ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




03-05-2551 (1551)

เล่าขานประวัติศาสตร์ และบทวิพากษ์การต่อสู้หลายแนวทางรัฐปัตตานี
บทวิเคราะห์ย้อนรอย สถานการณ์ภาคใต้ยุครัฐประหาร (๑๙ กันยา)
คณะทำงานสนามข่าวสีแดง : ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สมัชชา นิลปัทม์ : กองบรรณาธิการ DSW (Deep South Watch - deepsouth bookazine)
บทความชิ้นนี้ได้รับการบรรจุเข้าโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความเพื่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และสิทธิทางสังคม-วัฒนธรรม
บทความขนาดยาวนี้เดิมชื่อ "สัญญาณอันตราย....สงครามกลางเมือง" ซึ่งเคยตีพิมพ์แล้วใน
deepsouth bookazine เล่มที่ ๑ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้
โดยเฉพาะในช่วงหลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยา เริ่มต้นด้วยการกล่าวคำขอโทษของนายกฯ
สุรยุทธ์
แต่เหตุความรุนแรงไม่ได้บรรเทาลง มีการติดอาวุธให้ ชรบ.และ อรบ.ประจำหมู่บ้าน เกิดการยั่วยุ
ชุมนุมประท้วง ปิดถนน ฯลฯ อันนำไปสู่การเผชิญหน้า และยังคงมีการฆ่ารายวัน ที่เหี้ยมโหดขึ้น
เพื่อสร้างความหวาดกลัว ซึ่งอาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิม
อันเป็นมูลเหตุและเงื่อนไขสงครามกลางเมือง ทางออกสำหรับปัญหาเหล่านี้ ได้มีการวิเคราะห์
ผ่านปากคำของนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนที่สนใจปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่
พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันในบ้านเมืองอื่น ที่ใช้เป็นกรณีศึกษา
เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินไปสู่ภาวะที่ไร้ทางออกโดยไม่จำเป็น
www.deepsouthwatch.org
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๕๑
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เล่าขานประวัติศาสตร์ และบทวิพากษ์การต่อสู้หลายแนวทางรัฐปัตตานี
บทวิเคราะห์ย้อนรอย สถานการณ์ภาคใต้ยุครัฐประหาร (๑๙ กันยา)
คณะทำงานสนามข่าวสีแดง : ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สมัชชา นิลปัทม์ : กองบรรณาธิการ DSW (Deep South Watch - deepsouth bookazine)
บทความชิ้นนี้ได้รับการบรรจุเข้าโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

อ่านบทความเกี่ยวเนื่อง ลำดับที่ ๑๕๔๔ (The Hidden Power: สงครามความคิด-การต่อสู้ยืดเยื้อทางทิศใต้)

ไม่มีสิ่งใดที่จะเลวร้ายยิ่งไปกว่า "สงครามกลางเมือง"
ไม่มีความสุขสำหรับผู้แพ้ที่ต้องถูกเพื่อนของตัวเองทำลาย
และก็ไม่มีความสุขสำหรับผู้ชนะที่จะต้องทำลายเพื่อนของเขาเอง
ไดโอนิเซียส แห่ง ฮัลลิคาร์นาซซัส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก

สัญญาณอันตราย... สงครามกลางเมือง
"ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำอะไร...เราจะทำเอง" เสียงหนึ่งเล็ดลอดมาระหว่างการสนทนาอันร้อนรุ่มที่ศาลาประชาคมกลางหมู่ที่ 4 ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ในบ่ายวันหนึ่งปลายเดือนมีนาคม ถ้อยคำหลุดห้วงไปพร้อมเข้าแทนที่ด้วยความเงียบอึดลมหายใจ วงสนทนาจึงเริ่มขึ้นอีกครั้งระหว่างผู้มาเยือนกับกลุ่มชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธหลายสิบชีวิต

"ทำ" ในความหมายของพวกเขาที่เปิดเผยแก่ผู้มาเยือน คือ"การจับอาวุธปกป้องชีวิตของตัวเองและพวกพ้องในชุมชน" เพราะสิ่งที่ชาวบ้านธรรมดาอย่างพวกเขารับรู้ในขณะนี้คือ การโจมตีโดย "คนร้าย" อย่างเหี้ยมโหด ขณะที่เจ้าหน้าที่ นอกจากจะไม่สามารถป้องกันเหตุใดๆ ได้แล้ว ยังไม่สามารถหา "คนร้าย" มาลงโทษตามกระบวนการกฎหมายได้. ไม่ว่าจะจริงมากน้อยเพียงใด พวกเขาก็เข้าใจและรู้สึกอย่างนี้ อย่างน้อยเสียงสะท้อนจากชาวบ้านไทยพุทธแห่งอำเภอสะบ้าย้อย ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่เป็น "ชนส่วนน้อย" ในพื้นที่ซึ่งได้ชื่อว่ามีคนมลายูมุสลิมเป็น "ชนส่วนใหญ่" อาจทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกวันนี้แจ่มชัดขึ้น

คลื่นความรุนแรงถาโถม
บทวิเคราะห์ของศูนย์เฝ้าระวังฯ ความรู้สถานการณ์ภาคใต้เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า คลื่นความรุนแรงรอบใหม่ที่เริ่มต้นตั้งแต่มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจที่กรุงเทพเมื่อกันยายนปีที่แล้ว มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบจากสถิติก่อนหน้านั้นและเทียบจากสถิติช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า. ในขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสะสมเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน เหยื่อที่เป็น "พลเรือน"ยังคงครองตำแหน่งเป้าหมายจากการโจมตีมากที่สุด เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่เป็นตำรวจ ทหาร ลูกจ้างรัฐ และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในขณะเดียวกัน สถิติที่รวบรวมจากหลายฐานข้อมูลยังระบุว่า ชีวิตของเหยื่อที่เป็นมุสลิมและพุทธต่างสูญเสียไปจากเหตุการณ์ในจำนวนไม่ต่างกันมากนัก

คลื่นความรุนแรงรอบนี้ยังเป็นข้อพิสูจน์ว่า ไม่ว่าอำนาจส่วนกลางของรัฐไทยจะเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลให้ท่าทีและนโยบายในการแก้ปัญหาจากรัฐบาลจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใดก็ตาม ผู้นิยมความรุนแรงยังคงก่อเหตุร้ายได้อย่างสม่ำเสมอ (คำถามคือ) เกิดอะไรขึ้นที่ชายแดนใต้?

ในสถานการณ์.. มีสงคราม
ภายใต้การนำของอดีตนายทหารรบพิเศษ 2 คน - พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งประกาศว่าจะใช้ "การเมืองนำการทหาร" เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่ชายแดนใต้ พร้อมด้วยการส่งสัญญาณสมานฉันท์ไปยังประชาชนในพื้นที่และกลุ่มผู้ก่อการแทบจะทันทีที่ขึ้นครองอำนาจ ทำให้ศูนย์กลางอำนาจของรัฐนาวาไทย หลัง 19 กันยายน 2549 เปลี่ยนท่าทีแตกต่างชนิดกลับหลังหันกับเมื่อครั้งที่พรรคการเมืองครองอำนาจรัฐก่อนหน้านั้น

ในทางปฏิบัติ พล.อ.สุรยุทธ์ เดินหน้า "งานการเมือง" ด้วยการประกาศ "คำขอโทษ" แทนรัฐบาลชุดก่อนต่อความผิดพลาดในอดีตของรัฐไทย รวมทั้งประกาศยกเลิก "บัญชีดำ" ของเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ความจริงใจ รัฐบาลใหม่เพิ่มบทบาทของกองอำนวยการรักษาความสงบภายใน (กอ.รมน.) ขึ้นมากุมบังเหียนการบัญชาการดับไฟใต้ โดยฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อันเป็นองค์กรพลเรือนให้มาเป็นกลไกสำคัญของการเดินหน้างานการเมือง และรวมศูนย์ "งานการทหาร" ที่กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) นอกจากนี้ ในช่วงแรกรัฐบาลยังเร่งรัดคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ดำเนินการถอนฟ้องผู้ต้องหาคดีตากใบ และล่าสุดส่งสัญญาณฟื้นกฎหมายนิรโทษกรรมที่เคยใช้เมื่อครั้งสู้กับคอมมิวนิสต์

ส่วนในด้านการจัดกำลัง พล.อ.สนธิ ผลักดันแนวคิดการส่ง "กองกำลังทหารพราน" ที่เป็นคนในพื้นที่เข้าประจำการ 30 กองร้อย เพื่อหนุนช่วยเจ้าหน้าที่และผู้นำชุมชนในการดุลอำนาจกับกลุ่มผู้ก่อการในแต่ละพื้นที. มาตรการเหล่านี้ ล้วนเป็นการรุกคืบทางการเมืองที่หวังผลตัดสายสัมพันธ์ระหว่าง "ประชาชน" ที่เปรียบเป็น "น้ำ" กับ "กลุ่มผู้ก่อการ" ที่เสมือนดั่ง "ปลา" ตามหลักการย้อนเกร็ดสงครามกองโจรนั่นเอง

อย่างไรก็ดี การรุกคืบดังกล่าวถูกโต้ตอบจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ด้านหนึ่งคือเสียงสะท้อนจากสังคมไทยบางส่วนและชาวพุทธในพื้นที่ ซึ่งมองว่าท่าทีและมาตรการเหล่านี้เป็นการยอมอ่อนข้อต่อ "โจร" มากเกินไป นั่นเป็นที่มาของคำถามสำคัญที่ว่า "รัฐบาลกำลังสมานฉันท์กับใคร?" ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง การก่อเหตุร้ายในพื้นที่ซึ่งมีความถี่สูงขึ้นตามคลื่นความรุนแรงรอบใหม่ ด้วยวิธีการที่มีรูปแบบโหดเหี้ยมมากขึ้น ราวจะเป็นการส่งสัญญาณจาก "ผู้ก่อการ" ซึ่งนิยมความรุนแรงทั้งหลายว่าพวกเขาไม่ตอบรับต่อแนวทางสมานฉันท์ดังว่า ในแง่นี้ การสื่อสารของพวกเขายังคงเป็นภาษาเดิมที่ใช้มาตลอด นั่นคือ ความรุนแรง… ไม่เกินจริงนัก หากจะกล่าวว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้นำรัฐไทยถูกกดดันขนาบข้างจากสองฟากฝั่งนั่นเอง

สู่แนวปะทะประชาชน
เมื่อประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา พบว่ามีหลายเหตุการณ์ที่มีนัยยะสำคัญต่อการปะติดปะต่อภาพล่าสุดของสถานการณ์ในชายแดนใต้. การก่อเหตุสังหารรายวันยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ในบรรดาการก่อเหตุเหล่านี้ พบว่ามีบางเหตุการณ์ที่ลักษณะของการก่อเหตุมีความโหดเหี้ยมรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังกรณีการฆ่าตัดคอ การยิงและเผาซ้ำ การฆ่าแล้วใช้มีดฟันใบหน้า แน่นอนที่สุด ผลกระทบของเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ประสบโดยตรงเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลตอกย้ำให้ผู้คนในพื้นที่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธวิธีในการ "ควบคุม" มวลชนของกลุ่มนิยมความรุนแรง

ในขณะเดียวกัน คลื่นความรุนแรงรอบนี้ยังปรากฏการปะทะกันอย่างเปิดเผยหลายครั้ง ระหว่างกองกำลังของรัฐกับกลุ่มผู้ก่อการ ซึ่งความสูญเสียปรากฏแก่กองกำลังทั้งสองฝ่ายไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ ยังปรากฎ "ใบปลิว" ที่กระจายอยู่ในพื้นที่เพื่อโจมตี "กาเฟรซียัม" หรือ "คนต่างศาสนิกชาวสยาม" และนโยบายที่กำลังรุกคืบทางการเมืองของรัฐบาล โดยลงชื่อกำกับข้างท้ายว่า "เหล่านักรบอิสลามแห่งรัฐฟาตอนีดารุสลาม" ในขณะที่ทางการมีฐานข้อมูลข่าวกรองที่เชื่อว่า กลุ่มก่อการในขณะนี้เป็นสมาชิกของ"แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี" สายการเมืองและศาสนา หรือ BRN Coordinate ซึ่งโดดเด่นในงานการเมืองและการจัดตั้งทางความคิดให้กับมวลชน

ควรเข้าใจด้วยว่า ยุทธศาสตร์ของสงครามครั้งนึ้ยึดโยงอยู่ที่สถานะของปัญหาในเวทีสากล ซึ่งจะมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการชี้วัดอนาคตของพื้นที่ ไม่ต่างกับกรณีความขัดแย้ง "ภายใน" ในหลายกรณีทั่วโลก ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง สงครามครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อมุ่งยึด "ประชาชน" เป็นปัจจัยสำคัญ ฝ่ายใดครองใจประชาชน ไม่ว่าจะด้วยการสะสม "ความศรัทธา" หรือจะสร้าง "ความหวาดกล้ว" ก็ตาม ฝ่ายนั้นย่อมเป็นผู้ชนะ. ด้วยเหตุนี้ "สงคราม" ในครั้งนี้ ประชาชนจึงอาจเป็นได้ทั้งในฐานะเป้าหมายการโจมตี แนวร่วม มวลชนพื้นฐาน หรือแม้กระทั่งกองกำลังของแต่ละฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การปะทะระหว่างกองกำลังกับกองกำลัง อาจไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดของสงครามครั้งนี้ แต่แนวปะทะทางการเมืองต่างหากที่จะกำหนดอนาคตของปัญหาชายแดนใต้ แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในขณะนี้คือ การปะทะกันระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความล้มเหลวของรัฐในการกุมสภาพ ทั้งปัญหาและพื้นที่. ข้อสังเกตนี้อยู่บนพื้นฐานสัญญาณต่างๆ ที่สะท้อนผ่านปรากฏการณ์ดังต่อไปนี้

