การประท้วงที่ตากใบ
และคำอธิบายเรื่องความรุนแรงที่ขยายตัวในปี
๒๕๔๗
รายงานฝรั่ง:
ปัญหาภาคใต้ไทยไม่ใช่สงครามศาสนา (๕)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจาก
Crisis Group
รายงานภาคพื้นเอเชียฉบับที่ 98 เผยแพร่วันที่
18 เมษายน 2548
บทความวิชาการขนาดยาวนี้
เดิมชื่อ
ปัญหาภาคใต้ของไทย:
การลุกฮือไม่ใช่สงครามศาสนา
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะนำเสนอเป็นตอนๆ
เพื่อให้นักศึกษาและสมาชิกเข้าใจสถานการณ์ภาคใต้โดยลำดับ
และเห็นถึงปัญหาอันซับซ้อนของพี่น้องมุสลิม รวมถึงการแก้ไขของทางการอย่างไม่ถูกจุด
ในบทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับกรณี ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ คือ การประท้วงที่ตากใบ
ซึ่งเป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิตถึง ๗๘ ราย ระหว่างการขนย้ายผู้ประท้วงไปยังค่ายอิงคยุทธฯ
ปัตตานี
และคำอธิบายสำหรับความรุนแรงที่ขยายตัวในช่วงปี ๒๕๔๙ เอาไว้อย่างน่าสนใจ ๔ ประเด็น
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๖๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๓๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายงานภาคพื้นเอเชียฉบับที่
98 / 18 เมษายน 2548
ปัญหาภาคใต้ของไทย: การลุกฮือไม่ใช่สงครามศาสนา
Crisis Group Asia Report
กรณี 25
ตุลาคม 2547
A. การประท้วงที่ตากใบ
เช้าตรู่ว่าที่ 25 ตุลาคม 2547 ในระหว่างเดือนถือศีลอด ชาวบ้านไปรวมตัวกันหน้าสถานีตำรวจอำเภอตากใบในนราธิวาส
ไม่ไกลจากชายแดนมาเลเซีย ในช่วงเวลา 10.00 น. มีคนประมาณ 1,500 (1) พวกเขาไปประท้วงการจับกุมคุมขังอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน
6 รายที่ให้อาวุธของตนไปกับฝ่ายก่อความรุนแรง (2) หลังจากนั้นมีข้อมูลระบุว่า
หลายคนในกลุ่มนี้ไปร่วมเพราะมีคนบอกให้ไป โดยที่ไม่รู้เรื่องการจับกุมแต่อย่างใด
แหล่งข่าวในกองทัพเปิดเผยว่า อาสาสมัครที่ถูกจับนั้น ตอนแรกอ้างว่ามีคนบุกเข้าไปในบ้านในตากใบเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พร้อมทั้งโขมยปืนไป แต่พอถูกสอบหนักเข้า พวกเขายอมรับว่าได้มอบอาวุธให้กลุ่มก่อความรุนแรง แต่อ้างว่าเพราะถูกข่มขู่ (3) พวกเขาอ้างว่า ถ้าบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจแบบนี้ตำรวจจะไม่เชื่อ เจ้าหน้าที่จับกุมพวกเขาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ในฐานะให้การเท็จ ร่วมมือกันกระทำความผิดและยักยอกทรัพย์สินรัฐ (4)
ส่วนผู้ประท้วงที่ตากใบอ้างว่า คนเหล่านั้นบริสุทธิ์และถูกควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้พวกเขายังหวาดกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาก็ได้ และยังมีกรณีคนสูญหายซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ในระหว่างที่มีการทำสงครามต่อต้านยาเสพติด รวมทั้งภายใต้บรรยากาศของความสงสัยไม่ไว้ใจ และหวาดกลัวที่เป็นอยู่ในจังหวัดภาคใต้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ไปประท้วงที่สถานีตำรวจวันนั้น
ไปเพื่อคัดค้านเรื่อง ชรบ. ทั้ง 6 คนทั้งหมด บางคนไปเพราะเพื่อนชวนไป บ้างก็มีอิหม่ามหรือผู้ใหญ่บ้านชวนไป
และด้วยเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย เช่นไปฟังจุฬาราชมนตรีที่จะไปพูดเรื่องเกี่ยวกับอิสลาม
ไปเพื่อเตรียมยุติการถือศีลอดวันนั้น หรือไปร่วมละหมาดรวมหมู่ให้กับคนที่ถูกจับ
หรือไปเพื่อต้อนรับนายกรัฐมนตรีที่จะไปแจกเงิน และไปเพื่อประท้วง (5) อีกหลายคนเป็นแค่คนผ่านทางที่อยากรู้อยากเห็น
(หลายคนไปชายแดนเพื่อไปจับจ่ายซื้อของ เตรียมการฉลอง Eid ul Fitr หลังการอดอาหาร)
และติดร่างแหเข้าไปด้วย (6)
ประมาณ 11 น. ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งพยายามเข้าไปในสถานีตำรวจ แต่ถูกดันกลับออกมาเพราะทหารยิงเตือน
รองผู้อำนวยการ กอ.สสส.จชต.หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายศิวะ แสงมณี กับพล.ท. พิศาล วัฒนวงศ์คีรี แม่ทัพภาค 4 รวมทั้ง พล.ตท.มาโนช
ไกรวงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เดินทางไปประเมินสถานการณ์ พวกเขาประชุมกันเป็นเวลาสิบนาที.
นายศิวะ แสงมณีไปพูดกับผู้ประท้วงขอให้สลายตัว และสัญญาจะจัดการเรื่องการประกันตัวให้กับคนทั้ง
6 กลุ่มผู้ประท้วงยังยืนยันให้ปล่อยตัวและไม่ยอมสลายการชุมนุม (7)
ช่วงกลางวัน กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงทำละหมาดแต่ไม่ยอมออกจากที่ชุมนุม (8) ประมาณ 14.15 น. พล.ท.พิศาล ออกมาจากสถานีตำรวจสั่งให้ฝูงชนสลายตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจนำครอบครัวของผู้ถูกจับกุม 6 คนไปพูดจากับกลุ่มผู้ประท้วง หลังจากนั้นมีประธานคณะกรรมการกลางอิสลามของนราธิวาสไปร่วมขอร้องด้วย รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังไม่ยอมสลายตัว (9)
ด้านผู้ประท้วงที่ไครซิสกรุ๊ปได้สัมภาษณ์บอกว่า ถึงแม้พวกเขาจะอยากออกจากที่ชุมนุม แต่ออกไม่ได้ถูกปิดกั้นหมด รถบันทุกและรถถังของทหารปิดทางออกแต่ละด้านของถนน ด้านหลังเป็นแม่น้ำ บางคนยังอ้างขนาดว่า ทหารและกลุ่มผู้จัดให้มีการชุมนุมนั่นเองที่ไม่ยอมให้พวกเขาออกจากที่ชุมนุม (10)
ประมาณ 15.00 น. ว่ากันว่าผู้ชุมนุมบางคนพยายามทะลวงออกจากการปิดกั้นของตำรวจ ช่วงนั้นเอง พล.ท.พิศาล ก็สั่งให้ใช้กำลังเพื่อเข้าสลายการชุมนุม รถดับเพลิงเคลื่อนเข้าไปและหลังจากนั้นอีกครึ่งชั่วโมง ก็มีการใช้แกสน้ำตาและน้ำฉีดใส่ผู้ประท้วงเพื่อให้สลายตัว ทำให้ผู้ประท้วงบางรายขว้างปาก้อนหิน อิฐและขวดเข้าใส่ทหารและตำรวจ (11) คนจำนวนหนึ่งวิ่งไปที่แม่น้ำเพื่อไปล้างหน้าเพราะเจอแกสน้ำตา จนถึงขณะนั้นนับได้ว่ากำลังรักษาความมั่นคงยังมีโอกาสที่จะใช้วิธีการที่ไม่รุนแรงเข้าจัดการฝูงชนขนาดใหญ่ ที่ชุมนุมกันอย่างไร้การควบคุมนั้นได้ แต่ว่าหลังจากที่ฉีดน้ำและยิงแก๊สน้ำตาแล้ว ห้านาทีถัดมาก็เริ่มมีการยิงขึ้น (12)
ทหารส่วนใหญ่แค่ยิงขู่เท่านั้น แต่จากปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์ จากทิศทางที่เห็นได้จากบาดแผลจากกระสุนปืน และรูที่เกิดจากกระสุนปืนตามเสาคอนกรีตใกล้เคียงที่เห็นได้ชัดว่ามีระดับหน้าอก แสดงว่าบางคนยิงเข้าใส่ฝูงชนตรงๆ และอย่างเจตนา. นสพ.เดอะเนชั่น ตีพิมพ์ภาพบนหน้าหนึ่งในวันถัดมาเป็นรูปทหารคนหนึ่งถือปืนเล็งเป้าระดับแนวราบ มีลูกกระสุนปะทุออกจากกระบอกปืน มีผู้ประท้วง 7 คนรวม, ทั้งเด็กอายุ 14 ปีคนหนึ่งเสียชีวิต มีอีก 2 คนที่ถูกยิงแต่ไม่ตาย (13) เจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะถูกยิงเข้าที่ปอด (14) แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่อยู่ในพื้นที่อ้างว่าไม่ได้มีการสั่งยิงแต่อย่างใด (15)
ทหารสั่งให้บรรดาผู้ประท้วงนอนคว่ำหน้ากับพื้นแต่ยอมให้ผู้หญิงและเด็กออกไปได้ จากนั้นทหารสั่งให้ผู้ชายและวัยรุ่นให้ถอดเสื้อ เข็มขัด เอาข้าวของออกจากกระเป๋า แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้มัดมือพวกเขาไขว้หลัง (16) มีผู้ชายและวัยรุ่นราว 1,300 คนที่ถูกนำตัวขึ้นรถบันทุกทหารเพื่อจะนำไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ที่อยู่ในปัตตานี เพื่อทำการสอบสวนปากคำ (17) หลายคนถูกทหารทุบตีด้วยกระบองและพานท้ายปืนในระหว่างที่นอนรอ ทหารให้พวกเขานอนซ้อนกัน ในรถบางคันสูงถึงห้าหรือหกชั้น (18) รถที่ใช้ในการลำเลียงคน 1,300 คนนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น 28 คัน (19)
การเดินทางจากตากใบไปปัตตานีที่เป็นระยะทาง 150 กิโลเมตรนั้น ปกติใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงยี่สิบนาที แต่วันนั้นกว่าที่รถบรรทุกจะออกเดินทางก็ใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังหยุดเป็นระยะๆ ด้วยทำให้การเดินทางใช้เวลาเกือบห้าชั่วโมง (20) ผู้ประท้วงโดยเฉพาะที่นอนอยู่ชั้นล่างๆบอกว่า ในระหว่างเดินทางพวกเขาหายใจแทบไม่ได้ ทหารเองก็ไม่ยอมให้คนที่อยู่ในรถขยับตัวหรือส่งเสียง ถ้าร้องหรือยกหัวขึ้นจะถูกตีด้วยพานท้ายปืน (21) ในช่วงนั้นหลายคนอาเจียร บ้างก็อุจจาระและปัสสาวะ (22)
รถบันทุกออกจากตากใบประมาณ 16.00 น. เมื่อรถคันแรกไปถึงค่ายอิงคยุทธฯตอนหกโมงเย็น มีคนในรถที่สิ้นใจแล้วหนึ่งคน เพราะหายใจไม่ออก หมอในค่ายรายงานเรื่องนี้แต่ไม่ได้มีการสื่อสารปัญหาดังกล่าวถึงคนขับรถคันอื่นๆ เพื่อจะได้ปรับหรือจัดการการขนย้ายใหม่ (23) รถคันสุดท้ายออกจากตากใบเวลาประมาณ 20.00 น.หรือ 20.30 น. ถึงค่ายหลังตีสอง ถึงตอนนั้นมีคนในรถคันนี้ตายแล้ว 23 ราย (24)
หลังจากที่รถทุกคันถึงที่หมายคือค่ายอิงคยุทธฯ มีคนตาย 78 ราย ส่วนใหญ่จากการขาดอากาศหายใจ (25) อีกจำนวนหนึ่งมีอาการเจ็บป่วยต่างๆกันไป และแขนขาหักหรือหลุด ทหารเอาคนตายออกไปอย่างรวดเร็ว และส่งคนเจ็บหนักสิบเจ็ดคนจากโรงพยาบาลสนามในค่าย (ซึ่งมีหมอแค่หนึ่งคนและพยาบาลเจ็ด) ไปยังโรงพยาบาลปัตตานี ตอนเข้ามืดของวันที่ 26 ตุลาคม (26) ในวันเดียวกันยังส่งคนเข้าโรงพยาบาลอีก 12 คนและวันรุ่งขึ้นอีก 8 คน (27)
ที่ค่ายอิงคยุทธฯ ทหารสอบปากคำผู้ประท้วงและเก็บตัวอย่างปัสสาวะก่อนจะให้อาหารและน้ำ (28) คนส่วนใหญ่ (1,172 คน) ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 และ 31 ตุลาคม 2547 (29) แต่อีก 58 คนเจอข้อหาครอบครองอาวุธโดยไม่ได้รับอนุญาต กดดันเจ้าหน้าที่ด้วยกำลังและอาวุธให้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตาม ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ชุมนุมกันเกินสิบคนขึ้นไป สร้างความวุ่นวาย แต่ทั้งหมดนี้ก็ได้รับการประกันตัวไปเมื่อ 12 พย. (30) คนที่ถูกตั้งข้อหาทั้งหมดมาจากอำเภอตากใบ (31)
B. คำอธิบาย
มีหลายเงื่อนไขที่บ่งชี้ว่าการชุมนุมประท้วงนี้เป็นสิ่งที่มีคนจัดการให้เกิดขึ้น
ไม่ใช่เรื่องของการรวมตัวอันเนื่องจากปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เกิดเฉพาะหน้า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้คือ
ขนาดของการชุมนุมที่มีคนมาจากหลายๆ อำเภอในนราธิวาส บางคนมาจากจังหวัดอื่นก็มี
และเดินทางด้วยรถและรถปิ๊คอัพ (32) ตำรวจในพื้นที่เองนั้นพอรู้อยู่บ้างว่าวันนั้นจะมีเหตุการณ์บางอย่าง
แต่ไม่รู้สถานที่ที่แน่นอน จนกระทั่งผู้คนเริ่มทะยอยไปถึงในตอนเช้า แต่กำลังตำรวจและทหารที่จะสนับสนุนอยู่แค่ในขั้นเตรียมพร้อม
(33)
การเลือกสถานที่ชุมนุมดูเหมือนจะผ่านการพิจารณาถี่ถ้วน คือเป็นที่ว่างเล็กๆ ด้านหน้าสถานีตำรวจ มีกำแพงสามด้านอีกด้านติดแม่น้ำและมีประตูเล็กๆ ทางด้านหน้าด้านเดียว ทำให้ยากที่จะออกจากสถานที่ได้เมื่อมีคนเต็มแล้ว และท้ายสุด จากวิดีโอที่เก็บภาพการประท้วงจะเห็นผู้ชายประมาณ 20-30 คนที่ใช้เสื้อหรือไม่ก็ผ้าพันหัวเอาไว้ในลักษณะ kafiya (พันรอบหัวปลายผูกข้างหลัง) คนเหล่านี้ส่งสัญญาณให้กันและกันในท่ามกลางฝูงชน เพื่อจะช่วยกันคุมความเคลื่อนไหว (34) ตำรวจเข้าไปหาคนเหล่านี้หลายคนแต่พวกเขาไม่ยอมเจรจา และมีเค้าว่าคนเหล่านี้พยายามกระตุ้นไม่ให้คนออกจากที่ชุมนุมด้วย (35)
ใครเป็นคนจัดให้มีการชุมนุมและเพื่ออะไรยังคงเป็นคำถามอยู่ (36) คนจัดชุมนุมไม่ได้ปรึกษาหารือกับคอรบครัวของคนที่ถูกจับ และการต่อต้านเรื่องการจับกุมดูจะเป็นแค่ข้ออ้าง กรณีนี้ก็เหมือนกับกรณีการประท้วงที่ปัตตานี เมื่อปี 2518 ซึ่งตอนนั้นการเสียชีวิตของคน 5 คนใต้เงื้อมมือของกองกำลังรักษาความมั่นคง กลายเป็นจุดที่ถูกนำไปใช้ต่อ จึงมีความเป็นไปได้ที่การชุมนุมประท้วงหนนี้อาจเป็นผลของการจัดการของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่หวังจะกระตุ้นให้มีการปราบปรามเพื่อจะทำให้รัฐบาลเสียหน้า พร้อมกับดึงความสนใจจากนานาชาติด้วย (37)
กลุ่มที่ต่อสู้ได้ใช้ความโกรธแค้นที่เกิดขึ้นเพราะมีคนตาย อันเนื่องจากการที่รัฐบาลจัดการสถานการณ์ได้ไม่รอบคอบพอ เพื่อไปเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน หลังจากเกิดเรื่องการลอบสังหารและการวางระเบิดก็มีถี่ขึ้น พลเรือนที่เป็นพุทธจำนวนมากถูกฆ่า ในเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะเป็นการแก้แค้น ในบางกรณี คนลงมือทิ้งข้อความไว้ข้างศพอ้างว่า ที่ทำเพื่อจะตอบโต้การที่มีคนถูกฆ่าตายที่ตากใบ อย่างเช่นมีกลุ่มก่อเหตุรุนแรงฆ่าตัดหัวผู้ใหญ่บ้านรายหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 พย. 2547 และทิ้งข้อความไว้ว่า "เพื่อผู้บริสุทธิ์ที่ตากใบ" (38) ในยะลา, มีการแจกใบปลิวเตือนให้ชาวพุทธโยกย้ายออกจากพื้นที่สามจังหวัด (39)
การกระทำเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นความพยายามอย่างจงใจที่จะกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในชุมชน กลุ่มเลือดสยามที่เป็นพวกปีกขวาออกมาประกาศว่า จะส่งอาสาสมัครไปภาคใต้ เพื่อแก้แค้นให้กับชาวพุทธทุกคนที่ถูกฆ่า แต่ไม่ปรากฏว่าลงมือจริง (40)
วันที่ 28 พย. 2547 ลูกเสือชาวบ้านรวมตัวกันที่กรุงเทพฯ เรียกร้องสันติสุขกลับคืนสู่จังหวัดภาคใต้ (41) ผู้ปราศรัยหลายคนย้อนความถึงการที่รัฐบาลชุดก่อนๆ เคยใช้ลูกเสือชาวบ้านช่วยจัดการการต่อต้านในนครปฐมเมื่อ 2516 และปราบปรามขบวนการนักศึกษาเมื่อปี 2519 และยังพูดถึงว่ากำลังมีการรวบรวมลูกเสือชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรวมพลังทำงานชาตินิยมเพื่อจะผลักดัน "ศัตรูที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน" ในพื้นที่เองมีลูกเสือชาวบ้านอยู่แล้วกว่า 70,000 คน (42)
C. ปฏิกิริยาของรัฐบาล
ปฏิกิริยาขั้นแรกของนายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ คือพูดทำนองว่า ความตายของคนที่ถูกขนย้ายในรถบันทุกนั้น
เป็นเพราะสาเหตุจากพวกเขาเองที่ถือศีลอดในช่วงเดือนรอมดอน " มันชัดเจนว่าร่างกายพวกนี้รับไม่ได้
ไม่ได้มีใครไปทำร้ายอะไร" (43)
น.อ.ไตรขวัญ ไกรฤกษ์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ กองพลนาวิกโยธิน นราธิวาสยังเสริมด้วยว่า " ถ้าเป็นคนปกติทั่วไป ไม่ได้อดอาหารหรือว่าใช้ยาอย่างที่คิดว่าหลายคนน่าจะใช้... ก็คงไม่ตาย" (44) กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เขาโต้ว่า "ไม่ได้ใช้มาตรการรุนแรงอะไร ผมใช้ถุงมือผ้า ถ้าผมใช้หมัดเหล็กพวกนี้คงตายหมดแล้ว" (45)
การแสดงออกที่ไม่ใส่ใจถึงความรู้สึกแบบนี้ทำให้มีเสียงประนามจากทั้งในและนอกประเทศ
ทำให้ 3 วันต่อมา พตท.ทักษิณกล่าวในการปราศรัยกับประชาชนผ่านทางโทรทัศน์ว่า "ทหารระดับล่าง"
ทำผิด และสั่งให้มีการสอบสวน. วันที่ 3 พย. พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี แม่ทัพภาค
4 ถูกย้าย, ส่วน น.อ.ไตรขวัญ ไกรฤกษ์ ผู้บัญชาการทหารเรือในนราธิวาสไม่ได้รับผลกระทบ
(46)
ครอบครัวผู้สูญเสียได้เงินช่วยเหลือรายละ 10,000 บาท (250 ดอลลาร์) แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารรายใดถูกลงโทษ
(47) สิ่งที่เปิดเผยต่อสาธารณะก็คือบทสรุปของรายงานของคณะกรรมการไต่สวนที่ออกมาเมื่อ
พย. 2547 ซึ่งต่อมาคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติได้นำมาเปิดเผย เป็นรายงานที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นฉบับสมบูรณ์เมื่อ
24 เมษายน 2548 (48) แต่รัฐบาลไม่ยอมให้ฟิลลิป อัลสตัน ซึ่งเป็นผู้รายงานพิเศษเรื่องวิสามัญฆาตกรรมให้กับข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน
เข้าไปไต่สวนเรื่องการเสียชีวิตดังกล่าว
วันที่ 6 มีนาคม 2548 พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4, พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาค 4, พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผบ.กองพลทหารราบที่ 5 ที่รับผิดชอบในเรื่องของการขนย้ายคน ถูกโยกย้ายจากงานในหน้าที่ เพราะผลไต่สวนพบว่ามีความผิดฐานเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ เป็นผลให้คนตาย 78 คน (49) ทั้ง 3 ทำงานด้านเป็นที่ปรึกษา แต่ว่าสามารถจะเข้ารับหน้าที่ในงานด้านการบัญชาการได้อีก และจะไม่ถูกลงโทษหรือเจอมาตรการด้านวินัยใดๆ (50)
คำอธิบายสำหรับความรุนแรงที่ขยายตัวในช่วงปี
2547
มีคำอธิบายหลายอย่างว่า ทำไมเหตุการณ์รุนแรงถึงได้ขยายตัวในช่วงนี้ และต่างก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น
เหตุผล 2 ประการที่สำคัญที่สุด อันหนึ่งคือการยุบหน่วยงานสำคัญของรัฐบาล และการที่สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเลวร้ายลง
ทำให้ผู้คนหมดความเชื่อมั่นในระบบกฏหมาย. อีก ด้านหนึ่งคือ ความไม่พอใจและความหวาดกลัวที่เกิดเนื่องมาจากการจับกุมตามอำเภอใจ
รวมทั้งการที่ตำรวจทรมานผู้ต้องสงสัย แถมด้วยความล้มเหลวของรัฐบาลในอันที่จะให้ความเป็นธรรมต่อผู้เคราะห์ร้ายและครอบครัวของพวกเขา
ปัญหานี้เข้าไปเป็นตัวเสริมและกระตุ้นความไม่พอใจอันเนื่องมาจากปัญหาในอดีตที่เคยมีอยู่แล้ว
ซึ่งเป็นฐานความรู้สึกที่ฝ่ายที่ต้องการสามารถจะจัดการหรือแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นความเห็นใจ
และแรงสนับสนุนกลุ่มก่อความรุนแรงได้
การขยายตัวของแนวทางความเชื่อในอิสลามแนวทางบริสุทธิ์แต่รุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนบอกว่าเป็นต้นตอของการที่ความรุนแรงขยายตัว แต่ถึงแม้จะชัดเจนว่าในภาคใต้ของไทย สำนึกของความเป็นมุสลิมจะมีมากขึ้นในช่วงราวยี่สิบปีที่ผ่านมา รวมทั้งเหตุการณ์ระหว่างประเทศในช่วงนี้ โดยเฉพาะการบุกอิรักและการส่งทหารไทยไปที่นั่น ที่ทำให้มุสลิมไม่พอใจ โดยปัจจัยนี้ได้ไปช่วยเพิ่มความรู้สึกว่า พวกตนเป็นเป้าหมายของการจัดการรวมทั้งเพิ่มความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมุสลิมที่อื่นๆ
แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่มองปัญหาภาคใต้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของมุสลิมในทางภาคใต้จะทำให้พวกเขาแปลกแยกมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็อึดอัดใจมากขึ้น แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นผลจากปัญหาภายในมากกว่า ท้ายสุด มีคำอธิบายอีกอันเรื่องว่า ทำไมความรุนแรงจึงขยายตัว ที่แม้จะไม่ใช่คำอธิบายที่เป็นไปได้มากนักแต่มักจะได้รับการขยายผลก็คือ เรื่องของความยากจนและความด้อยพัฒนา
A. แรงกระตุ้นจากโลกมุสลิมอันเป็นผลจากสงครามในอิรัก
การตัดสินใจเมื่อ 3 สิงหาคม 2546 ในการส่งทหารไทยไปสนับสนุนการทำสงครามในอิรักที่นำโดยสหรัฐฯ
ทำให้มุสลิมมาเลย์ไม่พอใจ ในหมู่มุสลิมเชื้อสายมาเลย์ในภาคใต้โดยทั่วไป พวกเขารู้สึกเห็นอกเห็นใจมุสลิมในอิรัก,
ปาเลสไตน์, เชชเนีย, และที่อื่นๆ เช่นเดียวกันกับมุสลิมที่อื่นๆ ทั่วโลก
ในบางกรณี ปัญหานี้ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามุสลิมตกเป็นเหยื่อ ยิ่งกว่านั้นคือรู้สึกถูกแวดล้อมไปด้วยศัตรู แต่ความรู้สึกเหล่านี้ถือได้ว่าได้แปรเปลี่ยนเป็นแรงสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงในพื้นที่น้อยมาก ยิ่งการเข้าร่วมในการใช้ความรุนแรงยิ่งเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นแรงหนุนให้เกิดความรุนแรงที่เป็นไปได้มากกว่าก็คือ ปัญหาความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในพื้นที่เอง สำหรับคนที่มีแนวโน้มจะหันไปหาความรุนแรง อาจจะได้แรงบันดาลใจจากการก่อการร้ายที่ปรากฏผลเด่นชัดในที่อื่นๆ แต่ว่าโดยตัวของมันเองไม่ได้ทำให้เกิดการลอกเลียนแบบกันแต่อย่างใด
นักวิเคราะห์หลายคนยังพูดถึงอิทธิพลของนิกายวาฮาบี กับแรงสนับสนุนทางการเงินที่หลั่งไหลมาจากซาอุดิอาระเบียว่าเป็นปัจจัยด้วย แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเรื่องนี้จะต้องมีการเชื่อมโยงกันระหว่างแนวความคิดที่เข้มงวดและค่อนข้างแคบกับการใช้ความรุนแรงเสมอไป (51)
อิสมาอิล ลุฟตี จะปากียา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามยะลา ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากซาอุดิอาระเบีย อาจจะเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ได้ เขามีความเชื่อที่เน้นในเรื่องความบริสุทธิ์ เช่นเดียวกันกับผู้ใฝ่ศึกษาอีกหลายคนจากประเทศแถบอ่าวเปอร์เชีย ที่เดินทางไปสอนที่วิทยาลัยของ ดร.ลุตฟี ตามโครงการแลกเปลี่ยน. อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานว่าเขาเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรง ที่จริงแล้ว ดร.ลุตฟี ให้ความร่วมมือกับตำรวจค่อนข้างดี และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จากกรุงเทพฯ หลายคนยังขอความร่วมมือจาก ดร.ลุตฟี เอาชื่อของเขาไปใส่ในบรรดาคณะกรรมการและโครงการอีกหลายอย่าง (52) ยกตัวอย่างเช่น ดร.ลุตฟี ยังมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีในภาคใต้ของรัฐบาลอย่างแข็งขันด้วย (53)
มีรายงานว่า ดร.ลุตฟี ติดต่อกับสมาชิกหลายคนของกลุ่มเจมา อิสลามิยา หรือเจไอ รวมทั้งนายริดวน อิสซามุดดิน หรือฮัมบาลี และหัวหน้ากลุ่มเจไอ ที่ผ่านการอบรมจากอาฟกานิสถาน มานติกิ ไอ ซึ่งถูกจับกุมที่อยุธยาเมื่อเดือนสิงหาคม 2546 อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านายฮัมบาลีไม่ได้สนใจจะก่อเหตุรุนแรงในประเทศไทยแต่อย่างใด (54)
และที่จริงแล้ว ความรุนแรงที่ถือว่าสัมพันธ์กับประเด็นด้านอิสลามมากที่สุด คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ซึ่งดูจะมีองค์ประกอบของลัทธิซูฟี อย่างเช่น zikir ที่เป็นการสวดเป็นการพิเศษทั้งวัน การดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ และรับพรเพื่อให้ศัตรูมองไม่เห็นตัวหรือไม่ก็ยิงหรือแทงไม่เข้ารวมอยู่ด้วย แต่สิ่งเหล่านี้พวกซาลาฟีไม่ได้ยอมรับ
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่พอจะชี้ได้ด้วยว่า มีการใช้ความเป็นมุสลิมและความเชื่อในอิสลาม ไปเก็บเกี่ยวหาแรงหนุนจากคนรุ่นใหม่ให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน มากกว่าที่เคยมีในช่วงราว 30-40 ปีที่แล้ว (ในระยะแรกทำในโรงเรียนสอนศาสนา) อย่างไรก็ตาม การตอกย้ำความเชื่อที่ฝังหัวยังวนเวียนอยู่ในเรื่องของปัญหาเรื่องประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวในอดีต การปราบปราม การถูกผนวก และความจำเป็นในอันที่จะต้องเรียกร้องดินแดนปาตานีของมุสลิมให้กลับคืนมาใหม่ (55)
B. ความยากจนและความด้อยพัฒนา
แนวความคิดหนึ่งที่ไม่น่าจะถูกต้องแต่ยังดำรงอยู่ก็คือเรื่องที่ว่า ความยากจนหรือกระทั่งความขัดสนเป็นบ่อเกิดของความรุนแรง
(56) จริงอยู่ พื้นที่ของมุสลิมในภาคใต้ส่วนนี้อยู่ในกลุ่มที่ยากจนที่สุดของประเทศ
แต่แค่นี้ไม่น่าจะเป็นต้นเหตุให้เกิดความรุนแรง (57) การที่คนในพื้นที่นี้ยากจนกว่าที่อื่น
อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจริง แต่ประเด็นใหญ่ที่น่าจะเป็นต้นเหตุของความรุนแรง
น่าจะเป็นสาเหตุทางการเมืองมากกว่า
ระหว่างปี 2507 - 2517 รัฐบาลมีโครงการพัฒนาด้านการเกษตร เป็นความพยายามที่จะลดความรุนแรง โครงการดังกล่าวก็มีส่วนทำให้ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่ประเด็นที่ไม่ได้แตะต้องคือเรื่องของการเมือง ทำให้ยุทธศาสตร์แก้ไขความขัดแย้งไม่ได้ผลมากนัก (58) อย่างไรก็ดี ในช่วงเกือบ 30 ปีที่แล้ว ที่มีการดูแลปัญหาความไม่พอใจทางการเมืองมากขึ้นได้ส่งผลให้ความรุนแรงลดลง
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ รัฐบาลทุ่มเงินหลายล้านลงไปในโครงการพัฒนาแต่ดูเหมือนจะไม่ส่งผล
ไม่ว่าในการลดความไม่พอใจหรือลดระดับความรุนแรงในภาคใต้ลง มีการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อจะส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่
แต่กิจกรรมส่วนใหญ่ไปอยู่ในภาคการบันเทิงชนิดที่ตามศาสนาอิสลามแล้วถือว่าต้องห้าม
หรือไม่ก็ไม่สอดคล้องกับหลักศาสนา (59) "มุสลิมมักจะรู้สึกอึดอัดกับการที่มีซ่องหรือมีบ่อนพนันมาอยู่ใกล้ๆ
บ้าน มันเป็นการดูถูกเหยียดหยามกัน" ผู้นำชุมชนคนหนึ่งกล่าว (60)
ในหนหนึ่งถึงกับต้องมีการระงับงบอุดหนุน 12,000 ล้านบาทเอาไว้ ทั้งที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว
เพราะผู้นำในพื้นที่หลายคนบอกว่าไม่ได้มีการสอบถามความเห็นพวกเขาเสียก่อน รวมทั้งตัวโครงการก็ดูจะไม่เหมาะสม
(61) มุสลิมเชื้อสายมาเลย์ส่วนใหญ่ยากจะเข้าร่วมในโครงการเหล่านี้ เพราะว่าไม่มีความชำนาญอย่างที่เป็นที่ต้องการและไม่ผ่านการอบรมมาด้วย
ขณะที่โครงการที่ให้ประโยชน์กับคนเชื้อสายไทยและจีน มีโอกาสที่จะขยายช่องว่างให้กว้างมากขึ้นทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางจิตใจ
ยิ่งส่งผลให้ชุมชนคนเชื้อสายมาเลย์รู้สึกแปลกแยกมากขึ้น (62)
"(เจ้าหน้าที่รัฐ) ไม่ได้เปลี่ยนทัศนะเรื่องการพัฒนาเลยตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว" อรุณ ไทยสนิท, ประธานเครือข่ายชุมชนในท้องที่กล่าว หลังจากที่ได้ประชุมร่วมกับสมาชิกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ "พวกเขาวางแผนกันในห้องแอร์ในกรุงเทพฯ แต่ไม่เคยถามว่าประชาชนต้องการแบบนี้จริงๆหรือเปล่า" ด้านนายอับดุลลายี อาแวซูเมะ, ประธานสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวนราธิวาสบอกว่า ในพื้นที่ไม่มีความต้องการโครงการเหล่านั้น "ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมถึงได้มีโครงการหลายอย่างที่ชาวบ้านไม่ได้อยากให้เกิด" (63)
แม้แต่นโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี ก็อาจจะไม่ได้ผลในแง่รับมือปัญหาความรุนแรง เว้นเสียแต่ว่าจะทำควบคู่ไปกับมาตรการที่แก้ไขความไม่พอใจทางการเมืองด้วย
C. รัฐบาลปรับโฉมหน้ามาตรการใหม่
คำอธิบายอันสำคัญต่อความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นก็คือ การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี
พตท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำหลังจากที่ขึ้นดำรงตำแหน่งได้ไม่นานนักเมื่อปี 2544
ในอันที่ดึงอำนาจในการบริหารกลับไปไว้ที่ส่วนกลาง จากเดิมที่ดูเหมือนจะอยู่ในมือของพรรคประชาธิปัตย์
ฝ่ายค้าน ในสายตาของ พตท.ทักษิณ ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ได้รับการแก้ไขไปนานแล้ว
นายกรัฐมนตรียังอ้างว่า การยิงกันและการวางระเบิดที่ยังดำเนินอยู่ตอนนั้นเป็นผลของการแย่งชิงพื้นที่กันเอง ของกลุ่มแก๊งค์ต่างๆ ซึ่งควรจะอยู่ภายใต้การดูแลของตำรวจ ในฐานะที่เคยเป็นตำรวจมาก่อน นายกรัฐมนตรีทักษิณมีแนวโน้มจะมองปัญหาความไม่มั่นคง รวมทั้งปัญหาสังคมการเมืองแบบที่เกิดขึ้นในภาคใต้หรือปัญหายาเสพติดว่า เป็นปัญหาเรื่องของการบังคับใช้กฏหมายมากกว่า
พตท.ทักษิณ ก้าวเข้ารับตำแหน่งด้วยความเชื่อว่า โครงสร้างการบริหารงานของราชการโดยเฉพาะในภาคใต้ไร้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล พร้อมยังเชื่อว่าโครงสร้างนี้รับใช้ฝ่ายค้านและยังวิตกว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้ ศอ.บต. จะเทใจให้กับพรรคประชาธิปัตย์รวมทั้งราชวงศ์ แทนที่จะจงรักภักดีกับตนเองและรัฐบาลใหม่. ที่เห็นว่าน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า ศอ.บต. ก็คือ กองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 หรือ พตท.43 และฝ่ายบังคับบัญชาของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่ง พตท.ทักษิณรู้สึกว่าเต็มไปด้วยคนที่ยังสนับสนุนฝ่ายค้าน (64)
ยุทธศาสตร์หลักของ พตท.ทักษิณก็คือ การเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่คนสำคัญๆ เอาคนของตนเข้าไปสวมแทน. ในภาคใต้นั้น พตท.ทักษิณ หวังใจว่าการทำแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาทางการเมืองของตนได้และถ้าโชคช่วยก็อาจจะแก้ปัญหาความมั่นคงได้ด้วย มาตรการแรกของ พตท.ทักษิณ ก็คือผลักดันให้หัวหน้าศูนย์ ศอ.บต.คือพลากร สุรวรรณรัฐ ออกเพราะว่าใกล้ชิดกับทั้ง พล อ.เปรม ติณสูลานนท์และราชวงศ์ พลากรยื่นใบลาออกอย่างกระทันหันในปี 2544 และ พตท.ทักษิณให้อดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียน พล.ต..ทรงกิตติ จักกาบาตร ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการทำงานในภาคใต้เข้ารับงาน และเป็นผู้รายงานสถานการณ์
นายกรัฐมนตรีประเมินสถานการณ์ว่าปัญหาการแบ่งแยกดินแดนนั้นหมดไปแล้ว และว่าสิ่งที่ทำให้ยังเกิดความรุนแรงอยู่ก็คือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอิทธิพลต่างๆรวมทั้งระหว่างหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วยกันเองและในหน่วยงานเอง ยิ่งทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติเร็วเท่าไหร่ ปัญหาพวกนี้ก็จะได้รับการแก้ไขให้หมดไปเร็วเท่านั้น (65)
นักวิชาการบางคนยังเชื่อด้วยว่า ตำรวจในพื้นที่พยายามกลบเกลื่อนประเด็นเรื่องความรุนแรงที่มาจากความไม่พอใจทางการเมือง โดยพยายามบอกว่าเป็นเรื่องของอาชญากรรมธรรมดาทั้งนี้เพื่อจะให้ได้อำนาจมากขึ้นในพื้นที่ (66) พตท.ทักษิณ ตั้งให้พล.ต.ทรงกิตติ เข้ารับหน้าที่รองแม่ทัพภาค 4 (ซึ่งดูแลห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้) เมื่อเดือนตุลาคม 2544 ต่อมาในวันที่ 1 พค. 2545 นายกรัฐมนตรีก็ออกคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้ยุบ ศอ.บต.และ พตท. 43 (67)
มีเหตุผลอยู่ 3 อย่างที่อธิบายได้ว่าทำไมการยุบเลิกหน่วยงานเหล่านี้จึงส่งผลเสียหาย
อันแรก หน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยคุมงานเครือข่ายด้านการข่าวซึ่งพอยุบแล้วงานก็แตกเป็นเสี่ยงๆ
อันที่สอง จนท.ศอ.บต.มีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้นำชุมชน เป็นช่องทางให้คนในพื้นที่ได้ระบายปัญหา และ
อันที่สาม ศอ.บต. และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พตท. 43 เป็นหน่วยงานที่ช่วยรักษาสมดุลย์อันละเอียดอ่อนระหว่างงานดูแลความมั่นคงและงานด้านการข่าวในภาคใต้ เมื่อให้ตำรวจเข้าไปดูแลแทน "กงล้อก็เริ่มหลุดทั้งในแง่ของขื่อแปและความมั่นคงทั่วทั้งภูมิภาค" (68)
ศอ.บต.นั้นได้รับการจัดตั้งขึ้นมาตอนแรกเพื่อรับมือปัญหาคอมมิวนิสต์ในจังหวัดภายใต้ แต่ขณะเดียวกันก็ทำงานได้ผลด้วยในการจัดการปัญหาความรุนแรงอันเนื่องมาจากความต้องการแบ่งแยกดินแดน หน่วยงานนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ประสานระหว่างภาคใต้กับฝ่ายบริหารในกรุงเทพฯ กำหนดนโยบายทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ รวมทั้งด้านความมั่นคงที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ผู้อำนวยการคือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ว่ามีสมาชิกของคณะกรรมการมาจากคนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่หลายคนก็เป็นคนมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่คนเชื้อสายมาเลย์จะได้รับการอบรมให้ใช้ภาษาท้องที่ได้
หน้าที่สำคัญอันหนึ่งของศูนย์นี้ก็คือ สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมขึ้นในหมู่ปัญญาชนและผู้คนระดับนำในพื้นที่ ให้พวกเขามีส่วนร่วมทั้งในแง่ของปัญหาและการแก้ปัญหา (69) มีการดึงผู้นำศาสานาและชุมชนเข้าร่วมหลายระดับลงไปจนถึงระดับหมู่บ้าน และ ศอ.บต.เอง เป็นที่รู้กันทั่วไปในภาคใต้ว่าเป็นที่รับฟังปัญหาจากคนในพื้นที่ ไม่ว่าเรื่องการทุจริตหรือข้าราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และหากข้อกล่าวหาได้รับการพิสูจน์ว่าจริง ศูนย์ก็จะย้าย จนท.คนนั้นภายในยี่สิบสี่ชม. (70) การเข้าถึงชุมชนแบบนี้ทำให้ทำงานการข่าวได้ด้วย หน่วยงานทั้ง 2 หน่วยนี้มีส่วนอย่างสำคัญในการลดปัญหาความรุนแรงในช่วง 20 กว่าปีที่แล้ว และในช่วง 3 ปีก่อนที่จะถูกยุบ มีผู้กลับใจยอมมอบตัว 114 คน (71)
เมื่อมีการยุบ พตท. 43 ในปี 2545 พตท.ทักษิณ ได้มอบหมายให้หน่วยงานตำรวจในพื้นที่ ซึ่งโดยทั่วไปเห็นกันว่าเป็นแหล่งที่รองรับ จนท.ที่ถูกโยกย้ายเพราะทุจริตและไร้ประสิทธิภาพมาจากที่อื่น ให้เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องความมั่นคงและงานข่าว (72) การยุบ พตท. 43 กระเทือนสมดุลย์อันละเอียดอ่อนระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (73) และเกือบจะทันทีทันใดนั้น ความตึงเครียดก็กลายไปเป็นการพิพาทอย่างเปิดเผย
ตัวอย่างเช่น เมื่อสำนักข่าวกรองแห่งชาติออกรายงานเมื่อปี 2547 กล่าวหาตำรวจว่ากระทำวิสามัญฆาตกรรม ก็มีกลุ่ม จนท.ไปเตะประตูของสำนักงานในนราธิวาสจนพังลงมา (74) อย่างไรก็ตาม บรรยากาศความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุด เป็นไประหว่างตำรวจและทหาร รายงานกล่าวว่า ความไม่พอใจในหมู่ทหารในกองทัพรุนแรงขึ้น เพราะวิธีที่ตำรวจจัดการกับสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดจากการทำงานด้านข่าวกรองของทหาร หลังกรณีปล้นปืนค่ายทหารเมื่อปี 2547 (75) มีรายงานข่าวว่า ตำนวจสังหารอดีตสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนับสิบๆ ราย คนเหล่านี้ได้มอบตัวขอรับการนิรโทษกรรมและทำงานเป็นสายข่าวให้กับทหาร (76) การดำเนินการแบบนี้ นอกจากจะทำให้คนในชุมชนโกรธแค้นแล้วยังทำให้ราชการเองก็ขาดข่าวสาร บรรดาสายข่าวต่างกลายเป็นเป้าของนักแม่นปืนไป (77)
ที่จริงระบบของ พตท. 43 ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ยังนับว่าสามารถจะใช้จัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ ภายใต้ระบบดังกล่าวมีการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน รวมทั้งอีกด้านก็มีการร่วมมือกันมากกว่าระบบปัจจุบัน ซึ่งปรากฏชัดในเวลาไม่นานนักว่าไม่ทำงาน มีความพยายามหลายครั้งที่จะปรับโครงสร้างของการบัญชาการใหม่ รวมทั้งมีการโยกย้าย จนท.แทบจะเรียกได้ว่าตลอดเวลา
ต่อมาในเดือนเมษายน 2547 นายกรัฐมนตรีทักษิณได้ตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ กอ.สสส.จชต.ขึ้น เพื่อให้เป็นผู้นำและประสานการปฏิบัติงานของตำรวจทหาร และงานข่าวกรองรวมทั้งดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาสำหรับหน่วยงานด้านพลเรือนในพื้นที่ด้วย(78) หกเดือนต่อมาซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน พตท.ทักษิณก็เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการซึ่งหลายคนเห็นว่าเป็นการหาแพะรับบาป ในขณะที่สำนักนายกรัฐมนตรีเองยังเป็นผู้สั่งการนโยบายต่างๆมาจากกรุงเทพฯ (79) งานข่าวกรองมีท่าทีดีขึ้นในปี 2547 และต้นปี 2548 แต่มีช่องทางที่ยังจะต้องปรับปรุงกันอีกมาก ถ้าการยุบพตท. 43 กับ ศอบต.ไม่ได้ทำให้เหตุรุนแรงหวนกลับมา อย่างน้อยการดำเนินการอันนั้นก็น่าจะเรียกว่าได้ ลดทอนศักยภาพของรัฐในอันที่จะจัดการกับปัญหาลง (80)
อีกอย่าง เมื่อเดือนเมษายน 2547 รองนายกรัฐมนตรีนายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้มีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ เป็นข้อเสนอที่มาจากการหารืออย่างถี่ถ้วนกับชุมชนในพื้นที่และบรรดาผู้นำศาสนา แผนการ 7 ข้อของรองนายกรัฐมนตรีจาตุรนต์ ซึ่งเสนอให้ยกเลิกการใช้กฏอัยการศึกและนิรโทษกรรมสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยเลือกเฉพาะบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากบุคคลสำคัญในฝ่ายทหารและพลเรือน รวมทั้งแม่ทัพภาค 4 ด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นำเสนอต่อที่ประชุม ครม. ก็กลับไม่ได้รับความสนใจและที่ประชุมหันไปหาวิธีการตอบโต้ด้วยกำลังแทน (81)
D. ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงขึ้น
กับสงครามต่อต้านยาเสพติด
คำอธิบายอีกประการที่สำคัญ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของตำรวจด้วย
ก็คือมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เห็นกันว่าตกต่ำลง เห็นได้ชัดจากวิธีการทำงานในการทำสงครามต่อต้านยาเสพติดปี
2546 ตร.กับ จนท.ส่วนท้องถิ่นได้รับคำสั่งให้จัดการกับคนค้ายาและลักลอบขนยาเสมือนเป็น
" ภัยความมั่นคง" และให้จัดการคนเหล่านั้นอย่าง "ไม่ปราณี"
และ "เฉียบขาด" (82) ในช่วงเวลา 7 เดือน มีคนตายไป 2,275 คน อีกหลายพันถูกจับโดยไม่มีข้อหา
ถูกขึ้นบัญชีดำ หรือไม่ก็หายตัวไป (83) พื้นที่ภาคใต้ที่ได้ชื่อว่าเป็นช่องทางการขนยาเสพติดสำคัญ
จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปฏิบัติการในสงครามต่อต้านยาเสพติด ซึ่งกระตุ้นทั้งความไม่พอใจและหวาดกลัวให้ระอุขึ้น
อำนาจเพิ่มเติมที่ตำรวจได้รับมีมากชนิดที่แทบจะเรียกได้ว่าเท่ากับเป็นการยื่น "เชคเปล่า" ให้จัดการวิสามัญฆาตกรรมคนในพื้นที่ที่อยู่ในสถานะอ่อนด้อย ในระหว่างที่เกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรอยู่นั้น ในจำนวนคนที่ถูกฆ่ามีจำนวนหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทหาร (84) รวมอยู่ด้วย พฤติกรรมของตำรวจเท่ากับตอกย้ำความสงสัยของคนในพื้นที่ที่ว่า ตำรวจมีแนวโน้มจะพุ่งเป้าไปที่มุสลิมเชื้อสายมาเลย์ แทนที่จะปกป้องคนเหล่านั้น
ในภาคใต้คนทั่วไปมีแนวโน้มจะหวาดกลัวตำรวจยิ่งเสียกว่า "ผู้ก่อการร้าย" แม้ว่าจะมีกรณีการลอบยิงกันแทบทุกวันก็ตาม โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายทหารที่นราธิวาสปี 2547 ชายคนหนึ่งถึงกับออกปากว่า "มันเหมือนกับว่าผู้ชายมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ทุกคนเป็นคนที่ต้องสงสัยทั้งนั้น" (85) จากการบอกเล่าของผู้นำศาสนา มีชาวบ้านในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้จำนวนกว่าร้อยคน ที่ถูกลักพาตัวและถูกฆ่าในช่วง 4 เดือนแรกหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่นราธิวาสเมื่อ 4 มกราคม (86) การพิสูจน์ข้อหาแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในหมู่ชาวมุสลิมในภาคใต้พวกเขารู้สึกกันทั่วไปว่าเรื่องนี้เป็นความจริง
วันที่ 10 มิถุนายน 2546 มีมุสลิม 3 คนที่เป็นคนที่ได้รับการยอมรับนับถือในหมู่ชาวบ้านในนราธิวาส ถูกจับด้วยข้อหาก่อการร้าย การจับกุมหนนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณมีกำหนดพบหารือกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐแค่ไม่กี่ชม. ถึงแม้ว่าอาจจะมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า คนเหล่านี้มีส่วนอยู่ในแผนการของกลุ่ม เจมาอิสลามิยาหรือเจไอ ในการวางระเบิดสถานทูตประเทศตะวันตกในกรุงเทพฯ แต่จังหวะของการจับกุมทำให้เรื่องนี้จุดชนวนข่าวลือและการกะเก็งกันไปต่างๆ นานาในภาคใต้
การจับกุม ตรวจค้นและปิดล้อมเพิ่มสูงขึ้น วันที่ 14 มกราคม 2547 ผู้นำมุสลิมในนราธิวาส มาโตลาฟี เมเซะ ถูกอุ้มจากบ้านในอำเภอบาเจาะ โดยกลุ่มคนติดอาวุธร่วม 10 คน, 3 วันถัดมาก็มีผู้พบศพของเขาในสภาพที่มีร่องรอยถูกทรมาน (87) ทนายความสมชาย นีละไพจิตร แห่งชมรมทนายความมุสลิมเปิดเผยด้วยว่า ผู้ต้องสงสัย 5 คนที่ถูกจับกุมในเดือน กพ.ก็ถูก จนท.ตำรวจทุบตี และทรมานจนกระทั่งต้องยอมรับว่าก่อกบฏ (88)
ทนายความสมชาย ได้กล่าวกับที่ประชุมที่มูลนิธิสันติชนเมื่อ 27 กพ. 2547 กล่าวหาตำรวจว่า ทรมานผู้ต้องหาที่เป็นลูกความของเขา ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม นายสมชายได้ยื่นจดหมายร้องเรียนถึงองค์กรอิสระ 5 แห่ง เรียกร้องให้สอบสวนตามข้อกล่าวหาที่ว่า แต่ตัวทนายความสมชายเองก็หายไปในวันรุ่งขึ้น (89) นักการเมืองมุสลิมรายหนึ่งในนราธิวาสกล่าวกับ จนท.ไครซิสกรุ๊ปว่า "ชาวบ้านต่างก็หมดศรัทธาในกฏหมายแล้ว ...ตร.ไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องเราแต่ว่าโจมตีเรา เกิดเรื่องกับทนายความสมชายแบบนี้ จะให้เราเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมได้ยังไง" (90)
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แถลงเมื่อเดือนเมษายน 2547 ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์กรือเซะ แค่หนึ่งสัปดาห์ว่า:
ปัญหาในปัจจุบันเป็นผลมาจากการที่พี่น้องมุสลิมตัดสินใจลุกขึ้นต่อสู้ พวกเขาสะสมความอึดอัดและไม่พอใจมาเนิ่นนาน...ยกตัวอย่างเช่น ต่อเรื่องที่ตำรวจจับกุม และทรมานผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ... กรณีการอุ้มหายหลายกรณีก็ไม่ได้รับการสอบสวน" (91)
++++++++++++++++++++++++++++++++
คลิกกลับไปทบทวน - คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๖
เชิงอรรถ
(1) ประมาณการตัวเลขมีตั้งแต่ 1,300 - 1,400 แต่ส่วนใหญ่ระบุว่าประมาณ 1,500 คน ส่วนจำนวนที่ถูกจับมี 1,300 เด็กและผู้หญิงถูกแยกออกไปต่างหากไม่รวมอยู่ในกลุ่มถูกจับ
(2) ชุดรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านทั้งหกคนล้วนมาจากตำบลพร่อน อ.ตากใบ นราธิวาส คือกามา อาลี 32, มาหามะกุสอลี เจ๊ะแว 33, ยูกีมือลี ฮะกอมิง 29, อับดุลราไม ฮะกือลิง 26, อรุณ บินมะ, 21, รองนิง บินมะ,24 พวกเขาสารภาพว่าได้มอบอาวุธให้สมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลังจากที่ถูกข่มขู่ " ตาย 6 เจ็บ 50" ไทยรัฐ, 26 ตุลาคม 2547
(3) พวกเขาอ้างว่ามีสองพี่น้องบังคับให้ส่งอาวุธให้ ข้อมูลจากที่ จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหารในกรุงเทพฯ และปัตตานี เดือนเมษายน 2548
(4) ข้อมูลจากที่ จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้ไปชุมนุมประท้วงที่ตากใบ นราธิวาส เดือนธันวาคม 2547, ข้อมูลจากรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงขององค์กรสิทธิมนุษยชนในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ นสพ.ไทยฉบับหนึ่งอ้างด้วยว่า ชรป.เหล่านี้ถูกจับเมื่อ 12 ตุลาคม 2547 แต่ตร.อ้างว่าไม่ได้เข้าควบคุมตัวจนกระทั่ง 19 ตุลาคม
(5) ข้อมูลจากที่จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้ไปชุมนุม นราธิวาส ธันวาคม 2547
(6) ข้อมูลจากที่ จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้ไปชุมนุม นราธิวาส ธันวาคม 2547, อนันต์ ไทยสนิท ทนายความของผู้ประท้วง 59 คนที่ถูกตั้งข้อหาว่า ชุมนุมกันโดยผิดกฏหมาย ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ และมีอาวุธในครอบครองโดยผิดกฏหมาย เปิดเผยกับไครซิสกรุ๊ปว่า มีผู้ไปชุมนุมด้วยเหตุผลดังกล่าวจำนวนประมาณ 400ราย แต่คนส่วนใหญ่เป็นพวกชาวบ้านในพื้นที่ที่อยากรู้อยากเห็น (ส่วนใหญ่มาจากเจ๊ะเห ไพรวัน ศาลาใหม่ ในอำเภอตากใบ) รวมทั้งคนที่เดินทางไปตากใบ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ของ จนท.ไครซิสกรุ๊ป นราธิวาส เมษายน 2548
(7) รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงขององค์กรพัฒนาเอกชนหลายรายในกรุงเทพฯ และการสัมภาษณ์ผู้ไปประท้วงในตากใบรวมทั้งผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านที่ติดกับสถานีตำรวจตากใบ (อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ) นราธิวาส โดย จนท. ไครซิสกรุ๊ป เดือนตุลาคม 2547
(8) ผู้ไปประท้วงที่ จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ (นราธิวาส ตุลาคม 2547) อ้างว่าไม่ว่าพวกเขาเองหรือคนอื่นที่ไปชุมนุมออกจากสถานที่ชุมนุมไปละหมาด ขณะที่ จนท.ระดับสูงที่อยู่ในที่เกิดเหตุด้วยอ้างว่าหลายคนออกจากที่ชุมนุมไปละหมาดที่มัสยิดแล้วกลับไปชุมนุมใหม่ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ของ จนท.ไครซิสกรุ๊ป กรุงเทพฯ เมษายน 2548
(9) ข้อมูลจากที่ จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้ไปชุมนุม นราธิวาส ธันวาคม 2547
(10) ข้อมูลจากที่ จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้ไปชุมนุม นราธิวาส ธันวาคม 2547 ผู้ชุมนุมยังให้ข้อมูลดังกล่าวนี้กับ อนันต์ ไทยสนิท ทนายความของกลุ่มผู้ชุมนุมตากใบ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ของ จนท.ไครซิสกรุ๊ปในนราธิวาส เมษายน 2548
(11) จากการสัมภาษณ์นายทหารในปัตตานีโดยไครซิสกรุ๊ป เมษายน 2548 และข้อมูลจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสสระ, อ้างแล้ว นอกจากนี้ทางการยังอ้างว่า มีการยิงออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ว่าผู้ชุมนุมที่มีอาวุธมีแค่สองหรือสามคน จนท.ตร.นายหนึ่งถูกยิงแต่ไม่เสียชีวิต ยังไม่ชัดเจนว่า ตร.ที่ถูกยิงถูกกระสุนจากฝ่ายตรงข้ามหรือว่าโดนลูกหลงจากฝ่ายเดียวกัน แต่ไม่มีใครถูกตั้งข้อหาในกรณีนี้ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ จนท.ทหารและทนายความของผู้ชุมนุมโดย จนท.ไครซิสกรุ๊ป เมษายน 2548; รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงขององค์กรพัฒนาเอกชนในกรุงเทพฯ อ้างคำพูดของแพทย์รายหนึ่งที่อยู่เวรที่รพ.นราธิวาส ที่รักษาบาดแผลถูกยิงให้กับเหยื่อจากเหตุการณ์การชุมนุม
(12) ข้อมูลจากที่ จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้ไปชุมนุม
นราธิวาส ธันวาคม 2547 และจากภาพข่าวการประท้วง
(13) วันรุ่งขึ้นพบศพอีก 3 ศพในแม่น้ำแต่สาเหตุการเสียชีวิตของคนทั้งสามไม่ชัดเจน
(14) 6 คนตายในที่เกิดเหตุ รายที่ 7 ที่ถูกยิงตายใน รพ. มะหะมะ อาลี จะลาแววัย 51 ถูกยิงเหนือราวนมขวา ขณะหมอบอยู่หน้าสถานีตร.ตากใบ มะลูดี ยาโก๊ะ 39 ถูกยิงจากด้านหลัง แวดี มาโซ๊ะ อายุ 14 ถูกยิงเข้าด้านขวาของศรีษะทะลุออกตาซ้ายและถูกยิงที่ขาซ้าย เด็กอีกคนที่อยู่ในหมู่บ้านอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำตรงข้ามกับสถานีตร.ตากใบ (ห่างประมาณ 300 เมตร) ถูกกระสุนเข้าที่ขาขวา ข้อมูลจาก รพ.นราธิวาส 5 พย. 2547 นอกจากนี้ข้อมูลนี้ยังอยู่ในรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจรงขององค์กรพัฒนาเอกชนในกรุงเทพฯ
(15) มีข้อกล่าวหาว่า ทหารตะโกนขออนุญาตยิงจากผู้บังคับบัญชา แต่ไม่มีคำสั่งอนุญาต ข้อมูลจากที่ จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงในกรุงเทพฯ เมษายน 2548
(16) ผู้รอดชีวิตหลายรายได้ให้ จนท.ไครซิสกรุ๊ปดูรอยแผลเป็นรอบข้อมือจากที่ถูกมัด ซึ่งยังคงเห็นได้ชัดแม้จะผ่านเหตุการณ์ไปแล้วนับเดือน
(17) ข้อมูลจากการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระ, อ้างแล้ว, จาก พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คิรี แม่ทัพภาค 4, อ้างถึงในรายงานการสอบข้อเท็จจริงของกลุ่มฟอรั่มเอเชีย
(18) ข้อมูลจากที่ จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้ไปชุมนุม นราธิวาส ธันวาคม 2547 และจากภาพข่าวการประท้วง
(19) ข้อมูลจากที่จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงในกรุงเทพฯ เมษายน 2548; ข้อมูลจากการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระ, อ้างแล้ว
(20) รถบางคันหยุดที่สามแยกสุไหงโกลกและแยกตากใบ เพื่อรับคนเพิ่ม ข้อมูลจากที่ จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้ไปชุมนุม นราธิวาส ธันวาคม 2547
(21) อ้างแล้ว, ข้อมูลจากการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระ, อ้างแล้ว; รายการโทรทัศน์ Dateline (เอสบีเอส ของออสเตรเลีย) สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมประท้วงตากใบ นราธิวาส 24 พ.ย. 2547
(22) ข้อมูลจากที่ จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้ไปชุมนุม นราธิวาส ธันวาคม 2547
(23) ข้อมูลจากรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกลุ่มฟอรั่มเอเชีย, ผลการสอบสวนของคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสมาชิก ''Death toll' could be higher'', The Nation, 30 ต.ค. 2547
(24) รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกลุ่มฟอรั่มเอเชีย, ในรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของทางการ แหล่งข่าวในคณะกรรมการอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต ้หรือ กอ.สสส.จชต. อ้างว่า รถทุกคันไปถึงค่ายภายในเวลาสี่ทุ่ม แต่จากการสัมภาษณ์คนขับต่างหาก คนขับยอมรับว่า บางคันไม่ได้ออกเดินทางจากตากใบจนกระทั่งสามทุ่ม และไปถึงเวลาประมาณตีสอง ข้อมูลจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระ, อ้างแล้ว
(25) พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งได้รับการยอมรับว่า ทำงานเป็นอิสระเป็นผู้นำทีมพิสูจน์ศพ และประกาศว่า ประมาณ 80% ตายเพราะขาดอากาศหายใจ อีก 3 คนตายเพราะคอหักเนื่องจากถูกเบียดทับ ที่เหลือตายเพราะขาดน้ำ, "เครียด ศพใต้พุ่ง 84 อ้างขาดอากาศหายใจ", มติชน, 27 ธ.ค. 2547
(26) แถลงการณ์ของ นพ.พรจิตต์ จันทรารัศมี ผอ.รพ.ปัตตานี, 5 พ.ย. 2547 อ้างถึงในรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกลุ่มฟอรั่มเอเชีย
(27) คนจำนวนสิบสี่คนที่แพทย์ประเมินว่ามีโอกาสเจอสภาพไตวาย ถูกส่งตัวไปเข้ารับการรักษาด้วยการฟอกไต รพ.ปัตตานีมีเครื่องมือฟอกไตแค่ห้าเครื่อง รพ.จึงส่งคนป่วยไป รพ.นราธิวาสสาม อีกสองไป รพ.ยะลา และอีกห้าไป รพ.หาดใหญ่, อ้างแล้ว
(28) จากการสัมภาษณ์ผู้ได้รับการปล่อยตัวโดย
จนท.ไครซิสกรุ๊ป นราธิวาส ธันวาคม 2547
(29) จนท.ไครซิสกรุ๊ปโทรศัพท์สัมภาษณ์
พล.ต.ต. ธานี ทวิชศรี รองกก.ตร.ภ.9, มค.2548
(30) ผู้ถูกคุมตัวห้าสิบแปดคนถูกกดดันจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ให้ยอมรับสารภาพโดยบอกว่าจะทำให้โทษน้อยลง ทั้งห้าสิบแปดคนลงชื่อในคำรับสารภาพแต่ในระหว่างที่มีการอ่านข้อหาที่ศาลนราธิวาสเมื่อ 21 ก.พ. 2548 ได้กลับคำให้การและปฏิเสธ คดีในชั้นศาลเลื่อนไปเป็นวันที่ 11เมษายน เมื่ออัยการเห็นชอบกับบัญชีรายชื่อพยาน การให้ปากคำครั้งถัดไปศาลนัดไว้วันที่ 8 ก.ค. 2548 วันที่ 12 เมษายน อัยการได้เพิ่มผู้ต้องหาอีกรายคือเจะมานะ หะยีดือราแม จากต.เจ๊ะเห อ.ตากใบซึ่งปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา จากเอกสารการสั่งฟ้องที่จนท.ไครซิสกรุ๊ปได้เห็นในระหว่างสัมภาษณ์ทนายความผู้ถูกฟ้องห้าสิบเก้ารายที่นราธิวาส เมษายน 2548 และที่จนท.ไครซิสกรุ๊ปโทรศัพท์สัมภาษณ์ พล.ต.ต. ธานี ทวิชศรี รองกก.ตร.ภ.9
(31) จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ทนายความผู้ต้องหา เมษายน 2548, รายงานของคณะกรรมการอิสสระสอบสวนกรณีตากใบ เปิดเผย 24 เมษายน 2548
(32) จากยอดผู้เสียชีวิต 85 ราย ในจำนวนนี้ 84 มาจากนราธิวาส อีกรายมาจากยะลา ส่วนผู้ถูกควบคุมตัว 1,289 คน มาจากปัตตานีสิบ อีกหนึ่งคนมาจากยะลา ที่เหลือมาจากอำเภอต่างๆของนราธิวาส พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี แม่ทัพภาคสี่ระบุว่า "คนสามร้อยคนที่ถูกตั้งข้อหาฐานก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากตากใบ แต่มาจากสุไหงปาดี เจาะไอร้องและบาเจาะ" จากรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงขององค์กรพัฒนาเอกชนในกรุงเทพฯ
(33) จากช้อมูลที่จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์จนท.ตร.ที่สถานีตำรวจตากใบ เดือนธันวาคม 2547, จากข้อมูลอ้างไว้ใน The New York Times, 27 ตุลาคม 2547, จากที่นายศิวะ แสงมณีให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุในกรุงเทพฯ "ถ้าเราไม่ได้ตั้งเครื่องกีดขวางถนนหลายสายในตอนนั้น คงจะมีคนมากกว่านี้อีกเป็นหมื่น" ดูเหมือนมีการวางแผนเพื่อจัดการชุมนุมและจนท.ก็เตรียมรับมือด้วยเช่นกัน
(34) จากภาพข่าวการประท้วงที่ตากใบ, จากข้อมูลที่จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมชุมนุมและผู้เห็นเหตุการณ์ที่นราธิวาส, ธันวาคม 2547 อนันต์ ไทยสนิท ทนายความของผู้ถูกดำเนินคดีห้าสิบเก้ารายเปิดเผยกับไครซิสกรุ๊ปว่า ลูกความของเขาอ้างว่ามีคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่เข้าใจว่าเป็นคนจัดการชุมนุมไม่ยอมเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพยายามทุกวิถีทางที่จะขัดขวางการเจรจาใดๆ จากการสัมภาษณ์ของจนท.ไครซิสกรุ๊ป, ธันวาคม 2548
(35) จากข้อมูลที่จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ตากใบ, นราธิวาส, ธันวาคม 2547
(36) ทหารหลายรายที่จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์อ้างว่าผู้จัดการชุมนุมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในภาคใต้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ยอมระบุชื่อ อย่างไรก็ตาม จนท.รายหนึ่งเปิดเผยว่า บุคคลชื่ออุสมาน อุเซ็ง ครูโรงเรียนมูลนิธิอิสลามธรรมวิทยา และเป็นสมาชิกของกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนทซึ่งถูกจับเมื่อ พย. 2547 ให้การระหว่างถูกสอบปากคำว่า การชุมนุมที่ตากใบเป็นแผนที่จะยั่วยุให้จนท.ความมั่นคงใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า มีแผนจะจัดชุมนุมอื่นอีก ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ของ จนท.ไครซิสกรุ๊ป,ปัตตานี เมษายน 2548
(37) กลุ่มพูโลจัดให้มีการชุมนุมประท้วงเมื่อปี
2518 กรุณาดูจากหัวข้อย่อย III D
(38) "ผู้บริสุทธิ์รับเคราะห์ ฆ่าตัดหัว เซ่นม๊อบตากใบ", คมชัดลึก,
3 พย. 2547
(39) 'Buddhist beheaded in South' The Nation, 3 พย. 2547
(40) จากเวบไซท์ Blood Siam (เลือดสยาม) ซึ่งถูกปิดไปแล้ว, รายละเอียดของเนื้อหาที่เป็นภาษาอังกฤษสามารถหาดูได้จาก http://2bangkok.com/right.shtml#blood
(41) ตร.ตระเวนชายแดนเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มลูกเสือชาวบ้านเมื่อปี 2514 เพื่อให้เป็นการรวมตัวของพลเรือนต่อต้านคอมมิวนิสต์
(42) จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ปณิธาน วัฒนายากร, ธันวาคม 2547, 'Village Scouts meeting rally for peace raises concern', The Nation, 22 พย. 2547, ในแง่การเคลื่อนไหวของลูกเสือชาวบ้าน อ่านเพิ่มเติมได้จาก Katherine A. Bowie, A Ritual of National Loyalty: An Anthropology of the State and the Village Scout Movement in Thailand (New York, 1997)
(43) "สถานการณ์ภาคใต้หลังควันปืน",
โพสต์ทูเดย์, 27 ตค. 2547
(44) 'Thailand's
bloody Monday' Times, 8 พย. 2547
(45) อ้างแล้ว
(46) พล.ท.พิศาลยืนยันว่า ที่ขอย้ายออกจากตำแหน่งเป็นการตัดสินใจของตนเองทั้งนี้เพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวน "ไม่มีแรงกดดันจากใครทั้งสิ้น ผมรู้สึกว่าคงจะดีกว่าสำหรับทุกฝ่ายถ้าผมออกจากตำแหน่งนี้ในระหว่างที่มีการสอบสวน" เมื่อถามเรื่องกรณีการเสียชีวิต ได้รับคำตอบว่า "ผมเองก็ตกใจกับตัวเลขคนตายที่สูงขึ้น...แต่ผมก็รู้สึกว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว", "แม่ทัพภาคสี่ขอย้ายตัวเอง", โพสต์ทูเดย์, 3 พย. 2547; "แม่ทัพภาคสี่เปิดใจ", มติชน, 3พย. 2547
(47) วันที่ 24 มีค. 2548 รัฐบาลจ่ายเงินชดเชย 24 ล้านบาทให้กับบรรดาครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในที่ชุมนุมเมื่อ 25 ตค. 2547 จำนวน 345 ครอบครัว และยกเลิกเงื่อนไขที่จะให้คนเหล่านั้นยอมสละสิทธิในอันที่จะไม่ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการได้รับการชดเชย รองนายกรัฐมนตรีจาตุรนต์ ฉายแสงบอกว่า เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าไม่เป็นธรรมและผิดกฏหมาย, "ทักษิณสั่งเข้มดับไฟใต้", กรุงเทพธุรกิจ, 10 เมย. 2548; 'Government drops no-suit demand for victims', Bangkok Post, 10 เมย. 2548
(48) ภาพถ่ายและรายชื่อของพยานในเหตุการณ์ถูกเซ็นเซอร์เช่นเดียวกันกับรายงานของคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการเสียชีวิตกรณีกรือเซะ
(49) จากข้อมูลคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง,
อ้างแล้ว
(50) จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์
พอ.สมควร แสงภัทรเนตร โฆษกกองทัพภาคที่สี่, ยะลา, 12 เมย. 2548
(51) Angel M. Rabassa, The Muslim World After 911 (Rand, 2004), หน้า 406; Davis, Thailand faces up to southern extremist threat', อ้างแล้ว, 'Unrest in South Thailand: contours, causes, and consequences since 2001', Strategic Insights, Vol 1.IV, Issue 2, กพ. 2548
(52) มีความขัดแย้งกันอยู่บ้างในหมู่หน่วยงานด้านข่าวกรองและความมั่นคง ประเด็นว่าควรจะมีท่าทีอย่างไรต่ออิสมาอิล ลุตฟี เจ้าหน้าที่ที่ไครซิสกรุ๊ปได้สัมภาษณ์นั้นไม่มีรายใดเชื่อว่าเขามีส่วนร่วมโดยตรง ต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น, ดูเพิ่มเติมจาก Davis, 'Thailand faces up to southern extremist threat', อ้างแล้ว; 'Making sense of the muddle in the south', The Nation, 26 มค. 2548
(53) ดร.ลุตฟีเป็นสมาชิกคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติที่ตั้งเมื่อเดือนมีนาคม
2548
(54) Davis, 'Thailand
faces up to southern extremist threat', อ้างแล้ว; จากการที่ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์นักวิเคราะห์หลายราย
(55) ข้อมูลจากที่ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ข่าวกรองและนักวิชาการหลายราย; บันทึกการสอบปากคำนายแว อารง ฮู, อะดินาน สะริเด, มาหมูด ฮิมบูและคนอื่นๆ
(56) ดูเพิ่มเติมได้อย่างเช่นจาก Croissant อ้างแล้ว
(57) รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวของคนไทย ตัวเลขจากปี 2545 คือ 3,913 บาท สำหรับในนราธิวาสคือ 1,756 บาท สำหรับปัตตานี 2,279 บาท และยะลา 2,439 บาท จาก "รายงานสถิติจังหวัด 2547", สำนักงานสถิติจังหวัดจันทบุรี, สำนักงานสถิติแห่งชาติ หาได้จาก http://chantaburi.nso.go.th/Acrobat/Report_Stat47.pdf
(58) Yegar, อ้างแล้ว, หน้า 176 ดูเพิ่มเติมได้ด้วยจาก Andrew Cornish, Whose Place is this? Malay Rubber Producers and Thai Government Officials in Yala (White Lotus Press, 2520), ในเรื่องปัญหาการขาดแคลนโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ในฐานะที่เป็นตัวจักรในการหลอมรวมจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ากับพื้นที่อื่นของประเทศ
(59) Liow, 'Southern
discomfort', อ้างแล้ว หน้า 3
(60) จากข้อมูลที่จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ฮามะ
มะยูนะ อับดุล นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม และ หน.โครงการวิทยุชุมชนในนราธิวาส,
นราธิวาส, ธค. 2547
(61) งบจำนวนนี้ได้รับความเห็นชอบในที่สุด แต่คนจำนวนไม่น้อยยังวิตกว่าชาวบ้านในพื้นที่จะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ดูได้จาก ' Development spend-up a 'waste of money'', Bangkok Post, 5 พค. 2548
(62) จากการติดต่อระหว่างไครซิสกรุ๊ปกับสุรินทร์
พิศสุวรรณ สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, เมย. 2548
(63ป 'Appeasing
the south; Let us plan our own future',The Nation, 30 มีค. 2547
(64) Duncan McCargo, 'Understanding conflict in the Thai south through domestic politics', เสนอต่อที่ประชุมไทยศึกษาครั้งที่เก้า ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นอิลลินอยส์, 3-6 เมย.2548 หน้า 15-17
(65) อ้างก่อนหน้านี้, หน้า 17-19 นายกรัฐมนตรีทักษิณยังดำเนินการทางการเมือง เพื่อโยกเอาคนที่ยังอยู่ข้างพล.อ.เปรมออกจากงานที่ทำอยู่ นอกจากนี้ในเดือนพฤษภาคม 2545 ทักษิณได้ตั้งนายวันมูหะมัด นอร์ มะทา ผู้นำกลุ่มวาดะห์และสมาชิกระดับสูงของพรรคความหวังใหม่จากยะลาขึ้นเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ด้วยความหวังว่าจะสามารถดึงการควบคุมออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่เป็นนายหน้าให้กับรัฐบาลกลับทำให้นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา สูญเสียเสียงสนับสนุนจากมุสลิมในเขตเลือกตั้งหลายเขต และความรุนแรงก็ขยายตัวเกินจะควบคุมได้อยู่ และเขาถูกโยกออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยเมื่อมีนาคม 2546 จากข้อมูลที่ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์สุรินทร์ พิศสุวรรณ; McCargo, อ้างแล้ว หน้า 23
(66) ดร.รุ่ง แก้วแดงชี้ว่าการประเมินเช่นนี้เข้ากับแนวทางและให้ประโยชน์ต่อกลุ่มก่อความรุนแรงรวมทั้งนักการเมืองในท้องที่ และวิจารณ์ทักษิณที่ไม่สอบสวนลึกลงไปกว่านั้น, รุ่ง แก้วแดง, อ้างแล้ว หน้า 132-133
(67) ครม.มีมติเห็นชอบเรื่องนี้ในวันเดียวกัน "หนึ่งศตวรรษปัญหาชายแดนภาคใต้", กรุงเทพธุรกิจ, 6 พค. 2545; 'Cabinet to dissolve two security agencies', Bangkok Post, 1พค. 2545
(68) ข้อมูลจาก Virtual
Information Center, อ้างแล้ว,หน้า 13
(69) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์สุรินทร์ พิศสุวรรณ สส.พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศไทย,
กรุงเทพฯ, ธค. 2547
(70) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้นำศาสนาในยะลาและปัตตานี, ธค. 2547; ข้อมูลจาก Virtual
Information Center, อ้างแล้ว, หน้า 13
(71) McCargo, อ้างแล้ว
26
(72) อ้างแล้ว, หน้า 15
(73) การรวบรวบข่าวกรองซึ่งเป็นงานที่บรรดานักวิเคราะห์เห็นว่าเป็นจุดอ่อนที่สุดในบรรดาการบริหารงานด้านความมั่นคงในภาคใต้ มีหน่วยงานสิบหน่วยเป็นผู้ดำเนินการคือ ตำรวจภูธรภาค 9 (คุมห้าจังหวัด), ฝ่ายกิจการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กองทัพภาคที่สี่ ในกองทัพบก (คุมสิบสี่จังหวัดภาคใต้), ศูนย์อำนวยความมั่นคง กองทัพบก ซึ่งประสานตรงกับกองบัญชาการทหารสูงสุด, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน, ตำรวจตระเวนชายแดน กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานข่าวกรองที่เป็นหน่วยงานพลเรือนขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี, จาก Davis, 'Thailand confront separatist violence in its' Muslim south', อ้างแล้ว
(74) 'Making sense of the muddle in the south', The Nation, 26 มค. 2548
(75) จากการสัมภาษณ์ของไครซิสกรุ๊ป, ยะลา, เมย. 2548, จาก Davis, 'Thailand confront separatist violence in its' Muslim south', อ้างแล้ว
(76) สุภลักษณ์กับดอน, อ้างแล้ว หน้า 304-305 ตร.อาจจะสันนิษฐานว่าอดีตสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่ มีผู้เสนอความเห็นว่า ตร.เองอาจจะจงใจจัดการสายข่าวของทหารเหล่านี้ เพื่อจะลดทอนความสำคัญของทหารในภาคใต้ลง, ดูเพิ่มเติมจาก McCargo, อ้างแล้ว หน้า 27
(77) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของทหารและตำรวจ, ปัตตานี, ยะลา, ธค. 2547, เมย. 2548; McCargo, อ้างแล้ว หน้า 24, 'Assistant village head killed in latest attack', Bangkok Post, 5 มค. 2548; 'Army informer slain in south', The Nation, 15 กค. 2546
(78) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของทหารและตำรวจ, ปัตตานี, ยะลา, ธค. 2547, เมย. 2548; McCargo, อ้างแล้ว หน้า 24, 'Assistant village head killed in latest attack', Bangkok Post, 5 มค. 2548; 'Army informer slain in south', The Nation, 15 กค. 2546
(79) "ปรับทัพแก้ปัญหาภาคใต้ เหล้าเก่าในขวดใหม่", โพสต์ทูเดย์, 6 ตค. 2547; McCargo, อ้างแล้ว หน้า 25; ' Govt. task force for deep south', The Nation, 6 ตค. 2547
(80) อาจจะพูดได้ว่ากลุ่มก่อความไม่สงบเองมีเหตุผลเป็นเรื่องภายในที่ทำให้เริ่มก่อเหตุรุนแรงในจังหวะที่ทำขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายจากรัฐบาลในกรุงเทพฯได้กระหน่ำให้วิกฤติย่ำแย่ลงไปอีกในช่วงสามปีให้หลัง เริ่มต้นด้วยการยกเลิก ศอ.บต.และ พตท.43 ข้อมูลจากการที่จนท.ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ชิดชนก ราฮิมมูลา นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี, เมย. 2548
(81) แรงต้านสำคัญมาจากพวกสายเหยี่ยวในฝ่ายทหารและตำรวจ โดยเฉพาะฝ่ายหลังในกรุงเทพฯ พวกเขาอาจจะไม่ได้ต่อต้านเนื้อหามากนัก แต่อาจเป็นเพราะว่ารองนายกรัฐมนตรีนายจาตุรนต์เสนอเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชน ก่อนที่จะนำไปหารือกับเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง "ไม่สนใจสายเหยี่ยว ก็ทำไม่ได้" นักวิเคราะห์รายหนึ่งชี้ "ไม่หาทางออกให้กับพวกนี้ คือทางออกในการรักษาหน้า เราจะประเมินเรื่องของ "หน้า" ต่ำไม่ได้ในสังคมแบบสังคมไทย" จากการสัมภาษณ์ของไครซิสกรุ๊ป, กรุงเทพฯ, เมย. 2548
(82) อ้างในรายงานของกลุ่มฮิวแมนไรซ์วอช ' Not Enough Graves: The War on Drug, HIV/AIDS and the Violations of the Human Rights in Thailand', กค. 2547
(83) การประมาณการตัวเลขตั้งแต่ 3,000 ขึ้นไป ตัวเลขของรัฐบาลเองระบุว่ามีกว่า 2,000 คนถูกฆ่าตายระหว่าง กพ. และ สค.อีก 5,100 ถูกจับกุม อ้างแล้ว
(84) McCargo, อ้างแล้ว
หน้า 24
(85) จากการสัมภาษณ์ของไครซิสกรุ๊ปที่นราธิวาส ธค. 2547
(86) บันทึกการประชุมระหว่างสมาชิกคณะกรรมการกลางอิสลามในภาคใต้ กับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนจากกรุงเทพฯ,
พค. 2547
(87) จาก Davis, 'Thailand
confront separatist violence in its' Muslim south', อ้างแล้ว
(88) ดูจากหัวข้อย่อย V B
(89) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและเพื่อนร่วมงานของทนายความสมชาย นีละไพจิตร, ธค. 2547 รวมถึงอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง อดีตนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ กลุ่มเอเชียฟอรั่มเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, กรุงเทพฯ; 'Missing Lawyer Somchai accused police of torture', The Nation, 27 มีค. 2547
(90) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์นักการเมืองเชื้อสายมาเลย์ในพื้นที่,นราธิวาส,
ธค.2547
(91) 'Interpreting the South', The Nation, 10 พค. 2547
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
ขณะที่อีกด้าน บรรดาเพื่อนบ้านของไทยต่างก็กังวลว่า ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นอาจจะชักนำให้เกิดการสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งในศาสนาอิสลาม หรือไม่ก็ดึงเอากลุ่มนักรบศาสนาอย่างเช่นกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม ในด้านตัวปฏิบัติการเองก็มีความสลับซับซ้อนและมีอาการของการประสานงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เนทเข้าช่วย และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ซึ่งมีระบอบประชาธิปไตย และที่ซึ่งมีการใช้แนวทางแก้ปัญหาอย่างแข็งกร้าว