โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๕๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑ (January, 02, 01, 2008) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

02-01-2551

Economics & the Poor
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

สัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์ทรัพยากร: วิถีพลังงานและเกษตรกรรมยั่งยืน
เศรษฐศาสตร์เพื่อคนจน: ต้นกล้าพลังงาน ภาษา และความสำเร็จ
เดชรัต สุขกำเนิด : ผู้ให้สัมภาษณ์
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ เดิมชื่อ "เดชรัต สุขกำเนิด: เพาะต้นกล้าบนผืนดินแห่งความเปลี่ยนแปลง"
โดย อวยพร แต้ชูตระกูล/สมพงค์ พรมสะอาด (ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารโลกสีเขียว
ฉบับมกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗) ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประวัติการชีวิตการศึกษา
และทำงานของผู้ให้สัมภาษณ์ รวมถึงแนวทางกิจกรรมทางสังคมที่ได้ใช้วิชาเศรษฐศาสตร์
มารับใช้คนจนในปัญหาเกี่ยวกับเกษตรกรรม และพลังงานยั่งยืน ตลอดรวมถึง
การเพาะกลุ่มต้นกล้า ซึ่งเป็นนักศึกษาที่สนใจปัญหาเรื่องเหล่านี้มาสานต่อความคิดและการทำงาน
สุดท้ายเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ถึงความสำเร็จและความล้มเหลวขององค์กรพัฒนาเอกชนว่า
เกิดขึ้นจากอะไร รวมถึงแง่มุมการนำเอาแนวคิดเรื่องสาธารณสุขเข้ามาสู่นโยบายสาธารณะ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๕๒
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์ทรัพยากร: วิถีพลังงานและเกษตรกรรมยั่งยืน
เศรษฐศาสตร์เพื่อคนจน: ต้นกล้าพลังงาน ภาษา และความสำเร็จ
เดชรัต สุขกำเนิด : ผู้ให้สัมภาษณ์
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


แนะนำ
ชื่อของ เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่รู้จักในฐานะนักวิชาการที่ยืนอยู่ในฝั่ง "ตรงกันข้าม" กับหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจอยู่เสมอ เมื่อเกิดความขัดแย้งในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ โดยเฉพาะด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขื่อนปากมูล โรงไฟฟ้าถ่านหินหินกรูด-บ่อนอก หรือกระทั่งโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย หลายกรณีข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เขานำเสนอส่งผลให้เกิดการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

นอกเหนือจากผลงานด้านวิชาการที่โดดเด่น ในอีกด้านหนึ่งเดชรัตคือผู้จุดประกายพร้อมกับก่อตั้งกลุ่มต้นกล้า กลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์ทางเลือกที่ถือกำเนิดขึ้นหลังปี 2540 ซึ่งไทยและประเทศเอเชียอีกหลายประเทศต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จนเกิดการตั้งคำถามอย่างหนักต่อทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก อันเป็นแนวคิดที่ครอบงำการพัฒนาอยู่ในช่วงนั้นว่า กำลังนำพาสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ ความโดดเด่นของกลุ่มต้นกล้าต่อการขบคิดในประเด็นดังกล่าว เป็นเพราะว่าพวกเขาไม่เพียงทำการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในเนื้อหาด้านวิชาการเท่านั้น หากยังชวนกันลงมือปฏิบัติเพื่อหาคำตอบกันอย่างเอาจริงเอาจังอีกด้วย

วันนี้นอกเหนือจากเดชรัตซึ่งถือว่าเป็นนักวิชาการที่น่าจับตามองอีกคนหนึ่งในเมืองไทย โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านพลังงาน อันเป็นสาขาที่เลือกศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ต้นกล้าหลายต้นที่เขาเพาะไว้ก็ล้วนเติบโตให้ผลพร้อมจะถูกเก็บเกี่ยวด้วยเช่นกัน

โลกสีเขียว: อาจารย์เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ต่างประเทศ อาจารย์เลือกเรียนด้านไหนครับ
เดชรัต: ผมไปเรียนด้านกระบวนการนโยบายสาธารณะทางด้านพลังงาน ซึ่งจะศึกษาว่าการกำหนดออกมาเป็นนโยบายพลังงาน ที่ผ่านกระบวนการมาจากสาธารณะ หรือเป็นการกำหนดนโยบายที่ไม่ได้ออกมาจากการกำหนดของรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่ต้องมีภาคเอกชน ภาคประชาชน และหลาย ๆ ฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมด้วยนั้น สุดท้ายแล้วมันจะเป็นอย่างไร แต่ละฝ่าย แต่ละประเด็นจะมีความสัมพันธ์กันหรือมีอิทธิพลต่อกันอย่างไร จนกระทั่งเกิดออกมาเป็นนโยบายสาธารณะขึ้น โดยจะศึกษาจากอดีตที่ผ่านมา

ปัจจุบันที่เป็นอยู่และแนวโน้มที่น่าจะเป็นในอนาคต ซึ่งแนวโน้มในอนาคตก็จะมีการศึกษาใน 3 กรอบใหญ่. กรอบแรก ซึ่งคงจะศึกษาไม่มากนักคือกรอบระดับรัฐธรรมนูญ เพราะอันนี้เราคงไม่ได้ศึกษาเพื่อไปเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ แต่คงจะมองว่าภายใต้กรอบนี้ ส่วนต่างๆ ของสังคมไทยมีการปฏิบัติต่อกันอย่างไร, เราก็จะเข้าสู่ขั้นที่สอง ที่จะเป็นระดับนโยบาย ดูว่าจากกรอบแรกมันมีการแปลงไปเป็นนโยบายอย่างไร, กรอบข้อสุดท้ายคือระดับปฏิบัติการ ซึ่งก็คือการปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ หรือฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งการไฟฟ้า กระทรวงพลังงาน ประชาชน เอกชน. กระบวนการทั้งสามระดับมันเกิดขึ้นและเชื่อมโยงกันอย่างไร ที่เราต้องศึกษาตรงนี้ก็เพราะว่ามันจะเป็นตัวสร้างให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งสามารถที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะด้านพลังงาน ซึ่งมีผลดีต่อสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โลกสีเขียว: ไปเรียนที่ประเทศอะไร
เดชรัต: ประเทศเดนมาร์กครับ ที่มหาวิทยาลัยอัลบอร์ก เขาจะมีภาควิชาชื่อ "ภาควิชาการพัฒนาและการวางแผน" ซึ่งสอนในด้านนี้โดยตรง การเรียนก็ใช้เวลาสามปี โดยที่ผมก็ไปเรียนอยู่ที่นั่นหนึ่งปี แล้วในปีที่สองกลับมาเพื่อที่จะเก็บข้อมูลแล้วก็ทดลองปฏิบัติการอะไรบางอย่างในเมืองไทยเกี่ยวกับเรื่องนโยบายสาธารณะ แล้วในปีที่สามก็เขียนเป็นรายงานสรุป

โลกสีเขียว: ดูจากสาขาที่ไปเรียนต่อ หมายความว่าจากนี้อาจารย์จะเน้นทางด้านพลังงานโดยตรงเลยหรือเปล่า
เดชรัต: ครับ ที่ผ่านมาก็ทำงานอยู่สองด้านใหญ่ ๆ หนึ่งก็คือด้านพลังงาน อีกด้านหนึ่งก็คือเกษตรยั่งยืน ซึ่งจริงๆ ด้านพลังงานก็เป็นความสนใจหลัก ส่วนด้านเกษตรก็เป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยที่ผมอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็ทำหน้าที่ในการสื่อสารกับเครือข่ายที่ทำเรื่องเกษตรยั่งยืนอยู่แล้ว คนที่รู้จักผมก็จะมีสองด้าน บางคนก็รู้จักด้านพลังงาน บางคนก็จะรู้จักด้านเกษตร. แต่ที่ไปเรียนต่อที่ไม่ทำทางด้านเกษตรก็เพราะ เห็นว่าเรื่องพลังงานมันอยู่ในยุคที่เป็นจุดเปลี่ยน มันจะมีเรื่องการแปรรูปเข้ามา มันจะมีเรื่องกฎเกณฑ์การค้าโลกเข้ามา เพราะฉะนั้นบริบทของเรื่องนโยบายสาธารณะมันจะเปลี่ยนไปหมด ฉะนั้นถ้าเราอยากจะให้ผลการศึกษามันมีผลการปรับเปลี่ยนนโยบายสาธารณะจริงๆ ก็ต้องศึกษาในเรื่องนี้

