบครองพระราชอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ (**) และ

- มีราชาศัพท์ใน "ภาษาไทย" ที่ตอกย้ำสถานะอันสูงสุดในระบบการสื่อสารทางสังคม เป็นต้น
(**) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พระมงคลวิเสสกถา. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2497.

ดังนั้น "ความเป็นไทย" ดังที่กล่าวมาข้างต้น อันเป็นส่วนสำคัญของ "ชาติไทย" ในทางจิตใจและทางวัฒนธรรม จึงได้รับการเน้นเป็นอย่างมากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในขณะที่มีการเลือกรับความเจริญทางวิทยาการและเทคโนโลยีจากตะวันตก เพื่อใช้เป็นกลไกทางอำนาจของรัฐอย่างเข้มข้น

จะเห็นได้ว่า "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการเน้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่เกี่ยวกับเรื่อง "เชื้อชาติ" หรือการสืบสายเลือดโดยตรง แต่การเรียกชื่อชาติว่า "ไทย" และความจำเป็นในการเขียนประวัติศาสตร์เพื่อยืนยันความสำคัญของพระมหากษัตริย์ต่อ "ชาติไทย"/"เมืองไทย" โดยเน้นความสำเร็จของพระมหากษัตริย์ในอดีตในการกอบกู้และรักษาเอกราชของชาติ ตลอดจนพระราชกรณียกิจในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ "ชาติไทย"/"เมืองไทย" มาอย่างยาวนาน ก็ทำให้จำเป็นต้องให้ความสำคัญแก่เรื่องการสืบสายเลือดของชนชาติไทยอยู่ด้วย หนังสือเรื่อง "หลักไทย" ของขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งเน้นการสืบสายเลือดของคน "เชื้อชาติไทย" อันทำให้ "ชาติไทย" มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางเชื้อชาติมาแต่โบราณ จึงได้รับการตัดสินให้เป็นหนังสือดีและได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

หนังสือเรื่อง "หลักไทย" ซึ่งได้รับการเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2471 และภายใน 7 ปี หนังสือนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง 7 ครั้ง นับเป็นหนังสือสำคัญที่ทำให้แนวคิดเรื่อง "เชื้อชาติ" ในแง่ของการสืบสายเลือดของชนชาติไทยมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง เพราะเล่าถึงเรื่องราวของชนชาติไทยตั้งแต่สมัยโบราณที่อพยพมาจากตอนใต้ของจีน และสืบสายเลือดกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยเน้นคุณลักษณะของชนชาติไทยที่มีความกล้าหาญ ความสามัคคี และความเสียสละในการต่อสู้เพื่อรักษาอิสรภาพของชาติ ไม่ยอมตกเป็นข้าของชาติใด

การเน้นเรื่องการสืบสายเลือดยังเห็นได้ชัดในเนื้อร้อง "เพลงชาติไทย" ที่ขุนวิจิตรมาตราแต่งใน พ.ศ.2475 และกลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมก่อนหน้าที่จะเกิดเพลงชาติฉบับทางการเป็นเวลาหลายปี "เพลงชาติไทย" ของขุนวิจิตรมาตรานี้มีความว่า คนไทย "สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา...อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า ..." (*) ในขณะที่นายฉันท์ ขำวิลัย ก็ได้แต่งเพลงชาติที่มีเนื้อร้องคล้ายกัน คือ "เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย" (**) ซึ่งสะท้อนว่ามีการเน้นเรื่อง "เชื้อชาติ" อย่างกว้างขวางแล้ว ก่อนที่หลวงวิจิตรวาทการและจอมพล ป. พิบูลสงครามจะทำให้ความคิดที่ว่า "ชาติไทย" เป็นชาติของ "คนเชื้อชาติไทย" กลายเป็นความคิดที่ครอบงำคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางยิ่งขึ้น

(*) ขุนวิจิตรมาตรา, 80 ปีในชีวิตของข้าพเจ้า พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพขุนวิจิตรมาตรา 9 ตุลาคม 2523. กรุงเทพฯ: บัณฑิตการพิมพ์, 2523. หน้า 406-407.
(**) อ้างใน เริงไชย พุทธาโร เหม เวชกร จิตรกรมือเทวดา หลวงสารานุประพันธ์ ราชาเรื่องลึกลับผู้ประพันธ์เพลงชาติไทย. กรุงเทพฯ: ธานธิตรเพรส, 2531. หน้า 191.

