รายงานสถานการณ์ต่อเนื่องจาก 799
เกี่ยวกับการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯที่เชียงใหม่
The Midnight University
การคัดค้านเอฟทีเอไทย-สหรัฐที่เชียงใหม่
9-13 มค.49
บทสรุปชีพจรรายวัน
คัดค้านเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมรณรงค์สนับสุนนผ่านสื่อออนไลน์
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 802
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
15 หน้ากระดาษ A4)
1. ปิดฉากเจรจาข้อตกลงไทยสหรัฐ
ประชาชนได้เสียอะไร
วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๙ เวลา ๑๓.๐๐ น.
ณ ห้องประชุมชั้น ๒ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
(ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ)
เครือข่ายองค์กรประชาชนต้านการเปิดเขตการค้าเสรีและแปรรูปประเทศไทยจาก 11 เครือข่าย
ประกอบด้วย 1)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย 2)เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
3)สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 4)เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน 4 ภาค 5)สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
6)เครือข่ายสลัมสี่ภาค 7)สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย 8)สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
9)สมัชชาคนจน 10)สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ(สนนท.) 11)กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA
Watch) ที่ได้ร่วมกันมากกว่า 10,000 คน รณรงค์และชุมนุมคัดค้านการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาที่เชียงใหม่ระหว่างวันที่
9-11 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา
แต่จะเห็นได้ว่า ไม่ได้ทำให้ผู้เจรจาทั้งสองฝ่าย คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนทั้งประเทศ
โดยพิจารณาได้จากเนื้อหาข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาและคำให้สัมภาษณ์สำคัญ
เช่น
1. การยื่นเนื้อหาในการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
การยื่นเนื้อหาในการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นไปอย่างที่คาดหมาย สหรัฐมีข้อเรียกร้องที่เกินเลยข้อตกลงระห่างประเทศและกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา
เช่น
1.1. สิทธิบัตรยา
1.1.1. การขอขยายการคุ้มครองยาที่มีสิทธิบัตร จาก 20
ปี เป็น 25-30 ปี
1.1.1.1. การขอให้คุ้มครองข้อมูลยาหลังจากยานั้นออกสู่ตลาดไปแล้วอีก 5 ปี ทำให้ยาสามัญออกสู่ตลาดช้าไปอีกประมาณ 5 ปี ถึงแม้คุณบาบารา ไวเซลจะบอกว่า ข้อตกลงไม่ได้ทำให้ยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีราคาแพงและไม่กระทบต่อราคายาสามัญ แต่ข้อเท็จจริง ยาสามัญจะไม่สามารถออกสู่ตลาดได้ซึ่งทำให้ยาถูกผูกขาดได้นาน ยาราคาแพงกระทบต่อราคายาแน่นอน งบประมาณจะเพิ่มขึ้นจาก 1,500 ล้านบาท เป็น 20,000 ล้านบาท ภายใน 10 ปีในกลุ่มยาสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ และทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาจะเพิ่มขึ้นจาก 33,468-216,456 ล้านบาท ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพล้มเหลว
1.1.1.2. การขอให้ชดเชยในกรณีการจดสิทธิบัตรล่าช้า แต่ไม่เกิน 5 ปี
1.1.2. การจำกัดมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การบังคับใช้สิทธิทำได้เฉพาะรัฐเท่านั้น ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยธรรมชาติ แต่ไม่สามารถใช้ได้ทั้งรัฐและเอกชนในกรณีความจำเป็นเมื่อเกิดปัญหาสาธารณสุข หรือขาดแคลนยา หรือยาแพง รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข พูดให้คนดีใจ ว่า ไม่ต้องห่วงเราไม่เจรจาให้กระทบกับการเข้าถึงยาในกรณีฉุกเฉินแน่นอน ซึ่งเป็นการบอกว่าเรายอมตามข้อเรียกของสหรัฐไปแล้ว ซึ่งเท่ากับประเทศไทยถูกลดอำนาจการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐจากการทำ FTA ทั้งๆที่ข้อตกลงระหว่างประเทศใน WTO ยอมให้รัฐบาลสามารถบังคับบริษัทยา ให้อนุญาตผลิตยา หรือให้บริษัทยาในต่างประเทศผลิตยาให้เราได้เมื่อเกิดปัญหาสาธารณสุข
1.1.3. ไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี
ทั้งที่การคุ้มครองสิทธิบัตรควรควบคู่กับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
1.2. สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต
ขอให้มีการคุ้มครองสิ่งมีชีวิต พืช ซึ่งจะเกิดผลกระทบ
เช่น
1.2.1. การนำข้าวหอมมะลิไปจดสิทธิบัตร จะทำให้สูญเสียมีมูลค่าสูงถึง 30,000
ล้านบาท