โลกสีเขียว: อาจารย์จบปริญญาโททางด้านไหน
เดชรัต: ผมจบโทสองปริญญาก็คือ ทางด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วก็ทางด้านพัฒนาชนบทที่สถาบันสังคมศาสตร์ศึกษา (Institute of Social Studies) ที่ประเทศเนเธอแลนด์

โลกสีเขียว: ความสนใจเรื่องพลังงาน หรือด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจารย์เข้าไปศึกษาในช่วงที่ผ่านมาเริ่มต้นจากอะไร
เดชรัต: เริ่มตั้งแต่ตอนเรียนจบใหม่ ๆ ตอนนั้นมันมีประเด็นปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูล ซึ่งก็มีองค์กรพัฒนาเอกชนมาขอให้เราช่วย เอาข้อมูลของเรื่องเขื่อนปากมูลมาให้ดูในประเด็นทางด้านเศรษฐศาสตร์ ตอนนั้นก็ทำอยู่สองส่วนหลัก ๆ ส่วนแรกก็คือเรื่องความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจของการลงทุนในเรื่องเขื่อนปากมูล ซึ่งเราก็เริ่มเห็นประเด็นแล้วว่า มันไม่น่าจะคุ้มค่า มันน่าจะมีการคาดการณ์ผลประโยชน์ที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง อีกเรื่องก็คือการคาดการเรื่องงบประมาณที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ตอนนั้นผมเองก็ไม่ได้ถึงขั้นไปทำเป็นเอกสาร แต่ก็มีการพูดกันในเวทีต่างๆ อีกส่วนหนึ่งที่ผมไปทำเป็นเอกสารออกมาก็คือ เรื่องคำนวณถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจการประมง เพราะว่าตอนนั้นมันมีประเด็นเรื่องต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งตอนแรก กฟผ. มีสูตรคิดค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน เราก็เข้าไปในช่วงนั้น

ตอนนั้นก็ถือว่าเป็นจุดแรกที่เข้ามาดูในเรื่องพลังงาน จริง ๆ แล้วในระหว่างเดียวกันนั้นก็มีอีกงานหนึ่งซึ่งไม่ใช่เป็นงานทางด้านพลังงานแต่ว่าก็เป็นโครงการของรัฐก็คือเรื่องการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองขึ้นมาที่กรุงเทพ อันนั้นเราก็เข้าไปดูว่าการพัฒนาของลุ่มน้ำแม่กลองจะต้องใช้น้ำแค่ไหน และการที่จะผันน้ำมานี่จะเกิดผลกระทบกับแม่น้ำแม่กลองอย่างไร คุ้มค่าหรือไม่ อันนี้คือจุดเริ่มที่เข้ามาศึกษา. แต่ว่าพอทำสองโครงการนี้เสร็จ ยังไม่เริ่มเข้าประเด็นพลังงานจริงๆ ก็ไปเรียนต่อที่เนเธอร์แลนด์ พอไปเรียนต่อ มันเหมือนกับเราได้องค์ความรู้ครบขึ้น คือเรียนในเมืองไทยเรามักจะเรียนทางด้านเทคนิคมาก แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยจะรู้นักก็คือเรื่องกระบวนการ ว่าก่อนจะถึงการตัดสินใจ กระบวนการแต่ละส่วนมันเป็นอย่างไร มันมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องยังไง แล้วบทบาทของนักวิชาการในกระบวนการแต่ละขั้นเป็นมาอย่างไร พอเรากลับมาก็ได้มามีโอกาสศึกษาเรื่องพลังงานยั่งยืนในประเทศไทย ว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหน จึงถือว่าเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับด้านพลังงานอย่างจริงจัง

โลกสีเขียว: ในเรื่องเรื่องเขื่อนปากมูลทั้งที่นักวิชาการด้านนี้ก็มีอยู่จำนวนมาก ทำไมจึงเป็นอาจารย์ที่ถูกองค์กรพัฒนาเอกชนขอช่วยให้เข้าไปดูในตอนนั้น
เดชรัต: ผมอาจจะเคยร่วมงานตั้งแต่สมัยยังเป็นกิจกรรมนักศึกษา ตอนนั้นก็คือเรื่องเขื่อนน้ำโจนก็เคยร่วมงานอยู่ หลังจากเรื่องน้ำโจนเราก็เรียนหนังสืออย่างเดียว แต่โชคดีหน่อยตอนที่เรียนปริญญาโท ผมก็สนใจเรื่องทรัพยากร เรื่องการกระจายรายได้ของประชาชน เรียกว่าแม้ไม่ได้ทำอะไรที่มันเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมจริง ๆ แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในเรื่องที่ใกล้เคียงกัน พอเขาติดต่อเข้ามา ตอนนั้นเป็นปี 37 ก็เลยเป็นโอกาส แต่ก็ยังเป็นเหมือนการทำงานงานหนึ่งเท่านั้น

โลกสีเขียว: แล้วการเข้ามาศึกษาเรื่องพลังงานยั่งยืนเป็นการศึกษาในประเด็นไหน
เดชรัต: ผมขอย้อนกลับไปตอนที่จบกลับมาจากเนเธอร์แลนด์ ผมได้มีโอกาสดูข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่เรื่องพลังงาน พอศึกษาไปเราก็จะพบเลยว่า มันมีประเด็นเรื่องนโยบาย เรื่องกฎกติกาต่าง ๆ ที่มันมีอยู่ในตลาดพลังงาน หรือการตัดสินใจของภาครัฐที่มันบิดเบี้ยวไป มันทำให้แนวทางการพัฒนาพลังงานในประเทศของเรา ล้วนแต่เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ซึ่งตอนนั้นมันมีความชัดเจนมากว่า ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ผมหมายถึงช่วงที่ผมกลับมาปี 2540 ชัดเจนมาก แต่ว่านักเศรษฐศาสตร์ในฝั่งของรัฐ คนตัดสินใจ ผู้ลงทุนก็ยังอยากจะลงทุนในกิจการด้านพลังงานต่อไป

เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องพลังงานยั่งยืน ตอนนั้นทำการวิจัยเรื่องพลังงานยั่งยืนในภาคอีสาน แต่เราก็ศึกษาทั่วทั้งประเทศ เพียงแต่พุง่เป้าไปที่ภาคอีสาน ตามพื้นที่ของโครงการพลังงานงานยั่งยืนไทย-เดนมาร์ก แล้วก็พบว่า องค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพลังงานมันกระจัดกระจายอยู่ในคน 3 กลุ่มใหญ่ ๆ อันนี้เราไม่ได้รวมในภาครัฐนะหมายถึงในภาคสังคม

- หนึ่งก็คือเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
- อีกกลุ่มหนึ่งเป็นเอ็นจีโอที่ทำในเรื่องเทคนิค กลุ่มนี้มีความรู้ในเรื่องวิศวกรรม
- กลุ่มที่สามทำประเด็นทางนโยบาย เช่น มูลนิธิฟื้นฟู

ทีนี้องค์ความรู้ 3 ส่วนนี้ถ้ามันไม่มาต่อเชื่อมกัน มันก็ไม่สามารถเห็นภาพรวมได้ เราก็เลยก่อตั้งเป็นเครือข่ายพลังงานยั่งยืนเพื่อเอาความรู้ทั้ง 3 ส่วนมาต่อเชื่อมกัน พอเริ่มเป็นเครือข่ายขึ้นมา งานแรกที่เราทำก็คือการทำเวิร์กช็อป เราก็เชิญอาจารย์มาจากเดนมาร์กมาศึกษาว่า ถ้าไม่ทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ทำอย่างอื่นผลมันจะเป็นอย่างไร เราก็มีการศึกษาเปรียบเทียบพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานจากชีวมวล การประหยัดพลังงาน ทำเป็นการศึกษาเปรียบเทียบออกมาเลยระหว่างทางเลือกต่างๆ แล้วเราก็พบว่า "ศักยภาพของพลังงานทางเลือกของประเทศมีสูงมาก" แต่เป็นเพราะโครงสร้างของระบบ ปัญหาด้านตลาดต่างหากที่ไม่เอื้ออำนวยให้มันเกิดขึ้นได้

