บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Food
Resources Base
Midnight University
พัฒนาการเกี่ยวกับแนวคิดฐานทรัพยากรอาหาร
แนวคิดฐานทรัพยากรอาหาร versus จักรวรรดินิยมทางอาหาร
กฤษฎา
บุญชัย : เขียน
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการนี้
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน ได้รับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ: พัฒนาการแนวคิดฐานทรัพยากรอาหาร
แนวคิดเรื่องดังกล่าว หมายถึง ฐานทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่
ดิน น้ำ ป่า ทรัพยากรชีวภาพ เพื่อการผลิตอาหาร
ซึ่งมีมติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน
ซึ่งผู้เขียนได้มีการนำเสนอโดยเรียงลำดับหัวข้อ ดังต่อไปนี้
- แนวคิดและความหมายฐานทรัพยากรอาหาร
- องค์ประกอบและรากของแนวคิด "ฐานทรัพยากรอาหาร"
- รากของแนวคิดฐานทรัพยากรอาหาร
- แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมอาหารและระบบการผลิต
- ร้อยเรียงแนวคิดสู่ฐานทรัพยากรอาหาร
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๓๗๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
พัฒนาการเกี่ยวกับแนวคิดฐานทรัพยากรอาหาร
แนวคิดฐานทรัพยากรอาหาร versus จักรวรรดินิยมทางอาหาร
กฤษฎา
บุญชัย : เขียน
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
แนวคิดและความหมายฐานทรัพยากรอาหาร
แนวคิด "ฐานทรัพยากรอาหาร" (Food Resources Base) ถูกสร้างขึ้นใหม่จากการร้อยเรียงแนวคิดต่างๆ
ที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้านเกษตรกรรมยั่งยืนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใช้มาก่อนหน้านี้
(1) โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดภูมิทัศน์ทางสังคมและการเมือง เพื่อการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์อำนาจด้านเกษตรกรรม
และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก โดยมีเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานหลัก
คำว่า "ฐานทรัพยากรอาหาร" มีความหมายถึง ฐานทรัพยากรธรรมชาติอันได้แก่ ดิน น้ำ ป่า ทรัพยากรชีวภาพ เพื่อการผลิตอาหาร. แม้ความหมายดังกล่าวจะดูเสมือนว่าไม่มีมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมเท่าใดนัก แต่เมื่อเราจัดวางคำและความหมายดังกล่าวในบริบทการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชน ในด้านนโยบายการเกษตรและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เราจะพบว่าฐานทรัพยากรอาหารซ่อนมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง
ในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ นโยบายเกษตรกรรมของประเทศมุ่งสู่การพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ภายใต้ระบบการค้าเสรีของโลก ซึ่งถูกควบคุมกำกับโดยบรรษัทข้ามชาติ ทั้งในด้านเทคโนโลยี กลไกตลาด การกำหนดชนิดพืชที่ปลูก การกำหนดความต้องการบริโภคของตลาด หรือสร้างให้ประชาชนมีวัฒนธรรมการบริโภคเชิงเดี่ยวที่ขึ้นต่อประเภทผลผลิตการเกษตรไม่กี่อย่างที่กลุ่มทุนผูกขาด
ผลจากทิศทางนโยบายดังกล่าวได้นำมาสู่การสร้างระบบผูกขาดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานการผลิตอาหาร เช่น นโยบายเปิดกว้างให้กลุ่มทุนสามารถครอบครองทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเสรี ระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกที่ขยายไปสู่ทรัพยากรทุกประเภทเพื่อการผูกขาดทรัพยากรของกลุ่มทุน จึงเห็นได้ว่าไม่เพียงแต่ระบบเกษตรกรรม แม้แต่ทรัพยากรที่เป็นฐานชีวิตของประชาชน ก็ถูกผูกขาดเพื่อความมั่นคั่งของทุนภายใต้ระบบการค้าเสรี
ด้วยเหตุนี้ คำว่า "ฐานทรัพยากรอาหาร" ที่ขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนและทรัพยากรธรรมชาติใช้ จึงมีนัยของการต่อสู้เพื่อปกป้องทั้งตัวฐานทรัพยากร ระบบการผลิต และวัฒนธรรมการบริโภคของชุมชนท้องถิ่น และคนในสังคมให้มีความมั่นคง ยั่งยืน ปลอดภัยจาการคุกคามของรัฐ และกลุ่มทุนข้ามชาติ และมุ่งหวังให้เกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และผู้คนในสังคมทั้งที่อยู่ในสังคมไทยและที่อื่น มุ่งสร้าง "ฐานทรัพยากรอาหาร" ของตนเองขึ้นมา
ในแง่นี้ ความมั่นคงของ "ฐานทรัพยากรอาหาร" จะเกิดขึ้นได้ด้วยการสร้างสรรค์ของเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และความร่วมมือของภาคประชาสังคม หาใช่โดยการชี้นำของรัฐหรือการกำกับของกลุ่มทุน และเป็นความเคลื่อนไหวที่ก้าวข้ามพรมแดนของความเป็นชนชั้น ความเป็นชาติ เป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์จากเบื้องล่าง (Globalization from below) เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบการเกษตรและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ทั้งในระดับโลก ระดับรัฐ และท้องถิ่น
ในมิติเชิงสังคมและวัฒนธรรม "ฐานทรัพยากรอาหาร" ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในบริบทความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชุมชนในถิ่นต่างๆ ผลิตอาหารขึ้นด้วยความรู้ที่ลึกซึ้ง ทั้งความรู้ต่อระบบนิเวศ ฤดูกาล สภาพภูมิศาสตร์ ความรู้ในการคัดสรรและปรับปรุงพันธุ์ ความรู้ในระบบการผลิต ความรู้ในการสร้างสรรค์อาหารที่หลากหลาย ความรู้ในด้านโภชนาการ ความรู้แพทย์พื้นบ้าน เป็นต้น
ความรู้ของชุมชนมิใช่แค่เทคนิคการจัดการ แต่ยังสะท้อนกับโลกทัศน์ โลกชีวิตของชุมชน และความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับธรรมชาติ ดังนั้น "ฐานทรัพยากรอาหาร" จึงเป็นมโนทัศน์มีมิติคุณค่าทางวัฒนธรรมที่กว้างขวางกว่าคำว่า "อาหาร" หรือ "เกษตรกรรม" ซึ่งถูกลดทอนเหลือเพียงตัวผลผลิตการเกษตร หรือตัวอาหาร ซึ่งสัมพันธ์แค่เรื่องการผลิต การบริโภคในทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขเท่านั้น นัยทางวัฒนธรรมของ "ฐานทรัพยากรอาหาร" จึงสร้างมิติคุณค่าของธรรมชาติและความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะเป็นพลังทางวัฒนธรรมที่สำคัญในการต่อสู้กับทุนโลกาภิวัตน์
นัยทางวัฒนธรรมอีกประการคือ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของระบบต่างๆ และผู้คนที่อยูในแต่ละระบบ ความสัมพันธ์ของระบบได้แก่ ระบบนิเวศ ฐานทรัพยากรในนิเวศ ระบบการผลิต การแลกเปลี่ยน และการบริโภค ซึ่งในแต่ละระบบมีผู้คนที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนท้องถิ่น เกษตรกรรายย่อย ที่อยู่ในฐานทรัพยากรต่างๆ เชื่อมต่อมาสู่แรงงาน ผู้บริโภคอาหารทั้งในชนบทและเมือง การเชื่อมโยงในทางสัญลักษณ์ดังกล่าวได้สร้างพื้นที่ทางสังคมที่เอื้อให้เกิดความร่วมมือของผู้คนได้อย่างหลากหลาย ปัญหา ความต้องการ และตัวตนของผู้คนจะได้ไม่ถูกแยกเป็นส่วนๆ ว่า เป็นเรื่องเกษตรกรรม เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ หรือเรื่องการบริโภค ซึ่งจะไปกำหนดให้นโยบายแต่ละด้านแยกส่วนกันออกไป แต่แนวคิด "ฐานทรัพยากรอาหาร" จะเป็นจุดประสานพลังทางสังคมต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงและอธิปไตยของประชาชนในด้านทรัพยากรและอาหารร่วมกัน
องค์ประกอบและรากของแนวคิด
"ฐานทรัพยากรอาหาร"
ขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนและทรัพยากรธรรมชาติ ได้กำหนดองค์ประกอบของฐานทรัพยากรอาหารไว้ดังต่อไปนี้
1. ฐานทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ดิน น้ำ ป่า ทะเล และความหลากหลายทางชีวภาพ
2. ฐานวัฒนธรรม ความรู้ ประสบการณ์ ความเชื่อ จารีตประเพณีที่สั่งสมและสืบเนื่องกันมาในชุมชนและสังคม
3. ระบบเกษตรกรรมและการผลิต
ขอบเขตของประเด็นฐานทรัพยากรอาหาร มีดังนี้
1.ฐานทรัพยากรและการเข้าถึง
2.ระบบการผลิตอาหาร
3.การบริโภคและการกระจายอาหารที่เป็นธรรม
4.ระบบกฎหมาย นโยบาย และการเชื่อมโยงทางการเมือง
5.ข้อตกลงระหว่างประเทศ
6.องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
รากของแนวคิดฐานทรัพยากรอาหาร
แนวคิดที่ประกอบสร้างเป็นฐานทรัพยากรอาหาร ได้แก่
- แนวคิดเรื่องฐานทรัพยากร ซึ่งเติบโตมาจากเรื่องสิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
- แนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และ
- อธิปไตยทางอาหาร