"ไทยพุทธ" อพยพ
การอพยพของชาวบ้านพุทธ ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อยออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ ว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด เพราะการโยกย้ายในที่นี้อาจหมายรวมถึงคนที่มีสำมะโนครัวในพื้นที่ และคนที่มาหากินจากต่างพื้นที่เป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ตาม การโยกย้ายภายในพื้นที่ก็มีนัยสำคัญที่เป็นผลมาจากวิกฤตความรุนแรงที่ "พลเรือน" ตกเป็นเป้ามากขึ้น. ความรุนแรงที่บังคับผู้คนให้ต้องย้ายถิ่นฐานนอกจากจะหมายถึงการที่รัฐไม่สามารถคุ้มครองวิถีชีวิตในถิ่นพำนักได้แล้ว ยังหมายถึงความอ่อนบางของสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน

คำขอโทษและบ้านสันติ ๒
การสังหารพ่อลูกชาวบ้านสันติ 2 อ.ธารโต จนเป็นชนวนเหตุให้มีการอพยพชาวบ้านพุทธบ้านสันติ 2 และหมู่บ้านใกล้เคียง 200 กว่าชีวิตไปพำนักอยู่ที่วัดนิโรธสังฆาราม กลางเมืองยะลา เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง เพราะไม่เพียงแต่สะท้อนว่ารัฐไม่สามารถปกป้องชีวิตของประชาชนได้แล้ว ยังเป็นบทสะท้อนความอ่อนไหวระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในพื้นที่ซึ่งอาจเรียกได้ว่า ขณะนั้นสายสัมพันธ์ระหว่างคนสองกลุ่มที่สะสมมาตั้งแต่อดีต แทบจะขาดวิ่นลงไปในทันที

หลังจากสิ้น "คำขอโทษ" ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ต่อหน้าผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนกว่าพันคนที่ปัตตานี ซึ่งมีผลต่อจิตวิทยามวลชนในพื้นที่ไม่น้อย ทว่าสิ่งที่ตามในเวลาไม่กี่วันก็คือ เหตุการณ์ตอบโต้ด้วยยุทธวิธีทางการทหารอย่างหนักหน่วงของกองกำลังติดอาวุธใต้ดิน และนำมาซึ่งการอพยพของชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธออกจากหมู่บ้านกว่า 200 คน

หนึ่งในเหตุการณ์ตอบโต้ทางการทหารคือการบุกกราดยิงและเผาบ้านเรือนชาวบ้านพุทธที่บ้านสันติ 2 ม.6 ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา ในวันที่ 5 พฤศจิกายน หรือหลังการกล่าวคำขอโทษเพียง 3 วัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ส่งผลให้ชาวบ้านพุทธในหมู๋บ้านดังกล่าวและใกล้เคียงต้องอพยพออกนอกพื้นที่ในที่สุด. ชาวบ้านผู้อพยพระบุในขณะนั้นว่า พวกเขาไม่สามารถจะอยู่ที่บ้านได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่สะสมความหวาดระแวงมาจากการปล่อยข่าวลือว่าจะทำร้ายชาวบ้านพุทธหรือการข่มขู่ก่อนหน้านั้น วินาทีนั้นพวกเขาไม่สามารถไว้วางใจเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิมได้อย่างสนิทใจเหมือนก่อน

การอพยพครั้งนั้น ยังสั่นสะเทือนความรู้สึกของคนต่างพื้นที่ โดยเฉพาะคนไทยทั้งประเทศให้ตระหนักว่า "คนไทยพุทธ" กำลังถูกคุกคามอย่างหนักหน่วง. บ้านสันติ 2 เป็นหมู่บ้านขนาดประชากรประมาณ 2 พันคน ชาวบ้านที่มุสลิมกับพุทธอยู่ร่วมกันตั้งแต่เมื่อครั้งอพยพมาจากพื้นที่น้ำท่วมก้นเขื่อนบางลาง สมัยที่เริ่มสร้างเขื่อนใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังมีผู้คนที่มารับจ้างทำสวนอีกบางส่วนจากนอกพื้นที่ ก่อนหน้านี้เหตุรุนแรงแทบจะไม่มี

นอกจากนี้ เหตุกราดยิงครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการเกิดการชุมนุมของชาวบ้านประมาณ 20 คน ที่บริเวณโรงเรียนบ้านบาเจาะ โดยยื่นข้อเรียกร้องให้ถอนฐาน ตชด.3201 ออกจากพื้นที่ โดยเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ ตชด.ในชุดดังกล่าวเป็นผู้สังหารชาวบ้านเสียชีวิตก่อนหน้านั้น การชุมนุมสิ้นสุดลงในเย็นวันนั้นภายหลังจากมีการเจรจา โดยทางการยอมสั่งถอนฐาน ตชด.ดังกล่าวในวันรุ่งขึ้น. การชุมนุมที่บันนังสตาครั้งนี้นับเป็นการชุมนุมครั้งแรกในรอบหลายเดือน และเป็น "ม็อบ" ที่มีรูปแบบต่อมาคล้ายคลึงกันอีกกว่า 20 ครั้งในพื้นที่

การอพยพหนีตายของชาวบ้านพุทธยิ่งเพิ่มอุณหภูมิให้กับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตธารโตและบันนังสตา และส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ของประเทศ การช่วยเหลือจึงหลั่งไหลมาที่วัดนิโรธฯ อย่างไม่ขาดสาย. อาจกล่าวได้ว่า การก่อเหตุกราดยิงจนสามารถกดดันให้ชาวพุทธต้องเดินทางอพยพและเหตุการณ์ชุมนุมที่โรงเรียนบาเจาะถือเป็นมาตรการตอบโต้ของกลุ่มต่อต้านต่อสัญญาณสมานฉันท์จากรัฐบาล จะต่างก็เพียงแค่เหตุแรกกรุยนำโดย "งานการทหาร" ในขณะที่เหตุหลังเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะ "มวลชนกดดัน" แต่ทว่าทั้งสองภารกิจ, ทางการก็ตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในท้ายสุด

การอพยพของประชาชนยังสะท้อนว่า รัฐบาลล้มเหลวในการปกป้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง มีนัยยะของความสำเร็จในการครอบครองพื้นที่ของฝ่ายต่อต้านได้ และสามารถสร้าง "ความหวาดกลัว" เหนือชาวบ้าน ด้วยเหตุนี้ ทางการจึงจำต้องทำการผลักดันมวลชนเหล่านี้กลับคืนสู่หมู่บ้านให้เร็วที่สุด

คืนถิ่น.. ป้องกันตัวเอง
วันที่ 5 ธันวาคมปีกลาย ชาวบ้านจำนวน 7 ครอบครัว ได้เดินทางกลับคืนสู่บ้านสันติ 2 ภายหลังจากที่มีการฝึกอบรมการใช้อาวุธจากเจ้าหน้าที่ ในขณะที่ทางการสร้างความมั่นใจโดยการจัดวางกำลังกองร้อยพิเศษที่ 4 จากค่ายนเรศวร เป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะปลอดภัย การฝึกอาวุธดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ครั้งที่พวกเขายังพำนักอยู่ที่วัด โดยทำการฝึกที่ค่าย ตชด.พญาลิไท จ.ยะลา ในหลักสูตร ชรบ. แต่เมื่อย้ายกลับมาที่หมู่บ้านแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงความหวาดระแวงระหว่างพุทธมุสลิม จึงได้มีการฝึกในหลักสูตรราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) ขึ้นอีกครั้ง โดยจัดให้มีการฝึกร่วมระหว่างชาวบ้านพุทธและมุสลิมอีกครั้งหนึ่ง บ้านสันติ 2 จึงเป็นหมู่บ้านนำร่องที่เปิดให้ชาวบ้านมุสลิมได้ร่วมฝึก อรบ.ด้วย หลังจากที่หลักสูตรดังกล่าวจำกัดเฉพาะชาวบ้านพุทธ

นิรมล จักรมล หญิงชาวบ้านสันติ ผู้เป็นทั้ง ชรบ.และ อรบ.ประจำหมู่บ้าน ระบุว่า ทุกวันนี้ความรู้สึกแตกต่างจากวันอพยพช่วงแรกๆ ขณะนี้เธอมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่กำลังของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านที่เฝ้าระวังเหตุตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว บ้านสันติ 2 ยังเพิ่งรับ "ทหารพราน" อีก 1 หมวด มาตั้งฐานอยู่กลางหมู่บ้าน. "เด็กหนุ่มแถวนี้ ไปเป็นทหารพรานเกือบหมด" นิรมลขยายความว่า ในจำนวนนักรบชุดดำเหล่านี้คือเด็กหนุ่มชาวพุทธในพื้นที่ 16 คน ที่เป็นชาวบ้านสันติ ที่เพิ่งกลับมาจากการฝึก 45 วันอันหนักหน่วง และตามนโยบายแล้วพวกเขาต้องกลับมาดูแลบ้านเกิดของพวกเขา "เหลือที่แก่ๆ ไว้เป็น ชรบ."

ทักษะจากการฝึกอย่างหนักทำให้ทหารพรานหนุ่มเหล่านี้มีความมั่นใจ เด็กหนุ่มรายหนึ่ง บอกว่า การเป็นทหารพรานทำให้การใช้อาวุธมีมาตรฐานและแข็งแกร่งมากกว่าตอนฝึก ชรบ.ร่วมกับผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน แม้จะได้ค่าตอบแทนน้อยก็ไม่ใช่ปัญหา การได้อยู่บ้านและเป็น "ทหารของราษฎร" ของเขาก็เกินคุ้มแล้ว

หน่วยเหนือหนุนเสริม
นอกจากมาตรการป้องกันตัวเองแล้ว ทางการยังระดมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชาวบ้าน. พยงค์ วงศ์แย้ม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แจงรูปธรรมที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ว่า มีการปรับปรุงสถานีอนามัย ปรับปรุงสำนักสงฆ์ จัดตั้งตลาดนัดกลางประจำหมู่บ้าน โดยให้หน่วยงานรัฐเข้ามารับซื้อผลิตผลการเกษตร แทนที่จะให้ชาวบ้านเดินทางออกนอกหมู่บ้าน โครงการเหล่านี้ถือเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งหมู่บ้าน

นอกจากนี้แล้ว ยังมีการสร้างบ้านพักอาศัยจำนวน 8 หลังในที่ดินของนิคมสร้างตนเอง 11 ไร่ เพื่อให้ชาวบ้านทีเพิ่งย้ายกลับมาจากวัดอยู่อาศัย. นิรมลบอกว่า ด้วยความเร่งรีบ โครงการดังกล่าวจึงยังไม่มีชื่อเป็นทางการ แต่ชาวบ้านจะเรียกขานว่าเป็นการสร้าง "ชุมชนชาวไทยพุทธในบ้านสันติ 2" ทดแทนกันไปก่อน นอกเหนือจะสร้างบ้านแล้ว พื้นที่ดังกล่าวจะจัดทำเป็นโครงการนำร่อง สำหรับการจัดทำไร่นาสวนผสมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญเพื่อสะท้อนว่าพวกเราอยู่ได้ ไม่ต้องย้ายไปที่อื่น. "หน่วยเหนือไม่ต้องการให้เราแบ่งแยก ให้ถือหลักสมานฉันท์ไว้เพื่อจะได้ดูแลหมู่บ้านด้วยกัน" เธอบอกและระบุว่าเป็นที่มาของการจัดวงกินน้ำชาระหว่างชาวบ้านพุทธกับมุสลิมในทุกบ่ายวันศุกร์ โดยจะมีตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอีหม่ามและกรรมการมัสยิด มาล้อมวงคุยกันที่ศาลาป้อม ชรบ. เพื่อพูดคุยหารือและปรับความเข้าใจในประเด็นต่างๆ

มะ หะยะ ผู้ใหญ่บ้านสันติ 2 ซึ่งเป็นมุสลิม ระบุว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่พยายามจะเชื่อมรอยร้าวระหว่างชาวบ้าน และเชื่อว่าการพูดคุยกันบ่อยครั้งจะช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นในอนาคต เขาพยายามสะท้อนเสมอว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นฝีมือคนในหมู่บ้าน ชาวบ้านมุสลิมเองก็อยู่ลำบาก เพราะกลัวทั้งอำนาจของ "พวกเขา" และอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ. อย่างไรก็ตาม มะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านไม่น่าเป็นห่วง แต่เขาวิจารณ์ว่าข้าราชการเองต่างหากที่ทำมีความหวาดระแวงกับชาวบ้านมุสลิม

ผู้ใหญ่บ้าน ยกตัวอย่างถึงข้อเสนอจากชุมชนมุสลิมภายหลังการเข้ามาฟื้นฟูของหน่วยงานรัฐ ทั้งในเรื่องการปรับปรุงระบบประปาและถนน ซึ่งก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับการพัฒนาในชุมชนพุทธ ไม่เพียงเท่านั้น มะพบว่าในฐานะผู้ใหญ่บ้าน บางครั้งเขาไม่ได้รับการปรึกษาหารือหรือแม้แต่ประสานงานใดๆ เลยเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่เข้ามาดำเนินการในหมู่บ้านของตน. "รัฐบาลบอกว่าสมานฉันท์นั้นก็ดี แต่ผมก็อยากจะให้ทำกันอย่างจริงใจด้วย" ผู้ใหญ่บ้านสรุปความ

ชุมนุมเผชิญหน้า
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า สถานการณ์บ้านสันติมีจุดเริ่มต้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการก่อเกิด "ม็อบ" หรือการชุมนุมของชาวมุสลิมเป็นครั้งแรก ในห้วงคลื่นความรุนแรงรอบนี้ ซึ่งรูปแบบในการชุมนุมที่มีแบบแผนละม้ายคล้ายคลึงกันกับอีก 20 กว่าครั้งต่อมาในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนการชุมนุมที่ไม่มากนัก ไร้ศูนย์การนำชัดเจน เน้นมวลชนสตรีเป็นหลัก และมักยื่นข้อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องสงสัย หรือไม่ก็ขับไล่เจ้าหน้าที่ออกนอกพื้นที่

ในจำนวนการชุมนุมกว่า 20 ครั้งนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หลายครั้งข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมได้รับการสนองตอบ และเป็นเหตุให้ก่อเกิด "ม็อบ" โดยชาวบ้านพุทธอีกกลุ่มหนึ่งในช่วงเวลาหรือสถานที่ที่ใกล้เคียงกัน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องที่แทบจะสวนทางกัน คือ ให้ดำเนินการต่อคนร้ายตามกฎหมายด้วยความเด็ดขาด ให้คงกำลังทหารไว้ในพื้นที่ หรือแม้แต่เรียกร้องให้ "ม็อบมุสลิม" ยุติการชุมนุม

การเผชิญหน้าในลักษณะ "ม็อบชนม็อบ" เช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยเกิดครั้งแรกที่ อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ตามด้วย อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม และล่าสุดเกิดการชุมนุมหลายจุด ที่ อ.กรงปินัง อ.บันนังสตา และ อ.ธารโต ของ จ.ยะลา ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 วัน เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนที่ชัดเจนที่สุดลักษณะหนึ่ง

ปิดถนนสาย ๔๑๐ (เบตง - ยะลา) เผชิญหน้า ๑๐ วัน
การชุมนุมของชาวบ้านมุสลิมอย่างต่อเนื่องหลายจุดเป็นเวลา 10 วัน เพื่อปิดถนนสาย 410 ในเขต จ.ยะลา นอกจากจะเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า การใช้แนวทางมวลชนกดดันส่งผลสะเทือนต่อการกุมสภาพของอำนาจรัฐอย่างมากแล้ว ยังเป็นข้อข้อสะท้อนอุณหภูมิระหว่างกลุ่มคนสองกลุ่มที่กำลังอยู่ในภาวะเผชิญหน้าได้อย่างดี เมื่อเกิดการการชุมนุมต่อเนื่องตามมา ของชาวบ้านพุทธผู้คัดค้านที่ประกาศข้อเรียกร้องให้ชาวบ้านมุสลิมยุติการชุมนุม

หลังจากที่กองร้อยทหารพรานที่ 4108 บุกตรวจค้นมัสยิดบ้านรือแป ม.9 ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา และเชิญตัวชาวบ้านจำนวน 20 คน ซึ่งต่อมาเพิ่มเป็น 24 คน ในวันที่ 29 เมษายน 2550 การชุมนุมของชาวบ้านมุสลิมในพื้นที่ก็เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2 จุด คือ ที่บริเวณหน้ามัสยิดบ้านลือมุ ม.8 ตำบลเดียวกัน และที่หน้ามัสยิดบ้านรานอ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา โดยมีเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวผู้ถูกเชิญตัวทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไข พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องถอนทหารพรานชุดดังกล่าวออกจากพื้นที่บ้านรือแปทันที

กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้รวมตัวกันปิดถนนสาย 410 ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักระหว่างตัวเมืองยะลาถึงตัวอำเภอเบตง ซึ่งผ่านอำเภอกรงปินัง บันนังสตา และธารโตในแนวเหนือ - ใต้ ทำให้การจราจรในพื้นที่สำคัญดังกล่าวถูกตัดขาดและส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้ที่ต้องการใช้เส้นทางสัญจร. ชาวมุสลิมกลุ่มดังกล่าวยังปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่องและย้ายสถานที่ชุมนุมมาปักหลักที่หน้ามัสยิดบ้านกรงปินัง ม.7 ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง ในวันที่สาม (3 พฤษภาคม) โดยปักหลักขวางถนนในตอนกลางวันและใช้มัสยิดเป็นฐานในการหุงหาอาหารและหลับนอนในเวลากลางคืน

สถานการณ์การชุมนุมเต็มไปด้วยความตึงเครียด เมื่อเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่สามารถปล่อยตัวกลุ่มคนดังกล่าวได้ เมื่อย่างเข้าวันที่สี่ (4 พฤษภาคม) แรงกดดันจากการปิดถนนทำให้มีการชุมนุมของชาวบ้านพุทธบ้านบันนังบูโป ต.ถ้ำทะลุ อ.บันนังสตา เพื่อเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมกลุ่มแรกยุติการชุมนุม พร้อมทั้งปิดถนนสายดังกล่าวที่บริเวณปากทางเข้าบ้านปิยะมิตร ต.ถ้ำทะลุ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ลึกไปทางอำเภอเบตง ในวันเดียวกัน กลุ่มชาวบ้านพุทธอีกกลุ่ม ได้รวมตัวโดยยื่นข้อเรียกร้องทำนองเดียวกันที่ตัวอำเภอธารโต บริเวณหน้าโรงเรียนธารโตวัฒนวิทย์ ทั้งสองจุดเป็นการชุมนุมข้ามวันเช่นเดียวกัน

อุณหภูมิการเผชิญหน้าพุ่งสูงขึ้นไปอีก เมื่อเกิดการชุมนุมของชาวบ้านมุสลิมเพิ่มขึ้นอีก 2 จุด ในวันที่ห้า (5 พฤษภาคม) ที่บริเวณหน้ามัสยิดบ้านจาเราะปีแซคละ ม.8 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา และที่หน้ามัสยิดตาเนาะปูเต๊ะ ม.8 ต. ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา ซึ่งเป็นจุดระหว่างกลางระหว่าง "ม็อบ" ก่อนหน้านั้นทั้ง 3 จุดซึ่งก็ยังคงชุมนุมอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มผู้ชุมนุม 2 จุดนี้ประกาศสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้ามัสยิดกรงปินัง. ในวันที่ห้าจึงเป็นวันที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมบนถนนสาย 410 ถึง 5 จุดด้วยกัน

สถานการณ์มีทีท่าจะยืดเยื้อและคลี่คลายได้ยาก แต่ทว่าเมื่อย่างเข้าสู่วันที่หก (6 พฤษภาคม) การเจรจาด้วยตัวกลางนักการเมืองท้องถิ่น และตัวแทนทางการได้ยุติการชุมนุมโดยมีข้อตกลงว่า จะมีการทยอยปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมในระยะเวลา 1 เดือนหลังจากมีการตรวจสอบให้เป็นที่เรียบร้อย ในขณะเดียวกันทางการจะถอนทหารพรานออกจากพื้นที่บ้านรือแป และคืนรถจักรยานยนตร์ที่ยึดมาระหว่างการควบคุมตัว การชุมนุมจึงสลายหมดทุกกลุ่ม ยกเว้นการชุมนุมที่หน้ามัสยิดจาเราะปีแซคละ ซึ่งยังคงปักหลักชุมนุมต่อในวันรุ่งขึ้นพร้อมยื่นข้อเรียกร้องเหมือนเดิม. ทางการประสานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเข้าเจรจาแต่ก็ไร้ผล การชุมนุมยังเพิ่มขึ้นจากจุดเดิมอีกอย่างน้อย 4 จุด ในวันที่แปด (8 พฤษภาคม) คือ บริเวณสี่แยกบ้านแหร ม.3 ต.บ้านแหร และ บ้านเจ๊ะซิโป๊ะ ต.บ้านแหร อ.ธารโต โดยมีสนับสนุนการชุมนุมที่หน้ามัสยิดจาเราะปีแซคละ ในขณะที่ชาวบ้านพุทธก็กลับมาปักหลักชุมนุมอีกครั้งที่บ้านถ้ำทะลุ

ในวันเดียวกันนี้เอง ชาวบ้านมุสลิมประมาณ 1,000 คนจากพื้นที่ยะลาและปัตตานี บางส่วนก็จัดการชุมนุมที่หน้าค่ายอิงคยุทธพร้อมเผยแพร่ข้อเสนอผ่านใบปลิวที่อ้างตัวว่าเป็น "เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ" โดยที่หนึ่งในข้อเรียกร้องคือ ขอให้ปล่อยผู้ต้องสงสัยทั้ง 24 คน แม้จะสลายไปได้โดยง่าย แต่การปรากฏตัวของมวลชนจำนวนมากขนาดนี้ ก็สะท้อนให้เห็นเครือข่ายของผู้ชุมนุมได้เป็นอย่างดี

การปิดสี่แยกบ้านแหร เท่ากับเป็นการตัดตอนเส้นทางที่เชื่อมต่อกับทางลัดเข้าสู่ตัวอำเภอเบตงอย่างเด็ดขาด เป็นเหตุให้สภาวะเศรษฐกิจของเบตงหยุดชะงัก และได้รับผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังต้องเตรียมการสำหรับการขนส่งผู้ป่วยหนักจากโรงพยาบาลประจำอำเภอที่เรียงตัวตลอดเส้นทางสาย 410 โดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน ด้วยเหตุนี้ตัวแทนของทางการจึงส่งสัญญาณที่อาจต้องใช้กำลังสลายการชุมนุมให้ได้โดยเร็วที่สุด. ผลที่ตามมาคือการชุมนุมในเขต อ.ธารโต ต้องสลายตัวไปในเย็นวันที่ 9 พฤษภาคม ในขณะที่จุดชุมนุมที่หน้ามัสยิดจาเราะปีแซคละก็สลายตัวไปในช่วงเช้าวันต่อมา

การชุมนุมที่มีเหตุจาการเชิญตัวผู้ต้องสงสัยจากบ้านรือแป จึงกินระยะเวลายาวนาน 10 วัน และในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีจุดที่สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาวบ้าน แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีเหตุรุนแรงจากการสลายการชุมนุมหรือประจันหน้ากันระหว่างชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ควรต้องจับตาเพื่อการรับมือในอนาคต

ก้องเสียงเพรียกหาปืนที่สะบ้าย้อย
ก่อนหน้าการชุมนุมในลักษณะเผชิญหน้าที่กรงปินัง ก็เคยมีเหตุการณ์ชุมนุมในระยะเวลาเดียวกันระหว่างกลุ่มพุทธและมุสลิมมาแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งถือได้ว่าสถิติการก่อเหตุในเขตดังกล่าวก่อนหน้านั้นไม่ "แดง" เหมือนกับพื้นที่หลายอำเภอในยะลา

ดึกวันที่ 17 มีนาคม 2550 คนร้ายจำนวนหนึ่งใช้อาวุธสงครามกราดยิงเข้าไปในโรงเรียนปอเนาะบำรุงศาสน์ (อิสลาฮุดดีน) บ้านควนหรัน หมู่ 2 ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย เป็นเหตุให้มีเด็กปอเนาะเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 8 คน ชาวบ้านปิดพื้นที่ปฏิเสธการเข้าที่เกิดเหตุเพื่อตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ จนนำมาสู่การชุมนุมในวันรุ่งขึ้นและต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 3 วัน. ระหว่างนั้นตัวแทนของเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ได้เข้าเจรจาอยู่เป็นระยะ จนสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ในวันที่ 20 มีนาคมภายหลังที่ "คนกลาง" อย่าง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการณ์ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพเดินทางเข้าพื้นที่

แม้ข้อเท็จจริงจะกระจ่างชัดหลังจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่และ "คนกลาง" แล้วว่า มีการกราดยิงจริง ทว่าคำถามที่ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุนั้น ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ยังคงเข้าใจแตกต่างอยู่จนถึงวันนี้. เหตุถล่มปอเนาะควนหรันเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในบริบทภายหลังการประกาศเคอร์ฟิวใน 2 อำเภอของ จ.ยะลา ซึ่งมีเขตรอยต่อกับ อ.สะบ้าย้อย และพบว่าสถิติเหตุร้ายเริ่มถี่มากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมา. บุญเลิศ ดำจำนงค์ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว พร้อมให้ข้อมูลว่าเดิมทีเขตสะบ้าย้อยมีข้อมูลการเคลื่อนไหวด้านการเมือง ในรูปแบบปลุกระดมและการปล่อยใบปลิว แต่ระยะหลังพบว่ามีการก่อเหตุสูง เฉพาะใน ต.เปียน มีอยู่ถึง 23 คดี นับตั้งแต่เริ่มเข้าปีใหม่เป็นต้นมา

ที่สำคัญ ในช่วงเวลาของความวุ่นวายที่บ้านควนหรันและเป็นวันแรกของการชุมนุมเกิดเหตุสังหารชาวบ้านพุทธซ้อนกันถึง 2 เหตุการณ์ที่บ้านร่องควน หมู่ 1 ต.สะบ้าย้อย ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 3 คน บาดเจ็บ 4 คน. ในขณะที่ความสนใจถูกหันเหไปที่ชุมชนมุสลิม เหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวพุทธก็เป็นแรงผลักให้เกิดการรวมตัวของชาวบ้านพุทธในสะบ้าย้อย ณ ที่ว่าการอำเภอเมื่อวันที่ 19 มีนาคม โดยยื่นข้อเรียกร้องให้ทางการจัดการขั้นเด็ดขาดกับผู้ไม่หวังดีอย่างจริงจัง และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่าง "เท่าเทียมกัน" รวมทั้งเรียกร้องวิธีการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างจริงจัง. แม้จะไม่ได้เผชิญหน้ากันโดยตรง แต่การก่อเกิด "ม็อบ" ของชาวบ้าน 2 กลุ่มในช่วงเวลาเดียวกัน ก็สะท้อนภาวะเผชิญหน้าระหว่างชุมชนได้เป็นอย่างดี