โลกสีเขียว: ดูเหมือนพลังงานทางเลือกจะถูกระบุว่ามีต้นทุนที่แพงกว่า
เดชรัต: การลงทุนในเรื่องพลังงานทางเลือกจริงก็ไม่ได้แพงกว่ามาก มันก็อาจแพงกว่านิดหน่อย แต่ไม่ได้มากมายอะไร ที่สำคัญคือส่วนที่จ่ายแพงกว่านั้น เมื่อนำมาเทียบกันแล้ว มันเป็นส่วนที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่าการนำเข้าพลังงานถ่านหิน เพราะเงินหนึ่งบาทที่เราจ่ายไปเพื่อพลังงานทางเลือก ประมาณ 80 สตางค์มันจะตกอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศ แต่พลังงานถ่านหิน 80 เปอร์เซ็นต์มันจะออกไปนอกประเทศ เพราะฉะนั้นเราจะไปคิดแค่ซื้อของถูกไม่ได้ มันต้องพูดว่าแบบไหนล่ะที่เงินมันจะทำให้เกิดเป็นรายได้ภายในประเทศ แล้วรายได้ส่วนนี้ก็จะเกิดการจ้างงานมากกว่า ทั้งการจ้างงานทางตรงแล้วก็การทำงานทางอ้อม. โดยตรงก็คือที่จะเกิดจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทางอ้อมก็คือเงินที่มันหมุนอยู่ในประเทศก็จะสร้างรายได้ต่ออีกทีหนึ่ง ตรงนี้รัฐบาลก็มีรายได้มากกว่าจากภาษี ขณะที่การลงทุนอีกด้านหนึ่ง คือโรงไฟฟ้าถ่านหินได้รับการยกเว้นภาษีนะ เพราะฉะนั้นถ้าเราเปรียบเทียบกันจะพบว่า การลงทุนในพลังงานทางเลือกจะคุ้มค่ากว่าการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินมาก

ตอนนั้น(ประมาณปี 2542) ที่เราเสนอผลงานนี้ออกไป รัฐบาลก็ปฏิเสธว่ามันเป็นแนวทางที่เป็นไปไม่ได้ แต่เราก็ยังดำเนินการต่อ ด้านหนึ่งเรายังเชื่อว่ามันยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้านนี้เราก็ดำเนินการต่อมาโดยสู้กันในเรื่องความมั่นคงในเรื่องระบบไฟฟ้า ตัวเลขการพยากรณ์ความต้องการ จนในที่สุด รัฐบาลก็ตัดสินใจที่จะเลื่อนโครงการนี้ออกไป แล้วก็ย้ายที่สร้างและเปลี่ยนเชื้อเพลิงใหม่ ในอีกส่วนหนึ่งเราก็ยังมาพัฒนาในเรื่องพลังงานทางเลือก เพราะเราก็ยังเชื่อว่าถึงจะไม่ทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ยังต้องทำพลังงานทางเลือกอยู่ดี โชคดีที่รัฐบาลเองเขาก็กลับแนวความคิด เลยมีนโยบายที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นมา รอบแรกรอบเดียวสามารถที่จะรับซื้อไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นสามร้อยกว่าเมกกะวัตต์ อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่าจริงๆ เมื่อนโยบายเปิด มันก็มีโอกาสที่จะเป็นจริงได้. เพราะฉะนั้น เรายิ่งเชื่อมั่นในแนวทางที่เราทำอยู่ว่าถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนแนวนโยบาย แล้วก็มาดูกติกาต่างๆ ในตลาด มันจะทำให้การพัฒนาพลังงานทางเลือก รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นทางเลือก มันเกิดขึ้นได้เช่นกัน

โลกสีเขียว: ส่วนใหญ่เรื่องที่อาจารย์เข้ามาจับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากมูล พลังงานทางเลือก แนวคิดมันค่อนข้างจะตรงกันข้ามกับรัฐบาล รวมถึง กฟผ. ด้วย ตรงนี้มีผลกระทบต่อสถานภาพข้าราชการ การเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบ้างหรือไม่
เดชรัต: ไม่มีหรอกครับ ผมคิดว่ามันอยู่ที่ท่าทีที่เรานำเสนอมากกว่า เพราะทุกสิ่งที่เรานำเสนอเป็นข้อเท็จจริงทางวิชาการ ข้อเท็จจริงจากในพื้นที่ เราก็นำเสนอไปตรงๆ เขาก็สามารถที่จะแลกเปลี่ยนให้ความเห็นได้ เราจัดเวทีทุกครั้ง เราก็เชิญเจ้าของโครงการให้เขามาให้ความเห็น เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นผู้วิจารณ์ แล้วบรรยากาศในการจัดของเราก็ล้วนนำไปสู่การพยายามแลกเปลี่ยนทางด้านความคิด เพราะแนวทางการทำงานของผมไม่เชื่อว่าการอยู่กันคนละข้างจะเป็นผลดีกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้ในบางกรณีจะมีคนที่ยืนอยู่สองข้าง แต่ตัวเราที่ทำงานด้านวิชาการต้องพยายามเอาข้อถกเถียงทั้งสองประเด็นมาคุยกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องอยู่ตรงกลางเสมอไป. เราอาจจะเห็นด้วยกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ เหมือนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินผมก็มีความเห็นว่าไม่ควรสร้าง ความมั่นคงทางด้านพลังงานมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น กำลังการผลิตสำรองยังเหลือ เราก็แสดงหลักฐานก็มาคุยกัน ทุกวันนี้เมื่อผมพบกับหลายท่านที่เคยโต้เถียงกันทางวิชาการ หรือที่ทำงานอยู่ใน สพช. เจอกันก็คุยกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกันด้วยดี ผมก็เลยถือว่าผมโชคดีที่ไม่ได้เจอปัญหาที่ว่าจะมาคุกคามตัวเรา

โลกสีเขียว: หมายความว่าโครงการที่มีความขัดแย้งไม่เป็นปัญหาในการทำงานหรือต่อเรื่องการขอข้อมูลเพื่อทำงานด้านวิชาการ
เดชรัต: ขอข้อมูลก็มีอุปสรรคตามปกติ หมายความว่ามีข้อมูลบางอย่างที่เขาไม่ให้ แต่ก็ไม่ใช่เพราะว่าเราเป็นนักวิชาการที่อยู่ตรงข้ามกับเขา แต่โอเคว่าในบางกรณี ถ้าเรื่องนั้น ๆ มันกำลังงวด ก็แน่ล่ะว่ามันก็หาข้อมูลยากหน่อย แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นทำให้ทำงานวิชาการไม่ได้ จริงๆ ผมก็อยากจะเชียร์นักวิชาการให้มาทำเรื่องแบบนี้กันมากๆ ภาคประชาชนเองก็เหมือนกันถ้าเราเสนอข้อเท็จจริงไป เขาก็เข้าใจ ไม่ใช่ว่าเขาจะเรียกร้องในทางการเมืองอย่างเดียว

มีโครงการเขื่อนอยู่ที่หนึ่ง ชาวบ้านเขามาปรึกษาเรื่องผลกระทบว่า เขาถูกน้ำท่วมก็มาลองเสนอข้อเรียกร้องว่าข้อนี้เป็นยังไง ผมก็บอกว่า คงเสนออย่างนี้ไม่ได้ ในทางหลักวิชาถ้าเรียกร้องขนาดนี้รัฐบาลเขาคงไม่ยอมคุย เพราะว่ามันไม่รู้จะเอาฐานอะไรมาคิด มาคุย ผมก็เสนอให้เขาปรับข้อเรียกร้องให้สามารถเอาหลักฐานที่มีอยู่มาคุยกันได้ หรือมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายที่จะชดเชยได้ ภาคประชาชนก็เข้าใจครับ. ผมคิดว่าที่ผ่านมาที่ความขัดแย้งมันรุนแรง ก็เพราะมันไม่มีเวทีให้มาพูดคุยกัน นั่นก็หมายถึงบทบาทของนักวิชาการในบ้านเรายังไม่พอ บางทีก็มีนักวิชาการไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดการพูดคุยกัน บางคนก็ทำทางด้านวิชาการฝ่ายเดียว แต่ไม่ได้ช่วยจัดให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนในเชิงวิชาการด้วย ถ้าหากว่าสามารถมีทั้งสองส่วนได้ ก็จะทำให้บรรยากาศดีขึ้น โดยที่ทั้งสองฝ่ายอาจจะยังมีจุดยืนเหมือนเดิม แต่หากมีเวทีที่จะมาพูดคุย รัฐบาลและสังคมที่จะเป็นคนตัดสิน เขาก็สามารถฟังข้อมูลได้จากทุกฝ่าย ทั้งจากเจ้าของโครงการ จากนักวิชาการอิสระ นักวิชาการภาครัฐ ภาคประชาชน การตัดสินใจมันก็จะมีความเป็นธรรมมากขึ้น

โลกสีเขียว: สำหรับกรณีความขัดแย้งเรื่องเขื่อนปากมูลที่อาจารย์มีโอกาสได้ไปศึกษาหลายครั้ง มีความเห็นอย่างไรกับบทสรุปที่ออกมา
เดชรัต: เรื่องเขื่อนปากมูลที่ผมเข้าไปศึกษาเป็นรอบที่สามหลังเปิดประตูระบายน้ำ ในการศึกษาเห็นได้ชัดว่า การเปิดประตูระบายน้ำ ทำให้ธรรมชาติและชีวิตดีขึ้น แต่ไม่เท่ากับก่อนสร้างเขื่อน ใครที่กลับไปจับปลาได้ก็จะมีฐานะดีขึ้นมาก แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เช่น คนที่ขายเรือไปหมดแล้ว หรือขาดแรงงาน ลูกไปอยู่นอกภาคเกษตรหมดแล้ว ส่วนที่อยู่ก็มีแต่คนแก่ เพราะฉะนั้นเราจึงเสนอว่าจำเป็นที่ต้องมีการเปิดประตูระบายน้ำอย่างต่อเนื่องต่อไปอย่างน้อยห้าปี เพื่อที่จะทำให้นิเวศวิทยา วิถีชีวิต กลับมาเข้มแข็งขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดความเข้มแข็งแล้วไม่ได้หมายความว่าต้องเปิดทั้งปีอีกนะ คือในแง่นิเวศวิทยา ก็คงต้องมานั่งคุยกันได้ว่ามันเปิดเท่าไหร่ที่จะพอไหว ทางด้านสังคมก็เหมือนกัน แต่ในระยะที่ยังไม่ฟื้นเลยนี่ เปิดแค่ปีเดียวแล้วมาเปิดแค่สี่เดือน ผมไม่คิดว่าช่วยทำให้ประชาชนฟื้นตัวขึ้นมาได้ เราเลยเสนอว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเปิดตลอด 5 ปีเพื่อให้ทุกอย่างฟื้นตัว โดยที่ระหว่างนั้นต้องมาศึกษาว่า แล้วในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่เราผิดหวังมากคือ การตัดสินใจมันขาดความละเอียด อย่างเช่นที่รัฐบาลบอกว่าจะมีการจัดสรรเรื่องชลประทานลงไปให้ในพื้นที่ ถ้าดูข้อมูลที่เราศึกษาจะเห็นเลยว่า ประชาชนที่จนที่สุดคือ คนที่ไม่มีที่ดินทำกิน รัฐบาลจัดสรรน้ำลงไปก็ไปไม่ถึงเขา เพราะเขาไม่มีที่ดิน แล้วก็ไม่มีเงิน เขาก็เลยมาจับปลา หรืออีกประการหนึ่งคือ จะส่งเสริมให้ทำประมงน้ำลึก ซึ่งเราก็พบว่าชาวประมงที่จนที่สุดคือชาวประมงที่ไม่มีเรือ แล้วก็ไม่มีเครื่องมือ มีเครื่องมือเล็ก ๆ น้อยๆ แต่จะให้ทำประมงน้ำลึกซึ่งต้องลงทุนมาก ก็คงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ผมรู้สึกผิดหวังในการตัดสินใจสองฝั่งระหว่างเปิดกับปิดนี่ ผมเข้าใจ ในทางการเมืองมันก็มีประนีประนอมได้ แต่การประนีประนอมไม่ว่าจะเกิดจากอะไรก็ตามเช่น สี่เดือนหรือหกเดือนก็ตาม มันต้องไปดูว่าคนที่เดือดร้อนที่สุดคือใคร นักวิชาการอย่างผมและคนอื่น ๆ ก็ช่วยหาไว้แล้ว เพราะว่าเราก็รู้ว่ารัฐบาลอาจจะไม่ได้ตัดสินใจตามที่เราเสนอ เพราะฉะนั้นเราต้องดูว่าเราจะช่วยยังไง คนที่ไม่มีที่ดินทำกิน คนที่ไม่มีเรือ จะช่วยยังไง แต่รัฐบาลกลับตัดสินใจไปโดยที่ละเลยข้อเท็จจริงข้อหนึ่ง ซึ่งอันนี้ก็เลยเป็นสิ่งที่มีปัญหา ผมเข้าใจว่าปีนี้ถึงจะเปิดอยู่ ก็ยังเป็นปัญหา เสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสลงไปศึกษาเพิ่มเติม

โลกสีเขียว: ในส่วนของกลุ่มต้นกล้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกศิษย์อาจารย์ และเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการเข้ามาศึกษาในประเด็นเหล่านี้ มีความเป็นมาอย่างไร
เดชรัต: เริ่มขึ้นมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ตอนนั้นเป็นกระแสอยู่เหมือนกันว่านักเศรษฐศาสตร์หรือวิชาเศรษฐศาสตร์ในกระแสหลัก จะนำพาสังคมไปถูกทางหรือเปล่า จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันขึ้นมา ผมเองก็จะจัดเวทีคุยในช่วงเย็น แล้วก็นำเสนอความคิดของนักเศรษฐศาสตร์จากหลาย ๆ สถาบัน ซึ่งเขาคุยกันจนบางคนได้รางวัลโนเบลไปแล้ว อย่างอมาตยา เซน ก็คุยกันตั้งแต่ก่อนที่เขาจะได้รางวัลโนเบล พอได้รางวัลโนเบลถึงมีการพูดถึงอมาตยา เซน ในเมืองไทย แต่ก็ยังไม่มีการใช้ตำราของอมาตยา เซน ในการเรียนการสอนทางเศรษฐศาสตร์เท่าไหร่นัก เหมือนกับในเมืองไทยเรื่องนี้มีการเซ็นเซอร์ในตัวเอง ตรงนั้นก็เลยเกิดการนัดกันเพื่อพูดคุย นิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งเขาก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

แล้วจุดที่สำคัญอีกจุดหนึ่งที่ผมคิดว่ามันเป็นกุญแจสำคัญ ก็คือ พอเห็นว่ามาคุยกันอย่างเดียวไม่พอ เราก็จะพยายามจะหาทุนมาให้เขาลงไปศึกษาในชนบท ที่รวมกลุ่มกันไปทำเรื่องปากมูน บางคนก็ไปทำเรื่องกก อิง น่าน แล้วก็ใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ลงไปพิจารณา ไปแก้ปัญหา ตอบปัญหาในชนบท ตรงนี้มันก็จะเป็นส่วนที่ทำให้เขานอกจากจะได้คิดได้คุยแล้ว เขายังได้ทดลองปฏิบัติด้วย ซึ่งต่างคนก็ต่างแยกย้ายลงไปศึกษาแต่ละพื้นที่. สำหรับนิสิตปริญญาตรีเขาก็เรียกว่าโครงการปัญหาพิเศษ ถ้าเป็นนิสิตปริญญาโทก็เป็นการทำวิทยานิพนธ์ ตรงนี้ก็เลยเป็นจุดที่ได้ทดลองลงมือปฏิบัติจริง ต่างคนเมื่อได้ไปเรียนได้มีโอกาสไปทำก็มีความชัดเจนขึ้น บางคนก็ได้รางวัลวิทยานิพนธ์คุณภาพดีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางคนก็ไปเรียนต่อที่ประเทศเดนมาร์ก ก็ทำให้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ในแง่ของทางเลือกมันซึมลึกมากขึ้น แต่เราก็รู้อยู่ว่า สุดท้ายมันไม่สามารถมาตั้งเป็นสถาบันได้ในระบบมหาวิทยาลัยปกติหรอก มันต้องการอะไรอีกมาก เราถึงตั้งชื่อกลุ่มว่ากลุ่ม"ต้นกล้า" หมายถึงว่าเมื่อถึงเวลา "ต้นกล้า"เหล่านี้ก็ต้องแยกย้ายไปโตในที่อื่นๆ

