1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
ลองพิจารณาดูไมเคิล
แจ็คสัน เป็นกรณีตัวอย่าง ไมเคิล แจ็คสันก็คือสิ่งกลายพันธุ์ตนเดียว ผู้นำทางของการผสมผสานพันทางที่สมบูรณ์แบบ
ด้วยเหตุว่า เขาเป็นตัวแบบสากล- เผ่าพันธุ์ที่มาเพื่อสลายประดาเผ่าพันธุ์อื่น
คนหนุ่มสาวในทุกวันนี้ไม่เห็นว่าเป็นปัญหากับสังคมที่มีการผสมผสานข้ามเผ่าพันธุ์
พวกเขาอาศัยอยู่ในจักรวาลที่เป็นเช่นนั้น และ ไมเคิล แจ็คสัน ก็เป็นภาพนำทางของสิ่งซึ่งพวกเขาเห็นว่า
เป็นภาพอนาคตในอุดมคติ ข้อเท็จจริงที่เสริมความเข้ามาก็คือว่า ตัวของไมเคิลนั้นเชิดหน้า
ผมเหยียดตรง ผิวสีจางๆ - กล่าวโดยสั้นๆ ไมเคิลถูกสร้างขึ้นมาใหม่อย่างระวังระไวยิ่งในส่วนรายละเอียดทั้งปวง
นี่คือสิ่งที่ทำให้ไมเคิลดูเหมือนเป็นเด็กที่บริสุทธิ์และไร้เดียงสา - สิ่งที่
มีสองเพศที่ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นในเทพนิยายที่ดูดีกว่า ...
14-04-2552
(1718)
โลกหลังยุคใหม่:
มนุษย์ในโลกภายใต้เทคโนโลยีข่าวสาร
บทความเก่า: มนุษย์ในโลกข่าวสาร
- เมื่อความชั่วร้ายโปร่งแสงได้
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ : เขียน
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความนี้ เคยได้รับการเผยแพร่แล้วเป็นตอนๆ
บน"ไทยไฟแนนเชี่ยล" ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗
แม้ว่าจะเป็นบทความเก่า แต่เนื้อหายังคงร่วมสมัย และให้ภาพชัดเจนเกี่ยวกับพัฒนาการใน
สังคมยุคหลังสมัยใหม่ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับสื่อสารมวลชน ที่ได้เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ไป
ตลอดรวมถึงการนำเสนอภาพของรัฐสมัยใหม่ ที่ไม่มีอะไรจะทำ นอกจากทำในสิ่งที่ตนถนัด
นั่นคือการคุกคามประชาชนของตนเอง
บทความนี้ นำมาจากต้นฉบับ
๒ ตอน ซึ่งสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับบทความลำดับที่ ๑๗๐๕
หัวข้อสำคัญในบทความ
๒ ตอนบนหน้าเว็บเพจนี้ ประกอบด้วย
(๑) โลกหลังยุคใหม่: ความหมายของมนุษย์ในโลกภายใต้เทคโนโลยีข่าวสาร
- มาร์แชล แม็คลูฮัน: หมู่บ้านโลก
- อะไรคือลักษณะเด่นของสังคมข่าวสาร?
- เทคโนโลยีก็คือส่วนขยายของตัวเรา
- ชนเร่ร่อนแห่งปลายคริสตศตวรรษที่ ๒๐
- รูปลักษณ์ของสงครามในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐
(๒) โลกหลังยุคใหม่: เมื่อความชั่วร้ายโปร่งแสงได้
- หลังยุคแห่งการปลดปล่อย
- After the Orgy - After the Age of Liberation
- อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อความมึนเมาหมดไป?
- State Terrorism: การก่อการร้ายโดยตัวรัฐเอง
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด
"ลัทธิหลังสมัยใหม่ศึกษา")
สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๑๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
โลกหลังยุคใหม่:
มนุษย์ในโลกภายใต้เทคโนโลยีข่าวสาร
บทความเก่า: มนุษย์ในโลกข่าวสาร
- เมื่อความชั่วร้ายโปร่งแสงได้
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ : เขียน
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
ลงพิมพ์ใน ไทยไฟแนนเชี่ยล ๑ มนาคม ๒๕๓๗
(1) โลกหลังยุคใหม่: ความหมายของมนุษย์ในโลกภายใต้เทคโนโลยีข่าวสาร
เปิดเรื่อง
"ตัวเมืองเองโดยจารีตแล้วเป็นเครื่องมือทางทหาร และเป็นเสื้อเกราะหรือโล่รวมหมู่ กล่าวคือ ส่วนขยายของเครื่องป้องกันผิวหนังของเรา ก่อนการมารวมตัวเป็นเมือง มีช่วงสมัยที่เป็นยุคแห่งการรวบรวมอาหารโดยมนุษย์นักล่า และกระทั่งมนุษย์ในทุกวันนี้ซึ่งอยู่ในยุคไฟฟ้า มนุษย์ก็ยังกลับสู่สภาพแบบชนเผ่าเร่ร่อนทั้งในทางจิตวิทยาและทางสังคม อย่างไรก็ตาม ณ บัดนี้ เราเรียกขานกันว่ายุคแห่งการรวบรวมข่าวสารและการจัดการข้อมูล ทั้งยังเป็นสิ่งที่มีลักษณะเป็นทั้งโลก (global) รูปแบบเมืองซึ่งได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งล้าหลัง ก็ได้ถูกละทิ้งและถูกแทนที่ไป มาพร้อมกันกับตัวเทคโนโลยีไฟฟ้าโดยตรงโลกทั้งโลกเองก็ไม่อาจเป็นอื่นใดได้มากเกินกว่าเป็นหมู่บ้านหนึ่ง และตัวธรรมชาติของเมืองเองในฐานะที่เป็นรูปแบบของมิติที่สำคัญๆ ก็ต้องสลายหายไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นดังกับฉากในภาพยนตร์ฉากหนึ่งที่กำลังเลือนลงไป"
[Marshall McLuhan, UNDERSTANDING MEDIA,New York:Mentor,1964,p.298]
มาร์แชล แม็คลูฮัน: หมู่บ้านโลก
เราอยู่ในโลกปัจจุบันที่มีสภาพเป็นหมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่งที่เรียกได้ว่า หมู่บ้านโลก
(global village) ดังคำที่มาร์แชล แม็คลูฮันเรียกในหนังสือ เข้าใจสื่อ ที่เขาพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี
๑๙๖๔ เทคโนโลยีหลังยุคจักรกล- เทคโนโลยีอิเล็คทริคนี้ ได้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาการสื่อสารที่สลายสภาพแยกตัวจากกันโดยระยะทางทางภูมิศาสตร์ของดินแดนต่างๆ
ลงไป บัดนี้โลกทั้งโลกเป็นเช่นดังเกาะๆ เดียว ที่หัวเกาะท้ายเกาะต่างติดตามความเป็นไปในแต่ละส่วนของกันได้ในทันใจ
และต่างก็เผชิญปัญหาและชะตากรรมรวมร่วมกัน สังคมข่าวสาร พัฒนาภายใต้ภาพการณ์เช่นนี้และเป็นผลโดยตรงมาจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปดังกล่าว
อะไรคือลักษณะเด่นของสังคมข่าวสาร?
อะไรคือลักษณะเด่นของสังคมข่าวสาร? ลักษณะดังกล่าวนี้บอกอะไรเราเกี่ยวกับตัวมนุษย์บ้าง?
เพื่อเป็นการทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัวเราอย่างรู้เท่าทัน เราจะได้พิจารณาประเด็นนี้
โดยดูการวิเคราะห์อันลือชื่อของแม็คลูฮันในเรื่อง สื่อก็คือตัวสาร (The medium
is the message) ประกอบด้วย
เทคโนโลยีก็คือส่วนขยายของตัวเรา
ก้อนหินมีคมที่บรรพบุรุษของเราเมื่อหมื่นปีก่อนเอามามัดกับกิ่งไม้ใช้ล่าสัตว์นั้น
ทำให้มือของบรรพบุรุษของเรายืดยาวออกไปในความหมายว่าทำอะไรได้มากขึ้นกว่าเดิม
ไม่ใช่แค่ความยาวของพื้นที่ที่ยืดออกไปมากกว่าความยาวของมือเรา แต่ยังรวมถึงความสามารถในการหาอาหารที่คล่องตัวขึ้น
สะดวกขึ้นและปลอดภัยขึ้น เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ก็เป็นส่วนขยายของผิวหนังของเราที่ทำให้เราเผชิญกับสภาพการณ์หลากหลายรูปแบบได้
ไม่ว่าเมื่ออากาศเย็นลงหรือแดดเปรี้ยง เทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้ก็คือ การขยายตัวมนุษย์ออกไปเกินกว่าข้อจำกัดทางกายภาพที่ธรรมชาติให้มา
สำหรับแม็คลูฮันแล้ว มนุษย์ขยายตัวเองเป็นผลโดยตรงจากเทคโนโลยีนั้นๆ ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา ลูกธนูก็คือส่วนขยายของแขนและไหล่ ปืนไรเฟิลก็คือส่วนขยายของตาและฟัน (ลองคิดถึงการเล็งเลือกเป้า และการ "กัด" สิ่งที่เป็นเป้าหมาย) ส่วนขยายนี้ยังเป็นในรูปรวมหมู่คือเป็นของทั้งสังคมหรือทั้งมวลมนุษย์ก็ได้ ดังข้อความที่คัดมาเปิดเรื่อง เมืองก็คือส่วนขยายของผิวหนังของพวกเรา เป็นดังโล่หรือเกราะรวมหมู่ป้องกันเราทั้งสังคม เช่นดังที่เสื้อผ้าเป็นส่วนขยายผิวหนังของคนแต่ละคนนั่นเอง
ลูกธนูคือเทคโนโลยียุคโบราณ ปืนไรเฟิลเกิดขึ้นมาในยุคจักรกล เมื่อมีรถไฟก็มีเมืองแบบใหม่เกิดขึ้น รวมทั้งงานและเวลาว่างในลักษณะใหม่ เมื่อมีเครื่องบิน เมือง, ลักษณะทางการเมืองและการสมาคมแบบยุครถไฟ ก็เริ่มสลายไป เทคโนโลยีใหม่นำสภาวะแวดล้อมแบบใหม่มาสู่เรา. ผลโดยตรงจากเทคโนโลยียุคปัจจุบันได้นำมนุษย์เราเข้าสู่สภาวะแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะอันพิเศษยิ่ง
๑. "เช่นดังที่ล้อเลื่อนเป็นส่วนขยายของเท้า คอมพิวเตอร์ก็คือส่วนขยายของระบบประสาทของเรา ซึ่งดำรงอยู่โดยอาศัยการฟีดแบ็คและวงจรไฟฟ้า" [Marshall McLuHan & Quentin Fiore, WAR AND PEACE IN THE GLOBAL VILLAGE, New York: Simon & Schuster,1968,p.53] กล่าวคือ เทคโนโลยีไฟฟ้านี้มีผลกระทบต่อสัมปชัญญะหรือการรับรู้ของเราที่มีต่อสิ่งต่างๆ และจึงได้โอบอุ้มเราแต่ละคนให้พัวพันกับมนุษยชาติโดยรวมและนำเอามนุษยชาติโดยรวมเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา ตอนเราถือหูโทรศัพท์เราอยู่ในบทบาทของผู้เข้าร่วมกระทำ สื่อ "บังคับ" เราให้ต้องเข้าร่วม เสียงที่เราได้ยินซึ่งพูดกรอกข้างหูเรามาจากที่ที่ห่างไกลออกไป เรื่องที่เล่าผ่านสายมา อาจเป็นเรื่องที่กำลังเกิดในตอนนั้นในที่ซึ่งเราไม่อาจเข้าไปรับรู้โดยตรงได้ เนื่องจากกายเราอยู่ในพื้นที่ทางกายภาพอีกพื้นที่หนึ่ง
สื่อไฟฟ้าเช่นโทรทัศน์ได้นำเราไปเฝ้าอยู่ข้างๆ ดูสงครามกลางเมืองที่เกิดในบอสเนีย เราเป็นได้ทั้งผู้เฝ้าดูความเป็นไปและผู้ถอยห่างในเวลาเดียวกัน สิ่งที่เห็นในจอภาพ เช่น กระสุนที่พุ่งไปมา คู่กรณีที่ปะทะกันจะไม่บังเอิญมาโดนเรา ทีวีทำให้เราเป็นพระเจ้าผู้เฝ้าดูความเป็นไปของโลก เราผู้ดูประหนึ่งอยู่ในเหตุการณ์ด้วยและยังได้สถานะของการเป็นผู้ไม่ถูกกระทบทางกายภาพจากความเป็นไปที่เราเฝ้ามอง ใกล้ชิดและถอยห่างในเวลาเดียวกัน สภาวะแวดล้อมเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในยุคของเราภายใต้เทคโนโลยีแบบใหม่
๒. สื่อจากเทคโนโลยีไฟฟ้า นอกจากขยายการรับรู้ของเรา (ดั่งมีหูทิพย์ ตาทิพย์) ยังหยุดเวลาหรือดึงเอาเวลาเก่ากลับคืนมาในบรรยากาศใหม่ได้ อีกทั้งยังย้ายสถานที่โดยเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี เมื่อมีการบันทึกเสียงเพลงในแผ่นเสียง เราก็นำศตวรรษก่อนๆ กลับมาเยือนเราได้ นำเอาดินแดนห่างไกลมาอยู่เคียงข้างเรา ความต่างของเวลาและสถานที่เริ่มสลายไป โลกไม่ได้แคบเข้าเป็นดั่งหมู่บ้านเดียวกันในแง่ช่วงเวลาปัจจุบันดังคำของแม็คลูฮันเท่านั้น แต่โลกยังแคบเข้าข้ามมิติแห่งเวลาและสถานที่อีกด้วย ดังนั้น อดีตและปัจจุบันจึงอยู่ใกล้กันยิ่งขึ้น
