บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Homeland
Security Act
Midnight University
๘ คำถามเกี่ยวกับ พรบ.
ความมั่นคงภายใน
พระราชบัญญัติย้อนยุค: พรบ.ความมั่นคง - พรบ.ใครมั่นคง
? (ตอนที่ ๒)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: เรียบเรียง
ข้อมูลส่วนใหญ่ได้รับมาจากการรวบรวมของสำนักข่าวชาวบ้าน
บทความวิชาการต่อไปนี้
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนเรียบเรียงจาก
งานรวบรวมของสำนักข่าวชาวบ้าน เดิมมีคำถามอยู่ ๙ ข้อ แต่เนื่องจาก
คำถามที่ ๒ และคำถามที่ ๙ หัวข้อซ้ำกัน, ดังนั้นจึงได้ตัดส่วนคำถามที่ ๙ ออก
ประกอบด้วย
๑. คน "ภายนอก" มองไทยอย่างไรเรื่องนี้ (เกี่ยวกับ พรบ.ความมั่นคง)
?
๒. องค์กรสิทธิมนุษยชน(ในประเทศไทย) มองเรื่องนี้อย่างไร ?
๓. ช่วยยกตัวอย่างบางมาตราใน พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ... ?
๔. ฟังแล้วความมั่นคงเป็นสิ่งที่ดี ช่วยขยายความหน่อยได้หรือไม่ ?
๕. ที่ผ่านมาทำอย่างไร ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ทำไมต้องมามีตอนนี้ ?
๖. ได้ยินมาว่านี่เป็นการสร้าง "ระบอบทหาร" จริงเท็จอย่างไร ?
๗. ผบ. ทบ. ดูเหมือนว่าจะมีอานาจล้นฟ้า ?
๘. เห็นมีประท้วงกัน ช่วยยกตัวอย่างหน่อยได้หรือไม่ ?
นอกจากนี้ยังได้นำเอาข้อห่วงใยของ สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย
เกี่ยวกับพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมานำเสนอ พร้อมจดหมายเปิดผนึกของ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ถึงนายกรัฐมนตรีมาแนบ
สำหรับผู้สนใจสาระทั้งหมดของ
พรบ.ความมั่นคงฉบับนี้ คลิก
http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999625.html
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๐๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๐๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๘ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
๘ คำถามเกี่ยวกับ พรบ.
ความมั่นคงภายใน
พระราชบัญญัติย้อนยุค: พรบ.ความมั่นคง - พรบ.ใครมั่นคง
? (ตอนที่
๒)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: เรียบเรียง
ข้อมูลส่วนใหญ่ได้รับมาจากการรวบรวมของสำนักข่าวชาวบ้าน
คำถามที่ 4 ฟังแล้วความมั่นคงเป็นสิ่งที่ดี
ช่วยขยายความหน่อยได้หรือไม่ ?
วิวาทะระหว่างพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ผู้ช่วยเลขาธิการ
"คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" และประธานคณะกรรมการบริษัททีโอที และนายสิทธิชัย
โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยี การสื่อสาร และสารสนเทศ ฝ่ายหนึ่ง
กับนายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ อดีตกรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัททีโอที
อีกฝ่ายหนึ่ง ดูเหมือนจะตอกย้ำความคิดความเชื่อ ความเข้าใจที่ผิดๆ ในสังคม หรืออย่างน้อยก็ในความคิดของพล.อ.สพรั่ง
และนายสิทธิชัย นั่นคือ
1) ในนามความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ต้องพูดถึง-จบ ไม่ต้องมีคำถาม ไม่ต้องอธิบาย จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณเท่าไหร่ก็ได้ เมื่อใดก็ได้ จากใครก็ได้ หน่วยงานใดก็ได้ ไปเพื่อทำอะไรก็ได้ เมื่อปิดป้ายความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ก็เป็นอันถูกต้องเสมอ
2) สังคมไทยไม่เหมือนสังคมตะวันตก ผู้น้อยต้องเคารพผู้(เป็น)ใหญ่ ห้ามฉีกหน้า ห้ามพูด ห้ามเถียง ห้ามตั้งคำถามที่จะเป็นการทำให้ผู้(เป็น)ใหญ่เสียหน้า อย่าใช้คำพูดที่ทำให้ผู้(เป็น)ใหญ่เสียใจ ถ้ากล่าวคำใดเป็นการไม่เคารพ ต้องขอโทษและรับผิดชอบ
3) ผู้ใดไม่มีลักษณะอันพึงประสงค์ของสังคมไทย ในเรื่องการวางตัวต่อหน้าผู้(เป็น)ใหญ่ จะเป็นผู้บริหารหน่วยงานไม่ได้
4) เมื่อผู้มีอำนาจตั้งใครเข้ามาเพื่อทำงานในตำแหน่งใดๆ ในองค์กรแล้ว ก็ต้องทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจนั้นๆ จะเป็นเรื่องถูก เรื่องผิด เรื่องมีคำถามทางจริยธรรมหรือไม่ ไม่ต้องไปสนใจ ขอให้ได้รับใช้ เออออ ห่อหมก คล้อยตาม ไม่คัดง้างผู้มีอำนาจเป็นอันใช้ได้ และดังนั้น ผู้มีอำนาจจะขอเงินสัก 800 ล้านบาท ไปทำอะไรก็ได้ ไปซื้ออะไรก็ได้ ตามใจท่าน อย่าไปถามท่าน จะเป็นการก้าวก่าย เป็นการเสียมารยาท
5) เรื่องในที่ประชุม แม้จะมีข้อน่าสงสัย น่าซักถามเพียงใด มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมเพียงใด ก็ให้เก็บเงียบไว้ ผลประโยชน์โดยส่วนรวมจะได้รับผลกระทบอย่างไรก็ไม่เป็นไร ขอให้เราปลอดภัยอยู่ได้ แค่นั้นก็พอ
หากแต่ข้าพเจ้าเห็นว่าความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจ ผิดๆ ดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นอันตราย และมีปัญหาในเชิงจริยธรรม ในระดับเดียวกันกับกับการกล่าวอ้างเพื่อกระทำการใดๆ ในนามความเจริญก้าวหน้า และการพัฒนา เผลอๆ จะเลวร้ายเสียกว่า เพราะผู้ชอบอ้างความมั่นคง มักเป็นผู้มีอำนาจกุมกระบอกปืน
ประการแรก
ข้ออ้างเรื่อง "ความมั่นคงแห่งชาติ" มักถูกผูกขาด และกำหนดโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจในมือบางกลุ่มเท่านั้น
โดยเฉพาะพวกมีอาวุธ พวกเขาเหล่านี้ตั้งข้อกำหนดกฎเกณฑ์เอาเองว่าสิ่งใดที่จะถือเป็น
"ความมั่นคงแห่งชาติ" ความมั่นคงอื่นใดที่นิยาม จำกัดความโดยกลุ่มอื่นนอกเหนือจากพวกเขา
และที่พวกเขาเห็นว่าท้าทายอำนาจของพวกเขาแล้ว ล้วนแต่มีสถานะที่ด้อยกว่า ไม่ใช่ความมั่นคงที่พึงรักษาไว้
ยิ่งไม่ใช่ "ความมั่นคงแห่งชาติ"
ประการที่สอง อะไรหรือคือ "แห่งชาติ"
นิยาม "แห่งชาติ" นั้น เป็นคำกล่าวที่น่ารังเกียจ พึงระมัดระวัง และตั้งข้อสงสัยให้จงหนัก
- แห่งชาติ ของใคร อะไร และอย่างไร? แม้แต่คำนิยามคำว่า "ชาติ" พวกท่านผู้มีอำนาจก็กำหนดมาจากเบื้องบนแล้ว
แถมบังคับกะเกณฑ์เอาตามอำเภอใจว่าเป็นคำนิยามที่ถูกต้อง เหมาะสมที่สุดแล้ว ควรจะต้องท่องจำให้ขึ้นใจ
ผิดไปจากนี้แล้วไม่ใช่ "ชาติ"โดยที่ไม่เคยสนใจ ไต่ถามว่าคนอื่นที่ร่วมอยู๋ใน"ชาติ"
นั้นเขาคิดถึงนิยามของคำว่า "ชาติ" ว่าอย่างไร ?
ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงด้วยนัยยะแห่งชาติ ถูกนำมาใช้ทุกครั้งประหนึ่งเป็นคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ ในการอ้างความชอบธรรมของการกระทำของผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งถือตัวเองว่าเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจและความชอบธรรมในการกำหนดนิยามคำว่า "ความมั่นคง" และคำว่า "แห่งชาติ". พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร จะเป็นคนสมถะ รักบ้านเมืองอย่างแท้จริง หรือไม่ ตามที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมารับประกัน หรือว่า นายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ จะเป็นคนที่มีอัตตาสูง อย่างที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่าบุคลิกลักษณะนิสัยส่วนตัวของทั้งสองคนที่ถูกนายสนธิกล่าวถึง จะเป็นเหตุเป็นผลที่อธิบายได้โดยปราศจากข้อสงสัย (อย่างที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อยากจะให้คนเชื่อ) ว่า;
1) ความเป็นคนดีของพล.อ.สพรั่ง เป็นเครื่องรับประกันการกระทำและความคิดทุกอย่างของเขา เท่ากับว่า เมื่อเป็นคนดีแล้ว จะพูดจะทำอะไร ก็ต้องดี เป็นไปเพื่อเจตนาที่ดีทั้งหมด ห้ามซัก ห้ามถาม ไม่ต้องการเหตุผล ไม่ต้องการคำอธิบาย
2) เป็นการสมควรแล้วที่นายวุฒิพงษ์ ซึ่งตามข้ออ้างของนายสนธิว่าเป็นคนที่ "มีอัตตาสูง ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่เคารพผู้บังคับบัญชา ไม่ฟังความเห็นของผู้อื่น คิดว่าตัวเองเก่งอยู่คนเดียว" จะถูกปลดออกจากตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัททีโอที เพราะถ้าหากอธิบายตามตรรกะของนายสนธิ และพล.อ.สพรั่ง ก็คือ ไม่รู้จักบุญคุณคน เขาอุตส่าห์แต่งตั้งให้เข้ามาอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นี้แล้ว แทนที่จะทำงานปกป้องเขา หรือให้ความเคารพ นอบน้อม กลับออกมาเปิดเผยเขา
ทั้งพล.อ.สพรั่ง และนายวุฒิพงษ์ ไม่ว่าเขาทั้งสองจะเป็นคนอย่างไรก็ตาม เป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่เป็นหัวใจของวิวาทะในครั้งนี้ การออกมาพูดเพื่อทำให้เรื่องที่มีข้อสงสัยใหญ่กลายเป็นแค่เรื่องความขัดแย้งระหว่างบุคคลนั้น ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง และชวนให้สงสัยว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ต้องการอะไร เขายังพยายามชี้ให้เห็นเพื่อทำให้เกิดภาพความเข้าใจว่า นายวุฒิพงษ์นั้น เป็นคนที่มีปัญหาตลอดเวลา ทำงานกับใครก็ไม่ได้
พล.อ.สพรั่ง กล่าวลึกๆลับๆ เชิงกล่าวหานายวุฒิพงษ์ว่ามีเบื้องหลัง และว่าตนไม่ชอบถูกแบล็คเมล์ ในเมื่อเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่นายวุฒิพงษ์ออกมาพูด เป็นเรื่องที่พล.อ.สพรั่งและนายวุฒิพงษ์ต้องชี้แจง เพราะไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งส่วนตัว แต่เกี่ยวพันกับงบประมาณที่เป็นเงินภาษีของราษฎร ไม่ใช่เรื่องที่ผู้บริหารองค์กรพอใจจะยกให้ใครก็ได้ สนับสนุนใครก็ได้ โดยไม่ต้องอธิบายเหตุผล ดังเช่นที่นายสิทธิชัย โภไคยอุดม กล่าวอ้าง. การขอรับการสนับสนุน หรือบริจาค เพื่อการทอดผ้าป่า หรือทอดกฐิน จากองค์กรที่มีศักยภาพที่จะให้ได้ อย่างที่ พล.อ.สพรั่งพูดถึง มันคนละเรื่องกับการมาขอเงินจากบริษัททีโอทีกว่า 800 ล้านบาท นี่ออกจะเป็นผ้าป่า หรือกฐินที่แพงเกินไปหน่อย แถมไม่รู้รายละเอียดสักนิดจะไปทอดกันวัดไหน ใครจะได้ประโยชน์
