บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Human
Right
Midnight
University
รายงานสรุปสถานการณ์ประจำปี
๒๕๕๐ เกี่ยวกับคนข้ามชาติ
การละเมิดสิทธิมนุษยชนคนข้ามชาติจากประเทศพม่า
ในประเทศไทย (๑)
นายอดิศร
เกิดมงคล International Rescue Committee (IRC)
นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี(Burma Issues)
นางสาวสุชาดา สายหยุด มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี(Burma Issues)
นายเสถียร ทันพรม ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (CAR)
ในนามของ
Action Network for Migrants (Thailand) - ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๐
บทความวิชาการต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อ
เพื่อบริบทสิทธิมนุษยชนของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
รายงานสรุปฉบับนี้ ได้รับมาจาก
Peaceway Foundation
ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับรายงานสรุปสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนคนข้ามชาติ
ในประเทศไทย โดยมีหัวข้อสำคัญจากรายงานดังต่อไปนี้
๑. ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและผู้ลี้ภัย
๒. แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม
๓. กลไกที่เอื้อต่อการทำงาน แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
๔. ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย
(รายละเอียดเกี่ยวกับหัวข้อย่อย กรุณาดูจากตัวบทความ)
เนื่องจากเนื้อหาบทความชิ้นนี้ค่อนข้างยาว
จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอนดังนี้
การละเมิดสิทธิมนุษยชนคนข้ามชาติจากประเทศพม่า ในประเทศไทย ตอนที่ ๑
การละเมิดสิทธิมนุษยชนคนข้ามชาติจากประเทศพม่า ในประเทศไทย ตอนที่ ๒
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๓๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายงานสรุปสถานการณ์ประจำปี
๒๕๕๐ เกี่ยวกับคนข้ามชาติ
การละเมิดสิทธิมนุษยชนคนข้ามชาติจากประเทศพม่า
ในประเทศไทย (๑)
นายอดิศร
เกิดมงคล International Rescue Committee (IRC)
นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี(Burma Issues)
นางสาวสุชาดา สายหยุด มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี(Burma Issues)
นายเสถียร ทันพรม ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (CAR)
ในนามของ
Action Network for Migrants (Thailand) - ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๐
หัวข้อสำคัญในรายงานสรุป
1. ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและผู้ลี้ภัย
1.1 การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ประเทศพม่า: ต้นทางของการโยกย้าย ถิ่นฐานมายังประเทศไทย
1.2 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย: หนีเสือปะจระเข้
1.3 ข้อเสนอต่อรัฐบาล
2. แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม
2.1 จากแนวนโยบายความมั่นคงระดับชาติสู่ความมั่นคงในระดับจังหวัด
2.2 กลไกการคุ้มครองสิทธิที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงของแรงงานข้ามชาติ
3. กลไกที่เอื้อต่อการทำงาน แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
4. ข้อเสนอต่อรัฐบาล
ความนำ
ในปี 2550 พบว่าประเทศพม่ายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนอยู่เสมอ
โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นชนกลุ่มน้อย รัฐบาลทหารพม่าได้ทำการกดขี่ข่มเหงประชาชนในหลากหลายรูปแบบ
ทั้งการยึดที่ดิน, การบังคับใช้แรงงาน, การข่มขืน, การบังคับให้โยกย้ายออกจากถิ่นฐานเดิม,
การสร้างเขื่อนสาละวิน, การเพิ่มกำลังทหารในเขตชนกลุ่มน้อย, และการสังหารประชาชน
ฯลฯ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนจากพม่าหลบหนีออกจากบ้านเกิดเพื่อเดินทางมาแสวงหาถิ่นฐานปลอดภัยที่ประเทศไทย
พบว่าในระหว่างการเดินทางมายังรอยต่อชายแดนไทย-พม่า และในค่ายผู้ลี้ภัยยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนกลุ่มนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งการปฏิเสธไม่ให้ข้ามพรมแดน, การผลักดันส่งกลับ, และการให้ย้ายออกจากพื้นที่
จากการที่ประเทศพม่ายังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องและส่งผลต่อการหลั่งไหลของประชาชนมายังประเทศไทย สิ่งสำคัญที่รัฐบาลไทยจะสามารถให้โอกาสประชาชนเหล่านี้ได้ คือ การยอมรับว่าวันนี้เองมีประชาชนจากพม่าหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่จำเป็นต้องหนีภัยสงครามมาที่ประเทศไทย รัฐบาลไทยจะต้องจัดหาที่พักพิงให้ประชาชนเหล่านี้ เพราะประชาชนจำนวนมากที่หลบหนีมาไม่ได้ต้องการที่จะมาเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย และสถานการณ์ในประเทศพม่าวันนี้เองก็ไม่มีความปลอดภัย ถ้ารัฐไทยยังมีนโยบายผลักดัน ส่งกลับ ไม่รับเพิ่มอยู่เช่นนี้ นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลไทยจะต้องเปิดโอกาสประชาชนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานได้ตามศักยภาพของพวกเขา
สำหรับกรณีของแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม พบว่าในรอบปีที่ผ่านมารัฐไทยได้นำนโยบายที่เน้นความมั่นคง ซึ่งเป็นนโยบายที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทย มาใช้เป็นแนวทางหลักในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ แนวทางดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การควบคุมแรงงานข้ามชาติ มากกว่าการมองแนวทางการจัดการระยะยาว เพื่อสร้างสังคมสมานฉันท์ของการอยู่ร่วมกันขึ้นมา. ในแง่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ พบว่านโยบายดังกล่าวส่งผลให้แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบในแง่ลบมากกว่าเดิม เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยบางคน ใช้อำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์ได้ง่ายขึ้น การเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น บริการด้านสุขภาพ การศึกษา เป็นไปอย่างยากลำบาก
ขณะเดียวกันกลไกที่ใช้ในการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติในฐานะที่เป็นผู้ใช้แรงงาน กลับไม่เอื้ออำนวยต่อการคุ้มครองแรงงาน เช่น กรณีที่แรงงานประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้โดยตรง ในเวลาเดียวกันแนวทางที่เป็นกลไกส่งเสริมการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ เช่น อาสาสมัครด้านสุขภาพในชุมชนของแรงงานข้ามชาติ ล่ามประจำโรงพยาบาลหรือสำนักงานคุ้มครองแรงงาน กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ส่งผลให้แนวทางการแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง. สิ่งสำคัญรัฐไทยจะต้องสร้างความมั่นคงในด้านการคุ้มครองให้เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามอย่างจริงจัง สร้างการมีส่วนร่วมของฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต่อการจัดทำนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ และสร้างกลไกที่ทำให้แรงงานเข้าถึงการคุ้มครองที่มีอยู่ได้จริง
สรุปสถานการณ์ประจำปี
2550
เรื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคนข้ามชาติจากประเทศพม่า
ในประเทศไทย
ต้นมกราคม 2550 มีการฉายภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่เนื้อหาของภาพยนตร์แสดงถึงความรักชาติ
การเสียสละชีวิต เพื่อให้คงไว้ซึ่งชาติบ้านเมืองอันสงบสุข ในช่วงแรกๆ ของการฉายภาพยนตร์มีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง
ไปสัมภาษณ์ช่างทำผมชื่อดังของเมืองไทยเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เขาให้สัมภาษณ์ว่า
"ตอนนี้ในบ้านเราคนไทยถูกกลืนไปเรียบร้อย เอาง่ายๆ ดูอย่างผู้คนที่อยู่ในประเทศไทย
ขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นพม่า เขมร ไทยใหญ่ โดยเฉพาะในร้านเสริมสวยต่างๆ จะมีแรงงานต่างด้าวมาเป็นช่างทำผมกันมากขึ้น
รับเป็นลูกจ้างให้ช่วยสระผม ซึ่งเขาก็เรียนรู้การทำผมไปด้วยพร้อมๆ กัน ลืมกันไปหรือว่าในประวัติศาสตร์นั้นบรรพบุรุษเราขับไล่ผู้บุกรุกออกนอกประเทศ
แต่ในปัจจุบันเราปล่อยให้เขาเดินในบ้านเมืองเราอย่างสบาย และอยู่อย่างสะดวกเสียด้วย"
(1)
๑. ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและผู้ลี้ภัย
เมื่อสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2550 มีผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าอย่างน้อย 130,948 คน
(2) (ชาย 64,147 หญิง 66,801) อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิง 9 แห่งตามชายแดนไทย-พม่า
ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 ค่าย เป็นค่ายผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนี
- จังหวัดตาก 3 ค่าย
- จังหวัดกาญจนบุรี 1 ค่าย และ
- จังหวัดราชบุรี 1 ค่าย เป็นค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง
ในอดีตประเทศไทยเคยมีค่ายผู้ลี้ภัยชาวมอญ แต่หลังจากที่มีการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกลุ่มมอญ รัฐบาลไทยจึงได้ผลักดันผู้ลี้ภัยชาวมอญกลับไปอยู่ในฝั่งพม่า สำหรับผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่และกลุ่มอื่นๆ ที่หลบหนีการละเมิดสิทธิมนุษยชนออกมาจากประเทศพม่า เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่และกลุ่มอื่นๆ ประชาชนจากพม่ามากกว่า 200,000 คนในกลุ่มนี้ กำลังอาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย
คำว่า ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า
(3)
"ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า"ในรายงานฉบับนี้ หมายถึง ผู้ลี้ภัยในค่ายกับผู้ลี้ภัยนอกค่าย.
ผู้ลี้ภัยในค่ายหรือผู้หนีภัยการสู้รบ คือ ผู้ลี้ภัยสงครามรวมถึงผลกระทบจากสงคราม เป็นชาวบ้านที่ตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย และได้หลบหนีเข้ามาลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ยังรวมถึงกลุ่มบุคคลที่อยู่ในความห่วงใยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ POC (Person of Concern) ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองโดยตรง เป็นคนที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือทางการทหาร เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าและได้หนีจากภัยการประหัตประหารเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทย
กลุ่มผู้ลี้ภัยที่อยู่นอกค่ายและไม่ได้ถือสถานะ POC คือ กลุ่มผู้ลี้ภัยที่ไม่มีพื้นที่พักพิงชั่วคราวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย คนเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้เช่นเดียวกับ POC และผู้ลี้ภัยในค่าย หากแต่เป็นกลุ่มที่รัฐบาลไทยไม่นับว่าเป็นผู้ลี้ภัย พวกเขาใช้ชีวิตหลบซ่อนตามหมู่บ้านชายแดน ดังเช่น กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่จากรัฐฉาน กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวปะโอ
เนื่องจากกองทัพพม่าได้เข้าควบคุมพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยในภาคตะวันออกของประเทศพม่า จึงมีผู้ลี้ภัยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทุกปี ศูนย์อพยพแห่งแรกในประเทศไทยถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2527 เมื่อมีผู้ลี้ภัยประมาณ 9,000 คนเข้ามาในประเทศไทย ในปัจจุบันองค์กรพัฒนาเอกชน 20 องค์กร ซึ่งเป็นสมาชิกของกรรมการประสานงานองค์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย (CCSDPT) (4) ได้ให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ภายใต้ข้อตกลงกับศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ กระทรวงมหาดไทย และ UNHCR ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมาย ผ่านสำนักงานสนาม 3 แห่ง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน, จังหวัดกาญจนบุรี, และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ด้านงบประมาณในการดูแลผู้ลี้ภัยนั้น CCSDPT และสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อผู้ลี้ภัย (UNHCR) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ สำหรับประเทศไทยนั้นได้สนับสนุนพื้นที่อาศัยที่จำกัดในการพักพิง ปีหนึ่งๆ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยใช้งบประมาณในการดูแลผู้ลี้ภัยในค่าย 9 แห่ง อย่างน้อย 2,048 ล้านบาท (5) งบประมาณที่องค์กรเหล่านี้นำมาใช้จ่ายมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า
: ต้นทางของการโยกย้ายถิ่นฐานมายังประเทศไทย
(6)
ในปี 2550 พบว่าประเทศพม่ายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนอยู่เสมอ โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นชนกลุ่มน้อย
รัฐบาลทหารพม่าได้ทำการกดขี่ข่มเหงประชาชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการยึดที่ดิน
การบังคับใช้แรงงาน การข่มขืน การบังคับให้โยกย้ายออกจากถิ่นฐานเดิม การสร้างเขื่อนสาละวิน
การเพิ่มกำลังทหารในเขตชนกลุ่มน้อย และการสังหารประชาชน
การยึดที่ดิน
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2550 มีรายงานว่า รัฐบาลทหารพม่าได้ให้ทหารประจำการในเมืองมูเจ
ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของรัฐฉานเข้าทำการยึดที่ทำกินชาวบ้าน เพื่อนำที่ดินผืนดังกล่าวไปใช้ปลูกถั่วเพื่อการวิจัย
การยึดที่ดินของชาวบ้านในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะทหารพม่าได้ยึดที่ดินของชาวบ้านมาตั้งแต่ต้นปี
2550 โดยไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ชาวบ้านแต่อย่างใด หรือบางครั้งถ้ามีการจ่ายเงินก็จ่ายให้ในจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ของที่ดินที่ถูกยึดไป
ชาวบ้านที่ถูกยึดที่ดินต้องเปลี่ยนอาชีพไปทำงานรับจ้างเป็นจำนวนมาก
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 ทหารพม่าได้ยึดที่ดินของชาวบ้านทางภาคตะวันตกของรัฐคะฉิ่น เพื่อไปให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในพม่าทำการเพาะปลูกพืชเพื่อการวิจัย. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทยูซานา ได้รวบรวมที่ดินบริเวณหุบเขาหู่กองจำนวนกว่า 2,500 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการการพัฒนาพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพพม่าในการช่วยดำเนินการยึดที่ดินของชาวบ้านมาให้ทางบริษัทดำเนินโครงการ ชาวบ้านที่ถูกยึดที่ดินไม่ได้รับค่าชดเชยแม้แต่น้อย และได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเพราะไม่มีที่ดินทำกิน
การบังคับใช้แรงงาน
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 มีรายงานว่า ชาวบ้านไทยใหญ่จากภาคกลางของรัฐฉานต่างพากันอพยพอย่างไม่ขาดสายมายังชายแดนไทยด้านอำเภอฝาง
จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากถูกทหารพม่าบังคับใช้แรงงานจนไม่มีเวลาทำงานให้กับครอบครัวตนเอง
โดยชาวบ้านที่อพยพมานี้ส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านโห๋ป่าง บ้านนาหมากขอ ตำบลบ้านเลา
บ้านแป และบ้านนาคู ตำบลเก็งลม อำเภอกุ๋นฮิง โดยอพยพมากันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-15
คน โดยเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์เดินทางมาถึงชายแดนไทยด้านอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
รวม 16 คน และวันที่ 7 กุมภาพันธ์ อีก 23 คน
ผู้อพยพคนหนึ่งเปิดเผยว่า "ที่พวกเขาพากันอพยพมานั้น ใช่ว่าอยากจะมาหางานทำในประเทศไทย แต่เป็นเพราะไม่อาจทนรับต่อความกดขี่ข่มเหงของทหารพม่าได้ เนื่องจากในแต่ละสัปดาห์พวกตนต้องถูกทหารพม่าบังคับให้ผลัดกันไปทำงานไม่ต่ำกว่า 3 วัน จนไม่มีเวลาพอที่จะทำงานให้กับครอบครัวของตนเอง ทหารพม่าที่บังคับให้ทำงานเป็นประจำได้แก่ กองพันทหารราบเบาที่ 524 นำโดยพันโทติ่นหลุ่น และกองพันทหารราบที่ 246 นำโดยพันตรีมิ้นอ่อง ซึ่งทั้งสองกองพันนี้ดูแลพื้นที่ตำบลบ้านเลา และตำบลเก็งลม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อาศัยอยู่ โดยได้ถูกบังคับให้ปลูกต้นสบู่ดำ ทำนาปรัง พร้อมกับต้องผลัดกันไปทำงานในค่าย เช่น ทำรั้ว ขุดบังเกอร์ นอกนั้นก็ซ่อมแซมถนนไม่ต่ำกว่าอาทิตย์ละ 3 วัน"
ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2550 กองทหารพม่าได้บังคับชาวบ้านในเมืองมอญจำนวน 154 คน ให้ทำงานสร้างถนนใหม่ระหว่าง โทดอ และ ยินโอเซียน ถนนใหม่นี้ได้ตัดเข้าไปในไร่ของชาวบ้าน และทำลายไร่ไปมากกว่า 500 เอเคอร์ ถนนสายนี้จะเชื่อมกับศูนย์บัญชาการของ LIB599 ที่ โทดอ และ LIB 590 ที่ ยินโอเซียน. ชาวบ้านทั้งหมด 154 คนที่ถูกบังคับใช้แรงงานนั้นมาจากหมู่บ้าน เมเยืองโอ 15 คน, มาจากหมู่บ้านอองชาน 59 คน, มาจากหมู่บ้าน พอพิเดอ 90 คน. พวกเขายังถูกบังคับให้ตัดไม้และไม้ไผ่และขนไม้เหล่านี้ไปยังที่ค่ายทหารพม่า ถูกบังคับให้สร้างคอกสัตว์ และทำความสะอาดสวนของกองทหารพม่า นอกจากนั้นกองทหารพม่ายังได้บีบเอาเงินจากชาวบ้าน โดยการบังคับ โก่งราคาสินค้า และยังบังคับให้ชาวบ้านซื้อสินค้าจากพวกเขา
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 ชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้านประมาณ 500 คน ได้ถูกทหารพม่าบังคับเกณฑ์แรงงานเพื่อใช้สร้างฐานที่มั่นแห่งหนึ่งในจังหวัดทงกู่ รัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า ถึงแม้ฐานที่มั่นใหม่นี้จะสร้างเสร็จแล้วก็ตาม แต่ทางทหารพม่าก็ยังคงบังคับใช้แรงงานอย่างต่อเนื่อง
การข่มขืน
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 มีรายงานว่า พบเด็กนักเรียนหญิงชาวคะฉิ่นจำนวน
4 คนถูกข่มขืนจากทหารพม่าในรัฐคะฉิ่นทางตอนบนของประเทศ โดยเหยื่อทั้ง 4 คนเป็นเด็กนักเรียนในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในหมู่บ้านตุ๊กตาง
(Dukdang) ซึ่งเด็กสาวทั้งหมดมีอายุตั้งแต่ 14-16 ปี โดยถูกข่มขืนจากทหารพม่าราว
7 คน ซึ่งตั้งฐานที่มั่นอยู่ในหมู่บ้านมุงลาง ชิดี (Munglang Shidi) ห่างจากเมืองปูเตาไปราว
2 กิโลเมตร. หลังจากข่มขืนเสร็จ ทหารพม่านำตัวเด็กสาวทั้งหมดไปขังไว้ในคุกที่อยู่ภายในกองทัพ
จากนั้นจึงปล่อยตัว อย่างไรก็ตามถึงแม้ทหารทั้งหมดจะถูกดำเนินคดี แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนเมษายน
2550 ปัจจุบันพบว่าเด็กหญิงทั้งสี่ได้กลับเข้าไปเรียนหนังสืออีกครั้ง พร้อมกับยังไม่มีการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังในพม่า.
ต่อมาภายหลังวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 แม่ของเด็กสาวคนหนึ่งที่ถูกข่มขืนทราบเรื่อง
ทำให้ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง ส่งผลให้ป่วยและตายในเวลาต่อมา
วันที่ 27 มีนาคม 2550 สันนิบาตสตรีรัฐชิน (Women's League of Chinland - WLC) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิสตรีภาคประชาชนในรัฐชิน ประเทศพม่า ได้เปิดเผยรายงานที่มีชื่อว่า "รัฐที่ไม่ปลอดภัย" (Unsafe State) ซึ่งแสดงหลักฐานว่า รัฐบาลทหารพม่าสนับสนุนการข่มขืน โดยผลการศึกษารายงานว่าในรอบ 5 ปี กองทัพพม่าภายในรัฐชินได้ข่มขืนผู้หญิงอย่างน้อย 38 คน โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นการข่มขืนหมู่และอย่างน้อย 1 ใน 3 เกิดขึ้นโดยคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐบาล เหยื่อบางคนหลังจากถูกข่มขืนจะถูกทรมานและถูกสังหาร
ในเดือนพฤษภาคม 2550 มีรายงานว่าในเขตพาพุน รัฐกะเหรี่ยง มีหญิงสาวสองคนจากหมู่บ้านทาเคเดอ ในเมืองลูตอ อายุ 22 ปี และ 18 ปี ขณะที่พวกเธอกำลังเก็บผักอยู่ในป่า ได้ถูกจับกุมโดยกองทหารพม่าและถูกข่มขืน ถูกทรมาณโดยการตัดเอาหน้าอกและหูออกมา จากนั้นจึงถูกฆ่าตาย
เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2550 ก็มีรายงานว่าพบเด็กหญิงชาวละหู่อายุ 10 ขวบ ได้ถูกทหารพม่าข่มขืนเช่นเดียวกัน เด็กหญิงชาวละหู่คนนี้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเผอยาง อยู่ทางตอนใต้ของเชียงตุงไป 22 กิโลเมตร ถูกสิบเอกเต่งทุน และทหารพม่าอีกสามคนข่มขืนขณะที่เด็กหญิงกำลังออกไปเลี้ยงวัว หลังจากที่เด็กหญิงถูกข่มขืนและสลบไป ทหารพม่าคิดว่าเด็กหญิงได้เสียชีวิตแล้วจึงทิ้งเหยื่อไว้ที่โพรงหญ้า หลังจากนั้นเด็กหญิงได้ฟื้นขึ้นมาและเดินออกมาจากโพรงหญ้าก่อนจะสลบไปอีกครั้ง ระหว่างนั้นมีชาวบ้านมาพบเห็นเด็กหญิงนอนสลบในสภาพร่างกายบอบช้ำอยู่ข้างทางจึงนำตัวส่งโรงพยาบาล ด้านผู้บังคับบัญชาทหารพม่าประจำภาคสามเหลี่ยมทองคำมอบเงินให้กับทางครอบครัวเด็กเป็นค่าเสียหาย 700,000 จั๊ต(ราว 18,800 บาท) พร้อมกับกำชับไม่ให้พ่อแม่เด็กบอกเรื่องที่ทหารพม่าข่มขืนเด็กกับใคร
การบังคับให้โยกย้ายออกจากถิ่นฐานเดิม
ต้นเดือนมกราคม 2550 มีรายงานว่าทหารพม่าจากกองพันทหารราบเบาที่ 225 ประจำเมืองโต๋น
พร้อมด้วยกองกำลังว้าแดง UWSA จากหน่วย 171 ของเหว่ยเซียะกัง ประมาณ 90 นาย ได้ทำการข่มขู่ขับไล่ชาวบ้านให้ย้ายออกจากหมู่บ้านที่อยู่ทางทิศตะวันตก
เส้นทางบ้านนากองมู-เมืองโต๋น ในรัฐฉาน ตรงข้ามชายแดนไทยด้านบ้านหนองอุก อำเภอเชียงดาว
จังหวัดเชียงใหม่, โดยอ้างว่าชาวบ้านปลูกฝิ่น ซึ่งความจริงชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ยึดอาชีพดังกล่าวมานานแล้วและทหารพม่าและว้าก็รู้ดี
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวบ้านคาดว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุที่พวกเขาไม่ชำระภาษีการปลูกฝิ่นที่ยังไม่ถึงฤดูเก็บเกี่ยว
หรือไม่ก็ทหารพม่าและว้าแดงอาจต้องการยึดพื้นที่ปลูกฝิ่น เนื่องจากพื้นที่ที่ใช้ปลูกฝิ่นอยู่ออกผลผลิตดี.
ชาวบ้านที่ถูกขับไล่และอพยพมาส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าลีซู ปะโอ จากบ้านห้วยจอง
บ้านห้วยวัด บ้านหมอกข้าวแตก บ้านเมืองแฮ และบ้านนาพยอง ซึ่งมีทั้งเด็กเล็ก ผู้ใหญ่
คนแก่ รวมกว่า 40 คน, รวม 13 ครอบครัว, ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้เดินทางหลบหนีมายังชายแดนไทยด้านดอยสันจุ๊
ตรงข้ามตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ทหารพม่าได้เข้าโจมตีหมู่บ้านที นยา มู คี เขตเงียวลี่บิ่น รัฐกะเหรี่ยงในเวลา 11.55 น. ชาวบ้านไม่มีเวลาที่จะเก็บข้าวของหรือเอาอาหารไปด้วย ทหารพม่าได้เผาที่เก็บข้าวเปลือกในขณะที่เข้าโจมตี ผลของการโจมตีทำให้ชาวบ้านจำนวน 31 คน จากที นยา มู คี ได้หลบหนีไปได้ พร้อมกับชาวบ้านจากหมู่บ้านที ตู คี อีก 19 คน และชาวบ้านอีก 57 คนจากวา เพอ ควี รวมทั้งสิ้นเป็นชาวบ้านจำนวน 107 คน ที่หนีเข้าไปซ่อนตัวในป่าระหว่างการโจมตีครั้งนี้. ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 กองทหารพม่ายังได้เข้าโจมตีหมู่บ้าน ทา ควา โด ในเขตตำบล เคอ โด ในเมือง คยุก คยิ
ในวันที่ 23 มิถุนายน 2550 กองทหารพม่า LIB 350 ได้สั่งให้หมู่บ้านทั้งหมดในตำบลพนา เนอ คือ 1) Thu Ka Bee, 2) No Po, 3) Taw Lu Ko, 4) Ma Taw Ku, และ 5) P'Na Ner ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในพื้นที่สำหรับการย้ายถิ่นที่ ที ทู
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2550 มีรายงานว่าทหารพม่าได้บังคับให้ชาวกะเหรี่ยงมากกว่า 200 คน ย้ายออกจากหมู่บ้านตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2550 โดยทหารพม่าจะใช้วิธีการโจมตีและเผาบ้านเรือนของชาวบ้านในพื้นที่ และยังสร้างฐานที่มั่นเพิ่มขึ้นในทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง นอกจากนี้พบว่าชาวบ้านในพื้นที่ยังถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก. ในปัจจุบันจำนวนตัวเลขชาวกะเหรี่ยงที่ไร้ถิ่นฐานมีมากถึง 30,000 คน ขณะที่ทหารพม่ายังคงบังคับชาวบ้านให้ย้ายออกจากถิ่นฐานเดิม ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านต้องไร้ที่อยู่ คนเหล่านี้บางส่วนต้องหนีไปอยู่ในป่า ขณะที่บางส่วนหนีมาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่า
วันที่ 17 สิงหาคม 2550 ก็มีรายงานว่าทหารพม่าได้บุกเข้าโจมตีและเผาที่พักชั่วคราวของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 100 คนที่หลบหนีจากการถูกโจมตีหมู่บ้านเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา ทหารพม่าได้พบกับกลุ่มผู้พลัดถิ่นภายในใกล้หมู่บ้านเลคี อำเภอพะปุน ทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยงใกล้กับศูนย์บัญชาการของกองกำลัง KNPP จึงทำการโจมตีและเผาที่พัก ทำให้ชาวบ้านราว 200 คนต้องหลบหนีไปยังชายแดนไทย-พม่าโดยได้รับการช่วยเหลือจากกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระหรือ KNLA โดยในจำนวนนั้นมีชาวคะเรนนีรวมอยู่ด้วย 28 คน. นับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2550 ทหารพม่าได้โจมตีและเผาทำลายหมู่บ้านไปแล้ว 5 แห่ง โดยพบว่าหมู่บ้านบางแห่งถูกโจมตีด้วยปืนครก นอกจากนี้ยังพบทหารพม่าจำนวนมากเข้าไปปฏิบัติการทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยงโดยเฉพาะในหมูบ้านเลคี และตำบลมอชิในรัฐคะเรนนี
การสร้างเขื่อนสาละวิน
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 โครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำสาละวิน
(เขื่อนท่าซาง) ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกของรัฐฉาน และอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโต๋น
ห่างจากชายแดนไทยด้านตรงข้ามอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 80 กิโลเมตรได้เริ่มการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ
โดยก่อนหน้านี้ประชาชนจำนวนมากที่มีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณใกล้พื้นที่ก่อสร้างเขื่อน
ได้ถูกทหารพม่าบังคับย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่. นอกจากเขื่อนท่าซางแล้ว รัฐบาลไทยกับรัฐบาลทหารพม่ายังมีข้อตกลงที่สร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในรัฐกะเหรี่ยงอีก
3 แห่ง ได้แก่เขื่อนฮัตจี, เขื่อนแดกกวิน, และเขื่อนเว่ยจี
การเพิ่มกำลังทหารในเขตชนกลุ่มน้อย
ในเดือนพฤศจิกายน 2550 กลุ่ม Free Burma Ranger รายงานว่า กองบัญชาการทหารพม่าได้ส่งกองพันทหารราบจำนวน
10 กองพัน โดยมีกองกำลังทหารกว่า 20,000 นายไปยังทิศใต้และทางทิศเหนือของรัฐกะเหรี่ยง.
กองบัญชาการทหารพม่าที่ 4 ได้ส่งทหารไปยังรัฐมอญและเมืองจ๊อกจีในภาคพะโค และในเมืองผาปูน
ทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง. ขณะที่กองพันทหารราบเบาที่ 88 ซึ่งมีทหารจำนวนกว่า
1,500 นายถูกส่งตัวไปเมืองกอกะเร็กและเมืองจาอินเสกจี ทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยงเช่นกัน
ทหารจำนวน 3,000 นายจากกองพันทหารราบที่ 33 ทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง ถูกส่งไปยังรัฐมอญและในเมืองพะโคเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 โดยมีทหารจากกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA จำนวน 20 คนและลูกหาบจำนวนอีก 100 คน ร่วมเดินทางกับทหารพม่า ทหารพม่าเริ่มส่งกำลังทหารเข้าไปยังรัฐมอญในเมืองพะโคตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านในพื้นต่างเตรียมพร้อมสำหรับการหลบหนี โดยทุกครั้งหลังมื้ออาหารชาวบ้านจะเก็บถ้วยจานและสิ่งของที่จำเป็นใส่ตะกร้าไว้พร้อมที่จะหลบหนีเมื่อมีความจำเป็น
ปัจจุบันมีทหารพม่ากว่า 150 กองพันเข้าประจำพื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยง โดยทหารพม่าได้ทำลายนาข้าวของชาวบ้านและบังคับชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้างทางหลวงสายใหม่ 2 แห่งในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งติดกับเขตรัฐคะเรนนี. เมื่อวันที่ 15 เดือนพฤศจิกายน 2550 พบว่า มีชาวบ้านจากหมู่บ้านเลวา และต่าโฮอ่อง ทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยงจำนวน 300 คน ซึ่งมีเด็กจำนวน 100 คนรวมอยู่ด้วย ได้หนีการโจมตีจากทหารพม่ากองพันทหารราบที่ 11 นอกจากนี้ในรายงานยังระบุว่า มีชาวบ้านในพื้นที่จำนวน 2 คนถูกทหารพม่าจากกองพันที่ 218 และ 219 สังหารเสียชีวิต. เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 หน่วยทหารจากกองบัญชาการทหารพม่าที่ 8 และ19 ได้เดินทางถึงชายแดนด่านเจดีย์สามองค์ ทางตอนใต้ของรัฐมอญ
การสังหารประชาชน
ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2550 นาย รา เส ได้ถูกกองทหารพม่ายิงเสียชีวิต ขณะที่เข้าโจมตีหมู่บ้าน
ยอ คิ กองทหารนี้ประกอบด้วยทหารประมาณ 30 นาย จาก LID ได้เข้าล้อมหมู่บ้าน และยิงปืนครก
40 ลูก และต่อด้วยปืนกล นาย รา เส ถูกฆ่าในระหว่างที่มีการโจมตี. พวกทหารยังได้เผาบ้านไร่อีกสี่หลัง
พร้อมข้าวของที่อยู่ในบ้านทั้งหมด เจ้าของบ้านเหล่านี้คือ นาย ลอ คยิ, นางลา
ทู, นาง เค ยี ดู และนาย คพรู ทู ชาวบ้านทั้งหมดได้หนีออกจาก ยอ คิ และไปหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า
ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 กองทหารพม่าที่มาจากทอ ลู พลา แมนได้ยิงและสังหารนางสาว คู ลู ในระหว่างที่เข้าโจมตีหมู่บ้านคลอ โคล โล ในเขตพาพุน รัฐกะเหรี่ยง นางสาวคู ลู ถูกสังหารในบ้านของเธอ จากนั้นร่างของเธอถูกเผาพร้อมกับบ้าน ในการโจมตีครั้งเดียวกันนี้ กองทหารพม่าได้เผาบ้านอีก 7 หลัง และข้าวอีก 20 กระป๋อง
ในวันที่ 2 มิถุนายน 2550, KNLA ได้ซุ่มโจมตีกองทหารพม่า LIB 540 ขณะที่กำลังลาดตะเวณอยู่ในพื้นที่ของหมู่บ้าน ยา เคียง ทุง เขตเงียวลี่บิ่น รัฐกะเหรี่ยง ทำให้กองทหารพม่าไปจับกุมชาวบ้าน 6 คนจากพื้นที่ดังกล่าว คือ 1) Tin San, 2) Yasien, 3) Kyaw Soe, 4) Kyi Shwe, 5) Myit Zaw, 6) Ko Myit. ทั้ง 6 ถูกกล่าวหาว่าได้ให้การติดต่อกับ KNU จากนั้นพวกเขาถูกสังหารในทันที. ต่อมา LIB 540 ได้แจ้งกับชาวบ้านของหมู่บ้าน ยา เคียง ทุง ว่าพวกเขาจะต้องย้ายหมู่บ้านไปยังทา พยิ ยัท
ในวันที่ 23 มิถุนายน 2550 ระหว่างเวลา 21.30 ถึง 22.00 น. กองทหารพม่าและ DKBA (Democratic Karen Buddhist Army) ได้จับกุมชาวบ้านจากหมู่บ้านที คเบอ ในเขตดูพลายา รัฐกะเหรี่ยง จากนั้นจึงสังหารทั้งครอบครัว ประกอบด้วยเด็ก 2 คน อายุ 4 ขวบ และ 13 ปี และยายอายุ 65 ปี รายชื่อของเหยื่อมีดังต่อไปนี้ 1) นาย Nying Htun อายุ 36 ปี, 2) นาง Wah Kying อายุ 31 ปี, 3) เด็กชาย Pa Heh Soe อายุ 13 ปี, 4) Kyaw Eh Wah อายุ 4 ขวบ, 5) นาง Pler poe อายุ 65 ปี. ส่วนลูกอีก 2 คนที่อยู่ในครอบครัวไม่ได้ถูกสังหาร เพราะพวกเขาเรียนหนังสืออยู่ในประเทศไทย ครอบครัวนี้ถูกสังหารใกล้กับค่ายทหารพม่าที คเบอ. หน่วยทหารที่อยู่ในพื้นที่แห่งนั้นคือกองพันที่ 203 และ 284 จากภาคที่ 22 และหน่วย DKBA อยู่ภายใต้การควบคุมของนายเมือง ชเว
การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
: หนีเสือปะจระเข้
หลังจากที่ประชาชนจากพม่าหลบหนีออกจากบ้านเกิดเพื่อเดินทางมาแสวงหาถิ่นฐานปลอดภัยที่ประเทศไทย
พบว่าในระหว่างการเดินทางมายังรอยต่อชายแดนไทย-พม่า และในค่ายผู้ลี้ภัยยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนกลุ่มนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งการปฏิเสธไม่ให้ข้ามพรมแดน, การผลักดันส่งกลับ, และการให้ย้ายออกจากพื้นที่
การปฏิเสธไม่ให้ข้ามพรมแดน
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2550 มีรายงานว่านับตั้งแต่มีการสู้รบระหว่างทหารพม่าและทหารกะเหรี่ยงอย่างหนัก
ในเขตชายแดนตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอนในช่วงหลายเดือนก่อน ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงอย่างน้อย
216 คน ประกอบด้วยผู้หญิง เด็กและคนชรา ต้องการอพยพข้ามมายังประเทศไทย แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตจากทหารไทยโดยอ้างว่าทหารยังไม่ได้ยินเสียงการสู้รบจากฝั่งพม่า
ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้เดินทางมาจากประเทศพม่าทางเรือเพื่อข้ามฝั่งไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในอำเภอแม่ฮ่องสอน
แต่ถูกทางการไทยสกัดและส่งกลับไปยังค่ายอีทูทาในรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากฐานที่มั่นของทหารพม่า ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ในป่าได้
เพราะไม่มีอาหาร ยารักษาโรค รวมทั้งจากการที่ผู้ลี้ภัยต้องเดินทางโดยไม่มีการหยุดพักผ่อน
ทำให้คนแก่และเด็กจำนวนมากกำลังล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรียและท้องเสีย นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยกว่า
4,000 คนที่หนีภัยสงครามและอาศัยอยู่ในป่าเขตรัฐกะเหรี่ยง
การผลักดันส่งกลับ
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 เจ้าหน้าที่ไทยได้จับกุมชาวคะเรนนีจำนวน 10 คน
ที่ลักลอบเข้าประเทศไทยมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยคะเรนนี ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยชาวคะเรนนีทั้งหมดหนีภัยการสู้รบระหว่างทหารพม่าและกองกำลังคะเรนนี
มาจากจังหวัดซาทอ รัฐคะเรนนี ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วย 3 คน. อย่างไรก็ตาม
ถึงแม้ทางเจ้าหน้าที่ค่ายผู้ลี้ภัยคะเรนนีจะพยายามช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
เนื่องจากทางการไทยมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไม่รับผู้ลี้ภัยเพิ่ม โดยชาวคะเรนนีที่ถูกจับจะถูกนำตัวไปขึ้นศาลและถูกกุมขังเป็นเวลา
30 วัน จากนั้นจึงถูกส่งตัวกลับประเทศพม่า
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2550 มีรายงานว่า ทางการไทยประกาศให้ผู้ลี้ภัยที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ จำนวน 5,000 คน ในค่ายแม่หละ ว่าจะสามารถถูกส่งกลับที่ประเทศพม่าได้ตลอดเวลา เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายที่จะรับผู้ลี้ภัยเพิ่ม รวมถึงไม่มีนโยบายที่จะเปิดค่ายผู้ลี้ภัยแห่งใหม่
การให้ย้ายออกจากพื้นที่
ระหว่างวันที่ 25-30 พฤษภาคม 2550 ทหารไทยได้บังคับให้ประชาชนไทยใหญ่จากรัฐฉาน
จำนวน 91 คน ซึ่งหลบหนีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทหารพม่า มาจากถิ่นฐานของตนเองที่อยู่ทางตอนกลางและใต้ของรัฐฉานเมื่อต้นปี
2550 ให้โยกย้ายออกจากบริเวณพรมแดนตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณเนินดอยสันจุ๊
ตรงข้ามกับอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 เจ้าหน้าที่ทหารไทยจากกองร้อยทหารพรานจู่โจมที่ 956 ภายใต้บังคับบัญชาหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 2 อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางมาบริเวณที่พักพิงของผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ และมีคำสั่งให้ผู้ลี้ภัยซึ่งมีที่พักอยู่บริเวณยอดเขา ซึ่งสามารถมองเห็นจากพรมแดนไทยได้ ให้เคลื่อนย้ายลงไปตั้งที่พักด้านล่างของเนินเขาห่างจากจุดเดิมประมาณ 500 เมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่มีผู้ลี้ภัยกลุ่มอื่นตั้งที่พักอยู่และไม่สามารถมองเห็นจากบริเวณพรมแดนไทยได้ ทหารเหล่านั้นประกาศว่า "เป็นคำสั่งจากเบื้องบน" และแจ้งว่าผู้ลี้ภัยควรเคลื่อนย้ายที่พักเนื่องจากที่พักในปัจจุบันสามารถมองเห็นได้ง่ายจากบริเวณพรมแดนฝั่งไทย
ผู้ลี้ภัย 91 คนจาก 24 ครอบครัวได้รับคำสั่งให้โยกย้ายภายใน 5 วัน นั่นคือภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 แม้ว่าฤดูฝนได้เริ่มขึ้นแล้วและผู้ลี้ภัยจำนวนมากเพิ่งจะก่อสร้างที่พักของตนเองเสร็จ หลังจากมีคำสั่งออกมาแล้วทหารพรานได้เข้าไปรื้อถอนที่พักบางส่วนโดยทันที มีการใช้รถทหารเพื่อขนสัมภาระของผู้ลี้ภัยไปยังที่ตั้งแห่งใหม่ วันต่อมาทหารพรานยังกลับมาที่เดิมเพื่อตรวจดูปฏิบัติการโยกย้ายที่พักของผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่อง และในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ทหารพรานเหล่านั้นได้มาพร้อมกับทหารไทยจากอำเภอเชียงดาว เพื่อตรวจตราให้แน่ใจว่าผู้ลี้ภัยปฏิบัติตามคำสั่ง ทหารเหล่านั้นแจ้งให้ผู้ลี้ภัยซึ่งพักอยู่บริเวณดอยสันจุ๊ว่า ผู้ลี้ภัยไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกพืชผลระยะยาวในบริเวณนั้น และอนุญาตให้ปลูกได้เพียงพืชผลระยะสั้นเพื่อประทังชีวิต ผู้ลี้ภัยซึ่งมีทั้งผู้หญิง เด็กและคนชราต้องไปอยู่รวมกันอย่างแออัดยัดเยียดในที่พักของครอบครัวผู้ลี้ภัยอื่นในที่ตั้งแห่งใหม่ และประสบความลำบากมากในการสร้างที่พักใหม่ในช่วงฤดูฝน ที่ตั้งแห่งใหม่อยู่บนเนินเขาชันมีโอกาสเกิดดินถล่มในช่วงฝนตกหนักและไม่ได้อยู่ในประเทศไทย
ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย
จากการที่ประเทศพม่ายังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อการหลั่งไหลของประชาชนมายังประเทศไทย
สิ่งสำคัญที่รัฐบาลไทยจะสามารถให้โอกาสประชาชนเหล่านี้ได้ คือ การยอมรับว่าวันนี้เองมีประชาชนจากพม่าหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่จำเป็นต้องหนีภัยสงครามมาที่ประเทศไทย
เช่น ประชาชนไทยใหญ่ รัฐบาลไทยจะต้องจัดหาที่พักพิงให้ประชาชนเหล่านี้ เพราะประชาชนจำนวนมากที่หลบหนีมา
ไม่ได้ต้องการที่จะมาเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย และสถานการณ์ในประเทศพม่าวันนี้เองก็ไม่มีความปลอดภัย
ถ้ารัฐไทยยังมีนโยบายผลักดัน ส่งกลับ ไม่รับเพิ่มอยู่เช่นนี้. นอกจากนั้นแล้ว
รัฐบาลไทยจะต้องเปิดโอกาสประชาชนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานได้ตามศักยภาพของพวกเขา
มากกว่าที่จะกักขังไว้ในบริเวณแคบๆ และไม่สามารถกระทำการใดๆ ได้ ต้องรอรับความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนเพียงเท่านั้น
๒. แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม
แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในระดับล่างของภาคการผลิตและภาคบริการของระบบเศรษฐกิจไทย
มีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลักที่สำคัญ คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ กับปัจจัยทางการเมืองและสังคม
ในประเทศต้นทาง. แม้ว่าจะมีปัจจัยในการเข้ามาที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญ แรงงานระดับล่างกลุ่มนี้ได้กลายเป็นกลไกสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยให้เจริญก้าวหน้าตลอดช่วงที่ผ่านมา
ในรอบปีที่ผ่านมา รัฐไทยได้นำนโยบายที่เน้นความมั่นคง ซึ่งเป็นนโยบายที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทยมาใช้เป็นแนวทางหลักในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ แนวทางดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การควบคุมแรงงานข้ามชาติ มากกว่าการมองแนวทางการจัดการระยะยาว เพื่อสร้างสังคมสมานฉันท์ของการอยู่ร่วมกันขึ้นมา. ในแง่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ พบว่านโยบายดังกล่าวส่งผลให้แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบในแง่ลบมากกว่าเดิม เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนใช้อำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์ได้ง่ายขึ้น การเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น บริการด้านสุขภาพ การศึกษา เป็นไปอย่างยากลำบาก
ขณะเดียวกันกลไกที่ใช้ในการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติในฐานะที่เป็นผู้ใช้แรงงาน กลับไม่เอื้ออำนวยต่อการคุ้มครองแรงงาน เช่น กรณีที่แรงงานประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้โดยตรง ขณะเดียวกันแนวทางที่เป็นกลไกส่งเสริมการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ เช่น อาสาสมัครด้านสุขภาพในชุมชนของแรงงานข้ามชาติ ล่ามประจำโรงพยาบาล หรือสำนักงานคุ้มครองแรงงาน กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ส่งผลให้แนวทางการแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
จากการศึกษาพบว่า มีเหตุการณ์และประเด็นต่างๆ ที่ควรจะได้รับการใส่ใจและดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนดังนี้
2.1 จากแนวนโยบายความมั่นคงระดับชาติสู่ความมั่นคงในระดับจังหวัด
ประกาศจังหวัดภูเก็ต ระยอง ระนอง พังงา
จากการที่มีประกาศจังหวัดเรื่องกำหนดมาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าว สัญชาติพม่า
ลาว และกัมพูชา ที่จดทะเบียนขออนุญาตทำงานกับนายจ้างในกิจการต่างๆ ลงวันที่ 19
เดือนธันวาคม 2549 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, ลงวันที่ 16 เดือนกุมภาพันธ์
2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, ลงวันที่ 27 เดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง,
และลงวันที่ 9 เดือนมิถุนายน 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา, เพื่อจัดระบบในการควบคุมแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
และได้รับอนุญาตทำงานในจังหวัดดังที่มีประกาศข้างต้น และได้กำหนดมาตรการบางประเภทให้นายจ้าง
แรงงานข้ามชาติ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ ดังเช่น
- หลังเวลา 20.00 น. ห้ามแรงงานข้ามชาติออกนอกสถานที่ทำงานหรือสถานที่พักอาศัย หากมีความจำเป็นต้องทำงานหลังเวลาห้าม หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง
- ห้ามแรงงานข้ามชาติขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ และห้ามเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์อนุญาตให้แรงงานขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ของตนเอง- หากแรงงานข้ามชาติมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือ ให้นายจ้างจัดทำบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติผู้ใช้โทรศัพท์พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ และชื่อนามสกุลเจ้าของเครื่องและซิมการ์ดส่งให้จังหวัดทุกคน
- ห้ามแรงงานข้ามชาติเข้าร่วมชุมนุมนอกที่พักอาศัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรม นายจ้างของแรงงานข้ามชาติต้องออกหนังสือรับรอง และแจ้งบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติที่จะเข้าร่วมกิจกรรมโดยมีรายละเอียดวัน เวลา และสถานที่ชุมนุม ชื่อและหมายเลขประจำตัวแรงงานข้ามชาติให้ชัดเจน ให้จังหวัดทราบเป็นลายลักษณ์อักษร
- การอนุญาตให้ออกนอกเขตจังหวัดทำได้ 3 กรณี คือ ไปเป็นพยานศาลหรือถูกหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน, มีเหตุเจ็บป่วยต้องรักษานอกพื้นที่โดยความเห็นของแพทย์, และได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนท้องที่ทำงานจากจัดหางานจังหวัดแล้ว
จากการมีประกาศจังหวัดดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการดังกล่าวทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการละเมิดสิทธิ การขูดรีด เนื่องด้วยการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจค้น จับกุมแรงงานข้ามชาติ อันเนื่องมาจากข้อห้ามต่างๆ ซึ่งในแง่ข้อเท็จจริง แรงงานข้ามชาติก็มีความเสี่ยงในประเด็นดังกล่าวสูงอยู่แล้ว. นอกจากนั้นการทำงานของแรงงานข้ามชาติบางประเภทในเวลากลางคืน ที่ต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมของนายจ้างเป็นสำคัญนั้น ยิ่งทำให้แรงงานข้ามชาติตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิแรงงานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการถูกบังคับใช้แรงงาน และในที่สุดจะนำไปสู่การเกิดแนวโน้มในการหาผลประโยชน์โดยมิชอบ การทุจริตจากเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐสามารถที่จะใช้ช่องทางของระเบียบเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากแรงงานที่ต้องอยู่ในความหวาดกลัวต่อระเบียบนี้ และเมื่อมองไปที่การรวมตัวของแรงงานข้ามชาติ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นการชุมนุมทางการเมืองตามที่รัฐราชการไทยเข้าใจเพียงเท่านั้น ยิ่งรัฐกีดกันการรวมตัวยิ่งส่งผลให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิด้านอื่นๆ เพิ่มยิ่งขึ้น เช่น สิทธิทางสาธารณสุข, สิทธิทางการศึกษา, การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา, หรือการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมของตน
หลังจากมีประกาศจังหวัดพบว่าแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น
ดังนี้
จังหวัดพังงา : แรงงานทั้งมีใบอนุญาตทำงานและไม่มีใบอนุญาตทำงานได้ถูกจับกุมเพิ่มขึ้น
(7)
- เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550 แรงงานกลุ่มหนึ่งได้จัดงานวันเกิดให้กับเด็กๆ
ในหมู่บ้าน ระหว่างนั้นมีแรงงานผู้ใหญ่และเด็กจำนวน 300-400 คน ได้เดินทางมาร่วมงาน
เมื่อตำรวจทราบว่ามีการรวมตัวกันเกิน 5 คน จึงเข้าจับกุมแรงงานทั้งๆ ที่แรงงานจำนวนมากมีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมาย
และอีกหลายคนเป็นเด็ก
- เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 แรงงานข้ามชาติคนหนึ่งกับเพื่อนได้ขี่รถมอเตอร์ไซด์ของนายจ้าง
ซึ่งได้ขออนุญาตนายจ้างแล้ว เพื่อไปซื้อของใช้ทั่วไปที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในตำบลเขาหลัก
ระหว่างที่กำลังเลือกซื้อของอยู่ในร้านนั้น พนักงานในร้านเมื่อรู้ว่าเป็นแรงงานข้ามชาติก็ได้โทรศัพท์แจ้งตำรวจ
เมื่อตำรวจมาถึง แรงงานคนดังกล่าวได้แสดงใบอนุญาตทำงาน แต่ตำรวจก็ยังยึดรถมอเตอร์ไซด์ไป
และแจ้งให้นายจ้างไปรับคืน หรือเหตุการณ์ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 ที่ตำรวจไปพบแรงงานอีกคนหนึ่ง
ที่ขับขี่มอเตอร์ไซด์ของนายจ้างไปซื้อของในร้านค้าที่อยู่คนละแห่งของสถานที่ทำงาน
เมื่อตำรวจไปพบเข้าก็ยึดรถมอเตอร์ไซด์ไปทันที ทั้งๆ ที่แรงงานคนดังกล่าวก็มีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมาย
- เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2550 แรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานคนหนึ่งได้หลบหนีตำรวจ เพื่อไม่ให้ถูกจับ เขาจึงถูกตำรวจยิงและได้รับบาดเจ็บที่ขาและกระดูกบริเวณดังกล่าว เขาถูกส่งไปยังโรงพยาบาลพังงาเพื่อรักษา ระหว่างนั้นตำรวจได้เรียกเงินจำนวน 1,400 บาท เพื่อแลกกับการที่เขาไม่ต้องถูกจับ
- เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2550 เวลา 14.00 น. แรงงานข้ามชาติคนหนึ่งซึ่งมีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมาย ถูกตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอตะกั่วป่า จับที่สถานีขนส่งรถโดยสารอำเภอตะกั่วป่า ระหว่างที่จะเดินทางไปหาเพื่อนที่ตำบลบางเนียง เนื่องจากตำรวจให้เหตุผลว่า แรงงานข้ามชาติคนนี้ไม่มีใบหรือสำเนาใบอนุญาตทำงานที่ถูกกฎหมาย ทั้งๆ ที่แรงงานให้เหตุผลว่าใบอนุญาตทำงานนั้น นายจ้างเป็นคนเก็บไว้โดยตรงเพราะกลัวว่าแรงงานจะหลบหนีไปทำงานที่อื่น ตำรวจก็เลยจับแรงงานและกักขังไว้ที่สถานีตำรวจ 2 วัน ระหว่างที่ถูกขังอยู่ที่สถานีตำรวจ แรงงานได้ขอใช้โทรศัพท์ที่สถานีเพื่อโทรศัพท์ไปหาเพื่อนบอกให้นำใบอนุญาตทำงานมาแสดงกับตำรวจ แรงงานต้องเสียเงินค่าโทรศัพท์ให้ตำรวจถึง 200 บาท
- เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 เวลา 21.00 น. แรงงานข้ามชาติจำนวน 11 คน ได้นั่งรับประทานอาหารอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่งในอำเภอตะกั่วป่า ซึ่งเวลาดังกล่าวเลยจากเวลา 20.00 น. ที่มีในประกาศจังหวัดว่าห้ามแรงงานออกจากที่พักอาศัยมาแล้ว ทำให้เจ้าของร้านอาหารได้โทรศัพท์แจ้งตำรวจ เมื่อตำรวจมาถึงก็ได้จับกุมแรงงานทั้งหมดไปที่สถานีตำรวจตะกั่วป่า. ใน 11 คน นั้น มี 7 คน มีใบอนุญาตทำงาน, อีก 4 คน ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หลังจากนั้นไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับแรงงานกลุ่มนี้
- เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 เวลา 15.00 น. แรงงานจำนวน 4 คน ซึ่งมีใบอนุญาตทำงานเพียง 2 คน ได้ถูกตำรวจจับกุมไปยังสถานีตำรวจ แรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานต้องจ่ายให้ตำรวจ 2,000 บาท ส่วนแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 บาท เพื่อแลกกับการที่ไม่ต้องถูกคุมขัง
- สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม 2550 แรงงานข้ามชาติคนหนึ่งได้เดินทางไปซื้อน้ำแข็งที่ร้านค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านชาวประมงในตำบลคุระบุรี ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คน สังเกตเห็น จึงได้ติดตามแรงงานคนนี้ไปยังบ้านพักอาศัย และเข้าจับกุมแรงงานที่เป็นทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวจำนวน 20 คน
- แรงงานจำนวนมากที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือ
/ ขับขี่มอเตอร์ไซด์ในที่สาธารณะ(แม้ว่าจะไปแค่ซื้อของ หาเพื่อน เยี่ยมญาติ)
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนขับรถยนต์สาธารณะในท้องถิ่น เจ้าของร้านขายของ พนักงานขายของ
ผู้นำหมู่บ้าน มาพบเข้า จะมีการแจ้งตำรวจให้มาริบโทรศัพท์ / ยึดมอเตอร์ไซด์ไป
หรือบางครั้งก็จะมีคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจมายึดไปแทนด้วยเช่นกัน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่
26 มิถุนายนและ 6 กรกฎาคม 2550
จังหวัดภูเก็ต : เพิ่มอำนาจฝ่ายปกครองในการจับกุม
- เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 พ.ต.อ.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต
ได้แถลงข่าวผลการจับกุมแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่าภายหลังจากที่จังหวัดภูเก็ตได้ออกประกาศห้ามแรงงานต่างด้าวออกจากที่พักหลังเวลา
20.00 น.ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ และห้ามขี่รถจักรยานยนต์ รวมทั้งข้อห้ามอื่นอีกมากมาย
โดยได้ออกประกาศมาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2549 และแจ้งให้นายจ้างได้รับทราบ
รวมทั้งมีการแปรเป็นภาษาพม่าประกาศให้แรงงานต่างด้าวได้รับทราบ ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายของจังหวัดภูเก็ต
ทางด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ตจึงได้ระดมกำลังออกจับกุมแรงงานต่างด้าว โดยครั้งแรกได้จับกุมเมื่อวันที่
16 กุมภาพันธ์ 2550 ในงานวัดฉลองได้แรงงานต่างด้าวทั้งหมด 42 คน โทรศัพท์มือถือ
27 เครื่อง และเมื่อคืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2550 จับกุมได้อีก 39 คน โทรศัพท์มือถือ
20 เครื่อง ซึ่งการที่แรงงานต่างด้าวมีโทรศัพท์มือถือ มีรถจักรยานยนต์เป็นของตนเอง
เป็นการเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมมาก เพราะสามารถที่จะติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกยิ่งขึ้น
(8)
- กลุ่มงานความมั่นคงปกครองจังหวัด สนธิกำลังปกครองอำเภอเมืองและจัดหางาน จับกุมแรงงานต่างด้าวรวด
7 จุด ตามประกาศจังหวัดและรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2550 โดยนายสุระ สุรวัฒนากุล
ป้องกันจังหวัดภูเก็ต, พร้อมด้วยนายวิโรจน์ สุวรรณวงค์ ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดภูเก็ต,
นายกิตติ หนุ่ยศรี นักวิชาการแรงงาน 7, นายอดุลย์ ชูทอง ปลัดอำเภอเมืองภูเก็ต,
นายสุธี ศิริอนันต์ ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดภูเก็ต, นายอนันต์ เม็นราโสย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่
5 ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต, และสมาชิกอาสารักษาดินแดน สังกัดกองรักษาดินแดนจังหวัดภูเก็ตจำนวน
20 นาย ได้เข้าตรวจสอบแรงงานต่างด้าวในที่พักคนงานโครงการแลนด์ เทริส, โครงการ
Thana wan Villas, ที่พักคนงานบริษัท Wood Lands ,สถานที่ก่อสร้างบริษัทภูเก็ตอินเตอร์
วิลล่า ,แคมป์คนงานโครงการโบ๊ทลากูน ,ที่พักคนงาน บ้านหัวหาน ซอยท่าเรือเกาะแก้ว
,ที่พักคนงานบริเวณใกล้เคียงและสถานที่ก่อสร้างที่บริเวณโดยรอบ โดยแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานถูกนำไปควบคุมตัวบันทึกประวัติที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
แล้วนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.อ.เมืองภูเก็ตดำเนินคดีในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
และทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานเพื่อผลักดันออกนอกประเทศต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต
ที่ 64/2550 ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2550 เรื่องแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจแรงงาน เพื่อตรวจสอบปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีคนต่างด้าวลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
(9)
จดหมายเวียนจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2550 ทางจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีหนังสือสั่งการจากผู้ว่าราชการจังหวัด
เรื่องการควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าว ที่เน้นย้ำว่าแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศพม่า
และชุมชนของแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นได้สร้างปัญหาให้กับชุมชนไทยในพื้นที่สมุทรสาคร
และรวมถึงการที่แรงงานข้ามชาติได้มีการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง
เพราะจะเป็นภัยต่อความมั่นคงและขัดต่อนโยบายของรัฐบาล ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมแรงงานข้ามชาติอย่างเคร่งครัด
และไม่สนับสนุนให้เผยแพร่วัฒนธรรมของแรงงานข้ามชาติอีกต่อไป. คำสั่งดังกล่าวได้สร้างความหวั่นวิตกและความกังวลใจต่อตัวแรงงานข้ามชาติ
และคนในชุมชนพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่อยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติมาเป็นเวลานาน
เนื่องจากชุมชนในพื้นที่สมุทรสาครหลายชุมชนเป็นชุมชนคนไทยเชื้อสายมอญ ที่มีวัฒนธรรมเดียวกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติดังกล่าว
แนวนโยบายที่เกิดขึ้นจึงไม่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่
และไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์
นอกจากนั้นแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ได้ลงตรวจเยี่ยมชุมชนแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงกรณีของการพบแรงงานหญิงข้ามชาติตั้งครรภ์และคลอดบุตรในประเทศไทยว่า แรงงานหญิงกลุ่มนี้จะต้องกลับไปคลอดบุตรในประเทศบ้านเกิด และห้ามครอบครัวเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ซึ่งหากแนวคิดดังกล่าวนำไปสู่การปฏิบัติจริง จะเกิดผลกระทบหลายด้านที่จะติดตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ทั้งผลกระทบต่อตัวแรงงานข้ามชาติและต่อการจัดการด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เช่น การยุติการท้องหรือทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การคลอดลูกกับหมอตำแย ทำให้เข้าไม่ถึงการดูแลระหว่างท้องและวัคซีนป้องกันโรคเด็ก ในขณะเดียวกันการสัมภาษณ์ด้วยท่าทีดังกล่าว ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงแนวคิดในการจัดการแรงงานข้ามชาติภายใต้แนวคิดความมั่นคงแห่งรัฐมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจากรายงานการวิจัย ข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ สื่อมวลชน ยังพบว่ามีข้อแตกต่างจากข้อความดังกล่าวข้างต้นหลายประการ แต่ข้อมูลดังกล่าวกลับไม่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในการจัดการจากภาครัฐ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกไปอ่านต่อรายงานสรุป ตอนที่ ๒
เชิงอรรถ
(1) ดูหนังสือพิมพ์คมชัดลึกฉบับวันที่ 20 มกราคม 2550 เรื่องสังคมอย่าเลือนประวัติศาสตร์ชาติไทย
(2) มาจากตัวเลขในรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อผู้ลี้ภัย (UNHCR) และ TBBC(3) เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 รัฐบาลไทยจึงไม่เรียกประชาชนที่อพยพมาจากพม่าว่า ผู้ลี้ภัย แต่เรียกว่า ผู้หนีภัยจากการสู้รบหรือผู้หลบหนีจากภัยสงครามแทน และเรียกค่ายผู้ลี้ภัยว่า พื้นที่พักพิงชั่วคราว แต่ในรายงานฉบับนี้จะใช้คำว่า ผู้ลี้ภัยและค่ายผู้ลี้ภัยแทน ที่หมายถึงตามคำจำกัดความของพรสุข เกิดสว่าง คือ ผู้ลี้ภัยในค่ายกับผู้ลี้ภัยนอกค่าย
(4) CCSDPT ประกอบด้วยสมาชิก 20 องค์กร คือ Adventist Development and Relief Agency (ADRA) , Aide medicale internationale (AMI) , ARC International (ARC) , Catholic Office for Emergency Relief and Refugees (COERR) , Handicap International (HI) ,International Child Support (ICS-ASIA) ,International Rescue Committee (IRC) ,Jesuit Refugee Service (JRS) , Malteser International (MI) , M?decins sans fronti?res - France (MSF-F) ,Norwegian Church Aid (NCA) ,Ruammit Foundation (RF) ,Right To Play (RTP) ,Solidarites (SOL) ,Shanti Volunteer Association (SVA) ,Taipei Overseas Peace Service (TOPS) ,Thailand Burma Border Consortium (TBBC) ,Women's Education for Advancement and Empowerment (WEAVE) ,World Education/Consortium (WE/C) ,ZOA Refugee Care Netherlands (ZOA) โดย AMI, ARC, COERR, HI, IRC, MI, MSF-F, Ruammit, Solidarites ดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ADRA , COEER , ICS , IRC , JRS , NCA , RTP , SVA , TOPS , WEAVE , WE/C , ZOA ดูแลด้านการศึกษา TBBC ดูแลเครื่องอุปโภคบริโภค
(5) TBBC
(6) ข้อมูลในรายงานฉบับนี้นำมาจากสำนักข่าว Irrawaddy, สำนักข่าว S.H.A.N., สำนักข่าว Democratic Voice of Burma , สำนักข่าว Kachin News group , สำนักข่าวเชื่อม , Free Burma Rangers , TBBC และ Burma Issues(7) ข้อมูลจากการรวบรวมโดยคณะกรรมการการศึกษาและการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในระดับรากหญ้า (GHRE)
(8) ผู้จัดการ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550
(9) สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88