โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 23 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๖๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 23,02.2007)
R

การต่อสู้ที่มัสยิดกรือเซะ และการสังหารหมู่ที่สะบ้าย้อย
รายงานฝรั่ง: ปัญหาภาคใต้ไทยไม่ใช่สงครามศาสนา (๔)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจาก Crisis Group
รายงานภาคพื้นเอเชียฉบับที่ 98 เผยแพร่วันที่ 18 เมษายน 2548

บทความวิชาการขนาดยาวนี้ เดิมชื่อ
ปัญหาภาคใต้ของไทย: การลุกฮือไม่ใช่สงครามศาสนา
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะนำเสนอเป็นตอนๆ
เพื่อให้นักศึกษาและสมาชิกเข้าใจสถานการณ์ภาคใต้โดยลำดับ
และเห็นถึงปัญหาอันซับซ้อนของพี่น้องมุสลิม รวมถึงการแก้ไขของทางการอย่างไม่ถูกจุด
ในบทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นหลายแห่งในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗
เช่น การต่อสู้ที่มัสยิดกรือเซะ
, การสังหารหมู่ที่อำเภอสะบ้าย้อย และอื่นๆ
รวมไปถึงคำอธิบายและปฏิกริยาของรัฐบาลต่อเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๖๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๓ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายงานภาคพื้นเอเชียฉบับที่ 98 / 18 เมษายน 2548
ปัญหาภาคใต้ของไทย: การลุกฮือไม่ใช่สงครามศาสนา
Crisis Group Asia Report

28 เมษายน 2547
A. กลุ่มของอุสตาสโซะ
ถ้าหากการโจมตีรายวันมีรูปแบบชัดเจน เหตุปะทะในวันที่ 28 เมษายน 2547 เป็นจุดหักเห เพราะมีอะไรหลายอย่างที่แตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ ตำรวจและทหารจะตกเป็นเป้าเหมือนเดิม แต่ว่ากลุ่มผู้ลงมือเปลี่ยนไปจากเดิม ผู้ก่อเหตุเป็นคนรุ่นหนุ่ม เคร่งศาสนา ไม่มีอาวุธ และพร้อมจะสละชีวิต

ดูเหมือนกลุ่มผู้ลงมือก่อเหตุจะเป็นที่รู้จักในนามว่า Hikmat Alah Abadan หรือ กลุ่มลีเกาะมาตุลเลาะอาบาดัน ซึ่งเป็นขุมกำลังที่อยู่ในความรับผิดชอบของอิสมาแอล ยูซุฟ ระยะหลง (หรือ อุสตาสโซะหรือ อุสตาสอิสมาแอ) ซึ่งเป็นชาวยะลาโดยกำเนิดและไปศึกษามาจากอินโดนีเซีย (1) อุสตาสโซะน่าจะรู้จักใกล้ชิดกับคนในหมู่บ้านบาเซะ ปูเต๊ะ ในอำเภอตาเนาะ แมเราะ รัฐกลันตัน ซึ่งรู้จักในชื่อของอาเยาะหรือ เปาะสู (2)

จากข้อมูลของตำรวจในพื้นที่ อุสตาสโซะชักชวนครูสอนศาสนาอย่างน้อยอีกสิบคนจากหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลในจังหวัดยะลา ปัตตานี และสงขลา มาร่วมขบวนการ รวมทั้งเป็นคนคัดเลือกบุคคลที่เป็นหัวหน้ากลุ่มย่อยด้วย นอกจากนี้ อุสตาสโซะยังจัดตั้งค่ายฝึกอาวุธในป่าที่รัฐกลันตัน ระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึง 2546 หลังจากนั้น ผู้ผ่านการฝึกอาวุธจะเดินทางกลับไปหมู่บ้านของตน เพื่อชักชวนหาสมาชิกอีกคนละห้าถึงยี่สิบคน (3) ถึงแม้หัวหน้ากลุ่มย่อยจะอยู่ในวัยปลายสามสิบหรือสี่สิบ แต่สมาชิกแนวร่วมส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นในวัยยี่สิบ ส่วนใหญ่เรียนในโรงเรียนสอนศาสนา (ปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาหรือไม่ก็ตาดีกา) (4)

อุสตาสโซะเองเป็นหัวหน้ากลุ่มย่อยในหมู่บ้านกูวา กิ่งอำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา และอาจจะเป็นผู้นำอีกหน่วยในกิ่งอำเภอมลายูบางกอก (5) ส่วนอีกกลุ่มนั้นนำโดยสาการียา ยูโซะ หรืออุสตาสยา ครูจากโรงเรียนอัล อิสลามวิทยาจากหมู่บ้านกุแบ ยาลาห์ จังหวัดปัตตานี. ในช่วงปี 2545 ตอนที่อุสตาสยาสอนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เขาได้เริ่มชักชวนนักเรียนมาเข้ากลุ่มอบาแด (6) อุสตาสยายังช่วยคัดเลือกผู้นำกลุ่มย่อยคนอื่นๆ รวมทั้ง มามะ มาติโยะ (หรือ มานะ มาดิเยะ หรือ แบกะ) จากอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี (7) ยูกิปาลี ดาเลาะ (หรือ เยาะลิ) ซึ่งอุสตาสโซะเป็นคนชวนมา เป็นผู้นำกลุ่มย่อยที่บุกจู่โจมค่ายทหาร 403 ที่กิ่งอำเภอบ้านแระ อำเภอธารโต (8) นอกจากนี้ ยังมีผู้นำกลุ่มย่อยคนอื่นๆ อีก เช่น ฮามะ สาและจากอำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี สะมาแอ ลาเตะ และอับดุลโรฮา ซามะ (9)

กลุ่มย่อยต่างๆ ประชุมกันเป็นประจำ บางครั้งก็พบกันตอนค่ำที่มัสยิดหรือตาฏีกา เพื่อทำละหมาดและศึกษาเล่าเรียน การฝึกอบรมส่วนใหญ่เป็นการปลูกฝังความคิดทางอุดมการณ์และความคิดทางศาสนา แต่ขณะเดียวกันก็มีการฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรง และในบางครั้งก็มีการฝึกใช้อาวุธเบื้องต้นด้วย (10) การฝึกทางทหารทำกันในพื้นที่ป่าแถบอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา หรือไม่ก็ที่อำเภอกาบัง ยะหา ธารโต และตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา (11)

กลุ่มย่อยมีกฎเกณฑ์เคร่งครัดและบรรดาสมาชิกจะต้องเชื่อฟังผู้นำทุกอย่าง อีกทั้งจะต้องปฏิญาณตัวต่อคัมภีร์อัลกุระอ่าน สาบานว่าจะปิดเรื่องนี้เป็นความลับ (ซุมเปาะ) และจะไม่เปิดเผยชื่อสมาชิก กิจกรรมหรือแผนการใดๆ ของกลุ่ม (12)

อับดุลเลาะ อาโก๊ะ ถือเป็นบุคคลสำคัญ การให้ปากคำของเขาเป็นประโยชน์กับทางการ นำไปสู่การจับกุมครูสอนศาสนาอีกหลายคน ฐานต้องสงสัยว่าพัวพันกับเหตุโจมตีเมื่อเดือนมกราคม 2547 เขาเป็นอุสตาสจากยะลา และได้รู้จักสนิทสนมกับอุสตาสโซะเมื่อปี 2542 (13) หลังจากคบกันได้แค่สามสัปดาห์ โซะชวนอาโก๊ะเข้าร่วมขบวนการเพื่อ "ปลดปล่อย" ปัตตานีจาก "คนนอกศาสนา" อาโก๊ะตัดสินใจเข้าร่วมด้วยทันที เพราะว่า มีความโกรธแค้นนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาลตั้งแต่ในอดีตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว:

เราขอความเป็นธรรม แต่รัฐบาลกลับให้เงินช่วยเหลือครอบครัวนิดๆหน่อยๆ ... ก็ตรงกับที่คิด พอดีโซะก็เล่าประวัติศาสตร์ให้ฟัง เล่าปูมหลัง และเหตุการณ์ในอดีต แต่ผมได้เห็นอะไรมาเยอะ และก็ได้ศพคนที่ตายด้วย (15)

