ชีวิต
งาน และความคิดของนักศรษฐศาสตร์ไทย
รังสรรค์
ธนะพรพันธุ์: ความคิดด้านสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทย
รศ. ชูศรี มณีพฤกษ์ : เขียน
อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความวิชาการชิ้นนี้
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับอนุญาตจาก
Open Online ให้เผยแพร่ต่อพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวประวัติและผลงานของ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
เขียนโดย รศ.ชูศรี มณีพฤกษ์ โดยเรียงลำดับจาก
ชีวิตและผลงาน,
ความคิดตกผลึก: จากเศรษฐศาสตร์การศึกษาสู่เส้นทางเดินของสังคมเศรษฐกิจไทย,
ทุนวัฒนธรรม, พัฒนาการขั้นล่าสุดของอาจารย์รังสรรค์,
อาจารย์รังสรรค์กับหนังสือ, มาตรฐานทางวิชาการและการดำรงชีวิต
สำหรับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ กองบรรณาธิการได้นำมาแบ่งเป็น
๒ เรื่องคือ
๑. รังสรรค์
ธนะพรพันธุ์: ชีวิตและความคิดด้านการศึกษา และ
๒. รังสรรค์
ธนะพรพันธุ์: ความคิดด้านสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทย
รวมทั้งได้ทำหัวข้อย่อยเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบสารานุกรม
สำหรับการค้นคว้าของนักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป
(midnightuniv(at)gmail.com)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๐๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๗ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๙.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ศาสตราจารย์รังสรรค์
ธนะพรพันธุ์ : คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ภาพประกอบนี้ นำมาจากเว็บไซต์ Open online
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์:
ความคิดด้านสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทย
รศ. ชูศรี มณีพฤกษ์
อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล และการวิเคราะห์ลักษณะและปัญหาของระบบเศรษฐกิจไทยอย่างลึกซึ้ง
และต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ทำให้อาจารย์รังสรรค์สามารถเห็นพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจไทยอย่างแจ่มชัด
และด้วยความแม่นยำในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค ทำให้อาจารย์สามารถนำเครื่องมือของเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิคมาใช้วิเคราะห์ลักษณะที่เคยเป็น
เป็นอยู่ และที่จะเป็นของระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างน่าชื่นชม ถือได้ว่าอาจารย์รังสรรค์ได้นำเสนอวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
อีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือไปจากวิธีการศึกษาที่มีอยู่เดิม ด้วยวิธีการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง
อาจารย์รังสรรค์ได้ผลิตผลงานที่มีคุณภาพหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย : บทวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมือง พ.ศ.2475 - 2530 (2532) สังคมเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2550 : ยุทธศาสตร์การพัฒนาในกระแสโลกานุวัตร (2538) รวมทั้งหนังสือรวมบทความต่างๆ ที่อาจารย์เขียนในฐานะคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ และนิตยสารอีกมากมายหลายฉบับ อาทิ เช่น หนังสือชุด อนิจลักษณะ 3 เล่ม (2536 - 38) สังคมเศรษฐกิจโลก: โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลง (2540) ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศกับสังคมการค้า (2540) วิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจการเงินไทย (2541) เป็นต้น
กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ:
บทวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมือง พ.ศ.2475 - 2530
ในหนังสือ กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ: บทวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมือง พ.ศ.2475
- 2530 อาจารย์รังสรรค์ได้นำเสนอ 'โมเดล' กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทยที่มีความชัดเจนและน่าประทับใจ
เนื่องจากเป็นโมเดลที่ต้องใช้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปหลายปี ต้องศึกษาระบบเศรษฐกิจไทยแบบองค์รวม
โดยคำนึงถึงปัจจัยทั้งหลายทั้งที่เป็นปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ และมิใช่เศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย
และนอกจากนั้นยังต้องศึกษาเศรษฐกิจไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจการเมืองของโลกด้วย
ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าอาจารย์รังสรรค์จะต้องใช้เวลา และความอุตสาหะวิริยะเพียงใดกว่าจะได้มาซึ่งผลงานเช่นนี้
ตัวละครที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ
ในตลาดนโยบายเศรษฐกิจ อาจารย์ได้นำเสนอตัวละครสำคัญ ๆ หลายตัวที่มีบทบาทโดดเด่นในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างส่วนบนของระบบเศรษฐกิจ ดังเช่นระบอบการเมืองการปกครอง จารีตประเพณี
หรือความสัมพันธ์ในสังคม อุปทานของนโยบาย ดังเช่น ขุนนางนักวิชาการ พรรคการเมือง
หรือชนชั้นนำทางอำนาจ อุปสงค์ของนโยบาย เช่น ประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
สื่อมวลชน หรือนักเศรษฐศาสตร์ และตัวละครตัวสุดท้ายคือระบบทุนนิยมโลก
แต่ละยุคสมัยตัวละครเหล่านี้จะมีบทบาทแตกต่างกันไป ในช่วง 2475 - 2516 เป็นช่วงเผด็จการ ดังนั้นปัจจัยด้านอุปทานจึงมีบทบาทสูง ในขณะที่ประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ไม่มีส่วนร่วม, หลัง 2516 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ก็ยังมีความไม่เสมอภาคในระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ กลุ่มนายทุนพ่อค้าสามารถสร้างพลังผลักดันต่อรองกับรัฐบาลได้ ในขณะที่กลุ่มเกษตรกรไม่สามารถผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มตนได้ แต่กระนั้นกลุ่มขุนนาง ชนชั้นนำทางอำนาจ และนักวิชาการ ยังคงมีบทบาทอยู่ แต่มีแนวโน้มว่า กลุ่มทุนจะมีบทบาทมากขึ้น
นับแต่ปี 2531 เป็นต้นมา เริ่มก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง มีการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างประชาชน ข้าราชการ และนักเลือกตั้ง แม้จะมีแนวโน้มว่านักเลือกตั้งจะเป็นฝ่ายชนะ องค์กรระหว่างประเทศ, มหาอำนาจ, และบรรษัทข้ามชาติ, ยังมีบทบาทอยู่ในการกดดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่บริษัทตน ภาคประชาชนก็เข้มแข็งขึ้น โดยผ่านการสนับสนุนขององค์กรพัฒนาของเอกชน (Non-Government Organization) ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
อาจารย์รังสรรค์เห็นว่า ความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ยังคงเป็นความสัมพันธ์พื้นฐานที่ร้อยรัดกลุ่มคนในสังคมไทยเข้าด้วยกัน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและดำรงไว้ซึ่งอำนาจ ชนชั้นปกครองจักต้องสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางทหาร, พลังประชาธิปไตย, ชนชั้นนำทางอำนาจนอกระบบราชการ, ผู้นำท้องถิ่น, หรือมวลชน, และเมื่อแบบแผนความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมมีผลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และการแบ่งปันค่าเช่าทางเศรษฐกิจ
ทุนนิยมโลกยังคงมีอิทธิพลต่อกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทยให้เป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรี และดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเปิด ในความเห็นของอาจารย์รังสรรค์ จนกระทั่งปี 2531 พลังอำมาตยาธิปไตยยังคงครอบงำกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย และเริ่มสูญเสียบทบาทนี้ให้แก่นักเลือกตั้งที่มาจากกลุ่มทุนในปี 2540
สังคมเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ
2550
ด้วยความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งทางวิชาการที่ได้สั่งสมมาหลายทศวรรษ อาจารย์รังสรรค์กล้าพอที่จะตั้งตนเป็นโหรเศรษฐกิจ
ทำนายการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยในอนาคต และทำนายพัฒนาการ 'ขั้นล่าสุด' ของระบบทุนนิยมโลก
อาจารย์รังสรรค์กล่าวว่า จุดประสงค์ของหนังสือ "สังคมเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2550" คือต้องการชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจไทยที่เป็นมา ที่เป็นอยู่ และที่จะเป็นไป, สมมติฐานในการวิเคราะห์ของอาจารย์ คือ
- พลวัตการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจไทย ไม่สามารถแยกต่างหากจากการศึกษาพลวัตการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และ
- การศึกษาพลวัตการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจไทย มิอาจแยกพลวัตทางเศรษฐกิจออกจากพลวัตทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม
ข้อสรุปของการวิเคราะห์บนสมมติฐานดังกล่าว ก็คือ คำอธิบายว่า เหตุใดการปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก และในบางกรณีเป็นไปไม่ได้เลยในสังคมไทย อาจารย์รังสรรค์ใช้กรอบการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจไทยผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง ภายใต้ความสัมพันธ์ทางการผลิตในรูปแบบต่างๆ
วัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์
และทุนนิยมอภิสิทธิ์
ข้อสรุปของอาจารย์รังสรรค์ก็คือ พัฒนาการของวัฒนธรรมของสังคมไทยในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา
เป็นการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรม อำนาจนิยม ซึ่งยึดหลัก 'อำนาจเป็นธรรม' กับวัฒนธรรมประชาธิปไตย
ซึ่งมาตรฐานความชอบธรรมถูกกำหนดด้วยเหตุผลข้อเท็จจริง มิใช่ถูกกำหนดโดยอำนาจ
วัฒนธรรมทั้งสองมิได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ หากดำรงอยู่ในสังคมที่มีระบบความสัมพันธ์ทางการผลิต
ซึ่งไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีผลต่อวัฒนธรรมทางการเมือง
และสังคมด้วย
เส้นทางเดินของสังคมเศรษฐกิจไทยที่อาจารย์ชี้ให้เห็นก็คือ ในสังคมไทยแต่โบราณ ความสัมพันธ์ทางการผลิต เป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ระหว่างบุคคลซึ่งมีฐานะต่างกัน วัฒนธรรมที่ครอบงำสังคมไทยจึงเป็นวัฒนธรรมอำนาจนิยม ซึ่งเข้ากันได้ดีกับระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ จนตกผลึกกลายเป็น วัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นการนำวัฒนธรรมประชาธิปไตยเข้ามาสู่สังคมไทย หากแต่กลายเป็นวัฒนธรรมแปลกปลอมสำหรับสังคมไทย และไม่สามารถผสมกลมกลืนกับความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ได้ กลับกลายเป็น วัฒนธรรมประชาธิปไตยอุปถัมภ์ ทำให้ผู้ต้องการมีอำนาจในสังคมต้องสร้างสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ทั้งในระดับบน และในระดับล่าง และในขณะเดียวกันก็ต้องแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ เพื่อมาหล่อเลี้ยงสายสัมพันธ์ดังกล่าว
การเติบโตของทุนนิยมที่ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมอำนาจนิยม เช่นสังคมไทยก่อให้เกิดระบบทุนนิยมอภิสิทธิ์ กลุ่มทุนที่จะเติบโตได้ ต้องเข้าไปอยู่ในสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับผู้ทรงอำนาจทางการเมือง
ดังนั้น วัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์ กำลังเปลี่ยนไปสู่วัฒนธรรมทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย โดยมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยอุปถัมภ์ และวัฒนธรรมทุนนิยมอภิสิทธิ์ เป็นวัฒนธรรมในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน โดยยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านจักใช้เวลานานเท่าใด
การปะทะกันของอำนาจนิยมอุปถัมภ์
กับ ทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น อาจารย์รังสรรค์ให้อรรถาธิบายโดยศึกษาการต่อสู้ระหว่าง
"วัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์" และ"วัฒนธรรมทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย"
ผ่านพฤติกรรมของชนชั้นนำทางอำนาจ, ภาครัฐ, ภาคธุรกิจ, ภาคราชการ, และภาคประชาชน
- ชนชั้นนำทางการเมืองยังคงมาจากระบบราชการ ซึ่งถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์ ส่วนชนชั้นปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง ก็มิได้มีความเลื่อมใสในวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ยังแสวงหาผลประโยชน์จากวัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์ต่อไป
- ส่วนบทบาทของภาครัฐจะมีมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองผู้ยึดกุมอำนาจรัฐ ถ้าการขยายบทบาทและขนาดของภาครัฐนำมาซึ่งผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ขนาดของรัฐก็จะใหญ่ขึ้น ดังนั้นขนาดของรัฐจึงมิได้ขึ้นอยู่กับตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ แต่ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจเป็นสำคัญ- ภาคธุรกิจซึ่งดูเหมือนจะเป็นภาคที่นิยมระบบทุนนิยมเสรี และน่าจะมีบทบาทในการเรียกร้องให้มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย แต่ผลสุดท้ายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยชี้ขาดพฤติกรรมของกลุ่มทุน ซึ่งพร้อมที่จะเข้าข้างกลุ่มพลังที่เอื้อผลประโยชน์แก่กลุ่มตน ไม่ว่าจะเป็นพลังประชาธิปไตย หรือพลังอำนาจนิยม
- ระบบราชการยังคงถูกครอบงำโดยวัฒนธรรม อำนาจนิยมอุปถัมภ์ ซึ่งทำให้กระบวนการกำหนดนโยบายมีลักษณะเป็นการสั่งการจากเบื้องบน
- ส่วนภาคประชาชนก็ถูกบีบบังคับโดยวัฒนธรรมประชาธิปไตย การดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเปิด และการแพร่ขยายของระบบทุนนิยมโลก ให้ต้องสร้างสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ใหม่กับนักการเมือง และสร้างสายสัมพันธ์กับทุนนิยมโลกโดยผ่านพ่อค้าคนกลาง และนายทุนท้องถิ่น เพื่อป้องกันตนเองจากความผันผวนทางเศรษฐกิจในสังคมเศรษฐกิจโลก
โดยใช้กรอบการวิเคราะห์ข้างต้น อาจารย์รังสรรค์ยังให้คำทำนายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาในอนาคตของไทยว่า กระแสโลกานุวัตรทำให้สังคมไทยเลือกยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบทุนนิยม ที่ยึดยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเปิด แต่การดำเนินยุทธศาสตร์โลกานุวัตรพัฒนาดังกล่าว โดยไม่มีการเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมือง และระบบราชการแบบรวมศูนย์ จะก่อให้เกิดปัญหาแก่ภาคประชาชนอย่างลึกล้ำ การร่วมมือกันระหว่างชนชั้นนำทางอำนาจกับภาคธุรกิจ ในการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจทำให้ประชาชนแปลกแยกจากภาครัฐ และธุรกิจมากยิ่งขึ้น และมีผลผลักดันให้เกิดยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
โลกานุวัตน์พัฒนา - ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ยุทธศาสตร์การพัฒนาในอนาคตจะเป็นเช่นไร ดูเหมือนอาจารย์รังสรรค์จะเสนอยุทธศาสตร์ทางเลือกสำหรับอนาคตว่า
ควรจะเป็นแนวทางสายกลาง คือเป็นแนวทางประนีประนอมระหว่าง "ยุทธศาสตร์โลกานุวัตรพัฒนา"
กับ "ยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา" ซึ่งยึดหลักการพัฒนาแบบยั่งยืน
แสวงหาผลประโยชน์จากกระแสโลกานุวัตรโดยมีการจำกัดขอบเขต พร้อมกับเสนอยุทธศาสตร์และยุทธวิธีสำหรับแนวทางการพัฒนาสายกลาง
'ทุนวัฒนธรรม' พัฒนาการขั้นล่าสุดของอาจารย์รังสรรค์
แนวคิดของอาจารย์รังสรรค์ว่าด้วยทุนวัฒนธรรม (Cultural Capital) เริ่มเกิดขึ้นในปี
2536 โดยอาจารย์เชื่อว่ากลุ่มทุนวัฒนธรรมเป็นกลุ่มที่กำลังถีบตัวขึ้นมามีความสำคัญในสังคมโลกปัจจุบัน
สาระสำคัญของแนวคิดทุนวัฒนธรรมของอาจารย์ปรากฏอยู่ในปาฐกถาไชย้ง ลิ้มทองกุล เรื่อง
ทุนวัฒนธรรม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2539 นวัตกรรมทางความคิดนี้เติบโตจากการเฝ้าสังเกตพัฒนาการของทุนนิยมโลก
ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงจารีตประเพณี วิถีชีวิตและวิธีคิดของผู้คนในสังคม
ทุนวัฒนธรรม หมายถึงทุนที่ใช้ไปในการผลิตสินค้าและบริการที่มีนัยทางวัฒนธรรม สินค้าบริการใดที่มีวัฒนธรรมฝังตัวอยู่ สินค้าและบริการเหล่านั้นคือสินค้าวัฒนธรรม (Cultural Products) สินค้าและบริการแต่ละประเภทจะมีนัยทางวัฒนธรรมในระดับและความเข้มข้นต่างกัน ดังเช่นบะหมี่สดย่อมมีนัยทางวัฒนธรรมแตกต่างจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ทุนวัฒนธรรมกำลังเป็นทุนหลักในสังคมเศรษฐกิจโลก นี่เป็นความเชื่อของอาจารย์รังสรรค์ เนื่องจากอาจารย์เชื่อว่า ทุนบริการกำลังจะเข้ามาแทนที่ทุนอุตสาหกรรม แต่ในขณะที่ทุนบริการยังไม่เติบโตเต็มที่ ทุนวัฒนธรรมเป็นทุนหลัก ทุนวัฒนธรรมได้หยั่งรากแล้ว ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ อุตสาหกรรมสินค้าวัฒนธรรมขยายตัวอย่างกว้างขวาง
สินค้าวัฒนธรรมจำนวนมหาศาลได้ถูกผลิตและกระจายไปทั่วโลก โดยผ่านกระบวนการสากลานุวัตรของวัฒนธรรมชาติมหาอำนาจ ซึ่งเติบโตพร้อมๆ กับระบบจักรวรรดินิยม กระแสโลกานุวัตร กระบวนการโทรทัศนานุวัตรได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมของมนุษย์ทั้งในครัวเรือน สถานที่ทำงาน ชุมชน และบ้านเมือง ปรากฏการณ์น้องเอมี่ย่อมเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อของอาจารย์รังสรรค์อย่างไม่มีข้อกังขา
แนวคิด ข้อเสนอ ของอาจารย์รังสรรค์ แม้จะมิได้ถูกนำมาพิจารณาในกระบวนการกำหนดกฎหมาย หรือนโยบายเศรษฐกิจ แต่น่าสังเกตเช่นกันว่า น้อยครั้งที่ความคิดข้อเสนอของอาจารย์จะถูกตอบโต้หักล้างจากนักวิชาการสำนักอื่น และจากผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย อาจจะเป็นด้วยความเพิกเฉยไม่สนใจ ไม่เห็นด้วย แต่หาข้อโต้แย้งไม่ได้ หรือด้วยความไม่เข้าใจก็ตาม แต่ข่าวสาร ข้อคิดทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นยิ่งจากผู้ที่สนใจความเป็นไปในบ้านเมือง และปัญญาชนผู้มีจริยธรรมในหัวใจ และอาจารย์รังสรรค์ย่อมสามารถภูมิใจได้ว่า ภารกิจที่อาจารย์ได้กระทำไปนั้นประสบความสำเร็จดั่งที่ตั้งใจไว้
"การเผยแพร่บทวิเคราะห์ อรรถาธิบาย สารสนเทศ และความคิดต่อสาธารณชน ทั้งในประเด็นปัญหา และปรากฏการณ์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เป็นภารกิจที่ผู้เขียนถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง นับแต่ปี 2515 เป็นต้นมา "
(จากคำนำในหนังสือทุนวัฒนธรรม)
อาจารย์รังสรรค์กับหนังสือ
การเป็นนักวิชาการที่มีผลงานโดดเด่น เช่น ศาสตราจารย์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ย่อมมิใช่มาจากความอุตสาหะวิริยะในการศึกษา
ค้นคว้าข้อมูล การทำความเข้าใจกับทฤษฎีอย่างแตกฉาน และการนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมเท่านั้น
แต่ย่อมต้องประกอบด้วยความสามารถในการนำเสนอ เผยแพร่ผลการศึกษาต่อสาธารณชนด้วย
อาจารย์รังสรรค์มีคุณสมบัติทั้งสองประการนี้ ซึ่งได้มาจากการเป็นคนรักการอ่าน
จดจำในสิ่งที่อ่านได้อย่างแม่นยำ และขยันเขียน
อาจารย์รังสรรค์เป็นหนอนหนังสือตัวอ้วนอย่างไม่ต้องสงสัย อาจารย์ชอบอ่านหนังสือทุกประเภท อาจารย์มิใช่เป็นนักวิชาการที่ชมชอบเฉพาะการอ่านหนังสือวิชาการเท่านั้น อาจารย์อ่านทั้งสารคดี เรื่องสั้น นวนิยายรักชีวิตรันทด อาจารย์รู้จัก ก.สุรางคณาง, ว. ณ ประมวญมารค, คึกฤทธิ์ ปราโมช, อาจารย์อ่านหนังสือของศรีบูรพาทุกเล่ม ตั้งแต่นวนิยายประโลมโลกย์ จนถึงนวนิยายเพื่อชีวิต และชื่นชมเรื่องสั้นของ อิศรา อมันตกุล
เมื่อไปอยู่เคมบริดจ์ ก็อ่านหนังสือนวนิยายควบคู่กับการอ่านตำราภาษาอังกฤษ และเพราะอาจารย์เป็นผู้รักการอ่าน อาจารย์จึงชอบซื้อและสะสมหนังสือ กล่าวกันว่าสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับอาจารย์เป็นอันดับสองรองจากครอบครัว คือ หนังสือ
อาจารย์รังสรรค์ก็ชอบอ่านบทวิจารณ์หนังสือ พอๆ กับอ่านหนังสือ หรืออาจจะอ่านมากกว่าตัวหนังสือ เพราะเหตุว่า การอ่านบทวิจารณ์เป็นทางลัดไปสู่เนื้อหาของหนังสือได้ดี สามารถรับรู้การเคลื่อนไหวทางวิชาการ และยังช่วยตัดสินใจในการซื้อหนังสือโดยเฉพาะหนังสือที่อาจารย์ยังไม่คุ้นเคยกับผู้เขียน
อาจารย์รังสรรค์เป็นผู้มีความสามารถสูงในการใช้ภาษา ข้อเขียนของอาจารย์ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจแจ่มแจ้งในเนื้อหาสาระที่นำเสนอ แต่ยังได้เรียนรู้การใช้ภาษาที่สวยงาม มีความคมชัด และ 'หนัก' ได้รู้จักศัพท์ใหม่ที่อาจารย์ได้ประดิษฐ์ขึ้น ดังเช่น อำมาตยาธิปไตย, ยียาธิปไตย, องค์กรโลกบาล, ฉันทมติ, สัตว์เศรษฐกิจ เป็นต้น สำนวนการเขียนของอาจารย์ยังเป็นที่ชื่นชมและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย
เมื่อความสามารถและความเจนจัดในการใช้ภาษาของอาจารย์เป็นที่รับรู้ อาจารย์จึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลงานเขียน คือ การเป็นบรรณาธิการ อาจารย์รังสรรค์เล่าว่า อาจารย์เป็นบรรณาธิการอาชีพ ตั้งแต่ปี 2506 เริ่มตั้งแต่การทำหนังสือเมื่อเรียนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ, เป็นคณะบรรณาธิการ และบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา, เป็นบรรณาธิการ วารสารธรรมศาสตร์ และ วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, อาจารย์ชอบหน้าที่บรรณาธิการ เพราะทำให้ได้มีโอกาสได้อ่านบทความต่าง ๆ ที่ส่งเข้ามาเพื่อตีพิมพ์ ทั้งยังได้ฝึกปรือภาษาไปพร้อมๆ กัน
อาจารย์รังสรรค์ได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นคอลัมนิสต์ของวารสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์, นิตยสารจตุรัส, หนังสือพิมพ์มติชน, ประชาชาติธุรกิจ, ฐานเศรษฐกิจ, ผู้จัดการรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน, Financial Day และ Corporate Thailand สำหรับอาจารย์แล้ว การประกอบภารกิจในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ประเภทสิ่งพิมพ์ เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่านักเศรษฐศาสตร์วิชาการ และการทำหน้าที่ Journalistic Economist มิได้เป็นอุปสรรค ในทางตรงข้ามกับเกื้อกูลการทำหน้าที่ Academic Economist ด้วยซ้ำ
อาจารย์รังสรรค์สารภาพว่า การเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้กับหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน เป็นงานที่ยากยิ่ง เพราะอาจารย์จะต้องเขียนบทความวิเคราะห์พฤติกรรม ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งวิพากษ์ วิจารณ์ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทุกสัปดาห์ ทำให้อาจารย์ต้องติดตามข่าวสารเศรษฐกิจการเมืองอย่างใกล้ชิด ต้องสะสมข้อมูลมหาศาลสำหรับบทความแต่ละชิ้น และด้วยเหตุที่อาจารย์เป็นผู้มีความพิถีพิถันในเรื่องข้อมูล จึงต้องใช้เวลามากสำหรับการจัดการกับข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อเขียนที่มีความถูกต้องสมบูรณ์ทั้งในด้านวิชาการและภาษา จึงไม่น่าประหลาดแต่อย่างไรที่มีผู้อ่านจำนวนมากติดตามอ่านคอลัมน์จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง ในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน ทุกวันพฤหัสบดี
จากการเป็นผู้รักการอ่าน เป็นนักเขียน และควบคุมงานเขียน อาจารย์รังสรรค์ได้มีบทบาทสำคัญในการทำหนังสือ สร้างตำรา. ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้เล่าและกล่าวถึงความเป็นมาของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และบทบาทของอาจารย์ในฐานะผู้กอบกู้สถานะของมูลนิธิโครงการตำราฯ หลังจากถูกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ลดทอนบทบาทลงจนเกือบกลายเป็น 'ส่วนเกินของยุคสมัย' ว่า:
อาจารย์รังสรรค์ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการมูลนิธิคนแรกในเดือนตุลาคม 2521 อาจารย์รังสรรค์ได้จัดระเบียบสำนักงาน และเอกสาร ทำแผนงานของมูลนิธิโครงการตำราฯ เสนอต่อที่ประชุมกรรมการบริหาร อาจารย์มีข้อเสนอที่น่าสนใจเกี่ยวกับทิศทางใหม่ของมูลนิธิ เช่น ส่งเสริมการผลิตตำราที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเมืองไทย รวมถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งเสริมเกื้อกูลบทบาทของนักวิชาการรุ่นหนุ่มสาว เพื่อสืบทอดภารกิจทางวิชาการติดต่อมิให้ขาดสาย
กล่าวกันว่าความพยายามที่จะรื้อฟื้นกอบกู้มูลนิธิให้ดำรงไว้ต่อไป ก็ด้วยเยื่อใยที่มีต่อศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา. มูลนิธิโครงการตำราฯ ยังคงทำหน้าที่ส่งเสริมการสร้างตำราทางสังคมศาสตร์ที่มีคุณภาพ สร้างความก้าวหน้าทางวิชาการให้กับสังคมไทย สืบทอดเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งจวบจนทุกวันนี้
มาตรฐานทางวิชาการและการดำรงชีวิต
กล่าวกันว่า คุณค่าของคนอยู่ที่ผลงาน หากเป็นเช่นนั้นคุณค่าของอาจารย์รังสรรค์ก็คงจะประเมินมิได้
อาจารย์รังสรรค์เป็นนักวิชาการที่ไม่เคยหยุดสร้างผลงานทางวิชาการ เป็นผลงานที่มีความสมบูรณ์
มีความลุ่มลึกและก้าวหน้าทันเหตุการณ์อยู่เสมอ อาจารย์เป็นนักวางแผนที่ดี แผนงานที่เสนอมาจากการทำงานอย่างทุ่มเท
การใช้ข้อมูลมากมาย การทำงานอย่างเป็นระบบ ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ แต่สำหรับเพื่อนผู้ใกล้ชิดหลายคน
รวมทั้งบางท่านที่เคยร่วมงานกันมานาน คุณค่าของอาจารย์รังสรรค์มิได้อยู่ที่ความเป็นนักวิชาการยิ่งใหญ่ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย
หากแต่อยู่ที่จริยธรรม มโนธรรม และวัตรปฎิบัติของอาจารย์
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน กล่าวว่า อาจารย์รังสรรค์ มีความเข้มแข็งและมั่นคงทางวิชาการ จริยธรรม รักความถูกต้อง และความเป็นธรรม มีความกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าในบางครั้งจะใช้ถ้อยคำที่ดูแข็งกร้าว และหนักหน่วง เป็นลูกศิษย์ที่ถ่ายทอดและทำหน้าที่หลายอย่างจากท่านอาจารย์ป๋วย แต่ต่างกันที่ลีลา บารมี และอารมณ์ขัน
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ได้ร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยมูลนิธิโครงการตำรา จวบจนมาร่วมทีมบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยกัน คบหาสมาคม ชื่นชมกันและกันก็เพราะอาจารย์รังสรรค์เป็นคนขยันทำงาน ทำงานเป็นระบบ มีความสนใจเหตุการณ์บ้านเมือง สิ่งแวดล้อมเหมือนกัน คนที่รักและนับถือก็เป็นคนคนเดียวกัน หรือกลุ่มเดียวกัน ที่สำคัญคืออาจารย์รังสรรค์เป็นคนที่ 'กินอยู่' ง่าย ๆ อาจจะชวนไปกินข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ข้างถนน หรือในตลาดเก่าๆ ได้โดยไม่มีปัญหา
ศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา มีความเห็นว่า การที่อาจารย์รังสรรค์เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการโดยสนิทใจ มิใช่เพราะอาจารย์รังสรรค์มีความเข้มแข็งทางวิชาการอย่างเดียว แต่เพราะอาจารย์มีอุดมการณ์ ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ มีชีวิตแบบสมถะ ไม่แสวงหาไม่ว่าจะเป็นอำนาจวาสนาหรือเงินตรา
ศาสตราจารย์อัมมาร เชื่อว่าอาจารย์รังสรรค์น่าจะต้องมีอิทธิพลต่อมาตรฐานทางวิชาการ และการดำรงชีวิตของนักวิชาการรุ่นเดียวกับอาจารย์และรุ่นหลังๆ การใช้ชีวิตของอาจารย์รังสรรค์สมควรจะถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัดมาตรฐานทางวิชาการ และจริยธรรมของนักวิชาการโดยปริยาย (implicit) ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ศาสตราจารย์อัมมารถือว่าอาจารย์รังสรรค์เป็นมโนธรรม (Conscious) ของคณะ แม้ว่าอาจารย์รังสรรค์จะมิได้สร้างวัฒนธรรมให้กับองค์กร เพราะการไม่ยอมรับงานบริหาร แต่การรับรู้มโนธรรมเช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะกับบุคคลที่มีความละอายต่อการกระทำบาปเท่านั้น
นอกจาก 'จริต' ส่วนตัวของอาจารย์รังสรรค์ จะทำให้อาจารย์เป็นอย่างที่เป็นอยู่ ยังมีบุคคลอีกสองสามคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและชีวิตของอาจารย์คือ
- แม่ ซึ่งยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต และส่งเสริมให้ลูกทุกคนได้รับการศึกษา
- อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้เป็นต้นแบบของวัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์ วิจารณ์ และ
- ศาสตราจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ผู้มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ความกล้าหาญทางจริยธรรม และดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย
ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นในด้านวิชาการ จริยธรรม ความกล้าหาญในการวิพากษ์วิจารณ์ ความพยายามที่จะรักษาพรหมจรรย์แห่งการเป็นนักวิชาการอย่างเหนียวแน่น มั่นคง อาจารย์รังสรรค์จึงเป็นที่ยอมรับนับถือของนักวิชาการปัญญาชนผู้ฝักใฝ่ในการแสวงหาความรู้ และความเป็นธรรมในบ้านเมือง
เพื่อนฝูง และลูกศิษย์จำนวนไม่น้อยมีความเลื่อมใส เชื่อมั่นและศรัทธา พร้อมที่จะเชื่อและยึดอาจารย์เป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิถีการทำงานของอาจารย์
ฉะนั้น อาจารย์รังสรรค์จึงเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว, ของโรงเรียนวัดบวรนิเวศ, ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์, และของศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
อ่านต่อเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
ผลงานวิชาการของ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
- การเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรีภายใต้ Thaksinomics
- จินตภาพอุดมศึกษา ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป
- จากองครักษ์พิทักษ์นาย ถึง Cyber Soldiers
- ฉันทามติรัตนโกสินทร์ในยุคโลกาภิวัตน์
- เดอ โซโต และสปาเกตตีโบลเอฟเฟคท
- ทักษิโณมิกส์ เศรษฐศาสตร์แบบทักษิณ
- นักการเมืองควรเป็นสินทรัพย์ของพรรคการเมืองหรือไม่?
- นักการเมืองในฐานะสินค้า และประชานิยมโลกและไทย
- ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจกรณีสงครามระหว่างสหรัฐกับอิรัค
- ภาษาสงครามอิรัก(A Lexicon of the Iraq Conflict)
- ว่าด้วยธุรกิจ Dot.Com บนไซเบอร์สเปซ
- Mc Journalism ภายใต้ระบบทักษิณาธิปไตย
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
ในตลาดนโยบายเศรษฐกิจ อาจารย์ได้นำเสนอตัวละครสำคัญ ๆ หลายตัวที่มีบทบาทโดดเด่นในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างส่วนบนของระบบเศรษฐกิจ ดังเช่นระบอบการเมืองการปกครอง จารีตประเพณี หรือความสัมพันธ์ในสังคม อุปทานของนโยบาย ดังเช่น ขุนนางนักวิชาการ พรรคการเมือง หรือชนชั้นนำทางอำนาจ อุปสงค์ของนโยบาย เช่น ประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สื่อมวลชน หรือนักเศรษฐศาสตร์ และตัวละครตัวสุดท้ายคือระบบทุนนิยมโลก (คัดมาบางส่วนจากบทความ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์)