โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๗๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ (Febuary, 01, 02, 2008) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

01-02-2551

Muhammad Yunus
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

อัตชีวประวัติมูฮัมหมัด ยูนุส: banker of the poor - ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีนเพื่อคนจน
Muhammad Yunus: จากลูกร้านอัญมณี ถึงผู้ร่วมปลดปล่อยบังคลาเทศ

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : แปล

โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เชิงอรรถเพิ่มเติมโดย: กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

สำหรับบทแปลชิ้นนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเขียนเล่าชีวประวัติของตนเอง
โดยมูฮัมหมัด ยูนุส ตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กในครอบครัวพ่อค้าอัญมณี ที่มีลูกถึง ๑๔ คน
การศึกษาในวัยเยาว์ของเขาที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ จนกระทั่งได้ไปศึกษาต่อใน
มหาวิทยาลัยโคโลลาโด สหรัฐอเมริกา และแต่งงานกับคนอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย
จวบจนการเข้าร่วมกับเพื่อนชาวเบงกาลีในสหรัฐฯ ในการปลดปล่อยปากีสถานตะวันออก
หรือบังคลาเทศให้เป็นอิสระจากปากีสถานตะวันตก ครั้งนั้นทำให้มีผู้คนชาวเบงกาลี
ต้องสังเวยชีวิตถึง ๓ ล้านคน และยูนุสได้เดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๗๖
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๗ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อัตชีวประวัติมูฮัมหมัด ยูนุส: banker of the poor - ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีนเพื่อคนจน
Muhammad Yunus: จากลูกร้านอัญมณี ถึงผู้ร่วมปลดปล่อยบังคลาเทศ

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : แปล

โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เชิงอรรถเพิ่มเติมโดย: กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

เลขที่ 20 ถนน Boxirhat จิตตะก่อง
จิตตะก่องเป็นเมืองการค้าที่มีประชากร 3 ล้านคน เป็นเมืองท่าใหญ่ที่สุดในบังคลาเทศ ผมเติบโตขึ้นมาในย่านถนน Boxirhat ซึ่งเป็นศูนย์กลางของย่านธุรกิจเก่าในจิตตะก่อง เป็นถนนวันเวย์ที่จอแจ และกว้างพอที่รถบรรทุกคันเดียวจะวิ่งได้. Boxirhat เป็น (และยังเป็น) ถนนสายหลักที่เชื่อมท่าเรือจักไตกับตลาดพืชผลกลาง บ้านของเราอยู่บนในย่านที่เรียกว่า Sonapotti ซึ่งขายเพชรพลอย เราอาศัยอยู่เลขที่ 20 (เลขที่บ้านได้เปลี่ยนไปแล้ว) ที่ชั้นบนของบ้านสองชั้นขนาดเล็ก ชั้นล่างเป็นร้านขายเพชรพลอยของพ่อซึ่งอยู่ด้านหน้า และมีโรงงานอยู่ด้านหลัง

เราอยู่ในโลกแห่งความอึกทึก ควันไอเสีย และเสียงตะโกนจากพ่อค้าแม่ขายริมถนน คนแสดงมายากล ขอทาน และคนที่มีสติไม่สมประกอบ รถบรรทุกและเกวียนวิ่งขวักไขว่ไปมาในถนนตลอดเวลา ตลอดทั้งวันเราได้ยินเสียงคนขับรถเถียงกัน ตะโกน บีบแตร มันเหมือนกับเทศกาลคานิวัลอย่างถาวรที่นี่ จนถึงเที่ยงคืน เสียงในถนนจึงเงียบลง และมีเสียงตีค้อน เสียงขัดและถูในโรงงานของพ่อแทนที่ เสียงจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งและเป็นจังหวะชีวิตของพวกเราเสมอมา

ที่ชั้นบน เราอาศัยในห้อง 4 ห้องและห้องครัว เด็ก ๆ อย่างพวกเราเรียกว่าเป็นห้องแม่ ห้องวิทยุ ห้องใหญ่และอีกห้องหนึ่งซึ่งไม่มีชื่อ แต่มีเสื่อปูไว้ 3 เวลาต่อวันเพื่อให้พวกเรานั่งกินอาหาร และมีพ่อเป็นประธาน ห้องใหญ่เป็นห้องนั่งเล่นและห้องนอนสำหรับเด็ก ๆ สนามเด็กเล่นของพวกเราคือดาดฟ้าของตึกซึ่งมีราวกั้นรอบด้าน ตอนที่เราเบื่อ เรามักจะลงมานั่งชั้นล่างเฝ้าดูลูกค้า หรือไปดูช่างทองทำงานที่ด้านหลัง หรือไม่ก็เหม่อมองไปยังภาพการเปลี่ยนแปลงในท้องถนนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่รู้จบ

เลขที่ 20 ถนน Boxirhat เป็นอาคารธุรกิจแห่งที่ 2 ของพ่อในจิตตะก่อง เขาเคยมีร้านค้าที่อื่นแต่ต้องทิ้งไปเพราะถูกระเบิดของญี่ปุ่นเสียหายเมื่อปี พ.ศ. 2486 ตอนนั้นญี่ปุ่นได้บุกเข้าไปในพม่าซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน และจ่ออยู่ที่พรมแดนจิตตะก่อง เพื่อคุกคามอินเดียทั้งประเทศ การสู้รบทางอากาศไม่ได้มีมากนัก ส่วนใหญ่เครื่องบินญี่ปุ่นจะมาโปรยใบปลิวและเด็ก ๆ อย่างเราก็ชอบมองเครื่องบินจากบนดาดฟ้า แต่หลังจากการทิ้งระเบิดทำลายกำแพงบ้านเราไปแล้ว พ่อก็พาเรากลับไปที่หมู่บ้านบาธัวทันทีเพื่อความปลอดภัย ซึ่งเป็นบ้านที่ผมถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงที่สงครามกำลังเริ่มขึ้น

ชีวิตในวัยเด็ก พ่อและแม่
บาธัวอยู่ห่างจากจิตตะก่องประมาณ 11 กิโลเมตร ปู่เป็นนักธุรกิจรายย่อยและเป็นเจ้าของที่ดินและไร่นาที่นี่ แต่เขากลับมีใจที่จะค้าขายเพชรพลอยมากกว่า. ดูล่า เมียร์ ลูกชายคนโตของปู่ออกจากโรงเรียนมัธยมกลางคัน และเข้าไปทำธุรกิจเพชรพลอยเล็ก ๆ กับพ่อของเขา ปรกติแล้วงานช่างทองเป็นงานของชาวฮินดู แต่ในเวลาไม่นาน พ่อของผมก็สามารถสร้างชื่อให้กับตนเองในฐานะเป็นช่างทองที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น และเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับสำหรับลูกค้าที่เป็นชาวมุสลิม

ดูล่า เมียร์ หรือพ่อของผมเป็นคนที่มีบุคลิกนุ่มนวล เขาไม่เคยลงโทษพวกเรา แต่คอยกระตุ้นให้เราเรียนหนังสืออย่างจริงจัง ผมยังจำเสียงนี้ได้แม้จนทุกวันนี้ เสียงปิดเปิดลิ้นชักเหล็กที่พ่อใช้เป็นที่เก็บเงิน พ่อมีตู้เซฟเหล็กสูงสี่ฟุตที่ถูกสร้างอยู่ในผนังในบริเวณด้านท้ายของร้าน ตู้เซฟสูงพอ ๆ กับกำแพงด้านหลังเคาน์เตอร์ ตอนที่พ่อเปิดร้าน พ่อจะเปิดตู้เซฟเอาไว้ ที่ด้านในของประตูเซฟอันหนึ่งมีกระจกติดอยู่ และมีผ้าขี้ริ้ววางไว้ ทำให้ลูกค้าที่มาในร้านคิดว่าตู้ใบนี้ไม่ใช่ตู้เซฟแต่เป็นแค่เครื่องประดับ

พ่อจะปิดลิ้นชัก เราจำเสียงนี้ได้ดี เพราะจะมีเสียงนี้ก่อนที่พ่อจะขึ้นมาดูว่าเรากำลังอ่านหนังสืออยู่หรือเปล่า ก่อนจะทำละหมาดครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย พ่อจะปิดลิ้นชักและเราจำได้ดีถึงเสียงฝืดของลิ้นชัก ประตูเซฟแต่ละประตูจะมีตัวล็อกสามชั้น ตู้เซฟหนึ่งตู้จึงมีตัวล็อก 6 ตัว กว่าพ่อจะปิดล็อกทั้งหมดก็มีเวลามากพอให้ซาลาม พี่ชายของผมและผมที่อยู่ด้านบนวิ่งกลับไปอ่านหนังสือได้ ไม่ว่าตอนนั้นเราจะทำอะไรอยู่ก็ตาม ส่วนใหญ่หนังสือที่เราอ่านไม่ใช่หนังสือที่พ่อรู้จัก แต่พ่อไม่เคยสนใจดูว่าเราอ่านหนังสืออะไรกันแน่ พ่อเพียงแต่ดูให้แน่ใจว่าเรานั่งอยู่หน้าหนังสือ และได้ยินเสียงท่องบ่นจากปากของเรา แค่นั้นพ่อก็พอใจแล้ว "เด็กดี เด็กดี" พ่อมักจะพูด จากนั้นก็จะเดินไปที่สุเหร่าเพื่อทำละหมาด

พ่อเป็นมุสลิมผู้เคร่งครัดตลอดชีวิต และเคยจาริกแสวงบุญไปที่กรุงเมกกะสามครั้ง แว่นตาสี่เหลี่ยมทรงกระดองเต่าและหนวดเคราขาวทำให้พ่อดูเหมือนพวกปัญญาชน ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่นักอ่านหนังสือ พ่อมีครอบครัวใหญ่และมีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ พ่อจึงไม่มีเวลาและก็ไม่ได้สนใจรายละเอียดของสิ่งที่เราเรียน พ่อมักใส่ชุดขาว เป็นชุดขาวแขนยาว และเป็นกางเกงแบบ Paijama และมีเสื้อคลุมสีขาวพร้อมกับหมวกขาว เขาแบ่งเวลาระหว่างการทำงาน การทำละหมาดและชีวิตครอบครัว

แม่ของผม โซเฟีย ฆาตูล เป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว แม่เป็นผู้คุมกฎของครอบครัว ถ้าแม่กัดริมฝีปากและตัดสินใจอะไรบางอย่าง เรารู้ว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนจิตใจแม่ได้ เธอพยายามสอนให้เราเป็นคนมีหลักการเหมือนกับเธอ แม่เป็นคนใจดีมีเมตตา และน่าจะเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อผมมากที่สุด แม่มักบริจาคเงินให้กับญาติที่ยากจนจากหมู่บ้านในชนบทที่มาเยี่ยมเราเสมอ ความเมตตาที่มีต่อคนยากจนและถูกเอารัดเอาเปรียบทำให้ผมได้ทำงานแห่งชีวิต แม่เป็นผู้ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อบุคลิกของผม

แม่มาจากครอบครัวพ่อค้ารายย่อย ที่ซื้อและขายสินค้าจากพม่า คุณตาเป็นเจ้าของที่ดินและให้เช่าที่นา คุณตาใช้เวลาส่วนใหญ่กับการอ่านหนังสือ เขียนนิทานและเพลิดเพลินกับอาหารเลิศรส รสนิยมส่วนสุดท้ายนี้เองที่ทำให้คุณตาเป็นที่รักของหลาน ๆ. ในช่วงที่ยังเด็ก ผมจำได้ว่าแม่ชอบสวมส่าหรีสีสดใส และมีดิ้นทองประดับ แม่มักจะหวีผมดำสนิทอย่างเป็นระเบียบ มัดและปล่อยให้ปลายผมสยายลงมาด้านหน้าทางขวา ผมรักแม่มาก น่ากลัวผมจะเป็นคนที่คอยกระตุกส่าหรีแม่เพื่อเรียกร้องความสนใจบ่อยที่สุด

ผมไม่รู้เคล็ดลับของแม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เกิดพายุไซโคลน คลื่นจากทะเล ในช่วงภัยแล้ง แม่ยังเป็นคนที่งดงามสำหรับผมเสมอ ไม่ว่าจะทำอย่างไรแม่ก็ไม่สามารถลดทอนความงามของตัวเองลงได้ ยิ่งไปกว่านั้นแม่ยังช่วยให้เราเพลิดเพลินและเห็นความมหัศจรรย์ในโลกจากการเล่านิทานและร้องเพลงให้เราฟัง. ผมจำได้ที่แม่เล่าถึงโศกนาฏกรรมของ Karbala ด้วยน้ำเสียงชวนสะอื้นไห้ ทุกปีในช่วงเทศกาลโมหะรัม ชาวมุสลิมจะรำลึกโศกนาฏกรรมของ Karbala ผมจำได้ว่าเคยถามแม่ว่า

"แม่ ทำไมท้องฟ้าจึงเป็นสีแดงที่ด้านนี้ของบ้าน แต่อีกด้านหนึ่งเป็นสีน้ำเงินล่ะ?"
"สีน้ำเงินเป็นสีของฮัสซันไงลูก สีแดงเป็นฮุสเซนจ๊ะ"
"แล้วใครคือฮัสซันและฮุสเซนล่ะ?"
"พวกเขาเป็นหลานของศาสดาของเรา (ขอสันติสุขจงมีแด่พระองค์) เป็นแก้วตาของพระเนตรอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองของพระองค์"

และเมื่อแม่เล่าเรื่องการฆาตกรรมของเขาจนจบ แม่มักชี้ไปที่อาทิตย์ยามอัสดงและบอกว่าสีน้ำเงินที่ด้านหนึ่งของบ้านเป็นยาพิษที่สังหารฮัสซัน และสีแดงอีกฟากหนึ่งเป็นเลือดของฮุสเซน สำหรับผมที่ยังเป็นเด็ก คำบรรยายของแม่น่าประทับใจพอ ๆ กับมหากาพย์ Bishad Shindhu (*) ("ทะเลแห่งความระทม") ในภาษาเบงกาลีอันยิ่งใหญ่ของเรา

(*)Bishad Shindhu is a poetic novel about the history of prophet Muhammad's grand son Hasan, especially Husayn's assassination, and the war for the throne of Khalifa (the supreme power of Muslims). It was written by Mir Mosarraf Hussain, one of the first modern Muslim Bengali writers. Bishad Shindhu was written within 1888 to 1890. It is one of the best known works of Bengali literature. It is considered an important source for the history of Karbala, the location of Husayn's war front, and the place of his death.

Bishad Shindhu is written in an epic style. It contains much poetic language, and many dramatic sessions. At the time, Bengali novels were rarely written, and a few writers (including Mosarraf Hussain) were trying to establish the concept of novels in Bangla. It was written in Shadhubhasha, a Sanskritised form of Bengali. Many Bengali Muslims view the novel as a religious book, and in rural areas, it is the most valuable book after the Quran and the Hadith, the books of Allah and Muhammad.


