บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Media
Censorship
Midnight
University
กฎหมายควบคุมสื่อที่เข้มงวดที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การปฏิเสธการเข้าถึงสิทธิการรับรู้ข่าวสารในประเทศพม่า
อัจฉรียา
สายศิลป์ : เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ
ผู้สนใจในประเด็นสื่อและการศึกษาในประเทศพม่า
บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
สำหรับบทความเรียบเรียงชิ้นนี้
เป็นการสะท้อนถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ
ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารในสหภาพพม่าปัจจุบัน
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งประเทศนี้เคยมีอัตราผู้รู้หนังสือ และเสรีภาพของสื่อมากที่สุด
แห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ ดังตัวอย่างเช่น พระราชดำรัสของพระเจ้ามินดง
ที่ตรัสกับนักข่าวชาวท้องถิ่นในการประชุมทางราชการที่พระราชวังมันฑะเลย์ว่า
"ถ้าฉันทำผิด จงเขียนถึงฉัน ถ้าเหล่าราชินีทำผิด จงเขียนถึงพวกเธอ
ถ้าพระโอรสพระธิดาทำผิด จงเขียนถึงพวกเขา ถ้าผู้พิพากษาหรือ เทศมนตรีทำผิด
จงเขียนถึงคนเหล่านั้น ไม่ควรจะมีผู้ใดกระทำการต่อต้านนักข่าวถ้าพวกเขาเขียนความจริง
พวกเขาควรจะเดินเข้าออกพระราชวังได้โดยอิสระ"
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๓๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๕.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
กฎหมายควบคุมสื่อที่เข้มงวดที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การปฏิเสธการเข้าถึงสิทธิการรับรู้ข่าวสารในประเทศพม่า
อัจฉรียา
สายศิลป์ : เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ
ผู้สนใจในประเด็นสื่อและการศึกษาในประเทศพม่า
เรียบเรียงจาก "Denial
of Access" in The Right to know;
Access to information in Southeast Asia
By Bertil Lintner (author), Edited by Sheila S.Coronel
Publisher: Raintree Publishing, Inc., Quezon City, 2001
ความนำ
ในปี 1997 (พ.ศ.2540) ผู้นำสูงสุดของประเทศพม่า พลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย (Than
Shwe) และผู้นำที่แข็งแกร่งของประเทศอินโดนีเซีย ซูฮาร์โต (Soeharto) ได้รับการขนานนามจากองค์กรพิทักษ์ผู้สื่อข่าว
(Committee to Protect Journalist = CPJ) ว่าเป็น "สองศัตรูสำคัญของสื่อมวลชน"
ในเอเชีย. นับตั้งแต่ซูฮาร์โตถูกโค่นลงจากอำนาจและอินโดนีเซียได้เข้าสู่ยุคใหม่ของเสรีภาพที่เปิดกว้างมากขึ้น
แต่ในประเทศพม่าสถานการณ์กลับกลายจากที่แย่อยู่แล้ว เป็นแย่ยิ่งและเลว ร้ายมากขึ้น
บทความนี้ไม่ได้มุ่งหมายที่จะกล่าวถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่ต้องการเน้นให้เห็นถึงการขาดแคลนข้อมูลที่เชื่อถือได้ในพม่า แม้กระทั่งสถิติของทางราชการรวมถึงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรม, แม้แต่ผลผลิตข้าว และอัตราการรู้หนังสือก็ยังถูกเก็บเป็นความลับของรัฐบาล. กฎหมายควบคุมสื่อที่ถือว่าเข้มงวดที่สุดฉบับหนึ่งในโลก ทำให้ชาวพม่าต้องตกอยู่ในความมืดมน และรัฐบาลทหารก็ไม่ได้ตระหนักถึงความต้องการในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร (Information Age) แม้แต่การใช้เครื่องโทรสาร โมเด็มต่ออินเตอร์เนต หรือกระทั่งเครื่องถ่ายเอกสารก็ต้องมีการขออนุญาตเป็นพิเศษ
ภายใต้กฎหมายเรื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของพม่า ที่ประกาศใช้ในปี 1996 กำหนดไว้ว่า หากผู้ใดมีหรือใช้ "คอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาต" จะถูกลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี นักเขียนพม่าท่านหนึ่งที่ประจำอยู่ในกรุงเทพ สรุปความว่า สถานการณ์ในพม่าช่วงปลายยุค 2000 นั้นกล่าวได้ว่า "การเป็นนักหนังสือพิมพ์ในพม่าช่างเหมือนกับการไต่อยู่บนเชือกสูงที่ไม่มีตาข่ายรองรับ การผิดพลาดเพียงครั้งเดียว ก็อาจทำให้คุณหล่นลงไปสู่หุบเหวในเรือนจำทางการเมืองได้"
นี่ไม่ใช่การกล่าวเกินจริง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์หลายสิบคนกำลังอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ในคุกชื่อดังของประเทศพม่า ที่ซึ่งนักโทษการเมืองกำลังถูกทรมานและแยกขังเดี่ยว ในเดือนกันยายนปี 2000 นักกฎหมายพม่าท่านหนึ่งอายุ 77 ปี ถูกตัดสินจำคุก 14 ปี ในข้อหาแจกจ่ายข่าวที่ตัดจากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ โดยอ้างว่ามีข้อความต่อต้านรัฐบาลเขียนอยู่บนด้านหลัง. 2 ปีก่อนหน้านั้น ซาน ซาน (San San) ผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกตัดสินจำคุก 25 ปี จากข้อกล่าวหาว่าเธอ "แจกจ่ายข้อมูลผิดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ". จากรายงานของ International Press Institute กล่าวว่า หน่วยงานทางทหารไม่พอใจที่เธอกล่าวกับ BBC (British Broadcasting Corporation) และสื่อต่างประเทศอีกบางแห่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ในพม่า
เดือนตุลาคม ปี 2000 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ได้ออกจดหมายแสดงความกังวลในกรณีของ โซ เทน (Soe Thein) นักหนังสือพิมพ์วัย 55 ปี ซึ่งถูกจองจำโดยไม่มีการไต่สวนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 1996 โดยในจดหมายกล่าวว่า เขาเกือบเสียชีวิตจากการหัวใจล้มเหลวไปสองครั้ง และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่านักหนังสือพิมพ์ชาวพม่าเสียชีวิตไป 3 คนในระหว่างการจองจำช่วงทศวรรษก่อน
ในช่วงปลายปี 1999 มีข่าวว่านักข่าว 2 คนจากหนังสือพิมพ์ Kyemon ที่รัฐเป็นเจ้าของ ถูกทรมานจนเสียชีวิตหลังจากที่รูปของ พลโท ขิ่น ยุ้นต์ (Khin Nyunt) ผู้บัญชาการสูงสุดของตำรวจลับพม่า (Directorate of Defense services Intelligence = DDSI) และเป็นเลขาธิการของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council = SPDC) ในขณะนั้น ถูกจัดวางอยู่เหนือพาดหัวข่าวเกี่ยวกับ "คนคดโกงที่โด่งดังระดับโลก" หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลได้ให้เงินแก่ครอบครัวของนักข่าวทั้งสอง 10,000 จั๊ต และบอกพวกเขาว่าอย่าเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการตายของทั้งสอง. รัฐบาลพม่ายังได้ปฏิเสธรายงานขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนในเรื่องนี้และยังออกแถลงการณ์ที่น่าสงสัยว่า "ในเรื่องคน 2 คน ที่มีผู้อ้างว่าเสียชีวิตระหว่างการสอบสวนที่รุนแรง รัฐไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่อย่างใด"
ความพยายามของรัฐบาลทหารพม่าที่จะปิดปากสื่อยังไม่หยุดอยู่แค่พรมแดนของตนเอง นักข่าวชาวต่างประเทศยังถูกละเมิดสิทธิแม้กระทั่งในประเทศตน อันเนื่องมาจากรัฐบาลพม่าได้ขอร้องรัฐบาลประเทศนั้นๆ ร่วมมือในการกดดันสื่อด้วย. ในเดือนธันวาคมปี 2000 มีบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ของทางการพม่าทั้งสองฉบับ Kyemon และ Myanmar Alin กล่าวว่า หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในประเทศไทยทั้ง Bangkok Post และ The Nation ขัดขวางความพยายามของรัฐบาลย่างกุ้งในการหยุดยั้งการหลั่งไหลของยาเสพติดจากฝั่งพม่าที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งขณะนั้นเป็นเขตการผลิตยาเสพติดที่สำคัญที่สุดของโลก และเป็นที่ซึ่งรัฐบาลย่างกุ้งไม่เพียงแต่ไม่ได้ขจัดยาเสพติดให้หมดสิ้นไปเท่านั้น แต่ยังร่วมมืออย่างเปิดเผยกับพ่อค้ายาท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงอีกด้วย
แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่คิดไม่ออกว่าทางการไทยจะทำอะไรกับข้อเรียกร้องนี้
แต่ก็ทำให้เห็นถึงแนวคิดของเหล่านายพลพม่าว่า ต้องการที่จะกำราบสื่อ ควบคุม ปิดปากทุกซอกมุมของข้อมูลที่อาจจะบ่อนทำลายรัฐบาลทหารพม่าได้
ในขณะที่สื่อของรัฐที่เป็นเครื่องมือการผลิตโฆษณาชวนเชื่อก็ไม่ได้รายงานอะไรมากไปกว่าอัตราเงินเฟ้อ
ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ การปราบปรามและปะทะกันอย่างรุนแรงกับศัตรูของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ
และตีพิมพ์ข้อเขียนทางประวัติศาสตร์ที่ตกแต่งอย่างหรูหราเกินจริง
การกดบีบสื่อมวลชน (A vise-like grip on the
media)
ในช่วงปลายปี 1999 พม่ามีการตรากฎหมายฉบับหนึ่งที่ห้ามการเผยแพร่อีเมล์ "บทความวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและข้อมูลที่ทำให้รัฐเสียหาย"
กฎหมายฉบับนี้ออกมาไม่นานหลังจากที่รัฐบาลปิดกิจการของผู้ให้บริการอินเตอร์เนตเอกชน
(Internet service providers) ที่มีเพียง 2 รายในประเทศ, เพียง 2 รายในประเทศที่ล้วนเป็นของรัฐคือ
ของกองทัพหนึ่งแห่ง และของสำนักงานไปรษณีย์และการโทรคมนาคมอีกหนึ่งแห่ง. นอกจากนั้นกฎหมายปี1996
ยังกำหนดให้ผู้ที่เข้าถึงอินเตอร์เนตมีเพียงเจ้าของโมเด็มที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเพียงไม่กี่พันคนเท่านั้น
ความหวังเล็กๆ เริ่มปรากฎขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ภาษาอังกฤษ The Myanmar Times & Business Review วางแผงในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2000 ซึ่งกิจการส่วนหนึ่งดำเนินการโดยชาวออสเตรเลีย และส่วนหนึ่งดำเนินการโดยผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับหน่วยตำรวจลับของพม่า หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวสัญญาว่าจะเปิดเผยและยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าหนังสือพิมพ์ของรัฐ แต่กระนั้นหนังสือพิมพ์ใหม่นี้ก็นำเสนอข้อมูลที่ถูกตรวจสอบแก้ไขและเอียงข้างเหมือนกับ New Light of Myanmar ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่า, แม้ว่าจะเขียนด้วยภาษาอังกฤษที่ดีกว่าบ้างก็ตาม
เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ทำให้นักเขียนและผู้จัดพิมพ์
Tin Maung Than ต้องหนีข้ามชายแดนเข้ามาในประเทศไทยในที่สุด พร้อมกับภรรยาและบุตรอีก
2 คนในช่วงปลายปี 2000 เขาได้เปิดเผยถึงข้อมูลจากประสบการณ์เรื่องการปราบปรามในพม่า
เหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจเป็นนักหนังสือพิมพ์ และทางการได้ตามล่าตัวเขาอย่างไรหลังจากที่เขาเปิดเผยข้อมูลสถิติที่น่าขายหน้าอันแสดงข้อเท็จจริงว่า
ที่จริงแล้วเศรษฐกิจของพม่านั้นก้าวไปอย่างเชื่องช้าซึ่งขัดกับที่ทางการพม่าแถลงไว้
Tin Maung Than จบการศึกษาแพทยศาสตร์ แต่เลือกที่จะเป็นนักหนังสือพิมพ์ เขายังได้รับปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ในปี 1998 เขาเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการประท้วงเมื่อปี 1988 ในการต่อต้านนายพลเนวิน
และกลุ่มผู้ประท้วงได้ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยทางการ. หลังจากนั้นได้เข้าร่วมในพรรค
NLD (National League for Democracy) ซึ่งนำโดยนางอองซาน ซูจี. แต่ในการให้สัมภาษณ์กับ
Lin Neumann นักเขียนที่ประจำอยู่ในกรุงเทพฯ หลังจากที่เขาเข้ามาอยู่เมืองไทยแล้วว่า
เขาออกจากพรรคเมื่อปี 1990 เพราะคิดว่า เขา "สามารถทำอะไรได้มากกว่าเมื่อเป็นนักเขียน
ปล่อยคนอื่นๆ เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปก็แล้วกัน"
เขาเคยเป็นผู้จัดพิมพ์นิตยสารที่มีอิทธิพลฉบับหนึ่งชื่อ Thinbawa (Your Life) ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องประเด็นทางสังคมร่วมสมัย (วารสารรายสัปดาห์และรายเดือนได้รับการอนุญาตในพม่า ตราบใดที่ต้นฉบับทั้งหมดถูกส่งไปให้รัฐบาลตรวจสอบ) แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บทความของเขาเรื่องระบบการศึกษาที่ตกต่ำของพม่าถูกตีพิมพ์ในต่างประเทศ เขาก็ถูกจับตามองเป็นพิเศษจากหน่วยตำรวจลับ บทความชิ้นนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายชิ้นที่ถูกขึ้นบัญชีจากรัฐบาลทหารพม่า ในการแถลงข่าวเมื่อดือนพฤษภาคมปี 2000 ซึ่งโฆษกทางทหารได้แถลงยืนยันว่า มีความพยายามจากต่างประเทศที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า
ในเดือนสิงหาคมของปีนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจลับได้จองจำ Tin Maung Than ร่วมกับผู้จัดพิมพ์คนอื่นๆ เป็นเวลา 5 วันในกรุงย่างกุ้ง เนื่องจากเขามีสำเนาการปาฐกถาของอดีตรัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจ พลจัตวา ซอ ทุน (Brig. Gen Zaw Tun). ปาฐกถานี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างเปิดเผย และได้ถูกหยิบขึ้นมาโดยสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่ง เหตุนี้นำไปสู่การพ้นจากตำแหน่งของพลจัตวา ซอ ทุน และเป็นเรื่องน่าอับอายของรัฐบาล. รัฐบาลได้มีการสอบสวนและสืบหาใครก็ตามที่น่าจะมีสำเนาปาฐกถานี้ พวกเขาทำแม้กระทั่งคุมขังหญิงสาวผู้ช่วยในร้านถ่ายเอกสารที่ Tin Maung Than อุดหนุนอยู่. หลังจาก 5 วันของการสอบสวน, Tin Maung Than ถูกบังคับให้เซ็นคำรับสารภาพ จากนั้นเขาจึงได้หลบหนีเข้าประเทศไทย ซึ่งเขารอเพื่อลี้ภัยทางการเมืองต่อไปยังสหรัฐอเมริกา
การกระทำนี้เป็นมากกว่าเพียงแค่การปราบปรามสื่อ"ตามปกติ"ของฝ่ายตำรวจลับ ที่มุ่งเป้าไปที่การเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเก่า และยังเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงข้อจำกัดของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน แม้แต่เรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ตาม โดยเหตุนี้จึงทำให้ประเทศนี้ไม่เหมือนใครกระทั่งในภูมิภาคเดียวกัน
ในปี 2000 กระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจของพม่าไม่ได้ออกรายงานประจำปีเรื่องการคลังของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหมายความว่า นักลงทุนทั้งชาวต่างชาติและคนพม่าเองไม่มีข้อมูลด้านเศรษฐกิจของประเทศเลย และแม้ว่าข้อมูลบางอย่างจะเปิดเผยออกมาบ้าง แต่ก็ยังน่ากังขาในเรื่องความน่าเชื่อถือ. ในการปาฐกถาที่เปิดเผยออกมาอย่างน่าประหลาดใจของพลจัตวา ซอ ทุน ที่สถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งกรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ปี 2000 เผยว่า ข้อมูลทางการเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นการเจตนาตกแต่งให้เกินจริง เขากล่าวว่า หน่วยงานของพม่าด้านการลงทุนจากต่างประเทศนั้น "ปกป้องมากเกินไป" และกล่าวหารัฐบาลพม่าว่ากระตุ้นภาวะเงินเฟ้อด้วยการพิมพ์ธนบัตรขึ้น. "การวางแผนทางเศรษฐกิจควรจะถูกนำมาใช้ เพราะเราไม่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมระบบตลาดเสรี ซึ่งทำให้เห็นว่านายพลระดับสูงเหล่านั้นไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น". ไม่น่าประหลาดใจว่า"นายพลระดับสูง"เหล่านั้นได้ปลดพลจัตวา ซอ ทุน ออกจากตำแหน่งและควบคุมตัวเขาไว้ในบริเวณบ้าน
นี่คือสิ่งที่พม่าเป็นอยู่ในปัจจุบัน ควบุคมสื่อ ปราบปราม และไม่มีหลักประกันอะไรเลยในการเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อถือได้ ทหารได้ควบคุมทุกอย่างในชีวิตและสังคม แม้กระทั่งตัดสินว่าใครควรจะมีสิทธิในการเข้าถึงอินเตอร์เนต และข้อมูลใด "ปลอดภัย" พอที่จะเปิดเผยออกไปได้ ไม่เพียงต่อสาธารณชนแต่รวมถึงนักข่าว นักธุรกิจท้องถิ่น และนักลงทุนต่างชาติ
ประเพณีของสื่อมวลชนที่น่าภาคภูมิ
(A proud press tradition)
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างยากลำบากในพม่าทุกวันนี้ รวมทั้งสื่อที่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาล
ได้ทำลายจารีตของวิชาชีพสื่อมวลชนในพม่าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีระเบียบประเพณีของตนเอง.
เมื่อ 40 ปีก่อนหน้านี้ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสทั้งหลายในพม่าต่างเคยมีประสบการณ์ทำงานกับสื่อในประเทศ
ที่มีการควบคุมน้อยที่สุดในเอเชีย
บรรณาธิการและนักหนังสือพิมพ์พลัดถิ่นท่านหนึ่ง U Thaung ได้เขียนบทความเกี่ยวกับภาษาพม่าว่า ในสมัยศตวรรษที่ 11 นักเขียนชาวพม่ารุ่นแรกๆ ได้เขียนถ้อยคำลงบนหลักศิลากว่า500 หลัก จากสมัยนั้นยังปรากฎจนถึงทุกวันนี้ ข้อความที่ว่า 'ข้าพเจ้า, ผู้เป็นอิสระ จะปลดปล่อยพวกเขาจากพันธนาการความเป็นทาส' [I, the free, will liberate those in bondage,] ถูกจารึกไว้ในหลักศิลา เมื่อปีคริสตศักราช 1150 ซึ่งให้ภาพของแนวคิดเรื่องเสรีภาพของพม่าและพุทธปรัชญา
แบบอย่างหนังสือพิมพ์สมัยใหม่
หนังสือพิมพ์สมัยใหม่ ตามแบบอย่างจากตะวันตกและอินเดียได้ถูกนำเข้ามาในพม่าโดยชาวอังกฤษ
ซึ่งปกครองประเทศอยู่ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 หนังสือพิมพ์พม่าฉบับแรกซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ
ชื่อ Moulmain Chronicle เริ่มตีพิมพ์ในปี 1836 ในเมืองเมาะละแหม่ง (Moulmain)
ซึ่งอยู่ในเขตตะนาวศรี (Tanasserim) ในควบคุมของอังกฤษ (ในช่วงเดียวกับที่เขตอาระกันตกเป็นของอังกฤษ
อันเป็นส่วนแรกของประเทศพม่าที่ตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ) ต่อมา Rangoon Chronicle
ได้เริ่มตีพิมพ์ในปี 1853 เป็นปีที่พม่าตอนล่างส่วนใหญ่กลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว
ส่วนหนังสือพิมพ์ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในยุคอาณานิคมคือ Rangoon Gazette ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี
1861 และดำเนินการจนเมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในปี 1942
หนังสือพิมพ์ภาษาพม่าฉบับแรก คือ Yadana-bon Nay-pyi-daw (พร้อมกับชื่อภาษาอังกฤษว่า the Mandalay Gazette บนหัวหนังสือ) ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 1874 เมื่อพม่าได้ประกาศอิสรภาพแล้ว ในฐานะสื่อของราชอาณาจักร
ในสมัยพระเจ้ามินดง ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ทรงภูมิความรู้มากที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์พม่า
ได้ทรงกล่าวกับนักข่าวชาวท้องถิ่นในการประชุมทางราชการที่พระราชวังมันฑะเลย์ว่า
"ถ้าฉันทำผิด จงเขียนถึงฉัน ถ้าเหล่าราชินีทำผิด จงเขียนถึงพวกเธอ ถ้าพระโอรสพระธิดาทำผิด
จงเขียนถึงพวกเขา ถ้าผู้พิพากษาหรือ เทศมนตรีทำผิด จงเขียนถึงคนเหล่านั้น ไม่ควรจะมีผู้ใดกระทำการต่อต้านนักข่าวถ้าพวกเขาเขียนความจริง
พวกเขาควรจะเดินเข้าออกพระราชวังได้โดยอิสระ"
เสรีภาพของสื่อมวลชนได้รับการรับรองโดยพระเจ้าแผ่นดินพม่าในพระราชบัญญัติ 17มาตรา
โดยในมาตรา 3 กล่าวว่า, สื่อนั้นมีเพื่อ "ประโยชน์ของปวงชนในการรับรู้ข่าวสารจากทางยุโรป
อินเดีย จีน และไทย เพื่อเพิ่มพูนความคิดและพัฒนาการค้าและการสื่อสาร" กฎหมายนี้เป็นหนึ่งในกฎหมายท้องถิ่นฉบับแรกๆ
เรื่องเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และช่างเชื่อได้ยากว่าเกิดขึ้นในพม่า
แต่กระนั้นพม่าเคยเป็นประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือที่สูง และการศึกษาเคยเป็นความภาคภูมิในของชาติจนกระทั่งก่อนยุคอาณานิคม
เมื่อเด็กชายชาวพม่าอายุได้ 7 หรือ 8 ขวบจะถูกส่งไปยังวัดใกล้ๆ บ้าน เพื่อเรียนอ่านและเขียน เพื่อท่องจำบทสวดทางพุทธศาสนา หรือภาษาบาลีที่จารึกในพระเจดีย์ การศึกษาสำหรับเด็กหญิงไม่แพร่หลายเท่ากับเด็กชาย แต่กระนั้นก็ตาม ในการสำรวจสำมะโนครัวของพม่าในการปกครองของอังกฤษ เมื่อปี 1872 เขียนว่า "การศึกษาของสตรีนั้นมีขึ้นในพม่าก่อนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจะก่อตั้งขึ้น"
ในท้ายที่สุด อังกฤษได้ขับกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าออกจากราชบัลลังก์เมื่อมัณฑะเลย์ถูกยึดครองในปี 1885. พม่าทั้งหมดได้ตกเป็นของอังกฤษและมีการสนับสนุนการศึกษาภาษาอังกฤษ อาณานิคมใหม่ได้ดึงดูดผู้อพยพจำนวนมากจากอินเดียและจีน ซึ่งได้กลายเป็นผู้ใช้แรงงาน นักธุรกิจ และประกอบอาชีพอื่นๆ. ช่วงสมัยอาณานิคม ในพม่ามีหนังสือพิมพ์หลายสิบฉบับทั้งในภาษาพม่า อังกฤษ จีน และภาษาท้องถิ่นของอินเดียอีกหลายภาษา บางครั้งก็ตีพิมพ์เป็นภาษาชนกลุ่มน้อยในพม่าด้วย. ปัจจุบันนี้ นอกจากกลุ่มหลักคือเชื้อสายพม่า(Burmans)แล้ว ตามเขตแนวชายแดน ยังมีชนกลุ่มน้อยที่สำคัญๆ อีกกว่า 30 กลุ่มอาศัยอยู่
สื่อในพม่าต่อมาได้สนับสนุนขบวนการชาตินิยมในกลุ่มเชื้อสายพม่า ในปี 1920 หนังสือพิมพ์ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดเล่มหนึ่งคือ Thuriya (The Sun) ซึ่งมี U Saw เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ เขาเป็นผู้นำของพรรค Myochit (Love of Country) และเป็นผู้นำนักการเมืองฝ่ายขวา นอกจากนั้นก็ยังมี Myanmar Alin (New Light of Burma) ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 1914 และบริหารงานโดย U Tin อยู่หลายปี ต่อมาเขาได้เป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลแรกของประเทศ หลังได้รับเอกราชในปี 1948
นอกจากนั้นยังมีหนังสือพิมพ์ในภาษาอังกฤษฉบับอื่นๆ อย่าง Liberty, the Modern Burma, the Bandoola Journal, the Observer, the New Burma, the Free Burma และ the Rangoon Mail และมีบางฉบับเป็นภาษาพม่าอย่าง Deedok (ชื่อนกท้องถิ่นชนิดหนึ่ง) ซึ่งบรรณาธิการคือ Ba Choe และนิตยสาร Dagon (ชื่อเดิมของกรุงย่างกุ้ง) Ba Choe นั้นเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ก่อตั้ง Fabian Society เขาน่าจะเป็นผู้ที่มีบทบาทการเมืองที่โดดเด่นหลังพม่าได้รับเอกราช ถ้าหากไม่ได้ถูกสังหารไปก่อนในเหตุการณ์เมื่อปี 1947
สื่อยังมีบทบาทสำคัญในขบวนการชาตินิยมหัวรุนแรง อย่างเช่นในปี 1936 งานเขียนล้อเลียนชื่อ "Hell Hound at Large" ตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อ Oway (เป็นการเลียนเสียงร้องของนกยูง Oway! Oway!) ซึ่งมีเจตนาล้อเลียนหน่วยงานของมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง Oway จัดพิมพ์โดยสหพันธ์นักศึกษา และประธานในขณะนั้นก็คือ Aung San ได้ถูกเรียกร้องให้เปิดเผยชื่อของผู้เขียนบทความดังกล่าว แต่เขาปฏิเสธจึงถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง อันเป็นผลให้เกิดการประท้วงไปทั่วประเทศ ตามมาด้วยการประท้วงของแรงงานและเกษตรกร นำไปสู่กบฎติดอาวุธเมื่อ Aung San และสหายบางคนร่วมมือกับญี่ปุ่นเมื่อปี 1940 และ 1941 (สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2)
กลุ่มสามสิบสหาย( The
Thirty Comrade) เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง พวกเขากลับมาพร้อมกับการบุกของกองทัพญี่ปุ่น
ในปี 1942 และจัดตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นในกรุงย่างกุ้ง แต่ในวันที่ 27 มีนาคม1945
กลุ่มชาตินิยมพม่าก็ได้หันหลังให้กับญี่ปุ่นและเข้าร่วมกับพันธมิตร หลังจากนั้นไม่กี่เดือน
อังกฤษกลับมาปกครองพม่าอีกครั้งและหน่วยงานเก่าต่างๆ ก็ถูกจัดตั้งขึ้นมาอีก.
ในช่วงปีแห่งสงครามนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการแบ่งขั้วกันระหว่างฝ่ายเชื้อสายพม่าที่สนับสนุนญี่ปุ่นและชนกลุ่มน้อยที่ภักดีต่ออังกฤษ
กลุ่มกะเหรี่ยงและคะฉิ่นได้สนับสนุนกลุ่มกองกำลังที่ต้านทานญี่ปุ่น และได้จัดพิมพ์เอกสารในภาษาของตนซึ่งมีบทบาทมากในการต่อต้านญี่ปุ่น
เช่น Shi Laika Ningnan (New Newspaper) เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาคะฉิ่น กลุ่มจิ่งเผาะ
(Jinghpaw) (*) ที่ตีพิมพ์ในอินเดีย และส่งโดยทิ้งลงมาจากเครื่องบินในบริเวณดินแดนของคะฉิ่นตอนเหนือของพม่า
กลุ่มกะเหรี่ยงได้มีการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองที่ผลิตสิ่งพิมพ์เป็นภาษาของตน
และภาษาอังกฤษ
(*) ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์หลักๆ 8 กลุ่มในพม่า ประกอบด้วยชนกลุ่มที่เล็กกว่ามากมายกว่า
130 กลุ่ม ในรัฐคะฉิ่นเองก็มีคนเชื้อสายคะฉิ่นในกลุ่มย่อยๆ อีกหลายกลุ่ม กลุ่มย่อยจิ่งเผาะ
เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวคะฉิ่นที่มีภาษาเฉพาะของตนเอง ในประเทศไทยปัจจุบันมีหมู่บ้านชาวคะฉิ่นอพยพหนึ่งหมู่บ้าน
ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่: ผู้แปล
ในเดือนมกราคมปี 1947, Aung San เดินทางไปกรุงลอนดอนเพื่อทำการเจรจาเรื่องเอกราชของพม่า
เดือนต่อมาเขาอยู่ที่ปางโหลง เมืองการค้าในเขตของกลุ่มฉานหรือไทใหญ่ ซึ่งเขาได้เซ็นสัญญากับผู้นำของฉาน
คะฉิ่น และฉิ่น เพื่อปูทางสู่การเข้าร่วมเป็นสหภาพพม่า ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบสหพันธรัฐ
ทุกอย่างเหมือนดังจะเตรียมพร้อมเพื่อเอกราชของพม่า แต่ในวันที่ 19 กรกฎาคม 1947
Aung San ถูกสังหารพร้อมกับ Ba Choe บรรณาธิการของ Deedok และผู้นำรัฐอื่นๆ อีก
7 คน. ในวันเดียวกัน ตำรวจย่างกุ้งจับกุม U Saw บรรณาธิการและผู้ก่อตั้ง The
Sun (และเป็นผู้นำนักการเมืองฝ่ายขวา) ในข้อหาฆาตกรรม เขาถูกตัดสินโทษและถูกแขวนคอในเดือนพฤษภาคมปี
1948
การสูญเสียผู้นำที่มีความสามารถที่สุดในขณะนั้น ทำให้ประเทศพม่าประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากเมื่ออังกฤษได้ถอนตัวออกไปแล้ว และได้มีการจัดตั้งสหภาพพม่าขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 1948 มีนายกรัฐมนตรีคนแรกคือ U Nu และมีประธานแห่งสหภาพพม่าคนแรกคือ Sao Shwe Thaike เจ้าชายฉานองค์หนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการประณีประนอมกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ล้มเหลว หลังจากการได้รับเอกราชไม่กี่เดือน ประเทศก็ตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง เมื่อทั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ และกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่ม ต่างพยายามใช้อาวุธในการต่อสู้ที่ ซึ่งเดมทีนั้นมีเป้าหมายทางการเมือง แต่ต่อมาภายหลังก็เพื่อแยกตัวออกจากสหภาพพม่า
