ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




10-08-2551 (1636)

The Neoliberal State" from David Harvey,
อันตราย: รัฐเสรีนิยมใหม่ อนุรักษ์นิยมใหม่ และชาตินิยม (๒)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเชิงอรรถ
นักวิชาการและนักแปลอิสระ โครงการสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
สื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

แปลจาก Chapter 3 "The Neoliberal State" from David Harvey,
A Brief History of Neoliberalism, Oxford University Press: 2007, p. 64-86.
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้เรียงลำดับหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
- รัฐเสรีนิยมใหม่ตามทฤษฎี
- ความตึงเครียดและความขัดแย้ง
- รัฐเสรีนิยมใหม่ในภาคปฏิบัติ
- คำตอบของฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่
- ลัทธิชาตินิยมและความสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๓๖
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕.๕ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

The Neoliberal State" from David Harvey,
อันตราย: รัฐเสรีนิยมใหม่ อนุรักษ์นิยมใหม่ และชาตินิยม (๒)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเชิงอรรถ
นักวิชาการและนักแปลอิสระ โครงการสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

(ต่อจากบทความลำดับที่ 1635)

ในประการสุดท้าย เรามาถึงประเด็นที่เป็นปมปัญหาของรัฐเสรีนิยมใหม่ในการจัดการกับตลาดแรงงาน ในแง่ของภายในประเทศ รัฐเสรีนิยมใหม่จำเป็นต้องเป็นปฏิปักษ์ต่อความสมานฉันท์ทางสังคมทุกรูปแบบที่สร้างข้อจำกัดต่อการสะสมทุน สหภาพแรงงานที่เป็นอิสระหรือขบวนการสังคมอื่น ๆ (เช่น ขบวนการสังคมนิยมระดับเทศบาลในแบบ Greater London Council )(*) ซึ่งมีอำนาจขึ้นมาระดับหนึ่งภายใต้ระบบเสรีนิยมที่มีการกำกับดูแล (embedded liberalism) จำเป็นต้องถูกจัดระเบียบวินัยใหม่หรือไม่ก็ทำลายทิ้งไปเสียเลย ทั้งหมดนี้ในนามของอิสรภาพปัจเจกบุคคลอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้ใช้แรงงานแต่ละคนที่แยกขาดจากกัน

(*) Greater London Council เทศบาลลอนดอนในช่วง ค.ศ. 1965-1986 สมาชิกสภาเทศบาลส่วนใหญ่มาจากพรรคแรงงาน ทำให้มีนโยบายการพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นแรงงาน แต่สภาเทศบาลนี้ถูกยกเลิกไปในยุครัฐบาลมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (ผู้แปล)

"ความยืดหยุ่น" กลายเป็นคาถาเกี่ยวกับตลาดแรงงาน เป็นเรื่องยากที่จะโต้แย้งว่า ความยืดหยุ่นที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสิ่งที่แย่ทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับการปฏิบัติของสหภาพแรงงานที่คับแคบและแข็งทื่อตายตัวมาก ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีนักปฏิรูปของฝ่ายซ้ายที่ให้เหตุผลสนับสนุน "การสร้างความเชี่ยวชาญที่ยืดหยุ่น" (flexible specialization) เพื่อก้าวไปข้างหน้า (8) ถึงแม้จะมีผู้ใช้แรงงานบางคนได้รับประโยชน์จากความยืดหยุ่นนี้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ความไม่สมมาตรของข้อมูลข่าวสารและอำนาจที่เกิดขึ้น ประกอบกับการที่แรงงานไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกและเสรี (โดยเฉพาะการข้ามพรมแดนรัฐ) ทำให้แรงงานตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากกว่า

(8) M. Piore and C. Sable, The Second Industrial Divide: Possibilities for Prosperity (New York: Basic Books, 1986).

ฝ่ายทุนอาจฉวยใช้ความเชี่ยวชาญที่ยืดหยุ่นนี้มาเป็นเครื่องมือกรุยทางให้เกิดวิธีการสะสมทุนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น อันที่จริง คำสองคำนี้ กล่าวคือ การสร้างความเชี่ยวชาญที่ยืดหยุ่นกับการสะสมทุนที่ยืดหยุ่น มีนัยยะที่แตกต่างกันมาก(9) ผลลัพธ์โดยรวมที่เกิดขึ้นก็คือ ค่าจ้างต่ำลง ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานเพิ่มมากขึ้น และในหลาย ๆ กรณีหมายถึงการสูญเสียสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองอาชีพ แนวโน้มเช่นนี้มีให้พบเห็นในทุก ๆ รัฐที่เดินตามเส้นทางเสรีนิยมใหม่ เมื่อดูจากการทุบทำลายองค์กรจัดตั้งของแรงงานและสิทธิแรงงานทุกรูปแบบอย่างรุนแรง อีกทั้งการหันไปใช้กำลังแรงงานสำรองที่มีจำนวนมหาศาล แต่แทบไม่มีการจัดตั้งเลย ดังที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย อินเดีย เม็กซิโก และบังคลาเทศ ก็ทำให้เห็นได้ว่า การควบคุมแรงงานและการขูดรีดแรงงานอย่างรุนแรง คือหัวใจสำคัญของลัทธิเสรีนิยมใหม่มาโดยตลอด การฟื้นฟูหรือก่อรูปอำนาจชนชั้นเกิดขึ้นจากความสูญเสียของแรงงานเสมอมา

(9) โปรดดู Harvey, Condition of Postmodernity.

ท่ามกลางบริบทที่แรงงานได้รับปัจจัยครองชีพจากตลาดงานน้อยลง การที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่มุ่งมั่น ถ่ายโอนความรับผิดชอบด้านสวัสดิการทุกอย่างให้ตกเป็นภาระของปัจเจกบุคคล ยิ่งทำให้เกิดผลกระทบเลวร้ายเป็นทวีคูณ เมื่อรัฐถอนตัวจากการให้สวัสดิการสังคมและลดทอนบทบาทของตนในด้านต่าง ๆ เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษาและบริการทางสังคม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในระบบเสรีนิยมที่มีการกำกับดูแล ก็เท่ากับลอยแพประชากรจำนวนมากขึ้น ๆ ให้เผชิญกับความยากจนไปตามยถากรรม (10) ตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมถูกลดทอนจนเหลือแค่ขั้นต่ำสุด เพื่อหลีกทางให้ระบบที่ต่างคนต่างรับผิดชอบตัวเอง ความล้มเหลวของบุคคลถูกตีตราว่าเป็นเพราะข้อบกพร่องของคนๆ นั้น และเหยื่อก็มักต้องก้มหน้ารับคำประณามไปเต็มๆ

(10) V. Navarro (ed.), The Political Economy of Social Inequalities: Consequences for Health and the Quality of Life (Amityville, NY: Baywood, 2002).

เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายสังคมนี้ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญในลักษณะของการปกครอง เนื่องจากลัทธิเสรีนิยมใหม่มีความหวาดระแวงต่อระบอบประชาธิปไตย เสรีนิยมใหม่จึงต้องหาหนทางดึงการตัดสินใจของรัฐเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในพลวัตของการสะสมทุนและเครือข่ายอำนาจทางชนชั้น ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในระหว่างกระบวนการฟื้นฟู และที่อยู่ในระหว่างการก่อรูป เช่น จีนและรัสเซีย เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทำให้เกิดการพึ่งพิงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐกับเอกชนมากขึ้น (นี่คือแนวคิดสำคัญประการหนึ่งที่มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ผลักดันอย่างเข้มแข็ง พร้อม ๆ กับก่อตั้ง "สถาบันกึ่งรัฐบาล" เช่น บรรษัทพัฒนาเมือง เพื่อทำหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจ) ภาคธุรกิจและบรรษัทไม่เพียงร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบุคลากรในภาครัฐเท่านั้น แต่ถึงขนาดมีบทบาทแข็งขันในการร่างกฎหมาย กำหนดนโยบายสาธารณะ และวางกรอบการกำกับดูแล (ซึ่งย่อมเอื้อประโยชน์ให้ตนเป็นหลักใหญ่) มีการวางแบบแผนการเจรจาต่อรองของภาครัฐที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ หรือบางครั้งก็รวมไปถึงกลุ่มผลประโยชน์ทางวิชาชีพด้วย ทั้งนี้โดยอาศัยการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดและบางครั้งก็เป็นความลับ

ตัวอย่างที่ครึกโครมที่สุดในเรื่องนี้คือ การที่รองประธานาธิบดีเชนีย์ ยืนกรานไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อกลุ่มที่ปรึกษา ซึ่งมีบทบาทในการร่างเอกสารนโยบายพลังงานของรัฐบาลบุชใน ค.ศ. 2002 น่าจะแน่นอนว่าหนึ่งในที่ปรึกษาคือ เคนเนธ เลย์ (Kenneth Lay) ประธานบริษัทเอนรอน (Enron) บริษัทที่ถูกกล่าวหาว่าแสวงหากำไรเกินควร ด้วยการจงใจทำให้เกิดวิกฤตการณ์ไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย แล้วหลังจากนั้นบริษัทนี้ก็ล้มละลายลงท่ามกลางข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการแต่งตัวเลขบัญชีอย่างมโหฬาร ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงบทบาทจากรัฐบาล (government) (อำนาจรัฐในตัวมันเอง) ไปเป็นการปกครอง (governance) (โครงสร้างที่กว้างขึ้น ซึ่งครอบคลุมทั้งรัฐและองค์ประกอบสำคัญในภาคประชาสังคม) จึงเป็นลักษณะเด่นภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (11) ในแง่นี้ การปฏิบัติของรัฐเสรีนิยมใหม่และรัฐนักพัฒนาจึงสอดคล้องกันอยู่มาก

(11) P. McCarney and R. Stren, Governance on the Ground: Innovations and Discontinuities in the Cities of the Developing World (Princeton: Woodrow Wilson Center Press, 2003); A. Dixit, Lawlessness and Economics: Alternative Modes of Governance (Princeton: Princeton University Press, 2004).

ตามปรกติแล้ว รัฐมักผลิตกรอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลที่เอื้อประโยชน์ต่อบรรษัท และในบางกรณีก็เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม เช่น พลังงาน ยา ธุรกิจเกษตร ฯลฯ การเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในหลาย ๆ กรณี โดยเฉพาะในระดับเทศบาล รัฐมักแบกรับความเสี่ยงส่วนใหญ่เอาไว้ ในขณะที่ภาคเอกชนกอบโกยกำไรไปเกือบทั้งหมด ยิ่งกว่านั้น หากจำเป็น รัฐเสรีนิยมใหม่ก็พร้อมจะใช้กฎหมายข่มขู่บังคับและยุทธการของตำรวจ (เช่น กฎเกณฑ์ที่ต่อต้านการปิดถนน เป็นต้น) เพื่อแยกสลายหรือปราบปรามฝ่ายต่อต้านอำนาจบรรษัทที่รวมตัวกันเป็นหมู่คณะ การตรวจตราสอดส่องในรูปแบบต่าง ๆ มีมากขึ้นเป็นทวีคูณ ในสหรัฐอเมริกา การกักขังหน่วงเหนี่ยวกลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐในการจัดการปัญหาที่มีเพิ่มมากขึ้นในหมู่คนงานที่ถูกลอยแพและประชากรชายขอบ มีการเพิ่มกลไกการกดขี่บังคับของรัฐมากขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบรรษัท และคอยกำราบปราบปรามการแข็งข้อในกรณีที่จำเป็น ทั้งหมดนี้ไม่มีข้อหนึ่งข้อใดที่สอดคล้องกับทฤษฎีเสรีนิยมใหม่เลย

ความกริ่งเกรงของเสรีนิยมใหม่ที่กลัวว่า จะมีกลุ่มผลประโยชน์พิเศษบางกลุ่มมาบิดเบือนและบ่อนทำลายรัฐ กลายเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในกรุงวอชิงตันยิ่งกว่าที่ไหน ๆ เนื่องจากกองทัพนักล้อบบี้ของบรรษัท (ซึ่งหลาย ๆ คนฉวยโอกาสจากช่องทาง "ประตูหมุน" ที่สลับสับเปลี่ยนระหว่างการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และตำแหน่งในบรรษัทที่ได้เงินเป็นกอบเป็นกำมากกว่า) มีบทบาทกำหนดการออกกฎหมายให้สอดรับกับผลประโยชน์พิเศษของตนอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่บางรัฐยังคงเคารพต่อจารีตประเพณีที่ภาคราชการต้องเป็นอิสระ แต่สภาพการณ์นี้ในทุกประเทศกำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามตามวิถีของลัทธิเสรีนิยมใหม่ พรมแดนที่กั้นขวางระหว่างรัฐกับบรรษัทกำลังมีรูรั่วมากขึ้น ๆ สิ่งที่เหลืออยู่ในระบอบประชาธิปไตยตัวแทนกำลังถูกกลืนกิน หรือไม่ก็ถูกอำนาจเงินตราทำให้ฉ้อฉลไปหมดแล้วอย่างถูกกฎหมาย

เนื่องจากการเข้าถึงระบบตุลาการเป็นสิ่งที่เสมอภาคแต่เพียงในนาม ทว่ามีต้นทุนแพงลิบลิ่วในทางปฏิบัติ (ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ปัจเจกบุคคลฟ้องร้องการประพฤติปฏิบัติที่ขาดความรับผิดชอบของบรรษัท หรือประเทศใดประเทศหนึ่งฟ้องร้องสหรัฐอเมริกา ข้อหาละเมิดกฎเกณฑ์ของดับเบิลยูทีโอ ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจมีต้นทุนสูงเป็นล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับงบประมาณประจำปีของประเทศเล็ก ๆ ยากจน) ผลการพิพากษามักลำเอียงเข้าข้างฝ่ายที่มีอำนาจเงิน

ในทุก ๆ กรณี อคติทางชนชั้นในการตัดสินพิพากษาของฝ่ายตุลาการมักแทรกซึมอยู่หรือไม่ก็เห็นชัดเจนเลย (12) จึงไม่น่าประหลาดใจที่ช่องทางในการสร้างปฏิบัติการอย่างเป็นหมู่คณะภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ มักถูกนิยามและสื่อสารออกมาผ่านทางกลุ่มกิจกรรมส่งเสริมสิทธิรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (และในหลาย ๆ กรณีก็มีลักษณะแบบชนชั้นนำ) ในบางกรณี เช่น การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิพลเมือง หรือสิทธิของผู้พิการ วิธีการแบบนี้อาจช่วยให้เกิดผลสำเร็จในทางที่ดีเป็นอย่างมาก

(12) R. Miliband, The State in Capitalist Society (New York: Basic Books, 1969).

องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และองค์กรรากหญ้า (grassroots organization-GROs) เติบโตและขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ จนทำให้เกิดความเชื่อว่า ฝ่ายต่อต้านที่ระดมพลนอกกลไกรัฐและอยู่ภายในองค์ภาวะที่แยกต่างหากออกมา ซึ่งเรียกกันว่า "ภาคประชาสังคม" คือแหล่งพลังงานของการเมืองฝ่ายต่อต้านและการเปลี่ยนแปลงสังคม(13) ช่วงเวลาที่รัฐเสรีนิยมใหม่ก้าวขึ้นครองความเป็นใหญ่ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่แนวคิดเกี่ยวกับภาคประชาสังคม (ซึ่งมักแสดงตัวเป็นองค์ภาวะที่ต่อต้านอำนาจรัฐ) กลายเป็นหัวใจสำคัญในสูตรสำเร็จของการเมืองฝ่ายต่อต้าน แนวคิดของกรัมชีที่ว่า รัฐคือเอกภาพของภาคการเมืองและภาคประชาสังคม จำต้องหลีกทางให้แก่แนวคิดว่า ภาคประชาสังคมคือศูนย์กลางของการต่อต้านรัฐ หรือไม่ก็เป็นทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากรัฐ

(13) N. Rosenblum and R. Post (eds.), Civil Society and Government (Princeton: Princeton University Press, 2001); S. Chambers and W. Kymlicka (eds.), Alternative Conceptions of Civil Society (Princeton: Princeton University Press, 2001).

จากคำอธิบายข้างต้นนี้ เราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ไม่ได้ทำให้รัฐหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งของรัฐ (เช่น ศาลและกลไกตำรวจ) หมดความหมาย ดังที่ผู้สันทัดกรณีจากทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายกล่าวอ้าง (14) กระนั้นก็ตาม มีการปรับโฉมหน้าสถาบันและวิธีปฏิบัติของรัฐอย่างลึกซึ้ง (โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสมดุลระหว่างการข่มขู่บังคับกับการยินยอมพร้อมใจ ระหว่างอำนาจของทุนกับขบวนการประชาชน ระหว่างอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการฝ่ายหนึ่ง กับอำนาจของระบอบประชาธิปไตยตัวแทนอีกฝ่ายหนึ่ง)

(14) K. Ohmae, The End of the Nation State: The Rise of the Regional Economies (New York: Touchstone Press, 1996).

แต่ไม่มีอะไรดำเนินไปด้วยดีในรัฐเสรีนิยมใหม่เลย ด้วยเหตุนี้เอง รัฐเสรีนิยมใหม่จึงดูเหมือนรูปแบบทางการเมืองที่ไม่มั่นคงหรืออยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านมากกว่า หัวใจของปัญหาอยู่ที่ช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างเป้าหมายที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ประกาศต่อสาธารณะ กล่าวคือ ความอยู่ดีกินดีของทุกคน กับผลลัพธ์จริง ๆ ที่เกิดขึ้น กล่าวคือ การฟื้นฟูอำนาจของชนชั้น แต่นอกเหนือจากนี้ ยังมีความขัดแย้งจำเพาะเจาะจงอีกชุดหนึ่งที่พึงกล่าวถึงให้กระจ่างชัดด้วย

(1) ในด้านหนึ่ง รัฐเสรีนิยมใหม่ควรอยู่เฉย ๆ และทำหน้าที่เพียงแค่จัดเวทีให้กลไกตลาด แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐกลับถูกคาดหวังให้มีบทบาทในการสร้างบรรยากาศทางธุรกิจที่ดี และประพฤติตัวเป็นองค์การเมืองที่แข่งขันได้ในระดับโลก บทบาทประการหลังนี้หมายความว่า รัฐต้องทำงานในฐานะบรรษัทรวมหมู่ นี่ทำให้เกิดปัญหาว่าจะรักษาความจงรักภักดีของพลเมืองไว้ด้วยวิธีไหน

ลัทธิชาตินิยมคือคำตอบแรก แต่ลัทธินี้มีความเป็นปฏิปักษ์อย่างลึกซึ้งกับวาระเสรีนิยมใหม่ นี่คือเรื่องที่ทำให้มาร์กาเร็ต แธตเชอร์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะเธอไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเล่นบทชาตินิยมในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (หรือที่ชาวอาร์เจนตินาเรียกว่าหมู่เกาะมัลวินัส) และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การเล่นบทชาตินิยมในการรณรงค์คัดค้านการรวมระบบเศรษฐกิจกับยุโรป นี่เองที่ทำให้แธตเชอร์ชนะการเลือกตั้งอีกสมัยและสามารถผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ภายในประเทศได้ต่อไป

ความขัดแย้งแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าภายในสหภาพยุโรป ใน Mercosur (ซึ่งลัทธิชาตินิยมในบราซิลและอาร์เจนตินาคอยขัดขวางการรวมระบบเศรษฐกิจ) ในนาฟตา หรือในอาเซียน รัฐจำเป็นต้องใช้ลัทธิชาตินิยมเพื่อทำให้ตัวเองแสดงบทบาทเป็นบรรษัท และแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ลัทธิชาตินิยมก็เป็นสิ่งที่กีดขวางเสรีภาพของตลาดโดยรวมยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

(2) ลักษณะแบบอำนาจนิยมของกลไกตลาด เข้ากันไม่ค่อยได้ง่ายนักกับอุดมคติเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ยิ่งลัทธิเสรีนิยมใหม่หันเข้าหาอำนาจนิยมของตลาดมากเท่าไร ก็ยิ่งยากที่จะรักษาความชอบธรรม และยิ่งเปิดเผยให้เห็นธาตุแท้ที่ต่อต้านประชาธิปไตยออกมา ความขัดแย้งนี้คู่ขนานมากับความไม่สมมาตรที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างบรรษัทกับปัจเจกบุคคลอย่างเราท่าน ถ้า "อำนาจบรรษัทปล้นเสรีภาพส่วนบุคคลของคุณไป" คำมั่นสัญญาของลัทธิเสรีนิยมใหม่ก็มอดมลายเป็นอากาศธาตุ (15) ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคลในสถานที่ทำงานหรือพื้นที่การดำรงชีวิตก็ตาม

(15) Court, Corporateering.

ยกตัวอย่างเช่น การยืนยันว่าการดูแลสุขภาพเป็นทางเลือกและความรับผิดชอบส่วนบุคคล แต่ถ้าวิธีเดียวที่จะตอบสนองความต้องการในตลาดคือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงลิบลิ่วให้บริษัทประกันที่แสวงหากำไร แต่ไร้ประสิทธิภาพ เทอะทะและมีวิธีบริหารงานแบบราชการ ยิ่งเมื่อบริษัทเหล่านี้ถึงขนาดมีอำนาจนิยามความเจ็บไข้ชนิดใหม่ เพื่อให้สอดรับกับยาตัวใหม่ที่เพิ่งออกวางตลาด ถ้าแบบนี้ก็ต้องมีอะไรผิดพลาดแน่ๆ(16) ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ การรักษาความชอบธรรมและการยินยอมพร้อมใจไว้ ย่อมกลายเป็นการรักษาสมดุลที่ยากเย็นยิ่งขึ้น ซึ่งอาจพังครืนลงมาได้ง่าย ๆ เมื่ออะไรต่ออะไรเริ่มผิดพลาด

(16) D. Healy, Let Them Eat Prozac: The Unhealthy Relationship Between the Pharmaceutical Industry and Depression (New York: New York University Press, 2004).

(3) แม้ว่าการรักษาความมั่นคงของระบบการเงินอาจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ลัทธิปัจเจกบุคคลที่ไร้ความรับผิดชอบและบ้าอำนาจของผู้ปฏิบัติงานในภาคการเงิน ก่อให้เกิดการเก็งกำไรที่คาดเดาไม่ได้ เรื่องอื้อฉาวทางการเงินและความไร้เสถียรภาพเรื้อรัง เรื่องอื้อฉาวในวอลล์สตรีทและวงการบัญชีในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นและทำให้เกิดคำถามจริงจังต่อหน่วยงานกำกับดูแลว่า หน่วยงานควรเข้าไปแทรกแซงเมื่อไรและอย่างไร ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ การค้าเสรีระหว่างประเทศจำเป็นต้องมีกฎกติการะดับโลก ซึ่งหมายถึงความจำเป็นต้องมีการปกครองระดับโลกบางอย่าง (ยกตัวอย่างเช่น องค์การการค้าโลก) การลดข้อบังคับของระบบการเงินทำให้เกิดพฤติกรรมที่จำเป็นต้องมีการรื้อฟื้นการกำกับดูแลขึ้นมาใหม่ หากต้องการหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้น (17)

(17) W. Bello, N. Bullard, and K. Malhotra (eds.), Global Finance: New Thinking on Regulating Speculative Markets (London: Zed Books, 2000).

(4) ในขณะที่การแข่งขันกลายเป็นคุณธรรมที่ได้รับการยกย่องเป็นอันดับแรก แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม กล่าวคือ อำนาจผูกขาดโดยผู้ผลิตหรือผู้ขาย อำนาจผูกขาดตลาดและอำนาจข้ามชาติของบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่บรรษัท กลับมีความเข้มแข็งและรวมศูนย์มากขึ้นเรื่อย ๆ โลกของน้ำอัดลมเหลือเพียงแค่การแข่งขันระหว่างโคคาโคลากับเป๊ปซี่ อุตสาหกรรมพลังงานเหลือแค่บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ห้าบรรษัท และเจ้าพ่อวงการสื่อมวลชนไม่กี่คนมีอำนาจควบคุมการไหลเวียนของข่าวสารเกือบทั้งหมด อีกทั้งข่าวสารส่วนใหญ่ก็กลายเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อล้วน ๆ

(5) ในระดับประชาชน แรงขับดันสู่ตลาดเสรีและการทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า อาจสร้างความเสียหายทำลายล้างและก่อให้เกิดการแตกสลายของสังคม การทำลายความสมานฉันท์ทางสังคมทุกรูปแบบ หรือดังที่แธตเชอร์กล่าวว่า กระทั่งสังคมก็ไม่มีอยู่อีกต่อไป นี่จะทิ้งช่องว่างถ่างกว้างไว้ในระเบียบสังคม ทำให้ยากยิ่งขึ้นที่จะต่อสู้เพื่อบรรทัดฐานทางจริยธรรมและควบคุมพฤติกรรมต่อต้านสังคมที่เป็นผลตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรม ภาพลามก หรือการกดขี่ผู้อื่นลงเป็นทาส การลดทอน "เสรีภาพ" เหลือแค่ "เสรีภาพของผู้ประกอบการ" ก่อให้เกิด "เสรีภาพเชิงลบ" ทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งโปลันยีเห็นว่าเป็นปมเงื่อนที่ไม่อาจแยกขาดจากเสรีภาพเชิงบวก

ปฏิกิริยาตอบโต้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการพยายามสร้างความสมานฉันท์ทางสังคมขึ้นมาใหม่ แต่ด้วยแนวทางที่แตกต่างออกไปจากเดิม นี่เองคือต้นตอของการรื้อฟื้นความสนใจในศาสนาและศีลธรรม การสมาคมรูปแบบใหม่ ๆ (เช่น การรวมตัวเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิและพลเมือง เป็นต้น) และแม้กระทั่งการรื้อฟื้นรูปแบบการเมืองเก่า ๆ (เช่น ลัทธิฟาสซิสต์ ชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม ฯลฯ) ลัทธิเสรีนิยมใหม่ขนานแท้ มีแนวโน้มอันตรายที่จะตกต่ำกลายเป็นลัทธิประชานิยมและชาตินิยมบ้าอำนาจรูปแบบต่าง ๆ ได้เสมอ ดังที่ Schwab และ Smadja ผู้จัดงานเลี้ยงประจำปีที่เมืองดาโวส ซึ่งเคยเป็นการเฉลิมฉลองให้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ กล่าวเตือนไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1996 ว่า:

โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจก้าวเข้าสู่ขั้นตอนใหม่แล้ว ปฏิกิริยาตอบโต้ต่อผลกระทบของมันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศประชาธิปไตยอุตสาหกรรม มีแนวโน้มที่จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางสังคมในหลาย ๆ ประเทศ ในประเทศประชาธิปไตยเหล่านี้มีบรรยากาศของความท้อแท้และไม่สบายใจ ซึ่งช่วยอธิบายสาเหตุของการก้าวขึ้นสู่อำนาจของนักการเมืองประชานิยมสายพันธุ์ใหม่ ทั้งหมดนี้อาจกลายเป็นการแข็งข้อก่อกบฏได้โดยง่าย (18)

(18) K. Schwab and C. Smadja, cited in D. Harvey, Spaces of Hope (Edinburgh: Edinburgh University Press, 2000), 70.

คำตอบของฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่

หากรัฐเสรีนิยมใหม่มีความไร้เสถียรภาพแฝงอยู่ภายใน ถ้าเช่นนั้น รัฐแบบไหนควรจะมาแทนที่? ในสหรัฐอเมริกา มีสัญญาณชัดเจนว่าคำตอบต่อคำถามนี้คือลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ (Neoconservatism) เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์ของจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Wang ชี้ให้เห็นว่า ในทางทฤษฎีแล้ว

เรื่องเล่าแม่บทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น "อำนาจนิยมใหม่" (neo-Authoritarianism) "อนุรักษ์นิยมใหม่" "เสรีนิยมคลาสสิก" ลัทธิตลาดสุดขั้ว การสร้างความทันสมัยให้ประเทศ....ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลักการพื้นฐานของลัทธิเสรีนิยมใหม่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การนำคำต่าง ๆ เหล่านี้มาแทนที่กันอย่างต่อเนื่อง (หรือแม้แต่ความขัดแย้งระหว่างกันเอง) ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจ ทั้งในประเทศจีนและโลกโดยรวมในยุคปัจจุบัน (19)

(19) H. Wang, China's New Order: Society, Politics and Economy in Transition (Cambridge, Mass.: Harvard University Press, 2003), 44.

นี่จะเป็นเค้าลางของการปรับโฉมหน้าโครงสร้างการปกครองโดยทั่วไปในระดับโลกหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ การที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ในรัฐอำนาจนิยม เช่น จีนและสิงคโปร์ ดูเหมือนจะเกิดขึ้นสอดรับกับลัทธิอำนาจนิยมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในรัฐเสรีนิยมใหม่ เช่น สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ ลองพิจารณาดูการที่ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ค่อย ๆ มีพัฒนาการในสหรัฐฯ จนกลายเป็นคำตอบต่อปัญหาความไร้เสถียรภาพภายในของรัฐเสรีนิยมใหม่

เช่นเดียวกับนักเสรีนิยมใหม่ที่มีอิทธิพลก่อนหน้า ฝ่าย "นีโอคอน" เองก็ฟูมฟักทัศนะของตนเกี่ยวกับระเบียบสังคมอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ (โดยที่ Leo Strauss แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกมีอิทธิพลเป็นพิเศษ) และกลุ่มมันสมองที่ได้รับทุนอุดหนุนเหลือเฟือ รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ทรงอิทธิพล (เช่น Commentary)(20) นักอนุรักษ์นิยมใหม่ในสหรัฐฯ นิยมชอบชอบอำนาจบรรษัท ธุรกิจเอกชน และการฟื้นฟูอำนาจของชนชั้น ด้วยเหตุนี้เอง ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่จึงมีความสอดคล้องพอดิบพอดีกับวาระเสรีนิยมใหม่ของรัฐบาลชนชั้นสูง ความไม่ไว้วางใจต่อระบอบประชาธิปไตย และการรักษาเสรีภาพของตลาดเอาไว้ เพียงแต่ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่หันหนีจากหลักการของลัทธิเสรีนิยมใหม่ขนานแท้ และปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ในแง่มุมพื้นฐานสองประการคือ

ประการแรก นักอนุรักษ์นิยมใหม่เชื่อว่าระเบียบสังคมคือคำตอบต่อสภาพสับสนวุ่นวายของผลประโยชน์ปัจเจกบุคคล
ประการที่สอง การให้ความสำคัญต่อศีลธรรมจรรยาอย่างเคร่งครัด โดยเชื่อว่าจะเป็นกาวสังคมที่จำเป็นต่อการรักษาองค์การเมืองให้มีความมั่นคง
เมื่อต้องเผชิญกับอันตรายจากภายนอกและภายในประเทศ

(20) J. Mann, The Rise of the Vulcans: The History of Bush's War Cabinet (New York: Viking Books, 2004); S. Drury, Leo Strauss and the American Right (New York: Palgrave Macmillan, 1999).

ในแง่การให้ความสำคัญต่อระเบียบสังคมนั้น ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ดูเหมือนเป็นแค่การปอกเปลือกนอกของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่พยายามปกปิดอำพรางลัทธิอำนาจนิยมเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกัน ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ก็เสนอคำตอบชัดเจน ต่อความขัดแย้งที่สำคัญประการหนึ่งของลัทธิเสรีนิยมใหม่ด้วย ถ้า "ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสังคมหรอก มีแต่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น" ดังที่แธตเชอร์เคยพูดไว้แต่แรก หากเป็นเช่นนั้นจริง ลงท้ายแล้วผลประโยชน์ปัจเจกบุคคล อาจสร้างความสับสนวุ่นวายจนมีอำนาจเหนือระเบียบสังคมได้ อนาธิปไตยของตลาด การแข่งขัน และลัทธิปัจเจกบุคคลนิยมที่ไม่มีการควบคุม (ความหวัง ความปรารถนา ความวิตก และความกลัวของแต่ละคน การเลือกวิถีชีวิต อุปนิสัยและแนวโน้มทางเพศ วิถีการแสดงออกและพฤติกรรมที่มีต่อผู้อื่น) ย่อมก่อให้เกิดสภาพการณ์ที่ปกครองไม่ได้มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ มันอาจนำไปสู่การพังทลายของความผูกพันและความสามัคคีทั้งหมด จนสังคมตกลงสู่ขอบเหวของอนาธิปไตยและการทำลายล้างกันเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงดูเหมือนมีความจำเป็นต้องใช้การข่มขู่บังคับระดับหนึ่งเพื่อฟื้นฟูระเบียบขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุนี้เอง นักอนุรักษ์นิยมใหม่จึงเน้นการสร้างความเข้มแข็งของกองทัพเพื่อเป็นยาถอนพิษความสับสนวุ่นวายของผลประโยชน์ปัจเจกบุคคล เหตุผลนี้เองทำให้นักอนุรักษ์นิยมใหม่มีแนวโน้มที่มักจะกระพือความหวาดกลัวภัยคุกคามต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของชาติ ทั้งภัยที่เป็นความจริงและจินตนาการขึ้นมา ทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ

ในสหรัฐอเมริกา วิธีการนี้กระตุ้นให้เกิดสิ่งที่ Hofstadter เรียกว่า "ลักษณะหวาดระแวงเกินกว่าเหตุของการเมืองอเมริกัน" มีการวาดภาพให้เชื่อว่าประเทศถูกรายล้อมและคุกคามจากศัตรูทั้งภายในและภายนอก(21) การเมืองลักษณะนี้มีประวัติศาสตร์มายาวนานในสหรัฐอเมริกา ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ไม่ใช่ของใหม่ และนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา แนวความคิดนี้ค้นพบแหล่งพักพิงในอุตสาหกรรมกองทัพครบวงจรที่ทรงอิทธิพลยิ่งยวด ซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาลหากมีการสร้างเสริมกำลังกองทัพตลอดเวลา แต่เมื่อสงครามเย็นยุติลง คำถามสำคัญก็คือ ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ จะมาจากไหน

(21) R. Hofstadter, The Paranoid Style in American Politics and Other Essays (Cambridge, Mass.: Harvard University Press, 1996, edn.).

ประเทศอิสลามหัวรุนแรงและประเทศจีนกลายเป็นทางเลือกสองทางจากภายนอกประเทศ ส่วนภายในประเทศก็มีขบวนการกบฏ (ลัทธิ Branch Davidians ที่เผาตัวตายในเมืองเวโก ขบวนการติดอาวุธที่ให้การสนับสนุนการวางระเบิดที่โอคลาโฮมา [*] การก่อจลาจลหลังจากรอดนีย์ คิงถูกตำรวจทุบตีในลอสแอนเจลิส และครั้งล่าสุดคือความวุ่นวายที่ปะทุขึ้นในซีแอตเทิลเมื่อ ค.ศ. 1999)

[*] Branch Davidian มีชื่อเต็มคือ Branch Davidian Seventh Day Adventist Church เป็นนิกายศาสนาที่ก่อตั้งขึ้นในลอสแอนเจลิส แคลิฟอร์เนีย ในช่วงทศวรรษ 1930 โดยแยกตัวมาจาก Seventh-day Adventist Church เมื่อมีสาวกเพิ่มมากขึ้น ผู้นำนิกายนี้จึงไปสร้างนิคมศาสนาบนยอดเขาห่างจากเมืองเวโก รัฐเทกซัส ไปราวเจ็ดไมล์ โดยตั้งชื่อนิคมของตัวเองว่า Branch Davidian เหตุการณ์ที่เรียกกันว่า Waco Siege หรือ Waco Massacre เกิดขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993 เมื่อกรมสรรพสามิตของสหรัฐฯ พยายามขอเข้าค้นนิคมแห่งนี้ มีการยิงตอบโต้กันจนบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย เอฟบีไอจึงเข้าล้อมนิคมแห่งนี้ไว้นานถึง 51 วัน จนกระทั่งวันที่ 19 เมษายน เกิดไฟไหม้ในนิคม ทำให้สาวกนิกายเสียชีวิต 76 คน มีเด็ก 21 คนและหญิงมีครรภ์ 2 คน รวมทั้งผู้นำนิกายด้วย.
ส่วนการวางระเบิดที่โอคลาโฮมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1995 โดยเป็นการวางระเบิดตึก Alfred P. Murrah Federal Building ทำให้มีผู้เสียชีวิต 168 คน และบาดเจ็บกว่า 800 คน (ผู้แปล)

ทั้งหมดนี้ต้องถูกควบคุมด้วยการตรวจตราสอดส่องที่เข้มข้นกว่าเดิม ในท้ายที่สุด ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจริง ๆ จากอิสลามหัวรุนแรงระหว่างช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงจุดสูงสุดในเหตุการณ์ 9/11 ก็กลายเป็นเป้าสำคัญในการประกาศ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ครั้งถาวร ทำให้จำเป็นต้องสร้างเสริมกำลังกองทัพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันให้ความมั่นคงของชาติ แน่นอน ในขณะที่มีการเรียกร้องให้ใช้การตอบโต้ทางตำรวจ/ทหารบางอย่างต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก การที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่กำลังครองอำนาจอยู่พอดี ย่อมทำให้มีการตอบโต้อย่างเต็มที่ ด้วยการหันไปหาการสร้างเสริมกำลังกองทัพทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างขนานใหญ่ แม้ว่าหลาย ๆ ฝ่ายจะเห็นว่าเหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตนก็ตามที (22)

(22) Harvey, The New Imperialism, ch. 4.

ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ซุ่มคอยมานานที่จะแสดงตัวเป็นขบวนการต่อต้านความไม่มีขอบเขตทางศีลธรรม ซึ่งลัทธิปัจเจกบุคคลนิยมมักส่งเสริม ดังนั้น ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่จึงพยายามฟื้นฟูสำนึกถึงเป้าหมายทางจริยธรรม คุณค่าที่สูงส่ง ซึ่งจะกอปรเป็นศูนย์กลางที่มั่นคงขององค์การเมือง ในแง่หนึ่ง ความเป็นไปได้ของแนวทางนี้มีเค้าลางอยู่แล้วในกรอบทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ "การตั้งคำถามต่อรากฐานทางการเมืองของโมเดลการจัดการเศรษฐกิจที่รัฐเข้าไปแทรกแซง....ก็คือการนำเอาประเด็นทางศีลธรรม ความยุติธรรมและอำนาจ กลับมาถกเถียงในวิชาเศรษฐศาสตร์อีกครั้ง แม้จะด้วยวิธีการอันแปลกประหลาดก็ตาม(23)"

(23) Chang, Globalization, 31.

สิ่งที่นักอนุรักษ์นิยมใหม่ทำก็คือ เปลี่ยน "วิธีการอันแปลกประหลาด" ในการตั้งข้อถกเถียงเหล่านี้ เป้าหมายของนักอนุรักษ์นิยมใหม่คือ ต่อต้านผลกระทบอันเหลวแหลกที่ความสับสนวุ่นวายของผลประโยชน์ปัจเจกบุคคลในลัทธิเสรีนิยมใหม่ก่อให้เกิดขึ้น แต่นักอนุรักษ์นิยมใหม่ยังคงร่วมทางไปกับวาระของเสรีนิยมใหม่ในแง่ของการสร้างหรือฟื้นฟูอำนาจชนชั้นนำ เพียงแต่สร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจนั้น รวมทั้งพยายามควบคุมสังคมด้วยการสร้างบรรยากาศของความเห็นพ้องต้องกันโดยมีคุณค่าทางศีลธรรมชุดหนึ่งเป็นแกนกลาง ปัญหาเฉพาะหน้าในที่นี้ก็คือ คุณค่าทางศีลธรรมชุดไหนควรครองความเป็นใหญ่

ยกตัวอย่างเช่น เป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะใช้คุณค่าของระบบสิทธิมนุษยชนแบบเสรีนิยม ในเมื่อเป้าหมายของการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนก็เป็นดังที่ Mary Kaldor อรรถาธิบายไว้ว่า "ไม่ใช่เพียงแค่การแทรกแซงเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่หมายถึงการสร้างชุมชนทางศีลธรรมด้วย(24)" ในสหรัฐอเมริกา แนวคิดเกี่ยวกับ "exceptionalism"(*) และประวัติศาสตร์อันยาวนานของการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง ย่อมก่อให้เกิดขบวนการทางศีลธรรมที่มีประเด็นอย่างสิทธิพลเมือง ความหิวโหยในโลกและการทำการกุศล รวมทั้งความคลั่งไคล้ในการเผยแผ่ศาสนาเป็นแกนกลาง

(24) M. Kaldor, New and Old Wars: Organized Violence in a Global Era (Cambridge: Polity, 1999), 130.

(*) Exceptionalism คือแนวคิดว่าประเทศของตนมีลักษณะเฉพาะที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ทั่วไป ประเทศที่อ้างตัวแบบนี้มีอาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนียุคนาซี อิสราเอล จีน ฯลฯ (ผู้แปล)

แต่คุณค่าทางศีลธรรมที่กลายเป็นหัวใจของนักอนุรักษ์นิยมใหม่ก็คือ ผลผลิตของความร่วมมือที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 ระหว่างชนชั้นผู้นำและกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายจะฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นตนฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่ายหนึ่งคือฐานเสียงเลือกตั้งในหมู่ "เสียงส่วนใหญ่ทางศีลธรรม" ที่เป็นชนชั้นแรงงานผิวขาวที่มีความไม่พอใจในสภาพของตนเอง คุณค่าทางศีลธรรมมีศูนย์กลางอยู่ที่ลัทธิชาตินิยมเชิงวัฒนธรรม ความยึดมั่นในหลักศีลธรรม คริสต์ศาสนา (ตามจารีตของโปรเตสแตนท์) คุณค่าของครอบครัว ต่อต้านการทำแท้ง และเป็นปฏิปักษ์ต่อขบวนการสังคมใหม่ เช่น เฟมินิสต์ สิทธิของกลุ่มรักเพศเดียวกัน การรณรงค์ด้านนโยบาย และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถึงแม้การจับมือเป็นพันธมิตรกันนี้อาจเป็นแค่กลยุทธ์อย่างหนึ่งในสมัยรัฐบาลเรแกน แต่ความปั่นป่วนภายในประเทศยุครัฐบาลคลินตันทำให้ข้อถกเถียงเกี่ยวกับคุณค่าทางศีลธรรม กลายเป็นวาระอันดับต้นในนโยบายพรรครีพับลิกันยุครัฐบาลบุชผู้ลูก ในปัจจุบัน มันกลายเป็นแกนกลางของวาระทางศีลธรรมของขบวนการอนุรักษ์นิยมใหม่ (25)

(25) Frank, What's the Matter with Kansas.

แต่คงไม่ถูกต้องหากมองว่า การหันเหไปสู่ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่นี้เป็นข้อยกเว้น หรือเกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น ถึงแม้จะมีองค์ประกอบพิเศษบางอย่างในสหรัฐฯ ที่ไม่ปรากฏที่อื่นก็ตาม ภายในสหรัฐอเมริกา การยืนยันคุณค่าทางศีลธรรมนี้ อิงอาศัยการเรียกร้องหาอุดมคติของชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ จารีตทางวัฒนธรรม และอะไรในทำนองนี้ อุดมคติแบบนี้ย่อมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา นี่ทำให้เราต้องหันกลับมาเพ่งพิจารณาแง่มุมที่ค่อนข้างมีปัญหาของลัทธิเสรีนิยมใหม่อีกครั้ง กล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาติอันชวนฉงน

โดยหลักการแล้ว ทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ไม่ได้นิยมชมชื่นใน "ชาติ" มากนัก ถึงแม้จะสนับสนุนแนวคิดว่ารัฐต้องเข้มแข็งก็ตาม การที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่จะรุ่งเรืองขึ้นมาได้ ก็ต้องตัดสายรกที่เชื่อมโยงรัฐกับชาติเข้าด้วยกันภายใต้ลัทธิเสรีนิยมที่มีการกำกับดูแลเสียก่อน นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับบางประเทศ เช่น เม็กซิโกและฝรั่งเศส ซึ่งหันมาใช้รูปแบบทุนนิยมโดยรัฐ (state corporatism) พรรคสถาบันปฏิวัติ (Partido Revolucionario Institucional-PRI) ในเม็กซิโกเคยปกครองประเทศมายาวนานด้วยคำขวัญถึงเอกภาพของรัฐและชาติ แต่แก่นกลางนั้นค่อย ๆ แตกสลายลงไปเรื่อย ๆ ถึงขนาดทำให้ประชาชาติส่วนใหญ่หันไปต่อต้านรัฐ อันเป็นผลมาจากการปฏิรูปตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ในช่วงทศวรรษ 1990

ลัทธิชาตินิยมและความสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก

แน่นอน ลัทธิชาตินิยมเป็นลักษณะสำคัญที่มีมายาวนานในระบบเศรษฐกิจโลก และคงเป็นเรื่องน่าประหลาดหากมันจะจมหายไปอย่างไร้ร่องรอยสืบเนื่องจากการปฏิรูปของเสรีนิยมใหม่ อันที่จริง ลัทธิชาตินิยมฟื้นตัวขึ้นมาระดับหนึ่งเพื่อต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ ตัวอย่างในกรณีนี้ก็คือ การเกิดพรรคการเมืองฟาสซิสต์ขวาจัดในยุโรป ที่ต่อต้านผู้อพยพต่างด้าวอย่างรุนแรง เรื่องที่ยิ่งน่าหดหู่ใจก็คือ ลัทธิชาตินิยมชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจพังทลายในอินโดนีเซีย ส่งผลให้มีการทำร้ายชาวจีนชนกลุ่มน้อยอย่างป่าเถื่อน

แต่ดังที่เราเห็นแล้วว่า รัฐเสรีนิยมใหม่จำต้องอาศัยลัทธิชาตินิยมในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเพื่อการอยู่รอด เมื่อรัฐจำต้องดำเนินการเป็นผู้แข่งขันในตลาดโลกและต้องหาทางสร้างบรรยากาศทางธุรกิจให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ รัฐต้องดึงลัทธิชาตินิยมมาใช้เพื่อให้ประสบความสำเร็จ การแข่งขันทำให้เกิดผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้ หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปในการต่อสู้ช่วงชิงระดับโลก มันอาจทำให้เกิดความภาคภูมิใจระดับชาติหรืออาการซึมระดับชาติก็ได้ ลัทธิชาตินิยมในการแข่งขันกีฬาระหว่างชาติคือสัญญาณบ่งบอกเรื่องนี้

ในประเทศจีน การเรียกร้องความรู้สึกชาตินิยมในการต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งสถานะของรัฐ (หรืออาจถึงขั้นการครองความเป็นใหญ่ของรัฐ) ในระบบเศรษฐกิจโลก เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด (เช่นเดียวกับโปรแกรมการฝึกฝนนักกีฬาอย่างเข้มข้นเพื่อการแข่งขันโอลิมปิกที่ปักกิ่ง) ความรู้สึกชาตินิยมมีแพร่ระบาดในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเช่นกัน ในทั้งสองประเทศนี้ ลัทธิชาตินิยมถือเป็นยาถอนพิษที่มาแทนที่พันธะผูกพันในสังคมแบบเดิม ๆ ซึ่งเสื่อมสลายลงเพราะลัทธิเสรีนิยมใหม่ กระแสแรงกล้าของลัทธิชาตินิยมทางวัฒนธรรมกำลังกระเพื่อมอยู่ในรัฐชาติรุ่นเก่า (เช่น ฝรั่งเศส) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสหภาพยุโรป

ลัทธิชาตินิยมทางศาสนาและวัฒนธรรม กลายเป็นอิทธิพลทางศีลธรรมเบื้องหลังความสำเร็จของพรรคชาตินิยมฮินดู ในการส่งเสริมลัทธิเสรีนิยมใหม่ในอินเดียเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเรียกร้องคุณค่าทางศีลธรรมในการปฏิวัติอิหร่าน และต่อมาก็หันไปหาระบอบอำนาจนิยม ไม่ได้นำไปสู่การละทิ้งตลาดโดยสิ้นเชิง ถึงแม้การปฏิวัตินี้มีเป้าหมายต่อต้านความเสื่อมทรามที่เกิดจากลัทธิปัจเจกบุคคลนิยมที่ไม่มีการควบคุมก็ตาม

แรงกระตุ้นอย่างเดียวกัน อยู่เบื้องหลังความรู้สึกเหนือกว่าทางศีลธรรมที่มีมายาวนานในประเทศอย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่น เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่คนในสองประเทศนี้เห็นว่าเป็นลัทธิปัจเจกบุคคลนิยมที่ "เสื่อมโทรม" และพหุวัฒนธรรมสะเปะสะปะของสหรัฐอเมริกา กรณีของสิงคโปร์อาจช่วยให้เราเห็นอะไรได้มากขึ้น สิงคโปร์ผสมผสานลัทธิเสรีนิยมใหม่ในตลาดเข้ากับอำนาจรัฐรวมศูนย์ที่ข่มขู่บังคับอย่างเข้มงวด ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องความสามัคคีทางศีลธรรมที่ตั้งอยู่บนอุดมคติชาตินิยมของรัฐเกาะที่ถูกโอบล้อม (หลังจากแยกตัวออกมาจากสหพันธรัฐมาเลเซีย) ค่านิยมแบบขงจื๊อ และล่าสุดคือจริยธรรมแบบมหานครใหญ่ (cosmopolitan) ที่มีรูปแบบสอดคล้องกับสถานะของประเทศในโลกการค้าสากล (26)

(26) Lee Kuan Yew, From Third World to First: The Singapore Story, 1965-2000 (New York: HarperCollins, 2000).

กรณีของสหราชอาณาจักรยิ่งน่าสนใจ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์อาศัยสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์/มัลวินัส และจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อยุโรป มากระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมเพื่อสนับสนุนโครงการเสรีนิยมใหม่ของตน แม้ว่าวิสัยทัศน์ของเธอจะมีแต่มโนทัศน์ของอังกฤษและนักบุญยอร์จ (นักบุญอุปถัมภ์ของอังกฤษ) มากกว่าจะเป็นมโนทัศน์ของสหราชอาณาจักร จนสร้างความไม่พอใจแก่สกอตแลนด์และเวลส์

เห็นได้ชัดว่า การที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่จูบปากกับลัทธิชาตินิยมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีอันตรายแฝงอยู่ แต่ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ที่อ้าแขนรับเป้าหมายทางศีลธรรมระดับชาติ กลับเป็นภัยที่คุกคามร้ายแรงยิ่งกว่า ภาพของรัฐหลาย ๆ ประเทศ ต่างฝ่ายต่างก็เตรียมพร้อมที่จะใช้วิธีการข่มขู่บังคับอย่างเข้มงวด ในขณะเดียวกันก็เทศนาคุณค่าทางศีลธรรมที่ทึกทักว่าไม่เหมือนใครและเหนือกว่าผู้อื่น แล้วต่างก็มาแข่งขันกันบนเวทีโลก นี่ไม่ใช่ภาพที่น่าวางใจเลย

สิ่งที่ดูเหมือนเป็นคำตอบต่อความขัดแย้งของลัทธิเสรีนิยมใหม่ อาจกลายเป็นตัวปัญหาเสียเองได้ง่าย ๆ การแผ่ขยายของกลุ่มอำนาจอนุรักษ์นิยมใหม่ ซึ่งในบางประเทศกลายเป็นลัทธิอำนาจนิยมเต็มตัว (เช่น วลาดิมีร์ ปูตินในรัสเซียและพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน) แม้จะมีรากเหง้าในการก่อตัวทางสังคมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ชี้ให้เห็นอันตรายของลัทธิชาตินิยมที่มีแนวโน้มจะแข่งขันกัน หรือกระทั่งทำสงครามระหว่างกัน

หากนี่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันก็เกิดมาจากลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่มากกว่าจะเกิดจากความแตกต่างระหว่างประเทศ เพราะความแตกต่างก็ดำรงมาทุกยุคสมัย ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะเช่นนี้ เราต้องคัดค้านการใช้ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่มาเป็นทางออกต่อปัญหาความขัดแย้งของลัทธิเสรีนิยมใหม่ อย่างไรก็ตาม นี่หมายถึงการมีสมมติฐานเบื้องต้นว่า ยังมีทางเลือกอื่นอยู่

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกกลับไปทบทวนบทความนี้ ตอนที่ ๑

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๑ : Release date10 August 2008 : Copyleft by MNU.

"การผูกขาดตามธรรมชาติ" (natural monopolies) มีปัญหาที่ยากกว่านั้น มันไม่เข้าท่าที่จะมีโรงงานผลิตระบบกระแสไฟฟ้า ท่อก๊าซ ระบบประปาและการระบายน้ำ หรือทางรถไฟเชื่อมระหว่างวอชิงตันกับบอสตันหลายๆ รายมาแข่งขันกัน ในกรณีแบบนี้ การให้รัฐเข้ามากำกับดูแลการให้บริการ การเข้าถึงและการตั้งราคา น่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้การกำกับดูแลเพียงบางส่วนอาจทำได้ (เช่น อนุญาตให้มีผู้ผลิตหลายรายแข่งขันกันป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่โครงข่ายเดียวกัน หรือมีหลายบริษัทรถไฟให้บริการบนรางเดียวกัน เป็นต้น) แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแสวงหากำไรเกินควรและการฉ้อฉลขึ้น ดังที่ปัญหาวิกฤตการณ์ไฟฟ้าแคลิฟอร์เนีย ปี ๒๐๐๒ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด หรืออาจทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายสับสน

H