บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Human
Right
Midnight
University
รายงานสรุปสถานการณ์ประจำปี
๒๕๕๐ เกี่ยวกับคนข้ามชาติ
การละเมิดสิทธิมนุษยชนคนข้ามชาติจากประเทศพม่า
ในประเทศไทย (๒)
นายอดิศร
เกิดมงคล International Rescue Committee (IRC)
นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี(Burma Issues)
นางสาวสุชาดา สายหยุด มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี(Burma Issues)
นายเสถียร ทันพรม ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (CAR)
ในนามของ
Action Network for Migrants (Thailand) - ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๐
บทความวิชาการต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อ
เพื่อบริบทสิทธิมนุษยชนของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
รายงานสรุปฉบับนี้ ได้รับมาจาก
Peaceway Foundation
ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับรายงานสรุปสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนคนข้ามชาติ
ในประเทศไทย โดยมีหัวข้อสำคัญจากรายงานดังต่อไปนี้
๑. ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและผู้ลี้ภัย
๒. แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม
๓. กลไกที่เอื้อต่อการทำงาน แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
๔. ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย
(รายละเอียดเกี่ยวกับหัวข้อย่อย กรุณาดูจากตัวบทความ)
เนื่องจากเนื้อหาบทความชิ้นนี้ค่อนข้างยาว
จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอนดังนี้
การละเมิดสิทธิมนุษยชนคนข้ามชาติจากประเทศพม่า ในประเทศไทย ตอนที่ ๑
การละเมิดสิทธิมนุษยชนคนข้ามชาติจากประเทศพม่า ในประเทศไทย ตอนที่ ๒
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๓๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๖ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายงานสรุปสถานการณ์ประจำปี
๒๕๕๐ เกี่ยวกับคนข้ามชาติ
การละเมิดสิทธิมนุษยชนคนข้ามชาติจากประเทศพม่า
ในประเทศไทย (๒)
นายอดิศร
เกิดมงคล International Rescue Committee (IRC)
นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี(Burma Issues)
นางสาวสุชาดา สายหยุด มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี(Burma Issues)
นายเสถียร ทันพรม ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (CAR)
ในนามของ
Action Network for Migrants (Thailand) - ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๐
การคุกคามเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและสันติของพระสงฆ์และประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่สอด
จังหวัดตาก
สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลทหารพม่าได้ใช้กำลังความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม จับกุมและประหัตประหารพระสงฆ์และประชาชนตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม
2550 ทำให้มีประชาชนจากพม่าที่อยู่ในประเทศไทยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการใช้กำลังและความรุนแรงดังกล่าว
แต่กลับพบว่าในวันที่ 30 กันยายน 2550 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่
17 ได้เข้ามายึดป้ายที่เขียนโจมตีรัฐบาลพม่าจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชนจากพม่าประมาณ
100 คน ที่รวมตัวกันบริเวณหน้าสำนักงานองค์กรข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ (UNHCR)
ถนนสายแม่สอด-แม่ตาว และไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมอีกต่อไป
เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายให้ชาวต่างชาติใช้เป็นฐานสำหรับการเคลื่อนไหวหรือการแสดงออกถึงการต่อต้านทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การชุมนุมอย่างสันติถือว่าเป็นเสรีภาพของการแสดงออกที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ฉบับ 2540 จนถึงฉบับปัจจุบัน รวมถึงยังเป็นการแสดงออกเพื่อต้องการให้เกิดสันติสุขและความสมานฉันท์ และส่งเสริมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศพม่า
การดำเนินนโยบายจัดการแรงานข้ามชาติที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การมุ่งเน้นไปที่การจัดการภายใต้กรอบแนวคิดความมั่นคงแห่งรัฐแบบสุดโต่งเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ปัญหาที่ดำรงอยู่ดีขึ้น การจัดการภายใต้วิธีคิดที่เน้นความมั่นคงเป็นหลัก ยิ่งจะสร้างให้เกิดสังคมแห่งความหวาดกลัวทั้งต่อตัวแรงงานข้ามชาติและชุมชนที่อยู่ร่วมกับแรงงาน ส่งผลต่อแนวทางการควบคุมโรคติดต่อ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติไม่กล้าที่จะปรากฎตัวเพื่อออกมารับบริการสุขภาพ และการป้องกันโรคติดต่อ ส่งผลต่อการจ้างแรงงานข้ามชาติและการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เพราะทำให้เกิดกระบวนการลักลอบการจ้างงานที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ รวมถึงยังส่งผลต่อการบริหารราชการในระดับพื้นที่ ที่จะเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนมากยิ่งขึ้น และในที่สุดแล้ว ความหวาดระแวงระหว่างแรงงานข้ามชาติและชุมชนไทยจะนำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่ และลุกลามจนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงทางสังคมติดตามมา
การเชื่อมโยงกลุ่มโรฮิงญา
ต่อการเกี่ยวพันกับการก่อการร้ายในภาคใต้
ในรอบปี 2550 มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติชาวโรฮิงญาว่า เกี่ยวพันกับการก่อการร้ายในภาคใต้
เช่น
- ทหารชี้ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาน่ากลัวหวั่นเป็นแนวร่วม 3 จังหวัดใต้ (ผู้จัดการ วันที่ 13/01/2550)
- ที่ปรึกษานายกฯ สั่งจับตามุสลิมโรฮิงญา หวั่นเข้าร่วมกับแนวร่วมใต้ (ผู้จัดการ วันที่ 24/06/2550)
- ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเตรียมนำปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา ในอำเภอแม่สอด เข้าหารือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 20/07/2550)
- โรฮิงญา มหันตภัยแห่งมนุษย์ไร้อนาคต (คมชัดลึก 06/08/2550)
- จับตาชนกลุ่มน้อย "อารกัน" อดีตนักรบรับจ้างทะลักไทย (คมชัดลึก 09/11/2550)
โดยกล่าวว่ากลุ่มโรฮิงญาเกี่ยวข้องกับมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยอมทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดของตัว โดยส่วนหนึ่งมีการติดต่อกับกลุ่มมุสลิมเคร่งจารีต ซึ่งชักพาลงไปทำอะไรลึกลับบริเวญรอยต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงโรฮิงญาคือ กลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนฝั่งพม่าที่พูดภาษาจิตตะกอง-เบงกาลี และนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธสถานภาพพลเมืองของชาวโรฮิงญา ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศอื่นเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า
จากข้อมูลของนายอดิศักดิ์ อัสมิมานะ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดตาก ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า "โรฮิงญา ไม่ใช่นักรบ ไม่ได้เป็นทหารอะไรอย่างที่เป็นข่าว แต่ละคนมีสภาพผอมโซ ซึ่งเป็นราษฎรพม่าที่ไม่มีงานทำ และต้องการหนีไปขายแรงงาน จึงตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่ายางแห่งหนึ่งของ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส, มีชาวโรฮิงญาร่วม 100 คน อาศัยอยู่จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ อยากให้องค์กรมุสลิมโลกให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ในฐานะที่เป็นมุสลิมที่ตกทุกข์ได้ยาก และปัญหานี้น่าจะให้มีการพูดคุยกันระหว่างประเทศ"
พรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
ขณะเดียวกันในระดับประเทศ การดำเนินการทางการเมืองที่มีการพยายามผลักดัน พรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
ประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติก็กลายเป็นข้ออ้างหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสนับสนุนให้เกิดการออกกฎหมายฉบับดังกล่าว
ดังเช่นที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน กล่าวเมื่อครั้งเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมกำลังพล
(ระดับสูง) ฝ่ายทหารของ กอ.รมน.จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 18-20 เมษายน
2550 ว่า "ภัยต่อความมั่นคง 6 ประการ คือ
1. การแก้ปัญหายาเสพติด
2. ปัญหาแรงงานต่างด้าว
3. การก่อการร้ายในแต่ละจังหวัด
4. ปัญหาเส้นเขตแดนต่างๆ ที่อยู่รอบประเทศ
5. ภัยธรรมชาติ คือ ภัยแล้งและน้ำท่วม"(10)10
หรือในการพบปะพูดคุยกับหัวหน้าส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่หอประชุม ติณสูลานนท์ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2550 ว่า "เหตุการณ์ที่น่าพึงระวัง 3 เหตุการณ์ คือ ปัญหาการระบาดของยาเสพติด, แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าประเทศ, และภัยทางธรรมชาติ ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ ประชาชนทุกคน ต้องตระหนักร่วมมือกันตรวจสอบดูแลบ้านเมือง ลำพังให้ข้าราชการแก้ปัญหาฝ่ายเดียวนั้นไม่ได้"
และในวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 ว่า "ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขของคณะกรรมการกฤษฎีกา แม้ร่างดังกล่าวจะมอบอำนาจสูงสุดให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในหรือ ผอ.รมน. แต่หาก ผอ.รมน.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งปลดได้ โดย ผอ.รมน.ถือเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบาย ทั้งนี้ยังคงย้ำด้วยว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้เป็นการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ทหาร แต่จะเป็นการกำหนดกรอบให้ประชาชนเดินไปตามครรลองโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ ภัยจากยาเสพติด คนต่างด้าว ความยากจน ภัยพิบัติธรรมชาติ การก่อการร้าย และความแตกแยกทางความคิด ความไม่สามัคคีในสังคม เป็นภัยที่ทางกองทัพกำลังเฝ้าระวังอยู่อย่างใกล้ชิด"
หรือกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยังคงประกาศกฎอัยการศึกไว้ในพื้นที่ 31 จังหวัด เนื่องจากเห็นว่าบางพื้นที่ซึ่งติดกับแนวชายแดน จะมีปัญหาในด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการลักลอบค้าของเถื่อน การหลบหนีเข้าเมือง แรงงานต่างด้าวและยาเสพติด. การหยิบยกเอาประเด็นแรงงานข้ามชาติมาสร้างวาระทางการเมืองเช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดการตอกย้ำประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติ ให้มุ่งไปสู่แนวทางที่ต้องเน้นการควบคุมมากขึ้น ซึ่งดูจะสวนทางกับแนวทางการพยายามแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติในแบบองค์รวมที่ผ่านมา อีกทั้งยังตอกย้ำให้สังคมไทยมีทัศนคติหรือมุมมองที่เป็นลบต่อสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ มากกว่าการทำความเข้าใจอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคโลกาภิวัฒน์
2.2 กลไกการคุ้มครองสิทธิที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงของแรงงานข้ามชาติ
การเข้าไม่ถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิ
ในช่วงปีที่ผ่านมา เรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติพบว่า แรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงานหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน
ยังไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิของตนเองได้ตามกฎหมายอย่างเต็มที่ ทั้งๆที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น
ได้ให้การคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบหรือการละเมิดสิทธิแรงงาน
นอกจากนั้นยังพบว่า งานบางประเภทที่แรงงานข้ามชาติทำงานยังไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร
เช่น งานรับใช้ในบ้าน, เกษตรกรรม, ประมงทะเล, ทั้งๆ ที่งานเหล่านี้บางประเภทเป็นงานที่หนักและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอยู่สูง
ดังกรณีตัวอย่าง
กรณีที่ 1: การเสียชีวิตของลูกเรือประมงประภาสนาวี
นอกน่านน้ำทะเลไทย
สืบเนื่องจากที่มีแรงงานไทยและแรงงานจากพม่าออกเรือหาปลาที่ประเทศอินโดนีเซีย
กับเรือประมงนอกน่านน้ำประภาสนาวีลำที่ 1-6 กว่า 110 ชีวิต นับแต่เดือนกรกฎาคม
2546 เป็นต้นมา จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2549 โดยกลุ่มเรือประมงประภาสนาวีลำที่
1-6 ประสบกับปัญหาการต่อใบอนุญาตหาปลาไม่ได้ จึงกลับมายังประเทศไทย โดยใช้ระยะเวลานับแต่วันที่เรือจอดทิ้งสมอที่เกาะวานัม
ประเทศอินโดนีเชีย นับเป็นระยะเวลาถึงเกือบ 3 เดือน. ในช่วงเวลานั้นกลุ่มลูกเรือขาดสารอาหาร
ทำให้เจ็บป่วย มีอาการตัวบวม อาเจียน เสียการทรงตัว ตาแดง จนมีลูกเรือเสียชีวิตที่ประเทศอินโดนีเซียนำศพไปฝังบนเกาะวานัม
ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 2 ศพ และระหว่างการเดินทางกลับประเทศไทยมีลูกเรือประภาสนาวีลำที่
1-6 เสียชีวิตอีก 37 คน เมื่อกลับถึงจังหวัดสมุทรสาคร นายจ้างไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้างหรือค่าชดเชยแก่ลูกเรือทั้งหมดแต่อย่างใด
ในกลุ่มผู้ที่เสียชีวิตนั้นมีทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า เชื้อชาติพม่า,มอญ,กะเหรี่ยง, ทวาย และที่เป็นแรงงานไทยที่มาจากภาคเหนือและภาคอีสาน บางคนก่อนขึ้นเรือถูกบริษัทจัดหางานกักขังอยู่นับสิบวัน และคุมตัวขึ้นเรือที่จังหวัดสมุทรสาครไปทำงานต่างแดน ซึ่งต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก กรณีดังกล่าวทำให้ลูกเรือประภาสนาวีลำที่ 1-6 จำนวน 61 คน ประกอบด้วยแรงงานไทย 17 คน แรงงานข้ามชาติ จำนวน 44 คน เข้ายื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง สมุทรสาคร เรียกเงินค่าจ้างและค่าเสียหายจากนายจ้างตามกฎหมายแรงงานและความรับผิดทางละเมิดหลายประเด็น
อาทิเช่น ค่าจ้างค้างจ่ายเงินเพิ่มจากการจงใจไม่ชำระค่าจ้าง, เงินโบนัสหรือเงินเปอร์เซ็นต์จากการขายปลา, ค่าทำงานในวันหยุด, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า, ค่าชดเชยจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม, ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม, ค่าสินไหมจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อเกิดความเสียหายทั้งร่างกาย จิตใจและอนามัย และค่าเสียหายอื่นๆ รวมเป็นเงินที่ลูกเรือทั้งหมดเรียกร้องกับนายจ้างจำนวนทั้งสิ้น 15,894,610 ล้านบาท โดยศาลแรงงานกลาง (สมุทรสาคร) มีนัดแรก วันที่ 26 มีนาคม 2550 ปัจจุบันคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล
ต่อกรณีการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในเรื่องประมงทะเลนอกน่านน้ำนั้นพบว่า กระทรวงแรงงานได้มีออกกฎกระทรวงฉบับที่ 10 (พ.ศ.2541) ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งออกมาเพื่อกำหนดแนวทางการให้ความคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในเรือประมงทะเล แต่กฎกระทรวงดังกล่าวกลับไม่บังคับใช้แก่เรือประมงที่อยู่นอกราชอาณาจักรติดต่อกันตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป นั่นเท่ากับว่าแรงงานที่ทำงานในเรือประมงนอกน่านน้ำ ที่ออกนอกน่านน้ำไปเกินหนึ่งปีจะไม่ได้รับการคุ้มครองตาม พรบ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช่หรือไม่? หากใช่ก็เท่ากับว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมากจะไม่ได้รับการคุ้มครอง เนื่องจากปัจจุบันเรือประมงนอกน่านน้ำจำนวนไม่น้อย ที่ออกนอกน่านน้ำไทยเกินหนึ่งปี ซึ่งจะยิ่งกลายเป็นการผลักดันให้แรงงานข้ามชาติที่มีความเสี่ยงในการทำงาน ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมากขึ้น
กรณีที่ 2: แรงงานข้ามชาติถูกหลอกลวง
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 เจ้าหน้าที่เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานได้พบนางจี
ในชุมชนแรงงานแห่งหนึ่ง จ.สมุทรสาคร ขณะถูกนายหน้าทวงหนี้และเตรียมนำตัวไปเป็นตัวประกันใช้หนี้
พร้อมขู่ว่าจะนำหลานชายวัย 5 ขวบ ไปเป็นตัวประกันด้วย. นางจีเล่าว่า ตอนอยู่ฝั่งพม่า
มีนายหน้าไปชวนนายทอน ลูกชายไปทำงานบนเรือประมง จึงชวนน้อง 3 คน พร้อมเพื่อนบ้านไปทำงาน
โดยลงเรือตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 ชีวิตบนเรือต้องเจอกับไต้ก๋งที่โหดร้าย จนกระทั่งลูกเรือทนไม่ไหว
จึงพร้อมใจกันกระโดดน้ำหนีขึ้นฝั่ง นางจีต้องรับผิดชอบเงินค่านายหน้าทั้งหมด
63,000 บาท แทนลูกเรือที่หนีไป นางจีต้องจ่ายหนี้สินมากมายมาเป็นปี และยังไม่ได้พบลูกชาย
กรณีที่ 3: แรงงานหญิงชาวพม่าถูกข่มขืน
และฆ่าที่จังหวัดสมุทรสาคร
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2550 มีรายงานข่าวจากสำนักข่าว Irrawaddy ว่า นางเฮมาอู
แรงงานหญิงชาวพม่าอายุ 19 ปี ถูกฆ่าตายในห้องพักของเธอ โดยพบบาดแผลฉกรรจ์จากการถูกแทงด้วยกรรไกร
18 แห่ง ขณะที่เพื่อนบ้านได้ยินเสียงนางเฮมาอูร้องเสียงดังในห้องพักของเธอ และพยายามเข้าไปช่วย
ทันใดนั้นมีชายไทยวิ่งออกมาจากห้องของนางเฮมาอู พร้อมกับบอกชาวบ้านแถวนั้นว่าไม่ได้ทำอะไรนางเฮมาอู
แล้วจึงขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างหนีไป หลังจากนั้นเพื่อนบ้านได้เข้าไปในห้องพักของนาง
พบนางนอนจมกองเลือดอยู่จึงได้นำส่งโรงพยาบาล แต่นางทนเจ็บจากพิษบาดแผลไม่ไหว
จึงเสียชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร. ด้าน พ.ต.ท.ชัยพัฒน์ เจริญวัย
สารวัตรเวร สภอ. เมืองสมุทรสาคร กล่าวว่า จากการตรวจสอบร่างกายของผู้เสียชีวิต
พบบาดแผลจากการถูกแทงและมีร่องรอยการถูกข่มขืนจริง
การเข้าไม่ถึงกองทุนเงินทดแทน
ปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำงานได้ชั่วคราวต้องเผชิญ
คือ การที่ยังไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้โดยตรง ทำให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานต้องรอรับเงินทดแทนที่ตนเองจะต้องได้รับผ่านทางนายจ้างเพียงเท่านั้น
ซึ่งเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบไปอยู่ที่การต่อรองระหว่างลูกจ้าง ซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อยกับนายจ้าง
ย่อมทำให้โอกาสที่แรงงานจะได้รับเงินทดแทนตามความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก
ซึ่งขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ต้องการสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้แก่แรงงาน
ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเองได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาของการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และการสูญเสียทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ใช้แรงงาน จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 อันจะเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย ได้มั่นใจว่าตนเองจะได้รับการคุ้มครองหรือมีหลักประกัน หลังจากเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ และเมื่อลูกจ้างเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ก็สามารถขอรับเงินทดแทนจากกองทุนนี้ได้ (มาตรา 50 พรบ. เงินทดแทน) และยังให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลรักษาพยาบาลลูกจ้างที่เจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานด้วย (มาตรา 13 พรบ. เงินทดแทน)
แม้ในกฎหมายดังกล่าวจะให้นายจ้างเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อความสูญเสียของแรงงานที่ประสบอุบัติเหตุ แต่รัฐไทยก็ตระหนักดีว่า สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะก่อให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง หรือลูกจ้างอาจจะไม่ได้รับค่าชดเชยเหล่านี้จากนายจ้างได้ กองทุนเงินทดแทนจึงเป็นกลไกสำคัญในเรื่องนี้. ประเด็นสำคัญที่ควรกล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่ง คือ กฎหมายฉบับนี้ระบุถึงคำนิยามของคำว่า "ลูกจ้าง" ที่ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า "หมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรแต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน อันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย" ดังนั้นเห็นได้ชัดเจนว่า กฎหมายนี้คุ้มครองแรงงานทุกคน ไม่จำกัดเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ วัย สีผิว ศาสนา
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ท้ายที่สุดแล้ว กลไกที่จะช่วยในการคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติสูงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น กลับไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ หลังจากที่สำนักงานประกันสังคม (ซึ่งเลขาธิการกองทุนประกันสังคม เป็นเลขานุการกองทุนเงินทดแทนโดยตำแหน่ง) ได้มีหนังสือ ที่ รส 0711/ ว 751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 ถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เรื่องการให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการให้ความคุ้มครองแก่แรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน โดยในข้อ 2 ของแนวปฏิบัติได้ระบุถึงหลักฐานที่แรงงานต่างด้าวจะมีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน โดยต้องมีหลักฐานดังนี้
1. มีการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตให้ทำงาน (Work Permit) ที่ทางราชการออกให้ มาแสดงประกอบกับหนังสือเดินทาง (Passport) หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
2. นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียน ต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย และ
3 กรณีที่แรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้าง แต่ไม่มีหลักฐานตามข้อ 2 มาแสดง นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน
หากดูตามแนวปฎิบัติดังกล่าว และมองย้อนมาดูสถานการณ์ในความเป็นจริงต่อกรณีแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการประสบอันตรายจากการทำงานสูง ดังเช่นกลุ่มที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ จะพบว่า แรงงานเหล่านั้นย่อมไม่สามารถแสดงหลักฐานตามที่กล่าวมาแล้วอย่างแน่นอน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีศึกษาเรื่องของนางหนุ่ม ลูกจ้างในกิจการก่อสร้างแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานถูกแบบเทปูนตกลงมาทับกระดูกสันหลังแตก ทำให้ไม่สามารถเดินและทำงานต่อได้ (11)11กรณีนี้สำนักงานกองทุนประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ชม 00256/4507 ถึงประธานอนุกรรมการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริง ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ซึ่งในหนังสือชี้แจงฉบับนี้ตอนหนึ่งระบุว่า "เนื่องจากนางหนุ่ม เป็นแรงงานต่างด้าวชาวพม่า มีใบอนุญาตทำงานตามบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเลขที่ 00 xxxx xxxxxx x จากกรมการจัดหางาน และไม่มีหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว จึงเป็นกรณีที่นางหนุ่ม ไม่สามารถรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้ พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ จึงออกคำสั่งที่ 2/2550 ให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่นางหนุ่ม"
จากกรณีนี้เห็นได้ชัดว่า นางหนุ่มควรจะได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน แต่เนื่องจากนางหนุ่มไม่มีหลักฐานดังที่กล่าวถึง ในแนวปฏิบัติดังกล่าว นางหนุ่มเลยต้องรอรับเงินทดแทนจากนายจ้างแทน. หากพิจารณาตรงนี้แล้ว จะพบว่านางหนุ่มมีเอกสารแสดงตัว ซึ่งออกให้โดยกรมการปกครอง คือแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ หรือ ทร. 38/1 (ซึ่งไม่ใช่ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตามแนวปฏิบัติของสำนักงานประกันสังคม) และใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน ซึ่งเอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารแสดงตัวตนของแรงงานข้ามชาติ และเป็นเอกสารที่ยืนยันว่า แรงงานข้ามชาติทำงานกับนายจ้างตามที่ระบุในบัตร ซึ่งสามารถยืนยันตัวบุคคลได้เช่นเดียวกับหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
การออกแนวปฏิบัติเช่นนี้ เท่ากับทำให้เกิดความไม่มั่นคง/ไม่มีหลักประกันต่อชีวิตของแรงงานข้ามชาติ ว่าตนเองจะได้รับการคุ้มครองเมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วนายจ้างคือ ผู้ที่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้กับลูกจ้าง ดังเช่นกรณีของนางหนุ่ม แนวปฏิบัติดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีกลไกการต่อรอง ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองได้ง่ายนัก รวมถึงการเผชิญหน้ากับนายจ้างโดยตรง ยังส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะไม่สามารถได้รับความคุ้มครองเพิ่มมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เองจึงส่งผลให้นายจ้างจำนวนหนึ่ง ใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะไม่ส่งเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เนื่องจากตนเองสามารถใช้อำนาจหรือความได้เปรียบที่มีมากกว่าตัวแรงงาน เข้ามาต่อรอง/เจรจากับตัวแรงงานโดยตรงหลังประสบอุบัติเหตุ
กรณีศึกษาเพิ่มเติม
กรณีที่แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้ นอกจากต้องแสดงหลักฐานต่างๆ
ตามข้อมูลข้างต้นก่อนหน้านี้แล้ว และแรงงานไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ใครคือนายจ้างที่แท้จริงเหมือนเช่นกรณีนางหนุ่ม
มีให้เห็นเป็นระยะๆ ดังเช่นกรณีของนายหยอด แรงงานข้ามชาติที่ทำงานก่อสร้างในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง
ที่จังหวัดระยอง ประสบอุบัติเหตุไฟฟ้าชอร์ทเนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง ถึงขั้นต้องตัดแขนขวา
เพื่อรักษาเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของแขนไว้. นายหยอดเข้าใจมาเสมอว่าเพื่อนที่ทำงานด้วยกันนั้นคือนายจ้าง
เพราะเพื่อนจะเป็นคนไปรับค่าจ้างมาให้ เมื่อถึงคราวที่มีการจ่ายเงิน. นายหยอดไม่เคยรู้เลยว่าใครคือนายจ้างที่แท้จริงของตนเอง
ไม่เคยรู้หน้า ไม่เคยรู้ชื่อ ยิ่งกว่านั้นเมื่อนายหยอดประสบอุบัติเหตุ นายจ้างไม่เคยเลยแม้สักครั้งที่จะไปเยี่ยมดูอาการ
มีแต่เพื่อนในที่ทำงานเท่านั้นที่พาไปที่โรงพยาบาล และคอยติดตามเฝ้าดูอาการ
เมื่อทบทวนสายพานการผลิตแล้ว ในงานก่อสร้างจะมีการแบ่งงานกันทำเป็นส่วนๆ ที่ชัดเจน เช่น งานปูนก็จะมีผู้รับเหมางานปูนและมีลูกจ้างเป็นของตัวเอง งานไม้ก็จะมีผู้รับเหมางานไม้และมีลูกจ้างเป็นของตัว และงานอื่นๆ ก็จะมีลักษณะเดียวกัน ซึ่งลักษณะงานเช่นนี้ก็จะมีการจ้างงานกันเป็นช่วงๆ ส่งผลให้แรงงานไม่รู้ว่านายจ้างที่แท้จริงคือใคร เมื่อมีอันตรายหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ทำให้แรงงานไม่สามารถการเข้าถึงการคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยจากการทำงานได้
กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานใช้ระยะเวลายาวนาน
การดำเนินการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติตามกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน มักจะใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน
บางกรณีใช้ระยะเวลายาวนานเกือบสองปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการจ้างแรงงานข้ามชาติที่มีระยะเวลาในการอนุญาตทำงานเพียงปีต่อปีเท่านั้น
รวมทั้งยังง่ายต่อการถูกเลิกจ้างและผลักดันกลับประเทศในระยะเวลาอันสั้น. การไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านแรงงานของแรงงานข้ามชาตินั้น
มิได้เกิดผลกระทบต่อตัวแรงงานข้ามชาติเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการคุ้มครองแรงงานทั้งระบบ
เพราะจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่
และยังเป็นทางเลือกของนายจ้างที่จะใช้ช่องว่างเหล่านี้จ้างงานแบบกดขี่ต่อแรงงานข้ามชาติ
แทนที่จะปรับปรุงสภาพการจ้างงานให้เอื้อต่อแรงงานไทยที่จะเข้ามาทำงานด้วย
การที่รัฐไทยไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องเด็กข้ามชาติ
ปัญหาเรื่องเด็กข้ามชาติที่ติดตามครอบครัวมาจากประเทศต้นทาง หรือเกิดจากการที่ครอบครัวมาคลอดบุตรในประเทศไทยนั้น
พบว่าสถานการณ์ปัจจุบันได้มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดถึงเป็นจำนวนมาก
คือ เรื่องการที่เด็กกลุ่มนี้จะกลายเป็นเด็กไร้สัญชาติต่อไปในอนาคต. โดยข้อเท็จจริงแล้วเด็กไร้สัญชาติคาบเกี่ยวกับการที่พ่อแม่ของเด็กเข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย
ประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีความยุ่งยากในการเดินทางออกนอกประเทศเป็นอย่างมาก เพราะโดยปกติแล้ว
คนพม่าไม่สามารถมีหนังสือเดินทางได้ หากชาวพม่าคนใดต้องการเดินทางออกนอกประเทศ
เขาต้องยืมหนังสือเดินทางจากรัฐบาล และเมื่อเดินทางกลับประเทศก็จะต้องคืนหนังสือเดินทางให้กับรัฐบาล.
แรงงานข้ามชาติจากพม่าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มาจากชนบท ดังนั้นจึงยากมากที่เขาจะมีเอกสารการเดินทางได้
เมื่อแรงงานข้ามชาติจากพม่าเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยและให้กำเนิดลูก ลูกๆของพวกเขาก็จะกลายเป็นเด็กไร้สัญชาติโดยทันที
เพราะพ่อแม่เป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายไทย.
สำหรับเด็กๆ ลูกหลานของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เมื่อตกเป็นเด็กไร้สัญชาติโดยสืบเนื่องจากปัญหาในประเทศต้นทาง
วิถีชีวิตของเด็กเหล่านี้จึงต้องเผชิญกับความยากลำบากและขาดการคุ้มครองดูแล
เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่สมุทรสาครคาดการณ์ว่า มีเด็กทั้งหมดประมาณ 5,000 คนที่เดินทางมากับพ่อแม่จากพม่า รวมถึงเกิดในเมืองไทย. ความยากจนทำให้เด็กๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปต้องช่วยพ่อแม่หารายได้เลี้ยงครอบครัว เช่น เด็กต่างชาติในมหาชัยนั้น ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานใน "ล้ง" หรือโรงงานที่ใช้แรงคนเป็นหลักในการปอกเปลือกกุ้ง หอย หรือปลาหมึก. สภาพภายในล้งนั้นไม่ค่อยดีนัก เพราะมีกลิ่นของอาหารทะเลและพื้นก็เจิ่งนองไปด้วยน้ำจากการปอกกุ้งหรือปลาหมึกตลอดเวลา บางครั้งมีการใช้สารเคมีที่อันตรายอย่างคลอรีนในการกัด(ล้าง)ปลาหมึก ซึ่งแรงพอที่จะทำอันตรายต่อดวงตาและผิวหนัง นอกจากนี้สถานที่ตั้งของที่พักอาศัยของเด็กและพ่อแม่ ยังตั้งอยู่ภายในโรงงานด้วย ทำให้เด็กๆ ไม่สามารถหลบเลี่ยงจากการช่วยพ่อแม่ได้
นอกจากสภาพการทำงานอันไม่น่าพึงประสงค์แล้ว แรงงานเด็กเหล่านี้ยังต้องทำงานเกินเวลาอีกด้วย ระยะเวลาในการทำงานนั้นอยู่ที่ 8-14 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมีช่วงหยุดให้รับประทานอาหารกลางวัน. อายุของแรงงานเด็กนี้เป็นสิ่งที่ละเมิดกฎหมาย ในบรรดาเด็กที่ถูกสัมภาษณ์ที่เล็กที่สุดอายุ 8 ขวบ ซึ่งเขาต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ดังนั้นตามกฎหมายแล้ว ตำรวจสามารถจับกุมเจ้าของล้งได้ในข้อหาใช้แรงงานเด็กต่ำกว่า 15 ปีได้ หากแต่สถานการณ์เช่นนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ยังมีรายงานของการทำร้ายร่างกายด้วย
เด็กหญิงชาวมอญอายุ 12 ปีคนหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งเจ้าของล้งสั่งให้เพื่อนของเธอใช้ปากเพื่อวิดน้ำออกจากแท็งใบใหญ่จนหมดเพื่อเป็นการลงโทษที่ทำปลาตัวหนึ่งหาย จากนั้นเพื่อนๆ ของเธอก็โดนหยิกที่หูเพื่อเป็นการสั่งสอนเพิ่ม เด็กๆ เหล่านี้ยังตกเป็นเหยื่อของการถูกเอาเปรียบเช่นกัน เจ้าของโรงงานมักจะบอกให้เด็กๆ มาช่วยให้งานของพ่อแม่เสร็จเร็วขึ้น โดยไม่ได้จ่ายเงินค่าแรงของเด็กๆ เพิ่มเติม ในแง่นี้เจ้าของโรงงานมีแต่ได้เปรียบเพราะงานเสร็จเร็วขึ้นโดยไม่ต้องลงทุน และคนที่ถูกเอาเปรียบคือแรงงานข้ามชาติและลูกๆ ของพวกเขา
๓. กลไกที่เอื้อต่อการทำงาน
แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
อาสาสมัครด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติ
ในประเด็นเรื่องสุขภาพของแรงงานข้ามชาติรวมถึงการป้องกันโรคติดต่อ ที่ผ่านมาทางหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
และองค์กรพัฒนาเอกชนได้ดำเนินการจัดให้มีอาสาสมัครด้านสุขภาพเพื่อช่วยให้ความรู้แก่แรงงานข้ามชาติ
รวมถึงเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ
และในหลายครั้งที่อาสาสมัครเหล่านี้ได้มีส่วนช่วยในการเฝ้าระวัง ติดตาม และป้องกันโรคติดต่อต่างๆ
ที่เกิดขึ้น เนื่องจากอาสาสมัครด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติเหล่านี้สามารถเข้าถึง
และสื่อสารกับแรงงานข้ามชาติได้โดยตรง
อาสาสมัครด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าเป็นกลไกที่ช่วยให้การทำงานเรื่องสุขภาพของแรงงานข้ามชาติดำเนินการไปได้ด้วยดี แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากรัฐ เช่น ยังพบปัญหาว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถจ้างงานได้โดยตรง ต้องผ่านการจ้างงานในลักษณะงานประเภทอื่น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานในช่วงที่ผ่านมา เช่น ต้องจ้างเป็นแม่บ้านแทน จากรายงานข่าวของสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 21 มิถุนายน 2550 รายงานว่า
"กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยการใช้อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวดูแลสุขภาพกันเอง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและควบคุมโรคได้ผลดี โดยจังหวัดสมุทรสาคร มีแรงงานต่างด้าวกว่า 1 แสนคน สามารถติดตามตรวจสุขภาพได้เกือบ 9 หมื่นคน ไม่พบโรคต้องห้ามทำงาน และไม่มีปัญหาเรื่องโรคระบาด"
นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ที่บริษัทณรงค์ซีฟู๊ด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อเช้าวันที่ 21 มิถุนายน 2550 ว่า การอพยพเคลื่อนย้ายของประชากรระหว่างประเทศเพื่อหารายได้ที่มากขึ้น หรือหนีจากสภาวะที่ลำบากยากจนเป็นเรื่องปกติของทุกประเทศ โดยปัจจุบันมีคนราว 191 ล้านคน หรือร้อยละ 3 ของประชากรโลก ที่อพยพไปยังประเทศที่มีความเจริญกว่าทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม. ในส่วนของประเทศไทย ประมาณการณ์ว่ามีแรงงานต่างชาติและผู้ติดตามเข้ามาอยู่กว่า 1 ล้านคน ซึ่งปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับแรงงานต่างด้าวคือ การนำโรคต่างๆ เข้ามาแพร่กระจายในประเทศ ทำให้หลายโรคที่เคยควบคุมได้ กลับมาเป็นปัญหาใหม่อีกครั้ง อาทิ วัณโรค มาลาเรีย เอดส์ เป็นต้น
ด้านนายแพทย์ชัยรัตน์ เวชพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าวกว่า 1 แสนคน จากการตรวจสุขภาพรอบแรกในปี 2549 จำนวน 89,384 คน แยกเป็นพม่า 85,995 คน ลาว 2,804 และกัมพูชา 585 คน พบโรคที่ต้องติดตามรักษา ซึ่งมี 6 โรค ได้แก่ วัณโรค, เท้าช้าง, โรคเรื้อน, ซิฟิลิส, มาลาเรีย, และพยาธิสำไส้ 720 คน, และมีการตั้งครรภ์ 1,227 คน, โดยไม่พบแรงงานเป็นโรคที่ต้องห้ามมิให้ทำงาน ได้แก่ วัณโรคระยะติดต่อ, โรคเรื้อนระยะปรากฏอาการ, โรคเท้าช้างระยะปรากฏอาการ, โรคซิฟิลิสระยะที่ 4, และติดยาเสพติด. และจากการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ถึง 31 ธันวาคม 2549 พบแรงงานต่างด้าวป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมากที่สุด 274 ราย, รองลงมาเป็นไข้หวัดใหญ่ 178 ราย, วัณโรค 129 ราย, ตาแดง 113 ราย, และมาลาเรีย 111 ราย
ทั้งนี้ในการจัดระบบดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าว ได้เน้นการมีส่วนร่วมของเจ้าของสถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวในชุมชน โดยจัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เพื่อเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยแยกเป็น อสต.ในสถานประกอบการ 455 คน ในชุมชน 68 คน และแกนนำครอบครัว ดูแลสุขภาพคนในครอบครัวและเพื่อนบ้านรอบๆ อีก 40 คน สำหรับโรงงานณรงค์ซีฟู๊ด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารและส่งออก มี อสต.ทั้งหมด 30 คน
อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.)จะเป็นผู้ดูแลสุขภาพเบื้องต้นในชุมชนต่างด้าว ลดปัญหาเรื่องการสื่อภาษา และสร้างแกนนำสุขภาพครอบครัว เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานในชุมชน จัดทำฐานข้อมูลชุมชนต่างด้าว การควบคุมโรคติดต่อ เช่น ไข้เลือดออก, ไข้หวัดนก, วัณโรค, โรคเท้าช้าง, ให้สุขศึกษาในหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และในสถานประกอบการ และช่วยอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่บริการผู้ป่วยต่างด้าวในโรงพยาบาล
การศึกษาเด็กข้ามชาติ
จากมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ที่กำหนดให้เด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้น
ยังพบว่าในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น สมุทรสาคร เด็กข้ามชาติยังขาดโอกาสการเข้าถึงการศึกษา.
จากรายงานวิจัยเรื่องการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กแรงงานพม่า กรณีศึกษาพื้นที่
แม่สอด, มหาชัย, และคุระบุรี, จัดทำโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า
ระหว่างวันที่ 3 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสภาพปัญหาและปัจจัยต่างๆ
ทั้งที่เอื้อและ / หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
พบว่าถึงแม้รัฐบาลไทยจะออกระเบียบเพื่อเปิดโอกาสให้กับเด็กข้ามชาติ ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย
ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการการศึกษาของรัฐ แต่นโยบายดังกล่าวยังขาดรายละเอียดในการตอบสนองต่อการจัดการศึกษาที่เข้าถึงคนเหล่านั้นในทางปฏิบัติ
สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง มาจากการที่รัฐบาลไทยไม่ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานใดๆ ที่ตั้งขึ้นเฉพาะ เพื่อให้การสนับสนุน และทำงานศึกษาวิจัยในประเด็นเรื่องการจัดการศึกษาของเด็กต่างชาติ รวมทั้งการที่ขาดระบบฐานข้อมูลของเด็กแรงงานข้ามชาติที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่จะนำมาประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ไม่มีการซักซ้อม ทำความเข้าใจ และเตรียมความคิดของผู้บริหาร และครูในโรงเรียนของรัฐ เพื่อให้เข้าใจนโยบาย บทบาท ภารกิจ และเป้าหมายต่างๆ, ไม่มีการพัฒนาหลักสูตร ที่สามารถตอบสนองต่อชุมชนในพื้นที่ต่างๆ, ไม่มีคำแนะนำและส่งเสริมให้จัดทำตำราเรียน และรับสมัครอาสาสมัครครูผู้สอนชาวพม่า เพื่อช่วยให้การเรียนของเด็กในช่วงเริ่มต้นสามารถปรับตัวได้, ไม่มีแนวทางการสื่อสารที่โรงเรียนควรดำเนินการ เพื่อสร้างบรรยากาศความเข้าใจกับชุมชนรอบข้าง. นอกจากนั้นรัฐยังมีทัศนคติไม่ค่อยไว้วางใจต่อโรงเรียนที่จัดการศึกษานอกระบบ และจำเป็นต้องควบคุมด้วยการขึ้นทะเบียนโรงเรียนเหล่านั้นก่อนที่รัฐจะให้การสนับสนุน
รายงานวิจัยยังพบว่า เด็กข้ามชาติจากพม่ามีโอกาสทางการศึกษาเพียงจำนวนเล็กน้อย โดยตัวเลขของกระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ.2549 ระบุว่า มีเด็กแรงงานข้ามชาติพม่าจำนวน 27,308 คนได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาของไทย ส่วนจำนวนเด็กข้ามชาติที่เหลือนั้น รัฐบาลไทยไม่มีข้อมูลว่าเด็กดังกล่าวมีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาแบบใดแบบหนึ่งหรือไม่ แต่จากการเก็บข้อมูลภาคสนาม คณะผู้วิจัยพบว่า การศึกษานอกระบบที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การการกุศล มูลนิธิ องค์การศาสนา องค์การระหว่างประเทศ และองค์การเอกชนด้านการพัฒนา เป็นช่องทางที่มีความสำคัญยิ่งต่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กแรงงานข้ามชาติพม่า
จากการเปรียบเทียบข้อมูลภาคสนามใน 3 พื้นที่นั้น คณะผู้วิจัยพบว่า พื้นที่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่ที่เด็กข้ามชาติ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้มากที่สุด โดยเป็นผลมาจากความช่วยเหลือจากองค์การพัฒนาเอกชนในการจัดตั้งโรงเรียนการศึกษานอกระบบ โดยมีจำนวนถึง 50 แห่ง ที่เปิดเป็นโรงเรียนขนาดต่างๆ ใน 5 อำเภอ รองรับนักเรียนกว่า 5,000 คน. ในขณะที่ตัวเลขจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาของทางราชการไทย ในเขตอำเภอแม่สอดได้อ้างว่า มีเด็กแรงงานข้ามชาติจำนวนถึง 8,000 คน ที่ได้รับการศึกษาจากรัฐ
ขณะที่พื้นที่ในมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาครนั้น กรณีตัวอย่างของการรับเด็กข้ามชาติพม่าจำนวน 150 คน เข้าเรียนในโรงเรียนวัดศิริมงคล ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่โดดเด่นของโรงเรียนของรัฐ ในการเปิดโอกาสให้กับเด็กข้ามชาติจำนวนมาก. ส่วนพื้นที่ในอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา การริเริ่มโรงเรียนเคลื่อนที่(Mobile teaching) เพื่อเข้าถึงเด็กข้ามชาติในพื้นที่ที่อยู่ไกล มีส่วนช่วยให้เด็กดังกล่าวได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น
๔. ข้อเสนอต่อรัฐบาล
จากเวทีสัมมนาเรื่องแรงงานข้ามชาติกับปัญหาที่ต้องแก้ไข วันที่ 5 มิถุนายน 2550
โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติ
และจากข้อห่วงใยต่อการจัดการแรงงานข้ามชาติในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 โดยเครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ
(Migrant Working Group) ได้มีข้อเสนอในเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1. ด้านสุขภาพและสังคม
การอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานและผู้ติดตามจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ปัญหาสาธารณสุขมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
การสื่อภาษาที่แตกต่าง การอยู่อย่างผิดกฎหมาย แม้ถูกกฎหมายก็อาจหวาดกลัวและไม่คุ้นเคย
ส่งผลให้ประชากรข้ามชาติเหล่านี้เข้าไม่ถึงของบริการสุขภาพ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเองก็ไม่สามารถทำงานเชิงรุกเข้าถึง
เพื่อส่งเสริมป้องกันโรคได้ เนื่องจากการทำงานสุขภาพไปเกี่ยวพันกับประเด็นความมั่นคงและการจัดการแรงงาน
ข้อเท็จจริงคือการทำงานป้องกันควบคุมโรคที่บรรลุผล ต้องครอบคลุมทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ การแก้ไขปัญหานี้ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้กลไกการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองหรือ กบร.จึงต้องประสบปัญหาและอาจส่งผลต่อปัญหาสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว ทั้งนี้เพราะ กบร. เน้นเรื่องการจัดการแรงงาน และความมั่นคงเป็นหลัก แต่ขาดกลไกที่จะบริหารจัดการเพื่อป้องกันแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม อันสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายประชากร
รัฐไทยจะต้อง
1. สร้างกระบวนทัศน์ในเชิงความมั่นคงด้านสุขภาพและสังคม ให้คณะกรรมการคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) เห็นความสำคัญของแก้ไขผลกระทบด้านสุขภาพและสังคม ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยการปรับโครงสร้าง กบร. ให้มีการเพิ่มเติมคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขผลกระทบทางสุขภาพและสังคมขึ้นมา
2. ประเด็นเร่งด่วนที่ต้องการตอบสนองคือ การมีพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวที่สื่อภาษาเดียวกันได้ และเข้าถึงชุมชนได้ เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยในการทำงานสุขภาพทั้งเชิงรับและเชิงรุก ที่ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้พิจารณาให้ใช้เงินประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวได้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการจัดจ้าง3. ต้องยกเลิกแนวปฏิบัติที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาล และการป้องกันโรคติดต่อ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ เพราะแนวปฏิบัติเหล่านั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อความมั่นคงของชุมชน
4. ยุติแนวคิดที่จะผลักดันแรงงานหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ เพราะไม่เป็นผลดีทั้งต่อตัวแรงงาน และชุมชนในพื้นที่ รวมถึงยังเป็นการละเมิดสิทธิอนามัยเจริญพันธ์ต่อแรงงานหญิงข้ามชาติอย่างร้ายแรง
2. แนวทางการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ
นโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ จะต้องตระหนักถึงมาตรการการคุ้มครองแรงงานอย่างจริงจัง
และตระหนักถึงข้อจำกัดของแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองที่มีอยู่ได้จริง
จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกขึ้นมา โดยมีแนวทางเบื้องต้นดังนี้
1. ตั้งคณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นองค์กรหลัก และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ องค์กรประชาสังคม องค์กรแรงงาน และองค์กรนายจ้าง นักวิชาการ เข้ามาร่วมทำงานในอนุกรรมการชุดนี้
2. สร้างกลไกที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองทางกฎหมาย เช่น มีล่ามหรืออาสาสมัครที่คอยแปลภาษา หรือให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงานให้แก่แรงงานข้ามชาติ3. แก้ไขระเบียบอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือถูกละเมิดสิทธิ สามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว เพื่อดำเนินการร้องเรียน เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ์ตามกฎหมายแรงงาน ที่แรงงานข้ามชาติมีสิทธิที่จะพึงมีและพึงได้ หรือเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยตามกฎหมาย
4. พิจารณายกเลิกการปิดกั้นสิทธิการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติ เพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานตาม พรบ.แรงงานสัมพันธ์ เพราะกลไกการรวมตัวของแรงงานเป็นกลไกที่สำคัญในการปกป้องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน
5. พิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 10 ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ในเรื่องระยะเวลาการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในเรือประมงทะเล ที่ออกนอกน่านน้ำไทยเลยหนึ่งปีขึ้นไปไม่มีผลบังคับใช้พรบ.คุ้มครองแรงงาน เนื่องจากทำให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในเรือประมงไทยไม่ได้รับการคุ้มครอง
3. แนวนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ
เนื่องจากการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ผ่านมา ยังอยู่ในกรอบแนวคิดเรื่องของการต้องการแรงงานไร้ฝีมือเขามาทดแทนแรงงานที่ขาด
และเน้นการจัดการในเชิงความมั่นคงเท่านั้น ซึ่งทำให้ยังขาดมิติของการจัดการที่มีมุมมองในเรื่องของมิติทางด้านการคุ้มครอง
และยังขาดการมีส่วนร่วมของฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ
ตัวแทนผู้ใช้แรงงาน ภาควิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานข้ามชาติ
จึงมีข้อเสนอว่า
1. นโยบายการจดทะเบียนจะต้องมีความสอดคล้องกับปรากฎการที่เกิดขึ้นจริง ควรจะมีการเปิดโอกาสให้จดทะเบียนได้ตลอดทั้งปี เพื่อสอดรับกับการหมุนเวียนแรงงานตามความต้องการแรงงาน ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวนให้แรงงานข้ามชาติที่เคยมาขึ้นทะเบียน เพื่อขออนุญาตทำงานในช่วงปีที่ผ่านมา และไม่สามารถดำเนินการต่อใบอนุญาตในปีนี้ได้ มีโอกาสได้มาขออนุญาตทำงานอีกครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานที่หลบซ่อนอยู่นอกกระบวนการจ้างงานตามกฎหมาย เพราะในความเป็นจริงแล้วยังมีสาเหตุหลายประการที่แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการขออนุญาติทำงานที่ผ่านมาได้
2. จัดทำแผนแม่บทการจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาว โดยการระดมการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดแนวทางการจัดการในระยะยาว3. จะต้องมีนโยบายต่อเรื่องการคุ้มครองแรงงานที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดผลต่อการคุ้มครองแรงงานอย่างจริงจังในระดับปฏิบัติ
4. พิจารณาทบทวนแนวทางการพิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีแรงงานที่มาจากประเทศพม่า ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปัจจัยทางการเมืองในประเทศต้นทาง ฯลฯ และหามาตรการที่เหมาะสมอย่างแท้จริงต่อไป
5. จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมของแรงงานและฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต่อการกำหนดนโยบายในทุกระดับ โดยจะต้องมีตัวแทนของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแรงงานข้ามชาติในทุกระดับ เพื่อให้นโยบายเกิดมุมมองที่หลากหลายและสอดคล้องกับความเป็นจริง
6. ยกเลิกประกาศจังหวัดเรื่องการจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีประกาศบางข้อที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติอย่างร้ายแรง เช่น การมิให้แรงงานข้ามชาติใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ การห้ามมิให้แรงงานข้ามชาติชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คน หรือการห้ามออกนอกที่พักอาศัยหลัง 20.00 น. ซึ่งประกาศดังกล่าวส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งให้มีการทบทวนประกาศหรือแนวปฏิบัติที่อาจจส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
7. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 เรื่องการผ่อนผันให้ผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งผ่อนผันเพียงบุตรของแรงงานข้ามชาติเท่านั้น ที่สามารถจะได้รับการผ่อนผันให้เป็นผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ ซึ่งขัดแย้งกับภาวะความเป็นครอบครัว และความเป็นจริงของครอบครัวแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งพ่อ แม่ และลูก ซึ่งหากมีการปฏิบัติจริงอาจจะมีการส่งผลให้เกิดการพรากครอบครัวของแรงงานข้ามชาติได้ และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องการจัดตั้งครอบครัวอย่างร้ายแรง
8. การส่งแรงงานข้ามชาติกลับไม่ว่าหญิงหรือชาย จะต้องคำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่าในกลุ่มแรงงานเหล่านี้มีผู้ลี้ภัยที่หลบหนีจากการประหัตประหารอยู่ด้วย และการส่งบุคคลดังกล่าวกลับไปสู่อันตราย เป็นการขัดต่อกฎจารีตระหว่างประเทศ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
9. รัฐจะต้องมีแนวนโยบายเรื่องแรงงานข้ามชาติในมิติที่รอบด้านและสอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเน้นในเรื่องการคุ้มครองและเคารพในสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับนโยบายด้านอื่นๆ ยกระดับนโยบายแรงงานข้ามชาติไปสู่นโยบายคนข้ามชาติที่มีมุมมองและมิติที่ลึกซึ้ง สอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าแค่การมองเฉพาะเพียงเรื่องของการเป็นแรงงานเท่านั้น และสุดท้าย รัฐจะต้องยอมรับในข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยยังต้องการแรงงานข้ามชาติที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย ฉะนั้นจำเป็นที่รัฐจะต้องมองการจัดการที่เกี่ยวโยงกับบริบทประเทศไทย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอาเซียนและประชาคมโลกร่วมด้วย
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกกลับไปทบทวนรายงานสรุป ตอนที่ ๑
เชิงอรรถ
(10) มติชน วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2550
(11) หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10819
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88