บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Food
Resources
Midnight University
พัฒนาการเกี่ยวกับแนวคิดฐานทรัพยากรอาหาร
จากระดับโลกสู่สังคมไทย:
ขบวนการเคลื่อนไหวด้านแนวคิดฐานทรัพยากรอาหาร
กฤษฎา
บุญชัย : เขียน
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการนี้
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน ได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ แนวคิดเรื่องสิทธิในอาหาร (Rights to food),
ความมั่นคงทางอาหาร (Food security), และ
แนวคิดเรื่องอธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty)
โดยผู้เขียนได้มีการเรียบเรียงเรื่องดังกล่าวอันเป็นแนวคิดรากหญ้าสากล
มาสู่การตรวจตราแนวคิดดังกล่าวในสังคมไทย
สำหรับในบทความนี้ได้เรียงลำดับสาเหตุของปัญหาจนถึงทางออก ดังนี้...
- ภาวะความอดอยาก ขาดแคลนอาหาร
- สิทธิต่ออาหาร, ความมั่นคงทางอาหาร และอธิปไตยทางอาหาร
- เวีย คัมเพซิน่า กับนิยามความหมายอธิปไตยทางอาหาร
- แนวคิดเรื่องสิทธิ, ความมั่นคง, และอธิปไตยทางอาหารในสังคมไทย
- ม.จ.สิทธิพร กฤดากร เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๓๗๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๑ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
พัฒนาการเกี่ยวกับแนวคิดฐานทรัพยากรอาหาร
จากระดับโลกสู่สังคมไทย:
ขบวนการเคลื่อนไหวด้านแนวคิดฐานทรัพยากรอาหาร
กฤษฎา
บุญชัย : เขียน
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
แนวคิดเรื่องทรัพยากรอาหาร
(Food Resources)
แนวคิดดังกล่าว เป็นพัฒนาการทางแนวคิดล่าสุดของขบวนการเคลื่อนไหวของชุมชนเกษตรกรรายย่อย
และองค์กรเอกชนที่ต่อสู้กับปัญหาความยากจน การขาดแคลนอาหาร ความเสื่อมของนิเวศ
การสูญเสียความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเสื่อมสลายของระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรตลอดจนการผลิตของชุมชน
ทุกขภาพจากระบบเกษตรแผนใหม่ ซึ่งปัญหาทั้งหมดมีสาเหตุสำคัญจากทุนนิยมสรีอันมีกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ด้านเกษตรและการค้าเสรี
และรัฐในหลายประเทศที่ถูกผนวกควบจากทุนโลกาภิวัตน์ให้กลายเป็นกลไกหนึ่งในการผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจการค้า
และการจัดการทรัพยากรเพื่อการสร้างความมั่งคั่งของทุนชาติและทุนข้ามชาติ
ด้วยเหตุนี้ แนวคิดเรื่องทรัพยากรอาหารจึงเป็นการร้อยเรียงขึ้นมาจากแง่มุมทางการเมือง
เศรษฐกิจ และสังคม ที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก โดยมีเกษตรกรรายย่อย
ชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางของการวิเคราะห์ที่สำคัญ ในขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลกก็ได้มีแนวคิดสำคัญที่เป็นฐานของแนวคิดทรัพยากรอาหาร
ได้แก่
- แนวคิดเรื่องสิทธิในอาหาร (Rights to food) ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของหลักการสิทธิมนุษยชน
- ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ซึ่งมุ่งวิเคราะห์เรื่องปัญหาการขาดแคลน อดอยากอาหารของคนจน
ที่สัมพันธ์กับภาวะความยากจน
- แนวคิดเรื่องอธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty) ที่มุ่งเน้นไปที่สิทธิของเกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่นในการเข้าถึง จัดการอาหารและทรัพยากรที่เป็นฐานการผลิตอาหารเพื่อความอยู่รอด ผาสุก ยั่งยืนว่าเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้น
แนวคิดเหล่านี้มีจุดเน้นการวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน ทั้งขัดแย้งและหนุนเสริม วิภาษวิธีของแนวคิดข้างต้นจึงก่อเกิดเป็นแนวทางเรื่องทรัพยากรอาหารที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ก่อนที่จะทำความเข้าใจสาระสำคัญและองค์ประกอบของแนวคิดเรื่องทรัพยากรอาหาร เราควรจะเริ่มต้นสำรวจถึงสภาพปัญหาการขาดแคลนอาหาร และภาวะหิวโหย อันเป็นบริบทพื้นฐาน แล้วจึงเจาะลึกไปถึงแนวคิดเรื่องสิทธิในอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และอธิปไตยทางอาหาร อันเป็นกระบวนแนวคิดในการวิเคราะห์ปัญหา และเสนอทางออก
ภาวะความอดอยาก ขาดแคลนอาหาร
จากรายงานขององค์การเพื่ออาหารและเกษตรและสหประชาชาติ (FAO) ในปี 2004 (1) ได้กล่าวถึงถึงปัญหาความอดอยาก
ยากแค้น ความหิวโหยของประชาชน ซึ่งทั่วโลกในขณะนี้มีประชาชนไม่ต่ำกว่า 850 ล้านคนที่เผชิญภาวะหิวโหยอย่างต่อเนื่องและภาวะทุกขโภชนาการ
ซึ่งเกือบทั้งหมดนี้หรือราว 815 ล้านคนอยู่อาศัยในประเทศกำลังพัฒนา อันประกอบด้วยประเทศเทศแถบอัฟริกา
ถึงร้อยละ 33 และในเอเชีย ร้อยละ 16 ซึ่งทั้งสองภูมิภาคเป็นภูมิภาคเขตร้อนชื้น
(FAO, 2004 a, pp.6-10) ที่การขาดแคลนอดอยากดังกล่าว มีสาเหตุจากความยากจนอย่างรุนแรง
จากรายงานของสหประชาชาติระบุว่า
- ร้อยละ 50 มาจากครัวเรือนที่ทำการผลิตอาหารซึ่งดำรงอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
- รองลงมาคือ กลุ่มครัวเรือนชนบทที่ไม่ได้ทำการผลิต ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 22 ของผู้เผชิญภาวะหิวโหย
- อันดับสาม ได้แก่ กลุ่มคนจนในเมือง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 20 และ
- กลุ่มสุดท้ายราวร้อยละ 8 ของผู้หิวโหยทั้งหมด คือ กลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ ชาวประมง และชุมชนที่พึงพิงป่า
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงความลักลั่นของโครงสร้างเศรษฐกิจและการจัดการทรัพยากรและอาหารของโลก เนื่องจากกลุ่มที่ไม่หิวโหยกลับเป็นกลุ่มคนชั้นกลางและชนชั้นสูงในเมืองในประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ผลิตและห่างไกลจากทรัพยากร แต่เป็นกลุ่มคนหรือประเทศที่มีกำลังซื้อสูง
สอดคล้องกับรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ว่า ปัญหาความหิวโหยและทุกขโภชนาการที่เป็นอยู่เวลานี้ ไม่ได้มีสาเหตุจากการขาดแคลนอาหาร แต่ขาดการเข้าถึงอาหาร อันเนื่องจากรายได้ที่พอเพียง และการเข้าถึงทรัพยากรการผลิต ผู้เขียนจึงขยายความต่อมาว่า ผู้หิวโหยส่วนมากคือผู้ที่ทำการผลิตอาหาร และเป็นผู้ที่ดำรงอยู่ในฐานทรัพยากร แต่พวกเขาไม่มีสิทธิเลือกทรัพยากรที่สมบูรณ์ ความหิวโหยจึงโยงกับการเข้าถึงทรัพยากรและอาหาร ซึ่งความสามารถในการเข้าถึง ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการมีรายได้ที่เพียงพอเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับการเข้าถึงทรัพยากรในการผลิต และปัญหาการจัดสรรอาหาร ที่ดิน และทรัพยากรต่างๆ โดยตรงด้วย
ดังนั้น การจะกล่าวว่าปัญหาความหิวโหย ขาดแคลนอาหาร ซึ่งสัมพันธ์กับความยากจนเป็นปัญหาในเชิงกายภาพ เช่น อยู่ห่างไกลจากอาหาร ขาดความสมบูรณ์ของทรัพยากร จึงเป็นข้อสรุปที่ผิดพลาด เพราะสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนที่เป็นผู้ผลิตและอยู่กับฐานทรัพยากร ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรและผลผลิตที่ตนเองผลิตได้นั้น จากการศึกษาพบว่า ปัญหามาจากระบบโครงสร้างทุนนิยมโลกที่ก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงก่อนอาณานิคม และพัฒนาสู่หลังอาณานิคมที่มากำกับระบอบการจัดสรรทรัพยากรและการผลิตของโลก เพื่อมุ่งตอบสนองกลุ่มประเทศทุนนิยมก้าวหน้า และบรรษัทข้ามชาติ และโครงสร้างระดับโลก ส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตและจัดสรรทรัพยากรในประเทศอันก่อให้เกิดภาวะความอดอยาก ขาดแคลนอาหาร และความยากจนของคนชนบท แต่สร้างความมั่นคั่งให้กับภาคเมืองและอุตสาหกรรม (กฤษฎา บุญชัย, 2549)
ไมเคิล วินเฟอร์ และเจนนี่ จอห์นเซน (Michael Windfuhr & Jennie jonsen) วิเคราะห์ว่า ปัญหาความยากจน หิวโหย และทุกขโภชนาการ เกิดมาจากหลายปัจจัยได้แก่
ประการแรก ข้อจำกัดทางเทคนิคในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นมุมมองกระแสหลักที่เสนอให้พัฒนาเทคนิคเพิ่มผลผลิต
ประการที่สอง ข้อจำกัดทางการเมือง อันเนื่องจากรัฐเกือบทั่วโลก ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศทุ่มเทงบประมาณให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานภาคเมือง แต่ละเลยภาคชนบท
ประการที่สาม ระบบตลาดบิดเบือน เมื่อประเทศโลกกำลังพัฒนาถูกองค์กรการค้าโลกกดดันให้เปิดเสรี รัฐในประเทศยากจนไม่สามารถสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้แข่งขันกับเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุน (subsidy) อย่างเต็มที่จากประเทศอุตสาหกรรม
ประการที่สี่ การเปลี่ยนเกษตรให้เป็นอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ยึดครองคือกลุ่มทุนเกษตรรายใหญ่ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรและกุมตลาดได้
ประการที่ห้า การควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติ ทั้งด้านการผลิต การตลาดในระดับโลก
(Michael Windfuhr & Jennie jonsen, 2005, pp.1-9)
สาเหตุของปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้การแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร ความหิวโหย และความยากจนไม่สามารถทำได้ลำพังในระดับท้องถิ่น หรือระดับประเทศ แต่ต้องแก้ไขโครงสร้างระดับโลกด้วย ดังนั้น นานาประเทศต้องเคลื่อนไหวแก้ปัญหาร่วมกันในระดับโลก โดยมีการจัดตั้งที่ประชุมสุดยอดว่าด้วยอาหารโลก (World Food Summit) ในปี 1996 โดยตั้งเป้าหมายว่า รัฐบาลที่เป็นสมาชิกจะต้องลดจำนวนคนหิวโหยลงให้ได้ครึ่งหนึ่งในปี 2015 แต่การดำเนินการที่ผ่านมานั้นกลับไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร ซึ่ง FAO ชี้ว่า เพราะประเทศต่างๆ ขาดเจตจำนงทางการเมือง (Political will) ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตามกรอบข้อตกลงของที่ประชุมสุดยอดอาหารโลก
ก่อนหน้าที่จะมีข้อตกลงของการประชุมสุดยอดว่าด้วยอาหารโลก ความพยายามของนานาประเทศที่จะสร้างนโยบายที่ให้หลักประกันเรื่องอาหารและทรัพยากรก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังปรากฏในปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนปี 1948 และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในปี 1976 ซึ่งปฏิญญาทั้งสองฉบับมีหลักการร่วมกันคือ "สิทธิต่ออาหาร" (Rights to Food)
แนวคิดเรื่องสิทธิต่ออาหาร
แนวคิดเรื่องสิทธิต่ออาหาร เป็นองค์ประกอบของสิทธิมนุษยชน โดยพื้นฐานแนวคิดดังกล่าวเสนอว่า
ประชาชนในฐานะปัจเจกสามารถเรียกร้องให้รัฐและชุมชนรัฐเคารพ ปกป้อง และสนับสนุนความจำเป็นของประชาชนในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ
และมีคุณภาพที่เหมาะสม ในแง่ดังกล่าวจึงเป็นสิทธิต่อการอาหารที่สามารถใช้ต่อต้านการกระทำของรัฐและองค์กรต่างๆ
ที่จะกระทบสิทธิต่ออาหารของประชาชน
ต่อมา หลักคิดดังกล่าวยังได้ถูกกำหนดไว้ในแผนของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของสหประชาชาติใน ข้อกำหนดทั่วไปหมายเลข 12 (GC12) ว่า "สิทธิของชาย หญิง และเด็ก และในชุมชน และอื่นๆ ที่จะมีการเข้าถึงอาหารทั้งทางกายภาพและทางเศรษฐกิจอย่างเพียงพอได้ตลอดเวลา เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"
การเข้าถึงอาหารตามข้อกำหนดดังกล่าวประกอบด้วยการเข้าถึงรายได้สำหรับบุคคล หรือเข้าถึงทรัพยากรการผลิต เช่น ที่ดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ สัตว์ หรือผ่านการทำงาน ซึ่งการเข้าถึงดังกล่าวต้องเพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยประชาชนมีส่วนร่วมในชีวิตทางเศรษฐกิจในการใช้ทรพัยากรและอื่นๆ อย่างยั่งยืน
สิทธิต่ออาหารตามปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จึงกำหนดสิทธิประชาชนในฐานะปัจเจกให้สามารถเรียกร้องให้รัฐต้องดำเนินการ 3 ระดับคือ
- การเคารพการเข้าถึงอาหารของประชาชนที่ดำรงอยู่
- การปกป้องไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิการเข้าถึงอาหารของประชาชนไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใด และ
- การเติมเต็มสนับสนุนให้ประชาชนมีศักยภาพเข้าถึง ใช้ประโยชน์ทรัพยากรเพื่อธำรงวิถีชีวิตอย่างมั่นคง เมือไรก็ตามที่ปัจเจกหรือกลุ่มชนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ตามหลักการดังกล่าว รัฐต้องการดำเนินทำให้ประชาชนเกิดสิทธิโดยตรง
ข้อกำหนดเรื่องสิทธิต่ออาหารในหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ได้รับการขานรับจากองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ กลุ่มประชาสังคม นักวิชาการ และรัฐบาลจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม แม้ปฏิญญาสากลจะมีฐานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กระบวนการยุติธรรมและศาลในหลายประเทศกลับไม่รู้จักสิทธิดังกล่าว จนต้องมีการเคลื่อนไหวของสมาชิก FAO จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับการปกป้องสิทธิต่ออาหารให้ประชาสังคมในประเทศต่างๆ ในไปดำเนินการต่อรัฐ
ความมั่นคงทางอาหาร
สวามินาทาน (Swaminathan, 1998) (2) ได้สืบย้อนพัฒนาการแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารว่าสืบสาวไปได้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ
1940-60 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เกิดแนวคิดเรื่องสิทธิต่ออาหาร ซึ่งเขาจำแนกออกมาเป็น
4 ยุค คือ
(1) ช่วง 1940-60 ความมั่นคงทางอาหารถูกมองในแง่ทางกายภาพ เช่น สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีอาหารเพียงพอ เข้าถึงได้ ผลิตได้
(2) ช่วงต่อมาคือ 1970 เน้นเรื่องการเข้าถึงทางเศรษฐกิจต่ออาหาร
(3) ช่วง 1980 ความมั่นคงทางอาหารขยายขอบเขตจากความมั่นคงระดับโลกหรือระดับประเทศ หรือระดับชุมชนมาสู่ระดับปัจเจก และ
(4) ช่วง 1990 ที่ยอมรับเรื่องคุณค่าโภชนาการระดับจุลภาค และสภาพแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัยโดยปัจจุบัน สภามินาทานสรุปว่า เราต้องมองเรื่องความมั่นคงทางอาหารจากแง่มุมทั้งทางกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมอย่างรอบด้าน
ในขณะที่แมกซเวล (Maxwell 1998) (3) ก็ได้จำแนกวาระของแนวคิดเรื่องความมั่นทางอาหารในแต่ละช่วง ดังนี้
ช่วงแรก 1974-1980 มุ่งไปที่ความมั่นคงทางอาหารระดับโลก เพราะจากวิกฤติอาหารจากความอดอยากในอัฟริกา ราคาอาหารเพิ่มสูง และเป็นช่วงที่ FAO ก่อตั้งคณะกรรมการว่าด้วยความมั่นคงอาหารโลกและสภาอาหารโลก เพื่อติดตามสภาวะความต้องการและปริมาณอาหารโลก
- ช่วงต่อมาคือ 1981-1985 ช่วงนี้เริ่มปฏิบัติการนโยบายปรับโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาความยากจน อันจะทำให้เกิดภาวะความมั่นคงทางอาหาร
- ช่วงที่สาม 1986-1990 เมื่อภาวะอดอยากในอัฟริกาได้มาถึงการสรุปบทเรียนต่อต้นทุนทางสังคมอันเกิดจากการปรับโครงสร้าง อันทำให้แนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารเปลี่ยนไปจากเดิม
- ช่วงที่สี่คือ 1990-1996 แนวคิดเรื่องการลดความยากจนกลายเป็นประเด็นที่โด่งดังกว่าเรื่องความมั่นคงอาหาร ปัญหาความอดอยากถูกมองเป็นเรื่องการจัดการอุปทานด้านอาหารในสถานการณ์การเมืองที่ซับซ้อน
- ช่วงที่ห้าคือ 1996 เมื่อราคาอาหารในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น และการกลับมาให้ความสำคัญเรื่องความสามารถของโลกในการเลี้ยงดูตนเอง
แมก์เวลได้ตั้งคำถามว่า ประเด็นการวิเคราะห์ย้อนกลับมาใช้แนวคิดมัลธัส ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วง 1970 ด้วยการเน้นไปที่การผลิตอาหารในพื้นที่ที่มีศักยภาพ หรือจะสนใจเรื่องการบริโภคและการเข้าถึงอาหารอย่างยั่งยืนหรือไม่. โดยสรุปแล้ว แมกซ์เวลให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในวาระด้านความมั่นคงอาหาร เกิดความหลากหลายของวัตถุประสงค์ ใส่ใจต่อยุทธศาสตร์การดำรงชีพที่ซับซ้อนในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากและไม่แน่นอน ความยืดหยุ่น การปรับตัว และปัจจัยที่หลากหลายโดยมีครัวเรือนเป็นศูนย์กลางการวิเคราะห์
เมื่อเรานำเอาการจำแนกของ"สวามินาทาน"และ"แม็กซ์เวล" มาสังเคราะห์ร่วมกับงานชิ้นอื่น เราจะเห็นแบบแผนทางความคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารในแต่ละช่วงร่วมกันคือ ช่วงแรก 1960-70 แนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นจากความสนใจในระดับโลกต่อภาวะอดอยากในบางทวีป เช่น อัฟริกา โดยความใส่ใจขณะนั้นเป็นเรื่องกายภาพและเศรษฐกิจ เช่น ความแห้งแล้ง และความยากจน วิธีมองเรื่องความมั่นคงทางอาหารขณะนั้นจึงเป็นเรื่องการมุมมองด้านอุปทาน ดังที่ปรากฏในรายงานของแผนงานอาหารโลก 1979 ว่า สร้างหลักประกันการผลิตอาหารและสร้างสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภค เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในตลาดโลก รายงานดังกล่าวเสนอให้เพิ่มผลผลิตอาหารในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Melaku Ayalew, 2007) (4)
รายงานของ FAO (1983) ได้อธิบายถึงแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยวิเคราะห์ว่า ทุกประเทศประสบความยากลำบากในการสะสมอาหาร ประเทศต่างๆ ควรเข้าถึงอาหารนำเข้าพื้นฐานอย่างเพียงพอ ประเด็นเรื่องการสร้างผลผลิตส่วนเกินจึงกลายเป็นประเด็นหลักของการวิเคราะห์ความมั่นคงทางอาหารระดับโลก และระดับประเทศ ควบคู่ไปกับเรื่องการจัดสรรอาหารให้สัมพันธ์กับประชากร
อมาตยา เซน (Amarta Sen's, 1981) (5) ได้ตั้งคำถามต่อแนวคิดระดับโลกและประเทศ โดยเสนอให้เน้นการเข้าถึงอาหารในระดับปัจเจกและกลุ่ม ซึ่งในปี 1982 สภาอาหารโลกจึงได้ประชุมและมีข้อสรุปหลักการเรื่อง ความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชาชน ต่อมาปี 1983 องค์กร FAO และสภาอาหารโลกจึงได้กำหนดนิยามความมั่นคงทางอาหาร ให้รวมถึงการเข้าถึงของปัจเจกต่ออาหาร ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็ได้ปรากฏในปัจจุบัน
ความมั่นคงทางอาหารจากแง่มุมของการสร้างอุปทานเพื่อตอบสนองต่อระดับโลก ประเทศ และปัจเจก เกิดจากการวิเคราะห์สถานการณ์ ดังที่ FAO (6) ได้ชี้ว่า ความมั่นคงอาหารเป็นความสัมพันธ์ระหว่างระดับการบริโภคอาหารกับความยากจน ดังนั้น ความมั่นคงทางอาหารจะปรากฏขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนทุกคน ในทุกขณะสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ บริโภคอาหารที่ปลอดภัย และมีคุณค่าอาหารที่พอเพียงในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการเข้าถึงอาหารดังกล่าวเป็นไปโดยที่ประชาชนมีศักยภาพ ความสามารถดำเนินการเองได้โดยตรง
ไม่เพียงแต่ FAO เท่านั้น กรมการเกษตรของสหรัฐอเมริก (USDA) ก็ได้ให้คำอธิบายเรื่องความมั่นคงทางอาหารสำหรับครัวเรือนว่าหมายถึง การที่สมาชิกในครอบครัวทั้งหมดสามารถเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอในทุกเวลา และดำเนินการได้เองเพื่อความมีสุขภาวะที่ดี ดังนั้นความมั่นคงอาหารจึงมีสามองค์ประกอบคือ มีอาหารพอเพียง, ปลอดภัย, มีคุณค่า มีความสามารถเข้าถึงอาหารอันเป็นที่ยอมรับ (เช่นอาหารที่คนทั่วไปบริโภค ไม่ใช่กินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร) และด้วยวิถีทางที่สังคมยอมรับ (ไม่ใช่ในภาวะฉุกเฉิน ไม่ใช่การขโมย เป็นต้น)
องค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของโลก
เช่น ธนาคารโลกก็ได้ออกมากำหนดความหมายของความมั่นคงทางอาหารในปี 1986 ว่า "การเข้าถึงโดยประชาชนทั้งหมด
ทุกเวลา เพื่อจะมีอาหารเพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างแข็งขันและมีสุขภาพที่ดี
ปัจเจกบุคคลสามารถเข้าถึงอาหารได้ทุกฤดูกาล ทุกปี ไม่เพียงแต่เพื่ออยู่รอดแต่เพื่อการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างแข็งขันด้วย"
โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า เพราะอาหารคือหนึ่งในปัจจัยสี่ ดังนั้น ความมั่นคงทางอาหารจะดำรงอยู่ได้อย่างประสิทธิภาพ
ต้องอาศัยการดูแลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษา อนุรักษ์ ประเมิน และกำหนดระบบการผลิตอาหาร
ในด้านกลับของความมั่นคงทางอาหารก็คือ ความไม่มั่นคงทางอาหาร (Food Insecurity)
ซึ่งก็คือ ภาวะอดอยาก หิวโหย การขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นทั้งแบบเรื้อรังหรือเป็นเพียงภาวะชั่วคราว
ความไม่มั่นคงอาหารแบบเรื้อรังหมายถึง ระดับความเสี่ยงขั้นสูงต่อภาวะขาดแคลนอาหารและหิวโหย
ดังนั้นการจะสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ต้องกำจัดความเสี่ยงเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม
พึงตระหนักว่า การขาดแคลนอาหารกับความหิวโหยไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เนื่องจากว่า
ในบางสถานการณ์อาหารไม่ขาดแคลน แต่กับเกิดภาวะหิวโหยโดยเฉพาะกับประเทศยากจน ซึ่งส่วนมากเป็นประเทศผลิตอาหารแต่กลับประสบภาวะหิวโหย
จากพัฒนาแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่กล่าวมา เราจะเห็นได้ว่าภายใต้แนวคิดหลักเดียวกัน แต่ปรากฏความแตกต่างทางด้านแนวทางการมองปัญหา บางกลุ่มมองปัญหาความมั่นคงทางอาหารจากแง่มุมทางกายภาพ บางกลุ่มมองจากแง่ทางเศรษฐกิจ บางกลุ่มมองจากแง่ทางการเมือง ดังเช่นที่ อมาตยา เซน, นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งได้รับรางวัลโนเบล, เสนอว่า "ไม่มีสิ่งใดที่ปัญหาเรื่องอาหารจะไม่ใช่เรื่องการเมือง" ด้วยเหตุนี้การเมืองจึงมีส่วนกำหนดความเป็นไปของความมั่นคงและไม่มั่นคงทางอาหาร (Wikipedia, 2007)
ดังที่เขากล่าวว่า ในศตวรรษที่ 20 มีตัวอย่างมากมายที่การทำลายความมั่นคงทางอาหารมาจากรัฐบาลที่กระทำต่อชาติของตนเอง ซึ่งบางครั้งเป็นไปอย่างตั้งใจ ดังเช่น รัฐบาลสังคมนิยม และรัฐเผด็จการ การจัดสรรอาหารในประเทศถูกนำมาใช้เป็นประเด็นทางการเมืองในการตอบสนองมิตรและต่อต้านศัตรู
ขณะที่รัฐบาลอีกจำนวนมากก็มักละเลยการสนับสนุนชาวนา โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทอันห่างไกล แต่มุ่งสนับสนุนภาคเมืองด้วยการกดราคาสินค้าเกษตรให้ตกต่ำ เพื่อให้ภาคเมืองเติบโต รัฐบาลหลายแห่งบังคับให้ประชาชนต้องขายสินค้าเกษตรกับรัฐในราคาที่ต่ำกว่าราคาโลก ขณะที่รัฐกลับเอาสินค้าเหล่านั้นไปขายตลาดโลกในราคาเต็ม เมื่อชาวนาไม่สามารถพึ่งกฏกติกาที่เป็นธรรม ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินหรือทรัพยากรของตนเอง แรงจูงใจในการผลิตก็น้อย ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารก็เกิดขึ้น
ต่อปัญหาเหล่านี้ ทัศนะแบบตะวันตกมองว่า การแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารก็โดยการสนับสนุนชาวนาสร้างกำไรให้สูงสุด เพื่อเป็นหลักประกันในการผลิตสินค้าเกษตรให้มากที่สุด แต่ในด้านกลับกัน ชาวนาก็จะเผชิญความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน. ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารมีความหลากหลาย ซึ่งไมเคิล วินเฟอร์ และเจนนี่ จอนเซ่น จำแนกความแตกต่างไว้ดังนี้
ประการแรก ความมั่นคงทางอาหาร สื่อนัยถึงรัฐที่พึงปรารถนาที่ดำเนินการเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในชาติของตน เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐไม่ได้มีมาตรการทางนโยบาย กฎหมาย ในการคุ้มครองปกป้องประชาชนในการเข้าถึงอาหาร เนื่องจากกลุ่มเจ้าที่ดิน กลุ่มทุน หน่วยงานรัฐครอบครองทรัพยาการในการผลิต
ประการที่สอง ระดับทางการเมืองของความมั่นคงทางอาหารยังคงเป็นปัญหาระดับโลก ประเทศ หรือภูมิภาค
มากกว่าที่คุ้มครองการเข้าถึงอาหารของปัจเจกประการที่สาม แนวคิดความมั่นคงทางอาหารในหลายกรณี ขาดแง่มุมเรื่องสิทธิต่ออาหาร ซึ่งไม่เพียงแต่คิดว่าจำนวนประชาชนที่เข้าถึงอาหาร แต่ต้องคำนึงถึงว่า ประชาชนจะเข้าถึงอาหารได้อย่างไร ซึ่งควรให้ความสำคัญต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่าการมีอำนาจในการซื้ออาหาร ความมั่นคงทางอาหารควรจะเกิดจากการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อผลิตอาหารของตนเอง และสร้างรายได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ความแตกต่าง ลักลั่น และลื่นไหลของแนวคิดด้านความมั่นคงทางอาหาร ส่งผลทำให้ไม่เกิดการปฏิบัติที่ชัดเจนนัก เพราะไม่ได้มีการกำหนดลำดับความสำคัญในการปฏิบัติเชิงนโยบาย อีกทั้งแนวคิดหลายด้านก็ขัดแย้งกันเอง เช่น จะมุ่งเน้นไปที่ระดับโลกหรือปัจเจก จะเน้นความมั่นคงจากการเพิ่มผลิตผลหรือการกระจายทรัพยากร เป็นต้น
ด้วยความไม่ลงตัวของแนวคิดดังกล่าว ดูเหมือนว่าแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารในระดับโลกจากแง่มุมเศรษฐกิจเสรี ยังเป็นแนวคิดหลักของการปฏิบัติการเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ทิศทางการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร มุ่งไปในเชิงการบริหารจัดการระดับโลก การส่งเสริมการค้าอาหาร การเสริมสร้างให้ประเทศที่ยากจนมีขีดความสามารถในการผลิตอาหารเพิ่มขึ้น โดยการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน การยกเลิกหนี้ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งในหลายกรณีบรรษัทข้ามชาติ และกลุ่มทุนการเกษตรในชาติต่างมีบทบาทสำคัญต่อ "การสร้างความไม่มั่นคงทางอาหา" รกลับย้อนรอยอ้างแนวคิดมั่นคงทางอาหารมาผูกขาดระบบเศรษฐกิจอาหารและการเกษตรของโลกหรือของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ ขบวนการชาวนา
ชนพื้นเมือง องค์กรเอกชน นักวิชาการ กลุ่มประชาสังคมต่างๆ ในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศจึงได้ตั้งคำถามทั้งต่อฐานคิด
และแนวปฏิบัติของความมั่นคงทางอาหาร แม้ขบวนการเหล่านี้จะต้องการให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร
แต่คำถามที่สำคัญคือ ใครมั่นคง และมั่นคงด้วยวิธีใด. วิธีที่สถาบัน องค์กรต่างๆ
เสนอภายใต้กรอบเรื่องความมั่นคงทางอาหาร จะสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกร ชุมชนท้องถิ่นได้หรือไม่?
เพื่อให้หลุดไปจากกรอบข้อจำกัดของแนวคิดดังกล่าว ขบวนการประชาชนจึงได้เสนอแนวคิดชุดใหม่ขึ้นมา
เพื่อให้มีนัยทางการเมืองของประชาชนอย่างชัดเจนขึ้น นั่นก็คือแนวคิดเรื่อง อธิปไตยทางอาหาร
(Food Sovereignty)
แนวคิดอธิปไตยทางอาหาร
แนวคิดเรื่องอธิปไตยทางอาหารเกิดขึ้นจากการประชุมระหว่างประเทศขององค์กรชาวนาโลกที่ชื่อว่า
"เวีย คัมเพซินา" (Via Campesina) ที่เม็กซิโกในเดือนเมษายนปี 1996
เนื่องจากผู้เข้าร่วมประชุมเสนอว่า พวกเขาต้องการข้อเสนอต่อที่ประชุมด้านเทคนิคระหว่างประเทศเรื่องทรัพยากรพันธุกรรมพืชที่เมืองไลยซิก
ประเทศเยอรมันในเดือนมิถุนายน และที่ประชุมสุดยอดอาหารโลกที่กรุงโรมในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน
พวกเขาพยายามค้นหาข้อเสนอทางเลือกที่ต่างไปจากแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
ซึ่งกำลังถูกเน้นไปในทิศทางเสรีนิยมใหม่ คำประกาศที่เกิดขึ้นจากการปรึกษาหารือมีดังนี้
"พวกเรา เวียคัมเพซิน่า คือ ขบวนการที่เติบโตจากองค์กรเกษตรกร ชาวนา ชนพื้นเมือง จากทุกภูมิภาคของโลก พวกเรารู้ว่าความมั่นคงทางอาหารไม่สามารถบรรลุได้ โดยปราศจากการดำเนินการอย่างแข็งขันของผู้ผลิตอาหาร การสนทนาเพื่อหามาตรการทางนโยบายใดๆ ที่ละเลยต่อคุณูปการของผู้ผลิต (ชาวนา ชนพื้นเมือง) จะล้มเหลวในการขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย อาหารคือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธินี้สามารถได้รับการตระหนักได้ภายในระบบอธิปไตยทางอาหารได้รับการรับรอง" (เวีย คัมเพซิน่า, 1996) (7)
เวีย
คัมเพซิน่า กับนิยามความหมายอธิปไตยทางอาหาร
เวีย คัมเพซิน่าได้นิยามความหมายของอธิปไตยทางอาหารไว้หลายครา ได้แก่ "สิทธิของแต่ละชาติในการธำรงรักษาและพัฒนาศักภยาพของตนเองในการผลิตอาหาร
ซึ่งเป็นความมั่นคงทางอาหารของชาติและชุมชน และเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม
และวิถีการผลิต"
"สิทธิของประชาชนในการนิยามอาหารและการเกษตรของตนเอง เพื่อปกป้องและจัดการการผลิตเกษตรกรรมในประเทศและการค้า เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อตัดสินใจขยายสิ่งที่ประชาชนต้องการดำรงชีพอย่างพึ่งตนเอง เพื่อควบคุมการทุ่มสินค้าในตลาดโลก และเพื่อสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นเป็นหลัก ในการจัดการการใช้ทรัพยากรทางทะเล อธิปไตยทางอาหารไม่ได้ต่อต้านการค้า แต่ต้องการส่งเสริมนโยบายและปฏิบัติการการค้าที่สนับสนุนสิทธิของประชาชนในการดำรงชีพอย่างปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี และมีการผลิตที่ยั่งยืนทางนิเวศ" (Statement on People's Food Sovereignty) (8)
จากคำนิยามดังกล่าว อธิปไตยทางอาหารตามแนวทางของเวีย คัมเพซินา อ้างอิงถึงแนวคิดที่พัฒนาโดยเกษตรกร ชาวนา ชาวประมงเพื่ออ้างสิทธิในการนิยามอาหารและการเกษตรของตนเอง ซึ่งตรงข้ามกับการมีอาหารที่ต้องขึ้นต่อพลังการตลาดระหว่างประเทศ
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในนิยามแรก องค์อธิปัตย์ที่ธำรงรักษาอธิปไตยทางอาหารก็คือชาติแต่ละชาติ อันสะท้อนแนวคิดชาตินิยมที่เป็นอุดมการณ์สำคัญในการต่อสู้กับทุนโลกาภิวัตน์ แต่อุดมการณ์ดังกล่าวก็สุ่มเสี่ยงต่อการละเลยปัญหาเชิงโครงสร้างในความเป็นชาติ ซึ่งโดยมากรัฐจะยึดกุมความเป็นชาติ และใช้อำนาจกดทับประชาชน. แต่เมื่อผสมผสานกับความหมายที่สอง จะเห็นได้ว่า ชาติในความหมายดังกล่าวมิใช่รัฐ แต่คือประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวนา ชาวประมง ชนพื้นเมืองรายย่อย ดังนั้นอธิปไตยที่ว่าจึงเป็นอธิปไตยของประชาชน ดังเห็นได้ชัดเจนในแถลงการณ์ที่ประกาศว่าเป็นความมั่นคงทางอาหารของประชาชน
อย่างไรก็ตาม แม้ในด้านหนึ่ง การผนวกนิยามชาติบนฐานประชาชนจะสร้างความชัดเจนต่อการสู้กับทุนโลกาภิวัตน์ที่มุ่งสลายอธิปไตยของชาติ และละลายสิทธิเกษตรกรและชุมชน แต่การยืนบนกรอบความเป็นชาติดังกล่าว อาจลดทอนสภาวะโลกาภิวัตน์จากประชาชน ซี่งน่าจะมีพลังการการต่อสูประชาชนในขอบเขตของชาติ
ปัญหาเชิงแนวคิดอีกประการก็คือ ขณะที่แนวคิดเรื่องอธิปัตย์ของชาติถูกยึดกุมโดยรัฐมาตลอด การหยิบยืมแนวคิดดังกล่าวมาสวมรอยแทนที่ ด้วยความเป็นชาติจากแง่มุมประชาชน อาจทำให้รัฐและขบวนการอนุรักษ์นิยมที่ครองความเป็นเจ้าในแนวคิดชาตินิยม นำมาเสริมสร้างอำนาจของตนแทนที่จะอธิปไตยของชุมชน ปมปัญหาอีกประการก็คือ ขณะที่แนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก แม้กลุ่มทุนโลกาภิวัตน์จะพยายามตีความความมั่นคงทางอาหารในกรอบเสรีนิยมใหม่ เพื่อสนับสนุนการค้าเสรีด้านการเกษตร แต่กระนั้นก็มีการต่อสู้เพื่อกำหนดความของความมั่นคงทางอาหารบนฐานเรื่องสิทธิต่ออาหาร อันเป็นฐานคิดร่วมกับอธิปไตยทางอาหารด้วย
เพื่อให้เกิดความชัดเจน
และหลีกเลี่ยงความลักลั่น กำกวมของแนวคิดที่ขบวนการตนเสนอ
เวีย คัมเพซิน่า จึงได้กำหนดหลักการสำคัญของอธิปไตยทางอาหารไว้ดังนี้ (9)
1. อาหาร คือพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
2. การปฏิรูปเกษตรกรรม โดยให้เกษตรกรมีสิทธิในการถือครองและจัดการที่ดิน
3. การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ ปศุสัตว์ ประชาชนซึ่งทำงานในที่ดินต้องมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และสงวนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
4. การปรับโครงสร้างการค้าอาหาร โดยนโยบายการเกษตรของชาติต้องให้ความสำคัญต่อการผลิต เพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และการพึ่งตนเองทางอาหารอย่างพอเพียง
5. การยุติโลกาภิวัตน์ของความหิวโหย เนื่องจากอธิปไตยทางอาหารถูกบั่นทอนโดยสถาบันข้ามชาติและกลุ่มทุนเก็งกำไร ด้วยเหตุนี้จำเป็นต้องมีหลักจรรยาบรรณ (Code of Conduct) ในการควบคุมกำกับกลุ่มทุนข้ามชาติ
6. สันติภาพของสังคม อาหารต้องไม่ถูกนำไปใช้ในฐานะอาวุธ หรือใช้กีดกันศัตรูทางการเมือง
7. การจัดการที่เป็นประชาธิปไตย เกษตรกรรายย่อยต้องมีส่วนร่วมในนโยบายการเกษตรทุกระดับ
จากหลักการทั้ง 7 ประการ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หลักอธิปไตยทางอาหารยืนอยู่บนฐานคิดเรื่องสิทธิในอาหาร และที่สำคัญก็คือ อธิปไตยทางอาหารไม่ได้ปฏิเสธระบบการค้าอาหารระหว่างประเทศ แต่ต้องการสร้างระบบการค้าที่เป็นธรรม โดยการควบคุมกำกับกลุ่มทุนข้ามชาติมิให้เข้ามาละเมิดอธิปไตยทางอาหารของประชาชน
ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของแนวคิดเรื่องอธิปไตยทางอาหารก็คือ การปกป้องสิทธิของเกษตรกรและชุมชน ในการผลิตและจัดการอาหาร จากการรุกรานของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์เป็นสำคัญ พร้อมกับปรับเปลี่ยนระบบการค้าอาหารและการเกษตรระหว่างประเทศให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกร ชุมชน และชาติ. แนวทางการจัดการของหลักอธิปไตยทางอาหารจึงเน้นไปที่การสร้างชุดคุณค่า ระบบ กฎเกณฑ์ หลักปฏิบัติการในการจัดการกับความสัมพันธ์อำนาจระหว่างประเทศในเรื่องอาหาร แต่กระนั้นก็ยังมุ่งเสนอให้ปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมควบคู่ไปด้วย
สอดคล้องกับที่ไมเคิล วินเฟอร์ และเจนนี่ จอห์นเซ่น ได้ประมวลจากงานวิชาการด้านอธิปไตยทางอาหารไว้ โดยพบว่ามีสาระสำคัญร่วมกันดังนี้ (10)
1. มุ่งเปลี่ยนแปลงการผสมผสานโยบายระดับชาติและระหว่างประเทศ (เชื่อมโยงกัน) แม้ว่าคำว่าอธิปไตยดูเหมือนจะเน้นไปที่ปัญหาในมิติระหว่างประเทศ แต่งานส่วนมากก็เน้นย้ำถึงความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับชาติ โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงที่ดินของประชาชน
2. มุ่งเปลี่ยนแปลงเครื่องมือทางนโยบายด้านการค้าด้านการเกษตรอย่างจริงจัง3. รูปธรรมของอธิปไตยอาหาร จะเน้นไปที่ด้านเงื่อนไขสำคัญในการทำเกษตร เช่น อธิปไตยเหนือเมล็ดพันธุ์ และพันธุ์สัตว์ในบริบทของการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกปฏิเสธ
4. การปฏิเสธระบบการรวมศูนย์อำนาจทุกรูปแบบ
5. ต่อต้านการแปลงสิทธิต่อทรัพยากรให้เป็นกรรมสิทธิปัจเจก (Privatization)
ร้อยเรียงสามแนวคิด สิทธิต่ออาหาร,
ความมั่นคงทางอาหาร, และอธิปไตยทางอาหาร
แนวคิดทั้งสามด้านที่เกี่ยวกับอาหารไม่ได้แตกต่างหรือขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง
แต่มีพื้นฐานร่วมกันบางประการ และมีจุดเน้นหรือเป้าหมายเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป
ผู้เขียนจึงได้ร้อยเรียงสามแนวคิดให้เชื่อมโยงกัน
หลักสิทธิต่ออาหาร
อ้างอิงต่อหลักคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน อันถือได้ว่าเป็นหลักการสากลที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ทั้งที่เป็นสิทธิทางการเมือง และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หลักการดังกล่าววางอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า
รัฐทุกแห่งที่เป็นภาคีจะดำเนินตามหลักการดังกล่าวโดยการคุ้มครองสิทธิให้แก่ประชาชน
และประชาชนก็มีสิทธิเรียกร้องต่อรัฐได้ สภาวะของสิทธิจึงเกิดขึ้นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ
และในอีกด้านหนึ่งรัฐและประชาชนก็สามารถอ้างหลักดังกล่าวในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทั้งต่อรัฐและกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐให้เคารพหลักการสิทธิต่ออาหาร
ตามหลักการ ไม่ว่าสถาบันระหว่างประเทศ กลุ่มทุนข้ามชาติจะอ้างการค้าเสรี หรือในนามความมั่นคงทาอาหารอย่างไร
ก็ไม่สามารถขัดกับหลักพื้นฐานของสิทธิต่ออาหารได้ และไม่ว่าชาติไหนหรือรัฐไหนจะอ้างอธิปไตยทางอาหารอย่างไร
ก็ไม่สามารถเอาผลประโยชน์ของชาติไปละเมิดหลักการสิทธิต่ออาหารของประชาชนได้เช่นกัน
ดังนั้น หลักการเรื่องสิทธิต่ออาหารจึงเป็นแกนกลางที่จะทำให้หลักเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
และอธิปไตยทางอาหารไม่เบี่ยงเบนออกไปจากหลักการสิทธิต่ออาหารของประชาชน
ข้อจำกัดของแนวคิดเรื่องสิทธิต่ออาหารไม่ใช่ในเรื่องหลักการ แต่เป็นเรื่องของการแปลงหลักการไปสู่นโยบายและการปฏิบัติ โดยจำเป็นต้องผนวกกับแนวคิดและแนวปฏิบัติอื่นๆ เพื่อทำให้สิทธิต่ออาหารเป็นจริงขึ้นมา และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขเรื่องความยากจน การขาดแคลนอาหารด้วย ซึ่งแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารและอธิปไตยทางอาหารจะเข้ามาหนุนเสริมได้
แนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ก็เป็นแนวคิดพื้นฐานเช่นเดียวกับสิทธิทางอาหาร คือ เป็นมุมมองระดับโลก หรือคิดในเชิงมหภาค การวางแนวคิดจึงเป็นการกำหนดหลักการพื้นฐาน ไม่ได้เจาะจงว่าจะดำเนินการอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย โดยให้รัฐและประชาชนไปพัฒนารูปธรรมทางนโยบายเอง
ฐานการวิเคราะห์ของแนวคิดความมั่นคงทางอาหาร เป็นฐานคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์การพัฒนา เป็นการมองจากภายนอกเข้าไปหากลุ่มเป้าหมายที่ถูกนิยามว่าอยู่ในสภาวะอดอยาก ขาดอาหาร แนวคิดดังกล่าวเอื้อให้เกิดนโยบาย โครงการ และกิจกรรมการพัฒนาจากภายนอกเข้าไปดำเนินการสร้างภาวะความมั่นคงทางอาหารอย่างมาก แต่ให้ความสำคัญต่อวิธีคิด ความรู้ คุณค่า และปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารน้อย
ข้อจำกัดอีกประการของแนวคิดความมั่นคงทางอาหารก็คือ ละเลยมิติทางการเมืองทั้งในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นเงื่อนไขสร้างภาวะความมั่นคง/ไม่มั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะการสร้างมิติทางการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้แก่ประชาชนได้ใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ต่อรองกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร. ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ขบวนการประชาชนระดับโลกอย่าง "เวีย คัมเพซิน่า" หันมาสร้างแนวคิดอธิปไตยทางอาหารที่มีความชัดเจนทางการเมือง และมีข้อเสนอทางนโยบายที่ชัดเจนกว่า
ความต่างของแนวคิดอธิปไตยทางอาหารอยู่ตรงที่ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเกษตรกร ชนพื้นเมืองในฐานะผู้ผลิตอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากทุนโลกาภิวัตน์ด้านอาหารและทรัพยากรเป็นหลัก ขณะที่แนวคิดเรื่องสิทธิต่ออาหาร และความมั่นคงทางอาหาร เป็นแนวคิดภาพกว้างสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และทุกมิติปัญหา ด้วยเหตุนี้อธิปไตยทางอาหารจึงเป็นมุมมองจากชุมชนท้องถิ่นชนบท ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาแล้วสร้างแนวคิด หลักการ ข้อเสนอทางนโยบายจากฐานล่างขึ้นไปสู่โลกาภิวัตน์ หรือเรียกได้ว่าเป็นโลกาภิวัตน์จากฐานล่าง (Globalization from below) ต่างจากความมั่นคงทางอาหารที่เป็นโลกาภิวัตน์จากข้างบน (Globalization from above)
แกนกลางของฐานคิดอธิปไตยทางอาหาร
คือ แนวคิดเรื่องสิทธิ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดสิทธิต่ออาหาร ผนวกกับแนวคิดเรื่องอธิปไตย
ซึ่งให้น้ำหนักในระดับชาติด้วย. เวีย คัมเพเซินาเองได้เสนอว่า แนวคิดอธิปไตยทางอาหารแม้จะต่าง
แต่ไม่ได้ขัดแย้งกับหลักความมั่นคงทางอาหาร เพียงแต่เป็นเงื่อนไขขั้นเริ่มต้นที่สำคัญ
ที่จะทำให้หลักความมั่นคงทางอาหารที่แท้จริงบรรลุเป้าหมาย (Via Campesina, 1996)
(11) โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่นซึ่งกลายเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะหิวโหย
และขาดแคลนอาหารมากที่สุด. หรือกล่าวในทางกลับกัน หากไม่มีหลักเรื่องอธิปไตยทางอาหาร
การดำเนินการด้านความมั่นคงทางอาหารอาจจะหลงทางไปสู่การสร้างภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารยิ่งขึ้น
เช่น การเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิต การเปิดการค้าเสรี และอื่นๆ
ปีเตอร์ รอสเสท (Peter Rosset) กล่าวไว้ใน Food First's Backgrounder, fall 2003
(อ้างใน Wikipedia 2007) (12) ว่า อธิปไตยทางอาหารไปไกลกว่าหลักความมั่นคงทางอาหาร
เพราะความมั่นคงทางอาหารหมายถึงว่า ทุกคนต้องมีอาหารพอกินในแต่ละวัน แต่ไม่ได้กล่าวว่าอาหารเหล่านั้นมาจากไหนและถูกผลิตมาได้อย่างไร
ซึ่งแนวคิดอธิปไตยทางอาหารได้บรรจุหลักการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ชาวประมง
ชนพื้นเมืองและอื่นๆ มากกว่าจะสนับสนุนภาคส่วนอุตสาหกรรมในการจัดการเศรษฐกิจโลก
หลักอธิปไตยทางอาหารจึงเป็นฐานของฟื้นฟูชนบทในระดับโลก บนฐานของการจัดสรรทรัรพยากรอย่างเท่าเทียมกัน และให้ชาวนาสามารถควบคุมเมล็ดพันธุ์ ระบบการผลิตขนาดเล็กเพื่อตอบสนองผู้บริโภคด้วยอาหารที่มีคุณภาพจากท้องถิ่น
แม้จะมีความชัดเจนในเชิงที่มา กลุ่มเป้าหมาย และทิศทางนโยบาย แต่องค์ประกอบทางแนวคิดบางประการในหลักอธิปไตยทางอาหาร อาจจะมีภาวะลักลั่นกัน จนทำให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต
ปมปัญหาแรก คือ ความขัดกันของหลักคิดเรื่องอธิปไตย กับสิทธิประชาชน และโลกาภิวัตน์ เพราะอธิปไตยให้น้ำหนักที่อำนาจอันสมบูรณ์ของชาติ เป็นวิธีคิดเชิงเดี่ยวที่อยู่บนฐานว่าชาติมีความเป็นปึกแผ่น กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน แม้เวีย คัมเพซิน่าจะพยายามอ้างว่าเป็นอธิปไตยของประชาชน แต่ก็ไม่สามารถลบเลือนความเข้าใจหลักของสังคมโลกว่า แกนกลางอธิปไตยก็คือรัฐ ทั้งๆ ที่เป้าหมายของเวีย คัมเพซิน่าคือเรื่องสิทธิของเกษตรกร แต่การเอาคำว่าอธิปไตยมาแทนที่แนวคิดสิทธิเกษตรกร เพียงเพื่อมาต่อกรกลับทุนโลกาภิวัตน์ด้านอาหารเป็นภาวะสุ่มเสี่ยงไม่น้อยต่อการมองไม่เห็นความขัดแย้งกันระหว่างสิทธิเกษตรกรและชุมชนกับอธิปไตยของรัฐ
ปมปัญหาที่สอง ในขณะที่เวีย คัมเพซิน่า เป็นองค์กรชาวนาระหว่างประเทศ และข้อเสนอของหลักอธิปไตยทางอาหารก็เป็นข้อเสนอระดับโลก ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วผู้เสนอ และชุดข้อเสนอคือโลกาภิวัตน์อีกด้านหนึ่ง แต่การกลับมาใช้แนวคิดอธิปไตยกลับจะทำให้เกิดปมขัดแย้งว่า หากรัฐหรือชาติต่างๆ อ้างอธิปไตยทางอาหารเพื่อปฏิเสธโลกาภิวัตน์ของขบวนการชาวนาและเกษตรกรแล้ว ความลักลั่นในแนวคิดดังกล่าวจะจัดการอย่างไร
ปมปัญหาที่สาม ข้อเสนออธิปไตยทางอาหารมาจากฐานการเมืองของชาวนา เกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีลักษณะแยกตัวออกจากประชาชนกลุ่มอื่นๆ โดยไม่ได้ขยายขอบข่ายไปถึงประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ประสบปัญหาด้านอาหารทั้งในเชิงการผลิตและการบริโภคและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นฐานการเมืองในการขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวจึงแคบ มีแนวร่วมหรือพันธมิตรไม่กว้างขวางพอ ส่งผลให้มีพลังน้อยในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด และโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองด้านอาหารของโลก
ด้วยจุดแข็ง และจุดอ่อนของแนวคิดทั้ง 3 ประการ เราจึงควรผสมผสาน หยิบยืมแนวคิดหลายด้านมาปรับใช้อย่างยืดหยุ่นและเหมาะสมต่อการดำเนินการเคลื่อนไหวในแต่ละที่
- แนวคิดเรื่องสิทธิต่ออาหาร เป็นแกนกลางความคิดที่มีความชัดเจนซึ่งครอบคลุมถึงประชาชนทุกหมู่เหล่า และใช้ต่อสู้กับปัญหาทั้งในระดับรัฐและโลกาภิวัตน์ ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวด้านอาหารไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้บริโภค คนชายขอบและอื่นๆ สามารถใช้เป็นแกนในการรณรงค์ร่วมกัน
- ในเชิงเป้าหมาย หลักคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารมีความชัดเจน โดยมุ่งให้ประชาชนทั่วโลกหลุดพ้นจากสภาวะอดอยาก หิวโหย ให้ทุกระดับตั้งแต่ปัจเจก ครอบครัว ชุมชน สังคม รัฐ และโลกมีความมั่นคงทางอาหาร ขบวนการเคลื่อนไหวในทุกกลุ่มจึงควรยึดโยงเป้าหมายดังกล่าวร่วมกัน โดยใช้แนวคิดเรื่องสิทธิทางอาหารเป็นหลักการสำคัญในภาวะความมั่นคงทางอาหาร
- เพื่อให้หลักเรื่องความมั่นคงทางอาหารบรรลุผล จำเป็นต้องใส่ใจต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองทั้งในระหว่างประเทศและในประเทศให้เกิดความเป็นธรรม และต้องใส่ใจต่อบทบาทของกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ในฐานะเป็นกลไกสำคัญของการผลิตอาหาร และเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโครงสร้างทางนโยบายด้านอาหารและทรัพยากรที่ก่อปัญหา อธิปไตยทางอาหาร (ในความหมายกว้างที่ไม่ไปติดกับอธิปไตยของรัฐชาติ) ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง หรือกล่าวในอีกภาษาหนึ่ง สิทธิของเกษตรกร และชุมชนท้องถิ่นจะทำให้หลักการเรื่องสิทธิต่ออาหาร และความมั่นคงทางอาหารบรรลุเป้าหมายได้
ร่องรอยแนวคิดเรื่องสิทธิทางอาหาร
ความมั่นคงทางอาหาร และอธิปไตยทางอาหารในสังคมไทย
แม้คำว่า "สิทธิอาหาร", "ความมั่นคงทางอาหาร", และ "อธิปไตยทางอาหาร"
จะเป็นคำที่แปลมาจากแนวคิดในระดับสากล แต่กระนั้นในสังคมไทยก็มีร่องรอยแนวคิดดังกล่าวที่ถูกนำเสนอด้วยภาษาอื่น
โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกระโจนเข้าสู่การพัฒนาเกษตรแผนใหม่เชิงพาณิชย์ตั้งแต่ต้นทศวรรษ
2500 เป็นต้นมา
สังคมไทยในอดีตก่อนยุคพัฒนาเป็นสังคมที่มีฐานทรัพยากรและอาหารอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ในภูมินิเวศเขตร้อนชื้น และมีชุมชนที่มีวัฒนธรรมด้านอาหารที่หลากหลาย แม้จะมีบางช่วงที่ชาวบ้านประสบภัยธรรมชาติ จนเกิดภาวะอดอยากในบางพื้นที่ แต่ก็เป็นสภาวะชั่วคราว ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่ไม่ค่อยมีความรู้สึก "กลัว" ต่อการขาดแคลนอาหาร จนกระทั่งสู่ยุครุ่งอรุณของการพัฒนาที่เริ่มต้นพัฒนาการเกษตรอย่างจริงจัง คำว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ก็เป็นคำที่สะท้อนถึงความสมบูรณ์มั่งคั่งทางอาหาร และใช้ความสมบูรณ์ดังกล่าวในการสร้างความเจริญเติบโตของประเทศชาติ ทรัพยากรธรรมชาติสำหรับผลิตอาหาร และตัวอาหารเองจึงเป็นทั้งความอยู่รอด ความมั่นคง ความมั่งคั่ง และเกียรติภูมิศักดิ์ศรีของสังคมไทย
จนเมื่อรัฐไทยเริ่มใช้นโยบาย
"ปฏิวัติเขียว" อย่างจริงจัง อันประกอบด้วยการส่งเสริมพืชพาณิชย์บางประเภท
การใช้พันธุ์ปรับปรุงที่ให้ผลผลิตสูง การจัดระบบการผลิตเชิงเดี่ยว การใช้สารเคมีทางการเกษตร
การจัดการแรงงานเพื่อเร่งสร้างผลผลิตทางการเกษตรเพื่อส่งออก แม้ผลผลิตการเกษตรจะขยายตัวหลายเท่า
แต่ชาวนา ชาวไร่กลับประสบปัญหาความยากจน มีหนี้สิน ต้องขายที่ดิน และเปลี่ยนตัวเองเป็นแรงงานทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร
และหลั่งไหลของสู่ภาคเมืองมากขึ้น
ปัญหาที่สำคัญยิ่งไปกว่านโยบายเกษตรก็คือ นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยรวมที่มุ่งดูดกลืนทรัพยากรจากชนบทมาสร้างความมั่งคั่งให้กับเมืองและอุตสาหกรรม
พร้อมกับกดให้ภาคชนบทอยู่ในภาวะตกต่ำและต้องพึ่งพาภาคเมืองตลอดเวลา ในภาวะการณ์เช่นนี้ความอดอยาก
ความรู้สึก "กลัว" หรือไม่มั่นคงต่อการมีอาหารเพื่อการยังชีพกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาวนา
ชาวไร่ แต่ภาคเมืองกลับมีความมั่นคง และมั่งคั่งในเรื่องอาหาร
หม่อมเจ้าสิทธิพร
กฤดากร
ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อชีวิตคนชนบทเท่านั้น แต่ส่งผลต่อรากฐานของสังคมไทย
ดังที่หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร (2426-2514) ผู้ถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการเกษตรไทย
ได้แสดงความห่วงใยว่า ทั้งๆ ที่รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศมาจากการขายข้าว แต่ชาวไร่ชาวนากลายเป็นคนล้าหลัง
เป็นที่ดูถูกดูแคลน ซึ่งความยากจนที่เกิดขึ้นไม่ได้เฉพาะชาวนา ชาวไร่เท่านั้น
ประเทศชาติก็ล้าหลัง อดอยาก ยากไร้ ดังนั้น ม.จ.สิทธิพรจึงได้เคลื่อนไหวโดยการไปบุกเบิกการเกษตรพึ่งตนเองเป็นแห่งแรกของไทยที่บางเบิด
อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ชาวไร่ชาวนา ตลอดจนรัฐ
อีกทั้งยังทรงต่อสู้ทางนโยบายโดยการคัดค้านนโยบายส่งออกข้าว และนโยบายเก็บค่าพรีเมี่ยมข้าว
อันเป็นมูลเหตุสำคัญให้ชาวนาตกต่ำ วาทะสำคัญของ ม.จ.สิทธิพร ที่สะท้อนถึงความต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหารก็คือ
"เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง"
ความมั่นคงทางอาหารที่
ม.จ.สิทธิพรเสนอ ครอบคลุมทั้งระดับครอบครัวของเกษตรกร โดยมุ่งหวังว่าหากเกษตรกรทำการผลิตพึ่งตนเองได้
และหลุดพ้นจากความยากจน ข้นแค้น ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ในขณะเดียวกันประเทศชาติก็จะมีอนาคตที่มั่นคง
ได้ประโยชน์สูงสุดแก่แผ่นดิน (13)
วาทะ "เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง" จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่ร้อยเรียงทั้งเรื่องสิทธิต่ออาหาร,
ความมั่นคงทางอาหาร, และอธิปไตยทางอาหารในสังคมไทย เป็นวาทะที่เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะ
"ความกลัว" หรือความไม่มั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นกับชาวนาชาวไร่ และจะกระทบต่อประเทศชาติโดยรวม
จากการบุกเบิกของ ม.จ.สิทธิพร ต่อมาขบวนการเกษตรกรก็ได้พัฒนาแนวคิดในการต่อสู้เพื่อสิทธิเกษตรกรทั้งในด้านการผลิต ด้านอาหาร และด้านทรัพยากรอย่างหลากหลาย เช่น ในยุคสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (2517-1518) แนวคิดเรื่อง "สิทธิเกษตรกร" ก็ถูกพัฒนาขึ้นในแง่สิทธิที่ดิน และเรื่องค่าเช่านาเป็นประเด็นหลัก จนมาถึงช่วงกำเนิดขบวนการเกษตรกรรมทางเลือกในปี 2529 แนวคิดเรื่อง เกษตรกรรมธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรทางเลือกได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อมุ่งหมายสร้างความมั่นคงอาหาร การผลิต นิเวศ เศรษฐกิจ และสุขภาพต่อเกษตรกร และผู้บริโภค อันเป็นการสืบเนื่องจากแนวคิดของ ม.จ.สิทธิพรอย่างชัดเจน
ในอีกด้านหนึ่งขบวนการต่อสู้ด้านสิทธิชุมชนต่อทรัพยากรธรรมชาติ ก็ได้พัฒนาแนวคิดและรูปธรรมการจัดการทรัพยากรที่สื่อถึงความมั่นคงทางอาหารของชุมชนด้วยหลายประการ เช่น แนวคิดเรื่องป่าเป็น "ซูเปอร์มาร์เก็ต" ของชุมชนในกรณีการเคลื่อนไหวของขบวนการป่าชุมชน แนวคิดเรื่องแม่น้ำที่เป็นแหล่งอาหารพื้นถิ่น จากการเคลื่อนไหวของชาวบ้านปากมูลที่ใช้เพื่อต่อต้านเขื่อน หรือชุมชนประมงพื้นบ้านที่ได้เสนอเรื่องการจัดการทรัพยากรชายฝั่งในฐานะเป็นแหล่งอาหารทะเลให้แก่ประเทศ เป็นต้น
ไม่เพียงแต่ขบวนการด้านเกษตรกรรมและทรัพยากรเท่านั้น ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรและสังคม ในด้านสาธารณสุขช่วงปี 2542 เป็นต้นมาก็เกิดแนวคิดเรื่อง "สุขภาวะ" ที่ขยายขอบข่ายจากเรื่องสุขภาพทางกาย มาสู่เรื่องสังคม และความมั่นคงด้านอาหารของเกษตรกร ชุมชน และผู้บริโภคก็ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดสุขภาวะของสังคม
สายธารความคิดทั้งหมด ตั้งแต่ "เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง" ได้มาบรรจบกับแนวคิดเรื่อง "สิทธิเกษตรกร" "สิทธิชุมชน" "สุขภาวะ" ร้อยเรียงกันเป็นเรื่อง "ฐานทรัพยากรอาหาร" เพื่อสื่อความหมายครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านสิทธิอาหาร ความมั่นคงอาหาร และอธิปไตยทางอาหาร เชื่อมโยงทั้งมิตินิเวศ เศรษฐกิจ การผลิต และวัฒนธรรม โดยมีเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน และขยายผลไปสู่ภาวะมั่นคงของสังคมทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และระดับโลก
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) อ้างใน Michael Windfuhr and Jennie Jonsen, Food Sovereignty: Towards democracy in localized food systems, (ITDG Publishing, 2005) pp.1
(2) อ้างใน D.O.Hall, Food Security: What have sciences to offer?, www.icsu.org/Gestion/img/ICSU_DOC_DOWNLOAD/221_DD_FILE_Foof_Security.pdf, Chapter 3.
(3) อ้างใน D.O.Hall, อ้างแล้ว
(4) Melaku Ayalew, What is Food Security and Famine and Hunger?, (Addis Ababa: Ethiopia, 2007) pp.1(5) อ้างใน Michael Windfuhr and Jennie Jonsen (2005), อ้างแล้ว, pp.22
(6) อ้างใน Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wki/Food_security, pp.1
(7) อ้างใน Michael Windfuhr and Jennie Jonsen (2005), อ้างแล้ว, pp.45
(8) อ้างใน Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wki/Food_sovereignty, pp.1
(9) อ้างใน Michael Windfuhr and Jennie Jonsen (2005), อ้างแล้ว, pp.45-47
(10) อ้างใน Michael Windfuhr and Jennie Jonsen (2005), อ้างแล้ว, pp.52.
(11) อ้างใน Michael Windfuhr and Jennie Jonsen (2005), อ้างแล้ว, pp.11.
(12) อ้างใน Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wki/Food_sovereignty, pp.1(13) วันชัย ตัน, 2541, ม.จ.สิทธิพร กฤดากร: เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง, สารคดี ฉบับที่ 159 ปีที่ 14 พฤษภาคม, น.50-78
สำหรับผู้สนใจเรื่องเกี่ยวเนื่องกับเรื่องอาหาร
สามารถคลิกไปดูหัวข้อเพิ่มเติมได้ที่- ชุมชนคนรักแผ่นดินและวิถีธรรมชาติ
- อธิปไตยด้านอาหาร เสียงเรียกร้องก้องโลกของชาวนา
- อนาคตของอาหาร(๑) : อนาคตของมนุษยชาติ
- อนาคตของอาหาร(๒) : อนาคตอาณานิคมยุคใหม่ในระดับยีน+++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
แนวคิดอธิปไตยด้านอาหาร
เวีย คัมเพเซินาเองได้เสนอว่า แนวคิดอธิปไตยทางอาหารแม้จะต่าง แต่ไม่ได้ขัดแย้งกับหลักความมั่นคงทางอาหาร เพียงแต่เป็นเงื่อนไขขั้นเริ่มต้นที่สำคัญ ที่จะทำให้หลักความมั่นคงทางอาหารที่แท้จริงบรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่นซึ่งกลายเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะหิวโหย และขาดแคลนอาหารมากที่สุด. หรือกล่าวในทางกลับกัน หากไม่มีหลักเรื่องอธิปไตยทางอาหาร การดำเนินการด้านความมั่นคงทางอาหา รอาจจะหลงทางไปสู่การสร้างภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารยิ่งขึ้น เช่น การเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิต การเปิดการค้าเสรี และอื่นๆ
ปีเตอร์ รอสเสท (Peter
Rosset) กล่าวไว้ใน Food First's Backgrounder, ว่า อธิปไตยทางอาหารไปไกลกว่าหลักความมั่นคงทางอาหาร
เพราะความมั่นคงทางอาหารหมายถึงว่า ทุกคนต้องมีอาหารพอกินในแต่ละวัน แต่ไม่ได้กล่าวว่าอาหารเหล่านั้นมาจากไหนและถูกผลิตมาได้อย่างไร
ซึ่งแนวคิดอธิปไตยทางอาหารได้บรรจุหลักการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ชาวประมง
ชนพื้นเมืองและอื่นๆ มากกว่าจะสนับสนุนภาคส่วนอุตสาหกรรมในการจัดการเศรษฐกิจโลก