โลกสีเขียว: ปกตินักศึกษารุ่นใหม่ ๆ ไม่ค่อยให้ความสนใจกับประเด็นทางสังคมมากนัก เห็นได้จากการจัดคุยเรื่องแบบนี้ในมหาวิทยาลัยจะมีคนฟังน้อยมาก แต่กรณีนี้ทำไมมีนักศึกษาสนใจเข้ามาร่วมมาก
เดชรัต: จริง ๆ ก็ไม่มากมายนัก แต่การที่ไม่มากนั้นน่าจะเป็นส่วนที่ดีอยู่แล้ว เพราะหมายความว่าเราสามารถจะดำเนินการต่อให้เขาได้ บ่มเพาะความคิดของเขาได้ ถ้าสมมติว่าคนมาสักร้อยคน เราก็อาจจะพูดคุยได้สนุก แต่เราก็ไม่รู้ว่าต่อไปจะได้ลงมือทำกันมากน้อยแค่ไหน. พูดถึงสถานการณ์ตอนนี้ผมเองไม่ได้หมดหวังกับนักศึกษารุ่นใหม่เลย เพราะว่าผมเองก็สอนอยู่ในชั้นเรียนขนาดใหญ่เรียกว่าวิชา"บูรณาการ" มีนักศึกษาประมาณ 300 คน พบว่านักศึกษาเองก็มีความสนใจในเรื่องเหล่านี้ ผมลองนำเรื่องปากมูล, แม่น้ำแม่กลอง, เรื่องกก อิง น่าน, ไปคุยให้ฟัง ในลักษณะที่ทำให้เห็นว่าวิชาการจะช่วยให้สังคมมีความเข้าใจในเรื่องนี้ได้อย่างไร, ทำให้ลดความขัดแย้งต่าง ๆ ได้อย่างไร, มุมมองในเรื่องเศรษฐศาสตร์ทางเลือกเป็นอย่าไงร, ก็มีนักศึกษาสนใจมาก

ปัญหาไม่ใช่ว่าเขาไม่สนใจ แต่ว่าจากความสนใจของเขาที่จะนำมาสู่การทำงานอีกด้านหนึ่ง หรือนำมาสู่การใช้วิถีชีวิตหรือวิธีคิดอีกแบบหนึ่งได้อย่างไร ตรงนี้ช่องว่างมันมาก ในขณะที่เขาจะใช้วิถีชีวิตแบบเดิมมันง่ายกว่า กลับไปบ้านขอเงินพ่อแม่เสร็จ แล้วก็ใช้วิถีชีวิตแบบนั้นได้ แต่ถ้าถามว่า เขาสนใจไหม เขาสนใจมากเลยนะ หลายคนเขาก็เขียนในใบประเมินผลเลยว่าไม่นึกมาก่อนว่ามันจะมีข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ เหล่านี้ คำถามคือเราจะเก็บเกี่ยวเด็กที่สนใจเหล่านี้ได้ยังไง ถ้าเราสามารถเก็บเกี่ยวได้ มีงานให้เขาค่อยคิดค่อยทำอย่างต่อเนื่อง มันก็สามารถยกระดับหรือเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิถีชีวิต วิธีการทำงานของเขาได้ เพราะฉะนั้นปัญหาของเด็กรุ่นใหม่ ผมไม่เคยโทษเด็กรุ่นใหม่ฝ่ายเดียว ผมว่าเราคงก็ต้องทบทวนบทบาทของการต่อเชื่อมระหว่างรุ่นด้วย เพราะพอพูดถึงรุ่นแล้วมันมีรอยต่อ รุ่นนั้นเขาเป็นน้องเรา ต่อไปก็ต้องเป็นหลานเรา เป็นลูกเรา แล้วเราจะเชื่อมต่อกับเขายังไง. ผมเองยังรู้สึกผิดเหมือนกัน พอเรามาทำงานนโยบาย ด้านหนึ่งอาจทำให้เราสอนในห้องสนุกขึ้น ได้ความรู้มากขึ้น เห็นภาพพจน์ชัดขึ้น แต่การที่จะไปเก็บเกี่ยวเขามันก็ทำได้น้อยลง เพราะฉะนั้นมันต้องการการทำงานในหลายระดับจึงจะเก็บเกี่ยวตัวนักศึกษาได้

โลกสีเขียว: มีหลายคนบอกว่าอาจารย์โชคดีที่ได้ลูกศิษย์ที่เอาการเอางาน เอามาเดินตามในการทำงานวิชาการที่ไปเชื่อมต่อกับชาวบ้านได้ ตอนนี้บรรดาต้นกล้าชุดแรก ๆ ทำอะไรกันอยู่บ้าง
เดชรัต: ต้นกล้ารุ่นแรก ๆ ส่วนใหญ่ก็ยังทำงานอยู่ในแวดวงนี้ ปัจจุบันที่ทำงานด้วยกันหลายคนสามารถที่จะดำเนินการแทนผมได้แล้ว ช่วงที่ผมไปเรียนนี้ก็มีคนที่จะรับผิดชอบงานในส่วนพลังงาน ในส่วนของเกษตรก็มี สามารถที่จะดำเนินงานต่อได้ เราก็หวังว่าเขาคงจะดำเนินการตามแนวของเขาคือ เขาก็เป็นผู้ใหญ่พอที่จะคิดได้ว่าแนวทางของเขาจะเป็นยังไง อาจจะไม่ได้เหมือนแนวของผมที่ดำเนินการมาแล้วก็ได้. ส่วนรุ่นหลัง ๆ ที่เพิ่งเรียนจบก็มีการดึงขึ้นมาบ้าง เพียงแต่อย่างที่บอกว่าจำนวนมันน้อยกว่าเมื่อก่อน แต่อันนี้ต้องบอกก่อนว่า ไม่เกี่ยวกับความผิดของนักศึกษา เป็นความผิดของผมเอง. เพราะฉะนั้นหากว่าเราสามารถที่จะเก็บเกี่ยวได้ ผมว่าก็ยังได้ครับ ยิ่งสังคมมีปัญหา นักศึกษาเขาก็อยากจะออกจากปัญหานี้ อยากไปแก้ปัญหา แต่ว่าจะแก้ยังไง ยิ่งปัญหามันซับซ้อนมันยากขึ้น การแก้มันก็ยากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องช่วยเขาแก้ให้ได้มากขึ้นด้วย ตอนนี้ผมก็พยายามให้อาจารย์รุ่นใหม่มานั่งฟังผมสอน เผื่อว่าสอนเสร็จแล้วผมต้องไปประชุมต่าง ๆ นักศึกษามีอะไรก็จะสามารถหารือกับอาจารย์เหล่านั้นได้ ก็เรียกได้ว่าพยายามที่จะสร้างข้อต่อ ทั้งผมและอาจารย์ที่ใหม่กว่าผม และอาจารย์กับนักศึกษาด้วย

โลกสีเขียว: เห็นได้ว่างานวิชาการที่อาจารย์และลูกศิษย์เข้าไปศึกษามักต้องประสานกับบรรดาเอ็นจีโอ อาจารย์คิดว่าอะไรคือจุดอ่อนที่ทำให้ปัจจุบันสังคมค่อนข้างจะมองเอ็นจีโอไปในทางลบ
เดชรัต: ผมคิดว่าปัญหาอาจจะเกิดมาจากท่าทีการพูด ที่บางทีการพูดเป็นไปทางเดียว แล้วก็ไม่มีภาษาทางเลือกที่คนแต่ละระดับสามารถเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นตอนนี้ ผมอยากจะเห็นเอ็นจีโอที่มีทิศทางเดียวกันนี่แหละ แต่มีหลายภาษามากขึ้น เพราะคนที่พูดกันแต่ละภาษา มันจะมีนัยยะที่จะทำงานกับคนแต่ละแบบไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเรื่องเกษตรยั่งยืน เอ็นจีโอที่ทำเรื่องการเกษตรทางเลือกมา ก็อาจจะพูดเรื่องอิสรภาพ ความเป็นไทของเกษตรกร เรื่องการหลุดพ้นจากวงจรหนี้สิน แต่ผมก็พบว่าสันติอโศกเขาบอกว่า การเกษตรแบบปัจจุบัน มันเป็นการทำการเกษตรแบบที่ผิดศีลข้อหนึ่งเพราะมันทำลายสัตว์ ทำลายพืช แล้วก็ทำลายตัวของเกษตรกรเองอย่างรุนแรง ผมเห็นว่า สองภาษานี่ตกลงมันเรื่องเดียวกันนะ แต่ว่าใช้สื่อในการอธิบายที่ไม่เหมือนกัน แน่นอนว่ามันก็คงมีพลังไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะสื่อกับใคร แต่ว่าสองพลังนี้ก็ไม่ได้อยู่ตรงข้ามกัน สุดท้ายแล้วมันก็โอบอุ้มไปด้วยกัน

