โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 6 April 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๐๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 06,04,.2007)
R

ชีวิต งาน และความคิดของนักศรษฐศาสตร์ไทย
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์: ชีวิต งาน และความคิดด้านการศึกษา
รศ. ชูศรี มณีพฤกษ์ : เขียน

อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับอนุญาตจาก
Open Online ให้เผยแพร่ต่อพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวประวัติและผลงานของ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
เขียนโดย รศ.ชูศรี มณีพฤกษ์ โดยเรียงลำดับจาก
ชีวิตและผลงาน,
ความคิดตกผลึก: จากเศรษฐศาสตร์การศึกษาสู่เส้นทางเดินของสังคมเศรษฐกิจไทย,
ทุนวัฒนธรรม, พัฒนาการขั้นล่าสุดของอาจารย์รังสรรค์,
อาจารย์รังสรรค์กับหนังสือ, มาตรฐานทางวิชาการและการดำรงชีวิต
สำหรับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ กองบรรณาธิการได้นำมาแบ่งเป็น ๒ เรื่องคือ
๑. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์: ชีวิตและความคิดด้านการศึกษา และ
๒. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์: ความคิดด้านสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทย
รวมทั้งได้ทำหัวข้อย่อยเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบสารานุกรม
สำหรับการค้นคว้าของนักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๐๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ : คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ภาพประกอบนี้ นำมาจากเว็บไซต์ Open online

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์: ชีวิต งาน และความคิดด้านการศึกษา
รศ. ชูศรี มณีพฤกษ์
อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความนำจาก Open online
เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2550 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 10 ขึ้น โดยมีศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ 'จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม'
ในส่วนต้นของหนังสือที่ระลึก มีบทความแนะนำองค์ปาฐก ซึ่งเขียนโดย รศ. ชูศรี มณีพฤกษ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กัลยาณมิตรคนสำคัญของอาจารย์รังสรรค์

open online เห็นว่ามีความน่าสนใจ เพราะเป็นความเรียงบอกเล่าประวัติและเกร็ดชีวิตของอาจารย์รังสรรค์ ที่ไม่เคยทราบกันมาก่อน จึงขอนำมาเผยแพร่ให้อ่านกันอีกครั้งหนึ่ง
[ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือที่ระลึกในงานปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 10 ซึ่งมีบทความของศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เรื่อง 'จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม' ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่ เว็บไซต์สัมมนาของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาศาสตร์]

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์: ชีวิตและความคิดด้านการศึกษา
ชีวิตและงาน
อาจารย์รังสรรค์ มีความคุ้นเคยกับธรรมศาสตร์และสนามหลวงมาแต่เยาว์วัย ด้วยว่ามีบ้านอยู่ท่าช้างวังหลัง ชีวิตในวัยเด็กก็วนเวียนอยู่แถววัดระฆังโฆสิตาราม วัดมหาธาตุ เมื่อเข้าเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ, ธรรมศาสตร์และสนามหลวงจึงอยู่ในเส้นทางเดินระหว่างบ้านกับโรงเรียน บางครั้งอาจารย์ใช้เวลาในยามเย็นแวะฟังไฮด์ปาร์คที่สนามหลวงก่อนที่จะกลับบ้าน ซึ่งนับเป็นบันไดขั้นแรกของการทำความรู้จักกับสังคมการเมืองของอาจารย์

โรงเรียนวัดบวรนิเวศ
โรงเรียนวัดบวรนิเวศ แม้จะมิใช่เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย แต่อาจารย์กล่าวว่า อาจารย์มีความภูมิใจที่ได้เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และถือว่าตัวเองเป็นศิษย์วัด เพราะเคยอาศัยข้าวก้นบาตรประทังชีวิต และได้กลับไปเยี่ยมโรงเรียนเก่าเป็นครั้งคราว ทุกครั้งที่กลับไปอาจารย์รังสรรค์ต้องแวะไปดูโบสถ์วัดรังสีสุทธาวาส ซึ่งปัจจุบันถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของวัดบวรนิเวศ เนื่องด้วยโบสถ์วัดรังสีสุทธาวาสมิใช่เป็นเพียงที่เรียนหนังสือของอาจารย์เท่านั้น แต่เป็นสถานที่จัดตั้งชมรมปริทัศน์เสวนา ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการหล่อหลอมความคิด และเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับปัญญาชนคนหนุ่มสาวทั้งหลาย

ที่โรงเรียนบวรนิเวศ อาจารย์รังสรรค์มีเพื่อนสนิทหลายคนที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน บางคนเป็นเพื่อนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลอาจารย์ให้สอบผ่านวิชาที่ไม่ถนัด เช่น วิชาว่ายน้ำ บางคนเป็นคู่แข่งในด้านการเรียนชนิดหายใจรดต้นคอกันมา ในปัจจุบันหลายคนเป็นผู้มีชื่อเสียง ดำรงตำแหน่งสำคัญในวงราชการ และในกองทัพไทย

อาจารย์รังสรรค์มีความรู้สึกว่า อาจารย์มีความสนิทชิดเชื้อกับเพื่อนที่เรียนด้วยกันมาในระดับมัธยม มากกว่าเพื่อนในระดับมหาวิทยาลัย อาจารย์ยังจำบรรดาเพื่อนเหล่านั้นได้ดี ไม่ว่าจะเป็น ดร.จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ, ญานี ตราโมท, ปริญญา อุดมทรัพย์, ปรีดา จุลละมณฑล, พิศาล อัครเศรณี, พลเอก ดร.มนตรี ศุภาพร, หรือ พลเอกนายแพทย์เอกจิต ช่างหล่อ, แม้จบไปแล้ว อาจารย์รังสรรค์ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดาอาจารย์ และเพื่อนนักเรียนอยู่

เรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อจบมัธยมศึกษา อาจารย์รังสรรค์มีความตั้งใจที่จะเรียนต่อในคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นผลพวงของการฟังการอภิปรายยามเย็นที่สนามหลวงอย่างมิพักต้องสงสัย การแยกสนามสอบเข้ามหาวิทยาลัยทำให้อาจารย์รังสรรค์สอบเข้าได้ทั้งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

แต่ในที่สุด 'แม่เหล็กใหญ่' ชื่อ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ก็ดึงดูดให้อาจารย์ตัดสินใจเลือกเรียนต่อที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์รังสรรค์สอบเข้าธรรมศาสตร์ได้เป็นลำดับที่สาม (ลำดับที่สอง คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล) อาจารย์มีประวัติการเรียนดีมากมาโดยตลอด สมุดจดคำบรรยายของอาจารย์รังสรรค์เป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนฝูง เนื่องจากอาจารย์มีลายมือที่สวยงาม อ่านง่าย จดคำบรรยายได้ครบถ้วน อาจารย์เล่าว่าจะจดคำบรรยายในสมุดหน้าขวาเพียงหน้าเดียว ส่วนอีกหน้าหนึ่งจะทิ้งไว้ว่างๆ เพื่อเติมเนื้อหาที่ค้นคว้ามาจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากคำบรรยายในห้องเรียน

นอกจากให้ยืมสมุดจดคำบรรยายแล้ว อาจารย์รังสรรค์ยังเป็นที่พึ่งแก่เพื่อนนักศึกษาอีกโสตหนึ่ง ด้วยการติวให้กับเพื่อนเมื่อใกล้สอบ วิชาที่ติวก็มีหลายวิชา ที่ขาดไม่ได้คือวิชาหลักเศรษฐศาสตร์มหภาค และจุลภาค กล่าวกันว่า มีนักศึกษาเข้าฟังการติวของอาจารย์อย่างล้นหลาม เพื่อนบางคนสารภาพว่าเข้าฟังการติวของอาจารย์รังสรรค์มากกว่าเข้าฟังการบรรยายของอาจารย์ผู้บรรยายด้วยซ้ำ เพื่อนร่วมรุ่นของอาจารย์ซึ่งมีบทบาทในวงราชการ และการเมือง มีหลายคน เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, อรจิต สิงคาลวณิช, ดร. สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย, และ อำนวย ปะติเส

ในช่วงที่อาจารย์รังสรรค์เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นช่วงที่สังคมไทยอยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการของทหาร ซึ่งลงหลักปักฐานตั้งแต่ปี 2501 โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และสืบทอดอำนาจต่อมาโดยกลุ่มจอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร, ในบรรยากาศเช่นนี้การแสดงความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับบ้านเมือง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลย่อมเป็นไปได้ยาก แต่กระนั้นก็ยังมีการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว นักวิชาการ และปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ที่จะรวมตัวกัน พบปะ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง สร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพทางวิชาการ แม้จะเป็นในวงแคบ ๆ เปิดโลกทัศน์ใหม่ และขยายพรมแดนแห่งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมไทยออกไป

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ความตื่นตัวของปัญญาชนไทยในยุคนั้นมิได้เกิดจากความกดดันภายในประเทศเพียงอย่างเดียว หากเกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจโลก ทศวรรษ 1960 และ 1970 เป็นยุคของการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามของคนหนุ่มสาวในสหรัฐอเมริกา และในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม การวิพากษ์วิจารณ์ และการเดินขบวนประท้วงนโยบายก่อสงครามและลัทธิจักรวรรดินิยมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง และย่อมส่งผลต่อโลกทัศน์ของคนหนุ่มสาวในเมืองไทย

สภากาแฟและชมรมปริทัศน์เสวนา
คนหนุ่มสาวที่มีความตื่นตัว สนใจใคร่รู้เกี่ยวกับบ้านเมืองของตนหลายคน ยังจดจำสภากาแฟที่จัดขึ้นเป็นประจำที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียนแห่งประเทศไทยได้ดี โดย ดร.โกศล ศรีสังข์ ผู้อำนวยการสำนักงานเป็นผู้ริเริ่ม มีบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็น 'วีรบุรุษ' ของปัญญาชนในยุคนั้นหมุนเวียนกันมาเป็นวิทยากร อาทิเช่น ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์, ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ชัยนาม, ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, และที่สำคัญ คือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์. การสัมมนาครั้งแรกที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2509 ซึ่งเป็นระยะหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสียชีวิตแล้ว หัวข้อสัมมนาคือ "ความรับผิดชอบทางจริยธรรมเป็นความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ" โดยมี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้นำการอภิปราย

สภากาแฟได้ย้ายจากสำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียนไปอยู่ที่วัดรังสีสุทธาวาส ในบริเวณวัดบวรนิเวศ โดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ตั้งชมรมปริทัศน์เสวนา เป็นรายการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีการกำหนดหัวข้อเสวนาและวิทยากรที่จะมาเป็นผู้นำอภิปราย มีการตั้งประธานชมรม มีวาระ 1 ปี เป็นผู้รับผิดชอบในการอำนวยการให้มีการเสวนา. ประธานชมรมคนแรก คือ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

อาจารย์รังสรรค์เล่าว่า, เสน่ห์ของรายการอยู่ที่มีวิทยากรที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการรุ่นใหม่ ซึ่งมีแนวคิดก้าวหน้า รายการเสวนาเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยที่มีความสนใจปัญหาของบ้านเมือง และมีความรู้สึกเบื่อการเรียน การสอนในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจารย์รังสรรค์มีความเห็นว่า ถูกครอบงำโดยนักวิชาการจากหน่วยราชการ ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ แต่ยังมีมุมมองและโลกทัศน์ที่คับแคบ

การร่วมกิจกรรมของชมรมปริทัศน์เสวนา ทำให้ผู้ร่วมเสวนาได้มีโอกาสรับรู้องค์ความรู้ที่แตกต่างออกไป มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ความเป็นไปในบ้านเมืองระหว่างผู้มาร่วมเสวนา และกับวิทยากรที่มีชื่อเสียง อาจารย์รังสรรค์ถือว่าตนเองและผู้คนรุ่นเดียวกันได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์จากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และในขณะเดียวกันชมรมปริทัศน์เสวนาเป็นกิจกรรมที่สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ มีความคิดเหมือนๆ กัน แม้ว่าจะมาจากต่างสถาบันก็ตาม

อาจารย์รังสรรค์มีเพื่อนสนิทหลายคนจากวงเสวนา เช่น นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน, ดร.อุทัย ดุลยเกษม, พิภพ ธงไชย, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, และ เทพศิริ สุขโสภา

สังคมศาสตร์ปริทัศน์
ในขณะเดียวกัน อาจารย์ก็ได้เข้าร่วมอยู่ในคณะบรรณาธิการ และบางครั้งก็เป็นบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา ซึ่งอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย ได้มีเวทีสำหรับเสนอความคิดและข้อเขียนของตนเอง. สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้กล่าวในรายการเสวนา หัวข้อ "ชีวิตการเป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516" ว่า, จุดเด่นในทางสร้างสรรค์ของ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่ส่งผลต่อคนร่วมสมัยมีสามประการ คือ

1. จิตใจวิพากษ์วิจารณ์
2. ความกล้าหาญทางจริยธรรม และ
3. การดำรงชีวิตอย่างมีอุดมคติ

มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
เมื่ออาจารย์รังสรรค์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยเกียรตินิยมดีมาก อาจารย์สมัครเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้ด้วยความแน่ใจว่าอาจารย์ชอบการเป็นครู อาจารย์ได้ทุนจากมหาวิทยาลัยไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งอาจารย์เปรียบเทียบว่าเป็นการประสบโชคยิ่งกว่าถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ทั้งนี้ก็ด้วย 'อิทธิฤทธิ์' จดหมายรับรองจากท่านอาจารย์ป๋วย และ นายฟรานซิส คริปป์ส์ (Francis Cripps) ซึ่งเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

อาจารย์รังสรรค์ได้เข้าเรียนที่ Churchill College ในปี พ.ศ. 2512 ก่อนไปเคมบริดจ์ อาจารย์มิได้มีโอกาสคุ้นเคยกับท่านอาจารย์ป๋วยมากนัก อาจารย์รังสรรค์จำได้ว่า ได้เข้าพบท่านอาจารย์ป๋วยครั้งแรกในฐานะสาราณียกรหนังสืออนุสรณ์คณะเศรษฐศาสตร์ ปี 2509 และได้รับเงินสนับสนุนในการจัดทำหนังสือจากท่านอาจารย์ป๋วย เป็นจำนวน 20,000 บาท แทนการถือจดหมายของคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ไปขอเงินอุดหนุนจากบุคคลภายนอก และอีกครั้งหนึ่งเมื่ออาจารย์ป๋วยได้รับมอบหมายให้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องการเงิน และท่านอาจารย์ป๋วยได้ส่งบทความดังกล่าวไปตีพิมพ์ใน วารสารสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ในช่วงปี 2511 - 2512

แม้ว่าการเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จะหนัก แต่อาจารย์รังสรรค์ก็มีความสุขกับการเรียนที่นั่น สังเกตได้จากข้อเขียนทั้งหลายของอาจารย์ที่เกี่ยวกับชีวิตของผู้คนและสังคมที่เคมบริดจ์ เช่นการเล่าถึงวิวาทะระหว่างเคมบริดจ์กับมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน เกี่ยวกับการปฏิวัติเคนเซียน (Keynesian Revolution) หรือเรื่องชีวิตรักที่โลดโผนของเบอร์ทรันด์ รัสเซลส์ รวมทั้งบรรยากาศทางวิชาการที่แสนจะคึกคัก ในทศวรรษ 1900 ในบทความ "เคนส์กับกลุ่มบลูมสเบอรี่" ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับบรรยากาศของชมรมปริทัศน์เสวนา ที่อาจารย์คุ้นเคยมาก่อน

ที่เคมบริดจ์นี้เอง อาจารย์รังสรรค์ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับท่านอาจารย์ป๋วยมากขึ้น เนื่องจากในปี 2514 ท่านอาจารย์ป๋วยได้มาเป็นศาสตราจารย์รับเชิญ (Visiting Professor) ที่ University College มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นายแพทย์วิชัยมีความเห็นว่า การศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ไม่เพียงแต่สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้แก่อาจารย์รังสรรค์ การได้มีโอกาสใกล้ชิดกับท่านอาจารย์ป๋วย มีส่วนช่วยให้ชีวิตของอาจารย์รังสรรค์มีสีสัน และรื่นรมย์มากขึ้น การพักผ่อนหย่อนใจหลังการทำงานหนักของท่านอาจารย์ป๋วย คือ การพบปะพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ รับประทานอาหาร ดื่ม หรือเล่นไพ่บริดจ์กับเพื่อนๆ และบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย เป็นการสร้างบรรยากาศของการผ่อนคลาย ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้ คุณหมอวิชัยเล่าว่า จะไม่ปรากฏในยุคสมัยของชมรมปริทัศน์เสวนา

งานสอนและงานวิชาการ
เมื่อจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี 2515 อาจารย์รังสรรค์กลับมาเมืองไทย และรับปริญญาโทในปี 2519 ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ดี ศึกษาค้นคว้าความก้าวหน้าของวิชาการอย่างสม่ำเสมอ มีความสามารถสูงในการสอน มีการเตรียมการสอนอย่างดี โดยอาศัยความรู้จากหลายแหล่ง ตำราหลายเล่ม คำบรรยายของอาจารย์รังสรรค์เป็นที่ชื่นชอบของบรรดานักศึกษา เนื่องจากมีความชัดเจน แจ่มแจ้ง ภาษาที่ใช้สวยงามประหนึ่งภาษาเขียน มีการยกตัวอย่าง มีการนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และหากจดคำบรรยายให้ดี คำบรรยายนั้นก็จะกลายเป็นตำราที่ดีเล่มหนึ่งได้

ผลก็คือดัชนีคุณภาพการสอนของอาจารย์จะอยู่ในอันดับต้นๆ ในทัศนะของนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ อาจารย์รังสรรค์เป็นอาจารย์ในอุดมคติ มีความรู้ดี เตรียมสอนดี ถ่ายทอดดี และในขณะเดียวกันได้พยายามกระตุ้นให้นักศึกษาอ่านหนังสือประกอบการเรียนที่หลากหลาย และชี้แนะประเด็นสำคัญๆ ที่ควรแก่การวิเคราะห์ วิจารณ์ และศึกษาค้นคว้าต่อไป

นอกจากทำหน้าที่สอนแล้ว อาจารย์รังสรรค์ยังผลิตผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารประกอบคำบรรยาย ตำรา บทความ งานวิจัยเสริมหลักสูตร รวมทั้งงานวิจัยเชิงประวัติวิเคราะห์ งานวิจัยวิเคราะห์ปัญหาสถานการณ์ปัจจุบัน และงานวิจัยสถาบัน งานวิชาการของอาจารย์รังสรรค์จะได้รับการยกย่องอยู่เสมอว่ามีมาตรฐานสูงด้วยความสมบูรณ์ของข้อมูล และความหนักแน่นลึกซึ้งในการวิเคราะห์ ทั้งนี้เพราะการทุ่มเทเวลา และความพยายามในการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง

ผลงานวิชาการของอาจารย์รังสรรค์มีเส้นทางเดินที่น่าสนใจ คือเริ่มจากผลงานด้านเศรษฐศาสตร์การคลัง ตำราเล่มแรกเรื่อง ทฤษฎีการภาษีอากร ต่อจากนั้นก็เป็นผลงานด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม หลังจากนั้นอาจารย์รังสรรค์เริ่มสนใจศึกษาเศรษฐกิจไทย โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง หนังสือ ระบบเศรษฐกิจ : ลักษณะและปัญหา ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2526 นับเป็นหนังสือเล่มแรกว่าด้วยเศรษฐกิจไทย ตามด้วย กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย: บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง พ.ศ. 2475 - 2530 ในปี 2532 และนำไปสู่ เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ : บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ผลงานที่ยิ่งใหญ่ในปี 2546

รังสรรค์: นักเศรษฐศาสตร์การเมืองสำนักนีโอคลาสสิค
ศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา ซึ่งเคยเป็นศาสตราจารย์รับเชิญ และอาจารย์ประจำของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวชื่นชมการทำงานทางวิชาการของอาจารย์รังสรรค์ว่า อาจารย์มีความสามารถในการสังเคราะห์ (synthesis) หลายอย่างเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งหมายความว่า อาจารย์จะต้องทำงานหนัก ต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และอย่างรอบด้าน เพื่ออธิบายพัฒนาการของสถาบัน ของกระบวนการกำหนดนโยบาย หรือของปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม

งานวิจัยเรื่อง เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยพรีเมี่ยมข้าว : พรมแดนแห่งความรู้ และ พัฒนาการและบทบาทของสหสามัคคีค้าสัตว์ เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับความสามารถในการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของอาจารย์รังสรรค์ ศาสตราจารย์อัมมารถือว่าอาจารย์รังสรรค์เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองสำนักนีโอคลาสสิค และที่น่าสนใจคือ อาจารย์เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองฝ่ายซ้ายยอมรับ

ในหนังสือ กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย: บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง พ.ศ. 2475 - 2530 อาจารย์รังสรรค์เขียนไว้ว่า ได้ใช้แนวการวิเคราะห์ของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองนีโอคลาสสิค ซึ่งลักษณะพื้นฐานและแนวคิดดังกล่าวคือ การนำเอาทฤษฎีของสำนักนีโอคลาสสิคมาใช้ในการอธิบายพฤติกรรม และสถาบันทางการเมืองและสังคม

แต่ด้วยเหตุที่อาจารย์รังสรรค์เชื่อว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว จะไม่พอที่จะทำให้เข้าใจกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจได้อย่างถ่องแท้ และรอบด้าน ดังนั้นอาจารย์จึงเลือกใช้ระเบียบวิธีการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง โดยให้ความสำคัญต่อปัจจัยที่ไม่ใช่เศรษฐกิจในการวิเคราะห์ด้วย เช่น โครงสร้างอำนาจทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นต้น

ในทัศนะของศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา, อาจารย์รังสรรค์ไม่ใช่นักวิจัยที่บุกเบิกทางทฤษฎี และช่ำชองในการใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ นั่นมิใช่ข้อด้อยในการทำงานวิชาการของอาจารย์ แต่มันเป็นวิธีการศึกษาที่อาจารย์เลือกใช้ และเชื่อว่าจะมีพลานุภาพมากกว่า นอกจากนั้นศาสตราจารย์อัมมารยังเห็นว่า อาจารย์รังสรรค์เป็นนักวิชาการ 'บริสุทธิ์' มากเกินไป เนื่องจากอาจารย์ไม่เคยและไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ และไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกำหนดนโยบาย ยกเว้นเรื่องการศึกษา

ดังนั้นจึงทำให้อาจารย์รังสรรค์ขาดมิติของสิ่งที่อยู่เบื้องหลังนโยบายเหล่านั้น แต่กระนั้นอาจารย์รังสรรค์ก็มีความสามารถในการที่จะขุดค้นหาเบื้องหลังของนโยบายเหล่านั้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ คุณสมบัติโดดเด่นอีกประการหนึ่งของอาจารย์รังสรรค์ในความเห็นของศาสตราจารย์อัมมาร คือ เป็นนัก 'แกะรอย' อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งยากที่นักวิชาการอื่น ๆ จะเสมอเหมือน

ความเป็นนักวิชาการบริสุทธิ์ของอาจารย์รังสรรค์ก็คือ การเป็นผู้ศึกษาค้นคว้าประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้งรอบด้าน วิเคราะห์ สังเคราะห์ เผยแพร่ผลการศึกษาแต่ไม่เคยสนใจ ไม่เคยผลักดันให้ผลการศึกษาของอาจารย์เป็นที่ยอมรับของชนชั้นปกครอง และถูกนำไปใช้ในการบริหารประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ที่ว่า, อาจารย์รังสรรค์เป็นปัญญาชนอิสระ สนใจเฉพาะความคิด เป็นนักคิด นักวิจารณ์ โดยอาศัยข้อมูลที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน อาจารย์รังสรรค์ไม่ใช่นักบริหารหรือผู้นำที่จะต้องคิดทั้งระบบ สร้างกลไกให้ระบบทำงาน

เมื่อความคิดตกผลึก: จากเศรษฐศาสตร์การศึกษาสู่เส้นทางเดินของสังคมเศรษฐกิจไทย
หากจะตั้งคำถามว่า แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์รังสรรค์เป็นอย่างไร คงเป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ง่ายนัก เพราะจะต้องค้นหาคำตอบจากบรรดาผลงานจำนวนมากมายมหาศาลของอาจารย์ อาจารย์รังสรรค์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เลื่อมใสในระบบเสรีนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย นั่นไม่ใช่เพราะอาจารย์ชอบวิพากษ์ วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการ แต่เพราะอาจารย์เชื่อว่ามนุษย์ย่อมมีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะกำหนดชะตากรรมของตนได้ โดยไม่ต้องมีรัฐบาลทำตัวเป็น 'คุณพ่อรู้ดี'

อย่างไรก็ตาม มีแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์อยู่สองสามแนวความคิดของอาจารย์รังสรรค์ ที่น่าจะเป็นแนวคิดที่ตกผลึกแล้ว ซึ่งหมายความว่าเป็นแนวคิดที่ได้ผ่านการศึกษา วิเคราะห์ จนได้ข้อสรุปจริงแท้ที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้มากนัก นั่นคือ

- ความคิดในด้านการศึกษา และ
- พัฒนาการของสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทย

ซึ่งจะปรากฏรวบยอดอยู่ในหนังสือบางเล่มของอาจารย์ และหนังสือ 'บางเล่ม' ที่ว่านี้จะสังเคราะห์มาจากหนังสือหลายสิบเล่ม บทความหลายสิบบทความของอาจารย์

ความคิดด้านการศึกษา
ในหนังสือ "ทัศนะทางการศึกษา" ซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เคล็ดไทยในปี 2518 เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความที่วิเคราะห์ปัญหาการศึกษาในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสะท้อนปัญหาการศึกษาของประเทศ ซึ่งควรจะได้รับการแก้ไข. น่าสนใจว่าปัญหาดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ แม้ในทศวรรษ 2550 ดังเช่นปัญหาการกำหนดหลักสูตร ซึ่งไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละภูมิภาคและท้องถิ่น ทำให้ระบบการศึกษามุ่งรับใช้ภาคตัวเมือง ภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตรกรรม

ระบบการศึกษาที่มีลักษณะเป็นขั้นบันได ซึ่งมีส่วนสำคัญในการ 'กระพือตัณหา' ของผู้เรียนในระดับหนึ่งให้ต้องการเรียนในระดับสูงต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด วิธีการสอนซึ่งอาศัยการบรรยายและการอ่านแบบเรียนทำให้การศึกษาเป็นเพียงกระบวนการท่องจำ วิธีการสอนเช่นนี้ย่อมให้ความสำคัญต่อบทบาทของครู ผู้บรรยาย แต่ทำลายความสามารถในการคิดและการแสดงความคิดเห็นของผู้เรียน นอกจากนั้นระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ยังเปิดโอกาสให้แก่คนรวยมากกว่าคนจน เด็กที่มาจากครอบครัวยากไร้ จะขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดี และในระดับสูงๆ เท่าที่ควร

ในทัศนะของอาจารย์รังสรรค์ รัฐสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้โดยมาตรการต่างๆ และเป้าหมายที่สำคัญของนโยบายจัดสรรบริการการศึกษาก็คือ

- การกระจายโอกาสและสร้างความเป็นธรรมในการศึกษาให้กับทุกคน ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาก็คือ

- สร้าง input ที่ดีเข้าสู่กระบวนการศึกษา รัฐจำเป็นต้องลงทุนในการศึกษาให้กับเด็กทุกคนจนถึงวัยรุ่น สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งในครอบครัวและนอกสถาบันครอบครัว เพื่อให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดี และค่านิยมถูกต้อง

- การจัดการศึกษาของรัฐควรมุ่งให้โอกาสแก่คนจนมากกว่าคนรวย ดังนั้นการรับนักเรียนของโรงเรียนหลวงจะต้องไม่ยึดสติปัญญาและความรู้เป็นเกณฑ์ แต่จะต้องยึดถือฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเป็นหลัก และรัฐต้องให้เงินอุดหนุนแก่นักเรียนที่มาจากฐานะยากจน

- ยิ่งไปกว่านั้นรัฐควรจะจัดให้การศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ (non-formal education) ซึ่งจะช่วยให้คนส่วนใหญ่ซึ่งต้องออกจากโรงเรียนได้เรียนหนังสือได้มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเขา

- รัฐจำเป็นต้องหาทุนมาเพื่อใช้จ่ายในการศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งย่อมต้องมาจากการเก็บภาษี ดังนั้น อาจารย์รังสรรค์จึงได้เสนอหลักการเก็บภาษีและการจัดสรรรายจ่ายเพื่อการศึกษาว่า ในการเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้จ่ายในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งให้ประโยชน์ต่อสังคมนั้นต้องยึดหลักความสามารถในการชำระภาษี แต่การศึกษาที่ให้ประโยชน์เฉพาะปัจเจกชนต้องยึดหลักประโยชน์ที่ได้รับ ดังนั้นการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยควรจัดเก็บภาษีบัณฑิต และรายได้บางส่วนก็ต้องมาจากการเก็บค่าเล่าเรียน ส่วนการจัดสรรรายจ่ายเพื่อการศึกษาก็ต้องยึดหลักอัตราผลตอบแทนแก่สังคม ต้องมีการจัดลำดับอัตราตอบแทนจากมากไปหาน้อย

- สำหรับครูผู้สอนย่อมต้องมีความรู้ มีทักษะและมีค่านิยมที่เอื้อต่อการสร้างบรรยายกาศของเสรีภาพ และการส่งเสริมความคิดริเริ่ม แต่ความตั้งใจในการประกอบอาชีพครูย่อมต้องขึ้นอยู่กับค่าตอบแทน หรือรายได้จากการเป็นครู ดังนั้นการขึ้นเงินเดือนจึงควรพิจารณาจากความตั้งใจ และประสบการณ์ในการสอนมากกว่าปริญญา

อัสดงคตานุวัตรกับการศึกษา
จนถึงปี 2538 ทัศนะทางการศึกษาของอาจารย์รังสรรค์ยังไม่เปลี่ยนแปลง อาจารย์ยอมรับว่ากระแสโลกานุวัตรเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ระบบการศึกษาจำต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อตั้งรับทันกระแสโลกานุวัตรที่ไหลบ่าเข้ามาไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือการที่ตะวันตกมีบทบาทในการกำหนดระบบการศึกษาของไทยมากยิ่งขึ้น หรือที่อาจารย์เรียกว่า อัสดงคตานุวัตร (Westernization) หรือกระบวนการสากลานุวัตรของภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาต่างชาติ หรือภาษาอิเลกโทรนิกส์

การครอบครอบงำของ 'ทุนวัฒนธรรม' ทำให้บริการการศึกษามีลักษณะเป็นสินค้ามากขึ้น ซึ่งยังผลให้ความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ระหว่างครู ลูกศิษย์ กลายเป็นความสัมพันธ์ระบบสนธิสัญญาระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ทั้งหมดล้วนทำให้ระบบการศึกษายิ่งห่างไกลจากระบบการศึกษาเพื่อคนส่วนใหญ่ เพื่อคนด้อยโอกาส และเพื่อการดำรงชีวิต

การศึกษาแบบคนรวยจ่ายมาก คนจนไม่ต้องจ่าย
อาจารย์รังสรรค์ยังคงยืนยันแนวทางในการจัดการการศึกษาที่เคยเสนอไว้เมื่อ 20 ปีก่อน คือการใช้มาตรการทางการคลังและการเงิน โดยให้คนกลุ่มที่มีฐานะรับภาระในการจ่ายในการจัดบริการการศึกษาของรัฐบาลมากขึ้น และให้กลุ่มที่ด้อยฐานะรับภาระน้อยลง, โดยเก็บค่าเล่าเรียนสูงสำหรับโรงเรียนที่มีคุณภาพดีในกรุงเทพฯ และไม่เก็บค่าเล่าเรียนสำหรับโรงเรียนในเขตด้อยพัฒนา, เกลี่ยคุณภาพของโรงเรียนให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน โดยการลดงบดำเนินงานต่อหัวในเขตพัฒนาแล้ว และเพิ่มงบดำเนินการต่อหัวในเขตด้อยพัฒนา จัดตั้งกองทุนประชาศึกษา จัดสรรทุนให้กับนักเรียนที่เรียนดีและนักเรียนยากจน

อาจารย์รังสรรค์ ได้มีส่วนสำคัญในการทำให้ข้อเสนอที่จะสร้างความเป็นธรรมทางการศึกษาของอาจารย์ให้เป็นจริงได้ อย่างน้อยในสองกรณี คือ

- งานวิจัยเรื่อง "การคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยตามระบบโควต้า" ซึ่งอาจารย์ได้รับมอบหมายจาก ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อคราวดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็นผู้จัดทำ ถูกนำมาพิจารณาและดัดแปลงเป็นโครงการนักศึกษาเรียนดีจากชนบท ซึ่งก่อตั้งในปี 2524 ในยุคที่ ศาสตราจารย์ประภาสน์ อวยชัย เป็นอธิการบดี และ

- งานวิจัยเรื่อง "นโยบายอัตราค่าเล่าเรียนระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2538 - 2540: บททดลองเสนอ (2537)" ซึ่งอาจารย์จัดทำขึ้นในฐานะเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยีในยุคที่ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นอธิการบดี ก็นำไปสู่การขึ้นค่าลงทะเบียน ค่าบำรุงการศึกษา ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2538 เป็นต้นมา

อ่านต่อเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

ผลงานวิชาการของ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

- การเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรีภายใต้ Thaksinomics
- จินตภาพอุดมศึกษา ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป
- จากองครักษ์พิทักษ์นาย ถึง Cyber Soldiers
- ฉันทามติรัตนโกสินทร์ในยุคโลกาภิวัตน์

- เดอ โซโต และสปาเกตตีโบลเอฟเฟคท
- ทักษิโณมิกส์ เศรษฐศาสตร์แบบทักษิณ
- นักการเมืองควรเป็นสินทรัพย์ของพรรคการเมืองหรือไม่?
- นักการเมืองในฐานะสินค้า และประชานิยมโลกและไทย
- ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจกรณีสงครามระหว่างสหรัฐกับอิรัค
- ภาษาสงครามอิรัก(A Lexicon of the Iraq Conflict)
- ว่าด้วยธุรกิจ Dot.Com บนไซเบอร์สเปซ
- Mc Journalism ภายใต้ระบบทักษิณาธิปไตย

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

แม้ว่าการเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จะหนัก แต่อาจารย์รังสรรค์ก็มีความสุขกับการเรียนที่นั่น สังเกตได้จากข้อเขียนทั้งหลายของอาจารย์ที่เกี่ยวกับชีวิตของผู้คนและสังคมที่เคมบริดจ์ เช่นการเล่าถึงวิวาทะระหว่างเคมบริดจ์กับมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน เกี่ยวกับการปฏิวัติเคนเซียน (Keynesian Revolution) หรือเรื่องชีวิตรักที่โลดโผนของเบอร์ทรันด์ รัสเซลส์ รวมทั้งบรรยากาศทางวิชาการที่แสนจะคึกคัก ในทศวรรษ 1900 ในบทความ "เคนส์กับกลุ่มบลูมสเบอรี่" ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับบรรยากาศของชมรมปริทัศน์เสวนา ที่อาจารย์คุ้นเคยมาก่อน

06-04-2550

Thai Economist
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com