อุสตาสโซะอ้างด้วยว่า มีคาถาทำให้ยิงฟันไม่เข้า เขาสอนอาโก๊ะและสมาชิกอีกสี่คนจากหมู่บ้านให้ทำพิธี zikir หรือการท่องพระนามของอัลเลาะห์ และท่องมนต์ซ้ำไปซ้ำมา บางทีอาจจะท่องถึง 70,000 ครั้งต่อวันติดต่อกันนาน 40 วัน เพื่อให้หายตัวได้และฟันแทงไม่เข้า (16) เขาให้น้ำมันเสกกับสมาชิกที่มาจากสงขลาเพื่อให้หายตัวได้ สมาชิกบางคนเดินทางพร้อมอุสตาสโซะไปมาเลเซีย เพื่อไปเยี่ยมอาเยาะ ซึ่งเป็นชาวกลันตัน และได้รับการนับถือว่าเป็น "อาจารย์" และให้เป่ากระหม่อมให้ บางคนต้องจ่ายเงิน 450 บาท (17) พวกเขายังได้รับการสั่งสอนไม่ให้กลัวตายเพราะจะได้เป็นวีรบุรุษ:

ถึงแม้เราอาจจะตาย แต่ว่าการตายครั้งนี้เป็นการเสียสละของคนที่เป็นนักรบ พี่น้อง จงรู้เถิดว่า การตายของวีรบุรุษในการรบ (svahid) ไม่ได้แปลว่าคนๆ นั้นตาย แต่เขาจะไปอยู่เคียงข้างพระเจ้า เขาจะได้พักผ่อนชั่วระยะหนึ่งตามคำสั่งของ พระเจ้า (18)

ผู้ก่อเหตุศึกษาจากคู่มือฝึกอบรม ที่เรียกว่า "เบอริฮาด ดี ปัตตานี" ซึ่งมองการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนในบริบททางศาสนา โดยอ้างความชอบธรรมในการพลีชีพเพื่อศาสนาตามข้อความในคัมภีร์อัลกุระอ่าน และออกไปทางซูฟีมากกว่าซาลาฟี (19)

B. การต่อสู้ที่มัสยิดกรือเซะ
เย็นวันที่ 27 เมษายน 2547 ก่อนหน้าพระอาทิตย์จะตก กลุ่มชายหนุ่มและเด็กหนุ่มจำนวน 22 คนเดินทางไปถึงมัสยิดกรือเซะ และร่วมกันทำละหมาด (20) เด็กชายบางคนอายุ 12 หรือ 13 เท่านั้น ถึงแม้ว่าหัวหน้ากลุ่มจะบอกกับอิหม่ามประจำมัสยิดว่า จะมานั่งสมาธิ (เอี๊ยะติกาฟ) เท่านั้น แต่ต่อมาก็ยอมเปิดเผยว่า "ถ้าหากว่าจะตายก็ขอตายในมัสยิดนี้" (21) ราวสี่ชั่วโมงให้หลัง มีชายอีกกลุ่ม ส่วนใหญ่อยู่ในวัยปลายยี่สิบเดินทางมาสมทบและนอนค้างคืนในมัสยิด (22) เมื่อเวลา 2.00 น. ฮามะ สาและ สั่งให้สมาชิกอีกห้าคนเอาทรายเสกคาถาไปโรยในพื้นที่อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาซึ่งเป็นการทำตามความเชื่อว่า จะสามารถป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ส่งกำลังมาสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้ (23)

เมื่อเวลา 4.30 น. วันที่ 28 เมษายน ชายในกลุ่มคนหนึ่งนำการทำละหมาด เมื่อเสร็จแล้ว ก็บอกกับคนที่เหลือ ซึ่งรวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ห้าคน ซึ่งมาละหมาดด้วยว่า "ใครอยากอยู่ก็อยู่ ใครอยากไปก็ไปได้" แต่ไม่ได้อธิบายว่าคำพูดนี้มีความหมายอย่างไร กลุ่มชายแปดคนนำโดยฮามะ สาและ ออกไปจากมัสยิดและเริ่มลงมือโจมตีจุดตรวจกรือเซะ ส่วนอีกกลุ่มที่มาจากมัสยิดเข้าล้อมอีกทางหนึ่ง กลุ่มคนร้ายฟันตำรวจหนึ่งคนและทหารอีกหนึ่งคนเสียชีวิต

การต่อสู้ลุกลามเข้าไปในพื้นที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งอยู่ติดกัน ในระหว่างที่มีการต่อสู้ยิงปะทะกัน คนร้ายยิงพวกเดียวกันโดยอุบัติเหตุ เสียชีวิตไปหนึ่งคน เป็นชายสูงอายุ คนร้ายอีกคนถูกตำรวจยิงเข้าที่ขา แต่ว่ากลุ่มคนร้ายพาตัวขึ้นรถที่จอดอยู่ใกล้ๆ หนีไปได้ ส่วนคนที่เหลือวิ่งหนีกลับเข้าไปในมัสยิด (24) ผู้ก่อเหตุเสียชีวิตสี่คนรวมทั้งฮามะ สาและด้วย

ทันทีหลังทราบเหตุ พันเอกมนัส คงแป้น ผู้บังคัญหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ได้ส่งหน่วยลาดตระเวนเข้าไปประเมินสถานการณ์ เจ้าหน้าที่ห้านาย ซึ่งใช้รถหุ้มเกาะฮัมวีเข้าลาดตระเวนรอบๆ มัสยิดถูกลอบยิงจากในมัสยิดจนต้องล่าถอย ทหารกองสนับสนุน (ประกอบด้วยทหารต่อต้านการจลาจลและชุดซุ่มยิง) เดินทางไปถึงประมาณ 6.00 น. ทหารใช้รถหุ้มเกราะปิดล้อมมัสยิดและใช้โทรโข่งพยายามหว่านล้อมให้กลุ่มผู้ลงมือยอมมอบตัวแต่ไม่สำเร็จ

หัวหน้ากลุ่มผู้ก่อเหตุพูดออกทางลำโพงของมัสยิด ย้ำว่าพร้อมจะสู้ตาย ทหารใช้ก๊าซน้ำตา ปืนเอ็มสิบหก ปืนกล และปืนยิงจรวดยิงใส่มัสยิด ฝ่ายผู้ก่อเหตุยิงโต้ตอบโดยใช้อาวุธปืนและเอ็ม 79 ตั้งแต่ 7.00 น. ทั้งสองฝ่ายยิงโต้ตอบกันนานราวหนึ่งชั่วโมง (25) กำลังชุดปฏิบัติการพิเศษพยายามบุกเข้าไปในมัสยิดแต่ต้องยกเลิกกลางคัน เนื่องจากทหารสองนายถูกยิงเสียชีวิต ดลกอเด เจ๊ะเฮาะ ชาวบ้านที่วิ่งออกจากบริเวณมัสยิดถูกยิงตายเนื่องจากเจ้าหน้าที่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ (26)

ประชาชนมารวมตัวชุมนุมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ราว 1,000 คนภายในเวลา 10.00 น. และเริ่มแสดงท่าทีไม่พอใจ ขณะที่ภายในมัสยิดเอง กลุ่มผู้ก่อเหตุไม่สงบพูดผ่านทางลำโพงมัสยิดให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง. เฮลิคอปเตอร์ทหาร ซึ่งบินเป็นวงเหนือมัสยิดตั้งแต่เวลาราว 9.00 น. เริ่มทิ้งระเบิดควัน ทหารภาคพื้นดินเริ่มยิงกระสุนเข้าไปทางด้านข้างของมัสยิดเพื่อเจาะช่องระบายควัน ทหารพูดจาหว่านล้อมให้วัยรุ่นยอมออกมามอบตัว (27) ราว 10.00 น. กองกำลังหน่วยปราบจลาจลยิงลูกระเบิดและก๊าซน้ำตาเข้าไปในมัสยิดอีก ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุราวเที่ยงวัน และเข้ารับหน้าที่บังคับบัญชาการแทนพันเอกมนัส ซึ่งได้รับคำสั่งจากพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีว่าให้ล้อมมัสยิดไว้แต่ไม่ให้จู่โจม พลเอกพัลลภจึงได้โทรศัพท์หาพลเอกชวลิตและรายงานว่า มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการ พลเอกชวลิตสั่งไม่ให้พลเอกพัลลภจู่โจม แต่ให้นำอาหารและน้ำดื่มไปให้ผู้ก่อเหตุในมัสยิดเพื่อจะได้ยอมมอบตัวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 12.30 น. พลเอกพัลลภได้มีคำสั่งให้ทหารโยนระเบิดขว้างสังหารเข้าไปในมัสยิดอีกสี่ลูก และหลังจากนั้นก็มีการยิงปะทะกันอีกรอบ (28) ทหารประกาศเตือนทางโทรโข่งให้ผู้ก่อเหตุวางอาวุธและออกมาจากมัสยิด แต่ไม่ได้พยายามจะขอเจรจา เวลา 2.00 น. พลเอกพัลลภสั่งให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษห้าชุดบุกจู่โจมเข้าไปมัสยิดและสั่งให้จับตาย (29) ทหารโยนระเบิดขว้างสังหารเข้าไปเก้าลูกก่อนบุกเข้าไปยิงผู้ก่อเหตุตายไป 31 คน อายุระหว่าง 17 ถึง 63ปี (30) ส่วนใหญ่เป็นชาวยะลา ที่เหลือมาจากปัตตานี สงขลาและนราธิวาส (31)

C. เหตุโจมตีอื่นๆ
การปะทะกันที่มัสยิดกรือเซะไม่ใช่เหตุรุนแรงเดียวที่เกิดขึ้นในวันนั้น (32) กลุ่มย่อยสิบกลุ่มรวมตัวกันก่อนรุ่งเช้าที่มัสยิดในยะลา ปัตตานี และสงขลา หลังจากละหมาดแล้วได้ลงมือก่อเหตุโจมตีพร้อมๆ กัน ตามจุดตรวจที่อยู่ห่างไกล สถานีตำรวจและค่ายทหาร (33) สมาชิกไม่ได้พกอาวุธหนัก ส่วนใหญ่มีแค่มีดพร้าหรือขวานติดตัวเท่านั้น แต่ชายแปดคนจากยะลามีอาวุธปืนสงคราม และอีกกลุ่มหนึ่งจากสงขลาก็ถูกกล่าวหาว่ามีปืนพกและลูกระเบิดสังหาร (34)

ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งพูดถึงศรัทธาและความมั่นคงหนักแน่นของแวหะมะ พานาวา หนึ่งในผู้ลงมือโจมตีหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตำรวจที่บ้านเนียง ในยะลา แม้ว่าเพื่อนที่ร่วมปฏิบัติการอีก 9 คนถูกตำรวจยิงตายเรียบไปแล้ว เขาก็ไม่หวั่นเกรง เลี้ยวรถมอเตอร์ไซต์กลับพุ่งเข้าทำร้ายตำรวจอีก ในมือมีแค่มีดสปาต้าเป็นอาวุธ พร้อมร้องตะโกนเป็นภาษามลายูว่า "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระเจ้า" (35)

การปะทะกันหลายจุดเกิดขึ้นในมัสยิดหรือใกล้มัสยิด ซึ่งบรรดาผู้ก่อเหตุเข้าไปหลบหนีการโจมตีของเจ้าหน้าที่ จากเหตุการณ์วันนั้น มีผู้ก่อเหตุถึงแก่ความตาย 105 คน มีชาวบ้านหนึ่งคนและเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคง 5 คน นับเป็นยอดผู้เสียชีวิตมากที่สุดในเวลา 24 ชั่วโมงในรอบหลายสิบปี นอกจากที่กรือเซะแล้ว ยังเกิดเหตุรุนแรงที่อื่นๆ อีก:

- มีผู้เสียชีวิต 10 คนที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษบ้านเนียง ในอำเภอเมือง (ยะลา) อายุระหว่าง 19 ถึง 42 ปี และมาจากพื้นที่อำเภอยะหา ในจำนวนนี้หลายคนจบการศึกษาจากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา (36)

- อีกสองเสียชีวิตที่ค่ายทหารในอำเภอเมือง

- กลุ่มชาย 16 คน, อายุระหว่าง 18 ถึง 43 ปี จากหมู่บ้านในกิ่งอำเภอกรงปีนัง (ยะลา) ถูกยิงตายที่สถานีตำรวจกรงปีนัง

- ชาวยะลา 8 คนถูกยิงที่ค่ายตำรวจตระเวนชายแดนที่อำเภอบันนังสตา (ยะลา) พวกเขาอายุระหว่าง 18 ถึง 30 ปี

- 5 คนถูกฆ่า และ 3 คนได้รับบาดเจ็บที่ฐานปฏิบัติการทหารในอำเภอธารโต (ยะลา) ผู้เสียชีวิตอายุระหว่าง 20 ถึง 32 ปี และมาจากพื้นที่อำเภอเมืองยะลา

- ชาย 2 คนถูกสังหารที่จุดตรวจในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี (ไม่ระบุอายุ)

- กลุ่มชาย 12 คนถูกฆ่าที่สถานีตำรวจอำเภอแม่ลาน ในปัตตานี ซึ่งรวมทั้งอับดุลรอฮะ หามะ ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วย (37) พวกนี้อายุระหว่าง 18 ถึง 41 และส่วนใหญ่มาจากพื้นที่จังหวัดยะลา

- 19 คนถูกสังหารที่ตลาดสะบ้าย้อย (สงขลา) อายุระหว่าง 16 ถึง 30 ปี เกือบทั้งหมดเป็นคนในพื้นที่ มาจากหมู่บ้านซูโซะ ที่เหลืออีกคนเป็นชาวปัตตานี (38) ในจำนวนนี้ 15 คนมีแผลถูกยิงที่ด้านหลังของศรีษะ บางคนมีรอยแผลที่ข้อมือ ดูเหมือนจะเป็นแผลจากการถูกมัด (39)

ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะจับกุมผู้ต้องหาไม่ได้ในที่เกิดเหตุที่มัสยิดกรือเซะ แต่ได้จับกุมผู้ก่อเหตุ 17 คนในพื้นที่อื่น ผู้ต้องหาคือ มามะ มาติยอ, อับดุลเลาะ ดิแซะ, อาแซะ วาเด็ง, อารียัส วานิ, ยูซุฟ ยิมาดิยา, อาทิตย์ สาและ, และ จะรอสะมี กะเรมมานันท์ (40) อีก 4 คน คือ อิบโรเฮง (อิบราฮิม) มะซะแต จากยะลา อิสมาแอ มะหะ, ปรีชา มาเจ๊ะ, และ โรมูดี ดิงจากปัตตานี เข้ามอบตัวที่สำนักงานกิ่งอำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา (41) อีก 3 คนมอบตัวกับทางทหาร เมื่อเดือนกรกฏาคม 2547 แต่ไม่มีอุสตาสโซะ ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้วางแผนการโจมตี เจ้าหน้าที่ข่าวกรองไทยเชื่อว่า อุสตาสโซะ หนีออกจากประเทศไปแล้ว (42)

D. คำอธิบาย
จนถึงบัดนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 กับเหตุปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคมมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ แต่วิธีที่ใช้และพื้นที่ปฏิบัติการต่างกันมาก

กลุ่มคนร้ายที่มีอาวุธพร้อมมือและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี เข้าปล้นค่ายอาวุธของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ปี 2544 ส่วนใหญ่จะลงมือตอนกลางคืน โดยใช้เวลาปฏิบัติการสั้นๆ เพื่อลดความเสี่ยง แต่การโจมตีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 นั้น ดูเหมือนจะได้รับการวางแผนมาอย่างดีเพื่อให้ผลทางสัญลักษณ์ เช่น วันเกิดเหตุ เป็นต้น. กบฏดุซงญอ ซึ่งเป็นการลุกฮือต่อต้านการปกครองครั้งใหญ่ครั้งแรก หลังจากอาณาจักรปัตตานีพ่ายแพ้ กลายเป็นเมืองขึ้นของสยามและมีการอธิบายการต่อสู้ครั้งนี้ในเชิงศาสนา ก็เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2491 (43)

พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีกลาโหม และ พลเอกกิตติ รัตนฉายา ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เชื่อว่า มีกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงชาวต่างชาติ เข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้ลงมือก่อเหตุ 28 เมษายน ทั้งสองคนพูดในเชิงว่าอาจจะเป็นชาวอินโดนีเซีย (44)

เปาะสู ซึ่งเป็นคนที่อุสตาสโซะรู้จักในกลันตันถูกจับในมาเลเซีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 เขาถูกควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำอยู่สองสามสัปดาห์ และทางการมาเลเซียปล่อยตัวไป ตามข้อมูลแหล่งข่าวทหารของไทยซึ่งทางการมาเลเซียปฏิเสธ ชี้ว่า เปาะสู ถูกจับตัวได้พร้อมกับ เจ๊ะกุแม กูเต๊ะ (หรือมัน กูเต๊ะ หรือ มัน อันตา หรือ เจ๊ะกูแม โดโรแม) ประธานของ GMIP และกามารูดิง อาบู สมาชิก BRN ทั้งสามคนเพิ่งเดินทางกลับจากอินโดนีเซีย (45)

ผู้นำกลุ่มอะบาแดคนหนึ่ง คือ มามะ มาติเยาะ ซึ่งถูกจับตัวได้หลังเหตุโจมตีที่สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่าเป็นสมาชิกของ BRN แต่ว่าไม่ได้เห็นด้วยกับแกนนำระดับสูงของขบวนการ (46) อาจเป็นไปได้ว่า กลุ่มสมาชิกหรือสมาชิกบางคนที่มีแนวคิดการทำจีฮัด อาจจะแยกตัวออกมาลงมือทำงานเป็นเอกเทศ และปลุกระดมหาฝ่ายปฏิบัติการรุ่นหนุ่ม. BRN ยังอาจแทรกซึมเข้าไปถึงโรงเรียนตาดีกาในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และหลายกลุ่มย่อยถูกจัดตั้งโดยครูในโรงเรียนตาดีกาด้วย (47)

แต่ดูจากรูปการแล้วไม่น่าเป็นไปได้ว่า แกนนำซึ่งเป็นสายบังคับบัญชาปกติของ BRN จะเป็นผู้กำหนดและวางแผนการจู่โจมเมื่อวันที่ 28 เมษายน ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็เรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีและพื้นที่ในการปฏิบัติการ (48) นอกจากนี้ การลงมือก่อเหตุครั้งนี้ยังมีแนวคิดจีฮาดอย่างชัดเจนด้วย. BRN เป็นขบวนการที่ชูประเด็นชาตินิยมของคนเชื้อสายมาเลย์มากกว่า จะเป็นการชูแนวคิดทางศาสนาอิสลามล้วนๆ แม้ว่าอิสลามจะถือเป็นส่วนสำคัญของขบวนการก็ตาม นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ยังไม่มีการเชิดชูแนวความคิดแบบจีฮัดด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ได้จากปากคำของผู้ถูกจับกุมภายหลังเหตุโจมตีวันที่ 28 เมษายน 2547 ดูจะออกไปลักษณะกลุ่มวัยรุ่นที่ถูกอุสตาสโซะจัดตั้งขึ้นมา โดยมีเจตนาเพื่อแบ่งแยกดินแดนมากกว่า ผู้ต้องสงสัยสิบกว่าคนถูกจับในปลายปี ให้ปากคำกับตำรวจและทหารว่า พวกเขาต้องปฏิญาณตัวว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลของขบวนการ (ซูเปาะ) เช่นเดียวกับสมาชิกอะบาแดที่มอบตัว หรือถูกจับกุมได้ กลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มจึงมีสมาชิกไม่กี่คนและบุคคลภายนอกไม่รู้ข้อมูล (49) ข้อแตกต่างที่ชัดเจนอีกประการคือ เอกสาร "เบอริฮาด ดี ปัตตานี" ซึ่งกำหนดกรอบการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนในเชิงศาสนา เป็นอุดมการณ์ที่ผู้ก่อเหตุโจมตี วันที่ 28 เมษายน ใช้เท่านั้น นอกจากกลุ่มนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่ากลุ่มใดใช้อ้างอิงอีก (50)

แหล่งข่าวด้านข่าวกรองและนักวิเคราะห์ประเมินว่า มีเยาวชน 10,000-30,000 คนที่ถูกปลุกระดมให้เข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ว่า ตัวเลขจริงน่าจะต่ำกว่านี้มาก (51) การปลุกระดมชักชวนเยาวชนน่าจะเริ่มในปี 2535 เป็นอย่างช้า และคงจะมี BRN-coordinate เป็นหัวหอก (52) ถึงแม้ว่าแหล่งข่าวด้านความมั่นคงและแหล่งข่าวด้านข่าวกรองจะโยงกลุ่มวัยรุ่นเข้ากับ BRN แต่ก็ยอมรับว่าสมาชิกส่วนใหญ่ทำงานเป็นเอกเทศ (53)

ยกตัวอย่าง ถ้าหากว่ากลุ่มย่อยๆ เช่นมีสมาชิกสัก 10 หรือ 15 คน ครูจะมาสอนฝึกเพิ่มสมรรถนะภาพและสอนการใช้อาวุธขั้นต้น และปลูกฝังแนวความคิด หลังจากครูก็กลับไป กลุ่มแต่ละกลุ่มก็ต้องทำงานกันเอง (54)

ตามรายงานระบุว่า บุคคลที่ทำหน้าที่ชักชวนวัยรุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นครูสอนศาสนา (ตามโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ตาดีกา และปอเนาะ) จะชวนวัยรุ่นที่เข้าข่ายคือ เคร่งศาสนา หัวอ่อนเชื่อคนง่าย และมีความคล่องแคล่วว่องไว (55) แล้วจะแบ่งวัยรุ่นเป็นกลุ่มเล็กๆ (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 5 คน แต่มีบางกลุ่มมีสมาชิกถึง 20 คน) โดยเบื้องต้นจะชักชวนไปร่วมกลุ่มพูดคุยเรื่องศาสนา หรือทำละหมาดร่วมกัน

ส่วนใหญ่ ผู้ชักชวนมักจะลองสอบถามความคิดเห็นดูก่อน โดยมักสอบถามความเห็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานี คนที่มีแนวโน้มจะโอนเอียงเข้ากับอุดมการณ์การปลดปล่อยปัตตานี ก็ถูกชักจูงให้เข้าร่วมขบวนการ พวกเขาต้องเข้าร่วมพิธีปฏิญานตัวว่า จะปกปิดกลุ่มเป็นความลับ (ซูเปาะ) และจะเข้าฝึกร่างกายให้แข็งแกร่ง ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกกลุ่มเล็กๆ จะเข้ารับการฝึกอาวุธขั้นต้นด้วย ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งจะฝึกสำหรับปฏิบัติการซุ่มโจมตี (56)

นอกจากนี้ จะมีสมาชิกที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ปลุกระดมหาสมาชิก โฆษณาชวนเชื่อและหาทุน สมาชิกแต่ละคนถูกมอบหมายให้จัดตั้งกลุ่มย่อยของตัวเองในภายหลัง (57) ตามข้อมูลจากผู้ให้ปากคำ อุสตาสโซะเป็นสมาชิกของบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต แต่ว่าเกิดไม่เห็นด้วยกับแกนนำชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวกับเป้าหมายในระยะยาว และตัดสินใจใช้กลุ่มย่อยที่เป็นแกนนำจัดตั้งขึ้นลงมือปฏิบัติการ (58) ตามข้อมูลการให้ปากคำของอับดุลเลาะ อาโก๊ะ อะบาแดเป็นขบวนการที่แตกตัวจาก BRN-coordinate เมื่อปี 2542-2543 อุสตาสโซะเป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการและครูโรงเรียนธรรมวิทยา อุสมัน เซ็ง หรือ มัง ลาโกะเป็นรองหัวหน้า (59) ทั้งสองแยกตัวออกมาเพื่อผลักดันให้งานก้าวหน้าโดยเร็ว แหล่งข่าวข่าวกรองทหารเสริมด้วยว่า

