บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Siam:
The Law & Map
Midnight
University
ข้อเรียกร้องเชิงกฎหมาย
รายงาน และข้อสรุปเรื่องไทย
สยามประเทศ:
ทบทวนกฎหมายหมิ่นฯ อำนาจผ่านตำราและแผนที่คนไทย
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: บรรณาธิการ
ข้อมูลจากผู้เขียน และรวบรวมรายงานเกี่ยวกับหัวข้อไทย
บทความต่อไปนี้
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน ได้รับมาจากผู้เขียน
และได้รวบรวมเพิ่มเติมจากรายงาน และบทสรุป เกี่ยวกับหัวข้อไทย
โดยสาระสำคัญเกี่ยวเนื่องกับประเด็นดังต่อไปนี้
- ข้อเสนอให้มีการทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
โดย เดวิด สเตร็คฟัส
- ปฏิบัติการของอำนาจผ่านตำรา โดย เคร็ก เจ. เรย์โนลด์
- คนไทยเป็นใคร มาจากไหน? ในแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย (๑)
- คนไทยเป็นใคร มาจากไหน? ในแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย (๒)
สำหรับสองเรื่องหลัง แม้จะชื่อเดียวกัน
แต่ได้มีการเก็บความ และสรุปสาระต่างกัน
ซึ่งได้ช่วยเพิ่มมิติของเนื้อหาให้มีความหลากหลายและครบถ้วนมากขึ้น
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๒๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๘.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ข้อเรียกร้องเชิงกฎหมาย
รายงาน และข้อสรุปเรื่องไทย
สยามประเทศ:
ทบทวนกฎหมายหมิ่นฯ อำนาจผ่านตำราและแผนที่คนไทย
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: บรรณาธิการ
ข้อมูลจากผู้เขียน และรวบรวมรายงานเกี่ยวกับหัวข้อไทย
ฝรั่งพูดเรื่องไทย: กฎหมายหมิ่นฯ เชิงเปรียบเทียบ - อำนาจผ่านตำรา
๑. บทความ: ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ?
เดวิด สเตร็คฟัส : เขียน
พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ : แปล
(เดวิด สเตร็คฟัส จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน
ทำวิทยานิพนธ์เรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและคดีหมิ่นประมาทในประเทศไทย)
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
?
คำถามนี้น่าถามโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การเมืองมีความปั่นป่วน มีการกล่าวหากันไปมาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างในขณะนี้
ประเด็นนี้ควรจะได้รับการครุ่นคิดกันอย่างจริงจัง. อันที่จริง กฎหมายหมิ่นฯ ก็ไม่ต่างจากกฎหมายอื่นๆ
อีกจำนวนมากตรงที่อาจกินความกว้างขวางกว่าที่ตั้งใจไว้แต่แรก และถูกนำไปใช้อย่างพร่ำเพรื่อเสียจนไร้ความเป็นเหตุเป็นผลไป
แทนที่จะเป็นการปกป้องพระเกียรติยศของสถาบันกษัตริย์ กลับเป็นการอ้างสถาบันฯ
เพื่อขจัดความเห็นของฝ่ายหนึ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ชอบ
กฎหมายหมิ่นฯ เท่าที่เป็นอยู่นั้นพ้นยุคพ้นสมัยไปแล้ว บทลงโทษทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา การเพิ่มโทษครั้งสุดท้าย ทำโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 เป็นจำคุก 3-15 ปี. คำสั่งคณะรัฐประหารถูกแก้ไขหรือยกเลิกไปเป็นจำนวนมาก เหลือแต่เรื่องนี้เท่านั้นที่ไม่มีการแตะต้อง ใครล่ะจะกล้าลุกขึ้นมาเสนอให้ทบทวนแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้ โดยไม่กลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ? นักการเมืองหน้าไหนที่อยากจะหาเรื่องใส่ตัว ?
ลำพังการพิจารณาคดีหมิ่นประมาทก็มีเหลี่ยมมุมมากพออยู่แล้ว คดีหมิ่นประมาทไม่ต้องอาศัย "หลักฐาน" และ "ข้อเท็จจริง" ตามปกติ การพิจารณาเส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริงและอุปมาอุปไมย การประเมินเจตนาและผลจากคำพูด (และประเมินความผิดจากการกระทำดังกล่าว) ไม่ใช่สิ่งตำรวจ อัยการหรือศาลมีความเชี่ยวชาญ. ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมาในประเทศไทย คดีหมิ่นประมาทมีจำนวนเพิ่มเป็นสามเท่า มันกลายเป็นมาตรฐานปฏิบัติสำหรับผู้มีอำนาจไปแล้วที่จะตอบโต้กับการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการฟ้องหมิ่นประมาท
คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยิ่งแย่กว่านั้นอีกหลายเท่า การกล่าวหาว่าใครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้ตำรวจต้องตั้งข้อกล่าวหา อัยการต้องส่งฟ้อง และศาลต้องพิพากษาอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง หากใครไม่ดำเนินตามกลไกนี้ก็อาจถูกเล่นงานในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียเอง เนื่องจากว่าสถาบันกษัตริย์มีบทบาทที่ซับซ้อนในสังคมไทย และเนื่องจากว่าคนไทยจำนวนมากกระเหี้ยนกระหือที่จะตั้งข้อกล่าวหาหมิ่นฯ ดังกล่าวการถกเถียงปกติธรรมดาในประเทศอื่นที่มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ทำได้ยากยิ่งขึ้นทุกทีในสังคมไทย
ถึงอย่างไรสังคมไทยก็พาตัวเองมาถึงทางตัน จะไปต่อก็ไม่ได้ จะถอยกลับก็ไม่ได้ ไม่สามารถแม้กระทั่งจะพูดถึงความเป็นปัญหาอย่างที่สุดของกฎหมายนี้ สังคมไทยบีบหนทางให้แคบลงเอง เหลือแต่หนทางเดียวในการจัดการความคิดเห็นที่แตกต่าง คือ กฎหมายปกป้องสถาบันกษัตริย์ ใครก็ตามที่ตั้งคำถามกับกฎหมายนี้จะต้องเป็นคนที่ไม่สนใจจะปกป้องสถาบันฯ จะต้องไม่จงรักภักดี และจะต้องถูกปราบปราม
แต่ว่ายังมีหนทางอื่นให้เลือกอยู่ และจะขอเปรียบเทียบให้เห็นสักเล็กน้อย
- การยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้ก่อให้เกิดภยันตรายต่อสถาบันกษัตริย์ แต่อย่างใด มีการถกเถียงกันในแง่มุมต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์ แต่ก็เป็นไปอย่างสุภาพเสมอ
- รัฐธรรมนูญของนอร์เวย์ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ระบุว่า "องค์กษัตริย์เป็นผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดจะกล่าวหาอันใดมิได้" รัฐธรรมนูญ 2540 ของไทยระบุว่า "กษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะและล่วงละเมิดมิได้ ผู้ใดจะจะกล่าวหาใดๆ มิได้"
- การหมิ่นประมาทกษัตริย์นอร์เวย์เป็นความผิดทางอาญาเหมือนในประเทศไทย โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี แต่มีคดีหมิ่นฯ ครั้งสุดท้ายในนอร์เวย์เมื่อไหร่ ? หรือในอังกฤษ ? หมายความว่าคนนอร์เวย์ไม่ "รัก" กษัตริย์ของพวกเขาเท่าคนไทยหรือ ? หมายความว่าสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษไม่มีปฏิปักษ์อย่าง (ที่มีการนำเสนอข้อมูลใน) www.abolishthemonarchy.co.uk หรอกหรือ ? ไม่เลย แต่การใช้เหตุผลของคนอังกฤษที่นิยมสาธารณรัฐนั้นไม่ได้เป็นการหมิ่นตัวราชินีอังกฤษ ในขณะเดียวกัน เท่าที่มีการสำรวจคนอังกฤษส่วนใหญ่ต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ ประชาธิปไตยเบ่งบาน
ด้วยกฎหมายคล้ายๆ กัน แล้วทำไมการตีความในเมืองไทยถึงกลายเป็นว่าไร้เหตุผลได้ถึงเพียงนี้ อย่างที่นักวิชาการด้านกฎหมาย จิตติ ติงศภัทย์กล่าวไว้ในทศวรรษที่ 2523 (1980) ? ทำไมเลขานุการส่วนพระองค์จึงทำนายไว้ในช่วงเวลาเดียวกันว่าการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะลดลงจนกระทั่งถูกยกเลิกไปในที่สุด ? หมายความว่า ในช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยรุดหน้าในประเทศไทยจากการเสียสละของคนจำนวนมาก ทำไมถึงจะยังมีการใช้กฎหมายนี้อยู่อีก ?
ดูแค่บทสัมภาษณ์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ที่ทำให้บรรณาธิการธนาพล อิ๋วสกุลถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ. ในมุมมอง "ปกติ" สุลักษณ์ให้สัมภาษณ์ว่า ทุกสถาบันจะต้องถูกตรวจสอบได้ ซึ่งรวมถึงสถาบันกษัตริย์ อันเป็นปกติในการปกครองระบอบประชาธิปไตย มันเป็นการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ตรงไหนกัน ? อาการอ่อนไหวเกินเหตุต่อการพาดพิงถึงสถาบันฯ กลายมาเป็นบรรทัดฐานไปได้อย่างไร แล้วทางออกคืออะไร ? ใครต่อใครสามารถกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย บางคนถึงกับตีความว่าจะต้องไม่มีการเอ่ยถึงสถาบันกษัตริย์เอาเสียเลย บางคนก็ตีความว่าไม่ควรมีการถกเถียงกันว่าสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหมายความว่าอะไร
จะอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะไม่มีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับให้ตำรวจ อัยการ หรือศาลเดินตามในการดำเนินคดีหรือพิจารณาคดี ขณะเดียวกัน ทุกคนดูเหมือนจะเข้าใจว่ากฎหมายนี้มีแนวโน้มที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดปากผู้คนในสังคม. ยังดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรัสถึงเรื่องนี้ไว้บ้างแล้วในพระราชดำรัสเดือนธันวาคมปี 2548 หลายคนตีความพระราชดำรัสว่าการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ทำให้พระองค์เดือดร้อน พระองค์ทรงตรัสว่าการที่คนบอกว่า "กษัตริย์ทำอะไรไม่ผิดนั้นเป็นการดูถูกกษัตริย์ เพราะทำไมกษัตริย์จึงจะทำผิดไม่ได้ เพราะแสดงให้เห็นว่าพวกเขามองกษัตริย์ไม่ใช่มนุษย์"
พระองค์ทรงตรัสต่อไปว่า "สมมติว่าเราพูดอะไรผิด เพราะไม่ตระหนัก นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทำผิดโดยไม่ตระหนัก และมาตระหนักว่ามันผิด มันไม่ดีที่จะทำผิดโดยตระหนักว่าทำผิด แต่บางครั้งก็ไม่ได้ตระหนัก ก็ต้องขอโทษ ถ้าพูดโดยไม่ตระหนัก การไม่ตระหนักคือการไม่ระวัง ภายหลังก็จะเสียใจ". พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ว่า การกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันกษัตริย์ พระองค์ทรงตรัสแก่ประชาชนไทยว่า "ถ้าถือคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พระเจ้าอยู่หัวก็จะเสียหาย"
พระองค์ยังทรงตรัสว่า เวลาคนติดคุกด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พระองค์ทรง "เดือดร้อน" และต้องพระราชทานอภัยโทษ เป็นเรื่องยากที่จะคิดว่าใครจะกล้ากล่าวหาเรื่องหมิ่นฯ อยู่อีกหลังจากที่พระองค์ท่านทรงตรัสไว้ชัดเจนขนาดนี้ แต่กระนั้นก็ยังมีการกล่าวหากันอยู่เนืองๆ ในสภาพการเมืองปัจจุบัน ยังมีคนที่พยายามจะถกเถียงในเรื่องดังกล่าว อย่างในบทความนี้ เมื่อไหร่ถึงจะจบ ?
ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดังที่ปรากฏในสังคมการเมืองไทยนั้น เป็นการคุกคามที่ร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รับรองไว้ในมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญ 2540 มันกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์. ดังที่พระองค์ท่านทรงตรัส การใช้ข้อกล่าวหานี้อย่างพร่ำเพรื่อสร้างความเสื่อมเสียให้แก่สถาบันกษัตริย์ และกระทั่งการพูดถึงการหมิ่นฯ ก็ทำให้ผู้พูดสุ่มเสี่ยงต่อข้อหาไม่จงรักภักดี จะควบคุมอำนาจนี้ที่ได้รับการสร้างความเข้มแข็งในยุคเผด็จการอย่างไรดี ?
คำตอบค่อนข้างสามัญ มาตรา 101 และ 102 ในกฎหมายนอร์เวย์เป็นสูตรมาตรฐาน "ผู้ใดก็ตามที่หมิ่นประมาทกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการฯ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี" แต่มาตรา 103 เสริมมาว่า "การฟ้องร้องตามมาตรา 101 และ 102 นั้นจะต้องกระทำโดยพระราชประสงค์หรือความเห็นชอบขององค์กษัตริย์เอง. หากการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเมืองไทยนั้น ยากเกินจินตนาการ หากตำรวจและอัยการจำต้องดำเนินคดี หากสังคมไทยไม่สามารถรำงับความอยากกล่าวหา ทั้งที่ขัดต่อพระราชอัธยาศัยของพระองค์ท่าน การเติมประโยคนี้เข้าไปอาจจะแก้ปัญหาได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกระทำสิ่งที่โดดเด่น 3 ประการนับแต่เดือนธันวาคม 2548
- พระองค์ทรงสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ด้วยการตรัสถึงความไม่เหมาะสมในการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
- พระองค์ทรงเชื้อเชิญการวิพากษ์วิจารณ์ และ
- ขณะที่ผู้คนเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ทรงแทรกแซงและแก้ไขปัญหาการเมือง พระองค์กลับทรงชี้ว่ายังมีทางเลือกตามวิถีประชาธิปไตยอยู่ นั่นคือ "ศาล" นับเป็นพระปรีชาญาณโดยแท้
ด้วยการที่ทั้งโลกให้ความสนใจต่อการเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุด สังคมไทยน่าจะถวายของขวัญแก่พระองค์ หรือมอบแก่คณะองคมนตรีด้วยการสุขุมรอบคอบในการจัดการปกป้องพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ แก้ไขมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาด้วยการเติมประโยคที่ว่า การฟ้องร้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับพระราชบัญชาหรือความเห็นชอบจากพระองค์ท่านเท่านั้น
มิฉะนั้น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในไทยก็จะยังคงเป็นอาวุธในการฟาดฟันศัตรูทางการเมือง รังแต่จะเป็นอันตรายต่อสถาบันฯ ที่กฎหมายนี้มีขึ้นมาเพื่อปกป้องเสียเอง
๒.
รายงาน : ปฏิบัติการของอำนาจผ่านตำรา
ภฤศ ปฐมทัศน์ รายงาน (ประชาไท)
การศึกษาเรื่อง 'ปฏิบัติการของอำนาจผ่านตำรา' โดย เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ พบว่า ตำราอาจจะสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมในยุคหนึ่ง แต่ไม่อาจเป็นข้อมูลอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้ ขณะเดียวกัน ตำราของชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง และคนที่ขาดโอกาสทางสังคมมีน้อย ยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อความรู้กลายเป็นตำรา และต้องไปเกี่ยวข้องกับ 'รัฐ' ความหลากหลายจะหายไปทันที
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดบรรยายหัวข้อ 'ปฏิบัติการของอำนาจผ่านตำรา: ทฤษฎีและการปฏิบัติ' โดย เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ นักวิชาการสาขาสังคมศาสตร์และประวัติศาสตร์เอเชีย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ที่วิเคราะห์และแปลผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ โดยมีผลงานคือ Thai Radical Discourse: The Real Face of Thai Feudalism Today (วาทกรรมก้าวหน้าของไทย: จิตร ภูมิศักดิ์ โฉมหน้าที่แท้จริงของศักดินาไทยในปัจจุบัน) ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ชาติไทย ในแง่ของญาณวิทยา และการสร้างประวัติศาสตร์โดยชนชั้นนำ โดยสำรวจปัญหาเรื่องจักรวรรดินิยม ศักดินา และธรรมชาติของอำนาจ
เคร็ก มองว่า การศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่าน 'ตำรา' (Manual) นั้น มักจะมีแต่ผู้ที่ศึกษาจากชนชั้นนำ เป็นเรื่องจากราชวงศ์เป็นส่วนมาก เนื่องจากเรื่องราวตำราของชนชั้นสูงสามารถหาได้ง่ายและมีเอกสารชัดเจน แต่มีผู้ที่ศึกษาเรื่องปัญญาความรู้ หรือเรื่องตำราของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างน้อยมาก จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เคร็กสนใจศึกษาเรื่องราวของชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง รวมถึงคนที่ขาดโอกาสทางสังคม ผ่านทาง 'ตำรา'
ตำรา มีคุณสมบัติเป็น
'อำนาจนิยม'
เคร็ก กล่าวว่า รูปแบบของความรู้แบบไทยนั้น มีการบันทึกเรียกว่าเป็น ตำรา หรือ
'Manual Knowledge' ซึ่งสามารถเรียกได้ในรูปแบบอื่นๆ อีก คือ 'คู่มือ' หรือ 'คัมภีร์'
โดยคัมภีร์จะเป็นสิ่งที่ใช้ทางศาสนาเสียมากกว่า
ในเรื่องการกำหนดนิยามความหมายของสิ่งที่ศึกษานั้น คำว่า ศาสตร์ (Sastra) ขอนิยามว่าเป็นความรู้ที่ครอบงำสังคม ขณะที่ตำรา นิยามว่าเป็นหนังสือที่เก็บความรู้ ยกตัวอย่างเช่น ตำราทำอาหาร ซึ่งสมัยก่อนอาจจะไม่มีบันทึกเป็นตำรา แต่สืบทอดผ่านการสอนในบ้าน ขณะที่ปัจจุบัน แม่อาจจะไม่สอนหรือไม่ก็ทำไม่เป็นเอง จึงต้องใช้ตำราทำอาหาร. รวมถึงตำราเรื่องความประพฤติ ซึ่งเป็นตำราที่สำคัญมากสำหรับสังคมไทย รวมถึงทุกชาติ ที่สอนให้ปฏิบัติตาม เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่อาจจะมาจากศาสนาหรือเป็นตำราจากในห้องเรียนก็ได้. ทั้งนี้ ความรู้เป็นสิ่งที่สามารถเก็บเอาไว้ และพูดกันปากต่อปากสะสมมาได้ สามารถถ่ายทอดผ่านตำราหรือพิธีกรรม
'ตำรา' นอกจากจะเป็นเหมือนตู้เก็บความรู้แล้ว ยังเป็นเหมือนเครื่องสื่อความรู้กับคนทั่วไปด้วย แต่แน่นอนว่า คนที่อ่านตำราแบบเขียนบันทึก จะต้องอ่านเขียนหนังสือได้ เคร็กกล่าวต่อว่า ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจะวิจัยต่อไปคือ ความรู้ของตำราในแง่ที่เป็นความรู้พื้นบ้าน ที่บอกผ่านกันโดยไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์
กระนั้นตำราที่เก็บความรู้ ก็มีคุณสมบัติเป็น 'อำนาจนิยม' (Authoritarian) และเป็นความเชื่อที่เคร่งครัดตามหลักการดั้งเดิม (Orthodox) ซึ่งคุณสมบัติของความเป็นอำนาจนิยมและความเป็น Orthodox นั้นขึ้นอยู่กับระบบของผู้สอนและตัวรูปแบบตำราเองด้วย เช่น ตำราที่ยึดถือเป็นคัมภีร์ก็จะมีอำนาจนิยมแฝงอยู่ ฯลฯ
ตำราหลายประเภท สอนให้รับรู้ว่า'ความเชื่อ'
เป็น'ความจริง'
เคร็ก เปรียบเทียบระหว่างการถ่ายทอดความรู้ ผ่านการบอกกันปากต่อปาก กับความรู้ที่ถ่ายทอดผ่านตำราที่เขียนบันทึกว่า
เมื่อพันปีก่อน เมืองไทยมีประเพณีการสืบทอดความรู้ด้วยการบอกเล่า ตำราที่สืบทอดมาจากอดีตก็มักจะมาจากการบอกเล่า
เช่น ตำรายา ส่วนกระบวนการถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือนั้น เริ่มจากสมัยคริสตศตวรรษที่
19 ช่วงรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4 เทคโนโลยีการพิมพ์เริ่มเข้ามา ทำให้การบอกกันปากต่อปากมีการนำมาทำเป็นตัวหนังสือ
เป็นตำราบันทึก. แต่ขณะเดียวกัน ในการศึกษาประวัติศาสตร์โดยอาศัยตำราบันทึก ก็มักจะมีปัญหาทางด้านการอ้างอิงข้อมูล
เช่น การที่ตำราบางเล่มไม่ทราบผู้เขียน ไม่ทราบเวลาที่ตั้งไว้ สองประการนี้เป็นปัญหาของนักประวัติศาสตร์มาก
การถ่ายทอดอีกทางหนึ่งในสังคมไทย คือการถ่ายทอดผ่านทางจารีตประเพณีของกูรู (Guru) โดยให้ครูเป็นเหมือนคนที่เก็บความรู้และถ่ายทอด เรื่องนี้ไปกันได้กับเรื่อง 'อำนาจนิยม' ผ่าน 'ตำรา' ด้วยเช่นกัน. นอกจากนี้ เรื่องวาทกรรมการสอน (Didactic Discourse) ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญซึ่งส่งผลต่อการถ่ายทอดความรู้ ตำราหลายประเภทสอนให้คนปฏิบัติตาม หรือสอนให้รับรู้ว่า ความเชื่อนั้นๆ เป็น 'ความจริง'
ลักษณะของตำราประเภทต่างๆ
ของไทย
นักวิชาการจากออสเตรเลียแจกแจงถึงประเภทของตำราในเมืองไทยไว้ ดังนี้
- Cosmologies (จักรวาลวิทยา) คือ ตำราเรื่องโลกทัศน์ เช่น ไตรภูมิพระร่วง จะเป็นคัมภีร์ที่พูดถึงศาสตร์ในฐานะที่มีความจริง มีความเชื่อ พูดถึงเรื่องโครงสร้างของสังคมและของโลกด้วย
- Astrology คือ โหราศาสตร์ เป็นตำราสำคัญมากสำหรับประวัติศาสตร์ เพราะโหรเป็นคนกำหนดเวลา คิดปฏิทิน ดังนั้น โหรกับนักประวัติศาสตร์จึงมีการทำนายอนาคตที่ค่อนข้างเชื่อมโยงกัน
- Grammar คือ ไวยากรณ์ เช่น จินดามณี ซึ่งมีความสำคัญต่อการสอนวรรณกรรมและการเรียนหนังสือ เคยมีคนร้องเรียนว่า เพราะเทคโนโลยีการพิมพ์ ทำให้จินดามณีมีความหลากหลายน้อยลง จากเดิมที่มีความหลากหลายมากกว่านี้ เพราะครูแต่ละคนมีตำราจินดามณีเป็นแบบของตัวเอง
- Medical Texts คือ ตำรายา แต่ก่อนถือเป็นตำราที่สำคัญมาก ช่วงคริสตศตวรรษที่ 15 ยังมีคนหลายเชื้อสายที่มีตำรายาของตัวเอง ต่อมา ต้นรัชกาลที่ 5 ก็เริ่มมีการรวบรวมพิมพ์ตำรายา จนกระทั่งการแพทย์ตะวันตกเข้ามา ทำให้คนไทยเลิกนิยมตำรายา หันไปหาความรู้จากการแพทย์สมัยใหม่ของตะวันตก แต่ช่วงสงครามโลก 20-30 ปีที่ผ่านมา ตำรายาก็มีคนนิยมมากขึ้น มีบ้างที่กลับมาหาตำรายาเหมือนเดิม
- Art of Strategy คือ ตำรายุทธศาสตร์ ที่สำคัญ หรือตำราพิชัยสงคราม ตำราปืนใหญ่ และรวมไปถึงพวกตำราจิตวิทยาสาธารณ์ (Pop Psychology) และการวางแผนทำธุรกิจด้วย
- How to Behave คือ ตำราสอนปฏิบัติตน เป็นตำราจำพวกสอนให้ปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในประเทศเอเชียอาคเนย์ตั้งแต่สมัยอาณานิคม เป็นช่วงที่รับอิทธิพลจากตะวันตกที่นำความทันสมัยเข้ามา รวมถึงสอนวิธีปฏิบัติเพื่อช่วยให้เราทันสมัยอีกด้วย
- Etiquette คือ ตำราสมบัติผู้ดี ซึ่งเป็นเรื่องการรับเอามารยาทจากตะวันตกในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 มาใช้ และไม่ได้เป็นเพียงคำแนะนำเพื่อที่จะเป็นกระฎุมพีเท่านั้น แต่ยังมีผลในแง่ของความเป็นครู ความเป็นนักศึกษา ความเป็นข้าราชการ ฯลฯ โดยตำราที่มีอิทธิพลมาก่อนหน้าเรื่องของ 'สมบัติผู้ดี' คือเรื่อง 'วินัย' (Vinaya) เป็นตำราประเภทหนึ่งที่สอนให้พระปฏิบัติตาม
- Self-Making สุดท้ายคือประเภทเนื้อหาเน้นให้กำลังใจ กำลังความคิด เช่นแนวการเขียนของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นอีกตำราหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการสร้างบุคคลยุคสมัยใหม่
ปฏิบัติการของอำนาจผ่านตำรา
ในการศึกษาเรื่อง 'ปฏิบัติการของอำนาจผ่านตำรา', เคร็ก เรย์โนลด์ มีข้อค้นพบหลายประเด็น
คือ
- ในเรื่อง 'ความสัมพันธ์กับอำนาจนิยม' (Relationship to Authoritarianism) นั้น เคร็กตั้งคำถามว่า อำนาจนิยมมีอยู่ในตำราหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับผู้สอน ? ซึ่งรัฐบาลไทยสามารถใช้ตำราควบคุมกระบวนการสร้างอำนาจต่างๆ ได้ เช่น การมีคู่มือสอนเรื่องลักษณะความเป็นไทย สัญชาติไทย ประชาธิปไตยคืออะไร ?
- ในเรื่อง 'ความสัมพันธ์กับความเชื่อดั้งเดิม' (Relationship to Orthodoxy) พบว่าตำราสมัยนี้มีความเป็น orthodoxy น้อยลง มีความกระจัดกระจาย เพราะมีโรงพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่ได้อิสระมากขึ้น อีกประเด็นคือ เรื่อง 'การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง' ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษารูปแบบที่ชัดเจน (Format) ของตำราว่า มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความรู้ได้มากน้อยแค่ไหน ?
- ในเรื่อง 'ระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นล่าง' (Elite vs. Subaltern / Rural) นั้น ความสัมพันธ์และความขัดแย้งกันทางตำราความรู้ระหว่างชนชั้นนำไทยกับชนชั้นล่าง บางยุคบางสมัยการใช้หนังสือตำราของชนชั้นนำกับชนชั้นล่างค่อนข้างจะเหมือนกัน
- ในเรื่อง 'ระหว่างการเขียนบันทึกความรู้กับการบอกผ่านปากต่อปาก' และเรื่อง 'ความแตกต่างหลากหลายทางภูมิภาค' พบว่ามีความต่างของตำราระหว่างส่วนภูมิภาคต่างๆ กับส่วนกลาง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความพยายามรวบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ได้ทำให้การรับรู้ตำราของภูมิภาคต่างๆ เจือจางลงไป
ข้อสรุปคร่าวๆ ของการศึกษาในเรื่องนี้ เคร็ก กล่าวไว้ว่า ตำราเป็นสิ่งที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้ยาก แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสที่จะได้ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมจากตำราของคนยุคสมัยนั้น ตำราบางชนิดก็สำคัญมากในการสร้างความเข้าใจและตีความประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น
เทคโนโลยีการตีพิมพ์ตำราในปัจจุบัน ส่งผลกระทบในแง่ที่ทำให้ความรู้ในตำรามีฉบับ (Version) ที่หลากหลายน้อยลง แต่ขณะเดียวกัน ก็ให้โอกาสผู้ที่สามารถผลิตตำราการเผยแพร่ความรู้มากขึ้น รวมถึงการเผยแพร่ทางเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต
เคร็กกล่าวว่า มีข้อคำถามที่ว่า ความรู้จากนอกประเทศที่หลั่งไหลเข้ามา มีกระบวนการการปรับตัวให้กลายเป็นไทยอย่างไร ? อย่างตำราบางเล่ม เช่น คู่มืออ่านใจคน มาจากนอกประเทศ แต่อ่านฉบับภาษาไทยแล้วก็ไม่เจอภาษาต่างชาติเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความรู้จากนอกประเทศได้เข้ามาโดยทำให้กลมกลืนไปกับของไทย อย่างตำราคู่มืออ่านใจคน ก็ไม่มีอะไรบ่งบอกเลยว่าเป็นตำราจากต่างประเทศ
ปฏิบัติการผ่านตำรา และอิทธิพลของ'ตำราพรหมชาติ'
เคร็ก กล่าวถึงเรื่อง 'ความเป็นมงคล' (Auspiciousness) ซึ่งเป็นมิติที่สำคัญมากในสังคมไทย
แต่มีคนศึกษาน้อย และตำราที่มีความน่าศึกษาอีกเรื่องหนึ่งคือ ตำราพรหมชาติ อันเป็นตำราที่ทำให้ประเทศไทยมีวัฒนธรรมแห่งชาติ
การที่ชนชั้นนำกับคนที่อยู่ในวัฒนธรรมชาวบ้านต่างก็ใช้ตำราพรหมชาติเดียวกันในช่วงรัตนโกสินทร์ยุคแรก
ซึ่งยังคงรูปแบบของการบอกเล่าต่อกันมาไว้ จนกระทั่งต่อมา ในยุครัชกาลที่ 5 จึงพิมพ์เป็นหนังสือ
ตำราพรหมชาตินั้น จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ถือเป็นตำราที่มีอิทธิพลกับจิตวิทยาการตัดสินใจ (Psychology of decision-making) ทำสิ่งต่างๆ ในวิถีชีวิตของคนไทย
ทันทีที่ความรู้เป็นตำรา
ทันที่ที่เกี่ยวกับรัฐ ความหลากหลายจะน้อยลง
มีคำถามจากวงเสวนาว่า เราจะทราบได้อย่างไรว่า สิ่งตีพิมพ์ที่เรานำมาศึกษานั้น
เป็นสิ่งพิมพ์ที่เป็นต้นฉบับดั้งเดิม หรือเป็น Original ? เคร็กตอบว่า เราไม่จำเป็นต้องศึกษาสิ่งที่เป็น
Original เพราะตำราอย่างเช่น ตำราพรหมชาติ ก็มีหลายเวอร์ชั่น โดยจะเน้นศึกษาฉบับที่ตีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่
5 มาศึกษา ไม่จำเป็นต้องเป็นของ Original
ต่อมา ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนว่า ความรู้บางอย่าง ถ้าถูกทำให้เป็นตำรา จะมีความหลากหลายน้อยลง ขณะที่บางอย่างก็จะยังคงความหลากหลายไว้อยู่ เช่น การดูฤกษ์ยามงานแต่งงาน ฯลฯ ซึ่งเราจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า อะไรที่เกี่ยวกับรัฐ จะไม่ให้ความหลากหลาย (version) มากนัก เนื่องจากมันต้องอิงอยู่กับสิ่งที่รัฐต้องการ ส่วนอะไรที่เป็นของคนทั่วไป จะยังคงมีความหลากหลายอยู่ได้ ตราบใดที่ยังถือว่าไม่กระทบต่อรัฐ
ในส่วนของ ผศ. เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนาวานิช อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า การทำเป็นตำราเหมือนการจัดรูปแบบให้เป็นมาตรฐาน เพื่อแสดงอำนาจของมันจากการให้ความหมายเพียงหนึ่งเดียว และจะทำให้เกิดการครอบงำขึ้นตามมา แต่ขณะเดียวกัน ก็จะมีการขัดขืน (Resistance) โดยสามารถสร้างตำราขึ้นมาต่อรองกับตำรากระแสหลัก ทำให้ความหมายที่มาจากตำราของ 'ข้างบน' เลือนราง/เบลอไป
เขากล่าวว่า การมีความหลากหลายของตำรา เกิดมาจากการให้ความหมายที่ต่างกัน เรื่องนี้เคร็กนำเสนออีกมุมมองหนึ่งว่า ตำราอีกส่วนก็ไม่ใช่การใช้อำนาจเพียงอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวกับการใช้ชีวิต คือ แม้มีตำราอย่าง 'สมบัติผู้ดี' ที่มาสร้างมาตรฐานทางความหมายขึ้นมาครอบงำ แต่ก็มีตำราประเภทอื่นๆ ที่ 'ช่วยเรา' ในเรื่องความรู้สึกและการใช้ชีวิต
ด้าน รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมเรื่องตำรากับอำนาจไว้ โดยตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีตำราพรหมชาติหลายๆ ตำรา โดยอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์สมัยที่ตำราพรหมชาติเกิดขึ้นว่า เป็นช่วงที่รัฐยังไม่มีอำนาจต่อชุมชนมากนัก ชุมชนยังมีส่วนร่วมอยู่ ตำราพรหมชาติจะมีความหลากหลาย โดยมองการผลิตตำราในแง่ 'ระหว่างอำนาจรัฐกับชุมชน' ทั้งนี้ รศ.สายชล เสริมในเรื่องตำราของหลวงวิจิตรวาทการว่า ตำราของหลวงวิจิตรเกิดในยุคที่รัฐมีอำนาจมากขึ้น แต่ใช่ว่าจะสามารถผูกขาดอำนาจได้เด็ดขาด ในขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าอำนาจเข้าไปสู่ชุมชนได้มากน้อยแค่ไหน ไปมีอิทธิพลต่อปัจเจกชนแค่ไหน ต้องดูความหลากหลายของตำรา การผูกขาดตำรา มีด้านการเติบโตของความเป็นปัจเจกชน ในแง่ที่ตำราของหลวงวิจิตรฯ นั้นเป็นการ Empower ปัจเจกชน
๓. คนไทยเป็นใคร มาจากไหน?
ในแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย
คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
ข้อมูลจาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=thai-martial-arts&month=29-09-2007&group=1&gblog=79
หนังสือขนาดรูปเล่ม A4 พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม หนา 88 หน้า ไม่มีจำหน่าย แจกให้สถาบันทั่วประเทศ ผู้สนใจสามารถทำหนังสือขอรับได้ที่กลุ่มภูมิหลัง สำนักวิจัยและส่งเสริมวัฒนธรรมวิถีชน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กทม. 10320 โทรศัพท์ 0-2247-0013 ต่อ 1209, 1219 โทรสาร 0-2247-0022
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนา และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดเสวนาแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่สู่สาธารณะ ณ ท้องพระโรง (หอศิลป์) และสวนแก้ว บริเวณวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร. วันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2550 ตั้งแต่ 15.00 น.
กำหนดการ
- ๑๕.๐๐ น. บรรเลง "เพลงปลุกใจ" ประวัติศาสตร์ชาติไทยของหลวงวิจิตรวาทการ โดย วง Chamber Music ของกรมศิลปากร
- ๑๖.๐๐ น. แนะนำหนังสือ แผนที่ประวัติศาสตร์(สยาม) ประเทศไทย ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ โดย ปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- ๑๖.๑๕ น. เสวนาเรื่อง คนไทยเป็นใคร? มาจากไหน? ในแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย
ผู้ร่วมเสวนา
- ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รศ.สุรพล นาถะพินธุ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
- อ.สถาพร ศรีสัจจัง(พนม นันทพฤกษ์) ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
- รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- รศ.ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พร้อมนิทรรศการ แผนที่ประวัติศาสตร์ไทย
สรุปย่อการอภิปราย
หลัง พ.ศ. 1700 เริ่มมีอักษรไทย และคนไทย
พลังสำคัญที่ผลักดันกระตุ้นให้มีราชอาณาจักรสยามแห่งแรก, มีอักษรไทยครั้งแรก,
และมีคนไทยอย่างแท้จริง เกิดขึ้นเมื่อหลัง พ.ศ.1700 คือพลัง 3 อย่าง ได้แก่ ศาสนามวลชน,
ภาษากลาง, และสำเภาจีน
- ศาสนามวลชน ได้แก่ พระพุทธศาสนา (ลังกาวงศ์) และศาสนาอิสลาม (แพร่หลายถึงรัฐปัตตานีตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2000)
- ภาษากลาง ได้แก่ ภาษาไทย และภาษามลายู
- สำเภาจีน คือเรือเดินสมุทรของจีน
ไทย, มลายู เป็นภาษากลาง
ภาษาไทยและภาษามลายู ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ภาษาไท-ไตเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน
ปัจจัยสำคัญที่สุดน่าจะเป็นการค้าภายใน เนื่องจากพวกไท-ไตตั้งภูมิลำเนาในหุบเขาขนาดเล็กมาก่อน
เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงผลิตอาหารไม่พียงพอ ต้องพึ่งพิงการค้าทางไกลเข้ามาช่วยในการดำรงชีพ
ฉะนั้นจึงน่าจะมีบทบาทมากเกี่ยวกับการค้าภายใน ซึ่งเฟื่องฟูเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว
และทำให้ภาษาไท-ไตกลายเป็นภาษากลาง อย่างน้อยก็ในการค้าภายใน ประชาชนที่มีชาติพันธุ์อันหลากหลาย
ทั้งที่อยู่ในที่ราบลุ่มหรือบนที่สูง พอจะเข้าใจภาษาไท-ไตได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนภาษามลายู ได้แพร่หลายในวงการค้าภายในภูมิภาคอยู่แล้ว เพราะประชาชนที่พูดภาษามลายูมีบทบาทในการค้าทางทะเลมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์. ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาสำนักลังกาตัดสินใจใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางสำหรับการเผยแผ่ อย่างน้อยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่าง จึงยิ่งทำให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษากลางของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในดินแดนแถบนี้มากขึ้น
ในอยุธยา ราชสำนักอาจใช้ภาษาเขมร แต่เมื่อไรที่เป็นเอกสารสำหรับอ่านกันในวงกว้างกว่าชนชั้นสูง เช่น โองการแช่งน้ำหรือกฎหมายหรือจารึกแสดงบุญบารมีของผู้สร้างศาสนสถานได้มีการใช้ภาษาไทย รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับศาสนาด้วย เช่น จารึกที่เกี่ยวกับศาสนา รวมไปถึงวรรณกรรมศาสนา เช่น มหาชาติคำหลวง เป็นต้น เช่นเดียวกับเวียงจันทร์, หลวงพระบาง, และเชียงใหม่ ซึ่งผลิตกฎหมายในระยะเริ่มต้นด้วยภาษาไท-ไต เช่นกัน
ในทำนองเดียวกันกับผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลาม ได้มีการใช้ภาษามลายู เพราะภาษามลายูถูกใช้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ภาษามลายูจึงถูกนำมาใช้สำหรับการเผยแผ่ศาสนาด้วยเช่นกัน วรรณกรรมทางศาสนาซึ่งเขียนขึ้นในระยะแรก แม้แต่ที่เขียนในรัฐที่ไม่ได้ใช้ภาษามลายูก็ยังเป็นภาษามลายู. ความสัมพันธ์กับศาสนาใหม่นี้ทำให้สถานะของภาษาทั้งสอง(ภาษาไทย-ภาษามลายู)สูงขึ้นในสังคม เพราะภาษาทั้งสองถูกนำไปใช้เขียนวรรณกรรมหลากหลายประเภทมากขึ้นนอกจากศาสนา จนทำให้ภาษาอื่นๆ ในคาบสมุทรมลายูและในดินแดนที่เป็นประเทศไทยถูกภาษาทั้งสองเข้าไปแทนที่ในแทบทุกเรื่อง
ความเป็น "คนไทย" มีขึ้นคราวเดียวกับอักษรไทยที่ดัดแปลงจากอักษรขอม (เขมร) และคนบางกลุ่มเรียกตัวเองว่าคนไทย หรือถูกผู้มีอำนาจเหนือกว่ากำหนดให้เรียกตัวเองว่าคนไทยก็ได้ แต่คนอีกหลายกลุ่มเรียกตัวเองเป็นอย่างอื่น เช่น ลาว, มอญ, เขมร, จาม, มลายู ฯลฯ คนในล้านนาและล้านช้าง เรียกตัวเองว่าลาว, คนในรัฐปัตตานีเรียกตัวเองว่ามลายู
ศาสนามวลชนที่เหมือนกัน และการร่วมใช้ภาษากลาง ที่ใช้เคียงกันเช่นนี้ ทำให้เกิดภาพของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นในหมู่ประชากร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอย่างสูง
หลัง พ.ศ.2000 เรียกประเทศว่า
เมืองไทย เรียกตังเองว่าคนไทย
ราชอาณาจักรสยาม (แห่งแรก) เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติและมีนามราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการว่า
กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา หมายถึงบ้านเมืองศักดิ์สิทธิ์สืบเนื่องจาก "ทวารวดี"
มีศูนย์กลางอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา แล้วเรียกกันย่อๆ ว่าอยุธยา (แปลว่าไม่แพ้
หมายถึงชนะ) หรือสยาม แต่มีชาวสยามส่วนหนึ่งเรียกตัวเองอย่างมั่นใจว่าคนไทย
ราชอาณาจักรสยามเกิดจากการรวมกันของรัฐใหญ่ 2 แห่ง คือ รัฐละโว้ (ลพบุรี) อยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา กับรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) อยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่มีชื่อในตำนานว่าสยามประเทศ มีขอบเขตกว้างขวางเชื่อมโยงตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึงลุ่มน้ำโขง. นอกจากนั้นราชอาณาจักรสยามยังผนวกรัฐเล็กๆ เข้ามารวม เช่น รัฐสุโขทัย, รัฐเพชรบุรี, จนถึงรัฐนครศรีธรรมราช ฯลฯ ส่วนเมืองนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยบริเวณสองฝั่งโขงกับมูล-ชี สบกัน เช่น เมืองพิมาย เมืองพนมรุ้ง เมืองโคตรตะบอง เมืองเรอแดว ฯลฯ อย่างไรก็ตาม รัฐล้านนาทางเหนือสุด กับรัฐปัตตานีทางใต้สุด เป็นรัฐเอกเทศอยู่นอกราชอาณาจักรสยามแห่งแรกนี้
เรียกตัวเองว่า "คนไทย"
กลุ่มชนที่เรียกตัวเองว่าคนไทย แล้วเรียกประเทศของตนว่าเมืองไทย มีหลักฐานเก่าสุดอยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ตั้งแต่รัฐอยุธยาและรัฐสุพรรณภูมิ ถึงรัฐสุโขทัย โดยลักษณะเด่นชัดที่บอกความเป็นคนไทยคือ
พูดภาษาไทย เขียนอักษรไทย ซึ่งล้วนจัดอยู่ในตระกูลภาษาไทย-ลาว
ภาษาพูดมีมาก่อนหลายพันปีหรือมีมาพร้อมกำเนิดคนแต่อักษรไทยเพิ่งมีเมื่อหลัง พ.ศ.1700 โดยรับแบบแผนจากอักษรเขมร หรือที่รู้จักทั่วไปว่าอักษรขอม แห่งรัฐละโว้ (ลพบุรี) หมายความว่าแต่เดิมเมื่อตระกูลไทย-ลาว เคลื่อนย้ายมาอยู่ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มจากราว 3,000 ปีมาแล้ว ปะปนกับตระกูลมอญ-เขมร ที่พัฒนาอักษรขึ้นใช้ก่อนจากอักษรปัลลวะ (ทมิฬอินเดียใต้) พวกไทย-ลาวก็ใช้อักษรเขมร แต่เขียนเป็นภาษาไทย แล้วเรียกอักษรขอมไทย (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสืออักษรไทย มาจากไหน ? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2548)
ภาษาไทยยุคแรกๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1700 หรือก่อนมีอักษรไทย จนหลัง พ.ศ.1700 หรือหลังมีอักษรไทยยุคต้นๆ ยังจัดอยู่ในวัฒนธรรมลาว หรือภาษาลาวเพราะมีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีว่าคนพวกนี้มีบรรพชนเป็นลาวตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว. สอดคล้องกับเอกสารลาลูแบร์ที่เป็นราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสเข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แล้วจดปากคำชาวสยามพระนครศรีอยุธยาว่า มีบรรพบุรุษเป็นไทยน้อยคือลาว แล้วยังมีคนอีกพวกหนึ่งเป็นไทยใหญ่ ที่ไม่ใช่บรรพชนของตน แสดงว่าชาวสยามกรุงศรีอยุธยามีความทรงจำว่าบรรพชนเป็นคนลาว แต่เรียกพวกลาวทั้งหมดว่าไทยเหมือนพวกตน คือไทยน้อยกับไทยใหญ่ ส่วนคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สืบมาจากลาวล้วนเป็นไทยสยาม
สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีบรรพชนสายหนึ่งเป็นลาว ก็คือภาษาลาวยังมีเค้าอยู่ในภาษาไทยในกลุ่มคำซ้อนที่ประกอบด้วยคำอย่างน้อย 2 คำมารวมกัน คำหนึ่งจะเป็นคำลาว แต่อีกคำหนึ่งอาจเป็นมอญหรือเขมรก็ได้ ขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยใกล้ชิด เช่น
- ทองคำ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า gold. คำมอญใช้ "ทอง" คำเดียวก็เท่ากับ gold, ส่วนลาวใช้ "คำ" เท่านั้น
- ฝาละมี ฝาเป็นคำลาว, ละมีเป็นคำมอญ หมายถึง ฝาหม้อดิน
- สั่นคลอน สั่นคำลาว, คลอนคำมอญ หมายถึง หลวม ง่อนแง่น
- ฟ้อนรำ ฟ้อนคำลาว, รำเป็นคำเขมร
- เต้นระบำ เต้นคำลาว, ระบำเป็นคำเขมร,
- ดั้งจมูก ดั้งคำลาว, จมูกเป็นคำเขมร ฯลฯ
๔. รายงานเสวนา: คนไทยเป็นใคร
มาจากไหน ในแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย
ประชาไท: วันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2550 งานเสวนา
'คนไทยเป็นใคร มาจากไหน ในแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย' ถูกจัดขึ้นโดยสำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
(สวช.) ร่วมกับ คณะโบราณคดี และสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเข้าใจในเรื่องของประวัติศาสตร์
สังคมและวัฒนธรรมของคนไทยตั้งแต่สมัยอดีตกาล และคล้ายกับเป็นการเปิดตัวหนังสือ
ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เป็นบรรณาธิการ ที่จะนำไปให้สำนักงาน หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการเผยแพร่เป็นความรู้สาธารณะต่อไป
หนังสือเล่มนี้เป็นการมองประวัติศาสตร์ประเทศไทยโดยอธิบายผ่าน 'แผนที่' แบบรื้อ 'มุมมองเก่า' ที่เคยถ่ายทอดความทรงจำ 'ความเป็นไทย' ชุดดั้งเดิมผ่าน 'แผนที่' ของนายทองใบ แตงน้อย ที่แทบไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาก่อน หลังจากที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเริ่มต้นปูทางสร้าง 'ประวัติศาสตร์ไทย' เป็นต้นมา. แม้ว่า สุจิตต์ วงษ์เทศ จะเคยกล่าวเอาไว้ว่า 'อย่าเพิ่งเชื่อ' ทุกอย่างที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนี้ได้สร้างเป็นกรอบ โครงสร้างหรือเป็นอีกหลักไมล์หนึ่งทางการศึกษาประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย ที่ท้าทายให้วงการวิชาการต้องหันกลับมาศึกษาเรื่องนี้กันใหม่อย่างละเอียดอีกครั้ง
ขอเกริ่นเบื้องต้นก่อนเข้าสู่เนื้อหาในการอภิปรายว่า ภาพรวมของ หนังสือ 'แผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย' แบ่งเนื้อหาออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ
ส่วนแรก มองภาพรวมของสุวรรณภูมิโดยเฉพาะประเทศไทย แยกออกเป็น 11 บท ในแต่ละบทจะประกอบไปด้วยเรื่องราวตั้งแต่สมัย 5,000 ปีก่อน เรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2400 ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน เนื้อความในแต่บทจะเล่าเรื่องราวและพัฒนาของคนไทยตั้งแต่เริ่มมีชุมชน จนไปถึงการเป็นรัฐประชาชาติประชาธิปไตย จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศไทย
ส่วนที่สอง บอกเล่าเรื่องราวของ 4 ภาคของไทย คือ ภาคเหนือ (โยนก-ล้านนา), ภาคกลาง (ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา), ภาคใต้ (คาบสมุทรแหลมทอง), และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ลุ่มแม่น้ำโขง-ชี-มูล) ในส่วนที่สองนี้จะเห็นพัฒนาการของแต่ละภาคในเรื่องของสังคม และวัฒนธรรม และให้ความสำคัญกับบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละภาค ทำให้ทราบถึงพัฒนาการที่ไม่เท่าเทียมกันของแต่ภาคอย่างชัดเจน
ส่วนที่สาม เป็นการเปรียบเทียบวัฒนธรรมต่างๆ ในโลก รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยต่างๆ
ดังนั้น หากมองในภาพรวมของหนังสือเล่มนี้แล้ว นอกจากจะเดินไปบนเส้นทางของการทำความรู้จักตัวเองมากขึ้น ยังได้รับรู้ไปถึงเรื่องราวและวัฒนธรรมของโลกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ อีกด้วย
งานเสวนาในครั้งนี้ยังมีส่วนของการวิพากษ์ทั้งตัวหนังสือเอง และอภิปรายต่อไปถึงคำถามสุดคลาสสิกเรื่อง 'คนไทยมาจากไหน' คนไทยมาจากเทือกเขาอันไตหรือว่าอยู่ที่นี่มานานแล้ว ซึ่งวิทยากรประกอบด้วย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.สุรพล นาถะพินธุ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, อ.สถาพร ศรีสัจจัง (พนม นันทพฤกษ์) ศิลปินแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา, รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, และ รศ.ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ สาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
เริ่มต้นกล่าวเกี่ยวกับเรื่องคนไทยเป็นใคร มาจากไหน ว่า
ถ้ามีใครสักคนถามคำถามนี้ ซึ่งคงจะมีสติไม่ค่อยดีที่ถาม คนส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า
"ไม่รู้สิ เป็นใครมาจากไหน" แต่ถ้าถามนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งมีคะแนนกำกับอยู่
จะตอบว่า "คนไทย คือ คนที่พูดภาษาไทย นับถือศาสนาพุทธ มีเชื้อชาติไทย และรักชาติ
ศาสนา พระมหากษัตริย์ และอาจจะแถมด้วยการบอกว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม พร้อมที่จะตอบแทนคุณแผ่นดิน".
แล้วถ้ามีการคะยั้นคะยออีกก็จะตอบว่า "มาจากภูเขาอันไต และอาณาจักรน่านเจ้า
แล้วสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์"
ดร.ชาญวิทย์ จึงตั้งข้อสังเกตว่า ตกลงคำตอบมีตายตัวอยู่แล้ว บางคนอาจคิดว่าคำถามและคำตอบแบบนี้เชยไปแล้วก็ได้ จึงน่าจะเลิกถามและเลิกตอบ แต่ว่าทั้งคำถามและคำตอบนี้ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือของ 'ทองใบ แตงน้อย' ที่ได้กล่าวไว้ว่า คนไทยมีพัฒนาและเริ่มขึ้นจากภูเขาอันไต ในมองโกเลีย เหนือแม่น้ำฮวงโห และเหนือกำแพงเมืองจีน. ตั้งแต่เมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว คนไทยได้อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่างแม่น้ำฮวงโหและแม่น้ำแยงซี จนถูกคนจีนรุกรานจึงอพยพมาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า อยู่ได้ไม่นานก็ถูกจีนและมองโกเลียรุกราน ก็เลยต้องมาตั้งอาณาจักร สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์. "อันนี้คือสิ่งซึ่งสร้างขึ้นมาโดย ทองใบ แตงน้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนโปรแกรมสำเร็จรูปที่ฝังลงไปในหัวของเรา"
ดร.ชาญวิทย์ กล่าวและอธิบายต่อไปว่า ต่อมาคนไทยก็สร้างอาณาจักรสุโขทัยจนเป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่กินพื้นที่ไปจนถึงมะละกาและสิงคโปร์ เรื่องนี้เป็นโปรแกรมที่ใส่เข้าไปในหัวของเยาวชนด้วยเพราะ 'แผนที่' นี้ได้บรรจุลงในแบบเรียน. จากอาณาจักรสุโขทัยก็เรื่อยลงมาจากถึงอาณาจักรอยุธยา ในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประเทศไทยใหญ่ยิ่ง มาจนถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ที่ยิ่งใหญ่ แต่พอมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เสียดินแดน ในหนังสือของทองใบ แตงน้อย บรรจุไว้เลยว่าไทยเสีย สิบสองจุไทย. ถ้าถามว่า ทองใบ แตงน้อย ไปเอาข้อมูลเหล่านี้มาจากไหน คาดว่าคงเอามาจากขุนวิจิตรมาตรา และหลวงวิจิตรวาทการ ทั้งนี้ ขุนวิจิตรมาตรา เป็นผู้ที่ชนะเลิศในการเขียนเรื่องหลักไทย พ.ศ.2471 ซึ่งเขียนบอกไว้ว่า "คนไทยมาจากเทือกเขาอันไต"
ต่อมา เมื่อมีการคิดต่อไปว่าขุนวิจิตรมาตรานำเรื่องราวเหล่านี้มีจากไหน คำตอบที่ได้คือ "ได้มาจากหลวงวิจิตรวาทการ" ซึ่งเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์สากล 5 เล่ม เป็นทางเดินของความรู้และเรื่องราวของคนไทยมาจากไหน ถ้าไล่ข้อมูลต่อไปอีกจะพบว่าหลวงวิจิตรวาทการนำข้อมูลเหล่านี้มากจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เขียนไว้ในพระนิพนธ์คำนำของพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้อ่าน เพราะข้ามไปอ่านเรื่องในสมัยของสมเด็จพระนเรศวร
อย่างไรก็ตาม ดร.ชาญวิทย์ ระบุว่า ส่วนของคำนำของพระราชพงศาวดารฯ เป็นส่วนที่สำคัญมาก เขียนไว้ในปี พ.ศ.2457 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวว่า "คนไทยในเมืองจีนนั้นคือเมืองไทยเดิม กล่าวโดยสรุปเมื่อสมัยอยุธยา หรือสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เราไม่รู้จักเทือกเขาอันไต ไม่รู้จักอาณาจักรน่านเจ้า จนกระทั่งเมื่อลัทธิอาณานิคมได้แผ่อิทธิพลเข้ามา ลัทธิอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศสที่เข้ามาพร้อมความรู้ทางวิชาการแบบใหม่ๆ ที่ว่าด้วยภาษาศาสตร์ มานุษยวิทยา โบราณคดี ฯลฯ นักวิชาการเหล่านี้ก็ได้จัดแบ่งกลุ่มคนแล้วได้มีเขียนเรื่องน่านเจ้า เทือกเขาอันไต"
คนไทยในส่วนต่างๆ รวมทั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นคนไทยรุ่นแรกที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือกับพวกฝรั่งและได้รับข้อมูลเหล่านี้ จนในที่สุดได้มาปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์พงศาวดารสยาม นับตั้งแต่นั้นมา ความรู้เรื่องคนไทยมาจากภูเขาอันไต น่านเจ้า อยุธยา สุโขทัย และรัตนโกสินทร์ใช้เวลาเดินทางมาร่วมร้อยปี ความรู้แบบนี้ถูกสร้างขึ้นและฝังลึกอยู่ในสมองของเรา ยากแก่การเอาออกและลบเลือน. นอกจากนี้ ดร.ชาญวิทย์ ยังได้กล่าวถึงข้อแตกต่างระหว่างประวัติศาสตร์ของทองใบ แตงน้อย และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไว้อย่างชัดเจนอีกว่า
ในหนังสือเล่มนี้ มี 11 บท
- ในบทแรกสุจิตต์ ขึ้น 5,000 ปีแรก มีชุมชนคนดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิ บรรพบุรุษคนไทยและคนอุษาคเนย์ ซึ่งสุจิตต์ใช้วิธีเหมารวม แล้วก็นำเอาหลักฐานทางโบราณคดีมา เช่นหลักฐานว่าด้วยบ้านเก่าบ้าง บ้านเชียงบ้าง บอกว่านี่มีคนอาศัยอยู่ แต่เราไม่รู้ว่าเขาเป็นคนไทยหรือเปล่า เพราะยังไม่มีภาษาที่สามารถจารึกได้
- พอบทที่สอง 4,000 ปี ถอยมาเรื่อยๆ มนุษย์ในแถบนี้รู้จักถลุงโลหะ ทำเครื่องมือ เครื่องใช้แทนเครื่องมือหินที่เคยใช้แต่เดิม มีศาสนา คือ นับถือผี นับถือฟ้าดิน. 4,000 ปี เริ่มมีชุมชนถลุงเหล็ก เติบโตเป็นบ้านเมือง บนเส้นทางการคมนาคมทางบกและทางทะเล มีแผนที่ในการประกอบการอธิบายเหมือนกับ ทองใบ แตงน้อย แล้วก็ขยับมาประมาณหลัง พ.ศ.1 เป็นสุวรรณภูมิ มีการเชื่อมโยงระหว่างตะวันออกกับตะวันตก หมายความว่าจากด้านทะเลจีน กับมหาสมุทรอินเดีย แล้วก็มีแผนที่และชุมชนต่างๆ
- เมื่อ พ.ศ.500 มีรัฐเล็กๆ รับพระพุทธศาสนา มีพราหมณ์ มีผี เป็นบรรพบุรุษของคนที่นี่ แล้วก็มีแผนที่อีก
- หลัง พ.ศ.1000 รัฐใหญ่ในสุวรรณภูมิ เริ่มเข้าเรื่องราวของความเป็นไทย เป็นต้นทางของประวัติศาสตร์สยาม ประเทศไทย
ดูไปจนถึงบทที่ 7- หลัง พ.ศ.1500 รัฐพื้นเมือง เริ่มควบคุมการค้าด้วยตัวเอง มีภาษาซึ่งเป็นภาษาการค้า คือ "ชวา, มลายู" และ "ไทย, ลาว" ซึ่งเป็นภาษาที่ใหญ่มาก จนทำให้คนอื่นหันมาใช้ภาษานี้กันมาก ทำให้มีรัฐใหญ่เกิดขึ้น
- หลัง พ.ศ.1700 มีความเปลี่ยนแปลงโดยมีการเกิดขึ้นของศาสนามวลชน ซึ่งศาสนามวลชนนี้ หมายถึง ศาสนาอิสลาม, พุทธศาสนาแบบเถรวาท. ในขณะที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นั้นเป็นศาสนาของชนชั้นปกครอง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ของศาสนามวลชน. ในขณะเดียวกันก็มีอักษรไทยและคนไทย
- หลัง พ.ศ.2000 มีกรุงศรีอยุธยา ศูนย์กลางการค้านานาชาติ เรียกประเทศว่าเมืองไทย เรียกตัวเองว่า คนไทย
- แล้วสุจิตต์ก็ไล่มาหลัง พ.ศ.2300 เป็นกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ ราชอาณาจักรสยาม
- จนกระทั่งหลัง พ.ศ.2400 เกิดรัฐประชาชาติประชาธิปไตย ยกเลิกชื่อสยาม ใช้ชื่อประเทศไทย
นี่คือเส้นทางของ 'สุจิตต์ วงษ์เทศ' เมื่อเทียบกับของ 'ทองใบ แตงน้อย'
จากนั้น ดร.ชาญวิทย์ วิเคราะห์เพื่อสรุปว่า
สุจิตต์ได้ "ทำอะไร และไม่ได้ทำอะไร"
ถ้านำมาเทียบกับประวัติศาสตร์ของทองใบ แตงน้อย แนวการเขียนของทองใบจะเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ด้วยการใช้แผนที่เป็นกรอบ
คือ แผนที่ประเทศไทยปัจจุบันเป็นกรอบ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นประวัติศาสตร์ไทยในกรอบแผนที่ประเทศไทย
และทัศนคติ อุดมการณ์ในการเมืองนั้นเป็นประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม และเสนาอำมาตยาธิปไตย
เป็นชาตินิยมในรูปแบบของพระราชากับบรรดาเหล่าเสนาอำมาตย์ นี่คือ ประวัติศาสตร์ในแนวของทองใบ