ขณะที่การชุมนุมที่บ้านควนหรันคลี่คลาย กระแสข่าวว่าจะถอนทหารพรานออกจากพื้นที่ก็สะพัดเต็มพื้นที่ เป็นผลให้ชาวบ้านพุทธรวมตัวกันอีกครั้งในวันที่ 26 มีนาคม ในจำนวนที่มากกว่าเดิม พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ สรุปความได้ว่า ต้องการให้ทหาร ตำรวจ และตชด.คงกำลังในพื้นที่ต่อไป พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ชรบ. บังคับใช้กฎหมายให้ "เด็ดขาด เสมอภาค เท่าเทียม" ทั้งยังต้องให้ความเสมอภาคและความรวดเร็วในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ชาวบ้านพุทธยังเรียกร้องให้ทางการสนับสนุนอาวุธเพื่อใช้ในการป้องกันตัวเองมากขึ้น พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน "ผู้บริสุทธิ์" ในการอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน รวมทั้งผ่อนปรนในการพกพา

ปรีชา ดำเกิงเกียรติ นายอำเภอรับข้อเสนอของชาวบ้านไว้ พร้อมทั้งระบุว่า กำลังดำเนินการสนับสนุนอาวุธเพิ่มเติมให้กับ ชรบ.ของแต่ละหมู่บ้านในสะบ้าย้อยรวมทั้งสิ้น 1,240 กระบอก โดยมีหลักเกณฑ์การฝึกและคัดสรรคนอย่างเคร่งครัด. "เราไม่ได้ขอปืนเพื่อรบกับมุสลิม แต่ต้องการเพื่อป้องกันตัวเอง" จักรภพ เพ็งหลาย ชาวบ้านพุทธจาก ม.7 ต.เปียน ระบุถึงเหตุผลของข้อเรียกร้องจากการชุมนุมครั้งดังกล่าว พร้อมวิจารณ์ว่า ทุกวันนี้รัฐบาลทำงานไม่จริงจัง กฎหมายไม่สามารถใช้ได้อย่างยุติธรรม ขนาดจับกุมมุสลิมที่ยิงคนพุทธก็บอกว่าเป็นผู้หลงผิด แต่เมื่อพุทธที่ยิงมุสลิมเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเป็นคนร้าย

ในขณะที่สวัสดิ์ ยืนยง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.เปียน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับบ้านควนหรัน ระบุว่า ชาวบ้านไม่ต้องการให้ทหารพรานและ ตชด.ถอนออกจากพื้นที่ตามกระแสข่าวที่มีมาก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะทหารพรานที่เพิ่งเข้าประจำในพื้นที่ใหม่และชาวบ้านเชื่อมั่น แม้ว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ชุดก่อนหน้านั้นจะไม่สามารถคุ้มครองชีวิตของชาวบ้านได้ เพราะนอกจากจะตกเป็นเป้าเองแล้ว ชรบ.ของชาวบ้านยังทำหน้าที่เฝ้าระวังเหตุสม่ำเสมอกว่าเสียอีก ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงตระหนักว่านอกจากทหารพรานแล้ว ยังต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก และนั่นเป็นที่มาของการขอสนับสนุนอาวุธเพิ่มเติม. "เราจึงต้องการปืนเอาไว้สู้กับคนร้าย แม้ตอนนี้จะไม่รู้ว่าคนร้ายเป็นใครบ้าง แต่ถ้ารู้, เรื่องร้ายๆ ก็จะได้จบ แค่รู้ว่าเป็นใครบ้างเท่านั้น" เขากล่าวอย่างหนักแน่น

ในขณะที่ บุญเลิศ ยอสม ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.สะบ้าย้อย เสนอถึงขั้นที่ว่าควรจะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจกับชุด ชรบ.ของชาวบ้าน เพื่อที่จะสามารถจัดการกับกลุ่มคนร้ายได้ ไม่ใช่ติดอยู่ที่ว่าจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่สามารถทำได้ เพราะชีวิตของชาวบ้านก็มีค่าพอๆ กัน. ส่วน อะหวัง เด่นดาหยัด ผู้ใหญ่บ้านควนหรัน หมู่ 2 บอกว่าหมู่บ้านของตน "อ่อนแอ" มาตั้งแต่ปืน ชรบ. ถูกปล้นไปเมื่อปลายปี 2548 เป็นเหตุให้มีการสั่งยุบชุด ชรบ.ประจำหมู่บ้านและริบปืนไป ส่วนการระวังเหตุก็เป็นบทบาทของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก ในขณะที่ความหวาดระแวงของชาวบ้านก็เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ

อะหวัง บอกว่า หลังเกิดเหตุที่ปอเนาะ เขาได้มีโอกาสยื่นข้อเสนอในการฟื้น ชรบ.ของบ้านควนหรันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และหวังว่าจะได้รับการพิจารณา. ถึงกระนั้น ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ว่าการมีปืนอยู่ในพื้นที่จำนวนมากๆ จะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจไม่มีขึ้นหาก "รัฐ" ยังสามารถทำหน้าที่ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเสมอหน้าได้. การเคลื่อนไหวของชาวพุทธซึ่งถือเป็น "คนส่วนน้อย" ในพื้นที่ในช่วงจังหวะเวลาแห่งความตึงเครียดที่เป็นผลมาจากเหตุรุนแรงที่ปอเนาะบำรุงศาสน์ สะท้อนอุณหภูมิในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง กรณีนี้ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ควรต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป

เชื่อมร้อยเครือข่าย
การเคลื่อนไหวในลักษณะชุมนุมกดดันของมวลชนมุสลิม ประกอบกับแรงกดดันจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีลักษณะที่โหดเหี้ยมมากขึ้น นอกจากจะเกิดปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านพุทธลุกขึ้นรวมตัวแล้ว ยังส่งผลให้ก่อเกิดปฏิกิริยาในลักษณะการจัดตั้งเป็นเครือข่าย และเคลื่อนไหวชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐ ดังกรณีการก่อเกิดของ "เครือข่ายพลังแผ่นดินขจัดภัยก่อการร้าย" ภายหลังจากเกิดเหตุสังหารแล้วเผา น.ส.พัชราภรณ์ บุญมาศ บัณฑิตสาว ม.ราชภัฏยะลา เมื่อเช้าวันที่ 11 เมษายน 2550 จนนำไปสู่การชุมนุมแห่ศพประท้วงหน้าศาลากลาง จังหวัดยะลา ของญาติและชาวยะลาหลายร้อยคนในบ่ายวันเดียวกัน

การชุมนุมครั้งแรกได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งอยู่ระหว่างการลงพื้นที่หารือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ศาลากลางฯ พอดิบพอดี ข้อเรียกร้องในครั้งนั้น ได้แก่

1. ขอให้มีการเพิ่มกำลังคนของผู้ใหญ่บ้านเป็นอาสาสมัคร หมู่บ้านละ 15 คน
2. ให้กำลังทหารอยู่ประจำต่อไปอย่าให้ย้ายออก และ
3. เมื่อจับผู้ต้องหาแล้วอย่าปล่อยเด็ดขาด การชุมนุมยังคงปักหลักต่อเนื่องไปพร้อมกับตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ หน้าศาลากลางนั่นเอง

วันต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 8 ประการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการ ศอ.บต.เข้ารับข้อเสนอ โดยมีเนื้อหาลงลึกในรายละเอียดจากข้อเรียกร้องเดิมมากขึ้น. เมื่อการชุมนุมล่วงเข้าวันที่ 4 กลุ่มผู้ชุมนุมได้หารือและจัดตั้งเป็น "เครือข่ายพลังแผ่นดินขจัดภัยก่อการร้าย" พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบกมารับฟังข้อเรียกร้องด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม การชุมนุมอันยืดเยื้อของเครือข่ายได้ยุติลงชั่วคราวในวันที่ 17 เมษายน หรือวันที่ 7 ของการชุมนุม พร้อมทั้งได้เคลื่อนย้าย ศพ น.ส.พัชราภรณ์ ไปยังวัดยุปารามและฌาปนกิจในอีก 2 วันต่อมา

หลังจากนั้น เครือข่ายฯ ยังได้ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ประการ ต่อนายกรัฐมนตรี ระหว่างการลงพื้นที่ยะลาเมื่อวันที่ 20 เมษายน โดยเฉพาะการสนับสนุนการติดอาวุธและงบประมาณให้กับประชาชน เพื่อป้องกันตัวเองอย่างถูกกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่าง "เคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ" ตลอดจนปฏิบัติกับประชาชนอย่าง "เต็มขีดความสามารถและจริงใจ" โดยไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ ให้กับคนศาสนาใดศาสนาหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องให้ผู้นำศาสนาทุกศาสนา และผู้นำชุมชนร่วมกันลงนามสัตยาบันท่ามกลางสาธารณชน เพื่อเป็นหลักประกันในความจริงใจต่อการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

พัฒนาการของความรุนแรงและปฏิกิริยาได้ให้ภาพการลุกขึ้นกู่ร้องของ "ชนส่วนน้อย" ในพื้นที่ จากการชุมนุมต่อเนื่องสู่ความเป็นเครือข่ายดังกล่าว เหล่านี้จะกลายเป็นตัวชี้วัดอุณหภูมิความรู้สึกของชาวพุทธในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน

กองกำลัง "ประชาชน"
ปรากฏข้อมูลจากหลายกรณีว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่มีกองกำลังติดอาวุธที่พัฒนามาจากเด็กหนุ่มชาวมลายูมุสลิมจำนวนมาก แม้ไม่มีตัวเลขยืนยันชัดเจน แต่ข้อมูลบนฐานข่าวกรองระบุว่า ในพื้นที่เคลื่อนไหวเข้มข้นจะต้องมีหน่วยจรยุทธ์ขนาดเล็กที่ผ่านหลักสูตร RKK ชุดละ 6 คนประจำถิ่น อีกทั้งยังมีชุดปฏิบัติการพิเศษที่เรียกว่าชุดคอมมานโดเคลื่อนไหวอิสระก่อเหตุ นอกจากนี้ยังมีแนวร่วมที่คอยอำนวยความสะดวกกองกำลังเหล่านี้ที่เรียกว่า "ตุลงแง" หรือ "พลผู้ช่วย" อีกจำนวนหนึ่งประจำหมู่บ้าน. แม้ในขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุชัดเจนว่ากลุ่มที่ก่อเหตุอยู่ในขณะนี้อยู่ในสายบังคับบัญชาเดียวกันหรือไม่อย่างไร แต่ภาพที่ปรากฏคือกลุ่มดังกล่าวมีกองกำลังที่ผลิตขึ้นมาจากพลเรือนธรรมดานี่เอง และแน่นอนที่สุด ที่สมาชิกของกลุ่มจำต้องจำกัดเฉพาะพลเรือนมลายูมุสลิมเท่านั้น

ในขณะที่การจัดตั้งมวลชนติดอาวุธของทางการก็ดำเนินการซ้อนไป ทั้งในพื้นที่เคลื่อนไหวเข้มข้นและพื้นที่สีขาวไร้การก่อเหตุ ปัจจุบันมีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ในพื้นที่ 3 จังหวัดและอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลาหลายหมื่นคน ในขณะที่มีราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) อยู่จำนวน 33 กองร้อย

ชรบ.เมือง ฟื้นพลังชุมชน
แนวคิดในการจัดตั้ง "กองกำลังประชาชน" ดังเช่น ชรบ. หรือ อรบ. ไม่ได้มีเฉพาะในเขตหมู่บ้านรอบนอกเพียงเท่านั้น หากแต่พื้นที่ในเมืองอันเป็นยุทธภูมิสำคัญของสงครามกองโจรในยุคปัจจุบัน ก็มีการจัดตั้งขึ้นเป็นรูปเป็นร่างด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ก่อเหตุวินาศกรรมปิดเมืองมาแล้วหลายครั้ง จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง "ชุดปฏิบัติงานอาสาสมัครพิทักษ์ชุมชน (ชป.อพช.)" ประจำชุมชนต่างๆ ทั่วเขตเมืองยะลา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ดูแลเฝ้าระวังเหตุในพื้นที่ชุมชนตัวเอง โดยได้รับการฝึกอบรมการใช้อาวุธและการใช้วิทยุสื่อสารเพื่อแจ้งเหตุผ่านเครือข่ายเฉพาะจากเจ้าหน้าที่ และร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.เมืองยะลาอย่างใกล้ชิด

พ.ต.อ.ภูมิเพ็ชร พิทักษ์เพ็ชรภูมิ ผู้กำกับ สภ.อ.เมืองยะลา ระบุว่า การจัดตั้งชุด ชป.ฯ เป็นหนทางในการรับมือกับการก่อความไม่สงบในปัจจุบัน ซึ่งแนวรบได้ย้ายจากเขตป่าเขามาสู่ในเขตเมือง การจัดวางกำลังของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะครอบคลุมพื้นที่ได้ทั้งหมด ในขณะที่การประจันหน้ากับกลุ่มผู้ก่อการก็เป็นไปได้น้อย เพราะผู้ก่อการที่มีกำลังน้อยกว่า จะไม่ปะทะโดยตรง แต่มักจะเล่นทีเผลอ. ผู้กำกับ สภ.อ.เมืองยะลา มองเห็นว่า ประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นทีจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเฝ้าระวังเหตุต่างๆ บนฐานคิดที่ว่า ตำรวจคนแรกของโลกคือประชาชน การรวมกลุ่มเพื่อดูแลตัวเองยังจะเป็นการหนุนเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และต่อสู้กับปัญหาความไม่สงบได้. "เราจะต้องสร้างตัวแทนของอำนาจรัฐ เพื่อไปต่อสู้กับขบวนการก่อการร้ายในชุมชน สงครามตัวแทนของเราจะต้องเป็นจุดเปลี่ยนในอนาคต" เขากล่าว