ซึ่งแนวคิดเหล่านี้มีลักษณะทั้งความเป็นเฉพาะถิ่นและความเป็นสากลไปพร้อมกัน เนื่องจากถูกผลิตสร้างขึ้นในบริบทการต่อสู้ในสังคมไทย และสอดรับกับกระแสเกษตรกรรมยั่งยืนและสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากรในระดับสากลด้วย
สิ่งที่เห็นได้ว่า แนวคิดฐานทรัพยากรอาหารมีร่องรอยจากแนวคิดทั้ง 3 ด้าน เห็นได้จากการใช้คำว่า "ฐานทรัพยากร" ซึ่งเป็นคำที่ถูกผลิตโดยขบวนการสิทธิชุมชนต่อทรัพยากร เมื่อนำมาผนวกกับคำว่าอาหาร ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในเชิงแนวคิดว่า "ฐานทรัพยากรอาหาร" เป็นฐานคิดที่ยืนอยู่บนหลักการเรื่องสิทธิต่อทรัพยากร แต่ให้น้ำหนักไปที่ทรัพยากรในส่วนที่เป็นการผลิตอาหาร
ความดังกล่าวปรากฏชัดยิ่งขึ้นจากเอกสารโครงการของคณะทำงานฐานทรพัยากรอาหาร เช่น การสัมมนาเชิงปฏิบัติการฐานทรัพยากรเพื่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร (2) (5 กรกฎาคม 2548) บทวิเคราะห์สถานภาพฐานทรัพยากรเพื่อความมั่นคงอาหาร (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์) (3) ทั้งจากชื่อและเนื้อหาในเอกสารดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดว่าเป้าหมายของแนวคิดฐานทรัพยากรอาหารคือ การมุ่งเสริมสร้างสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ระบบการผลิต และการบริโภคของเกษตรกรและชุมชน บนฐานวัฒนธรรมท้องถิ่นที่พึ่งตนเองอย่างหลากหลาย เพื่อให้เกิดภาวะความมั่นคงทางอาหารทั้งของชุมชน ประเทศชาติ และของโลก ด้วยการปรับเปลี่ยนระบบการจัดการทรัพยากร การผลิต และการบริโภคของชุมชนและสังคมให้พึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ตลอดจนผลักดันให้เกิดนโยบายด้านเกษตร ทรัพยากร และการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้เกิดความเป็นธรรม โดยมีระบบการบริหารนโยบายที่เปิดกว้างเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในทุกมิติ
สิ่งที่ขบวนการทรัพยากรอาหารต้องการต่อสู้ก็คือ ทุนโลกาภิวัตน์ด้านอาหารที่ดำรงอยู่ในชาติและระดับโลก ตลอดจนรัฐที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทุนโลกาภิวัตน์ซึ่งกำลังเปลี่ยนฐานทรัพยากร อาหาร และความรู้ตลอดจนวัฒนธรรมให้กลายสินค้า โดยเทคโนโลยีที่กระทบต่อชีวิตและสังคม และสร้างระบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งทั้งหมดนี้จะอันจะนำไปสู่ภาวะไม่มั่นคงและการสูญเสียอธิปไตยทางอาหารของประชาชน
จากฐานคิดสามด้านที่ร้อยเรียงเป็น "ฐานทรัพยากรอาหาร" คณะทำงานทรัพยากรอาหารได้ จำแนกองค์ประกอบของแนวคิดดังกล่าวออกเป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ดิน น้ำ ป่า ทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพที่เชื่อมโยงกันเป็นฐานชีวิต ฐานวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วยความรู้ ประสบการณ์ ความเชื่อ ประเพณี และฐานระบบการผลิตเกษตรกรรม
ขอบเขตของฐานทรัพยากรอาหารครอบคลุมประเด็นเรื่อง ฐานทรัพยากรและการเข้าถึง ระบบการผลิตอาหาร การบริโภคและการกระจายอาหารที่เป็นธรรม ระบบกฎหมาย นโยบาย และการเชื่อมโยงทางการเมือง ข้อตกลงระหว่างประเทศ องค์ความรู้และภูมิปัญญา
แนวคิดเรื่องฐานทรัพยากรอาหารจะมีพลังหรือไม่ เพียงใด ส่วนหนึ่งจะต้องพิจารณาจากการร้อยเรียงแนวคิดสามด้านที่ร้อยเรียงขึ้นมานั้น ได้ดึงพลังหรือจุดแข็งของแนวคิดต่างๆ มาใช้อย่างไรบ้าง ซึ่งผู้เขียนขอจำแนกดังต่อไปนี้
แนวคิดฐานทรัพยากร
(4)
แนวคิดเรื่องฐานทรัพยากร เป็นส่วนผสมที่อัดแน่นของแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
(Community Rights on natural resources) ในมิตินิเวศวัฒนธรรม (Cultural Ecology)
นิเวศวิทยาการเมือง (Political Ecology) และแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human
Rights)
ประวัติศาสตร์ของแนวคิดสิทธิชุมชนฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นในบริบท 2 ประการคือ
1. การรวมศูนย์อำนาจของรัฐต่อการจัดการทรัพยากร ทั้งเพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและอำนาจของรัฐ และ
2. การแปลงทรัพยากรของสาธารณะและของชุมชนให้กลายเป็นปัจเจก เพื่อเปลี่ยนรูปให้เป็นสินค้าในระบบตลาดที่มีกลุ่มทุนผูกขาด
การสูญเสียฐานทรัพยากรอันเป็นฐานชีวิตของเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดปัญหาความยากจน การสูญเสียอัตลักษณ์และศักดิ์ศรี เกิดความขัดแย้ง และความเป็นชุมชนแตกสลาย ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการเคลื่อนไหวของขบวนการชุมชนท้องถิ่นในการรื้อฟื้น ปกป้องฐานทรัพยากรของตนเองในแต่ละด้าน เช่น ป่าไม้ ประมง น้ำ ทรัพยากรชายฝั่ง ทรัพยากรชีวภาพ เป็นต้น โดยการเรียกร้องสิทธิในรูปแบบต่างๆ จึงเกิดขึ้นอย่างกว้าง โดยใช้ฐานคิดเชิงนิเวศการเมืองในการทำความเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างของการจัดการทรัพยากร และการต่อสู้ทางชนชั้นต่อปัญหาดังกล่าว
ขบวนการเคลื่อนไหวของชุมชนจึงได้อาศัยแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นหลักสากล ซึ่งอิงกับหลักสิทธิส่วนปัจเจกมาปรับสร้างใหม่เป็นสิทธิชุมชน และเชื่อมโยงแง่มุมสิทธิทางการเมืองเข้ากับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน มิติการต่อสู้ดังกล่าวมิได้จำกัดอยู่ในกรอบวัฒนธรรมการเมือง (แบบแผนความคิด และวิถีปฏิบัติด้านอำนาจในสังคมการเมือง) ของแต่ละท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาคเท่านั้น แต่เชื่อมโยงกับการเมืองของวัฒนธรรมด้วย (การใช้สัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับคุณค่า ความหมายทางวัฒนธรรมในการต่อสู้ทางการเมือง)
ขณะที่ฝ่ายรัฐและทุนอ้างความทันสมัย ความเป็นวิทยาศาสตร์ ความเป็นสากลมากดทับวิถีชีวิตของท้องถิ่น, ขบวนการสิทธิชุมชนจึงได้ใช้แง่มุมนิเวศวัฒนธรรมทั้งในเรื่อง ระบบคุณค่า ความเชื่อ วิถีการจัดการทรัพยากรและการผลิต ที่สัมพันธ์กับนิเวศในแต่ละแห่งมาเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อต่อสู้ทางนโยบาย และเสริมสร้าง พัฒนาระบบการจัดการทรัพยากร การผลิตตามวิถีวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะจากประสบการณ์ในสังคมไทย การต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากรเริ่มปรากฏชัดเจนครั้งแรกในการเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชน ตั้งแต่ปี 2532 และขยายไปสู่ทรัพยากรด้านอื่นๆ ซึ่งได้พัฒนาจนเกิดความแหลมคมทั้งในเชิงนโยบาย การสื่อสารกับสังคม และการปฏิบัติการในพื้นที่ ผลจากการต่อสู้มาเป็นเวลานาน และการเผชิญกับปัญหาในรูปแบบใหม่ ทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดที่ซับซ้อนและหลากหลายยิ่งขึ้น เริ่มจาก
- การผลิตแนวคิดเรื่องฐานทรัพยากร มาแทนที่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบแยกส่วน ซึ่งสอดคล้องกับระบบนิเวศที่มีความเชื่อมโยงกัน และเพื่อเป็นการเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวสิทธิชุมชนให้มีความเป็นองค์รวมมากยิ่งขึ้น
- ในแง่มุมด้านสิทธิ ก็มีการยกระดับมากขึ้น สิทธิดังกล่าวไม่ได้มีความหมายแค่การยืนยันความเป็นเจ้าของ หรือการใช้ และการจัดการเท่านั้น แต่ได้พัฒนาไปถึงขั้นความสามารถหรือศักยภาพที่จะจัดการฐานทรัพยากร ให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง
- ในแง่การพัฒนาชุมชน สิทธิชุมชนเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ แผนปฏิบัติ และดำเนินการให้เกิดประโยชน์สุขและความเป็นธรรมร่วมกันของชุมชน ในแง่นโยบายสิทธิชุมชนกลายเป็นหลักการที่ชุมชนต่อรองกับรัฐและสังคม เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากร และ
- ในแง่สังคม สิทธิชุมชนคือตัวตนทางสังคมที่ก้าวข้ามพ้นความเป็นปัจเจก และมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้
ผลที่เกิดจากการมีสิทธิที่มั่นคง ไมได้ตกอยู่แค่ชุมชนผู้จัดการเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงผลประโยชน์ร่วมของสังคม ซึ่งเท่ากับเป็นการผนวกว่า สิทธิชุมชนคือหลักประกันพื้นฐานของความมั่นคงในสังคม. ในแง่ความเป็นชุมชนที่เป็นเจ้าของสิทธิก็เช่นกัน แนวคิดสิทธิชุมชนได้ครอบคลุมตั้งแต่สิทธิปัจเจกในชุมชน นัยความเป็นชุมชนก็มีหลายฐาน ทั้งฐานการปกครอง ฐานนิเวศ ฐานเศรษฐกิจ ฐานวัฒนธรรม ฐานของปัญหาร่วมกัน ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะภายในท้องถิ่น หรือภายในชาติเท่านั้น แต่ขยายไปได้ถึงระดับโลก
แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมอาหารและระบบการผลิต
แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมอาหารในสังคมไทย เติบโตขึ้นมาจากฐานคิดวัฒนธรรมชุมชน (Cultural
Community) ที่ให้ความสนใจต่อมิติเชิงคุณค่า ความรู้ และความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนที่หลากหลาย
ตลอดจนเชื่อมโยงวัฒนธรรมกับระบบนิเวศ
โดยมากแล้วกระแสวัฒนธรรมชุมชนจะทวีความสำคัญ ในบริบทของการต่อสู้กับการพัฒนาที่ทันสมัยที่อัดแน่นด้วยวิธีคิดวิทยาศาสตร์ที่มองแต่เรื่องกายภาพ และเศรษฐศาสตร์ที่เชิดชูคุณค่าการผลิตที่มีประสิทธิภาพด้วยสร้างมูลค่าส่วนเกิน การสั่งสมทุน ระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจก กลไกตลาด. การพัฒนาที่ทันสมัยถูกมองว่าจะเป็นการทำลายรากฐานวัฒนธรรมของชุมชน ด้วยเหตุนี้ องค์ความรู้วัฒนธรรมชุมชนจึงใส่ใจต่อแบบแผนจารีต ประเพณี ระบบความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ตอกย้ำคุณค่าของความเกื้อกูลในชุมชน ความพอเพียงของชุมชน และการสัมพันธ์อย่างพึ่งพิงระหว่างชุมชนกับธรรมชาติ รูปธรรมของความรู้ดังกล่าว ได้แก่ การให้ความใส่ใจต่อเรื่องเล่า ตำนาน ประเพณี เทคโนโลยีพื้นบ้าน การจัดระบบแรงงาน วิถีทำมาหากิน เป็นต้น
ในแง่วัฒนธรรมอาหาร ก็ปรากฏชัดว่า งานศึกษาในกระแสดังกล่าวให้ความใส่ใจต่อวัฒนธรรมการใช้ทรัพยากร วัฒนธรรมการผลิต วัฒนธรรมการบริโภค วัฒนธรรมทางเศรษฐกิจในการจัดสรรแลกเปลี่ยนทรัพยากรและผลผลิต ตลอดจนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่ตอกย้ำคุณค่าของวัฒนธรรมการพึ่งตนเองของชุมชน เช่น การบริโภคอาหารพื้นบ้าน การทำไร่หมุนเวียน พิธีกรรมการผลิต เป็นต้น
ในบริบทของความไม่มั่นคงทางอาหาร จากเกษตรแผนใหม่เชิงพาณิชย์ การรุกของพันธุกรรมดัดแปลง สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ข้อตกลงการค้าเสรี อันเป็นขบวนการของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ด้านอาหาร ซึ่งถูกเรียกรวมๆ ว่า "จักรวรรดินิยมทางอาหาร" แง่มุมการนำเสนอวัฒนธรรมอาหารเพื่อต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ ออกมาในรูปของการทำให้ความมั่นคงทางอาหารเป็นวัฒนธรรมชุมชน ได้แก่ การปรับระบบการผลิตให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม มีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตนเอง มีการบริโภคอาหารท้องถิ่น มีการแลกเปลี่ยนอาหารและทรัพยากรในชุมชน สร้างผู้นำทางภูมิปัญญาที่หลากหลาย และมีการศึกษารวบรวมความรู้ท้องถิ่นด้านอาหาร และนำเอาคุณค่า ความรู้วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นเผยแพร่ในวงกว้าง และผลักดันให้มีนโยบายคุ้มครองวัฒนธรรมอาหาร เป็นต้น
แม้การมองวัฒนธรรมอาหารจากมิติวัฒนธรรมชุมชน อาจจะทำให้เราเห็นชัดถึงคุณค่าเชิงวัฒนธรรม และผลกระทบในทางวัฒนธรรมจากทุนโลกาภิวัตน์ด้านอาหาร แต่สิ่งขาดหายไปจากมิติดังกล่าวคือ การไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างชุดคุณค่าทางวัฒนธรรม กับโครงสร้างและปฏิบัติการทางสังคมของชุมชนที่หลากหลายและซับซ้อน ทำให้การตอบคำถามในเรื่องความมั่นคงทางอาหารของกลุ่มชนต่างๆ ไม่ชัดเจน เพราะสิ่งเดียวที่วัฒนธรรมอาหารตามแนววัฒนธรรมชุมชนเสนอคือ การมีวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจที่เกื้อกูล พึ่งตนเอง เท่านั้น แต่เงื่อนไขอะไรที่จะให้วัฒนธรรมต่างๆ สามารถเป็นไปในแนวทางดังกล่าวได้ หรือหากเป็นแล้วจะมีปัญหาด้านอื่นหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงอาศัยฐานความรู้ทางมานุษยวิทยามาช่วยเพิ่มเติมการอธิบายวัฒนธรรมอาหาร ดังนี้
ในงานศึกษาทางมานุษยวิทยาที่อาจารย์ยศ สันตสมบัติ (2548) (5) ได้ประมวลไว้ ว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การเก็บหาอาหารเป็นกิจกรรมที่สำคัญอันดับแรก และเป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมอาหาร ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นระบบเกษตรในรูปแบบต่างๆ ทั้งเกษตรพื้นบ้าน เกษตรกรรมเข้มข้น และการเลี้ยงสัตว์
สังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ เป็นสังคมที่มีขนาดเล็กที่ปรับตัวเข้ากับสภาพธรรมชาติ แม้ในธรรมชาติที่ดูแร้นแค้น ผู้คนอยู่เป็นกลุ่มกระจัดกระจาย ออกหาอาหาร ไม่มีระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไม่มีการผลิต ในทางสังคมไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น อาศัยเรื่องเพศเป็นเกณฑ์แบ่งงานกันทำ สังคมแบบนี้หากมองจากภายนอก จะขัดแย้งกับกรอบคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารและความยากจน เพราะดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สมบูรณ์ เทคโนโลยีอยู่ในขั้นต่ำ ไม่มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถสั่งสมมูลค่าส่วนเกินได้ แต่งานศึกษาทางมานุษยวิทยากลับพบว่า ด้วยวัฒนธรรมการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทีดี หลายสังคมสามารถทำมาหากินอย่างง่ายดาย และเพียงพอต่อความต้องการ
ขณะที่สังคมกสิกรรมแบบไร่หมุนเวียน อันเป็นระบบการผลิตในพื้นที่สูงของชนพื้นเมืองทั่วโลก วิถีการผลิตดังกล่าวสัมพันธ์กับระบบนิเวศ อาจด้วยการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้เกิดการเปลี่ยนจากเก็บหาของป่ามาทำเกษตรไร่หมุนเวียน ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณอาหารที่มั่นคงและแน่นอน เกิดผลผลิตส่วนเกิน ในทางสังคมกลุ่มเครือญาติเป็นฐานการจัดตั้งองค์กรทางสังคม ซึ่งมีการแบ่งงานกันหลากหลาย
สำหรับสังคมกสิกรรมแบบเข้มเข้น เช่น การทำนา ทำสวน ทำไร่ ความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นได้ด้วยการอาศัยเทคโนโลยี แรงงานการผลิต และการบริหารองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เช่น การควบคุมน้ำ การจัดการที่ดิน การจัดการแรงงาน เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่ม สามารถสะสมผลผลิตส่วนเกิน ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดความแตกต่างในการถือครองที่ดินที่อาจกลายเป็นความแตกต่างทางชนชั้น
ส่วนสังคมเลี้ยงสัตว์ มักเป็นชุมชนเร่ร่อน ขนาดเล็ก กระจัดกระจาย เลี้ยงสัตว์และทำการค้ากับกลุ่มอื่น เกิดพ่อค้า ผู้เชี่ยวชาญ ช่างฝีมือ มีการสะสมทรัพย์และความแตกต่างทางเศรษฐกิจ
อาจารย์ยศ ได้สรุปว่า สาเหตุความหลากหลายของระบบการผลิตอาหารมาจาก ความแตกต่างทางด้านพัฒนาการทางเทคนิค การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป และการเพิ่มขึ้นของประชากร ก็เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตจากล่าสัตว์ เก็บของป่า มาเป็นการทำกสิกรรมในรูปแบบต่างๆ อาจารย์ยศเสนอว่า วิถีการผลิตแบบเกษตรกรรมทำให้มนุษย์ต้องทำงานหนักขึ้น และมิได้เป็นหลักประกันต่อความมั่นคงของชีวิตสูงไปกว่าการล่าสัตว์ และเก็บหาของป่า
ผู้เขียนเสนอเพิ่มเติมว่า เงื่อนไขด้านความสมบูรณ์ของนิเวศ เงื่อนไขทางการเมืองระหว่างรัฐกับกลุ่มชนต่างๆ และระยะความสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าไปกำกับ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เพราะหากสังคมเก็บของป่า หรือสังคมทำไร่หมุนเวียนอยู่ในนิเวศที่เสื่อมโทรม หรือถูกปิดล้อมไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร พวกเขาจะอยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหารทันที และต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนมาทำกสิกรรมเข้มข้น ซึ่งก็จะประสบภาวะไม่มั่นคงทางอาหารในอีกรูปแบบหนึ่ง
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากวัฒนธรรมอาหารจากมุมมองทางมานุษยวิทยาก็คือ ภาวะความมั่นคงทางอาหารในสังคมแต่ละแบบมีความหลากหลาย เราไม่สามารถใช้เกณฑ์มาตรฐานเดียวไปตัดสินได้ และผลกระทบจากความไม่มั่นคงทางอาหาร ไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ปัญหาความอดอยาก หิวโหย หรือความยากจนเท่านั้น แต่เชื่อมโยงไปถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โครงสร้างสังคม การแบ่งงานกันทำ บทบาทหญิงชาย ระบบเครือญาติ ความแตกต่างทางชนชั้น ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม เทคโนโลยี แบบแผนการใช้ทรัพยากร จำนวนประชากร เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นได้ทั้งสาเหตุและผลลัพธ์ของความมั่นคง/ไม่มั่นคงทางอาหาร
นอกเหนือจากมานุษยวิทยาว่าด้วยการเข้าถึงและการผลิตอาหารแล้ว ในแง่มานุษยวิทยาว่าด้วยการบริโภคก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ทรัพยากรอาหารไม่เพียงถูกบริโภคในฐานะที่เป็นอาหารและยาเท่านั้น แต่ยังเป็นคุณค่าด้านประเพณีความเชื่อและพิธีกรรม และทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งปัจจุบันความหลากหลายของวัฒนธรรมการบริโภคของท้องถิ่นได้เสื่อมสูญไป ด้วยหลายสาเหตุ เช่น การสูญเสียฐานทรัพยากรอันเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร ระบบเศรษฐกิจการตลาดได้กดดันให้ชุมชนปลูกพืชพาณิชย์สมัยใหม่แทนพืชพื้นบ้าน วัฒนธรรมมวลชนที่มากับสื่อมวลชนได้ทำให้ท้องถิ่นคุ้นเคยกับอาหารสมัยใหม่ และทำให้แปลกแยกกับอาหารพื้นบ้านของตนเองมากขึ้น
ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ได้เห็นการปรับตัวของอาหารพื้นบ้านในรูปแบบใหม่ ทั้งด้วยการหยิบยืมวัตถุดิบ ชื่อ วิธีการปรุงจากที่ต่างๆ มาปรับสร้างเป็นอาหารพื้นบ้านที่ต่างไปจากเดิม ในแง่นี้เส้นแบ่งระหว่างอาหารพื้นบ้านกับอาหารภายนอกเริ่มไม่ชัดเจน ต่างก็หยิบยืมซึ่งกันและกัน เช่น มีสูตรอาหารพื้นบ้านประยุกต์ให้สมัยใหม่ พร้อมไปกับการมีพิชซ่ารสชาติอาหารไทย หรือเคเอฟซียำไก่แซบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการลดทอนความหลากหลายทางอาหารรูปแบบเดิม และสร้างเสริมความหลากหลายทางอาหารรูปแบบใหม่ ภาวการณ์ในแต่ละแบบจะสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคมอย่างไรนั้น สามารถนำเอาเงื่อนไขต่างๆ ของความรู้ทางมานุษยวิทยา และทางเศรษฐศาสตร์การเมืองมาพิจารณาได้ คือ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการบริโภคกระทบอย่างไรต่อคุณค่า ความเชื่อ ความสัมพันธ์ทางสังคม และสิทธิในการกำกับการผลิต การบริโภค และเศรษฐกิจในชุมชนและสังคม อำนาจการต่อรองทางการเมืองและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และจะนำไปสูความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างไร
จากข้อมูลที่ปราฏโดยทั่วไปพบว่า โลกาภิวัตน์วัฒนธรรมอาหารด้านการบริโภค ทำให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ ต่อโครงสร้างการจัดการทรัพยากร การผลิต และการบริโภคของชุมชนและสังคม ชุมชนและสังคมตกอยู่ในลักษณะความสัมพันธ์พึ่งพาแบบถูกขูดรีดมากยิ่งขึ้น อาหารโลกาภิวัตน์ที่แปลงร่างเป็นท้องถิ่น เป็นเพียงสัญลักษณ์อำนาจทางวัฒนธรรมที่หยิบมาใช้ลบเลือนโครงสร้างความไม่เป็นธรรมดังกล่าว
ในทิศทางตรงกัน ข้ามการเคลื่อนไหวอาหารพื้นบ้านให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ เช่น ต้มยำกุ้ง ส้มตำ และอื่นๆ ที่แพร่หลายไปในหลายประเทศ ก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การสร้างสิทธิและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนท้องถิ่นแต่อย่างใด เพราะโครงสร้างการผลิตและการจัดสรรอาหาร ถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนชาติและทุนข้ามชาติ
ด้วยเหตุนี้ การนำแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากรอาหารมาผนวกกับแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมอาหาร และระบบการผลิตก่อรูปเป็น "ฐานทรัพยากรอาหาร" จึงมีความสำคัญในแง่การวิเคราะห์ปัญหา การกำหนดเป้าหมาย และยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคมชัดเจนขึ้น
ร้อยเรียงแนวคิดสู่ฐานทรัพยากรอาหาร
สิทธิชุมชนเริ่มต้นจากฐานทรัพยากร เมื่อนำมาประกอบใช้ในฐานทรัพยากรอาหาร จึงมีความหมายของสิทธิการจัดการทรัพยากรที่เป็นฐานอาหารของชุมชน
มิติทางการเมืองของสิทธิชุมชนเป็นเรื่องการจัดความสัมพันธ์ภายในชุมชน และชุมชนกับรัฐและทุน
ดังนั้นฐานทรัพยากรอาหารที่อาศัยรากทางความคิดจากสิทธิชุมชน จึงมีมิติทางการเมืองลักษณะเดียวกันด้วย
เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอาหาร และระบบการผลิต ที่ให้ความสำคัญต่อปัจจัยการผลิตและการบริโภคในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่มิติของการต่อรองกับอำนาจที่ปรากฏในรูปกฎเกณฑ์ นโยบาย และสิทธิการจัดการโดยตรง ด้วยเหตุนี้ แนวคิดเรื่องฐานทรัพยากรอาหารจึงได้ขยายขอบเขตการต่อสู้ไปในทางวัฒนธรรม และทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับกลไกการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การสื่อสารทางวัฒนธรรมอื่นๆ ว่าเป็นเงื่อนไขให้เกิดความมั่นคงทางฐานทรัพยากรอาหารด้วย
เมื่อผสานกับแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และอธิปไตยทางอาหารที่ได้กล่าวไปบ้างแล้ว แนวคิดเรื่องฐานทรัพยากรอาหารจึงมีความกว้างขวางทั้งในแง่ประเด็นการต่อสู้ การเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวด้านทรัพยากร การเกษตร และการบริโภคร่วมกัน ทำให้มีแนวร่วม และพื้นที่การต่อสู้ทางการเมือง และโอกาสทางนโยบายได้หลายด้าน
++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) ขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืน ได้ใช้แนวคิดนานาประการในการผลักดันเรื่อง เกษตรกรรายย่อย และการผลิต เช่น "เกษตรกรรมทางเลือก", "เกษตรอินทรีย์", "เกษตรกรรมธรรมชาติ", "สิทธิเกษตรกร", ส่วนขบวนการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้สร้างแนวคิดที่สำคัญ เช่น "สิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน" ซึ่งได้แยกย่อยเป็นเป็นรายทรัพยากร เช่น "ป่าชุมชน", "ประมงพื้นบ้าน", "การจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชน", เป็นต้น
(2) คณะทำงานแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร, การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ฐานทรัพยากรเพื่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร, (กรุงเทพฯ: เอกสารประกอบการประชุม), 5 กรกฎาคม 2548
(3) คณะทำงานแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร, วิเคราะห์สถานภาพฐานทรัพยากรเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร, (กรุงเทพฯ: เอกสารประกอบการประชุม), ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์
(4) เป็นที่ประจักษ์ร่วมกันว่า ในสังคมไทย ศ.เสน่ห์ จามริก ในฐานะปัญญาชนสาธารณะของขบวนการต่อสู้ด้านสิทธิชุมชนต่อทรัพยากรเป็นผู้ผลิตคำว่า "สิทธิชุมชน" ราวปี 2536 ขึ้นมาในช่วงการต่อสู้เรื่องป่าชุมชน และต่อมาได้สร้างแนวคิดเรื่อง "ฐานทรัพยากร" ในราวปี 2542-43 เห็นได้จากข้อเสนอเรื่องสังคมฐานทรัพยากร และการผลักดันให้มีฝ่ายฐานทรัพยากร ในสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(5) ยศ สันตสมบัติ, มนุษย์กับวัฒนธรรม (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), น.50-67.
สำหรับผู้สนใจเรื่องเกี่ยวเนื่องกับเรื่องอาหาร
สามารถคลิกไปดูหัวข้อเพิ่มเติมได้ที่- ชุมชนคนรักแผ่นดินและวิถีธรรมชาติ
- อธิปไตยด้านอาหาร เสียงเรียกร้องก้องโลกของชาวนา
- อนาคตของอาหาร(๑) : อนาคตของมนุษยชาติ
- อนาคตของอาหาร(๒) : อนาคตอาณานิคมยุคใหม่ในระดับยีน+++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
ความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร
ในบริบทของความไม่มั่นคงทางอาหาร จากเกษตรแผนใหม่เชิงพาณิชย์ การรุกของพันธุกรรมดัดแปลง สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ข้อตกลงการค้าเสรี อันเป็นขบวนการของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ด้านอาหาร ซึ่งถูกเรียกรวมๆ ว่า "จักรวรรดินิยมทางอาหาร"
แง่มุมการนำเสนอวัฒนธรรมอาหารเพื่อต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ ออกมาในรูปของการทำให้ความมั่นคงทางอาหารเป็นวัฒนธรรมชุมชน ได้แก่ การปรับระบบการผลิตให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม มีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตนเอง มีการบริโภคอาหารท้องถิ่น มีการแลกเปลี่ยนอาหารและทรัพยากรในชุมชน สร้างผู้นำทางภูมิปัญญาที่หลากหลาย และมีการศึกษารวบรวมความรู้ท้องถิ่นด้านอาหาร และนำเอาคุณค่า ความรู้วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นเผยแพร่ในวงกว้าง และผลักดันให้มีนโยบายคุ้มครองวัฒนธรรมอาหาร เป็นต้น
+++++++++++++++++++++++++++++++++