การเปลี่ยนชื่อจาก"สยาม" เป็น"ไทย"
การเน้นเรื่องการสืบสายเลือดอย่างเต็มที่โดยหลวงวิจิตรวาทการ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐนั้น เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475. ในคำชักชวนของกระทรวงกลาโหมให้เรียกชื่อประเทศว่า "ไทย" เน้นเหตุผลด้าน "เชื้อชาติ" อย่างตรงไปตรงมา เช่นระบุว่าชื่อเดิมนั้น "ไม่สมชื่อที่เป็นเชื้อชาติไทย ในการที่จะใช้ชื่อประเทศอย่างหนึ่งแต่ชื่อพลเมืองไปอย่างหนึ่ง…ชนชาติไทยเป็นเชื้อชาติที่ใหญ่หลวง สมควรเรียกให้สมศักดิ์ศรีของคนไทย" (*)

(*)หนังสือพิมพ์ประมวญวัน 6 มิถุนายน 2482 อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482" ศิลปวัฒนธรรม 25,8 (มิถุนายน 2547): 88, 95.

การให้เหตุผลในการเปลี่ยนชื่อประเทศ สะท้อนความคิดที่ให้ความสำคัญกับ "เชื้อชาติไทย" อย่างเต็มที่และตรงไปตรงมา ดังที่จอมพลป. พิบูลสงคราม กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศ มีความว่า

"เมื่อเราได้กำหนดวันที่ 24 มิถุนายนให้เป็นวันชาติแล้ว ฉะนั้น ควรเปลี่ยนนามประเทศ "สยาม" เป็นประเทศไทย เพราะประเทศต่าง ๆ เขาก็ตั้งชื่อประเทศตามเชื้อชาติของเขา เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ปรึกษาหลวงวิจิตรวาทการแล้ว ก็เห็นชอบด้วย" (*)

(*) อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482 ศิลปวัฒนธรรม 25, 8 (มิถุนายน 2547): 80.

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย "รัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ" ซึ่งน่าจะร่างโดยหลวงวิจิตรวาทการ ก็กล่าวว่า "รัฐบาลเห็นสมควรใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชนชาวไทย" (*) ในต้นทศวรรษ 2480 หลวงวิจิตรวาทการเน้นความคิด "เชื้อชาติไทย" ในแง่การสืบสายเลือดเป็นอย่างมาก เช่น บทเพลง "เลือดไทย" เน้นว่า "เลือดไทยกล้าหาญ...โลหิตสายเดียวกลมเกลียวกันไว้" (**) ส่วนบทกวี "การเคารพธงชาติ" ก็เน้น "ชาติ" ของคนไทยทุกชนชั้น ที่สืบสายเลือดกันมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต (***)

(*) อ้างในเรื่องเดียวกัน, หน้า 90.
(**) "หลวงวิจิตรวาทการ, "ความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติระหว่างไทยกับเขมร" ใน สารคดีและสิ่งน่ารู้จากปาฐกถา และคำบรรยายของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ กรุงเทพฯ: เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2516. หน้า 6.

(***) หลวงวิจิตรวาทการ, "การเคารพธงชาติ" วิจิตรวาทการอนุสรณ์ เล่ม 2 ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 16 สิงหาคม 2525. กรุงเทพฯ: สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2505. หน้า 193.

ในการเสนอความคิดเรื่อง ชาตินิยม ใน พ.ศ.2490 หลวงวิจิตรวาทการยังคงเน้นการสืบสายเลือด "รักคนที่สืบสายโลหิตและมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมา โดยไม่จำกัดเขตว่าคนเช่นนั้นจะอยู่ในประเทศใด" (*) จนถึง พ.ศ. 2500 หลวงวิจิตรวาทการ จึงขยายความหมายของ "เชื้อชาติ" ออกไปครอบคลุมถึงวัฒนธรรมและการมีชะตากรรมร่วมกัน โดยกล่าวว่า

คำว่าเชื้อชาติ หรือ Race หมายถึงการที่มนุษย์มีเชื้อสาย ภาษา วัฒนธรรม ขนบประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเดียวกัน…ชาติ...คือส่วนรวมของมนุษย์ที่มีเชื้อชาติเดียวกัน ร่วมโชคชะตากัน (**)

(*) หลวงวิจิตรวาทการ, ชาตินิยม พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ดำรงการพิมพ์, 2528. หน้า 37-38.
(**) หลวงวิจิตรวาทการ, "นโยบายชาตินิยม" รำลึก 100 ปี พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2541. หน้า 146-147.