ต้องอย่าลืมว่า สิ่งที่เป็นคำถามใหญ่ก็คือ กองทัพไทยโดยคำขอของ พล.อ.สพรั่ง ไปยังบริษัททีโอที เพื่อขอรับเงินสนับสนุน 800 ล้านบาทนั้น เอาไปซื้ออะไร, เพื่อทำอะไร, มีขั้นตอนอย่างไร, ตรวจสอบได้หรือไม่ ?ทหารตำรวจชั้นผู้น้อยผู้ปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยอยู่ในฟื้นที่ภาคใต้ จะได้ประโยชน์จากข้ออ้างดังกล่าวจริงหรือไม่ อย่างไร ? ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการอ้างเรื่อง "ความมั่นคงแห่งชาติ" ก็คือ ข้ออ้างนี้ ไม่เปิดโอกาสให้แสงแห่งความโปร่งใส ได้ฉายส่องไปยังฉากหลังแห่งความมืด ที่ซึ่งความเคลือบแคลง และวาระที่ซ่อนเร้น แฝงกายของมันอยู่ ข้ออ้างเรื่อง"ความมั่นคงแห่งชาติ" เป็นเสมือนปราการปกป้องความมืดแห่งนี้ ให้ปลอดภัยจากการถูกตรวจสอบ ซักถาม ทั้งจากสาธารณชน และจากคนที่ถูกอ้างว่าจะได้รับประโยชน์จากการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อ "ความมั่นคง" นั้น
เมื่อปิดป้ายความมั่นคงเสียแล้ว ก็เป็นอันว่า ไม่ต้องถาม ไม่ต้องอธิบาย ไม่ต้องมีเหตุผลนอกเหนือจากนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ย่อมไม่มีโอกาสใดๆ เลย ที่คนทั่วไปจะรู้ได้ว่า ที่อ้างว่าเป็น"ความลับของชาติ"นั้น เป็นเช่นนั้นจริงหรือเป็นแค่ความลับของหน่วยงาน ซึ่งต้องการที่จะกระทำการโดยลับๆ เพราะไม่มีเหตุผลความชอบธรรมเพียงพอ ไม่มีหน้าจะไปอธิบายกับผู้อื่นได้ เมื่อมีผู้ออกมาเป่านกหวีดให้คนอื่นได้ยินถึงความไม่ชอบมาพากลอันนี้ ก็แก้เกี้ยวไปเสียว่าเอา"ความลับของชาติ"มาขาย กลายเป็นความผิดไปตกอยู่กับผู้เปิดเผยความลับ ซึ่งแท้จริงแล้วอาจต้องการปกป้องผลประโยชน์โดยส่วนรวมมากกว่า
พล.อ.สพรั่ง กล่าวหานายวุฒิพงษ์ ด้วยข้อหาที่ใหญ่หลวงนัก ถึงขั้นว่าเป็นกบฏ ซึ่งหากเป็นยุคอดีต ข้อกล่าวหาเหล่านี้อาจทำให้นายวุฒิพงษ์ และครอบครัวของเขา ได้รับโทษทัณฑ์แสนสาหัส. พล.อ.สพรั่ง มีหลักฐานอะไรถึงมากล่าวหาคนอื่นรุนแรงเช่นนั้น และที่กล่าวหาว่า ฃนายวุฒิพงษ์ ไม่จงรักภักดี ไม่จงรักภักดีต่ออะไร ต่อใคร ? เป็นเรื่องที่ต้องมีความชัดเจน มิฉะนั้นแล้ว ผู้คนทั้งหลายจะเห็นว่า ที่จริงแล้ว ไปกล่าวหาเขา เพียงเพราะว่าเห็นเขาไม่จงรักภักดีกับตนเองเท่านั้น
พล.อ.สพรั่งอ้างว่า ไม่เห็นมีใครถาม สมัยที่รัชกาลที่หกจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่าซื้อไปทำไม? มีแต่คนที่พร้อมจะบริจาคเงิน. การที่ พล.อ.สพรั่ง ยกเรื่องนี้มาเปรียบเทียบออกจะเป็นการเข้าใจปริบทของสังคมการเมืองผิดไปมาก (ถึงแม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกันของการอ้างถึงเรื่อง 'ความมั่นคงแห่งชาติ' ก็ตาม) เพราะอำนาจของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ทำให้คนทั่วไปแม้อยากจะถาม ก็ถูกปิดปากด้วยอำนาจดังกล่าว
ไม่เพียงแต่ในนามของความมั่นคงเท่านั้น พล.อ.สพรั่งยังพยายามที่จะปิดปากคนด้วยความคิดความเชื่อของเขาเองว่า ในเมื่อเขา (ได้สถาปนาตัวเอง) เป็นผู้ที่ปกป้องรักษา "ความมั่นคงแห่งชาติ" ดังนั้น การกระทำใดๆ ของเขาจึงเท่ากับดี, เขาพูด เขาคิด เขาเชื่อ เขาทำอะไร ย่อมถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผลหมด. ห้ามถาม ไม่ต้องอธิบาย ดังนั้นเมื่อนักข่าวถามเรื่องขอเงินจากบริษัททีโอที ในโครงการจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อความมั่นคง. พล.อ.สพรั่งจึงพูดว่า อย่าถามว่าทำไมต้องซื้อ มั่นใจในความถูกต้องของตนเองขนาดนั้น. ถ้าอย่างนั้น จะมีใครหน้าไหน หรือมีเอกสารหลักฐานอะไร เป็นเครื่องยืนยันชี้แจงได้ว่า งบที่ขอไป 800 ล้านบาท เอาไปซื้ออะไร ซื้อจริงตามนั้นหรือไม่ หรือเอาไปทำอะไรอย่างอื่น ในเมื่อพวกเขาจัดการงบกันเอง หากมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง จะมีหลักประกันอะไรให้เข้าไปตรวจสอบได้
พล.อ.สพรั่งว่า นายวุฒิพงษ์ ไม่มีสิทธิตัดสินว่า กองทัพควรจะใช้งบกลาโหม ไม่ใช่มาขอจากบริษัททีโอที แล้วพล.อ.สพรั่ง มีสิทธิอะไร ที่จะมาขอเงินทีโอที โดยไม่มีคำอธิบายให้กับประชาชน แม้แต่ในนามความมั่นคง ก็ต้องทำทุกอย่างอย่างถูกต้อง โปร่งใส ชัดเจน และตรวจสอบได้ มิใช่หรือ ? มิฉะนั้นแล้ว พวกชอบอ้างความมั่นคงแห่งชาติ จะมีหน้าหรือความชอบธรรมไปตรวจสอบใครคนอื่นได้อย่างไรกัน
รวงข้าว : เขียน
คำถาม 5 ที่ผ่านมาทำอย่างไร ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ทำไมต้องมามีตอนนี้ ?