เพราะฉะนั้น คิดว่าเอ็นจีโอต้องพยายามเข้าใจลักษณะภาษาในแบบนี้ เพื่อทำให้สามารถสื่อสารกับสังคม กับคนที่มีวิธีการต่างกันในการเข้าใจเรื่องเดียวกัน บางคนก็อาจจะเข้าใจจากมุมทางด้านการเมือง บางคนเข้าใจจากมุมทางด้านเศรษฐศ่าสตร์ บางคนเขาก็อยากจะทำความเข้าใจจากมุมทางด้านศาสนา แต่ปัจจุบันการทำความเข้าใจของเอ็นจีโอบางทีมันมีมุมจำกัดไปหน่อย คนรุ่นใหม่เข้ามาก็โดนบีบไปในแนวนี้. อย่างไรก็ดี ผมเห็นว่าเอ็นจีโอรุ่นใหม่บางส่วนเข้าใจและกำลังตีโจทย์ข้อนี้อยู่ กำลังหาทางให้มันมีภาษาหลายภาษามากขึ้น ความจริงเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่คัดค้านสำเร็จเพราะมันมีหลายภาษามากเลย ภาษาด้านอีไอเอไม่ผ่าน ภาษาเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาษาเรื่องสิทธิชุมชน ภาษาเรื่องผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น ภาษาทางเทคนิคเรื่องความมั่นคงไฟฟ้าเหลือเฟือ แล้วก็ภาษาทางด้านนโยบายพลังงาน

โลกสีเขียว: อาจารย์พูดถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่บ่อยครั้ง อาจารย์คิดยังไงที่ปัจจุบันที่ยังมีคนบอกว่า ถึงแม้เราจะไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ทิ้งเรื่องพลังงานถ่านหินไม่ได้
เดชรัต: ผมคิดว่าเราจะต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นคงจะเป็นข้อเท็จจริง แล้วพลังงานทางเลือกก็คงไม่สามารถรับมือกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด ในระยะสั้น แต่ผมไม่เห็นว่าเราควรจะต้องหันไปหาพลังงานถ่านหิน เพราะว่ามันเป็นพลังงานที่มันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แล้วในอนาคตประเทศเราเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการที่จะต้องถูกจำกัดหรือถูกควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้อนุสัญญาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้ามันเกิดมีจริงที่เราต้องมาลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น มันจะไม่ใช่เฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว มันจะมีผลกระทบต่อเรื่องเศรษฐกิจทันทีเลย ผมยังมองเห็นว่าเรายังมีทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซที่เราไปทำสัญญาไว้แล้ว หรือการมาตั้งคำถามกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นว่า เราจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้น ตรงนี้น่าจะเป็นทางออกมากกว่า

โลกสีเขียว: แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นคงเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยง
เดชรัต: มันไม่จริงนะ ในหลายประเทศมีประสบการณ์แล้วว่าหลายประเทศโตขึ้นได้โดยที่การใช้พลังงานไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย หรืออย่างน้อยการใช้พลังงานก็เพิ่มขึ้นน้อยกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมันหรือเดนมาร์กหรือประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนเขาก็สามารถที่จะทำได้ เราเคยมีกราฟที่เปรียบเทียบระหว่างการใช้พลังงานต่อจีดีพี ที่จะบอกว่าเงินหนึ่งบาทที่เราสร้างขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจ แต่ละประเทศต้องใช้พลังงานมากน้อยแค่ไหน จะพบเลยว่าเส้นของประเทศไทยนี่เพิ่ม คือเราต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในการที่จะได้เงินมาหนึ่งบาท ในขณะที่ประเทศอื่นเขาลดลง แปลว่าเขาใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่เราสวนทาง ผมคิดว่าเราจะต้องกำหนดเป้าให้ได้เลยว่าในเงินหนึ่งบาทที่เราจะได้มานี่มันต้องใช้พลังงานน้อยลง ไม่งั้นเราก็จะเกิดอาการที่เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย 99999999999

โลกสีเขียว: ในช่วงหลัง ๆ เป็นเพราะอะไรอาจารย์จึงหันมาผลักดันเรื่องการศึกษาวิจัยระบบสุขภาพที่เป็นผลกระทบจากพัฒนาต่าง ๆ
เดชรัต: จริง ๆ มันเป็นโอกาสในการทำงานมากกว่า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเขาสนใจนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ หรือการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เอาสุขภาพของประชานเป็นตัวตั้ง โดยที่ตัวสุขภาพที่ว่าไม่ได้หมายถึงเฉพาะความเจ็บไข้ได้ป่วย แต่หมายถึงวิถีชีวิต ความแข็งแรงของตัวเอง ของครอบครัว ของชุมชน ของสังคม พูดง่าย ๆ ก็คือตัววิถีโดยรวมทั้งหมด ตรงนี้มันเป็นเป้าหมายเดียวกันไง แต่ก่อนเราอาจใช้คำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน คราวนี้เขาใช้คำว่าสุขภาวะ ตัวเป้าอีกตัวหนึ่งคือนโยบายสาธารณะซึ่งก็ตรงกัน เพราะฉะนั้นผมก็เลยว่าเราน่าจะมาทำงานด้านนี้ได้

โลกสีเขียว: เหตุผลที่เปลี่ยนมาใช้เรื่องสุขภาพเป็นตัวตั้งแทนคำว่าการพัฒนาแบบยั่งยืนที่ใช้มาตลอด
เดชรัต: พอเราไปพูดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ มันเป็นการถกเถียงที่ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงนะ มันเป็นกรอบที่สามารถใช้เพื่อพูดคุยกันได้มากในสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไปพูดคุยเรื่องสิทธิ บางทีก็เกิดปัญหาเกิดขึ้น กลายเป็นว่า อันนี้สิทธิของเรา สิทธิของผม ก็แปลว่าไม่ยอมคุยกันไง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรคุยเลยนะ บางประเด็นมันก็ต้องคุยเรื่องสิทธิ อย่างป่าชุมชน มันก็ต้องคุยเรื่องสิทธิ แต่ว่าคำว่าสุขภาพมันก็ใช้ได้ดีในอีกหน้าที่หนึ่ง เช่น เราเอาไปใช้ในเรื่องเหมืองโปแตซ พอเอาเรื่องสุขภาพไปคุยมันก็กลายเป็นเรื่องของทุกคน เพราะว่าในสังคมไทยมันรับไม่ได้ ถ้าจะพูดว่าเรื่องสุขภาพมันก็เป็นเรื่องของคุณสิ ฉันไม่เกี่ยว สังคมไทยไม่ยอมรับการปฏิเสธแบบนี้

อีกด้านหนึ่งเราสามารถเจาะลึกในด้านนโยบายสาธารณะได้เต็มที่ ความพยายามในการเจาะลึกตรงนี้ ปัจจุบันผมและนักวิชาการในเครือข่ายประชาชนต่าง ๆ เริ่มมีความเข้าใจในกระบวนการนโยบายสาธารณะได้มากขึ้นแล้ว ลำดับแรกเริ่มรู้แล้วว่านโยบายสาธารณะไม่จำเป็นต้องมาจากรัฐ อาจจะมาจากประชาชนก็ได้ ตอนนี้ก็เริ่มจะมีการก่อรูปความคิดที่จะดำเนินการเพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะจากภาคประชาชน เพราะฉะนั้นผมจึงถือว่าการมาทำงานในเรื่องสุขภาพก็คือ โอกาสในการยกระดับการขับเคลื่อนของภาคประชาชน มีการเปลี่ยนแปลงในสองส่วน หนึ่ง, ก็คือเรื่องสุขภาพจริง ๆ ส่วนที่สอง, ก็คือ การนำวิชาการที่ได้จากการพูดคุยเรื่องสุขภาพ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพ ไปสู่กระบวนการนโยบายสาธารณะอย่างเป็นระบบมากขึ้น. แต่คำว่าระบบนี่รวมถึงการเมืองในท้องถนน มีการจัดเวที การเดินประท้วงด้วยนะ ขณะเดียวกันก็สามารถเข้ามาสู่เวทีห้องเจรจาหรือห้องวิชาการอย่างเป็นทางการได้มากขึ้นด้วย อันนี้คือเป้าที่ทำให้ผมมาสนใจในด้านนี้