จะเห็นได้ว่าหลวงวิจิตรวาทการเน้นชาตินิยมตามคติ "เชื้อชาตินิยม" อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนความหมายของคำว่า "เชื้อชาติไทย" ก็ตาม. ปัจจัยที่ทำให้หลวงวิจิตรวาทการและรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเน้นเรื่อง "เชื้อชาติ" อาจสรุปได้ดังนี้

1. การเปลี่ยนระบอบการปกครองภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475
2. นโยบายสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง
3. การกีดกัน "ลูกจีน" มิให้มีอำนาจทางการเมือง

1. การเปลี่ยนระบอบการปกครองภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475
การเปลี่ยนระบอบการปกครองภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ทำให้ผู้นำในระบอบใหม่จำเป็นต้องลดความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้ผู้นำในระบอบใหม่มีสถานภาพสูงสุดแทน แต่ผู้นำในระบอบใหม่เป็นเพียงสามัญชนที่ก้าวขึ้นมาจากสถานะข้าราชการระดับกลางเท่านั้น โดยที่ความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญยังขาดความมั่นคงอยู่มาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงต่อระบอบการปกครองใหม่ ในขณะเดียวกันคนที่มีความรู้ในเขตเมืองก็ยังไม่ยอมรับอำนาจของผู้นำในระบอบใหม่อย่างเต็มที่ เพราะยังมิใช่การใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะจอมพล ป. ต้องการจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ ซึ่งยากที่คนชั้นกลางในเขตเมืองจะยอมรับได้ ที่สำคัญ การรับรู้ "ความเป็นไทย" แบบเดิม (ซึ่งพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาเป็นสถาบันสำคัญแห่ง "ชาติไทย" ดังที่ปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นิยาม) ยังคงดำรงอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากแก่ผู้นำในระบอบใหม่ เพราะ "ความเป็นไทย" แบบเดิม ช่วยเสริมสร้างและจรรโลงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยตรง

ในเวลานั้นการรื้อถอน "ความเป็นไทย" แบบเดิม แม้ว่ามีความจำเป็น แต่ก็กระทำได้ในขอบเขตจำกัด เพราะนอกจากคนส่วนใหญ่จะอ่านหนังสือไม่ออกและสื่อมวลชนก็แพร่หลายเฉพาะในเขตเมืองแล้ว ที่สำคัญก็คือ "ความเป็นไทย" แบบเดิมนี้ยังมีความสำคัญอย่างมากต่อการจรรโลงโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ผู้นำ เช่น ความจำเป็นในการเน้นสำนึกประวัติศาสตร์ที่จะทำให้คนไทยตระหนักในความสำคัญของ "ผู้นำ" ในการรักษาเอกราชของ "ชาติไทย" ทำให้ปัญญาชนของระบอบใหม่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวีรกรรมของพระมหากษัตริย์ในอดีต เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือความจำเป็นในการเน้นสำนึกประวัติศาสตร์ที่ผู้นำมีความสำคัญอย่างสูง ในการสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่ "ชาติไทย" ก็ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเล่าเรื่องสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและสมเด็จพระปิยมหาราช เป็นต้น จะเห็นได้ว่า "ความเป็นไทย" แบบเดิมมีส่วนช่วยทำให้คนไทย "เชื่อผู้นำ" จนไม่อาจรื้อถอนลงไปอย่างสิ้นเชิง จะรื้อถอนได้เฉพาะส่วนที่ไม่กระทบต่ออำนาจเด็ดขาดสูงสุดของผู้นำในระบอบใหม่เท่านั้น (แต่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการรื้อถอนก็ยังขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเป็นอันมาก)

วิธีที่จอมพล ป. พิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น ก็คือการทำให้ "ชาติไทย" มีความสำคัญสูงสุดแทนพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำได้ด้วยการเน้น "เชื้อชาติไทย" แทน "หัวใจของความเป็นไทย" แบบเดิม เป็นการทำให้เกิดความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในฐานะที่มีสายเลือดเดียวกัน แทนการรู้สึกเป็นพวกเดียวกันจากความจงรักภักดีต่อหัวใจของ "ความเป็นไทย" เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้พระมหากษัตริย์ยังคงมีความสำคัญสูงสุดต่อไป

