โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๘๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ (Febuary, 13, 02, 2008) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกราคม ๒๕๕๐)

13-02-2551

Thai Literature
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

งานและความคิดนักเขียนไทย: กุหลาบ สายประดิษฐ์
กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ (๒)
ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : ผู้วิจัย
คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(คลิกเพื่อ download ต้นฉบับโดยผู้เขียนในรูป PDF)

บทความวิชาการต่อไปนี้ เป็นเอกสารประกอบคำบรรยาย โครงการจัดประชุม
วิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ ครั้งที่ ๒ ที่โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว
เชียงใหม่ วันที่ ๙-๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เขียนโดย ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
นำมาจากเว็บไซต์ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
http://www.human.cmu.ac.th/%7Ethai/html2/conference.htm

ในส่วนของบทความนี้ เสนอเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๘ ณ ห้องเสนอบทความวิจัย
"มนุษยศาสตร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ กับสังคม" โดยมีหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
๑. อุดมการณ์ใหม่ของกุหลาบ สายประดิษฐ์
๒. กุหลาบ สายประดิษฐ์กับการปฏิวัติ ๒๔๗๕
๓. จากเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" ถึง "แลไปข้างหน้า"
๔. บทสรุป อุดมการณ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์

(หมายเหตุ: เนื่องจากเป็นบทความวิจัยเรื่องนี้มีความยาวพอสมควร จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน
ในส่วนของบรรณานุกรมของบทความวิจัยนี้ ได้วางอยู่ตอนที่ ๒. ส่วนเชิงอรรถทั้งหมด
ได้นำมาวางใกล้กับข้อความที่ต้องการรายละเอียด เพื่อสะดวกต่อการอ่านบนหน้าเว็บไซต์)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๘๘
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

งานและความคิดนักเขียนไทย: กุหลาบ สายประดิษฐ์
กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ (๒)
ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : ผู้วิจัย
คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(คลิกเพื่อ download ต้นฉบับโดยผู้เขียนในรูป PDF)

๓. จากเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" ถึง "แลไปข้างหน้า"
กุหลาบ สายประดิษฐ์ เรียนอยู่ในออสเตรเลียเกือบ ๒ ปี จนถึงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ ก็เดินทางกลับ ซึ่งเป็นระยะที่รัฐบาลพลเรือนได้ถูกยึดอำนาจโค่นล้มไปแล้ว โดยคณะนายทหารบกที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และ พ.อ.กาจ กาจสงคราม ปรากฏว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้รับเชิญให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๑ แม้กระนั้น สภาพทางการเมืองยังคงเป็นไปตามระบบรัฐสภา (*)๑๕ และเป็นระยะที่แนวคิดสังคมนิยมเริ่มเผยแพร่ในสังคมไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสะเทือนจากการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน

(*) ที่น่าสังเกต คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร ยังไม่ได้ใช้มาตรการเผด็จการในระยะ พ.ศ.๒๔๙๑ จนถึงหลังจากรัฐประหาร พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔ จึงเผด็จการมากขึ้น

ที่น่าสนใจก็คือ กุหลาบ ก็ได้รับผลสะเทือนจากแนวคิดสังคมนิยมเช่นกัน หากแต่เป็นแนวคิดสังคมนิยมจากออสเตรเลีย เมื่อกลับมาจากออสเตรเลีย กุหลาบได้ตั้งสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ ตีพิมพ์ผลงานของตน และได้เป็นนักเขียนประจำลงในนิตยสารอักษรสาส์น ซึ่งมีสุภา ศิริมานนท์ เป็นบรรณาธิการ. นิตยสารฉบับนี้ เป็นนิตยสารสำคัญที่เผยแพร่ความคิดแบบสังคมนิยมในระยะ พ.ศ.๒๔๙๓-๒๔๙๕ ซึ่งกุหลาบก็เป็นคนหนึ่ง ที่ได้เข้าร่วมเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมด้วย โดยเข้ารับผิดชอบในแผนกวิชาการเมืองของนิตยสาร(*)

(*) การเผยแพร่ลัทธิมาร์กซในสังคมไทยก่อนหน้านี้ ยังอยู่ในกลุ่มคนจีน และลูกหลานจีนเป็นส่วนใหญ่ จนถึงระยะหลังการปฏิวัติจีน พ.ศ.๒๔๙๒ จึงทำให้ลัทธิมาร์กซเป็นที่สนใจของปัญญาชนในสังคมไทยมากขึ้น การออกนิตยสาร อักษรสาส์น ของสุภา ศิริมานนท์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๒ จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างขบวนการลัทธิมาร์กซในหมู่ปัญญาชนไทย

และที่น่าสังเกตคือ ในระยะหลัง พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นต้นไป กุหลาบ จะไม่เขียนอะไรที่ประสงค์เพียงแต่ความสนุกเพลิดเพลินที่สบอารมณ์เพียงอย่างเดียว หากแต่มุ่งที่จะแต่งหนังสือที่บำรุงปัญญาความคิดเป็นหลัก งานเขียนที่สำคัญของกุหลาบในระยะนี้มีหลายเรื่อง เช่น เรื่องสั้นเรื่อง คนพวกนั้น(พ.ศ.๒๔๙๓) คำขานรับ (พ.ศ.๒๔๙๓)(*)๑๗ สารคดีเรื่อง ข้าพเจ้าได้เห็นมา(พ.ศ.๒๔๙๔) และเรื่องแปลเรื่อง เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร(พ.ศ.๒๔๙๕) เป็นต้น

(*) เรื่อง คำขานรับ เป็นเรื่องสั้นที่ส่งผลสะเทือนอย่างมากในยุคก่อนและหลัง ๑๔ ตุลา พ.ศ.๒๕๑๖ เนื้อหาของเรื่องกล่าวถึงนักศึกษาหนุ่มปีสุดท้าย ชื่อ ทนง ที่ตั้งคำถามกับระบบการศึกษา และในที่สุดก็ปฏิเสธปริญญาแล้วแสวงหาเส้นทางชีวิตใหม่ ที่จะนำเอาอนาคตอันแจ่มใสมาให้แก่มนุษยชาติ บทความนี้ถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่หลายครั้ง ในหนังสือของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสมัยนั้น

ดังนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงได้แต่งนวนิยายเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" (พ.ศ.๒๔๙๓) ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวนิยายเพื่อชีวิตเล่มแรกในสังคมไทย โดย แถลงในจุดมุ่งหมายการแต่งว่า "นักเขียนเช่นเราๆ ไม่ต้องการอะไรยิ่งไปกว่า โอกาสที่จะได้เสนองานและความคิด ตามที่เขาเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาคมที่เขาประสงค์จะได้" แม้ว่าเนื้อเรื่องของนวนิยายนี้ ดำเนินไปด้วยการสนทนา แต่ก็สะท้อนถึงการพัฒนาความคิดของกุหลาบ ที่อธิบายการเปลี่ยนความคิดของตัวละครเอก คือ โกเมศ นักเรียนไทยในออสเตรเลีย ที่ได้รับผลสะเทือนจากนักอุดมคติหญิงชาวออสเตรเลียชื่อ แนนซี เฮนเดอร์สัน ทำให้เปลี่ยนจากการดำเนินชีวิตแบบหนุ่มเสเพล มาสู่การเป็นนักอุดมคติที่มีความรักในมวลมนุษยชาติ และเปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะกลับมาผลักดันสังคมไทย ให้เปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น. ในนวนิยายเล่มนี้ กุหลาบได้วิพากษ์ความล้าหลังและไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยไว้ด้วย ดังคำบรรยายของโกเมศตอนหนึ่งว่า

โดโรธี เธอคงจะได้เห็นแล้วว่า ในประเทศไทยแลนด์อันอำไพด้วยแสงเดือนแสงตะวัน อันชื่นบานด้วยอากาศสดบริสุทธิ์ และความรำเพยพริ้วของลมเย็น อันระรื่นตาด้วยสีเขียวชอุ่มของต้นข้าวและใบไม้ อันได้รับประกันอดหยากจากความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินนั้น ในอีกด้านหนึ่งคือ การปฏิบัติต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ในประเทศอันน่าผาสุกนั้น เต็มไปด้วยความอัปลักษณ์โสโครกเพียงใด ด้วยอาศัยกลไกการปกครองและการจัดระเบียบสังคมอันเหี้ยมโหดเลือดเย็น และเต็มไปด้วยความอยุติธรรมอันน่าสยดสยองนั้น ชีวิตของคนเกือบทั้งประเทศถูกกดไว้ภายใต้ความต่ำทรามอันน่าทุเรศ มวลชนตั้ง ๙๐ เปอร์เซนต์ของประเทศ... ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำเพียงเพื่อจะเอาชีวิตรอดไปวันหนึ่ง และต้องนำรายได้อันมีค่าแทบทั้งหมดนั้น ไปประเคนปรนปรือความสุขสำราญเหลือเฟือของคนส่วนน้อยนิดในเมืองหลวง และด้วยการถือโอกาสแห่งความสงบเสงี่ยม และน้ำใจโอบอ้อมอารีของประชาชนผู้อาภัพเหล่านั้น บรรดาพวกอิ่มหมีพีมัน จึงคงรื่นเริงสุขสำราญต่อไปอย่างลืมตัว โดยไม่คำนึงถึงการปันส่วนรายได้เสียใหม่แต่อย่างใดเลย ในบางครั้งคราวหรือบ่อยๆ ยังใช้อำนาจกดขี่เหยียดหยามประชาชนผู้อาภัพเหล่านั้นเสียอีก (จนกว่าเราจะพบกับอีก : ๔๗-๔๘)

การอธิบายสังคมในลักษณะเช่นนี้ ความจริงเป็นการอธิบายด้วยทฤษฎีชนชั้นลัทธิมาร์กซ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้ยอมรับในหลักการลัทธิมาร์กซแล้ว ทั้งที่ ใน พ.ศ.๒๔๙๓ ขบวนการลัทธิมาร์กซในหมู่ประชาชนไทยเพิ่งจะเริ่มต้น กุหลาบ เองก็มีส่วนร่วมโดยการเขียนเรื่อง "ระบบบงการประชาธิปไตยของประชาชน"ลงในอักษรสาส์น เดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๙๒ บทความนี้แปลมาจากเรื่อง People's Democratic Dictatorship ของเหมาเจ๋อตง ซึ่งได้แถลงในโอกาสครบ ๒๘ ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๑๙๔๙ ซึ่งตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ China Digest. ต่อมา กุหลาบ ก็ได้เขียนเรื่อง "ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิส" ลงพิมพ์ในนิตยสารอักษรสาส์น ใน พ.ศ.๒๔๙๓ (*)

(*) เรื่อง "ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิส" นี้ กุหลาบ เรียบเรียงจากคำบรรยายของเอมิล เบิร์น (Emile Burns) ได้ถูกนำมารวบรวมและตีพิมพ็เป็นเล่มโดย แนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน (๒๕๒๒ : ๑๐๓-๑๐๔) ได้อธิบายว่า บทความชุดนี้ มีทั้งหมด ๑๘ บท แต่คณะผู้จัดพิมพ์ "มิได้ปรึกษาผู้รู้หรือผู้เกี่ยวข้อง" จึงนำมาตีพิมพ์เพียง ๖ บทสุดท้ายเท่านั้น ทำให้ข้ามเนื้อหาที่น่าสนใจของบทความชุดนี้ไป เช่น ทฤษฎีการเมืองตอนลัทธิโซซลิสม์ หรือ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

นอกจากนี้ ในเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" กุหลาบก็ได้อธิบายความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทยก่อนการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ไว้ว่า

ในประเทศของฉัน สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ที่เป็นเสนาบดีหรือรัฐมนตรีมีเงินเดือนขนาดคนงานชั้นส่งนมส่งขนมปังรวมกันราว ๑๕๐ คนเห็นจะได้ และถ้าเทียบกับรายได้ของพวกชาวนาแล้ว เสนาบดีคนหนึ่งได้รับเงินเดือนเท่ากับรายได้ของชาวนาประมาณ ๔๐๐ หรือ ๕๐๐ คนรวมกัน (จนกว่าเราจะพบกับอีก : ๔๕)