สื่อภายใต้การปกครองโดยทหาร
(The press under military rule)
สงครามกลางเมืองและความวุ่นวายทางการเมืองนำไปสู่การเติบโตของกำลังทหารของประเทศพม่าอย่างไม่เคยมีมาก่อน
พวกเขากลายเป็นอีกรัฐหนึ่งที่อยู่ภายในรัฐ และในที่สุดก็กลืนกลายรัฐไปด้วย ในวันที่
2 มีนาคม 1962 ผู้บัญชาการสูงสุด นายพลเนวิน ได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง เขาได้คุมขังอดีตผู้นำรัฐทั้งหมดในทันที
ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับสหพันธรัฐ และก่อตั้งสภาปฏิวัติขึ้นเพื่อควบคุมกฎหมาย จากนั้นประสบการณ์พม่ากับประชาธิปไตยก็จบลง
การครองโดยอำนาจของทหารไม่ได้ส่งผลให้เกิดสันติภาพ ดังที่ทหารได้สัญญาไว้ การรัฐประหารได้ทำลายการก่อตัวของระบอบประชาธิปไตยลง รวมทั้งระบบสหพันธรัฐและเสรีภาพของสื่อ ทำให้ผู้นำทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่า เขตชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้ทำให้สงครามกลางเมืองเริ่มขึ้นอีกครั้ง. ในแถลงการณ์ชุดแรกๆ ที่สภาปฏิวัติได้ประกาศออกมานั้น รวมถึงเรื่องเสรีภาพของสื่อด้วย กล่าวว่า เสรีภาพนั้นได้ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงเป็นที่แน่ชัดในเวลาต่อมาไม่นานนักว่า พม่าได้เข้าสู่ยุคเผด็จการอย่างเต็มรูปและเข้มงวด
ในวันที่ 1 กรกฎาคม 1962 ทหารได้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งพม่าขึ้น (Burma Socialist Program Party = BSPP) และได้ตีพิมพ์เอกสารหลายฉบับเพื่อเป็นการชี้นำความคิดเกี่ยวกับรัฐทหารใหม่ โดยสาเหตุเนื่องมาจากความหวาดระแวงการชี้นำแนวคิดโดยสื่อ จากนั้นจึงเริ่มปิดหนังสือพิมพ์ The Nation, หนังสือพิมพ์ที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อในเดือนพฤษภาคม 1963 และจับกุมบรรณาธิการ Law Yone ในอีก 3 เดือนต่อมา. เดือนกรกฎาคมรัฐบาลได้ก่อตั้งสำนักข่าวแห่งพม่า (News Agency Burma = NAB). ในเดือนตุลาคมทหารได้ออกหนังสือพิมพ์รายวันของตนชื่อ Loktha Pyithu Nezin (Working People's Daily) เพื่อแข่งขันกับหนังสือพิมพ์ของเอกชนที่ดำเนินการอยู่, ฉบับภาษาอังกฤษของ Working People's Daily เริ่มตีพิมพ์ในเดือนมกราคม 1964 รัฐบาลทหารยังได้เข้าครองกิจการของ Guardian เพื่อให้เป็นเครื่องมือของทหาร ในระหว่างที่กลุ่มฝ่ายซ้ายออก Vanguard เพื่อการรวมชาติ
ปีสุดท้ายของเสรีภาพสื่อในพม่าคือปี 1964 หนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยม Keymon (Mirror) ซึ่งดูแลโดยนักหนังสือพิมพ์อาวุโส U Thang ถูกยึดเป็นของรัฐเมื่อวันที่ 1 เดือนกันยายน, ตามด้วยหนังสือพิมพ์ภาษาพม่า Botataung (A Thousand Officers หรือ Guardian) ในวันที่ 11 กันยายน. นอกจากนั้นหนังสือพิมพ์เล็กๆ ก็ถูกปิดลง บรรณาธิการและนักเขียนหลายคนถูกจับใน เดือนมีนาคม. พรรคสังคมนิยมแห่งพม่า กลายเป็นองค์กรการเมืองแห่งเดียวที่ถูกกฎหมายในประเทศ ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ถูกยุบลง และประกาศว่าเป็นการดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย
เดือนธันวาคม 1966 รัฐบาลประกาศว่า หนังสือพิมพ์เอกชนทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ และรัฐบาลไม่ต่ออายุการจดทะเบียนรายปีให้กับหนังสือพิมพ์ภาษาจีนและอินเดียทั้งหมด รัฐบาลประกาศว่า ต่อจากนี้การพิมพ์จะต้องทำในภาษาพม่าหรือภาษาอังกฤษเท่านั้น หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา Hanthawaddy และ the Myanmar Alin (New Light of Burma) ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในประเทศ ถูกยึดเป็นของรัฐในปี 1969. ท้ายที่สุด เหลือหนังสือพิมพ์อยู่ 6 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดดำเนินการและมีเจ้าโดยรัฐบาลทหาร ได้แก่ Loktha Pyithu Nezin, the Botataung, the Kyemon, และ Hanthawaddy ในภาษาพม่า และ the Guardian, the Working People's Daily ในภาษาอังกฤษ
ภายใต้กฎใหม่ สำนักข่าวแห่งพม่าได้ทำการควบคุมการไหลของข้อมูลข่าวสารทั้งเข้าและออกจากประเทศ นักข่าวต่างชาติทั้งหมดถูกขับออกจากประเทศ ยกเว้นเพียงบางคนที่ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์จากโซเวียต Soviet Tass และ Xinhua (ซินหัว) ของจีน การเข้าประเทศของนักข่าวต่างชาติถูกห้าม แต่ก็มีบางคนที่แฝงตัวเข้าไปในฐานะนักท่องเที่ยว
สำนักงานของสำนักข่าวต่างประเทศได้รับแรงกดดันให้รับนักข่าวชาวพม่าเข้าทำงาน และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลย่างกุ้ง ด้วยการบริหารจัดการอย่างเข้มงวดนี้ทำให้ รัฐบาลสามารถจัดให้ข่าวสารที่ออกจากพม่าเป็นไปตามแนวทางของตน ภายใต้การนำเสนอของสำนักข่าวชื่อดังอย่าง Reuters, Associated Press, United Press International, Kyodo, Agence-France Presse, The British Broadcasting Corporation (BBC) และ Voice of America (VOA) แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ BBC และ VOA ได้ถูกขับออกไป เนื่องจากไม่สามารถหานักข่าวชาวพม่าได้ แต่กฎระเบียบดังกล่าวก็ยังคงอยู่เพื่อใช้กับสำนักข่าวอื่นๆ
รัฐบาลยังควบคุมการดำเนินการวิทยุสัญชาติพม่าอย่างเข้มงวด ดังนั้นประชาชนจำนวนมากจึงหันไปฟังวิทยุกระจายเสียงจาก BBC และ VOA ที่กระจายเสียงเป็นภาษาพม่าแทน แม้ว่าข่าวที่มาจากพม่านั้นไม่ค่อยน่าสนใจ แต่ทั้ง BBC และ VOA ได้มีการนำเสนอข่าวต่างประเทศและรายการอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกตัดต่อ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน ต้องขอบคุณนโยบายที่เข้มงวดของรัฐบาลพม่า เพราะ BBC ในภาคภาษาพม่ากลายเป็นเสมือนสถาบันระดับชาติไป เนื่องจากแทบทุกคนรับฟัง. ในช่วงทศวรรษ 1980 BBC ภาษาพม่าได้รับจดหมายจากผู้ฟังมากที่สุดในจำนวนรายการภาคภาษาต่างประเทศ
แต่ผู้ฟังวิทยุในพม่าก็มีสถานีอื่นให้เลือก นอกจากการกระจายเสียงจากกรุงย่างกุ้ง รวมถึง People's Voice of Burma หรือ PVOB ที่ดำเนินการโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า (Communist Party of Burma=CPB) ที่สนับสนุนโดยจีน. พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าก่อตั้งขึ้นเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1960 จากนั้นได้สร้างเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวาง แต่สื่อที่เป็นจดหมายข่าวและวารสารเชิงวิชาการก็ได้มีการแจกจ่าย แต่เฉพาะในกลุ่มผู้บริหารพรรคเท่านั้น. สถานี PVOB ได้เริ่มกระจายเสียงข้ามชายแดนจากยูนนานตอนใต้ของประเทศจีนมาตั้งแต่ในปี 1971 และได้กลายเป็นสื่อสำคัญในเขตที่รัฐบาลปกครองอยู่
รายการในแต่ละวันประกอบด้วย ข่าวเรื่องสงครามกลางเมือง โฆษณาชวนเชื่อของพรรค และดนตรีปฏิวัติในภาษาพม่า ไทใหญ่ คะฉิ่น กะเหรี่ยง ว้าและบางครั้งก็มีภาษาชนเผ่าอื่นๆ อีกบ้าง. ในปี 1978 นโยบายในจีนได้เปลี่ยนไป เนื่องจากการเสียชีวิตของประธานเหมาเจ๋อตุง และการขึ้นครองอำนาจของนายเติ้งเสี่ยวผิง. PVOB ถูกบังคับให้ย้ายสถานีไปยังที่ทำการใหญ่ของพรรคที่ปางซาง ในเทือกเขาเขตว้าทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า
กลุ่มกบฎชนกลุ่มน้อย กะเหรี่ยง ไทใหญ่ คะฉิ่น ปะหล่อง ปะโอ คะเรนนี (คะยา) และมุสลิมโรฮิงญาจากรัฐอาระกัน ก็ได้ผลิตวารสารและจดหมายข่าวอย่างลับๆ ในภาษาของตนเอง แต่ในจำนวนจำกัด และดูเหมือนไม่มีผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองทั่วประเทศนัก ฝ่ายกบฎกะเหรี่ยง ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในแถบติดชายแดนประเทศไทย ได้ตั้งสถานีกระจายเสียงวิทยุที่ฐานที่มั่น Maw Po Kay ในช่วงต้นปี 1983 แต่ได้ปิดตัวลงเมื่อเดือนมกราคม 1984 เนื่องจากการสู้รบอย่างรุนแรงในเขตนั้น
การกระจายเสียงของกลุ่มกบฎในเขตชายแดน
ทำให้รัฐบาลพม่าต้องเพิ่มความสามารถเพื่อรบกวนคลื่นเสียง แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าและกะเหรี่ยงได้หยุดกระจายเสียงไปหลายปีแล้ว
แต่ก็ยังมีหน่วยต่อต้านการกระจายเสียง (Defense Forces Broadcasting Unit) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองตองจี
(Taunggyi) ในรัฐฉาน อันเป็นที่ตั้งของสถานีส่งคลื่นสัญญานรบกวน. เมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้ใช้เครื่องมือเพื่อกีดกั้นสัญญานของ
