โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๕๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑ (January, 04, 01, 2008) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

04-01-2551

Thainess Construction
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน
๑๐๐ ปี: การปลูกฝังวิธีคิดสังคมและวัฒนธรรมไทย (พ.ศ.๒๔๓๕-๒๕๓๕)
รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

งานวิจัยต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอรับมาจากผู้วิจัย
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำหรับโครงการ:
"ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.๒๔๓๕-๒๕๓๕)"
โดย รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ (สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

เนื้อหาสมบูรณ์ของโครงงานวิจัย ประกอบด้วย ๑๓ บท เป็นการศึกษาวิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและ
วัฒนธรรมไทยของปัญญาชนจำนวน ๑๐ ท่าน ดังนี้: - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
- หลวงวิจิตรวาทการ - พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
- พระยาอนุมานราชธน - ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ - สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะทะยอยเผยแพร่ไปตามลำดับบท อย่างต่อเนื่อง
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๕๔
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน
๑๐๐ ปี: การปลูกฝังวิธีคิดสังคมและวัฒนธรรมไทย (พ.ศ.๒๔๓๕-๒๕๓๕)
รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


บทสรุปงานวิจัย
โครงการวิจัย "ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.2435-2535)" ช่วยให้เข้าใจอย่างชัดเจนว่า วิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทย เป็นผลมาจากการประกอบสร้าง (construction) โดยปัญญาชนสำคัญที่สุดของไทยในระยะหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา โดยมีการถ่ายทอดและปลูกฝังผ่านระบบการศึกษาที่เป็นทางการและผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง จนกลายเป็นกระบวนทัศน์ (paradigm) ที่ครอบงำความรู้สึกนึกคิด (mentality) ของคนไทยอย่างลึกซึ้ง

สาระสำคัญของวิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ที่ปัญญาชนกระแสหลัก 10 คน ได้ร่วมกันประกอบสร้าง (construct) ขึ้น คือวิธีคิดที่ว่า

- การแบ่งชั้นทางสังคมเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม เพราะมีศีลธรรมของพุทธศาสนาที่ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เมตตา คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

- การปกครองแบบไทยเป็นการปกครองโดย "คนดี" ที่มีคุณธรรมของพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมประจำใจ

- ผู้นำสามารถใช้อำนาจเด็ดขาดสูงสุดที่มีอยู่เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงดูแลให้ผู้นำทำการปกครองอย่างถูกต้องเหมาะสม อีกทั้งยังทรงเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมของคนไทยทั้งปวง

- สังคมไทยจึงควรรับแต่เฉพาะความเจริญทางวัตถุจากภายนอกและรักษาวัฒนธรรมทางจิตใจแบบไทยเอาไว้ ตราบใดที่สามารถรักษา "ความเป็นไทยทางจิตใจ" เอาไว้ได้ สังคมและวัฒนธรรมไทยก็จะเต็มไปด้วยระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า

วิธีคิดกระแสหลักเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ดังกล่าวข้างต้น มีผลกระทบโดยตรงและอย่างสูงต่อคนไทยและสังคมไทยในหลายมิติ เช่น การอธิบายปรากฏการณ์และปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทย (รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยในภาคใต้ ภาคอีสาน ชาวเขา ฯลฯ) การเลือกวิธีแก้ปัญหาและการกำหนดแนวทางในการพัฒนาประเทศ ลักษณะของความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (ที่มีผลเชื่อมโยงไปถึงความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยและปัญหาในการกระจายรายได้) ความอ่อนแอของระบบการศึกษาทุกระดับ ฯลฯ

ในระยะครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สังคมและวัฒนธรรมไทยเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาล แต่ "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย" ไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด เพราะเอื้อต่อการผูกขาดอำนาจไว้ในมือของผู้นำและชนชั้นนำ เห็นได้ชัดในระบบการศึกษาของไทยและนโยบายทางวัฒนธรรมของรัฐ ที่ยังคงปลูกฝังความคิดกระแสหลักแก่เยาวชนและคนทั่วไปในสังคมอยู่เสมอ ผลที่ตามมาจากการมีวิธีคิดที่ตายตัวก็คือ

- คนไทยขาดศักยภาพในการเข้าใจความซับซ้อนของปัญหา ไม่สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างลึกซึ้งรอบด้าน

- มีทางเลือกในการแก้ปัญหาและการพัฒนาสังคมอย่างจำกัด และไม่อาจปรับตัวในเรื่องต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัญหาทั้งปวงที่คนไทยและสังคมไทยเผชิญในระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมาจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม และส่งผลให้เกิดปัญหาระดับวิกฤตในแทบทุกมิติของสังคม

การทบทวนวิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของคนไทย จึงต้องกระทำอย่างเร่งด่วน และต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยทุกระดับ เช่น การเปลี่ยนวิธีคิดของเยาวชนด้วยการปฏิรูปการศึกษาจนถึงระดับเนื้อหาวิชา รวมทั้งการแก้ไขแบบเรียนในหมวดวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ การวิพากษ์วิธีคิดของนักการเมืองและข้าราชการที่ปรากฏในนโยบาย การให้สัมภาษณ์ การอภิปราย ฯลฯ เพื่อหาทางเปลี่ยนวิธีคิดของนักการเมืองและข้าราชการให้สามารถมองปัญหานอกกรอบวิธีคิดเดิม การวิพากษ์รายการต่าง ๆ ทางโทรทัศน์ รวมทั้งข่าวและละครที่ทำการสืบทอดวิธีคิดกระแสหลักตลอดมา ฯลฯ

การลดอิทธิพลของวิธีคิดเดิมเพื่อเปิดทางให้คนไทยได้แสวงหาและเรียนรู้วิธีคิดใหม่ ๆ อย่างหลากหลาย เช่น วิธีคิดที่คำนึงถึงบริบทหรือวิธีคิดเชิงประวัติศาสตร์ วิธีคิดเชิงซ้อน วิธีคิดแบบหลังสมัยใหม่ วิธีคิดแบบสตรีนิยม ฯลฯ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มสังคม สถาบัน หรือวงการต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นสังคมไทย เพื่อเข้าใจอย่างละเอียดชัดเจนว่าแต่ละกลุ่มสังคม แต่ละสถาบัน หรือแต่ละวงการ ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของวิธีคิดเดิมอย่างไร การครอบงำของวิธีคิดเดิมนั้นมีผลกระทบอย่างไรต่อสังคม และจะเรียนรู้วิธีคิดใหม่ ๆ ได้อย่างไร ในบริบทที่บุคคลหรือสถาบันหรือวงการนั้น ๆ ดำรงอยู่

การปรับเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด เป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องช่วยกันคิดอย่างจริงจัง เพื่อให้สังคมและวัฒนธรรมไทยสามารถเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์โดยมีพลังทางปัญญาและพลังทางจิตวิญญาณเกื้อหนุน มีโอกาสอยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างมีความสุข และสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างสร้างสรรค์และมีศักดิ์ศรีไปพร้อมกัน

บทคัดย่อ
วิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยปัญญาชนสำคัญ ๆ ในระยะหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เพราะความหมายที่ปัญญาชนกลุ่มนี้สถาปนาขึ้น ช่วยจรรโลงอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์อำนาจ จึงได้รับการถ่ายทอดและปลูกฝังผ่านสื่อต่าง ๆ จนครอบงำความคิดของคนไทยอย่างลึกซึ้ง

- มโนทัศน์ "ชาติไทย" เป็นที่มาของจินตภาพ "สังคมไทย" และ
- มโนทัศน์ "ความเป็นไทย" เป็นที่มาของจินตภาพ "วัฒนธรรมไทย"

ซึ่งจินตภาพ "สังคมไทยและวัฒนธรรมไทย" นี้ กำหนดวิธีคิดของคนไทยในการอธิบายปรากฏการณ์และปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งทางเลือกในการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศด้วย

โครงการวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาการนิยามความหมาย"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย" โดยปัญญาชนกระแสหลักจำนวน 10 คน ซึ่งได้ทำการสร้างสรรค์ สืบทอด และปรับเปลี่ยนความหมายของ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย" ระหว่าง พ.ศ.2435-2535 โดยเน้นการวิเคราะห์ความหมายที่ได้รับการนิยามขึ้นเพื่อตอบสนองต่อบริบททางการเมืองและทางความคิดอย่างมีพลวัต ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจวิธีคิดที่จรรโลงโครงสร้างสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรัฐไทยอย่างลึกซึ้ง

1. ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เพื่อตอบสนองปัญหาทางการเมืองที่ชนชั้นนำเผชิญ เช่น การสร้างเอกภาพทางความรู้สึกนึกคิด การต่อสู้กับการนิยามความหมายของคนกลุ่มอื่น ๆ และการจัดระเบียบสังคมหลังจากที่มีการยกเลิกระบบไพร่และระบบทาสไปแล้ว แต่ยังมีความจำเป็นต้องรักษาโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นเอาไว้ เพื่อให้อำนาจของกลุ่มเจ้ามีเสถียรภาพ มโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการสร้างขึ้นโดยปัญญาชน 3 พระองค์นี้ แม้ว่ามีรายละเอียดแตกต่างกันอยู่มาก แต่มีสาระสำคัญตรงกัน คือเน้น "ชาติไทย" ที่ "ชนชาติไทย" มีอำนาจ และมี "พระมหากษัตริย์" กับ "พุทธศาสนา" เป็นหัวใจของ "ความเป็นไทย" และหัวใจของ "ความเป็นไทย" นี้ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี"

2. สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังมโนทัศน์ดังกล่าวข้างต้น ผ่านพระนิพนธ์ การเทศน์ และการจัดการศึกษาของพระภิกษุสามเณร พระองค์ได้ทรงทำให้ความคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" กลายเป็นความคิดทางพุทธศาสนา ซึ่งมีพลังครอบงำสูง ส่วนเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีมีบทบาทมากในการปลูกฝังมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ผ่านระบบการศึกษาที่เป็นทางการและการแต่งหนังสือแบบเรียน

3. ภายหลังการเปลี่ยนระบอบการปกครองใน พ.ศ.2475 หลวงวิจิตรวาทการ, พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และ พระยาอนุมานราชธน เป็นปัญญาชนสำคัญที่ได้ปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เพื่อจรรโลงอำนาจรัฐในระบอบใหม่

ในทศวรรษ 2480 หลวงวิจิตรวาทการได้เน้นแนวความคิด "ชาติไทย" ตามคติเชื้อชาตินิยม และเรื่อง "มนุสสปฏิวัติ" กับ "มติมหาชน" ที่ส่งเสริมอำนาจของผู้นำ พร้อมกันนั้นก็เน้น "ความเป็นไทย" ในแง่คุณลักษณะหรือ "อุปนิสัยของชนชาติไทย" ที่เห็นว่าจำเป็นต่อการสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง. ต่อมาในทศวรรษ 2490 ก็เปลี่ยนมาเน้นความสำคัญของ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" เพื่อตอบสนองอุดมการณ์จารีตนิยมและกษัตริย์นิยมที่มีพลังสูงขึ้น และเพื่อต่อต้านอิทธิพลของคอมมิวนิสต์

กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเน้นอุดมการณ์ "ประชาชาติไทย" ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และทรงเน้น "อัจฉริยลักษณ์" ของภาษาไทย ที่เอื้อต่อการบัญญัติศัพท์ให้เกิดภาษาไทยที่เจริญขึ้น เพื่อให้ภาษาไทยมีคำใช้เพียงพอสำหรับการที่คนไทยจะสื่อสารความรู้สึกนึกคิดกันในระบอบการปกครองใหม่ และในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่กำลังขยายตัวขึ้น อีกทั้งสามารถจินตนาการถึงสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ทั้งนี้ทรงพยายามเลือกสรรคำและสร้างความหมายด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปตาม "ธรรมชาติ" มิให้ "เดินเร็วเกินไป"

ส่วนพระยาอนุมานราชธนมีบทบาทในการสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภาษา และนิรุกติศาสตร์ เพื่อให้คนไทยสนับสนุนนโยบายสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นชาติอารยะและเป็นมหาอำนาจในแหลมทอง. ในทศวรรษ 2490 เป็นต้นมาพระยาอนุมานราชธนสร้างความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชาวบ้านอย่างจริงจัง ซึ่งส่งผลให้วัฒนธรรมชาวบ้านกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งชาติ แต่ยังคงเน้นการแบ่งชั้นทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก และถึงแม้พระยาอนุมานราชธนจะได้แสดงให้เห็นว่า "ชนบทนี้ดี" เพราะมีพุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ แต่ก็เน้นการพัฒนาชนบทให้เจริญทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง. พระยาอนุมานราชธนให้ความสำคัญแก่บทบาทของชนชั้นนำ ในการเลือกสรรทั้งสิ่งใหม่จากภายนอกและมรดกเดิมที่ยังมีคุณค่า เพื่อทำให้ "วัฒนธรรมไทย" เจริญขึ้นในลักษณะที่ "ปัจจุบันเชื่อมต่อกับอดีต" อยู่เสมอ และยังเน้นการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม โดยที่ชนชั้นนำต้องบูรณาการให้เกิด "เอกัตภาพ" เพื่อความมั่นคงของ "ชาติไทย" และ "วัฒนธรรมไทย"

4. ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ได้ทำให้ปัญญาชนสำคัญ เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือแม้แต่หลวงวิจิตรวาทการเอง หันกลับไปรื้อฟื้น ความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการสร้างขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายเท่าที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ความหมายที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในสมัยดังกล่าวมีพลังสูงขึ้นมาก และเป็นแหล่งที่มาของ "วิธีคิดของคนไทยเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย" ซึ่งยังคงเป็นวิธีคิดกระแสหลักสืบมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชาวบ้านที่พระยาอนุมานราชธนเสนอในช่วงเวลาเดียวกัน มิได้ทำให้ชาวบ้านมีสถานภาพสูงขึ้น วิธีคิดที่ตั้งอยู่บนฐานของการยอมรับการแบ่งชั้นทางสังคมและวัฒนธรรมจึงดำรงอยู่อย่างมั่นคง แม้ว่าในระยะหลัง ปัญญาชนสำคัญ เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จะได้ปฏิเสธลักษณะสำคัญบางประการของ "ความเป็นไทย" และปรับเปลี่ยนความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ไปจากเดิมไม่น้อย แต่ก็ไม่อาจแข่งขันกับความหมายเดิมได้ วิธีคิดกระแสหลักจึงยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงในสังคมไทยตลอดมา

บทที่ ๑
บทนำ: ที่มาและความสำคัญของปัญหา


ปัญหาระดับวิกฤตที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน แม้ว่าจะมาจากเหตุปัจจัยอันหลากหลายซับซ้อน แต่เหตุปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือ วิธีคิดของคนไทยเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ที่มีผลต่อการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการกำหนดวิธีการในการแก้ปัญหาและแนวทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่นำไปสู่ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ปัญหาต่าง ๆ ทวีความซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น พร้อมทั้งทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย จนกระทั่งสังคมไทยอ่อนแอ และผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย

คำว่า "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย" นี้ หมายถึงแบบอย่าง, หลักเกณฑ์ หรือ แนวทาง ในการคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย เพราะคำว่า "วิธี" เป็นคำบาลี แปลว่าแบบอย่าง, ทาง, หลักเกณฑ์, แนวทาง ฯลฯ (1) ซึ่งแบบอย่าง, ทาง, หลักเกณฑ์, แนวทาง ในการคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยนี้ มีผลต่อการอธิบายปรากฏการณ์และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ตลอดจนการหาทางออกจากปัญหาเหล่านั้น

"วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย" มิได้เกิดขึ้นด้วยการรับรู้ที่เป็นไปตามธรรมชาติของการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันภายในสังคมไทย แต่เป็นวิธีคิดที่ได้รับการสถาปนาโดยปัญญาชนสำคัญ ๆ แล้วใช้อำนาจรัฐในการปลูกฝังวิธีคิดดังกล่าวลงไปในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนอย่างเข้มข้น พร้อมกับดำเนินการการกีดกันและเบียดขับวิธีคิดแบบอื่นไม่ให้มีโอกาสเผยแพร่

สื่อที่มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝัง "ความรู้" ที่ปัญญาชนสร้างขึ้นจนหล่อหลอมวิธีคิดของคนไทยเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย ได้แก่ แบบเรียนทุกระดับ และยังมีการสร้าง "ความรู้" ในกรอบวิธีคิดที่ปัญญาชนสร้างขึ้นในรูปแบบอื่น ๆ อีกมาก เป็นต้นว่า งานเขียนทางประวัติศาสตร์ของนักวิชาการ หนังสือสารคดี ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา บทวิจารณ์วรรณกรรม ตำราการใช้ภาษาไทยและวรรณคดีไทย ตำราทัศนศิลป์ (จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม) ตำรานาฏศิลป์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น นวนิยาย ละครโทรทัศน์ ความเรียง เป็นต้น

แม้ว่า "สื่อ" ที่ทำการถ่ายทอดและปลูกฝังให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" จะมีความหลากหลาย แต่มิได้ทำให้มุมมองเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทยมีความหลากหลายตามไปด้วย ทั้งนี้ก็เพราะโครงสร้างรัฐไทยในระยะเวลากว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจอย่างยิ่ง แม้ภายหลังการปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 แล้ว การเมืองไทยก็มิได้เป็น "ประชาธิปไตย" ในความหมายที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง สื่อสำคัญ ๆ แทบทุกประเภทจึงอยู่ภายใต้การควบคุมและการจัดการโดยรัฐ ซึ่งผู้กุมอำนาจรัฐสามารถใช้สื่อเหล่านี้ในการปลูกฝังมโนทัศน์และอุดมการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การรับรู้และความรู้เกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทย จำกัดอยู่ภายในกรอบความคิดเดียวกัน จนกล่าวได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของมโนทัศน์ที่ปัญญาชนซึ่งสนับสนุนอำนาจรัฐได้สร้างขึ้น และมโนทัศน์ดังกล่าวนั้นได้กลายเป็น "วิธีคิดกระแสหลัก" ในรัฐไทยและสังคมไทยตลอดมา

มโนทัศน์ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ที่คนไทยมีอยู่ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและแนบแน่นกับมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ทั้งนี้เนื่องจากมโนทัศน์ "ชาติไทย" กระแสหลัก มิได้เป็น "ชาติไทย" ที่พลเมืองไทยทุกคนเป็นเจ้าของชาติและอำนาจอธิปไตยของชาติอย่างเสมอภาคกัน ตรงกันข้าม มโนทัศน์ "ชาติไทย" กระแสหลักเป็นชาติที่มี "การปกครองแบบไทย" ที่ผู้นำชาติมีอำนาจเหนือประชาชนอย่างสูง "ความเป็นไทย" จึงได้รับการสร้างโดยเน้น "วัฒนธรรมไทย" ที่จรรโลงระบอบ "การปกครองแบบไทย" เช่น ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ พุทธศาสนาแบบโลกียธรรม ภาษาไทย ศิลปะไทย มารยาทไทย ฯลฯ โดยที่ "วัฒนธรรมไทย" เหล่านี้เป็นรากฐานให้แก่โครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น อันเป็นโครงสร้างสังคมที่ทำให้โครงสร้างการเมืองไทยแบบรวมศูนย์อำนาจสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า มโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เป็นแหล่งที่มาอันสำคัญที่สุดของจินตภาพ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" หรืออาจกล่าวได้แม้กระทั่งว่า มโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมโนทัศน์ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ดังจะได้วิเคราะห์โดยละเอียดต่อไป

มโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่คนไทยรับรู้ จนกลายเป็นจินตภาพเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" กระแสหลักนี้ ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยปัญญาชนสำคัญ ๆ ในระยะหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ได้แก่

- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
- เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
- หลวงวิจิตรวาทการ
- พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
- พระยาอนุมานราชธน
- ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์

เหตุที่โครงการวิจัยนี้ มิได้มุ่งวิเคราะห์และอธิบายการสร้างมโนทัศน์ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของปัญญาชนเหล่านี้โดยตรง แต่เน้นการวิเคราะห์มโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เพื่อสะท้อนจินตภาพเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" กระแสหลักอีกต่อหนึ่ง ก็เนื่องจากว่า มโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เป็นมโนทัศน์ที่มีพลังครอบงำสูง กล่าวคือ มโนทัศน์นี้ไม่เพียงแต่ส่งผลในระดับของความคิดหรือเหตุผลเท่านั้น แต่มีผลไปถึงระดับจิตใจและอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งฝังแน่นอยู่ในระบบความรู้สึกนึกคิดของ "คนไทย" ทั้งปวง ทำให้ปัญญาชนมุ่งสร้างและปลูกฝังมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เป็นหลัก แล้วถ่ายทอดปลูกฝังให้กลายเป็นจินตภาพเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย"

การศึกษา "ประวัติศาสตร์การสร้างวิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ.2435-2535" โดยเน้นไปที่การนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้เข้าใจองค์ประกอบต่าง ๆ ของจินตภาพ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" เท่านั้น แต่ยังทำให้เข้าใจที่มาแห่งพลังอันสูงยิ่งของ "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย" อีกด้วย ความเข้าใจเช่นนี้จะช่วยให้สามารถตอบคำถามสำคัญ ๆ จำนวนมากได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และแตกต่างจากคำอธิบายเดิมที่เคยมีมาแล้ว เช่น คำถามต่อไปนี้

- ทำไมพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจและความสำคัญสูงสุดในสังคมไทย แม้ว่าการปฏิวัติ พ.ศ.2475
จะเกิดขึ้นมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

- ทำไมสังคมไทยจึงให้ความสำคัญแก่ "ผู้นำ" อย่างสูง และเชื่อมั่นใน "ทหาร" กับ "นักกฎหมาย" มากเป็นพิเศษ

- ทำไมคนไทยจึงอธิบายปัญหาต่าง ๆ จากมิติทางศีลธรรมและมองไม่เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

- ทำไมคนไทยจึงเชื่อว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่เมตตาและรัฐไทยเป็นรัฐที่เมตตา

- ทำไม "การผสมกลมกลืน" ระหว่างคนไทยกับคนจีนในสังคมไทยจึงมีมาก และ "การกลายเป็นไทย" เกิดขึ้นได้อย่างไร

- ทำไมในทศวรรษ 2510 นักศึกษาจึงสนใจความคิดของ "ฝ่ายซ้าย" มากขึ้น และทำไมจึงมีประชาชนนับแสนเข้าร่วมใน
"เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516"

- ทำไมคนไทยจึงมองสังคมและวัฒนธรรมไทยในกรอบมโนทัศน์ "เมืองไทยนี้ดี" และเชื่อว่าจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยการฟื้นฟู "ความเป็นไทย" หรือการกลับไปยึดมั่นใน "วัฒนธรรมไทย" โดยเฉพาะศีลธรรมไทย

- ทำไม "เอกลักษณ์ไทย" จึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์และพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

- ทำไมคนไทยจึงยอมรับโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นและความสัมพันธ์แบบ "รู้ที่ต่ำที่สูง"
ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาค

- ทำไมคนไทยจึงระแวงว่า "เสรีภาพ" จะนำไปสู่ความวุ่นวายไร้ระเบียบ

- ทำไมระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงอ่อนแอ ฯลฯ

เมื่อพิจารณา "ที่มาและความสำคัญของปัญหา" ดังที่ได้กล่าวมานี้ ก็จะเห็นได้ว่า โครงการวิจัย "ประวัติศาสตร์การสร้างวิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ.2435-2535" มิได้มุ่งค้นหาว่าปัญญาชนมีวิธีคิดที่แท้จริงอย่างไร แต่พยายามจะวิเคราะห์ความคิดที่ปัญญาชนสื่อสารกับคนไทย ซึ่งส่งผลให้คนไทยมีวิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ในวิถีทางที่ปัญญาชนสถาปนา

ถึงแม้ว่าผลงานของปัญญาชนจำนวน 10 คนที่ได้นำมาวิเคราะห์ในโครงการวิจัยนี้ จะแสดงให้เห็นว่า ความคิดที่ปัญญาชนในกลุ่มนี้เสนอต่อสังคมไทยมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย มิได้มีเอกภาพหรือมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าความคิดส่วนที่มีความสอดคล้องต้องกันนั้นมีมาก และมีบทบาทร่วมกันในการหล่อหลอมวิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทย จนกลายเป็น "วิธีคิดกระแสหลัก" ของคนไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

สมมุติฐาน
จินตภาพ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ที่คนไทยมีร่วมกันนั้น มิได้เกิดขึ้นมาจากการที่คนไทยมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในระยะเวลายาวนาน และสื่อสารกันในทางความคิดและอารมณ์ความรู้สึกไปตามธรรมชาติ จนกระทั่งเกิดความสำนึกในความเป็นพวกเดียวกัน ที่มีชะตากรรมร่วมกันจากอดีตไปสู่อนาคต แต่เป็นผลมาจากการครอบงำทางความคิด โดยปัญญาชนสำคัญ ๆ ได้ทำการนิยามความหมายของ"ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ซึ่งส่งผลให้เกิด "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย" ขึ้นมา วิธีคิดดังกล่าวนี้ ที่อิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการอธิบายปรากฏการณ์ ปัญหา และความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนกระทั่งเรียกได้ว่าเป็น "วิธีคิดกระแสหลัก" ของคนในสังคมไทย

ปัญญาชนได้พยายามสร้างความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ขึ้นมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งนี้โดยมีการปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เป็นระยะ ๆ เพื่อตอบสนองต่อบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป การปรับตัวครั้งสำคัญเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 แต่การปรับตัวดังกล่าว มิได้ทำให้ความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่คนไทยในระยะหลังรับรู้แตกต่างไปจากความหมายเดิมเท่าใดนัก เพราะนับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ส่งผลให้ปัญญาชนหันกลับไปรื้อฟื้นความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาใหม่ แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายเพื่อตอบสนองบริบทที่เปลี่ยนไป แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นการปรับเปลี่ยนภายใต้กรอบโครงหลักทางความคิดเดิม และได้มีการถ่ายทอดปลูกฝังมโนทัศน์ดังกล่าวแก่คนไทยอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทำให้เป็นความคิดที่มีพลัง จนกลายเป็นแหล่งที่มาของจินตภาพ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ตลอดระยะเวลาหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาการสร้าง การสืบทอด และการปรับเปลี่ยนความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยปัญญาชนสำคัญ ๆ จำนวน 10 คน นับตั้งแต่เกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของบริบททางการเมืองระหว่าง พ.ศ.2435-2535 ที่มีผลต่อการสร้าง การสืบทอด และการปรับเปลี่ยนความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ในช่วงเวลาต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงที่มาของ "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทย ในระยะหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

แนวคิดและวิธีการศึกษา
งานวิจัยนี้ตั้งคำถามหลักขึ้นมาจากพื้นฐานความคิดที่เห็นว่า "ความรู้" เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม เป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้น (constructed) จึงเป็น "ภาพแทนความจริง" (representation) มิใช่เป็น "ความจริง" แต่เนื่องจากเป็น "ความรู้" ที่ช่วยจรรโลงโครงสร้างรัฐแบบรวมศูนย์อำนาจ จึงได้รับการถ่ายทอดผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง จนครอบงำวิธีคิดของคนไทยอย่างลึกซึ้ง

วิธีการศึกษา ให้ความสำคัญแก่การวิเคราะห์ผลงานของปัญญาชนที่มีอิทธิพลทางความคิดสูงจำนวน 10 คน ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, หลวงวิจิตรวาทการ, พระยาอนุมานราชธน, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, และสุลักษณ์ ศิวรักษ์

ในการวิเคราะห์ผลงานของปัญญาชนข้างต้น จะพิจารณาถึงภูมิหลัง บริบททางสังคม และจุดมุ่งหมายทางการเมืองของปัญญาชนแต่ละคน ที่มีผลต่อการนิยามความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เพื่อจะเข้าใจความหมายที่ปรากฏในผลงานของปัญญาชนอย่างถ่องแท้ที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า ปัญญาชนซึ่งเป็นผู้สร้างผลงานแต่ละคน มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่ชัดเจนในการสร้างผลงาน เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดจินตนาการหรือวิธีคิดของคนไทย อีกทั้งยังได้ใช้อำนาจทางปัญญา อำนาจทุน และ/หรืออำนาจรัฐ ในการถ่ายทอดปลูกฝังความหมายที่ตนสร้างขึ้น ให้ซึมลึกเข้าไปถึงระดับความรู้สึกนึกคิด (mentality) ของคนไทย โดยปราศจากคู่แข่งที่เข้มแข็ง เพราะผู้กุมอำนาจรัฐได้ จึงใช้อำนาจที่มีอยู่ในการเบียดขับความคิดอื่นที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างอำนาจและการผูกขาดอำนาจของกลุ่มตนออกไป ผลก็คือ คนไทยรับรู้ความหมายที่ปรากฏในผลงานของปัญญาชน ตามแนวทางที่ปัญญาชนต้องการจะสื่อได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความหมายดังกล่าวมิได้เป็นที่รับรู้ในสภาวะที่คนไทยมีอิสรภาพทางปัญญา และเสรีภาพทางการเมือง หากแต่ถูกครอบงำทางความคิดอย่างเข้มข้นผ่านระบบการศึกษา และการสื่อสารมวลชนที่รัฐควบควบอย่างใกล้ชิด

หลังจากสังเคราะห์วิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ที่ปัญญาชนสร้างขึ้นแล้ว การเขียนรายงานผลการวิจัย มิได้ใช้วิธีนำเสนอความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ของปัญญาชนแต่ละพระองค์หรือแต่ละคนในลักษณะที่แยกขาดออกจากกัน แต่พยายามเชื่อมโยงให้เห็นการสร้างสรรค์ การสืบทอด และการปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายต่าง ๆ ในท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไป แล้วแสดงภาพรวมของความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ได้สร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยกระแสหลัก" ขึ้นมา และวิเคราะห์ผลกระทบสำคัญอันเกิดจากวิธีคิดเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ดังกล่าวในท้ายที่สุด

รวมความว่า โครงการวิจัยนี้มุ่งศึกษาที่มาของ "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย" กระแสหลัก โดยวิเคราะห์ความคิดสำคัญ ๆ เกี่ยวกับ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ในระยะหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา ว่าได้มีการประกอบสร้าง (construction) การปรับเปลี่ยน และการสื่อสารความคิดอะไรบ้างในบริบทของแต่ละสมัย จนมีผลอย่างลึกซึ้งต่อโลกทัศน์หรือวิธีคิดของคนไทย การวิเคราะห์เช่นนี้จะช่วยให้เห็นได้ชัดเจนว่า คนไทยส่วนใหญ่ได้รับมรดกทางความคิดที่ปัญญาชนสำคัญ ๆ ได้สถาปนาขึ้น โดยที่มโนทัศน์ซึ่งปัญญาชนนำมาเน้น เพื่อตอบสนองบริบทและจุดมุ่งหมายทางการเมืองของตนนั้น ได้รับการเลือกสรรมาถ่ายทอดและปลูกฝังอย่างเข้มข้น ทำให้มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อจินตนาการเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทยส่วนใหญ่สืบมาจนถึงปัจจุบัน

งานเขียนที่เกี่ยวข้อง
เพื่อเข้าใจพรมแดนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัยนี้และความแตกต่างระหว่างโครงการวิจัยนี้กับงานเขียนอื่น ๆ ที่มีมาก่อนอย่างชัดเจน เห็นควรแบ่งงานเขียนที่เกี่ยวข้องออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. งานเขียนเกี่ยวกับความคิดและบทบาทของปัญญาชน
งานเขียนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ไม่ได้ศึกษา "ระบบความคิด" และ "วิธีคิด" ของปัญญาชน เป็นการวิเคราะห์ความคิดด้านต่าง ๆ แบบแยกส่วน และส่วนใหญ่ศึกษาความคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือศาสนา เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น "แนวความคิดด้านการศึกษาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี" (2) โดยอัจฉรา ชีวพันธ์. "แนวความคิดทางการเมืองในบทละครพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว"(3) โดยธิดา วัฒนกุล. "อิทธิพลทางพุทธศาสนาต่อความคิดทางการเมืองของสุลักษณ์ ศิวรักษ์"(4) โดยพงศ์เชษฐ์ รุจิรชุณห์. และ บทบาทของพระยาอนุมานราชธนในด้านศาสนา โดยจำนง ทองประเสริฐ (5) เป็นต้น

มีงานวิจัยบางเรื่องศึกษาความคิดด้านต่าง ๆ ของบุคคล ที่เน้นสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของความคิด เช่น "แนวความคิดทางด้านการเมือง และการศึกษากับบทบาททางการศึกษาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)" โดยศิริ พุทธมาศ (6) แต่ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องนี้มิได้ตระหนักว่า มีความแตกต่างระหว่างความคิดที่แท้จริงของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กับความคิดที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีพยายามปลูกฝังผ่านแบบเรียน นอกจากนี้ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์มิได้พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างความคิดที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเสนอ กับความคิดที่เสนอโดยปัญญาชนสำคัญหลายพระองค์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

มีงานวิจัยบางเรื่องที่เชื่อมโยงความคิดของปัญญาชนเข้ากับบริบททางการเมือง แต่เป็นการวิเคราะห์ความคิดของปัญญาชนเพียงคนเดียว ไม่ได้พิจารณาความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนความแตกต่างและความขัดแย้งทางความคิดที่มีอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ งานวิจัยที่ศึกษาในลักษณะนี้มีหลายเรื่อง เช่น "แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์" โดยวัลย์วิภา จรูญโรจน์ (7). "แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" โดยนฤมล ธีรวัฒน์ (8). "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับแนวพระราชดำริทางด้านพุทธศาสนาที่มีต่อการดำเนินการปกครองประเทศ" โดยสุรีย์ ทรัพย์สุนทร (9). และ บัลลังก์พระปิยะ บทวิเคราะห์พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ โดยดวงดาว ยังสามารถ (10) เป็นต้น

ส่วนความคิดของปัญญาชนบางคนที่แสดงออกในการเขียนประวัติศาสตร์ หรือในการสร้างละครและเพลงที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอดีต ก็ได้รับความสนใจมากจนมีการศึกษาไว้ไม่น้อย เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศึกษาความคิดในการเขียนประวัติศาสตร์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (11). ประอรรัตน์ บูรณมาตร์ ศึกษาความคิดของหลวงวิจิตรวาทการ (12). เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส ศึกษาความคิดของจิตร ภูมิศักดิ์ (13) ซึ่งอัญชลี สุสายัณห์แปลเป็นภาษาไทยและตีพิมพ์ในชื่อ ความคิดแหวกแนวของไทย จิตร ภูมิศักดิ์ และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน (14) เป็นต้น

มีงานวิจัยบางเรื่อง พยายามศึกษาเปรียบเทียบความคิดของปัญญาชนสำคัญหลายคน และเน้นการวิเคราะห์แนวความคิดที่แตกต่างกัน เช่น วิทยากร เชียงกูล ศึกษาเปรียบเทียบความคิดของปัญญาชน 3 คน ได้แก่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทั้งนี้โดยเน้นเฉพาะความคิดและจุดยืนทางการเมืองของปัญญาชน ที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาในงานเขียนของปัญญาชน แต่มิได้มองไปถึงความหมายทางการเมืองที่แฝงเร้นอยู่เบื้องหลังความคิดที่ปัญญาชนเสนอต่อสังคม (15)

งานเขียนบางเรื่องศึกษาความคิดของปัญญาชนไทยในช่วงเวลาหลายทศวรรษ แต่ศึกษาเฉพาะความคิดบางเรื่อง เช่น พระไพศาล วิสาโล ศึกษาเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของแนวความคิดทางพุทธศาสนา (16). ประจักษ์ ก้องกีรติ ศึกษาความคิดในระดับ "วาทกรรม" ที่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายของไทยสร้างขึ้น เน้นการรื้อฟื้นวาทกรรมดังกล่าวในทศวรรษ 2510 และอิทธิพลของวาทกรรมอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (17) อันเป็นการศึกษาในแง่มุมทางการเมืองวัฒนธรรม

นอกจากนี้ ยังมีผลงานในรูปบทความอีกจำนวนมาก เช่น บทวิเคราะห์เกี่ยวกับท่านพุทธทาสภิกขุ ในหนังสือ พุทธทาส พุทธธรรม (18) และหนังสืออีกหลายเล่มที่ตีพิมพ์ในวาระครบ 100 ปี พุทธทาสภิกขุ แต่บทความเหล่านี้มิได้ศึกษาในแง่ของอิทธิพลทางความคิดของปัญญาชนว่ามีผลต่อวิธีคิดของคนไทยเพียงใดและอย่างไร

2. งานเขียนเกี่ยวกับความคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีอิทธิพลในสังคมไทย
หรือวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวความคิดในเรื่องเดียวกันของคนกลุ่มต่างๆ

เช่น เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวณิช เขียน "ประชาธิปไตยแบบไทย" ซึ่งเปรียบเทียบแนวความคิดเกี่ยวกับ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ที่เสนอโดยนักคิดและนักการเมือง 4 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มซอยราชครู, กลุ่มสถานีวิทยุสองศูนย์, พลเอกแสวง เสนาณรงค์, และกลุ่มอนุรักษ์นิยมในระหว่างทศวรรษ 2490-2500 (19). อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศึกษา "ความเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นนำไทย" ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึง พ.ศ.2475 (20) เน้นสำนึกทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการปรับเปลี่ยนสำนึกทางประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มใหม่ที่เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการปฏิวัติ พ.ศ.2475. เกษียร เตชะพีระ ในบทวิเคราะห์เรื่อง "โลกานุวัตร VS วัฒนธรรมชุมชน" เปรียบเทียบแนวความคิดของปัญญาชนที่เป็นนักวิชาการจำนวน 8 คน ซึ่งได้เสนอทางเลือกแก่สังคมไทยแตกต่างกัน โดยเรียกฝ่ายหนึ่งว่า "ปีกโลกานุวัตร" และอีกฝ่ายหนึ่งว่า "ปีกวัฒนธรรมชุมชน" คือเปรียบเทียบระหว่างแนวความคิดของสุวินัย ภรณวลัย กับฉัตรทิพย์ นาถสุภา, อเนก เหล่าธรรมทัศน์ กับเสน่ห์ จามริก, ชัยอนันต์ สมุทวณิช กับนิธิ เอียวศรีวงศ์ และ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (21)

อนึ่ง ได้เคยมีการศึกษาความคิดของ "นักคิดอาวุโส" ร่วมสมัย จำนวน 10 คน ในโครงการวิจัยเรื่อง "เมืองไทยในความคิดและความใฝ่ฝันของนักคิดอาวุโส" โดยนักวิจัยแต่ละคนทำการศึกษาความคิดและความใฝ่ฝันของนักคิดอาวุโสหนึ่งคน ซึ่ง "นักคิดอาวุโส" ที่ได้รับเลือกมาศึกษาว่ามีความคิดและความใฝ่ฝันเกี่ยวกับสังคมไทยอย่างไรบ้าง ได้แก่ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) (พระพรหมคุณาภรณ์ในปัจจุบัน), ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล, ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี, ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม, ศาสตราจารย์ ดร.อัมมาร์ สยามวาลา, ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต, และ พลเอกสายหยุด เกิดผล. แต่นักวิจัยในโครงการนี้ไม่ได้ทำการวิเคราะห์แนวความคิดของนักคิดอาวุโสที่แต่ละคนศึกษาภายใต้กรอบความคิดเดียวกัน และมิได้ทำการเปรียบเทียบความคิดของนักคิดอาวุโส รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ทางความคิดระหว่างนักคิดเหล่านั้น นอกจากนี้ การที่โครงการวิจัยดังกล่าวนี้มุ่งศึกษาความคิดของนักคิดร่วมสมัย ทำให้มิได้วิเคราะห์มรดกของวัฒนธรรมทางความคิดที่นักคิดร่วมสมัยได้รับมาจากปัญญาชนไทยในอดีต รวมทั้งมิได้มองในแง่ที่นักคิดร่วมสมัยมีปฏิกิริยาต่อความคิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากอดีตด้วย

3. งานเขียนที่ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดขึ้น และ
การขยายตัวของจินตภาพเกี่ยวกับ "ชาติ" และลัทธิชาตินิยม
เช่น เบเนดิกส์ แอนเดอร์สัน กล่าวถึง "ชาติ" ในแง่ของชุมชนในจินตนาการ ซึ่งจินตภาพเกี่ยวกับ "ชาติไทย" แตกต่างจากจินตภาพชาติในยุโรป ในแง่ที่เป็นชาตินิยมที่ทางราชการสร้างขึ้นและทำการปลูกฝังแก่คนในสังคม (Official nationalism) ในขณะที่จินตนากรรม "ชาติ" ในยุโรป เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคม ผ่านการพิมพ์เป็นสำคัญ (22). ส่วนนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ศึกษาความคิดชาตินิยมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นกลางทั้งในและนอกระบบราชการ (23) ซึ่งช่วยให้วิเคราะห์ต่อไปได้ว่า ปัญญาชนหลายพระองค์ที่ต้องการจรรโลงระบอบดังกล่าว จำเป็นจะต้องเร่งนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ให้มีอิทธิพลเหนือความคิดที่คนชั้นกลางเหล่านั้นนิยาม นอกจากนี้นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ยังศึกษาความคิดทางเศรษฐกิจ และความคิดทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ดังปรากฏในหนังสือ ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (24) และ การปฏิวิติสยาม พ.ศ.2475 (25)

งานเขียนของสมเกียรติ วันทะนะ "สังคมไทยในมโนภาพของสี่นักคิดไทยสมัยใหม่" เปรียบเทียบจินตภาพหรือ "มโนภาพสังคมไทย" ที่นักคิด 4 ท่าน (ซึ่งเป็นตัวแทนของกระแสความคิด สำคัญ 4 กระแส) ได้สร้างขึ้น ได้แก่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หลวงวิจิตรวาทการ, จิตร ภูมิศักดิ์, และนิธิ เอียวศรีวงศ์. สมเกียรติชี้ให้เห็นว่า มโนทัศน์ของนักคิดทั้งสี่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่สมเกียรติใช้ทฤษฎีของเฮเดน ไวท์ (Hayden White) ใน Matahistory: The Historical Imagination in Nineteenth-Century Europe (26) เป็นกรอบในการวิเคราะห์ และวิเคราะห์ไว้โดยย่อเท่านั้น อีกทั้งมิได้อธิบายสาเหตุหรือบริบททางสังคม ที่ส่งผลให้ปัญญาชนมี "มโนภาพ สังคมไทย" แตกต่างกัน (27)

4. งานเขียนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ไทย
งานเขียนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ไทยมีจำนวนน้อย เช่น สก็อต บาร์เม (Scot Brame) ซึ่งศึกษาการสร้างอัตลักษณ์ไทยโดยหลวงวิจิตรวาทการ (28). เกษียร เตชะพีระ เขียนเรื่อง "บริโภคความเป็นไทย" (29) เน้นการวิเคราะห์และพิสูจน์ให้เห็นความหมายที่ลื่นไหลของ "ความเป็นไทย" เมื่อ "ความเป็นไทย" ได้กลายเป็นสินค้า ที่กลุ่มทุนหลายสัญชาติสามารถสร้าง "ความเป็นไทย" ให้แก่สินค้าของตน เพื่อประโยชน์ในการแข่งขันในตลาด ซึ่งผู้ซื้อมีความต้องการที่จะบริโภค "ความเป็นไทย" เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตน. แม้ว่างานเขียนบางเรื่องในกลุ่มนี้ จะมิได้ใช้แนวพินิจทางประวัติศาสตร์ในการมองความเปลี่ยนแปลงระยะยาวของอัตลักษณ์ไทยที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคม แต่ก็มีประโยชน์อย่างมากในแง่ที่ทำให้เห็นลู่ทางในการศึกษาความหมายของ "ความเป็นไทย" อย่างมีพลวัต

ความแตกต่าง
โครงการวิจัย ประวัติศาสตร์การสร้างวิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ.2435-2535 จึงมีความแตกต่างจากงานเขียนของผู้อื่น เพราะศึกษาปัญญาชนไทยจำนวน 10 คน ที่ได้สร้าง สืบทอด และปรับเปลี่ยนความคิด ในช่วงเวลาถึงหนึ่งศตวรรษ โดยพยายามศึกษาความคิดที่ปัญญาชนกลุ่มนี้เสนอต่อสังคม ในประเด็นที่เห็นว่ามีความสำคัญหรือมีอิทธิพลสูงต่อสังคม นั่นคือความคิด "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ซึ่งมีผลอย่างลึกซึ้งต่อวิธีคิดของคนไทยเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" เป็นการศึกษาช่วงเวลาค่อนข้างยาวคือประมาณหนึ่งศตวรรษ โดยพิจารณาความคิดที่ปัญญาชนเสนอในบริบททางประวัติศาสตร์ เน้นการวิเคราะห์บริบททางการเมืองและวัฒนธรรมทางความคิด ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการนิยามความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ในแต่ละยุค และพิจารณาความสัมพันธ์ทางความคิดที่ปัญญาชนทั้งหลายในกลุ่มสร้างขึ้น ทั้งนี้ หวังว่าจะช่วยให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งและรอบด้านถึงที่มาของวิธีคิดกระแสหลักเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ซึ่งมีผลต่อแนวทางในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติการทางสังคมของคนไทยตลอดมา

อนึ่ง ในการเขียนรายงานผลการวิจัยฉบับนี้ ผู้วิจัยมิได้ให้เนื้อที่แก่ปัญญาชนแต่ละพระองค์หรือแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ เนื่องจากรายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับปัญญาชนบางพระองค์และบางคนได้รับการตีพิมพ์ไปแล้ว รายงานผลการวิจัยฉบับนี้จึงให้เนื้อที่ส่วนใหญ่แก่รายงานผลการวิจัยส่วนที่เขียนขึ้นมาใหม่ ได้แก่ ส่วนที่เกี่ยวกับการนิยาม "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, พระยาอนุมานราชธน, และสุลักษณ์ ศิวรักษ์

สำหรับผลการวิจัยเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ปรากฏในรายงานผลการวิจัยฉบับนี้ แม้ว่าส่วนหนึ่งจะสรุปมาจากบทความของผู้วิจัย เรื่อง The Establishment of Identities in the Absolute Monarchy States (30) แต่ส่วนใหญ่แล้วเขียนขึ้นใหม่จากการค้นคว้าเพิ่มเติม ส่วนการนิยาม "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หลวงวิจิตรวาทการ, และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้น ส่วนใหญ่แล้วสรุปมาจากหนังสือของผู้วิจัย เรื่อง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม (31). เรื่อง ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ (32). และเรื่อง คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม "ความเป็นไทย" (33) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ.2545 พ.ศ.2546 และ พ.ศ.2550 ตามลำดับ. เหตุที่ต้องนำผลการวิจัยที่เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วมาเขียนรวมไว้ในที่นี้ ก็เนื่องจากต้องการให้เห็นภาพรวมของการนิยามความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" กับการสืบทอดและปรับเปลี่ยนความหมายดังกล่าว ในผลงานของปัญญาชนที่ทรงอิทธิพลสูงที่สุดในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน นั่นเอง

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) ปรีดี พนมยงค์, การถ่ายทอดศัพท์จากภาษาต่างประเทศมาเป็นไทย. กรุงเทพฯ: นีลนาราการพิมพ์, 2531. หน้า 27.

(2) อัจฉรา ชีวพันธ์, "แนวความคิดด้านการศึกษาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี" รายงานผลการวิจัย เงินทุนอุดหนุนเพื่อเพิ่มพูนและพัฒนาประสิทธิภาพทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.

(3) ธิดา วัฒนกุล, "แนวความคิดทางการเมืองในบทละครพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์แผนกวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2519.

(4) พงศ์เชษฐ์ รุจิรชุณห์, "อิทธิพลทางพุทธศาสนาต่อความคิดทางการเมืองของสุลักษณ์ ศิวรักษ์" วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527.

(5) จำนง ทองประเสริฐ, บทบาทของพระยาอนุมานราชธนในด้านศาสนา กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ บริษัทสหธรรมิก, 2547.

(6) ศิริ พุทธมาศ "แนวความคิดทางด้านการเมืองและการศึกษากับบทบาททางการศึกษาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)" วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529

(7) วัลย์วิภา จรูญโรจน์, "แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์" วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520,

(8) นฤมล ธีรวัฒน์, "แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.

(9) สุรีย์ ทรัพย์สุนทร, "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับแนวพระราชดำริทางด้านพุทธศาสนาที่มีต่อการดำเนินการปกครองประเทศ" วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2528.

(10) ดวงดาว ยังสามารถ บัลลังก์พระปิยะ บทวิเคราะห์พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2537.

(11) นิธิ เอียวศรีวงศ์ "สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับอาโนลด์ ทอน์ยบี ใน ปรัชญาประวัติศาสตร์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2516. และ "สองร้อยปีของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย และทางข้างหน้า" ศิลปวัฒนธรรม 7, 4 (กุมภาพันธ์ 2529).

(12) ประอรรัตน์ บูรณมาตร์, หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2528.

(13) Craig J. Reynolds, Thai Radical Discourse: The Real Face of Thai Feudalism Today. Cornell University: Southeast Asia Program, 1987.

(14) เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส, ความคิดแหวกแนวของไทย จิตร ภูมิศักดิ์ และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน แปลโดย อัญชลี สุสายัณห์ กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2534.

(15) วิทยากร เชียงกูล, ศึกษาบทบาทและแนวคิดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ: ผลึก, 2538.

(16) พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2546.

(17) ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ...การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชน ก่อน 14 ตุลา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.

(18) พิทยา ว่องกุล (บรรณาธิการ), พุทธทาส พุทธธรรม กรุงเทพฯ: สายธาร, 2549.

(19) เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวณิช, "แนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทย" วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2536.

(20) อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นนำไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึง พ.ศ.2475 กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535.

(21) เกษียร เตชะพีระ, วิวาทะโลกานุวัตร. กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, 2538.

(22) Benedict Anderson, Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism. London and New York: Verso, 1991.

(23) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ" รัฐศาสตร์สาร ฉบับ 21/3 (2542): 1-104.

(24) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2546.

(25) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับโครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย, 2535.

(26) Hayden White, Matahistory: The Historical Imagination in Nineteenth-Century Europe , Baltimore & London: The John Hopkins University Press, 1973.

(27) สมเกียรติ วันทะนะ "สังคมไทย" ในมโนภาพของสี่นักคิดไทยสมัยใหม่" จดหมายข่าวสังคมศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย 10, 4 (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2531): 91-114.

(28) Scot Barme, Luang Wichit Wathakan and a Creation of a Thai Identity. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 1993.

(29) เกษียร เตชะพีระ, "บริโภคความเป็นไทย" ใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บรรณาธิการ) จินตนาการสู่ปี 2000 กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2538.

(30) Saichol Sattayanurak, "Establishment of Identities in the Thai Absolute Monarchy State" Journal of the Siam Society Volume 90 Parts 1&2 2002: 101-124.

(31) สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.

(32) สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.

(33) สายชล สัตยานุรักษ์, คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม "ความเป็นไทย" กรุงเทพฯ: มติชน, 2550. (หนังสือนี้มาจากรายงานผลการวิจัย เรื่อง "การเมืองและการสร้าง "ความเป็นไทย" โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช").

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

(หมายเหตุ: บทที่ ๒ และบทต่อๆ ไป จะทะยอยนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน ในเร็วๆ นี้)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
04 January 2008
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทศวรรษ ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ได้ทำให้ปัญญาชนสำคัญ เช่น
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือแม้แต่หลวงวิจิตรวาทการเอง หันกลับไปรื้อฟื้น ความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการสร้างขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายเท่าที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ความหมายที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในสมัยดังกล่าวมีพลังสูงขึ้นมาก และเป็นแหล่งที่มาของ "วิธีคิดของคนไทยเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย" ซึ่งยังคงเป็นวิธีคิดกระแสหลักสืบมาจนถึงปัจจุบัน
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream