โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๑๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐ (November, 15, 11, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

วัฒนธรรมเชิงเดี่ยวทางความคิด"ทำหน้าที่ผลิตตัวแบบทางความคิด ซึ่งมุ่งลดทอนบ่อนทำลายความหลากหลายต่างๆ ในนามของการพัฒนา ความก้าวหน้า และ ความมั่นคงกระแสหลัก. ภัยร้ายแรงของ"วัฒนธรรมเชิงเดี่ยวทางความคิด"คือ เมื่อความแตกต่างหลากหลายถูกทำลาย ก็จะทำให้ทางเลือกต่างๆ อันตรธานไปด้วย และฝังสังคมมนุษย์ไว้กับมายาคติว่าไม่มีทางเลือกใดๆ อีกแล้ว นอกจากยอมจำนนกับความคิดหลักที่ครอบงำผู้คนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ เศรษฐกิจการเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา หรือ การหวนคิดถึงอดีตของตน
15-11-2550

Southern Thailand
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

ข้อเสนอเชิงระบบเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน
ปัญหาภาคใต้: ข้อเสนอเชิงระบบเพื่อสันติภาพถาวร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : บรรณาธิการเผยแพร่
ข้อเสนอเชิงระบบเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน จาก คณะทำงานวาระทางสังคม
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อเสนอต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจาก
ตัวแทนองค์กรวาระทางสังคม เดิมชื่อ "ข้อเสนอเชิงระบบเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน"
ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับบทสรุปเชิงนโยบาย ที่หลายองค์กรร่วมทำการศึกษาและวิจัย
ในหลายปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเนื้อหาหลักประกอบด้วย สาระสำคัญดังต่อไปนี้
- ข้อเสนอต่อกระบวนทัศน์ในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
- ข้อเสนอต่อการจัดการวิกฤต เชิงยุทธวิธี
- ข้อเสนอจากการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น
- ข้อเสนอทางออกระยะยาวของประชาชน

๑. มิติสุขภาพ : ระบบสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีมุสลิมและท้องถิ่นมลายู
๒. มิติพหุวัฒนธรรม : ฟื้นฟูความสัมพันธ์ในชุมชน ร่วมกันแก้ไขปัญหาปากท้อง
๓. มิติชุมชนเข้มแข็ง : สุขภาวะชุมชนกับการระดมการมีส่วนร่วม

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๑๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อเสนอเชิงระบบเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน
ปัญหาภาคใต้: ข้อเสนอเชิงระบบเพื่อสันติภาพถาวร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : บรรณาธิการเผยแพร่
ข้อเสนอเชิงระบบเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน จาก คณะทำงานวาระทางสังคม
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความนำ
การจัดการความรู้ระบบสุขภาพเพื่อสันติสุขภาวะพื้นที่ภาคใต้ ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของกลุ่มบุคคลต่างๆ ทั้งเครือข่ายภาครัฐ, เครือข่ายสถาบันวิชาการ, เครือข่ายสุขภาพ, เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน, และเครือข่ายองค์กรชุมชน ร่วมกันประมวลชุดความรู้ ใน 3 มิติ เข้าด้วยกัน ประกอบด้วย

1. มิติทางด้านสุขภาพ
2. มิติทางด้านพหุวัฒนธรรม และ
3. มิติการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือมิติชุมชนเข้มแข็ง

นำสู่การสังเคราะห์ วิเคราะห์เพื่อการแก้ปัญหา ซึ่งพบว่ายังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมาก แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลความรู้ สติปัญญาที่เกิดจากการทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชนทั้งพุทธและมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้พบเห็นประเด็นสำคัญต่างๆ ที่คิดว่าจักเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง จึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงระบบ เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน เพื่อการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างรอบด้านครอบคลุมยิ่งขึ้น

ด้วยความตระหนักว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนคนธรรมดาสามัญเป็นอย่างมาก และที่น่าห่วงใยยิ่งกว่านั้นคือ เกิดการบั่นทอนสายสัมพันธ์และความไว้วางใจในสังคมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลทางสังคมในระยะยาว เป็นจุดวิกฤตซึ่งมิอาจให้ความสนใจเป็นเพียงด้านความมั่นคงของรัฐเท่านั้น ดังในรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง สังคมไทยควรร่วมกันศึกษาและพัฒนาข้อเสนอของ กอส. ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

จากการปฏิบัติงานและการศึกษาวิจัยพบว่า

- การส่งเสริมฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีมลายูมุสลิม สามารถระดมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการสร้างสันติสุขภาวะได้มาก ทั้งในเรื่องของการดูแลสุขภาพ การแพทย์ การรักษาพยาบาล การรวมกลุ่มช่วยเหลือกันเองในชุมชน สวัสดิการชุมชน การให้ความรู้กับบุตรหลาน การดูแลความสงบสุขในชุมชน ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

- ในงานศึกษาวิจัย พบว่า การสูญเสียรากฐานทำกินของชาวบ้าน เช่น ทรัพยากรทะเล ที่นา ส่งผลให้การพึ่งตนเองของครัวเรือนและชุมชนมีน้อยลง การสูญเสียวิถีชีวิตมลายูมุสลิมที่ดีงาม ทำให้เยาวชนเกี่ยวข้องกับอบายมุข และเยาวชนมุสลิมบางส่วนเข้าร่วมในการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ

- ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมากกว่าความขัดแย้งระหว่าง "ประชาชน" กับ "รัฐไทย"
กล่าวคือ มีความขัดแย้งระหว่างคนที่นี่กับสถานการณ์ของโลกกว้างทั้งหมด เช่น กรณี 9/11 ที่ทำให้มุสลิมทั่วโลกกลายเป็นผู้ร้าย, ความขัดแย้งภายในที่คนภายในเอาเปรียบกันเอง หรือร่วมกับคนข้างนอกเข้ามาเอาเปรียบคนในท้องถิ่น, ความขัดแย้งในครอบครัว, ชุมชน, สังคม, วิถีชีวิต และวิถีการใช้ทรัพยากร เป็นต้น

ข้อเสนอต่อกระบวนทัศน์ในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

1. การแก้ปัญหาที่ให้ความเคารพต่อชีวิต ควรเป็นพื้นฐานของจิตใจในการแก้ปัญหา การให้ความสำคัญของชีวิตคนเหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ อำนาจ ลัทธิอุดมการณ์ ความเชื่อทางศาสนา หรือความเกลียดกลัว

2. รัฐต้องเร่งสร้างสันติภาพ โดยมีความเมตตากรุณา ความช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นตัวขับเคลื่อน

3. การเมืองต้องนำการทหาร เพื่อขจัดสภาพการณ์แก้ไขปัญหาที่ยิ่งสร้างปัญหา เบื้องหลังความรุนแรงมีความไม่สันติเป็นความรุนแรงที่อยู่ในโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่มีความสลับซับซ้อน ด้วยหลายสาเหตุ หลายปัจจัย การทุ่มใช้อำนาจเงินและกำลังทหารไม่สามารถจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนได้

4. การเปิดมุมมองทางสังคมวัฒนธรรมจากชีวิตผู้คน ชีวิตครอบครัว ชีวิตชุมชน ให้เข้าใจความต้องการของผู้คนที่หลากหลายในพื้นที่, เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนทุกระดับเข้าร่วมในกระบวน การสร้างสันติภาพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง และปัญหาของคนในท้องถิ่นเป็นพื้นฐานเบื้องต้น จึงจะนำพื้นที่และสังคมคืนสู่สันติ สุขภาวะที่ยั่งยืน

5. การบริหารจัดการกิจการสาธารณะ ต้องตั้งอยู่บนหลักการความเป็นประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ความยุติธรรม และอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมในระบอบประชาธิปไตย เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรม (Cultural Citizenship)(*) ขึ้นมา ทั้งในแง่มุมของสิทธิในการจัดการดูแลชีวิตสังคมการแพทย์, การจัดการความยุติธรรม, การจัดการทรัพยากรอย่างแตกต่างและเท่าเทียมกัน. ทั้งนี้การบริหารจัดการกิจการสาธารณะ จะต้องเปิดพื้นที่การเรียนรู้ต่างๆให้เข้าใจในความแตกต่าง และเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วย

ข้อเสนอต่อการจัดการวิกฤต เชิงยุทธวิธี

1. มีโครงสร้างคณะทำงานเฉพาะที่เกาะติดสถานการณ์ในหลายระดับ ทำหน้าที่เป็นสมอง มือ และเท้า ประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย มีจุดเชื่อมประสานโดยมีองค์ประกอบหลักเป็นคนในพื้นที่และจากส่วนกลาง เพื่อเชื่อมต่อการสื่อสารกับผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบายระดับบน

2. การพัฒนา เวทีร่วมคิด (Crisis Forum) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ติดตามการแก้ปัญหา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เน้นการสร้างความสัมพันธ์ระดับแนวระนาบ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน

3. ศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรง

4. เปิดพื้นที่ความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วนในการร่วมคลี่คลายปัญหาความรุนแรง

5. การจัดการในภาวะวิกฤต ควรแตกต่างจากสถานการณ์ปกติเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ทันเหตุการณ์

ข้อเสนอจากการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น

1. ส่งเสริมศักยภาพของคนในชุมชนท้องถิ่นและสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการรวมกลุ่มบริหารจัดการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ, การจัดการทรัพยากร, การดูแลสังคมของตนเอง.