การเน้นความสำคัญสูงสุดของ "ชาติไทย" นี้ หมายถึงการทำให้คนรู้สึกว่า "ชาติไทย" มีความหมายเต็มเปี่ยมหรือมีความสูงส่งในตัวเอง มิใช่มีความหมายก็ต่อเมื่อมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น "หน้าตาของชาติ" หรือทรงเป็น "ประมุขของชาติ" ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยเน้นมาแล้ว นอกจากนี้ยังต้องทำให้ "ชาติไทย" มีความหมายตามอุดมคติของการปฏิวัติ พ.ศ.2475 คือเป็น "ชาติของประชาชน" หรือเป็น "ประชาชาติ" อย่างน้อยก็ในเชิงอุดมการณ์ ดังนั้น เมื่อยังไม่สามารถเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางวัฒนธรรมแบบใหม่อย่างเต็มที่ จึงไม่มีวิธีการใดที่จะดีไปกว่าการนำเอาเรื่อง "เชื้อชาติ" ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่รับรู้กันแพร่หลายพอสมควรแล้วขึ้นมาเน้น โดยเบียดขับ "ความเป็นไทย" ส่วนที่ส่งเสริมพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ พร้อมกับพยายามเน้น "ความเป็นไทย" เฉพาะในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อการจรรโลงอำนาจของ "ผู้นำ" ในระบอบใหม่เอาไว้

กล่าวได้ว่า จุดประสงค์ในการสถาปนาความมั่นคงให้แก่ผู้นำในระบอบใหม่ ทำให้เกิดการเน้นว่า "ชาติไทย" มีความสำคัญสูงสุด (เพราะหมายถึงคนไทยทั้งปวง ที่สืบสายเลือดกันมายาวนานแต่โบราณและจะสืบสายเลือดกันต่อไปในอนาคต) ถึงกับประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" โดยอ้างเหตุผลเรื่อง "เชื้อชาติ" นอกจากนี้ยังต้องเน้นด้วยว่าบรรพบุรุษของชนชาติไทยได้เสียสละถึงขั้น "หลั่งเลือด" ปกป้องเอกราชของชาติมาด้วยกันแต่โบราณ ซึ่งจะทำให้ "ชนชาติไทย" ยอม "หลั่งเลือด" เพื่อปกป้องเอกราชของ "ชาติไทย" สืบไปในอนาคต

พลังของความคิดเช่นนี้ จะช่วยให้เกิดการยอมรับอำนาจเด็ดขาดสูงสุดของผู้นำได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนทั่วไปตระหนักว่า สงครามโลกกำลังจะระเบิดขึ้น ในสภาวะสงครามนั้น เป็นการง่ายที่จะทำให้ทุกคนเชื่อว่าอำนาจเด็ดขาดสูงสุดของผู้นำเป็นสิ่งจำเป็น และคนไทยตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาแล้วที่ได้รับการปลูกฝังว่าการเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อปกป้องเอกราชของชาติ เป็นสิ่งที่มีเกียรติ อุดมการณ์ "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" จึงแพร่สะพัดออกไปพร้อมกับการเน้น "เชื้อชาติไทย" อย่างเข้มข้น (*)

(*) ด้วยเหตุผลข้างต้น การเน้นเชื้อชาติจนถึงกับตั้งชื่อประเทศตามชื่อเชื้อชาติ จึงไม่น่าจะเป็นผลโดยตรงจากการที่หลวงวิจิตรวาทการไปเวียดนามและได้พบว่ามีคนไทยอยู่นอกประเทศเป็นอันมาก แต่การไปเวียดนามน่าจะช่วยให้หลวงวิจิตรวาทการมีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น จนสามารถชี้แจงให้คนอื่น ๆ คล้อยตามได้ง่ายขึ้น