โลกสีเขียว: ที่ผ่านมาหลังจากใช้เรื่องสุขภาพเป็นจุดร่วมในการพูดคุย ถือว่าก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหรือไม่
เดชรัต: ครับ อันนี้ผมเองก็ไม่ทราบมาก่อน แต่พอลงมือทำแล้วมันก็ได้ผลดีที่เราจะใช้คำว่าสุขภาพเป็นตัวเชื่อม อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มต้น ระยะต่อไปมันต้องถูกพิสูจน์จากความชอบธรรมของกระบวนการและองค์ความรู้ของมันเองมากกว่า ต่อไปถ้ากระบวนการมันไม่แข็ง องค์ความรู้มันไม่แน่น คำว่าสุขภาพก็จะถูกสังคมแปรไปอีกด้านหนึ่ง ก็อาจจะกลายเป็นเครื่องมือในการถกเถียงเหมือนกับเรื่องอื่นๆ เช่น ประชาพิจารณ์ ซึ่งสังคมไม่ยอมรับไปแล้ว เพราะฉะนั้นนักวิชาการที่ทำงานอยู่ในด้านนี้ก็กำลังพยายามอย่างจริงจังที่จะทำให้คำที่ดี ๆ ในสังคมไทยยังคงไม่ถูกบิดไป โดยอาศัยข้อเท็จจริงทางวิชาการ จากกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายมาสร้างเป็นข้อเท็จจริงในด้านนี้ขึ้นมา ให้เป็นองค์ความรู้ที่เข้มแข็ง แล้วที่สำคัญก็คือ เรียนรู้ได้ทุกคน ต้องย้ำว่า องค์ความรู้ที่เข้มแข็ง แต่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ทุกคน ก็ไม่เป็นองค์ความรู้ที่ดีนะ ก็กลายเป็นองค์ความรู้สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง วันนี้เราก็กำลังพยายามจะทำตรงนี้ซึ่งก็เพิ่งเริ่มดำเนินการมาได้สัก 2-3 ปี ก็คงต้องทดลอง ต้องพยายามกันต่อไป

โลกสีเขียว: ในฐานะที่อาจารย์บอกว่าจริงๆ แล้วทำงานสองด้านหลัก ๆ คือด้านพลังงานและเกษตร ในแต่ละด้านอยากให้เกิดอะไรขึ้นสำหรับสังคมไทย อยากเห็นภาพอะไร
เดชรัต: คำมันเหมือนกันไง เรื่องพลังงานก็เป็นเรื่องพลังงานยั่งยืน เกษตรก็ทำเรื่องเกษตรยั่งยืน เพราะฉะนั้นก็อยากจะเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในสองด้าน แต่ว่ามันอาจจะมีเนื้อหาที่มันแตกต่าง อย่างเช่นเรื่องเกษตรที่ประชาชนมีทรัพยากรอยู่ในมือแล้ว ก็คงเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนแนวความคิด การปรับเรื่องกลไกการส่งเสริมของภาครัฐ ให้มาสู่ทิศทางเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้น. แต่เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ยาก เพราะฐานทรัพยากรของสังคมเรามันมีน้อย มีอยู่บ้าง แต่ว่ากระจัดกระจาย ถ้าจะมาทำให้เป็นระบบมันต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ยิ่งทรัพยากรจำนวนมากอยู่ในมือรัฐ อยู่ในมือรัฐวิสาหกิจ อยู่ในมือบริษัทเอกชน เพราะฉะนั้นการจะทำให้เขาเหล่านี้ซึ่งมีทรัพยากรเยอะแยะ มาคิดถึงความยั่งยืนเท่า ๆ กับที่ประชาชนคิดมัน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นสิ่งที่เราจะต้องพยายามปรับ ค่อยๆ ทำไป ค่อย ๆ ชักชวนเขา พลังงานหมุนเวียน ชวนเขามาทำโรงไฟฟ้าชีวมวล แล้วก็ต้องทำในแบบที่จะเกิดความยั่งยืนด้วยนะ ให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบได้ เข้ามามีส่วนร่วมอันนี้ก็เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ยากกว่าเกษตรกรรมยั่งยืน

โลกสีเขียว: เห็นได้ชัดเจนจากที่โรงไฟฟ้าชีวมวลเองก็ยังถูกต่อต้าน
เดชรัต: ครับ เวลาที่เราพูดถึงเรื่องพลังงานทางเลือกในบ้านเราเองไปคิดว่าเป็นคำตอบสำเร็จรูป จริง ๆ แล้วไม่ใช่ แม้แต่พลังงานลมก็ถูกต่อต้าน แม้ว่าผลกระทบอาจจะน้อยกว่าชีวมวลอีก แต่ก็ถูกต่อต้านได้ ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมนะ ถ้ามีการมีส่วนร่วม ประชาชนสามารถเลือกพื้นที่ในการจะตั้งโรงไฟฟ้า เลือกขนาด เลือกรูปแบบ เลือกวิธีการดำเนินงาน แล้วส่วนหนึ่งประชาชนเองก็ได้รับประโยชน์โดยตรงด้วยจากการทำโครงการด้วย ตรงนี้มันจะทำให้การดำเนินโครงการมีความโปร่งใสเป็นธรรม

ที่ผ่านมาเรื่องพลังงานหมุนเวียนมันเกิดปัญหาในเชิงกระบวนการมีส่วนร่วมอยู่ เนื่องจากว่ามีการตัดสินใจบางส่วน ตั้งแต่ขั้นตอนการประมูลแล้ว หลังจากนั้นจึงไปจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเวลาที่เปิดให้มีส่วนร่วมก็เป็นช่วงเวลาที่จำกัด มันก็เลยทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่หลายพื้นที่ก็ไม่ได้เป็นความขัดแย้งรุนแรง เพราะจริง ๆ แล้วประชาชนไม่ได้ถึงขั้นคัดค้านโรงไฟฟ้า เพียงแต่อยากจะให้ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอยู่ห่างจากชุมชนหน่อย จริง ๆ ยังเป็นสิ่งที่สามารถที่จะแก้ไขได้ ผมเองก็บอกทั้งทางรัฐบาลและโรงไฟฟ้าว่า อย่าพูดว่าทำโรงไฟฟ้าชีวมวลก็ถูกต่อต้าน มันไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ประชาชนเขาก็ยังมีสิทธิที่จะเป็นห่วงตัวเขา ชุมชนของเขา ถ้ากระบวนการเปิดกว้าง ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเต็มที่ โครงการชีวมวลที่ถูกต่อต้านทั้งหลาย ผมก็ยังเชื่อว่า จะสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่หรือเปลี่ยนรูปแบบ จนเป็นที่ตกลงกันได้ครับ

โลกสีเขียว: นอกจากโรงไฟฟ้าชีวมวล อาจารย์ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่ผลักดันเรื่องพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง รู้สึกหงุดหงิดบ้างไหม ที่พอพูดถึงทางเลือกอื่น ๆ อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ก็มีคนพูดว่าเมืองไทยเทคโนโลยีมันแพง ต้นทุนมันสูง พลังงานลม ลมเราก็ไม่แรงพอ คลื่น คลื่นเราก็ไม่ใหญ่พอ
เดชรัต: หงุดหงิดนี่เสียพลังงาน (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำเรื่องพลังงานยั่งยืนแล้ว จะหงุดหงิดไม่ได้ เป็นการใช้พลังงานไปในทางที่ไม่เกิดประสิทธิภาพ เราก็ค่อย ๆ ทำงานไป เพราะแต่ละฝ่ายเขาก็มีมุมมอง มีข้อเท็จจริงอยู่ในส่วนหนึ่ง เพียงแต่อาจจะยังไม่มีการแยกแยะว่า ภายใต้ความลำบากที่ว่า ๆ กันนั้น มันมีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า เช่นจริง ๆ แล้ว ถ้ามีการผลิตมากขึ้น ต้นทุนมันก็จะลด เราเรียนรู้มากขึ้นต้นทุนก็จะลดลง หรือการไปติดโซลาร์เซลล์ตามบ้านในเมืองแล้วบอกว่า ลงทุนตั้งสี่แสน ทำไมจะไม่ลงทุนสี่แสนล่ะ ก็เขาลงทุนเพื่อให้ติดแอร์หรือใช้กับแอร์ให้ได้ แล้วเราก็ต้องตั้งคำถามว่าโซลาร์เซลล์ เทคโนโลยีใหม่ราคาแพง เพราะฉะนั้นการลงทุนเพื่อจะติดแอร์อันนี้มันเป็นวิธีคิดที่ถูกหรือไม่

ถ้าเกิดนำโซลาร์เซลไปลงทุนเพื่อใช้กับหลอดไฟ กับทีวีกับคนในชนบท อาจจะลงทุนน้อยกว่านี้ คุ้มกว่านี้หรือไม่ เพราะฉะนั้นตัวเลขที่ว่าสี่แสนมันเป็นตัวเลขการลงทุนที่ไม่จำเป็น มันขี่ช้างจับตั๊กแตนแล้ว ซึ่งเราเองก็คงต้องค่อย ๆ ทำความเข้าใจกันไป ตัวอย่างที่ดีก็มีอย่างโครงการพลังงานยั่งยืนที่พยายามจะสาธิตให้ประชาชนได้ดูทางเลือกต่างๆ ด้านพลังงาน ประชาชนก็นำมาดำเนินการวางแผนชุมชนของตัวเอง วางแผนที่จะพัฒนาพลังงานยั่งยืนให้เกิดขึ้นในชุมชน ก็แสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้แพงหรอก มันอยู่ที่ความรู้ ความคิด ความสามารถ แล้วก็ความดีงามในจิตใจที่จะเป็นเครื่องพาไป ก็คงต้องใช้เวลา แต่ห้ามหงุดหงิดเด็ดขาดเพราะว่าเสียพลังงาน

โลกสีเขียว: ดูอาจารย์ทำงานมากขนาดนี้ ทั้งประชุม ทั้งสอนหนังสือ แต่ดูเหมือนอาจารย์ไม่ค่อยเหนื่อยเลย ไปเอาพลังงานมาจากไหน
เดชรัต: เดี๋ยวขอแก้ไขก่อน เหนื่อยน่ะเหนื่อย แต่ว่าไม่ได้เครียด คือเราทำงานในลักษณะที่ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คิดว่างานทุกอย่างก็คือ ความสัมพันธ์ที่เราควรมีกับคนอื่น ไม่ได้คิดว่าคนอื่น ๆ จะอยู่ในฝั่งตรงข้ามกับเรา เพียงแต่ว่า ณ วันนี้ จากภูมิหลังของเขา จากข้อมูลที่เขามี จากความหวังในชีวิตที่ต่างกัน เขาอาจจะมองไม่ตรงกับเรา เราก็ค่อย ๆ พูด ค่อยปรับกันไป ส่วนหนึ่งที่ผมอาจจะไม่เหนื่อยมากก็คงเป็นเพราะว่า ผมไม่เคยรู้สึกว่าเราทำงานแล้วจะต้องประสบความสำเร็จอะไร เราทำเพียงเพราะว่า มันเป็นสิ่งที่เราควรทำ และเราควรทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แล้วความสำเร็จที่มันจะเกิดมันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือความพยายามของเรา ทางพุทธศาสนาเองก็สอนไว้ เมื่อเราคิดอย่างนี้ได้ เราก็จะไม่หงุดหงิด และเคร่งเครียดกับตัวเองมากเกินไป พลังงานที่เรามีอยู่ก็น่าจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันจะดีพอหรือเปล่ากับกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ก็ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้

โลกสีเขียว: อาจารย์สนใจเรื่องศาสนาด้วยหรือ
เดชรัต: โอ สำคัญมากเลยครับ ถ้าเราเข้าใจศาสนา มันก็จะเป็นฐานที่สำคัญสำหรับการทำงาน ในทีมงานที่ทำอยู่ ในกลุ่มต้นกล้าเอง ก็ต้องมีช่วงเวลาที่จะไปศึกษาในเรื่องของศาสนา ไปวัดป่า ไปคุยกัน แล้วก็กลับมาทำงานทางด้านสังคมต่อไป ผมคิดว่าคนที่ทำงานทางด้านสังคม ถ้าขาดการทำงานด้านใน ตัวเราเองจะทำอะไรได้ไม่เต็มที่ เพราะว่าการทำงานเพื่อสังคมซึ่งมีคนมีความเห็นต่างกัน มันต้องการธรรมะสูงไง เรื่องการให้อภัย เรื่องความเข้าใจในคนอื่น เรื่องอะไรต่าง ๆ ธรรมะจะเป็นส่วนหนุนที่ดีมากสำหรับคนที่ทำงานเรื่องนโยบาย หรือทำงานเรื่องสังคม

โลกสีเขียว: ในที่สุดประสบการณ์กับกลุ่มต้นกล้า พอจะตอบปัญหาที่ตั้งไว้ได้หรือยังว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ยังจะสามารถใช้เป็นทางออกหรือว่านำมาใช้วิเคราะห์ในหลายๆ เรื่องได้หรือไม่
เดชรัต: ได้ครับ เพียงแต่ว่าสังคมไทยเราใช้นักเศรษฐศาสตร์ไม่เป็น หนึ่งคือ เศรษฐศาสตร์มีหลายแนวทาง เราก็เลือกมาเรียน มาสอน มาใช้กันเพียงทางเดียว สองแม้กระทั่งในทางเดียวนี้ เราควรใช้นักเศรษฐศาสตร์เพื่อช่วยเราในการบอกว่า ในทางเลือกต่าง ๆ ที่มีอยู่ มันจะเกิดผลทางเศรษฐกิจต่างกันยังไง แล้วเราก็คือสังคมจะต้องเป็นคนที่ตัดสินใจว่าจะเลือกแบบไหนอย่างไร แต่ที่ผ่านมาปรากฎว่าเราไปใช้นักเศรษฐศาสตร์ให้ตัดสินใจแทนเรา โดยการบอกว่าจงตัดสินใจมาว่า อันไหนคุ้มทุนหรือคุ้มค่ามากกว่า ซึ่งอันนี้เรียกว่าให้เราหรือนักเศรษฐศาสตร์ทำหน้าที่เกินขีดความสามารถของวิชาที่จะทำได้ เพราะว่าตัววิชาเศรษฐศาสตร์เองไม่ได้มีความลึกซึ้งในเรื่องของคุณค่า โดยเฉพาะคุณค่าต่าง ๆ ที่จับต้องไม่ได้หรือวัดเป็นมูลค่าไม่ได้ และเราดันไปให้เขาตัดสินใจ คุณค่าเหล่านี้มันก็ต้องลดลงไปด้วย

ผมยืนยันว่าสังคมไทยควรจะใช้นักเศรษฐศาสตร์ให้มากขึ้น แต่ว่าไม่ใช่ไปเชื่อนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด ให้เขาหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจของสังคม ที่ผ่านมาเราพลาดไปตรงที่เราไปโยนภาระการตัดสินใจให้เขา ก็เลยมอบอำนาจในการตัดสินใจให้กับนักเศรษฐศาสตร์ไปด้วย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะภาษาของนักเศรษฐศาสตร์มันตรงกับภาษาที่อยู่ในใจลึก ๆ ของคนที่กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ คืออำนาจเงิน เรื่องของความร่ำรวย มั่งคั่ง เมื่อภาษามันตรงกัน พอพูดมันก็สื่อกันตรงเลย ทำอย่างนี้สิท่านจะได้รายได้ ทำอย่างนั้นสิมันจะเกิดเป็นความมั่งคั่ง มันก็ตรงกัน พอตรงกันก็เลยมีอิทธิพลมากเกินไป ภาษาอื่นหรือคุณค่าอื่นๆ มันก็เลยจางลงไป ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์ก็เลยถูกสังคมตำหนิมาก แต่จริงๆ แล้ว สังคมก็ต้องใช้นักเศรษฐศาสตร์ให้เป็นด้วยเหมือนกัน

 


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
02 January 2008
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
เยอรมัน เดนมาร์ก หรือประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนก็สามารถที่จะทำได้ เคยมีกราฟที่เปรียบเทียบระหว่างการใช้พลังงานต่อจีดีพี ที่จะบอกว่าเงินหนึ่งบาทที่เราสร้างขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจ แต่ละประเทศต้องใช้พลังงานมากน้อยแค่ไหน จะพบเลยว่าเส้นของประเทศไทยนี่เพิ่ม คือเราต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในการที่จะได้เงินมาหนึ่งบาท ในขณะที่ประเทศอื่นเขาลดลง แปลว่าเขาใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เราสวนทาง ผมคิดว่าเราจะต้องกำหนดเป้าให้ได้เลยว่าในเงินหนึ่งบาทที่เราจะได้มานี่มันต้องใช้พลังงานน้อยลง ไม่งั้นเราก็จะเกิดอาการที่เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream