โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๗๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑ (January, 29, 01, 2008) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

29-01-2551

Problem of Knowledge
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

จากประวัตศาสตร์ โบราณคดีของความรู้ ถึงเสรีภาพและการละเมิด
ธเนศ วงศ์ยานนาวา: ความรู้ต้อง(ไม่)ห้าม: จักรญาณนิยม

ธเนศ วงศ์ยานนาวา: เขียน
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : บรรณาธิการและเพิ่มเติมหัวข้อ
(คลิกเพื่อ download ต้นฉบับโดยผู้เขียนในรูป PDF)

บทความวิชาการต่อไปนี้ เป็นเอกสารประกอบคำบรรยาย โครงการจัดประชุม
วิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ ครั้งที่ ๒ ที่โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว
เชียงใหม่ วันที่ ๙-๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เขียนโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา
นำมาจากเว็บไซต์ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
http://www.human.cmu.ac.th/%7Ethai/html2/conference.htm

เนื้อหาคำบรรยาย เป็นการอภิปรายถึงการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ และอุปสรรค
ที่มนุษย์ต้องเผชิญ เริ่มต้นด้วยการพยายามตอบคำถามว่า ทำไมมนุษย์ต้องแสวงหา
ความรู้หลังจากอดัมตกสวรรค์, ข้อห้ามทางศาสนาเกี่ยวกับการหาความรู้ที่เป็นอื่น
นอกจากศาสนา, ธรรมชาติของมนุษย์นับจากอดัมที่เป็นนักฝ่าฝืน การฝ่าฝืนจึงไม่ได้
้วางอยู่บนเงื่อนไขของเวลา สถานที่ และประวัติศาสตร์ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับความรู้
ต้อง(ไม่)ห้าม ได้อยู่ในความสนใจของผู้รู้ และโต้เถียงกันมาโดยตลอด คำตอบที่
ควรจะเป็นเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้คืออะไร? คำไขข้อข้องใจความยอกย้อน
เป็นเรื่องที่นักศึกษา สมาชิก และผู้อ่านควรเริ่มต้นทำความเข้าใจด้วยตัวเอง
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๗๓
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๓ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จากประวัตศาสตร์ โบราณคดีของความรู้ ถึงเสรีภาพและการละเมิด
ธเนศ วงศ์ยานนาวา: ความรู้ต้อง(ไม่)ห้าม: จักรญาณนิยม

ธเนศ วงศ์ยานนาวา: เขียน
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : บรรณาธิการและเพิ่มเติมหัวข้อ
(คลิกเพื่อ download ต้นฉบับโดยผู้เขียนในรูป PDF)

http://www.human.cmu.ac.th/%7Ethai/html2/conference.htm
ธเนศ วงศ์ยานนาวา: ความรู้ต้อง (ไม่) ห้าม: จักรญาณนิยม
ธเนศ วงศ์ยานนาวา, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เอกสารประกอบคำบรรยาย โครงการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ
เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ ครั้งที่ ๒ : วันที่ ๙-๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

เมื่ออดัมตกสวรรค์
ในคริสตศาสนาหลังจากมนุษย์คนแรกของโลกอย่างอดัมตกสวรรค์ เพราะไม่เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า แอบไปกินผลไม้ต้องห้าม (forbidden fruit) เข้าไป จึงทำให้ความสมบูรณ์ของอดัม (หรือมนุษย์) เหือดหายไป. Martin Luther ได้ให้การไว้ดังราวกับเขาเป็นคนร่วมยุคสมัยกับอดัมและอีฟว่า ก่อนที่จะตกสวรรค์ อดัมสามารถที่จะมองเห็นวัตถุได้ในระยะไกลเป็นร้อยๆ ไมล์ แต่พอตกสวรรค์แล้วอดัมมองวัตถุเห็นได้ในระยะไม่ถึงครึ่งไมล์ ความคิดแบบนี้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางเพราะฉะนั้นด้วยความสามารถแบบมหัศจรรย์นี้ ก็ทำให้อดัมสามารถจะเห็นถึงบรรดา"ปฐมเหตุ"ทั้งหลาย(1) อดัมจึงไม่ต้องการศาสดาองค์ใดมาช่วยชี้ทางสว่างให้ เพราะไม่มี"ความมืด"ใดๆ ที่จะปกคลุมไม่ให้อดัมเห็นได้
(1) Peter Harrison, "Original Sin and the Problem of Knowledge in Early Modern Europe", Journal of the History of Ideas, Vol. 63, No. 2 (April, 2002), p. 242

นี่เป็นความสามารถพิเศษของอดัมก่อนจะตกสวรรค์ ครั้นเมื่ออดัมตกสวรรค์ก็ทำให้ความสามารถมหัศจรรย์ต่างๆ เหล่านี้หมดไป ไม่เพียงแต่เท่านั้น อะไรพิเศษๆ ที่มนุษย์อยากจะมีก็หมดไป ด้วยการตกสวรรค์ของอดัม จึงทำให้ลูกหลานของอดัมไม่สามารถที่จะดำรงตนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสรรพสิ่งในโลกของพระเจ้าได้ มนุษย์ก็มีลักษณะที่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ เป็นส่วยย่อยๆ มากกว่าที่จะผนึกรวมกัน นอกจากนั้นมนุษย์ยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงความจริงแท้ได้อีกด้วย เพราะไม่ได้รวมกับพระเจ้าแบบเดิมอีกต่อไป

การแสวงหาศาสตร์ที่สมบูรณ์ของปวงปราชญ์
ด้วยข้อจำกัดที่เป็นเงื่อนไขดังกล่าว จึงทำให้การแสวงหาศาสตร์ที่สมบูรณ์เป็นสิ่งที่ปราชญ์จำนวนมากใคร่อยากที่จะมี ลักษณะที่อ่อนด้อยของมนุษย์ที่มีบาปติดตัวมาตั้งแต่เริ่มการมีมนุษย์ แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจที่ผิดพลาดหรือสิ่งบกพร่องทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือมนุษย์เอง มนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความผิดอยู่ตลอดเวลา ความคิดแบบนี้มิได้มีความหมายแค่พระคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น เพราะแนวความคิดมนุษยนิยมสมัยยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance Humanism) ไล่ไปจนถึงยุคปฏิรูปศาสนา (Reformation) ต่างก็เชื่อว่านี่เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ความคิดแบบนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในความคิดทางศาสนา แต่ยังเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางในงานเขียนแนวจริยธรรมและแนวจิตวิทยา

ถ้าคิดตามกรอบคริสตศาสนาแล้ว จุดเริ่มต้นมนุษย์กับพระเจ้าจึงมีแต่ข้อห้าม แต่ถึงจะมีข้อห้ามก็ไม่มีใครฟังอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์คนแรกก็ไม่ได้เชื่อฟังข้อห้าม ความเป็นมนุษย์จึงแสดงสภาวะของความเป็นกบฎ มนุษย์ไม่ได้ว่านอนสอนง่าย สภาวะของการเป็นมนุษย์จึงมีแต่การละเมิด แต่การละเมิดกลับทำให้มนุษย์ขาดความสมบูรณ์ ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสมบูรณ์จะมีได้ก็ต่อเมื่อไม่มีการละเมิดข้อห้าม ข้อห้ามจึงทำให้มนุษย์มีความสมบูรณ์ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จึงต้องรู้จักข้อจำกัดหรือข้อห้าม การไม่มีข้อห้ามต่างหากที่กลับทำให้มนุษย์ไม่สมบูรณ์

สภาวะสมัยใหม่กับเสรีภาพ
สำหรับในสภาวะสมัยใหม่การมีข้อห้ามแสดงให้เห็นถึงการจำกัดเสรีภาพ การกระทำดังกล่าวดูจะเป็นการไม่เหมาะสม นอกจากนั้นภายใต้การแสวงหาความรู้ที่ไม่มีข้อจำกัดอย่างวิทยาศาสตร์ กลับทำให้การมีข้อห้ามเป็นการขัดขวางความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สิ่งต้องห้ามจึงเป็นถ่วงความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ แต่เส้นทางของเสรีภาพในการแสวงหาความรู้หรือใคร่อยากรู้ย่อมสร้างปัญหา. หนทางอย่างหนึ่งที่จะทำให้การมีข้อจำกัดของการแสวงหาความรู้เป็นไปได้ก็คือ เส้นทางของการรู้จักพอหรือรู้จักข้อจำกัด มากกว่าที่จะเจริญเติบโตแบบไม่มีข้อจำกัด การรู้จักพอเพียงเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการควบคุมมนุษย์ในสภาวะสมัยใหม่ให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของสังคม

"จักรญาณ" ที่หมุนไป
การแสวงหาความรู้ของมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นสิ่งที่ถูกจำกัดด้วยกรอบความคิดของคริสตศาสนาและกรีกโบราณ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์มีความรู้ไม่ได้ เพียงแต่ว่าความรู้ต่างๆ เหล่านี้ดำรงอยู่ในกรอบความคิดของคริสตศาสนาเป็นอย่างน้อย ศาสนาจะเป็นตัวกำหนดว่าอะไรเป็นสิ่งที่รู้ได้หรือรู้ไม่ได้ คริสตศาสนาโดยพระเจ้าและในนามของพระเจ้าเท่านั้นที่จะเปิดเผยให้ทราบ และก็ไม่มีอะไรอื่นนอกเหนือไปจากนี้

ปราชญ์อย่าง Tertullian แสดงความยิ่งใหญ่ขององค์พระศาสดาด้วยความคิดที่ว่า "หลังจากพระเยซูแล้ว เราไม่มีความต้องการความใคร่อยากรู้" (2) ดังนั้นเมื่อองค์พระศาสดาแล้วก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องแสวงหาความรู้อีกต่อไป ทุกสิ่งทุกอย่างคริสตศาสนาได้ให้คำตอบไว้หมด ดังนั้นพระเยซูหรือพระเจ้าได้ให้คำตอบไว้นับเป็นพันๆ ปีมาแล้ว เมื่อองค์พระศาสดาได้ ให้คำตอบไว้หมดสิ้นแล้วใยจะต้องไปดิ้นรนขวนขวายหาจากที่อื่นๆ อีก
(2) Roger Shattuck, Forbidden Knowledge: From Prometheus to Pornography, (New York: Harcourt Brace & Company, 1996), p. 307

คำอธิบายแบบนี้จึงทำให้เกิดสภาวะของ "เราหยุดแล้ว ท่านสิยังไม่หยุด" การหยุดหรือการห้ามจึงนำมาซึ่งความรู้ที่สมบูรณ์ คำตอบในลักษณะที่มี "คำตอบหรือมีคำอธิบายสำเร็จรูป" เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับศาสนา ศูนย์รวมของคำตอบทุกสิ่งทุกอย่างจึงอยู่ที่ศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางโลกหรือทางธรรม ศาสนาจึงเปรียบได้กับองค์รวม ศาสนาจึงเป็น "อภิมหาศูนย์รวมแห่งความรู้" ที่ไม่มีอะไรจะมาต้านทานได้ไม่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ตาม อะไรที่ยิ่งใหญ่อื่นๆ ก็จะต้องเป็นรอง

ศาสนากับวิทยาศาสตร์
สำหรับศาสนาในสภาวะสมัยใหม่ที่ต้องเผชิญหน้ากับวิทยาศาสตร์ อันเป็นกรอบคิดสำคัญที่ให้คำตอบแก่มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของจิตหรือการดำรงชีวิต ทำให้ศาสนาต้องแสดงตัวว่าสูงส่งกว่าวิทยาศาสตร์ เพราะ"เป็นการโผล่ปรากฏของกระบวนทัศน์ใหม่ก่อนกาลเวลา เพื่อมาเตรียมการการเปลี่ยนผ่านวิวิวัฒนาการของมนุษย์ครั้งสำคัญ"(3) เป็นต้น หรือไม่อย่างน้อยที่สุดวิทยาศาสตร์เองก็ไม่สามารถที่จะให้คำอธิบายความหมายของชีวิตก่อนการเกิดและชีวิตหลังความตายได้
(3) วิศษฐ์ วังวิญญู, มณฑลแห่งพลัง ญาณทัศนะแห่งการเข้าถึงตัวตนที่แท้, (กรุงเทพ: บริษัทสวนเงินมีมา จำกัด,2548), หน้า 78

ความคิดที่ยกศาสนาเป็นสิ่งสูงส่งเป็นกรอบความคิดที่แสดงถึงสภาวะของการขยายตัว ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างถูกดูดรวมมาไว้ในที่เดียวกัน ด้วยพลังการดูดรวมในลักษณะรวมศูนย์แบบนี้ จึงไม่ได้แสดงความคิดแบบที่หยุดอยู่กับที่ ในทางกลับกันความคิดแบบนี้มีลักษณะ "ขยายตัว ขยายอาณาเขต" ประหนึ่งราวกับ "จักร" หมุนไปสู่ดินแดนต่างๆ แล้วหมุนกลับเข้ามาสู่ศูนย์รวม การหมุนที่กำหนดขอบเขตและการครอบครองดินแดน เพียงแต่ว่าความหมายของการครอบครองในที่นี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในระดับของพื้นดินแดน แต่ยังรวมไปถึงฝากฟ้าและจักรวาลแห่งความเป็นอนันต์ (infinity) อีกด้วย

กลไกของความรู้ในทางศาสนาจึงแสดงการหมุนขยายตัวของความรู้หรือความเป็น "จักรญาณนิยม" ในฐานะที่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่น การขยายฐานไปแข่งขันกับวิทยาศาสตร์ด้วยการอ้างอิงศาสนากับความเป็นวิทยาศาสตร์ โดยทั้งคู่ต่างวางอยู่บนรากฐานความรู้แบบที่ไม่มีเงื่อนไขของกาลเวลาและสถานที่ มากกว่าที่จะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขของประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นอาณานิคมหรือจะเป็นรัฐประชาชาติ ตลอดจนการเดินทางข้ามท้องถิ่น (translocal) หรือการเชื่อมต่อของท้องถิ่นกับระดับอื่นๆ (4) อันเป็นการแสดงลักษณะเฉพาะ ลักษณะที่มีความเป็นท้องถิ่น
(4) Anne Hansen, "The Image of Orphan: Cambodian Narrative Sites for Buddhist Ethical Reflection", Journal of Asian Studies, Vol. 62, No. 3 (August, 2003), pp. 813-817

กลไกของ "จักรญาณนิยม" ในทางศาสนา เป็นสิ่งที่ปรากฏออกมาในรูปของสภาวะที่ดูประหนึ่งว่าหยุดนิ่ง ไม่ไขว่คว้า และรู้จักพอเพียง โดยสิ่งที่หยุดนิ่งแบบนี้กลับเป็นสิ่งที่เคลื่อนที่โดยไม่เคลื่อนที่ (unmoved mover) ศาสนาในตัวเองจึงต้องเผยแพร่หรือขยายออกไปตามที่ต่างๆ มากกว่าที่จะเก็บไว้คนเดียว เพราะการจะเป็นศาสดาได้ก็ต้องเผยแพร่ ไม่ใช่เก็บงำเอาไว้คนเดียว. ความเป็นศาสดาจึงมาพร้อมกับการขยายความรู้หรือเป็น "จักรญาณ" ในแง่นี้ตรรกะของความเป็นศาสนาจึงต้องขยายตัว

ด้วยศักยภาพของการขยายตัว อันเป็นคุณลักษณะที่สำคัญทั้งในทางปัญญาที่ต้องการครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง รวมไปถึงการครอบคลุมทางกายภาพโดยผ่านการเผยแพร่ศาสนาไปยังดินแดนอื่นๆ จึงทำให้ตัวศาสนาเองมีลักษณะของการขยายตัวไม่น้อยไปกว่าการมีความรู้แบบในทางโลก แบบที่เกิดขึ้นในปรัชญาหรือความรู้แบบอื่นๆ ในสภาวะสมัยใหม่ (modernity) เช่น การขยายตัวของความรู้ในรูปแบบของสังคมความรู้ (knowledge based society) เป็นต้น ความรู้ทางศาสนาและความรู้ทางโลกจึงอยู่ใน "วงศาแห่งจักร" ประหนึ่งปลาสองตัวที่อยู่ในน้ำบ่อเดียวกัน ที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการขยายพื้นที่มากกว่าที่จะจำกัดตัวเองแบบพอเพียง โดยความรู้ในทางโลก กลับยืนยันความสมเหตุสมผลของการขยายตัวด้วยความใคร่อยากรู้ (curiosity) ของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญ ความใคร่อยากรู้จึงเป็นพลังขับเคลื่อน "จักรญาณนิยม"

ความอยากรู้ทางโลก ปลดปล่อยข้อจำกัดแบบอดัม
ความใคร่อยากรู้ในทางโลกเป็นตัวจักรสำคัญในการที่จะทำให้ข้อจำกัดมนุษย์แบบอดัมของคริสตศาสนาหมดไป เป้าหมายของความใคร่อยากรู้อยู่ที่การปลดแอกหรือเสรีภาพ ความคิดแบบนี้ก็จะพบได้จาก Giardano Bruno ในศตวรรษที่สิบหก (5) เพราะความรู้แบบคริสต์ศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ไม่พอเพียง ความรู้ในกรอบของศาสนาไม่ทำให้มนุษย์ที่ขาดความสมบูรณ์มีความสมบูรณ์ขึ้น เสรีภาพและการปลดปล่อยจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการแสวงหาความรู้
(5) Hans Blumenberg, The Legitimacy of Modern Age, translated by Robert M. Wallace (Cambridge: MIT Press, 1983), p. 383

เช่น ในศตวรรษที่สิบเจ็ดตอนปลาย ประเทศสเปนได้ทำให้เสรีภาพที่จะใช้และวิเคราะห์แบบปรัชญา Libertad filosofica (liberty to philosophize) เป็นตัวจักรสำคัญในการบดขยี้ความคิดเก่าๆ ที่เน้นแต่ข้อจำกัด (6) เพราะความรู้ทางศาสนานั้นก็เป็นสิ่งที่พอเพียงอยู่แล้ว. เป้าหมายของการแสวงหาความรู้ถือเป็นการยกระดับมนุษย์ ตราบใดก็ตามที่ความรู้นั้นมุ่งไปสู่ "องค์รวม" ของโลก (7) และจักรวาล แต่นั่นก็เป็นเรื่องของความใคร่อยากที่จะรู้สร้างความสมบูรณ์จากเงื่อนไขของความไม่สมบูรณ์ ความทะเยอทะยานจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของความใคร่อยากรู้
(6) Jonathan Israel, Radical Enlightenment: Philosophy and the Making of Modernity 1650-1750, (Oxford: Oxford University Press, 2001), p. 11

(7) Hans Blumenberg, The Legitimacy of Modern Age, p. 257

ปัญหาของการที่ "อดัมไม่สามารถจะมีศาสตร์ที่สมบูรณ์ได้" ทำให้นักคิด นักปรัชญาจำนวนมากต้องการจะมีวิธีการที่แก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว การหันไปสู่วิธีการแบบคาร์ทีเซี่ยน (Cartesian) (*) ของ Nicolas Malebranche ก็เป็นตัวอย่างที่ดี (8) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกรอบความคิดแบบคาร์ทีเซี่ยนทำให้สถานะของเทววิทยาที่เคยเป็นสิ่งที่สูงส่ง กลับเริ่มเสื่อมสลายลงในปลายศตวรรษที่สิบเจ็ด การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ปรัชญาในฐานะที่เคยเป็นเพียงแค่ "สาวใช้" ของเทววิทยา (theology) กลายเป็น "นายใหม่" ขึ้นมา
(*) Cartesian means of or relating to the French philosopher and mathematician Ren? Descartes. (March 31, 1596 - February 11, 1650), also known as Renatus Cartesius (latinized form), was a highly influential French philosopher, mathematician, scientist, and writer. He has been dubbed the "Father of Modern Philosophy" and the "Father of Modern Mathematics", and much of subsequent Western philosophy is a reaction to his writings, which continue to be studied closely, even to the present day. His most famous statement is: Cogito ergo sum (French: Je pense, donc je suis; English: I think, therefore I am),

(8) Peter Harrison, "Original Sin and the Problem of Knowledge in Early Modern Europe", p. 239

ปรัชญาไม่ใช่ความรู้ชั้นสูงในกรอบเทววิทยา
สำหรับในกรอบของเทววิทยา (theology) สถานะของปรัชญาจึงไม่ใช่ชั้นที่สูงสุดของความรู้. ปรัชญาไม่ได้ดำรงอยู่ในฐานะที่เป็น "เอก" หรือเป็นที่หนึ่ง แต่กลับเป็นที่สองหรือที่สาม หรืออาจจะไม่ได้ติดอันดับอะไรเลย เพราะอย่างน้อยๆ ที่สุดในปลายศตวรรษที่สิบแปด วิชาที่อยู่ในชั้นแรกก็คือ เทววิทยา, อันดับสองก็คือ กฎหมาย, และอันดับสามก็คือ แพทย์ (9)
(9) Immanuel Kant, The Conflict of Faculties, translated by Mary J. Gregor, (Lincoln: University of Nebraska Press, 1979, p. 33

นับตั้งแต่คริสเตียนเรืองอำนาจ สถานะของปรัชญาในกรอบของคริสต์ศาสนาเองก็ไม่ได้มีความยิ่งใหญ่มากมายตลอดระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าปรัชญาจะมีการอ้างอิงว่าเคยยิ่งใหญ่ในยุคโบราณ (antiquity) ก็ตาม เพราะถ้าคิดว่าพวก Sophists ไม่ใช่นักปรัชญาแล้ว ก็อาจจะกล่าวได้ว่าในยุคโบราณปรัชญาก็ไม่ใช่วิชาที่ยิ่งใหญ่ แต่ถึงกระนั้นก็ดี นั่นก็เป็นเพียงยุคโบราณ ด้วยความคิดแบบคาร์ทีเซี่ยนก็ทำให้ปรัชญาผงาดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ปรัชญาสามารถสถาปนาความเป็นเอกเทศ ปรัชญาจึงได้รับการปลดแอก (10)
(10) Jonathan Israel, Radical Enlightenment: Philosophy and the Making of Modernity 1650-1750, pp.10-11

ความเป็นเอกเทศของความรู้อย่างปรัชญาไม่ได้เกิดด้วยสภาวะแห่งความพอเพียง ในทำนองเดียวกับศาสนาที่ต้องการขยายตัวด้วยความไม่พอเพียง ปรัชญาเองก็ไม่ได้จำกัดตัวเองแต่ในพื้นที่ของตัว ในทางตรงกันข้ามปรัชญาและเฉกเช่นเดียวกันกับสาชาวิชาอื่นๆ ที่ต้องขยาย "จักรญาณ" ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ภายใต้นามเสรีภาพเพื่อความสมบูรณ์แห่งปัญญา "ไฟแห่งปัญญาความรู้" ทั้งหลายที่ให้แสงสว่างกับมนุษย์ กลับนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างความรู้แบบต่างๆ อย่างน้อยที่สุดในยุคแรกๆ ก็คือความขัดแย้งระหว่างเทววิทยาและปรัชญา (11) ความใคร่อยากรู้ในฐานะเป็นพลังของ "จักรญาณนิยม" ที่ต้องขยายอาณาเขตก่อให้เกิดความขัดแย้งกันในการแย่งชิงพื้นที่ การต่อสู้แย่งชิงพื้นที่กลายเป็นส่วนสำคัญของการสถาปนาขอบเขตของวิชา
(11) Immanuel Kant, The Conflict of Faculties, translated by Mary J. Gregor, (Lincoln: University of Nebraska Press, 1979)

เสรีภาพที่จะใช้ปรัชญาเพื่อตั้งคำถามและคำตอบ จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการขยายพื้นที่ความใคร่อยากรู้ที่ปราศจากข้อห้ามเป็นเงื่อนไขสำคัญของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ความสมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้โดยไม่มีข้อห้าม เพราะข้อห้ามไม่ทำให้เกิดความสมบูรณ์. คำบรรยายแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับข้อเสนอทางศาสนาที่ถือว่า ข้อห้ามแสดงความสมบูรณ์ของมนุษย์. การแสวงหาความรู้กระทำได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องหวาดวิตกถึงข้อห้ามต่างๆ แบบที่เกิดขึ้นในคริสตศาสนา การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ "จักรญาณนิยม" หรือพลังของความรู้สามารถที่จะขยายตัวไปตามที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เป้าหมายการแสวงหาความรู้ทางโลก
เป้าหมายหลักของการแสวงหาความรู้ทางโลก จึงเป็นไปเพื่อแก้ไขสภาวะเลวร้าย เพราะความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์หรือสภาวะตกสวรรค์ของมนุษย์ สภาวะตกสวรรค์ทำให้มนุษย์ต้องร่วมเพศ ทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์ไม่มีความเป็นอมตะอีกต่อไป จึงทำให้มนุษย์ต้องร่วมเพศเพื่อสืบทอดความเป็นมนุษย์ให้ดำรงเผ่าพันธุ์ แต่การร่วมเพศเป็นสภาวะที่เชื่อมโยงกับปิศาจและ"ผลไม้ต้องห้าม" ทั้งสองส่วนกลับเป็นตัวทำลายความสามารถในการเข้าถึงความสมบูรณ์ของมนุษย์ สภาวะของมนุษย์ตกสวรรค์เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์มีความใครอยากรู้อยากเห็น ภายใต้กรอบของคริสตศาสนา ความใคร่อยากรู้จึงเป็นสิ่งที่ทำลายล้าง ความอยากหรือแรงปรารถนา (desire) ไม่ว่าจะเป็นความรู้หรือเรื่องเพศที่ต่างบ่งบอกถึงความหายนะ

"ไฟ" เส้นทางสร้างสรรค์และหายนะ
ในกรอบความคิดโบราณและศาสนา ความใคร่อยากรู้เพื่อที่จะมีความรู้เป็นสิ่งที่อันตราย. ความใคร่ในความรู้เป็นสิ่งต้องห้าม ความรู้ที่ให้ความกระจ่างดังราวกับแสงสว่างหรือ "ไฟ" ในฐานะสิ่งที่นำมาซึ่งอันตรายหรือสิ่งชั่วร้ายยังพบได้ในความคิดของกรีกโบราณ ก่อนที่คริสตศาสนาจะจัดให้ความใคร่อยากรู้เป็นสิ่งชั่วร้าย การขโมยไฟจากเทพเจ้าซูส (Zeus) ของโพรเมธิอุส(Prometheus) เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะแม้ว่านี่จะเป็นไฟที่ให้ความสว่างและความอบอุ่นแก่มนุษย์ เทพเจ้าซูสก็ส่งผู้หญิงอย่างแพนดอร่า (Pandora) มาให้เพื่อเป็นการแก้แค้น ผู้หญิงคนนี้เป็นผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่างตามชื่อของเธอ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอให้จึงรวมไปถึงความชั่วร้าย ความเจ็บปวด. ไฟที่ขโมยจากพระเจ้ามาจึงมีผลอะไรอื่นๆ ที่ไม่อยากได้ตามมาด้วย เช่น ไฟไหม้บ้าน เป็นต้น

นักวรรณคดีวิจารณ์อย่าง Roger Shattuck ชี้ให้เห็นว่า การนำเสนอเพียงแค่ Prometheus นำไฟมาให้มนุษย์แต่เพียงอย่างเดียวนั้น เป็นการเล่าเรื่องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ Plato ใน Protagoras, ผลงานของ Aeschylus เรื่อง Prometheus Bound หรือจะเป็น Mary Shelley ในงาน Prometheus Unbound ทั้งหมดไม่ได้เล่าเรื่องที่ตามมาแบบ Hesiod ได้เล่าไว้แต่แรก เรื่องถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน (12) การแบ่งเรื่อง "ไฟ" หรืออาจจะเรียกในฐานะที่เป็น "เครื่องหมาย" แห่งความรู้นั้น ก็เข้าใจความรู้ในฐานะสิ่งที่เป็นคุณ และความรู้ในฐานะโทษได้ในเวลาเดียวกัน แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังกันมาเสมอก็มีแต่ "ไฟ" หรือความรู้ในฐานะที่เป็นประโยชน์ แต่ไม่มีใครเล่าถึงส่วนที่สองส่วนของความหายนะที่ตามมา
(12) Roger Shattuck, Forbidden Knowledge: From Prometheus to Pornography, p. 15

ความชัดเจนของหายนะที่เกิดขึ้นจากการละเมิดต้นไม้แห่งความรู้ของความชั่วดี กลับเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดอยู่ในความคิดของคริสตศาสนา รากฐานความรู้ของกรีกโบราณที่ถูกดึงให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมประชาธิปไตยแอตแลนติคเหนือ (North Atlantic Democracy) จึงถูกเปลี่ยนแปลงไปเพื่อทำให้สถานะของความรู้กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีอันตรายหรือสิ่งชั่วร้ายตามมา กระบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ความรู้กลายเป็นสิ่งที่ไม่พิษภัย ความรู้กลายเป็นสิ่งของที่เป็นกลาง ความรู้จึงไม่เป็นภัย ทั้งๆ ที่ความรู้ทั้งหมดเป็นภัย เมื่อเป็นภัยก็ทำให้ความรู้เป็นสิ่งต้องห้ามมากกว่าที่จะเป็นสิ่งที่เปิดให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเสรี

ภายใต้เงื่อนไขของสภาวะสมัยใหม่ (modernity) ความรู้จึงเป็นเรื่องต้องห้ามตั้งแต่เริ่มแรก มากกว่าที่จะมีการแยกความรู้ต้องห้ามและไม่ต้องห้าม. เมื่อความรู้เป็นเรื่อง"ต้อง"ห้าม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะ "ต้อง"มีการละเมิด ทำไมถึงต้องมี

ความอยากรู้อยากเห็น (curiosity)
การละเมิด? สาเหตุประการหนึ่งของการละเมิดมาจากความอยากรู้อยากเห็น (curiosity) นั้นเป็นสภาวะของความเป็นมนุษย์ที่ปรากฎอยู่แม้กระทั่งในศาสนาที่ "ต้อง" ห้ามมนุษย์ไม่ให้ใคร่อยากรู้ก็ตาม แต่ถึงกระนั้นก็ดีสำหรับในทางโลก รากฐานของความเจริญก้าวหน้าของความรู้ก็คือ ความใคร่ที่จะรู้เป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ เฉกเช่นสัญชาติญาณทางเพศของสัตว์มนุษย์. สำหรับคำว่าCuriositas เป็นคำที่มาจากคำว่า Curo นั้นหมายถึงความเป็นห่วงเป็นใย (care). แม้ว่าคำๆ นี้เป็นคำที่ไม่ปรากฏอยู่ในศัพท์ของกรีกโบราณเองก็ตาม(13) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความใคร่อยากรู้เป็นสิ่งที่ไม่มีในกรีกโบราณ อย่างน้อยๆ ที่สุด Symposium ของ Plato ก็ได้กล่าวถึงความใคร่อยากรู้เอาไว้ ประวัติศาสตร์ของความใคร่อยากรู้นับตั้งแต่กรีกโบราณจนมาถึงยุคภูมิธรรม เป็นสิ่งที่ยาวนานและเปลี่ยนแปลงตามที่ Hans Blumenberg ได้ชี้ให้เห็นไว้ในผลงานคลาสสิคของเขาเรื่อง The Legitimacy of Modern Age ทั้งนี้กระบวนการของความใคร่อยากรู้ที่นำไปสู่แสวงหาความสมบูรณ์จากความไม่สมบูรณ์นั้น เป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่ตรรกะของคริสตศาสนาเอง
(13) Edward Peters, "The Desire to Know the Secrets of the World", Journal of the History of Ideas, Vol. 62, No. 4 (October, 2001), p. 597

นักปรัชญาอย่าง Cicero เองก็ได้ชี้ให้เห็นว่า ความอยากรู้อยากเห็นนั้นเป็นอันตรายอย่างไร เพราะความใคร่รู้มากๆ อาจจะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าบ้านเกิดเมืองนอนเสียด้วยซ้ำ (14) "ความรู้"และ"บ้านเกิดเมืองนอน" สิ่งใดมีความสำคัญกว่ากัน? โดยทั่วๆ ไปแล้วก็จะเห็นได้ว่า ความใคร่อยากรู้จะถูกจำกัดโดยรัฐ ภายใต้หลักการของความมั่นคงแห่งชาติ ในแง่นี้บ้านเกิดเมืองจึงมีความสำคัญกว่าความใคร่อยากรู้ ตราบจนกระทั่งความรู้หรือข้อมูลเหล่านี้จะหมดความสำคัญไป ความรู้และข้อมูลจึงเปิดเผยได้
(14) Hans Blumenberg, The Legitimacy of Modern Age, p. 282

การแยก"การหาความรู้ด้วยความขยันหมั่นเพียร"ออกจาก"ความใคร่อยากรู้"

ในยุคโบราณความใคร่อยากรู้แบบ Curiosity จึงเป็นสิ่งที่มีความหมายในเชิงลบ ดังนั้นคนอย่าง Acquinas จึงแยก"การแสวงหาความรู้ด้วยความขยันหมั่นเพียร (studiousness)" ออกจาก"ความใคร่อยากรู้" เพราะความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความรู้ ตามความหมายของ Acquinas นั้นเกี่ยวข้องกับคุณธรรมที่รู้จักที่จะควบคุมตนเอง (15). ในขณะที่ความใคร่อยากรู้บ่งบอกถึงความอยากที่ไม่มีการควบคุม. การควบคุมว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรจะรู้หรือรู้ได้นั้น ถือว่าเป็นคุณธรรม. สภาวะของความเป็นคุณธรรมก็หลีกเลี่ยงสภาวะของการควบคุมไปได้ยาก ความรู้จึงไม่ใช่คุณธรรม แต่ความรู้กลับจะถูกกำกับด้วยคุณธรรม ความรู้จึงต้องดำเนินควบคู่ไปกับคุณธรรม นี่เป็นความคิดที่ปรากฏให้เห็นได้ทั่วๆ ไป และเป็นความคิดที่มีการตอกย้ำกันอยู่เสมอๆ เช่น คำบรรยายของ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย เรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง"
(15) Roger Shattuck, Forbidden Knowledge: From Prometheus to Pornography, p. 308

เราพูดกันมาตลอดว่า ความรู้คู่คุณธรรม ความรู้คู่ความดี จริงๆ ถ้าไปเปิดดูหลักของศาสนาพุทธเรื่องปัญญา ท่านแบ่งไว้ 2 ด้านของเหรียญเดียวกันเสมอคือ "โลกียปัญญา" หรือว่าความรู้ทางโลก, กับ "ธรรมปัญญา" คือ ความรู้ทางธรรม. แล้วไอ้ความที่เราไม่ได้สนใจนัก เราก็มองที่เหรียญด้านเดียว คือ โลกียปัญญา ผมคิดว่าในความเห็นของผมนี่ทุกสาขา ศาสตร์ทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็น Biophysics, Computer, Chemistry, BA, MBA นี่ก็ต้องมีความรู้ทางธรรม… โลกียปัญญาต้องคู่กับธรรมปัญญาทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น รัฐศาสตร์, นิติศาสตร์, แพทยศาสตร์, ต้องมีหมดนะครับ (16)
(16) นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย, "เศรษฐกิจพอเพียง" ปาฐกถาเนื่องในพิธีเปิด "ชมรมเศรษฐธรรม" สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ วันพุธที่ 12 มกราคม 2548 จัดพิมพ์โดย มูลนิธิช่วยการศึกษาตันติสุนทร (กรุงเทพ: บริษัทบพิธการพิมพ์, 2548), หน้า 31-32

ความใคร่อยากรู้อยากเห็น แม้ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้เองก็ตาม ย่อมต้องมีนัยในทางลบ เมื่อเป็นดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีอะไรบางอย่างมาคอยกำกับ ความรู้ไม่ได้อยู่อย่างโดดๆ. สำหรับในอดีตก็ใช้หลักการของข้อห้ามหรือสิ่งต้องห้ามมาเป็นกลไกในการกำกับ ในสภาวะสมัยใหม่ที่เสรีภาพกลายเป็นเงื่อนไขของการดำรงอยู่ที่สำคัญ แล้วก็ทำให้คุณธรรมและความรู้ทางธรรมก็จะเป็นกลไกในการกำกับมากกว่าที่จะเป็นข้อห้ามโดยตรง รากฐานความคิดที่จัดให้ความใคร่อยากรู้เป็นสิ่งชั่วร้ายดูจะเป็นสิ่งที่คงทนนับตั้งแต่ยุคโบราณ หรือเริ่มต้นคริสตศาสนาไล่มาจนถึงยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern) หรือแม้กระทั่งในยุคที่พยายามแสวงทางเลือกแบบใหม่ๆ

เนื่องด้วยว่าในกรอบคิดของศาสนา ความใคร่อยากรู้ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อคนอื่น แต่กลับเป็นการเอาใจใส่ (care) ต่อตัวเอง สนใจแต่ตัวเอง โดยทั้งหมดผ่านความสุขที่ได้จากการตอบสนองทางภูมิปัญญา (17) โดยไม่ได้คิดถึงข้อจำกัดอื่นๆ. ความใคร่อยากรู้จึงทำให้ผู้แสวงหาแต่ความรู้นั้น จึงมีแต่เพียงตัวเอง โดยตนเอง และเพื่อตนเอง เท่านั้น กระบวนการทั้งหมดจึงรังแต่จะทำให้เกิดการหลงใหลในตัวเอง (narcissism) ดังนั้นเป้าหมายของการมีข้อห้ามทางความรู้ จึงอยู่ที่การหลุดหรือก้าวพ้นจากอัตตา ดังจะเห็นได้จากการที่นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ได้บรรยายต่อไปว่า "เมื่อเรามีทั้งโลกียปัญญาและธรรมปัญญาแล้ว เรามีเพื่ออะไร เป้าหมายอยู่ที่ไหน เป้าหมายของผมก็คือ การหลุดพ้นจากอวิชชา กิเลส แล้วก็อัตตา"(18)
(17) Thomas D. Kennedy, "Curiosity and the Integrated Self: A Postmodern Vice", Logos: A Journal of Catholic Thought & Culture, Vol. 4, No. 4 (Fall, 2001), p. 46

(18) นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย, "เศรษฐกิจพอเพียง" หน้า 32

เพราะเป้าหมายของความรู้ทางศาสนา และศาสนาในฐานะของจำกัดของความรู้ทางโลกก็คือ การหลุดออกจากตัวเองหรืออัตตา ไม่หลงใหลในตนเอง คำบรรยายดังกล่าวจึงทำให้ดูราวกับว่า กรอบการแยกความคิดตะวันออกและตะวันตกนั้นไม่มีอีกต่อไป ดังนั้นสิ่งที่อาจจะหลงเหลืออยู่จึงอาจจะเป็นเพียงแค่กรอบความคิดแบบอินโด-ยุโรเปี่ยน (Indo-European)

ความสุขในความรู้ หรือความสุขในความเขลา
สำหรับความใคร่อยากรู้ ในฐานะที่เป็นการแสดงความเป็นห่วงเป็นใยหรือความเอาใจใส่ในความรู้เกี่ยวกับสรรพสิ่งต่างๆ นั้นกลับแสดงความไม่มั่นใจว่า สิ่งที่เห็นหรือสัมผัสได้ สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นจริงหรือไม่ ความพยายามในการเข้าถึงแก่นแท้หรือสารัตถะเป็นรากฐานที่สำคัญของปรัชญาและศาสนา ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นและสัมผัสได้ เป็นเพียงแค่ภาพลวงตา เมื่อเป็นภาพลวงตาก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีใครพิเศษหรือมนุษย์พิเศษสักคนที่จะนำพาคนธรรมดาๆ ทั้งหลายเพื่อจะได้เข้าถึงสิ่งที่จริงแท้

ในกรอบคิดของปรัชญาโบราณและศาสนา สิ่งที่เห็นหรือสัมผัสได้กับความจริงแท้จึงเป็นสิ่งที่มีช่องว่าง (gap) การเข้าถึงความจริง ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพระหว่างสิ่งที่อยู่ภายในและสิ่งที่อยู่ภายนอก แต่การเข้าถึงความจริงยังทำให้เกิดความสุข (enjoyment) ได้อีกด้วย. เพราะอย่างน้อยๆ ที่สุด หนึ่งในหลายๆ คำอธิบายก็คือ การพบความจริงแท้นั้นสามารถที่เปรียบได้ว่า เป็นการพบความงามแบบหนึ่ง และความงามนี่เองที่กระตุ้นความใคร่รู้ ความงามคือสิ่งที่ให้ความสุข ในสมัยก่อนพวกคริสเตียนเรืองอำนาจ ความรู้จึงคู่กับความสุข ความรู้ในระดับสูง ความรู้ที่เป็นนามธรรมหรือทฤษฎี จึงเป็นสิ่งที่นำพามนุษย์ไปสู่ความสุข (19)
(19) Hans Blumenberg, The Legitimacy of Modern Age, p. 270

การจัดให้ความรู้คู่ความสุข เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายๆ เป้าหมายของความรู้ของยุคโบราณเท่านั้น เพราะในกรอบของปรัชญาในฐานะของการบำบัด (therapy) แล้ว ทฤษฎีอาจจะเป็นเพียงแค่เทคนิคในการที่จะกำจัดแก้ไขความยุ่งยากและอุปสรรคต่างๆ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องความสุขก็ได้ (20) แต่ในอีกทางหนึ่ง การกำจัดอุปสรรคก็ถือได้ว่าเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่ความสุขได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าความรู้อยู่ในรูปความรู้ต้องห้ามแล้ว ก็หมายความว่า ความรู้ต้องห้ามกลายเป็นสิ่งที่ขัดขวางความสุขของมนุษย์ที่พึงจะได้จากความใคร่อยากรู้นั้นๆ เพราะไม่ได้ทำให้มนุษย์บรรลุสภาวะตามธรรมชาติได้
(20) Hans Blumenberg, The Legitimacy of Modern Age, p. 271

กรีกโบราณ: ความใคร่รู้เป็นความอยากตามธรรมชาติเช่นเดียวกับการร่วมเพศ
ครั้นถ้าในกรีกโบราณ ความใคร่รู้เป็นความอยากตามธรรมชาติเฉกเช่นเดียวกันกับการร่วมเพศหรือการมีความรัก (เพราะความรักในลักษณะแบบ Eros ของกรีกโบราณนั้น ไม่มีการแยกความรักและความใคร่แบบในคริสตศาสนา) นั่นก็แสดงให้เห็นเงื่อนไขที่ตายตัวมากกว่าที่จะเป็นเงื่อนไขในทางประวัติศาสตร์ ความใคร่อยากรู้เป็นสิ่งที่ตายตัว ไม่ได้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามประวัติศาสตร์ ด้วยเงื่อนไขที่ตายตัวจึงทำให้การแสวงหาความรู้หรือความใคร่รู้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ตามแบบที่ Aristotle กล่าวไว้ในงาน Metaphysics กลายเป็นกรอบคิดสำคัญในการสร้างความสมเหตุสมผลในการแสวงหาความรู้

การทำให้ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสภาวะตามธรรมชาติ เป็นการค้ำประกันว่า ไม่มีอะไรที่จะมาหยุดยั้งความอยากรู้หรือการมุ่งมั่นไปสู่ความรู้ได้ นี่เป็นกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับสภาวะสมัยใหม่ในการแสวงหาความรู้ (21) นอกจากนั้น คำตอบของกรีกโบราณที่ถูกเลือกสรรมา ก็ยังช่วยทำให้ข้อห้ามของคริสศาสนาเองหมดความสำคัญลง การให้คำตอบว่าคือธรรมชาตินี้ ทำให้ความคิดของกรีกโบราณให้ความสมเหตุสมผลมากพอที่จะตอบสนองต่อความใคร่อยากรู้ และกิจการทางการค้าสำหรับสภาวะสมัยใหม่ที่ต้องการหาอะไรใหม่ๆ ทั้งนี้การแสวงอะไรที่ใหม่ๆ กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของการดำรงอยู่ในสภาวะสมัยใหม่ การได้มีอะไรใหม่ (novelty) ก็จะนำมาซึ่งความสุข เพราะอย่างน้อยๆ ที่สุดก็ตอบสนองความใคร่อยากรู้ การแสวงหาอะไรใหม่ๆ กลายเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างเด่นชัด เช่น ในความสัมพันธ์เชิงพาณิชยกรรม (commercial relation) อันเป็นสิ่งที่ยังแสดงนัยของความเลวร้าย เพราะเกี่ยวข้องกับความอยากได้อยากมี ไม่รู้จักพอเพียง ตลอดจนสายสัมพันธ์ที่ชั่วร้าย เช่น การค้าประเวณี เป็นต้น
(21) Hans Blumenberg, The Legitimacy of Modern Age, p. 240

ความรู้เป็นสิ่งที่ดี แต่สวรรค์เป็นสิ่งที่ดีกว่า
ด้วยเงื่อนไขของความเป็นสภาวะสมัยใหม่ที่ต้องการอะไรใหม่ๆ จึงทำให้การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลากลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ นี่เป็นความตื่นเต้นที่กรอบคิดทางคริสตศาสนาเห็นว่า ทำให้ผู้ใคร่อยากรู้อะไรใหม่ๆ ไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญกว่าในชีวิต อะไรเป็นสิ่งที่จะต้องมาก่อนสิ่งอื่นๆในชีวิต (22) ดังจะเห็นได้จากประโยคของคริสตศาสนาในกรอบของโรมันคาธิอลิค "จงตื่นเถิด เปิดตา หาความรู้ เรียนคำครู คำพระเจ้า เฝ้าขยัน จะอุดมสมบัติปัจจุบัน แต่สวรรค์ดีกว่าเราอย่าลืม" ด้วยกรอบความคิดแบบนี้ เป้าหมายที่ต้องไม่ลืมก็คือ "พระผู้เป็นเจ้า"
(22) Thomas D. Kennedy, "Curiosity and the Integrated Self: A Postmodern Vice", p. 47

อย่างไรก็ตาม พระผู้เป็นเจ้าย่อมไม่ใช่ทั้ง "ของเก่าหรือใหม่" ศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ต้องมาก่อนอะไรอื่น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ลืมไม่ได้. การมีอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังราวกับว่าสภาวะแบบนี้ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดกลับยิ่งทำให้การแสวงหาของใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ กลับกลายเป็นสภาวะมีแต่ความเหนื่อยล้ามากเกินไปสำหรับมนุษย์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างดูจะกลายเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันหมด ทุกสิ่งทุกอย่างดูไม่มีวันจบสิ้น จนทุกสิ่งทุกอย่างดูวุ่นวาย โลกใบนี้จึงมีแต่ความวุ่นวาย หาความสุขความสงบไม่ได้ จนทำให้ต้องไปหา "ที่นั่น" ที่ที่ไม่วุ่นวาย. สภาวะแบบนี้ก็กลับทำให้ความสุขที่เกิดจากการตื่นจากความเขลาที่ได้จากความรู้ กลับกลายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในที่อื่น ความสุขจึงไม่ได้อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ เพราะอย่างน้อยที่สุด ความรู้ก็ไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่อยู่ที่ที่ไกลโพ้น นี่เป็นเงื่อนไขของสภาวะโบราณ ตลอดจนสภาวะสมัยใหม่ ไม่มากไม่น้อยไปกว่าสภาวะหลังสมัยใหม่ (postmodern) ซึ่งก็เป็นความคิดที่ปรากฏให้เห็นได้จากคำวิจารณ์จากกรอบคิดแบบอนุรักษ์นิยมตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซีกใดในโลกก็ตามที่ต้องการโจมตีการไขว่คว้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ตัวอย่างเช่น สังคมข่าวสารที่มนุษย์ถูกกระทำให้กลายเป็นผู้บริโภคข่าวสาร ด้วยความเป็นมนุษย์ในกรอบรัฐประชาชาติที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ทำให้ต้องมีความสนใจปัญหาบ้านเมืองและสิ่งรอบตัว ดังที่ปรากฏในพื้นที่ของ "การบริการข่าวสาร" เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แม้ว่านี่จะเป็นสภาวะที่ไม่หยุดนิ่ง มีแต่ความวุ่นวายหาความสงบไม่ได้ แต่นี่เป็นเงื่อนไขของความใคร่อยากรู้ว่า เช่น การเมืองจะมีผลกระทบกับตัวเองแค่ไหน มากกว่าที่จะเป็นเรื่องใกล้ตัวแบบอื่นๆ เช่น สายสัมพันธ์ของเพื่อน เป็นต้น การเมืองที่เคยไกลตัวกลับถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว ด้วยความรู้ทางการเมืองและโครงสร้างของรัฐประชาชาติ ความรู้ที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างชัดเจน จึงเปรียบเสมือนสรรพสิ่งต่างๆ แจ่มชัดราวกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่ใกล้ๆ

ถ้ามนุษย์เป็นสิ่งที่ใคร่อยากรู้ ความรู้ต้องห้ามย่อมต้องไม่มี
ภายใต้สภาวะสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยความต้องการสิ่งใหม่ และความใคร่อยากรู้เพื่อจะได้ความรู้ใหม่ๆ ทำให้สิ่งต้องห้ามหรือความรู้ต้องห้ามไม่สามารถที่จะหยุดยั้งความใคร่อยากรู้ไปได้ แม้ว่าความรู้ที่จะได้มานั้นจะเป็นเพียงสิ่งที่อยู่ในอนาคตก็ตาม อนาคตที่ไม่มีอะไรค้ำประกันได้ว่าจะมาถึง ครั้นถ้าเงื่อนไขของความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่ใคร่อยากรู้อยากเห็นแล้ว ก็หมายความว่า ความรู้ต้องห้ามย่อมต้องไม่มี เพราะความอยากรู้เป็นเงื่อนไขของความเป็นมนุษย์ การขัดขวางความใคร่อยากรู้จึงขัดขวางความเป็นมนุษย์และตลอดจนความสุขของมนุษย์

เมื่อความใคร่อยากรู้ที่เป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ผนวกเข้ากับสภาวะสมัยใหม่ที่ต้องการอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงทำให้ความอยากมีความรู้แบบใหม่ๆ กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สถานะของความรู้ต้องห้ามจึงกลายเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ เฉกเช่นเดียวกันกับความละโมบกับการสร้างความชอบธรรมให้กับระบบทุนนิยม ถ้าความละโมบเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ความใคร่อยากรู้ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์เช่นกัน นอกจากนั้น เมื่อความละโมบทำทุนนิยมขยายตัว ความใคร่อยากรู้ก็ทำให้ "จักรญาณนิยม" ที่ต้องการขยายตัวเป็นไปได้

ความอยากรู้อยากเห็น เป็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายในตัวเอง
ความอยากรู้อยากเห็นแต่เพียงอย่างเดียวโดดๆ ไม่มีการเชื่อมโยงกับเป้าหมายอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายในตัวเอง. ความใคร่อยากรู้เป็นทั้งสาเหตุและเป้าหมายในตัวเอง การยกให้ความอยากรู้อยากเห็นเป็นทั้งเหตุและผลในเวลาเดียวกัน ทำให้ความอยากรู้อยากเห็นเปรียบเสมือนหนึ่งพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นปฐมสาเหตุในตัวเอง (causa sui) เพราะอุบัติขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง แต่พระเจ้าเองก็เป็นได้เพียงแค่สาเหตุในตัวเอง เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องมีผลลัพธ์ในตัวเอง

แต่ความใคร่รู้ที่มีเป้าหมายอยู่ที่ตัวเอง เป็นสภาวะที่แสดงถึงความเป็นเอกเทศของความใคร่รู้ที่ไม่จำเป็นที่จะต้องรับใช้เป้าหมายอื่นๆ ความใคร่อยากรู้จึงเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าและมีความเป็นเอกเทศในตัว เมื่อเป็นดังนั้น ความใคร่อยากรู้จึงสามารถที่จะคุณธรรม(virtue) ได้ในสังคมที่ไขว่คว้าแสวงหาความรู้ หรือสังคมที่ยึดมั่นในความรู้ ครั้นเมื่อความใคร่อยากรู้เป็นคุณธรรม ก็แสดงว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้คุณธรรมอื่นๆ มาเป็นตัวกำกับ

สภาวะของความใคร่อยากรู้ในฐานะที่เป็นคุณธรรมสร้างความลักลั่นย้อนแย้ง (paradox) ให้กับความใคร่อยากที่จะให้ความรู้คู่คุณธรรม เพราะถึงแม้ว่าความใคร่อยากรู้จะเป็นธรรมชาติ แต่ก็ไม่สามารถที่จะใช้ธรรมชาติเป็นตัวสร้างความสมเหตุสมผลในการแสวงความรู้ได้เสมอไป เพราะเงื่อนไขทางศีลธรรมยังคงเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับการมีชีวิตที่ดี (23) ในแง่นี้ถ้าจะพิจารณาว่าความรู้จำเป็นที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับคุณธรรม ก็แสดงให้เห็นว่า ความรู้ต้องห้ามและความรู้ที่จะต้องมีข้อจำกัดย่อมเป็นสิ่งที่จะต้องดำรงอยู่ เพราะไม่มีความรู้ใดที่ไม่มีขอบเขต เมื่อเป็นดังนั้น ข้อห้ามและสิ่งต้องห้ามไม่ว่าจะด้วยกฎหมาย จารีต ฯลฯ ก็ย่อมแสดงให้ถึงข้อจำกัด. สำหรับข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ก็คือเครื่องหมายที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า เป็นสิ่งที่พอได้แล้ว แค่นี้ก็พอเพียงแล้ว เพราะถ้าไม่พอหายนะจะมาเยือน
(23) Hans Blumenberg, The Legitimacy of Modern Age, pp. 280-281

แม้ว่าการกล่าวถึงสภาวะของการหาความรู้ที่พอเพียง ความรู้ที่มีข้อจำกัดจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์ก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะภายใต้สภาวะแห่งความเป็นอารยะที่มีหรือใคร่อยากมีอารยธรรม ก็จำเป็นที่จะต้องอยู่เหนือธรรมชาติมากกว่าที่จะปฏิบัติตามธรรมชาติ ดังนั้นความรู้ใดที่ถือว่าจะรู้ได้และจะรู้ได้อย่างไรนั้น ย่อมหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางศีลธรรมและเงื่อนไขของสังคมอารยะไปไม่พ้น ข้อห้ามของความรู้หรือความรู้ต้องห้ามจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำรงอยู่ เงื่อนไขทางสังคมเองจึงเป็นตัวกำหนดว่าอะไรเป็นสิ่งที่รู้ได้และอะไรคือสิ่งที่รู้ไม่ได้ ความรู้จึงดำรงอยู่กับข้อจำกัดมากกว่าที่จะดำรงอยู่คู่กับเสรีภาพแบบสมบูรณ์ ความรู้จึงหลีกเลี่ยงการประนีประนอมต่อรองกับขัอจำกัดของสังคมไปไม่พ้น

ความรู้ การค้า และการเดินทาง
สิ่งที่บ่งบอกความเป็นอารยะที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ถาวรวัตถุต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความถาวร ทนทาน ผ่านกาลเวลาอันเป็นมรดกตกทอดกันมา วัตุถหรือข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ให้ความรู้เกี่ยวกับอารยธรรมหรือสังคมอื่นๆ โดยความรู้ต่างๆ เหล่าได้มาจากการสำรวจ การท่องเที่ยว ทั้งนี้ความรู้เป็นสิ่งที่อยู่ที่อื่นหรือดินแดนห่างไกลออกไป การเก็บวัตถุแห่งความรู้จากแดนไกลนี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญของกระบวนการแสวงหาความรู้ แม้ว่าวัตถุต่างๆ เหล่านี้จะเข้ามาอยู่ในพิพิธภัณฑ์โดยหลุดออกจากบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมก็ตาม วัตถุต่างๆ เหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งของต้องห้ามในสังคมหนึ่งๆ แต่เมื่ออยู่เป็นวัตถุแห่งความรู้ก็ไม่ได้มีสถานะที่ศักดิ์สิทธิ์อะไร ดังนั้นเพื่อความรู้ การละเมิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำเพื่อตอบสนองความใคร่อยากรู้ เพราะฉะนั้นความใคร่อยากรู้จึงเป็นใบอนุญาตสำหรับการละเมิดของต้องห้าม

ตำนานเกี่ยวกับการขุดค้นหลุมฝังศพกษัติรย์ตูตังคาเม็นของอียิปต์โบราณ ที่ทำให้เกิดอาถรรพ์ต่างๆ มากมาย เป็นตัวอย่างที่ดีของการถูกลงโทษจากการละเมิด ถึงกระนั้นก็ดี ถ้าอาถรรพ์ต่างๆ เป็น Pandora ที่นำภัยอันตรายและความชั่วร้ายมา แต่ "ไฟแห่งความรู้" ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าพอกับการสูญเสียหรือการผจญกับภัยอันตรายอะไรบางอย่างไป พลังของความใคร่อยากรู้ที่ปรากฎออกมาเป็น "วินัย" (discipline) ที่ให้พลังแก่ความเป็นวิชาการ (disciplines) ที่เหนือกว่า ย่อมทำให้อำนาจมืดของสิ่งศักดิ์สิทธิ์โบราณไม่สามารถหยุดยั้งพลังความรู้วิชาได้ เช่น พลังแห่งวิชาโบราณคดีไปได้ วิชาโบราณคดีและมานุษยวิทยาที่ความรู้ จะได้มาจากการแสวงความรู้ในแดนไกล ความรู้จึงต้องเดินทางไกล การจะขยายอาณาเขตของความรู้ได้ก็ต้องเดินทางออกไป เพื่อจะได้ขยายอาณาเขต

สำหรับในกรอบความคิดของนักปรัชญาโบราณอย่าง Lucretius แล้ว การเดินทางไปทะเล เป็นผลพวงของความใคร่อยากรู้ และในขณะเดียวกันการเดินทางออกทะเลก็เป็นไปเพื่อการแสวงสิ่งของหรูหราฟุ่มเฟือย (24) การเดินทางออกทะเล การค้า และความใคร่อยากรู้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้แยกออกจากกัน ความรู้จึงเชื่อมโยงเข้ากับความหรูหราฟุ่มเฟือย (อันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงความหมายตามยุคสมัย) (25) ที่อยู่ในแดนไกลอีกด้วย ความรู้จึงจำเป็นต้องขยายตัว ความรู้เป็นสิ่งที่ต้องการพลวัตร ในขณะเดียวกันความรู้ต้องการความสัมพันธ์เชิงการแลกเปลี่ยน (exchange relation) ดังจะเห็นได้จากการแลกเปลี่ยนความรู้ในกรีกโบราณของพวกโซฟิสต์, การแลกเปลี่ยนความรู้ในนิยายเรื่อง Faust, ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงการค้าแบบที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเป็นต้น
(24) Hans Blumenberg, The Legitimacy of Modern Age, p. 266

(25) ดู Christopher J. Barry, The Idea of Luxury: A Conceptual and Historical Investigation,
(Cambridge: Cambridge University Press, 1994)

เมื่อความรู้ การเดินทาง และการค้าเป็นสิ่งที่ไม่แยกออกจากกันแล้ว สิ่งของหรูหราฟุ่มเฟือย ตลอดจนของแปลก ฯลฯ จึงพัฒนาขึ้นมากลายเป็นวัตถุของความรู้ ภายใต้เงื่อนไขของการแสวงหาสิ่งของหรูหราแปลกตาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้การค้าและการแสวงหาความรู้จึงไปด้วยกันได้ เมื่อเป็นดังนั้นความรู้จึงเชื่อมโยงกับความหรูหราฟุ่มเฟือย ลักษณะแบบนี้จะเห็นได้จากการเดินทางควบคู่กันไปในดินแดนต่างๆ ของการค้า กับนักค้นคว้าหรือนักสำรวจที่ต้องใช้เงินทองมากมาย เช่น การเก็บตัวอย่างพันธุ์พืช วัตถุต่างๆ

ความงามของวัตถุไม่ต้องการบริบท ในบริบท(พิธีกรรม)วัตถุไม่มีความงาม
บุคคลอย่าง Charles Darwin เป็นตัวอย่างที่ดีการเก็บสะสมเพื่อความใคร่อยากรู้ทำให้วัตถุต่างๆ เหล่านี้มาเป็นส่วนหนึ่งของการสะสมและเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ แม้ว่าวัตถุของความรู้ต่างๆ เหล่านี้ก็จะคนรุ่นหลังวิจารณ์ว่าถูกตัดขาดออกจากบริบท แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าสถานะของวัตถุทางความรู้ต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่มีความงามและมีสุนทรียะได้โดยปราศจากบริบทได้อีกด้วย เพราะอย่างน้อยๆ ความงามสามารถที่จะดำรงอยู่ได้โดยปราศจากบริบท นอกจากนั้นวัตถุต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้มีความหมายในเชิงความงามเมื่อวัตถุเหล่านี้ดำรงอยู่ในบริบทของพิธีกรรม

นอกเหนือไปจากความรู้แล้ว วัตถุสิ่งของต่างๆ เหล่านี้ สามารถที่จะคุณค่าทางสุนทรียะเพิ่มเติมได้อีกด้วย (26) ไม่เพียงแต่วัตถุต่างๆ เหล่านี้เท่านั้นสภาวะแวดล้อมของดินแดนต่างๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดของวัตถุต่างๆ เหล่านี้ก็มีคุณค่าทางสุนทรียะด้วย การได้มองเห็น เช่น ธรรมชาติ ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่มีความงาม (27) ในส่วนนี้ความรู้ที่เกิดขึ้นจากวัตถุ (knowledge of object) และตัววัตถุแห่งความรู้ (object of knowledge) เองถูกเชื่อมต่อกันด้วยสุนทรียะ ดังนั้น ความรู้ สุนทรียะ และวัตถุ จึงเป็นสิ่งที่ทดแทนสลับตำแหน่งกันไปมา
(26) Johannes Fabian, Anthropology with an Attitude: Critical Essays, pp. 138-139
(27) Mary Louise Pratt, Imperial Eyes: Travel Writing and Transculturation, p. 204

สิ่งที่สำคัญของกระบวนการสร้างความรู้ไม่ต้องการบริบท เพราะบริบทไม่สามารถให้ความเป็นสากลได้ สำหรับผู้ที่เก็บวัตถุต่างๆ เหล่านี้ (เช่น นักชาติพันธ์วิทยาในช่วงยุคอาณานิคม) ที่ได้มาจากการเดินทางอันเป็นส่วนหนึ่งของความใคร่รู้นั้น ต้องการที่จะแยกตัวเองออกจากความรู้ที่ตนเองได้มา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นกลาง นี่เป็นการรักษาระยะห่างระหว่างตัวตนกับวัตถุ และความรู้นั้นๆ (28) ให้อยู่ในกรอบของสิ่งของที่เก็บสะสมได้ (Curio) โดยวัตถุต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้เกิดความใคร่รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดินทางกลับมาสู่บ้านเกิดเมืองนอน (29)
(28) Johannes Fabian, Anthropology with an Attitude: Critical Essays,
(Stanford: Stanford University Press, 2001), p. 137

(29) Johannes Fabian, Anthropology with an Attitude: Critical Essays, p. 120

วัตถุธรรมดาจะเป็นความรู้ได้ ต้องผ่านสถาบัน
สำหรับการจะเลื่อนสถานะจากวัตถุธรรมดาๆ กลายมาเป็นความรู้ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องผ่านความเป็นสถาบัน เช่น ผ่านการตีพิมพ์หรือการพูดที่สยามสมาคม หรือจะเป็น Royal Geographical Society ของประเทศอังกฤษ เป็นต้น (30) การนำสิ่งที่เห็นมาถ่ายทอดและได้รับการยอมรับจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็นองค์ความรู้และความเป็นวิชา ไม่ใช่ความรู้หรือข่าวสารที่เกิดขึ้นจากการซุบซิบหรือความรู้ประวัติศาสตร์แบบพงศาวดารกระซิบ ด้วยลักษณะของความเป็นวิชาก็ทำให้ความรู้ที่เป็นวิชาเหล่านี้ดำรงอยู่ในสถานะที่เหนือกว่ากว่าความรู้ของฝูงชน (31) ดังจะเห็นได้จากคำอธิบายว่าความเข้าใจได้ง่ายๆ ทั่วไปย่อมไม่ใช่องค์ความรู้ เรื่องซุบซิบนินทาชนชั้นสูงตามร้านดัดผมไม่ใช่ความรู้
(30) Mary Louise Pratt, Imperial Eyes: Travel Writing and Transculturation, (London: Routledge, 1992), p. 204

(31) Barbara M. Benedict, Curiosity: A Cultural History of Early Modern Inquiry,
(Chicago: University of Chicago Press, 2001), p. 92

วัตถุสิ่งของต่างๆ เหล่านี้ปูทางไปสู่ความรู้ในระยะไกล ความรู้กับการเดินทางจึงเป็นกรอบคิดที่ดำเนินไปคู่กัน ดังจะเห็นได้จากบทกลอน "ยานนาวาวิเศษ" ที่เริ่มต้นด้วย "ความรู้เหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่แดนไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา เจ้าจงเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา…" การจะได้ความรู้มาจึงต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก ความลำบาก ร่างกายของคนที่แสวงหาความรู้จึงเปรียบได้กับเรือสำเภา ที่ต้องทนทานต่อคลื่นลม ร่างกายที่พร้อมจะแบกรับน้ำหนัก จนอาจจะเรียกได้ว่า "กรรมกรปัญญา"

ในแง่นี้จึงไม่มีแรงงานสมองและแรงงานจากร่างกาย ทั้งสองส่วนคือร่างกายและสมองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประหนึ่งหัวย่อมไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากร่างกาย การจะได้มาซึ่งปัญญาความรู้จึงไม่ได้ใช้สมองแต่เพียงอย่างเดียว ร่างกายก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญด้วยเช่นกัน เช่น วินัยต่อร่างกาย กระบวนการในการสร้างวินัยย่อมทำให้ร่างกายประสบกับความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ ของการแสวงหาความรู้ ด้วยลักษณะของความยากลำบากนี้เองที่แสดงว่า ผู้ต้องการความรู้จะต้องฝ่าฟันไป ความรู้จึงเป็นสิ่งที่อยู่ที่อื่นมากกว่าที่อยู่ใกล้ตัว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักปรัชญาบางพวก เช่น Socrates จึงพยายามทำให้ความรู้เป็นเรื่องใกล้ตัว มากกว่าที่จะเป็นความรู้ในเรื่องไกลตัว

รากฐานของวรรณคดีคือการเดินทาง
ความรู้ที่มาจากการเดินทาง ปรากฏให้เห็นได้ในงานเขียนบันทึกการเดินทาง หนังสือท่องเที่ยว งานเขียนทั้งหลายนับตั้งแต่วรรณคดีจาก Odyssey จนถึง Don Quixote จนถึง A Room With a View ก็เป็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ไล่มาจนถึงผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่เขียนเรื่องท่องเที่ยวอย่าง Bill Bryson Bruce Chatwin และ Paul Theroux เป็นต้น จนทำให้อาจจะกล่าวได้ว่า รากฐานของวรรณคดีคืองานการเดินทาง จนทำให้มีการกล่าวว่า "งานเขียนทั้งหมดเป็นงานเขียนเรื่องการเดินทาง" (32) รากฐานของการสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมจึงมีรากฐานมาจาก งานเขียนเกี่ยวกับการเดินทาง
(32) Michael Mewshaw, "Travel, Travel Writing, and the Literature of Travel", South Central Review, Vol. 22, No.2 (Summer, 2005), p. 5

จุดเริ่มต้นของบิดาแห่งวรรณกรรมมาเลเซีย Abdullah bin Adul Kadir Munsyi ก็ก่อเกิดมาจากบันทึกการเดินทาง (33) ไม่เพียงแต่ผลงานด้านวรรณคดีเท่านั้นรากฐานงานบันทึกทางประวัติศาสตร์ เช่น งานของ Herodotus มาสู่งานของ Montesquieu และไล่เรื่อยมาจนถึงงานบรรยายทางชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่มาจากการเดินทาง. ผลงานต่างๆ เหล่านี้แม้ว่าจะไม่ได้มีระเบียบวิธีในการศึกษาแบบวิชา (disciplines) แต่ก็ถูกจัดระเบียบว่า ผลงานเหล่านี้มีลักษณะที่แตกต่างไปจากผลงานท่องเที่ยวทั่วๆ ไปแบบดาษดื่นที่เห็นกันในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ ธีรภาพ โลหิตกุล ไปจนถึงปราย พันแสง เป็นต้น
(33) Ungku Mainumah Mohd. Tahir, "The Construction and institutionalization of Abdullah bin Abdul Kadir Munsyi: the Role of Westerners", in The Canon in Southeast Asian Literatures: Literatures of Burma, Cambodia, Indonesia, Laos, Malaysia, the Philippines, Thailand and Vietnam, (London: Curzon Press, 2000), p. 101

ในขณะเดียวกัน การแสวงหาความรู้โดยผ่านการเดินทางกลายเป็นคุณลักษณะสำคัญของสภาวะสมัยใหม่ จนสามารถที่จะทำให้คนเหล่านี้มีอาชีพเป็นนักเขียนเดินทาง ในทำนองเดียวกันกับการเป็นนักวิชาการอาชีพ การเป็นนักเดินทางจะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากนักท่องเที่ยวในยุคของการท่องเที่ยว (tourism) ที่เน้นถึงความรวดเร็ว สั้น สะดวกสบาย ไปกันเป็นกลุ่ม มีความปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงภัยอะไรทั้งสิ้น ฯลฯ ด้วยการขยายตัวของการท่องเที่ยวทำให้การเดินทางหมดไป แม้ว่าจะมีผู้คนที่พยายามจะเป็นนักเดินทางมากกว่าเป็นนักท่องเที่ยวก็ตาม แต่การเดินทางที่ยากลำบากเพื่อแสวงหาความรู้ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อสถาบันการศึกษาสามารถที่จะอำนวยความสะดวกได้ดีกว่าเดิม ตลอดจนการเดินทางขนส่งก็ย่นระยะเวลาไปอย่างมาก การท่องเที่ยวจึงเป็นไปแบบความสะดวกสบาย (comfort) มากกว่าที่จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก

รากศัพท์ของคำว่าท่องเที่ยว (Travel) คือความทนทุกข์ทรมาน
ทั้งนี้รากศัพท์ของความหมายของการเดินทางหรือ Travel นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน โดยคำๆ นี้หมายความว่า ผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วย (34) Travail อันเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า tripalium อันเป็นเครื่องมือในการทรมาน (35) การเดินทางจึงเป็นการทรมานตนเอง การจาริกแสวงบุญทางศาสนา (เพื่อให้ได้ปัญญาทางศาสนา) ไปสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ความรู้เป็นสิ่งที่อยู่ในแดนไกล ความคิดแบบนี้ดูจะเป็นสิ่งที่ปรากฎให้เห็นได้ทั้งในกรอบความคิดแบบคริสเตียนและอิสลาม เพราะในอิสลามเองการเดินทางจาริกแสวงบุญและหาความรู้นั้น มีคำแนะนำให้ไปไกลถึงประเทศจีน (36)
(34) Daniel J. Boorstin, The Discoverers: A History of Man's Search to Know His World and Himself,
(New York: Vintage Books, 1983), p. 12

(35) Michael Mewshaw, "Travel, Travel Writing, and the Literature of Travel", p. 4

(36) Ian Richard Netton, Seek Knowledge: Thought and Travel in the House of Islam,
(Richmond: Curzon Press, 1996), p. vii

แต่การเดินทางระยะไกลย่อมไม่มีความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางทะเล สำหรับในกรอบความคิดโบราณ ทะเลเป็นท้องที่ของการลงฑัณท์ ทะเลเป็นพื้นที่ของหายนะ ผู้คนที่เดินทางก็ใช่ว่าจะชื่นชอบทะเล ทะเลเต็มไปด้วยความน่ากลัว และเป็นสิ่งที่ไม่มีความงาม ไม่มีเสน่ห์ อย่างน้อยที่สุดในสรวงสวรรค์ของพวกคริสเตียนก็ไม่มีทะเล ชายฝั่งก็มีแต่ความไม่แน่นอน เพราะเต็มไปด้วยหินโสโครก เป็นต้น ไม่เพียงแต่พวกคริสเตียนเท่านั้นที่หวาดกลัวทะเล (37) ทะเลจึงเป็นพื้นที่ต้องห้าม คนอย่าง Ibn Jubayr ชาวมุสลิมในศตวรรษที่สิบสองผู้จดบันทักการเดินทางเอง ก็ไม่ชอบการเดินทางทะเลและกลัวทะเลเสียด้วยซ้ำ (38)
(37) Alain Corbin, The Lure of the Sea: The Discovery of the Seaside in the Western World 1750-1840, translated by Jocelyn Phelps, (Cambridge: Polity Press, 1994), pp. 4-5

(38) Ian Richard Netton, Seek Knowledge: Thought and Travel in the House of Islam, p. 97
(39) Michael Mewshaw, "Travel, Travel Writing, and the Literature of Travel", p. 3

การเดินทางที่จะต้องเผชิญกับอันตรายเป็นส่วนสำคัญสำหรับการสร้างตัวตน การเดินทางเพื่อตอบสนองความใคร่อยากรู้และความรู้ กลายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นตัวตน ดังที่ Michael Mewshaw ได้กล่าวเอาไว้คือ "ฉันเดินทาง ฉันจึงมีชีวิตอยู่" (39) การกล่าวแบบนี้แสดงให้เห็นว่า การเดินทางเป็นสภาวะของการดำรงอยู่ เฉกเช่นชีวิตของมนุษย์ในสังคมเข้าป่าล่าสัตว์ ไม่ใช่ชีวิตที่ติดที่มีรากแบบสังคมเกษตรกรรม การเดินทางเป็นสภาวะของการดำรงอยู่ เมื่อเป็นดังนั้นก็ทำให้ความใคร่อยากรู้ (ในฐานะรูปแบบหนึ่งของการเดินทาง) เป็นเงื่อนไขที่ตายตัวของการดำรงอยู่ด้วยเช่นกัน ดังราวกับว่ามนุษย์ถูกสาบมาให้ต้องเดินทางแสวงหาความรู้ แม้ว่าจะไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นความรู้แบบใด แบบในศาสนาหรือในแบบทางโลก

การจำกัดการเดินทางของประเทศเผด็จการ
เมื่อต้องเดินทางสภาวะของ "จักรญาณนิยม" ที่ต้องหมุนไปก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากความเป็นมนุษย์ การเดินทางจะกระตุ้นเร้าความใคร่อยากรู้ ในขณะเดียวกันความใคร่อยากรู้และการเดินทางต่างก็แสดงนัยของการมีเสรีภาพ ส่วนข้อจำกัดของการเดินทางและความใคร่อยากรู้ก็จะเห็นได้จากอำนาจบังคับที่มาจากครอบครัว ชุมชน และรัฐ เช่น การจำกัดการเดินทางของประเทศเผด็จการ เป็นต้น สำหรับประเทศเผด็จการการเดินทางจึงเป็นสิ่งต้องห้าม และการแสวงหาความ.

การเดินทางนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ และทำให้พบกับแง่มุมชีวิตที่แตกต่างออกไปจากชีวิตที่ซ้ำซากจำเจ การเดินทางทำให้ผู้คนหลุดออกจากกรอบ โดยเฉพาะจารีตของชุมชน รากฐานของการเดินทางก็คือการเชื่อมโยงเข้ากับความใคร่รู้ใหม่ๆ แต่ความรู้ใหม่ๆ ย่อมเป็นอันตรายเกินไปสำหรับสถาบันอนุรักษ์นิยม. สำหรับในประเทศเผด็จการ ความชัดเจนของสิ่งที่ต้องห้าม จึงมีความชัดเจนมากทั้งในเรื่องของการแสวงหาความรู้และการเดินทาง การกำหนดให้การเดินทางเป็นสิ่งแรกก่อนอะไรอื่น ทำให้ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญก่อนอะไรอื่นๆ ตามแบบที่ประเทศเผด็จการ (หรือศาสนา) ได้กำหนดไว้ในแง่นี้ดูราวกับว่า "การเดินทาง", "ความรู้ต้องห้าม", เป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่แต่ในประเทศเผด็จการเท่านั้น

เสรีประชาธิปไตย เสรีภาพทางวิชาการ
ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่เป็นผลิตผลของสภาวะสมัยใหม่ จึงทำให้การเดินทางเป็นเรื่องของเสรีภาพ การเดินทางเป็นเรื่องที่รัฐจะเข้ามาละเมิดมิได้ ในทำนองเดียวกันกับเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ที่เกิดขึ้นจากความใคร่อยากรู้ เสรีภาพที่ในสภาวะสมัยใหม่เรียกว่า เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพที่ดูประหนึ่งว่าจะได้รับการรับรองโดยกฎหมายและจารีตทางภูมิปัญญา ถึงกระนั้นก็ดี เสรีภาพก็เป็นสิ่งที่จำกัดไว้ด้วยจารีต ประเพณี กฎหมายและอำนาจรัฐ มากกว่าที่จะดำเนินไปอย่างไร้ข้อจำกัด เมื่อความรู้ต้องการคุณธรรมก็หมายความว่า ความรู้นั้นๆ ต้องมีข้อห้าม แต่ความใคร่อยากรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะต้องมีการละเมิด ก็กลายเป็นพลังผลักดันสำคัญที่ทำให้การละเมิดเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ การแสวงหาความอยากรู้อยากเห็นต้องห้าม จึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ เช่น การปลอมตัวเข้าไปในนครเม็กกะ (Mecca) ของ Richard Burton ทั้งๆ ที่ต้องเสี่ยงกับความตายถ้าถูกจับได้ ความรู้จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงกับความเสี่ยงไปไม่ได้

เมื่อมีความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มความอยากใคร่รู้ ความใคร่อยากรู้ที่นำไปสู่การสำรวจและการแสวงหาความรู้ในแดนไกลเป็นสิ่งที่ถูกทำให้แยกออกจากการครอบงำ ความรู้ไม่ใช่เรื่องของการควบคุม ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ความรู้ถูกจำแนกให้แยกออกจากอำนาจ เมื่อความรู้แยกออกจากอำนาจ การแสวงหาความรู้ในแดนไกล แสดงสถานะของความบริสุทธิ์ ความไร้เดียงสา เรื่องราวความรู้จากการเดินทางต่างๆ จึงถูกทำให้กลายเป็นเรื่องราวของโลกอุดมคติ โลกแห่งความฝัน โลกบริสุทธิ์ ฯลฯ (40)
(40) Mary Louise Pratt, Imperial Eyes: Travel Writing and Transculturation, p. 215

บทสรุป
เรื่องราวการบันทึกการเดินทางจึงปรากฎให้เห็นในงานเขียนของนักเขียนวัยเยาว์ทั้งหลาย เพราะอย่างน้อยที่สุดพลังแห่งการเดินทางก็ต้องการความพร้อมและความอดทนของร่างกาย ร่างกายอันเป็นรากฐานให้กับสายตาที่พร้อมจะนำเสนอเรื่องราวต่างๆ อย่างแหลมคม แม้ว่าดินแดนต่างๆ เหล่านั้นจะไม่ใช่ดินแดนที่พวก (นักเขียน) จะรู้จักเป็นอย่างดีก็ตาม แต่นั่นก็เปรียบประหนึ่งพื้นที่เต็มไปด้วยความลับที่รอคอยใครสักคนมาเปิดเผย

ในยุคที่อาณานิคมกลายเป็นอดีตไปแล้ว เป้าหมายหลักของนักเขียนก็คือ การโจมตีค่านิยมจากจักรวรรดินิยมและระบบทุนนิยม เรื่องราวของการบรรยายแบบนี้ก็ดำเนินไปในลักษณะที่แตกต่างไปจากการเล่าเรื่องในยุคอาณานิคม เพราะในยุคอาณานิคม กระบวนการสร้างอารยธรรม (civilizing process) ที่เกิดไปพร้อมกับกระบวนการสร้างความรู้และขยายความรู้ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ. ในขณะนี้ เป้าหมายหลักกลับอยู่ที่การเป็นเอกเทศและเสรีภาพ ตลอดจนรักษาสถานะของความเป็นของดั้งเดิม สภาวะที่กำลังจะหายไปด้วยการค้าและการท่องเที่ยว สำนึกแห่งบาปที่เกิดขึ้นจากการแสวงหาความใคร่อยากรู้ (อยากได้) ในสิ่งใหม่ๆ กลับกลายเป็นผลลัพธ์ในทางลบที่เกิดขึ้นจากความใคร่อยากรู้หรืออยากมี วงจรของจักรแห่งความรู้ที่หมุนดังราวกับ "จักร" พิฆาต, เฉกเช่น "ไฟ" แห่ง Prometheus ได้นำพา Pandora ติดตามมาด้วย

แต่ถึงกระนั้นก็ดี บุคคลที่มีความอยากรู้อยากเห็นก็เป็นบุคคลของสภาวะสมัยใหม่ ที่เปิดโอกาสให้กับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด สามารถเข้าไปในดินแดนต้องห้ามได้อย่างชอบธรรม แต่นั่นก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อจำกัด ถึงกระนั้นก็ดี ความใคร่อยากรู้ไม่ใช่ความใคร่ธรรมดาๆ แต่เป็นจักรกลแห่งความก้าวหน้าของสภาวะสมัยใหม่ ที่ไม่สมควรจะให้สิ่งใดมาขัดขวางให้มีข้อจำกัดเพื่อให้เกิดความรู้จักพอ เพราะความใคร่อยากรู้นั้นไม่รู้จักคำว่าพอเพียง ตราบใดก็ตามที่ความรู้นั้นๆ ไม่ได้อยู่ในกรอบของศาสนา จารีต ประเพณี. "จักรญาณนิยม" เป็นสภาวะของการขยายตัวที่ไร้ขอบเขต มากกว่าที่จะรู้จักคำว่าขอบเขตและพอเพียง

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
29January 2008
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
เป้าหมายหลักของการแสวงหาความรู้ทางโลก จึงเป็นไปเพื่อแก้ไขสภาวะเลวร้าย เพราะความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์หรือสภาวะตกสวรรค์ของมนุษย์ สภาวะตกสวรรค์ทำให้มนุษย์ต้องร่วมเพศ ทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์ไม่มีความเป็นอมตะอีกต่อไป จึงทำให้มนุษย์ต้องร่วมเพศเพื่อสืบทอดความเป็นมนุษย์ให้ดำรงเผ่าพันธุ์ แต่การร่วมเพศเป็นสภาวะที่เชื่อมโยงกับปิศาจและ"ผลไม้ต้องห้าม" ทั้งสองส่วนกลับเป็นตัวทำลายความสามารถในการเข้าถึงความสมบูรณ์ของมนุษย์ สภาวะของมนุษย์ตกสวรรค์เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์มีความใครอยากรู้อยากเห็น ภายใต้กรอบของคริสตศาสนา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
home

ปรัชญาไม่ใช่วิชาที่ยิ่งใหญ่
ในกรอบเทววิทยา

สำหรับในกรอบของเทววิทยา (theology) สถานะของปรัชญาจึงไม่ใช่ชั้นที่สูงสุดของความรู้. ปรัชญาไม่ได้ดำรงอยู่ในฐานะที่เป็น "เอก" หรือเป็นที่หนึ่ง แต่กลับเป็นที่สองหรือที่สาม หรืออาจจะไม่ได้ติดอันดับอะไรเลย เพราะอย่างน้อยๆ ที่สุดในปลายศตวรรษที่สิบแปด วิชาที่อยู่ในชั้นแรกก็คือ เทววิทยา, อันดับสองก็คือ กฎหมาย, และอันดับสามก็คือ แพทย์

นับตั้งแต่คริสเตียนเรืองอำนาจ สถานะของปรัชญาในกรอบของคริสต์ศาสนาเอง ก็ไม่ได้มีความยิ่งใหญ่มากมายตลอดระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าปรัชญาจะมีการอ้างอิงว่าเคยยิ่งใหญ่ในยุคโบราณ (antiquity) ก็ตาม เพราะถ้าคิดว่าพวก Sophists ไม่ใช่นักปรัชญาแล้ว ก็อาจจะกล่าวได้ว่าในยุคโบราณปรัชญาก็ไม่ใช่วิชาที่ยิ่งใหญ่ แต่ถึงกระนั้นก็ดี นั่นก็เป็นเพียงยุคโบราณ ด้วยความคิดแบบคาร์ทีเซี่ยนก็ทำให้ปรัชญาผงาดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ปรัชญาสามารถสถาปนาความเป็นเอกเทศ ปรัชญาจึงได้รับการปลดแอก