อนึ่ง ควรกล่าวด้วยว่า นอกจากการเน้น "เชื้อชาติไทย" แล้ว จอมพล ป. พิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการยังได้พยายามสร้าง "ความเป็นไทย" ชุดใหม่ขึ้นมารองรับระบอบใหม่ด้วย นั่นก็คือการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรมตามแนวทาง "รัฐนิยม" เพื่อความมั่นคงของ "ระบอบพิบูล" ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรมตามแนวทาง "รัฐนิยม" นี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยทำให้ "ระบอบพิบูล" มีความมั่นคงเพียงพอที่จะต้านทานอิทธิพลของกลุ่มที่นิยมเจ้าได้ เพราะเป็นวัฒนธรรมที่มีมิติของความเสมอภาคมากขึ้น สอดคล้องกับอุดมคติของระบอบใหม่ และเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เกื้อหนุนให้เจ้ามีสถานภาพและอำนาจเหนือชนชั้นอื่น

"รัฐนิยม" สำคัญประการหนึ่ง คือการกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็น "วันชาติ" ซึ่งแสดงถึงความพยายามที่จะทำให้ระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้รับการนิยามเป็นหนึ่งเดียวกับชาติ (*) ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่งในทางอุดมการณ์ เนื่องจากระบอบใหม่เป็นระบอบที่มีอุดมการณ์ว่าประชาชนเป็นเจ้าของชาติ หรือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยที่หลวงวิจิตรวาทการได้สร้างคำอธิบายที่เน้นว่าระบอบการปกครองใหม่ยึดเอา "มติมหาชน" เป็นหลักในการปกครอง เพียงแต่จะต้องเป็น "มติมหาชน" ที่ต้องผ่านกระบวนการ "มนุสสปฏิวัติ" เสียก่อน เพื่อจะทำให้มหาชนคิดอย่าง "ถูกต้อง" (ในทางปฏิบัติคือคิดในกรอบที่รัฐต้องการ จนกระทั่งผู้นำสามารถคิดแทนมหาชนได้ และหลวงวิจิตรวาทการสามารถกล่าวว่าความคิดของผู้นำย่อมสะท้อน "มติมหาชน" เสมอ เพราะผู้นำนั้น "เป็นตัวมติมหาชน เพราะจะพูดอะไร ทำอะไร คนจะพูดตาม ทำตาม" [*])

(*) เรื่องเดียวกัน, หน้า 97.
[*] โปรดดู สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้างชาติไทยและความเป็นไทยโดยหลวงวิจิตรวาทการ, หน้า 76-78.

อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรมและทางจิตใจได้ในเร็ววัน แม้ว่ารัฐบาลจะได้พยายามด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งด้วยการประกาศ "รัฐนิยม" หลายฉบับ ข้อจำกัดที่สำคัญได้แก่การศึกษาแผนใหม่และสื่อมวลชนที่ยังไม่ขยายตัวอย่างเพียงพอ และประชาชนส่วนใหญ่ ก็ยังคงดำรงชีวิตอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งทำให้วิถีชีวิตผูกพันกับ "ชุมชนท้องถิ่น" มากกว่าผูกพันกับ "ชาติไทย" ดังนั้น จอมพล ป. พิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการ จึงจำเป็นต้องหาทางกระตุ้นให้เกิดความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยเร่งรัดที่สุด ซึ่งวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ง่ายก็คือการกระตุ้นความรู้สึก "เชื้อชาตินิยม" นั่นเอง เพราะ "เชื้อชาตินิยม" จะทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกันหรือรู้สึกเป็นพวกเดียวกันในฐานะที่มีสายเลือดเดียวกัน เหมือนคนทุกคนในชาติเป็นญาติพี่น้องกัน และได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาช้านาน และลูกหลานเหลนโหลนที่จะเกิดต่อไปในภายหน้า ก็จะยังคงผูกพันกันและพึ่งพาอาศัยกันตลอดไป โดยเฉพาะในการสามัคคีและเสียสละเพื่อทำให้ "ชาติไทย" มีเอกราชและมีความเจริญรุ่งเรือง อันจะส่งผลดีต่อทุกคนในชาติ ดังที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามทำการโฆษณาอยู่เสมอ

2. นโยบายสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง
นโยบายสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งนอกจากจะเกิดขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจของจอมพล ป. รวมทั้งความชอบธรรมในการทุ่มเทงบประมาณในการสร้างกองทัพ ซึ่งเป็นฐานอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป . แล้ว ยังเป็นผลมาจากบรรยากาศอันตึงเครียดของโลก ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าสงครามโลกจะระเบิดเป็นเวลานานหลายปี ปัญหาที่จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการคำนึงถึงมากก็คือ "เราจำจะต้องเป็นมหาประเทศ หรือมิฉะนั้นก็จะต้องล่มจม...ประเทศเล็ก ๆ จะต้องถูกกลืนหายเข้าไปในประเทศใหญ่" (*) หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ที่ติดตามสถานการณ์ระดับโลกอย่างใกล้ชิด และรู้ข้อมูลเกี่ยวกับมหาอำนาจที่บุกเข้ายึดครองประเทศอ่อนแอเป็นอย่างดี เช่น การที่ญี่ปุ่นยึดครองแมนจูเรียและเกาหลีตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2470 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการต้องหาทางป้องกันมิให้ประเทศสยามต้องตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้น

(*) เรื่องเดียวกัน, หน้า 94.
(**) โปรดดูรายชื่อข้อเขียนจำนวนมากของหลวงวิจิตรวาทการ ที่เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในทศวรรษ 2470 ใน สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. หน้า 30-31.

ชาตินิยมเพื่อต่อต้านชาวจีน
นโยบายสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง ทำให้ต้องเน้นชาตินิยมแบบเชื้อชาตินิยมเพื่อต่อต้านชาวจีน ทั้งนี้เพราะรัฐบาลจอมพล ป.ต้องการร่วมมือกับญี่ปุ่น ถ้าไม่ต่อต้านจีน การเคลื่อนไหวของนักชาตินิยมจีน จะไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจไทยเนื่องจากมีการส่งเงินมหาศาลออกนอกประเทศเพื่อช่วยชาติจีนรบกับญี่ปุ่นเท่านั้น แต่นักชาตินิยมจีนในประเทศไทยยังเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคอันสำคัญต่อการที่รัฐบาลจะร่วมมือทางทหารกับญี่ปุ่น ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องทำการต่อต้าน "เชื้อชาติจีน" ในนามของชาตินิยมไทย ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างอุปสรรคมิให้นักชาตินิยมจีนเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยได้สะดวก การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลไทยย่อมจะสร้างความพึงพอใจให้แก่ญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง เป็นไปได้ว่านโยบายต่อต้านจีนของรัฐบาลไทย ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นตอบแทนด้วยการสนับสนุนให้ประเทศไทยได้ดินแดนบางส่วนของอินโดจีน "กลับคืน" มาจากฝรั่งเศส และสามารถพัฒนาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นต่อกัน ในฐานะพันธมิตรแห่งวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาได้ในเวลาต่อมา

นอกจากความร่วมมือกับญี่ปุ่นแล้ว นโยบายสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทองยังทำให้รัฐบาลต้องการความร่วมมือจากประชาชน การปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมแบบเชื้อชาตินิยมจะช่วยให้สามารถเน้นคุณสมบัติต่าง ๆ ที่รัฐต้องการให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในสายเลือดของชนชาติไทยมาแต่โบราณ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นคุณสมบัติที่ไม่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน แต่ก็สามารถรื้อฟื้นให้ปรากฏขึ้นมาได้ เช่น "นิสัยก่อสร้าง" "นิสัยรักความประณีต" "นิสัยงอกงาม" "นิสัยต่อสู้" ซึ่งเคยปรากฏอย่างเด่นชัดในสมัยสุโขทัย เป็นต้น (*)

(*)สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้างชาติไทยและความเป็นไทยโดยหลวงวิจิตรวาทการ. หน้า 134-148.

ขณะเดียวกันการสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง ย่อมหมายถึงการที่จะต้องขยายอำนาจอธิปไตยของไทยออกไปยังดินแดนต่าง ๆ โดยรอบ ซึ่งนโยบายนี้จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน วิธีที่ง่ายที่สุดจึงได้แก่ การทำให้คนในประเทศรู้สึกว่าประชาชนในดินแดนที่ไทยจะขยายอำนาจออกไปนั้นเป็น "เลือดเนื้อเชื้อไข" เดียวกันกับคนไทยในประเทศไทย ดังนั้น การเน้น "เชื้อชาติไทย" จึงช่วยสร้างแรงสนับสนุนให้แก่การสร้างกองทัพและการขยายอำนาจของรัฐบาลเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ หลวงวิจิตรวาทการจึงไม่เพียงแต่กล่าวว่า "ถิ่นไทยอันกว้างขวางซึ่งตั้งอยู่เหนือสิบสองจุไทย...มีเลือดเนื้อเชื้อไขเราอยู่ 24 ล้านคน ซึ่งยังถือตนเป็นคนไทย พูดภาษาไทย มีชีวิตจิตใจเป็นไทย" (*) เท่านั้น แต่ยังนิยามความหมายของ "เชื้อชาติไทย" ไว้กว้างขวางมาก คือครอบคลุมทุกชนชาติในแหลมทอง (จะไม่ครอบคลุมก็แต่ชาวจีนที่ยังไม่กลายเป็นไทยเท่านั้น)