๓. ตอนที่เราชมภาพความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติลึกเข้าไปในป่าอะมาซอน ซึ่งตัดกับภาพความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าบริเวณที่ถนนตัดเข้าไปถึง เราสามารถรับรู้อย่างเข้าใจได้โดยพลัน อีกทั้งเกิดอารมณ์ร่วมได้ง่ายขึ้น "สิบคำบรรยายไม่เท่าสองตาเรามองเห็น". ตีนทหารที่กระทืบประชาชนที่นอนหมอบในโรงแรมรอยัลช่วงพฤษภาทมิฬในอดีต อธิบายให้ใครต่อใครเข้าใจได้ง่ายว่ามีอะไรเกิดขึ้น จนต้องมีผู้พยายามตัดต่อวีดีโอใหม่เพื่อสร้างภาพลวงตาว่าทหารตอนนั้นไม่ทำร้ายประชาชนอย่างอันธพาลกระทำ โลกของการรับรู้เช่นนี้เป็นการนำเรากลับเข้าสู่วิถีกระบวนการเรียนรู้แบบดั้งเดิมก่อนมีวัฒนธรรมตัวอักษร ขณะเดียวกันกระบวนการนี้เรายังผลิตซ้ำได้ไม่สิ้นสุด กระบวนการสร้างสื่อสารเช่นนี้เองเป็นลักษณะหนึ่งที่เด่น (รวมทั้งการสร้างภาพลวงตาอันแนบเนียนด้วย หากจะใช้ไปในอีกทางหนึ่ง) และเป็นจุดที่เทคโนโลยียุคใหม่นำเรากลับไปสู่โลกของการรับรู้แบบดั้งเดิมได้อีกครั้งหนึ่งโดยทิ้งข้อจำกัดเก่าไป
และเทคโนโลยีเช่นนี้ใครๆ ก็เรียนรู้การใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าชาวอินเดียนพื้นเมืองแห่งอะมาซอนผู้ถ่ายทำวีดีโอข้างต้น มุสลิมมูจาเฮดีนผู้ยิงหัวระเบิดพร้อมบันทึกผลลัพธ์ที่เกิดกับเป้า หรือมือกล้องวีดีโอสมัครเล่นที่บันทึกภาพตำรวจผิวขาวซ้อมชายผิวดำในแอลเอฯ การพัฒนาเทคโนโลยีเช่นนี้ต้องการสังคมมวลชนและตลาดมวลชนรองรับ สื่อเหล่านี้จึงเป็นส่วนขยายที่ขยายอำนาจหรือความสามารถของมวลชนแต่ละคน ชุมชนแต่ละแห่ง
๔. แม่บ้านที่เฝ้าบ้านอาจรู้จากหนังอาชญากรรมเรื่องการป้องกันตัวจากคนร้ายที่ลอบเข้ามาในบ้าน กระเหรี่ยงต่อต้านรัฐบาลพม่าอาจนำเทคนิคการรบจากหนังแรมโบ มาใช้รบทหารพม่า นี่เป็นแง่หนึ่งของการเรียนรู้โดยตรงผ่านสื่อปัจจุบัน ในอีกแง่หนึ่งนั้น ชาวบ้านในชนบทของจีนก็ได้เห็นสังคมแบบอื่นว่าเป็นอย่างไร ต่างเหมือนจากสังคมแถบถิ่นที่ตนเองคุ้นเคยอย่างไร? ชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมในกรุงเทพก็ได้เห็นว่า การเปิดใจให้กว้างช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นอย่างไร โลกทั้งโลกต่างเห็นกันและกัน แต่ละสังคมไม่อาจปิดประตูหน้าต่าง ไม่เห็นไม่รู้ความเหมือนความต่างจากตัวเองอีกต่อไป บัดนี้มนุษย์ก็ได้เห็นว่ายังมีดินแดนอื่นๆ ที่มีดี (และก็มีเสีย) กว่าเรา การสลายความเป็นเผ่าพันธุ์ได้เกิดขึ้น
สำหรับแม็คลูฮัน เขาเห็นว่าเทคโนโลยีไฟฟ้านำมนุษย์เข้าสู่ "กระบวนการสลายความเป็นเผ่าพันธุ์และกระบวนการสร้างความเป็นเผ่าพันธุ์ขึ้นใหม่" (detribalization & retribalization) ในเวลาเดียวกัน แม็คลูฮันใช้เรียกทั้งในแง่การที่มนุษย์กลับเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้แบบดั้งเดิมสมัยชนเผ่าต่างๆ และการใช้สื่อดังกล่าวสร้างค่านิยมท้องถิ่น นอกจากนี้ยังรวมถึงการที่เราพยายามสร้างความต่างให้เห็น เพราะเราได้เห็นความเหมือนที่มีระหว่างกัน การแสวงหาความต่างจึงเกิดขึ้น
ชนเร่ร่อนแห่งปลายคริสตศตวรรษที่
๒๐
ลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตรงในโลกภายใต้เทคโนโลยีอิเล็คทริคนี้ ในยุคจักรกลหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม
สังคมอุตสาหกรรมต้องการการแบ่งงานกันทำโดยสร้างระบบผู้ชำนาญการเฉพาะด้านในแต่ละขอบเขตความรู้ขึ้น
การบริหารแบบรวมศูนย์เป็นลักษณะสำคัญแบบหนึ่งในโครงสร้างสังคมแบบนั้น สังคมใต้อิทธิพลเทคโนโลยีไฟฟ้า
ความหลากหลายของสื่อต่างๆ ทำให้อำนาจรวมศูนย์ได้ยากขึ้น และให้อำนาจต่อรองกับส่วนย่อยต่างๆ
มากขึ้นโดยอัตโนมัติ การกระจายอำนาจเกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไป
(จึงกุมอำนาจไว้แต่ส่วนเดียวไม่ได้) ทั้งสภาพจิตใจและจิตสำนึกของคนเองก็เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่กระทำต่อจินตภาพของเรา
รูปลักษณ์ของสงครามในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง - สงครามรางรถไฟ
แม็คลูฮันกล่าวว่า "สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยังเป็นสงครามรางรถไฟ" อีกด้วย
อันได้ขยายผลอย่างกว้างขวางในแง่ขอบเขตและการทำลายล้าง ทั้งนี้จากการขยายตัวของระบบอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมือง
มันเป็นสงครามแห่งทหารมวลชน แห่งปืนมวลชน ณ การรบที่ซอมม์ ทหารเยอรมันได้นำปืนใหญ่ร่วมหกพันกระบอกไปสู่พื้นที่ดังกล่าวในทันใด
สงครามโลกครั้งที่สอง
- สงครามวิทยุ / สงครามอุตสาหกรรม
สงครามโลกครั้งที่สองคือ "สงครามวิทยุ เช่นเดียวกับที่เป็นสงครามอุตสาหกรรม"
อิเล็คโทรนิคยุควิทยุได้ปลุกพลังของชนเผ่าและวิสัยทัศน์ของชาวยุโรปขึ้น ในลักษณะเดียวกันกับที่โทรทัศน์ได้กำลังกระทำต่ออเมริกาในปัจจุบัน
อเมริกาไม่เหมือนยุโรปในแง่ที่ว่า ไม่มีอดีตทางเผ่าพันธุ์ ดังนั้นวิทยุไม่ได้ทำอุทธรณ์กลับไปยังภาพลักษณ์ของเอกภาพและความเข้มแข็งทางเผ่าพันธุ์ในอดีตที่ห่างไกล
แต่กลับปลุกพลังงานของนิโกรและช่วยพวกเขาให้เข้ามาครอบงำทางวัฒนธรรมของอเมริกาในช่วงทศวรรษ
๑๙๒๐ โดยผ่านเพลงและการเต้นรำของเผ่าพันธุ์..."
[McLuhan & Fiore1968: Pp.132-133]
War of Nerves - สงครามเย็น
"วลีภาษาฝรั่งเศสเมื่อหลายทศวรรษก่อนที่ว่า 'guerre des nerfs' (war of
nerves) นับจากบัดนั้นก็ได้ถูกใช้อ้างอิงว่า 'สงครามเย็น' ที่จริงก็คือสงครามไฟฟ้าทางข่าวสารและทางจินตภาพที่ไปไกลกว่าและครอบงำเป็นพิเศษกว่าสงครามร้อนดั้งเดิมในยุคที่พึ่งฮาร์ดแวร์ทางอุตสาหกรรม..."
[McLuhan1964:p.295]
War of the Icons- สงครามสร้างภาพ
สงครามในปัจจุบันจึงเป็น"สงครามสร้างภาพสื่อ" (War of the Icons) และนี่คือลักษณะสำคัญของสังคมข่าวสาร
ข่าวสารก็คือกระบวนการสื่อสารที่สร้างผลต่อการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ
ของเรา ในยุคของโลกแห่งวัฒนธรรมตัวอักษร มนุษย์อาจถูกจำกัดการเรียนรู้เมื่อเราไม่รู้หนังสือ
หรือรู้ภาษาคนละภาษากัน แต่ในโลกของภาพสื่อกระบวนการเรียนรู้อยู่ในทุกที่ ห้องเรียนที่เคยมีความสำคัญก็ได้ถูกแทนที่โดยสื่อต่างๆ
ในปัจจุบัน เด็กในยุคปัจจุบันรู้มากกว่าเด็กวัยเดียวกันในยุคก่อน พวกเขาเข้าโรงเรียนก่อนไปเรียนที่โรงเรียนจริงๆ
(แน่นอนพวกเขาเรียนเรื่องประชาธิปไตยและซึมซับมันก่อนได้ใช้สิทธิทางการเมือง
เมื่อรวมกับประเด็นที่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องต้องฝึกตั้งแต่ยิ่งเด็กยิ่งดี ผู้ที่คัดค้านคนวัย
๑๘ ปี เพื่อไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงนับว่าขาดความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องพัฒนาการประชาธิปไตย
และขาดความเข้าใจด้านลึกในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นจริงในสังคมปัจจุบัน
ถ้าเป็นวุฒิสมาชิกที่คิดอะไรล้าหลังข้างต้นก็นับว่าช่างน่าเวทนานักที่ไม่รู้จักละอายใจตนเองว่าด้อยคุณสมบัติผู้พิทักษ์หลักการเพียงไร!)
เมื่อนโปเลียนยกกองทัพบุกรัสเซียเมื่อปลายศตวรรษที่ ๑๙ นโปเลียนได้นำน้องชายของผู้คิดค้นโทรเลขสมัยแรกไปด้วย เพื่อให้เขาติดตั้งเสาส่งโทรเลขเคลื่อนที่ [ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Gerard Holzmann & Bjorn Pehrson, "THE FIRST DATA NETWORKS" SCIENTIFIC AMERICAN, January 1994] เราจะเห็นได้ว่าตัวข่าวและการแจ้งข่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง รายงานการรบจากแนวหน้าอย่างทันทีทันใด ช่วยให้การเมืองในปารีสมีเสถียรภาพ เทคโนโลยีสื่อสารในระยะแรกๆ นั้นนำความเปลี่ยนแปลงในเชิงได้เปรียบเสียเปรียบทางยุทธศาสตร์มาให้เห็นอย่างเด่นชัด (ในสงครามที่กรุงทรอย ยุคกรีกโบราณ ผู้แจ้งข่าววิ่งนำข่าวชัยชนะเพื่อให้ข่าวไปถึงเร็วที่สุดต้องวิ่งจนขาดใจตายหลังแจ้งข่าว)
ในสังคมยุคข่าวสาร ข่าวสารไม่ใช่ "ข่าว" แต่คือตัวสื่อเอง สื่อจากเทคโนโลยีไฟฟ้าสร้างผลโดยตรงต่อระบบประสาทการรับรู้ของเราทั้งสังคมและในแต่ละคน คำว่า การไหลของข่าวสารสะท้อนลักษณะดังกล่าว ข่าวสารไหลเข้ามาในทุกทาง ในเมื่อมันเกิดที่ระบบประสาทเกิดในจิตสำนึก เราก็ถูกผูกพันเข้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และลงลึกด้วย ในแง่นี้ สื่อไฟฟ้าได้สร้างโลกในประสบการณ์ของเราขึ้นมา และหล่อเลี้ยงการรับรู้ของเราในทุกทิศทาง นี่คือลักษณะพิเศษของยุคสมัยเรา
ในยุคโบราณ บรรพบุรุษของมนุษย์ได้สร้างเทคโนโลยีเช่นขวานหินขึ้นมา เพื่อขยายความสามารถในการหาอาหาร บรรพบุรุษผู้เร่ร่อนไปตามผืนแผ่นดินเพื่อรวบรวมอาหารประทังชีวิตก็ได้ใช้เวลาอีกช่วงยาว ก่อนที่จะสร้างส่วนขยายของผิวหนังในรูปรวมหมู่ที่เรียกว่า "เมือง" ขึ้นได้ และสร้างอารยธรรมเมืองให้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ไม่มีใครรู้ว่าในอีกห้าพันปีหลัง มนุษย์ก็ได้หวนคืนสู่สภาพของการเร่ร่อนแบบเดียวกับบรรพบุรุษเมื่อหมื่นปีก่อน ด้วยการท่อง ไปในโลกที่ระบบประสาทรับข้อมูลจากทุกช่องทาง มนุษย์จึงได้กลับสู่วันเวลาของเผชิญหน้ากับสภาพการณ์ที่ต้องตื่นตัวในแทบทุกเวลา ในแง่หนึ่งมนุษย์แต่ละคนมีอำนาจมากขึ้นเมื่อแต่ละคนเริ่มอยู่ในสถานะที่เท่าๆ กัน ในอีกแง่หนึ่งแต่ละคนก็เริ่มเคว้งคว้างมากขึ้นเช่นกัน เมื่อข่าวสารมาจากทุกทิศทาง ทางหนึ่งจึงมุ่งไปสู่สภาพปัจเจก อีกทางมุ่งไปสู่สภาพรวมหมู่ ยุคจักรกลยังไม่หมดไปและยุคไฟฟ้าก็เร่งเดินหน้าเข้ามาอย่างเต็มที่ สองยุคยังคาบทับกันนี่คือยุคสมัยของเรา (กล่าวด้วยภาษาแบบทอฟเฟลอร์ คลื่นลูกที่สองยังคงกระแสอยู่ขณะที่คลื่นลูกที่สามก็โถมเข้ามาเต็มแรง) นี่คือสถานการณ์ของมนุษย์ยุคเรา
อะไรคือเป้าหมายของการเป็นมนุษย์?
เราจะไปทางไหนกัน? ประวัติศาสตร์มนุษยชาติมีจุดจบหรือไม่? เราจะได้พิจารณากันในตอนต่อไป
(และแลกเปลี่ยนความคิดกับ"โบดริลญารด์"และ"ฟูกูยามา" โดยย้อนเวลาข้ามศตวรรษไปคุยกับ"เฮเกล"และ"ไฮเด็กเกอร์"ว่า
โลกในศตวรรษหน้าจะเป็นอย่างไร?)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ลงพิมพ์ใน
ไทยไฟแนนเชี่ยล ๔ เมษายน ๒๕๓๗
(2) โลกหลังยุคใหม่: เมื่อความชั่วร้ายโปร่งแสงได้
"ลองพิจารณาดูไมเคิล แจ็คสัน เป็นกรณีตัวอย่าง ไมเคิล แจ็คสันก็คือสิ่งกลายพันธุ์ตนเดียว ผู้นำทางของการผสมผสานพันทางที่สมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุว่า เขาเป็นตัวแบบสากล- เผ่าพันธุ์ที่มาเพื่อสลายประดาเผ่าพันธุ์อื่น คนหนุ่มสาวในทุกวันนี้ไม่เห็นว่าเป็นปัญหากับสังคมที่มีการผสมผสานข้ามเผ่าพันธุ์ พวกเขาอาศัยอยู่ในจักรวาลที่เป็นเช่นนั้น และไมเคิล แจ็คสันก็เป็นภาพนำทางของสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นภาพอนาคตในอุดมคติ ข้อเท็จจริงที่เสริมความเข้ามาก็คือว่า ไมเคิลนั้นเชิดหน้า ผมเหยียดตรง ผิวสีจางๆ - กล่าวโดยสั้นๆ ไมเคิลถูกสร้างขึ้นมาใหม่อย่างระวังระไวยิ่งในส่วนรายละเอียดทั้งปวง นี่คือสิ่งที่ทำให้ไมเคิลดูเหมือนเป็นเด็กที่บริสุทธิ์และไร้เดียงสา - สิ่งที่มีสองเพศที่ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นในเทพนิยาย ดูดีกว่า กระทั่งพระคริสต์ในการที่จะครองโลกและเชื่อมสิ่งที่ขัดกันให้เข้ากันได้ ดูดีกว่าบุตรแห่งพระเจ้าเสียอีก เพราะว่าไมเคิลเป็นบุตรแห่งการประดิษฐ์ขึ้นมาแทนสิ่งตามธรรมชาติ เป็นหน่อเนื้อชีวิตแห่งบรรดาการผสมผสานกลายพันธุ์ที่คาดฝันกันอันช่วยเราให้ไปพ้นจาก (การอยู่ใน) ชาติพันธุ์และเพศ"
[Jean Baudrillard, THE TRANSPARENCY OF EVIL, London:Verso,1993, Pp.21-22, ต่อไปเรียกว่าTE]
จากสภาพแบบไนโทรกลีเซอรีน (Nitroglycerin - ในทางการแพทย์) ประดิษฐ์ ของมาดอนนา มาถึงสภาพชวนเห็นเป็นสองเพศและเป็นแบบแฟรงเกนสไตน์ (คนประดิษฐ์ตามนิยายสยองขวัญของแมรี่ เชลลี่ อันเป็นร่างมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากชิ้นส่วนที่เอามาจากศพหลายๆ ศพ) ของไมเคิล แจ็คสัน, โบดริลญาร์ นักปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งของปรัชญาสกุลหลังยุคใหม่ [Postmodernism] ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในยุโรป ได้ชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมกรณีการคลั่งไคล้ไมเคิล ว่า เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในสภาพการณ์ของโลกยุคปัจจุบัน นั่นคือสภาพการณ์หลังการเมาหัวราน้ำ [after the orgy] ซึ่งก็คือสภาพการณ์หลังยุคแห่งการปลดปล่อย [after the age of liberation] สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างไร? ภายใต้กระแสของโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันนี้ นี่คือการวิเคราะห์สภาพการณ์ด้านหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตรนั่นเอง และเป็นมุมมองลึกที่แปลกไปจากที่วิเคราะห์กันในเมืองไทย
หลังยุคแห่งการปลดปล่อย
พวกเราที่เฝ้าดูความเป็นไปในสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยขณะนี้ ขณะที่ยังได้เห็นความดึกดำบรรพ์ของนักการเมืองไทยในการ
"เล่น" การเมือง ความดึกดำบรรพ์
ของเจ้าหน้าที่ไทยในการจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องของมวลชน (เช่นการสลายม็อบด้วยวิธีการแบบดึกดำบรรพ์)
ความดึกดำบรรพ์ในการคิดของวุฒิสมาชิก (โดยเฉพาะพวกนักวิชาการประเภทสอพลอผู้มีอำนาจ-
ประเภทที่แสร้งเป็นไม่รู้ว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างไร และพยายามหาข้อเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยด้วยการอ้างอิงผู้เป็นใหญ่ในระบอบการปกครองแบบเก่าย้อนยุคมาเบรกกระบวนการ)
ความดึกดำบรรพ์ของข้าราชการไทยในการหวงอำนาจ ซึ่งที่แท้จริงก็ไม่ใช่ของตน สภาพการณ์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ในปัจจุบันเป็นสภาพการณ์ของยุโรปที่มองผ่านสายตาของโบดริลญาร์
และก็ให้ผลโดยตรงถึงบ้านเราด้วยทีละน้อยและไวขึ้น อันเนื่องจากสภาพการณ์แบบ"หมู่บ้านโลก"ที่เทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันนำพามา
After the Orgy - After
the Age of Liberation
"การเมาหัวราน้ำในที่นี้ก็คือ ชั่วขณะที่ความเป็นสมัยใหม่ระเบิดใส่เรา ชั่วขณะที่การปลดปล่อยในทุกอาณาบริเวณเกิดขึ้น
เช่น การปลดปล่อยทางการเมือง การปลดปล่อยทางเพศ การปลดปล่อยพลังทางการผลิต การปลดปล่อยพลังในการทำลายล้าง
การปลดปล่อยสตรี การปลดปล่อยเด็กๆ การปลดปล่อยแรงผลักใต้จิตสำนึก การปลดปล่อยทางศิลปะ
การปลดปล่อยความเชื่อพื้นฐานที่รองรับภายใต้แบบจำลองใดๆ ก็ตามทางการสร้างรูปแบบเหมือนจริง
เช่นเดียวกับ การปลดปล่อยซึ่งแบบจำลองใดๆ ก็ตามที่แย้งรูปแบบเหมือนจริง นี่คือการเมาแบบหัวราน้ำโดยบริบูรณ์
ความมึนเมาในสิ่งจริง ในความเป็นเหตุผล ในทางเพศ ความมึนเมาของการวิพากษ์และการต้านการวิพากษ์ เกี่ยวกับการพัฒนาและเกี่ยวกับวิกฤตของการพัฒนา เราได้สืบย้อนตามไปในทุกเส้นทาง ในการผลิตและการผลิตมากเกินไปอันให้ผลของสัญญาณ ข่าวสาร อุดมการณ์และความพึงพอใจ บัดนี้ทุกสิ่งได้รับการปลดปล่อย ตัวชิปถูกถอดออก และเราก็ได้พบว่าเราเองได้เผชิญหน้าอย่างรวมหมู่กับคำถามสำคัญที่ว่า เราทำอะไรอยู่ในขณะนี้ เมื่อความมึนเมากำลังจางหายไป?" [TE, p.3]
กล่าวได้ว่า คริสตศตวรรษที่ ๒๐ เป็น"ศตวรรษแห่งการปลดปล่อย" เราเปิดศตวรรษที่การขยายตัวของระบอบทุนนิยมในยุคปลายของการแสวงหาอาณานิคม เพียงสิบกว่าปีหลังเปิดศตวรรษ สงครามครั้งใหญ่ที่เรียกว่าสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็ระเบิดขึ้น ผลของสงครามด้านหนึ่งคือ การกำหนดเขตพรมแดนใหม่เกี่ยวกับดินแดนต่างๆ เราได้แผนที่ใหม่อีกแผ่น บางดินแดนเป็นอิสระ บางดินแดนก็เปลี่ยนความเป็นเจ้าอาณานิคม กระแสการปลดปล่อยดินแดนของเผ่าพันธุ์ตนจากการเป็นอาณานิคมกลายเป็นกระแสใหญ่ทั่วโลก และมีผลต่อรูปการสงครามในการถือข้างฝ่ายใดของชาวพื้นเมืองในดินแดนอาณานิคม .
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งก็คือนักล่าอาณานิคมเช่นกัน ต้องต่อสู้กับฝ่ายแกนอักษะและพันธมิตรฟาสซิสม์ในสงครามจิตวิทยา เพื่อดึงความร่วมมือจากชนพื้นเมืองเหล่านั้น สงครามจิตวิทยาดังกล่าวพัวพันประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ต้องเข้าร่วมอย่างทั่วถึง แนวคิดมหาอำนาจเผ่าพันธุ์ไทยของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ก็เป็นส่วนหนึ่งในสงครามจิตวิทยายุคดังกล่าว นี่คือยุคของการปลดปล่อยทางการเมืองเพื่อความเป็นไทแห่งรัฐตน
ในแต่ละประเทศ การเรียกร้องการยอมรับสิทธิทางการเมืองของคนกลุ่มต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประชาชนเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและสิทธิของพลเมืองในระยะแรก (เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง การกำหนดตัวผู้นำประเทศ เป็นต้น) และเรียกร้องสิทธิทางการใช้ชีวิตตามวัฒนธรรมและทางการจัดการทางเศรษฐกิจของชุมชนตนเองในเวลาต่อมา (เช่น สิทธิชุมชน การกระจายอำนาจ เป็นต้น) ชนกลุ่มน้อยเรียกร้องสิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เรียกร้องความเสมอภาคในศักดิ์และสิทธิ ปรากฏการณ์นี้เกิดในทุกพื้นที่ แม้ในประเทศมหาอำนาจเอง ยิ่งกว่านั้นปัจเจกบุคคลหรือแต่ละคนเรียกร้องสิทธิในการเลือกรูปแบบการใช้ชีวิต สิทธิในภาวะส่วนบุคคลที่บุคคลอื่นไม่พึงแทรกแซง จากการเรียกร้องความเสมอภาคโดยไม่เลือกปฏิบัติเพียงเพราะมีเพศ, ชาติพันธุ์, ผิวสี, ความเชื่อและศาสนาที่แตกต่างจากคนอื่น (ตลอดจนการคุ้มครองผู้อ่อนแอกว่าเช่น เด็ก เป็นต้น) มาจนถึงการเรียกร้องสิทธิที่จะมีอาณาบริเวณทางกายภาพ, ทางรูปแบบและทางจิตใจของตนเอง การปลดปล่อยยังไปไกลถึงการเรียกร้องที่จะกำหนดความเป็นเพศและการใช้ชีวิตทางเพศของตนเอง ดังกรณี สิทธิของเกย์และเลสเบี้ยน เป็นต้น กล่าวได้ว่า คริสตศตวรรษที่ ๒๐ กำลังจากไปพร้อมกับกำแพงและสิ่งกักขังมนุษย์ นี่คือภาพหนึ่งของโลกาภิวัตรในศตวรรษนี้
ในยุโรปสภาพการณ์ไปไกลมาก
ดังเราเห็นได้จากการรับรองของรัฐสภายุโรปที่ให้ผู้แปลงเพศอ้างสิทธิครองเพศที่แปลงได้
อันรัฐในยุโรปพึงปรับกฎหมายตาม (และก็ได้ยังความตระหนกมายังคนบางกลุ่มในเมืองไทย
เช่นดังความคิดเห็นคัดค้านที่ปรากฏเป็นบทนำในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ๒๖ ก.พ. ๒๕๓๗
เป็นต้น) การวิเคราะห์ทางวิชาการจนเกิดเป็นสภาพเห็นพ้องกันว่า ความเป็นเพศเป็นเรื่องสังคมกำหนด
ได้นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเชิงวัฒนธรรมและสังคมให้เกิดในยุโรปในบัดนี้
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการขยายตัวของเสรีภาพที่จะได้รับการเร่งให้เกิดในทุกดินแดนโดยฉับพลัน
ภายใต้สภาพการณ์ทางการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าผู้ใดจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในท้ายที่สุด
โลกกำลังผ่านช่วงขณะที่สำคัญช่วงหนึ่งที่สภาพการณ์จักเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างแน่นอน
ตรงจุดนี้เองคือปริบทที่ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่โบดริลญาร์เขียนได้ สำหรับโบดริลญาร์แล้ว การปลดปล่อยนี้กำลังระเบิดตัวเองออกมาในทุกด้านพร้อมเพรียงกัน เราเข้าไปในงานเลี้ยงที่กำลังสนุกสนานกันอย่างสุดเหวี่ยง และเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรยากาศดังกล่าวด้วย สิ่งต่างๆ หมุนวนไปรอบตัวเราเช่นเดียวกับที่เราก็อยู่ในความหมุนวนนั้นด้วย นี่คือสภาพของความมึนเมา
อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อความมึนเมาหมดไป?
๑. ในโลกตะวันตก "เสรีภาพไม่ผุดโผล่มาในลักษณะที่เป็นตัวปฏิบัติการอีกต่อไป แต่ปรากฏเป็นปฏิสัมพันธ์ในรูปของการเห็นพ้องอย่างเดียวกันและส่งผลโดยแท้จริง" [TE,Pp.95-96] ในโลกตะวันตกทุกสังคม (และยุโรปตะวันออกเองหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายก็กำลังถูกบังคับให้เข้าสู่การยอมรับการเห็นพ้องกันดังกล่าว) ปัจจุบันได้มาถึงจุดของความเห็นร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว คือ"การสร้างรัฐแห่งเสรีภา" รัฐที่เคารพสิทธิมนุษยชน" ในแง่นี้ เสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่ต้องเรียกร้องอีกต่อไป ปฏิบัติการเพื่อให้เกิดสิ่งนั้นก็ไม่จำเป็น เพราะได้เสรีภาพกันแล้ว เป็นที่ยอมรับอย่างเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า นี่คือ"เป้าหมาย" และก็กำลังบรรลุเป้าหมายอยู่แล้ว. โบดริลญาร์ใช้คำเรียกว่า "ไม่มีการเล่นละครอีกต่อไป มีก็แต่เพียงเสรีนิยมที่เป็นการละครรักษาจิตระดับสากลเท่านั้น" [no longer as a drama but merely as the universal psychodrama of liberalism - psychodrama (*) นี้เป็นศัพท์ทางจิตวิเคราะห์ อันหมายถึงวิธีการบำบัดจิตโดยการดึงสิ่งที่ซ่อนไว้ใต้จิตสำนึกออกมาให้เห็น โดยใช้ตัวคนไข้เองให้มีบทบาทกระทำการ และอยู่ในท่ามกลางการเฝ้าดูจากคณะจิตแพทย์หรือคนไข้อื่น] กล่าวคือทั้งสังคมรู้ถึงการยอมรับร่วมกันนี้แล้ว หรือเราดึงเอาความเห็นพ้องนี้ออกมาให้เห็นได้เสมอ
(*)'Psychodrama' is a form of human development which explores, through dramatic action, the problems, issues, concerns, dreams and highest aspirations of people, groups, systems and organizations. It is mostly used as a group work method, in which each person in the group can become a therapeutic agent for each other in the group. Developed by Jacob L. Moreno, psychodrama has strong elements of theater, often conducted on a stage where props can be used. The audience is fully involved with the dramatic action.
Audience involvement is either through personal interest in the concerns of the leading actor, called the protagonist; or through playing some roles of the drama which helps the protagonist; or taking the form of some of the other elements of the drama, which can give voice to the rest of our wild universe; or through active engagement as an audience member. Psychodrama's core function is the raising of spontaneity in an adequate and functional manner. It is through the raising of spontaneity that a system, whether an internal human system or an organizational system, can begin to become creative, life filled and develop new solutions to old and tired problems or adequate solutions to new situations and concerns. A psychodrama is best conducted and produced by a person trained in the method or learning the method called a psychodrama director.
๒. ในตอนที่ยังอยู่ในโลกที่มีสภาพการณ์ของความแปลกแยก [alienation] ระหว่างตัวเรากับสิ่งอื่นนอกตัวเรา หรือระหว่างตัวเรากับสำนึกในการมีตัวเราอยู่ ในโลกที่ยังมีความชั่วร้ายดำรงอยู่ และมีความดีให้เราเลือกกระทำหรือเลือกข้าง ในโลกแบบนั้นสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่มีความหมาย "สิทธิของปัจเจกบุคคลสูญเสียความหมายไปในทันที เมื่อปัจเจกบุคคลไม่เป็นสิ่งที่ถูกทำให้แปลกแยกอีกต่อไป กล่าวคือ (ไม่) ถูกขับออกจากการเป็นตัวเขาเอง หรือเป็นคนแปลกหน้าต่อตนเอง ดังที่เขาเคยเป็นเช่นนั้นภายใต้สังคมที่มีการเอารัดเอาเปรียบและมีความขาดแคลนทรัพยากร อย่างไรก็ตาม ในการอวตารหลังยุคใหม่นี้ ตัวปัจเจกบุคคลก็กลายเป็นตัวหน่วยแบบที่อ้างอิงตัวเอง ปฏิบัติการโดยตัวเอง ภายใต้สถานการณ์เช่นนั้นระบบสิทธิมนุษยชนก็กลายเป็นระบบที่ไม่เพียงพอและเป็นเพียงภาพมายาไป..." [TE, p.87]
ในแง่หนึ่งของลักษณะทางจิตวิทยา ความแปลกแยกเกิดขึ้นเมื่อคนๆ หนึ่งถูกทำให้รู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่นในเชิงศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ ในสังคมที่มีความไม่เป็นธรรม คนถูกแบ่งมาแต่ต้นโดยอิงสถานภาพจากชาติกำเนิด จากฐานะ จากเผ่าพันธุ์ จากผิวสี จากเพศ ในสังคมแบบนั้นการเรียกร้องสิทธิเป็นสิ่งที่มีความหมาย เพราะทำให้ "ตัวเรา" ได้รับการยอมรับในศักดิ์ศรีของความเป็นคนที่เท่ากันกับคนอื่นๆ เมื่อไม่มีสังคมเช่นนั้นอีกต่อไป ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการเป็น "ตัวเรา" ที่คนอื่นหรือสังคมต้องยอมรับก็หมดไปด้วย ถ้าทุกคนเป็นที่ยอมรับ ความหมายของการ "ยอมรับ" ก็หมดไป ในแง่นี้ "ตัวเรา" [โบดริลญาร์ ใช้คำว่า the Subject] ก็ไม่มี พร้อมๆ กับกับที่ "ความเป็นอื่น [the Other]" ก็ไม่มีความหมายเช่นกัน (เพราะความแตกต่างระหว่าง "ตัวเรา" กับ "ความเป็นอื่น" ไม่มีอีกต่อไป) ทั้งหมดต่างเป็นเหมือนๆ กัน คือเป็นสิ่ง [the Object] ภายใต้สภาพการณ์ภาววิสัยแบบเดียวกัน ในแง่นี้เมื่อความมึนเมาสลายไป เราก็ได้พบว่าไม่มี "ตัวเรา" อีกต่อไป! เมื่อไม่มี "ตัวเรา" ไม่มี "ความเป็นอื่น" เมื่อมีแต่ "สิ่ง" เราจะพูดถึง "สิทธิ" อย่างมีความหมายได้อย่างไร?
State Terrorism: การก่อการร้ายโดยตัวรัฐเอง
เรากำลังอยู่ในโลกที่อยู่ในสภาพการณ์ที่เรียกว่ามี"ความเป็นจริงเหนือระดับการเมือง"
[the transpolitical reality] กล่าวคือเป็นสภาพที่ไม่มีกุศโลบายทางการเมืองที่คิดกันขึ้นใหม่เลย
(โบดริลญาร์ ระบุด้วยว่า ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดของใหม่ๆ ในเรื่องนี้อีก)
และการจัดการอย่างมีเหตุผลในเรื่องที่เกี่ยวกับอาณาบริเวณทางสังคมเองก็เป็นไปไม่ได้อีกด้วย
รัฐได้เสียลักษณะทางสังคมไป "รัฐไม่ทำงานเพื่อสนองตอบต่อเจตจำนงทางการเมืองอีกต่อไป
แต่กลับไปอยู่บนฐานของการข่มขู่ การหน่วงเหนี่ยว การเสแสร้ง การยั่วยุและการเชื้อเชิญอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
มันได้สร้างการเมืองแห่งการก่อให้เกิดความไม่พอใจ ความบาดหมาง และความไม่แยแส
[a politics of disaffection and indifference] ขึ้น" [TE,p.79]
เมื่อรัฐสิ้นศัตรู หรืออ้างเอาศัตรูแห่งชาติไม่ได้ รัฐก็ไม่มีอะไรให้รัฐไปต่อสู้ด้วย บัดนี้รัฐกลับหันมาเอาประชาชนของตนเป็นศัตรูแทน นั่นคือสภาพการณ์ที่โบดริลญาร์เรียกว่า"การก่อการร้ายโดยตัวรัฐเอง" [state terrorism]" ด้วยเหตุว่า ยังมีการสืบหาอย่างจงใจของนโยบายแบบเดรโค (การดำเนินการที่เคร่งครัด) กล่าวคือ นโยบายแบบที่ยั่วยุอย่างจงใจต่อประชากรของประเทศตน ความพยายามที่จะเติมความสิ้นหวังเข้าไปให้กับประชาชนในส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อขับพวกเขาให้ไปอยู่ตรงชายขอบของการคิดฆ่าตัวตาย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งและเป็นเนื้อแท้ของตัวนโยบายของรัฐสมัยใหม่จำนวนไม่น้อย
นางแท็ตเชอร์ (นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนาน) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการทำลายคนงานเหมือง โดยใช้วิธีเพียงแค่อิงอาศัยจิตใจที่กระหายเลือดที่คาดคำนวนเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น คนงานเหมืองผู้ก่อการสไตรค์ (นโยบายของแท็ตเชอร์) ก็ต้องจบลงที่การเสียเครดิตของตนไปต่อสายตาของประชาชน นางได้ใช้กุศโลบายเดียวกันกับกรณีของพวกอันธพาลว่างงาน ดูราวกับว่า นางเองได้ส่งพวกเขาไปเป็นหน่วยรบกล้าตาย จากนั้นส่งไปนอกดินแดน แน่นอนว่านางก็ได้ประณามพวกเขา ความป่าเถื่อนของคนเหล่านั้นก็ยังเป็นความป่าเถื่อนเดียวกันกับที่นางแสดงออกในการใช้อำนาจของนางเช่นกัน นโยบายทำให้ละลายหายไปประเภทนี้ จะรุนแรงมากหรือน้อยก็ตาม เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ก็คือ ของในสต็อกหรือมีอยู่ในคลังของประดารัฐสมัยใหม่ซึ่งตุนไว้เพื่อขาย โดยอ้างเอาความชอบธรรม โดยอ้างอิงถึงการเกิดวิกฤต มันจึงรวมเอาไว้อยู่แล้วถึงมาตรการสุดๆ ประเภทที่กล่าวมา ซึ่งเป็นเพียงผลที่เบี่ยงเบนของการก่อการร้าย ซึ่งตัวรัฐเองไม่มีทางที่จะต่อต้าน" [TE, Pp. 77-78]
เราจะเห็นได้ว่าในบ้านเรา "นโยบายทำให้ละลายหายไป" ก็เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้อยู่เสมอ ไม่ว่าใครเข้ามากุมกลไกรัฐก็ตาม ไม่จริงหรือที่รัฐบาลยุคทหารครองเมือง หรือยุคชวน หลีกภัย ก็ใช้กุศโลบายแบบเดียวกันที่มีเก็บไว้ในสต็อกมาใช้อิงข้ออ้างวิกฤตนั้นวิกฤตโน้นเสมอๆ ดังนั้น นายกฯ ชวนจะเป็นร่างทรง รสช.หรือไม่ จึงไม่สำคัญเท่ากับการที่ธรรมชาติของการเลือกปฏิบัติการในการแก้ปัญหาของกลุ่มชนส่วนต่างๆ ตามแนวปฏิบัติที่นายชวนได้ทำมานั้น ไม่จริงหรือที่เป็นธรรมชาติเดียวกันกับพวก รสช.? ตรงนี้เองที่เราคงเห็นได้ว่า การวิเคราะห์ของโบดริลญาร์นี้น่าสนใจเพียงไร และรัฐไทยเองก็ช่างร่วมกระแสโลกาภิวัตรเพียงไร ไม่จริงหรือที่การดำเนินนโยบายรัฐไทยในตอนนี้ยังเป็น state terrorism ภายใต้โลกาภิวัตรร่วมกระแส?
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com