2. เร่งแก้ปัญหาปากท้องซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของประชาชน สนับสนุนการฟื้นฟูอนุรักษ์ฐานทรัพยากร ทะเล แม่น้ำ ทุ่งนา ป่าพรุ ป่าชายเลน ป่าต้นน้ำ เช่น ส่งเสริมองค์กรชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งและการฟื้นฟูนาข้าว เป็นต้น

3. บูรณาการการศึกษา สร้างวิถีชีวิตความเป็นคนดี มีคุณธรรมที่สอดคล้องกับท้องถิ่น กับวิชาความรู้สมัยใหม่ เพื่อให้เป็นกำลังสติปัญญารับใช้ชุมชนท้องถิ่น

ข้อเสนอทางออกระยะยาวของประชาชน
ประชาชนต้องร่วมกันสร้างทางเลือกใหม่ ที่เกิดจากการรวมกลุ่มจัดตั้งของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ทางเลือกใหม่ทางการเมืองที่ประชาชนสามารถที่จะควบคุมดูแลพฤติกรรมของผู้มีอำนาจ ในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรของสังคม ทางเลือกใหม่ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง และต่อรองกับสังคมในวงกว้างได้

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๑. มิติสุขภาพ : ระบบสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีมุสลิมและท้องถิ่นมลายู

ความเชื่อเดิมและกติกาสากลที่ว่า สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ จะมีความปลอดภัยจากการปองร้ายของขบวนการก่อการร้าย อาจจะไม่เป็นจริงในวิกฤตที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากมีเหตุการณ์เผาสถานีอนามัย ลอบยิง และการขู่วางระเบิดโรงพยาบาลหลายครั้งในหลายแห่ง. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย ขวัญและกำลังใจของบุคลากรด้านสาธารณสุขถูกบั่นทอนลงทุกครั้งที่มีสถานการณ์เลวร้าย ด้วยความกลัว ความเครียด ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว

ท่ามกลางความสับสน ไม่รู้สาเหตุ ทำให้เกิดความหวาดระแวง นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจต่อทหาร ตำรวจ ชุมชน และที่สำคัญคือเกิดความไม่ไว้วางใจในเพื่อนร่วมงาน ไม่กล้าพูดคุยกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชน และยิ่งไม่มีเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ยิ่งสร้างความอึดอัดมากขึ้น. หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป จะยิ่งกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขและสุขภาพของชุมชนจนยากจะเยียวยา ความเร่งด่วนของการสร้างและฟื้นฟูสุขภาวะทั้งด้านกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคี ทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันแก้ปัญหา

การปรับตัวของระบบบริการสาธารณสุข ในสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มต้นด้วย

1. การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสุขภาพ
สิ่งที่ท้าทายแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อันได้แก่ การรักษา"คน"ไม่ใช่รักษา"โรค" เป็นระบบสุขภาพที่มี"ความเป็นมนุษย์" (humanize health care) ในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ การรักษา"คน"ยังได้ขยายไปสู่การรักษาชุมชนที่จะทำให้"ชุมชนเข้มแข็ง" ทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นว่า ความสุขทั้งกาย ใจ วิญญาณ มาจากชุมชนที่อบอุ่น แม้จะต่างวัฒนธรรม ต่างความคิดกันก็ตาม

กระบวนทัศน์ที่มองเห็น"คน"ไม่ใช่"โรค" เริ่มต้นจาก"คน"ที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ หมอ พยาบาล ยามโรงพยาบาล คนขับรถฉุกเฉิน ผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาของรัฐ ผู้หญิงตั้งครรภ์ โต๊ะบิดัน(หมอตำแย) โต๊ะอิหม่าม(ผู้นำศาสนาและชุมชน) ผู้นำชุมชนอื่นๆ เด็กขาดสารอาหาร แม้กระทั่งผู้ก่อความรุนแรง ซึ่งความหลากหลายของผู้คนเหล่านี้ ได้เข้ามาสัมพันธ์และผูกโยงเข้าหากันในสถานบริการสาธารณสุข

การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของบุคลากรในระบบบริการสาธารณสุข และประชาชนในระบบสุขภาพ จากแนวดิ่งเป็นแนวระนาบ ทำให้ผู้คนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น มีความรัก ความเอื้ออาทร และห่วงใยทุกข์สุข เป็นเสมือนญาติมิตรในครอบครัวเดียวกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาชีวิต ปลอบขวัญ และสร้างกำลังใจให้กันและกัน

2. การดำเนินการพัฒนาเพื่อสร้างให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพในการบริการ
การรับรองคุณภาพโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์สุขภาพชุมชน เพื่อให้การดูแลสุขภาพแก่ประชาชนในชุมชน ช่วยลดการเข้ามาแออัดรักษาในโรงพยาบาล คัดกรองผู้ป่วยในชุมชนก่อนเข้ามาโรงพยาบาล สามารถสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังปัญหาด้านสุขภาพในชุมชน ช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องหลังจากรักษาในโรงพยาบาลแล้ว

นอกจากนี้ยังมีโครงการและการดำเนินการในเชิงรุกเข้าสู่ชุมชน มิใช่ตั้งรับผู้ป่วยแต่ในโรงพยาบาลเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Health Care) ซึ่งจะมีการออกเยี่ยมผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และการเยี่ยมบ้านยังเป็นภารกิจของบุคลากรด้านสุขภาพ จะทำให้เจ้าหน้าที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและมุมมองต่อผู้ป่วย จากการมองโรคเห็นแต่อวัยวะเป็นการมองที่เห็นคนทั้งคน เห็นกว้างกว่าคนสู่ครอบครัว สิ่งแวดล้อมและชุมชน. แต่ในสถานการณ์ความรุนแรงทำให้งานบริการเชิงรุกในหลายพื้นที่เป็นไปได้ยาก งานด้านส่งเสริมและป้องกันโรคลดลง ร้อยละ 70, การเยี่ยมบ้านลดลงร้อยละ 60, ซึ่งจะส่งผลต่องานรักษาพยาบาลในระยะยาว ที่จะมีการซ่อมสุขภาพมากกว่าการสร้างสุขภาพ

3. การสร้างความเข้มแข็งและการดูแลรักษาสุขภาพของชุมชน
สุขภาพไม่ใช่โรคทางกายเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงด้านจิตใจ สังคมและจิตวิญญาณด้วย ดังนั้นชุมชนต้องร่วมกันสร้างเครือข่ายด้านสุขภาพเพื่อสุขภาวะขึ้น การเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างความเป็น"เจ้าของ"ระบบสุขภาพร่วมกัน เป็นสิ่งที่มีความหมาย รวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนกับภาคส่วนอื่นนอกจากสาธารณสุข เชื่อมเป็นเครือข่ายสังคมเพื่อสร้างสุขภาวะ ร่วมกันคิดหาทางออก แก้ไขปัญหาวิกฤต ได้แก่

เครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ที่ได้ชี้ให้เห็นว่า การทำงานต้องมีเป้าหมายเพื่อสุขภาวะตามวิถีมุสลิม และใช้กระบวนทัศน์อิสลามเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนา

เครือข่ายครูเพื่อชุมชน ต้องทำทั้ง 2 ทาง คือ 1. สร้างองค์กรครูให้เข้มแข็ง มีระบบความปลอดภัย มีแรงจูงใจ และมีความมั่นคง
2. การจัดการเรียนการสอนที่ต้องเชื่อมโยงกันระหว่างครู นักเรียน และชุมชน

เครือข่ายวิชาการเพื่อชุมชน ฟื้นภูมิปัญญาและความสมบูรณ์ของทรัพยากร สร้างภูมิคุ้มกัน

เครือข่ายองค์กรมุสลิมเพื่อสันติภาพ เชื่อว่า มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกัน และจำเป็นต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจในกันและกัน

เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ เชื่อว่า จะอยู่ร่วมกับมุสลิมได้ วัฒนธรรมเดี่ยวเป็นสิ่งที่อยู่ไม่ได้
ขัดแย้งกับความเป็นจริงที่มีความหลากหลายของผู้คน ชุมชน และวัฒนธรรม