1.2.2. การปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ ทำให้เมล็ดพันธุ์อยู่ในมือบริษัทข้ามชาติ
เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ราคาแพง
1.2.3. ประเทศอื่น ๆ ได้รับสิทธิเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
1.3. การขอให้คุ้มครองวิธีการรักษาและวินิจฉัยโรค จะกระทบกับราคาค่ารักษาพยาบาล
2. การเปิดเสรีสินค้าเกษตร
เพราะ การเปิดเสรีสินค้าเกษตรกับจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐ จะทำให้เกษตรกรไทยประมาณ
1,540,000 คน ต้องสูญเสียอาชีพ เนื่องจากผัก ผลไม้ นม เนื้อ ข้าวโพด ถั่วเหลือง
จากกลุ่มประเทศดังกล่าวมีราคาถูกกว่าประเทศไทยมาก ส่งผลกระทบต่อระบบความมั่นคงทางอาหาร
ทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาอาหารจากต่างชาติ
3. การลงทุนในบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน
กระทบกับการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานเพราะบริการสาธารณะ จะถูกผลักดันให้นำไปทำกำไรในตลาดหลักทรัพย์
เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ องค์การเภสัชกรรม และไม่สามารถห้ามนักลงทุนจากสหรัฐให้ลงทุนได้น้อยกว่านักลงทุนในประเทศเพราะเราให้สิทธิเยี่ยงชาติ
เช่น กรณีขายการไฟฟ้าในตลาดหลักทรัพย์ที่รัฐบาลอ้างว่าขายการไฟฟ้าเพียง 25
% และขายให้นักลงทุนในต่างประเทศเพียง 30 % และนักลงทุนในประเทศ 70 % จะไม่สามารถทำได้
4. หยุดรัฐบาลในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี
เครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่า รัฐบาลยังเดินหน้าในการเจรจาอย่างเข้มข้นและเสียเปรียบกับคนส่วนใหญ่
ดังนั้นจึงขอเรียกร้องต่อประชาชนคนไทยให้หาทางหยุดรัฐบาล ในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา
++++++++++++++++++++++++++++++++++
2.
ผลกระทบข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้ FTA ไทย-สหรัฐ
FTA ไทย-สหรัฐ ยอมเปิดประตูให้โจรสลัดปล้นทรัพยากรชีวภาพอย่างถูกกฎหมาย
ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา
ผูกขาดพันธุ์พืช และภูมิปัญญาท้องถิ่น
ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา ชื่อย่อว่า ทริปส์ (TRIPs Trade-related Agreement
on Intellectual Property Rights) เป็นหนึ่งในข้อตกลงสำคัญขององค์กรการค้าโลก
ซึ่งครอบคลุมการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาไว้แทบทุกประเภท ประเภทที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับเกษตรกร
คือ การผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาโดยกฎหมายสิทธิบัตร และกฎหมายนักปรับปรุงพันธุ์
ประเทศอุตสาหกรรมที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ ได้ผลักดันให้ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาบรรจุเป็นหนึ่งในข้อตกลงสำคัญขององค์กรการค้าโลก เพื่อที่ประเทศสมาชิกต่างๆในโลก จะได้มีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานที่ประเทศอุตสาหกรรมเหล่านี้กำหนด ซึ่งจะสามารถตอบสนองต่อผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่
ซ่อนเงื่อนว่าคุ้มครอง
แท้จริง คือผูกขาด
ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา มาตรา 27 ได้กำหนดเกี่ยวกับสิ่งที่อาจขอรับสิทธิบัตรไว้ดังนี้
มาตรา
27
ข้อ 1 ระบุว่าประเทศสมาชิกองค์กรการค้าโลกต้องให้ความคุ้มครอง
หรือให้สิทธิบัตร ผลิตภัณฑ์และกรรมวิธีการผลิตในทุกสาขาเทคโนโลยี ภายใต้เงื่อนไข
3 ประการคือ ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และสามารถนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมการค้าได้
ข้อ 2 ระบุว่าประเทศสมาชิกองค์กรการค้าโลก อาจไม่ให้ความคุ้มครองหรือ ไม่ให้สิทธิบัตร ผลิตภัณฑ์ที่เมื่อมีการนำไปใช้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งเป็นการคิดค้นที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อ 3 ระบุว่าประเทศสมาชิกองค์กรการค้าโลกอาจไม่ให้ความคุ้มครองหรือไม่ให้สิทธิบัตรในเรื่องดังต่อไปนี้
(a)
วิธีการวินิจฉัย อายุรกรรม และศัลยกรรมสำหรับการรักษามนุษย์หรือสัตว์
(b) พืชและสัตว์ ที่มิใช่จุลชีพ กรรมวิธีทางชีววิทยาที่จำเป็นสำหรับการผลิตพืชและสัตว์
ที่มิใช่กรรมวิธีทางชีววิทยาและจุลชีววิทยา
ทั้งนี้ประเทศสมาชิกองค์กรการค้าโลกจะต้องออกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ไม่ว่าด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
จะใช้กฎหมายสิทธิบัตร หรือใช้กฎหมายเฉพาะที่มีประสิทธิภาพก็ได้ ซึ่งเท่ากับว่า
WTO ยังเปิดช่องว่าง ให้ประเทศสมาชิกองค์กรการค้าโลก ปฏิเสธระบบสิทธิบัตร ไม่ให้มีการผูกขาดในพันธุ์พืช
พันธุ์สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตได้ในมาตรา 27 ข้อ 3 (บี)
ประเทศไทยจึงได้สร้างระบบกฎหมายเฉพาะ
เป็นกฎหมาย 2 ฉบับ คือ
1.พรบ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 และ
2. พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542
ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองพันธุกรรมและความหลากลายทางชีวภาพ โดยอาศัยกรอบของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งมีหลักการว่า พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และทรัพยากรชีวภาพทั้งหมดภายในเขตแดนประเทศถือว่าอยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศ เกษตรกรไทยสามารถเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชระหว่างกัน หากต่างชาติต้องการนำพันธุกรรมความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไปใช้ประโยชน์ จะต้องขออนุญาตและทำสัญญาส่วนแบ่งผลประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้นอเมริกา และประเทศอุตสาหกรรม จึงพยายามผลักดัน เพื่อล้มมาตรา 27 ข้อ 3 (บี) สร้างเงื่อนไขให้ประเทศต่างๆ ให้สิทธิบัตรหรือ ให้อำนาจผูกขาดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิต ที่ประเทศของตนผลิตขึ้นมาภายใต้กรอบการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหรัฐฯ สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยยกระดับกรคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาใหเท่าเทียมกับสหรัฐอเมริกา โดยเรียกร้องประเทศไทยให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ ( ข้อเรียกร้องนี้ปรากฏในกฎหมาย Trade Promotion Authority ของสหรัฐ (Sec.2102 ข้อ b(4) - ii) และในกรอบการเจรจาของสหรัฐกับประเทศไทยตามเอกสารที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ยื่นเสนอต่อรัฐสภาสหรัฐ)
1. ให้ประเทศไทยขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมในสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์
2. ให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (International Convention for the Protection of New Varieties of Plants: UPOV)
ผูกขาดพันธุ์พืชทั่วโลก
ผลประโยชน์บริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ
ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา ใช้ข้ออ้างเพื่อส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นพันธุ์พืชใหม่หรือ
ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยให้สิทธิผูกขาดการครอบครองแก่เจ้าของสิทธิบัตร ที่ไปทำการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่
ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือความรู้ใหม่นั้น เป็นเวลานานถึง 20 ปี
สิทธินักปรับปรุงพันธุ์ หมายถึง การให้สิทธิผูกขาดกับผู้ปรับปรุงพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เมื่อนักปรับปรุงพันธุ์สามารถปรับปรุงพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ให้เกิดเป็นพืช หรือสัตว์ พันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม
ตัวอย่างเช่น เมื่อนักปรับปรุงพันธุ์ นำข้าวพื้นเมือง 2 ชนิดผสมพันธุ์กัน เกิดเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม นักปรับปรุงพันธุ์คนนั้นสามารถนำข้าวพันธุ์ใหม่ไปยื่นจดสิทธิบัตร ให้อำนาจผูกขาดการใช้ประโยชน์พันธุ์ข้าวนั้นกับนักปรับปรุงพันธุ์ได้
หลักการของสิทธิบัตร ให้การยอมรับเฉพาะพันธุ์พืชใหม่ สิ่งใหม่ที่ได้รับการคิดค้นขึ้น หากกลับไม่ยอมรับในภูมิปัญญาพื้นบ้าน และมองว่าพันธุ์พืชพื้นบ้าน ไม่สมควรได้รับการคุ้มครองให้สิทธิบัตร เนื่องจากไม่มีกรรมวิธีในการผลิตที่สูงขึ้นกว่าเดิม พืชพันธุ์พื้นบ้านจึงควรเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่ผู้ใดก็สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ทางการค้าได้
สิทธิบัตร จึงเป็นเครื่องมือของบริษัทธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ที่ไม่ได้ต้องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่หรือนักปรับปรุงพันธุ์ตัวจริง เนื่องจากระบบสิทธิบัตร ไม่ได้ให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชที่ถูกพัฒนาและค้นคิดมานับร้อยนับพันปีโดยนักปรับปรุงพันธุ์พื้นบ้าน แต่ให้ความคุ้มครองกับนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ที่ขโมยพันธุ์พืชพื้นบ้านไปปรับปรุงเป็นพันธุ์พืชใหม่ที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์การค้าของบริษัทเมล็ดพันธุ์ตนเท่านั้น
กฎหมายนักปรับปรุงพันธุ์
ให้สิทธิพิเศษเฉพาะนักปรับปรุงพันธุ์
สหรัฐอเมริกาพยายามผลักดันให้ประเทศไทยใช้กฏหมายคุ้มครองพันธุ์พืชตามรูปแบบ
ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (International Convention for
the Protection of New Varieties of Plants: UPOV) แทน โดยให้มีการผูกขาดพันธุ์พืชได้
แต่ให้สิทธินักปรับปรุงพันธุ์นำพันธุ์พืชที่จดทะเบียนแล้วไปปรับปรุงพันธุ์ได้อีก
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย หากประเทศไทยยอมรับกฎหมายยูปอพ คือ
1) ทำให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ เกษตรกรไม่มีสิทธิเก็บพันธุ์พืชที่ถูกจดทะเบียนโดยบริษัทข้ามชาติไว้ทำพันธุ์ต่อ
แต่ให้สิทธินักปรับปรุงพันธุ์ที่จะนำพันธุ์ไปผสมพันธุ์ต่อได้
2) กฎหมายตามรูปแบบนี้จะให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น ไม่ให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นบ้านของเกษตรกร
และชุมชนท้องถิ่น
3) กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย ซึ่งให้การคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นจะต้องถูกส่งกลับมาแก้ไข
เนื่องจากขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้
สิทธิบัตรพันธุ์พืช
ละเมิดสิทธิเกษตรกร
สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ละเมิดสิทธิมนุษยชน
การใช้กฎหมายสิทธิบัตรจะทำให้เกษตรกรในประเทศไทย ได้รับผลกระทบที่สำคัญคือ
1) ประเทศอุตสาหกรรม และบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ สามารถผูกขาดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ โดยเกษตรกรจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทที่ถือสิทธิบัตรในทุกครั้งที่ทำการเพาะปลูก สิทธิบัตรพันธุ์พืชและสัตว์ สามารถกีดกันมิให้ผู้ใดนำพันธุ์พืชไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นใหม่ หรือการวิจัยในเรื่องใด ๆ จากพันธุ์พืชนั้น
2) บริษัทข้ามชาติ สามารถครอบครองทรัพยากรพันธุกรรมในประเทศไทย ทั้งนี้โดยการนำเอาพันธุกรรมที่ได้จากประเทศไทย ไปเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย หรือนำเอาพันธุกรรม หรือยีนที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ จากพันธุ์พื้นบ้านไปจดสิทธิบัตร
การยอมรับกฎหมายสิทธิบัตร และการยอมรับกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชตามยูปอฟ เท่ากับเป็นการยอมรับการให้สิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต จะทำให้บริษัทข้ามชาติ สามารถถือสิทธิในพันธุกรรม และยีนของชนพื้นเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และละเมิดอธิปไตยของประเทศไทย
ผลกระทบต่อเกษตรกร และภาคเกษตรกรรมไทย
1. สหรัฐสามารถนำข้าวหอมมะลิ ตลอดจนพืชสมุนไพร และทรัพยากรชีวภาพประเภทต่างๆ
ไปวิจัยและจดสิทธิบัตรได้ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยเอง โดยสิทธิบัตรจะครอบคลุมตัวพันธุ์พืชใหม่
เนื้อเยื่อ และพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ผลกระทบเฉพาะกรณีข้าวหอมมะลิตัวเดียว
อาจมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านบาท และผลกระทบในระยะยาวนั้นสูงค่าจนไม่อาจประเมินค่าได้
2. เมล็ดพันธุ์ที่จดสิทธิบัตรที่เกษตรกรซื้อนำไปเพาะปลูก ไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์เอาไปปลูกต่อได้ เกษตรกรไม่สามารถแจกจ่าย แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ คัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นได้ ซึ่งการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม ตลอดจนการพยายามปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่เหมาะสมกับตนนั้น เป็นวัฒนธรรมของชุมชนเกษตรกรรมที่สำคัญในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนอกจากนี้ สิทธิบัตรจะครอบคุมไปถึงผลผลิตนอกเหนือไปจากส่วนขยายพันธุ์ด้วย
3. การยอมรับข้อตกลงด้านสิทธิบัตรกับสหรัฐอเมริกา ภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐ จะมีผลให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น และประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกได้รับสิทธิดังกล่าวไปพร้อมๆ กันด้วย
++++++++++++++++++++++++++++++++++
คำถามที่คณะเจรจาไทยและรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร ต้องตอบ
1. การที่นายกรัฐมนตรีอ้างถึง "ผลประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ" มีการศึกษาหรือไม่
อย่างไร ถ้ามีการศึกษาต้องเปิดเผยต่อสาธารณะว่า กลุ่มใดคือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการเจรจา
และกลุ่มใดจะเป็นผู้เสียประโยชน์จากการเจรจา
2. นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า
ไม่สามารถให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเจรจา เพราะจะทำให้เสียรูปแบบการทำงานในระบบตัวแทนได้
ทำไมตัวแทนของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ซึ่งเป็นสมาคมผู้นำเข้ายาและอุตสาหกรรมยาจากสหรัฐ
และมีจุดยืนเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ไม่ใช่ตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศไทย จึงสามารถเข้าร่วมการเจรจาในประเด็นสิทธิบัตร
และการวางยุทธศาสตร์การเจรจาได้
3. การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ
ยึดหลักบูรณาการและมองภาพองค์รวมตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้างหรือไม่ อย่างไร
ถ้าได้ยึดหลักการดังกล่าว เหตุใดกลุ่มเจรจาแต่ละกลุ่มจึงไม่ได้รับอนุญาตให้รับทราบเนื้อหาในรายละเอียดการเจรจาของกลุ่มอื่นๆ
เช่น ในกรณีที่กลุ่มเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญา ต้องการรับทราบเนื้อหาด้านการลงทุน
แต่ถูก ดร.วีรชัย พลาศัย หัวหน้าคณะเจรจาด้านการลงทุนปฏิเสธ และกรณีที่กลุ่มเจรจาด้านสิ่งแวดล้อมขอดูข้อเรียกร้องของสหรัฐฯทุกประเด็น
4. ในกลุ่มเจรจาประเด็นการลงทุนที่เร่งเจรจาจนเกือบจะได้ข้อยุติตามที่สหรัฐฯต้องการแล้ว
แม้ว่าจะมีรายละเอียดซับซ้อน คาบเกี่ยวกับประเด็นต่างๆมากมาย มีเนื้อหาอย่างไรโดยเฉพาะนิยามการลงทุน,
สิทธินักลงทุน และ การระงับข้อพิพาทที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องรัฐ
ได้ มีการศึกษาผลของข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นที่จะกระทบต่ออธิปไตยของประเทศ
++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทสรุปผู้บริหาร
(เรื่องเกี่ยวกับสิทธิบัตรยา กระทรวงสาธารณสุข)
ความเป็นมา
ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป
เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าให้เหลือน้อยที่สุด ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเริ่มการเจรจาทวิภาคีเมื่อวันที่
19 ตุลาคม 2546 โดยรวมประเด็น การคุ้มครองทรัพย์ สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาด้วย
การเจรจาดังกล่าวอาจจะมีผลให้เกิดการขยายระยะเวลาการผูกขาดตลาดยาของยาต้นแบบ
ซึ่งกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านยา และการเข้าถึงยาที่จำเป็นของคนไทยในระยะยาว
เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการเจรจา มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังจึงติดต่อให้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขทำการศึกษาวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ คาดการณ์ผลกระทบจากการขยายความคุ้มครองของสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์หรือยา (pharmaceutical products) ต่อค่าใช้จ่าย และการเข้าถึงยาในประเทศไทย และเพื่อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายในการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี และ/หรือการเตรียมการรองรับข้อตกลงการค้าเสรีสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการดังนี้
1. วิเคราะห์เนื้อหาสาระบัญญัติของความตกลงทริปส์ และปฏิญญาโดฮาภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ความตกลงการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องของสหรัฐอเมริกากับประเทศหรือกลุ่มประเทศต่าง ๆ2. ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับระบบยา3. วิเคราะห์ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการขยายความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา4. สัมภาษณ์และประชุมระดมสมองเพื่อ สังเคราะห์ทางเลือกข้อเสนอเชิงนโยบาย
ผลการศึกษา
1. ความตกลงทริปส์และปฏิญญาโดฮา
(Trade Related Aspect of Intellectual Property Rights Agreement- TRIPs and
Doha Declaration on the TRIPs Agreement and Public Health)
1.1 ความตกลงทริปส์เป็นข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
ที่เกี่ยวข้องกับการค้า กำหนดเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกทุกประเทศ
จะต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยมีวัตถุประสงค์
(article 7) คือ การปกป้องและบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นไปเพื่อส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้น
และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ และมีข้อกำหนดเกี่ยวกับยาได้แก่
article 6 มาตรการนำเข้าซ้อน (parallel importation) article 27 สิทธิบัตรของกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์
article 30 การเตรียมการขอขึ้นทะเบียนยาก่อนที่สิทธิบัตรจะหมดอายุ (Bolar provision)
article 31 มาตรการบังคับใช้สิทธิ article 33 ระยะเวลาคุ้มครองสิทธิอย่างน้อย
20 ปี article 39 การเก็บรักษาข้อมูลทางการค้าเป็นความลับ และ article 65 และ
66 การถ่ายทอดเทคโนโลยี
1.2 ปฏิญญาโดฮา เน้นวัตถุประสงค์ของความตกลงทริปส์
ที่ต้องการให้มีความสมดุลระหว่างการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น
กับการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของแต่ละประเทศ เน้นย้ำให้แต่ละประเทศสามารถผลิตหรือนำเข้ายาโดยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ
และ/หรือการนำเข้าซ้อนเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุข และเน้นให้มีการเพิ่มการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด
และขยายเวลาการเลื่อนการบังคับใช้ทริปส์กับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด โดยมี
paragraph 6 ให้กำหนดรายละเอียดของการดำเนินการสำหรับการผลิตยา โดยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่มีปัญหาด้านเทคโนโลยีการผลิตยาด้วย
2. ความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีที่เกี่ยวกับยาซึ่งสหรัฐได้ทำกับประเทศอื่น
การศึกษานี้จึงวิเคราะห์ข้อตกลงการค้าเสรีซึ่งสหรัฐอเมริกาทำกับประเทศต่าง
ๆ ได้แก่ จอร์แดน ชิลี สิงคโปร์ กลุ่มประเทศอเมริกากลาง ออสเตรเลีย โมร็อกโก
และ บาห์เรน สรุปพบมีประเด็นสำคัญดังนี้
1) การให้สิทธิเด็ดขาดสำหรับข้อมูลผลการทดสอบที่เกี่ยวกับยา (data exclusivity)
2) การเชื่อมโยงการขึ้นทะเบียนและสิทธิบัตร (linkage between drug registration and patents)
3) การขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรจากความล่าช้าในการจดสิทธิบัตร (patent term restoration)
4) การขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรจากเหตุล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยา (restoration by registration)
5) การบังคับใช้กฎหมายตามสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (enforcement)
6) การจำกัดมาตรการบังคับใช้สิทธิ (compulsory licensing restrictions)
7) การยกเลิกมาตรการนำเข้าซ้อน (parallel importation limitation) และ
8) การจำกัดเงื่อนไขการเพิกถอนสิทธิบัตร
3.1
พระราชบัญญัติสิทธิบัตร ฉบับที่ 3 พ.ศ.2542 ให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรเป็นเวลา
20 ปี คุ้มครองกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ กำหนดมาตรการบังคับใช้สิทธิโดยเอกชนและรัฐ
กำหนดมาตรการนำเข้าซ้อน และการเตรียมการขอขึ้นทะเบียนยาก่อนที่สิทธิบัตรจะหมดอายุ
3.2 พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545
ให้ความคุ้มครองข้อมูลยาที่ใช้สารเคมีชนิดใหม่ ซึ่งต้องเสนอข้อมูลประกอบคำขออนุญาตต่อหน่วยงานของรัฐ
และผู้ขออนุญาตได้ขอจดแจ้งให้หน่วยงานของรัฐช่วยดูแลรักษา หน่วยงานนั้นมีหน้าที่ดูแลรักษาความลับนั้นจากการเปิดเผยหรือใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างไม่เป็นธรรม
ในขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อยู่ระหว่างร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการดูแลรักษาความลับทางการค้าของข้อมูลทะเบียนตำรับยาเพื่อรองรับการปฏิบัติ
3.3 พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510, ยาเสพติดให้โทษ
พ.ศ.2522, วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ใช้ควบคุมผลิตภัณฑ์และการประกอบการที่เกี่ยวข้องกับยา
ยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาททั้งในด้านการขออนุญาตผลิต ขาย
นำเข้า การขึ้นทะเบียนตำรับ และการโฆษณาในประเทศไทย
4. ระบบยาของประเทศไทย
4.1
การคัดเลือกยา ในระดับประเทศ ได้แก่ การขึ้นทะเบียนและการทบทวนทะเบียนตำรับยา
และการคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ในระดับสถานบริการสาธารณสุข ได้แก่
การคัดเลือกยาเข้าสถานพยาบาลซึ่งแต่ละแห่งจะมีหลักเกณฑ์แตกต่างกันไป
4.2 การจัดหาและกระจายยา เริ่มจากการผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
ปัจจุบันโรงงาน ผลิตยาแผนปัจจุบันของเอกชนมีจำนวนลดจากกว่า 170 แห่ง ลงเหลือ
150 แห่ง ที่ผ่านหลักเกณฑ์และกระบวนการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice;
GMP) สำหรับแหล่งกระจายยา ได้แก่ โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน ร้านยา และคลินิก
สถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข และอื่น ๆ
4.3 การเงินการคลังที่เกี่ยวกับยา มูลค่าการบริโภคยา
ในปี 2544 จะอยู่ระหว่าง 35,578 ถึง 50,556.6 ล้านบาท ณ ราคาผู้ประกอบการ โดยมูลค่าผลิตยาในประเทศคิดเป็นร้อยละ
32.5 ถึง 53.6 ของมูลค่ายาทั้งหมด และตั้งแต่ปี 2539 ถึงปี 2543 ค่าใช้จ่ายด้านยามีสัดส่วนสูงมากกว่าร้อยละ
30 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
5. ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมผลิตยาชื่อสามัญซึ่งมีเจ้าของกิจการเป็นคนไทย
จากการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) ผู้ประกอบการผลิตยาชื่อสามัญขนาดใหญ่
3 แห่ง ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรมเทคโนโลยี
และผู้เชี่ยวชาญทรัพย์สินทางปัญญาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า ศักยภาพในการผลิตยังเป็น
conventional dosage form ตลาดยาภายในประเทศมีขนาดจำกัด ยังไม่มีอุตสาหกรรมสนับสนุนเพียงพอ
เช่น การผลิตตัวยาสำคัญและสารช่วยต่าง ๆ รวมทั้งศูนย์ศึกษาชีวสมมูลในประเทศก็ยังมีไม่เพียงพอ
และมีความเห็นสรุปได้ว่า
5.1 ข้อตกลงการค้าเสรีมีข้อดีคือ
ผู้ผลิตยาในประเทศมีโอกาสพัฒนาคุณภาพ สามารถส่งยาออกไปขายในประเทศที่มีข้อตกลงได้สะดวกขึ้นในกรณีที่ประเทศนั้น
ๆ มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน เช่น AFTA หรือ BIMST-EC ผู้ผลิตจะสามารถซื้อวัตถุดิบในราคาที่ถูกจากประเทศที่ทำข้อตกลงกัน
5.2 ข้อตกลงการค้าเสรีจะมีข้อเสียคือ รัฐจะขาดรายได้จากการยกเลิกภาษี
โรงงานของผู้ผลิตยาที่มีขนาดเล็กอาจจะต้องยกเลิกกิจการ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตในประเทศอินเดีย
หรือ ประเทศอื่น ๆ ที่สามารถผลิตวัตถุดิบเองได้ การขยายระยะเวลาของสิทธิบัตรจะทำให้ประเทศไทยต้องซื้อยาต้นแบบที่มีราคาแพงในระยะเวลาที่นานขึ้น
การส่งออกยาไปยังประเทศที่ทำข้อตกลงการค้าเสรีนั้น อาจจะมีอุปสรรคด้านมาตรฐานคุณภาพที่แต่ละประเทศอ้างอิงมาตรฐานที่ต่างกัน
6. มูลค่าการบริโภคยา และคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการขยายความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
การศึกษานี้คัดเลือกยากลุ่มตัวอย่าง โดยพิจารณาจากข้อมูลปริมาณและมูลค่าการนำเข้ายาตามชื่อสามัญทางยา
(generic name) ปี 2545 ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยคัดเลือกยาที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดรวมกันคิดเป็นร้อยละ
49.9 (9,938.7 ล้านบาท) ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด (19,925.4 ล้านบาท) ซึ่งมียาทั้งหมด
70 ชื่อสามัญทางยา (74 รายการเมื่อจำแนกเพิ่มด้วยวิถีการให้ยา) จากทั้งหมด
1,136 ชื่อ พบว่า
6.1 ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนยา ตั้งแต่ปี 2539-2546 ระยะเวลาที่ใช้ในการขึ้นทะเบียนยาเฉลี่ย 6.2?4.9 เดือนสำหรับยาต้นแบบ ในขณะที่ยาชื่อสามัญใช้เวลาเฉลี่ย 4.7?3.7 เดือน
6.2 ระยะเวลาการผูกขาดการตลาด
กลุ่มยาที่มีสิทธิบัตรโดยมีข้อถือสิทธิเป็น 1) drug substance 2) polymorph,
crystalline form และ process of intermediate 3) formula มีระยะเวลาผูกขาดทางการตลาดเฉลี่ย
13.4, 18.5 และ 18.8 ปีตามลำดับ
6.3 ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านยา ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า
หากมีการใช้ยาชื่อสามัญทดแทนยาต้นแบบ ณ สถานการณ์การใช้ยาปี 2546 จะช่วยประหยัดได้
10,570.80 ล้านบาท จากประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหากยากลุ่มนี้ไม่มียาชื่อสามัญ
20,681.59 ล้านบาท และมูลค่าประหยัดได้นี้คิดเป็นร้อยละ 104.5 ของค่าใช้จ่ายจริงสำหรับยา
ทั้ง 42 รายการในปี 2546
สำหรับการประมาณการมูลค่าหรือค่าใช้จ่ายด้านยาที่จะเกิดขึ้น หากมีการขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร
หรือการผูกขาดทางการตลาดเป็นเวลาตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี พบว่าจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อขยายระยะเวลาการผูกขาดทางการตลาดเพิ่ม
1 ปี เฉลี่ยระหว่าง 4.29 ถึง 43.95 ล้านบาทต่อยา 1 รายการ และจะเพิ่มขึ้นเป็น
557.78 ถึง 3,607.61 ล้านบาทเมื่อขยายระยะเวลาการผูกขาดฯออกไป 10 ปี
หากคำนวณจากจำนวนรายการยาใหม่ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในระหว่างปี 2542 ถึงปี 2547 เฉลี่ยปีละ 60 รายการ จะพบว่าค่าใช้จ่ายด้านยาเฉลี่ยต่อปีจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 257.24 ถึง 2,636.78 ล้านบาทเมื่อขยายระยะเวลาการผูกขาดฯออกไป 1 ปี และเพิ่มเป็น 33,466.69 ถึง 216,456.53 ล้านบาทเมื่อขยายระยะเวลาการผูกขาดออกไป 10 ปี
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
1. ข้อเสนอเกี่ยวกับการเจรจาการค้า ผู้วิจัยเสนอทางเลือกการกำหนดจุดยืนการเจรจาความตกลงการค้าเสรีในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาเป็น
2 ระดับ กล่าวคือ
1.1 ระดับที่จะรักษาผลประโยชน์ด้านสาธารณสุขสูงสุด คือ ไม่นำเรื่องที่เกี่ยวกับยาไปแลก เปลี่ยนเชิงการค้ากับสินค้าอื่น ๆ และไม่ยอมรับข้อเสนอทริปส์ผนวกไม่ว่าข้อใด เนื่องจากระบบปัจจุบันที่ปฏิบัติอยู่ ยาที่มีสิทธิบัตรก็สามารถผูกขาดการตลาดได้ถึง 13.4-18.8 ปี ซึ่งนานมากกว่าในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายอยู่แล้ว รวมทั้งตัวเลขมูลค่ายาที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น จากการขยายระยะเวลาการผูกขาดก็สูงมากและสูงขึ้นตามระยะเวลาการขยายการผูกขาด นอกจากนี้การยอมรับข้อเรียกร้องใด ๆ จากสหรัฐอเมริกาจะเป็นการเปิดรับผลกระทบจากทุกประเทศ เนื่องจากไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ เพราะเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติหลายฉบับ จึงไม่ควรนำเอาประโยชน์เฉพาะหน้าไปแลกกับภาระระยะยาวที่ไม่สิ้นสุด
1.2 ระดับการเจรจาแลกเปลี่ยนให้เกิดผลกระทบด้านสาธารณสุขน้อยที่สุด ได้แก่ การทำให้การขยายระยะเวลาผูกขาดทางการตลาดน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การชดเชยระยะเวลาความล่าช้าโดยพิจารณาเป็นรายกรณี หรือเมื่อพบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจริง และต้องยกเว้นในกรณีที่จะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ สำหรับการเชื่อมโยงระหว่างการขึ้นทะเบียนยาและสิทธิบัตรนั้น กำหนดเป็นมาตรการเชิงบริหารที่รัดกุมรอบคอบ เพื่อป้องกันมิให้มีการนำมาตรการดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด และสำหรับข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการปกป้องสิทธิ ต้องสร้างหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยต้องคงหลักการปฏิบัติที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นไปตามทริปส์ ข้อตกลงต้องไม่เพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนในการปฏิบัติ
ทบทวนหลักปฏิบัติในการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรที่เป็นสิทธิบัตรการใช้ใหม่ เนื่องจากการให้สิทธิบัตรในประเด็นนี้ส่งผลกระทบอย่างมากกับปัญหาสาธารณสุขของประเทศ กำหนดมาตรการเพื่อจัดการกับคำขอสิทธิบัตรที่เป็นลักษณะ evergreening patent หามาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมยาในประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมการใช้สินค้าไทยในหน่วยงานของรัฐ เร่งรัดการพัฒนา การตรวจสอบและเข้มงวดด้านคุณภาพมาตรฐานการผลิตยาเพื่อให้ได้ระดับสากล สนับสนุนผู้ผลิตยาในประเทศให้กำหนด product line ที่ตนเองมีความชำนาญให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนของการผลิตและการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง เร่งพัฒนาคุณภาพยาเพื่อสร้างความเชื่อถือและขยายการส่งออก และสนับสนุนการใช้ยาชื่อสามัญและการใช้ยาอย่างเหมาะสม
คณะผู้วิจัย
1. ภญ.ชุติมา
อรรคลีพันธุ์ : สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
2. ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี : สถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม
3. นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ : ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขด้านเศรษฐศาสตร์
สาธารณสุข
4. ผศ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ : คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. ภญ. อาจารย์ ศิริพา อุดมอักษร : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
6. นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร : สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
7. ภญ.ไพทิพย์ เหลืองเรืองรอง : สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
8. ภญ.อัญชลี จิตรักนที : กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
9. ภญ.ศรีเพ็ญ ตันติเวสส : สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
- คณาจารย์และนักวิชาการทุกสาขา
ร่วมต้านการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯที่เชียงใหม่
- การเจรจา
FTA มหันตภัยสึนามิทางเศรษฐกิจ
- ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ:
ปัญหาว่าด้วย"ทริปส์ผนวก"
-
ข้อเสนอการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯรอบที่
๕
-
ความยอกย้อนและวาระซ่อนเร้นของ
WTO และ FTA
- นักวิชาการเสนอคว่ำเขตเศรษฐกิจพิเศษ
(ปกป้องนายทุนยึดสมบัติชาติ)
- ไม่ควรนำเรื่องยาเข้าเจรจา
เอฟทีเอ. ไทย-สหรัฐ
- โรงพยาบาลไทย
หัวใจบริการ(ต่างชาติ)
- หนังสือร้องเรียนกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
- WTO
การค้าเสรี : ใครได้ใครเสีย
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com