ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒ : Release date 23 March 2009 : Copyleft MNU.

"สังคมอุตสาหกรรมแบบที่ต่ำความรู้" หรือ lowbrow industrial society อันหมายถึงสังคมอุตสาหกรรมยุคหนึ่ง สังคมแบบนี้เรียกอีกอย่างว่า "สังคมปล่องไฟ"(smokestack society- ขอให้นึกถึงภาพปล่องไฟพ่นควันจากโรงงานเรียงรายเป็นทางยาว) สังคมแบบนี้การทำการผลิตจะวางอยู่บนที่ดิน แรงงาน และทุน โดยการเน้นหนักการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ และแหล่งจ้างแรงงานราคาถูกเพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ทรัพย์สินวัดกันที่รูปแบบการครอบครองสินค้า การผลิตสินค้าจึงเป็นศูนย์กลางเดียวของระบบเศรษฐกิจ มีการแยกส่วนการบริการและการผลิตออกจากกัน ในลักษณะให้ความสำคัญกับส่วนหลังโดยเห็นว่าส่วนแรกนั้นเป็นส่วนที่ไม่ทำการผลิต บ่อยครั้งจึงใช้มาตรวัดการทำการผลิตในลักษณะที่เป็นรูทีน และวัตถุที่จับต้องได้

H



23-03-2552 (1705)
โลกหลังยุคใหม่: จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษและพัฒนาการคลื่นลูกที่สาม
จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียด ถึงทุนนิยมที่มีใบหน้าเป็นมนุษย์
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ : เขียน
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

หมายเหตุ: บทความวิชาการนี้ขอรับมาจากผู้เขียน ซึ่งเคยตีพิมพ์แล้วในไทยไฟแนนเชี่ยล
เดิมชื่อ "โลกหลังยุคใหม่: จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ" ซึ่งได้เขียนเป็นตอนๆ ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๓๗
หรือเมื่อราว ๑๕ ปีมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้มีการปรับปรุงเนื้อความให้ร่วมสมัย
เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์พัฒนาการของทุนนิยมในโลกหลังยุคใหม่
เริ่มต้นจากการปฏิวัติบอลเชวิกและกำเนิดสหภาพโซเวียต จนถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียด
และมาสิ้นสุดที่พัฒนาการโลกในยุคคลื่นลูกที่สาม

บทความวิชาการนี้ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
(๑) โลกหลังยุคใหม่(ตอนที่๑):จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ
- จุดเปลี่ยนจากยุคใหม่, "ความทันสมัย"กับสังคมไทย

(๒) โลกหลังยุคใหม่: ผลพวงจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (๑)
- การปฏิวัติบอลเชวิกและกำเนิดสหภาพโซเวียต
- การปฏิรูป"เปเรสตรอยกา"และการคิดอย่างใหม่

(๓) โลกหลังยุคใหม่: ผลพวงจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (๒)
- พายุเปเรสตรอยกา: เสียงสะท้อนการเปลี่ยนแปลง
- ผลจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
- การล่มสลายของสหภาพโซเวียตมีความหมายอย่างไร

(๔) โลกหลังยุคใหม่: ทุนนิยมที่มีใบหน้าเป็นมนุษย์
- ทุนนิยมในทัศนะของมาร์กซ์
- ทุนนิยมในปลายศตวรรษที่ ๒๐
- ทุนเปลี่ยนสภาพไปอย่างไร? ลักษณะการทำการผลิตแบบใหม่เป็นอย่างไร?
- สังคมอุตสาหกรรมแบบที่ต่ำความรู้
- สังคมอุตสาหกรรมแบบที่สูงความรู้
- สังคมอภิสัญลักษณ์ (super-simbolic society)
- ทุนนิยมที่มีใบหน้าเป็นมนุษย์
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๐๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๐.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

โลกหลังยุคใหม่: จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษและพัฒนาการคลื่นลูกที่สาม
จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียด ถึงทุนนิยมที่มีใบหน้าเป็นมนุษย์
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ : เขียน
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

(๑) โลกหลังยุคใหม่(ตอนที่๑):จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ

"สิ่งที่เราจักเป็นประจักษ์พยานอยู่นี้หาได้เป็นเพียงการสิ้นสุดของสงครามเย็นหรือการผ่านพ้นไปของช่วงเวลาเฉพาะช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์หลังสงคราม แต่เป็นจุดจบของประวัติศาสตร์ กล่าวคือ จุดสิ้นสุดของวิวัฒนาการทางอุดมการณ์ของมนุษยชาติ และเป็นการยอมรับอย่างเป็นสากลของเสรีนิยมประชาธิปไตยตะวันตกในฐานะที่เป็นรูปแบบสุดท้ายของรัฐบาลมนุษย์"
(Time ,April 23,1990)

คำประกาศอย่างท้าทายยิ่งของฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) นักวางนโยบายในทีมงานของทำเนียบขาวยุคประธานาธิบดีบุชประโยคดังกล่าว ปรากฏในงานเขียนของเขาที่มีชื่อว่า "จุดจบของประวัติศาสตร์" และได้นำมาซึ่งการเข้าร่วมถกเถียงประเด็นดังกล่าวจากนักวิชาการสำคัญทั้งในยุโรปและอเมริกาจำนวนมาก เราจะได้พิจารณากันต่อไปในตอนที่มีชื่อประเด็นว่า "ประวัติศาสตร์มีจุดจบหรือไม่?" แต่ในตอนนี้เราจะตั้งต้นที่ตรงการมองจุดเปลี่ยนของยุคสมัย

จุดเปลี่ยนจากยุคใหม่
มีนักวิเคราะห์จำนวนมากเห็นพ้องกันว่า การสิ้นสุดของสงครามเย็น อันรวมถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากยุคหนึ่งเข้าสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง เรากำลังเผชิญหน้ากับสภาพการณ์แบบใหม่

- อดีตประธานาธิบดีบุชของอเมริกาได้พูดถึง "การจัดระเบียบใหม่ของโลก"
- อดีตประธานาธิบดีกอร์บาชอฟได้พูดถึง"การคิดอย่างใหม่"
- นักคิดในกลุ่มซ้ายใหม่ (New Left) ในอังกฤษได้พูดถึง "การไร้ระเบียบใหม่ของโลก"
- นักวิชาการในสังคมไทยจำนวนมากได้พูดถึง "กระแสของการทำให้เป็นหนึ่งเดียวทั้งโลก"
(ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Globalization" และนักวิชาการไทยบางส่วนทำให้เป็นคำแขกว่า"โลกานุวัตร"นั่นเอง)

คำเหล่านี้ถูกใช้อย่างจงใจเพื่อเรียกปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจที่มีลักษณะสำคัญอันเห็นได้ชัดว่าต่างไปจากเดิม สิ่งนี้ได้สะท้อนว่าคนจำนวนไม่น้อยมีสำนึกถึงความเปลี่ยนไปแห่งยุคสมัย

ในยุโรปภาคพื้นทวีป สกุลความคิดที่ครอบคลุมวงการไม่ว่าด้านปรัชญา สังคมวิทยา ศิลปะ เป็นต้น มีชื่อเรียกตนเองและถูกเรียกว่า "สกุลหลังยุคใหม่" (Postmodernism) สังคมในยุโรปนอกจากได้รับการเรียกถึงว่าเป็น "สังคมหลังอุตสาหกรรม" ยังมีการเรียกกันว่า "สังคมหลังยุคใหม่" (Postmodern world). ในปี ๑๙๘๒ ฌอง-ฟรองซัว ลีโอตารด์ (Jean-Francois Lyotard) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้เป็นตัวหลักของสกุลปรัชญาหลังยุคใหม่ได้เขียนไว้ว่า "...ในทุกหนทุกแห่งเรากำลังได้ถูกเร่งเร้าให้เลิกการทดลอง ไม่ว่าในทางศิลปะหรือในด้านอื่นๆ ผมได้อ่านข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ผู้หนึ่งผู้ซึ่งสรรเสริญศิลปะสกุลสัจนิยมและแสดงความรำคาญใจกับการมาถึงของหัวสกุลใหม่ๆ ผมได้อ่านข้อเขียนของนักวิจารณ์งานศิลป์ผู้ซึ่งกระจายเสียงออกอากาศและขาย"สกุลเหนือแนวบุกเบิก" (transavant-gardism) ตามตลาดงานศิลปะ..." [Lyotard 1988:P.1]

ในที่นี้ ลีโอตารด์ต้องการกล่าวถึงกระแสของการต่อต้านแนวทางการทดลองใหม่ๆ ที่ปรากฏขึ้นในทางวัฒนธรรม ไม่ว่าในด้านศิลปะหรือทางปรัชญา และเราก็ได้ประจักษ์ว่า กระแสต่อต้านเหล่านั้นไม่บรรลุผลแต่อย่างไร ในปลายทศวรรษยุค ๑๙๘๐ เราได้ประจักษ์ถึงการทดลองอย่างจริงจังในรูปแบบใหม่ทางการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและสังคม กล่าวคือเรากำลังเข้าสู่ยุคของการทดลองที่กว้างไปกว่าแค่ในทางศิลปะหรือปรัชญา และครอบคลุมถึงทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์

ตรงนี้เองที่การเปลี่ยนของยุคสมัยหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้น ในเวลาเช่นนี้คนจำนวนมากปรับตัวไม่ทันรับกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยสื่อซึ่งกระจายตัวอย่างกว้างขวางด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ สังคมไทยก็เป็นอาณาบริเวณหนึ่งภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บทความชุดนี้มีจุดมุ่งหมายนำพาผู้อ่านในสังคมไทยไปสู่ปัจจุบันของอาณาบริเวณอื่นและอนาคตอันใกล้ของสังคมไทยเอง ผู้เขียนจะได้นำประเด็นที่สำคัญที่สนใจกันในวงการโลกปัจจุบันมาอภิปรายเช่นเรื่องจุดจบของประวัติศาสตร์ แรงผลักดันประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เราจะได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น ผลพวงจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต กระบวนการทำให้เป็นหนึ่งเดียวทั้งโลกในด้านต่างๆ การปรากฏใหม่ของแนวคิดแบบเผ่าพันธุ์นิยม ผู้อ่านจะได้รับการพาไปรู้จักสายสกุลทางความคิดต่างๆ ที่มีอิทธิพลทางความคิดในโลก เช่น ยุโรปภาคพื้นทวีป โลกแองโกลแซกซอนหรือโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษ โลกอิสลาม เป็นต้น ว่าสกุลเหล่านี้คิดอะไรกันอยู่

เราจะได้อภิปรายถึงประเด็นจากความคิดของนักคิดเด่นๆ ในปัจจุบัน ดังเช่น โบร์ดริลญาร์ (Baudrillard), ฮาเบอร์มาส (Habermas), ไควน์ (Quine) เป็นต้น โดยมีการโยงประเด็นอภิปรายถึงเหล่านักคิดที่มีอิทธิพลต่อปัจจุบัน เช่น ไฮเด็กเกอร์ (Heidegger), วิตเกนสไตน์ (Wittgenstein), ฟูโกลต์ (Foucault) เป็นต้น และจะได้พิจารณาเรื่องผลพวงจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อันเป็นประเด็นที่มีความสับสนมากที่สุดในบรรดา "ผู้ประกาศลัทธิ" ในสังคมไทย เช่นสาย ส.ศิวรักษ์ เป็นต้น) เช่น แนวคิดเรื่องทฤษฏีควันตัม กรณีการค้นคว้าเรื่องรหัสยนัยแห่งพันธุกรรม ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือโครงการสร้างคอมพิวเตอร์ที่ "คิด" ได้

การเสนอภาพดังกล่าวนี้ จักดำเนินไปพร้อมกับการพิจารณาอย่างวิพากษ์ จึงไม่ใช่เพียงการให้ภาพเชิงบรรยาย หรือการรับความคิดใครมาเผยแพร่ต่อ ตรงนี้เองจักเป็นจุดที่ต่างไปจากงานชิ้นอื่นๆ ที่มีการเขียนกันในเรื่องเหล่านี้ในสังคมไทย ผู้เขียนคาดหวังว่าผู้อ่านจะได้ประสบการณ์จำนวนหนึ่งในแง่การคิดจริงจังถึงสถานะการเป็นมนุษย์ โดยคิดไปไกลกว่าเพดานความคิดที่ติดฐานทางวัฒนธรรมหรือเฉพาะศาสนาตนของแต่ละคน การทำเช่นนี้เป็นทั้งการทดลองและการบุกเบิก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางจิตใจ อันกรุยทางไปสู่การเปลี่ยนสภาพเป็นสังคมไทยที่พ้นอนุรักษ์นิยม กล่าวได้ว่าบทความชุดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกระแสสู่ยุคสมัยใหม่อย่างพยายามรู้ให้เท่าทันนั่นเอง

"ความทันสมัย"กับสังคมไทย
รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมาแพร่ภาพครูคนหนึ่งสอนนักเรียนชั้นประถมอยู่ในห้องเรียน ครูชี้ไม้เรียวไปที่ตัวหนังสือบนกระดานดำที่เขียนข้อความไว้ว่า "พัฒนาเข้าสู่ประเทศที่ทันสมัย" ครูย้ำด้วยคำพูดให้นักเรียนพูดตามว่า "ประเทศไทยยุคนิกส์" นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความตื่นตาตื่นใจไปกับความเเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมของสังคมไทยในช่วงทศวรรษปัจจุบัน สำหรับคนจำนวนไม่น้อย สังคมไทยกำลังเป็นสังคมที่ทันสมัยเทียมหน้าเทียมตาประเทศตะวันตกหรือแถบเอเชียตะวันออก อย่างน้อยก็ในแง่วัตถุ ทั้งนี้เห็นได้จากสภาพแวดล้อมต่างๆ ทางวัตถุที่เปลี่ยนไปและเริ่มมีสภาพทางกายภาพคล้ายคลึงกับ
ภาพต่างสังคมที่เราได้พบเห็นผ่านภาพยนตร์ ศูนย์การค้าใหญ่ๆ ใกล้บ้าน สินค้ารุ่นใหม่ๆ แฟชั่นรุ่นล่าสุด คอนเสิร์ตป็อปสตาร์จากฮอลลีวูด สำหรับเขาเหล่านั้น สังคมไทยกำลังเป็นสังคมที่ร่วมสมัยอย่างทัดเทียมกันกับสังคมที่ "เจริญแล้ว" นี่คือสิ่งที่พวกเขาภาคภูมิใจ

เมื่อมองจากจุดนี้ เราจะเห็นได้ว่ามีภาพความเข้าใจที่ต่างกันอยู่ ๒ ภาพใหญ่ กล่าวคือ ความเห็นว่าสังคมไทยกำลังดำเนินไปสู่

ก. สภาพสังคมอุตสาหกรรมแบบที่มีปัญหาต่างๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่สาม หรือที่เคยเกิดในประเทศตะวันตกในอดีต
ข. สภาพสังคมอุตสาหกรรมแบบที่ไม่มีปัญหาแบบเดิมๆ และเป็นสังคมที่มีการสนองตอบทางวัตถุอย่างเป็นที่น่าพอใจ
เมื่อเทียบเคียงกับประเทศที่คิดว่าเป็นตัวแบบ

ในปัจจุบันแม้ว่าเราได้เผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ในแบบสภาพ ก. เช่นการขยายตัวของเมืองพร้อมกันกับการเพิ่มของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าเรื่องขยะ การจราจรติดขัด อากาศเป็นพิษ เสียงอึกทึก ปัญหาการขาดน้ำกินน้ำใช้ คนจำนวนไม่น้อยข้างต้นก็เห็นว่าปัญหาดังกล่าวจะแก้ไขได้หรือลดทอนลง ขณะที่ความ"ทันสมัย"ยังคงเดินหน้าต่อไป เราจะได้กลับมาพิจารณาประเด็นดังกล่าวนี้ในภาคหลังๆ รวมทั้งคำถามที่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เรากำลังเป็นประจักษ์พยานนี้ เป็นเพียงสภาพ"ฟองสบู่"ที่ล่องลอยอยู่ชั่วขณะก่อนจักสลายตัวไปเหลือเพียงความว่าง เปล่าหรือไม่. สภาพแบบ ข.มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร ยิ่งกว่านั้น เป็นสภาพที่เป็นเป้าหมายจริงๆ ของเราหรือไร ทั้งนี้จะได้พิจารณาฐานแนวคิดของกลุ่มที่ปฏิเสธโลกยุคใหม่ด้วยว่ามีฐานความคิดอย่างไร มองปัญหาสมจริงหรือไม่ น่าเป็นทางเลือกหรือไม่

ในตอนนี้เราขอตั้งข้อสังเกตประการสำคัญ
ประการแรก "ความทันสมัย" ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยตื่นตาตื่นใจอยู่นั้น เป็นสิ่งที่คนไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนก็เคยมีความตื่นเต้นในแบบเดียวกัน ภาพของรถไฟขบวนแรกในตอนนั้น กับภาพดาวเทียมไทยคม ก็คือสภาวะทางจิตวิทยาของคนไทยที่เห็นว่าตนเองทัดเทียม "อารยประเทศ" แล้วนั่นเอง และสิ่งที่มีเหมือนกันก็คือ รถไฟขบวนแรกนั้นคนอื่นสร้างและเราซื้อ เช่นเดียวกับดาวเทียมไทยคม ขณะที่เรามีภาพฝันของสังคมไทยในยุคนิกส์ ประเทศที่เราซื้อเทคโนโลยีจากเขากำลังพูดกันถึงสังคมหลังอุตสาหกรรมและหลังยุคใหม่ ความแตกต่างตรงนี้เป็นอย่างไร? มีรากฐานที่ตรงไหน? เราจะได้พิจารณาถึงเรื่องเหล่านี้เช่นกันในตอนต่อๆ ไป

ประการที่สอง กระบวนการเข้าสู่ความทันสมัย (ที่เรียกกันว่า Modernization) นี้เป็นสิ่ง "ซ้ำซาก" ที่แสดงออกมาให้เห็นมาเนิ่นนานแล้ว นับแต่ยุคทำสัญญาเบาว์ริ่งในสมัยรัชกาลที่สี่ ที่รัฐไทยในตอนนั้นเริ่มส่งข้าวออกนอกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทำไมทุกวันนี้สังคมไทยยังดำเนินไปภายใต้กระบวนการปรับตัวสู่ความทันสมัยอีก? สภาพการณ์แบบใดที่เป็นความต่างไปจากเดิมอันทำให้กระบวนการของสังคมไทยปัจจุบันในการเข้าสู่ความทันสมัยมีกระบวนการที่ต่างไปจากเดิม? เราจะได้พิจารณากันต่อไปว่า ยุคใหม่ในฐานะที่เป็นยุคหนึ่งที่มีพื้นที่เฉพาะในมิติเวลานั้นเป็นอย่างไร สังคมไทยสัมผัสอุดมคติแห่งยุคดังกล่าวมากน้อยเพียงไร

โดยสรุป เรากล่าวได้ว่า มีความเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมรอบตัวเราอย่างเห็นได้แจ่มชัด คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยมีสภาพทางจิตใจที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และคนอีกจำนวนหนึ่งไม่พร้อมรับการปรับเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม สังคมไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ดำเนินไปในการเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราความเร็วใกล้เคียงหลายส่วนร่วมโลก ไม่ว่าเราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ตาม สังคมไทยกำลังเข้าสู่ศตวรรษใหม่ จึงเป็นเวลาสำคัญของการพิจารณามองไกลเพื่อย้อนกลับมาทบทวนตนเองเพื่อไม่ให้เดินหลงวนในเขาวงกต สิ่งนี้นั้นเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่เราไม่อาจละเลย

(๒) โลกหลังยุคใหม่: ผลพวงจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (๑)

การปฏิวัติบอลเชวิกและกำเนิดสหภาพโซเวียต
ในตอนบ่ายของวันที่ ๖ พฤศจิกายน(๒๔ ตุลาคม ตามศักราชเก่า) ค.ศ.๑๙๑๗ เลนินผู้นำแห่งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิก) ได้เขียนจดหมายถึงคณะกรรมการกลางพรรค มีใจความชี้แนะให้พรรคและพันธมิตรรีบยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลเคเรนสกี ซึ่งเป็นรัฐบาลชั่วคราวหลังการล้มอำนาจรัฐของราชวงศ์โรมานอฟ "เราจักต้องไม่รอคอยต่อไปอีก! เราอาจจะสูญเสียทุกสิ่ง!" [Lenin 1917:p.263] . "ประวัติศาสตร์จะไม่ให้อภัยนักปฏิวัติผู้เฝ้าผลัดวันประกันพรุ่ง ในเมื่อพวกเขาอาจเอาชัยได้ในวันนี้ (และแน่นอนว่าพวกเขาจักได้ชัยชนะในวันนี้แน่) ในขณะที่พวกเขาเสี่ยงต่อการสูญเสียมากขึ้นในวันพรุ่งนี้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงพวกเขาจะเสี่ยงต่อการสูญเสียทุกๆ สิ่ง" [Lenin 1917:p.264]

ในคืนนั้นเอง เลนินได้เดินทางมาถึงพระราชวังสโมลนี (Smolny) และกำกับการติดอาวุธลุกขึ้นสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐจากที่นั่น นี่คือจุดแตกหักกับอำนาจรัฐเดิมและนำไปสู่การกำเนิดของ"สหภาพโซเวียต" สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งแรกของโลกในเวลาต่อมา (สหภาพของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตที่ประกอบด้วย ๑๕ สาธารณรัฐ ซึ่งได้รับการเรียกขานภายใต้นามนี้เมื่อ ๓๐ ธันวาคม ๑๙๒๒) ชาวพรรคบอลเชวิกผู้ขึ้นมากุมอำนาจโซเวียต (สภา) ของตัวแทนคนงาน, ทหาร และชาวนา ได้ตัดสินใจเลือกการใช้อาวุธยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลเคเรนสกีหลังจากพิจารณาแล้วว่า ไม่มีหนทางสันติเปิดให้กับการปฏิวัติสังคมนิยมอีกต่อไป การตัดสินใจของรัฐบาลชั่วคราวที่ให้ทหารใช้อาวุธสังหารผู้เดินขบวนประท้วงที่เมืองเปโตรกราด ที่ประท้วงการออกคำสั่งรัฐบาลให้ดำเนินการสงครามกับเยอรมนีต่อไปเมื่อเดือนมิถุนายน ๑๙๑๗ รวมทั้งการสั่งจับเลนินและผู้นำคนอื่นๆ ของพรรคบอลเชวิก ได้นำไปสู่การตัดสินใจลุกขึ้นสู้ยึดอำนาจรัฐในท้ายที่สุด

ในคำประกาศว่าด้วยสิทธิของผู้ใช้แรงงานและผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เลนินผู้ร่างคำประกาศนี้ได้ระบุอย่างแจ่มชัดในตัวคำประกาศตอนหนึ่งว่า "สาธารณรัฐโซเวียตรัสเซียได้รับการก่อตั้งขึ้นบนหลักการว่าด้วยการมารวมกันอย่างเสรีของประชาชาติเสรี ในฐานะที่เป็นสมาพันธ์แห่งสาธารณรัฐประชาชาติโซเวียต...จุดประสงค์พื้นฐานแห่งสาธารณรัฐนี้ ได้แก่ การทำให้การเอารัดเอาเปรียบที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันในรูปแบบใดๆ นั้น หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง การกำจัดการแบ่งสังคมเป็นชนชั้นให้หมดไปโดยสิ้นเชิง การเข้าปะทะอย่างไร้ความปราณีต่อประดาผู้เอารัดเอาเปรียบที่ทำการต่อต้าน การก่อตั้งองค์กรสังคมนิยมของสังคม และการทำให้สังคมนิยมได้ชัยชนะในทุกประเทศ"
[Lenin 1918:p.293]

ปี ๑๙๑๘ จึงเป็นปีที่หนึ่งแห่งการก่อตั้งสหภาพโซเวียต อันเป็นผลโดยตรงจากเหตุการณ์ที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า "การปฏิวัติอันยิ่งใหญ่แห่งเดือนตุลาปี ๑๙๑๗"

การปฏิรูป"เปเรสตรอยกา"และการคิดอย่างใหม่
เลนินได้กล่าวถึงความสำคัญของการปฏิวัติเดือนตุลานี้ว่า "อย่างไรก็ตาม สำหรับช่วงเวลาปัจจุบันแห่งประวัติศาสตร์นี้ แบบอย่าง(การปฏิวัติ)ของรัสเซียได้เผยให้ประเทศทั้งปวงได้เห็นบางสิ่ง -บางสิ่งซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง- สำหรับอนาคตอันใกล้และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้สำหรับประเทศเหล่านั้น คนงานที่ก้าวหน้าในดินแดนต่างๆ ได้ตระหนักรู้มานานแล้วในสิ่งนี้ เหนืออื่นใดพวกเขาสัมผัสมันด้วยสัญชาติญาณที่ปฏิวัติยิ่งกว่าตระหนักรู้มัน ตรงนี้เองที่ความสำคัญเชิงสากล (ตามความหมายแคบๆ ของคำ) ของอำนาจโซเวียต และของพื้นฐานทางยุทธวิธีและทฤษฎีของบอลเชวิกมีฐานอยู่ ..." [Lenin 1920:p.343] สำหรับเลนินแล้วการปฏิวัติรัสเซียเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิวัติโลก ประเทศที่ล้าหลังที่สุดในยุโรปได้กลายมาเป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก และเป็นตัวแบบการปฏิวัติของประเทศอื่นๆ แทน

คำกล่าวข้างต้นของเลนินไม่ใช่การคุยโว สงครามกลางเมืองในรัสเซียระหว่างปี ๑๙๑๘-๑๙๒๑ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกาได้ส่งทหารเข้าช่วยฝ่ายรัสเซียขาวเพื่อล้มการปฏิวัติของรัสเซีย (แต่ล้มเหลว) ตรงนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่า ผู้นำของประเทศตะวันตกตั้งแต่ในขณะนั้นต่างก็เห็นว่า การปฏิวัติที่เกิดขึ้นในรัสเซียมีความหมายโดยนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกด้วย

ในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๘. ๗๐ ปีต่อมา ประธานาธิบดีในช่วงนั้นของสหภาพโซเวียต นายกอร์บาชอฟได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตท่อนหนึ่ง มีใจความว่า "ในวันนี้ ดังที่เราได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนที่สำคัญของความพยายามถ่ายทอดการตัดสินใจที่รับรองกันแล้วนั้นให้เข้าสู่การดำเนินชีวิต ดังที่การเมืองได้กลับเข้าสู่การปฏิบัติการในชีวิตประจำวันและเปเรสตรอยกาได้ลงรากฐาน ผลประโยชน์อันมีชีวิตชีวาของประชาชนนับสิบล้านและของสังคมทั้งสังคมกำลังได้รับการผลักดันเข้าสู่ระดับที่กว้างขวาง ประเด็นที่เคยให้คำตอบกันมาแล้วได้กลับมาเป็นหัวข้อที่หยิบยกขึ้นมาพูดคุยถึงอีกครั้ง ประชาชนต้องการเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับสาระสำคัญหลักและเป้าประสงค์ของเปเรสตรอยกา สาระหลักของการเปลี่ยนแปลงที่ได้เริ่มต้นขึ้นในสังคมของเรา พวกเขาต้องการเข้าใจว่าเรากำลังเคลื่อนไปที่ไหน เป้าสูงเพียงไรที่เราพยายามกระทำให้บรรลุผล เราหมายความกระไรกันที่เราเรียกกันว่าคุณภาพใหม่ของสังคม อันเป็นสิ่งที่เราต้องการบรรลุให้ถึง [Gorbachev 1988:p.7]

การผ่านกฎหมายฉบับใหม่ด้านการดำเนินเศรษฐกิจวิสาหกิจในเดือนมิถุนายน ๑๙๘๗ ซึ่งทำให้รัฐวิสาหกิจในโซเวียตมีความยืดหยุ่นในการจัดการเชิงเศรษฐกิจของตนเองได้ เช่น กำหนดความเหมาะสมเองในการทำให้บรรลุเป้าหมายทางการผลิต การแสวงหากำไร การเก็บกำไรที่ได้ไว้ส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งโดยไม่ต้องส่งให้กับรัฐ การยินยอมให้ส่วนการผลิตที่ไม่ทำกำไรต้องล้มไป การอนุญาตให้ทำธุรกิจขนาดเล็กร่วมกัน การทำนาขนาดครอบครัวได้ เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นการเปิดศักราชของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า"เปเรสตรอยกา" (การสร้างโครงสร้างขึ้นใหม่) อย่างจริงจัง และทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ ซึ่งมีปัญหามายาวนานถึงจุดตั้งต้นฉากจบอย่างเป็นทางการ การดำเนินนโยบาย"กลาสนอสต์" (การเปิดกว้าง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย นับเป็นจุดตั้งต้นทางการอย่างจริงจังในการสร้างระบบการเมืองและสังคมแบบเปิดภายในสังคมโซเวียต มีการทบทวนความผิดพลาดในอดีตอย่างจริงจังและมีการแก้ไขประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง โดยยอมรับความผิดพลาดต่างๆ เหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ดังที่เราต่างได้ทราบจากหน้าหนังสือพิมพ์ การปฏิรูปดังกล่าวนี้หาได้ดำเนินไปอย่างราบลื่นไม่

กอร์บาชอฟกล่าวว่า "เป็นเวลาร่วม ๗๐ ปีที่พรรคและประชาชนของเราได้แรงดลใจจากความคิดสังคมนิยมและได้ก่อร่างสร้างมันขึ้นมา ทว่าด้วยปัจจัยภายในและภายนอก เราจึงยังไม่อาจบรรลุผลโดยเต็มที่ตามหลักการของลัทธิเลนินนิสม์แห่งระบบสังคมใหม่ สิ่งนี้ถูกตีกระหน่ำอย่างรุนแรงจากแนวทางส่วนบุคคล (the personality cult) ระบบการจัดการที่มีที่มาจากการวิวัฒน์ในยุค ๓๐ มารวมกันของระบบข้ารัฐการ การยึดมั่นฝังหัวอย่างทื่อๆ การเบี่ยงเบนและการจัดการตามอำเภอใจอย่างจงใจ ร่วมกันกับที่มาจากยุคปลาย ๗๐ และต้น ๘๐ ได้แก่ การขาดการริเริ่มใหม่ๆ และการขัดขวางซึ่งส่งผลสู่สภาพชะงักงัน ปรากฏการณ์เหล่านี้ รวมถึงส่วนที่ยังคงตกค้างมาและเหลือรอดอยู่ถึงปัจจุบัน จักต้องกลายเป็นอดีตไป" [Gorbachev 1988:p.12]

กอร์บาชอฟได้กล่าวถึงความจำเป็นของ"การคิดอย่างใหม่" ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปเปเรสตรอยกาบรรลุเป้าหมายได้ อันหมายถึงการบรรลุเป้าหมายของสังคมแบบสังคมนิยมในท้ายที่สุด การคิดอย่างใหม่ตามทัศนะของกอร์บาชอฟคืออะไร?

๑. ในระดับกรอบกว้าง ดังคำให้สัมภาษณ์ของกอร์บาชอฟต่อผู้สื่อข่าวนิตยสารไทม์ "ตามทัศนะของข้าพเจ้า "การเป็นคอมมิวนิสต์"หมายความถึง การไม่หวาดเกรงต่อสิ่งใหม่ๆ การปฏิเสธความคิดแบบที่ยึดมั่นฝังหัว ไม่ตรวจสอบ การคิดอย่างเป็นอิสระ การนำเอาความคิดและแผนการณ์ในการกระทำของตัวเรามาตรวจสอบด้วยศีลธรรม และโดยผ่านการปฏิบัติการทางการเมือง เพื่อช่วยผู้ใช้แรงงานให้ตระหนักในความหวัง, ลมหายใจของพวกเขา และมีชีวิตด้วยความสามารถของพวกเขาเอง ข้าพเจ้าเชื่อว่าการเป็นคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันนี้หมายถึง การเป็นประชาธิปไตยอย่างคงเส้นคงวา และการยกคุณค่าสากลของมนุษย์ไว้เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งยังหมายความอีกด้วย ถึงความสามารถที่จะทำตนให้สอดคล้องไปกันกับผลประโยชน์อันมีชีวิตชีวาของประชาชน และเข้าใจถึงความสำคัญของประเด็นระหว่างประเทศและระดับโลก ที่กำหนดชะตากรรมร่วมกันของมนุษยชาติ" [Gorbachev 1990:p.17]

โดยสรุป "การคิดอย่างใหม่"ในที่นี้ก็คือ การไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบทางความคิดแบบเดิมๆ ที่อิงวาทศิลป์จากอุดมการณ์ของรัฐ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงและการตรวจสอบตนเอง (ที่จริงความคิดเช่นนี้นั้น "ใหม่" สำหรับคนบางกลุ่ม แต่สำหรับคนบางกลุ่มเช่นนักปรัชญา นี่เป็นความเคยชินและเป้าหมายหนึ่งอยู่แล้ว โดยไม่สนใจว่ามีความคิดทางการเมืองแบบใด) ตรงนี้เป็นการเสนอแนวทางการมองโลกและชีวิตที่แตกต่างไปจากนักมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์สายสตาลิน และพวกยึดคัมภีร์โดยไม่วิพากษ์ในสหภาพโซเวียต

๒. ในระดับการจัดการปัญหาเฉพาะ จากกรอบดังกล่าวได้ให้แนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาเฉพาะต่างๆ หลายปัญหา ดังเช่น

๒.๑ การแก้ปัญหาระหว่างประเทศ เช่น ปัญหาการเผชิญหน้ากันทางการทหาร การแข่งขันกันสะสมหัวรบนิวเคลียร์ ปัญหาการเมืองระดับภูมิภาคที่มีผู้เข้าร่วมหลายฝ่าย ดังกรณีสงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถาน เป็นต้น. กอร์บาชอฟยินยอมตั้งต้นทำลายหัวรบนิวเคลียร์แต่ฝ่ายเดียวก่อน แม้ว่าความคิดที่เสนอให้มีการลดอาวุธสงครามแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายอื่นจะปฏิบัติตามหรือไม่นี้ เป็นสิ่งที่นักจริยศาสตร์สงครามได้เสนอไว้ก่อนหน้านี้เป็นทศวรรษแล้วก็ตาม การดำเนินการทดลองทำอย่างเป็นรูปธรรมเพิ่งตั้งต้นในครั้งนี้ อีกทั้งกลับไม่ใช่เป็นการตั้งต้นจากฝ่ายโลกเสรีที่นักปรัชญาแขนงดังกล่าวเสนอเหตุผลว่าควรทำ แต่กลับมีการทดลองทำจากประเทศที่ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในหัวหน้า "ผู้ร้ายของโลก"

การถอนทหารจากอัฟกานิสถาน การไม่เข้าไปแทรกแซงเพื่อหยุดยั้งการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศยุโรปตะวันออก ทั้งที่ในอดีตโซเวียตเคยส่งกองทัพไปหยุดขบวนการประชาธิปไตย และบังคับรัฐบาลประเทศเหล่านั้นให้ดำเนินนโยบายตามโซเวียต ตรงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจนทำให้นักวิเคราะห์ทางการเมืองเห็นพ้องกันว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกดำเนินไปได้อย่างสันติ เพราะการช่วยเหลือจากทางบน ประเทศที่ต้องมีการจลาจลจนเกิดการนองเลือดกลับเป็นโรมาเนียภายใต้เผด็จการเชาเชสกู ผู้ซึ่งแสดงท่าทีเป็นอิสระจากโซเวียตมาตลอด. โดยแนวนโยบายนั้นใช้การดำเนินการเจรจาโดยสันติและให้บทบาทกับองค์กรระหว่างประเทศเช่นสหประชาชาติเป็นตัวกลางหลัก

๒.๒ การเห็นความสำคัญของปัญหาระดับโลก เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมโลก ไม่ว่ากรณีการกระจายรังสีปรมาณู ดังกรณีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเกิดอุบัติเหตุ การลดตัวของชั้นโอโซนที่ช่วยกรองรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ปัญหาฝนกรด และกรีนเฮ้าเอฟเฟกส์ ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นปอดและแหล่งรักษาสมดุลในธรรมชาติของโลก เป็นต้น. สหภาพโซเวียตได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่พยายามแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ทั้งภายในสหภาพและภายนอกประเทศ

๒.๓ การยอมรับหลักการเดียวกันกับที่รับรองโดยสหประชาชาติ ในที่นี้คือ "หลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ในแง่นี้เป็นการยอมรับคุณค่าแบบเสรี (ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Liberal virtues) ด้วยว่า มีความจำเป็นสำหรับพัฒนาการมนุษย์

เราจึงกล่าวได้ว่าในปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ การทดลองใหม่ๆ ทางการเมืองและสังคมได้ตั้งต้นขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง หนึ่งในผู้กล้าหาญทดลองของใหม่ก็คือสหภาพโซเวียต ภายใต้การนำของกอร์บาชอฟ. ในระดับภายในสังคมโซเวียต กอร์บาชอฟต้องเผชิญหน้าจากทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมหัวแข็งภายในพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงแนวทางจากเดิม ในอดีตประธานาธิบดีครุสชอฟเคยได้รับการต่อต้านจนต้องหลุดจากอำนาจ ประธานาธิบดียูริ อันโดปอฟขึ้นสู่อำนาจและพยายามดำเนินการปฏิรูปได้เพียงช่วงสั้นๆ ก็ป่วยและถึงแก่กรรม และยังตามมาด้วยการผลักดันพวกหัวเก่าเช่นเชอร์เนนโกให้ขึ้นครองอำนาจ (ก่อนสมัยของกอร์บาชอฟ)

สิ่งที่กอร์บาชอฟกล้าดำเนินการ จึงมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในดินแดนที่ประกอบกันเป็นสหภาพโซเวียตเอง ในระดับระหว่างประเทศ การทดลองของกอร์บาชอฟได้ส่งผลมากมายในวงกว้าง ผลสำคัญอย่างหนึ่งคือ การนำไปสู่การสิ้นสุดของการเผชิญหน้าระหว่างสองค่าย คือ "ค่ายหลังม่านเหล็ก" กับ "โลกเสรี" ที่เราเรียกการเผชิญหน้าดังกล่าวว่า"สงครามเย็น"นั่นเอง

แม้ว่านักวิเคราะห์ทางการเมืองจำนวนมากจะมองเห็นการเกิดปัญหาเรื่องกำเนิดใหม่ของแนวคิดเผ่าพันธุ์นิยม และความเป็นไปได้ของการแตกสลายของสหภาพโซเวียต แต่ก็คาดการณ์กันไม่ถึงว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียตจะเกิดขึ้นตามมาในเวลาอันสั้น หลังจากการปฏิรูป"เปเรสตรอยกา"และ"กลาสนอสต์" กระแสลมแห่งเปเรสตรอยกาส่งผลอย่างไรต่อโลก? ผลพวงจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตไปไกลเพียงไร? เราจะได้พิจารณากันต่อไป

(๓) โลกหลังยุคใหม่: ผลพวงจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (๒)

"ด้วยเหตุว่าสิ่งที่เรากำลังเฝ้าดูอยู่นี้ก็คือ แนวโน้มของการมาประจวบกันอย่างสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การเปลี่ยนรูปการทำการผลิต อันมาพร้อมกันกับการเปลี่ยนรูปตัวทุนและเงินเอง สองสิ่งนี้ร่วมกันก่อรูประบบใหม่ที่ปฏิวัติในการสร้างสรรค์ทรัพย์สินบนผืนพิภพนี้"
[Toffler1990:p.80]

นี่คือข้อสังเกตของอันวิน ทอฟเฟลอร์ นักอนาคตวิทยาผู้โด่งดัง ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจสังคมในยุคที่เขาเรียกชื่อว่า "ยุคการเปลี่ยนแปลงคลื่นลูกที่สาม" เรากำลังอยู่ที่ชายขอบของศตวรรษที่ ๒๑ เรากำลังยืนอยู่ในการท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในระดับที่รวดเร็วรอบตัว เราอันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร ผลพวงหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้แก่ การสลายรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจของโลกทั้งสองค่ายลงไปด้วย ปรากฏการณ์ดังเช่นการล่มสลายของรัฐสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก (และของสหภาพโซเวียตเอง) เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้าและไม่ได้เป็นอุบัติเหตุ

กอร์บาชอฟได้ประกาศว่า "เราเกือบจะเป็นหนึ่งในพวกท้ายที่สุด ที่ได้ตระหนักรู้ว่า ในยุคของศาสตร์แห่งข่าวสาร ทรัพย์สินที่แพงที่สุดก็คือความรู้" ทอฟเฟลอร์เห็นว่า กอร์บาชอฟเป็นผู้นำโซเวียตคนแรกที่ตระหนักรู้ถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า รัฐสังคมนิยมในปัจจุบันได้กลายเป็นกลุ่มปฏิกิริยาล้าหลัง (ลองเปรียบเทียบกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยดูได้ว่าล้าหลังใกล้เคียงกันอย่างไร) ที่อยู่ใต้การนำของพวกสหายแก่ๆ ที่มีสายตามองโลกในแบบนักเทววิทยาแห่งศตวรรษที่ ๑๙ การปฏิวัติที่แท้จริงตามที่ชาวมาร์กซิสต์ใช้คำว่า การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดเชิงคุณภาพนั้น กลับเกิดขึ้นในประเทศทุนนิยมที่มีฐานอยู่บนความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ -เทคโนโลยีไฮเทคนี้เอง [ดู Toffler 1990:บทที่31]

เมื่อมองจากแง่นี้ การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและรัฐสังคมนิยมเป็นผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้น และล่มสลายเพราะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทันนั่นเอง เราจะได้กลับมาพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้ง

พายุเปเรสตรอยกา: เสียงสะท้อนการเปลี่ยนแปลง
ความพยายามทำรัฐประหารโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมในพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต มีผลให้บอริส เยนต์ซิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐรัสเซีย ซึ่งมีฐานะเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียต ได้แสดงบทบาทนำทางการเมืองในสหภาพโซเวียตแทนกอร์บาชอฟผู้เป็นประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียต ในขณะที่กอร์บาชอฟและครอบครัวถูกคณะผู้ก่อรัฐประหารกักบริเวณไว้จึงไม่อาจดำเนินการอะไรยับยั้งการรัฐประหารได้ เยนต์ซินก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้ยืนหยัดคัดค้านการรัฐประหารต่อไปในบริเวณรัฐสภาโซเวียต และเมื่อการรัฐประหารต้องล้มเหลวไปและคณะผู้ก่อการได้เปลี่ยนสถานะเป็นกบฎถูกจับกุมแทน เยนต์ซินก็ได้ใช้โอกาสที่เปิดให้นี้นำตนขึ้นสู่สถานะผู้กำหนดชะตากรรมของสหภาพโซเวียตโดยบริบูรณ์. เยนต์ซินได้กล่าวกับกอร์บาชอฟว่า บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่กอร์บาชอฟจักต้องลาออก และจะไม่มีสหภาพโซเวียตอีกต่อไป

ในเดือนธันวาคมปี๑๙๙๑ กอร์บาชอฟได้เป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายแห่งสหภาพโซเวียตเมื่อเขาได้ลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ บัดนี้สหภาพโซเวียตได้ล่มสลายแล้ว! อะไรคือผลที่ตามมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว?

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองยังดำเนินต่อไป (ท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ) ในดินแดนต่างทั้งหลายที่เคยประกอบกันเป็นสหภาพโซเวียต แม้ว่าจะไม่มีสหภาพโซเวียตอีกแล้ว กระนั้น กระแสลม"เปเรสตรอยกา"และ"กลาสนอสต์" ที่มีกำเนิดจากกอร์บาชอฟไม่ได้สลายไปด้วย อีกทั้งยังพัดไปทั่วโลกอีกด้วย แรงลมนี้รุนแรงราวพายุ ทำไมเราจึงกล่าวเช่นนี้ได้?

๑. แม้ว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า"เปเรสตรอยกา"นี้จะเป็นความพยายามปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาภายในสหภาพโซเวียตเองก็ตาม เราอาจกล่าวได้ว่าเปเรสตรอยกายังมีฐานะเป็นดัชนีตัวหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากตัวโครงสร้างเอง เพื่อให้ประชาชาตินั้นๆ อยู่รอดได้จริงในโลกยุคปัจจุบัน อันเป็นโลกที่ระบบทุนนิยมเข้มแข็งในแง่การดึงส่วนอื่นๆ ของโลกให้มาอยู่ร่วมกันภายใต้โครงสร้างเดียวกันที่เรียกว่า"ระบบตลาดโลก"

ในแง่หนึ่งกล่าวได้ว่า กำเนิดสหภาพโซเวียตเป็นการตั้งต้นอย่างเป็นรูปธรรมในต้นศตวรรษที่ ๒๐ในการทดลองทางเลือกของกลุ่มชนที่ต้องการแสวงหาทางออกจากการถูกดึงเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลก โดยเป็นการทดลองแบบที่ไม่เอารูปแบบสังคมเดิมเช่นสังคมศักดินายุโรป ซึ่งในตอนนั้นกำลังสลายไปโดยการเข้ามาแทนที่ของระบบทุนนิยม แต่นั่นเป็นยุคของการขยายตัวของทุนนิยมในระยะที่เลนินเรียกว่า"ทุนนิยมยุคจักรวรรดินิยม" สำหรับการสร้าง แนวเลือกใหม่ของฝ่ายสังคมนิยมในช่วงใกล้ๆ ก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้น มีความพยายามที่จะทดลองแนวทางที่เรียกว่า"สังคมนิยมการตลาด" แต่แนวทางหลังนี้หมดโอกาสทดลองด้วยเหตุว่า การสลายตัวของยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมกับการกระโดดเข้าสู่กระแสทุนนิยมโลกอย่างไม่ถอนตัว

๒. การปรับตัวดังกล่าวนี้ เป็นการปรับตัวบนฐานของการยอมรับว่า ระบบจัดการแบบวางแผนจากส่วนกลางมีปัญหา และเราไม่อาจตัดบทบาทของกลไกตลาดจากระบบเศรษฐกิจได้ ปัญหาจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรกับกลไกดังกล่าวจากฐานระบบของตน นี่ไม่ใช่ปัญหาของรัฐสังคมนิยมเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของประเทศโลกที่สามด้วย รัฐควรเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดหรือไม่? ขอบเขตแค่ไหนที่ทำได้?

๓. การเปิดกว้างทางการเมืองที่เรียกว่า "กลาสนอสต์"นี้ถือได้ว่า เป็นตัวแทนหนึ่งที่สะท้อนปัญหาร่วมกันของประเทศจำนวนมากในโลกที่ยังมีโครงสร้างเป็นสังคมปิดอยู่ ในขณะที่ความก้าวหน้าจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารกำลังส่งผลให้ปิดสังคมต่อไปไม่ได้ ในแง่นี้"กลาสนอสต์"ก็คือ เสียงแห่งความต้องการการปฏิรูปประชาธิปไตยในทุกสังคมนั่นเอง ด้านหนึ่งของสังคมเปิดก็คือ กระบวนการกระจายอำนาจ อันเปิดสู่รูปแบบการปกครองตนเองของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น การกระจายอำนาจนี้อาจเกิดได้ทั้งจากการกระตุ้นและทำให้เป็นรูปธรรมจริงโดยฝ่ายรัฐเป็นผู้ริเริ่ม หรือจากการที่ประชาชนในส่วนต่างๆ ดำเนินการกันไปเองและส่งผลให้การกระจายอำนาจต้องเกิดขึ้นในท้ายที่สุด ไม่ว่ารัฐนั้นๆ จะยินยอมคายอำนาจให้หรือไม่ก็ตาม หากอำนาจรัฐส่วนกลางไม่พยายามกระจายอำนาจจริง ในท้ายที่สุดประชาชนก็อาจต้องเลือกการลุกฮือขึ้นสู้เพื่อสลายอำนาจรัฐส่วนกลางก็ได้

ปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองในโลกปลายศตวรรษที่ ๒๐นี้ ดังเราได้รับทราบจากสื่อสารมวลชนต่างๆ ก็คือ กระแสของการเรียกร้องประชาธิปไตยและการปกครองตนเองในท้องถิ่น อันรวมถึงการจัดการวิถีดำเนินชีวิต และการจัดการบริหารทรัพยากรท้องถิ่นของตนนั่นเอง ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เป็นแค่สภาวะทางจิตใจของคนจำนวนมากที่บังเอิญมีตรงกัน แต่ยังเป็นสภาพการณ์ทางภาววิสัยอันมีฐานจากปัญหาที่สั่งสมมาในแต่ละสังคม ที่มีที่มาจากการรวมศูนย์อำนาจแล้วศูนย์อำนาจนั้นๆ ไม่อาจแก้ปัญหาส่วนท้องถิ่นได้จริง เพราะตัวโครงสร้างรวมศูนย์เองเป็นต้นตอของปัญหา ตรงนี้เองที่เรากล่าวได้ว่า พายุ"เปเรสตรอยกา"และ"กลาสนอสต์"ยังพัดกระหน่ำโลกอยู่ ในหลายดินแดนได้พัดเอาโครงสร้างเดิมๆ พังทลายลง ในประเทศต้นลมก็ยังได้พัดเอาฐานผู้ก่อลมพังทลายลงด้วย

ผลจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
เยนต์ซิน ในสมัยยังมีสหภาพโซเวียตภายใต้ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ เคยกล่าวไว้ว่า "ลองดูชะตากรรมของพรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกสิ พวกเขาไม่เข้าใจถึงบทบาทของตนเอง พวกเขาจึงถูกปล่อยทิ้งไว้ที่อีกฟากของถนน" [Time, July 16,1990] เมื่อผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังสวนกระแสความต้องการของประชาชน อีกทั้งยังยืนหยัดในการใช้แนวทางจัดการปัญหาแบบเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง พวกเขาเหล่านี้เองที่เป็นผู้ขุดหลุมฝังตัวเอง

การล่มสลายของสหภาพโซเวียตมีความหมายอย่างไร

๑. กล่าวได้ว่า การเผชิญหน้ากันในรูปแบบที่เรียกว่าสงครามเย็นของสองค่ายได้ถึงจุดยุติโดยบริบูรณ์ ในแง่หนึ่งคำของอดีตประธานาธิบดีบุชที่ว่า โลกกำลังเข้าสู่ระยะของ"การจัดระเบียบโลกใหม่" มีส่วนที่ถูก หากเราพิจารณาจากแง่ดุลอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไปและความไม่ลงตัวที่เกิดขึ้นเมื่อดุลอำนาจเปลี่ยน ช่วงเวลาเช่นนี้เราอาจเรียกอีกอย่างได้ว่า "ระยะของความไร้ระเบียบใหม่" สำหรับนักวิเคราะห์บางคนเช่น ทอฟเฟลอร์ เขาเห็นว่าสงครามครั้งนี้ไม่มีผู้ชนะ มหาอำนาจทั้งสองต่างก็แพ้ มหาอาณาจักรต่างหากที่กำลังสลายตัวไม่ว่าในโลกฟากใด

๒. ดังที่สหภาพโซเวียตเป็นรัฐสังคมนิยมแห่งแรกในโลก และเป็นตัวแบบของประเทศคอมมิวนิสต์จำนวนมาก มีคนจำนวนไม่น้อยที่ด่วนสรุปว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียตคือการล่มสลายของความคิดสังคมนิยม ตรงนี้เป็นจริงหรือไม่? ถ้ามองอย่างเป็นธรรม เราต้องตอบคำถามต่อไปนี้ก่อน อะไรคืออุดมคติของสังคมนิยม? อุดมคติดังกล่าวมีส่วนที่สอดคล้องกับเราหรือไม่? ในเมื่อเราไม่ใช่มนุษย์หัวกลวงที่คิดตามที่ถูกยัดใส่หัวมา การตอบคำถามตรงนี้ก่อนแสดงความดีใจกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้น ถือได้ว่าเป็นความจำเป็น

ก่อนอื่นเราควรพิจารณาทัศนะของนักคิดดังต่อไปนี้ก่อน
โนเบร์โต บ็อบบีโอ (Norberto Bobbio) นักปรัชญาชาวอิตาเลียนมีความเห็นว่า การล่มสลายของรัฐสังคมนิยมดังกล่าว นอกจากเป็นการล้มของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ยังเป็นการล้มเหลวของการปฏิวัติแบบที่ได้แรงดลใจจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ กล่าวคือ อุดมการณ์ที่มุ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงราก เพื่อให้สังคมที่เอารัดเอาเปรียบและอยุติธรรมให้กลับกลายเป็นสังคมที่มีเสรีและยุติธรรม [Bobbio 1989:p.1-4] แนวทางปฏิวัติด้วยปากกระบอกปืนโดยพรรคตัวแทนได้ถึงจุดเสื่อมความเชื่อถือในฐานะทางเลือกที่นำทางไปสู่อุดมคติได้จริง นี่คือจุดเสื่อมของแนวเลือกนี้

ยิวร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) นักปรัชญาชาวเยอรมันนักคิดคนสำคัญในปัจจุบันเรียกปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงในยุโรปตะวันออกนี้ว่า "การปฏิวัติที่มุ่งฟื้นตัว" (The Revolutions of Recuperation) กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงเพื่อกลับไปสู่ระบบประชาธิปไตยแบบมีรัฐธรรมนูญ และเพื่อต่อเนื่องการพัฒนาไปกันกับทุนนิยมโลก ในแง่หนึ่งคือการกลับไปสานต่อการปฏิวัติของบูชัวร์(นายทุน) ที่ได้ตั้งต้นเมื่อก่อนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นประเทศสังคมนิยมนั่นเอง [Habermas 1990:p.25-31] ลักษณะเฉพาะของการปฏิวัติครั้งนี้จึงอยู่ที่การไม่มีความคิดแปลกใหม่หรือการคิดมุ่งสู่อนาคต เพราะข้อเรียกร้องทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่คุ้นหูเราอยู่แล้ว เหมือนกับได้ยินการเรียกร้องแบบที่ใช้เมื่อครั้งการปฏิวัติประชาธิบไตยในฝรั่งเศสปี ๑๗๘๙ ดังเช่นการเรียกร้องการรับรองสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของมนุษย์ อันเป็นพื้นฐานของสิ่งที่เราเรียกว่า"สิทธิมนุษยชน"ในปัจจุบันนี้นั่นเอง

โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า

- โมเดลการสร้างสังคมใหม่แบบของสังคมนิยมโซเวียต (หรือที่บ็อบบีโอเรียกว่า"คอมมิวนิต์ทางประวัติศาสตร์")นั้น ได้รับการพิสูจน์จากประวัติศาสตร์แล้วว่าล้มเหลว เมื่อนำไปสู่สังคมแบบที่ตรงกันข้ามกับอุดมคติแทน กล่าวคือ สังคมที่ไร้เสรีภาพและอยุติธรรมยังดำรงอยู่ แนวเลือกแบบนี้จึงได้หมดบทบาทไป แต่ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดแบบสังคมนิยมนั้นล่มสลาย แนวทางในประเทศทางยุโรปปัจจุบันเช่นพรรคกรีน หรือแนวสังคมประชาธิปไตยยังมีบทบาทอยู่ ที่จริงปัญหาที่สำคัญที่นำความล้มเหลวมาสู่แนวเลือกข้างต้นก็คือการรวมศูนย์อำนาจทั้งหมดไว้ที่ส่วนกลางนั่นเอง

- อย่างไรก็ตาม เราต้องแยกสิ่งที่เรียกว่า"อุดมคติร่วมของการเป็นสังคมมนุษย์ที่ดี" ซึ่งไม่ได้เป็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์แต่เพียงฝ่ายเดียว สิ่งนี้ได้แก่ สังคมที่มนุษย์มีเสรีภาพและความยุติธรรม "ตรงนี้เป็นเป้าหมายของสังคมที่ดีทุกสังคม" หากเราถือว่าการเฟื่องฟูของแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์คือการสะท้อนว่าสังคมนั้นๆ มีปัญหาในเรื่องการเอารัดเอาเปรียบและการดำรงอภิสิทธิในกลุ่มชนส่วนน้อย โดยที่คนส่วนใหญ่หรือส่วนท้องถิ่นต้องกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม ในแง่นี้การปรากฏของแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ก็มีบทบาทในฐานะเป็น"ไฟแดงที่เตือนให้สังคมนั้นต้องหยุดคิด" ก่อนจะเดินต่อไปสู่ความหายนะ

- เราจะเห็นได้ว่าในท้ายที่สุด การสร้างหลักประกันทางสังคมต่อการดำรงชีวิตของคนแต่ละคนอย่างมีศักดิ์ศรีของมนุษย์และเสมอภาคกับคนอื่นๆ นั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและรัฐยุโรปตะวันออก ถือได้ว่าเป็นสิ่งเตือนใจรัฐทุกรัฐให้เร่งแก้ไขตนเองให้ถูกทาง ด้วยการสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนนี้อย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า ภารกิจนี้เป็นสิ่งที่รัฐใดๆ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เว้นเสียแต่จะพอใจกับการที่ตนเองจะล่มสลายลงไป!

โลกปลายศตวรรษที่ ๒๐ ได้ผ่านบทเรียนที่สำคัญหลายประการ การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นหนึ่งในบทเรียนดังกล่าวดังที่เราได้อภิปรายมา พายุแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นในทุกภูมิภาค บัดนี้โลกจะไม่เป็นเช่นดังเดิม แม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ดังเช่นกำเนิดใหม่เผ่าพันธุ์นิยม ปรากฏการณ์เช่นนี้ต้องการคำอธิบายอย่างเข้าใจว่าแตกต่างจากเดิมอย่างไร การทดลองแนวเลือกบางแนวต้องถึงจุดยุติ (อีกทั้งยังชี้ปัญหาให้เราด้วย) แต่ตรงนี้ไม่ได้ปิดกั้นการสร้างแนวเลือกและทดลองแนวใหม่ๆ ดังที่เราได้เป็นประจักษ์พยานอยู่ในเวลานี้ นั่น คือแนวโลกที่ไร้การรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง.

(๔) โลกหลังยุคใหม่: ทุนนิยมที่มีใบหน้าเป็นมนุษย์

ทุนนิยมในทัศนะของมาร์กซ์
"การค้นพบทองคำและเงินในอเมริกา การทำลายล้างอย่างถึงราก การทำให้เป็นทาสและการทำให้คนพื้นเมืองในทวีปนี้ลงหลุมไปในเหมือง การตั้งต้นของการเอาชัย และการใช้กำลังบังคับยึดเอาอินเดีย การกลายรูปแอฟริกาให้เป็นเขตสงวนสำหรับการล่าชนผิวดำเพื่อการค้า ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่แสดงลักษณะเวลาย่ำรุ่งยุคแห่งการทำการผลิตแบบทุนนิยม กระบวนการฉากคั่นดังกล่าวนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญของการสั่งสมทุนแบบดั้งเดิม ด้วยการก้าวเดินอย่างยากลำบากนี้ ยังตามมาด้วยสงครามการค้าระหว่างรัฐต่างๆ ในยุโรป ซึ่งใช้ทั้งโลกเป็นสนามทำสงคราม ตั้งต้นที่การปฏิวัติของเนเธอร์แลนด์ออกจากสเปน ก่อมิติการเปลี่ยนแปลงระดับยักษ์ในอังกฤษที่เรียกว่าสงครามต่อต้านจาโคแบง และดำเนินมิติดังกล่าวต่อไปในรูปของสงครามฝิ่นที่ทำกับจีน" [Marx 1867:p.915]

นี่คือคำบรรยายท่อนหนึ่งในหนังสือเรื่อง "ทุน" อันลือชื่อของคาร์ล มาร์กซ์ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับยุคต้นๆ ของระบบทุนนิยมในกลางศตวรรษที่ ๑๙ การสั่งสมทุนแบบทุนนิยมกำลังจะเริ่มต้นขึ้น และเริ่มต้นได้ก็ต่อเมื่อมีการสั่งสมเงินและการไหลเวียนของสินค้าในระดับหนึ่ง. มาร์กซ์กล่าวว่า "ทั้งเงินและสินค้าเป็นสภาพการณ์พื้นฐานเบื้องต้นก่อนทุน และจะพัฒนาไปเป็นทุนได้ภายใต้สถานการณ์จำนวนหนึ่ง ทุนจะไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีฐานอยู่บนการไหลเวียนของสินค้า(รวมถึงเงิน) ดังเช่น เมื่อการค้าได้เติบโตแล้วถึงระดับที่กำหนดไว้ระดับหนึ่ง" [Marx 1867:p.949] ในที่นี้เราสรุปได้ว่า

๑. แค่มีการทำการผลิตและมีการไหลเวียนของสินค้ายังไม่ทำให้เกิดวิถีการผลิตแบบทุนนิยม

๒.
แต่การไหลเวียนของสินค้าร่วมกับลักษณะเฉพาะในการทำการผลิตบางรูปแบบ จะเป็นพื้นฐานให้เกิดวิถีการผลิตแบบทุนนิยมได้...

"ในแง่ข้อเท็จจริง การผลิตแบบทุนนิยมก็คือ การผลิตสินค้าในฐานะที่เป็นรูปแบบทั่วไปของการผลิต และมันก็เป็นเพียงแค่นั้น และกลายเป็นเช่นนั้นยิ่งขึ้นตลอดพัฒนาการของมัน ด้วยเหตุว่า ตัวแรงงานเองในที่นี้ก็ปรากฏในฐานที่เป็นสินค้าอย่างหนึ่ง เพราะผู้ใช้แรงงานขายแรงงาน...ในราคาที่ถูกกำหนดโดยค่าใช้จ่ายในการทำการผลิตซ้ำ ผู้ผลิตกลายเป็นนายทุนอุตสาหกรรมในระดับเดียวกันกับที่แรงงานกลายเป็นแรงงานจ้าง ดังนั้นการผลิตแบบทุนนิยม(และการผลิตสินค้าก็เช่นกัน) จึงปรากฏเต็มรูปก็ต่อเมื่อผู้ทำการผลิตด้านกสิกรรมโดยตรงก็เป็นแรงงานจ้างไปด้วย ในความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนและผู้ใช้แรงงานที่ถูกว่าจ้าง ในความสัมพันธ์ทางการเงินและในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ได้กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ตกทอดมาจากตัวการทำการผลิตเอง ความสัมพันธ์นี้โดยพื้นฐาน ซึ่งวางอยู่บนลักษณะทางสังคมของการทำการผลิต ไม่ใช่วางอยู่บนวิถีทางการค้า ประการหลังมีที่มาจากประการแรกข้างต้น..." [Marx 1885: p.196]

๓. กล่าวโดยสรุป ลักษณะเฉพาะในการทำการผลิตที่ว่านี้ก็คือ การผลิตในลักษณะที่ทุนได้ผลิตสร้างผลผลิตออกมาในรูปของสินค้า เงินตราเองก็เป็นเพียงรูปแบบอย่างหนึ่งของสินค้าเช่นกัน พลังแรงงานของผู้ใช้แรงงานก็กลายเป็นสินค้าหนึ่งภายใต้กระบวนการนี้ สินค้าจึงเป็นรูปแบบสากลพื้นฐานของกระบวนการทำการผลิตแบบทุนนิยม

๔. การผลิตแบบทุนนิยมจะปรากฏเต็มรูปก็ต่อเมื่อ ผู้ทำการผลิตด้านกสิกรรมเช่นชาวนาชาวไร่กลายเป็นแรงงานที่ถูกว่าจ้าง หรือส่วนหนึ่งใดภายใต้กระบวนการผลิตสินค้าดังกล่าว (เราจึงเห็นได้ว่า ความพยายามของเอ็นจีโอไทยหลายแห่งที่สนับสนุนรูปแบบชาวนาชาวไร่ทำการผลิตแบบพึ่งพิงตนเอง ในท้ายที่สุด ก็ยังอยู่ใต้กลไกการผลิตแบบทุนนิยมอยู่ดี ไม่ใช่ในแง่สินค้าต้องพึ่งตลาดในการขาย แต่ในแง่การผลิตที่ต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดในการส่งผลิตผลทางเกษตรกรรมตอบสนอง ไม่ว่าผลิตผลเหล่านั้นจะเป็นพืชผักทั่วๆ ไป หรือผักปลอดสารพิษเพื่อนักอนุรักษ์ธรรมชาติได้บริโภค แนวทางในปัจจุบันของเอ็นจีโอไทยจึงยังเป็นเพียงการเสนอทางเลือกย่อยภายในระบบทุนนิยมเท่านั้น)

๕. ความเข้าใจที่ว่าวิถีการผลิตแบบทุนนิยมเป็นวิถีการทำการค้า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แม้จะจริงที่ว่าแบบวิถีการทำการผลิตสินค้าอยู่บนแบบวิถีการทำการค้า แต่การจะเป็นระบบทุนนิยมหรือไม่ ต้องดูที่ลักษณะทางสังคมของการทำการผลิต (ดังในข้อ ๓. ข้างต้น) ซึ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบนายทุนแรงงานเป็นต้น ไม่ใช่แค่มีวิถีการทำการค้าแค่นั้นก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจนั้นเป็นทุนนิยม (วัฒนธรรมนายทุนจึงมีที่มาส่วนหนึ่งจากวัฒนธรรมพ่อค้า แต่วัฒนธรรมพ่อค้าไม่จำเป็นต้องเป็นวัฒนธรรมนายทุน)

การขยายตัวของทุนนิยมเป็นทุนนิยมโลก จึงเป็นการดึงส่วนที่แตกต่างในโลกที่ทำการผลิตให้เข้าสู่ระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบดังกล่าว

ทุนนิยมในปลายศตวรรษที่ ๒๐
"การพัฒนาที่สำคัญที่สุดในยุคช่วงชีวิตของเราได้แก่ การกำเนิดขึ้นมาของระบบใหม่ในการสร้างสรรค์ทรัพย์สิน
ซึ่งไม่ได้มีฐานอยู่บนกล้ามเนื้ออีกต่อไปแต่อยู่บนจิตใจ..." [Toffler 1990: Pp.8-9]

ผู้อ่านคงได้ชมภาพจากโฆษณาของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ที่ประโคมเทศกาลลดราคาสินค้าช่วงตรุษจีนโดยสร้างฉากจำลองการเดินสวนสนามของกองทัพแดงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภาพแสดงความบึกบึนแข็งแกร่งนี้เป็นสิ่งที่เราได้ชมเป็นปกติสำหรับศิลปะแนวสัจสังคมนิยม (Social Realism) ที่นิยมเขียนภาพผู้ใช้แรงงานชายหญิงพร้อมกล้ามมัดโตทำการผลิต. อัลวิน ทอฟเฟลอร์ได้พยายามชี้ให้เห็นในหนังสือเล่มหลังสุดของเขาเรื่อง "อำนาจเปลี่ยนย้าย" ว่า บัดนี้ธรรมชาติของทุนและการทำการผลิตได้เปลี่ยนไปแล้ว ประเทศสังคมนิยมที่เน้นการผลิตอุตสาหกรรมหนักที่ต้องพึ่งพาแรงงานกายเป็นหลัก ไม่อาจรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลักษณะการทำการผลิตแบบใหม่ อันเป็นผลจากการปฏิวัติทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน จึงไม่อาจแข่งขันกับประเทศทุนนิยมอีกซีกโลกได้

ทุนเปลี่ยนสภาพไปอย่างไร? ลักษณะการทำการผลิตแบบใหม่เป็นอย่างไร?
ตามทัศนะของทอฟเฟลอร์ โลกผ่านการปฏิวัติทางเทคโนโลยีมา 3 ครั้งสำคัญ

การปฏิวัติครั้งแรก ที่เรียกว่า "คลื่นลูกที่หนึ่ง" ได้แก่ การปฏิวัติทางเครื่องมือเพื่อทำการผลิตทางกสิกรรม สังคมกสิกรรมและระบบจารีตนิยมเป็นผลที่ตามมา

การปฏิวัติครั้งที่สอง ที่เรียกว่า "คลื่นลูกที่สอง" ได้แก่การพัฒนาเทคโนโลยีทางการผลิตจากเครื่องจักรพลังไอน้ำ ในระยะแรกก่อให้เกิดการผลิตอุตสาหกรรมเบาจำพวกโรงทอผ้าเป็นต้น ในเวลาต่อมาก่อให้เกิดการผลิตอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงงานเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ เป็นต้น. สังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมยุคใหม่ ซึ่งมีฐานอยู่บนการผลิตแบบอุตสาหกรรมเป็นผลที่ตามมา

การปฏิวัติครั้งที่สาม ที่เรียกว่า "คลื่นลูกที่สาม" อันเป็นสิ่งที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งจะนำเราไปสู่สังคมหลังอุตสาหกรรมภายใต้อารยธรรมหลังยุคใหม่ เป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร โลกภายใต้อารยธรรมที่ใช้คอมพิวเตอร์นี้เหมือนต่างอย่างไรจากสังคมยุคคลื่นลูกที่สอง?

สังคมอุตสาหกรรมแบบที่ต่ำความรู้
ทอฟเฟลอร์ใช้คำว่า "สังคมอุตสาหกรรมแบบที่ต่ำความรู้" (lowbrow industrial society) อันหมายถึงสังคมอุตสาหกรรมยุคหนึ่ง สังคมแบบนี้เรียกอีกอย่างว่า "สังคมปล่องไฟ"(smokestack society- ขอให้นึกถึงภาพปล่องไฟพ่นควันจากโรงงานเรียงรายเป็นระยะทางยาว) สังคมแบบนี้การทำการผลิตจะวางอยู่บนที่ดิน แรงงานและทุน เน้นหนักการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ และแหล่งจ้างแรงงานราคาถูกเพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ทรัพย์สินวัดกันที่รูปแบบการครอบครองสินค้า การผลิตสินค้าจึงเป็นศูนย์กลางเดียวของระบบเศรษฐกิจ มีการแยกส่วนการบริการและการผลิตออกจากกัน ในลักษณะให้ความสำคัญกับส่วนหลังโดยเห็นว่าส่วนแรกนั้นเป็นส่วนที่ไม่ทำการผลิต บ่อยครั้งจึงใช้มาตรวัดการทำการผลิตในลักษณะที่เป็นรูทีน สิ่งที่เรียกกันในปัจจุบันว่าการผลิตความรู้หรือการแลกเปลี่ยนข่าวสารไม่ใช่สิ่งสำคัญ สิ่งที่สำคัญที่สุดในโครงสร้างนี้ก็คือการผลิตผลิตผลทางวัตถุที่จับต้องได้

สังคมอุตสาหกรรมแบบที่สูงความรู้
"สังคมอุตสาหกรรมแบบที่สูงความรู้" (highbrow industrial society) นั้น ทอฟเฟลอร์หมายถึงสังคมที่เน้นกิจกรรมที่การจัดการเชิงเศรษฐกิจได้ใช้โมเดลใหม่ทางการผลิต ในลักษณะเน้นการเชื่อมต่อกันและการประสานสอดคล้องกัน (connectivity & integration) รวมทั้งการตอบรับกับปัญหาในทันทีทันใด (real-time simultaneity)

- ส่วนในการผลิตแต่ละส่วนต้องมองอย่างไม่แยกขาดจากกัน ดังนั้นการผลิตไม่ได้ตั้งต้นหรือจบลงที่โรงงาน เมื่อข่าวสารเป็นส่วนสำคัญของการผลิต นักการตลาดที่รับรู้ข่าวสารก็จะแจ้งต่อให้วิศวกรรับรู้ แนวคิดที่ออกจากหัวของวิศวกรก็จะเป็นสิ่งที่ฝ่ายงบประมาณจะต้องพยายามทำความเข้าใจ ขณะที่ความสามารถที่จะเพิ่มทุนจะวางอยู่บนการทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ ซึ่งไปวางอีกทีบนความสามารถในการจัดการตารางเวลาผลิตขนส่งสินค้าของบริษัท ซึ่งวางอีกทีอยู่บนส่วนแรงจูงใจทำงานของลูกจ้าง ซึ่งวางอีกทีอยู่บนเงินเดือนบวกกับความรู้สึกของการบรรลุความสำเร็จ ซึ่งวางอยู่บนส่วนอื่นๆ อีกเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ... มูลค่าจึงมาจากความพยายามทั้งหมด ที่แต่ละส่วนเพิ่มลงไปในการผลิต ไม่ใช่มาจากขั้นตอนหนึ่งใดเดียวในกระบวนการทำการผลิต

- ลักษณะการสั่งการทำการผลิตจึงไม่ได้เป็นแบบบนลงล่าง จากส่วนการบริหารลงไปยังส่วนทำการผลิต แต่เป็นการสั่งการทั้งบนลงล่างและล่างขึ้นบน หรือในระนาบเดียวกัน

- ส่วนบริการจึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งด้วยในกระบวนการทำการผลิต ลักษณะที่เรียกว่าการดูแลตามหลังการขายหรือซื้อสินค้า จึงเป็นส่วนพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับบริษัท ในระยะยาวการคำนึงถึงความเสี่ยงภัยของลูกค้าในเรื่องสินค้าสร้างผลเสียต่อระบบนิเวศน์ก็จะได้รับการคำนึงถึง และเป็นส่วนหนึ่งในแผนการผลิตด้วย

- กล้ามเนื้อหรือกำลังกายในการทำการผลิตจึงไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุดสำหรับทำการผลิตอีกต่อไป แรงงานสมองหรือความสามารถในการใช้และคิดค้นเทคโนโลยีระดับสูงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดแทน สิ่งนี้เองที่ถือได้ว่าเป็นทุนสำคัญในการผลิตแบบใหม่ ดังนั้นจากทุนที่เป็นของจับต้องได้จึงกลายเป็นทุนที่จับต้องไม่ได้

สังคมอภิสัญลักษณ์ (super-simbolic society)
ความรู้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในสังคมการผลิตแบบนี้ ทอฟเฟลอร์เรียกสังคมหลังยุคใหม่นี้ว่า สังคมอภิสัญลักษณ์ (super-simbolic society) จากลักษณะที่เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับข่าวสาร อันเป็นการผลิตเชิงสัญลักษณ์ คำว่าความรู้นั้นมีความหมายกว้างกว่าการรู้ข้อเท็จจริง อันเป็นส่วนหนึ่งของข่าวสาร ข่าวสารก็คือข้อมูลที่ถูกแยกแยะจัดระเบียบ โดยทั่วไปความรู้ก็คือข่าวสารที่ถูกประมวลแล้วให้เป็นข้อความสากล สำหรับทอฟเฟลอร์ เขาใช้คลุมถึงข้อมูล ข่าวสาร จินตภาพ จินตนาการรวมทั้งท่าที คุณค่า และการผลิตเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ ของสังคม ไม่ว่าจะ"จริง", "พอประมาณ", หรือ "เท็จ". กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความรู้ในที่นี้จึงรวมถึงตัวสื่อที่ใช้ในการสื่อสารซึ่งทำให้ตัวสารส่งผ่านได้

ดังได้กล่าวมา ส่วนทั้งหลายในการทำการผลิตรวมทั้งส่วนผู้ใช้บริการ ต่างมีความหมายและเป็นตัวสร้างมูลค่าแก่การผลิต บทบาทของความสุขในการทำงานจึงเป็นส่วนสำคัญในการทำการผลิต. ในยุคสังคมปล่องไฟคนงานผู้ใช้แรงกายถูกบังคับโดยสภาพการณ์ให้ทำการผลิต, ในยุคอภิสัญลักษณ์ คนงานที่มีความสุขผลิตได้มากขึ้น ตรงนี้แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแง่ความสัมพันธ์ทางการผลิตภายใต้โครงสร้างใหม่

ทุนนิยมที่มีใบหน้าเป็นมนุษย์
สังคมหลังยุคใหม่ในแง่นี้ จึงเป็นระบบเศรษฐกิจแบบที่ทุนมีไว้เพื่อทำการผลิตสนองตอบรับได้กับความต้องการของผู้บริโภค ทอฟเฟลอร์เรียกว่า "สังคมที่มีระบบเศรษฐกิจบริการ" ถ้าเราใช้คำของสันตะปาปาที่เรียกร้องให้โลกสร้าง "ทุนนิยมที่มีใบหน้าเป็นมนุษย์" ขึ้น ในโลกที่ระบบอุดมคติแบบอื่นล่มสลายไป เราอาจกล่าวได้ว่า ตามความคิดของทอฟเฟลอร์แล้วเป็นทุนนิยมที่แปลกแยก มนุษย์ที่มาร์กซ์พยายามศึกษาวงจรชีวิตในศตวรรษที่ ๑๙ ได้เริ่มปรับเปลี่ยนเป็นทุนนิยมที่มีใบหน้าเป็นมนุษย์แล้วในปลายศตวรรษที่ ๒๐ ทอฟเฟลอร์เชื่อว่ากระบวนการนี้จักดำเนินต่อไปจนถึงที่สุด

บัดนี้ธรรมชาติของทุนเริ่มเปลี่ยนไป รวมทั้งลักษณะของการทำการผลิตเอง ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้แสดงตนให้เราเห็นเป็นระยะ และจะมามากขึ้น รวดเร็วขึ้น ณ บัดนี้

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ (สนใจคลิกอ่านบทความต่อเนื่อง ลำดับที่ ๑๗๑๘)

อ้างอิง

Bobbio 1989. Norberto Bobbio. "THE UPTURNED UTOPIA," in Robin lackburn[Ed.]. AFTER THE FALL.[London:Verso,1991]

Gorbachev 1988. Mikhail Gorbachev.THE IDEOLOGY OF RENEWAL FOR REVOLUTIONARY RESTRUCTURING. [Moscow:Novosti,1988]

Gorbachev 1990. Mikhail Gorbachev. "I am an optimist : GORBACHEV INTERVIEW," TIME June 4,1990.

Habermas 1990. Jurgen Habermas."WHAT DOES SOCIALISM MEAN TODAY? THE REVOLUTIONS OF RECUPERATION AND THE NEED FOR NEW THINKING" in Blackburn[Ed.]

Lenin 1917. Vladimir Ilyich Lenin."LETTER TO CENTRAL COMMITTEE MEMBERS," in EXPERIENCE OF THE CPSU : ITS WORLD SIGNIFICANCE. [Moscow:Progress Publishers,1975]

Lenin 1918. Vladimir Ilyich Lenin."DECLARATION OF RIGHTS OF THE WORKING AND EXPLOITED PEOPLE," in EXPERIENCE OF THE CPSU.

Lenin 1920. Vladimir Ilyich Lenin. "LEFTWING COMMUNISM-AN INFANTILE DISORDER," in EXPERIENCE OF THE CPSU.

LE PETIT LAROUSSE DICTIONNAIRE ENCYCLOPEDIQUE. [Paris:Larousse,1993]

Lyotard 1988. Jean-Francois Lyotard. THE POSTMODERN EXPLAINED [Minneapolis,London:University of Minnesota Press,1993] (ฉบับภาษาฝรั่งเศสพิมพ์ปี ๑๙๘๘)

Marx 1867. Karl Marx, CAPITAL VOLUME 1. [New York:Vintage,1976]
Marx 1885. Karl Marx, CAPITAL VOLUME 2. [New York:Vintage,1981]

Toffler 1990. Alvin toffler. POWERSHIFT.[NewYork: Bantam,1991]

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1650 เรื่อง หนากว่า 33000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com