4. การจัดระบบบริการ กิจกรรม และโครงการส่งเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตมุสลิม
ในบริบทที่ผู้คนและชุมชนนับถือศาสนาอิสลาม ชาวบ้านก็มี"ความกลัว"และ"ความหวาดระแวง"ที่ต่างออกไปจากสังคมไทยทั่วไป เช่น กลัวจะถูกแอบทำหมัน กลัวจะไม่ได้กล่าวอะซันเป็นพรแก่ลูกแรกเกิด ซึ่งขัดกับหลักศาสนา. จากการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่ทำให้ "คนไข้", "ผู้ป่วย", และ "ผู้รับบริการ" กลายมาเป็นญาติมิตร ได้สร้างให้เกิดรูปแบบและวิธีการบริการสุขภาพที่หลากหลายสอดคล้องเหมาะสม และถูกต้องต่อความต้องการวัฒนธรรมความเชื่อ และประเพณีปฏิบัติโดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการคล้ายคลึงกันทุกโรงพยาบาล ได้แก่ การเอื้ออำนวยให้บิดาหรือญาติผู้ใหญ่สามารถทำพิธีอะซานให้แก่เด็กแรกเกิด

การเสริมศักยภาพให้ผู้นำศาสนามีความรู้และความเข้าใจ สามารถเชื่อมโยงหลักคำสอนของศาสนากับเรื่องสุขภาพได้ เพราะผู้นำทางศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจ และรักษาไว้ซึ่งความเชื่ออันส่งผลถึงวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมของชุมชน ถ้าผู้นำตระหนักและรับผิดชอบต่อการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพ ก็จะส่งผลให้คนในชุมชนหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้นด้วย

การสร้างระบบกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้อง ถูกต้อง และเหมาะสมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอิสลาม ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจความแตกต่างได้แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น ความจำเป็นต้องจัดบริการอย่างเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่การให้"อภิสิทธิ์" แต่เป็น"การยอมรับ" และให้"ความเคารพ"ต่อสิ่งที่แตกต่างออกไป. นอกจากการแพทย์วิถีมุสลิมแล้ว ก็ควรเข้าใจ "วิถีมุสลิม" ด้วย เช่น ปัญหาอนามัยแม่และเด็กของชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเป็นประเด็นที่คล้ายกัน หญิงตั้งครรภ์บางส่วนยังนิยมคลอดบุตรกับผดุงครรภ์โบราณหรือโต๊ะบิดัน เมื่อคิดจะคลอดกับหมอตำแย การฝากท้องที่โรงพยาบาลจึงลดความจำเป็นลงไป ทำให้การฝากท้องมีความครอบคลุมที่ต่ำ

การเกิดของชาวมุสลิม
การคลอดจะเกิดขึ้นที่บ้านด้วยความอบอุ่นของครอบครัว ญาติมิตรที่ห้อมล้อมให้กำลังใจ ทันทีที่เด็กเกิดมา เสียงแรกที่เด็กได้ยินจะเป็นเสียงของผู้เฒ่าที่เป็นที่เคารพนับถือในชุมชน มากล่าวอะซานแก่เด็ก รกจะถูกนำไปฝังใกล้บ้าน เด็กไม่ต้องถูกเจาะเลือด ถูกฉีดวัคซีนในช่วงเวลาแห่งความบอบบางนั้น เด็กไม่ถูกแยกไปอยู่ห้องเด็กอ่อนโดดเดี่ยวแต่ตามลำพัง แม่จะได้รับการดูแลให้อยู่ไฟ. กว่าครึ่งของหญิงตั้งครรภ์ในสังคมมุสลิมชนบทยังนิยมคลอดบุตรที่บ้าน ถึงแม้ว่าโต๊ะบิดันในรุ่นสุดท้ายนี้จะมีอายุมากและไม่มีการสืบต่อการเป็นโต๊ะบิดันอีกแล้ว แต่คนรุ่นที่เหลืออยู่นี้ก็ยังสามารถทำคลอดได้อีกนับสิบปี

ดังนั้น ทางโรงพยาบาลจึงเน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพของโต๊ะบิดัน มีการอบรมโต๊ะบิดัน สนับสนุนอุปกรณ์การทำคลอดเช่นกรรไกรตัดสายสะดือ แอลกอฮอล์ มีกิจกรรมพบปะแลกเปลี่ยนกันทุก 6 เดือนที่โรงพยาบาล โดยมีการเยี่ยมชมห้องคลอด ทำความรู้จักกับพยาบาลห้องคลอด เพื่อให้แพทย์และพยาบาลมีความเป็นพันธมิตรกับโต๊ะบิดัน ยอมรับการดำรงอยู่และบทบาทของหมอตำแย มอบผ้าปะเต๊ะหรือผ้าโสร่งเป็นของกำนัลในความเป็นมิตร เพื่อให้ช่องว่างของการส่งต่อหากแม่และเด็กมีความผิดปกติในขณะทำคลอดลดลง. ยิ่งถ้าหาก แพทย์หรือพยาบาลได้เรียนรู้วิธีทำคลอด วิธีการดูแลแม่และเด็กแรกคลอดในวิถีของโต๊ะบิดัน จะทำให้มีเข้าใจในสถานการณ์เมื่อต้องรับผู้ป่วยมาดูแลต่อเนื่องมากขึ้น รวมทั้งสามารถให้ข้อเสนอแนะแก่โต๊ะบิดันได้อย่างตรงจุด

การตายของชาวมุสลิม
นอกจากเรื่องการเกิด คือเรื่องการตาย ในอิสลามความตายมิได้เป็นการสิ้นสุดหรือเป็นจุดสุดท้ายของชีวิต หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่มนุษย์จะก้าวไปสู่ชีวิตที่แท้จริงและนิรันดร์ ดังนั้นในระยะเวลาสุดท้ายของชีวิต เสียงสุดท้ายที่ผู้ป่วยควรได้ยินคือเสียงสวดจากคัมภีร์อัลกุรอ่าน. ที่โรงพยาบาลบางแห่งในจังหวัดชายแดนใต้ จะมีการนำคัมภีร์อัลกุรอ่านและยาซีนหรือบทสวดมาวางไว้ให้หยิบได้ง่ายที่ตึกผู้ป่วยใน เพื่อญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมจะได้สะดวกในการหยิบมาอ่านและขอพรให้กับผู้ป่วย. เมื่อมีการตายเกิดขึ้นอิสลามได้กำหนดจัดการเรื่องฝังศพให้เสร็จเรียบร้อยโดยเร็ว และประหยัดที่สุด เพื่อที่จะไม่เป็นภาระแก่คนที่อยู่ข้างหลัง โดยปกติแล้ว พิธีการฝังศพของมุสลิมจะเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง การเก็บศพของผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ตามแนวปฏิบัติปกตินั้นขัดต่อหลักปฏิบัติในศาสนาที่ต้องรีบจัดการศพโดยเร็ว

โรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงอนุญาตให้นำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ในทันที และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติ ในบางโรงพยาบาลการส่งศพกลับบ้านด้วยรถพยาบาลนั้นเป็นสิ่งที่กระทำกันเป็นปกติ โดยไม่ต้องมีการร้องขอเป็นกรณีพิเศษสำหรับชาวบ้าน เนื่องจากการหารถเหมาเพื่อส่งศพกลับบ้านนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก นับเป็นน้ำใจของโรงพยาบาลที่มีต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่ในวาระสุดท้ายของชีวิต

คนมุสลิมมีความเชื่อว่า ร่างกายของคนที่ตายไปแล้ว มีความรู้สึกเจ็บปวดเหมือนคนเป็น จึงต้องปฏิบัติต่อร่างกายของคนตาย ด้วยความเคารพเหมือนปฏิบัติต่อคนเป็น จะต้องไม่ให้ศพเป็นที่เปิดเผยในสภาพอุจาด. การผ่าศพ (autopsy) จึงเป็นข้อห้ามในศาสนาอิสลาม หากศพมีบาดแผลต้องทำการเย็บให้สวยที่สุด เพื่อนำร่างกายอันเป็นของขวัญจากพระผู้เป็นเจ้ากลับคืนไปในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด การปฏิบัติต่อศพนั้นจึงต้องปฏิบัติอย่างนุ่มนวล ให้เกียรติ แม้จะเป็นร่างที่ไร้ชีวิต เป็นการดูแลที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางจนวาระหลังความตาย

5. การรักษาความเจ็บป่วยของชุมชน
บางครั้ง โรงพยาบาลต้องช่วยรักษาความเจ็บป่วยที่ไม่ใช่"โรค"ในตำรา หากเป็น"โรค"ที่เกิดจากการพัฒนา การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม และการถูกเบียดเบียนด้วยกงล้อของทุนนิยม แสดงให้เห็นถึงการที่โรงพยาบาลต้องเป็น"ส่วนหนึ่ง" และเป็น"เนื้อเดียว" กับชุมชนที่ไม่อาจแยกกันได้. ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน ในที่สุดก็จะส่งผลต่อสุขภาพประชาชนอย่างเป็นพลวัตร อันมีประสบการณ์จำนวนมาก ที่ยืนยันถึงความเจ็บป่วยจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างโรงพยาบาลและชุมชนที่แนบแน่น จะทำให้ชาวบ้านมีทัศนคติที่ดี หวังเป็นที่พึ่งได้

ด้วยความตระหนักว่า การดูแลผู้คนในสังคมด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ไม่เลือกข้างฝ่ายใด และ"ความรุนแรงไม่อาจแก้ไขด้วยการตอบโต้ด้วยความรุนแรง" ซึ่งเป็นแนวคิดแบบสันติวิธี จะเป็นทางออกท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้น บุคลากรด้านสาธารณสุขจึงพยายามรักษาระดับการเปิดบริการให้เป็นปกติมากที่สุด ในสถานการณ์ความรุนแรง ยิ่งต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานการบริการให้ดีที่สุด และสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมมุสลิม ไม่ว่าจะเกิดการข่มขู่ คุกคาม การเผาทำลายสถานีอนามัยไปหลายแห่ง ทั้งนี้เพื่อร่วมกันสร้างศรัทธาประชาชน เพื่อประชาชนจะช่วยกันปกป้องและดูแลกันและกัน. การทำงานเพื่อรักษาสุขภาพคน ก็จะเป็นการทำงานเพื่อสร้างสันติภาพและสันติสุขให้เกิดขึ้นด้วย

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

1. ปัจจุบันการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการในพื้นที่ของกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการภายใต้ศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต) ให้เป็นศูนย์อำนวยการ สั่งการ และประสานงานกับหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางอย่างพอเพียง และมีอำนาจในการตัดสินใจ การบริหารจัดการโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเฉพาะภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลต่อผู้คนในพื้นที่ มีประสิทธิภาพและความเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ที่มีความเฉพาะเจาะจงและภาวะวิกฤต

2. เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในภาคสาธารณสุข การดูแลสุขภาวะของตนเองและชุมชน สร้างเครือข่ายนักสันติสุขภาวะ อาสาสมัครดูแลสุขภาพในชุมชน

3. จัดตั้งศูนย์ประสานการเยียวยาระดับเขต (ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 - ศบ.สต. - ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศวชต.) ทำหน้าที่ ประสานงานเชื่อมต่อองค์กรต่างๆ และบริหารจัดการการจัดสรรทรัพยากร ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม จัดทำทำเนียบและฐานข้อมูลกลางเพื่อการเยียวยาเพื่อการติดตามผู้ได้รับผลกระทบและประเมินผลการเยียวยา และจัดตั้ง One stop service center ด้านการเยียวยาในระดับอำเภอ (ศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตทุก รพ.) ทำหน้าที่ประเมินความต้องการอย่างเป็นองค์รวม ประสานงาน ส่งต่อ และติดตามความครอบคลุมของการเยียวยา

4. จัดตั้งเครือข่ายการจัดการความรู้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ เครื่องมือ ถอดบทเรียน ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การฝึกอบรม จัดทำคู่มือ จัดการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เป็นฐานข้อมูลกลางเพื่อการพัฒนา ทั้งด้านงานวิจัย สาธารณสุข ประชากร เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาและพัฒนา รวมทั้งการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนเพื่อจัดการข้อมูลข่าวสาร เพื่อการเฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๒. มิติพหุวัฒนธรรม : ฟื้นฟูความสัมพันธ์ในชุมชน
ร่วมกันแก้ไขปัญหาปากท้อง


ความขัดแย้งที่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากมาย ที่ทำให้พื้นฐานของสังคมสั่นคลอน ครอบครัวแตกแยก ชุมชนถูกทอดทิ้ง ทรัพยากรเสื่อมโทรมขยายเป็นวงกว้างและรวดเร็วควบคู่กับการพัฒนาให้ทันสมัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ภายใต้กรอบโลกาภิวัตน์ ตลาดเสรี และการส่งออก. ขณะที่ชุมชนท้องถิ่นยังมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม แม้ว่าจะถูกผนวกเข้ากับระบบตลาดมากขึ้นแล้วก็ตาม คนชั้นล่างปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง มีความสับสนมากมาย ในสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาสังคม ยาเสพติดระบาดทั่วไป

สำหรับความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสลับซับซ้อน มีการใช้ความรุนแรงจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล เช่น ตำรวจ ทหาร. ฝ่ายต่อต้านรัฐ ขบวนการต่างๆ เช่น กลุ่มอุดมการณ์ กลุ่มอุดมการณ์เข้มข้น กลุ่มคับแค้นจากการถูกบีบคั้น และฝ่ายอิทธิพล เช่น กลุ่มค้ายาเสพติด กลุ่มค้ามนุษย์ กลุ่มค้าอาวุธ. ที่ผ่านมา คนจำนวนน้อยได้ประโยชน์จากความรุนแรงนี้ ขณะที่ประชาชนคนจำนวนมากไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด หรือเชื้อสายชาติพันธุ์ใด ต่างต้องทุกข์ยากลำบากได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต

การศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์สังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และความเชื่อที่เกิดขึ้นในสังคมท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเข้าใจถึงสาเหตุปัญหาและสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีระบบ. การศึกษาใน 3 ระดับ คือระดับชาวบ้านในพื้นที่, ระดับนักวิชาการและนักพัฒนา, และระดับนโยบายกับสาธารณชน, ได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. ความรู้และความไม่รู้ กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
การศึกษาถึงกำเนิดและความเป็นมาของการสร้างมายาคติว่าด้วย "ลัทธิแบ่งแยกดินแดน" ในวาทกรรมการเมืองสมัยใหม่ของรัฐไทย เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผูกพันและรองรับมโนทัศน์การแบ่งแยกดินแดน มาจากกระบวนการสร้างชาติและประชาธิปไตย และทำให้เกิดมายาคติในเรื่อง "กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ" ด้วย กล่าวได้ว่าเหตุการณ์และความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้นั้น มีทรรศนะในการมองที่ตรงข้ามกันระหว่างรัฐและประชาชนมลายูมุสลิมภาคใต้. ในขณะที่รัฐมองว่าการต่อต้านลุกฮือต่างๆ ของคนมลายูมุสลิมนั้นเป็นการ"กบฏ", แต่ฝ่ายประชาชนมุสลิมเองกลับมองว่า การเคลื่อนไหว การประท้วงต่อสู้ต่างๆ นั้นคือ การเรียกร้องความเป็นธรรม และสิทธิของพลเมืองกับรัฐที่ควรให้เคารพวัฒนธรรมความเชื่อของคนกลุ่มน้อย

การเสวนาเพื่อฝ่าข้าม "อคติในการเรียนรู้ของคน" และความพยายามที่จะมองปัญหาให้เห็นถึงประชาชนคนสามัญ ข้างใต้ของการขัดแย้งในระดับผู้นำหรือชนชั้นนำ ปัญญาชน ที่สำคัญ คือ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นโยบายของรัฐดูประชาชนเหมือนกับเป็นสมบัติชิ้นหนึ่งที่จะทำ "สงครามแย่งชิง" เพราะเมื่อมองว่าจะแย่งประชาชน ก็มักจะแย่งด้วยการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าการมองไปว่าปัญหาของชาวบ้านจริง ๆ คืออะไร และช่วยกันแก้ที่ปัญหาพื้นฐาน

การใช้วาทกรรมแบ่งแยกดินแดน เป็นการเลือกใช้ที่ตั้งใจ เพราะผู้ใช้รู้ว่าสามารถหาความสนับสนุนจากสาธารณชนได้ง่ายกว่าวาทกรรมอื่น หากดูทัศนะจากประชาชนในพื้นที่ จะมองกำลังทหารที่เข้าไปว่า เป็นการใช้กำลังเข้าไปยึดครอง ทำให้ประชาชนไร้อำนาจในการกำหนดชะตากรรม อนาคต หรือวิถีชีวิตของตนเองในพื้นที่

อาจมีคนส่วนน้อยที่มีความคิดมากไปกว่าการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ แต่จะเรียกว่าเป็นทฤษฏีแบ่งแยกดินแดนได้หรือไม่? ในโลกปัจจุบัน ความรุนแรงมีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนไม่จำเป็นต้องมาจากคนจำนวนมากก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีแนวร่วมจำนวนมากถึงจะทำได้ ความรุนแรงในปัจจุบันเกิดขึ้นจาก 2 ฝ่าย การที่รัฐจับผู้ต้องสงสัยถูกเพียงแค่ 50%, ก็แปลว่าจับผิด 50%. ปัญหาเพิ่มขึ้นแน่ ทิศทางของปัญหาจะขยายวงมากขึ้น

การสร้างสันติสุข ต้องใช้ต้นทุน ต้องเปลี่ยนวิธีคิดหลายอย่างในสังคม วิธีคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมือง วิธีมองประเทศไทย สังคมไทย ความพยายามดึงประชาชนมาอยู่ฝ่ายรัฐ การชนะใจประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นไปได้ หากมีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ มีความยุติธรรม ปกป้องคุ้มครองประชาชนที่สุจริตให้ได้มากขึ้น. การใช้ความรุนแรง แม้จะสร้างความหวาดกลัวได้มาก แต่ก็เป็นการทำลายความชอบธรรมของผู้ใช้. รัฐต้องระวังเรื่อง การสร้างความโกรธแค้นใส่กัน อย่าให้ขยายตัวออกไป เพราะท้ายที่สุดจะกลายเป็นสายโซ่ของความเกลียดชังและความอาฆาตแค้น ซึ่งจะนำไปสู่การทำร้ายกันอย่างไร้เหตุผล