โซะอยู่ใน BRN แต่ไม่ได้เป็นแกนนำระดับสูง เลยไปจัดตั้งกลุ่มตัวเองขึ้น โดยดึงสมาชิกเบอร์มูดาบางส่วนไปทำงานให้ แต่ว่าเขาไม่ได้ปรึกษากับแกนนำระดับสูง ซึ่งก็ไม่พอใจมาก เพราะ (เหตุโจมตีวันที่ 28 เมษายน) ทำให้เสียแนวร่วมในหมู่ชาวบ้าน ซึ่งไม่อยากให้ลูกหลานต้องเสียเลือดเนื้อ (60)

มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือยืนยันว่า กลุ่มยุวชนแบ่งแยกดินแดนมีอยู่จริง โดยที่กลุ่มอะบาแดของอุสตาสโซะอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่หลักฐานที่ชี้ว่า อะบาแดเกี่ยวข้องกับ BRN นั้นอ่อนมาก ข้อสันนิษฐานนี้ดูจะอาศัยการให้ปากคำของอับดุลเลาะ อาโก๊ะเป็นหลัก (61) นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอุสตาสโซะกับผู้ปลูกฝังอุดมการณ์ชาวกลันตัน คือ เปาะสู ก็ยังไม่ชัดเจน

E. ปฏิกริยาของรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีทักษิณชื่นชมการทำงานของกองทัพว่าทำงานได้รวดเร็ว แต่ไม่พูดถึงผลพวงทางการเมือง "ไม่มีอะไรน่ากลัว พวกนี้ติดยา" พตท. ทักษิณกล่าว (62) นอกจากนี้ ยังเรียกปฏิบัติการณ์ปราบปรามผู้ก่อเหตุอย่างนองเลือดว่า "เราชนะแล้ว" (63)

เมื่อกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้ประนามการที่ทหารใช้กำลังรุนแรงดังกล่าวรวมทั้งเรียกร้องให้มีการสอบสวน นายกรัฐมนตรีทักษิณกลับบอกพวกเขาไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของไทย (64) อย่างไรก็ตาม วันที่ 4 เมษายน 2547 พตท.ทักษิณได้ตั้งคณะกรรมการอิสสระขึ้นมาไต่สวน มีการนำเสนอผลการสอบสวนต่อที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม (65) แต่กว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณะก็อีกเกือบปีให้หลัง คือวันที่ 24 เมษายน 2548 (66)

รายงานการไต่สวนสรุปว่า การใช้กำลังของหน่วยรักษาความมั่นคงที่มัสยิดกรือเซะ วันที่ 28 เมษายน 2547 นั้นมากเกินจำเป็น และควรจะลงโทษเจ้าหน้าที่บางราย (67) และเอ่ยถึงพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี รองผู้อำนวยการ กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งแม่ทัพภาพ 4 พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี (68) ต่อมา พล.อ.พัลลภ ถูกย้ายออกจากการทำงานในพื้นที่ แต่นอกจากนั้นแล้วไม่มีการลงโทษทางวินัยนายทหารคนใด

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับดังกล่าวเป็นผลของการไต่สวนเฉพาะการเสียชีวิต 32 ศพที่กรือเซะเท่านั้น การเสียชีวิตของคนอีก 74 คนในพื้นที่อื่นๆ ของปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งในสงขลาน่าจะมีการไต่สวนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิบเก้าศพที่อำเภอสะบ้าย้อย ซึ่งพยานผู้เห็นเหตุการณ์อ้างว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรม (69)

+++++++++++++++++++++++++++

คลิกกลับไปทบทวน - คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๕

เชิงอรรถ
(1) ข้อมูลจากการให้ปากคำของอัลดุลเลาะ อาโก๊ะ และ อดินัน ซาริเดห์ ไครซิสกรุ๊ปได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร, ปัตตานี และยะลา, ธันวาคม 2547 และเมษายน 2548 ตำรวจอ้างว่าเขาเป็นโต๊ครูโรงเรียนปอเนาะโต๊ะยีมิง ในอำเภอเมือง จังหวัดยะลา นอกจากนี้ ยังสอนพิเศษตามโรงเรียนต่างๆ ในอำเภอด้วย

(2) ข้อมุลจากการสอบปากคำ อดินัน ซาริเดห์ สมาชิกของกลุ่มบ้านกุวา, 31 พฤษภาคม, มิถุนายน 2547 ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, ปัตตานี, เมษายน 2548

(3) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์พลตำรวจตรีธานี ทวิชศรี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, ธันวาคม 2547. "Muslim Teacher says he took militant training in Malaysia, co-wrote book on Pattani secession", Bangkok Post, 2 กันยายน 2547

(4) อย่างไรก็ตาม สมาชิกบางคนจบการศึกษาจากโรงเรียนรัฐ เช่น อดินันจากหมู่บ้านซูโซ๊ะ ซึ่งเสียชีวิตที่ตำบลสะบ้าย้อย ข้อมูลจากการสัมภาษณ์พ่อแม่ของอดินันที่ซูโซ๊ะ (สงขลา) เมษายน 2548

(5) การให้ปากคำของอดินัน ซาริเดห์ และข้อมูลการสัมภาษณ์ที่ไครซิส กรุ๊ปได้จากครอบครัวของกลุ่มบ้านกุวา (บ้านกุวา) ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ 28 เมษายน 2547อำเภอ กรงปีนัง, จังหวัดยะลา, ธันวาคม 2547 อุสตาสโซะ สอนที่ปอเนาะในกิ่งอำเภอมลายูบางกอก อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นบ้านเกิด. ไครซิส กรุ๊ปยังได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหาร จังหวัดยะลา เมษายน 2548

(6) การให้ปากคำของนักเรียนโรงเรียนเตรียมศึกษา ในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2547 ฐานะบงการก่อเหตุวางเพลิงบ้านพักตำรวจในวันก่อนนั้น

(7) การให้ปากคำของสมาชิกอบาดันคนหนึ่ง; "Militant tells: 'It was a sacrifice for God'", The Nation, 30 เมษายน 2547; "Shadowy network unfolds", The Nation, 1 พฤษภาคม 2547; "Villagers surprised at 'quiet, devout 'teacher's role", The Nation, 3 พฤษภาคม 2547; Davis, " Southern Thai insurgency", อ้างแล้ว

(8) การให้ปากคำของอดินัน ซาริเดห์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม และ 1 มิถุนายน 2547 ทางการตำรวจยืนยัน

(9) ฮามะ สาเละ และ สะมาแอ ลาเตะ ตายที่มัสยิดกรือเซะทั้งคู่ ส่วนอับดุลโรฮา ซามะตายที่สถานีตำรวจแม่ลาน จากรายงานคณะกรรมการอิสะไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ, เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2548

(10) ไครซิส กรุ๊ปได้สัมภาษณ์สมาชิกคนหนึ่งของในเครือข่ายยุวชนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ที่ปัตตานี เมื่อเดือนเมษายน 2548 ไครซิสกรุ๊ปยังได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทหารและตำรวจหลายคน ที่ปัตตานี และยะลา เดือนธันวาคม 2547 และ เมษายน 2548

(11) สัมภาษณ์แม่ทัพภาคสี่ พลโทพิศาล วัฒนวงศ์คีรี ใน มติชน 3 พฤษภาคม 2547

(12) ซุมเปาะน่าจะเพี้ยนมาจากคำมาเลย์ ซัมปาห์ แปลว่า คำสาบานหรือคำสาป สมาชิกบางคนได้รับการบอกกล่าวว่า ถ้าหากผิดคำสาบาน จะไม่ได้ไปสวรรค์ บางคนก็ถูกขู่สังหาร ข้อมูลการสอบปากคำของอับดุลเลาะ อาโก๊ะ, วันที่ 22 และ 24 กรกฎาคม 2547 อดินัน ซาริเดห์, 3 มิถุนายน 2547, มาหมุด ฮิมบู, สิงหาคม 2547, รอซาลี ซานาเต๊ะ, สิงหาคม 2547, อาเซ้ง ปูโย (ไม่ทราบวัน), มาโรกิ สะ (ไม่ทราบวัน) และยะกาเรีย อาลี (ไม่ทราบวัน) ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลจากทั้งสมาชิกที่ถูกจับกุมและยอมมอบตัว ทหารต้องขอให้อิหม่าม ซึ่งผู้คนในพื้นที่ให้ความเคารพทำพิธีแก้เคล็ด อิหม่ามเอาคัมภีร์อัลกุระอ่านไว้เหนือศรีษะ และประกาศให้คำสาบานเป็นโมฆะ ไครซิส กรุ๊ปได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหารและข่าวกรองระดับสูง ที่ปัตตานี และยะลา เดือนเมษายน 2548

(13) ในการสอบปากคำอับดุลเลาะ อาเกาะครั้งแรก เขาอ้างว่าพบกับอุสตาสโซะครั้งแรกเมื่อปี 2544 แต่ว่าบอกกับเจ้าหน้าที่ทหารที่สนิทกันทีหลังว่า ได้พบอุสตาสโซะเมื่อปี 2542 เขาพูดกับนักข่าวในภายหลังว่าพบกับอุสตาสโซะครั้งแรกในปี 2542 ข้อมูลจากการให้ปากคำของอับดุลเลาะ อาเกาะ เดือนกรกฎาคม 2547. ไครซิส กรุ๊ปยังได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหารเมื่อเดือนเมษายน 2548 สำนักข่าว Agence France-Presse สัมภาษณ์ อับดุลเลาะ อาเกาะ, อ้างแล้ว

(14) ข้อมูลจากการให้ปากคำของอับดุลเลาะ อาเกาะ เดือนกรกฎาคม 2547
(15) สำนักข่าว Agence France-Presse สัมภาษณ์อับดุลเลาะ อาเกาะ, อ้างแล้ว

(16) วัยรุ่น 4 คน คือ อิบโรเฮง มาสาแต, 17, จากยะลา และ ปรีชา มาเซะ, 19, อิสมาแอ มาหะ, 20, และ รอมมาดี ดิง, 21 จากปัตตานี เข้ามอบตัวหลังโจมตีสำนักงานฝ่ายปกครองท้องถิ่น สถานีตำรวจและค่ายทหารที่ กรงปีนัง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 พวกเขาให้การรับสารภาพระหว่างถูกทหารสอบปากคำว่า หลังจากทำละหมาดเย็นวันที่ 27 เมษายนแล้ว อุสตาสโซะให้พวกเขาดื่มน้ำมนต์และบอกว่าจะทำให้หายตัวได้ ตำรวจมองไม่เห็น. ไครซิส กรุ๊ปได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหาร และข้อมูลการสอบปากคำของอดินัน ซาริเดห์ 3 มิถุนายน 2547

(17) ข้อมูลการสอบปากคำของอดินัน ซาริเดห์

(18) "เบอริฮาด ดี ปัตตานี" คัมภีร์ที่พบบนศพของผู้เสียชีวิตคนหนึ่งที่ถูกสังหารในมัสยิดกรือเซะ ข้อความส่วนใหญ่เขียนในกลันตัน ช่วงเดือนสิงหาคม 2545 โดยอิสมาแอล จัฟฟาร์ หรือ เปาะซู ชาวกลันตันโดยกำเนิด และอับดุล วาฮัม อิหม่ามของโรงเรียนประจำสอนศาสนา ในยะลา

(19) ไครซิส กรุ๊ปได้ขอความอธิบายจากผู้รู้ด้านซาลาฟี ผู้ลงมือในเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายนหลายคนใส่ลูกประคำ ซึ่งมักใช้ในการสวดของพวกซูฟี ผู้ก่อเหตุที่รอดชีวิตจากสะบ้าย้อยอ้างว่า กลุ่มเดินทางแนวทาง "ลัทธิซูฟรี", มติชน, อ้างแล้ว

(20) หลายคนในกลุ่มบอกกับที่บ้านว่าจะไปปฏิบัติศาสนากิจเผยแพร่ศาสนา (ดะวะห์) ไครซิส กรุ๊ปได้สัมภาษณ์ครอบครัวของกลุ่มอาบาดันที่ถูกสังหารเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่ยะลาและสงขลาเมื่อเดือนธันวาคม 2547 และเมษายน 2548

(21) ชายกลุ่มนี้เดินไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้าน "มะกาแม" ซึ่งอยู่ใกล้มัสยิด มีชาวบ้านได้ยินคนในกลุ่มพูดกันว่า "จะกินอะไรสั่งได้เต็มที่ เรามีเวลากินแค่วันนี้ กินกันให้อิ่มเพราะพรุ่งนี้จะไม่ได้กินกันแล้ว" รายงานคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ เปิดเผยเมื่อ 24 เมษายน 2547

(22) ไครซิส กรุ๊ปได้สัมภาษณ์อิหม่ามนิเซ็ง ประจำมัสยิดกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เดือนธันวาคม 2547 อิหม่ามนิเซ็งบอกว่า อยู่ในมัสยิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน จนกกระทั่งประมาณ 6.00 น.ในวันที่ 28 เมษายน หลังจากนั้นก็ดูเหตุการณ์อยู่ด้านนอกมัสยิด

(23) รายงานคณะกรรมการอิสระไต่สวนกรณีกรือเซะ อ้างแล้ว

(24) ไครซิส กรุ๊ปได้สัมภาษณ์อิหม่านิเซ็ง อ้างแล้ว รายงานของคณะกรรมการไต่สวนอิสระซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งระบุว่า กลุ่มชายราว 30 คน ออกมาจากมัสยิด และแยกเป็น 2 กลุ่มได้เข้าโจมตีจุดตรวจกรือเซะจาก 2 ทาง, อ้างแล้ว

(25) ฝ่ายผู้ก่อเหตุใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 เอชเค 33 และปืนเอ็ม 79 พวกนี้ยิงใส่ชุดเจ้าหน้าที่เป็นระยะ และถูกโต้ตอบกลับ ทหารยิงปืนอาร์พีจี เอ็มสิบหก ห้าชุดและโยนระเบิดมือเข้าไปเก้าลูกและระเบิดก๊าซน้ำตาอีกหลายลูก นอกจากนี้ ยังใช้อาวุธสงครามอื่นๆ ด้วย รายงานของคณะกรรมการไต่สวนอิสระ อ้างแล้ว และจากรายงนที่ไม่ได้ตีพิมพ์ของคณะกรรมการหาข้อเท็จจริงของสภาทนายความ พฤษภาคม 2547

(26) รายงานของคณะกรรมการอิสระ, อ้างแล้ว
(27) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์อิหม่ามนิเซ็ง, อ้างแล้ว ข้อมูลจากผู้เห็นเหตุการณ์
(28) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์พันเอกของกองทัพภาค 4 ที่กรุงเทพ เมื่อเดือนเมษายน 2548 และรายงานของคณะกรรมการอิสระไต่สวนกรณีกรือเซะ อ้างแล้ว

(29) พลเอกพัลลภอ้างว่า ได้รับคำสั่งที่ขัดแย้งกันจากพลเอกชวลิต " ผมเจอแรงกดดันมาก เพราะได้รับคำสั่งสองหนต่อๆ กัน แต่ว่าคำสั่งหลังขัดกับคำสั่งแรก ตอนแรกท่านสั่งให้ล้อมมัสยิดไว้ แต่ตำสั่งที่สองบอกว่าให้จัดหาข้าวปลาอาหารให้คนพวกนี้" พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี "ผมผิดด้วยหรือ ที่ยึดกรือเซะ" สำนักพิมพ์กู้ดมอร์นิ่ง ปี 2547 หน้า 33; "Southern Command: Pallop moved for insubordination", The Nation, 30 เมษายน 2547

(30) คณะกรรมการอิสระไต่สวนกรณีกรือเซะ, อ้างแล้ว

(31) อาวุธที่พบในที่เกิดเหตุ คือ ปืนเอชเค 33 จำนวน 3 กระบอก เอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก เอ็ม 79 จำนวน 1 กระบอก มีดสปาต้าจำนวน 8 เล่ม มีดเดินป่า 3 เล่ม และมีดพร้า 1 เล่ม, อ้างแล้ว

(32) มีการประชุมกันราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เพื่อกำหนดเป้าหมาย 11 แห่ง ตอน เย็นวันที่ 20 เมษายน 2547 บุคคลระดับแกนนำของอาบาแด 20 คน รวมทั้ง อุสตาสโซะ สาการียา ยูโซ๊ะ มานะ มะดีเยาะ ฮามะ สา และ สะมะแอ ลาเตะ อับดุลรอฮะ หามะ อัสมี สาหลำ หรือ ไซมี เฟาซี สาหลำ นิเลาะห์ โต๊ะนิได้ประชุมวางแผนเตรียมการโจมตีที่บ้านของฮามะ สาและ ที่อำเภอโคกโพธิ์ ได้มีการกำหนดจุดโจมตีต่างๆ และได้มีการปลุกเสกอาวุธด้วย, อ้างแล้ว

(33) เหตุเกิดในตำบลม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลานและตำบลยุโป อำเภอเมือง (ปัตตานี) บ้านเนียงในอำเภอยะหา (ยะลา) สะบ้าย้อย (สงขลา) กรือเซะ (ปัตตานี) กรงปีนัง (ยะลา) บ้านบาเจาะ อำเภอบันนังสตา (ยะลา) ค่ายทหารในอำเภอเมือง (ยะลา) ค่ายตำรวจตระเวนชายแดนที่บันนังสตา (ยะลา) จุดตรวจโมแก่ง ในอำเภอหนองจิก (ปัตตานี) และสถานีตำรวจอำเภอแม่ลาน (ปัตตานี) ไครซิส กรุ๊ปได้สัมภาษณ์ตำรวจและชาวบ้าน ธันวาคม 2547

(34) ตำรวจรายงานว่าผู้ก่อเหตุที่สะบ้าย้อยมีอาวุธปืนพก ดู " Dead and alive", The Nation, 1 พฤษภาคม 2547 เด็กชายและชายฉกรรจ์ 15 จากทั้งหมด 19 คนที่เสียชีวิตที่สงขลาถูกยิงจากข้างหลังหรือจ่อยิงที่ศรีษะ ผู้เห็นเหตุการณ์จำนวนหนึ่งอ้างว่า ผู้ก่อเหตุหลายคนไม่มีอาวุธกำลังวิ่งหนีตำรวจตอนที่ถูกยิง ขณะที่บางคนหนีเข้าไปหลบในร้านอาหารและถูกยิงทิ้งที่นั่น ไม่มีตำรวจถูกยิงบาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่สะบ้าย้อย

ถ้าหากว่าเด็ดชายและชายฉกรรจ์เหล่านี้มีปืนพกจริง ก็น่าจะเอามาใช้ต่อสู้เจ้าหน้าที่ พ่อของเด็กที่เสียชีวิตคนหนึ่งบอกว่า ได้ขอให้ตำรวจเอาอาวุธที่อ้างว่าลูกของเขาพกมาให้ดู แต่ตำรวจปฏิเสธ. ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์พ่อแม่ผู้เสียชีวิต สงขลา เมษายน 2548

(35) สัมภาษณ์ผู้เห็นเหตุการณ์บุกจุดตรวจ นปพ. บ้านเนียง, "The New Face of Militancy in the South", The Nation, 19 พฤษภาคม 2547
(36) "Police scour schools for militants", The Nation, 2 พฤษภาคม 2547
(37) รายงานคณะกรรมการอิสระไต่สวนกรณีกรือเซะ อ้างแล้ว
(38) มติชน อ้างแล้ว

(39) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์พ่อแม่ของผู้เสียชีวิต ที่หมู่บ้านซูโซะ สงขลา เดือนเมษายน 2548; องค์การนิรโทษกรรมสากล, "Thailand Memorandum on Human Rights Concerns", 27 ตุลาคม 2547 ดูได้จาก http://web.amnesty.org/library/Index/ENGASA390132004?open&of=ENG-THA

(40) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 พลตำรวจตรีธานี ทวิชศรี ทางโทรศัพท์ เดือนมกราคม 2548; "Dead and alive", The Nation, 1 พฤษภาคม 2547

(41) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่หทารและข่าวกรอง จังหวัดยะลา และปัตตานี เดือนเมษายน 2548
(42) อ้างแล้ว

(43) นอกจากใช้อิสลามเป็นเครื่องมือในการสร้างความขวัญกำลังใจแล้ว ยังมีการใช้เวทย์มนตร์คาถาในเหตุกบฏครั้งนั้นด้วย "นักรบ"ในกบฏดุซงยออาบน้ำมันที่ปลุกเสกให้อยู่ยงคงกระพัน และผูกผ้ายันต์. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้นำศาสนาโดยกลุ่มฟอรัมเอเซีย

(44) "Time to acknowledge that 'jihadism' is at work in South", The Nation, 15 พฤษภาคม 2547

(45) "Malaysian riot suspect in southern Thailand arrested", 12 สิงหาคม สำนักข่าวเวียดนาม; "Malaysia 'unaware of arrest"', The Nation, 14 สิงหาคม 2547 พ.ต.ท. ทักษิณประกาศเมื่อปลายเดือนมกราคม 2548 ว่าเจ้าหน้าที่มาเลเซียจับกุมเจ๊ะกุแม กูเต๊ะได้เมื่อวันที่ 5 มกราคม กูเต๊ะถือสัญชาติมาเลเซียและถูกควบคุมตัวตามกฎหมายความมั่นคงภายใน แต่มาเลซียไม่ยอมส่งตัวให้ไทยตามคำขอร้องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน "Extradition Request: Malaysia may keep Jehku Mae", The Nation, 28 มกราคม 2548

(46) Davis, " Southern Thai insurgency", อ้างแล้ว ตามข้อมูลแหล่งข่าวด้านข่าวกรองทหาร สมาชิกอีกสามคนของกลุ่มอะบาแด คือ อัสมิ "ไซมี" สาลาม ฟอซี ซาลาม และนิเลาะ โตนี จากอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเข้ามอบตัวกับกองทัพภาคที่สี่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 ก็สารภาพด้วยว่าเป็นสมาชิก BRN. ไครซิส กรุ๊ปได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทหารทางโทรศัพท์ เดือนพฤษภาคม 2548

(47) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์ ที่กรุงเทพและปัตตานี เมื่อเดือนเมษายน 2548 เอกสารที่ยึดได้จากบ้านของมะแซ อุเซ็ง ผู้นำ BRN เมื่อปี 2546 เปิดเผยแผนการที่จะแทรกซึมตาฏีกา Davis, "School system forms the frontline", อ้างแล้ว

(48) เหตุโจมตีในวันที่ 28 เมษายน 2547 เกิดขึ้นหลายจุดพร้อมกัน ทั้งในปัตตานี ยะลาและสงขลา ตั้งแต่อดีต BRN มักจะลงมือก่อเหตุในนราธิวาส

(49) ข้อมูลจากการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยหลายคนที่ไครซิส กรุ๊ปได้เห็น ไครศิสกรุ๊ปยังได้สัมภาษณ์สมาชิกเปอมูดา ไครซิส กรุ๊ปได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ข่าวกรอง เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจด้วย

(50) อ้างแล้ว

(51) ที่ตัวเลขประเมินแตกต่างกันมากเนื่องจากมีข้อมูลที่แท้จริงน้อยมาก เกี่ยวกับขบวนการวัยรุ่น ตัวเลข 30,000 มาจากเอกสารที่ยึดได้จากบ้านมะแซ อุเซ็ง ผู้นำ BRN แต่ว่า เป็นไปได้ว่าตัวเลขนี้สูงเกินจริง เมื่อเทียบับพูโลแล้ว พูโลอ้างว่ามีนักรบ 20,000 คนในช่วงทศวรรษ 1980 แต่ว่าตัวเลขจริงน่าจะอยู่ในราว 500 คนเท่านั้น ดู Yegar อ้างแล้ว หน้า 147 นักวิเคราะห์ Anthony Davis ประเมินว่าสมาชิกเบอร์มูดาน่าจะอยู่ระหว่าง 3,000-10,000 คน "Southern Thai insurgency", อ้างแล้ว

(52) หน่วยงานด้านข่าวกรองเชื่อว่า BRN เริ่มก่อตั้งขบวนการยุวชนในปี 2535 เนื่องจากได้ข้อมูลจากเอกสารที่ยึดได้จากบ้านมะแซ อุเซ็งในปี 2547 ชิดชนก ราฮิมมูลาอ้างงว่า กลุ่มยุวชนน่าจะได้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างก่อนหน้านั้น ในปี 2529 ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์ชิดชนก ราฮิมมูลา ปัตตานี เมษายน 2548

(53) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์ตำรวจ ทหาร และนักวิเคราะห์เอกชน ปัตตานีและยะลา ธันวาคม 2547 และเมษายน 2548
(54) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปัตตานี ธันวาคม 2547

(55) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ข่าวกรอง และผู้รู้เรื่องวิกฤตการณ์ภาคใต้ ชิดชนก ราฮิมมูลา และสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มยุวชน ข้อมูลจากการให้ปากคำของอดินัน ซาริเดห์ และอับดุลเลาะห์ อาโก๊ะ

(56) ยกตัวอย่างเช่น อับดุลเลาะห์ อาโก๊ะ ไม่เคยยิงปืนมาก่อนในชีวิต ก่อนหน้าจะยิงทหารตายตามที่อุสตาสโซะสั่งในปี 2547 ถึงแม้ว่าจะเข้าเป็นสมาชิกขบวนการมา 3-5 ปีแล้วก็ตาม การสอบปากคำอับดุลเลาะ อาโก๊ะ 25 กรฎาคม 2547 อย่างไรก็ดี มีการให้ปากคำว่ามี หน่วย "คอมมานโด" ซึ่งผ่านการฝึกอาวุธขั้นสูงและมีสมาชิกระหว่าง 50-200 คนในขบวนการด้วย. ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทหารและพลเรือน เมษายน 2548; Davis, "Southern Thai insurgency", อ้างแล้ว

(57) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทหารและพลเรือน ปัตตานี และยะลา เมษายน 2548
(58) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษ์เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทหาร ยะลา เมษายน 2548

(59) นอกจากนี้ ยังมีการให้ข้อมูลว่ามีครูโรงเรียนธรรมวิทยาอีกคน อุสตาส โรยาลี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายหาสมาชิกและชักชวนให้คนเปลี่ยนมานับถืออิสลาม ถ้าหากว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน อับดุลเลาะ อาโก๊ะจะได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการฝึกสมรรถนะร่างกายให้แข็งแกร่ง ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกหนึ่งปี หลังจากนั้นสมาชิกคนนั้นจะก้าวเข้าไปฝึกอาวุธกับอุสตาสโซะ ปากคำของอับดุลเลาะ อาโก๊ะ 24 กรกฎาคม 2547

(60) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทหาร
(61) ดูเชิงอรรถที่ 169
(62) "คำแถลงจากทักษิณ - ชัยสิทธิ์ กรณีปฏิบัติการณ์เด็ดชีพ 104 ศพ" มติชน 29 เมษายน 2547

(63) Joseph Liow, " Bangkok's southern discomfort: violence and response in Southern Thailand", Institeu for Defence and Strategic Studies Commentary, 14/2004 หน้า 2; "รัฐบาลนายกรัฐมนตรี พตท. ทักษิณ ชินวัตร ประกาศชัยชนะหลังสังหารกลุ่มบุคคลที่เชื่อว่าอยู่เบื้องหลังเหตุวุ่นวายในภาคใต้ในช่วงไม่กี่เดือน .... การประกาศชัยชนะทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าแน่ชัดว่าผู้ที่เสียชีวิตเป็นใครบ้าง บุคคลสำคัญในรัฐบาลเรียกผู้เสียชีวิตว่า เป็นคนติดยาบ้าง เป็นโจรแบ่งแยกดินแดนบ้าง เป็นคนโง่บ้าง" ศุภลักษณ์และดอน, อ้างแล้ว หน้า 96-97

(64) ทักษิณบอกคนที่วิจารณ์ว่า " ให้คิดถึงประเทศชาติบ้าง ตอนนี้มีต่างชาติกำลังพยายามเข้าแทรกแซง ปล่อยเรื่องนี้ไว้เป็นหน้าที่ผมดีกว่า... อย่าเชื้อเชิญศัตรูเข้าบ้าน" "นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เหตุการณ์รุนแรงมากเกินจะควบคุมได้ และถ้าไม่ตอบโต้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดคงต้องเสียชีวิต" ไทยรัฐ 2 พ.ค. 2547 " Thaksin tells the world to back off" The Nation, 2 พ.ค.2547.

(65) องค์การนิรโทษกรรมสากล, " บันทึกความจำเรื่องข้อห่วงใยกรณีปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย" , 27 ต.ค. 2547 ดูได้ที่ http://web.amnesty.org/library/index/ENGASA390132004?open&of=ENG-THA

(66) คณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เผยแพร่รายงานฉบับที่เกือบสมบูรณ์ 39 หน้า เมื่อ 24 เมษายน 2548 แต่มีการขีดฆ่าชื่อบางชื่อและรูปบางรูปออก

(67) มีคนจำนวนน้อยในคณะกรรมการไม่พอใจ กลุ่มนี้นำโดยภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ ซึ่งรู้สึกว่าไม่ควรจะสรุปประเด็นว่า มีการใช้กำลังเกินไปหรือไม่ ดูเรื่องคณะกรรมการอิสสระไต่สวนข้อเท็จจริง, อ้างแล้ว

(68) รายงานยังระบุชื่อบุคคลอีก 8 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีนี้ โดยไม่ได้ตำหนิบุคคลเหล่านี้โดยตรงว่ามีส่วนในการทำให้เกิดการเสียชีวิตแต่อย่างใด ชื่อเหล่านี้คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี, นายเสนอ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, ไตรรัตน์ จงจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, พล.ต.ท.ปรุง บุญผดุง ผ.บ.กองกำกับการตร.ภูธรภาค 9, พล.ต.ต.ธานี ทวิชศรี รองผบ.กก.ตร.ภ. 9, พล.ต.ต.ไพฑูรย์ พัฒนโสภณ รองผบ.ตร.ภูธรปัตตานี, พตอ.โพธ สวยสุวรรณ ผกก.สถานีตำรวจภูธรปัตตานี, พอ.มนัส คงแป้น ผบ.หน่วยเฉพาะกิจ จังหวัดปัตตานี, นิพนธ์ นราพิทักษ์กุล นายอำเภอเมือง ปัตตานี

(69) จากการสัมภาษณ์ของ จนท. ไครซิสกรุ๊ปกับพ่อแม่ของเด็กที่ถูก จนท.ตร. ยิงเสียชีวิตที่สะบ้าย้อย สงขลา เดือนเมษายน 2548

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ขณะที่อีกด้าน บรรดาเพื่อนบ้านของไทยต่างก็กังวลว่า ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นอาจจะชักนำให้เกิดการสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งในศาสนาอิสลาม หรือไม่ก็ดึงเอากลุ่มนักรบศาสนาอย่างเช่นกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม ในด้านตัวปฏิบัติการเองก็มีความสลับซับซ้อนและมีอาการของการประสานงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เนทเข้าช่วย และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ซึ่งมีระบอบประชาธิปไตย และที่ซึ่งมีการใช้แนวทางแก้ปัญหาอย่างแข็งกร้าว

23-02-2550

Southern Thailand
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com