แตงน้อย
ส่วนของคุณสุจิตต์ สิ่งที่พยายามทำก็คือ การเขียนประวัติศาสตร์โดยใช้แผนที่ ซึ่งเป็นประชาชาตินิยม เพราะฉะนั้นในแง่นี้สุจิตต์ใช้มากกว่าทองใบ แตงน้อยใช้ คือ การนำโบราณคดีอันเป็นการใช้หลักฐานบางอย่างที่อยู่ใต้ดินซึ่งมีการขุดค้นอยู่บ่อยๆ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 หรือ ประมาณ 40-50 ปีที่ผ่านมา มาใช้ในแผนที่ประวัติศาสตร์ โดยบวกกับหลักฐานด้านมานุษยวิทยา ซึ่งจุดนี้ สุจิตต์มีฐานข้อมูลที่ทันสมัยทำให้งานมีความหลากหลายซึ่งทำให้เห็นความหลากหลายทางชาติด้านชาติพันธุ์เด่นชัดมาก และยังนำเอาประวัติศาสตร์มาเป็นกรอบในการวางแผนที่
อย่างไรก็ตามแม้จะเห็นได้ชัดเจนว่า งานของสุจิตต์ วงษ์เทศ ใช้ทั้งมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ใส่เข้าไปในแผนที่ของเขาที่ทำให้เห็นมากกว่าแผนที่ของทองใบ แตงน้อย แต่ก็ยังเป็นเวอร์ชั่นที่ไม่เป็นแบบประชาชาตินิยมเสียทีเดียว เพราะยังมีกลิ่นอายของราชาชาตินิยม และอำมาตยาราชาธิปไตยอยู่. ดังนั้นหนังสือ "แผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย" เล่มนี้คงเป็นเพียงกรอบหรือโครงที่ยังไม่มีเนื้อหาที่ชัดเจน ยังต้องการการศึกษาใหม่อย่างละเอียด ส่วนปัญหาที่เกิดจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ
1. ต้องทำการศึกษาถึงที่มาของคนไทยใหม่ เพราะแทบจะไม่มีใครเชื่อแล้วว่าคนไทยเดินจากเทือกเขาอันไต ซึ่งอยู่ในกำแพงเมืองจีน มาจนถึงประเทศไทยในปัจจุบันได้
2. จะต้องศึกษาแผนที่ซึ่งเป็นวิวัฒนาการสมัยใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นมากับลัทธิจักรวรรดินิยม มาจากการค้นพบวิทยาการใหม่ๆ ของชาวต่างชาติที่ได้เข้ามาในเมืองไทย ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
3. ในการศึกษาแผนที่ประวัติศาสตร์ จะต้องใช้ทฤษฎีเป็นตัวส่องนำทาง งานสองชิ้นที่จะช่วยเป็นทฤษฎีในการส่องทางนั้นก็คือ งานที่เกี่ยวกับรัฐชาติและลัทธิชาตินิยม ในหนังสือที่ชื่อว่า Imagined Community โดย Benedict Anderson และหนังสือ Siam Map ของ อ.ธงชัย วินิจกูล เพื่อที่จะเข้าใจงานของทองใบ แตงน้อย และงานของสุจิตต์ วงศ์เทศ ในจุดที่ว่าทำไมงานของทองใบ จึงมีการกล่าวว่า ไทยมีการเสียดินแดน 5-6 ครั้ง แต่งานของสุจิตต์กลับไม่มีตรงนี้ จึงทำให้ควรต้องมีการศึกษากันใหม่อย่างละเอียดอีกครั้ง
รศ.สุรพล นาถะพินธุ :
สำหรับนักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่ได้มาให้มุมมองในเรื่องนี้ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏในประเทศไทย
คือ รศ.สุรพล นาถะพินธุ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวว่า 'คน
(ไทย) อาจจะอยู่ที่นี่ เริ่มต้นที่นี่ ไม่ได้มาจากเขาอัลไต' เพราะ พบส่วนกระโหลกของออสตราโลพิเธคัส
ที่เกาะคา จ.ลำปาง อายุนับแสนปี หรือ พบโฮโมซาเปียนที่ถ้ำลอด จ.แม่ฮ่องสอนอายุ
12,000 ปี และพบอารยธรรมอื่นๆ กระจายไปทั่วในหลายพื้นที่. ช่วงเวลาที่เกิดหมู่บ้านเกษตรกรรมนั้น
โครงสร้างทางสังคมมีการแยกแยะตามแบบลักษณะของที่มาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการปรากฏของวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมหมู่บ้านเกษตรกรรมก็คือ
การติดต่อแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างกัน ทำให้พบเครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอยทะเลที่เหมือนๆ
กันในหลายพื้นที่ ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคกลาง
"เห็นได้ชัดว่ามีการติดต่อ ปฏิสัมพันธ์กันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทำให้เห็นถึงการแบ่งแยกสถานะทางสังคมอย่างเด่นชัด
โดยของที่ได้มาจากที่อื่นจะเป็นของที่หายาก เป็นตัวแปรกำหนดให้เกิดความแตกต่าง
เมื่อผู้ใดมีจะทำให้ดูมีฐานะมากกว่าผู้อื่น ทำให้เกิดสังคมที่เป็นไปในลักษณะซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ทำให้เห็นถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายกัน
อันเป็นปัจจัยทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคมก็คือ ได้พบว่าในช่วงประมาณ 3,000-3,500
ปีมาแล้ว ในพื้นที่บางแห่งของประเทศไทย เกิดชุมชนที่มีความสามารถในการทำงานหัตถกรรมบางอย่าง
และผลิตสิ่งของบางอย่างที่บางชุมชนต้องการ เช่น มีเหมืองทองแดงยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พลูโล้น
และในบริเวณใกล้ๆ เขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรี ได้พบแหล่งถลุงทองแดงยุคก่อนประวัติศาสตร์มากกว่าแสนตัน
"พื้นที่ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของทองแดงจากบริเวณเขาวงพระจันทร์นั้น สันนิษฐานว่าจะเป็นบริเวณภาคอีสานของไทย และบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน เพราะพบของใช้ที่ทำจากทองแดงมากมาย จะเห็นว่าการปฏิสัมพันธ์กันนั้นกินพื้นที่ไกลมาก นำมาซึ่งพัฒนาการของสังคมที่มีสถานะแตกต่างเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น". รศ.สุรพล กล่าวต่อไปว่า เมื่อศึกษาจากของใช้ของคนแต่ละภาคของไทย ทำให้เห็นถึงวัฒนธรรมบางประการที่แตกต่าง ในช่วงระยะเวลานี้มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่หลายกลุ่ม อาจจะพูดภาษาที่แตกต่างกัน แต่เมื่อพื้นที่ต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์กันก็ทำให้เกิดพัฒนาการไปพร้อมๆ กัน
จนในช่วง 2,500 ปี มาแล้ว พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สำคัญ คือมีการผลิตเหล็กและกระจกมากมาย อีกทั้งเกิดวัฒนธรรมซึ่งมีที่มาจากแดนไกลในประเทศไทย วัฒนธรรมดังกล่าว เช่น อินเดีย จีนตอนใต้ เวียดนามตอนเหนือและตอนกลาง ผลที่ตามมาก็คือการเกิดชุมชนขนาดใหญ่ มีการแบ่งพื้นที่ภายในชุมชนอย่างชัดเจน โดยผู้มีอำนาจสูงสุดในชุมชนเป็นผู้แบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ในระยะเวลานั้น กระบวนการในการแลกเปลี่ยนค้าขายมีการพัฒนาไปอีกในระดับหนึ่ง
ในช่วง 1,500-1,600 ปี
มาแล้วประชากรในท้องถิ่นของไทยบางกลุ่ม ตัดสินใจที่จะรับศาสนาพุทธที่มาจากอินเดียมาเป็นศาสนาประจำชุมชน
ทำให้เปลี่ยนกายภาพของชุมชนมาเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาก มีการขุดคูล้อมรอบชุมชนจนกลายเป็นเมือง
ประชากรเหล่านั้นได้กลายมาเป็นประชากรยุคประวัติศาสตร์ของไทย
เมื่อมองจากข้าวของเครื่องใช้ที่เห็นจากยุคประวัติศาสตร์ช่วงแรกๆ ในมุมมองของนักโบราณคดีเห็นว่า
ในบริเวณประเทศไทยปัจจุบันมีคนอาศัยอยู่นานแล้วตั้งแต่ ราว 5,000 ปี คือมีวัฒนธรรมที่เป็นต้นแบบของวัฒนธรรมปัจจุบันเกิดขึ้นมาก่อน
และกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นราว 5,000 ปีมาแล้วนั้น มีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนในพื้นที่ออกไป
แล้วมีการย้ายข้าวของกลุ่มคนจากต่างพื้นที่เข้ามา กระบวนการเคลื่อนย้ายเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ทำให้มีการผสมผสานของวัฒนธรรมเกิดขึ้น
ข้อมูลจาก ประชาไท: ผู้สนใจภาพประกอบสามารถคลิกไปดูได้ที่
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=
9670&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87