บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Power
of the Ordinary
Midnight
University
ปลายทางความฝันของวนิดา
ตันติวิทยาพิทักษ์
วนิดา
ตันติวิทยาพิทักษ์: ฉันคือหิ่งห้อยเรืองแสงยามมืดมิด
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: รวบรวม
บทความ รายงานข่าว บทสัมภาษณ์ และประวัติของคนธรรมดา
บทความ รายงานข่าว บทสัมภาษณ์
และประวัติของวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ต่อไปนี้
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน รวบรวมมาจากสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์ต่างๆ
เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณความดีของนักกิจกรรมทางสังคม ที่อุทิศตนให้กับสังคม
โดยเฉพาะในท่ามกลางการต่อสู้ของคนยากจนในชนบท ประกอบด้วย
๑. ประวัติโดยสังเขป: วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
๒. วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์:
เขียนเรื่องเล่าริมมูน
๓. ข้อเสนอปากมูล จากวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
๔. มด... วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้หญิงเดือนตุลา
๕. สัมภาษณ์พิเศษงานประชุมถ่านหินโลก : วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
๖. ตลกร้าย ป.ป.ง. สอบบัญชี NGO "วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์"
๗. ภาคผนวก : ๖๐ ปี แห่งการเสริมสร้างสันติภาพไทย (ตอนจบ) - ส.ศิวรักษ์
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๒๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๔ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๐.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ปลายทางความฝันของวนิดา
ตันติวิทยาพิทักษ์
วนิดา
ตันติวิทยาพิทักษ์: ฉันคือหิ่งห้อยเรืองแสงยามมืดมิด
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: รวบรวม
บทความ รายงานข่าว บทสัมภาษณ์ และประวัติของคนธรรมดา
ฉันคือหิ่งห้อย
ฉันจะเรืองแสงในยามที่ทุกสิ่งมืดมิด
ฉันจะบินว่อนฉวัดเฉวียน เฝ้าดูความเป็นไปของสรรพสิ่งอย่างเงียบสงบ
ฉันจะมีอุเบกขา ในสิ่งที่พบเห็น จะไม่ยินดีหรือยินร้าย ต่อทุกข์โศกหรือรื่นรมย์
ฉันภาวนาขอให้ผู้คนที่ทนทุกข์ และตัวฉันได้หลุดพ้นจากโซ่ตรวนของกิเลสและเคราะห์กรรม
ฉันภาวนาให้พ่อแม่ พี่น้องของฉัน หลานของฉัน ... เป็นเช่นหิ่งห้อย
เรืองแสงร่วมกันบนหนทางธรรม
ฉันจะร่วมกับหิ่งห้อยนับล้านล้าน ทอแสง สร้างขวัญ ขึ้นแทนหมู่ดาว
คราเมื่อพระอาทิตย์ส่องแสงพราว หิ่งห้อยน้อยค่อยจากจร...วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
1. ประวัติโดยสังเขป:
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด พ่อแม่เป็นคนจีนจากซัวเถา
ได้อพยพมาอยู่เมืองไทยเนื่องจากไม่นิยมลัทธิคอมมูนิสต์. วนิดา (มด) โดตมากับครอบครัวที่มีพี่น้องหลายคน
อาทิ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บก."สารคดี"คนปัจจุบัน และ ลัดดาวัลย์
ตันติวิทยาพิทักษ์ ซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชน (ปัจจุบันทำงานอยู่กับ กกต.) วนิดา
เริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยม ที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม กรุงเทพฯ
ขณะที่เรียนอยู่ชั้น ม.ศ 5 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ไปร่วมเดินขบวนด้วย
ทำให้ซึมซับกับปัญหาสังคม การเมืองมาตั้งแต่สมัยนั้น
ช่วงที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย สอบได้คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่จบการศึกษา เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ต้องหลบไปอยู่ในเขตป่าแถวภาคใต้ ประมาณ 4 ปี จากนั้นขึ้นไปอยู่ป่าภาคอีสานอีก 2-3 เดือน หลังจากนั้นจึงกลับมาเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้งในปี 2524 เรียนอยู่ 3 ปี จึงได้ปริญญาตรี พร้อมกับประกอบอาชีพส่วนตัวที่ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย และเป็นไกด์นำเที่ยวอยู่หลายปี
เริ่มเข้ามาทำงานด้านเอ็นจีโอ ด้วยการร่วมรณรงค์กับขบวนการสันติภาพต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์, เข้าร่วมขบวนการเชื่อมสันติภาพไทยลาว และจับงานเอ็นจีโออย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2532-2533 กับโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม) สำหรับงานแรกคือ ให้ความรู้เชิงวิชาการกับประชาชนในการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งกรุง, เขื่อนแก่งเสือเต้น, จนมาถึงเขื่อนปากมูล และมีบทบาทในการก่อตั้งสมัชชาคนจนร่วมกับองค์กรชาวบ้านทั่วประเทศ ตำแหน่งล่าสุดเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้หญิงเก่งและแกร่งคนนี้ ยืนข้างประชาชนโดยเฉพาะ "คนจน" คนถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด แม้ว่าจะเคยถูกกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอผู้นี้คิดย่อท้อ ทว่ายังคงเดินหน้าสู้กับความถูกต้องและความยุติธรรมต่อไป
ข้อมูลส่วนหนึ่ง นำมาจาก:
http://www.becnews.com/backissue/f_famous/wanida_t.html
2. วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์: เขียนเรื่องเล่าริมมูน
คอลัมน์ มาจากลุ่มน้ำมูน
สายน้ำสีเขียวคราม ไหลเอื่อยช้าจนเหมือนนิ่งสนิท บรรยากาศริมมูนท้ายเขื่อนในยามนี้
ดูเงียบเหงาไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมาที่มีการทดลองเปิดประตูน้ำ. ข้าพเจ้านั่งสนทนาอยู่กับ
พ่อใหญ่บุญมาใต้ต้นมะม่วงใหญ่ ริมฝั่งมูน ต้นไม้ที่รอดพ้นจากการถูกตัดโค่นเพราะอยู่ท้ายเขื่อน
พ่อเฒ่าเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ทุกคืนนอนคิดถึงลูกสาวและลูกเขย รวมทั้งลูกคนอื่นๆ ที่หายหน้าไปคนแล้วคนเล่า บางคนก็พอรู้ข่าวว่าไปทำงานอยู่ที่ไหน บางคนก็ไม่รู้ข่าวคราวชัดเจน, ลูกสาวคนที่สองทำงานอยู่ชลบุรี ทิ้งลูกเล็กไว้ 2 คน ให้ตากับยายเลี้ยง. พ่อเฒ่าบ่นว่าปลาหาได้น้อยลงทุกวัน นับแต่รัฐบาลปิดประตูเขื่อนปากมูน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา (2545)
"แต่ว่าพ่ออยู่ท้ายเขื่อน (ตรงบริเวณปากแม่น้ำมูน -เขื่อนปากมูนอยู่ห่างจากปากแม่น้ำมูนที่ไหลบรรจบกับแม่น้ำโขง 5.5 กิโลเมตร) น่าจะได้ปลาบ้าง เพราะยังไงช่วงที่เป็นฤดูปลาอพยพ ปลาข้ามสันเขื่อนไปไม่ได้ ก็ต้องวกกลับมาให้เราได้จับอีก". "มันก็จริงอยู่" พ่อเฒ่าอธิบายว่า ช่วงเดือนห้าขึ้นไป ปลาจำนวนมากจะเริ่มว่ายทวนน้ำเข้ามาในแม่น้ำมูน เมื่อไปชนประตูน้ำก็กลับ ฝูงต่อไปที่จะเข้ามา พอเจอฝูงแรกก็หันหัวกลับ มันก็ไม่เข้ามา และตามฝูงแรกขึ้นเหนือไปทางต้นน้ำโขง เราก็จะจับได้บางตัวในฝูงแรกเท่านั้น แล้วปลาก็หมด เพราะฝูงต่อไปจะไม่เข้ามา คนเหนือเขื่อนขึ้นไปยิ่งไม่ต้องพูดถึง. ข้าพเจ้าเลยถึงบางอ้อทันทีว่า ที่เคยได้ยินว่าถ้าปิดประตูน้ำคนท้ายเขื่อนก็จะจับปลาได้น้อยลงเช่นเดียวกัน แท้จริงเป็นเช่นนี้เอง
เมื่อวานนี้ ข้าพเจ้าเข้าไปที่หมู่บ้านเหนือเขื่อน มีชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า มีนายหน้ามาเอาคนในหมู่บ้านไปเฝ้าสวนยางภาคใต้ ขึ้นรถไปเป็นแถว เขาให้เป็นรายปี ปีละ 12,000-13,000 บาท ราคาถูกเหมือนทำให้ฟรี ขึ้นรถ 10 ล้อแออัดยัดเยียดกันไป. พ่อใหญ่สมดี อายุปาเข้าไปเกือบ 60 ปีแล้วก็ยังไปกับเขาด้วย ให้แม่ใหญ่อยู่บ้านทำไม้กวาดเลี้ยงหลาน เพราะอยู่บ้านหากินลำบาก อีกทั้งหนี้สินจากการไปกู้เงินมารักษาตัวคราวก่อนมันรุมเร้า เมื่อไปถึงสวนยางก็จะมีเจ้าของสวนมาดูตัว และคัดเลือกเอาแต่คนแข็งแรง เจ้าของสวนคนไหนมาก่อนก็ได้เลือกของ(คน)ดีก่อน. ฟังแล้วนึกถึงหนังเรื่อง "ทาส" ที่เขาไปจับชาวพื้นเมืองแอฟริกามาขายในอเมริกา. ไอ้ชัย เด็กหนุ่มที่ข้าพเจ้าเคยคุ้นคุยเล่นกันอยู่ประจำก็เอาที่นาแม่ไปจำนอง เอาเงินไปไต้หวัน นายหน้าเขาเรียกตั้งเป็นแสน ตอนนี้ แม่ไอ้ชัยนอนกังวลว่า ลูกชายจะติดโรคห่า(ซาร์ส)หรือเปล่า?