ปัจจุบันชุด ชป.ฯ มีชุมชนอยู่ในเครือข่าย 36 ชุมชน ทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม ด้วยกำลังอาสาสมัครกว่า 4 พันคน และกำลังขยายไปสู่ชุมชนอื่นๆ ตามเครือข่ายในระดับชุมชนด้วยกันเอง พวกเขาจะสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าเวรยาม มีชุดแจ็กเก็ตและเครือข่ายวิทยุของตัวเอง ชุด ชป.ฯ ยังถือเป็น "โมเดล" สำคัญสำหรับการเฝ้าระวังเหตุในเมืองที่กำลังได้รับการขยายผลไปสู่ "เขตเมือง" สำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้. "ตั้งแต่ตั้งกลุ่มมาตอนช่วงปลายปีที่แล้ว เหตุการณ์ร้ายๆ ก็ไม่เกิดขึ้นเลย พวกลักเล็กขโมยน้อยก็หายไปเกือบหมด" เสาวนีย์ วิไลอัญชลี ชป.ฯ ชุมชนวัดเวฬุวัน กล่าวระหว่างอยู่เวรยามบริเวณด่านสกัดประจำชุมชน

ชุมชนวัดเวฬุวัน ถือเป็นชุมชนนำร่องชุมชนแรกในการจัดตั้งชุด ชป.ฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา หลังจากที่ชุมชนแห่งนี้ตกเป็นพื้นที่ที่มีการก่อเหตุมากที่สุดแห่งหนึ่งในเขตเทศบาล รวมทั้งการสังหารสามเณรรูปหนึ่งเมื่อต้นปี 2547. "ผู้กำกับฯ ให้สิทธิพวกเราเต็มที่ในการจัดการเวรยามกันเอง หากออกตรวจแล้วเจออะไรผิดสังเกตก็สามารถวิทยุแจ้งตำรวจได้ทันที เพียงครู่เดียวตำรวจก็มา". ชุด ชป.ฯ อาจถือได้ว่าเป็น ชรบ.ในเขตเมืองที่ทำงานเปิดเผย และมีพื้นที่ทำการเฉพาะในเขตชุมชนของตัวเอง อีกทั้งยังมีการจัดตั้งในเขตชุมชนพุทธและมุสลิม แม้ว่าในช่วงแรกจะขยายวงจากในเขตชุมชนชาวพุทธก่อนก็ตาม

"กลุ่มรวมไทย"
ในเขตเทศบาลนครยะลายังมีกลุ่มอาสาสมัครอีกหนึ่งชุดที่ค่อนข้างปกปิดตัวเอง และปฏิบัติงานทั้งในและนอกเขตเมืองยะลา นั่นคือ กลุ่มอาสาสมัครที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มรวมไทย" ซึ่งมีความพิเศษเฉพาะตรงที่มีกฎบังคับชัดเจนว่ารับสมาชิกเฉพาะ "คนไทยพุทธ" เท่านั้น. การตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นระบุว่า "กลุ่มรวมไทย" น่าจะได้รับการจัดตั้งขึ้นช่วงหลังเกิดเหตุป่วนเมืองยะลาหลายจุดในวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 โดยมีนายตำรวจระดับสูงรายหนึ่งในจังหวัดเป็นแกนหลักในการจัดตั้ง จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถประมาณจำนวนสมาชิกได้ว่ามีอยู่เท่าไหร่ นอกจากจะเป็นสมาชิกและแกนนำเท่านั้น

องค์กรดังกล่าวเคยได้รับการติดต่อขอสัมภาษณ์และนำเสนอเรื่องราวภารกิจของกลุ่มจากสื่อหลากหลายสำนัก แต่แกนนำและสมาชิกมักจะขอปฏิเสธที่จะเปิดเผย รวมทั้งการจัดทำรายงานพิเศษครั้งนี้ด้วย. กลุ่มรวมไทยเป็นหนึ่งในองค์กรที่รับสมาชิกทั้งที่เป็นพลเรือนและข้าราชการนอกราชการ เฉพาะที่เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ในพื้นที่และนอกพื้นที่มาเป็นอาสาสมัคร ภายใต้การกำกับและสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีข่ายวิทยุเป็นของตัวเองในย่านความถี่ 105.075 เมกะเฮิร์ตส์ และมีศูนย์วิทยุตั้งอยู่ในย่านชุมชนพุทธแถบวัดเวฬุวัน สมาชิกของกลุ่มสามารถพกพาอาวุธปืนและวิทยุโดยที่ไม่มีใบอนุญาตได้ ปฏิบัติงานลาดตระเวนไม่จำกัดพื้นที่

ส่วนภารกิจของสมาชิก "กลุ่มรวมไทย" ออกเป็น 3 ส่วน คือ

- หนึ่ง หาข่าวเกี่ยวกับเบาะแสอาชญากรรมและความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
- สอง ลาดตระเวนโดยมักใช้รถจักรยานยนตร์ขับตามเป็นขบวนๆ ละประมาณ 4 - 10 คันในเขตเมือง ส่วนในเขตรอบนอก
จะใช้รถยนต์ การปฏิบัติหน้าที่ลักษณะนี้พบเห็นได้บ่อยครั้งในเขตเมืองยะลา
- สาม ส่วนภารกิจที่สาม คือชุดรบพิเศษที่ได้รับการฝึกการใช้อาวุธอย่างดี ไม่แสดงตัวชัดเจน และมีรายละเอียดในการปฏิบัติงานน้อยมาก

ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มที่ปกปิดและมีจำกัดสมาชิกเฉพาะชาวไทยพุทธ ทำให้การคงอยู่ของ "กลุ่มรวมไทย" ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวบ้านมุสลิมจำนวนไม่น้อย. ยังเป็นข้อกังขาสำหรับการจัดตั้งองค์กรในลักษณะกลุ่มรวมไทยอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่ เพราะเกิดข้อกังขาและหวาดระแวงว่าทางการกำลังทำอะไรอยู่ แม้จะประกาศว่าจะแก้ปัญหาด้วยแนวทางสมานฉันท์ แต่การมีกลุ่มรวมไทยอยู่กลับเป็นการฟ้องว่า เจ้าหน้าที่เองต่างหากที่กระทำการในลักษณะ "แบ่งเขาแบ่งเรา" เสียเอง

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเกี่ยวกับการจัดตั้งกองกำลังที่ปิดลับเพื่อปฏิบัติการตอบโต้กับ "กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ" และการลอบทำร้ายชาวบ้านมุสลิมในพื้นที่เพื่อเป็นการ "เอาคืน" เป็นประเด็นที่ได้รับการหยิบยกพูดคุยอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนในชุมชนมุสลิม. แน่นอนว่าหากมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรจริงๆ หรือแม้แต่เป็นภารกิจลับของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ก็ย่อมเป็นการยากที่จะได้รับการเปิดเผย เรื่องเล่าในทำนองเช่นนี้ ยังคงอยู่ในฐานะของข่าวลือที่ไร้การยืนยันต่อไป. พล.ต.จำลอง คุณสงค์ เสนาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 ระบุว่า การจัดตั้งประชาชนให้ลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองกระทำภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าหากมีกลุ่มใต้ดินเช่นนี้อยู่มาก ก็จะส่งผลต่อการทำงานการเมืองในการแก้ปัญหาทั้งระบบ

กรีดลิ่มร้าวพุทธ-มุสลิม
นอกจากปรากฏการณ์เหล่านี้ที่ซ้อนทับอยู่กับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละวันแล้ว ยังต้องจับตา "ชุดของเหตุการณ์" ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ที่มีผลทำให้ประชาชนในพื้นที่ 2 เชื้อชาติศาสนา ซึ่งมีแนวโน้มหวาดระแวงกันหนักยิ่งขึ้น ดังกรณีที่คนร้ายอาวุธครบมือดักถล่มรถตู้สายเบตง - หาดใหญ่ บริเวณ ในช่วงเช้าวันที่ 14 มีนาคม ยังผลให้มีผู้โดยสารชาวพุทธทั้งหมดเสียชีวิต 9 ศพ ในลักษณะการจ่อยิงอย่างโหดเหี้ยม ส่วนคนขับรถมุสลิมบาดเจ็บ 1 ราย แต่ในค่ำวันเดียวกันก็มีคนร้ายขว้างระเบิดเข้าใส่มัสยิดอัลมูบาร็อค ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา เป็นเหตุให้มีชาวบ้านมุสลิมบาดเจ็บ 11 ราย นอกจากนี้ให้หลังเพียงไม่ถึงชั่วโมงก็เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันที่ร้านน้ำชาแห่งหนึ่งที่ ต.กาตอง อ.ยะหา มีผู้บาดเจ็บประมาณ 10 ราย

ผลสะเทือนที่ตามมาของชุดเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ กองทัพภาคที่ 4 จำต้องประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ 2 อำเภอ ในขณะที่คำร่ำลือในพื้นที่ระบุว่า ปฏิบัติการที่มัสยิดและร้านน้ำชาเป็นการแก้แค้นเอาคืนจากกรณีรถตู้ ทว่าคำอธิบายของนายทหารระดับสูงในพื้นที่ระบุว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบสร้างสถานการณ์เป็นเงื่อนไขเพื่อหวังผลให้เกิดความแตกแยกระหว่างชาวบ้านพุทธและมุสลิม ในขณะที่ผู้นำศาสนาบางคนระบุว่า กลุ่ม "มือที่สาม" ต้องการตอกลิ่มร้าวระหว่างคนสองศาสนา. ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ยังคงไม่มีคำตอบสำเร็จรูปอีกเช่นเคย

ในขณะที่อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสงกรานต์ ภายหลังจากที่นายก อบต.เขื่อนบางลาง ถูกลอบวางระเบิดเสียชีวิต ชาวบ้านหลายสิบคนที่กำลังเดินทางกลับจากการละหมาดให้ผู้เสียชีวิต ก็ถูกกราดยิงโดย ชรบ. บ้านภักดี ม.5 ต.เขื่อนบางลาง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 5 รายและบาดเจ็บหลายราย สถานการณ์หลังจากนั้นตึงเครียดหนักขึ้นเมื่อชาวบ้านมุสลิมตั้งเต้นท์ปิดถนน และรวมตัวอยู่ที่มัสยิดละแวกใกล้เคียงเป็นเวลาหลายวัน และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จับตัว "คนร้าย" ที่ลงมือในสองเหตุการณ์ให้ได้

ในขณะที่เจ้าหน้าที่เองตั้งด่านสกัดการเข้าออกพื้นที่ดังกล่าวอย่างเข้มงวดซ้อนอีกชั้นหนึ่ง พร้อมเปิดเผยข้อมูลว่า ชรบ.ชุดดังกล่าวกระทำไปเพื่อการป้องกันตัวเองจากขบวนชาวบ้านที่พยายามสร้างความปั่นป่วน ทว่าความเข้าใจทำนองนี้สวนทางกับชาวบ้านมุสลิมโดยสิ้นเชิง. แม้ว่าสถานการณ์คลี่คลายลงโดยการผ่อนปรนทั้งฝ่ายชาวบ้านและฝ่ายทหารในเวลาต่อมา ด้วยการมี "ตัวกลาง" ในการต่อรองทั้งสองฝ่าย แต่สถานการณ์ในครั้งนี้อาจเป็นตัวชี้วัดอุณหภูมิระหว่างชุมชนสองศาสนาที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

ข้อสังเกตที่ระบุว่ามีผู้คอย "เสี้ยม" ให้เกิดความแตกแยกจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่สายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองศาสนาในพื้นที่ความขัดแย้งแห่งนี้ เริ่มเห็นรอยร้าวที่เด่นชัดมากยิ่งขึ้นในระยะหลัง เหตุการณ์ต่างๆ ที่ประมวลภาพชี้ให้เห็นว่า ทางการยังไม่มีศักยภาพในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ ไม่ว่าประชาชนเหล่านี้จะเป็นพุทธหรือมุสลิม ต่อจากนี้ ความไร้ศักยภาพดังกล่าวอาจส่งผลเลวร้ายหนักหน่วงถึงขั้นที่ประชาชนกับประชาชนจะเผชิญหน้ากันเองบนพื้นฐานเหตุผลในการป้องกันตัวเองหรือไม่ คงต้องจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ยังไม่ใช่สงครามกลางเมือง
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวางภาพรอยปริร้าวระหว่างคนพุทธ - มุสลิมที่เด่นชัดขึ้นทุกวันนี้ว่า สถานการณ์ในชายแดนใต้กำลังขมวดเข้าสู่ภาวะความขัดแย้งขั้นสุกงอม บางคนฟันธงไปแล้วว่าขณะนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับภาวะที่เรียกว่า "สงครามกลางเมือง" ในขณะที่บางคนกล่าวเตือนว่าหากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้ สังคมไทยมีแนวโน้มเผชิญกับสงครามกลางเมืองอย่างแน่นอน

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เคยปฏิเสธหลายครั้งที่จะเรียกขานสถานการณ์ในภาคใต้ด้วยคำๆ นี้ ครั้งหนึ่งได้อธิบายเหตุผลสั้นๆ กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กลุ่มผู้ก่อการไม่มีความแข็งแกร่งพอที่จะก่อสงครามภายใน หรืออะไรก็ตามที่เปรียบได้กับสถานการณ์ในอิรักหรืออัฟกานิสถาน. ส่วน พล.ต.จำลอง คุณสงค์ เสนาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายที่จะเรียกขานว่าเป็น "สงคราม" เพราะฝ่ายตรงกันข้ามไม่ได้มีการประกาศตัวชัดเจน แม้ว่าข้อมูลด้านการข่าวจะระบุว่าเป็น "บีอาร์เอ็น โคออดิเนต" แต่ก็ยังดำเนินการในลักษณะลักลอบและอำพราง เพราะเห็นว่าเป็นมาตรการที่ได้เปรียบเหนือฝ่ายรัฐ. "หากจะเป็นสงครามกลางเมือง เขาต้องประกาศตัวและประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะต้องลุกขึ้นสู้กับรัฐ หรือไม่ก็แบ่งเป็น 2 กลุ่มสู้กันเอง แต่ปัจจุบันนี้ประชาชนยังนิ่งเฉยอยู่ เพราะต่างก็กลัว"

นายทหารคนนี้ยังเชื่อมั่นว่า การต่อต้านรัฐในขณะนี้มาจากคนเพียงกลุ่มเดียวที่มีจำนวนไม่มาก พยายามใช้ความรุนแรงนำไปสู่ภาวะที่ประชาชนกับประชาชนปะทะกัน หาไม่แล้วก็ต้องการให้รัฐเข้าปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง เพื่อสะท้อนภาพดังกล่าวออกสู่สากล โดยชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ สุดท้ายพวกเขาคาดหวังว่า องค์กรสากลอย่างสหประชาชาติ หรือ โอไอซี จะยื่นมือเข้ามาเพื่อให้จัดการลงประชามติเพื่อรับรองเอกราชในที่สุด. พล.ต.จำลอง ยืนยันว่า ทางการตระหนักถึงแผนการดังกล่าวดี และดำเนินการไม่ให้นำไปถึงจุดนั้น แม้จะยากแต่ยืนยันว่า ยังอยู่ในขอบเขตที่สามารถรับมือได้

ไขนิยาม "สงครามกลางเมือง"
โดยทั่วไปแล้ว "สงครามกลางเมือง" มักเข้าใจว่าเป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มคนในสังคม วัฒนธรรม หรือเชื้อชาติเดียวกัน เพื่อต่อสู้ช่วงชิงให้ได้มาซึ่งการควบคุมอำนาจในทางการเมือง นอกจากนี้ นักรัฐศาสตร์มักใช้เกณฑ์บ่งชี้ 2 ประการ กล่าวคือ

- หนึ่ง กลุ่มที่ต่อสู้กันต่างจะต้องอยู่ในประเทศเดียวกัน และห้ำหั่นกันเพื่อควบคุมศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง ควบคุมพื้นที่ในเขตปลดปล่อย
หรือเพื่อกดดันให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐอย่างขนานใหญ่

- สอง จะต้องเป็นสงครามที่มีคนถูกสังหารอย่างน้อย 1,000 คน และในแต่ละฝ่ายจะต้องถูกสังหารไม่น้อยไปกว่า 100 คนเป็นอย่างต่ำ

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "สงครามกลางเมือง" ในปัจจุบันค่อนข้างจะเลื่อนไหลไปตามบริบทของความขัดแย้งนั้นๆ หรือแม้แต่กระทั่งการนิยามความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกด้วยคำว่า "สงคราม" ก็ยังคงมีข้อถกเถียงในทางวิชาการ. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการสันติวิธี ระบุว่า สงครามกลางเมืองอาจอธิบายได้จากกรณีที่กลุ่มชนชั้นนำที่ปกครองรัฐอยู่ ต้องเผชิญกับการท้าทายจากกลุ่มต่อต้านที่มีการจัดตั้งและใช้ความรุนแรงอย่างจริงจัง และในความขัดแย้งลักษณะนี้อาจมีการใช้กำลังของ "รัฐอื่น" เข้ามาสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ ส่วนเป้าหมายอาจมีหลายระดับ ทั้งที่มุ่งหวังควบคุมรัฐทั้งหมดหรือตัดแยกดินแดนบางส่วน รวมทั้งอยู่ในระดับเพียงต้องการอำนาจในการปกครองตัวเองภายใต้โครงสร้างของรัฐเดิม

ความลื่นไหลนิยามในปัจจุบัน ทำให้ "สงครามกลางเมือง" เปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นเพียงเรื่อง "ภายในประเทศ" กลายเป็นประเด็นระดับสากลได้โดยง่าย เนื่องจากในปัจจุบันความขัดแย้งรุนแรงในรัฐหนึ่งๆ อาจส่งผลกระทบต่อรัฐอื่นๆ ตามไปด้วย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีประเด็นปัญหาเชื่อมโยง 3 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาการก่อการร้าย, ปัญหาธุรกิจผิดกฎหมาย (โดยเฉพาะอาวุธและยาเสพติด), และปัญหาผู้ลี้ภัย. ผลกระทบเหล่านี้จะดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับสากลให้เข้ามาแทรกแซง เพื่อร่วมจัดการกับปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าประเทศเจ้าบ้านไม่มีความสามารถที่จะจัดการกับปัญหาของตัวเองได้ หรือกล่าวได้ว่าเป็น "รัฐล้มละลาย" ไปแล้วนั่นเอง

ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่างภาวะสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในโซมาเลีย, ไลบีเรีย, และบอสเนีย ที่ความรุนแรงโดยรัฐและความรุนแรงโดยประชาชนกันเองระบาดไปทั่ว จนประชาคมนานาชาติต้องตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์. อย่างไรก็ตาม สำหรับเขาแล้วสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ ยังไม่ถือว่าเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งสอดคล้องกับ ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า หากยึดหลักวิชาอย่างเคร่งครัดแล้ว สถานการณ์ในชายแดนใต้ยังไม่ถือว่าเป็น "สงคราม" ด้วยซ้ำ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตไม่ถึง 1,000 รายต่อปีตามเกณฑ์. ในทางวิชาการจะเรียกขานได้เพียง "ความขัดแย้งระดับต่ำ" หรือ "ความรุนแรงทางการเมืองระดับต่ำ" ที่ไม่ต่างกับอีกหลายพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลก

แต่ อ.ปณิธาน ระบุว่า คำจำกัดความในทางวิชาการ อาจแตกต่างจากความรู้สึกและการรับรู้ของผู้คนโดยสิ้นเชิง เพราะสถานการณ์ที่ถูกถ่ายถอดภาพและเรื่องราวของเหตุการณ์รุนแรงจากในพื้นที่ ทำให้ผู้คนในสังคมไทยรู้สึกไปแล้วว่า มันคือสงคราม การรับรู้ต่อปัญหาเช่นนี้จะลบล้างจากความเข้าใจของประชาชนได้ยาก และท้ายสุดจะเป็นปัญหาต่อผู้กำหนดนโยบายอย่างสำคัญ เพราะจะส่งผลให้ช่องว่างระหว่าง "ความจริงของรัฐ" และ "ความจริงของประชาชน" ถ่างห่างกันมากขึ้น รัฐบาลจะประสบปัญหากับการทำความเข้าใจต่อประชาชน ภาพเหล่านี้จะเป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการปัญหาของรัฐ ที่จะนำไปสู่การที่สังคมกดดันให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง นโยบาย หรือตัวบุคคลในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ในที่สุด. "มันจะไปสอดคล้องกับเป้าหมายของสงครามกองโจรทันที"

รายงาน World at War ของ FCNL
นอกจากความรับรู้ของคนในประเทศแล้ว สถานการณ์ภาคใต้ในระดับสากลยังอยู่ในบัญชีการจับตามองอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน ดังรายงาน "World at War" ของ The Friends Committee on National Legislation - FCNL องค์กรล็อบบี้ยิสต์ที่มีอิทธิพลต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ องค์กรหนึ่ง เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลการป้องกันประเทศ (Center for Defence Information - CDI) ระบุว่า สถานการณ์ในภาคใต้ของไทยจัดเป็น 1 ใน 25 จุดปะทุ (Hot Spot) ของความขัดแย้งที่ต้องจับตา เทียบขั้นกับสถานการณ์ในซูดาน พม่า ฟิลิปปินส์ เนปาล ฯลฯ

แนวโน้มเด่นชัด "ความรุนแรงระหว่างชุมชน"
คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เคยคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ภาคใต้ไว้หลายประเด็น ทั้งที่ประมาณการณ์ว่าความรุนแรงจะยังคงไม่ลดลง การใช้ระเบิดในการก่อเหตุมากขึ้น เหยื่อจะเป็นราษฏรสามัญมากขึ้น เศรษฐกิจจะทรุดลง ทว่าที่สำคัญที่สุดคือ การคาดคะเนว่าสายสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่จะเปราะบาง ทรุดโทรมลง. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หนึ่งใน กอส. อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้สายสัมพันธ์ในแนวดิ่งระหว่างรัฐกับประชาชนจะส่งผลต่อความมั่นคงและสันติภาพในสังคมก็จริงอยู่ แต่สายสัมพันธ์ในแนวนอนระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในรัฐเองดูเหมือนสำคัญยิ่งกว่า โดยเฉพาะกับปัญหาในชายแดนใต้ในทุกวันนี้

ความรุนแรงระหว่างชุมชน? ภาวะรัฐล้มละลาย
ภายใต้ "อุตสาหกรรมความไม่มั่นคง" ซึ่งต่างมีคนได้และเสียประโยชน์จำนวนมาก ไม่ว่า "ใคร" เป็นผู้ก่อความรุนแรงในพื้นที่ก็ตาม ถ้าเมื่อใดคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมเกิดความขัดแย้งจนถึงขั้นห้ำหั่นกันเองแล้ว จะส่งผลกระทบต่อวงกว้างจนยากจะควบคุม ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการสันติวิธี อย่าง อ.ชัยวัฒน์ จึงห่วงกังวลต่อแนวโน้มที่จะนำไปสู่สภาวะที่เรียกขานว่าเป็น "ความรุนแรงระหว่างชุมชน (Communal Violence)" หรือ ความรุนแรงที่ผู้คนในแต่ละชุมชนกระทำต่อกัน เป็นผลมาจากการที่รัฐไม่สามารถทำหน้าที่ให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนที่เป็นพลเมืองของตัวได้ โดยเฉพาะหน้าที่ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หรือภาวะที่เรียกว่า "รัฐล้มละลาย" นั่นเอง

"ความรุนแรงระหว่างชุมชน" เกิดขึ้นจากพื้นฐานของความเกลียดชังซึ่งผ่านกระบวนการหล่อหลอมโดยการทำให้กลุ่มคนที่ต่างจากตัวเองให้ดูเหมือนเป็น "ปีศาจ" อาทิเช่น ทำให้สายตาของคนพุทธมองว่า คนมุสลิมเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ ไม่มีทางเป็นพลเมืองไทยที่ดีได้ เพราะไม่ยอมเคารพต่อสัญลักษณ์แบบเดียวกัน หรือถึงที่สุดก็ไม่มีวันที่จะจงรักภักดีได้ ซึ่งทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวที่ "ถ้าจะเป็นไทยก็ต้องเป็นแบบนี้แบบเดียวเท่านั้น" ในทางตรงกันข้ามลักษณะเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นกับมุมมองของคนมุสลิมต่อคนพุทธ

ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่รัฐไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ ประชาชนในแต่ละกลุ่มจะหาทางออกด้วยการหยิบอาวุธที่ใกล้มือที่สุด ขึ้นมาทำร้ายกันโดยที่ไม่ต้องมีกระบวนการจัดตั้งมากมาย ดังกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอินเดีย จากกรณีความขัดแย้งที่มัสยิดบาบรี, หรือในกรณีจลาจลที่เมืองกุจราตที่เป็นการปะทะระหว่างมุสลิมกับฮินดู. "นี่คือจุดที่อันตรายที่สุดของประเทศนี้ หรือเรียกว่าของรัฐชาติอื่นๆ ทั่วโลกเลยก็ว่าได้"

ชัยวัฒน์ บ่งว่าสัญญาณบอกเหตุของ "ความรุนแรงระหว่างชุมชน" มีอยู่ประมาณ 3 - 4 ประการ อันได้แก่

- หนึ่ง รัฐหรือคนของรัฐไม่สามารถปกป้องหรือถูกมองว่าไม่ปกป้องพลเมืองของตัวเอง

- สอง คนของรัฐบางส่วนได้ตัดสินใจ "เลือกข้าง" ไปอิงอยู่กับกลุ่มที่เป็นฐานรากของตัวเอง ทำให้การปฏิบัติงานในฐานะ "ข้าราชการ" หรือ "คนของรัฐ" ถูกมองว่ากระทำอย่างไม่เสมอหน้ากัน. "ในความขัดแย้งที่ทำกันจนถึงตายนี้ มันก็ยากที่จะให้พวกเขาทำหน้าที่ของข้าราชการที่เที่ยงตรงได้ เพราะพวกเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน" อ.ชัยวัฒน์ กล่าวพร้อมระบุว่า ยังมีคนของรัฐบางส่วนที่ถูกมองว่า "เลือกข้าง" เข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากความหวาดระแวงที่ยังดำรงอยู่ระหว่างความขัดแย้งอย่างหนาแน่น

- สาม มีปฏิบัติการเพื่อขยายความความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำให้ชาวพุทธรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่ก็ไม่ปกป้องคุ้มครองเขา แถมยังมีนโยบายเอาใจมุสลิม ในทางกลับกันมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นไทยพุทธ ก็ไม่สนใจพวกเขา เจ้าหน้าที่รัฐเลยอยู่ในสภาวะที่เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง และ

- สุดท้าย มีการโจมตีสัญลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งในแง่นี้จะน่ากลัวกว่าการโจมตีเป้าหมายที่เป็นบุคคลปกติ ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นทั้งคน สิ่งของ สถานที่ หรือช่วงเวลาสำคัญของคนในกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่ง อาทิเช่น พระสงฆ์ วัด ปอเนาะ มัสยิด ช่วงเดือนรอมฎอน วันมาฆบูชา หรือวันตรุษจีน เป็นต้น. สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นจุดเชื่อมโยงผู้คนในแต่ละกลุ่มเข้าด้วยกัน ในอดีตผู้คนต่างวัฒนธรรมตระหนักถึงความสำคัญของสัญลักษณ์เหล่านี้ จึงสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่เมื่อใดที่ตกเป็นเป้าการโจมตีแล้ว นั่นหมายถึงระยะห่างระหว่างกลุ่มชนที่จะถ่างกว้างตามไปด้วย

ภารกิจบังคับเหนือ "ทุกคน"
ข้อห่วงกังวลถึงความรุนแรงระหว่างชุมชนยังสอดคล้องกับ สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ประจำประเทศไทย ที่มองว่าสถานการณ์มีแนวโน้มชัดเจนว่าจะขยายความขัดแย้งระหว่าง "รัฐ" กับ "ขบวนการติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน" แตกลูกเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนสองกลุ่ม ซึ่งจับสัญญาณได้จากข้อมูลจำนวนความรุนแรงที่พุ่งสูงขึ้นและรูปแบบของการก่อเหตุที่มุ่งเน้นเป้าโจมตีที่เป็นพลเรือน ไม่ว่าในแง่บุคคลหรือสถานที่ นอกจากนี้ ในระยะหลังยังมีการก่อเหตุรุนแรงในลักษณะโหดเหี้ยมผิดมนุษย์หลายครั้ง ซึ่งต่างก็กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ 2 ลักษณะ กล่าวคือ พื้นที่ที่มุสลิมกับพุทธเคยอยู่ร่วมกันได้อย่างดีในอดีต และพื้นที่นิคมซึ่งเป็นชุมชนผู้อพยพมาจากที่อื่นไม่เกิน 2 - 3 รุ่น หรือเป้าโจมตีที่เป็นคนต่างพื้นที่เข้ามาทำมาหากิน. "ในพื้นที่แรกต้องการตอกลิ่มให้กับคนสองกลุ่ม ส่วนพื้นที่หลังพวกเขาต้องการส่งสัญญาณว่าคนที่ไม่ใช่มลายูมุสลิมไม่เป็นที่ต้อนรับสำหรับพื้นที่แห่งนี้"

นอกจากนี้ สุนัย ยังเผยถึงสัญญาณที่ได้รับจากการได้สัมภาษณ์สมาชิกของขบวนการฯ ตั้งแต่ระดับกองกำลัง จนถึงระดับวางแผน ที่พบว่าพวกเขายังมุ่งมั่นก่อการด้วยความภูมิใจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าท่าทีจากรัฐบาลจะปรับเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใดก็ตาม. ทั้งนี้ องค์กรของสุนัย เป็นหนี่งในองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับสากลที่จับตาสถานการณ์ในภาคใต้อย่างใกล้ชิด และมีความเคลื่อนไหวในระดับนโยบายมาโดยตลอด

สุนัย ถ่ายทอดแนวคิดของขบวนการฯ ที่ว่าภารกิจในการต่อสู้เป็นหน้าที่หรือข้อบังคับ(วาญิบ)เหนือชาวมลายูมุสลิมทุกคน และนั่นหมายความว่าพวกเขาคาดหวังว่า "ประชาชน" จะต้องต่อสู้ร่วมกับ "ญูแว" หรือ "นักต่อสู้" เช่นเดียวกับพวกเขา แม้ขณะนี้จะยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่นิ่งเฉยด้วยความหวาดกลัว แต่สถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างประชาชนจะบีบให้พวกเขาไม่มีทางเลือก แต่ไม่ช้าก็เร็วประชาชนเหล่านี้จะถูกดึงให้เลือกฝ่ายในที่สุด เป็นเรื่องน่าตระหนกที่สมาชิกของขบวนการฯ ยอมรับและส่งสัญญาณชัดเจนว่า พวกเขาต้องการให้เกิดสิ่งที่สุนัยเรียกว่าเป็น "ความรุนแรงระหว่างชุมชน" นั่นเอง "พวกเขาต้องทำให้การต่อสู้เป็นเรื่องของทุกคน และยืนยันด้วยว่าจะต้องเร่งสถานการณ์ให้เกิดสภาพนี้ให้เร็วที่สุด แต่จะเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากหากเพื่อนบ้านจะต้องมาฆ่ากันเอง"

เขาวิเคราะห์ว่า ขบวนการฯ ต้องการทำให้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ กรณีการอพยพของคนพุทธ การไม่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้คนสองกลุ่ม หรือแม้แต่การตัดทำลายสวนผลไม้ เป็นข้อบ่งชี้ถึงสัญญาณเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี. ในทางกลับกัน สุนัยยังจับสัญญาณอันตรายจากสังคมไทยซึ่งมีพื้นฐานความคิดที่ไม่ยอมรับในเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้คนในสังคมไทยอย่างแท้จริง และมองว่าคนกลุ่มต่างๆ ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนา เป็นเพียงผู้มาอยู่อาศัยในขอบขัณฑสีมาเท่านั้น พื้นที่ในการต่อรองทางการเมืองซึ่งเป็นทางเลือกนอกจากความรุนแรงจึงน้อยมาก

นอกจากนี้ พื้นฐานของการแบ่งเขาแบ่งเราในสังคมไทยยังมีอยู่สูง คนมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงถูกมองว่าเป็น "คนอื่น" มาโดยตลอด. ในขณะเดียวกัน สุนัย วิเคราะห์ว่า สังคมไทยเองก็มีเชื้อของความรุนแรงที่พร้อมจะประหัตประหารกันอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เพราะประสบการณ์จากเหตุการณ์ 6 ตุลา ผู้คนบางส่วนของสังคมไทยเองก็สามารถสังหารนักศึกษาที่ถูกทำให้เป็นคนญวนหรือ "คนอื่น" มาแล้ว

แนวโน้มในอนาคตที่น่ากังวลอีกประการ คือ ระเบิดเวลาที่หมายถึงกลุ่มติดอาวุธที่ ปัจจุบันมีอายุไม่มากนัก และถูกปลูกฝังด้วยแนวคิดแบ่งเขาแบ่งเราอย่างสุดโต่ง ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตหากว่าสถานการณ์คลี่คลายไปถึงขั้นที่สมาชิกระดับบนหันมาใช้แนวทางการเมืองต่อสู้ พวกเขาเหล่านี้อาจยังไม่ยินยอมวางอาวุธ ดังกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับความล้มเหลวของการเจรจาหยุดยิงในศรีลังกา หรือการแตกตัวของกลุ่มสปลินเตอร์ของกองทัพสาธารณรัฐไอริช (IRA) ในอดีต

บทบาท "รัฐ" ชี้ขาดอนาคต
แนวโน้มดังกล่าวยังสอดคล้องกับ ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี นักรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี ที่กังวลว่า สถานการณ์ที่ประชาชนด้วยกันเองจะปะทะกันเองบนพื้นฐานความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา จะต้องมีจุดเริ่มต้นที่ความเกลียดชังอย่างรุนแรง แม้ขณะนี้จะยังไม่ถึงขั้นนั้นแต่พื้นฐานของความหวาดระแวงและอคติต่อกันก็อยู่ในระดับที่สูง. อ.ศรีสมภพ มองว่า บทบาทของ"รัฐ" คือปัจจัยชี้ขาดว่าภาวะความรุนแรงระหว่างชุมชนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะจากบทเรียนในพื้นที่ขัดแย้งต่างๆ ทั่วโลก มักพบว่ากลไกของรัฐเองปรากฏเป็นผู้กระตุ้นผลักดันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสมอ ดังกรณีหมู่เกาะโมลุกุ ที่ทหารมุสลิมของอินโดนีเซียเป็นผู้สนับสนุนชาวบ้านมุสลิมให้ปะทะกับชาวบ้านคริสต์ หรือในสงครามกลางเมืองที่บอสเนีย ที่ทหารประจำการชาวเซิร์บก็สนับสนุนพลเรือนฆ่าฟันกัน

หากบทบาทของรัฐหรือคนของรัฐไปเล่นตามเกมของความรุนแรง ทั้งโดยการเลือกปฏิบัติด้วยอคติ สร้างกระแส ปลุกปั่นความเกลียดชัง รวมไปถึงขั้นการจัดตั้งกลุ่มประชาชนติดอาวุธลุกขึ้นมาแก้แค้น สิ่งที่ตามมาอย่างไม่ต้องคาดเดาคือ กระบวนการตอบโต้ไปมา ซึ่งสุดท้ายจะนำความสูญเสียมหาศาล ทว่าในทางกลับกัน หากรัฐมีบทบาทเป็นกลางในท่ามกลางความขัดแย้ง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลดอุณหภูมิของความรุนแรงได้. "หากผู้ที่รับผิดชอบไม่เข้าใจเงื่อนไขของความรุนแรงระหว่างชุมชนแล้ว จะเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างมาก เพราะเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำอยู่อาจนำพาไปสู่ความหายนะก็ได้"

รับมือคลื่นรุนแรงลามลึก "ประชาชน"
ยังไม่มีใครยืนยันอย่างเป็นทางการได้ว่า ขณะนี้สถานการณ์ได้ยกระดับไปสู่สภาวะประชาชนเริ่มจับอาวุธต่อกรกันเองแล้วหรือไม่ แต่ เสธ.รมน.ภาค 4 - พล.ต.จำลอง คุณสงค์ แสดงอย่างมั่นใจว่า "แนวทางการเมืองนำการทหาร" ที่กองทัพใช้อยู่จะนำมาสู่ชัยชนะเหนือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในไม่ช้า. สำหรับกลุ่มติดอาวุธทางการก็ใช้กำลังติดอาวุธต่อสู้ด้วย ส่วนกลุ่มที่ใช้ความคิดต่อสู้ พล.ต.จำลอง บอกว่า จะต้องสู้ด้วยการทำความเข้าใจ ไม่จับคนกลุ่มนี้หากไม่มีหลักฐานเพราะจะส่งผลเสีย แต่เน้นการเปลี่ยนความคิดให้มาต่อสู้ด้วยสันติวิธี เขาเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะยังประโยชน์ในระยะยาวทั้งต่อสถานการณ์ภายในและระดับสากล. "แนวคิดรัฐปัตตานีคงไม่หมดไปเสียทีเดียว และเราก็จะต้องไม่ถือว่าคนที่มีความคิดแบบนี้เป็นเรื่องที่ผิดด้วย"

สงครามความคิด" คลายปม
ส่วน ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ก็มองเห็นเค้าลางของการต่อสู้ทางความคิดทั้งในฟากของกองทัพ ซึ่งเป็นผู้กุมสภาพการแก้ไขปัญหาภาคใต้ และในฟากของกลุ่มขบวนการฯ ที่กำลังก่อเหตุอยู่ในขณะนี้ บ่งบอกสัญญาณด้านบวกว่า สถานการณ์อาจไม่ได้เลวร้ายลงอย่างที่เขาประเมิน. ด้านหนึ่ง เขาเห็นการปรับเปลี่ยนการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะกำลังทหารที่อยู่ภายใต้ กอ.รมน.ภาค 4 มาเน้นหนักการทำงานมวลชนอย่างจริงจัง โดยถอดบทเรียนจากหน่วยปฏิบัติที่เคยลงปฏิบัติงานในพื้นที่ในรอบ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา และมีการฝึกอบรมส่งต่อองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับหน่วยปฏิบัติทุกหน่วยอย่างเป็นระบบ ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้กองทัพกำลังปรับตัวครั้งใหญ่อย่างเงียบๆ ไปพร้อมกับการถกเถียงระหว่าง "สายพิราบ" ที่เน้นงานการเมือง กับ "สายเหยี่ยว" ที่เน้นงานทหารอย่างที่เรียกว่ากำลังออกรส

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เสียงสะท้อนของกลุ่มนักการเมืองในระดับท้องถิ่นจากเวทีสัมมนา ในงานวิจัยเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 30 เวที ได้ข้อสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ที่ศรีสมภพตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแบบแผนเดียวกันในแทบทุกพื้นที่ ที่สำคัญ "วาระ" เหล่านี้ยังอยู่ในขอบเขตที่สามารถผลักดันได้ด้วยกระบวนการทางการเมืองภายใต้รัฐไทย โดยเฉพาะการเรียกร้องอำนาจในการปกครองตัวเองของท้องถิ่น ซึ่งระบุชัดว่า ไม่ถึงขั้นต้องจัดตั้งระบบการเมืองใหม่หรือรัฐใหม่แต่อย่างใด จะแตกต่างกันในรายละเอียดเท่านั้น

นั่นนำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากฝ่ายทางการที่มีสงครามความคิดกันแล้ว ในฟากฝ่ายขบวนการฯ และแนวร่วมเองก็มีการถกเถียงทางความคิดอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน แนวรบของสงครามความคิดทั้งสองจำต้องได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด. อ. ศรีสมภพ ยังเสนอด้วยว่า รัฐบาลควรตระหนักถึงรูปธรรมของการปฏิรูปการเมืองในมิติของการกระจายอำนาจให้เป็นจริง เพราะไม่แน่ว่าอาจจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการหยุดยิงในอนาคต นอกจากนี้ การรับมือต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่ขยายเข้าสู่ชุมชน ยังต้องให้ความสำคัญกับความเข้าใจปัญหาต่อประชาชนไทยทั้งประเทศ ซึ่งต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ของสังคมกันขนานใหญ่ โดยมีสื่อมวลชนเป็นกลไกสำคัญเพื่อให้ข้อมูล สรุปบทเรียนความขัดแย้งที่ผ่านมา ตลอดจนอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

"เราคงต้องเตรียมสังคมให้เข้าใจสถานการณ์ด้วยความรู้ แทนที่จะเป็นความรู้สึกเพียงอย่างเดียว"

ส่งสัญญาณปราม "เอาคืน"
ในขณะที่ สุนัย ผาสุก เห็นว่ารัฐจะต้องทำหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้ ด้วยเหตุนี้ การคงกำลังไว้ในพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะในภาวะที่กำลังเผชิญหน้ากับกลุ่มขบวนการใต้ดินที่เข้มแข็งและโหดร้ายในปัจจุบัน แต่ทว่ากองกำลังติดอาวุธหลากหลายหน่วยเหล่านี้ จำเป็นต้องมีวินัยและสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน ที่สำคัญต้องแปรนโยบายที่ส่งสัญญาณสมานฉันท์และบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมให้เป็นรูปธรรมให้ได้. "รัฐจะต้องไม่ทำให้ประชาชนอยู่ในสภาพจำยอมจนต้องติดอาวุธ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นพุทธหรือมุสลิมก็ตาม" เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้สุนัยจะเห็นว่าการติดอาวุธให้กับประชาชนเพื่อป้องกันตัวเองเป็นสิ่งที่จำเป็นและชอบธรรมก็ตาม แต่รัฐควรต้องมีบทบาทในการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าการติดอาวุธเหล่านี้ จะกระทำการไปเพื่อการป้องกันตัวเองเท่านั้น และจะต้องไม่กลายสภาพไปเป็น "กองกำลังศาลเตี้ย" ที่ใช้กระบวนการเอาคืนอย่างไร้การควบคุม ซึ่งจะนำไปสู่การโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายขบวนการฯ ในขณะเดียวกัน การส่งสัญญาณที่ชัดเจนดังกล่าวจะเป็นการปรามคนของรัฐบางส่วน ที่เชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชอบ

"ประสบการณ์จากทั่วโลกทั้งในโมลุกุ (อินโดนีเซีย) โคโซโว (บอสเนียฯ) รวันดา หรือศรีลังกาชี้ให้เห็นว่าการก่อเหตุในลักษณะการเอาคืนจะเป็นปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงที่สุด เนื่องจากที่ไม่มีกติกาและเหยื่ออาจจะเป็นใครก็ได้". ความรับผิดชอบหลักยังเน้นอยู่ที่รัฐ สุนัย เสนอด้วยว่า รัฐต้องเร่งถอดชนวนความรุนแรงโดยการตอบโจทย์ให้ได้ว่า เหตุใดกลุ่มขบวนการติดอาวุธในรุ่นนี้ ถึงแตกต่างกับกลุ่มในอดีต ขบวนการรุ่นใหม่ไม่เพียงแต่ปฏิเสธรัฐไทยเท่านั้น หากแต่ปฏิเสธสังคมไทยและต้องการทำลายโอกาสที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติในอนาคต. หากเข้าใจข้อแตกต่างจุดนี้ เขาเชื่อว่าจะเป็นหนทางรับมือต่อความรุนแรงอีกระดับในอนาคต อย่างน้อยก็เพียงพอที่จะแสวงหาทางเลือกอื่นๆ นอกจากความรุนแรงให้ทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

สุนัย ยังเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรอิสระที่มีภารกิจคล้าย กอส. เพื่อทำงานสร้างความเข้าใจต่อความข้ดแย้งนานับปการที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งในประเด็นและพื้นที่เฉพาะ รวมทั้งส่งเสริมและผลักดันความคิดและกระบวนการสมานฉันท์ในสังคมไทย นอกจากนี้ เขายังเน้นเรียกร้องให้ประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือมุสลิมให้มีความอดทนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คิดถึงความสัมพันธ์อันดีในอดีตต่อกัน พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนทำอะไร รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาด้วย

เสนอย้อนศร - ตั้งกฎสงคราม
ส่วน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เห็นว่า หนทางในการหลีกเลี่ยงความรุนแรงระหว่างชุมชนได้ จะต้องสร้างกระบวนการที่ก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจข้ามผู้คนของตัวเอง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์สังคมการเมืองที่จะอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในอนาคต "ชุมชนจะต้องเอาชนะความเกลียดชังที่ตัวเองมีต่อคนกลุ่มอื่นให้ได้". นักวิชาการผู้นี้ ยังเสนอให้สวนทางแนวโน้มของความรุนแรงว่า คนของรัฐปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงตรง และสัมพันธ์กับผู้คนในพื้นที่ด้วยความเท่าเทียมเสมอหน้ากัน โดยไม่ยึดติดว่าตนสังกัดกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่ง แม้ว่าไม่ง่ายนักแต่ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงในอนาคตได้

"หวังว่าการที่ผู้คนจำนวนมากที่มาจากทิศทางไหนก็ตาม ที่มุ่งไปจัดตั้งคนในพื้นที่บนฐานของความเป็นพุทธเพื่อต่อกรกับความเป็นมุสลิม หรือไทยต่อกรกับมลายูโดยการติดอาวุธให้ น่าจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่ทำนั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศในระยะยาวขนาดไหน เพราะมันจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ความรุนแรงระหว่างชุมชน เราต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ถึงตายก็จะต้องไม่ยอมให้เกิด"

เขายังเสนอด้วยว่า ประชาชนทุกกลุ่ม คนของรัฐหรือแม้แต่กลุ่มผู้ก่อการที่นิยมความรุนแรงจะต้องเคารพสัญลักษณ์ในทางวัฒนธรรมของทุกกลุ่มคนอย่างเสมอหน้ากัน ไม่ทำร้ายและทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของสัญลักษณ์เหล่านี้ ไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ความรุนแรงขยายตัวเป็นความขัดแย้งของกลุ่มคนต่างวัฒนธรรม. อ.ชัยวัฒน์ยังชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ซึ่งปลอดจากความรุนแรงระหว่างชุมชนคือ พื้นที่ที่สายสัมพันธ์ของกลุ่มประชาสังคมนั้นเข็มแข็ง ซึ่งเป็นข้อสรุปจากงานวิจัยพื้นที่ความขัดแย้งหลายแห่งทั่วโลก และบทบาทของชุมชนในการหลีกเลี่ยงความรุนแรงดังกล่าว ก็ขึ้นอยู่กับการต่อรองระหว่างกลุ่มประชาสังคมเหล่านี้ กับ กลุ่มที่นิยมใช้ความรุนแรงในชุมชน

สื่อสารแนวราบ - ชุมชนเสวนา
สำหรับสถานการณ์เฉพาะหน้า ซากีย์ พิทักษ์คุมพล นักวิชาการศูนย์สันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ มองเห็นปัญหาว่า ในสถานการณ์ที่ขัดแย้งรุนแรง ช่องทางในการสื่อสารระหว่างชุมชนมักขาดหายไป และนำไปสู่การอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความระแวงสงสัย โดยต่างฝ่ายต่างมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า "คนกลุ่มอื่น" เป็นผู้กระทำเหตุร้ายต่อกลุ่มคนของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเสนอว่าควรจัดกระบวนการให้ผู้คนต่างชุมชนเหล่านี้ได้มีช่องทางพูดคุยและสื่อสารกัน โดยอยู่บนพื้นฐานการมองปัญหาที่ว่าหากยังมีความรุนแรงอยู่ ต่างฝ่ายต่างก็ต้องสูญเสีย

ซากีย์ เห็นว่า กระบวนการดังกล่าวควรต้องเริ่มต้นในระดับ "ผู้นำ"กับ"ผู้นำ" ด้วยกันก่อน เพื่อส่งทอดไปสู่การการเสวนาระหว่างชาวบ้านสองกลุ่ม เริ่มจากวงเล็กๆ ขยายข้ามไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม กระบวนการเหล่านี้อาจมีปัญหาหากรัฐเป็นเจ้าภาพ เพราะขณะนี้รัฐมีปัญหาในเรื่องความเชื่อถือจากประชาชน บทบาทหลักจึงน่าจะตกอยู่ที่องค์กรภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมหลัก. แน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวนี้อาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการ และคงไม่ถึงขั้นที่จะประสานเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด แต่อย่างน้อยผลสัมฤทธิ์เบื้องต้นที่น่าจะเห็นคือ ชาวบ้านต่างกลุ่มมีช่องทางสื่อสารระหว่างกัน หากเกิดเหตุร้ายขึ้นในอีกชุมชนหนึ่ง ก็มีความกล้าพอที่จะไปสอบถามหรือโต้เถียงกับข้อมูลที่ตนได้มาจากแหล่งเดียว

ฟื้นความจริง - ท้าทายทางเลือก
ในขณะที่ มันโซร์ สาและ คณะกรรมการประสานงานภาคประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งโจทย์ว่าหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเข้าใจที่แตกต่างกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ และอาจขยายนำไปสู่วิกฤต เขาจึงเสนอให้มีการจัดตั้งทีมค้นหาความจริง (Fact Finding) ที่มีองค์ประกอบของกรรมการที่คนในพื้นที่ยอมรับเพื่อคลี่คลายข้อกังขามากมายที่เป็นปมสงสัย โดยไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งการดำเนินการของรัฐเสมอไป

ส่วน โซรยา จามจุรี กลุ่มผู้หญิงอาสาสมัครครอบครัวผู้สูญเสีย เห็นสอดคล้องไปในทำนองเดียวกัน และเสนอด้วยว่า กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวต้องอยู่ให้ความสำคัญกับกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย พร้อมประกาศข้อเท็จจริงจากการสืบสวนให้สาธารณชนรับทราบ. เธอยังเสนอด้วยว่า รัฐควรต้องทบทวนนโยบายการใช้กำลังประชาชนในการป้องกันตัวเอง โดยการสนับสนุนการติดอาวุธให้กับประชาชน ตลอดจนนโยบายในการจัดตั้งกองกำลังประชาชนเพิ่มเติม โดยเธอเชื่อว่าในสถานการณ์วิกฤติ คนที่มีอาวุธอยู่ในมือจะเลือกใช้ "ความรุนแรง" เป็นทางออกเสมอและจะส่งผลกระทบตามมาในระยะยาว. เธอยังมีข้อเสนอท้าทายต่อรัฐให้มีตั้งโจทย์เพื่อแสวงหา "ทางเลือก" ในการป้องกันตัวเองของประชาชนโดยปราศจากอาวุธ ซึ่งถึงแม้ในขณะนี้จะยังมองไม่เห็นก็ตาม

ชุดข้อเสนอในการรับมือต่อแนวโน้มความรุนแรงเหล่านี้ อาจจะยังไม่ยังผลใดๆ หากไม่ได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาและสิ่งที่กำลังจะเผชิญหน้าในอนาคต แต่สิ่งสำคัญที่พอสรุปได้ในวินาทีนี้ คือ ปัญหา "ไฟใต้" หาได้จำกัดความเป็นปัญหาเฉพาะผู้คนในพื้นที่เท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงภาระหน้าที่ของผู้คนในสังคมไทย ที่จะต้องเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา และนั่นจะนำมาสู่โจทย์ร่วมกันในการรับมือของของสังคมไทยต่อความรุนแรงทั้งที่ดำเนินอยู่ และกำลังก่อร่างพร้อมเผยตัวในอนาคตอย่างเท่าทันได้อย่างไร

อ่านต่อบทความเกี่ยวเนื่อง ลำดับที่ ๑๕๔๔ (The Hidden Power: สงครามความคิด-การต่อสู้ยืดเยื้อทางทิศใต้)

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๑ : Release date 03 May 2008 : Copyleft by MNU.
แนวคิดของ ดร.วัน การ์เด เจ๊ะมาน อดีตประธานขบวนการเบอร์ซาตูที่บอกว่า "ทุกวันนี้ชีวิตของพลเมืองสำคัญกว่าเรื่องดินแดน" จึงเป็นสิ่งที่รัฐไทยต้องขบคิดอย่างจริงจัง เพราะถือว่าเป็นการท้าทายเชิงยุทธศาสตร์แนวคิดที่สำคัญอย่างยิ่ง. หากเป้าหมายการแก้ปัญหาเป็นไปเพื่อรักษาดินแดน จะมีประโยชน์อะไรในการยึดพื้นที่ แต่ไม่อาจครองใจคน ดังนั้นมุมมองด้านความมั่นคง จึงควรอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ความมั่นคงของคนคือความมั่นคงของชาติ การให้สิทธิเสรีภาพ เปิดโอกาสให้ดำเนินชีวิตภายใต้ศาสนา และวัฒนธรรม การให้อำนาจบริหารจัดการภายในสังคมกันเอง โดยอำนาจรัฐส่วนกลางเพียงกำกับดูแลอย่างมีระยะห่างที่เหมาะสม ระหว่างการธำรงรักษาอัตลักษณ์และความมั่นคง แนวทางเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดทบทวน
H