BBC ภาคภาษาพม่า และวิทยุเสียงอเมริกา หรือ VOA และสถานีวิทยุต่อต้านรัฐบาลแห่งใหม่
"เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า"(Democratic Voice of Burma)(DVB) ซึ่งมีสถานีส่งสัญญานหลักที่เมือง
Kvitsoy ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศนอรเวย์
(ในปี 1995 ทหารพม่าได้เครื่องรบกวนสัญญานใหม่และประสิทธิภาพดีกว่าจากจีน
เครื่องมือนี้ตั้งอยู่ในเมืองตองจี แต่ความพยายามของทหารในการควบคุมสัญญานคลื่นกระจายเสียงก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก)
ประเทศพม่าเริ่มมีโทรทัศน์ แม้จะช้ากว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่มาก
คือเมื่อวันที่ 3 เดือนพฤษภาคม 1980 สถานีโทรทัศน์แห่งแรกได้เปิดขึ้นโดยความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่น
แต่รัศมีการส่งสัญญานยังจำกัดอยู่แค่ในกรุงย่างกุ้งและเมืองใกล้เคียง. ปี 1985
ในเขตชนบท สามารถรับสัญญานได้ผ่านสถานีทวนสัญญานแต่ก็เป็นสถานีเดียวเท่านั้น
มีรายการข่าว ละครพม่าคลาสสิค การศึกษา และภาพยนตร์นำเข้าจากต่างประเทศ
ความรุ่งเรืองของสื่อในช่วงการลุกฮือในกรุงย่างกุ้ง
(A media boom during the Rangoon spring)
เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า หรือรู้จักกันในชื่อ DVB (Democratic Voice of Burma)จากประเทศนอรเวย์,
พรรค NLD และองค์กรสนับสนุนประชาธิปไตยอื่นๆ ได้ปรากฎตัวชัดในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบปลายทศวรรษ
1980 หลังจากหลายปีของการครองอำนาจของทหาร. ลัทธิสังคมนิยมและสงครามกลางเมืองได้สร้างความเสียหายอย่างมากมายต่อเศรษฐกิจของพม่า
และสภาพการณ์ดังกล่าวได้ตกต่ำลงถึงขีดสุด ในเดือนสิงหาคม1988 ผู้คนนับล้านออกมาเดินขบวนบนท้องถนน
เพื่อเรียกร้องให้ยุติการปกครองระบอบเผด็จการ เพื่อนำประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรีซึ่งปรากฎมาก่อนปี
1962 กลับมา. การประท้วงนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรง ผู้คนนับพันๆ ถูกทหารยิง
แต่ก็ไม่ได้ทำให้การประท้วงจบลง. ในเดือนกันยายน ทหารเริ่มถอนกำลังออกจากเขตเมือง
แต่ก็ยังมีประชาชนออกมาเดินประท้วงตามท้องถนน
ระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน
จิตวิญญานของชาวพม่าถูกปลุกขึ้นอีกครั้งหลังจากเงียบหายไปถึงกว่า 26 ปี ภายในหนึ่งสัปดาห์
ในกรุงย่างกุ้งมีหนังสือพิมพ์และวารสารมากถึง 40 ฉบับ ที่เต็มไปด้วยข้อเขียนเรื่องการเมือง
การ์ตูนล้อเลียน การวิจารณ์ เย้ยหยันพรรคสังคมนิยมแห่งพม่าและผู้นำทางทหาร มีทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน
บางเล่มก็ออกเป็นระยะ บ้างก็เป็นภาษาอังกฤษ บ้างก็เป็นภาษาพม่า โดยใช้ชื่อที่มีสีสันอย่าง
Light of Dawn, Liberation Daily, Scoop, New Victory, Newsletter บ้างก็เขียนต้นฉบับด้วยลายมือแล้วถ่ายเอกสาร
หรือใช้เครื่องอัดสำเนา บ้างก็ผ่านระบบการพิมพ์อย่างมืออาชีพ และมักจะแจกจ่ายฟรีเนื่องจากเจ้าของต้องการแสดงถึงการสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ของทางการ อย่าง the Guardian และ the Working People's
Daily เริ่มตีพิมพ์บทความที่กล้าพูดเรื่องการเมืองมากขึ้น ทางการดูเหมือนจะอดทนต่อบรรดาสิ่งพิมพ์เหล่านี้
แต่วิทยุและโทรทัศน์ของทางการก็ยังคงถูกควบคุมไว้อย่างเข้มงวดไม่เปลี่ยนแปลง
การผลิบานของสื่อในกรุงย่างกุ้งได้ถูกทำให้จบลงอย่างรวดเร็ว เมื่อทหารได้ยึดอำนาจการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ
(แม้จะเป็นทหารกลุ่มใหม่: ผู้แปล) ในวันที่18 เดือนกันยายน 1988 มีประกาศก่อตั้ง
The State Law and Order Restoration Council หรือที่รู้จักกันว่าสลอร์ค SLORC
มีผู้คนอีกจำนวนมากที่ถูกยิงบนท้องถนนในกรุงย่างกุ้ง และเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ
และยังเป็นเรื่องน่าประหลาดใจเพราะท่ามกลางสถานการณ์นี้ SLORC ยังประกาศว่า จะมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม
พลจัตวาขิ่น ยุ้นต์ (ณ ขณะนั้น) ซึ่งเป็นโฆษกของรัฐบาลทหารกล่าวว่า "จะส่งต่ออำนาจให้แก่พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะ"
ด้วยความไม่เชื่อถือในคำพูดของขิ่น ยุ้นต์ มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยนับพันๆ หลบหนีมายังชายแดนติดกับประเทศไทย เพื่อจับอาวุธเตรียมสู้กับรัฐบาลทหารใหม่ บางคนก็ยังอยู่ในประเทศเพื่อก่อตั้งพรรค NLD (National League for Democracy) ที่มีผู้นำคือนางออง ซาน ซู จี บุตรสาวของวีรบุรุษเอกราชของพม่า ออง ซาน
ในทันทีที่มีการก่อตั้ง SLORC หนังสือพิมพ์ทั้งหมดถูกห้ามพิมพ์ ยกเว้น Loktha Pyithu Nezin และในภาคภาษาอังกฤษ The Working People's Daily การควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ นักหนังสือพิมพ์จำนวนมากถูกจับกุม รวมทั้ง Win Tin อดีตบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Hanthawaddy ซึ่งกลายเป็นผู้นำนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในปี 1988. ในช่วงแรก นักข่าวชาวต่างประเทศได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศ แต่เมื่อการรายงานข่าวของพวกเขามีการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าที่ทางรัฐบาลได้คาดไว้ ระยะเวลาการเข้าประเทศของพวกเขาจึงถูกตัดให้สั้นลง. เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีนักข่าวที่ถูกคัดกรองแล้วเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับวีซ่านักข่าว แต่ก็มีนักข่าวชาวต่างประเทศหลายต่อหลายคนที่แฝงตัวเข้าประเทศโดยอ้างว่าเป็นนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจ ซึ่งทำให้มีข้อมูลข่าวสารออกจากพม่าอย่างสม่ำเสมอ แม้จะมีการควบคุมอย่างหนักจากรัฐบาลอยู่ก็ตาม
มีกรณียกเว้นอยู่กรณีหนึ่งเมื่อปี 1990 เมื่อรัฐบาลทหารได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปตามที่สัญญาไว้ นักข่าวชาวต่างประเทศหลายสิบคน ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในกรุงย่างกุ้ง แต่ผลที่ออกมากลายเป็นหายนะสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อของ SLORC. หนึ่งปีก่อนหน้านั้นนางออง ซาน ซู จี ถูกคุมขังไว้ในบ้านพัก แต่กระนั้น พรรค NLD ก็ยังชนะแบบถล่มทลายในการเลือกตั้ง. ในเดือนกรกฎาคม SLORC ประกาศว่าการเลือกตั้งนั้นไม่ใช่เพื่อตั้งรัฐสภา แต่เป็นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
สิ่งนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการพลิกกลับคำสัญญาที่ว่า รัฐสภาจะมาจากการเลือกตั้งและอำนาจจะถูกส่งต่อให้พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะ ขิ่นยุ้นต์ไม่ได้เป็นทหารคนเดียวที่ให้คำสัญญานั้น รัฐมนตรีต่างประเทศ Ohn Gyaw ได้กล่าวไว้เช่นกันในการปราศรัยที่ สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ในปี 1988 และ 1989 นอกจากนั้นผู้นำสูงสุดของทหาร นายพลซอ หม่อง (Gen Saw Maung) เคยแม้กระทั่งวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่ตั้งคำถามกับรัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศ ในวันที่ 9 เดือนมกราคม 1990 เขากล่าวในการประชุมเจ้าหน้าที่กองทัพว่า
"เราได้กล่าวถึงเงื่อนไขของอำนาจแห่งรัฐไปแล้ว ในทันทีที่การเลือกตั้งขึ้น จะมีการจัดตั้งรัฐบาลและการขึ้นสู่อำนาจตามกฎหมาย การเลือกตั้งต้องมีขึ้นเพื่อให้มีรัฐบาลต่อไป นั่นคือความรับผิดชอบของเรา, แต่การทำงานเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายหลังการเลือกตั้ง ไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ (Tatmadaw ในภาษาพม่า) เราได้พูดอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาแล้วในขณะนี้"
จากนั้นในการปราศรัย เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม หรือ 17 วันก่อนการเลือกตั้งนายพล ซอ หม่อง กล่าวว่า "ผู้มีตำแหน่งสูงท่านหนึ่งซึ่งเคยเป็นอัยการสูงสุด ได้กล่าวถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ดังที่เรามีเป้าหมายในการจัดการเลือกตั้ง เรายังไม่สามารถจัดการดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญดังที่ท่านผู้นั้นกล่าวแนะนำได้ อันที่จริงรัฐธรรมนูญใหม่สามารถร่างได้ และรัฐธรรมนูญเก่าก็สามารถใช้ได้หลังจากได้รับการปรับปรุงแก้ไข" (Working People's Daily, วันที่ 11 พฤษภาคม 1990) "บุคคลท่านนั้น" ที่ซอ หม่องอ้างถึงก็คือ อดีตอัยการสูงสุด U Hla Aung ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพรรค NLD ในขณะนั้น และได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เพื่อขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
แถลงการณ์ที่พลจัตวาขิ่น ยุ้นต์กล่าว ในเดือนกันยายน 1988 และที่นายพลซอ หม่องกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม ถูกลืมไปอย่างง่ายดายเมื่อชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรค NLD ปรากฎต่อสายตาสาธารณะ โดยได้ 392 ที่นั่ง จาก 485 ที่นั่ง ขณะที่พรรคที่ทหารสนับสนุนอย่าง National Unity Party (เป็นชื่อใหม่ของพรรคสังคมนิยมแห่งพม่า) ได้รับเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น
ท่าทีต่อชัยชนะของพรรค
NLD จาก SLORC ที่ได้แถลงออกมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 1990 ในคำประกาศที่ 1/90
กล่าวว่า มีเพียง SLORC เท่านั้น ที่มีสิทธิในการออกกฎหมายและบริหารและมีอำนาจทางศาล
"ด้วยเหตุนั้น ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาโดยประชาชนจึงรับผิดชอบในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตของรัฐ"
นั่นเป็นครั้งแรกที่ SLORC กล่าวถึงความต้องการที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ (**)
(**) รัฐธรรมนูญที่ทำการร่าง จนถึงปัจจุบัน (ปี 2007)
ทางทหารพม่าได้อ้างว่ามีการร่างลุล่วงแล้ว แต่อันที่จริงนั้นเป็นเพียงร่างแนวทางของรัฐธรรมนูญเท่านั้น
และยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากกระบวนการร่างนั้นขาดการมีส่วนร่วมของชนกลุ่มน้อยและพรรคฝ่ายค้าน
NLD แม้รัฐบาลจะพยายามจัดการให้มีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์มาแต่งกายประจำเผ่าเข้าร่วมประชุม
แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง รวมทั้งตัวแทนจากพรรค NLD ก็คว่ำบาตรการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้:
ผู้แปล
ในวันเดียวกับที่มีการประกาศ SLORC ได้ออกการรณรงค์ต่อต้านผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งของพรรค
NLD เมื่อถึงปลายปี มีผู้ถูกจำกุมไป 65 คน และประมาณ 12 คนต้องหลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยหรืออินเดีย
และหลายคนลาออกโดยสมัครใจ สภาmuj,k0kddkig]nvdตั้งนี้ไม่เคยเปิดประชุมได้ และผู้นำทางทหารที่แข็งกร้าว
พลโท Myo Nyunt ได้กล่าวในการปราศรัยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 1990 โดยได้สั่งให้มีการส่งผ่านอำนาจอย่างรวดเร็ว
ในการพยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ และเพื่อรองรับกับระบบการค้าเสรีที่นำมาใช้หลังจากปี 1988 รัฐบาลเปลี่ยนชื่อหนังสือพิมพ์ Lokha Pyithu Nezin (Working People's Daily) ในเดือนเมษายน 1993 โดยใช้ชื่อหนังสือพิมพ์ที่รัฐบาลสั่งห้ามไปเมื่อปี 1969 คือ Myanmar Alin และในภาคภาษาอังกฤษชื่อ New Light of Myanmar. หนังสือพิมพ์ทำแม้กระทั่งพิมพ์คำว่า "ก่อตั้งในปี 1914" (ปีที่ Myanmar Alin ก่อตั้ง) ลงไปในหน้าแรกด้วย ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 สำนักงานของนายกเทศมนตรีเมืองย่างกุ้ง ออกหนังสือพิมพ์ของตนเองซึ่งยืมชื่อมาจากหนังสือพิมพ์เก่า Kyemon
ในเดือนกรกฎาคม 1995, นางออง ซาน ซู จี (ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 1991) ถูกปล่อยตัวออกจากการกักตัวในบริเวณบ้านพัก และนักข่าวชาวต่างประเทศได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้อีกครั้ง หลังจากนั้นไม่กี่เดือนรัฐบาลเพิ่มการควบคุมอีกครั้ง และหยุดการออกวีซ่าสำหรับนักข่าว และนางซู จีก็ถูกควบคุมตัวอีกครั้ง. ความเคลื่อนไหวของเธอถูกจำกัดอย่างเข้มงวด ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากพรรคของเธอถูกจับกุม ขณะที่อีกหลายคนหลบหนีไปยังประเทศไทยและอินเดีย กองทัพปกป้องอำนาจของตนมากกว่าที่เป็นมาในอดีต. ในปี 1999 ความเข้มแข็งของกำลังทหารพม่าเพิ่มขึ้นถึง 450, 000 นาย เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากจำนวนในปี 1988
"จงทำสงครามด้วยการตบตา" ("By Way of Deception, thou shalt do war") เป็นภาษิตของหน่วยสืบราชการลับที่มีอำนาจของอิสราเอล ที่เรียกว่า The Mossad มาช้านาน, ซึ่งกองทัพพม่าก็นำหลักการเดียวกันมาใช้ แต่ไม่มีการเสแสร้งว่าเพื่อประชาธิปไตย หรือต้องถูกตามหลักกฎหมายใดๆ อีกต่อไป พม่ายังคงเป็นประเทศที่มีการกดขี่มากที่สุดอีกแห่งหนึ่งในเอเชีย จะมีที่เทียบเคียงใด้เพียงเกาหลีเหนือที่ใช้ระบบสตาลิน โดยมีทัศนคติของตนเองต่อโลกภายนอก มีการตีความเรื่อง "ความจริง" ตามแบบของตนเอง และตอบโต้กับผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมืองอย่างรุนแรง
กฎหมายควบคุมสื่อที่เข้มงวดที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในเดือนพฤศจิกายน 1997, SLORC เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ"
(State Peace and Development Council หรือ SPDC) แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเป็นรัฐบาลที่กดขี่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้วยการเข้มงวดตรวจสอบสื่อมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเข้าใจน้อยมากหรือไม่เข้าใจเลยว่า
ทัศนคติที่พวกเขามีต่อการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารนั้น ได้ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศหยุดชะงักและทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง
การควบคุมสื่อของพม่ามีรูปแบบที่แตกต่าง
แม้แต่ในประเทศเผด็จการทหารอื่นๆ
หนังสือทุกเล่ม นิตยสารและหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ต้องส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบ ไม่ใช่ก่อนพิมพ์แต่เป็นหลังจากการจัดพิมพ์
ซึ่งสิ่งนี้เป็นเครื่องกระตุ้นการตรวจสอบตนเองของสื่อ หน่วยงานควบคุมสื่อของรัฐมีชื่อว่า
The Press Scrutiny Board หรือ PSB ที่ซึ่งข้อเขียนทุกเรื่อง บทกลอน การ์ตูน
ข้อความ และถ้อยคำใดๆ ก็ตาม ที่หน่วยงานนี้พบว่าไม่สามารถยอมรับได้ จะถูกกำจัดไปก่อนที่สิ่งพิมพ์นี้จะถูกวางขายแก่ประชาชน
นักวิชาการชาวอังกฤษ Anna Allott ซึ่งรวบรวมเรื่องสั้นที่ถูกตรวจสอบ (เรียกอย่างเหมาะสมว่า ถูกขีดทับ ตัดออก Inked Over - Ripped Out) ได้อธิบายกระบวนการดังกล่าวไว้ว่า "ทำโดยการตัดหน้านั้นออก แล้วติดกาวไว้ด้วยกัน ขีดข้อความออกด้วยการใช้สีเงินทับ หรือติดเทปทึบสีทับข้อความที่มีปัญหา ส่วนการตัดข้อความออกในเล่มอื่นๆ ที่เหลือ จะทำโดยผู้จัดพิมพ์ จากการชี้นำของ PSB". หลังจากหน้าที่มีปัญหาถูกตัดออก หนังสือจะถูกส่งกลับไปให้ PSB ซึ่งทราบว่าหนังสือนั้นมีจำนวนพิมพ์เท่าใด แล้วจะนับว่ามีหน้าเหลืออยู่เท่าใด เพื่อจะทำให้แน่ใจว่าไม่มีหน้าไหนคงค้างอยู่หรือแอบแจกจ่ายออกไปก่อน
มีนิตยสารเพียงเล่มเดียวที่ไม่ต้องส่งเข้าไปให้หน่วยงานตรวจสอบอย่างละเอียด นั่นคือ นิตยสารวรรณกรรมรายเดือน ชื่อ Myet-khin thit (The New Pastures) ซึ่งไม่มีการลงโฆษณา. นิตยสารดังกล่าวมีเนื้อหาข้อมูลของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งบุคคลที่แอบอาศัยลี้ภัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและที่อื่นๆ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับคนเหล่านี้ โดยมีข้อเขียนเชิงสบประมาทประเทศอื่นๆ ยกเว้นพม่า. ส่วนบทความอื่นๆ ได้อธิบายถึงเหตุการณ์การข่มขืน การคอรัปชั่น และฆาตรกรรมในบางประเทศ เพื่อเป็นการทำลายความน่าเชือถือของรัฐบาลประเทศที่วิจารณ์พม่าเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน. นิตยสารที่ไม่ปกติธรรมดานี้เป็นความคิดประดิษฐ์ของหน่วยงานตำรวจลับ DDSI ซึ่งควบคุมทุกแง่มุมของชีวิตในพม่า
ในขณะที่ไม่มีกฎหมายใดในพม่าที่รับประกันถึงการเข้าถึงข้อมูลใดๆ แต่กลับมีกฎเกณฑ์มากมายที่เข้มงวดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น. ในรัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยฉบับแรกของพม่า ซึ่งร่างขึ้นในปี 1947 และมีผลบังคับใช้เมื่อพม่าได้รับเอกราชเมื่อปี 1948 กำหนดไว้ว่า ประชาชนมีสิทธิ "ในการแสดงออกอย่างเสรี ถึงความเชื่อและความคิดเห็น (II: 17; i)" และ "ในการตั้งกลุ่มองค์กรและสหพันธ์ (II: 17; iii)". ในรัฐธรรมนูญปี 1947 ยังรับประกันสิทธิพื้นฐานของประชาชนและประกาศว่า "การบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบ และการให้บริการโดยไม่สมัครใจนั้นเป็นเรื่องต้องห้าม ยกเว้นการลงโทษเพื่ออาชญากรรมที่ได้รับการตัดสินโทษแล้ว"
แต่รัฐบาลทหารในปัจจุบันกลับละเลยเพิกเฉยกฎหมายนี้ และเลือกที่จะอ้างถึงกฎหมายในสมัยอาณานิคมอังกฤษในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เพื่อเป็นเหตุผลอ้างอิงในการบังคับใช้แรงงานอย่างมากมาย (ในกฎหมายเรื่องหมู่บ้านและเมืองปี 1907 ไม่ได้ยินยอมเรื่องการบังคับใช้แรงงานเช่นกัน แต่ได้กำหนดไว้ว่า ประชาชนควรทำงานที่เป็นสาธารณะประโยชน์บ้าง). การบังคับใช้แรงงานทำให้องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization) ประกาศคว่ำบาตรพม่าในปี ค.ศ. 2000
แล้วพม่าก็มีกฎหมายใหม่อีกครั้งหนึ่งหลังจากปี ค.ศ. 1947 ด้วยแนวคิดใหม่ ในรัฐธรรมนูญปี 1974 กำหนดไว้ว่า "ประชาชนทุกคนควรจะมีเสรีภาพในการพูด แสดงความคิดเห็นและการพิมพ์ แต่เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดกับผลประโยชน์ของผู้ทำงานและระบอบสังคมนิยม" ผลของมันก็คือ ไม่มีเสรีภาพเลยนั่นเอง แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกล้มเลิกไปในปี 1988 และแทนที่ด้วยกฎหมายของทหาร
การควบคุมและตรวจสอบสื่ออย่างเข้มงวดเริ่มขึ้นเมื่อรัฐบาลทหารชุดแรกได้นำกฎหมายใหม่คือ กฎหมายว่าด้วยเรื่องการจดทะเบียนเครื่องพิมพ์และผู้จัดพิมพ์ ปี 1962 ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อปิดปากสื่อ นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนจำนวนมากถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากกฎหมายนี้. เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กฎหมายฉบับดังกล่าวมักจะถูกใช้ร่วมกับกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เริ่มใช้เมื่อปี 1950 เพื่อป้องกันรัฐใหม่ในขณะนั้นจากความวุ่นวายในเขตชนบท. SLORC/ SPDC ได้ให้ความหมายใหม่กับกฎหมายเก่าๆ โดยใช้เพื่อต่อต้านบุคคลทั่วไปที่กล้าพูดจาต่อต้านรัฐบาล หรือแม้แต่ครอบครองเทปเสียงบันทึกคำปราศรัยของนางออง ซาน ซู จี
Cheng Poh ทนายความวัย 77 ปีถูกตัดสินจำคุก 14 ปีในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2000 ด้วยข้อหาแจกจ่ายบทความถ่ายเอกสารเกี่ยวกับพม่าจากวารสารต่างประเทศ โดยมีโทษจำคุก 7 ปีด้วยกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินปี 1950 และอีก 7 ปีโดยกฎหมายว่าด้วยเรื่องการจดทะเบียนเครื่องพิมพ์และผู้จัดพิมพ์ ปี 1962 ทั้งนี้เนื่องมาจากอาชญากรรมที่เขาทำก็คือ การเขียนไว้ที่ด้านหลังของบทความว่า "ไม่มีเสรีภาพ เราถูกปิดปาก"
ในเดือนธันวาคมปี 2000, Aung Myint นักหนังสือพิมพ์และฝ่ายต่อต้านอีก 5 คน ถูกตัดสินจำคุก 21 ปี ด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินโดยการแจกจ่ายข้อมูลที่อ้างถึงพรรค NLD ในเดือนกันยายน หลังจากที่นางออง ซาน ซู จี ถูกกันไม่ให้เดินทางออกจากกรุงย่างกุ้ง. Aung Myint ทำงานให้กับนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่รัฐบาลทหารห้าม เนื่องจากมีเนื้อหาเชิงเสียดสี ตั้งแต่ปี 1999 เขายังทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ข้อมูลข่าวสารให้กับพรรค NLD และอีก 5 คนก็ทำงานกับ NLD เช่นกัน
มรดกตกทอดมาจากยุคอาณานิคมอีกอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายว่าด้วยความลับทางราชการปี 1923 ได้ถูกนำมาใช้และมีผู้คัดค้านอย่างมาก เนื่องจากรัฐใช้ในทางที่ผิด คือ เพื่อกดดันฝ่ายต่อต้านและเพื่อหยุดยั้งการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสาร. ในปี 1990 ผู้นำพรรค NLD สองคนและชาวพม่าที่ทำงานในสถานฑูตอังกฤษในกรุงย่างกุ้ง ถูกจับภายใต้กฎหมายนี้. เจ้าหน้าที่ NLD นามว่า Chit Khaing และ Kyi Maung ได้ให้จดหมายจาก SLORC ถึงคณะกรรมการพรรค NLD กับ Nita Yin Yin เจ้าหน้าที่สถานฑูตเพื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งสามคนถูกตัดสินว่าผิดจาก "การมอบเอกสารที่เป็นความลับของรัฐ ซึ่งมีผลต่อประโยชน์ของชาติแก่บุคคลที่ไม่ได้มีอำนาจในการนั้น" และถูกจำคุกเป็นเวลานาน
การตีความว่าอะไรคือ "ความลับของชาติ" ยังเป็นเรื่องที่น่าแคลงใจ ในเดือนตุลาคม 1994 Dr. Khin Zaw Win อดีตเจ้าหน้าที่ของกองทุนเพื่อเด็กแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNICEF) ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี เนื่องจากพยายามลักลอบนำ"ความลับของชาติ"ออกนอกประเทศ คือ หนังสือของนางออง ซาน ซู จี, Freedom From Fear ภาคแปลเป็นภาษาพม่า นอกจากนั้นเหยื่อของการกล่าวร้ายนี้อีกคนหนึ่งคือ Dr. Aung Khin คณะกรรมการกลางของพรรค NLD ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ภายใต้กฎหมายว่าด้วยความลับทางราชการ และกฎหมายว่าด้วยเรื่องการจดทะเบียนเครื่องพิมพ์และผู้จัดพิมพ์ เนื่องจากแจกจ่ายใบปลิววิจารณ์ความเข้มงวดในการควบคุม ที่ SLORC กระทำต่อสภาร่างที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 1992 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญแก่พม่า
กฎหมายอีกฉบับที่มักจะใช้เพื่อกดดันฝ่ายต่อต้านก็คือ กฎหมายว่าด้วยการปกป้องประเทศปี 1975 ซึ่งรู้จักกันในนามของ "กฎหมายเพื่อปกป้องประเทศจากภัยและการบ่อนทำลาย" ซึ่งอนุญาตให้รัฐสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ใดที่หนึ่งหรือทั้งประเทศไ "ด้วยแนวทางที่ว่า เพื่อปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงและกฎหมายมหาชนจากภัยคุกคาม" และเพื่อเพิ่มความเข้มงวดกับสิทธิพื้นฐานของประชาชน
รายงานฉบับหนึ่งจาก Article 19 องค์กรเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน ได้ให้ความเห็นว่า "กฎหมายนี้ให้อำนาจแก่รัฐในการแผ่อำนาจ: ใครก็ตามที่เป็นผู้ต้องสงสัย น่าสงสัย หรืออาจเกี่ยวข้องว่าละเมิดกฎหมายที่เขียนไว้ว่า 'เป็นอันตรายต่ออธิปไตยและความมั่นคงของชาติ สันติภาพและความสงบในหมู่ประชาชน' ก็อาจถูกจำคุกสูงถึง 5 ปีหรือ ตามคำตัดสิน" ซึ่ง San San นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยถูกตัดสินจำคุก 25 ปี จากกฎหมายฉบับนี้
ในช่วงกลางและปลายทศวรรษที่ 1990 มีกฎหมายพม่าหลายฉบับควบคุมการใช้อีเมล์และการใช้อินเตอร์เนต โดยถูกเพิ่มเติมในกฎหมายโทรทัศน์และวิดีทัศน์ ซึ่งมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการเผยแพร่ข้อมูลอย่างอิสระ ซึ่งส่งผลถึงการบังคับให้ขอใบอนุญาตมีโทรทัศน์ เครื่องวีดีทัศน์ เครื่องรับโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมจากกระทรวงการสื่อสาร ไปรษณีย์และโทรเลข และธุรกิจวิดีทัศน์ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานตั้งใหม่ในเขตการปกครอง (พม่ามี 7 รัฐและมีคณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจวิดีทัศน์ 7 คณะ ภายใต้กำกับของกระทรวงข้อมูลข่าวสาร)
จากข้อมูลของ Article 19 กล่าวว่า "กฎหมายโทรทัศน์และวิดีทัศน์ทำให้การขออนุญาตฉายวิดีทัศน์ทุกเรื่องในพม่า ต้องได้รับใบอนุญาตว่าผ่านการตรวจสอบแล้ว วิดีทัศน์ทุกเรื่องจะต้องผ่านการอนุญาตทุกครั้งที่จัดฉาย ดังนั้นคณะกรรมการตรวจสอบจึงมีอำนาจในการตรวจซ้ำวิดีทัศน์ แม้ที่ผ่านการตรวจมาแล้ว และสามารถยกเลิกการอนุญาตเมื่อใดก็ได้ ถ้ามีเหตุผลที่จะทำเช่นนั้น". ภายใต้กฎหมายนี้กำหนดให้มีการจำคุกผู้กระทำผิดได้. ในเดือนสิงหาคม 1996 นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 3 คนได้แก่ Kyaw Khin ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งของพรรค NLD จากรัฐฉาน, Dr. Hlaing Myint สมาชิกพรรค NLDและนักธุรกิจจากย่างกุ้ง, และ Maung Maung Wan นักศึกษาซึ่งยังอายุน้อย ถูกตัดสินจำคุกถึง 3 ปี เนื่องจากเป็นเจ้าของวิดีทัศน์เรื่องพม่าที่บันทึกมาจากสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศ. ในปีเดียวกัน Khun Myint Tun ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งของพรรค NLD จากรัฐมอญ ก็ต้องโทษจำคุก 3 ปี เนื่องจากได้มอบม้วนวิดีทัศน์ของนางออง ซาน ซู จี ในการปราศรัยประจำสัปดาห์ให้กับนักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานกับ Australian Broadcasting Corporation
สงครามไซเบอร์ของรัฐบาลทหารพม่า
( The Junta's 'cyber warfare')
ไม่มีใครทราบจำนวนที่แน่นอนของผู้คนที่ถูกจำคุก ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
และกฎหมายต่อต้านอินเตอร์เนตอื่นๆ. แต่กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชน อย่างเช่นใน
Article 19 ได้รายงานว่า กฎหมายนี้"เพิกเฉยต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น".
นักหนังสือพิมพ์ท่านหนึ่งซึ่งต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ในช่วงปลายปี 1997 ได้อธิบายถึงสถานการณ์ว่า
'ไม่มีใครในพม่ามีอีเมล์หรือสามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตได้ นอกจากนักธุรกิจเพียงบางคนที่ใกล้ชิดกับกลุ่มทหารที่ปกครองบ้านเมืองอยู่
นักการฑูตในสถานฑูตไม่กี่แห่งได้รับแจ้งว่าพวกเขาสามารถใช้อินเตอร์เนตได้ แม้ว่าจะมีการเข้มงวดจากรัฐบาลพม่า
แต่กระนั้นพวกเขาก็บอกว่า อีเมล์ของพวกเขาถูกดักขวาง และอ่านโดยเจ้าหน้าที่ทางการของพม่า'"
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีหน่วยงานพิเศษคือ "หน่วยสงครามไซเบอร์" (Cyber Warfare Division) ได้ถูกเพิ่มเข้ามาในหน่วยงานตำรวจลับ ด้วยเครื่องมือที่สนับสนุนโดยสิงคโปร์ และบุคลากรที่ได้รับการฝึกจากผู้เชี่ยวชาญที่นั่น. Desmond Ball ผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบความลับด้วยสัญญาน เขียนลงในหนังสือของเขาเมื่อปี 1998 เรื่อง "Burma's Military Secrets: Signals Intelligence from 1941 to Cyber Warfare; ว่า SLORC ได้รับเครื่องมือและความสามารถที่กว้างขวางในการตรวจสอบการโทรคมนาคมรวมทั้งโทรศัพท์ โทรสาร ทั้งในและนอกประเทศ โดยใช้เหตุผลอ้างในการกระทำผิดๆ และเป็นการกดดันฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ในเขตเมือง และตอนนี้พม่าก็ได้รับระบบใหม่เพื่อทำสงครามทางข้อมูลข่าวสารสมัยใหม่จากสิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง"
การควบคุมที่เข้มงวดนี้ ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักการฑูต นักธุรกิจทั้งในท้องถิ่นและชาวต่างประเทศ จะได้รับข้อมูลที่ไม่มีอคติเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศ. ข่าวสารเหตุการณ์และการพัฒนาในฉบับของรัฐบาล สามารถหาได้จากเว็บไซต์ที่มีความหมายต่อการบริโภคข่าวสารจากนานาชาติ เนื่องจากการเข้าถึงอินเตอร์เนตในพม่ายังจำกัดอยู่มาก
- เว็บไซต์ของรัฐบาลทหาร - www.myanmar.com มีเนื้อหาที่ตัดตอนมาจาก สื่อของทางราชการ ข้อมูลการท่องเที่ยว และสถิติที่ล้าสมัย (ไม่มีข้อมูลเป็นทางการออกมาตั้งแต่ปี 1998)
- หนังสือพิมพ์ของหน่วยตำรวจลับ DDSI, The Myanmar Times & Business Review มีหน้าเว็บไซต์ของตนเอง แต่ก็คล้ายกับฉบับหนังสือพิมพ์ ที่แตกต่างจากสื่อของทางการเพียงเล็กน้อย. นอกจากนั้นก็มีภาษาอังกฤษที่ดีกว่า : www.myanmar.com/myanmartimes/
- ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ธุรกิจบางแห่งของชาวพม่ารุ่นใหม่เริ่มตีพิมพ์หนังสือรายชื่อธุรกิจและบริการในท้องถิ่น ซึ่งต่อมาก็มีเว็บไซต์: www.myanmaryellowpages.com
รัฐบาลพม่าก็เหมือนกับเผด็จการทหารอื่นๆ
ที่ไม่สามารถหยุดยั้งการไหลเข้าออกของข้อมูลข่าวสารได้ทั้งหมด มีนักข่าวชาวต่างประเทศมากมายที่ได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวใต้ดินในประเทศ
แม้แต่การ "รั่ว" จากเจ้าหน้าที่รัฐที่น่าเห็นใจ ซึ่งเป็นผลทำให้บทความเรื่องพม่าในสื่อต่างประเทศมีมากขึ้นกว่ายุคก่อนการลุกฮือปี
1988 เสียอีก
* บริการสรุปข่าวสารเรื่องพม่ามีทั้งผ่านอีเมล์และบนหน้าเว็บไซต์ ที่รวบรวมบทความจากสื่อนานาชาติ
และจากแหล่งอื่นๆ ที่ทางการพม่าพยายามจะปราบปรามอยู่ หลักๆ ก็คือ
- BurmaNet News รายวัน ที่ให้บริการฟรีผ่านอีเมล์ หรือสามารถดูได้ผ่านเว็บ www.burmanet.org
- Burma News International ดูได้ที่ http://www.bnionline.net
- Burma Update ออกรายปักษ์ ให้บริการผ่านโทรสารหรือเว็บ ไม่เสียค่าบริการ ที่ http://www.soros.org/burma/burmanewsupdate/index.html โดย Open Society Institute, Burma Project * ปรับปรุงข้อมูลโดยผู้แปล 4 / 12/ 2007*
ฝ่ายต่อต้านแทบทั้งหมดที่ยังอยู่ในพม่า ต้องถูกกดดันโดยทหาร แต่ความพยายามต่อสู้ยังคงอยู่บนโลกออนไลน์ในระดับนานาชาติ แม้แต่นักการฑูตในย่างกุ้งก็ยังขึ้นอยู่กับ BurmaNet News เพื่อหาข้อมูลข่าวสาร. ในขณะที่รายงานของหน่วยงานสหประชาชาติในพม่านั้น มักจะไม่ค่อยน่าสนใจและแสดงถึงมุมมองของรัฐบาลทหารพม่าเท่านั้น (โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด) ต่อมาธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB และธนาคารโลก (World Bank) ได้พิมพ์รายงานเชิงลึกเรื่องความกังวลต่อพม่า
ในปี 1997 สถานฑูตสหรัฐอเมริกา ได้เสนอรายงานทางเศรษฐกิจที่แสดงว่า รายได้จากการลักลอบนำยาเสพติดออกจากพม่าใกล้เคียงกับรายได้การส่งออกสินค้าอย่างถูกกฎหมาย รายงานนั้นได้มาเพียงจากการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับข้อมูลการค้าและสถิติของทางการอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลให้รัฐบาลตัดสินใจไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ ออกมาอีกเลยหลังจากนั้น
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
การลุกฮือในกรุงย่างกุ้งเมื่อปี 1988 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภูมิปัญญาและการสร้างสรรค์ของชาวพม่าที่มีมานับร้อยๆ
ปีนั้น ไม่ได้ตายจากไป รัฐบาลทหารได้จัดการปราบปรามการสร้างสรรค์นี้ และประกาศใช้ระบอบการปกครองที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประเพณีภูมิปัญญาของพม่า
รัฐบาลพม่ายังแสดงถึงการขาดความเคารพหลักนิติธรรม แม้แต่กฎหมายของตนเอง ทั้งในประเทศตนเองและความเชื่อถือตามบรรทัดฐานจากนานาประเทศ
รวมทั้งการเรียกร้องจากประชาสังคมและภาคธุรกิจในยุคข้อมูลข่าวสาร
สิ่งนี้ดูเหมือนว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงตราบใดที่พม่ายังคงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร และไม่มีสัญญาณใดๆ ที่แสดงว่า รัฐบาลจะเต็มใจพิจารณาเพื่อประนีประนอมกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของประเทศ
พม่าได้เข้าร่วมกับประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Association of Southeast Asian Nations = ASEAN) เมื่อปี 1997 ซึ่งทำให้สถานการณ์นี้แย่ลง
แม้ว่าจะมีการให้คำมั่นอย่างเป็นทางการต่อนโยบาย "พัวพันเชิงสร้างสรรค์"
(constructive engagement) ว่ารัฐบาลทหารจะมีการปฏิรูป. แต่ ASEAN ได้เปลี่ยนให้ตัวเองให้เป็นองค์กรที่ตกต่ำ
ด้วยการตกลงที่จะออกโรงปกป้องพม่าในระดับนานาชาติ ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า
ทหารพม่ามองการเป็นสมาชิก ASEAN ว่าหมายถึงการได้พันธมิตรในระดับภูมิภาค เพื่อปกป้องจากการวิพากษ์วิจารณ์ของนานาชาติรวมทั้งองค์การสหประชาชาติ.
การปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐบาล รุนแรงขึ้นหลังจากพม่าเข้าเป็นสมาชิก ASEAN
Article 19 ซึ่งเป็นกลุ่มแนวหน้าที่ออกมาเปิดเผยการตรวจสอบควบคุมสื่อ และการละเมิดสิทธิพื้นฐานในพม่า
ได้ให้แนวทางว่า การปฏิรูปควรจะรวมถึงข้อดังต่อไปนี้
- ให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจำคุกเนื่องจากการแสดงออกความคิดเห็นอย่างสันติในทันทีและไม่มีเงื่อนไข
- ให้ SLORC / SPDC ปฏิบัติการรักษาคำมั่นที่จะคืนการปกครองระบอบประชาธิปไตย
และเคารพผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 1990
- ให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี 1947 และ/หรือ 1974 อย่างน้อยเป็นการชั่วคราว ระหว่างดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากความหลากหลาย และเป็นประชาธิปไตย โดยการหารือกับพรรค NLD และผู้แทนจากชนกลุ่มน้อยในพม่า
- ยกเลิกข้อบังคับสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อบังคับเรื่องเสรีภาพพื้นฐาน รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในทันที
- ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับ เพื่อทำให้แน่ใจว่าพวกเขา(ประชาชน) จะได้รับการปฏิบัติตามบรรทัดฐานสากล เรื่องสิทธิมนุษยชนและตามหลักมนุษยธรรม
- นำมาซึ่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อความผาสุกของชาวพม่าตามหลักสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งสิทธิในการติดต่อสื่อสาร การเสาะหาและรับรู้ข้อมูล รวมทั้งแนวคิดอื่นๆ โดยไม่มีพรมแดน ผ่านทุกๆ สื่อ
- ยอมรับการเข้ามาเกี่ยวพันของกลไกของนานาชาติ ที่จะปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสนธิสัญญาเรื่องสิทธิของประชาชนในทางการเมือง The International Covenant on Civil and Political Rights and its Optional Protocols
- ปฏิบัติโดยความศรัทธาต่อสัญญาที่พม่าให้ไว้ต่อองค์การสหประชาชาติในมาตราที่ 55 และ 56 ของกฏบัตร ที่จะยอมรับการเข้าร่วมในการปฏิบัติภารกิจกับองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล ให้มีการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน โดยไม่มีการแบ่งแยกชาติพันธุ์ เพศ ภาษา หรือศาสนา
- ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่า จะมีการเร่งฟื้นฟูและสร้างรัฐบาลที่มีหลักนิติธรรมและมาจากพลเรือนในพม่า
แม้ว่าข้อเสนอแนะนี้น่าชมเชย และเป็นสิ่งที่พม่าน่าจะต้องการเพื่อการพัฒนาในสังคมที่เปิดกว้าง ทันสมัย และรุ่งเรือง แต่ดูจะไม่มีข้อไหนสามารถจะปฏิบัติให้สำเร็จได้เลย ตราบใดที่พม่ายังถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหาร และตราบเท่าที่ ASEAN และจีนยังหนุนหลังรัฐบาลทหารอยู่. ในอีกด้านหนึ่ง พรรค NLD และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยถูกทำให้ทุพพลภาพด้วยข้อจำกัดที่เข้มงวด มีการจับกุมและคุมขังอย่างยาวนาน เพื่อควบคุมผู้นำของฝ่ายตรงข้ามและนักเคลื่อนไหว
การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในพม่าก็ต่อเมื่อ
องค์ประกอบในกองทัพตัดสินใจที่จะแตกหักกับนโยบายของกลุ่มที่ปกครอง ซึ่งหมายถึงแทบจะหลีกเลี่ยงการนองเลือดไม่ได้
บางทีอาจเป็นสงครามกลางเมืองเพื่อต่อต้านกับกลุ่มอำนาจเดิมที่แข็งกร้าว. ณ ขณะนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรบ่งว่ามีการแตกแยกเกิดขึ้นในกองทัพ.
ในอีกหลายปีข้างหน้า พม่าก็ยังคงจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ออกจะสิ้นหวัง และถูกปกครองโดยรัฐทหารที่มีการเปิดเผย
โปร่งใส และตรวจสอบได้น้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
หนังสืออ้างอิง และแนะนำอ่านเพิ่มเติม
Allot, Anna J. 1995. Inked Over, Ripped Out: Burmese Storytellers and the Censors. Chiang Mai: Silkworm Books.
Fink, Christina. 2001. Living Silence: Burma Under Military Rule. Bangkok: White Lotus, Dhaka: University Press, London and New York: Zed Books.
Lintner, Bertil.1985. Proud past, sad present/News in the air/ The underground press/Easy but frustrating. Far Eastern Economic Review, March 28.
Lintner, Bertil. 1990. Outrage: Burma's Struggle for Democracy. London and Bangkok: White Lotus.
Maung Muang Gyi. 1983. Burmese Political Values: The Socio-Political Roots of Authoritarianism. New York: Praeger.
Mya Maung. 1992 Totalitarianism in Burma: Prospects for Economic Development. New York: Paragon House.
Smith, Marting. 1991. State of Fear: Censorship in Burma. Country Report. London: Article 19.
Thant Myint-U. 2001. The Making of Modern Burma. Cambridge: Cambridge University press.U Thaung. 1995. A Journalist, a General and an Army in Burma. Bangkok: White Lotus.
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88