พ่อใหญ่บุญมา แม่หนูเพียรภรรยา เข้าร่วมการต่อสู้กับเพื่อนๆ เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูน้ำเขื่อนถาวร พ่อใหญ่บุญมาถูกทำร้ายบาดเจ็บ เมื่อคราวหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนถูกเผาในปี พ.ศ.2543 ยุครัฐบาลชวน และสูญเสียข้าวของอีกครั้งในการเผาหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ในปี พ.ศ.2545 ในยุครัฐบาลทักษิณ. แม่หนูเพียรถูกเทศกิจของนายสมัคร สุนทรเวช เอาข้าวของไปจนหมด ตัวแม่หนูเพียรถูกลากขึ้นรถ จับส่งมาที่ศาลากลางจังหวัดอุบลฯ. ลูกชายแม่หนูเพียรต้องออกจากโรง เรียนหลังปี 2537 เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จและเริ่มปิดประตูน้ำ เพื่อไปทำงานโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จนเกือบถูกเผาทั้งเป็นเช่นเดียวกับคนงานอื่นๆ และหลังจากนั้นก็หายหน้าไปไม่ส่งข่าวคราว เกือบ 9 ปีเข้าไปแล้ว เพื่อนรุ่นเดียวกันกลับบ้านมาพร้อมกับร่างกายที่พิการ เพราะตกลงมาจากตึกหลายชั้นขณะกำลังก่ออิฐฉาบปูน
พ่อสาย บ้านอยู่หัวเขื่อน ผูกคอตายเพราะความเครียด ทิ้งเมียและลูกน้อยไว้ข้างหลัง 4-5 คน ชะตากรรมของคนริมมูน คือโศกนาฏกรรมมากมายที่เล่ากันไม่รู้จบ. พ่อใหญ่อ้วน แกนนำที่เข้มแข็งคนหนึ่งของปัญหาเขื่อนสิรินธร เสียชีวิตลงแล้วตรงตีนบันไดบ้านไม่นานหลังถูกขับไล่ไสส่งมาจากหน้าทำเนียบฯ ในขณะที่ชาวเขื่อนสิรินธรคนอื่นๆ ต้องก้มหน้าแบกรับความขมขื่นจากการถูกรัฐบาลทักษิณปฏิเสธการแก้ไขปัญหาอีกครั้ง
หมอมิ้ง (น.พ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ยังจำพ่อใหญ่พัน แกนนำชาวเขื่อนสิรินธรอีกคนหนึ่งได้ไหม ที่เคยเป็น "จัดตั้งเก่า" สมัยอยู่ป่าอีสานใต้ด้วยกัน. กาลเวลาผ่านมา พ่อใหญ่พันกลายเป็นผู้นำชาวบ้านเขื่อนสิรินธร เรียกร้องที่ดินชดเชยจากการสร้างเขื่อน, หมอมิ้งกลายเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานดูแล กฟผ. ที่รับผิดชอบเขื่อนสิรินธร พอเรื่องเข้า ครม. การแก้ปัญหาชาวเขื่อนสิรินธรก็กลายเป็นหมัน. ทุกวันนี้ หมอมิ้งกินอิ่มนอนอุ่น มีลูกน้องบริวาร มีรถเก๋งคันงาม พ่อใหญ่พันและสหายร่วมอุดมการณ์ในอดีตยังนั่งถักไม้กวาด เก็บเศษไม้เผาถ่านประทังชีวิต. ละครน้ำเน่าของการเมืองน้ำเน่า ที่นำแสดงโดยนักการเมืองไม่เกี่ยงว่าเป็นขวาหรือซ้ายในอดีต ที่กลับมากอดคอจับมือกันไล่กระทืบคนจน ยังวนเวียนฉายซ้ำซากเหมือนละครน้ำเน่าหลังข่าวทีวีไม่มีผิด
เขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนขนาดใหญ่เขื่อนแรกปิดกั้นลำโดมน้อย แม่น้ำสาขาที่สำคัญอีกสายหนึ่งของลุ่มน้ำมูนตอนปลาย. ใต้เขื่อนลำโดมน้อย (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเขื่อนสิรินธร) จนถึงปากแม่น้ำโดมน้อยเลยออกไปนิดเดียวคือ สันเขื่อนปากมูน ที่ยืนตระหง่านกั้นแม่น้ำมูน สายเลือดใหญ่ของชาวอีสาน แม่พระคงคาของชาวบ้านแม่มูน ที่เคยสดใส อบอุ่น เป็นที่พึ่งพิงของสรรพชีวิต บัดนี้ขุ่นข้นด้วยตะกอนที่ไหลทับถมหน้าเขื่อน เป็นพิษด้วยสารตกค้างนานาชนิด แก่งหินขนาดใหญ่จำนวนมากที่เคยโผล่พ้นน้ำในช่วงเดือน พฤศจิกายน-กรกฎาคม ของทุกปี เป็นเครื่องเติมออกซิเจน ตามธรรมชาติ จนแม่น้ำมูนใสสะอาดดื่มกินได้ ต้องจมอยู่ใต้น้ำถาวร ชั่วลูกชั่วหลาน ไม่อาจปฏิบัติภาระหน้าที่ในทางนิเวศอีกต่อไป
แม้งานวิจัยจำนวนมากทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลก ทั้งของนักวิชาการอิสระและของรัฐ จะชี้ให้เห็นถึงการสูญเสียระบบนิเวศที่สำคัญที่สุดในภาคอีสานจากการปิดกั้นเขื่อนปากมูน ก็ไม่อาจยับยั้งความอหังการของมนุษย์ที่จะทำลายธรรมชาติต่อไป. เขื่อนปากมูนผลิตไฟฟ้าสำรองได้เพียง 1% กว่า ในขณะที่พลังงานสำรองทั้งประเทศ ตามคำยืนยันของหมอมิ้ง เจ้ากระทรวงพลังงาน มีเหลือเฟือถึง 40%. แต่แม้เพียง 1% นี้ที่ต้องแลกกับวิถีชีวิต ความสงบสุข ความอุดมสมบูรณ์ของชาวบ้านตาดำๆ ก็ไม่คุ้มค่าพอ เพราะตรรกะของทุนนิยมแบบบริโภคนิยม คือ การแสวงหากำไรสูงสุด และความมั่นคงสูงสุดบนความฉิบหายของใครก็ได้ ตราบใดที่มีอำนาจเหนือกว่า
ดังนั้น เพื่อความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้าทั้งภูมิภาค (อาเซียน) เราจะต้องสร้างเขื่อนสาละวินให้ได้ ผู้ว่าฯ กฟผ., หมอมิ้ง เจ้ากระทรวงฯ, นายกฯ ทักษิณ ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนในเวลาไล่เลี่ยกัน. การก่อกรรมทำเข็ญกับธรรมชาติและผู้คน ยังคงดำเนินต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นโยบายปราบปรามคนยากจน และผู้คัดค้านเขื่อน ก็ยังเดินหน้าต่อไป. คนจนจะหมดประเทศหรือท่วมประเทศกันแน่ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซินแสคนไหนช่วยตอบที
ในที่สุดแล้ว เรามีแค่
2 ทางเลือกเท่านั้นในความคิดของข้าพเจ้า คือ
- รวมพลังต่อไปบนหนทางสันติ หรือ
- ยอมจำนนต่อทะมึนดำอำมหิตของเผด็จการ ที่กำลังตั้งเค้าเหนือขอบฟ้าสังคมไทย !!!
ข่าวสด หน้า 5 (วันที่
23 พฤษภาคม พ.ศ.2546)
http://thaingo.org/webboard/view.php?id=180
3. ข้อเสนอ 'ปากมูล' จาก 'วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์'
เลิกใช้เงินฟาดหัวชาวบ้าน แปลง 'เขื่อน' ให้ใช้ประโยชน์
'ยืดหยุ่น
หมายเหตุมติชน : บทความนี้เขียนขึ้นโดย น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้นำชาวบ้านที่ต่อต้านการสร้างเขื่อน ปากมูล เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน ก่อนเส้นตายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ขู่ว่าภายใน วันที่ 15 มิถุนายน 2543 หากกลุ่มสมัชชาคนจนไม่ถอนกำลังคนออกจากสันเขื่อน จะให้พนักงาน กฟผ.เข้าไปผลักดัน. 'มติชน' เห็นว่าบทความชิ้นนี้สะท้อนจุดยืนของผู้นำชาวบ้านที่มีทีท่าประนีประนอมมากยิ่งขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจับเข่าพูดคุยมากกว่า ที่จะเผชิญหน้าจนนำไปสู่ความรุนแรงที่ไม่พึงประสงค์ จึงขอนำเสนอข้อเขียนของ น.ส.วนิดา ดังต่อไปนี้
การชุมนุมกว่า 1 เดือนของชาวบ้านแม่มูนมั่นยืนบริเวณสันเขื่อนปากมูล และบริเวณสันเขื่อนราษีไศล เกิดคำถามมากมายหลายประการ ที่สังคมไทยควรใช้สติปัญญาร่วมกันค้นหาของทางออกต่อปัญหาความยากจนในชนบท ที่นับวันจะทวีความเข้มข้นยิ่งๆ ขึ้น. คำถามแรกสุดที่อยู่ในใจของคนทั่วๆ ไปก็คือ การชุมนุมที่สันเขื่อนปากมูล เป็นการใช้ความรุนแรงที่สวนทางกับการประกาศจุดยืนการใช้สันติวิธีของชาวบ้านหรือไม่
ครั้งหนึ่ง มหาตมะ คานธี เคยเดินรณรงค์เป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร เพื่อปลุกเร้าให้ชาวอินเดียหันมาผลิตเกลือ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามผลิตเกลือ (ซึ่งออกโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ) ในสมัยนั้น. การผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนปากมูล ได้ทำลายวิถีชีวิตของคนสองฝั่งลำน้ำ ทำลายชุมชน วัฒนธรรมนิเวศวิทยา และนำมาซึ่งความขัดแย้งของคนในท้องถิ่น. ทั้งหมดนี้เพื่อแลกกับการผลิตไฟเพียง 40 เมกะวัตต์ (รายงานคณะกรรมการเขื่อนโลก) ซึ่งเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของศูนย์การค้าขนาดใหญ่เพียง 1 แห่ง อีกทั้งหน้าที่หลักของเขื่อนปากมูลเป็นแค่เพียงการผลิตเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า หมายความว่าถ้าไม่ผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูลเลย ก็ยังคงมีไฟฟ้าใช้ เพียงแต่ไฟอาจจะตกบ้างในบางครั้ง
การผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนปากมูลเพียงเพื่อไม่ให้ไฟตกบ้างในบางครั้ง กลับต้องแลกกับการทำลายชุมชนกว่า 6,000 ครอบครัว (ตัวเลขทางการ ณ ปัจจุบัน) เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ อาจมีข้อโต้แย้งในทางประเด็นเศรษฐศาสตร์อื่นๆ เช่น เขื่อนไม่มีต้นทุนการผลิต เพราะเขื่อนสร้างไปแล้ว พลังงานน้ำได้มาฟรี ถ้าไม่ผลิตไฟที่ปากมูล ก็ต้องต้นมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตเพิ่มขึ้นที่โรงไฟฟ้าบางปะกง หรือแม่เมาะ
ก็เพราะผลการพัฒนาที่ผิดพลาดเหล่านี้มิใช่หรือ ที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ มากกว่าการสูญเสียระบบนิเวศ พันธุ์ปลา และชุมชนชาวบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตีค่าทางเศรษฐกิจ จนกลายมาเป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลก และแม้แต่ธนาคารโลกยังต้องหันกลับมาพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้คนและระบบนิเวศเป็นศูนย์กลาง. ถึงแม้การชุมนุมที่สันเขื่อนปากมูลจะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และผู้ชุมนุมทุกคนก็ยินดีให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่เมื่อคิดถึงสิ่งที่เขื่อนปากมูลได้กระทำต่อชีวิตและชุมชน ของผู้คนสองฝั่งลำน้ำกว่า 6,000 ครอบครัว การกระทำครั้งนี้ของชาวบ้านหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนก็ไม่ต่างจากการ "ดื้อแพ่ง" ของมหาตมะ คานธี ต่อกฎหมายห้ามผลิตเกลือ
สิ่งที่ชาวบ้านหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนทำ เป็นเพียงความพยายามส่งเสียงเรียกร้องให้ดังขึ้น เพื่อให้สังคมหันมาสนใจความทุกข์ของพวกเขา โดยที่แทบจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไป ยกเว้น กฟผ. แต่แท้ที่จริงแล้ว กฟผ.ไม่ควรคิดว่าเป็นภาระของตนเองที่จะแก้ไขปัญหานี้ นี่เป็นเรื่องใหญ่โตเกินกว่าที่ กฟผ.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะปัญหาทั้งหมดเกิดจากความผิดพลาดของนโยบายการพัฒนาในอดีต ที่มุ่งเน้นการขยายตัวทาง เศรษฐกิจในช่วงภาวะฟองสบู่ ทำไมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จะต้องรับมรดกของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากนักการเมืองผู้กำหนดนโยบายเหล่านั้นด้วย
ทั้งชาวบ้านหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนและ กฟผ. ต่างก็เป็นเหยื่อของโครงสร้างความรุนแรงในการพัฒนา การต่อสู้และตอบโต้ไปมาของทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องน่าเศร้าของสังคมไทย ที่ปล่อยให้เรื่องที่เป็นปัญหาทางโครงสร้างตกเป็นภาระของชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาและปล่อยให้นักการเมืองผู้กำหนด นโยบายลอยตัวเหนือความขัดแย้ง ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญอย่างยิ่งที่ควรจะช่วยกันหาคำตอบก็คือ เมื่อยอมรับว่าการพัฒนาที่ผ่านมาผิดพลาด สังคมควรเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการแก้ไขปัญหา ถ้าเขื่อนมีประโยชน์น้อย มีผลกระทบมาก ควรหรือไม่ที่จะต้องมีการทบทวนการใช้ประโยชน์จากเขื่อน, เป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนแปลงให้เขื่อนใช้ประโยชน์ได้อย่างยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ตอบสนองต่อการพัฒนาในหลายมิติ, ควรหรือไม่ที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับการฟื้นฟูวิถีชีวิต อาชีพ และชุมชนของพวกเขาขึ้นมาใหม่อย่างจริงจัง เป็นการไถ่บาปความผิดพลาดที่ผ่านมา
การฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวบ้าน คงไม่ใช่การใช้เงินฟาดหัวเป็นรายบุคคล (60,000 - 90,000 บาท) แต่ทำอย่างไรให้พวกเขากลับมาเป็นชาวประมงที่มีอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนเหมือนในอดีต (ลองนึกดูว่าท่านเป็นวิศวกร วันหนึ่งรัฐบอกว่าจะยึดใบประกอบอาชีพของท่าน แล้วให้ค่าชดเชย 90,000 บาท จะเป็นอย่างไร?)