แม่มีบทบาทมากในช่วงวัยเด็กของผม ตอนที่แม่เริ่มทำเค้ก Pitha และขนมทอดกรอบในครัว พวกเราจะพากันไปมะรุมมะตุ้มเธอ เฝ้าดูและคอยชิมโน่นชิมนี่ ทันทีที่แม่เอาถาด Pitha ออกจากเตาและพยายามเป่าให้เย็นลง ผมจะแย่งถาดไปจากเธอ ในครอบครัวนี้ผมมีชื่อเสียงทีเดียวในฐานะเป็นผู้ชิมอาหารที่เธอทำเป็นคนแรก แม่ยังทำอย่างอื่นที่ประทับใจผมมาก แม่ทำเครื่องเพชรพลอยที่ขายในร้านด้วย แม่มักเป็นคนตกแต่งต่างหูและสร้อยคอเป็นขั้นสุดท้าย ด้วยการประดับประดาเครื่องเพชรพลอยด้วยกำมะหยี่หรือขนสัตว์ที่ด้านปลายของริบบิ้น หรือการเอาเชือกถักสีสันต่าง ๆ ประดับประดา ผมเฝ้าดูแม่ทำงานด้วยความมหัศจรรย์ใจ มือที่ยาวเรียวสามารถรังสรรค์เครื่องประดับที่งดงามอย่างแท้จริง แม่นำเงินที่หาได้ในส่วนนี้เองไปให้กับญาติ เพื่อนฝูงหรือเพื่อนบ้านที่มาขอความช่วยเหลือ

เกิดในครอบครัวใหญ่ที่มีพี่น้อง 14 คน
แม่มีลูก 14 คน เสียชีวิตไป 5 ตั้งแต่เด็ก การเติบโตในครอบครัวใหญ่ทำให้ผมเห็นความสำคัญของทารก (บางครั้งผมต้องดูแลเด็กทารกถึง 2 คนในคราวเดียวกัน) ความสำคัญของความซื่อสัตย์ต่อครอบครัว อิทธิพลและความช่วยเหลือกันของพี่น้องในบ้าน รวมทั้งคุณค่าของการประนีประนอมเนื่องจากการอาศัยอยู่ในคนกลุ่มใหญ่. มุมตัส พี่สาวซึ่งแก่กว่าผม 8 ปีแต่งงานตอนเป็นวัยรุ่น บ้านใหม่ของเธออยู่ที่ชานเมืองไม่ไกลนัก และเรามักไปหาเธอที่บ้านและกินอาหารมื้อใหญ่ มุมตัสได้รับมรดกสามอย่างจากแม่ ทั้งฝีมือการทำกับข้าวอันเป็นเลิศ ความสุขใจจากการเลี้ยงดูคนที่เธอรัก และพรสวรรค์ในการเล่านิทานที่ไม่สิ้นสุด

ซาลาม พี่ชายซึ่งแก่กว่าผม 3 ปีเป็นคู่หูของผม แม้สงครามกับญี่ปุ่นจะยุติลง แต่กับซาลามและผม สงครามยังไม่ยุติ เรามักทำเสียงล้อเลียนเสียงปืนกลที่เคยได้ยิน และเราใช้ว่าวหลากสีสันเพื่อแทนเครื่องบินญี่ปุ่นที่บินอยู่บนท้องฟ้า ว่าวของเราเป็นรูปเพชรมีโครงทำจากไม้ไผ่ทั้งแบบตรงและงอ ตอนที่พ่อซื้อลูกระเบิดญี่ปุ่นที่ปลดชนวนแล้วจากตลาด พวกเราตื่นเต้นมาก แม่ใช้ลูกระเบิดเหล่านี้ปลูกต้นไม้บนดาดฟ้า โดยวางตั้งขึ้นเอาส่วนหัวของระเบิดอยู่ด้านบน

วัยเล่าเรียนและการอ่าน
ผมเรียนหนังสือที่โรงเรียนประถมลามาร์ บาซาร์ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อม ๆ กับเด็กผู้ชายทุกคนที่อยู่ในชนชั้นผู้ใช้แรงงานแถวนั้น พวกเราทุกคนรวมทั้งครูพูดภาษาท้องถิ่นในจิตตะก่อง. ในประเทศของผมเด็กที่มีโอกาสได้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานมักเป็นเด็กที่มีฐานะดีพอ ในชั้นเรียนของเรา เรามีนักเรียนประมาณ 40 คน และในโรงเรียนประถมและมัธยมมักแยกหญิงและชาย. ถ้าคุณเรียนเก่ง คุณก็จะได้ทุนการศึกษา และมีโอกาสเข้าสอบแข่งขันระหว่างประเทศซึ่งจะทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียงมาก แต่เพื่อนร่วมชั้นเรียนของผมส่วนใหญ่จะออกเสียกลางคัน

โรงเรียนพยายามปลูกฝังค่านิยมดี ๆ ให้กับเด็ก ไม่เฉพาะความก้าวหน้าทางวิชาการ แต่ความภูมิใจในฐานะพลเมือง ความสำคัญของศาสนา ความเคารพต่อศิลปะ การชื่นชมดนตรีและกวีของนักกวีผู้ยิ่งใหญ่ของเรา (รพินทรนาถฐากูร และคาซี นัซรุล อิสลาม) และแน่นอนว่าต้องมีความเคารพต่อผู้มีอำนาจและมีวินัย. ซาลามและผมตะลุยอ่านหนังสือและนิตยสารที่หาได้ทุกอย่าง ผมชอบนิยายสืบสวนสอบสวน ตอนที่อายุ 12 ขวบ ผมยังแต่งนิยายเชิงปริศนาได้เองด้วย

การหาหนังสือมาอ่านอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเรา เราต้องพลิกแพลงด้วยหลายวิธีการ ซื้อบ้าง ขอยืม และขโมย ยกตัวอย่างเช่น ในนิตยสาร Shuktara ซึ่งเป็นหนังสือเด็กที่ตีพิมพ์ในกัลกัตตา มีการจัดแข่งขันและผู้ชนะจากการแข่งขันจะได้เป็นสมาชิกหนังสือฟรี ในหนังสือมีการประกาศรายชื่อผู้ชนะ ผมสุ่มเลือกมาชื่อหนึ่งและเขียนจดหมายไปที่บรรณาธิการ

เรียน บรรณาธิการ
ผมชื่อ...และเป็นผู้ชนะการแข่งขัน ตอนนี้เราได้ย้ายที่อยู่แล้ว นับจากนี้ไปกรุณาส่งหนังสือฟรีมาให้ผมที่เลขที่...ถนน Boxirhat

ผมไม่ได้ใส่ที่อยู่จริงลงไป แต่ใส่ที่อยู่ของเพื่อนบ้านเพราะไม่ต้องการให้พ่อเห็นหนังสือ ทุกเดือนเราเฝ้ารอที่จะได้หนังสือฟรี และมันได้ผลเสียด้วย

แม้ว่าเราจะไม่ได้ใส่ใจตำราเรียนมากนัก แต่การอ่านหนังสือตามใจชอบแบบนี้มีส่วนช่วยพวกเรามาก ทั้งในการเรียนระดับประถมและมัธยม ผมมักสอบได้เป็นที่ 1 ในชั้นเรียนเสมอ. เรายังชอบอ่านข่าวสารเหตุการณ์ปัจจุบัน ซาลามกับผมจึงมักไปที่ห้องนั่งเล่นของครอบครัวนายแพทย์บานิกทุกวัน ซึ่งอยู่ตรงหัวมุมถนน เพื่ออ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่เขาเป็นสมาชิก

เหตุการณ์ร่วมสมัยในวัยเยาว์ อิสรภาพของอินเดีย
อนุทวีปอินเดียซึ่งอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษเกือบสองศตวรรษ กำลังจะได้รับอิสรภาพในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 14 สิงหาคม 2490. ในขณะนั้น "ขบวนการปากีสถาน" เรียกร้องให้แยกตัวประกาศพื้นที่ของอินเดียซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเป็นรัฐมุสลิมอิสระ และขบวนการนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เรารู้ดีว่าจิตตะก่องจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถานแน่ ๆ เพราะในเขตเบงกอลตะวันออก มุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่ไม่ชัดเจนว่าเขตอื่น ๆ ที่เป็นชาวมุสลิมจะถูกรวมอยู่ในปากีสถานหรือเปล่า และจะมีการแบ่งเส้นพรมแดนที่ตรงไหน

เพื่อนและญาติบนเลขที่ 20 ถนน Boxirhat ต่างถกเถียงกันตลอดเวลาว่าประเทศปากีสถานที่เป็นอิสระจะเกิดขึ้นได้หรือไม่และเมื่อไร เราต่างรู้ดีว่าปากีสถานจะเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก เพราะปากีสถานตะวันตกและตะวันออกจะถูกแยกเป็นสองส่วนอยู่ห่างกัน 3,200 กิโลเมตร คั่นกลางด้วยประเทศอินเดีย. ปากีสถานตะวันออก (หรือเบงกอลตะวันออกในขณะนั้น) จะมีพื้นที่ประมาณ 142,449 ตารางกิโลเมตร และมีขนาดเล็กกว่าปากีสถานตะวันตกหกเท่า (*) พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยพื้นที่ราบต่ำสลับกับแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบ หนองและบึง เป็นพื้นที่ที่ราบเรียบมากแม้แต่ในพื้นที่ซึ่งห่างจากทะเลถึง 160 กิโลเมตรยังมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 30 ฟุต
(*) สนใจดูแผนที่ประเทศปากีสถาน คลิก http://maps.google.com/maps?hl=en&tab=wl



ในบ้านของเรา พ่อซึ่งเป็นชาวมุสลิมผู้เคร่งครัดมีเพื่อนและผู้ร่วมงานที่ใกล้ชิดหลายคนที่เป็นชาวฮินดู (ลุงนิชิ ลุงนิบารัล ลุงโปรฟูลา) แต่แม้ตอนที่ผมยังเด็กผมรู้ดีว่าชาวมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในอินเดียมีความทุกข์ยากและไม่วางใจคนอื่น เรามักได้ข่าวจากหนังสือพิมพ์และวิทยุถึงการทะเลาะเบาะแว้งอย่างรุนแรงระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม แต่โชคดีที่จิตตะก่องไม่ค่อยมีเหตุการณ์ทำนองนี้

จุดยืนทางการเมืองของพวกเราชัดเจนมาก พวกเราต่างสนับสนุนการแยกประเทศจากอินเดีย ตอนที่อิบราฮิม น้องชายซึ่งอ่อนกว่าผม 5 ปี เริ่มพูดคำแรก เขาจะเรียกน้ำตาลขาวว่าเป็น "น้ำตาลจินนาห์" ส่วนน้ำตาลแดงซึ่งเขาไม่ชอบเลย เขาจะเรียกว่า "น้ำตาลคานธี" (จินนาห์เป็นผู้นำขบวนการแบ่งแยกประเทศ ในขณะที่คานธีเสนอให้รวมเป็นประเทศอินเดียประเทศเดียว) แม้แต่ตอนที่เล่านิทานในตอนเย็น แม่ยังเอาตัวละครอย่างจินนาห์ คานธีและลอร์ดเมาแบตตันมาประกอบในการเล่านิทานและเรื่องราวสอนศีลธรรม ทำให้เรารู้สึกว่าตัวละครเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา

ซาลาม พี่ชายของผมซึ่งแม้จะมีอายุแค่ 10 ขวบก็เริ่มทำตัวเป็นนักวิเคราะห์การเมืองและเป็นแหล่งข้อมูล และถึงทุกวันนี้เขาก็ยังทำตัวแบบนั้น ผมมักอิจฉาเด็กโตแถวบ้านที่ได้ถือธงเขียวกับพระจันทร์เสี้ยวและดาวขาว พร้อมกับตะโกนว่า "ปากีสถานซินดาบัด" ("ปากีสถานจงเจริญ") ผมจำได้เหมือนกับเรื่องนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ค่ำคืนที่ความฝันและความหวังของเรากลายเป็นความจริง ที่บ้านประดับประดาด้วยธงและผ้าสีเขียวและขาว ตามท้องถนนต่างประดับประดาเช่นเดียวกับในเมือง ที่ด้านนอกมีการปราศรัยทางการเมืองสลับกับการตะโกนคำขวัญ "ปากีสถานซินดาบัด" จวนเที่ยงคืนแล้ว ตามท้องถนนคลาคล่ำไปด้วยผู้คนราวกับเป็นห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ เราจุดพลุไฟบนดาดฟ้าและมองพลุไฟที่คนอื่นจุดเช่นกัน รอบตัวเรามีแต่แสงเงาของเพื่อนบ้านที่เริ่มจุดพลุไฟจนเต็มท้องฟ้ายามราตรี คนทั้งเมืองพากันตื่นเต้นกันยกใหญ่ ท้องฟ้าแต้มสีสันอันสดใสอย่างมีชีวิตชีวา

เมื่อใกล้เที่ยงคืน พ่อพาเราเดินไปตามถนน Boxirhat พ่อไม่เคยคิดเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองเลย แต่ในคืนนั้นพ่อแสดงการมีส่วนร่วมในฐานะที่ได้เข้าร่วมกับกองทัพแห่งชาติเพื่อสันนิบาตมุสลิม และพ่อสวมชุดทหารอย่างสมภาคภูมิพร้อมกับสวม "หมวกจินนาห์" แม้แต่น้องชายเล็ก ๆ ของผม อิบราฮิมอายุ 2 ขวบและตูนูซึ่งยังเป็นเด็กทารกอยู่ก็ไปกับเราด้วย เมื่อถึงเที่ยงคืนพอดี มีการปิดไฟ เมืองทั้งเมืองจมอยู่ในความมืด สักครู่หนึ่งไฟก็กลับคืนมาอีก และเรากลายเป็นประเทศใหม่แล้ว เสียงตะโกนคำขวัญสะเทือนเลื่อนลั่นซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกมุมเมืองจิตตะก่อง ปากีสถานซินดาบัด!! ในขณะอายุได้ 7 ขวบ ผมซึมซับได้ดีถึงความภาคภูมิใจและความอิ่มเอมใจของประชาชนที่มีอยู่ในสายเลือด และความภูมิใจเช่นนี้จะมีมาอีกมาก

ผ่านช่องมองภาพ ความฝันจากวัยเยาว์
พฤติกรรมแปลกๆ ของแม่
หลังจากมีมุมตัส, ซาลาม, ผม, อิบราฮิม และตูนู แม่ยังมีลูกชายอีก 4 คน ได้แก่ อายุบ, อาซัม, จาฮังเกอร์ และโมอีนู. แต่เมื่อผมอายุได้ 9 ขวบ แม่อันเป็นที่รักเริ่มทำตัวแปลก ๆ อย่างไม่มีเหตุผล เธอมีพฤติกรรมแปลกมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเป็นสัญญาณเริ่มต้นของปัญหาทางจิตใจที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตครอบครัวของเรา ปัญหานี้เลวร้ายลงทุกปี ช่วงที่สงบเธอเอาแต่พูดสิ่งที่ฟังดูไม่มีเหตุผลกับตัวเอง เธอสามารถนั่งสวดภาวนา อ่านหนังสือหน้าเดียวกันซ้ำไปซ้ำมาหรือท่องบทกวีซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน ในตอนแรกเด็ก ๆ อย่างพวกเราไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้เธอมีสภาพเหมือนคนเข้าทรงแบบนั้น

ในช่วงที่อารมณ์ร้ายเธอจะเริ่มด่าคนอื่นด้วยเสียงดัง และมักใช้ภาษาหยาบคาย บ่อยครั้งที่เธอด่าเพื่อนบ้าน มิตรหรือสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือแม้แต่คนที่ตายไปนานแล้ว เธอยังขุดขึ้นมาด่า เธอเฝ้าด่าศัตรูที่ไม่มีตัวตน และบางครั้งถึงไม่มีลางบอกเหตุเธอก็ทำตัวรุนแรง มันเป็นฝันร้ายสำหรับเราทุกคน เธอเริ่มทำร้ายผู้ใหญ่และเด็ก พ่อเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดเสมอ ตอนพวกเรานอนยามค่ำคืน เราไม่เคยแน่ใจว่าจะผ่านค่ำคืนนั้นไปได้อย่างสงบและไม่ถูกรบกวน บางครั้งเธออาจลุกขึ้นมาตะโกนด่าและทำร้ายร่างกาย ตอนที่แม่ใช้ความรุนแรง ผมต้องช่วยพ่อจับตัวแม่ และผมยังต้องช่วยคุ้มครองน้องๆ ให้พ้นจากสิ่งของที่แม่ขว้างปาใส่ หลังจากวิกฤตเช่นนั้นผ่านพ้นไปเธอก็จะสงบและเย็นลง และพยายามให้ความรักกับเรามากที่สุด คอยดูแลเด็กเล็กเป็นอย่างดี

เนื่องจากปัญหาของแม่เลวร้ายลง เธอเริ่มไม่ใส่ใจต่อผลการเรียนและสิ่งที่พวกเราทำทีละน้อย แม่ต้องเผชิญกับความทุกข์อย่างมากเมื่อพวกเราพยายามจับตัวเธอไว้ และพยายามหาทางรักษาเธอ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจมาก พ่อลองทุกอย่าง พ่อยอมจ่ายเงินเพื่อให้แม่เข้ารับการตรวจในสถานพยาบาลดีที่สุดในประเทศ คุณยายและคุณป้าทั้งสองก็เคยมีปัญหาทางจิตใจแบบเดียวกัน พวกเราจึงคิดว่าโรคนี้คงเป็นกรรมพันธุ์ แต่ไม่มีหมอคนไหนสามารถวินิจฉัยได้ และโชคดีที่ลูกของแม่ไม่มีสักคนที่ได้รับโรคนี้มา. พ่อกลัดกลุ้มมากและหันไปใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเหนือธรรมชาติ ทั้งการเป่าเสกคาถา ไสยศาสตร์หรือแม้กระทั่งการสะกดจิต แม่ไม่เคยให้ความร่วมมือกับการรักษาแบบนี้เลย และไม่ว่าวิธีการไหนก็ไม่ได้ผล บางวิธีช่างโหดร้ายทรมาน

แต่เด็ก ๆ อย่างเรารู้สึกว่าวิธีการรักษาพวกนี้บางอย่างน่าสนใจ หลังจากได้ดูนักจิตวิทยาใช้วิธีสะกดจิตแม่ เราก็เอาวิธีสะกดจิตมาใช้กันเอง ในระหว่างหาวิธีการรักษาเธอ หมอคนหนึ่งจ่ายยาระงับประสาทมากเกินไป ทำให้แม่ติดฝิ่น. เด็ก ๆ อย่างพวกเราค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะรับมือกับปัญหาดีขึ้น เราเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องให้แม่มาช่วย น้าสาวและมุมตัสกลายเป็นแม่เลี้ยงสำหรับพวกเรา และสุดท้ายเราก็สามารถยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยใช้อารมณ์ขันมาช่วย ซึ่งทำให้รู้สึกเจ็บปวดน้อยลง

"อากาศเป็นยังไงวะวันนี้" เรามักถามกันบ่อย ๆ หมายถึงว่าอารมณ์ของแม่จะเป็นอย่างไรบ้างในอีกสองสามชั่วโมงข้างหน้า ตอนที่แม่เงียบ ๆ เรารู้ว่าพายุกำลังมา บางครั้งก็เป็นคลื่นยักษ์ เราพยายามหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยเรียกชื่อใครคนใดคนหนึ่งเพื่อไม่ให้แม่บริภาษด่าทอ เราตั้งชื่อรหัสให้กับทุกคนในบ้าน เช่นหมายเลข 2 หมายเลข 4 และอื่น ๆ ชื่อรหัสกลับติดปากขึ้นมาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็ใช้ชื่อรหัสทั้งที่ไม่จำเป็น อิบราฮิมน้องชายของผมเขียนเรื่องขำขันเรื่องหนึ่งตอนอายุได้ 10 ขวบ ในเรื่องนั้นเขาเรียกบ้านของเราว่าเป็นสถานีวิทยุ และแม่จะ "ออกอากาศ" ตลอดเวลา มีการกระจายเสียงคำเทศนาของแม่เป็นหลายภาษา และเปรียบเทียบอารมณ์ของแม่ว่าเป็นเหมือน "เสียงดนตรีประกอบที่ดังตลอดเวลา"

ในท่ามกลางความเศร้าสลดของชีวิตเช่นนี้ พ่อกลับสามารถรักษาความสดใสไว้ได้ พ่อสามารถปรับตัวเองเข้ากับสถานการณ์ด้วยความเข้มแข็งและสง่างาม และพยายามทำให้ชีวิตครอบครัวเป็นปรกติในท่ามกลางความวุ่นวาย พ่อดูแลเอาใจใส่แม่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามทุกวิถีทางที่จะดูแลแม่ตลอดช่วงที่แม่มีปัญหาด้านจิตใจ 33 ปี. พ่อพยายามทำตัวกับแม่เหมือนเป็นปรกติ เหมือนกับแม่เป็นโซเฟีย ฆาตูล ซึ่งพ่อแต่งงานด้วยตอนปี พ.ศ.2473 ขณะที่พ่ออายุเพียง 22 ปี และพ่อสอนให้เราทำเช่นเดียวกัน พ่อซื่อสัตย์และปฏิบัติกับแม่เป็นอย่างดีตลอดช่วงเวลา 52 ปีที่แต่งงานกัน จนแม่เสียไปในปี พ.ศ.2525

แม้ก่อนที่แม่จะเสียชีวิตซึ่งเป็นช่วงที่อาการของแม่รุนแรงมาก พ่อต้องทำหน้าที่สองคนในเวลาเดียวกัน เป็นทั้งพ่อและแม่ในทุกเรื่อง พ่อทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อประโยชน์ในการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตขึ้น เราเป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้ได้ก็เพราะพ่อเป็นหลัก. พ่อรักการเล่าเรียน และในเวลาต่อมายังช่วยให้พวกเราได้เดินทางไปต่างประเทศ แต่พ่อก็ส่งเสริมให้เราใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและให้เงินติดกระเป๋าไม่มากนัก. นอกจากชอบอ่านหนังสือและนิตยสารแล้ว ซาลามกับผมยังมีความสนใจและมีงานอดิเรกอย่างอื่น เราชอบไปดูหนังและกินข้าวนอกบ้าน อาหารจานโปรดของเราไม่ได้มีราคาแพงนัก มันคือ "มันฝรั่งฝอย" ทอด หรือมันฝรั่งย่างที่มีไส้เป็นมันฝรั่งบดละเอียด ผ่านการทอด ผสมด้วยหัวหอมและแต่งกลิ่นด้วยน้ำส้มสายชู เรามักกินอาหารชนิดนี้กับชามะลิหนึ่งถ้วยที่ร้านน้ำชาใกล้ ๆ บ้านนี่เอง มันไม่ได้หรูเริดอะไรหรอก แต่เราก็ต้องหาเงินเพิ่ม เพราะพ่อไม่ได้สนใจความต้องการในส่วนนี้ของเรา

ผมได้รับเงินช่วยเหลือรายได้เพราะสามารถชนะในการสอบชิงทุน ในบรรดาโรงเรียนมัธยมทุกแห่งของจังหวัดจิตตะก่อง ทำให้ผมมีเงินติดกระเป๋าบ้างแม้จะไม่พอ ผมต้องหาเงินส่วนที่เหลือด้วยการใช้ประโยชน์จากความไว้วางใจของพ่อที่มีต่อลูกชาย ในช่วงที่มีลูกค้ามาก ๆ พ่อมักต้องการให้คนมาช่วยในร้านและยินดีมากถ้าผมจะไปช่วย ในช่วงนั้นเอง ผมจะกั๊กธนบัตรและเหรียญจากลิ้นชักเอาไว้บางส่วน เป็นเศษเงินที่พ่อเก็บเอาไว้ทอนลูกค้า การกรรโชกทรัพย์ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นเงินจำนวนมากหรอก แต่ก็พอจะตอบสนองความต้องการพื้น ๆ ของผมได้
พ่อไม่เคยรู้เรื่องนี้

กล้องถ่ายรูปตัวแรก และความรักชอบในศิลปะ
กล้องตัวแรกที่ซาลามและผมซื้อเป็นกล้องแบบกล่องธรรมดา เราเอามันติดตัวไปด้วยทุกที่ เราค้นหาข้อมูลและวางแผนเกี่ยวกับตัวแบบในการถ่ายภาพราวกับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งการถ่ายภาพบุคคล ภาพสถานที่ทั่วไป บ้าน เทศกาล ภาพวิวจากดาดฟ้า ผู้ร่วมมือกับเราเป็นเจ้าของร้านถ่ายภาพซึ่งมีชื่ออย่างเหมาะสมว่า "สตูดิโอลึกลับ" เขายอมให้เราเข้าไปใช้ห้องมืดและทดลองอัดรูปจากฟิล์มขาวดำ เราพยายามใส่เอฟเฟ็กต์แปลก ๆ ลงไป มีการปรับแต่งรูปด้วยสี สุดท้ายเราก็พัฒนามาใช้กล้องแบบพับซึ่งมีช่องมองภาพใกล้กับดวงตา ทำให้เรามีช่องทางมองโลกแบบใหม่

ตอนนั้นผมเริ่มสนใจการวาดและเขียนรูป เพื่อนกับผมได้เข้าไปขอฝึกงานกับศิลปินเชิงพาณิชย์ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่บ้าง ผมเรียกเขาว่าเป็นกูรู ("อุสตาส") ของผม ที่บ้านผมจะจัดเตรียมขาตั้ง ผืนผ้าใบและสีให้พ้นหูพ้นตาพ่อ พ่อเป็นมุสลิมที่เคร่งครัด และเชื่อว่าศาสนาอิสลามไม่ประสงค์ให้มีการวาดภาพคน และอันที่จริงสิ่งที่พ่อต้องการมีเพียงอย่างเดียวคือ อยากให้พวกเราเรียนและเรียน งานอดิเรกนอกเหนือจากนั้นจึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ. ลุงและป้าบางคนในครอบครัวเราชอบศิลปะ และกลายเป็นผู้ให้ความร่วมมือกับผม คอยส่งเสริมและให้กำลังใจผม ผลพลอยได้จากงานอดิเรกเหล่านี้ทำให้เราสนใจงานด้านกราฟฟิคดีไซน์ และผมเริ่มเก็บสะสมแสตมป์และสามารถพูดให้เจ้าของร้านข้าง ๆ ยอมให้เราวางกล่องโชว์แสตมป์สำหรับขายที่หน้าร้านเขา

โรงเรียนมัธยมจิตตะก่อง และวิชาลูกเสือ
ผมเริ่มไปดูหนังที่ฉายเป็นภาษาฮินดีและหนังฮอลลีวูด และเริ่มร้องเพลงโฟล์คซองในบรรยากาศที่แสนจะโรแมนติกพร้อม ๆ กับลุงสองคน เพลงที่ดังมากในยุคของเรามีชื่อว่า "Come my heart, let us go somewhere else".

การเล่าเรียนที่โรงเรียนมัธยมจิตตะก่องทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปมากเป็นครั้งแรก บรรยากาศในโรงเรียนมัธยมมีความหรูหรา เพื่อนร่วมชั้นของผมเป็นลูกของข้าราชการที่ถูกย้ายมาจากหัวเมืองต่าง ๆ พวกเขามีความทันสมัยมากกว่านักเรียนที่ผมเคยเรียนด้วย และหลายคนมีโอกาสไต่เต้าขึ้นไป และบางคนกลายเป็นข้าราชการด้วย โรงเรียนมัธยมจิตตะก่องเป็นโรงเรียนดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ แต่สิ่งที่ทำให้ผมสนใจตอนที่เรียนอยู่ที่นั่นคือการส่งเสริมวิชาลูกเสือ สโมสรลูกเสือในโรงเรียนกลายเป็นที่ที่ผมไปทำกิจกรรมนอกเวลาหลายครั้ง เราทำกิจกรรมร่วมกับเด็กผู้ชายที่มาจากโรงเรียนอื่น ทั้งการซ้อม เล่นเกม งานศิลปะ พูดคุย ปีนเขาในชนบท ออกค่าย ทำกิจกรรมรอบกองไฟและการแข่งแรลลี่ใหญ่ ๆ

ในช่วง "สัปดาห์ระดมทุน" เราพยายามหาเงินด้วยการเร่ขายของ ขัดรองเท้า ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟตามร้านน้ำชา นอกจากจะสนุกแล้ว วิชาลูกเสือยังทำให้ผมคิดถึงสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ เป็นคนมีความเมตตา มีความเคารพต่อคำสอนทางศาสนาไม่ใช่แค่เรื่องพิธีกรรม มีความรักและต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน วิชาลูกเสือและคะแนนสอบที่ผมทำได้ดีทำให้พ่อยอมให้ผมทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเหล่านี้ พ่อให้เงินกับผมเต็มที่สำหรับทำกิจกรรมลูกเสือ และเริ่มมีความไว้วางใจผมอย่างมาก และเมื่อผมโตขึ้น พ่อก็ยินดีสนับสนุนกิจกรรมที่ผมทำอย่างเต็มที่เสมอ

คอซี่ ซาฮิบ: ผู้จุดประกายความฝัน
ผมยังจำได้ถึงการเดินทางด้วยรถไฟเพื่อไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติปากีสถานครั้งแรกในปี 2496 ระหว่างทางเราได้หยุดแวะชมอนุสรณ์สถานและซากปรักหักพังต่าง ๆ การเดินทางครั้งนั้นเหมือนกับการเดินทางข้ามเวลาผ่านอดีตของเรา เป็นเหมือนการจาริกแสวงบุญเพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริง ในช่วงที่เดินทางพวกเรามักร้องเพลงและเล่นด้วยกัน แต่ระหว่างที่ยืนอยู่หน้าตัชมาฮัลในกรุงอัคระ ผมบังเอิญเห็นคอซี่ ซีลาจูล ฮัฆ ผู้ช่วยครูใหญ่ซึ่งเป็นที่รักของเด็ก ๆ กำลังเช็ดน้ำตาอยู่เงียบ ๆ เขาไม่ได้หลั่งน้ำตาให้กับอนุสรณ์สถานหรือให้กับอดีตคู่รักซึ่งถูกฝังซากที่นี่ หรือให้กับบทกวีที่จารอยู่บนอนุสาวรีย์หินอ่อนขาว เปล่าเลย เขาบอกว่าเขาร้องไห้ให้กับชะตากรรมของพวกเรา ภาระทางประวัติศาสตร์ที่เราต้องแบกรับต่อไป และไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน

ผมอายุแค่ 13 แต่ก็อดสะเทือนใจกับสิ่งที่คุณครูมองไปในอนาคตไม่ได้ คอซี่ ซาฮิบ กลายเป็นเพื่อน เป็นนักปรัชญาและเป็นผู้นำทางในชีวิตของผม ด้วยความสนับสนุนจากเขา วิชาลูกเสือได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกกิจกรรมของผม ผมกลายเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ และไม่นานคอซี่ ซาฮิบก็ปล่อยให้ผมดำเนินการเอง ผมได้พบเพื่อนมากมายในขบวนการนี้ หนึ่งในจำนวนนั้นคือมาห์บุบ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ร่วมงานกับผมที่ธนาคารกรามีน แต่ผู้ที่จุดประกายความฝันของผมคือ คอซี่ ซาฮิบ เขาเป็นผู้ที่มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งทางศีลธรรมต่อเด็กทุกคนภายใต้การดูแลของเขา เขามักสอนให้พวกเราตั้งเป้าหมายไว้สูง ๆ ช่วยให้พวกเราทำตามความฝันและความกระหายที่จะทำสิ่งต่าง ๆ เขาไม่ชอบสอน แต่จะปฏิบัติให้ดู และใช้การสื่อสารจากใจสู่ใจซึ่งมีอิทธิพลต่อผมตลอดชีวิต

ในปี 2516 ในช่วงหลายวันที่เกิดความวุ่นวายก่อนจะเกิดสงครามปลดปล่อยบังคลาเทศ ผมกับพ่อและน้องชายอิบราฮิมได้เดินทางไปเยี่ยมเขา เราพูดคุยกันถึงปัญหาและความยุ่งยากที่กำลังเกิดขึ้น อีกหนึ่งเดือนต่อมา คอซี่ ซาฮิบ ซึ่งกลายเป็นชายชราผู้อ่อนแอแล้วได้ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมระหว่างนอนหลับอยู่โดยคนใช้ที่ต้องการขโมยเงินจากเขาเพียงเล็กน้อย ในช่วงที่สับสนวุ่นวายเช่นนี้ พวกเขาไม่เคยจับฆาตกรได้ เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ที่รู้จักเขา ผมรู้สึกสะเทือนใจมาก เมื่อมองย้อนหลังไป ผมตระหนักดีว่าน้ำตาที่เขาหลั่งที่ตัชมาฮัลเป็นคำพยากรณ์ถึงความทุกข์ยากที่กำลังรอเขาและพี่น้องประชาชนของเขา

ชีวิตนักศึกษาในสหรัฐฯ พ.ศ. 2508-2515
เท่าที่จำความได้ ผมฝันมาตลอดที่จะเป็นครู และทุกวันนี้ก็ยังทำหน้าที่นี้อยู่ น้อง ๆ ของผมมักบอกว่าผมเป็นพวกช่างสอน และผมจะคอยเข้มงวดดูแลให้พวกเขาทำคะแนนดี ๆ ที่โรงเรียน และถ้าน้อง ๆ ทำคะแนนได้ไม่ดี พวกเขาต้องมาอธิบายกับผมว่าทำไมไม่สามารถทำได้ดีกว่านั้นได้

หลังจบชั้นมัธยมในปี 2498 ผมสมัครเข้าเรียนในวิทยาลัยจิตตะก่อง ซึ่งเป็นช่วงเวลาสองปีที่ตื่นเต้นที่สุดในชีวิตผม ประสบการณ์ช่วงสองปีนั้นอาจทำให้ผมเขียนหนังสือได้อีกเล่มทีเดียว ในปี 2500 ผมสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธากา แต่สี่ปีที่นั่นเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อและไร้รสชาติ หลังจากมหาวิทยาลัยในปี 2504 ตอนที่อายุได้ 21 ปี ผมได้รับตำแหน่งเป็นผู้สอนที่วิทยาลัยจิตตะก่อง วิทยาลัยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยชาวอังกฤษเมื่อปี 2479 และเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในอนุทวีปนั้น ผมสอนที่นั่นตั้งแต่ปี 2504-2509 ผมสอนเศรษฐศาสตร์ให้กับนักศึกษาซึ่งมีอายุพอ ๆ กับผม

โรงงานหีบห่อ ธุรกิจส่วนตัวที่ประสบผลสำเร็จ
ในช่วงเวลานั้น ผมพยายามทำธุรกิจส่วนตัวด้วย ผมสังเกตว่าวัสดุที่ใช้หีบห่อทุกอย่างต้องนำเข้าจากปากีสถานตะวันตก พวกเราในปากีสถานตะวันออกไม่มีความสามารถที่จะผลิตกล่องหรือวัสดุหุ้มห่อเองเลยหรือ ผมจึงชักชวนพ่อ เพื่อขอให้จัดตั้งโรงงานหีบห่อและโรงพิมพ์ ผมเป็นคนเตรียมข้อเสนอโครงการและติดต่อขอเงินกู้จากธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมของรัฐ ในตอนนั้นมีผู้ประกอบการชาวเบงกาลีเพียงไม่กี่คนที่ขอลงทุนด้านอุตสาหกรรม ธนาคารจึงอนุมัติเงินกู้ให้เราทันที

ผมต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายก่อนจะก่อตั้งโรงงานหีบห่อและโรงพิมพ์ได้สำเร็จ มีการจ้างงานคนงาน 100 คน อุตสาหกรรมหีบห่อใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ในกรุงละฮอร์ ปากีสถานตะวันตก แต่ด้วยความเป็นผู้รักชาติเบงกาลี ผมเชื่อว่าเราสามารถผลิตได้ถูกกว่าของที่นำเข้าจากปากีสถานตะวันตก สินค้าที่เราผลิตประกอบด้วยซองบุหรี่ กล่องขนาดใหญ่ กล่องบุหรี่เล็ก กล่องเครื่องสำอาง ไพ่ ปฏิทินและหนังสือ โครงการของผมประสบความสำเร็จมากและมีผลกำไรอย่างงาม

ในชีวิตผมการหาเงินไม่เคยเป็นเรื่องใหญ่ ผมไม่เคยมีความสนใจอย่างจริงจังที่จะเป็นนักธุรกิจ แต่ผมทำโรงงานหีบห่อเพราะต้องการพิสูจน์กับตัวเองและกับครอบครัวว่า ถ้าตั้งใจทำธุรกิจ ผมก็ประสบความสำเร็จได้. พ่อเป็นประธานคณะกรรมการของโรงงาน ผมทำหน้าที่เป็นประธานฝ่ายบริหาร ตอนแรกพ่อไม่อยากให้เราไปยืมเงินจากธนาคาร พ่อเป็นคนรุ่นเก่าและไม่เชื่อในเรื่องสินเชื่อ การมีหนี้กับธนาคารทำให้พ่อกังวลมาก และพ่อบีบให้ผมต้องชำระเงินกู้คืนก่อนกำหนด น่ากลัวเราจะเป็นธุรกิจใหม่เพียงแห่งเดียวที่สามารถชำระหนี้คืนได้ก่อนเวลาที่กำหนด ตอนที่ผมเอาเงินไปคืนธนาคาร พวกเขาเสนอที่จะให้เงินอีก 10 ล้านตากาเป็นเงินกู้เพื่อก่อตั้งโรงงานกระดาษ แต่พ่อไม่ต้องการฟังข้อมูลพวกนี้

ตอบรับทุนฟูลไบรท์ เรียนที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด
ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมเกิดความมั่นใจมาก ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าเงินคงไม่เป็นอุปสรรคในชีวิต ตอนนั้นผมทำหน้าที่สอนครึ่งเวลาและเป็นนักธุรกิจอีกครึ่งเวลา. ผมรักการสอนมาก เมื่อมีโอกาสจะไปเรียนระดับปริญญาเอกในสหรัฐฯ ผมจึงตอบรับทุนฟูลไบรท์โดยทันที การเดินทางครั้งนั้นเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งที่ 3 ของผม สองครั้งแรกเป็นการเดินทางในฐานะลูกเสือ ผมเคยไปประชุมลูกเสือโลกที่เมืองไนแอการา แคนาดา เมื่อปี 2498 และไปที่ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ในปี 2502 แต่คราวนี้ผมโตแล้วและต้องเดินทางตัวคนเดียว การเดินทางไปถึงมหาวิทยาลัยโคโลราโด ที่เมืองโบลเดอร์ ในช่วงฤดูร้อนปี 2508 เป็นประสบการณ์ที่ฝังใจอย่างหนึ่งสำหรับผม

นักศึกษาในบังคลาเทศให้ความเคารพต่ออาจารย์มาก และไม่เคยเรียกชื่ออาจารย์ด้วยชื่อแรก บางทีไม่กล้าพูดเลยด้วยซ้ำ พวกเราจะพูดกับผู้ใหญ่ก็ต่อเมื่อผู้ใหญ่บอกให้พูด และเมื่อพูดก็ต้องพูดด้วยความเคารพยำเกรงอย่างมาก แต่ในอเมริกา ครูถือว่าตัวเองเป็นเพื่อนและเป็นผู้ช่วยนักศึกษา ผมมักเห็นอาจารย์และนักศึกษานั่งคุยเท้าเปล่ากันบนพื้นหญ้า กินอาหารด้วยกัน เล่าเรื่องขำขัน พูดคุยและเรียกกันด้วยชื่อแรก มีการเชิญให้ไปบ้านของกันและกัน ความสนิทสนมคุ้นเคยเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจจินตนาการได้ในบังคลาเทศ

นักศึกษาหญิงในบังคลาเทศ
การได้เรียนร่วมกับนักศึกษาหญิงวัยรุ่นที่โคโลราโด ทำให้ผมรู้สึกอายและเขิน จนไม่รู้จะจ้องมองอะไรดี ที่วิทยาลัยจิตตะก่องมีนักศึกษาหญิงอยู่ไม่มากนัก จากนักศึกษาทั้งหมด 800 คนจะมีผู้หญิงไม่เกิน 150 นอกจากนั้นผู้หญิงยังถูกแยกออกจากผู้ชาย นักศึกษาหญิงไม่ค่อยมีส่วนร่วมในกิจกรรมนักศึกษาหรือกิจกรรมอื่น ๆ มากนัก ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เรามีการเล่นละครในมหาวิทยาลัย นักศึกษาหญิงจะไม่มีโอกาสได้แสดงบนเวที นักศึกษาชายก็ต้องใส่เสื้อผ้าและแต่งหน้าพร้อมกับสวมบทบาทเป็นผู้หญิงแทน นักศึกษาหญิงมักจะถูกจำกัดอยู่ใน "ห้องรวมสำหรับผู้หญิง" ซึ่งเป็นสถานที่ปกปิดมิดชิด และไม่อนุญาตให้นักศึกษาชายเข้าไป

นักศึกษาหญิงที่เรียนกับผมเป็นคนขี้อายมาก เมื่อถึงเวลาเข้าชั้นเรียน พวกเธอจะจับกลุ่มนั่งรอที่นอกห้องพักครู พอครูเดินออกมา ครูจะต้องไม่ทักทายนักศึกษา ไม่มองที่หน้าของนักศึกษาหญิง และต้องเดินตรงไปที่ห้องเรียน ส่วนนักศึกษาหญิงก็จะถือหนังสือเดินตามไปต้อย ๆ มองแต่ที่เท้าของตัวเอง พยายามหลีกเลี่ยงไม่จ้องมองเด็กผู้ชาย ด้วยความเคารพต่อครู เด็กผู้ชายเองก็ไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเด็กผู้หญิง ไม่กล้าไปคุยกับพวกเธอ นักศึกษาหญิงในบังคลาเทศจะนั่งแยกจากผู้ชาย จะไม่มีการปะปนกันเด็ดขาด ในฐานะผู้สอน ผมหลีกเลี่ยงที่จะถามคำถามซึ่งทำให้พวกเธออับอายต่อหน้าเด็กผู้ชาย แต่ผมมีวิธีการสอนที่ต้องการรู้จักนักศึกษาทุกคน ในช่วงต้นปีการศึกษา ผมจะพยายามจำชื่อนักเรียนทุกคนเพื่อให้สามารถพูดคุยกับพวกเขาได้เป็นการส่วนตัว เมื่อชั้นเรียนจบ เด็กผู้หญิงจะเดินตามผมเป็นแถวเรียงหนึ่ง เอามือถือหนังสือไว้ด้านหน้าและมองลงเฉพาะพื้น เมื่ออยู่นอกห้องเรียน ไม่มีเหตุผลสมควรใดเลยที่ผมจะเดินเพื่อไปขอพูดคุยกับพวกเธอ

ลองคิดดูสิว่าผมจะรู้สึกขื่นขมอย่างไรเมื่อไปถึงอเมริกาในช่วงฤดูร้อนปี 2508 ที่มหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยเสียงดนตรีร็อค วัยรุ่นหญิงนั่งอยู่ที่สนามหญ้าพร้อมกับถอดรองเท้าออกเพื่ออาบแดด หัวเราะต่อกระซิกกัน ผมอายมาก ไม่กล้าที่จะคุยกับพวกเธอ ไม่กล้าแม้แต่จะจ้องมอง ยุคนั้นเป็นยุคที่คนอเมริกันเริ่มทดลองชีวิตกับยาเสพติด เหล้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนักศึกษา แต่ผมไม่เคยดื่มมาก่อน ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่เป็นเพราะการอบรมเลี้ยงดูที่ผ่านมา แต่เป็นเพราะบุคลิกของผมทำให้ผมไม่ชอบไปงานปาร์ตี้หรือไปยังสถานที่ที่ผู้คนมีพฤติกรรมห้าว ๆ ผมเองก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรมากมายนักจากอเมริกา สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดคือการค้นพบความเป็นอเมริกัน

ติดโทรทัศน์ ร่วมขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม และชีวิตในมหาวิทยาลัย
ที่ธากาเรามีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2507 ก่อนจะมาอเมริกา ผมเคยดูโทรทัศน์ที่บ้านเพื่อน แต่เมื่ออยู่ในอเมริกา ผมเริ่มติดโทรทัศน์ รายการโชว์ที่ผมชอบรายการหนึ่งเป็นรายการที่ชื่อ Sixty Minutes แต่ผมก็ชอบรายการตลกที่จำลองจากสถานการณ์จริง (sitcom) อย่างเช่นเรื่อง I Love Lucy, Giligan's Island, Hogans' Herves ผมชอบรายการปัญญาอ่อนพวกนี้มาก ผมพบว่าผมสามารถพูดและคิดได้อย่างชัดเจนตอนที่สายตาผมจ้องมองที่โทรทัศน์ แต่เมื่อปิดโทรทัศน์ทีไร ผมไม่สามารถทำงานได้เลย แม้จนทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สงครามเวียดนามรุนแรงมากที่สุด ผมกับเพื่อนนักศึกษาต่างชาติจึงเข้าร่วมเดินขบวนในกลุ่มรณรงค์ต่อต้านสงคราม แต่ผมเป็นคนขี้อายมากและไม่เคยพูดต่อหน้าที่ชุมนุมเลย

เมื่ออายุได้ 16 ปี ผมได้รับเลือกตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคก้าวหน้าเพื่อเอกภาพของนักศึกษา เป็นพรรคของนักศึกษาในวิทยาลัยจิตตะก่อง แต่ก็เป็นพรรคสำคัญที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งของสหภาพนักศึกษา ตอนนั้นพวกเราต่อต้านรัฐบาลซึ่งอนุรักษ์นิยม กดขี่ และต่อต้านความศรัทธาต่อศาสนาของประชาชน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมพร้อมที่จะก้มหัวให้กับคำสั่งของพรรคฝ่ายซ้ายจัดที่เคลื่อนไหวแบบใต้ดิน และเป็นพรรคที่ควบคุมพวกเราอีกทอดหนึ่ง สิ่งที่ผมทำกลับตรงข้าม

ด้วยความสนับสนุนจากคณะกรรมการกลาง ผมได้วางแผนทำรัฐประหารในพรรคนักศึกษา มีการขับนักศึกษารุ่นพี่ที่คอยบงการเราออกไป การได้เป็นเลขาธิการพรรคนับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของผมแล้ว แต่การใช้ตำแหน่งนี้เพื่อท้าทายกลุ่มอำนาจเก่าเป็นเหมือนการทิ้งระเบิดทางการเมืองในหมู่นักศึกษา และส่งผลกระเพื่อมไปทั่วจังหวัดจิตตะก่อง นับแต่นั้นมา ผมก็พยายามที่จะกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่เป็นของตนเอง ช่วงที่อยู่อเมริกา ผมจึงต่อต้านสงครามเวียดนาม ผมพยายามเปิดใจให้กว้าง ไม่ได้ทำตัวตามกระแสไปทั้งหมด หรือทำตัวทวนกระแสของกลุ่ม

สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดในมหาวิทยาลัยที่โบลเดอร์คือศูนย์กลางนักศึกษา ผมสามารถนั่งเป็นชั่วโมงเฝ้ามองดูนักศึกษาเข้าและออกจากศูนย์ นั่งคุยกัน หัวร่อต่อกระซิก กินอาหาร แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแปลก ๆ วัยรุ่นในอเมริกาดูเข้มแข็ง มีพลังและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา. เพื่อนฝ่ายซ้ายจากบังคลาเทศไม่ชอบความคิดในเชิงบวกที่ผมมีต่ออเมริกา แต่ผมก็ไม่ได้ใส่ใจมากนัก. ที่กรุงธากา ยังคงมีกระแสต่อต้านอเมริกามาก นักศึกษาในทุกมหาวิทยาลัยต่างประณามสหรัฐฯ ว่าเป็นนายทุนสกปรก และมักตะโกนคำขวัญว่า "แยงกี้กลับบ้านไป" แต่ผมเขียนจดหมายตอบเพื่อนที่บ้านว่า "สหรัฐฯ เป็นประเทศที่สวยงาม ชีวิตผมคงขาดอะไรไปบางอย่างถ้าไม่มีโอกาสมาที่นี่ และได้เห็นสถานที่นี้ ได้สัมผัสกับเสรีภาพส่วนบุคคลที่ผู้คนที่นี่มี"

ผมกำลังสนุก ผลการเรียนก็ไปได้ดี ผมมีเวลาที่จะเรียนเต้นรำแบบ Square dance ด้วยซ้ำ แต่นั่นเป็นครั้งเดียวที่ผมเคยเต้นรำ ผมไม่เคยลองการเต้นรำแบบทวิสต์, ร็อคแอนโรล, หรือสโลวแดนซ์. ผมรู้สึกว่าเพื่อนนักศึกษาคนอื่นเก่งกาจในเรื่องนี้มาก แต่ผมกลับทำไม่ได้ ผมทำไม่ได้แม้แต่ท่วงท่าง่าย ๆ และเป็นเหตุที่ทำให้ผมหลีกเลี่ยงจะไปงานปาร์ตี้ที่ต้องมีการเต้นรำหรือดื่มสุรา ตอนที่ผมพยายามทำใจว่าคนที่ดื่มสุราทุกคนคงไม่เลวไปหมดหรอก แต่ผมก็ไม่เคยคิดจะดื่ม ผมไม่เคยมีความรู้สึกอยากดื่มเลย

เหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวันเป็นสิ่งที่ตรึงตราใจผมมาก ผมไม่เคยลืมเลือนครั้งที่เดินเข้าไปในร้านอาหารที่โบลเดอร์และบริกรเข้ามาพูดว่า "สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อเชอริล" และยิ้มให้ผมอย่างเป็นมิตรพร้อมกับส่งแก้วน้ำที่มีน้ำแข็งจำนวนมากให้ ในเอเชียใต้ หรือในประเทศผมเอง จะไม่มีใครปฏิบัติต่อคุณอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาเช่นนี้. เพื่อนนักศึกษาในกลุ่มของเราทั้งที่มาจากปากีสถานตะวันตก ละตินอเมริกา อัฟริกา แย่งกันจีบเชอริล พยายามหาทางพูดกับเธอ พวกเขาเรียกเธอว่า "น้องหนู" และเธอไม่เพียงพออกพอใจกับคำล้อเลียนเช่นนี้แถมยังล้อเลียนกลับด้วย ผมต้องตกตะลึงอย่างมาก เป็นไปไม่ได้ที่ผมจะทำแบบนี้ ผมอายจนไม่กล้ามองเธอที่ตา แค่ฟังเด็กผู้ชายคนอื่นพูดก็ทำให้ผมไม่สบายใจแล้ว

ในแง่ของอาหาร ยิ่งผมคิดถึงอาหารที่ปรุงด้วยเครื่องเทศของแม่มากเท่าไร ผมก็เกลียดเฟรนช์ฟรายด์ และบีฟเบอร์เกอร์ มันฝรั่งทอดและซอสมะเขือเทศมากเท่านั้น ผมเบื่ออาหารอเมริกันมาก และยอมสูญเสียทุกอย่างในโลกเพื่อจะมีโอกาสกินข้าวและดาล หรือกินของหวานแบบบังคลาเทศ

เชอริลถามผมว่า "คุณอยากให้ทอดไข่แบบไหนดีค่ะ?"
"คุณหมายความว่าอย่างไร" ผมถาม
"หมายถึงว่าคุณอยากให้ทอดแบบไข่ดาว ไข่กวน ต้มสุก ทอดในน้ำ หรือทอดแบบไข่เจียว?"
"ก็ทอดไง"
"ทอดยังไงละค่ะ"
"คุณหมายความว่ายังไง ผมต้องการให้ทำอะไรกับไข่หรือ ก็ผมบอกคุณแล้วนี่"
"คุณต้องการให้ทอดสุกข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง"
"อะไรก็ได้"

ตอนนั้นเพื่อนนักศึกษาเอาแต่หัวเราะล้อเลียนผมที่ตัดสินใจไม่ได้ และพยายามอธิบายให้เชอริลฟังว่าในเบงกอลตะวันออก คนที่นั่นมีวัฒนธรรมต่างไป "เอาล่ะ เอาแบบทอดสุกข้างเดียวก็ได้" ผมพูดและรู้สึกอับอายกับการที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ และกลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วไป

"คุณอยากให้มันสุกทั้งหมดหรือให้มันเปียก"
"ยังไงก็ได้"
"เสิร์ฟกับขนมปังปิ้ง มัฟฟินหรือขนมปังดีค่ะ"
"ยังไงก็ได้"
"คุณสามารถเลือกของแถมได้จะเป็นมันฝรั่งทอด มันฝรั่งสับสีน้ำตาลหรือมันฝรั่งบดดีคะ"

ผมชะงักไปเล็กน้อยและคิดในใจว่า นี่เธอตั้งใจทำให้ผมอับอายต่อหน้าคนอื่นหรือเปล่า แต่ในเวลาต่อมาผมตระหนักดีว่านั่นเป็นวิถีแบบอเมริกัน การมีทางเลือกไม่สิ้นสุด. "คุณต้องการให้เสิร์ฟพร้อมกับไส้กรอก แฮมหรือเบคอนดีคะ" และยังมีรายการถามอย่างอื่นตามมาอีก แต่ในขณะที่เด็กผู้ชายคนอื่นเอาแต่ล้อเลียนกับอาการอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ ของผม ด้วยความอับอาย ผมเกือบจะตะโกนออกไปว่า "เอาล่ะ ผมทำไข่เองก็ได้นะ" แต่ผมสุภาพและอายเกินกว่าที่จะขัดขืนคำถามที่เกิดขึ้นเป็นระลอก และผมยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปิดเผยแบบคนอเมริกันได้ ผมยังเก็บตัวเกินไป และเริ่มรู้สึกกลัวที่จะไปร้านอาหาร

หลังจากฤดูร้อนที่โบลเดอร์ในท่ามกลางนักศึกษาที่มาจากหลายประเทศ และมหาวิทยาลัยที่สวยงามเต็มไปด้วยแสงแดด ตามหลักเกณฑ์ของทุนผมต้องเดินทางไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ ที่รัฐเทนเนสซี ซึ่งต่างไปจากที่เดิมมาก เมื่อไปถึงที่เมืองแนชวิลล์ ผมรู้สึกหดหู่และเกือบจะร้องไห้ สนามบินมันช่างเล็กเหลือเกิน และที่นี่ก็ไม่มีมหาวิทยาลัยที่น่าสนุกแบบที่โบลเดอร์ เมืองแห่งนี้ดูช่างน่าเบื่อเหลือเกินเมื่อเทียบกับโบลเดอร์ที่มีทิวทัศน์อันสวยงาม

มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์เพิ่งจะเปิดรับนักศึกษาทุกเชื้อชาติเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง และมีร้านอาหารเล็ก ๆ ที่ผมไปกินชื่อว่า The Campus Grill ซึ่งเมื่อหกเดือนก่อนยังให้บริการเฉพาะคนขาว ไม่ค่อยมีนักศึกษาจากต่างชาติที่นี่และไม่มีใครที่มาจากบังคลาเทศเลย ผมรู้สึกโดดเดี่ยวและคิดถึงบ้าน อากาศในฤดูหนาวหนาวเหน็บ และผมไม่ได้เตรียมตัวกับมัน. ที่ "เวสลีฮอล" ซึ่งเป็นหอพักของผมก็ถูกเปลี่ยนชื่ออย่างรวดเร็วว่าเป็น "เวสลีเฮล" (นรกเวสลี) มันเก่าแก่และเหม็นมาก ท่อนำความร้อนส่งเสียงดังตลอดทั้งคืน ที่อาบน้ำยังเป็นแบบเปิดอย่างในสมัยโบราณ ผมรู้สึกอายและหัวเก่ามาก ผมไม่สามารถแก้ผ้าอาบน้ำต่อหน้าคนแปลกหน้าได้ (แม้จนทุกวันนี้ผมก็ยังไม่สามารถทำแบบนี้ได้) ผมจึงอาบน้ำโดยสวมลุงจี (โสร่ง) ที่ปิดร่างกายตั้งแต่เอวลงมา เหมือนที่คนในบังคลาเทศทำเวลาอาบน้ำ

การได้สัมพันธ์กับศาสตราจารย์ นิโคลัส จอร์ชเจกู-โรเค็น
ผมเป็นนักศึกษาทุนฟูลไบรท์เพียงคนเดียวที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ในปีนั้น แค่ภาคเรียนแรกก็ทำให้ผมเบื่อ หลักสูตรระดับปริญญาโทที่สอนเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่นั่น เป็นหลักสูตรปริญญาโทที่เบามาก และมีเนื้อหาเทียบไม่ได้เลยกับหลักสูตรปริญญาโทขั้นสูงที่ผมเคยเรียนมาก่อน ผู้สอนประวัติศาสตร์ยุโรปคนหนึ่งทำให้ผมผิดหวังมาก เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือให้ผมท่องตามสิ่งที่เขาพูด. โชคดีมากที่หลังจากนั้นพวกเขาจัดให้ผมอยู่ในชั้นเรียนเศรษฐศาสตร์ขั้นสูง และเลื่อนระดับให้ผมเข้าเรียนในขั้นปริญญาเอกเลย. ประสบการณ์ที่มีคุณค่าในการเรียนที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ คือการได้พบและสัมพันธ์กับศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงชาวโรมาเนียชื่อ นิโคลัส จอร์ชเจกู-โรเค็น

นักศึกษากลัวเขาเพราะเขาให้คะแนนต่ำ หลายคนไม่ค่อยชอบเขา นักศึกษามักจะล้อเลียนการให้คะแนนของเขาว่า "ถ้าอาจารย์ทำตัวสุภาพกับคุณมาก ขอให้รู้ไว้ด้วยเถอะว่าเขากำลังจะ "ฆ่า" คุณ" ถ้ามีนักศึกษาคนไหนได้เกรด B จากเขา ก็เป็นที่เลื่องลือกันในหมู่นักศึกษามากว่าคน ๆ นี้ได้เกรด B จาก จอร์ชเจกู-โรเค็น เขาเคยให้เกรด A ครั้งหนึ่งกับนักศึกษาเกาหลี เพียงครั้งเดียวเท่าที่มีคนจำได้

มีข่าวลือในมหาวิทยาลัยว่าเขาทำลายชีวิตนักศึกษาหลายคน ทำให้นักศึกษามักไม่กล้าจะเข้าเรียนกับเขา โชคดีของผมที่มีโอกาสพบกับอาจารย์ที่เคร่งครัดและเจ้าระเบียบ และผมไม่คิดว่ามีใครดีเกินเขา ตอนนั้นผมตระหนักดีแล้วว่าที่ผ่านมาเป็นการเรียนท่องสูตรด้วยความจำ หลังจากมีโอกาสเข้าชั้นเรียนเป็นเวลาสองชั่วโมงกับศาสตราจารย์จอร์ชเจกู-โรเค็น, สูตรต่าง ๆ หลุดไปจากสมองผม องค์ความรู้ที่งดงามกลับเข้ามาแทนที่ จากการเรียนกับเขาทำให้ผมรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องท่องจำสูตรเลย สิ่งที่เราต้องทำก็คือทำความเข้าใจกับแนวคิด ทำให้ผมประทับใจศาสตราจารย์จอร์ชเจกู-โรเค็นอย่างมาก. ผมได้เรียนรู้บทเรียนง่าย ๆ จากเขาซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่มีวันลืม และยังมีประโยชน์ต่อผมมากในช่วงที่พัฒนาธนาคารกรามีน

แม้ว่าศาสตราจารย์จอร์ชเจกู-โรเค็นจะกลายเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของผม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรืออบอุ่นเสียทีเดียว เขาเป็นอาจารย์ชาวยุโรปหัวเก่าที่พยายามรักษาระยะห่างไว้ ตำราที่เขาแต่งมีเนื้อหายากเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้ แต่เขาสามารถพูดได้อย่างชัดเจนและกระชับ เขาเป็นนักคณิตศาสตร์ นักปรัชญา และเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในโรมาเนียจนถึงปี 2491 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาต้องออกจากประเทศและลี้ภัยทางการเมืองที่สหรัฐฯ เขาใช้คำพูดที่งดงามมาก คำพูดแต่ละคำที่เขาใช้ในห้องเรียนสามารถเรียงร้อยเป็นงานศิลปะได้อย่างหนึ่ง ผมได้เรียนวิชาสถิติขั้นสูงกับเขา ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์รวมทั้งลัทธิมาร์กซ์ และเขาให้เกรด A กับผมทุกวิชา

ในฐานะผู้ช่วยสอนของเขา ผมได้มีโอกาสเรียนรู้แบบอย่างที่ชัดเจน และเข้าใจได้ดีว่าการวางแผนอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยให้เราเข้าใจและสร้างสรรค์อนาคตได้อย่างไร ผมยังได้เรียนรู้ว่า หลายสิ่งไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่เราคิด แต่ความโอหังของเราต่างหากที่ทำให้เราพยายามหาคำตอบอันซับซ้อนให้กับปัญหาง่าย ๆ

แต่งงานและสงครามปลดแอกประเทศ พ.ศ. 2510-2513
ผมแต่งงานกับเวร่า โฟรอสเท็นโก (Vera Forostenko) เมื่อปี 2513. ตอนที่เดินทางไปใช้ทุนฟูลไบรท์ในอเมริกา ผมไม่เคยปรารถนาจะมีภรรยาเป็นชาวอเมริกันเลย เรื่องการแต่งงาน ผมเห็นว่าผมคงจะแต่งแบบเดียวกับที่คนอื่นในประเทศผมทำ นั่นคือผู้ใหญ่จะเป็นคนจัดเตรียมให้กับเรา การทำแบบนี้อาจทำให้ชาวตะวันตกมองว่าเราเป็นพวกหัวเก่า แต่นั่นเป็นวิถีของเรา ผมไม่เคยตั้งคำถามกับความเหมาะสมของการแต่งงานแบบคลุมถุงชนเลย. นอกจากนั้น ผมไม่เคยมีประสบการณ์กับผู้หญิง และขี้อายต่อหน้าผู้หญิง พวกเราในบังคลาเทศเป็นคนเจ้าระเบียบและอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะในแถบจังหวัดจิตตะก่องซึ่งคนในท้องถิ่นเคร่งศาสนามากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ก่อนถึงวันแต่งงานผมแทบไม่ประสีประสาเอาเลยกับเรื่องของหัวใจ ครอบครัวของเราก็ไม่เคยพูดคุยเรื่องส่วนตัวแบบนี้อย่างเปิดเผย

ในปี 2510 ขณะนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ ก็มีสาวสวยไว้ผมแดงประบ่าและตาสีฟ้าเดินมาที่ผม และถามว่าผมมาจากไหน,"ปากีสถาน" ผมบอกอย่างประหม่า. เธอให้ความเป็นมิตรมาก ดูเป็นธรรมชาติและสนอกสนใจตัวผมและความเป็นมาของผม เธอชื่อว่าเวร่า โฟรอสเท็นโก และกำลังทำปริญญาโทด้านวรรณกรรมรัสเซีย. เวร่าเกิดที่สหภาพโซเวียต แต่เธอและครอบครัวย้ายมาอเมริกาหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลงใหม่ ๆ มาลงหลักปักฐานที่เมืองเทรนตัน รัฐนิวเจอซี่

ผมไม่เคยมีความคิดจะอยู่ในสหรัฐฯ อย่างถาวรเลย แม้ว่าผมจะชื่นชมประเทศนี้ แต่ตอนอยู่ที่นี่ผมรู้สึกเหมือนอยู่ในคุก เพราะมันไม่ใช่ชีวิตจริงของผม ผมต้องการกลับไปช่วยประชาชนที่บ้านเกิด แม้ว่าในตอนนั้นผมยังไม่รู้ชัดเจนว่าจะกลับไปทำอะไรที่บังคลาเทศ แต่ผมรู้สึกตลอดเวลาว่าตัวเองต้องทำหน้าที่อะไรบางอย่างที่นั่น ผมรู้สึกว่าการเรียนหนังสือในอเมริกาช่างเปล่าประโยชน์ เราทำตัวเหมือนผัก เอาแต่นั่งในห้องเรียนเพื่อให้ได้คะแนนดี ๆ โดยที่ไม่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้เลย ผมรู้สึกเหมือนกับตัวเองกำลังใช้โทษอยู่ในคุกก่อนจะได้กลับบ้าน

เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง ผมไม่เคยเดินทางกลับบ้านที่บังคลาเทศในช่วงวันหยุด ในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงปิดเทอม ผมจะสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโคโลราโดในเมืองโบลเดอร์ ยิ่งห่างจากบ้านนานเท่าไร ผมก็ยิ่งอยากกลับบ้านมากขึ้นเท่านั้น. ตรงกันข้าม เพื่อนของผมพากันหาทางต่ออายุวีซ่าเพื่อให้อยู่ในอเมริกาได้นาน ๆ

ผมได้เจอกับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในอเมริกาอย่างจัง ๆ เมื่อไปที่บ้านของผู้ดีคนหนึ่งแถวนั้น ผู้หญิงเจ้าของบ้านบอกกับผมว่า "นักวิจัยค้นพบว่าคนผิวดำมีไอคิวต่ำกว่าผิวขาว" ผมจ้องมองเธอและบอกว่า

"ถ้าอย่างนั้นถ้าผมบอกกับคุณว่าผู้หญิงมีไอคิวต่ำกว่าผู้ชายล่ะ"
"คุณตั้งใจจะว่าฉันหรือ" เธอกล่าว
"เปล่าครับ แต่ปัญหาของการวิจัยก็คือ คำถามพวกนี้ช่างโง่เขลาและเต็มไปด้วยอคติ"
"คุณคิดว่านักวิจัยเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติหรือ"
"อาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ แต่นักวิจัยก็สามารถพิสูจน์ได้ทั้งนั้นว่าพวกที่อยู่ภาคเหนือมีไอคิวต่ำกว่าภาคใต้ หรือผู้ชายที่สูงกว่าห้าฟุตจะก่ออาชญากรรมมากกว่าผู้ชายที่เตี้ยกว่าห้าฟุต"

ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้จะมีการเหยียดเชื้อชาติอยู่มาก แต่ผมรู้สึกว่าสหรัฐฯ ก็เป็นเหมือนบ้านของผมแห่งหนึ่ง แม้แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่นี่ก็ปฏิบัติต่อคุณอย่างเท่าเทียม ทุกคนในอเมริกา (ยกเว้นชนพื้นเมือง) ต่างก็เคยเป็นคนอพยพเข้าเมืองทั้งนั้น ซึ่งต่างกับในยุโรป แม้ว่าคนอเมริกันอาจจะเกลียดหรือไม่ชอบสีผิวของคุณ แต่พวกเขาไม่เคยตั้งคำถามกับสิทธิของคุณที่จะอยู่ที่นี่

ในปี 2512 เวร่าเดินทางจากเทนเนสซี่กลับไปที่บ้านที่นิวเจอร์ซี่ ตอนนั้นผมวางแผนจะเดินทางกลับบังคลาเทศ
"ฉันต้องการไปอยู่กับคุณที่นั่น" เวร่าบอก "คุณไปไม่ได้หรอก" ผมบอก ผมเป็นคนดื้อมาก คงพอ ๆ กับเธอ "ประเทศผมเป็นประเทศร้อนชื้น เรามีวัฒนธรรมที่ต่างไป ผู้หญิงที่บ้านผมไม่ได้รับการปฏิบัติแบบที่นี่หรอก". "แต่ฉันคงปรับตัวได้" เธอบอก. เธอเขียนจดหมายและโทรศัพท์มาหาเพื่อพูดคุยเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่ผมให้เหตุผลแย้งการแต่งงาน เธอก็หาเหตุผลมาโต้ สุดท้ายผมก็เปลี่ยนใจ. เราแต่งงานกันในปี 2513 และย้ายไปอยู่ที่เมืองเมอร์ฟรีสโบโร ประมาณ 80 กิโลเมตรด้านใต้ของเมืองแนชวิลล์ซึ่งเป็นที่ที่ผมสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิดเดิลเทนเนสซี่

สงครามปลดแอกบังคลาเทศ (*)
ในวันที่ 25 มีนาคม 2514 สงครามปลดแอกประเทศเกิดขึ้นในบังคลาเทศ เราต้องยกเลิกแผนการเดินทางกลับ ผมเองก็ผันตัวไปช่วยงานปลดแอกทันที เช่นเดียวกับชาวเบงกาลีในทุกที่ ในตอนนั้นผมติดตามข่าวสารเหตุการณ์ในกรุงธากาอย่างใกล้ชิด ในวันที่เกิดเหตุ ผมเดินทางกลับมาที่ห้องพักเพื่อกินอาหารกลางวัน และเปิดวิทยุเพื่อรับฟังข่าวสาร มีข่าวสั้น ๆ ที่ประกาศว่ากองทัพปากีสถานได้เคลื่อนกำลังเข้าไปหยุดฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลปากีสถาน และชีค มาจิบูร์ เราะห์มาน ผู้นำขบวนการปลดแอกได้หนีไปแล้ว

(*)The Bangladesh Liberation War was a war between West Pakistan (now Pakistan) and East Pakistan (now Bangladesh), from 26 March until 16 December 1971. The war started as an insurgency in East Pakistan. Indian support for the insurgency resulted in war between India and Pakistan (the Indo-Pakistani War of 1971), during which the Indian military and East Pakistanis decisively defeated the West Pakistani forces deployed in the East. The war resulted in East Pakistan's independence as the new nation of Bangladesh.

ขณะที่กำลังเปลี่ยนเสื้อผ้า ผมต้องหยุดและรีบวิ่งไปที่โทรศัพท์เพื่อโทรหา ดร.ซิลลูร์ ที่เมืองแนชวิลล์ ผมบอกให้เขาเปิดวิทยุฟัง และบอกว่าผมจะไปที่บ้านเขาเดี๋ยวนี้และให้ติดต่อชาวเบงกาลีคนอื่น ๆ ด้วย. ภายในหนึ่งชั่วโมงผมไปถึงที่บ้านซิลลูร์ ตอนนั้นมีชาวเบงกาลีที่มาจากปากีสถานตะวันออกอยู่ทั้งหมด 6 คนในเขตเมืองแนชวิลล์และปริมณฑล (รวมทั้งตัวผมด้วย) เราไปรวมตัวที่บ้านของเขาเพื่อวางแผนว่าจะทำอะไรดี เราเก็บรวบรวมข่าวสารจากหลายแหล่ง เป็นที่ชัดเจนว่ากองทัพปากีสถานต้องการบดขยี้ชาวเบงกาลีโดยทันที

เราเก็บรวบรวมข่าวสารให้มากที่สุด และรู้สึกกังวลมาก เราพยายามสรุปสถานการณ์และหาทางตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง พวกเราทุกคนยังไม่มีความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ มีอยู่คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพรรคจามาต ซึ่งเป็นพรรคอิสลามอนุรักษ์นิยมมักจะพูดว่า "เรายังไม่รู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง รอให้มันคลี่คลายอีกสักหน่อยดีกว่าไหม". สุดท้าย ผมทนไม่ได้อีกต่อไปและบอกว่า "เรามีข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการแล้ว บังคลาเทศประกาศอิสรภาพแล้ว เราต้องตัดสินใจว่าเราจะประกาศตนเองเป็นพลเมืองของประเทศใหม่นี้หรือไม่ ทุกคนมีสิทธิเลือก ผมขอประกาศทางเลือกของผม นั่นก็คือการอยู่กับบังคลาเทศ ผมขอประกาศความภักดีต่อบังคลาเทศ ถ้าใครต้องการเข้าร่วมกับผมก็ทำได้ตามที่ต้องการ แต่ถ้าใครที่ไม่เข้าร่วมกับบังคลาเทศ ผมจะถือว่าเขาเป็นพวกปากีสถาน เป็นศัตรูของบังคลาเทศ"

ทุกคนเงียบไปหมด และตกตะลึงกับคำถามเรื่องความภักดีที่ผมพูดขึ้น มันเป็นช่วงที่มีอารมณ์พลุ่งพล่าน แต่สุดท้ายทุกคนเลือกจะอยู่กับบังคลาเทศ ผมเสนอว่าเราควรจัดตั้ง "คณะกรรมการพลเมืองบังคลาเทศ" และออกแถลงการณ์โดยทันทีสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์และอิเลคทรอนิกส์ในแนชวิลล์ เราตัดสินใจที่จะทำสามอย่างทันที

1. เราจะพยายามเข้าพบผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันท้องถิ่น เพื่ออธิบายการตัดสินใจ และขอให้พวกเขาสนับสนุนบังคลาเทศ
2. เราแต่ละคนจะวางเงิน 1,000 เหรียญเพื่อเป็นกองทุนในการต่อสู้
3. เราจะหักเงินเดือน 10% เพื่อเข้ากองทุนทุกเดือนจนกว่าบังคลาเทศจะได้รับเอกราช และถ้าจำเป็นเราจะเพิ่มส่วนที่หักจากเงินเดือนด้วย

ทุกคนดึงสมุดเช็คออกมาเขียนเช็ค คนที่ไม่มีเงินก็ขอหยิบยืมจากคนอื่นเพื่อวางเงินเป็นประเดิม. ในวันต่อมา (27 มีนาคม) เรามีนัดสัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ผมได้รับเลือกให้เป็นเลขานุการของคณะกรรมการพลเมืองบังคลาเทศและเป็นโฆษกของกลุ่ม สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นไม่เคยมีโอกาสทำข่าวต่างประเทศมากนัก พวกเขาจึงยินดีมากที่จะสัมภาษณ์เรา พวกเขามองว่าเราเป็นผู้ที่นำข่าวต่างประเทศร้อนๆ มาให้ เป็นผู้ที่ให้แง่มุมจากในท้องถิ่นได้

ผมสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ส่วนสมาชิกที่เหลืออีก 5 คนเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลของเทศบาลเมือง และเรากำลังประกาศว่าตนเองเป็นพลเมืองของประเทศที่ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมา มันช่างเป็นข่าวน่าตื่นเต้นเสียกระไร หนังสือพิมพ์รายวันสัมภาษณ์เราและมีการถ่ายภาพไว้ด้วย. สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นทั้งสามแห่งสัมภาษณ์เรา จากนั้นเราไปรวมตัวที่บ้านซิลลูร์ในตอนบ่ายเพื่อดูข่าวตอนเย็น สิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ถูกต้อง สื่อให้ความสำคัญกับเรามาก มีการออกอากาศบทสัมภาษณ์ของผมโดยไม่ตัดต่อในช่วงข่าวท้องถิ่น

ผู้สัมภาษณ์ถามว่า "คุณมีอะไรจะบอกกับชาวเทนเนสซี่ไหม" "มีครับ" ผมบอก "กรุณาเขียนจดหมายไปหาสมาชิกรัฐสภาในเขตของท่าน เขียนจดหมายถึงวุฒิสมาชิกของท่านโดยทันทีเพื่อเรียกร้องให้หยุดการให้ความช่วยเหลือด้านการทหารกับปากีสถาน อาวุธ และกระสุนปืนของท่านกำลังจะถูกใช้เพื่อเข่นฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์และปราศจากอาวุธในบังคลาเทศ โปรดบอกให้ประธานาธิบดีกดดันปากีสถานให้หยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบังคลาเทศ"

ผมรู้สึกดีที่เราปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว และแม้ว่าพวกเรา 6 คนจะมีจุดยืนทางการเมืองและมีพื้นเพด้านสังคม-เศรษฐกิจแตกต่างกัน แต่เราก็เห็นร่วมกันในเรื่องนี้ได้ คราวนี้เราอยากรู้เหมือนกันว่าชาวเบงกาลีคนอื่น ๆ ที่อยู่ทั่วสหรัฐฯ คิดอย่างไร เราตัดสินใจติดต่อเจ้าหน้าที่ชาวเบงกาลีซึ่งทำงานในสถานทูตปากีสถาน ตอนนั้นผมไม่รู้จักใครเลย แต่มีคนบอกผมว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งมีตำแหน่งรองจากผู้มีอำนาจสูงสุดในสถานทูตปากีสถานเป็นชาวเบงกาลี เขาชื่อว่าเอนาเย็ต คาริม ผมตัดสินใจโทรไปหาเขา เขาแจ้งข่าวสำคัญให้ผมทราบ นั่นคือจะมีการเดินขบวนต่อต้านการปราบปรามของกองทัพปากีสถานต่อพลเรือนในวันที่ 29 มีนาคมที่หน้ารัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตันดีซี เขาขอให้เราไปร่วมด้วย เขาบอกว่าชาวเบงกาลีกลุ่มใหญ่สุดจะมาจากรัฐนิวยอร์กซึ่งมีชาวเบงกาลีอยู่มาก

หลังจากพูดโทรศัพท์เสร็จ เรานั่งลงคุยกันถึงการประท้วง เพื่อนของผมที่เป็นหมอไม่สามารถไปได้เพราะติดงานที่โรงพยาบาล ผมประกาศว่าวันรุ่งขึ้นผมจะไปเอง มีการตกลงกันว่าผมจะเดินทางด้วยค่าใช้จ่ายส่วนตัว และจะนำเงิน 6,000 เหรียญไปใช้ตามที่เหมาะสมตอนที่อยู่ในวอชิงตัน. ผมจะไปพักที่ไหนดีในวอชิงตัน? ผมไม่รู้จักใครเลยที่นั่น. เอนาเย็ต คาริม ดูจะเป็นคนที่เป็นมิตรคนหนึ่ง ผมจึงคิดจะพึ่งเขา ผมโทรศัพท์ไปหาเขาอีกครั้งและขอพักกับเขาในวันต่อไป เขาตอบรับคำขอผมทันทีและบอกว่า "มาได้เลยครับ" ผมประหลาดใจกับความเปิดเผยของเขา เขาไม่รู้จักผม แต่วิกฤตครั้งนี้ทำให้ชาวเบงกาลีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เรากลายเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกันทันที

จนถึงเที่ยงคืน เราเฝ้าติดตามข่าวสารทางวิทยุทุกชิ้นโดยใช้วิทยุแบบคลื่นสั้นขนาดใหญ่ของซิลลูร์ พวกเราทุกคนต่างแสดงความสามารถในการควบคุมวิทยุ แปลภาษาแปลก ๆ ที่รายงานข่าวสารจากทั่วโลก ระหว่างรับฟังข่าวสาร เรารับประทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งโจแอน ภรรยาชาวอมริกันของซิลลูร์นำมาให้อย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับพยายามวิเคราะห์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีค มูจิบ สุดท้ายก็มีข่าวว่าเขาถูกจับที่สถานีรถไฟจิตตะก่องระหว่างที่กำลังหนีจากพวกทหาร (อันที่จริงเขาถูกจับที่บ้านในกรุงธากาต่างหาก) พวกเราต่างร้องไห้เมื่อได้ฟังข่าวนี้ ก่อนหน้านั้นเราพยายามคิดว่าชีค มูจิบคงจะบัญชาการทหารฝ่ายต่อต้านอยู่ที่ฐานทัพใต้ดินแห่งใดแห่งหนึ่ง สิ่งที่คนทั้งประเทศเฝ้ารอก็คือเสียงออกอากาศสด ๆ ของเขาผ่านวิทยุ รัฐบาลปากีสถานเองก็ไม่สามารถหยุดยั้งสิ่งนั้นได้แม้จะมีสรรพาวุธทันสมัยมากมาย. คราวนี้ทหารปากีสถานจะทำอะไรกับเขาล่ะ? จะนำตัวเขากลับไปกรุงธากาและประหารด้วยการยิงเป้าหรือ? จะแขวนคอเขาหรือเปล่า? จะทรมานเขาจนตายไหม?

28 มีนาคม 2514 แม้จะมีจิตใจอันหนักอึ้งเต็มไปด้วยคำถามที่ไม่มีคำตอบมากมาย ผมเดินทางออกจากเมอร์ฟีสโบโรในตอนเช้ามืดของวันที่ 28 มีนาคม เพื่อไปวอชิงตันดีซี ผมเดินทางไปถึงบ้านอันงดงามของเอนาเย็ต คาริม ในตอนบ่าย ทุกคนที่นั่นต่างดีใจที่ได้พบผม คุณนายคาริมจัดโต๊ะและมานั่งพูดคุยด้วยกันทันที ในไม่ช้าเราพบว่าพวกเราทั้งสองคนมาจากจิตตะก่องด้วยกัน ซึ่งทำให้ยิ่งสนิทสนมคุ้นเคยกันมากขึ้นอีก ผมกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจมากเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะแยกตัวออกห่าง สิ่งที่น่าประหลาดใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกคนต่างแสดงความเห็นและให้ความสำคัญกับความเห็นของกันและกัน เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นเป็นระยะ ๆ บางทีก็โทรมาจากในประเทศ บางทีก็โทรมาจากสถานทูตปากีสถานทั่วโลก เจ้าหน้าที่ชาวเบงกาลีกำลังติดต่อเจ้าหน้าที่คนอื่นที่เป็นชาวเบงกาลีและทำงานในวอชิงตัน เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านนโยบาย มีคนแวะมาเยี่ยมพร้อมกับข่าวสารและคำถาม กลายเป็นบ้านที่สับสนวุ่นวาย

สิ่งที่ทำให้ผมตื่นเต้นคือบรรยากาศในบ้าน ราวกับว่าบังคลาเทศได้กลายเป็นประเทศเอกราชเสียแล้ว ทุกคนที่อยู่ในบ้านไม่ได้แสดงอากัปกริยาที่บอกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถานเลย. ขณะที่กำลังตื่นเต้นยินดีกับเสรีภาพเหล่านี้ ผมสังเกตเห็นชายคนหนึ่งที่มีลักษณะเคร่งเครียดและง่วนกับการจดบันทึก เขาคือคุณเอสเอ คาริม รองผู้แทนถาวรปากีสถานประจำองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเดินทางจากนิวยอร์กมาถึงเมื่อเช้านี้เอง สุดท้าย เขาประกาศว่าจะอ่านสิ่งที่เขาเขียน ทุกคนเงียบและนั่งอยู่รอบเขา เขาเพิ่งจะเขียนร่างคำวิงวอนต่อประมุขประเทศทั่วโลกให้กดดันปากีสถานให้ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบังคลาเทศ ผมรับฟังคำวิงวอนฉบับนั้นด้วยความชื่นชมต่อความสามารถในการเขียนของเขา

ผมพยายามหาข้อมูลว่าใครเป็นผู้ประสานงานการเดินขบวนในวันต่อมาที่หน้ารัฐสภา พวกเขาเตรียมอะไรไปบ้างแล้ว ผมจะมีส่วนช่วยเหลืออย่างไร ผมไม่อยากให้เป็นการเดินขบวนที่จัดขึ้นมาแบบหยาบ ๆ มีใครจัดเตรียมโปสเตอร์หรือแผ่นผ้าที่เอาไว้ถือให้กล้องทีวีถ่ายหรือเปล่า คนที่บ้านเอนาเย็ต คาริม ไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย ผมคิดว่าผมคงต้องทำเรื่องนี้เอง ผมไปที่ห้างสรรพสินค้าและซื้อกระดาษสีมาปึกหนึ่ง สีโปสเตอร์และพู่กัน และผมลงมือเขียนแผ่นป้ายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้. ทุกคนต่างประหลาดใจที่ผมทำเช่นนั้น ผมรู้สึกได้ว่าพวกเขาต่างชื่นชมกับสิ่งที่ผมทำ ผมได้ฝึกฝีมือการเขียนโปสเตอร์สมัยเป็นนักศึกษาที่วิทยาลัยจิตตะก่อง และทำได้ดีมาก งานนี้จึงไม่ยากสำหรับผม แต่พู่กันที่นี่ไม่สามารถเทียบกับบีดิ (บีดิ ในภาษาเบงกาลีหมายถึงบุหรี่ทำด้วยมือ แทนที่จะใช้กระดาษบางห่อยาสูบ เราใช้ใบไม้ห่อแทนและเรียกบุหรี่ว่า "บีดิ") เพื่อเขียนตัวอักษรตัวหนา ผมคิดถึงบีดิ

ชามสูล บารี เดินทางมาถึง เขาสอนภาษาบังคลาเทศที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ผมเคยรู้จักเขาห่าง ๆ ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในกรุงธากา สงครามปลดแอกคราวนี้ทำให้เราใกล้ชิดกัน เราทำงานร่วมกันตลอดช่วงที่เกิดสงคราม. ในตอนเย็นมีคนมาเพิ่มขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ชาวเบงกาลีและครอบครัวผลัดกันมาเยี่ยมที่บ้านเอนาเย็ต คาริม บางคนเป็นห่วงครอบครัวของพวกเขาในบังคลาเทศ บางคนต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ในกรุงธากา และสิ่งที่พวกเขาต้องทำ

มีคนใหม่เพิ่มอีกคน เป็นแพทย์อายุน้อยที่มาจากโคมิลา เขามาอยู่ที่สหรัฐฯ ได้ไม่ถึงปี เขาคือนายแพทย์ฮาซัน เชาดูรี จากรัฐมิสซูรี่ เขาไม่รู้จักใครเลยที่วอชิงตัน และเช่นเดียวกับผม เขาเดินทางมาที่บ้านของเอนาเย็ต คาริม และพบว่าบ้านนี้ต้อนรับทุกคน. คืนนั้นเราใช้เวลาวิเคราะห์สถานการณ์และกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับวันรุ่งขึ้น ขั้นแรกเราจะแจก "คำวิงวอน" ตามสถานทูตประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ส่งไปยังประมุขของประเทศตน และขั้นที่สอง เราจะเดินขบวนที่หน้ารัฐสภา

เหตุการณ์ที่กรุงธากา ทำให้บ้านของเอนาเย็ต คาริม มีแขกที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนสามคนได้แก่ ชามสูล บารี, ฮาซัน เชาดูรี, และผม. คุณนายคาริมปฏิบัติต่อเราราวกับเป็นมิตรสนิท ในขณะที่เลี้ยงดูปูเสื่อเราเธอก็บริภาษด่าทอกองทัพปากีสถานหรือบางครั้งก็ท่องโศลกของท่านฐากูร

29 มีนาคม 2514 ผมตื่นนอนตอนเช้าเพราะได้ยินเสียงตวาดในบ้าน ผมพยายามฟังดูว่าใครเป็นผู้ตวาด และเขากำลังว่าใครและทำไม ผมผลุดลุกขึ้นแต่งตัวอย่างรวดเร็ว และเดินไปยังห้องที่มีเสียงตวาด ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 7 โมงเช้า ผมได้เห็นผู้ชายร่างเตี้ยผอมแกร็นพร้อมกับไว้หนวดกำลังตวาดสุดเสียงใส่คุณคาริมซึ่งนั่งรับฟังอย่างเงียบงัน ในห้องรับรองเล็ก ๆ อัดแน่นไปด้วยคนอีก 5-6 คน. ผมรู้สึกโกรธทันทีกับคนที่ตะโกนใส่คุณคาริม เขาเป็นใครถึงมาปฏิบัติต่อเจ้าภาพผู้อารีเช่นนี้ เขาเป็นใครกันนะ ส่วนคนอื่น ๆ เป็นใครล่ะ คนร่างเล็กคนนี้คือใคร

คุณคาริมพยายามอธิบายด้วยน้ำเสียงราบเรียบเมื่อสบช่องที่พอจะพูดได้ แต่แขกร่างเล็กคนนี้กลับไม่ยอมฟัง เขากล่าวหาว่าคุณคาริมและเจ้าหน้าที่สถานทูตทุกคนเป็น "คนทรยศ" ส่วนคนอื่นที่เหลือในห้องต่างติดเข็มกลัดที่เขียนด้วยตัวอักษรหนาว่า "บังคลาเทศ". พวกเขาเดินทางมาจากบอสตัน มหาวิทยาลัยฮาวาดและมหาวิทยาลัยแห่งอื่น และขับรถมาตั้งแต่เช้ามืดนั่นเอง พวกเขาเดินทางโดยตรงมาที่บ้านคุณคาริมเช่นเดียวกับพวกเรา พวกเขามาที่วอชิงตันเพื่อเข้าร่วมการเดินขบวนที่หน้ารัฐสภา และทันทีที่มาถึงก็ไต่ถามถึงรายละเอียดกิจกรรม ระหว่างที่รับฟังข้อมูล เขาพบว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตชาวเบงกาลีตัดสินใจไม่ร่วมเดินขบวน

แค่นั้นแหละ ชายร่างเล็กซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นเพื่อนสนิทมากที่สุดคนหนึ่งของผม ดร.โมหุดิน อาลัมเกอร์ ปริญญาเอกหมาด ๆ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาดก็พ่นคำบริภาษใส่คุณคาริมทันที ผมพยายามแก้ต่างด้วยการอธิบายให้คุณอาลัมเกอร์และเพื่อนของเขาได้ทราบว่า เราได้พูดคุยเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว และต่างเห็นด้วยว่ามันเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีแล้วที่จะขอให้ผู้นำรัฐบาลประเทศต่าง ๆ กดดันเพื่อไม่ให้ชาวปากีสถานใช้อำนาจของรัฐบาลตนเพื่อปราบปรามชาวเบงกาลีในปากีสถานตะวันออกตามที่ต้องการ ในฐานะเจ้าหน้าที่สถานทูตพวกเขาสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และให้ข้อมูลพวกเขาเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

อาลัมเกอร์ตะโกนใส่ผมและบอกว่านั่นเป็นแค่ "คำหวาน" ของคนขี้ขลาด คนที่ไม่ต้องการจะเข้าร่วมกับการปลดแอก คนที่มุ่งรักษาชีวิตอันสะดวกสบายของตนไว้. การประชุมจบลงด้วยความเครียดทั้งสองฝ่าย แต่ประเด็นที่อาลัมเกอร์พูดถึงมีอิทธิพลต่อเรา จนกระทั่งวันที่ 4 สิงหาคม 2514 เมื่อนักการทูตชาวเบงกาลีในสถานทูตปากีสถานตัดสินใจละทิ้งหน้าที่ของตน และเข้าร่วมกับรัฐบาลพลัดถิ่นของบังคลาเทศ

บ่ายวันนั้น เราไปรวมตัวกันที่บันไดหน้ารัฐสภาเพื่อประท้วง ผมเอาแผ่นป้ายที่เขียนไปทั้งหมด มีชาวเบงกาลีซึ่งมาจากที่ไกล ๆ ตอนแรกพวกเราจากวอชิงตันและนิวยอร์กเป็นชาวเบงกาลีกลุ่มใหญ่สุด ต่อมาก็มีชาวเบงกาลีจากรัฐดีทรอยต์มาเพิ่ม และผมต้องประหลาดใจว่าที่รัฐดีทรอยต์มีชาวเบงกาลีมากเหลือเกิน ส่วนใหญ่พวกเขาเป็นคนงานที่พูดภาษาซิวเฮติ และมาจากโรงงานในดีทรอยต์

ไม่มีใครรู้ว่าเราจะทำอะไรต่อไป หรือใครเป็นผู้จัด เราไม่สามารถเริ่มเดินขบวนได้เพราะยังไม่ได้ขออนุญาต ฟาซลูล บารี เจ้าหน้าที่ของสถานทูตคนหนึ่งได้ติดต่อขออนุญาตไว้แล้ว แต่การที่เจ้าหน้าที่ชาวเบงกาลีตัดสินใจไม่เข้าร่วมในการเดินขบวนทำให้เขาไม่สามารถเดินทางไปรับจดหมายอนุญาตได้ โชคดีที่เขาได้พบคนนามสกุลเดียวกันอีกคนหนึ่งคือ ชามสูล บารีที่มาช่วยเขา และสามารถไปรับจดหมายอนุญาตแทนเขาได้. เรายังคงสงสัยว่าจะจัดการเดินขบวนอย่างไรเมื่อชามสูล บารีเดินทางมาพร้อมกับจดหมายอนุญาต ผมตะโกนขึ้นสุดเสียงว่า "เขาคือผู้นำของเรา ให้จัดขบวนตามหลังเขาและเราจะเริ่มเดินได้"

เหมือนกับเป็นมนต์วิเศษ การเดินขบวนจากบันไดหน้ารัฐสภากลายเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ สมาชิกรัฐสภาให้ความสนใจกับเรา เจ้าหน้าที่รัฐสภาได้เข้ารับฟังการชี้แจงข้อมูลถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและข้อเรียกร้องของเรา สื่อมวลชนเข้ามาสอบถามข้อมูลอย่างกระตือรือร้น มีโทรทัศน์มาถ่ายภาพไว้ในช่วงเดินขบวน มีการสัมภาษณ์ระหว่างกิจกรรม และนักข่าวได้ทำงานกับเราตลอด. เราประชุมร่วมกันในตอนเย็นเพื่อวางแผนกิจกรรมต่อไป โดยใช้บ้านของเจ้าหน้าที่สถานทูตอีกคนหนึ่งคือคุณเอเอ็มเอ มูหิต ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจเป็นที่ประชุม คุณมูหิตต้องง่วนกับการทำงานทุกอย่างเบื้องหลังความสำเร็จในวันนั้น

ในห้องประชุมใหญ่ เราถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนถึงการประสานงานกิจกรรมของชาวเบงกาลีในสหรัฐฯ และเกี่ยวกับการเสนอให้นักการทูตชาวเบงกาลีละทิ้งหน้าที่ของตนทันที พวกเขาตวาดใส่กันเหมือนกับตอนเช้า และยังดังกว่าอีกในห้องประชุมขนาดใหญ่ พวกเขาเถียงกันว่าเหตุใดนักการทูตชาวเบงกาลีจึงไม่ทิ้งงานที่สถานทูตปากีสถานไปตอนนั้นเสียเลย. เราเลิกประชุมหลังอาหารเย็น และรู้ว่าต้องหาวิธีการประสานงานให้เกิดกิจกรรมในบรรดาชาวเบงกาลีทั่วสหรัฐฯ เพราะเริ่มตระหนักแล้วว่านักการทูตชาวเบงกาลีคงไม่อาจทำหน้าที่ผู้นำได้ และเราเริ่มตั้งข้อสงสัยกับการที่นักการทูตเหล่านี้ยังคงอยู่ฝ่ายปากีสถาน

แนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นบังคลาเทศ
30 มีนาคม 2514 ชามสูล บารีและผมได้รับมอบหมายให้ไปเยือนสถานทูตทุกแห่ง เข้าพบกับเอกอัครราชทูตหรือตัวแทน เพื่ออธิบายสิ่งที่พวกเราต่อสู้และขอให้ประกาศยอมรับบังคลาเทศเป็นรัฐอิสระ. มันเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจสำหรับเราทั้งสองคน เราไปยังสถานทูตหลายแห่งภายในวันเดียว แต่ละที่ก็มีวิธีต้อนรับเราต่างกันไป แต่คำถามที่พวกเขามักถามได้แก่ "พวกคุณเป็นตัวแทนของใคร? คุณมีองค์กรซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ หรือไม่? คุณจะบอกให้เรา "ยอมรับ" ประเทศของคุณได้อย่างไรก็ในเมื่อคุณยังไม่มีรัฐบาลของตัวเอง? แล้วมีรัฐบาลอื่นที่สนับสนุนคุณหรือเปล่า? นักการทูตของพวกคุณที่อยู่ในสหรัฐฯ มีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร? พวกเขาสนับสนุนคุณหรือเปล่า เมื่อไรที่พวกเขาจะประกาศจุดยืนอย่างเปิดเผย? มีคนมากสักเพียงใดใน "ปากีสถานตะวันออก" ที่ต้องการปลดแอกเป็นประเทศบังคลาเทศ?"

เราสามารถให้คำตอบที่น่าพอใจกับทุกคำถามยกเว้นคำถามเดียวว่า "คุณมีรัฐบาลของตัวเองหรือเปล่า?" ตอนนั้นเราพยายามขอให้โลกยอมรับบังคลาเทศ และเราก็พบว่ามันไม่อาจเป็นไปได้ ถ้าเราไม่มีรัฐบาลของตนเอง บารีและผมตัดสินใจว่าเราต้องมีรัฐบาลของตนเองทันที แล้วเราจะจัดตั้งรัฐบาลให้กับบังคลาเทศในขณะที่เราอยู่ในวอชิงตันได้อย่างไรล่ะ? บางทีคนที่อยู่ในบังคลาเทศไม่ได้คิดถึงการจัดตั้งรัฐบาล เพราะในตอนนั้นบรรดาผู้นำอาจจะเสียชีวิตหรือไปหลบซ่อนตัวหมดแล้ว

ผมมีความคิดอย่างหนึ่ง ผมน่าจะบินไปที่กัลกัตตา(อยู่ทางตะวันออกของประเทศอินเดีย ติดกับบังคลาเทศ) และรวมตัวกับกลุ่มคนบางส่วนเพื่อจัดตั้งเป็นคณะรัฐมนตรี และประกาศต่อโลกว่า เราได้จัดตั้งรัฐบาลบังคลาเทศขึ้นมาแล้ว ซึ่งจะทำให้เรามีทั้งประเทศและรัฐบาล และเราจะสามารถกดดันให้ประเทศอื่นยอมรับเราได้อย่างเต็มที่ บารีเห็นด้วยกับความคิดนี้ เราตัดสินใจแล้ว นั่นคือพรุ่งนี้ผมจะเดินทางไปกัลกัตตาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น. ผมนึกถึงยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เราจะต้องมีสถานีวิทยุเพื่อกระจายเสียงในบังคลาเทศเพื่อให้ประชาชนที่นั่นสามารถติดตามข่าวคราวสิ่งที่เกิดขึ้น และรู้ว่าต้องทำอย่างไร

ผมวางแผนว่าจะติดตั้งเครื่องส่งวิทยุบนรถยนต์ ซึ่งขับเข้าไปในพรมแดนบังคลาเทศเพื่อออกอากาศรายการ และถ้าถูกทหารปากีสถานไล่ติดตามมา ก็จะต้องหนีกลับเข้ามาในฝั่งอินเดีย ผมตัดสินใจแล้ว ผมมีเงินอยู่ 6,000 เหรียญ ผมคิดว่าสามารถใช้เป็นเงินดาวน์สำหรับเครื่องส่งได้ ผมคิดว่าเป็นการใช้เงินอย่างคุ้มค่า
เราได้จัดการพูดคุยเป็นพิเศษกับสถานทูตของสามประเทศ เราบอกสถานทูตพม่าว่าเราต้องการให้พวกเขาเปิดพรมแดนเพื่อรองรับคนที่หลบหนีจากกองทัพปากีสถาน เราระบุว่าการร่วมมือกับกองทัพปากีสถานเป็นการกระทำที่ไม่เป็นมิตรกับเรา เราจะระดมทุนเพื่อหาอาหารมาเลี้ยงดูผู้ลี้ภัยจากบังคลาเทศ พม่าไม่ต้องกังวลว่าต้องหาเงินมาเลี้ยงดูพวกเขา

เราติดต่อไปยังสถานทูตศรีลังกา และบอกให้ทางศรีลังกาปฏิเสธไม่ยอมให้เครื่องบินของทหารและพลเรือนจากปากีสถานมาจอด เป็นเครื่องบินที่บินระหว่างบังคลาเทศกับปากีสถาน ปากีสถานกำลังขนทหาร อาวุธและยุทธภัณฑ์โดยใช้เที่ยวบินพลเรือนจากกรุงการาจีไปกรุงธากา ตัวแทนสถานทูตศรีลังกาได้แต่บอกขอโทษ เขาบอกว่าสถานทูตไม่สามารถกดดันนโยบายของรัฐบาลได้ แต่เขาจะพยายามสื่อให้รัฐบาลของตนทราบถึงความรู้สึกของชุมชนชาวบังคลาเทศในสหรัฐฯ เขาแนะนำให้เรากดดันศรีลังกาต่อไป รัฐบาลศรีลังกาต้องหาเหตุผลที่หนักแน่นมากพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบาย

สถานทูตโซเวียต และสถานทูตอินเดีย
สถานทูตโซเวียตดูเหมือนจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในบังคลาเทศมากมาย พวกเขารู้จักนักการเมืองฝ่ายซ้ายทุกคน และต้องการทราบข้อมูลจากเราว่านักการเมืองฝ่ายซ้ายเหล่านี้สนับสนุนให้บังคลาเทศได้รับเอกราชหรือไม่ และต้องการทราบข้อมูลว่ามูลนา ภัชชานีสนับสนุนให้ประเทศได้รับเอกราชหรือไม่ ถ้าฝ่ายซ้ายเหล่านี้สนับสนุน สหภาพโซเวียตก็จะสนับสนุนให้บังคลาเทศได้รับเอกราชอย่างจริงจัง

ที่สถานทูตอินเดีย เราได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นนักการทูตระดับสูง พวกเขาต้องการรู้ข้อมูลเกี่ยวกับนักการทูตชาวเบงกาลีในสถานทูตปากีสถาน อยากรู้ว่าผู้นำของเราอยู่ที่ใดบ้าง และอยากรู้ว่าพวกเราสามารถติดต่อกับผู้นำเหล่านั้นได้หรือไม่ และเรามีองค์กรซึ่งมีที่ตั้งในสหรัฐฯ หรือไม่ เราต้องการให้อินเดียเปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัย ให้สามารถเดินทางไปถึงกรุงกัลกัตตาได้ และให้ชาวบังคลาเทศในประเทศอินเดียสามารถเดินทางไปยังกัลกัตตาเวลาใดก็ได้ที่ต้องการ ให้มีการผ่อนปรนข้อบังคับเกี่ยวกับวีซ่าสำหรับชาวเบงกาลีที่ถือหนังสือเดินทางของปากีสถาน ให้สามารถเดินทางเข้าออกอินเดียได้ง่ายขึ้น

ในคืนนั้น เรามีการพูดคุยอย่างน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล เราปรับแผนเดิมเล็กน้อย เมื่อตกลงในรายละเอียดเราตัดสินใจว่าฮาซันจะเดินทางโดยทันทีไปยังเมืองกัลกัตตาและอัครธารา เพื่อติดต่อกับผู้นำการเมืองที่หลบหนีจากบังคลาเทศ จากนั้นเขาจะส่งสัญญาณกลับมาให้ผมเพื่อให้เดินทางไปตั้งรัฐบาลที่นั่น. คืนนั้น อฆา หิลาลิ เอกอัครราชทูตปากีสถานเดินทางมาเยี่ยมเอนาเย็ต คาริม ซึ่งเป็นผู้ช่วยของเขาตามมารยาท ทันทีที่ทราบข่าวว่าเขาจะมา พวกเราทั้งสามคนต้องรีบกินข้าวและถูกจัดให้ขึ้นไปอยู่บนห้องใต้หลังคาโดยทันทีพร้อมอาหารของเรา เราต้องซ่อนตัวอยู่ที่นั่นสองชั่วโมงโดยไม่ส่งเสียง เพื่อไม่ให้เอกอัครราชทูตทราบว่าเพื่อนร่วมงานชาวเบงกาลีของเขากำลังวางแผนต่อต้านรัฐบาลที่บ้านของตนเอง เอกอัครราชทูตเพียงแต่มาถามตามมารยาทว่ามีญาติของคุณคาริมได้รับบาดเจ็บในปฏิบัติการทางทหารที่กรุงธากาหรือไม่

วันต่อมาฮาซันเดินทางไปกัลกัตตาและอัครธาราตามที่วางแผนไว้ จากกัลกัตตา เขาส่งจดหมายแสดงความไม่พอใจที่ผู้นำเหล่านั้นเสนอว่าผมไม่ควรไปที่นั่น ไม่นานนักก็มีการจัดตั้งรัฐบาลมูจิบ นาฆาร์ ขึ้นมา ในขณะที่ชาวเบงกาลีในสหรัฐฯ และแคนาดาเน้นการรณรงค์ให้มีการยอมรับประเทศบังคลาเทศ ให้หยุดการให้ความช่วยเหลือด้านทหารต่อปากีสถาน และยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบังคลาเทศ รวมทั้งให้ปล่อยชีค มูจิบ
มาห์มุต อาลี กงสุลใหญ่ในนิวยอร์ก ประกาศเลิกภักดีต่อปากีสถานในวันที่ 26 เมษายน 2514 เขากลายเป็นวีรบุรุษของเราทันที ภรรยาของเขาต้องหางานเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว

องค์กรสันนิบาตบังคลาเทศแห่งอเมริกาปฏิบัติงานจากที่นิวยอร์ก ภายใต้การนำของ ดร.มูหะหมัด อาลัมเกอร์ และมีการจัดตั้งสันนิบาตเพื่อปกป้องบังคลาเทศโดย ดร.เอฟอา ข่าน ในชิคาโกและมี ชามสูล บารี ได้เป็นเลขาธิการองค์กร เขาได้ตีพิมพ์จดหมายข่าวบังคลาเทศฉบับแรกขึ้นมา จากนั้นผมก็รับช่วงต่อและเริ่มตีพิมพ์จดหมายข่าวอย่างสม่ำเสมอโดยใช้ห้องพักเลขที่ 500 ถ.พารากอนมิวส์ ที่แนชวิลล์ของผมเป็นสำนักงาน ห้องพักของผมกลายเป็นศูนย์ประสานงาน ทุกครั้งที่กลับจากการเดินทางไปรณรงค์ในที่ไกล ๆ โทรศัพท์จะดังไม่เคยหยุด ทั้งที่มาจากอเมริกาเหนือและอังกฤษ ชาวเบงกาลีทุกคนในอเมริกาเหนือต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับสงครามที่เกิดขึ้นทุกวัน

ชาวเบงกาลีในวอชิงตันได้รวมตัวจัดตั้ง "ศูนย์ข้อมูลบังคลาเทศ" ขึ้นมาใกล้ ๆ กับรัฐสภาเพื่อทำงานล็อบบี้ในรัฐสภาและวุฒิสภา ผมทำหน้าที่เป็นผู้บริหารศูนย์ข้อมูลในช่วงแรก จากนั้นก็เดินทางไปจัดกิจกรรมการประชุมตามมหาวิทยาลัยในที่ต่าง ๆ ทั่วสหรัฐ ที่ซึ่งเราได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อนชาวบังคลาเทศขึ้นมา

ตลอดช่วงเก้าเดือน พวกเราวาดฝันอย่างชัดเจนถึงอนาคตของบังคลาเทศ และมีความแจ่มชัดขึ้นในทุก ๆ วัน เราต้องการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เราต้องการสถาปนาเจตนารมณ์ของประชาชนที่สะท้อนจากการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม เราต้องการให้ประชาชนดำรงชีวิตอย่างมีสิทธิและสามารถทำในสิ่งที่ต้องการ เราต้องการให้พวกเขาปลอดจากความยากจน เราฝันถึงชีวิตของพลเมืองที่เป็นสุขและเจริญรุ่งเรือง เราฝันถึงชาติที่ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีท่ามกลางประชาชาติอื่นทั่วโลก

บังคลาเทศชนะสงคราม กับสามล้านคนที่ต้องสูญเสีย
ในวันที่ 16 ธันวาคม 2514 เมื่อบังคลาเทศชนะสงครามกอบกู้เอกราช ผมมีความตั้งใจมากที่จะเดินทางกลับไปฟื้นฟูประเทศของตน สงครามทำให้เกิดความเสียหายมาก ชาวบังคลาเทศถูกสังหารสามล้านคน อีกสิบล้านต้องหลบหนีไปหาที่พักพิงในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย ทำให้เกิดที่พักพิงของผู้ลี้ภัยที่ยากลำบากขึ้นมากมาย อีกหลายล้านคนต้องกลายเป็นเหยื่อการข่มขืนและทารุณกรรมของทหารปากีสถาน ในช่วงที่สงครามสิ้นสุด บังคลาเทศกลายเป็นประเทศที่เสียหายอย่างรุนแรง ระบบเศรษฐกิจพังภินท์ทั้งหมด คนนับล้านจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟู

ผมรู้สึกว่าผมต้องเดินทางกลับไปเพื่อสร้างสรรค์ประเทศของตนขึ้นมา ผมคิดว่านี่เป็นภารกิจของผม

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
01 Febuary 2008
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
ผมไม่คิดว่ามีใครดีเกินเขา ตอนนั้นผมตระหนักดีแล้วว่า ที่ผ่านมาเป็นการเรียนท่องสูตรด้วยความจำ หลังจากมีโอกาสเข้าชั้นเรียนเป็นเวลาสองชั่วโมงกับศาสตราจารย์จอร์ชเจกู-โรเค็น, สูตรต่าง ๆ หลุดไปจากสมองผม องค์ความรู้ที่งดงามกลับเข้ามาแทนที่ จากการเรียนกับเขาทำให้ผมรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องท่องจำสูตรเลย สิ่งที่เราต้องทำก็คือทำความเข้าใจกับแนวคิด ทำให้ผมประทับใจศาสตราจารย์จอร์ชเจกู-โรเค็นอย่างมาก. ผมได้เรียนรู้บทเรียนง่าย ๆ จากเขาซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่มีวันลืม และยังมีประโยชน์ต่อผมมากในช่วงที่พัฒนาธนาคารกรามีน
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
home