จากนั้น ก็ได้เสนอทัศนคติในเชิงวิจารณ์ผู้ก่อการคณะราษฎรว่า ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เพียงแต่ไล่ผู้มีอำนาจชุดเก่าไป แล้วตัวเขาก็ขึ้นนั่งบัลลังก์แทน ในชั้นต้นก็ดูว่าเขาได้พยายามจะชำระล้างความโสโครกอยู่เหมือนกัน แต่ในไม่ช้าความโลภและความเห็นแก่ตัวก็ค่อยงอกงามขึ้นในจิตใจของเขา ในที่สุดเขาก็หลงติดอยู่ในวิมาน ดังนั้น แทนที่จะทำลายวิมานอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอยุติธรรม เขากลับเรียกหาความร่วมมือกับผู้ที่อยู่ในวิมานนั้นมาก่อน และรวบรวมกำลังกันเข้ารักษาวิมานนั้นไว้อย่างแข็งแรง (จนกว่าเราจะพบกับอีก : ๔๖)

ต่อมาใน เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๓ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา โดยมีการลงนามในสัญญามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกัน และยังแสดงเจตนาที่จะส่งทหารไทยไปช่วยสหรัฐฯ รบในสงครามเกาหลี ทั้งนี้เพราะโดยทัศนะของรัฐบาล ก็มีความเห็นในทางเดียวกับสหรัฐฯ ว่า สงครามเกาหลีเกิดขึ้นเพราะการรุกรานของคอมมิวนิสต์ โดยเกาหลีเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์รุกรานเกาหลีใต้ที่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น สหรัฐฯจึงต้องเข้าแทรกแซง เพื่อป้องกันการรุกราน ปรากฏว่าประเทศไทยก็เป็นประเทศแรกในเอเชียและเป็นประเทศที่สองต่อจากสหรัฐฯ ที่แถลงว่าจะส่งทหารจำนวน ๔,๐๐๐ คน ไปร่วมรบในสงครามเกาหลี และต่อมา ก็ได้ส่งข้าว ๔๐,๐๐๐ ตัน ให้แก่เกาหลีฝ่ายใต้

การดำเนินการเช่นนี้ ไม่ได้เป็นที่เห็นพ้องของปัญญาชนที่ก้าวหน้าในสมัยนั้น ที่เห็นว่า การรวมเกาหลีเป็นเรื่องภายใน การที่สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไป จึงเป็นสงครามรุกราน และเป็นการแผ่อำนาจแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น เพราะกิจการในเกาหลี ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ และไม่มีอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้องที่ไทยจะส่งทหารไปช่วยสหรัฐฯ ก่อการรุกราน ข้อเสนอสำคัญของกลุ่มปัญญาชนที่ก้าวหน้า ก็คือ การเรียกร้องให้ยุติสงคราม และแก้ปัญหาเกาหลีด้วยสันติวิธี

แต่กระนั้น รัฐบาลจอมพล ป. ก็ยังคงดำเนินโยบายส่งทหารไปรบในเกาหลีต่อไป ดังนั้น หนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ ที่มี เจริญ สืบแสง(ขุนเจริญวรเวชช์) ส.ส.ปัตตานี เป็นเจ้าของ และ เพทาย โชตินุชิต ส.ส.ธนบุรี เป็นบรรณาธิการ ก็ได้เป็นแนวหน้าสุดที่เปิดการรณรงค์เพื่อสันติภาพและคัดค้านสงคราม ซึ่งมีการระบุเป้าหมายก็คือการคัดค้าน "การส่งพี่น้องทหารไทย ไปตายเพื่ออเมริกาในดินแดนอันไกลโพ้น"

ต่อมา เจริญ สืบแสง ได้เป็นประธานจัดตั้ง "คณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย" ขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๔ กุหลาบได้เข้าร่วมในขบวนการนี้ด้วย และเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านสงคราม จึงได้รับเลือกให้เป็นรองประธานของคณะสันติภาพ. ในระหว่างนี้ คณะรัฐประหารได้ก่อการยึดอำนาจครั้งที่สองในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔ และได้มีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีลักษณะเผด็จการมากยิ่งขึ้น โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้นำ แต่ขบวนการสันติภาพก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อไป ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนมาร่วมกันลงชื่อคัดค้านสงคราม และเสนอให้มีการแก้ปัญหาระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ปรากฏว่าจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๕ นั้น มีประชาชนมาร่วมลงนามเรียกร้องสันติภาพและคัดค้านสงครามนับแสนคน ซึ่งการลงนามเรียกร้องสันติภาพนี้ กุหลาบได้นำมาเล่าไว้ในเรื่องสั้น "ประกายใหม่ในดวงตาของเขา" ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ปิยมิตร วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับเชิญจากแผนกปาฐกถา ของคณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ให้ไปกล่าวปาฐกถาเรื่อง "ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์" ในบทปาฐกถานี้ กุหลาบได้แสดงทัศนะที่เห็นใจสตรีอย่างชัดเจน และชี้ว่า ฐานะของสตรีในอดีตที่ผ่านมานั้น มิได้เท่าเทียมกับบุรุษ เขาได้ใช้ความรู้ในเชิงสังคมวิทยามาอธิบายว่า สถานะของสตรีนั้นเสื่อมลงจากเงื่อนไขของชีวิตครอบครัวและชีวิตสมรส เพราะแต่เดิมมาสังคมจะถือสตรีเป็นใหญ่ และนับการสืบสายแต่ทางฝ่ายหญิงเท่านั้น แต่เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่ยุคสังคมทาส ผู้ชายชนชั้นนำได้เข้าครอบครองโภคทรัพย์ของสังคม อำนาจของผู้ชายที่มีอยู่เหนือผู้หญิงก็ถูกสถาปนาขึ้น และดำเนินไปในลักษณะเช่นนั้น. กุหลาบ ได้ตั้งความหวังกับสังคมใหม่และได้ชี้ว่า "เมื่อลัทธิสังคมนิยมได้แผ่ไพศาลไปทั่วโลกแล้ว ความขวนขวายพยายามที่จะยกฐานะของสตรีให้ทัดเทียมกับบุรุษ ก็เป็นไปในทางทะมัดทะแมงมากขึ้น" จากนั้น ก็ลงท้ายโดยการเรียกร้องให้สตรี "ก้าวออกมาจากสถานะของช้างเท้าหลัง"ออกมายืนเคียงข้างบุรุษ (กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๔๙๕ : ๕๐-๕๓)

ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้นมา ได้เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงในภาคอีสาน เพราะฝนไม่ตกตามฤดูกาล ดังนั้นคณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย จึงได้มีการตั้ง"คณะกรรมการสงเคราะห์ประชาชนภาคอีสานผู้อดอยาก"ขึ้น โดยมี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการเผยแพร่ข่าวสาร และเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือ โดยใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อ ปรากฏว่ากรรมการสันติภาพได้รับสิ่งของมากมายรวมเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท และเป็นเสื้อผ้า ๒๑ กระสอบ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ กุหลาบสะท้อนเอาไว้ในเรื่องสั้นชื่อ "เขาตื่น" ลงในหนังสือพิมพ์ ปิยมิตร วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๓๔๙๕ โดยได้อธิบายที่มาของสิ่งเหล่านี้ว่า มีแต่คนยากจนเป็นส่วนใหญ่ที่ยินดีที่จะช่วยพี่น้องในภาคอีสาน กล่าวคือ เงินและสิ่งของที่มีราคามากมายเหล่านี้ ไม่ได้มาจากเศรษฐีและคนมั่งคั่ง หรือพวกคนใหญ่คนโตที่ไหน แต่มาจากคนธรรมดาสามัญที่เดินอยู่ตามถนน ที่ยืนโหนรถเมล์และรถราง ที่นั่งพุ้ยข้าวต้ม หรือกินข้าวราดแกง ที่อาศัยอยู่ตามบ้านเล็กเรือนน้อย เงินและสิ่งของเหล่านี้ส่วนมากมาจากกรรมกรหรือคนงานที่ยากจน มาจากเยาวชน ผู้หญิง เสมียน พนักงาน ลูกจ้าง มาจากคนธรรมดาสามัญทั้งไทยและจีน มาจากสิ่งที่บุรุษผู้นั้นสรุปเรียกว่า ประชาชน (ช่วย พูลเพิ่ม
๒๕๓๐ : ๒๐๔-๒๐๕)

เรื่อง "เขาตื่น" นี้ เล่าถึงชีวิตของคนถีบสามล้อ ชื่อ อ่ำ ที่เข้าร่วมในขบวนการสันติชน จึงได้เปลี่ยนใจไม่ยอมพาลูกไปดูงานรับมอบอาวุธใหม่ที่สหรัฐฯ จัดส่งมาให้รัฐบาลไทย และจะมีการจัดแสดงที่สนามหลวง โดยพาลูกไปดูสัตว์ที่เขาดินแทน อ่ำให้เหตุผลว่า "อย่าไปสนุกสนานกับอ้ายอาวุธห่าเหวเหล่านี้เลยวะ อย่าไปยินดีกับอ้ายเรื่องเตรียมรบราฆ่าฟันกับเขาเลยวะ แกกับข้ามาร่วมกับพวกสันติชน ช่วยเขากอบกู้สันติภาพ เพื่อความอยู่ร่วมเย็นเป็นสุขของประชาชนกันเถอะ"

ดังนั้น ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พร้อมด้วย อุทธรณ์ พลกุล, ฉัตร บุณยศิริชัย, และคนอื่นๆ ก็ได้เดินทางนำสิ่งของไปแจกของบรรเทาทุกข์ในภาคอีสาน ปรากฏว่าตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนไหวรัฐบาลได้โจมตีเสมอว่า การเคลื่อนไหวสันติภาพเป็นเรื่องของคอมมิวนิสต์ และเมื่อกรรมการสันติภาพเดินทางไปภาคอีสาน รัฐบาลตัดสินใจแล้วว่าจะทำการจับกุม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ เมื่อกุหลาบและคณะสันติชนกลับจากภาคอีสาน การกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่ก็ได้เริ่มขึ้น มีปัญญาชน นักศึกษา และชาวนาถูกจับในกรณีนี้นับร้อยคน กรณีนี้จึงถูกเรียกว่า "กบฏสันติภาพ" หรือ "กบฏแจกผ้า"

ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน นั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกจับหลังจากกลับจากภาคอีสาน และต่อมาก็ถูกสั่งฟ้องร่วมกับผู้ต้องหาอื่นๆ อีก ๕๒ คน ในที่สุด ศาลได้ตัดสินจำคุกกุหลาบและจำเลยคนอื่นๆ ๒๐ ปีในความผิดที่ก่อการสันติภาพ และแจกข้าวของคนยากคนจน แต่กระนั้น นักโทษทุกคนได้รับการนิรโทษกรรมในโอกาสงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ กุหลาบ ได้รับการนิรโทษกรรมให้ออกจากคุกในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา ในขณะที่รัฐบาลกำลังจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่ที่สนามหลวง

ในระหว่างที่อยู่ในคุกนี้เองที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้แต่งนวนิยายเรื่อง "แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย" ซึ่งได้เริ่มตีพิมพ์ในนิตยสารปิยมิตรวันอาทิตย์ ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๘ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสั้นเรื่อง ขอแรงหน่อยเถอะ(พ.ศ.๒๔๙๖) ความเรียงเรื่อง กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ(พ.ศ.๒๔๙๗) เรื่องพุทธศาสนาคือ อุดมธรรม(พ.ศ.๒๔๙๘) และบทกวี อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ(พ.ศ.๒๕๐๐) เป็นต้น

ในเรื่อง "แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย" ซึ่งมีบทเปิดเรื่องที่เขียนได้อย่างน่าประทับใจมาก (*)๑๙ กุหลาบได้สร้างฉากเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งยังเป็นระยะที่สังคมมีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน และได้อธิบายความเหลื่อมล้ำในสังคมเช่นนั้น โดยผ่านสายตาของเด็กชายจันทา โนนดินแดน ลูกชาวนาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งเมืองขุขันธ์ ที่ได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และกลายเป็น"กาที่ได้เข้ามาอยู่ในหมู่หงส์"เพราะได้มาอาศัย"ปราสาท" คือ บ้านของพระยาอภิบาลราชธานี อำมาตย์ผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย และได้เข้าเรียนในโรงเรียนเทเวศน์รังสฤษดิ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนของชนชั้นผู้ดี เพื่อเป็นบ่าวคอยรับใช้คุณวัชรินทร์ บุตรของท่านเจ้าคุณ ซึ่งเข้า
เรียนที่โรงเรียนนี้เช่นกัน

(*) นวนิยายที่เด่นในยุคแรก ผู้ประพันธ์มักจะเขียนอย่างมีวรรณศิลป์ และเป็นบทที่น่าประทับใจ นวนิยายของชาร์ล ดิกเกนส์ เรื่อง Great Expectation และ Oliver Twist ก็มีบทเปิดเรื่องที่น่าประทับใจเรื่อง Mother ของ แมกซิม กอร์กี ก็มีบทเปิดเรื่องอันยิ่งใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมแห่งชีวิตกรรมกร. เรื่อง กามนิต ที่แปลโดย เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป ก็มีบทเปิดเรื่องที่ดีเด่นมาก บรรยายถึงบรรยากาศยามเย็นอันงดงามนอกกรุงราชคฤห์. ศรีบูรพา จึงนำเอาจารีตเช่นนี้ มาเขียนบทเปิดเรื่องสำหรับ "แลไปข้างหน้า" ในบทเปิดเรื่องนี้เอง เป็นการชี้ถึงความหมายของการ "แลไปข้างหน้า" ของศรีบูรพา ที่น่าสังเกต คือ นวนิยายก่อนหน้านี้ของศรีบูรพา ไม่มีบทเปิดเรื่องเช่นนี้

กุหลาบได้อธิบายสถานะของความไม่เท่าเทียมกันนั้นว่า บ่าวทั้งหลายจึงมักจะคิดเห็นไปว่า สภาพความเป็นข้าเจ้าบ่าวนายนั้น เป็นสภาพที่ฟ้าดินได้กำหนดมาว่าจะต้องดำรงอยู่ตลอดไปและจะเลิกร้างเสียมิได้ ด้วยเหตุนี้ แทนที่พวกบ่าวจะคิดสลัดภาพข้าเจ้าบ่าวนายให้หลุดพ้นไป จากแผ่นดินที่เขาได้ถือกำเนิดมา เพราะว่ามันเป็นสภาพอัปลักษณ์ไม่คู่ควรแก่ความเป็นมนุษย์ บ่าวทั้งหลายจึงกลับไปทำความตะเกียกตะกายที่จะได้เป็นเจ้าขุนมูลนายกับเขาบ้าง (แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย : ๑๗๒)

นอกจากนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ยังได้เสนอทัศนะใหม่ในทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์มิได้สร้างโดยชนชั้นนำเท่านั้น แต่ประชาชนสามัญที่มิได้จารึกชื่อก็เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์เช่นกัน เขาได้ถ่ายทอดความคิดนี้ผ่านการชี้แจงของ นิทัศน์ สวัสดิรักษา เพื่อนของจันทา ที่ชี้แจงต่อ ม.ร.ว.รุจิเรข นักเรียนอีกคนหนึ่งว่า - ในที่นี้ ฉันอยากให้ รุจิเรข และเพื่อนนักเรียนของเราได้เข้าใจด้วยว่า บรรดาผู้ที่เสียชีวิตกู้บ้านกู้เมืองและรักษาเอกราชของชาติไว้ให้แก่เรานั้น ไม่ได้ถูกจารึกชื่อลงไว้ในพงศาวดารทุกคน... การที่พงศาวดารมิได้จารึกชื่อราษฎรสามัญชนจำนวนมากมายที่ได้สละชีวิตเลือดเนื้อต่อสู้เพื่อบ้านเมืองของเรามาเหมือนกันนั้น จะเป็นเหตุให้เราถือว่าเราไม่ได้เป็นหนี้บุญคุญท่านผู้กล้าหาญที่เป็นสามัญชนชาวบ้านเหล่านั้นด้วยหรือ? - (แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย : ๒๙๘-๒๙๙)

ต่อมาเมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่ง "แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย" ลงในนิตยสารปิยมิตรวันจันทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ก็มีบทเปิดเรื่องอันน่าประทับใจเช่นกัน แต่บทเปิดเรื่องของนวนิยายตอนนี้ได้เน้นการอธิบาย ประเมินค่า และสดุดีการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งอาจจะถือได้ว่า บทเปิดเรื่องเป็นงานประพันธ์ร้อยแก้วยอเกียรติการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ที่ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น การอธิบายบรรยากาศการปฏิวัติ ตอนหนึ่งว่า

ชุมนุมราษฏรยืนฟังคำประกาศด้วยอาการที่ออกจะงงงวย เพราะว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขามาได้ยินว่า อำนาจที่เคยได้รับความเคารพสักการะอย่างสูงสุดนั้น มาถึงวันนี้ได้แปรสภาพเป็นฝุ่นละอองไปเสียแล้ว ราษฏรบางกลุ่มฟังคำประกาศด้วยอาการอันสำรวม... บางกลุ่มก็เปล่งเสียงไชโยกันเกรียวกราว ในไม่ช้าคำประกาศของคณะราษฎรก็ได้กระจายไปทั่วพระนคร... ประชาราษฎรคนยากคนจน เมื่อได้อ่านประกาศของ"คณะราษฎร" ที่ได้เปิดโปงความไร้สมรรถภาพของรัฐบาลเจ้าขุนมูลนาย และได้ประณามความชั่วร้ายเหลวแหลกในวงราชการ ความเห็นแก่ตัวของชนชั้นสูงที่ปกครองประเทศ ความอยุติธรรม และการกดขี่นานาประการที่สุมอยู่บนหัวอกราษฎรแล้ว เขาก็เริ่มคำนึงถึงอำนาจใหม่ เสมือนหนึ่งเป็นความงาม ความสะอาดหมดจด และเป็นแสงสว่างที่จะส่องลงมาบนชีวิตอันมืดมนขะมุกมอมของเขา

และเมื่อเขาได้อ่านคำมั่นสัญญาของคณะราษฎร ที่ได้ประกาศออกมาอย่างหนักแน่นว่า จะทำนุบำรุงการเป็นอยู่ของพวกเขา ทั้งในเมืองและชนบทอย่างดีที่สุด จะไม่ปล่อยให้พวกเขาอดหยากไร้งาน ทั้งยังจะให้การศึกษาแก่พวกเขาอย่างเต็มที่ และจะฟังความคิดความเห็นในเรื่องการปกครองบ้านเมืองจากพวกเขาทั้งหลายด้วย ประชาชนคนยากผู้เป็นคนซื่อก็ยกมือขึ้นท่วมหัวเปล่งเสียงสาธุ แล้วเริ่มตั้งความหวังว่า นับแต่นี้พวกเขาเห็นจะเงยหน้าอ้าปากขึ้นได้บ้างละ (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ๒๐-๒๑)

จากนั้น กุหลาบก็ผูกเนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันแวดล้อมการปฏิวัติ เพราะ ครูอุทัยแห่งโรงเรียนเทเวศน์รังสฤษดิ์ ที่เคยเป็นผู้สอนของจันทา และ นิทัศน์ ก็ได้เข้าร่วมเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย กุหลาบได้อธิบายถึงเหตุผลและแนวทางของคณะปฏิวัติผ่านครูอุทัย อธิบายความหวังของราษฎรที่มีต่อระบอบใหม่ผ่านความเห็นของนิทัศน์ จันทา และ เซ้ง และชี้ให้เห็นว่า กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับการปฏิวัตินั้นคือพวกเจ้าขุนมูลนายที่สูญเสียอำนาจ มิใช่ราษฎรทั่วไป และยังอธิบายถึงความเป็นไปของระบอบใหม่ในระยะแรก ที่ผู้แทนทั้งหลายที่พวกชาวนาและคนงานทั้งหลายเลือกเป็นตัวแทนของเขา ไปประชุมพิจารณาวินิจฉัยราชการแผ่นดิน เพื่อประโยชน์แก่เขาทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในระบอบเก่า นอกจากนี้ ก็ได้สะท้อนถึงความเสื่อมสลายของระบอบเก่าผ่านการล่มสลายของ "ปราสาทร้าง" หรือบ้านของพระยาอภิบาลราชธานีที่เคยเป็นที่อาศัยของจันทานั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นวิถีของประวัติศาสตร์ ที่จะต้องเกิดขึ้น ไม่อาจจะเหนี่ยวรั้งได้ กุหลาบได้อธิบายลักษณะที่เป็นสัจจะของประวัติศาสตร์ยุคศักดินาว่า มันได้เห็นสมัยรุ่งเรืองของกษัตริย์ แห่งกรุงศรีอยุธยาราชธานี ได้เห็นความเสื่อม ความเหลวแหลกภายในราชสำนัก และในที่สุดได้เห็นความพินาศล่มจมของราชธานีนั้น มันได้เห็นการช่วงชิงอำนาจราชบัลลังก์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวล้วนๆ ในระหว่างราชวงศ์ และในบางครั้งบางคราว การช่วงชิงอำนาจราชบัลลังก์นั้น ก็กระทำโดยเจ้าขุนมูลนายนักรบที่เป็นข้าของกษัตริย์นั่นเอง กษัตริย์ราชวงศ์ พร้อมทั้งขุนนางและครอบครัวของฝ่ายแพ้ ได้ถูกกษัตริย์ราชวงศ์ของฝ่ายชนะล้างผลาญชีวิตอย่างเหี้ยมโหดทารุณ ดุจเดียวกับความประพฤติของยักษ์มารที่บุคคลเหล่านั้นสาปแช่ง และห่างไกลอย่างยิ่งจากคุณธรรมของพวกเทพที่บุคคลเหล่านี้สรรเสริญบูชา อาชญากรรมอันน่าสยดสยองที่เกิดขึ้นจากความโลภอำนาจราชบัลลังก์ และเป็นอาชญากรรมที่ประกอบขึ้นโดยบุคคลที่มีศักดิ์สูงเทียมเมฆ ได้มีอยู่ในประวัติศาสตร์ราชธานีเก่าไม่ขาดสาย

มันได้เห็นการผลัดแผ่นดิน การเปลี่ยนแปลงอำนาจที่ได้กระทำกันในพระบรมมหาราชวังของราชธานีเดิม มันได้เห็นการขึ้นสู่อำนาจวาสนาอันสูงสุดของคนชุดหนึ่ง และได้เห็นการตกต่ำจนถึงขั้นไปสู่ตะแลงแกงของคนอีกชุดหนึ่งในบรรดาผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ด้วยกัน แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก็ไม่มีความสัมพันธ์อันใดเลยกับชีวิตของประชาราษฎรในราชอาณาจักรสยาม ประชาราษฎรเคยมีชีวิตอันต่ำต้อยแร้นแค้นมาอย่างใด ชีวิตของเขาก็ดำเนินไปอย่างนั้น... (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ๑๔๑-๑๔๒)

ดังนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงไม่ได้อาลัยอาวรณ์ต่อการล่มสลายแห่งอำนาจของระบอบศักดินา เพราะอย่างน้อยระบอบใหม่ก็เปิดโอกาสแก่ประชาชน เช่น นิทัศน์ และ จันทา ในการที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เปิดใหม่ เป็นตลาดวิชา จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิต ส่วนเซ้งเพื่อของจันทา ได้เข้าไปทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่กระนั้นสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นลัทธิทหารนิยมมากขึ้น ซึ่งกุหลาบได้สะท้อนเหตุการณ์ที่ทหารกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าไปคุกคามสำนักงานหนังสือพิมพ์ประชามติที่เซ้งทำงานอยู่ ซึ่งเป็นผลจากการที่เซ้งเขียนบทความทักท้วงการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารว่า คณะราษฎรไม่ได้ประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อจะนำประเทศไปทำสงครามกับใคร คณะราษฎรไม่ได้ประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อจะเพิ่มงบประมาณทางทหารอย่างมากมายใหญ่โต แต่ได้ประกาศว่าจะบำรุงเศรษฐกิจ และการศึกษาของประเทศ จะช่วยให้ราษฎรทุกคนมีงานทำ จะช่วยให้ราษฎรอยู่ดีกินดี (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ๑๕๕)

กุหลาบได้อธิบายต่อไปถึงการที่เจตนาดีต่อประเทศชาติของคณะราษฎรได้อ่อนลง และการหวงแหนอำนาจได้เพิ่มมากขึ้น จึงนำมาซึ่งแนวโน้มของการเผด็จการ โดยการกวาดล้างจับกุมผู้ที่รัฐบาลถือว่าเป็นศัตรูของรัฐบาลรวมทั้งศิริลักษณ์ เพื่อนของนิทัศน์และจันทา ซึ่งกรณีที่กุหลาบสะท้อนในเรื่องนี้ คือการกวาดล้างใหญ่กบฏในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ที่มีผู้ถูกจับกุมนับร้อยคน และในที่สุด ผู้ต้องหากบฏเหล่านี้ถูกยื่นฟ้องต่อศาลพิเศษและถูกตัดสินประหารชีวิต ๑๘ คน โดยกุหลาบได้วิพากษ์การตัดสินคดีนี้ผ่านความเห็นของจันทาว่า

- หลักกฏหมายที่เราได้เรียนมา เกี่ยวกับวิธีความอาญาและลักษณะพยานถูกละเมิดหมด - และนิทัศน์ก็ตอบว่ามันเป็นคำพิพากษาของศาลเสียเมื่อไร มันเป็นคำพิพากษาของโจทก์ต่างหาก หรือจะให้ถูกยิ่งกว่านั้น ต้องกล่าวว่ามันเป็นคำพิพากษาของคู่ศัตรูที่พิพากศัตรูของเขา... เพราะฉะนั้นคำพิพากษาคดีนี้จึงมิใช่เป็นคำพิพากษาของศาลแต่เป็นคำพิพากษาของพวกนักเลงโต ที่ใช้กับคู่อริของเขา ฉันเห็นว่าประชาธิปไตยประเทศเรากำลังดำเนินสู่ความมืดมน และชื่อเสียงของคณะราษฎรกำลังตกอยู่ในอันตราย (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ๒๔๔-๒๔๕)

แม้ว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ จะไม่เห็นชอบต่อการแปรเปลี่ยนของคณะราษฎรดังกล่าว แต่ก็มิได้หมายความว่า จะกลับไปเห็นดีงามกับระบอบเก่า ดังที่เขาได้สะท้อนว่า "ถ้าพวกชนชั้นสูงเขาคิดว่า ราษฎรจะกลับเรียกร้องให้พวกเขาปกครองประเทศอีก ก็นับว่าพวกเขาได้ฝันไปอย่างน่าสงสาร เดี๋ยวนี้ราษฎรพอจะรู้กันอยู่แล้วว่า เมื่อพวกคนชั้นสูงปกครองประเทศนั้น เขาปกครองเพื่อระโยชน์ของใคร" (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย :๒๔๖)

ปรากฏว่า "แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย" นี้แต่งไม่จบ ในส่วนที่สองเพิ่งจะเริ่มไปได้เพียง ๓ ตอน ถึงตอนที่กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยแล้ว และมีใบปลิวของไทยอิสสระต่อต้านรัฐบาล ตำรวจจึงได้มาค้นบ้านของเซ้ง เพื่อทำการจับกุม ทั้งนี้เนื่องจาก กุหลาบได้รับเชิญให้เดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๐ และเมื่อกลับมาแล้ว เขาก็ไม่ได้เขียนต่อ จนถึงช่วงที่เดินทางไปจีน และลี้ภัยเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหารในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๑ เพราะไม่ต้องการที่จะกลับมาใช้ชีวิตในคุกเมืองไทยอีก เราจึงไม่อาจคาดเดาไว้ว่า กุหลาบได้เตรียมวางโครงเรื่องต่อไปอย่างไร รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน (๒๕๒๒ : ๔๑) สันนิษฐานว่า ถ้าหากศรีบูรพาเขียนต่อ เรื่อง แลไปข้างหน้า น่าจะปิดฉากด้วยการขึ้นศาลในคดีกบฏสันติภาพ ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๖

๔. บทสรุป อุดมการณ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์
จากที่กล่าวมา จะเห็นพัฒนาการความคิดของกุหลาบ สายประดิษฐ์ จากนักเขียนบทความและนวนิยายธรรมดา และแม้กระทั่งเป็นนักคิดที่มีระบบคิดแบบบุรุษนิยม เปลี่ยนมาสู่การเป็นนักคิดนักเขียนที่มีอุดมคติเพื่อสังคม มีความเห็นใจในคนยากคนจน กุหลาบจึงเริ่มรับอุดมคติแห่งความเสมอภาคและประชาธิปไตย และคัดค้านความอยุติธรรมแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยอุดมการณ์เช่นนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงเป็นปัญญาชนคนสำคัญที่สนับสนุนการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ และแม้ว่าในระยะต่อมา กุหลาบจะมีความเห็นว่า ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองบางส่วนทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตยตามที่สัญญาไว้ และหันไปสถาปนาเผด็จการ แต่เขาก็มิได้เสื่อมความศรัทธาไปจากอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติ

กุหลาบ สายประดิษฐ์ใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่นอกประเทศถึง ๑๖ ปี จนถึงแก่กรรมที่ประเทศจีนในวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๗ เมื่ออายุได้ ๖๙ ปี ในระหว่างนี้ กุหลาบ ก็ยังมีงานเขียนที่เป็นบทความ และบทกวี มากมายออกมาทางวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย และยังน่าจะเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเรียบเรียง และเป็นบรรณาธิการหนังสือปฏิวัติหลายเล่มที่แปลจากภาษาจีนออกเป็นภาษาไทย อย่างไรก็ตาม เป็นการยากมากที่จะรวบรวมหรือระบุงานเขียนของเขาในระยะนี้ เพราะแทบจะไม่มีหลักฐานหลงเหลืออยู่แล้ว เพียงแต่สามารถที่จะกล่าวได้ว่า แม้ว่าจะลี้ภัยในต่างประเทศ กุหลาบก็มิได้หยุดการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเสรีภาพของประชาชนไทย จนกระทั่งสุดท้ายในวาระชีวิตของเขา และนี่คือความมั่นคงในอุดมการณ์ของกุหลาบ สาย
ประดิษฐ์

บทกวีสำคัญที่กุหลาบ แต่งเพื่อสดุดีการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ยังเป็นที่จดจำกันอยู่ดังนี้

หยดฝนย้อยจากฟ้ามาสู่ดิน ประมวลสินธุ์เป็นมหาสาครใหญ่
แผ่เสียงซัดปฐพีอึ่งมีไป พลังไหลแรงรุดสุดต้านทาน
อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล ไม่อาจต้านแรงมหาประชาชน

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หนังสืออ้างอิง: กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕

กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๔๙๐. เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิ่งมิตร), ๒๕๔๕.
กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๔๙๕. "ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์" ประวัติศาสตร์สตรีไทย. (กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสือแสงดาว), ๒๕๑๙.

ช่วย พูลเพิ่ม (รวบรวม) ๒๕๓๐. ขอแรงหน่อยเถอะ. รวมเรื่องสั้นเพื่อชีวิตของนักประพันธ์ นักมนุษยชาติ ศรีบูรพา (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า).

ตรีศิลป์ บุญขจร ๒๕๒๕. นวนิยายกับสังคมไทย. (กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.

ทวีป วรดิลก ๒๕๔๕. "บทแนะนำเชิงวิจารณ์" เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิ่งมิตร).

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ๒๕๓๕. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ : ฝ่ายสิ่งพิมพ์โครงการ ๖๐ ปีประชาธิปไตย).

นฤมิตร สอดสุข ๒๕๔๘. "เหลียวหลังแล" แลไปข้างหน้า" : แผนที่นำทาง(Road Map)ประเทศไทยในวิสัยทัศน์ของศรีบูรพา" เอกสารอัดสำเนา.

นุศรา อะมะรัสเสถียร ๒๕๓๒. กุหลาบ สายประดิษฐ์ : จากวรรณกรรมสู่หนังสือพิมพ์. สารนิพนธ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ธงชัย พึ่งกันไทย ๒๕๒๑. "ลัทธิคอมมิวนิสต์และนโยบายต่อต้านของรัฐบาลไทย พ.ศ.๒๔๖๙-๒๕๐๐"วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไพศาล มาลาพันธ์ (นามแฝง) ๒๕๒๘. "ศรีบูรพา อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ" นักเขียนเก่าไม่มีวันตาย. หนังสืออนุสรณ์ ๙๖ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ - ๗๒ ปีสุภาพบุรุษ, ๒๕๔๔.

รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน ๒๕๒๒. ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรมไทย. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว), ๒๕๓๒.

วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์ ๒๕๓๙. กบฏสันติภาพ. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คบไฟ).

ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๔๘๐. ข้างหลังภาพ. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศิลปบรรณาคาร), ๒๕๒๔.
ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๔๙๓. จนกว่าเราจะพบกันอีก. (กรุu3591 .เทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า), ๒๕๓๖.
ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๔๙๘. แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา), ๒๕๑๘.
ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๕๑๘. แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย. (กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสืออุดมธรรม).
ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๕๓๒. ป่าในชีวิต. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า).

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ๒๕๔๘. "สุภาพบุรุษ...มนุษยภาพ "ศรีบูรพา" กุหลาบ สายประดิษฐ์" คืออิสสรชน คือคนดี คือ ศรีบูรพา. พิมพ์ในงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาลกุหลาบสายประดิษฐ์ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ๒๕๓๔. แผนชิงชาติไทย. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์).

สุวดี เจริญพงศ์ ๒๕๑๙. "ปฏิกิริยาของรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อการเคลื่อนไหวตามแนวคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕" วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ฮิวเมอริสต์ (นามแฝง) ๒๕๓๑. "สุภาพบุรุษ" นักเขียนเก่าไม่มีวันตาย. หนังสืออนุสรณ์ ๙๖ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์- ๗๒ ปีสุภาพบุรุษ, ๒๕๔๔.

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติผู้วิจัย: ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ปริญญาตรี ชื่อปริญญา ศิลปศาสตรบัณฑิต,ปริญญา
สาขาวิชาเอก ประวัติศาสตร์ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
สำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2524

ปริญญาโท ชื่อปริญญา อักษรศาสตรมหาบัณฑิต,ปริญญา
สาขาวิชาเอก ประวัติศาสตร์ สถาบันการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2532
วิทยานิพนธ์ กระบวนการทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ครั้งที่ 2 (2490-2500)

ปริญญาเอก ชื่อปริญญา DOCTOR OF PHILOSOPHY
สาขาวิชาเอก Portuguese History
สถาบันการศึกษา UNIVERSITY OF BRISTOL ประเทศ สหราชอาณาจักร
สำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2541
วิทยานิพนธ์ The Portuguese Lancados in Asia

คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๑

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
13 Febuary 2008
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
เราได้รับการอบรมให้มีความเชื่อมั่นและเคารพบูชาในชาติกำเหนิดของบุคคล พอเรามีเดียงสาที่จะเข้าใจความหมายของคำพูดได้ ปู่ย่าตายายก็อบรมสั่งสอนให้เราบูชาชาติกำเหนิดของบุคคล ท่านให้บูชาทุกคนที่กำเนิดมาในสกุลของราชวงศ์จักรี ท่านให้เราเรียกผู้เป็นประมุขของชาติไทยว่า เจ้าชีวิต เราถามว่าทำไมต้องเรียกเจ้าชีวิต ท่านตอบว่าเจ้าชีวิตสามารถที่จะสั่งตัดหัวใครๆ ได้ ตั้งแต่นั้นมาเราก็กลัวเจ้าชีวิต เรากลัวทุกๆ คนที่เป็นพี่น้องของเจ้าชีวิต เรากลัวโดยไม่มีเหตุผล เรากลัวเพราะถูกอบรมมาให้กลัว เราเรียกทุกๆ คนในครอบครัวอันใหญ่ที่สุดนี้ว่า เจ้านาย
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
home