(*) หลวงวิจิตรวาทการ "ปาฐกถาเรื่องการเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส" แสดงแก่ครูอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนกรมยุทธศึกษา 18 ตุลาคม 2483 ใน วิจิตรอนุสรณ์ กรุงเทพฯ: สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2505. หน้า 157-162.

ในละคร "ราชมนู" ตัวละครกล่าวว่า "เขมรเป็นชื่อสมมุติแท้ ๆ พวกเราในแหลมทองนี้ทั้งแหลม พวกเดียวกันทั้งนั้น" (*) ในละคร "พ่อขุนผาเมือง" ตัวละครกล่าวว่า "ทั้งญวน แกว และเขมรล้วนเป็นไทย" (**) คำบรรยาย "ชาติไทยจะชนะ" ระบุว่า "ชาติไทยในที่นี้...ข้าพเจ้าหมายตลอดถึงพี่น้องของเราฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และในกรุงกัมพูชาด้วย" (***) ส่วนการปาฐกถา "การเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส" หลวงวิจิตรวาทการก็กล่าวว่า ดินแดนลาวและเขมร "เป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทย เลือดไทย ซึ่งเป็นหน่อเนื้อเชื้อเดียวกับเรา มีจำนวนสี่ล้านคน" แล้วยังสร้างความสะเทือนใจอย่างมากเพื่อให้ผู้ฟังสนับสนุนการเข้าไปช่วยเหลือ "หน่อเนื้อเชื้อเดียวกับเรา" ให้พ้นจากการถูกฝรั่งเศสกดขี่ข่มเหงด้วย โดยกล่าวว่า

ทุก ๆ ครั้งที่ข้าพเจ้าไปแลเห็นแม่น้ำโขง ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนว่าน้ำที่ไหลอยู่นั้นคือน้ำตาของชาวไทย พวกเราทางฝั่งนี้เป็นอิสระเสรี แต่พี่น้องเราทางฝั่งโน้นถูกกดขี่ข่มเหงอยู่ทุกวัน...ภาษีใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง การเร่งรัดภาษีได้กระทำด้วยพลการอันน่าสยดสยอง (****)

(*) อ้างใน ประอรรัตน์ บูรณมาตร์, หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2528. หน้า 88.
(**) อ้างในเรื่องเดียวกัน, หน้า 89.
(***) อ้างในเรื่องเดียวกัน, หน้า 40.
(****) หลวงวิจิตรวาทการ "ปาฐกถาเรื่องการเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส" แสดงแก่ครูอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนกรมยุทธศึกษา 18 ตุลาคม 2483 ใน วิจิตรอนุสรณ์. หน้า 138.

จะเห็นได้ว่าการปลุกเร้า "ชาตินิยมแบบเชื้อชาตินิยม" มีความสำคัญอย่างสูงต่อนโยบายสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๐๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑ : Release date 08 July 2008 : Copyleft by MNU.

ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ การนิยาม"ชาติไทย" และ"ความเป็นไทย" โดยปัญญาชนในระบบอบใหม่ มิได้เปลี่ยนแปลงมากถึงระดับที่รื้อถอนหรือเบียดขับความหมายเดิม ตรงกันข้าม แม้จะมีการเสนอความคิดใหม่บางประการขึ้นมาเพื่อตอบสนองบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป แต่ความคิดใหม่เหล่านั้น ก็มิได้ขัดแย้งกับความคิดเดิม และนับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา กลับมีความพยายามในการรื้อฟื้นความหมายเดิมของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ทำให้วิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทยไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบอบการปกครองมากนัก จนกล่าวได้ว่ามีความสืบเนื่องของวิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ในช่วงก่อนและหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 เป็นอย่างมาก

H