10 ปีของความขัดแย้งกรณีเขื่อนปากมูล ควรเลิกคำถามไร้สาระเสียทีว่า พวกนี้ได้แล้วไม่รู้จักพอ พวกนี้ได้คืบเอาศอก พวกนี้ยากจนเพราะเกียจคร้าน. รายงานล่าสุดเรื่องการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจและสังคมหลังจากการสร้างเขื่อนปากมูล โดย อ.เดชรัต สุขกำเนิด และคณะ, จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวไว้ชัดเจนว่า ก่อนการสร้างเขื่อน (4 หมู่บ้านที่ทำการศึกษา) ชาวบ้าน 97 เปอร์เซ็นต์ มีอาชีพเป็นชาวประมง มีรายได้เกือบ 50,000 บาท/ครัวเรือน/ ปี ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากการทำการประมงถึง 88.9 เปอร์เซ็นต์. ภายหลังจากการสร้างเขื่อนพวกเขามีรายได้ลดลงเหลือ 37,986 บาท/ครัวเรือน/ปี ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการประมงเพียง 19.1 เปอร์เซ็นต์ เพราะรายได้หลักมาจากการอพยพไปทำงานในภาคบริการอื่นๆ ในเมือง เป็นกรรมกรรับจ้างตัดอ้อย, ทำนา (ชุมชนแตกสลายยับเยินภายหลังจากการสร้างเขื่อน หลายคนที่เคยมีชีวิตที่สงบสุขริมน้ำ ต้องเสียชีวิตจากการเป็นกรรมกรก่อสร้าง ตกตึก เสียชีวิตจากการเป็นโสเภณี เสพยาบ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นโรคที่ตามมากับการพัฒนา)
ชาวบ้านหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ได้เรียกร้องเพียงเพื่อขอที่จะมีชีวิตอย่างเพียงพอ อย่างเรียบง่าย เหมือนในอดีตที่ ผ่านมา. ความยากจนนั้น เป็นทุกข์แสนสาหัสที่ใครไม่ประสบก็ไม่มีวันที่เข้าใจ แต่ทุกข์ที่แสนสาหัสกว่าความยากจน คือการไม่มีความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
ข้อมูลจาก: เครือข่ายแม่น้ำเอเซีย
ตะวันออกเฉียงใต้ 78 หมู่ 10 ถ.สุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
Southeast Asia Rivers Network (SEARIN) 78 Moo 10, Suthep Rd, Tambol Suthep,
Muang, Chiang Mai, 50200 Thailand Tel.: (66)-(53)-278-334, 280-712 Fax : 283-609
Email: [email protected]
4. มด... วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
ผู้หญิงเดือนตุลา
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพียง 2 อาทิตย์ มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ตัดสินใจ
ร่วมขบวนพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทย เคลื่อนไหวในเขตงานป่าเขาพร้อมกับนักศึกษานับพันทั่วประเทศ
นับจากนั้น เนิ่นนาน หลังเดินทางกลับจากป่า เธอ เริ่มต้นตำนานประชาชนบทใหม่จนถึงตำแหน่งที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
เคลื่อนไหวหาความเป็นธรรม โดยเฉพาะกับชาวบ้านปากมูลผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน
ตกเป็นขั้วที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย กระทั่งถูกตรวจสอบจากรัฐบาลนี้ผ่านกลไก
ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) พบว่า
เธอมีทรัพย์สินเป็นเงินในบัญชีจำนวนหนึ่ง
และทาวน์เฮ้าส์อีกหนึ่งหลังที่ผ่อนร่วมกับ พี่ๆ น้องๆ ของเธอเอง
ไทยเอ็นจีโอ : ทำไม ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนพรรคคอมมิวนิสต์
(พคท. พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย)
วนิดา
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำกิจกรรมกับนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า
ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และคัดค้านการเข้ามาตั้งฐานทัพอเมริกัน
ยุคนั้นนักศึกษาถือเป็นแกนหลักทำงานเคลื่อนไหวในระดับต่างๆ ก่อนจะเกิดการปราบปรามขบวนการนิสิตนักศึกษา-ประชาชน
อันที่จริงรัฐกระทำในทางลับอยู่แล้ว ประกอบบกับแนวคิดสังคมนิยม ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมจนกลายเป็นกระแสหลักถูกนำเอามาประยุกต์ใช้เชื่อมประสานกับแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งทำงานเคลื่อนไหวอยู่ในเขตป่า
ด้วยการเชื่อมประสานที่แนบสนิททั้งในแง่กลไกการทำงานและอุดมการณ์ เป็นจุดสำคัญให้นักศึกษาหลายคนในยุคนั้นเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์
ศึกษาแนวคิดสังคมนิยมหวังเปลี่ยนแปลงสังคม ต้องการเห็นสังคมที่เป็นธรรมเท่าเทียมไม่มีช่องว่างระหว่างชนชั้น
พูดได้ว่าต้องการเห็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาชนกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง
แต่แน่นอนว่า วิธีการเปลี่ยนแปลงที่พูดถึงนี่สิ เราจะทำอย่างไร ?
ไทยเอ็นจีโอ : เข้าร่วมขบวนพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อทำการปฎิวัติ
วนิดา
ใช่, ช่วงนั้นเกิดกระแสการปฏิวัติทางชนชั้นขึ้นทั่วโลกก่อนเหตุการณ์เดือนตุลาในบ้านเรา
20-30 ปี ทั้งในยุโรปและเอเชีย ถือเป็นกระแสใหญ่ หรือ จะเรียกว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างสองอุดมการณ์
คือ ขั้วของทุนนิยม และขั้วของสังคมนิยม
ไทยเอ็นจีโอ : เข้าไปอย่างไร
วนิดา
นักศึกษาที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย)
จะต้องประสานงานผ่านผู้ปฏิบัติงานของ พคท.ในเมือง ใช่ว่าใครคิดจะเข้าไปอย่างไรก็ได้
ไม่ใช่ ต้องติดต่อในทางลับ เพราะว่า พคท. เป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ทำงานเคลื่อนไหวในเขตภูเขา
การประสานงานถือเรื่องที่ต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ซึ่งผู้ปฎิบัติงาน พคท. ในเมืองที่ไว้ใจได้จะเป็นผู้ประสานงานติดต่อในทางลับ
โดยสารรถถึงเขตงานรอบนอกก่อนจะลงเดินต่อไปเข้าสู่เขตงาน
ผู้ปฎิบัติงาน พคท.
ในเมืองทำให้เกิดการติดต่อเชื่อมโยงกับคนทำงานในเขตป่าไม่ยากนัก อีกอย่าง...อำนาจรัฐช่วงก่อนจะเกิดเหตุการณ์
6 ตุลาคม 19 กดดันมากขึ้น ปราบปราม จับกุมขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชนอย่างเปิดเผย
จนเป็นที่น่าหวั่นเกรง พวกเราจึงต้องเตรียมทางหนีทีไล่ซึ่งทางหนึ่งก็คือ เข้าร่วมงานกับ
พคท.
ไทยเอ็นจีโอ : พี่เข้าไปส่วนไหน
วนิดา
ภาคใต้ทางจังหวัดสงขลา นิสิตนักศึกษาหลายคนอยู่ในเมืองต่อไปไม่ได
จำเป็นต้องเข้าไปลี้ภัย ส่วนหนึ่งเข้าร่วมเพื่อรักษาความปลอดภัย แต่ประเด็นใหญ่ๆ
คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม เห็นสังคมเท่าเทียม เมื่อรัฐไม่ยอมเปิดโอกาสให้เคลื่อนไหวเชิงสันติวิธี
ใช้กำลังเข้าปราบปราม ใช้กำลังเข้าก่อกวน ปราบปรามหนัก การเข้าป่าจึงเป็นการหาทางออกเชิงอุดมการณ์ที่ดีของหลายคน
เมื่ออุดมการณ์ไม่อาจจะประสานกับแนวคิดรัฐได้ การเคลื่อนไหวของ พคท.ในเขตป่า
จึงเป็นรูปธรรมหลักของการเปลี่ยนแปลงประสานสนิทเข้ากับอุดมการณ์หลักของขบวนนิสิตนักศึกษา
นักศึกษาหลายคนเวลานั้นเป็นผู้ปฎิบัติงานที่ดีแก่พรรคคอมมิวนิสต์ และดำเนินการการต่อสู้ภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์
ไทยเอ็นจีโอ : ทำอะไรบ้าง เพราะการทำงานในเมืองกับเขตป่าย่อมไม่เหมือนกัน
วนิดา
แน่นอน การใช้ชีวิตในป่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยาก เป็นเรื่องการปรับตัวเอง.
งานส่วนใหญ่ก็จะแล้วแต่ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย อาจจะเป็นเรื่องของการฝึกอาวุธ
ฝึกการป้องกันตัว หากเป็นหน่วยทหารก็ต้องฝึกการโจมตี ฝึกการสู้รบ หากเป็นหน่วยเสบียง
หรือหน่วยที่ทำการผลิตก็จะไปทำงานในเขตซึ่งทำการผลิต ตั้งแต่ทำไร่ ปลูกข้าว ปลูกผักพืชสวน
เรียกว่าชีวิตประจำวันจะต้องปรับใหม่ทั้งหมด พูดง่ายๆ ว่า อยู่ในเมืองคุณเป็นคนเมืองมีชีวิตแบบเมือง
แต่เมื่อเข้าป่า คุณใช้ชีวิตแบบเดิมไม่ได้ต้องใช้ชีวิตแบบป่า ตั้งแต่หุงข้าวด้วยฟืน,
อาบน้ำในลำธาร ไปไหนมาไหนใช้พาหนะไม่ได้ คุณต้องใช้เท้าเดินเพียงอย่างเดียว ปรับเปลี่ยนตั้งแต่เรื่องปากท้องถึงอุดมการณ์ปฏิวัติ
ทุกอย่าง อาหารการกินต้องทำการผลิตเอง หากผลิตไม่ได้ก็ต้องแบกลำเลียงจากหมู่บ้าน
มีเงินจำนวนหนึ่งผ่านเข้ามาโดยการบริจาคซื้ออาหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ หรืออุปกรณ์การแพทย์
ยารักษาโรค. การต่อสู้ในเขตป่าหลังจากเริ่มทำการติดอาวุธ ทหารป่าที่ได้รับบาดเจ็บจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์และเครื่องมือแพทย์ที่ดีเพียงพอ
ไทยเอ็นจีโอ : ปรับตัวยากหรือเปล่า
วนิดา
ยากแน่นอน เราเป็นคนเมืองเข้าไปใหม่ๆ เดินอยู่ในป่าดงดิบถึงครึ่งเดือนก็นับว่าเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเสียแล้ว
ยิ่งเป็นการเดินป่ากลางคืน กลางวันจะนอนพักและเดินทางกลางคืน ห้ามใช้ไฟฉายมิฉะนั้นจะ
'เสียลับ'. จำนวนนักศึกษามีจำนวนมากเดินกันเป็นขบวนใหญ่ ช่วงที่พี่เดินนั้น ร่วม
80 คน
แต่ละคนต่างต้องปรับตัวแล้วแต่ว่าใครจะมีพื้นฐานยังไง สำหรับพี่ใช้เวลาพักใหญ่หลายคนจะต้องอยู่ให้ได้เพราะไม่มีทางเลือก
อีกอย่าง เป็นการสืบทอดอุดมการณ์ของวีรชน จุดนี้เป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้เราต้องอยู่
อยู่เพื่อต่อสู้ ไม่ได้หมายความว่าเพียงแค่อยู่ให้ได้แค่นั้น แต่คุณจะต้องดัดแปลงตัวเอง
อยู่เพื่อสู้รบ
พวกเราต้องเรียนรู้ใหม่ทุกอย่าง หากินอย่างไร มีชีวิตอย่างไร
ล่าสัตว์อย่างไร พืชชนิดไหนกินได้? ต้องทำทุกอย่าง ตั้งแต่ตัดไม้ สร้างกระท่อม
หาบน้ำ ทำประปาภูเขา ใช้ส้วมหลุม นอนเปล บางครั้งจำต้องตากแดดตากฝนเดินฝ่าดงทาก
ดงเห็บ
ไทยเอ็นจีโอ : วิธีการดัดแปลงตนเอง คือ จะต้องมีพี่เลี้ยง
วนิดา
ใช่ สหายรุ่นพี่จะเป็นพี่เลี้ยง สอนให้ทำโน่นรู้จักนี่ รุ่นพี่จะเป็นกลุ่มนักศึกษาประชาชนที่เข้าป่าไปก่อน
หรือกลุ่มผู้ปฏิบัติงานของพรรค หรือส่วนนำของพรรค คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นพี่เลี้ยงหรือฝ่ายนำของเรา
ทำการชี้นำ ดัดแปลงตามทฤษฎีการชี้นำของพรรค (ทฤษฎี เหมา เจอ ตุง) เข้าสู่การปฏิวัติ
คือพูดง่ายๆ ว่าเป็นกระบวนการหล่อหลอมให้คุณเป็นนักปฎิวัติ
อันดับแรก คือการใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป้าหมาย คือปฎิวัติยึดอำนาจรัฐ ป้องกันตัวเองจากการล้อมปราบหรือจากการสู้รบ
ฝึกอาวุธ ฝึกวิธีการต่อสู้มือเปล่า ศึกษาทฤษฎีการเมือง ทั้งในเชิงอุดมการณ์และการปฎิบัติ
แต่ละวันจะแบ่งหน้าที่กันไป คนเป็นเวรทำอาหารไปแผนกจัดเตรียมหุงหาอาหารเลี้ยงดูคนในกองทัพ
ในแต่ละหน่วย (จุดเล็กๆ เรียกว่า เขตงาน หน่วยใหญ่ขึ้นมาเรียกว่า ฐานที่มั่นหรือกองทัพ)
ภารกิจประจำวันหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไป
แต่ละคนจะถูกจัดตั้งให้ลงสังกัด แล้วแต่ว่าอยู่กลุ่มไหน
เมื่อได้กลุ่มก็จะได้รับการมอบหมายภารกิจว่าต้องไปทำอะไร ส่วนไหน ทุกคนจะได้รับมอบหมายภารกิจสับเปลี่ยนเวียนไป
บางทีเราก็ไปอยู่หน่วยการผลิต บางทีเราก็ต้องไปอยู่หน่วยงานมวลชน บางทีก็ต้องไปอยู่หน่วยทหาร
บางทีก็อยู่หน่วยวัฒนธรรม เป็นการฝึกฝนผ่านการปฎิบัติในสนามจริง
ไทยเอ็นจีโอ : ฝึกฝนผ่านสนามจริงอย่างไร
วนิดา
ฝึกในสนามจริงก็คือว่า ฝึกฝนผ่านสนามการปฎิวัติที่เป็นจริง อย่างเช่น
หากคุณอยู่หน่วยทหาร คุณก็จะลงสนามรบจริง รบกันจริงๆ หรือหากลงมวลชนในหมู่บ้านเจอกองกำลังฝ่ายรัฐบาลก็ต้องมีการปะทะกันจริงๆ
ตายกันจริงๆ
ไทยเอ็นจีโอ : เรื่องการแสดงความคิดเห็นละ
วนิดา
ค่อนข้างเป็นปัญหา ส่วนหนึ่งเพราะว่าสหายระดับนำหรือระดับจัดตั้งมักจะไม่เปิดโอกาสให้เกิดความคิดเห็นที่ขัดแย้งแตกต่าง
อาจจะเป็นด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทั้งทางทฤษฎี ความรู้ หรือประสบการณ์ อีกอย่างการบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้นก่อให้เกิดความคลางแคลงและความคิดแบบทหาร
คนชั้นล่างมีหน้าที่ปฎิบัติ ขณะที่คนชั้นล่างในเวลานั้นเป็นนักศึกษาปัญญาชนเสียส่วนใหญ่
เพราะฉะนั้นจึงเป็นชนวนเหตุของความอึดอัด และมีคำถามมากมายที่ไม่อาจจะหาคำตอบได้
ปะทุเป็นความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาและผู้ปฎิบัติงานในพรรคคอมมิวนิสต์ จนความขัดแย้งบานปลายออกไปในหลายๆ
เขตงาน ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของวิกฤติศรัทธา
ไทยเอ็นจีโอ : เรื่องความรักละ
วนิดา
ไม่ได้เป็นเรื่องที่กดดันอะไรกันหรอก ถือเป็นเรื่องระหว่างบุคคล
ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ทว่าในทางอุดมการณ์ก็จะถูกเรียกร้อง จำเป็นต้องคิดถึงส่วนรวมมาก่อนความคิดเห็นหรือความรู้สึกส่วนตน
เป็นเรื่องแต่ละบุคคลที่จะต้องตั้งมั่นและทำงานปฎิวัติ เพื่อสังคมเพื่อพรรค ก่อนจะคิดถึงครอบครัว
เพราะฉะนั้นการมีครอบครัวหรือการมีความรักระหว่างการปฎิวัติ จำเป็นต้องรัดกุมรอบคอบ
รักกันให้ช้า แต่งงานให้ช้า มีลูกให้ช้า
ไทยเอ็นจีโอ : ความรู้สึกแรกเมื่อกลับออกมา
วนิดา
ไม่รู้สิ ลืมไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ผิดหวังอะไรนักหนาถือเป็นประสบการณ์ชีวิต
เป็นคุณค่าในชีวิตที่หาไม่ได้ง่ายๆ การปฎิวัติอาจจะล้มเหลว แต่ต้องดูว่าความรู้สึกของเราเองล้มเหลวไปด้วยหรือเปล่า
เราเข้าใจกับสิ่งที่เราทำไปหรือเปล่า
ไทยเอ็นจีโอ : ตอบตัวเองว่ายังไง
วนิดา
ใช่ เราเริ่มต้นและตัดสินใจบนฐานของความบริสุทธิ์ใจ เริ่มจากความต้องการมองเห็นสังคมที่ไม่เป็นธรรม
มีความเป็นธรรมมากขึ้น. เราเรียนรู้ว่าความไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นกับคนเป็นจำนวนมากในสังคมนี้
และเราไม่ต้องการสังคมแบบนี้ เราต้องการสังคมซึ่งเป็นธรรม เราคิดอย่างนั้น เราจึงทำภายใต้เงื่อนไขและวิธีการซึ่งเราคิดว่าเป็นทางออกที่ดี
ไทยเอ็นจีโอ : กลับมาเรียนต่อ เหมือนกับดรอปเอาไว้
วนิดา
ทำนองนั้น (หัวเราะครั้งแรก) ธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ดูแลนักศึกษาที่ออกมาดีมาก
ก็คือไม่ต้องให้นักศึกษาไปแจ้งมอบตัว คุณมาแจ้งเลขทะเบียนรหัสนักศึกษาแล้วก็เรียนต่อได้ทันทีเป็นนโยบายอีกอย่างที่ทำให้นักศึกษา
(ซึ่งผิดหวัง) ทยอยออกมาจากป่าจนเรียนจบปี พ.ศ. 2528 คณะรัฐศาสตร์
ไทยเอ็นจีโอ : เริ่มงานที่ไหน
วนิดา
เริ่มงานแรกด้วยการทำงานแนวสิ่งแวดล้อม ราวปี 2533 โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่ในภาคอีสาน เนื้องานของโครงการจะเน้นไปสู่กรณีปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ
ดิน น้ำ ป่า กรณีปัญหาเขื่อน จนจับงานด้านเขื่อนมาเรื่อยๆ เริ่มจากเขื่อนแก่งกรุง,
เขื่อนแก่งเสือเต้น
ทำจริงๆ ช่วงเขื่อนแก่งกรุง ช่วงปลายชาวบ้านต่อสู้กันจวนจะยกเลิกโครงการไปแล้ว
เราลงไปสนับสนุนเรื่องข้อมูล จัดข้อมูล สนับสนุนพื้นที่ ก่อนหน้านั้นจับงานพื้นที่ดินเค็มในภาคอีสาน
สาเหตุมาจากการทำนาเกลือจนทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็มเข้าไปในไร่นาข้าวของชาวบ้าน
พื้นที่ลำนำเสียว จ.มหาสารคาม ทำหลายเรื่อง เขื่อนแก่งเสือเต้นก็ทำ ช่วงนั้นยังไม่อนุมัติโครงการ
จนมาจับเรื่องเขื่อนปากมูล
ไทยเอ็นจีโอ : ดังเป็นพลุ
วนิดา
มันก็อาจจะใช่ (หัวเราะครั้งที่สอง) กรณีเขื่อนปากมูลมันเป็นกรณีพิเศษในแง่ของขบวนการชาวบ้าน
จริงๆ แล้วหากจะพูดถึงคนซึ่งผลักดันเรื่องนี้ ล้วนแล้วแต่เกิดจากตัวชาวบ้านทั้งนั้นแหละ
ปัญหาเกิดกับตัวเขาเอง เขามองเห็นและตั้งคำถามว่าเขาจะต้องทำอย่างไรให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นกว่าเดิม
คำตอบ คือ เขาก็ต้องลุกขึ้นสู้ ทีนี้การต่อสู้ของขบวนชาวบ้านปากมูล ผ่านเวลามายาวนานมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหลากหลายต่อเนื่อง
เขารู้ว่าตัวเองมีกำลังน้อย พันธมิตรน้อย สังคมไม่รู้จักแต่ต้องต่อสู้กับองค์กรขนาดใหญ่
เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฟผ. ซึ่งมีวิธีการบิดเบือนข้อมูล ทำลายภาพลักษณ์ชาวบ้านที่ซับซ้อน
ชาวปากมูลจึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการเรียกร้องทำความเข้าใจกับสังคม
ภายใต้กระบวนการของการกำหนดชะตากรรมของตนเอง
จะเห็นว่าแกนนำเดิมตั้งแต่รุ่นคัดค้านการสร้างเขื่อนรุ่นแรกยังคงอยู่ รากยังคงอยู่
รุ่นกลาง-รุ่นใหม่ยังคงสุกงอม
ตอนนี้กำลังเคลื่อนไหว ผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติอย่างเห็นเป็นรูปธรรมเด่นชัด
เรียกร้องตรงไปที่ กฟผ. เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่รับฟังเอาเสียเลย. รัฐบาลนี้ปฎิเสธข้อเสนอของชาวปากมูล
ความจริงก็เป็นอย่างนี้มาทุกยุคสมัย เพราะข้อเรียกร้องของชาวปากมูลเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างการพัฒนาทั้งหมด
กรณีปากมูลดูเหมือนจะเป็นกรณีเดียวที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการตั้งแต่ยังไม่ได้สร้าง
กระทั่งโครงการสำเร็จก็ยังคัดค้าน ยื่นข้อเรียกร้อง จนวันนี้มีความหวังว่า เขื่อนปากมูลน่าจะเลิกใช้ไปในเร็ววัน
เพราะทาง กฟผ. ออกมายอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนปากมูลไม่ได้สร้างผลกระทบใดใดต่อปริมาณพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศเอาเลย
และนักวิชาการทั่วประเทศก็ยังออกมาชี้ว่า การปิดเขื่อน(ยุติเขื่อน) ก่อให้เกิดผลดีมากกว่า
จะมีก็เพียงนักการเมืองเท่านั้นที่ยังไม่ยอมรับ
ไทยเอ็นจีโอ : สมัชชาเครือข่ายเขื่อนที่ผ่านมาแสดงถึงอะไรได้บ้าง
วนิดา... กรณีปัญหาเขื่อนไม่ได้มีเฉพาะกรณีปากมูลเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นทั่วประเทศหลายเขื่อนมารวมตัวกัน
เนื่องจากว่ามันเกิดปัญหา เป็นความทุกข์แบบเดียวกัน เกิดผลกระทบแบบเดียวกัน ทั้งที่สร้างไปแล้วและยังเป็นนโยบาย.
เขื่อนปากมูล, เขื่อนสิรินธร, เขื่อนห้วยละห้าของแม่ใหญ่ใฮ, เขื่อนราษีไศล, คนกลุ่มนี้ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน
กรณีราษีไศล เป็นอีกกรณีที่ต่อสู้คัดค้านกันมาตั้งแต่เริ่มต้น เพียงแต่ว่าสังคมอาจจะไม่ได้ยิน
ถึงแม้ว่า บานประตูน้ำของราษีไศลจะเปิดเพียงชั่วคราวก็ตาม แต่การเปิดประตูน้ำของราษีไศลถือได้ว่าเป็นชัยชนะจากการยกเลิกการใช้เขื่อนนั่นเอง
จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถปิดประตูเขื่อนได้ แต่สังคมก็ยังไม่รู้จักเพราะการต่อสู้ของชาวราษีไศลถูกบิดเบือน,
กล่าวร้ายจากรัฐบาล, ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ หรือรัฐบาลไทยรักไทย
เฉพาะประชาธิปัตย์
ชาวราษีไศลถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกง หลอกลวงเอาเงินชดเชยจากรัฐอย่างไม่รู้จักพอ ทั้งที่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านเป็นข้อเรียกร้องเชิงการต่อสู้ถึงกรรมสิทธิ์ตามประเพณีในที่ดิน
(ซึ่งถูกน้ำท่วม) แม้ว่าจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ รัฐพูดทำนองว่าที่ดินเป็นที่สาธารณะ
เพราะฉะนั้นชาวบ้านไม่ควรจะได้รับการชดเชย
ชาวบ้านไม่ได้พูดถึงเรื่องการชดเชยเลย พวกเขากำลังพูดถึงการสูญเสียโอกาสการทำมาหากินไปชั่วลูกชั่วหลาน ต่อสู้เรื่องความเสียหายในประเด็นระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม จนปลายรัฐบาลประชาธิปัตย์ ถึงได้มีการเปิดประตูน้ำเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ต่างจากปากมูลตรงที่ว่า ชาวราษีไศลต่อสู้กับหน่วยงานรัฐ ส่วนชาวปากมูลกำลังต่อสู้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยและเก่งในเรื่องการทำลายภาพลักษณ์ของขบวนชาวบ้านมากกว่า
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในส่วนของเครือข่ายเขื่อน คือ การรวมตัวกันของกลุ่มกรณีปัญหาอีกรูปแบบ ก็คือกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนในชุมชนของตน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น, เขื่อนโป่งขุนเพชร, เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี เยอะ นับรวมกันได้กว่า 30 กรณี รวมทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งหมด เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียกเขื่อน คำว่า "เขื่อน" ทำให้ชาวบ้านกลัว (หัวเราะ) เรียกอย่างอื่น เยอะแยะไปหมด ชาวบ้านจึงรวมตัวกันแล้วเรียกตัวเองว่า เครือข่ายกลุ่มเขื่อนและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เรียกร้องการแก้ไข กรณีเขื่อนที่สร้างไปแล้ว ยังไม่ก่อสร้างหรือกำลังจะก่อสร้าง หรือสร้างไปแล้วแต่ยังใช้ไม่ได้ คาเอาไว้อย่างนั้น. อย่างกรณีเขื่อนหัวนา เหล่านี้จะทำอย่างไร มีข้อเรียกร้องอย่างไร? แต่สุดท้าย ในทุกกรณีจะต้องผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน
ไทยเอ็นจีโอ : เขื่อนเป็นรูปแบบการพัฒนาที่ใช้ไม่ได้
วนิดา
ใช่ ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนอาศัยองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของมันน้อยมาก
คนสร้างเขื่อนทุกวันนี้ไม่มีความรู้เรื่องเขื่อน สร้างโดยไม่คิดคำนวณถึงผลกระทบหรือความเสียหาย
เปรียบเทียบระหว่างความสูญเสียและการได้มาความคุ้มค่ามันแตกต่างกันมาก
ยกตัวอย่าง
เขื่อนปากมูล ระบบนิเวศในแม่น้ำมูล คือแหล่งผลิตอาหารแหล่งสำคัญในอีสานใต้ หลายครอบครัวต้องพึ่งพาสายน้ำสายนี้เป็นหมื่นเป็นแสนครอบครัว
เขื่อนปากมูลกลับสร้างภาระเชิงสังคมเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ถามว่ามันคุ้มค่ากันหรือเปล่า
?
รัฐไม่ยอมฟังชาวบ้าน วิธีคิดแบบเผด็จการ. เขื่อน คือวิธีคิดแบบเผด็จการ คนสร้างถือว่าตนมีความรู้
มองชาวบ้านไม่มีความรู้
ทั้งที่ตัวเองนั่นแหละไม่มีความรู้เรื่องระบบนิเวศและระบบธรรมชาติ
กรณีเขื่อนราษีไศลยิ่งชัดเจน สร้างอ่างเก็บน้ำบนโดมเกลือ น้ำหนักของอ่างเก็บน้ำไปกดทับภูเขาเกลือที่อยู่ใต้ผืนดินอีสานทำให้ปริมาณเกลือละลายออกสู่ผิวดิน
ซึ่งอันนี้ชาวบ้านเขามีความรู้ เขาพูดและคัดค้านตลอดมาว่า สร้างไม่ได้เพราะจะทำให้น้ำในอ่างเค็ม
หรือน้ำหนักของอ่างจะทำให้เกิดการกระจายตัวของดินเค็ม
ทั้งหมดนี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นได้แล้วว่า คำโฆษณาว่าเขื่อนมีประโยชน์ นั้นล้วนเป็นเรื่องหลอกลวง. โอเค อาจจะผลลิตไฟฟ้าแล้วเกิดประโยชน์ ประโยชน์แก่ใคร คุ้มค่ากับสิ่งที่สูญเสียหรือไม่? ในขณะที่การทำการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนได้ไม่ถึง ร้อยละ 7 เพราะฉะนั้น สิ่งที่คุณบอกว่าเขื่อนจะสร้างความมั่นคงในเรื่องพลังงานล้วนเป็นเรื่องโกหกใช่หรือเปล่า? ผลิตได้เพียง ร้อยละ 7 ทั่วประเทศจะเรียกว่าความมั่นคงได้หรือ ขณะที่เราต้องสูญเสียสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ และคนอีกนับแสนครอบครัวได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่างเขื่อนห้วยละห้า ของ แม่ใฮ เขาเห็นแม่ใฮต่อสู้ในทีวี แต่เขาไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ลองคิดดูว่าทำไมคนหนึ่งคนถึงยอมต่อสู้ยาวนานถึง 27 ปี เพราะนั่นหมายถึงชีวิตของเขา ของลูกหลานเขาทั้งหมด น้ำท่วมไม่มีที่ทำกิน ที่สำคัญคือน้ำในเขื่อนห้วยละห้าจะเอาไปทำอะไร ก็ไม่ได้เอาไปทำอะไร ?
ถามว่าสร้างเขื่อนทำไม สร้างเพราะต้องการงบประมาณ โกงและกินกัน ทั้งหมดถูกเรียกว่าการพัฒนา เป็นชุดวาทกรรมที่โกหกพร้อมกับปล้นทรัพยากรเข้าสู่ศูนย์อำนาจ สร้างความร่ำรวยกับพวกพ้อง. เขื่อน ถนน เป็นโครงการที่สร้างความร่ำรวยมหาศาล เพราะต้องมีการระดมเม็ดเงิน ถือเป็นประเด็นหลักในยุคการพัฒนายุคต้นๆ ของเมืองไทย
ไทยเอ็นจีโอ : คิดยังไงกับกรณีแม่ใฮ
วนิดา
ขอพูดอย่างนี้ว่า คนเมืองหรือคนที่มีการศึกษาที่อยู่ในเมือง
คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจต่อรองแต่ยังขาดความเข้าใจเรื่องระบบนิเวศและโลกในธรรมชาติ
คนเหล่านี้ไม่ได้มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ แต่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงกว่าชาวบ้าน
ขณะเดียวกันมีความเข้าใจเรื่องวิถีธรรมชาติน้อยกว่า คนเหล่านี้ไม่อาจจะเชื่อมโยงวิกฤติการณ์ในธรรมชาติเข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้
คนเมืองยังมองว่าวิกฤติธรรมชาติเป็นเรื่องแยกส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องและไกลตัวเอง
ดังนั้น แรงกดดันเฉพาะเรื่องในการกดดันเพื่อให้รัฐบาลยอมรับถึงมีน้อยมาก ปากมูลเป็นเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของเขา
เป็นเรื่องของชาวปากมูล, ห้วยละห้าก็เป็นเรื่องของแม่ใหญ่ใฮ ยิ่งรัฐบาลลงไปช่วยเหลือแม่ใหญ่ใฮได้บางระดับ
ทุกคนก็พอใจ ถือว่ารัฐบาลทำงาน แต่ไม่อาจมองเห็นปัญหาอื่นๆ หรือเชื่อมโยงข้อเรียกร้องอื่นๆ
ทั้งที่ความจริงเป็นปัญหาเดียวกัน
ยกตัวอย่าง เขื่อนสิรินธร ซึ่งเป็นเขื่อนที่สร้างมาแล้วเกือบ
30 ปี เรียกร้องมาต่อเนื่องยาวนาน มีปัญหาเหมือนกันกับเขื่อนห้วยละห้า, เขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนที่มีแม่ใฮกว่า
2,000 ครอบครัว แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ ทำไม ? ...เพราะสังคมไม่เข้าใจ ไม่อาจจะเชื่อมโยงปัญหาที่เกิดขึ้นได้
ฉะนั้นคนเมืองถึงให้ความสนใจและมองปรากฏการณ์แม่ใฮมากกว่า และแยกออกจากกรณีปัญหาอื่นๆ
ที่มีอีกนับไม่ถ้วนกรณี ออกไป
ไทยเอ็นจีโอ : มด วนิดา
คือความรุนแรงและม็อบใช่หรือเปล่า
วนิดา
ไม่ใช่ หากพูดถึงความรุนแรงหรือเปล่า องค์กรชาวบ้านไม่เคยกำหนดตัวเองได้
ลองคิดดูว่าชาวบ้านไม่มีอะไรในมือ กฎหมาย ทหาร ตำรวจ หรือเทศกิจ หรืออาวุธ ไม่ว่ากรณีใด
ชาวบ้านไม่ได้สร้างความรุนแรง คุณไม่ต้องคิดว่าจะเผาหรือไม่เผาหรอก แค่นั่งคุยกันเรื่องโครงการหรือความไม่ชอบธรรมก็ถูกจับเสียแล้ว
สมัยก่อนชาวบ้านปากมูลเวลาจะพูดคุยกันเรื่องเขื่อน ต้องไปนั่งพูดคุยกันในทุ่ง
แอบๆ ไปกัน
ไทยเอ็นจีโอ : ในสังคมประชาธิปไตยอย่างประเทศไทยนี่หรือ
วนิดา
เอ้า คุณคิดว่าสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยหรือ
คุณคงไม่เชื่อ คำเหล่านี้ใช้ได้เฉพาะกับกลุ่มซึ่งมีอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมืองเท่านั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐบาลไม่อาจใช้กำลังเข้าจัดการได้โดยตรง การกดดันในหลายๆ ทางจึงเกิดขึ้น
สร้างชุดวาทกรรมอีกชุดมุ่งทำลายคนกลุ่มนี้ เช่น เป็นพวกขัดขวางความเจริญ รับเงินต่างชาติ
พวกไม่หวังดี ชาวบ้านปากมูลกลายเป็นพวกลาวแดง แบ่งแยกกลุ่มคนในพื้นที่ออกจากกัน
ไทยเอ็นจีโอ : ไม่น่าเชื่อว่าวิธีคิดอย่างนี้จะยังใช้กันอยู่
วนิดา
มี คุณไม่เชื่อสิ เป็นทั้งญวน เป็นทั้งลาวแดง
คนในจังหวัดอุบลฯ หลายแห่งกลัวคนปากมูล เหมือนกลัวกลุ่มผู้ก่อการร้าย บางคนไม่ไปปากมูลเพราะรู้สึกว่าเป็นดินแดนของผู้ก่อการร้าย
ถึงวันนี้ก็ยังมีคนคิดแบบนี้ นั่นคือภาพใหม่ที่รัฐสร้างขึ้น
สรุป
คงไม่ต้องบอกว่า ทำไมภาพของวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ จึงเป็นภาพประทับของความรุนแรง
เพราะใครก็ตามที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามอำนาจรัฐ คนนั้นคือผู้ก่อความไม่สงบ และเป็นผู้ที่สร้างให้เกิดกระบวนการต่อต้าน
ปลุกระดมชาวบ้าน ถือเป็นหมากกลตัวหนึ่งในชุดวาทกรรม ตัดเอ็นจีโอและนักวิชาการจำนวนหนึ่งออกจากกระบวนการต่อสู้
อย่างไรก็ตาม กระบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน คือ ความสอดคล้องภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง
บนถนนสายเคลื่อนไหวตลอดระยะเวลายาวนาน
การเปลี่ยนแปลง ดัดแปลง สร้างพลังร่วม ขยายขอบข่ายการต่อสู้ จากเขื่อนถึงพลังป่าชุมชน
ประมงพื้นบ้าน และเกษตรกรรมทางเลือก จนวันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการปกป้องพื้นภูมิท้องถิ่น
ไม่เฉพาะประโยชน์ส่วนตน หากยังหมายถึงคน ประชาชนทุกคนผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินแห่งนี้
เรากำลังทำเพื่อสังคมโลก หากไม่เกิดกลุ่มคนที่คัดค้าน ขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิด
เธอย้ำถึงอุดมคติสุดท้าย หากเมื่อถามว่า ที่ผ่านมา เธอทำทุกอย่างเพื่ออะไร ?
คำตอบที่ได้รับคือ 'คงไม่ต้องตอบ การกระทำที่ผ่านมาล้วนแล้วเป็นคำตอบ
'
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ทีมงานไทยเอ็นจีโอ รายงาน - 21 ตุลาคม 2547
5. สัมภาษณ์พิเศษงานประชุมถ่านหินโลก
: วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ (ที่ปรึกษาสมัชชคนจน)
ประชาไท: 7-7-2548
มองอย่างไรกับการจัดงานประชุมถ่านหินโลกครั้งนี้
วนิดา มันก็แค่เป็นการเอาบริษัทธุรกิจที่เกี่ยวกับการค้าถ่านหินในระดับโลก
มาสังสรรค์กันเฉยๆ มาคุยกัน มาตกลงธุรกิจการค้า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
หรือ กฟผ.เป็นเจ้าภาพ ก็เพราะอยากพัฒนาตัวเองให้เป็นเจ้าพ่อพลังงานของอาเซียน
แล้วก็คิดว่าจะทำธุรกิจที่เกี่ยวกับถ่านหิน ทั้งๆ ที่ถ่านหินนั้นถูกต่อต้านจากทั่วโลก
แต่ว่าเอเชียส่วนใหญ่ คนยังไม่ค่อยรู้ ดังนั้นจึงมีการพยายามมาขายแถวนี้
แล้วที่ผู้จัดงานบอกว่า ถ่านหินคือพลังงานสะอาด?
วนิดา เขาต้องการบิดเบือน เขาต้องการพานักวิจัย ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ถูกต้องมาพูดว่า
ถ่านหินของเขานั้นสะอาดอย่างไร ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณก็ต้องแก้ปัญหาที่แม่เมาะก่อน
นี่ก็จะไปเปิดเหมืองที่เวียงแหง ไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่โน่นที่นั่น เป็นการปูกระแสเพื่อจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในเมืองไทย
และเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นมาใหม่ ก็ผลิตแบบ 2 ทาง ใช้ก๊าซก็ได้ ใช้ถ่านหินก็ได้
ใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นก็ได้ แล้วเราจะไว้ใจได้อย่างไรว่า ถ้าปล่อยให้คุณสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว
เราจะเข้าไปตรวจสอบการใช้เชื้อเพลิงได้
คุณคิดว่าการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ไม่โปร่งใส?
วนิดา ไม่โปร่งใส...เพราะว่าวิธีการทางด้านพลังงานของ กฟผ.นั้น มันหมกเม็ดมาโดยตลอด
ไม่เคยโปร่งใส และปัญหาเก่าๆ ก็ไม่เคยแก้ไข ไม่ว่าปัญหาเขื่อนปากมูน, ปัญหาเขื่อนสิรินธร,
ปัญหาแม่เมาะ, นี่ล่าสุดมีมติ ครม. ที่จะย้ายอพยพหมู่บ้าน 4 หมู่บ้านในเขตพื้นที่
อ.แม่เมาะ ก็เพราะมีแผนจะผลิตพลังงานเพิ่ม จะขุดเหมืองถ่านหินเพิ่ม ตอนแรกตกลงกันว่าจะขยายไม่กี่ไร่
มาตอนนี้จะขยายไปอีก 2 หมื่นไร่ แล้วชาวบ้านจะอยู่ยังไง เพราะตอนนี้คนแม่เมาะต้องตายไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว
แต่ กฟผ. ก็ให้เหตุผลว่า เพราะพลังงานสำรองเหลือน้อย จำเป็นต้องขยาย?
วนิดา มันมีพออยู่แล้ว พลังงานเชื้อเพลิงขณะนี้มีอยู่ประมาณ 8,000-9,000
เมกกะวัตต์ แม้ตอนนี้ถ้าคุณปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 10 โรง ยังไม่กระเทือนต่อการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศเลย
เพราะฉะนั้นถือว่า กฟผ. กำลังหากินบนความไม่รู้ของคน เพียงแต่ กฟผ.เที่ยวประกาศว่า
พลังงานสำรองจะหมด เชื้อเพลิงจะหมด แล้วก็สามารถที่จะไปสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหนก็ได้
สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คน และยังไม่มีองค์กรอิสระใดๆ เข้าไปตรวจสอบ กฟผ.ว่า
แผนการพัฒนาพลังงานนั้นเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาก
และที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายของ กฟผ.ได้กลายเป็นหนี้ของประเทศชาติ ตอนนี้ กฟผ.เป็นหนี้หลายแสนล้านบาท
ซึ่งคนไทยทั้งหมดเป็นคนแบกรับภาระ ไม่ใช่ กฟผ.เป็นคนแบกรับภาระ
รัฐบาลบอกว่า จะให้เอกชนเป็นคนสร้าง?
วนิดา ก็เหมือนกันนั่นแหละ เพราะว่า กฟผ.เป็นผู้หนุนอยู่เบื้องหลัง และทุกคนก็ต้องขายไฟให้แก่
กฟผ. เพราะ กฟผ. ไปทำสัญญากับเอกชน ว่าผลิตขึ้นมาเถอะ ฉันซื้อเอง แล้วสัญญาของ
กฟผ. ระบุว่า เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมา กฟผ.จะเป็นคนจ่ายให้ในอนาคต แล้วใครเป็นผู้จ่ายอย่างแท้จริง
ก็พวกเรา ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดทั่วประเทศนั่นแหละ ที่จะต้องจ่าย มีการเพิ่มค่าภาษีต่างๆ
เพราะฉะนั้นตราบใดที่ กฟผ. ยังไม่มีความโปร่งใสกันอยู่ ไม่สามารถตรวจสอบโดยองค์กรอิสระได้ในเรื่องแผนพัฒนาพลังงานทั้งหมด
ก็จะทำให้คนไม่ไว้ใจ คุณจะไปทำ ไปสร้างที่ไหน ย่อมถูกต่อต้าน เพราะคุณทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจ
ภาคประชาชนควรทำอย่างไร ถึงจะสื่อให้ กฟผ.เข้าใจในเรื่องนี้?
วนิดา ก็ต้องกดดัน เพราะคุยกับเขาแล้วไม่ยอมรับฟัง ขนาด นพ.พรหมมินทร์
เลิศสุริย์เดช, รมว.พลังงาน ยังมีรายชื่อมางานถ่านหินโลก มาได้ยังไง นี่เป็นเรื่องธุรกิจการค้าขายถ่านหิน
นี่ก็เท่ากับว่าคุณสนับสนุน หรือว่าเป็นเอเย่นต์ เป็นนายหน้าใช่หรือไม่. รัฐมนตรีซึ่งมาจาก
ส.ส. มาจากเสียงของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นคนจ่ายภาษี แล้วคุณจะมาเป็นเอเย่นต์
เป็นนายหน้าให้กับพวกพ่อค้าธุรกิจได้อย่างไร? และพลังงานทางเลือก คุณได้แต่พูด
แต่ไม่เคยส่งเสริม ที่ผ่านมามีการมอบงบประมาณให้แก่ กฟผ. พัฒนาพลังงานทางเลือก
แท้จริงเพียงเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง
องอาจ เดชา - ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ประชาไท
6. "ตลกร้าย" ป.ป.ง. สอบบัญชี NGO
"วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์"
ยังจำกันได้หรือไม่ ภาพที่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่งรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับคนจน
พร้อมแกนนำหน้าทำเนียบรัฐบาลขณะได้เป็นรัฐบาลใหม่ๆ จนถูกสื่อบางฉบับระบุว่า "สร้างภาพ"}
แต่บางฉบับกลับนำไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดนายชวน หลีกภัย ที่ไม่เคยลงมาพบปะกับคนเหล่านี้
ทว่าวันนี้คนที่ช่วยเหลือและเคียงข้างคนจนมาตลอด กลับถูกรัฐบาล "ตรวจสอบเงินในแบงก์,
เช็คประวัติ" หลายคนถึงกับงงไปตามๆ กัน
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ"พี่มด"ของน้องๆ} 1 ใน 20 แกนนำองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ก็โดน ป.ป.ง.ตรวจสอบบัญชีรายรับ-รายจ่าย ต่อจากยูบีซี 8} น.ส.พ.ไทยโพสต์} และ น.ส.พ.แนวหน้า ตามมาติดๆ, ส่วนแกนนำคนอื่นๆ ที่คุ้นชื่อคุ้นหน้า อาทิ บำรุง คะโยธา, ชัยพันธ์ ประภาสะวัติ, ประยง ดอกลำไย, อวยชัย วะทา ฯลฯ ก็โดนตรวจสอบด้วยเช่นกัน
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย หนึ่งในคนเดือนตุลาที่คุ้นเคยกับบรรดาเอ็นจีโอทั้งหลายฟันธงไปแล้วว่า "คนเหล่านี้ผมรู้จักดี เป็นคนไม่มีสตางค์ ตรวจไปก็เจอแต่หนี้" และว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยมีความคิดที่จะตรวจสอบ "เอ็นจีโอ" พร้อมแจกแจงความจริงว่า การตรวจสอบข้อมูลเอ็นจีโอมีมาตั้งแต่ปี 2543 สมัยรัฐบาลชวน แต่ข้อมูลการตรวจสอบดันออกมาตอนนี้พอดี จะว่า"บังเอิญ" ก็ไม่น่าเป็นไปได้ มันเหมือน "จงใจ" มากกว่า แกนนำเอ็นจีโอมารู้ตัวอีกทีก็พบว่า พวกเขาถูกลากเข้ามาท่ามกลางความขัดแย้ง เป็นเกมการเมืองชัดๆ
ข้อมูลตัดมาบางส่วนจาก: http://www.becnews.com/backissue/f_famous/wanida_t.html
แด่วีรชนบนผืนโลก...เนื่องใน...30 ปี 6 ตุลา
เจตน์จำนง วีรชนล้วนมุ่งมั่น
บุกบั่นรุดหน้าไปใจปลุกขวัญ
ดุจสายน้ำเชี่ยวกรากหลากผาชัน
สู่ฝั่งฝันมหาสมุทรสุดสาครอุดมการณ์ท่วมพ้นสองฝั่งน้ำ
ฝังกลบร่างนิรนามเหล่าผู้กล้า
มอดม้วยลงตามทางทับถมมา
หยาดน้ำตาเอ่อท้นล้นปนิธานภารกิจวีรชนไม่ลุล่วง
เพราะชีวาหลุดร่วงลงเสียก่อนหนา
เป็นอย่างนี้นับพันปี สืบสานมา
แม่คงคาพสุธาร่วมจดจารอีกกี่คนวีรชนอีกกี่รุ่น
จะวิ่งวุ่นเวียนว่ายถึงจุดหมาย
ดินแดนแห่งแสงเสรีศรีเมตไตรย์
ปักธงชัยสันติภาพสันติธรรม
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ (๒๖ กันยายน ๒๕๔๙)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ภาคผนวก
๖๐ ปี แห่งการเสริมสร้างสันติภาพไทย (ตอนจบ) - ส.ศิวรักษ์
บรรยายเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ ณหอประชุมศรีบูรพา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามคำเชิญของ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้บุกเบิกของขบวนการ NGOs ในเมืองไทยคือนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ซึ่งผูกวลีขึ้นว่า สันติประชาธรรม ถ้าประชาราษฎรได้รับความยุติธรรมโดยเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย นี้แลคือหัวใจของสันติภาพและสันติสุข จำเดิมแต่ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ ตามศักราชฝรั่งเป็นต้นมานั้น คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาทางขบวนการ NGOs ยิ่งๆ ขึ้น โดยเห็นชัด กันยิ่งๆ ขึ้นแล้วว่า ระบบราชการ แม้จนทุนนิยม ย่อมมาถึงซึ่งจุดจบไม่เร็วก็ช้า
แม้คนอย่างนายแพทย์ประเวศ วะสี จะรับราชการมาโดยตลอด แต่ก็เห็นชัดยิ่งๆ ขึ้นว่าความคิดที่แยกไปจากกระแสหลัก งอกงามขึ้นไม่ได้ในระบบราชการ และความคิดความอ่านใหม่ๆ ในทางสร้างสรรสันติประชาธรรม จักมีขึ้นได้ ก็แต่จำเพาะ ในแวดวงของ NGOs เท่านั้น. นักกิจกรรมนอกระบบ โดยเฉพาะก็พวกเยาวชนวิพากษ์วิจารณ์กันยิ่งขึ้นว่า การพัฒนาประเทศในระบบ เสนาอำมาตยาธิปไตย ที่สั่งกันลงมาจากข้างบนสู่เบื้องล่าง โดยที่ชนชั้นบนก็ล้วนเป็นทาสปัญญาของฝรั่งนั้น นอกจากจะไปไม่รอดแล้ว ยังจักเสริมสร้างช่องว่างทางเศรษฐกิจและการเมืองกับมหาชนยิ่งๆ ขึ้น ดังก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างเลวร้ายยิ่งในเดือนตุลาคม ๒๕๑๙
แม้พระภิกษุสงฆ์ก็เริ่มมีบทบาท ทางด้านการพัฒนาประเทศ ตามแนวทาง ของพุทธธรรม ที่เน้นความพอดี ความอยู่ดีอย่างเอื้ออาทรกัน ยิ่งกว่าการแก่งแย่งแข่งดีกัน และอย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ และภูมิธรรมพื้นบ้าน ยิ่งกว่าการพัฒนาวัตถุ ตามแนวทางของตะวันตก. เราอาจลืมไปกันแล้วก็ได้ว่า เมื่อชาวบ้านรวมตัวกันอย่างได้ผล โดยมีสามัคคีธรรมเป็นพื้นฐาน พวกเขาอาจระงับการพัฒนาอย่างบ้าคลั่งของรัฐบาลได้ ทั้งๆ ที่มีการโกงกินกันอยู่กับโครงการนั้นๆ แล้วก็ตามดังแกนนำที่กาญจนบุรี สามารถรวมตัวกันกับนักกิจกรรมในจังหวัดอื่นๆ ผนึกเข้าด้วยกับพระภิกษุ นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว และชาวต่างประเทศ ที่อุทิศชีวิตให้กับการอนุรักษ์ธรรมชาติ สามารถระงับโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน อันมหึมาลงได้ในปี ๒๕๓๑
จากจุดนี้แล ที่เป็นสะพานให้ NGOs ต่างๆ ซึ่งขัดขืนการพัฒนาอันบ้าคลั่งของรัฐบาลและชนชั้นบน มาประสานเข้ากับชนชั้นกลางโดยทั่วๆ ไป ที่เคยเป็นทองไม่รู้ร้อนมาก่อน ให้เห็นคุณค่าของการพัฒนานอกระบบ ตลอดจนโยงใยให้ผู้คนพากันตระหนักถึงขบวนการด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในนานาชาติ โดยที่การอนุรักษ์ ดังกล่าว ย่อมควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน อย่างพยายามเข้าถึงศักดิ์ศรีของคนเล็กคนน้อย คนปลายอ้อปลายแขม ด้วยเสมอไป
แม้ชนกลุ่มน้อยที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด ทั้งภูมิธรรมของเขาก็ได้รับการดูแคลนจากชนชั้นบนมาเป็นเวลาอันยาวนาน ก็ได้มาร่วมกับขบวนการพัฒนาเอกชนที่เป็นชนชั้นกลาง และได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการหัวก้าวหน้า จนหัวหน้าเผ่ากะเหรี่ยงอย่าง พ่อหลวงจอนิ โอเดเชา กลายเป็นคนสำคัญขึ้นมา ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ แม้นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย จะหาทางกำจัดเขาเสีย แต่ก็หาสำเร็จไม่ ดังบำรุงคะโยธา ซึ่งเคยเป็นกรรมกรในเมืองกรุงมาก่อน ก็กลับไปเป็นผู้นำชาวไร่ ชาวนา จนเขากลายเป็นคนสำคัญในขบวนการสมัชชาคนจนเอาเลยด้วยซ้ำ. เมื่อข้าพเจ้าถูกจับตอนขัดขวางท่อแก๊สไทย-พม่า ที่เมืองกาญจน์ ในปี ๒๕๔๑ บำรุงพาเพื่อนพ้องเขาไปเยี่ยมข้าพเจ้าที่โรงพัก นายสถานีตำรวจบอกกับลูกน้องว่า "ท่านบำรุงมาเองเลยทีเดียว" ดังนี้เป็นต้น
เราต้องไม่ลืมว่า สมัชชาคนจนเป็นขบวนการประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในราชอาณาจักรนี้ และการที่คนจนรวมตัวกันได้อย่างมีศักดิ์ศรี ช่วยให้เราเข้าใจว่า ที่เราเคยดูถูกว่าคนจนโง่และไร้สมรรถภาพนั้น เป็นคำเท็จ เฉกเช่นคำเท็จที่สอนกันว่า พระมหาราชาธิราช ทรงฤทธิศักดานุภาพ นานาประการ อย่างปราศจากความบกพร่องใดๆ นั้นแล. สมัชชาคนจนไม่ต้องการรับเศษจากเศรษฐี หรือนักการเมืองที่ใช้วิธีซื้อและวิธีขู่บังคับ หากสมัชชาคนจน กล้าท้าทายรัฐบาลอย่างสง่าและอย่างสันติ โดยชี้ให้เห็นได้ด้วยว่า นโยบายในทางทุนนิยมและนิยมเทคโนโลยี ที่ทันสมัยต่างๆ นั้นผิดพลาด
ใช่แต่เท่านั้น สมัชชาคนจนไม่แต่เป็นเพียงฝ่ายคัดค้านรัฐบาล หากเป็นขบวนการในทางสันติวิธีที่มีพื้นฐานในทางประชาธิปไตย ที่เนื้อหาสาระเน้นที่ความพอดี ที่สันตุฏฐีธรรม ที่ความสมดุลทางธรรมชาติ. สมัชชาคนจนไม่ได้ทำเพียงเพื่อพวกเขา หากทำเพื่อสังคมส่วนรวม ซึ่งควรบรรสานสอดคล้องกันทั้งชนชั้นล่าง ชั้นกลาง และชั้นสูง หากกิจการในสังคมต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส อย่างเปิดเผย อย่างร่วมมือกัน เคารพกันและกัน ตลอดจนเคารพธรรมชาติ และภูมิธรรมของบรรพชน
น่านิยมยินดีที่ขบวนการชนชั้นกลางกับสมัชชาคนจนทำกิจการร่วมกัน โยงใยถึงกันและกัน แม้จนพ่อค้าวาณิช ที่อยู่ในหน่วยนักธุรกิจเพื่อสังคม ก็เข้าใจสมัชชาคนจนและสนับสนุนโครงการของทั้งคนจนและชนชั้นกลาง ยิ่งชนชั้นสูง อย่างอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ก็เข้าใจแนวโน้มนอกระบบ ทั้งนี้นับว่าเป็นไปอย่างสันติวิธียิ่งๆ ขึ้นทุกที โดยที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดนักวิชาการนอกระบบในแทบทุกมหาวิทยาลัย โดยที่เสมสิกขาลัยได้ทำหน้าที่ทางด้านนำเอาไตรสิกขา มาประยุกต์อย่างสมสมัยอีกด้วย. น่าเสียดายที่ยุวสงฆ์ยังไม่ได้ตื่นตัว ทั้งๆ ที่ท่านเคยมีบทบาทมาอย่างสำคัญในนามว่าคณะปฏิสังขรณ์ตอนเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ นิสิต นักศึกษา ก็ยังไม่มีพลังอย่างนับว่าน่าเศร้า ทั้งๆ ที่บทบาทของคนหนุ่มสาวในช่วง ๒๕๑๖-๒๕๑๙ นั้น นับว่าสำคัญนัก ความทั้งสองประการนี้น่าที่จะต้องหาเหตุและปัจจัยให้ชัดเจน
แต่ก็น่ายินดีว่าผู้หญิงไทย มีบทบาทไม่น้อยไปกว่าผู้ชายเอาเลย ยิ่งในการแหวกออกไปจากกระแสด้วยแล้ว แม่หญิงไทยเดินหน้าไปอย่างสง่า โดยทำกิจการต่างๆ ร่วมกับบุรุษเพศได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะ
- ครูประทีป อึ๊งทรงธรรมกับชุมชนแออัดในเมือง หรือ
- ครูรัชนี ธงไชย กับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ที่เป็นตัวนำทางด้านการศึกษาทางเลือกที่สำคัญ
- ยังนางภินันทน์ โชติรสเศรณี ทางกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ก็เป็นชนวนในการปลุกมโนธรรมสำนึกของชนชั้นกลาง
ทางด้านสิทธิมนุษยชน และความสมดุลทางธรรมชาติ ด้วยการโยงชนชั้นกลางให้ขยายจุดยืนออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งยังโยงใยถึงชนชั้นล่างอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ อีกด้วย
- ส่วน น.ส. วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ กับสมัชชาคนจนนั้น นับว่าน่าก้มหัวให้เป็นอย่างยิ่ง โดยไม่จำต้องเอ่ยถึง
- คนในรากหญ้าแท้ๆ อย่างยายไฮ ขันจันทา ที่อุบลราชธานี และ
- นางจินตนา แก้วขาว ที่ประจวบคีรีขันธ์ ก็ยังได้
- โดยบุคคลอย่าง ส.ว. เตือนใจ ดีเทศน์ ก็โยงใย ไปถึงชาวเขาอย่างเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดี
โดยเฉพาะก็ในทางรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ
ที่ว่ามานี้ เป็นเพียงบางบุคคลซึ่งมีเครือข่ายนอกระบบอย่างกว้างขวาง หากทางเบื้องบนไม่สนใจเอาเลย แม้สตรีบางคนจะได้เป็นวุฒิสมาชิก ก็เพราะเขาได้รับเสียงสนับสนุนจากราษฎรต่างหาก ถ้าขยายจำนวนเครือข่าย ดังที่ว่ามานี้ออกไปในทางปริมาณ นับว่าเป็นความหวังในทางสันติประชาธรรมได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญก็คือผู้นำหลายต่อหลายคน เริ่มเข้าหาภาวนาวิธีอย่างจริงจัง จนเห็นว่าสันติภาวะภายในสำคัญ ในอันที่จะไม่เกลียดชังผู้กดขี่ หากใช้ความสงบส่วนตนออกมาเป็นพลังให้เกิดความสงบสุขในสังคม ด้วยการโยงใยกันอย่างเป็นเครือข่ายกับองค์กรพัฒนาต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งๆ ขึ้นทุกที
แม้ทั้งหมดนี้จะยังเป็นชนวนน้อยๆ ในสังคมไทยอันใหญ่กว้าง แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญนั้น นักมนุษยวิทยาชาวอังกฤษชั้นนำอย่าง มากาเร็ต มีด ย้ำอยู่เสมอว่า ย่อมเริ่มจากจุดเล็กๆ เสมอไป เป็นแต่ว่าถ้าคนในกระแสหลัก เริ่มศึกษาหาความรู้ กับจุดเปลี่ยนดังที่พรรณนามาอย่างย่อๆ นอกเหนือไปจากหนังสือทางเลือกต่างๆ ทั้งทางสังคมอันยุติธรรม (ศีล) และทางจิตวิญญาณ อันประกอบไปด้วยความสุขสงบ (สมาธิ) ย่อมก่อให้เกิดแสงสว่างในทางลดความเห็นแก่ตัวลง เพื่อให้ทุกๆ คนเป็นอยู่, ไม่ใช่เพื่อความยิ่งใหญ่ของตน หรือการไต่เต้าไปเอาอะไรๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป หากเป็นไปเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ (ปัญญา) นี่น่าจะเป็นฐานแห่งการเสริมสร้างสันติภาพได้ ไม่แต่แก่เมืองไทยและคนไทย หากอาจขยายไปถึงชาวโลกด้วยก็ได้ และไม่แต่ในเวลาหกทศวรรษ ต่อแต่นี้ไปเท่านั้น
ข้อมูลจาก: เราคิดอะไร,
ฉบับที่ ๑๘๘ มีนาคม ๒๕๔๙
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เกี่ยวกับ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
- วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ - แด่วีรชนบนผืนโลก...เนื่องใน...30 ปี 6 ตุลา
- http://midnightuniv.tumrai.com/forum/index.php?topic=1202.msg1219- รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปวกเปียก
- http://midnightuniv.tumrai.com/midarticle/newpage68.html- หากไม่มีเสรีภาพ ก็ปราศจากสันติภาพ
- http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2545/document95249.html- ปากมูลชุมนุม"วันหยุดเขื่อนโลก"
- http://midnightuniv.tumrai.com/midfrontpage/newpage50.html
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88