ดังนั้น ทางออกของปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูจะเข้าใจว่า อยู่ที่การต่อสู้ด้วยความรู้กับการครอบงำที่ดำรงอยู่ในรูปต่างๆ และปลดปล่อยชีวิตผู้คนและสังคมไทยโดยรวมให้เป็นอิสระจากการถูกครอบงำเหล่านั้น. ถ้าเป็นเช่นนี้จริง สิ่งที่ต้องต่อสู้ด้วยอย่างจริงจังเห็นจะเป็นสภาพ "วัฒนธรรมเชิงเดี่ยวทางความคิด" [Vandana Shiva, Monocultures of the Mind: Perspectives on Biodiversity and Biotechnology (Penang, Malaysia: Third World Network, 1993)] ที่ดำรงอยู่ในสังคมมนุษย์มากหลาย รวมทั้งสังคมไทยด้วย

"วัฒนธรรมเชิงเดี่ยวทางความคิด"ทำหน้าที่ผลิตตัวแบบทางความคิด ซึ่งมุ่งลดทอนบ่อนทำลายความหลากหลายต่างๆ ในนามของการพัฒนา ความก้าวหน้า และ ความมั่นคงกระแสหลัก. ภัยร้ายแรงของ"วัฒนธรรมเชิงเดี่ยวทางความคิด"คือ เมื่อความแตกต่างหลากหลายถูกทำลาย ก็จะทำให้ทางเลือกต่างๆ อันตรธานไปด้วย และฝังสังคมมนุษย์ไว้กับมายาคติว่าไม่มีทางเลือกใดๆ อีกแล้ว นอกจากยอมจำนนกับความคิดหลักที่ครอบงำผู้คนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ เศรษฐกิจการเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา หรือ การหวนคิดถึงอดีตของตน

2. การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศวัฒนธรรม
2.1 ยาลอเป็นยะลาการเปลี่ยนแปลงในรอบทศวรรษ
การวิจัยชี้ให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยกันของชุมชนไทยพุทธและมุสลิมในอดีต ดังกรณีการแลกสถานที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบริเวณ"เปาะเส้ง"กับ"หน้าถ้ำ" การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของผู้คนเกิดขึ้นอย่างมากมายภายหลังจากการสร้างทางรถไฟและตัดถนน

การเปลี่ยนแปลงทางค่านิยม ความขัดแย้งระหว่างคุณค่าเก่ากับคุณค่าใหม่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในสังคมมลายูมุสลิม บทบาทผู้หญิงได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ค่านิยมส่งลูกเรียนในเมืองเกิดขึ้นเหมือนหมู่บ้านทั่วไปในประเทศไทย พ่อแม่ที่ส่งลูกหลานเข้ามาเรียนในเมือง และต้องเผชิญกับปัญหาวัยรุ่นไม่ต่างกัน

2.2 ระบบนิเวศวัฒนธรรมในเขตเชิงเขาบูโด-สันกาลาคีรีลุ่มสายบุรีตอนกลาง
พื้นที่สำคัญของชุมชนนอกจากที่ตั้งบ้านเรือน ที่นา ที่สวน กูโบ และปอเนาะ, ก็มีที่สาธารณะ ที่ส่วนรวม ซึ่งชุมชนท้องถิ่นใช้ร่วมกัน. การเปลี่ยนแปลงการทำมาหากินเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่น้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์เอกชน จากเดิมที่ไม่มีโฉนด กลายเป็นต้องมีโฉนด ที่ดินถูกขายทอดเพื่อเงินตรา สวนดุซง ซึ่งเคยเกาะเกี่ยวเครือญาติในตระกูลเสื่อมและสูญสลาย เศรษฐกิจเข้าสู่ระบบตลาดมากขึ้น วิถีชีวิตแบบเดิมถูกกระทบ

3. เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ
การทำงานของเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ให้ความสำคัญกับผู้หญิงผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่ง โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ก่อการ เป็นไทยพุทธหรือไทยมลายูมุสลิม. งานเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพทำให้ได้เห็นชีวิตผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านมุมมองของผู้หญิง เห็นความเกลียดกลัวและอคติของคนในสังคมที่มีต่อกัน ซึ่งกลุ่มผู้หญิงที่เครือข่ายเข้าไปทำงานด้วย ได้สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของสื่อมวลชนที่กระทำต่อสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการนำเสนอความรุนแรง ที่ก่อให้เกิดความเกลียดกลัวต่อกันมากยิ่งขึ้น

4. บทบาทปอเนาะ อุลามะอ์ กับพหุวัฒนธรรม
บทบาทการจัดการกล่อมเกลาทางสังคมของสถาบันปอเนาะ ไม่ต่างจากบทบาทของวัดไทยในอดีต ซึ่งถูกทำให้หมดบทบาทไปนานแล้ว ปอเนาะกำลังเผชิญกับสิ่งที่ใหญ่กว่าความขัดแย้งกับรัฐไทย นั่นคือ ความขัดแย้งกับตลาดที่เน้นชีวิตด้านวัตถุ การบริโภคอย่างไร้ขอบเขต ชีวิตของผู้คนกำลังมีความสับสนขัดแย้งอย่างรุนแรง. หลักอิสลามที่เน้นหลักและวิถีชีวิตมาก่อนทักษะชีวิต ในขณะที่การศึกษาสมัยใหม่ดูเหมือนให้น้ำหนักกับทักษะชีวิต การผลิตคนเข้าสู่โรงงาน หรือภาคบริการต่างๆ เป็นต้น บทบาทโจทย์สำคัญของชุมชนมุสลิม คือ ปอเนาะจะสามารถดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร ?

อุลามะอ์ได้สูญเสียบทบาทความเป็นผู้รู้ไปด้วยเหตุปัจจัยด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรม โต๊ะครูส่วนใหญ่จะเป็นเพียงผู้สอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ คนข้างนอกสังคมมลายูมุสลิมพยายามทำความเข้าใจสังคมมลายูมุสลิมผ่านตัวหลักศาสนา เหมือนกับช่วงหนึ่งที่นักวิชาการต่างประเทศศึกษาศาสนาพุทธอย่างโดดๆ แล้วเชื่อว่าต้องเข้าใจสังคมไทยได้แน่นอน หรือเหมือนกับนักวิชาการที่พยายามจะเข้าใจสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์บนภูเขา ผ่านพิธีกรรมความเชื่อ. แต่จริงๆ แล้ว ชีวิตของผู้คนมีหลายด้านมากกว่านั้น ตัวคนมีมิติหลากหลายมากกว่ามิติทางศาสนา และแต่ละคนก็มีการตีความศาสนาไม่เหมือนกัน ถ้าเข้าใจตัวบทศาสนา แล้วคิดว่าจะเข้าใจกลุ่มคน ก็อาจจะได้เพียงจุดหนึ่งเท่านั้น

ในพื้นที่ปัตตานีก่อนที่จะนับถือศาสนาอิสลามเคยเป็นพุทธ เป็นฮินดูมาก่อน ตามหลักฐานพงศาวดารจีน สมัยศรีวิชัย(ศตวรรษที่ 7) ช่วงเวลาดังกล่าว คนมลายูในศรีวิชัยก็ใช้ภาษามลายูแล้ว แต่ไม่ได้ใช้อักษรอาหรับ เพราะว่าศาสนาอิสลามยังไม่เข้ามา เวลาเรียนศาสนาพุทธในศรีวิชัย ใช้ภาษามลายู แต่เขียนโดยอักษรสันสกฤต เพราะฉะนั้นภาษามลายู จึงเป็นภาษาดั้งเดิม

5. ความมั่นคงของมนุษย์ในมุมมองของชาวบ้าน
สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านได้วิเคราะห์ว่า หน่วยงานราชการ รัฐบาล และสื่อมวลชน ขาดความน่าเชื่อถือในความยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนรู้เห็นในการตั้งข้อกล่าวหากับผู้บริสุทธิ์ ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและความหวาดระแวง

รัฐบาลมักมองความมั่นคงครอบคลุมเป็นเพียงความมั่นคงของรัฐ มุ่งเน้นการรักษาความสงบและการใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ ส่วนชาวบ้านมองความมั่นคงครอบคลุมถึงความมั่นคงของมนุษย์ที่พึงจะได้รับ เป็นเรื่องการกินอิ่ม นอนหลับ ไม่หวาดผวา เป็นความมั่นคงของชีวิต ครอบครัว เครือญาติ ชุมชนท้องถิ่น ในฐานะหน่วยรวมระดับย่อยขึ้นมา บนฐานความมั่นคงด้านจิตใจศรัทธา ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม มีความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงของฐานทรัพยากร เป็นความมั่นคงท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง มีจิตสำนึก ความรู้ สติปัญญา สามารถก้าวไปกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมั่นคง

6. การสร้างสำนึกร่วมของชุมชน และการรับมือกับสถานการณ์ของภาคประชาชน
การพบกันระหว่างกลุ่มผู้นำชาวบ้านจากชุมชนที่ทำงานด้านฐานทรัพยากร และกลุ่มเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริมบทบาทของชุมชนในการเยียวยา ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจากเหตุการณ์ความรุนแรง ส่งเสริมให้ชุมชนจัดการคลี่คลายปัญหาในชุมชน การดูแลกันในชุมชน ซึ่งคนแก่เคยเชื่อมความสัมพันธ์ระดับชุมชนท้องถิ่น สร้างประเพณีร่วมกันในพื้นที่ระบบนิเวศวัฒนธรรมเดียวกัน. การฟื้นความเข้มแข็งข้างในชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับภายนอกได้อย่างเท่าทัน และเป็นทางเลือกออกจากความรุนแรง ให้ชุมชนสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ ดังนั้น การสร้างสำนึกร่วมของชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นโจทย์ใหญ่ไม่เฉพาะเพียงชาวบ้านเจ้าของเรื่อง แต่สำหรับคนที่ทำงานกับชาวบ้านด้วย

ในสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เช่นนี้ ชาวบ้านอภิปรายกันว่าจะอยู่กันอย่างไร ได้ตระหนักว่า "เราต้องอยู่กันให้ได้" เอาชนะความเกลียดกลัวด้วยความเมตตากรุณาต่อกัน ต้องไม่กลัวจนเกินไป และ กล้าที่จะว่ากล่าวตักเตือนและเสนอแนะเพื่อส่วนรวม ช่วยกันดูแลครอบครัว ร่วมกันทำงานด้วยกันในชุมชน. งานชุมชน เป็นกระบวนการทำงานสร้างจิตสำนึกชุมชน ให้ตระหนักถึงสถานการณ์และภัยคุกคาม ข้ามให้พ้นความเกลียดกลัว ไปสู่การสร้างสรรค์ชุมชนภายในให้เข็มแข็ง. การทำงานจากมุมมองสังคม วัฒนธรรม เป็นความพยายามที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในขณะนี้สังคมเต็มไปด้วยอวิชชา ไม่รู้ความรู้สึกลึกๆ ของกันและกัน โอกาสที่คนจะคุยกันน้อย ก่ออคติที่ไม่สามารถล้างด้วยข้อมูลใดๆ เป็นงานที่ยากมากๆ มีความเกลียดกลัวที่รุนแรงมากเกิดขึ้นทั้งในสังคม ไทย และใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงต้องมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น และ"ประชาสังคม " ที่เกิดความร่วมมือกันระหว่างคนต่างวัฒนธรรม ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์

มีความจำเป็นจะต้องมีพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เพื่อจะทำให้คนได้สามารถมาพบปะกัน สามารถที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และสามารถจะถกเถียงกันได้อย่างสันติ. การมีพื้นที่สาธารณะที่จะให้คนขัดแย้งกัน ไม่เห็นด้วยกัน แต่ว่ามีกติกา มีระเบียบแบบแผนที่จะทำให้เราต่างฝ่ายต่างเก็บความขัดแย้งของกันและกันเอาไว้ แล้วก็รอมชอมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องต้องกัน โดยวิธีใดวิธีหนึ่งที่เป็นไปโดยสันติวิธี เป็นเรื่องสำคัญ

ข้อเสนอ ทางออกที่เป็นรูปธรรมเฉพาะหน้าของประชาชน

1. ควรมีการเยียวยา พร้อมกับการทำงานทางด้านสันติภาพ ร่วมแรงร่วมใจให้เกิดกลุ่มทำงาน ในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม อาทิ การเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง การเยียวยาทางประวัติศาสตร์ การเยียวยาทางสังคม กลุ่มสื่อสันติภาพ และกลุ่มทำงานในด้านสันติวิธี ใช้สติปัญญาหาทางออกจากความรุนแรง

2. ควรจัดเวทีสานเสวนาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมืองของภาคประชาชนขึ้นมา โดยเวทีสานเสวนาจะเป็นทั้งเวทีสำหรับการเยียวยา การทำงานสันติภาพ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างกลุ่มต่างๆ ตลอดจนเป็นเวทีสนทนา วิพากษ์วิจารณ์ และนำเสนอประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความยุติธรรมทางกฎหมาย และอำนาจนอกกฎหมาย

3. ควรจัดกลุ่มเรียนรู้ทั้งในระดับเยาวชน ผู้หญิง และผู้นำชุมชนให้เข้าใจปัญหาและความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนของตนกับสังคมวงกว้าง โดยหวังผลให้เกิดการสรรสร้างหนทางสำหรับการดูแลปกป้องชุมชน และการสร้างสำนึกร่วมของชุมชน

ข้อเสนอที่ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
1. สร้างความปลอดภัย ฟื้นฟูความสัมพันธ์ในชุมชน

- โดยการปราบปรามโจร และข้าราชการทุจริต อย่างเด็ดขาด เพื่อสร้างความสงบสุขในพื้นที่

- ส่งเสริมให้ไทยพุทธและมลายูมุสลิมมีความเข้าใจหลักของศาสนาซึ่งกันและกัน และอยู่ ในขอบเขตความถูกต้องตามหลักศาสนา
มีคุณธรรม มีจริยธรรม รู้ความต้องการของกันและกัน

- ส่งเสริมให้ไทยพุทธและมุสลิมมีการไปมาหาสู่กัน มีการติดต่อกันระหว่างชุมชนไทยพุทธกับชุมชนมลายูมุสลิม
โดยเฉพาะการพูดคุยการสื่อสารกันด้วยภาษามลายูท้องถิ่น

- เมื่อมีปัญหาความขัดแย้ง ข้อพิพาทระหว่างชาวไทยพุทธกับชาวมลายูมุสลิม ให้ใช้วัฒนธรรมชุมชนคือ การขอความเห็นใจกัน (ปากะ)
ให้อภัยซึ่งกันและกัน โดยไม่ลำเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

- มาตรการต่างๆ ด้านสิทธิและเสรีภาพ ต้องให้มีความเสมอภาคทั้งไทยพุทธ มลายูมุสลิม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ด้วยเหตุผลเพราะความต่างทางศาสนา

- ลดเงื่อนไขเรื่องความไม่เป็นธรรมจากประเด็นเรื่องศาสนา ชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์ ที่ถูกนำมาใช้อ้าง
เพื่อชักจูงให้กลุ่มเยาวชนก่อความรุนแรง

2. เร่งรัดแก้ปัญหาปากท้อง ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างศรัทธา และส่งเสริมให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้ อันหมายถึงการมีความเป็นอยู่อย่างพอกิน พอใช้ และสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ ยกระดับคุณภาพ ชีวิตของประชาชน
ท ยกเลิกการใช้เครื่องมืออวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟปลากะตัก เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาส

- ฟื้นฟูการทำนา ในพื้นที่นาร้างของจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส

- ทบทวนนโยบายส่งเสริมการปลูกปาล์ม และยางพาราในพื้นที่นาร้าง

- ปรับปรุงระบบส่งน้ำจากโครงการชลประทานปัตตานี เพื่อให้ชาวนา ชาวไร่ สามารถนำน้ำชลประทาน
ไปใช้ประโยชน์ ด้านการเกษตรได้อย่างเต็มที่

- ดูแลและช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศมาเลเซีย เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างงานในประเทศมาเลเซีย

- ขยายโอกาสทางการศึกษาทุกระดับ และเพิ่มการลงทุนในการศึกษา รวมทั้งการศึกษาด้านการแก้ไขความขัดแย้ง การประนีประนอม
ท การสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมโดยการเรียนแบบ 2 ภาษา(Bilingual Education) และโครงการแลกเปลี่ยน (Exchange Programs) โดยสร้างโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง ให้คนจำนวนมากๆ ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกับตน

- ริเริ่มความร่วมมือด้านสื่อมวลชนกับประเทศมุสลิม

- ส่งเสริมการปรึกษาหารือทางการเมือง และส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและสังคมเปิด ซึ่งมีพื้นที่ให้มีตัวแทนทางการเมืองจากกลุ่มคนชายขอบเข้าร่วมด้วย ภายใต้กรอบของกฎหมาย. ปรับโครงสร้างและกลไกระดับประเทศและระดับภูมิภาค ที่จะช่วยลดความไม่พอใจจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

- ยุติการก่อการร้ายโดยรัฐเอง

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

1. เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรท้องถิ่นในทุกระดับ ในมิติทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นธรรม และการเคารพสิทธิทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความยุติธรรมที่ปรากฏได้เด่นชัดในกลไกการทำงานของรัฐ

2. สร้างรูปแบบการสื่อสารสาธารณะ บนฐานของความรู้ที่สังเคราะห์จากความเป็นจริงในพื้นที่ และครอบคลุมมิติชีวิตในด้านต่างๆ ทั้งในแง่มุมของความสูญเสีย ความเป็นธรรม แนวทางในการฟื้นฟูเยียวยา หรือมิติในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มิติทางประวัติศาสตร์ มิติทางวัฒนธรรม ปัญหาทางด้านทรัพยากร เป็นต้น

3. ต้องใสใจในแง่มุมของความเป็นธรรม และการคืนความเป็นธรรมในมิติทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เพราะปัญหาที่ผ่านมาคือ การไม่ละเอียดอ่อนต่อความหมาย และขาดการใส่ใจต่อความเป็นธรรมจากแง่มุมทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณี จารีตปฏิบัติในแต่ละท้องถิ่น

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๓. มิติชุมชนเข้มแข็ง : สุขภาวะชุมชนกับการระดมการมีส่วนร่วม

การขับเคลื่อนงานในชุมชน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน คุณค่าทางศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ใช้ "มัสยิด" เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชนนั้นๆ ร่วมกันกำหนดแผนงานตามความต้องการของชุมชนอย่างเปิดเผย โดยนำกระบวนทัศน์อิสลามเป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในระดับรากแก้ว และที่สำคัญสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ทุนทางสังคมในชุมชนที่ดำเนินการอยู่แล้ว สามารถช่วยในการขับเคลื่อนใน 4 ด้านหลักๆ คือ

1. ด้านอีบาดัต (พิธีกรรมทางศาสนา)
2. ด้านการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ (การศึกษาสามัญกับการศึกษาศาสนาในระดับประถมศึกษา)
3. ด้านการจัดการชุมชมด้วยกระบวนการซูรอ
4. ด้านเศรษฐกิจและสวัสดิการชุมชนพึ่งตนเอง (กองทุนชะกาต)

1. พิธีกรรมและความรู้ด้านศาสนา
สภาพการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชน เป็นไปอย่างน่าวิตก เพราะหมกมุ่นอยู่กับความรีบเร่งแข่งขันในการประกอบอาชีพ จนไม่มีเวลาในการเสริมสร้าง "ทุนใน" ไว้เผชิญกับโลกหน้า ทำให้กิจกรรมทางศาสนาได้แผ่วบางลงอย่างมาก มีแต่ผู้สูงอายุและกลุ่มสตรี ทำให้การประกอบศาสนกิจพิธีกรรมทางศาสนา (อีบาดะ) ในมัสยิดลดปริมาณลงและขาดความเข้มแข็ง

ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์ความรุนแรงปัจจุบัน ก็ทำให้ชาวบ้านหันเข้าหาศาสนามากขึ้น คนเต็มมัสยิด ยึดศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ คนเชื่อเรื่องใกล้วันสิ้นโลก ยิ่งคนเข้ามัสยิดมากๆ กลับทำให้โต๊ะอิหม่าม และกรรมการมัสยิดกลับกังวลว่า ทหารจะเพิ่มความหวาดระแวงสงสัย การเรียนการสอนทั้งสามัญและศาสนาไม่ปกติ โต๊ะครู อุสตาสอยู่ไม่ปกติสุข ต้องหนีออกจากพื้นที่เพราะถูกเพ่งเล็ง หมู่บ้านที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยๆ ในบางพื้นที่ทำละหมาดใหญ่วันศุกร์ไม่ได้ เพราะผู้ชายอยู่ไม่ครบ 40 คน เป็นสภาพชุมชนแตก

เมื่ออุสตาสที่ชาวบ้านเคารพถูกยิง ชาวบ้านปักใจทันทีว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำ ภาพพจน์ของรัฐเสียหายมาก ชาวบ้านไม่เชื่อถือ การดำเนินการปราบปรามของรัฐมีความผิดพลาดสูง ทำให้ผู้นำชุมชนไม่กล้าแสดงบทบาท คนดีอยู่ลำบาก ชาวบ้านยิ่งขาดที่พึ่ง เครือข่ายชุมชนมุสลิมจึงมีการปรึกษาหารือกันในชุมชนบนพื้นฐาน " ชุมชนมีความสุข คนมีสุขภาวะ อารยธรรมสังคม " จัดกิจกรรมการเรียนการสอนศาสนา เวลากลางคืน ให้กับผู้ใหญ่

2. การจัดการศึกษาโดยชุมชน
การจัดการศึกษาของรัฐไม่เอื้อต่อความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ชุมชนมีความต้องการที่จะให้บุตรหลานศึกษาทางศาสนาตั้งแต่เด็กๆ หรือที่เรียกว่า "การศึกษาฟัรฏูอิน" หรือ "การศึกษาศาสนาภาคบังคับ" แต่การศึกษาภาคบังคับของทางการ มีวิชาอิสลามศึกษาเพียง 2 คาบต่อสัปดาห์ ต่างจากกรณีชุมชนจัดการศึกษาเอง สามารถดำเนินการสอนควบคู่กับสายสามัญ 10 คาบต่อสัปดาห์ เน้นเรื่องการครองตน การกำจัดกิเลส และการอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งการแข่งขัน

3. การจัดการชุมชน : สภาซูรอทางสังคม
สภาซูรอ ในทัศนะอิสลาม หมายถึง การประชุมโดยคณะบุคคลเพื่อปรึกษาหารือ หามติในเรื่องเกี่ยวกับส่วนรวม เพื่อความสงบและยุติธรรม. คำว่า "อัชชูรอ" ก็คือ การคัดเลือกความคิดเห็นที่มีการเสนอที่หลากหลายในปัญหาใดปัญหาหนึ่งโดยสมาชิก เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายที่ดีกว่าและเพื่อจะได้ปฏิบัติตามหลักและบทบัญญัติทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาสังคม ตลอดจนการพัฒนาทางสังคม และการให้การสงเคราะห์ ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติในการปกครองหรือการจัดการชุมชนให้เป็นที่พอใจ โปร่งใส รับรู้ร่วมกันทุกฝ่าย

สภาซูรอ เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาข้อดี ข้อเสียในเรื่องนั้นๆ จากผู้มีประสบการณ์ ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้คุณธรรม ความถูกต้อง ในการพิจารณาเหนือผลประโยชน์ของกลุ่มพวกพ้อง เป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว หรือเหตุผลที่ไม่ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

ชุมชนมุสลิมจัดโครงสร้างการปกครองชุมชนอิงอยู่กับหลักคำสั่งสอน เพราะศาสนาอิสลามไม่ได้แยกการปกครองออกจากวิถีการดำเนินชีวิต ทุกมิติของการดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เชื่อมโยงส่งผลต่อกันระหว่างการดำเนินชีวิตบนโลกนี้ (ดนยา) และโลกหน้า (อะแครัต) ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยน่าจะเรียนรู้ ทำความเข้าใจด้วยความเคารพ และให้เกียรติในความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา

โต๊ะอิหม่ามซึ่งเป็นผู้นำชุมชนมุสลิม ส่วนใหญ่มาจากการสรรหาของผู้คนในชุมชนนั้นๆ คนที่จะได้รับเลือกให้เป็นโต๊ะอิหม่ามของชุมชน จะต้องมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะที่สำคัญ คือ มีความรู้ความเข้าใจต่อหลักธรรมคำสั่งสอนของศาสนาเป็นอย่างดี มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด ซึ่งชุมชนได้เฝ้าสังเกตและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องยาวนาน และยอมรับว่าเป็นที่น่าเชื่อถือ มาทำหน้าที่เป็นผู้นำบริหารชุมชน. แต่กลไกการปกครองสมัยใหม่ที่มีผู้ใหญ่บ้าน กำนันเป็นผู้นำ และคณะกรรมการหมู่บ้าน (คณะกรรมการชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ทำให้คณะบริหารชุมชนแบบองค์กรดั้งเดิมของชุมชนมุสลิม เกือบไม่มีบทบาท

4. กองทุนซะกาต สวัสติการชุมชน
สวัสดิการสังคมมุสลิมที่เรียกว่า "ซะกาต" แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ซะกาตทรัพย์สินหรือ ภาษาอาหรับเรียกว่า ซะกาตมาล, และซะกาตฟิตเราะฮ์ หรือทานบังคับ. ผู้ที่ต้องบริจาคซะกาตทรัพย์สิน คือ ผู้ที่มีทรัพย์สินตามพิกัดจนครบรอบ 1 ปี หรือระยะเวลาตามที่ศาสนากำหนดว่าจะต้องจ่ายซะกาต ตามอัตราที่พระองค์ทรงกำหนดไว้

ส่วนซะกาตฟิตเราะฮ์ เป็นซะกาตบังคับ สำหรับมุสลิมทุกคนในช่วงสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เป็นการทำความสะอาดแก่ผู้ถือศีลอดจากความสูญเปล่าและความหยาบคาย และเป็นการเลี้ยงดูแก่บรรดาคนขัดสน นอกจากนี้ ก็มีการบริจาคอีกประเภทหนึ่งที่ไม่บังคับเรียกว่า "ซอดะเกาะฮฺ"

ซะกาตมีหน้าที่ทางสังคม เพื่อให้สินทรัพย์ที่หามาได้ในทางสุจริต และทรัพย์ที่มีอยู่เป็นทรัพย์ที่บริสุทธิ์ ลดความตระหนี่ถี่เหนียวเห็นแก่ตัว มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นการสอนให้มนุษย์ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ ไม่เกิดความละโมบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ และสร้างสัมพันธ์ภาพอันดีระหว่างมนุษย์ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกัน. สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้เศรษฐกิจชาวบ้านแย่ลง มีผลให้เงินซากาตลดลง การช่วยเหลือคนทุกข์ยากทำได้น้อยลง และ ในทางปฏิบัติ การจัดการซะกาตยังมีอุปสรรคอยู่มาก เพราะไปฝืนกระแสบริโภคนิยมที่รุนแรงมากจนทำให้เรื่องศาสนาเป็นเรื่องเบาบางและเล็กน้อย

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น
จากการปฏิบัติงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น ในฐานทรัพยากรลุ่มน้ำ 4 ลุ่มน้ำของภาคใต้ตอนล่าง อันได้แก่ ลุ่มน้ำสายบุรี, ลุ่มน้ำปัตตานี, ลุ่มน้ำสุไหงโกลก, และลุ่มน้ำเทพา - นาทวี, ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่ภูมินิเวศ ภูมิวัฒนธรรม ป่าต้นน้ำ พื้นที่รับน้ำ พื้นที่ชายฝั่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี. ตลอดระยะเวลาของการทำงานตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน พบว่าชุมชนในอดีตชุมชนในเขตลุ่มน้ำ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มี…

- ทุนทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา
- ทุนทรัพยากรธรรมชาติ เขา ป่า นา พรุ ชายฝั่ง และทะเล
- ทุนทางเศรษฐกิจ ได้แก่ พืชผัก ผลไม้ สัตว์น้ำ พรรณไม้ มีความอุดมสมบูรณ์และมั่นคงมาก

แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทุนที่ดีงามเหล่านี้เริ่มมีภัยคุกคามหลายประการ เกิดความขัดแย้ง ทำให้สังคมเกิดความไม่มั่นคง วิถีชีวิตที่เคยสงบ พอเพียง เรียบง่าย ได้เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นชีวิตที่วุ่นวาย มุ่งหาการบริโภคและซับซ้อน เข้าสู่วงจรแห่งความทุกข์ยาก ไม่สามารถรักษาความมั่นคงของชีวิตไว้ได้ แต่อย่างไรก็ตามทุนทางสังคมเหล่านี้ก็ยังคงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งกระจายตัวอยูในพื้นที่ต่างๆ ในท้องถิ่น เป็นภูมิคุ้มกันที่ช่วยชะลอ ยึดโยงสังคมชุมชนเอาไว้ได้

การจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากสมาชิกในพื้นที่ดำเนินงานขององค์กร 21 ชุมชน พบว่าความมั่นคงของชีวิตขึ้นอยู่กับความศรัทธาและยึดมั่นในหลักคำสอนและหลักปฏิบัติของศาสนา รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม การมีจิตสำนึก และความรู้สึกร่วม ความสามัคคีของคนในชุมชน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การเชื่อมโยงและความสัมพันธ์กันภายในและภายนอกชุมชน ซึ่งเป็นเหมือนพลังแห่งความดีงามที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางใจ ที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและเกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืนของท้องถิ่น

การจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น
จากประสบการณ์การทำงานกับชาวบ้าน พบว่าเรายังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทุนทางสังคมที่เรามีอยู่ สู่การเรียนรู้ร่วมกันเท่าที่ควร ทั้งที่มีความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นภูมิวัฒนธรรม และมีความกลมกลืนกับภูมินิเวศจำนวนมาก ที่ยังมีความสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงยั่งยืนของชุมชน รวมทั้งฐานทรัพยากรเป็นทุนทางสังคมที่มีค่ามหาศาล ควรนำมาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและพฤติกรรมของคนในสังคม เพื่อยกระดับกระบวนการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและท้องถิ่น

องค์ความรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่มีเหลืออยู่ได้ถูกละเลย และนำมาใช้ในวงจำกัดในหมู่คนทำงานและสมาชิกของกลุ่ม องค์กร เครือข่ายเท่านั้น. นอกจากนี้การเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษาทั้งในและนอกระบบ ไม่ได้ให้คุณค่าและความสำคัญกับองค์ความรู้การจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเท่าที่ควร ทำให้นับวันองค์ความรู้เหล่านี้กำลังจะสูญหายไป

การบูรณาการความรู้จากเครือข่ายชาวบ้าน นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา นักพัฒนาเอกชน สร้างเป็นเครือข่ายเรียนรู้โดยการร่วมสร้างหลักสูตรท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ให้เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันโดยใช้กิจกรรมของชุมชนในท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการค้นหา จำแนกแยกแยะ สังเคราะห์เชื่อมโยงให้เป็นองค์ความรู้ และพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่สามารถนำมาใช้ในชุมชน ในสถาบันการศึกษาในระบบและนอกระบบ เพื่อสร้างสำนึกร่วมของชุมชนและคนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจรากฐานของตนเองและเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงได้ริเริ่มดำเนินการในหลายๆ พื้นที่

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
กระบวนทัศน์อิสลามเพื่อการพัฒนา

1. โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข็มแข็ง มีอำนาจตัดสินใจแก้ไขปัญหาในชุมชนของตนเองได้ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาความรุนแรงจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืน สภาซูรอ จะเป็นจุดหนึ่งที่ฟื้นศักยภาพของชุมชนมุสลิมขึ้นมา

2. ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมัสยิดที่จดทะเบียนประมาณ 1,654 แห่ง ถ้ามีการรวบรวมซะกาตเป็นระบบแล้ว เฉพาะซะกาตฟิตเราะห์หรือทานบังคับ เมื่อคำนวณหยาบๆ มัสยิดสามารถที่จะรวบรวมได้แห่งละประมาณ 10,000 บาทต่อปี รวมประมาณ 16,540,000 บาทต่อปีซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อย สามารถนำมาใช้เป็นสวัสดิการสังคมได้ การจัดตั้งองค์กรที่ดูแล "กองทุนซะกาต" หรือ "บัยตุลมาล" เพื่อจ่ายแจกให้แก่ผู้ยากจน ให้เป็นกิจจะลักษณะจะทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ของคนในสังคมดีขึ้น. นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบสวัสดิการของชุมชนแบบอื่นๆ ในสังคมไทย สนับสนุนการริเริ่มจัดตั้ง "กองทุนบัยตุลมาล" ในพื้นที่นำร่อง และส่งเสริมให้มีการริเริ่ม "จัดซากาตประเภททรัพย์สิน"

3. ระบบจัดการเรียนการสอนเรื่องหลักสูตรทางศาสนาที่ชุมชนจัดขึ้น ต้องสามารถเชื่อมต่อกับสถาบันการศึกษาในระดับสูงขึ้น ระบบบูรณาการการศึกษาสามัญกับศาสนาในโรงเรียนประถมศึกษาควรเป็นเอกภาพ อาจจัดตั้งหน่วยงานดูแลเฉพาะ เช่น ฝ่ายส่งเสริมการศึกษา ตามความพร้อมของบุคลากร. การจัดการศึกษาบูรณาการสามัญและศาสนาอิสลาม ในโรงเรียนระดับประถมของรัฐโดยร่วมกับโรงเรียนตาดีกานั้น จะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในทุกขั้นตอน ไม่เฉพาะการพัฒนาหลักสูตรเท่านั้น แต่รวมถึงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การร่วมสอน การติดตามประเมินผลสรุปบทเรียน และการคงรักษาโรงเรียนตาดีกาไว้ให้กับชุมชน

4. พิธีกรรมและความรู้ด้านศาสนา เป็นวิถีชีวิตและที่พึ่งทางจิตใจของประชาชนในพื้นที่ กลไกภาครัฐควรสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านศาสนาของชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมการเรียนอัลกุรอ่าน กีตาบในชุมชน

การจัดการทรัพยากร

1. สิ่งที่สำคัญ ต้องให้อำนาจแก่ชาวบ้านในการให้นิยามความหมายด้วยตัวเขาเอง มิติความมั่นคงของชาวบ้านมีความหลากหลาย เช่น ความปลอดภัยในชีวิต ความมีเสรีภาพ ความมั่นคงในอาหาร จิตวิญญาณ โดยมีมาตรการดังนี้

- เปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงการใช้ฐานทรัพยากร มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
จัดการทรัพยากรท้องถิ่นในทุกระดับ

- แก้ไข พระราชบัญญัติประมงแห่งชาติ พุทธศักราช 2490 ตามข้อเสนอของสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้
ยกเลิกเรือที่ใช้เครื่องมืออวนรุน อวนลาก ที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทะเล ขยายเขตประมงพื้นบ้าน จาก
3,000 เมตร เป็น 5,400 เมตร

- ยกเลิกโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ธนาคารอาหารทะเล (Sea Food bank)

- สนับสนุนการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชน เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทำกินทับซ้อนกับพื้นที่เขตป่าสงวน
หรือเขตอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติ

2 . สนับสนุนการจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น การวิจัยท้องถิ่น การจัดทำคลังความรู้ของชุมชนท้องถิ่น

 


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
15 November2007
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy