ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้เป็นสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๐๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ : Release date 01 August 2009 : Copyleft MNU.

ลักษณ์ ศิวรักษ์ มีความศรัทธามากเป็นพิเศษในเรื่องที่ หม่อมเจ้าสิทธิพรได้ทรงปฏิเสธที่จะร่วมงานกับรัฐบาลเผด็จการทหาร ทรงมีความมุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากไร้ ให้มีชีวิตความ เป็นอยู่ดีขึ้น ความคิดของหม่อมเจ้าสิทธิพรที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เห็นว่าสำคัญมากเป็นพิเศษ ดังปรากฏในปาฐกถาเรื่อง "อนาคตของไทยมองจากแง่ของอดีต" (พ.ศ.๒๕๑๙) คือความคิดที่ว่า "อนาคตของไทย อยู่ที่กสิกร ควรให้การศึกษาทางด้านกสิกรรมให้มาก ต้องหาทางให้เยาวชนออกไปเป็นกสิกร ไม่ใช่ให้ไปรับราชการ ให้ลูกหลานชาวนาได้เป็นชาวนาที่ดี ที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความรู้ ความสามารถมากขึ้น และมีศักดิ์ศรีสมภาคภูมิแก่การเป็นชาวนา" และ"ในทางการเมือง จำต้องมีระบบรัฐสภา (คัดลอกมาบางส่วนจากบทความ)

H



01-08-2552 (1751)

การสร้างความหมาย"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ในรอบร้อยปี
ความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์
สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความวิชาการนี้ ตัดมาบางส่วนจากงานวิจัยของผู้วิจัย บทที่ ๑๑ เรื่อง
การสืบทอดและการปรับเปลี่ยนความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์
เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์และวาทกรรมความเป็นไทยว่าได้รับการประกอบสร้างขึ้นมาอย่างไร
มีเนื้อในที่เป็นแก่นอะไรแฝงฝังอยู่บ้าง โดยเฉพาะแนวคิดความเป็นไทยของปัญญาชนสยาม นาม
ส.ศิวรักษ์ ซึ่งนับว่ามีอิทธิพลไม่น้อยต่อแวดวงสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ไทย

บทความนี้ขอรับมาจากผู้เขียน ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ คือ
- แก่นความคิดพุทธศาสนา-ความเป็นไทย ของสุลักษณ์ ศิวรักษ์
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์ในทัศนะของ พระไพศาล วิสาโล
- ภูมิหลังทางการศึกษาและการทำงานของสุลักษณ์ ศิวรักษ์
- ชีวิตการทำงานของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์
- การถกเถียงเกี่ยวกับความหมายของ"ปัญญาชน"
- ชีวิตการทำหนังสือทำให้รู้จักปัญญาชนทั่วโลก
- หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร - สุลักษณ์ ศิวรักษ์ - ปัญหาชาวนา
- ความสัมพันธ์กับปัญญาชนที่เป็นบรรพชิต
- บทบาทของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในโลกหนังสือ
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์ - ลัทธิของเพื่อน ปูพื้นไว้ให้แต่เยาว์วัย
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย")

สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๕๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๐๑ สิงหาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๑ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การสร้างความหมาย"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ในรอบร้อยปี
ความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์
สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

การสืบทอดและการปรับเปลี่ยนความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์

ความนำ
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นปัญญาชนที่มีบทบาททางความคิดสูงมากนับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นผู้มีความสนใจเกี่ยวกับการทำนิตยสารและการเขียนหนังสือเพื่อเสนอความรู้และความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม และยังคงเสนอความรู้และความคิดเห็นต่างๆ อย่างกระตือรือร้นสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ความคิดและความรู้ที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์เสนอแก่สังคมไทย มีเนื้อหากว้างขวางและหลากหลาย แต่อาจกล่าวได้ว่าเรื่องหลักๆ ที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์พูดและเขียน ก็คือความคิดและความรู้เกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" นั่นเอง

1. ในระยะแรกๆ คือระหว่างทศวรรษ 2500-2510 การนิยามความหมาย "ความเป็นไทย" ของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีจุดเด่นอยู่ที่การสืบทอดความคิดของปัญญาชนกระแสหลัก แต่ความคิดสำคัญหลายประการที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์เสนอในช่วงทศวรรษ 2500-2510 นี้ ก็แตกต่างไปจากความคิดกระแสหลักมากทีเดียว และส่วนที่แตกต่างนี้เองที่เป็นฐานให้แก่การปรับตัวทางความคิดอย่างมีพลวัตของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เพื่อตอบสนองต่อบริบททางสังคมและปัญหาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้นในทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา

2. เห็นได้ชัดจากงานเขียนและปาฐกถาของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ว่า นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ความรู้และความคิดเกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" ที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์เสนอนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก แม้ว่าความคิดบางส่วนจะยังคงอยู่ในกรอบของ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก แต่ความหมายสำคัญๆ หลายประการได้รับการปรับเปลี่ยนจนออกไปนอกกรอบของ "ความเป็นไทย" กระแสหลักอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกันนั้นสุลักษณ์ ศิวรักษ์ก็ได้เพิ่มเติมความคิดใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คำอธิบายและการเสนอทางออกสำหรับปัญหาต่างๆ อันเกิดจากการขยายอิทธิพลของลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยม รวมทั้งปัญหาความยากจนและปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐแบบอมาตยาธิปไตยและอำนาจนิยมของไทยไม่อาจแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

แก่นความคิดพุทธศาสนา-ความเป็นไทย ของสุลักษณ์ ศิวรักษ์
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสุลักษณ์ ศิวรักษ์จะวิเคราะห์ปัญหาใหม่ ๆ และเสนอทางออกแก่ปัญหาต่าง ๆ อย่างกว้างขวางตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ทำหน้าที่ของปัญญาชน แต่วิธีคิดและมุมมองของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ มิได้เปลี่ยนแปลงไปในระดับพื้นฐาน เพราะสุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้นำวิธีคิดและมุมมองทางพุทธศาสนา อันเป็นหัวใจของ "ความเป็นไทย" มาเป็นฐานในการอธิบายและการเสนอทางออกแก่สังคมไทยตลอดมา ทั้งนี้เพราะเป็นวิธีคิดและมุมมองที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์เห็นว่าถูกต้อง

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้ทำการประยุกต์หลักธรรมะต่าง ๆ เพื่อให้เกิดเป็นคำอธิบายที่สามารถสื่อสารกับคนในสังคมสมัยใหม่ได้ดี ทำให้เกิดเป็นวิธีคิดและมุมมองเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" อันเป็นลักษณะเฉพาะของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ขณะเดียวกัน สุลักษณ์ ศิวรักษ์ก็แสวงหาความรู้และข้อมูลใหม่อยู่เสมอ เนื่องจากให้ความสำคัญแก่ "สัจจะ" มากเป็นพิเศษ ซึ่งเมื่อค้นพบ "ความจริงใหม่" แล้วก็พร้อมจะ "ทุบหุ่น" หรือทำลายภาพอุดมคติที่เคยมีมาแต่เดิมลงไป และสร้าง "หุ่นใหม่" ขึ้นมาแทนที่ (*) ทำให้ความหมายของ "ความเป็นไทย" ที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์นิยาม แตกต่างจากปัญญาชนกระแสหลักมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่กลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา

(*) ส. ศิวรักษ์, "บทบรรณาธิการ" สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 3,4 ( 2509) ใน หกปีจากปริทัศน์ของ ส. ศิวรักษ์ พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ศยาม, 2541. หน้า 336.

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ในทัศนะของ พระไพศาล วิสาโล
พระไพศาล วิสาโล ปัญญาชนบรรพชิตที่สำคัญรูปหนึ่งในปัจจุบัน ได้สรุปบทบาทของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ไว้อย่างครอบคลุมรอบด้าน เมื่ออภิปรายเรื่อง "ปริทัศน์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในมุมมองหลากทัศนะ" เนื่องในงานฉลองครบรอบ 72 ปี ของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ดังต่อไปนี้

ความเป็น radical conservative เป็นลักษณะเด่นอันหนึ่งของอาจารย์สุลักษณ์ เป็น conservative ในแง่ที่ต้องการอนุรักษ์ของเก่า โดยเฉพาะของเก่าที่ดี โดยเฉพาะสถาบัน เช่น สถาบันกษัตริย์ สถาบันสงฆ์ สถาบันศาสนา อาจารย์สุลักษณ์จะรู้ดีมากที่สุดในเรื่องเกี่ยวกับวังและวัด...โดยเฉพาะโยงไปถึงเรื่องของการเมืองเวลานี้ และมิติทางจิตวิญญาณ...ตอนหลังมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องภูมิธรรมของชาวบ้าน ...อาตมาคิดว่า อาจารย์สุลักษณ์เป็นปัญญาชนรุ่นแรกที่พูดเรื่องนี้ ที่กระตุ้นให้ปัญญาชนร่วมสมัยตระหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้...อาจารย์ได้บุกเบิกมาตั้งแต่ ๓๐ ปีที่แล้ว คือก่อน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ...เรื่องมิติชาวบ้าน การให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมภูมิปัญญาชาวบ้าน...๓ ส่วนนี้ คือวัง วัด บ้าน เป็นสถาบันสำคัญที่อาจารย์สุลักษณ์ได้พยายามอนุรักษ์ไว้...แต่เป็น radical หมายถึง การลงไปถึงรากฐาน การลงไปที่ตัวรากเหง้าของปัญหา ความเป็น radical ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการที่อาจารย์สุลักษณ์ให้ความสำคัญมิติการเมือง ...โดยเฉพาะเมื่อพยายามจับปัญหาเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้าง จับเรื่องเกี่ยวกับทุนนิยม เรื่องโลกาภิวัตน์...ต้องไปทวนกระแสหลักโดยเฉพาะกระแสทุนนิยม บริโภคนิยม ...ความเป็น radical ...ที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งคือการที่ลงไปรากฐานที่ลึกไปกว่าเรื่องการเมือง หรือเรื่องของระบบ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คือ มิติด้านจิตวิญญาณ หรือความล้ำลึกทางด้านศาสนธรรม (*)

(*) พระไพศาล วิสาโล, (อภิปราย), "ปริทัศน์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ในมุมมองหลากทัศนะ" ใน ปัญญาชนสาธารณะแห่งสยาม ปัญญาชนเพื่อประชาชน กรุงเทพฯ: สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย, 2549. หน้า 111-113.

พระไพศาล วิสาโล ลงความเห็นด้วยว่า ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 สุลักษณ์ ศิวรักษ์ "คือประทีปแห่งสังคมไทย" และระบุว่า "อาจารย์สุลักษณ์มีคุณูปการและอิทธิพลต่อสังคมไทยเด่นและก็ถึงจุดสูงสุด ช่วง ๑๔ ตุลา ...หลัง ๑๔ ตุลาไปแล้ว อิทธิพลของอาจารย์สุลักษณ์ก็จะค่อยๆ คลายลง" ซึ่งพระไพศาล วิสาโลอธิบายว่าเป็นเพราะหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น "สังคมไทยมีประทีปทางปัญญาเกิดขึ้นหลายแห่ง...เราได้มีปัญญาชนใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น..." (*)

(*) เรื่องเดียวกัน, หน้า 118-119.

นอกจากนี้พระไพศาล วิสาโล ยังตั้งข้อสังเกตว่าในระยะหลังๆ ความล้มเหลวในการผลักดันให้ "ความเป็นไทย" กระแสหลักได้รับการปฏิรูป น่าจะเป็นเหตุให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์เคลื่อนไหวในสังคมไทยน้อยลง แต่หันไปเคลื่อนไหวทางความคิดในต่างประเทศมากขึ้น ดังความว่า

อาจารย์สุลักษณ์ดูเหมือนว่าจะหมดศรัทธา หรือจะหมดหวังกับสังคมไทยในหลายๆ เรื่อง อย่างหนึ่งที่อาจารย์หมดหวังคือ สถาบันสงฆ์...ชีวิตท่านล้มเหลวหลายแง่ เพราะว่าสิ่งที่ท่านให้ความสำคัญ เช่น สถาบันสงฆ์ มหาวิทยาลัย อาจรวมถึงพระมหากษัตริย์ด้วย ท่านพยายามผลักดันให้มีความเปลี่ยนแปลง แต่ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นช้ามาก หรือไม่มีเลย หรือถอยหลัง เช่นสถาบันสงฆ์ มหาวิทยาลัย เพราะเหตุนี้หรือเปล่า อาจารย์สุลักษณ์เลยหันไปมีบทบาทในต่างประเทศมากขึ้น...ไปประกาศอาสภิวาจาในต่างประเทศแทน ซึ่งต่างประเทศก็เงี่ยหูฟังอย่างดี... (*)

(*) เรื่องเดียวกัน, หน้า 119-120.

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระไพศาล วิสาโลมุ่งแสดงให้เห็นภาพรวมของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ในเวลาอันจำกัด ดังนั้น จึงยังมิได้วิเคราะห์แนวความคิดที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เสนอแก่สังคมไทยโดยละเอียด รวมทั้งมิได้ชี้ให้เห็นจุดเปลี่ยนทางความคิด และมูลเหตุต่างๆ ที่ทำให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปรับเปลี่ยนความคิด ตลอดจนจุดร่วมและจุดต่างระหว่างสุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับปัญญาชนกระแสหลักอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจทั้งความคิดกระแสหลักในสังคมไทย และประเมินอิทธิพลทางความคิดของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ต่อสังคมไทยได้ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น

ภูมิหลังทางการศึกษาและการทำงานของสุลักษณ์ ศิวรักษ์
หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ ใน พ.ศ.2495 แล้ว สุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้เดินทางไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ณ วิทยาลัยเซนต์เดวิด (St. David's College) วิทยาลัยแห่งนี้แตกต่างจากสถาบันการศึกษาที่เจ้านายไทยได้เคยไปศึกษาเล่าเรียน ดังที่นายไมเคิล ไรท์ได้เขียนไว้ว่า

ท่านเจ้านายที่ไปเรียนอังกฤษตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มักเรียนตามโรงเรียนเจ้านาย (Public School เช่น Rugby, Harrow, Eton) ที่เน้นกษัตริยธรรม คือวิชาการปกครองและการใช้อำนาจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและผลประโยชน์ของชนชั้นบน โรงเรียนเหล่านี้เป็นที่เพาะนักปกครองอาณานิคมตลอดคริสตศตวรรษที่ ๑๙ และครึ่งแรกของคริสตศตวรรษที่ ๒๐

แต่ท่าน ส. เข้าเรียนที่ St. David's College, Lampeter, ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับลูกชนชั้นสูงจริง แต่เป็นของศาสนจักรคริสต์นิกายอังกฤษ (Anglican) ฝ่ายเสรีนิยม ที่มีหลักสูตรสอนนักเรียนให้รักความจริงและความเป็นธรรม เข้าข้างคนที่ถูกรังแก (Side with the Underdog) และกษัตริยธรรมที่ว่าคนสูงศักดิ์ต้องเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของคนอื่น (Noblesse oblige) กล้าพูดความเป็นจริง และกล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้อง

(*) ไมเคิล ไรท์, "ขอคุยกับอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ หน่อย" คอลัมน์ "ฝรั่งมองไทย" มติชนสุดสัปดาห์ 23, 1192 (20 มิถุนายน 2546): 42.

ชีวิตการทำงานของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์
หลังจากสุลักษณ์ ศิวรักษ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้ทำงานในในสถานีวิทยุบี บี ซี ในประเทศอังกฤษระหว่าง พ.ศ.2503-2504 เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ได้ทำงานในสำนักแถลงข่าวอังกฤษและสำนักแถลงข่าวอเมริกันอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะลาออกเพื่อทำหน้าที่บรรณาธิการของสำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2505 และได้ทำหน้าที่บรรณาธิการ "วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์" ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 จนถึง พ.ศ.2512 หลังจากนั้นได้เป็นบรรณาธิการนิตยสารอื่นๆ อีกหลายฉบับ เช่น วิทยาสาร วิทยาสารปริทัศน์ และ อนาคต เป็นต้น แต่การเป็นบรรณาธิการหนังสือในระยะหลังล้วนเป็นการทำงานในระยะสั้น ทั้งนี้เพราะเป็นผู้ที่ยืนยันในความคิดเห็นที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง มากกว่าจะยอมผ่อนปรนแก่นายทุน ดังมีผู้เล่าว่า "ส.ศิวรักษ์ ทำ วิทยาสาร และ วิทยาสารปริทัศน์ อยู่ได้ไม่นาน ก็เกิดขัดแย้งกับนายทุน...จึงผละออกมาเสีย อยู่ต่อมาเขารับเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสาร อนาคต ของสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม แต่ทำอยู่ได้ชั่วระยะเวลาอันสั้น" (*)

(*) จิตรกร ตั้งเกษมสุข, "คำนำบรรณาธิการ" คันฉ่องของ ส.ศิวรักษ์ จิตรกร ตั้งเกษมสุข บรรณาธิการ กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2526. หน้า "คำนำ".

สาเหตุสำคัญที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไม่เข้าทำงานในระบบราชการ คงเป็นเพราะว่าเมื่อเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษในกลางทศวรรษ 2500 เป็นต้นมานั้น สุลักษณ์ ศิวรักษ์รู้สึกว่าระบบราชการไม่มีสมรรถภาพในการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศอีกต่อไปแล้ว (*) และรัฐบาลในเวลานั้นก็มีความบกพร่องทางจริยธรรมจนทำให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์ไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้อง (**) ขณะเดียวกันสุลักษณ์ ศิวรักษ์มีความคิดว่า จะสามารถกระตุ้นสังคมจากนอกระบบราชการ และสามารถจะสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งก็คือโรงเรียนฝึกข้าราชการขนาดใหญ่นั่นเอง ทั้งนี้ สุลักษณ์ ศิวรักษ์มีความหวังว่าเมื่อคนรุ่นใหม่เหล่านี้เข้าไปทำงานในระบบราชการ ก็จะส่งผลให้ระบบราชการดีขึ้น คือกลายเป็นกลไกที่มีสรรถภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาประเทศ (***)

(*) นิธิ เอียวศรีวงศ์, "สุลักษณ์ ศิวรักษ์ในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย" ศิลปวัฒนธรรม 25, 5 (มีนาคม 2547): 162.
(**)ส. ศิวรักษ์, "ช่วงแห่งการปฏิวัติ" กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, 2517. น. 2-25. สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เจ้า-ข้า ฟ้าเดียวกัน, กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2525. น. 356-357.
(***)ส. ศิวรักษ์, "ปัญญาชนสยาม" พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: แสงรุ้งการพิมพ์, 2521. หน้า 75-76.

อนึ่ง สุลักษณ์ ศิวรักษ์มีทัศนะว่า การเขียนหนังสือและการจัดพิมพ์หนังสือ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ของปัญญาชนนั้น มีความสำคัญต่อสังคมยิ่งกว่าการเข้าไปทำงานในระบบราชการ เพราะปัญญาชนในทัศนะของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หมายถึงผู้มีความสนใจในทางคุณธรรม จริยธรรม ความงาม และความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมตลอดจนวิทยาการต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีความสนใจในปัญหาของบ้านเมือง ต้องการจะเสนอความคิดในการปรับปรุงบ้านเมืองให้ดีขึ้น โดยมีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นภาพรวมของปัญหา สามารถพิจารณาปัญหาต่างๆ จนเข้าใจอย่างชัดเจนว่าปัญหานั้นๆ มีความซับซ้อนอย่างไร เชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ อย่างไร ซึ่งทำให้ปัญญาชนสามารถเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาที่ดีให้แก่ผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ ในระบบราชการ เพื่อนำแนวทางที่ปัญญาชนเสนอนี้ไปดำเนินการ ให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป

การถกเถียงเกี่ยวกับความหมายของ"ปัญญาชน"
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 2510 มีการถกเถียงเกี่ยวกับความหมายของ "ปัญญาชน" และบทบาทที่ควรจะเป็นของ "ปัญญาชน" ในสังคมไทยอย่างคึกคัก ดังปรากฏในวารสารต่าง ๆ เช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ และในการประชุมอภิปรายและการเสวนาหลายครั้ง ผู้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับ "ปัญญาชน" คือศาสตราจารย์เฮอเบร์ต พ. ฟิลลิปส์ (Herbert P. Phillips) ซึ่งเผยแพร่ผลวิจัยเรื่อง "วัฒนธรรมของปัญญาชนสยาม" ใน พ.ศ.2510 (*) ขณะเดียวกัน ในต้นทศวรรษ 2510 นี้ สังคมไทยประสบปัญหาต่างๆ อย่างรุนแรงและเป็นปัญหาอันซับซ้อน ที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล และการเป็นพันธมิตรทางการเมืองและการทหารกับสหรัฐอเมริกาในสงครามเย็น อันทำให้ผู้มีการศึกษาสูงจำนวนหนึ่งสำนึกว่าพวกตนในฐานะ "ปัญญาชน" ควรจะมีบทบาทในการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงปัญหาเรื่องความหมายและบทบาทหน้าที่ของปัญญาชนอย่างจริงจัง

(*) เฮอเบิร์ต พ. ฟิลลิปส์, "วัฒนธรรมปัญญาชนสยาม" แปลโดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน ปัญญาชนสยาม พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: แสงรุ้งการพิมพ์, 2521. หน้า 104-182.

ใน พ.ศ. 2511 กมล สมวิเชียร เขียนบทความเรื่อง "ลักษณะและปัญหาของปัญญาชนไทย" เน้นอุปสรรคในการทำงานของปัญญาชน อันเนื่องมาจากสื่อประเภทต่าง ๆ ที่มุ่งรับใช้รัฐและทุน ในขณะที่ปัญญาชนมีน้อย อาจารย์ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ "เป็นข้าราชการผู้ทรงเกียรติแต่ว่านอนสอนง่ายทางปัญญา" ทำให้ "เมืองไทย...ยังห่างไกลจากความอยู่ดีกินดีทางสติปัญญายิ่งนัก" ซึ่งปัญหาด้านสติปัญญานี้ เชื่อมโยงไปถึงปัญหาของประชาธิปไตย เพราะ "คนที่คิดไม่เป็น ย่อมเป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่เลว อันจะนำไปสู่ความวุ่นวายหายนะในที่สุด" (*) ต่อมาใน พ.ศ.2512 มีการอภิปรายที่ "สามัคคีสมาคม" เกี่ยวกับความหมาย บทบาท และหน้าที่ของปัญญาชน ซึ่งได้ข้อสรุปสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

(*) กมล สมวิเชียร, "ลักษณะและปัญหาของปัญญาชนไทย" ใน ปัญญาชนสยาม พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: แสงรุ้งการพิมพ์, 2521. หน้า 3-36. (พิมพ์ครั้งแรกใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 6, 1 (มิถุนายน-สิงหาคม 2511).

๑. ปัญญาชน...คือผู้มีสติปัญญา ความรู้ วิจารณญาณ และกิจกรรมทางสังคม
๒. ปัญญาชนไม่ต้องรับผิดขอบต่อ "อัตราความเจริญของประเทศไม่เร็วพอ" เพราะปัญญาชนไม่ใช่ผู้นำที่จะทำอะไรได้
๓. ปัญหาของประเทศไทยนั้น อาจแก้ได้โดยการมีผู้นำที่เป็นปัญญาชนตามความหมายในข้อต้น และเป็นผู้ที่มีลักษณะ Charismatic Leadership กับ "จะต้องเป็นคนๆ หนึ่ง และคนเดียวเท่านั้น" (**)

(**) อ้างใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, "ปฏิกิริยา: ปัญญาชนไทย" สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 7, 2 (กันยายน-พฤศจิกายน 2512): 100. (เน้นโดยนิธิ เอียวศรีวงศ์).

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เขียน "ปฏิกิริยา: ปัญญาชนไทย" เพื่อโต้แย้งทัศนะเกี่ยวกับ "ปัญญาชน" ข้างต้นนี้ และเน้นว่า "ปัญญาชน" ต้องเป็นผู้ที่กอปรด้วย "ศีล สมาธิ ปัญญา" ซึ่งทำให้สามารถ "ถามคำตอบและตอบคำถาม" อยู่เสมอไป โดย "ปัญญาชน" จะต้องมีความรับผิดชอบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชาวนาและกรรมกรถูกกดขี่ขูดรีดอย่างรุนแรง และยังเป็นการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงศิลปวัฒนธรรมอีกด้วย ทั้งนี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีความเห็นเช่นเดียวกันกับกมล สมวิเชียร ว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของไทยยังห่างไกลจากฐานะที่เป็น "ปัญญาชน" โดยให้คำจำกัดความหรือให้ความหมายของ "ปัญญาชน" ไว้ดังนี้

ปัญญาชนคือผู้ที่แสดงความคิดของตน เกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม หรือปัญญา (วิชาการและปรัชญา) หรือการเมือง หรือศีลธรรมของสังคมหรือของมนุษยชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งทำให้เกิดการกระทำตามความคิดนั้นอย่างเป็นกลุ่มก้อน หรือทำให้คนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในสังคมหรือในโลกคิดตามนั้น (*)

(*) นิธิ เอียวศรีวงศ์, "ปฏิกิริยา: ปัญญาชนไทย" สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 7, 2 (กันยายน-พฤศจิกายน 2512): 101-112.

เห็นได้ชัดว่าสุลักษณ์ ศิวรักษ์มีคุณลักษณะของ "ปัญญาชน" ในความหมายที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ นิยามไว้ทุกประการ และสุลักษณ์ ศิวรักษ์เองมีความสนใจเป็นพิเศษมาเป็นเวลานานเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของปัญญาชนต่อสังคมไทย และได้เขียนหรือแสดงปาฐกถาเรื่องเกี่ยวกับปัญญาชนไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่อง "บทบาทของปัญญาชน" "ปัญญาชนกับการสร้างสรรค์ประเทศ" และ "ปัญญาชนไทย" เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เขียนเกี่ยวกับปัญญาชนตะวันตกและชาติอื่นๆ อีกมาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์เห็นว่าปัญญาชนต้องสนใจในการปรับปรุงบ้านเมือง สามารถจับประเด็นหรือแก่นของปัญหา และสนใจในคุณธรรมความดีและศิลปวิทยาการ (*) ซึ่งสุลักษณ์ ศิวรักษ์เห็นว่าตนเองมีคุณสมบัติที่ทำหน้าที่ของปัญญาชนดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี และได้เลือกที่จะเป็น "ปัญญาชน" ตลอดมา

(*) ส. ศิวรักษ์, "ปัญญาชนไทย" ใน ตีนติดดิน กรุงเทพฯ: ศึกษิตสยาม, 2515.

ชีวิตการทำหนังสือทำให้รู้จักปัญญาชนทั่วโลก
นอกจากการเขียนหนังสือและจัดทำหนังสือหลายฉบับ รวมทั้งได้ออกหนังสือ จดหมายเหตุ ในระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ.2516 ถึงเดือนเดือนพฤษภาคม 2518 รวม 24 ฉบับ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ในบ้านเมืองและเสนอทางแก้ปัญหาต่างๆ ในทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยังได้ทำงานร่วมกับคนในประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวางและหลากหลาย ซึ่งทำให้มีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างขวางและได้รับข่าวสารข้อมูลต่างๆ จากทั่วโลก เป็นต้นว่า

...ส.ศิวรักษ์ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้กับ "สภาวัฒนธรรมแห่งเอเชีย" อันเป็นหน่วยงานเอกชนที่สนใจนำศาสนธรรมและวัฒนธรรมมาใช้ในการพัฒนา เพื่อให้คนยากไร้ได้มีปัจจัยสี่เป็นพื้นฐาน กับให้มีสิทธิมนุษยชนอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในฐานะของผู้ประสานงานของศูนย์นี้ ทำให้ ส.ศิวรักษ์ต้องเดินทางไปต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา เขาจึงรู้จักมักคุ้นกับคนในประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา ทั้งในโลกทุนนิยมและสังคมนิยม ทั้งที่เป็นประเทศประชาธิปไตยและที่เป็นประเทศเผด็จการ เขามีโอกาสพบปะเสวนากับปัญญาชน นักคิด นักเขียน คนสำคัญๆ อยู่เสมอๆ โดยที่ตัวเขาเองก็เป็นนักคิดนักเขียนไทยที่นานาประเทศให้การยอมรับอย่างกว้างขวางด้วย เมื่อคราวที่สหรัฐอเมริกาฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการประกาศอิสรภาพ ...ก็ยังให้เกียรติเชิญเขาไปร่วมกล่าวสุนทรพจน์ (*)

(*) จิตรกร ตั้งเกษมสุข, "คำนำบรรณาธิการ" คันฉ่องของ ส.ศิวรักษ์. หน้า "คำนำ".

การเป็นบรรณาธิการ"วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์"และวารสารฉบับอื่นๆ ในเวลาต่อมา ก็ทำให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีความสัมพันธ์กับบรรณาธิการวารสารในต่างประเทศหลายฉบับ บรรณาธิการบางคนได้ขอให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้คัดเลือกบทความในเมืองไทย เพื่อส่งไปตีพิมพ์ในวารสารเหล่านั้น (*) ในบางครั้งก็มีนักหนังสือพิมพ์ชั้นนำจากประเทศอื่น เดินทางมาเยือนสุลักษณ์ ศิวรักษ์ (**) ทำให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์มีความสัมพันธ์กับนักคิดนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์หลายชาติ ซึ่งเอื้อให้มีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารและข้อคิดเห็นต่างๆ อย่างกว้างขวางเช่นกัน

(*) ส. ศิวรักษ์, "บทบรรณาธิการ" สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 4, 3 ( 2509) ใน หกปีจากปริทัศน์ของ ส. ศิวรักษ์ พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ศยาม, 2541. หน้า 415.
(**) ส. ศิวรักษ์, "บทบรรณาธิการ" สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 4, 4 ( 2509) ใน หกปีจากปริทัศน์ของ ส. ศิวรักษ์. หน้า 417.

ภายในประเทศไทยนั้น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งกับ "ปัญญาชน" และกับ "คนหนุ่ม" ซึ่งทำให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์สามารถมีอิทธิพลต่อ "คนหนุ่ม" จำนวนไม่น้อย ขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้เรียนรู้ทั้งจาก "ปัญญาชน" และ "คนหนุ่ม" ในวงการต่างๆ เป็นอย่างมาก

ในบรรดา "ปัญญาชน" นั้น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีความสัมพันธ์กับ "ปัญญาชน" หลายกลุ่มด้วยกัน เช่น ในระดับปัญญาชนอาวุโสนั้น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระยาอนุมานราชธน ซึ่งทำให้พระยาอนุมานราชธนมีอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" ต่อสุลักษณ์ ศิวรักษ์มาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 โดยเฉพาะในแง่ที่พระยาอนุมานราชธน ได้พยายามสั่งสมและเผยแพร่ศิลปวิทยาการของไทย อันได้แก่ความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ประวัติศาสตร์ไทย วรรณคดีไทย และภาษาไทย แล้วยังนำเอาความรู้อย่างฝรั่งมาเผยแพร่ในเมืองไทย เพื่อให้คนไทยสามารถเลือกรับความรู้เหล่านั้นมา "ประสานประโยชน์" เข้ากับ "ความเป็นไทย" อย่างมีวิจารณญาณ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้เขียนถึงคุณงามความดีของพระยาอนุมานราชธนไว้มาก โดยเน้นในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต ความรักใน "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" อย่างแท้จริง ความรักในความรู้ และความเป็นครู (*) ซึ่งสุลักษณ์ ศิวรักษ์เองก็ได้พยายามสืบทอดคุณลักษณะเหล่านี้ตลอดมา รวมทั้งสืบทอดบทบาทความเป็น "ครู" ของพระยาอนุมานราชธน ซึ่งสุลักษณ์ ศิวรักษ์เห็นว่า

...ตามความเป็นจริงแล้วท่านเป็นครูอยู่ตลอดเวลา...
พระยาอนุมานราชธนเป็นครูผู้ฉลาด ที่พยายามจะเอาชนะชนทุกชั้น และพยายามเชื่อมของดีในอดีตสมัยให้สืบเนื่องต่อไปยังคนรุ่นใหม่ ให้คนทุกรุ่นทุกวัย ได้รู้จักและเข้าใจในเรื่องความเป็นมาของขนบธรรมเนียมประเพณีและที่มาทางวัฒนธรรมจากแหล่งต่างๆ ...พระยาอนุมานราชธนเป็นสัญลักษณ์ของสยามที่เชื่อมเก่าให้ต่อกับใหม่ เชื่อมอดีตให้ต่อกับปัจจุบัน... (**)

(*) โปรดดูรายละเอียดใน จดหมายโต้ตอบระหว่างเสฐียรโกเศศกับส. ศิวรักษ์ กรุงเทพฯ: ศึกษิตสยาม, 2514. หน้า 1-242.
(**) ส. ศิวรักษ์, "พระยาอนุมานราชธน (ยง อนุมานราชธน) พ.ศ.2431-2512)" ใน จดหมายโต้ตอบระหว่างเสฐียรโกเศศกับส. ศิวรักษ์. หน้า 131-141.

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร - สุลักษณ์ ศิวรักษ์ - ปัญหาชาวนา
ส่วนหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ซึ่งสุลักษณ์ ศิวรักษ์ รู้จักเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2506 และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในช่วง พ.ศ.2511-2512 นั้น แม้ว่าจะทรงมีความรู้แบบตะวันตกมาก แต่ทรงมีอิทธิพลทางความคิดต่อสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในแง่ที่ทำให้เห็นคุณค่า "ความเป็นไทย" เช่นเดียวกัน โดยที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีความศรัทธามากเป็นพิเศษในเรื่องที่หม่อมเจ้าสิทธิพรได้ทรงปฏิเสธที่จะร่วมงานกับรัฐบาลเผด็จการทหาร ทรงมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากไร้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ความคิดของหม่อมเจ้าสิทธิพรที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เห็นว่าสำคัญมากเป็นพิเศษ ดังปรากฏในปาฐกถาเรื่อง "อนาคตของไทยมองจากแง่ของอดีต" (พ.ศ.2519) คือความคิดที่ว่า

"อนาคตของไทยอยู่ที่กสิกร ควรให้การศึกษาทางด้านกสิกรรมให้มาก ต้องหาทางให้เยาวชนออกไปเป็นกสิกร ไม่ใช่ให้ไปรับราชการ ให้ลูกหลานชาวนาได้เป็นชาวนาที่ดี ที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความรู้ความสามารถมากขึ้น และมีศักดิ์ศรีสมภาคภูมิแก่การเป็นชาวนา" และ "ในทางการเมือง จำต้องมีระบบรัฐสภา สมาชิกสภาจะเป็นใครก็ตาม หากต้องเป็นผู้มีความเข้มแข็งทางจริยธรรม (moral courage) คือเป็นผู้ที่กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ในสิ่งที่ตนถือว่าถูกต้อง แม้จะขัดใจผู้มีอำนาจหรือมหาชนก็ตามที" (*)

(*) ส. ศิวรักษ์, "อนาคตของไทยมองจากแง่ของอดีต" ใน อนาคตสำหรับไทยและอุดมคติทางการศึกษา พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2540. หน้า 16.

อาจกล่าวได้ว่า หม่อมเจ้าสิทธิพรทรงมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์หันมาสนใจปัญหาของชาวไร่ชาวนานับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา และทรงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ในเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรมอีกทางหนึ่งด้วย (*)

(*) ส. ศิวรักษ์, ไม้ซีกงัดไม้ซุง กรุงเทพฯ:เซ็นเตอร์พับลิเคชั่น, 2526. หน้า 253-256 และ หน้า 295-297. และ ส. ศิวรักษ์, "หม่อมศรีพรหมา กฤดากร" ใน หกชีวประวัติ พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2527. หน้า 112-115.

ความสัมพันธ์กับปัญญาชนที่เป็นบรรพชิต
นอกจากปัญญาชนที่เป็นฆราวาสแล้ว สุลักษณ์ ศิวรักษ์ยังมีความสัมพันธ์กับปัญญาชนที่เป็นบรรพชิตจำนวนมาก เช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งสุลักษณ์ ศิวรักษ์มีความศรัทธาอย่างสูงเนื่องจากเห็นว่าท่านมีความรู้ความเข้าใจธรรมะอย่างลึกซึ้งรอบด้าน แม้ท่านจะมุ่งที่พระธรรมวินัยทางฝ่ายเถรวาท แต่มองหาคุณความดีจากมหายานและวัชรยาน ตลอดจนจากศาสนาอื่นๆ ท่านมีความกล้าหาญในการปฏิเสธพระพุทธศาสนากระแสหลัก สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ด้านคันถธุระกับวิปัสสนาธุระเข้าหากัน โยงหัวสมองกับหัวใจเข้าด้วยกัน และสามารถประยุกต์พุทธธรรมมาใช้ในการแก้ปัญหาความทุกข์ของบุคคลและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเลือกสรรสื่อนานาชนิดมาใช้ในการเผยแผ่พุทธธรรม ทำให้คนไทยและคนต่างชาติได้มีโอกาสเข้าใจพุทธศาสนาในระดับของแก่นธรรม จนสามารถพัฒนาทั้งศีล สมาธิ และปัญญา และประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อยกระดับจิตใจและจิตวิญญาณให้สูงส่งขึ้น จนมีสันติภาวะในใจ (*)

(*) ส.ศิวรักษ์, "ท่านพุทธทาส" และ "คุณูปการของอาจารย์พุทธทาสภิกขุ" ใน คนดีที่น่ารู้จัก กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2537. หน้า 34-44. ส.ศิวรักษ์, "ปณิธานพุทธทาสกับอนาคตสังคมไทย" ปาฐกถาแสดง ณ สวนโมกขพลาราม (25 พฤษภาคม 2541) ใน ความเข้าใจในเรื่องพระรัตนตรัยจากมุมมองของ ส. ศิวรักษ์ กรุงเทพฯ: คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา, 2542. หน้า 144-169. ส.ศิวรักษ์, "สังคมไทยกับทศวรรษแห่งการจากไปของพุทธทาสภิกขุ" ใน หันกงจักรเป็นดอกบัว กรุงเทพฯ: เสมสิกขาลัย สถาบันสันติประชาธรรม และมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2547. หน้า 18-34. ส. ศิวรักษ์, "ความอ่อนแอและเสื่อมโทรมของคณะสงฆ์ไทยและทางออกจากสภาพปัจจุบันอันรวนเร" ใน พระธรรมเจดีย์ พระผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2537. หน้า 324-325.

พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ เป็นพระภิกษุที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์เห็นว่า มีความเที่ยงตรงในการปกครองคณะสงฆ์ มีความห่วงใยพระศาสนา และทุ่มเททำงานเพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง "ท่านทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และกำลังความคิดเพื่อพระศาสนาอย่างหาผู้ใดเทียบได้ยาก" เช่น ได้วางรากฐานในด้านธรรมวินัยของพระภิกษุสงฆ์ และได้บุกเบิกการศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมอย่างเข้มแข็ง จนสามารถสอนเปรียญให้สอบได้ประโยค 9 รวมเป็นจำนวนถึง 45 รูป สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เขียนหนังสือยกย่องพระธรรมเจดีย์ไว้มาก แม้จะชี้ให้เห็นถึง "ข้อด้อย" ของท่านไว้ด้วยก็ตาม เช่นกล่าวว่า "ท่านเองลึกๆ ลงไปแล้ว ออกจะเป็นเผด็จการอยู่มิใช่น้อย...ท่านไม่สู้เข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยเท่าใดนัก" เป็นต้น" (*)

(*) ส. ศิวรักษ์, พระธรรมเจดีย์ พระผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2537.

พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี ซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้ทางด้านการปฏิบัติสมาธิภาวนาแก่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้เคยสรรเสริญท่านในแง่ที่เป็นแบบอย่างในการยืนหยัดไม่คล้อยตามลัทธิบริโภคนิยม (*) อย่างไรก็ตามในระยะหลังสุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้วิพากษ์วิจารณ์พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ในเรื่องที่อ้างตนว่าบรรลุอรหันต์ และในเรื่อง "ทอดผ้าป่าสามัคคีช่วยชาติ" เพราะสุลักษณ์ ศิวรักษ์เห็นว่ามิใช่กิจของสงฆ์

(*) พงศ์เชษฐ์ รุจิระชุณห์, "อิทธิพลของพุทธศาสนาต่อความคิดทางการเมืองของสุลักษณ์ ศิวรักษ์" วิทยานิพนธ์

พระภิกษุอีกรูปหนึ่งที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เลื่อมใสศรัทธามากคือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตตฺโต) ดังที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์เขียนไว้ว่า

ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ได้มีคุณูปการกับข้าพเจ้าและครอบครัว ตลอดจนญาติมิตร ศิษยานุศิษย์ เป็นเวลาช้านาน อย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่ท่านยังเป็นพระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต ข้าพเจ้าเองได้รับความรู้จากข้อเขียนและถ้อยคำของท่าน และได้แรงบันดาลใจจากอาจาระของท่าน ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มศรัทธาปสาทะในพระรัตนตรัยตลอดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ (*)

(*) ส. ศิวรักษ์, "คำนำ" ความเข้าใจในเรื่องพระรัตนตรัยจากมุมมองของ ส. ศิวรักษ์ กรุงเทพฯ: คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา, 2542. หน้า (5).

ปัญญาชนบรรพชิตรุ่นหลัง เช่น พระไพศาล วิสาโล ซึ่งเป็น "ผู้ใกล้ชิดสุลักษณ์ ศิวรักษ์รุ่นที่ 3" ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสุลักษณ์ ศิวรักษ์มาตั้งแต่ก่อนบวช ดังที่พระไพศาล วิสาโลเล่าว่า การให้ความสำคัญกับเรื่อง "จิตวิญญาณ" ทำให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์พยายามผลักดันให้ลูกศิษย์ไปบวช รวมทั้งพระไพศาล วิสาโลเองซึ่งตัดสินใจบวช "เนื่องจากอาตมาก็ทนการรบเร้าของอาจารย์ไม่ไหว ก็เลยต้องบวช" หลังจากบวชแล้ว พระไพศาล วิสาโลก็ยังมีความสัมพันธ์กับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และเมื่อมีการจัดงานฉลองเนื่องในโอกาสที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีอายุครบ 72 ปี พระไพศาล วิสาโลก็ได้ร่วมในการอภิปรายเรื่อง "ปริทัศน์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในมุมมองหลากทัศนะ" ดังกล่าวมาแล้ว (*)

(*) พระไพศาล วิสาโล, "ปริทัศน์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ในมุมมองหลากทัศนะ" ใน ปัญญาชนสาธารณะแห่งสยาม ปัญญาชนเพื่อประชาชน. หน้า 110-121.

ส่วน "คนหนุ่ม" อื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเพศบรรพชิตนั้น ก็ปรากฏว่าสุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ "คนหนุ่ม" มากมายหลายรุ่นนับตั้งแต่กลับมาจากประเทศอังกฤษสืบมาจนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์กับ "คนหนุ่ม" ในแต่ละยุคนี้ นอกจากความสัมพันธ์ส่วนตัวแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กันโดยผ่านหนังสือและโดยการทำกิจกรรมร่วมกันด้วย เป็นต้นว่าการตั้งเป็น "ชมรมเสวนา" ต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดังมีผู้เล่าไว้ว่า

เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยใน พ.ศ.2505 ส.ศิวรักษ์ก็มาเป็นบรรณาธิการนิตยสารเล่มสำคัญ คือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ อันเป็นนิตยสารที่ให้กำเนิดนักคิดนักเขียนคนสำคัญๆ ของเมืองไทย โดยที่นักคิดนักเขียนเหล่านั้นส่วนมากยังคงมีบทบาทในด้านความคิดความอ่านของบ้านเมืองอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้... นิสิตนักศึกษาที่ร่วมงานด้านฉบับนิสิตนักศึกษานี้ ต่อมาได้ร่วมกันตั้งชมรมขึ้นเพื่ออภิปรายถกเถียงปัญหาในทางวิชาการและในศิลปวัฒนธรรม อื่นๆ อันตนไม่อาจหาได้ภายในสถาบันการศึกษาของตน เรียกชื่อว่าชมรมปริทัศน์เสวนา ซึ่งเป็นต้นแบบของชมรมศึกษิตเสวนาในโอกาสต่อมา กับคนหนุ่มสาวทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัยนั้น ดู ส.ศิวรักษ์จะมีความหวังมาก.. (*)

(*) จิตรกร ตั้งเกษมสุข, "คำนำบรรณาธิการ" คันฉ่องของ ส.ศิวรักษ์. หน้า "คำนำ".

บทบาทของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในโลกหนังสือ
บทบาทของสุลักษณ์ ศิวรักษ์เองในวัยหนุ่ม ซึ่งประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมต่างๆ ควบคู่กับการเรียน คงมีส่วนทำให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์ศรัทธาใน "คนหนุ่มสาว" มาก ผลงานของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตั้งแต่ครั้งที่ยังอยู่ในวัยรุ่นนั้น แสดงให้เห็นว่า สุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตัวเองเป็นอย่างสูง และได้เพียรพยายามในการแสวงหาความหมายของชีวิต เช่น การหาคำตอบว่า ในระหว่าง "หน้าที่" กับ "มนุษยธรรม" นั้น ขัดแย้งกันหรือไม่ และอะไรมีความสำคัญแก่ชีวิตมากกว่า เป็นต้น ดังที่มีผู้เล่าถึงประวัติของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ในวัยรุ่นว่า

ส.ศิวรักษ์ออกโรงเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยเมื่อยังเป็นเด็กนักเรียน เรื่องแรกของเขาชื่อ ภายในดินแดนพุทธจักร ลงพิมพ์ในหนังสือ พุทธจักร รายเดือน ปีที่ 3 ฉบับที่ 11 พฤศจิกายน 2492 ...มีอายุเพียง 16 ปี เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 ของโรงเรียนอัสสัมชัญ พอปีรุ่งขึ้น เด็กนักเรียนคนนี้ก็แสดงความกล้าหาญถึงกับเขียนประคารมกับศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ใหญ่อยู่ในเวลานั้น....เวทีที่เขาใช้ฝึกปรือฝีมือในระยะแรกๆ ก็คือ ยุววิทยา อันเป็นนิตยสารที่เขาและเพื่อน ช่วยกันทำขึ้นในขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 ...หลายเรื่องเขียนได้ดีถึงขั้นส่งไปลงพิมพ์ในนิตยสารมีชื่อ...เช่น เรื่องสั้น หน้าที่กับมนุษยธรรม ซึ่งดูจะเป็นเรื่องสั้นเรื่องเดียวที่ ส.ศิวรักษ์ เคยเขียนไว้

ไม่เพียงแต่จะเขียนหนังสือเท่านั้น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ยังได้จัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ความรู้ต่างๆ มาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นด้วย ดังปรากฏในประวัติของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ว่า

นอกจาก ยุววิทยา ... ส.ศิวรักษ์ก็รับเป็นบรรณาธิการหนังสือ อุโฆษสาร อันเป็นวารสารสำหรับโรงเรียน ในการออกหนังสือ อุโฆษสาร นี้เองที่เขาเข้าพบพระยาอนุมานราชธน (ในวันแรกพบนั้นเอง เขาก็ได้กราบแทบเท้าฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของพระยาอนุมานราชธน) เมื่อออกไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ส.ศิวรักษ์ก็ไปเป็นสาราณียกรหนังสือ สันนิบาต ของนักเรียนไทยในยุโรป ซึ่งประชุมกันเมื่อ พ.ศ.2500 ส่วนหนังสือ สามัคคีสาร ของสามัคคีสมาคมนั้น แม้เขาจะไม่เคยเป็นบรรณาธิการ แต่ก็รับเขียนเรื่องให้เนืองๆ เรื่องที่เขาเขียนลงสามัคคีสาร แล้วคนพูดถึงกันมากก็คือเรื่อง มาพูดภาษาไทยกันดีกว่า นั่นเอง

สุลักษณ์ ศิวรักษ์มีความพยายามจะเสนอความรู้หรือความคิดเกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" มาตั้งแต่แรก เพราะบทความเรื่องแรกที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์เขียนเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ.2492 เป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา นั่นคือเรื่อง "ภายในดินแดนพุทธจักร" และใน พ.ศ.2504 ขณะยังอยู่ในประเทศอังกฤษ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ก็เขียนเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ คือเรื่อง "เสด็จอังกฤษ" (*) เมื่อกลับมายังประเทศไทยแล้ว ก็ยังให้ความสำคัญแก่การเสนอความรู้หรือความคิดเกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" อยู่เสมอ เช่นเขียนบทความจำนวนมาก ซึ่งรวมเป็นหนังสือเรื่อง มาพูดภาษาไทยกันดีกว่า (พ.ศ.2509) ลายสือสยาม (2510) และ พระดีที่น่ารู้จัก (พ.ศ.2510) เป็นต้น (**)

(*) ส. ศิวรักษ์, "เสด็จอังกฤษ" ใน สรรพสาระ กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2511. หน้า 23-148.
(**) พงศ์เชษฐ์ รุจิระชุณห์, "อิทธิพลของพุทธศาสนาต่อความคิดทางการเมืองของสุลักษณ์ ศิวรักษ์". หน้า 23-25.

หนังสือ ลายสือสยาม ซึ่งรวมบทความของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ในระหว่าง พ.ศ.2505-2510 สะท้อนถึงการให้ความสำคัญแก่ "ความเป็นไทย" ในช่วงแรกของการเขียนหนังสือได้เป็นอย่างดี เพราะประกอบด้วยบทความเกี่ยวกับพุทธศาสนาเกือบ 20 เรื่อง บทความเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมไทยประมาณ 17 เรื่อง และบทความเกี่ยวกับปัญญาชนไทยในอดีตและบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยมากกว่า 10 เรื่อง (*) นอกจากนี้ยังมีหลายบทความในหนังสือนี้ที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์วิพากษ์วิจารณ์ "นักเรียนนอก" ในแง่ที่ลืม "ความเป็นไทย" รวมทั้งโจมตีพ่อแม่ของเด็กในสมัยนั้นที่ไม่รู้จักว่า "ความเป็นไทยเป็นอย่างไร" พากันนิยมส่งลูกไปเรียน "ฟุตฟิตฟอไฟภาษาไทยปนฝรั่ง" พร้อมกันนั้นสุลักษณ์ ศิวรักษ์ก็เขียนยกย่องผู้ที่พยายามรักษา "ความเป็นไทย" เอาไว้ ดังความว่า

ว่าโดยทั่วๆ ไปแล้ว นักเรียนไทยที่ออกไปเมืองนอกแต่เล็ก ที่จะให้มีความคิดความอ่านเป็นไทย แลใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องถ่องแท้นั้น นับว่าหายากอย่างยิ่ง...เจ้านายชั้นพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงภาษาไทยกันได้ดี ก็เพราะมีพระอาจารย์ไทยไปคอยถวายพระอักษรอยู่ด้วย...บางพระองค์เช่นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตด้วยแล้ว ทรงมีพระมารดาคอยเอาพระทัยใส่ในเรื่องภาษาไทยและความคิดอ่านอย่างไทยๆ อยู่ตลอดเวลา... (**)

(*) ส. ศิวรักษ์, ลายสือสยาม กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2510. หน้า 1-623.
(**) ส. ศิวรักษ์, "ปัญหาเรื่องนักเรียนนอก" ใน ลายสือสยาม. หน้า 558-559.

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ - ลัทธิของเพื่อน ปูพื้นไว้ให้แต่เยาว์วัย
ในครึ่งหลังของทศวรรษ 2500 นอกจากจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" แล้ว สุลักษณ์ ศิวรักษ์ยังเขียนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศอื่นๆ ด้วย เช่นเรื่อง พระตรีปิฎก (ประวัติพระถังซำจั๋ง พ.ศ.2505) ทะไลลามะแห่งทิเบต (แปล พ.ศ.2506) และได้เขียนเรื่อง ปรัชญากรีก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสุลักษณ์ ศิวรักษ์มีความพยายามในการแสวงหาความรู้และนำเอาความรู้ที่มีอยู่ในโลกภายนอก ทั้งตะวันออกและตะวันตก มาเสนอให้คนไทยได้รู้จัก เพื่อที่คนไทยจะสามารถเลือกสรรเอาความรู้ที่มีคุณค่าจากต่างชาติ มา "ประสมประสาน" หรือ "ประสานประโยชน์" เข้ากับ "ของดีของไทย" ที่มีมาแต่เดิม ซึ่งจะทำให้ "ความเป็นไทย" มีความเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น

ความสนใจของสุลักษณ์ ศิวรักษ์เกี่ยวกับพุทธศาสนาในต่างประเทศส่วนใหญ่แล้วเกิดจากอิทธิพลของหนังสือเรื่อง ลัทธิของเพื่อน ซึ่งเขียนโดยปัญญาชนที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์มีความเลื่อมใสมากเป็นพิเศษ คือพระยาอนุมานราชธน สุลักษณ์ ศิวรักษ์กล่าวว่า "ถ้าไม่ได้ ลัทธิของเพื่อน ปูพื้นไว้ให้แต่เยาว์วัย ไหนเลยข้าพเจ้าจะมีใจกว้าง" ความสนใจเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอาความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาหลากหลายนิกายจากต่างประเทศมา "ประสานประโยชน์" เข้ากับพุทธศาสนาแบบเถรวาทของไทย เพื่อทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งรอบด้าน อันจะส่งผลให้พุทธศาสนาในประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองขึ้น และก่อประโยชน์สูงสุดทั้งแก่คนไทยและแก่มนุษยชาติทั้งปวง

อนึ่ง การที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ตัดสินใจไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ก็เกิดจากความต้องการที่จะพัฒนา "ความเป็นไทย" โดยตรง เพราะต้องการ "เอาของดีของฝรั่งเข้ามาสู่สังคมไทย" และทำให้ "ความเป็นไทย" มีคุณค่าจนเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับของชาวต่างประเทศ ดังที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์กล่าวในภายหลังว่า

ถ้าไปผ่านเมืองแก้วมา พูดจาอะไรก็ย่อมมีคนเชื่อ...ใช่แต่เท่านั้น ยังเห็นว่าตนเองออกจะรู้เรื่องไทยๆ มาก หากปราศจากภาษาอังกฤษอย่างดี ย่อมยากที่จะทำให้ชาวต่างประเทศยอมรับวัฒนธรรมอย่างของเราได้ นอกไปจากนี้แล้ว ยังเห็นว่าตนเองอาจรับและกลั่นกรองเอาของเลวออก โดยเอาของดีของฝรั่งเข้ามาสู่สังคมไทยได้อีกด้วย (*)

(*) ส. ศิวรักษ์, ช่วงแห่งชีวิต กรุงเทพฯ: พลพันธุ์การพิมพ์, 2527. หน้า 407.

ความสนใจและความชื่นชมใน "ความเป็นไทย" มากเป็นพิเศษ ตลอดจนความต้องการที่จะส่งเสริมคุณค่า "ความเป็นไทย" เช่นนี้ คงเป็นผลมาจากประสบการณ์ชีวิตในวัยเยาว์อยู่ไม่น้อย เพราะสุลักษณ์ ศิวรักษ์มักจะติดตามญาติพี่น้องที่เป็นหญิงไปดูมหรสพไทยๆ และไปวัดอยู่เสมอ อีกทั้งยังเคยบรรพชาเป็นสามเณร โดยมีความเลื่อมใสและความผูกพันกับพระอุปัชฌาย์เป็นอันมาก แม้จะอายุยังน้อยแต่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ก็ได้ศึกษาพุทธศาสนาด้วยความเอาใจใส่จนสอบได้นักธรรมตรี ขณะเดียวกันก็สนใจอ่านวรรณคดีไทยตลอดจนผลงานต่างๆ ของนักปราชญ์ไทยอยู่เสมอ

เมื่อกลับจากประเทศอังกฤษได้ปีเศษ และดำรงตำแหน่งบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ในกลางปี พ.ศ. 2506 นั้น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของหนังสือให้เน้นในเรื่องเกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" เป็นอย่างมาก โดยระบุชัดเจนว่า "เพื่อช่วยถางทางด้านวิชาการ โดยต้องการแสวงหาสัจจะและความเป็นไทย" (*)

(*) ส. ศิวรักษ์, "นายปรีดี ที่ข้าพเจ้ารู้จัก" ใน เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์ พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมล คีมทอง, 2543. หน้า 64. (พิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ รวม 5 ฉบับ ฉบับแรกคือฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2526).

หนังสือ ปรัชญาการศึกษา ศาสตร์และศิลป์แห่งการปฏิรูปการเรียนรู้ (พ.ศ.2516)แม้ว่าสุลักษณ์ ศิวรักษ์จะเขียนโดย "อาศัยงานเขียนในภาษาอังกฤษสองสามเล่มเป็นหลัก" (*) แต่ก็เน้นให้คนไทยพยายามแสวงหา "ปรัชญาการศึกษาของเราเอง" และระบุว่า "โดยที่ปรัชญาการศึกษาของไทยเราที่ว่านั้น จำต้องคำนึงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งความเป็นไทยควบคู่ไปกับเอกลักษณ์แห่งความเป็นคน ซึ่งมีศักดิ์ศรีอย่างสมภาคภูมิกับความเป็นมนุษย์อยู่ด้วยตลอดไป"

(*) ส. ศิวรักษ์, ปรัชญาการศึกษา ศาสตร์และศิลป์แห่งการปฏิรูปการเรียนรู้ พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก, 2545. หน้า "คำนำผู้เขียน".

ในการทำงานอื่นๆ และการดำเนินชีวิตทั่วๆ ไป สุลักษณ์ ศิวรักษ์ก็มุ่งแสดงออกซึ่งคุณค่าแห่ง "ความเป็นไทย" อยู่เสมอ เป็นต้นว่า ดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือที่เขียนโดยนักปราชญ์ของไทยในอดีต เพื่อให้คนไทยในสมัยหลังได้เรียนรู้ "ความเป็นไทย" และช่วยกันสืบทอด "ความเป็นไทย" ส่วนที่ยังคงมีคุณค่าต่อเมืองไทยในปัจจุบันและอนาคตเอาไว้ เช่น หนังสือ ชุมนุมนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (*) หนังสือประเพณีเนื่องในการเกิดและการตาย และหนังสือ ประเพณีไทย ของพระยาอนุมานราชธน กับหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นต้น

(*) กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, ชุมนุมนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2507.
(**) ส. ศิวรักษ์, จดหมายโต้ตอบระหว่าเสถียรโกเศศกับ ส. ศิวรักษ์. หน้า 171-172.

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้จัดการสัมมนาและการเสวนาเพื่อสร้างความรู้และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศหลายครั้ง และยังทำงานในองค์กรต่าง ๆ ที่มุ่งเผยแพร่ "ความเป็นไทย" อีกหลายองค์กร เช่น มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, มูลนิธิโกมลคีมทอง, สยามสมาคม, เสมสิกขาลัย ฯลฯ นอกจากนี้สุลักษณ์ ศิวรักษ์ยังแต่งกายแบบไทย เริ่มด้วยการแต่งกายแบบชนชั้นสูงไทย ในภายหลังจึงเปลี่ยนมาแต่งกายแบบชาวบ้านไทย ซึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านการแต่งกายของสุลักษณ์ ศิวรักษ์เช่นนี้ สะท้อนถึงการเปลี่ยนจุดยืนในการนิยาม "ความเป็นไทย" อย่างชัดเจน แม้กระนั้นก็ยังเห็นได้ชัดว่าสุลักษณ์ ศิวรักษ์ยืนยันในคุณค่าของ "ความเป็นไทย" อยู่เสมอ

ผลงานของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ที่มุ่งแสดงคุณค่า "ความเป็นไทย" ในมิติต่างๆ และกระตุ้นให้นำคุณค่า "ความเป็นไทย" มาปรับใช้ในสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตนั้น ประกอบด้วยงานเขียน ปาฐกถา คำบรรยาย และบทสัมภาษณ์จำนวนมาก ผลงานเหล่านี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ ศิลปะ วัฒนธรรม ภาษาไทย วรรณคดีไทย ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ชีวประวัติบุคคล การเมืองการปกครอง และระบบนิเวศ แม้ว่าเนื้อหาความรู้ที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์นำเสนอจะกว้างขวางและหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่แล้วสุลักษณ์ ศิวรักษ์พยายามอธิบายเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จากมุมมองทางพุทธศาสนา โดยนำเอาธรรมะของพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้เพื่ออธิบายปัญหาในสังคมไทยสมัยใหม่ พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงทางออกของปัญหาตามทัศนะแบบพุทธ รวมทั้งปัญหาอันเกิดจาก "โครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรง" ซึ่งสุลักษณ์ ศิวรักษ์เน้นมากในระยะหลัง ทั้งนี้ สุลักษณ์ ศิวรักษ์จะเตือนอยู่เนืองๆ ว่า คนไทยพึงเรียนรู้จากอดีตให้มาก เพื่อจะทำการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคมให้ดีขึ้น โดยไม่ละทิ้งมรดก "ความเป็นไทย" อันมีคุณค่าจากอดีตไปเสีย

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com