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ...... และให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทาน ก่อนนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป. ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงฉบับใหม่นี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมือง นักการทหาร นักวิชาการด้านความมั่นคง นักสิทธิมนุษยชน และหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมทั้งอิสระชนทั้งหลาย. หลายคนประกาศต่อต้าน โดยถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะพิทักษ์เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และองค์อำนาจสูงสุดของประชาชน
จริงอยู่ที่มีการกระทำมุ่งทำลายสร้างความเสียหายแก่ร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และของชาติ แต่กฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ หากนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงพอแล้ว และยังมี พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2487, พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548, ที่ออกยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งอ้างว่าจำเป็นต้องใช้แก้ปัญหาสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในทางปฏิบัติ มีการประกาศใช้วันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วย, โดยไม่เกี่ยวกับสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นการประกาศใช้เพื่อรักษาอำนาจของตน แต่ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยึดอำนาจรัฐได้ก่อน
- กฎอัยการศึก ทหารมีอำนาจประกาศใช้ แต่ต้องกำหนดพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรหรือทั่วราชอาณาจักร. พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศใช้ในบางพื้นที่ หรือทั่วราชอาณาจักรได้ หรือนายกฯ ประกาศใช้แล้วขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายใน 3 วันได้
- พ.ร.บ. กฎอัยการศึก ให้ทหารเป็นผู้มีอำนาจเหนือข้าราชการอื่น รวมทั้งพลเรือน, ส่วน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้อำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรี และมีคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ บัญญัติออกมาในช่วงที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลเดียวจากการเลือกตั้งที่นายกรัฐมนตรีถือครองอำนาจได้โดยเด็ดขาด
- พ.ร.บ. กฎอัยการศึก และพ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการกำหนดพื้นที่ และระยะเวลาบังคับใช้ที่แน่นอน. กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรได้รับการพิจารณาว่ามีกฎหมายอื่นที่บังคับใช้อยู่ เพื่อความสงบสุขของประชาชน ใช้บริหารราชการอยู่เพียงพอแล้วหรือไม่? การประกาศใช้ต้องเป็นความจำเป็นสูงสุด และควรตรวจสอบได้. ประเทศไทยไม่ได้เป็นเขตก่อการร้ายสากล หรือเขตก่อการร้ายข้ามชาติ และไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม อาจมียกเว้นในพื้นที่เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้
พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ผ่านความเห็นชอบในหลักการ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้ว กำหนดการรักษาความมั่นคงเป็นองค์กรถาวร บังคับใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร ยกอำนาจให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผู้บัญชาการทหารบกเป็นโดยตำแหน่ง) สามารถกำหนดข้อห้ามตามมาตรา 25 ห้ามการเดินทาง การใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ ห้ามการชุมนุม ห้ามการแสดงมหรสพ ห้ามการโฆษณา ประกาศเคอร์ฟิว มีอำนาจตรวจค้น ตรวจสอบประวัติ ยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์สินเอกสาร หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับความมั่นคง และการสั่งใช้กำลังทหาร
แม้มาตรา 27 การจับกุมและควบคุมตัวบุคคล ต้องขออนุญาต ดำเนินการจากศาลก็ตาม ซึ่งศาลต้องพิจารณาไปตามข้อมูลที่ผู้มีอำนาจนำเสนอพิจารณา และข้อบัญญัติใน พ.ร.บ. ดังกล่าว และผู้มีอำนาจสั่งปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวได้ตามมาตรา 31, สั่งย้ายข้าราชการได้ตามมาตรา 34,
- มาตรา 36 ข้อกำหนด ประกาศคำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมาย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง
- มาตรา 37 เจ้าพนักงานและผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าพนักงาน ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญาหรือทางวินัย เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินแก่กรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการว่าด้วยความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
จากมาตรา 36 และมาตรา 37 เป็นการตัดอำนาจการตรวจสอบความถูกต้องในการกระทำและความสุจริตต่อการใช้อำนาจโดยสิ้นเชิง ซึ่งอำนาจทางตุลาการเป็นองค์อำนาจที่ต้องมีอยู่ เพื่อตรวจสอบและคานอำนาจการบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ ตามหลักการตรวจสอบและคานอำนาจในระบอบประชาธิปไตย. แม้ข้อความตอนท้ายของมาตรา 37 การไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญาหรือทางวินัย ต้องเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เกินกว่าเหตุหรือความจำเป็น ไม่เลือกปฏิบัติ จะทำให้ดูดี มีความชอบธรรม, แต่ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ ใครเป็นผู้วินิจฉัย ใครกำหนดมาตรฐาน ล้วนเป็นผู้ใช้อำนาจกระทำการดังกล่าวทั้งสิ้น เนื่องจากไม่อยู่ในบังคับของกฎหมาย ตามมาตรา 36 ที่ตัดกระบวนการยุติธรรมทางศาลออกไป
พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงมีที่มาจากการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เข้าสู่การตรวจทานของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนที่จะพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเช่นเดียวกัน กระบวนการดำเนินการทั้งหมดถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ? พ.ร.บ ดังกล่าวขัดกับมาตรา 3 ของร่างรัฐธรรม เกี่ยวกับหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในหลายมาตรา
คปค. ยึดอำนาจจากรัฐบาลเดิมเพื่อยุติการทุจริตคอรัปชั่น การฉ้อฉลอำนาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง สร้างความแตกแยกขัดแย้งให้กับประชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน. คปค. แจ้งแก่ประชาชนว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร จัดให้มีการเลือกตั้งคืนอำนาจสู่ประชาชนภายใน 1 ปี ไม่มีการสืบทอดอำนาจโดยเด็ดขาด
ความเป็นจริงที่ผ่านมาการรัฐประหารทุกครั้ง (ไม่ใช่การปฏิวัติ หรืออภิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475) ผู้กระทำการยึดอำนาจจะต้องสืบทอดอำนาจของกลุ่มตน เพื่อป้องกันตัวเองก่อนลงจากอำนาจตามวัฏฏะจักรอุบาทว์ แล้วถูกโค่นล้มโดยพลังประชาชนที่กลายเป็นผู้สูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต ก่อนชนะได้รับสิทธิและเสรีภาพกลับคืนมา แต่ไม่สามารถรักษาอำนาจชัยชนะแห่งตนไว้ได้ จึงต้องกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ถูกบดขยี้ เมื่อ 6 ตุลาคม 2519
เราไม่ต้องการให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนครั้งใหม่ การสูญเสีย เมื่อ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 ก็มากเกินพอแล้ว. เราจำเป็นต้องหยุดการสถาปนาอำนาจเหนือรัฐที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องเป็นเจ้าของอำนาจมีสิทธิและเสรีภาพอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียง "ต้องเสียสละ ยอมให้มีการละเมิดเสรีภาพกันบ้าง เพื่อความมั่นคงของชาติ" เป็นการเสียสละเพื่อความมั่นคงของชาติ หรือเพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะผู้ทำการรัฐประหารกันแน่ !
ยิ่งนานวันความไม่โปร่งใสปรากฏมากขึ้น ไม่ว่า การแสวงหาผลประโยชน์ อาการกร่าง เริ่มติดอำนาจ หรือการสถาปนาตนเองเป็นวีรบุรุษ หาญกล้าสถาปนาอำนาจซ้อนรัฐขึ้นมา โดยเฉพาะหนึ่งในห้าทหารเสือ ถ้าได้นั่งหมายเลข 1 ต่อจากคนเดิมที่กำลังจะเกษียณไป ฝันร้ายและการสูญเสียครั้งใหม่ของประชาชนคงหลีกเลี่ยงได้ยาก หาก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ผ่านสภานิติบัญญัติมีผลเป็นกฎหมายบังคับใช้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องร่วมมือกันยุติการสร้างอำนาจเหนือรัฐ และป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนี้
คำถามที่ 6 ได้ยินมาว่านี่เป็นการสร้าง
"ระบอบทหาร" จริงเท็จ อย่างไร ?
จากที่มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
พ.ศ.... ซึ่งขณะนี้อยู่ที่กฤษฎีกา และเตรียมเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ในเร็วๆ นี้ ผมไม่คิดว่า คมช.และรัฐบาลจะกล้าออกกฏหมายที่บ้าอำนาจออกมาได้ถึงเพียงนี้
หลังจากอ่านเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
อำนาจตาม ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น ให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ซึ่งก็คือ ผบ.ทบ. โดยตำแหน่งอย่างมากมายเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจตาม พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเลยทีเดียว ถึงขั้นมีอำนาจล้นฟ้าที่จะสั่งการแก่น่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานได้ ทั้งยังไม่ต้องขึ้นต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและการพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งเป็นกฏหมายหลักของนิติรัฐอีกด้วย ซึ่งราชการและหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามอำนาจรัฐที่สองนี้โดยปริยาย และยังบอกอีกว่าผู้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.นี้ไม่ต้องมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา ทำให้ผู้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.นี้จะไม่สามารถถูกตรวจสอบและฟ้องร้องได้เลย นั่นหมายถึงฆ่าคนได้โดยไม่ผิดกฏหมายนั่นเอง ตามมาตรา 37
นอกจากนี้แล้ว มาตรา 25 ที่ลอกออกมาจากกฏอัยการศึกที่ให้อำนาจ ผบ.ทบ. ราวกับนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเงา เพราะสามารถประกาศเคอฟิวส์ได้ทุกเมื่อ สั่งห้ามเดินทางได้ทุกเส้นทาง บุกค้น จับกุมได้ 24 ชั่วโมง แม้ยามวิกาล ทั้งยังสั่งย้ายข้าราชการทุกคนออกนอกพื้นที่ได้ รวมถึงสามารถปราบปรามประชาชน, ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐโดยอ้างความมั่นคงได้โดยถาวร ซึ่งจะทำให้อำนาจทหารปฏิบัติการแทนหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ได้โดยรัฐบาลไม่ต้องประกาศ พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฏอัยการศึกแต่อย่างใด, ซึ่งกฏหมายดังกล่าวจะประกาศใช้เฉพาะพื้นที่หรือช่วงเวลาที่เป็นสถานการณ์ไม่ปกติเท่านั้น. แต่ พ.ร.บ.ใหม่นี้ จะเป็นอำนาจถาวรตามกฏหมายที่ ผบ.ทบ.จะสั่งการทุกหน่วยงานได้ในฐานะ ผอ.รมน. ซึ่งจะทำให้ระบบนิติรัฐที่เว้นวรรคชั่วคราวจากการรัฐประหารครั้งนี้ ไปสู่ระบบอำนาจนิยมโดยกองทัพและราชการอย่างถาวรนั่นเอง
นั่นหมายความว่า แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดีเพียงไหนก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ย่อมอยู่เหนือรัฐธรรมนูญที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพพลเมืองใดๆ ก็ได้โดยอำนาจ ผอ.รมน. ซึ่งก็คือ ผบ.ทบ. ตามกฏหมายนี้ หรือนี่คือการยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีในสมัยหน้า มาสู่กองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ ถ้าเช่นนั้น หรือนี่ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน ?
นี่คือการสร้าง "ระบอบกองทัพ" ขึ้นมาใหม่แทนระบอบทักษิณ, นี่คือการหมกเม็ด ยืดอำนาจการเมืองในนามกองทัพบกเพื่อการคานอำนาจการเมืองหลังเลือกตั้งอย่างแน่นอน ซึ่งการสร้างอำนาจคู่ขนานและทับซ้อนอย่างนี้ อาจเสมือนทำให้เกิดรัฐบาลผสมระหว่างทหาร-พลเรือน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผลร้ายต่อกองทัพเอง เพราะคณะรัฐประหารบอกเองว่าจะอยู่ไม่เกิน 1 ปี
การที่ทหารออกมาอ้างความมั่นคงจึงเป็นแค่การเบี่ยงเบนประเด็น เพราะความจริงประชาชนควรมีส่วนร่วมเพื่อนิยามปัญหาความมั่นคงด้วย แต่ตาม พ.ร.บ.นี้ ให้อำนาจ ผบ.ทบ. นิยามความมั่นคงแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอาจนิยามได้ว่า ใครมีปัญหากับกองทัพก็สามารถจัดการได้เลย เช่นในมาตรา 34 ระบุว่า กรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน สามารถย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นหรือห้ามมิให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวน่าจะมีการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหรือระเบียบ ก.พ. มากกว่า
เป็นไปได้ทีเดียวว่า เรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับการยืดอายุกำนัน ผู้ใหญ่บ้านออกไปจนกษียณ เพื่อให้อำนาจกองทัพในนาม กอ.รมน.แทรกซึมและกระจายไปทุกปริมณฑลของกลไกข้าราชการ จนกองทัพอาจเป็นเหมือนรัฐบาลเงาในอนาคต มีอำนาจทับซ้อนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เหมือนประชาธิปไตยครึ่งใบในอดีต. เราเคยประณามทักษิณที่ออก พรบ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจตนเองมากเกินไป แต่เรื่องนี้ก็เรื่องเดียวกันที่สมควรถูกประณาม เพราะกองทัพก็แสวงหาอำนาจให้ตนเองไม่ต่างกัน
แม้มีการกล่าวว่ามาตรา 27 วรรคหนึ่งให้ขอหมายศาลในการจับกุมบุคคลไว้ ไม่ได้มีการจับกุมบุคคลได้นอกกระบวนการยุติธรรม แต่ก็เฉพาะการจับกุมควบคุมตัวเท่านั้น แต่ก็ยังอุตส่าห์ระบุว่าไม่ใช่ที่สถานีตำรวจ นั่นก็คือเซฟเฮ้าหรือคุกลับนั่นเอง !
มาตรา 17 ยังบอกว่า ให้ "ผอ.รมน.ภาค" ซึ่งก็คือผู้บัญชาการภาคมีหน้าที่รับผิดชอบในงานราชการของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาค และมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชาข้าราชการ ซึ่งเท่ากับว่าให้ ผบ.ภ.มีอำนาจเหนือกระทรวงมหาดไทยสั่งการข้าราชการได้ ! นี่คือ "รัฐทหารผสมพลเรือน" ที่พยายามขยายฐานไปสู่ท้องถิ่น แม้ให้นายกเป็นประธาน รมน. และผู้ว่าฯ เป็นประธานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด แต่ ผอ.ภาคคือผู้มีอำนาจที่สั่งการผู้ว่าได้. นี่คือการเปลี่ยนการปกครองไทยจากเดิม Constitution Monarchy ให้เป็น Officer Military แทนใช่หรือไม่ !
เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ทหารและนักวิชาการบางคนออกมาพูดว่า ทำให้ภาพพจน์ไทยดีขึ้นเพราะไม่ต้องประกาศกฎอัยการศึก เหตุผลนี้ก็คือ การออก พ.ร.บ.นี้ออกมาก็เพื่อเลี่ยงการแจ้งรัฐภาคีของสหประชาชาติ ในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ซึ่งต้องแจ้งต่อภาคีให้รับทราบผ่านเลขา UN, หากมีประกาศกฏอัยการศึกหรือกฏหมายฉุกเฉินที่มีการละเมิดตามกติกานี้ ซึ่งถ้ากฎหมายนี้ผ่านจะเป็นปัญหาระหว่างประเทศอย่างแน่นอน
ถ้าเราไม่ร่วมกันคัดค้านตั้งแต่วันนี้ ประเทศนี้ไม่มีอนาคตอย่างแน่นอน!!!
หมายเหตุ
อ่านรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร
พ.ศ..... ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน เห็นชอบในหลักการ
และเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
ได้ที่ http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999625.html
คำถามที่ 7 ผบ. ทบ. ดูเหมือนว่าจะมีอานาจล้นฟ้า ?
9 กรกฎาคม, เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.), พรรคแนวร่วมภาคประชาชน, กลุ่มโดมแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และศูนย์ข่าวกิจกรรมนักศึกษา จัดงานเสวนาเรื่อง "สังคมการเมืองไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550" และ "พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร? " ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ผู้เข้าร่วมที่นำการเสวนา ได้แก่ ไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นันทโชติ ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน, จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ตัวแทนเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร, ดำเนินรายการโดย อุเชนทร์ เชียงเสน ผู้ประสานงานเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร
อุเชนทร์ เชียงเสน ผู้ประสานงานเครือข่าย
19 กันยาฯ เริ่มเปิดการเสวนาด้วยประเด็นที่ว่า สังคมการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ
2550 และภายใต้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จะเป็นอย่างไร ? ยุคอำมาตย์ฟื้นคืนชีพ
ช่องทางหนึ่งที่ต้องพยายามรักษาอำนาจในสังคมการเมืองก็คือ การไม่ใช้อำนาจดิบๆ
อย่างเคย แต่ต้องออกมาเป็นกฎหมาย นั่นคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
พ.ศ...., ไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการ สสส. กล่าวว่า ระยะที่ผ่านมานับแต่ปี 2535
เป็นต้นมา เห็นได้ชัดว่าบทบาทของราชการ และระบอบอำมาตยาธิปไตยลดน้อยลง ไม่สามารถมีบทบาททางการเมืองเพราะถูกแทนที่ด้วยกลุ่มนายทุน
พลังของนายทุนนั้น ด้านหนึ่งได้ลดทอนอำนาจทางการเมืองของระบบราชการ อีกด้านหนึ่งคือลดทอนอำนาจของภาคประชาชน
เพราะรัฐธรรมนูญได้สถาปนาอำนาจ 2 แบบ คือ การเมืองแบบตัวแทน และการเมืองแบบมีส่วนร่วม.
ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้รวบอำนาจทุกอย่าง. แต่หลังจากการรัฐประหารเมื่อ
19 นยายน 2549 ระบอบอำมาตยาธิปไตยได้ขึ้นสู่อำนาจในสังคมการเมือง เช่น จะเห็นว่าช่วงแรกของการร่างรัฐธรรมนูญ
มีการพูดเรื่องนายกฯ คนนอก จนได้รับเสียงต่อต้าน. จากนั้น ก็พูดเรื่ององค์กรแก้ปัญหาวิกฤต
แต่ว่าก็ถูกคัดค้านต่อต้านจนถอนออกไป
แล้วทางเลือกในการรักษาอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตย จะทำอย่างไร จะสร้างความชอบธรรมโดยรัฐธรรมนูญคงไม่ได้ เพราะถูกปฏิเสธจากสังคม จนเหลือเพียงพื้นที่บางพื้นที่ เช่น ในวุฒิสภา องค์กรอิสระ ที่อำมาตยาธิปไตยจะเข้าไปแฝงตัวอยู่ได้ เมื่อดูจากร่างรัฐธรรมนูญ 2550. ดังนั้น ช่องทางหนึ่งที่ต้องพยายามรักษาอำนาจในสังคมการเมือง ก็คือ การไม่ใช่อำนาจดิบๆ อย่างเคย แต่ต้องออกมาเป็นกฎหมาย นั่นคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ....
ไพโรจน์กล่าวว่า เดิมนั้น กอ.รมน. เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2508 ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และอยู่ในสังคมตลอดมา โดยทหารจะเข้าสู่อำนาจทุกครั้งที่มีความรุนแรงชัดเจน หลังจากเลิก พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ บทบาทของกอ.รมน.ก็ลดลง บทบาทกอ.รมน.ในรัฐบาลชวน หลีกภัย คือดูแลเรื่องชายแดน เรื่องคนกลุ่มน้อย ถัดมาในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กอ.รมน.ดูแลปัญหาภาคใต้. พอมาถึงยุครัฐประหารที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี บทบาท กอ.รมน.ก็ขยายเพิ่มขึ้นไปดูเรื่องสิ่งแวดล้อม, ความยากจน, การพัฒนา, ยาเสพย์ติด ฯลฯ นี่คือสิ่งที่ขยายขึ้นในยุคสุรยุทธ์ แล้วจะทำอย่างไรให้ กอ.รมน.ดำรงบทบาทต่อไป ก็เสนอ พ.ร.บ.มั่นคงฯ แล้วที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบ
อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ตกอยู่ในมือ ผบ.ทบ. ทหารสามารถดำเนินการให้ประชาชนมีวิถีชีวิตเป็นอยู่อย่างปกติสุข ทหารจะดำเนินการให้ประชาชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และทหารสามารถดำเนินการให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกองค์กรมีความสามัคคี. ไพโรจน์อธิบายต่อไปว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำให้กองทัพหรือทหารมีบทบาทอย่างไรบ้าง
ประการแรกคือ เป็นการขยายขอบเขตอำนาจ ให้ทหารมาดูแลเรื่องความมั่นคงในหลายมิติมาก ทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติ ซึ่งที่ผ่านมา ทหารจะเข้ามาได้ก็ต่อเมื่อมีภัยคุกคาม เป็นภาวะฉุกเฉิน เหมือนดังที่เวลานี้ก็มีกฎอัยการศึกที่ยอมให้ทหารเข้ามาดูแลในภาวะที่ไม่มั่นคง และกฎหมายอีกฉบับหรือพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
แต่พ.ร.บ.มั่นคงฯ ยังได้ขยายอำนาจพื้นที่ทหารเข้ามาในพื้นที่ทางการเมือง ไม่ว่าเป็นสถานการณ์ปกติหรือไม่ เช่น ในกฎหมายบอกว่า ทหารสามารถดำเนินการให้ประชาชนมีวิถีชีวิตเป็นอยู่อย่างปกติสุข ทหารจะดำเนินการให้ประชาชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และทหารสามารถดำเนินการให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกองค์กรมีความสามัคคี. อำนาจบริหารในมือ ผบ.ทบ การขยายมิติอำนาจของ กอ.รมน.แบบนี้ คือ การขยายทั้งพื้นที่ เพิ่มบทบาท ที่สำคัญเป็นอำนาจที่ใช้ได้ทั่วไป คือ พื้นที่ใด จังหวัดใด เมื่อไร ก็ได้
ไม่เพียงเท่านั้น ยังถ่ายโอนอำนาจบริหารให้ ผบ.ทบ. ในฐานะ ผอ.รมน. ถ้า ผอ.รมน.เห็นว่าพื้นที่ไหนมีภัย ก็สามารถประกาศ บังคับบัญชาหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงได้ทั้งหมด โยกย้าย แต่งตั้ง โอนเข้ามาดูแล จัดตั้งโครงสร้างซ้อนกับอำนาจของรัฐบาล มีทั้ง กอ.รมน.ส่วนกลาง, กอ.รมน.ภาค, มีผู้ว่ากอ.รมน.จังหวัด ก็แสดงว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่เว้นผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งอย่างกรุงเทพมหานคร ก็อยู่ภายใต้ผู้ว่า กอ.รมน. ซึ่งจะสามารถบังคับบัญชาสั่งการได้ทั้งหมด ย้ายข้าราชการออกจากพื้นทีได้ทันที
อำนาจนิติบัญญัติ ในมือ ผบ.ทบ. นอกจากนี้ พ.ร.บ.มั่นคง ยังถ่ายโอนอำนาจนิติบัญญัติ ให้สามารถออกกฎในการระงับสิทธิเสรีภาพ อาทิ เสรีภาพในการเดินทาง เช่น ห้ามใช้ยานพาหนะ ออกกฎคุกคามต่อเสรีภาพในการชุมนุม คือห้ามชุมนุม ห้ามแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เช่น ห้ามแสดงมหรสพ ห้ามโฆษณา ห้ามออกจากเคหะสถาน ห้ามประกอบอาชีพ ห้ามมิให้ค้าขายสินค้าอุปโภคบางชนิด เหมือนในอดีตที่ห้ามค้าข้าวสาร เพราะกลัวจะเอาข้าวไปให้พวกคอมมิวนิสต์. นี่เป็นการเอาอำนาจในการออกกฎ ซึ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติไปไว้ในมือทหาร ทั้งยังลิดรอนสิทธิประชาชนในการตรวจสอบอำนาจด้วย
ไพโรจน์กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง ยังออกกฎให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจสามารถจับกุมได้ทันที โดยไม่ต้องมีหมาย, เพียง "สงสัย" ว่าใครเป็นภัยต่อความมั่นคงก็จับกุมตัวได้ไม่เกิน 30 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหา (กฎหมายปกติ บังคับให้ต้องมีหมายศาล และคุมตัวได้ 48 ชั่วโมง ขณะที่กฎอัยการศึกคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน) เขากล่าวว่า ยังมีภาษาแปลกๆ ในกฎหมาย คือ คำว่า "ปราบปรามบุคคล, คุมบุคคล หรือองค์กร" ซึ่งคำว่าปราบปรามนั้นไม่เคยใช้ในภาษากฎหมาย และในทางปฏิบัติก็ไม่ชัดว่า ความหมายของการปราบปรามคืออะไร ? อย่างไรก็ดี มันจะกระเทือนต่อสิทธิในการใช้ชีวิต. ทั้งนี้ การปราบปรามบุคคลหรือองค์กรนั้นครอบคลุมหมด นับแต่เรียกคนมาให้ข้อมูลมารายงานตัวโดยไม่ต้องมีหมาย การตรวจค้นคน ยานพาหนะ สถานที่ ทำได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องมีหมาย ที่สำคัญคือ ยังสามารถยึด อายัดทรัพย์ แล้วยังเป็นอำนาจที่ไม่ต้องมีการตรวจสอบ
อำนาจตุลาการในมือผบ.ทบ.ประเด็นถัดมาในกฎหมายฉบับนี้ คือให้อำนาจในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเดิมเป็นอำนาจตำรวจและศาล เช่น กฎหมายนี้ให้อำนาจในการเข้าไปนั่งฟังการสอบสวนของเจ้าพนักงาน เรียกพยานหลักฐานมาสอบสวน รวมถึงสั่งไม่ต้องดำเนินคดีได้, "เช่น ผมถูกจับ ผมอาจจะยอม ก็สามารถสั่งไม่ต้องดำเนินคดีกับผม แต่สามารถไปกักตัวผมให้อยู่ในค่ายได้ 6 เดือน เหมือนอองซานซูจี ไปอยู่ในค่ายการุณเทศ. ซึ่งอำนาจการกักคนเป็นอำนาจศาล ว่าจะกักขังคนนานเท่าไร" ไพโรจน์กล่าว
อำนาจที่ไร้การตรวจสอบ กฎที่ ผอ.กอ.รมน. สั่ง ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง เจ้าหน้าที่ทำให้คนตาย เสียหายทางแพ่งหรืออาญา ล้วนไม่ต้องรับผิด พอให้อำนาจเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบ นั่นคือ กฎที่ ผอ.กอ.รมน. สั่ง, ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง ทั้งที่ปกติศาลปกครองมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด แต่อำนาจของ ผอ.กอ.รมน. หรือ ผบ.ทบ.นั้น ออกกฎให้ไม่ต้องมีการตรวจสอบโดยศาลปกครอง. ที่มากไปกว่านั้นคือ ถ้าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจจับกุม แล้วในระหว่างจับกุมอาจมีการยิงคนเสียชีวิต ซึ่งปกติต้องมีการตรวจสอบโดยศาลอาญาเกี่ยวกับกรณีทำให้คนตาย แต่อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้บอกว่าไม่ต้องรับผิด และเช่นเดียวกัน หากเกิดความเสียหายทางแพ่งก็ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทางวินัย ได้รับการยกเว้นหมด
"นี่คืออำนาจที่เขียนเอาไว้ในพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า เป็นการให้อำนาจคนคนเดียวคือ ผบ.ทบ.มากเกินไป เป็นการให้อำนาจเหนือรัฐ ผมยังเชื่อว่าจับรัฐมนตรียังได้เลย เพราะมันซ้อนอำนาจรัฐ ใช้อำนาจทุกทาง บริหาร, นิติบัญญัติ, และตุลาการในบางชั้น" เป็นความมั่นคงของทหารที่คุกคามประชาชน อำนาจของ ผบ.ทบ. ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยของปวงชน เพราะไม่ได้มาจากปวงชน แต่มันกลับมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชน มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง, ไพโรจน์กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นภัยคุกคามสามด้าน
หนึ่ง เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนสิทธิไว้อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ให้ ผอ.กอ.รมน. ยกเลิกสิทธิที่มีอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการเดินทาง สิทธิในทรัพย์สิน ฯลฯ ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยตรง
สอง เป็นภัยคุกคามต่อหลักการประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยมีอำนาจของประชาชนสามทาง แต่กฎหมายนี้ได้เอาอำนาจทั้งสามมาอยู่ที่เดียวกัน โดยไม่มีใครตรวจสอบได้ ถือเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง
สาม คุกคามต่อหลักนิติธรรม คือ ปกติถ้ามีความผิดจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ คือถ้ามีการจับกุม อย่างน้อยต้องผิดก่อน โดยตำรวจจะสืบสวน แล้วศาลจะออกหมาย และเมื่อถูกจับแล้ว ต้องมีสิทธิเข้าเยี่ยมได้ เมื่อสอบสวนต้องมีทนายความที่ไว้ใจได้ร่วมกระบวนการ แล้วจะผิดจริงหรือไม่นั้น ต้องไปสู่ศาลเป็นผู้วินิจฉัยโดยกระบวนการที่เปิดเผย และต้องได้รับการประกันตัว แต่จะเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จงใจให้อำนาจ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่กรณีนี้ ให้อำนาจในการกักตัว ห้ามเยี่ยม และสามารถแทรกแซงการสอบสวน ฯลฯ
ไพโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า อำนาจของ ผบ.ทบ. ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยของปวงชน เพราะไม่ได้มาจากปวงชน แต่มันกลับมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชน มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในอนาคต ถ้ากฎหมายนี้ออกได้ และออกมาในยุคที่การเมืองถูกออกแบบให้ฝ่ายบริหารเป็นพรรคผสมซึ่งจะยิ่งอ่อนแอ ก็ยิ่งทำให้อำนาจของกองทัพเข้มแข้ง กฎหมายฉบับนี้จะสกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นภัยคุกคามประชาธิปไตยไทยอีกครั้ง ผ่านความชอบธรรมของ สนช. ในการอนุมัติ
คำถามที่ 8 เห็นมีประท้วงกัน
ช่วยยกตัวอย่างหน่อยได้หรือไม่ ?
(3 กรกฎาคม 2550) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้ประสานกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ
อาทิ เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายชุมชนแออัด เครือข่ายโรคเอดส์ เครือข่ายผู้ป่วย
เครือข่ายสิทธิมนุษยชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ พรรคแนวร่วมภาคประชาชน ฯลฯ เพื่อร่วมกันยื่นหนังสือขอให้รัฐบาล
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทบทวนการออกร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน
พ.ศ.... ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ประตูฝั่งตรงข้ามกับอาคารคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(ปปช.)
เรื่อง ขอให้พิจาณาทบทวนยุติการออกร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร
พ.ศ. ...
เรียน ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร
พ.ศ.
. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 ตามข้อเสนอของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
นั้น
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มีความเห็นว่า สาระของร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรดังกล่าว ได้สถาปนาอำนาจกองทัพให้มีอำนาจซ้อนกับอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ให้กองทัพใช้อำนาจโดยปราศจากการควบคุมถ่วงดุล และสามารถใช้อำนาจล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ตามดุลพินิจของบุคคลเพียงคนเดียว ดังเหตุผลต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง การจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน มีอำนาจดำเนินการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ อันถือได้ว่าเป็นการให้อำนาจกับทหารเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ ในนามของผู้พิทักษ์ความมั่นคงของรัฐได้อย่างกว้างขวางและอย่างถาวร ดังการให้นิยามคำว่า "การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร" ว่าหมายถึง "การดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างปกติสุข มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมและผืนแผ่นดินไทย ดำรงไว้ซึ่งเอกราชและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนให้ประชาชนและทุกๆ องค์กรมีความสามัคคี เข้มแข็งพร้อมที่จะเผชิญภยันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ " ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว ทหารควรจะเข้ามามีบทบาทเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของชาติเท่านั้น ซึ่งก็จะต้องมีการประกาศกฎอัยการศึก หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเสียก่อนตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว มิฉะนั้นทหารจะกลายเป็นผู้ถือครองอำนาจรัฐเสียเองแทนรัฐบาลที่มาจากประชาชน
ประการที่สอง ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) สามารถรวมศูนย์การใช้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไว้ที่บุคคลคนเดียว อันเป็นการขัดกับหลักการประชาธิปไตย ที่ยึดหลักการ "การถ่วงดุลและการตรวจสอบอำนาจซึ่งกันและกัน" เป็นสำคัญ สำหรับการใช้อำนาจบริหารของผู้อำนวยการ กอ.รมน. ซึ่งระบุไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้แก่ การใช้อำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐ การแต่งตั้งบุคคลากร การสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนการใช้อำนาจนิติบัญญัติของผู้อำนวยการ กอ.รมน. คือ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในสามารถออกข้อกำหนดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ห้ามการแสดงมหรสพ ห้ามการโฆษณา เป็นต้น และการอำนาจออกประกาศให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการจับกุม ควบคุมตัว ปราบปราม เรียกบุคคลมารายงานตัว การค้น การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกินสามสิบวัน ตลอดจนการปราบปรามบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรได้ เป็นต้น ส่วนการใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของผู้อำนวยการ กอ.รมน. เช่น การแต่งตั้งเจ้าพนักงานร่วมฟังการสอบสวน หรือเรียกสำนวนการสอบสวนคดีอาญามาตรวจดูได้ และการมีความเห็นว่าไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหา
ประการที่สาม ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีอำนาจออกข้อกำหนดหรือออกประกาศที่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือสิทธิมนุษยชน ตามที่ระบุแล้วในประการที่สองนั้น สามารถกระทำได้โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง จึงเป็นการใช้อำนาจที่ปราศจากการจากการตรวจสอบจากสถาบันตุลาการ อันเป็นสถาบันที่สำคัญในการประกันและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ประการที่สี่ เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ถูกตรวจสอบทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ตามอำเภอใจได้ง่ายยิ่งขึ้น แม้จะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการกระทำที่สุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น เพราะจะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากมากในทางปฏิบัติ ประกอบกับวัฒนธรรมการใช้อำนาจแบบอำนาจนิยม จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรม "คนทำผิดลอยนวล" และอาจจะก่อให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ดังเหตุผลที่เรียนมาข้างต้น กป.อพช.จึงใคร่ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาทบทวนยุติการออกร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. . เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ากองทัพจะไม่สืบทอดอำนาจ ด้วยการออกกฎหมายอันถือเสมือนเป็นรัฐประหารเงียบให้กองทัพมีบทบาทในการเมืองไทยต่อไป เฉกเช่นผู้ก่อการรัฐประหารชุดต่างๆ ที่ประพฤติปฏิบัติเสมอมาในอดีต แต่ควรจรรโลงให้ระบอบประชาธิปไตยพัฒนาต่อไป สมดังที่ ฯพณฯ ได้แสดงเจตจำนงในการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ตั้งแต่แรก
ขอแสดงความนับถือ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
สำหรับรายละเอียดครบทุกมาตรา
ผู้สนใจสามารถคลิกดูได้ที่
http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999625.html
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน:
จากชายขอบถึงศูนย์กลาง
โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และนักวิชาการอิสระ-สถาบัน
ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ดูเหมือนจะเป็นยูโธเปีย(utopia)
สำหรับประเทศศูนย์กลาง
แต่ขณะเดียวกันกระแสโลกาภิวัตน์นี้กลับกลายเป็นยูโธปลอม(dystopia) ของบรรดาประเทศชายขอบทั้งหลาย
เนื่องจากได้นำมาซึ่งการสูญเสีย และกดขี่ทางด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งทางด้านความยุติธรรม ความเท่าเทียม อิสรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะมองจากมิติทางด้านการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และกฎหมาย ฯลฯ
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เกิดขึ้นมาจาก
การเล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ที่กำลังคุกคามผู้คนและพยายามที่จะแสวงหาตัวบท
พร้อมทั้งกรณีตัวอย่างในที่ต่างๆ มานำเสนอ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์โลก
ที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน และทางออกที่หลากหลายในประเทศชายขอบต่างๆ