มหาวิทยาลัยที่ไม่ให้ปริญญาผู้เรียน
แต่จะให้ปริญญาผู้รู้
มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น

เว็ปไซค์ที่บอกไม่ได้ว่ามีคุณภาพหรือไม่ เพราะคุณต้องตัดสินใจเอาเองว่าจะใช้คำคุณศัพท์ที่เหมาะสมกับเว็ปนี้อย่างไร?
เว็ปไซค์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการนำความรู้ที่นำเสนอไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการและสังคม
หากนำเอางานวิชาการไปใช้ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnight2545(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com

 

แถลงข่าวกรณีความขัดแย้งการสร้างท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย
การเปิดการเจรจาอย่างสันติทั้งสองฝ่าย

เรียนพี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพ

สืบเนื่องจากที่รัฐบาลอนุมัติให้บริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) เข้าไปดำเนินการก่อสร้างท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ดำเนินการก่อสร้างและชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้าง จนต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากเข้าไปคุ้มกันการก่อสร้าง ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในพื้นที่เป็นอย่างมาก และเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงได้

ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในทุกสังคม การใช้กำลังและอำนาจรัฐเข้าไปแก้ไขความขัดแย้ง แม้ว่าอาจทำให้ความขัดแย้งเฉพาะหน้าไม่บานปลาย แต่ก็เป็นผลให้เกิดการแบ่งแยกที่ลึกลงไปกว่านั้น อันไม่เป็นผลดีต่อส่วนรวมแต่อย่างใด

ทั้งสองฝ่ายของความขัดแย้งในกรณีนี้ ต่างก็อ้างว่ามีเหตุผลสนับสนุนการดำเนินงานของตน และต่างก็ใช้สื่อเพื่อโฆษณาจุดยืนของตนเอง ฝ่ายใดที่เข้าถึงสื่อได้มากกว่าก็มีโอกาสโฆษณาเผยแพร่ได้แพร่หลายกว่า

แต่น่าเสียดายที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีโอกาสนั่งลงเจรจากันอย่างสันติ ยกข้อมูลและเหตุผลของแต่ละฝ่ายขึ้นโต้แย้งกันอย่างเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชนไทย เพื่อที่ว่ารัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ตัดสินใจ ไม่ว่าจะตัดสินใจไปในทางหนึ่งทางใด ก็ต้องรับผิดชอบต่อความชอบธรรมของโครงการเบื้องหน้าสังคมไทยเอง

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ในฐานะตัวแทนของรัฐผู้ดูแลจัดสรรทรัพยากรของชาติอย่างเป็นธรรม ออกมาแสดงความรับผิดชอบ โดยจัดให้เกิดการพบปะระหว่างตัวแทนของปตท.ฝ่ายหนึ่ง กับ กลุ่มผู้คัดค้านอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง ผ่านทางการชี้แจงพูดคุยกันอย่างสันติ ตอบข้อสงสัยต่าง ๆ ของชาวบ้าน เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งนี้โดยเปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง เป็นสักขีพยานและทำความจริงให้ปรากฏผ่านสื่อ หรือถ่ายทอดสดผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเชื่อว่า การเปิดการเจรจาอย่างสันติ ด้วยข้อมูลและเหตุผล เป็นการแก้ไขความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ อันเหมาะกับกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

ดังนั้นจึงใคร่เรียกร้องพี่น้องประชาชนชาวไทย ให้ร่วมกันกดดันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตอบสนองข้อเรียกร้องนี้ เพราะเราประชาชนชาวไทยเท่านั้น ที่จะร่วมกันประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมดำรงคงอยู่ในระดับที่ลึกกว่ารูปแบบได้ต่อไป เพื่อที่ว่าสังคมไทยจะสามารถเผชิญความขัดแย้ง ซึ่งต้องเกิดมากขึ้นเป็นธรรมดาได้อย่างสงบสุขสืบไป

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖

 

ขอประนามการกระทำแบบเผด็จการของรัฐบาลทักษิณ
รัฐบาลต้องยุติโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียโดยด่วน

สืบเนื่องมาจากขณะนี้ได้มีกองกำลังตำรวจประมาณ 400 คน ได้เข้าไปพื้นที่ก่อสร้างโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เพื่อทำการสลายการชุมนุมด้วยสันติวิธีของเครือข่ายประชาชนคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียฯ โดยอ้างว่าเพื่อเข้าไปคุ้มครองการดำเนินโครงการของบริษัทผู้ดำเนินโครงการฯนี้

เราในนามสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)และองค์กรประชาชนภาคเหนือดังรายนามข้างล่าง มีความคิดเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้ คือ

1.รัฐบาลได้สร้างสถานการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างภาพให้ประชาชนผู้คัดค้านเป็นพวกใช้ความรุนแรงมาโดยตลอด เพื่อจะเป็นเหตุผลความชอบธรรมต่อการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมอย่างสันติวิธีของประชาชนผู้คัดค้าน เราขอประนามการกระทำของรัฐบาลในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่จงใจข่มขู่คุกคามสิทธิการชุมนุมของประชาชน ผู้คัดค้านที่กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้

2.รัฐบาลควรยุติโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนักวิชาการนับพันคนทั่วประเทศที่ได้ลงชื่อให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ เนื่องจากว่ารัฐบาลไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนและเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย เช่น การทำประชาพิจารณ์แบบไม่โปร่งใส การไม่สนใจถึงผลกระทบที่คณะกรรมการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสนอ ที่สำคัญประเทศไทยต้องเสียเปรียบประเทศมาเลเซียและโครงการนี้ไม่คุ้มทุน เสียมากกว่าได้ เป็นต้น

3.หากรัฐบาลยังไม่ฟังเสียงของประชาชนดื้อรั้นที่จะดำเนินโครงการฯนี้ต่อไป ก็เท่ากับว่ารัฐบาลมีเจตนาที่จะรับใช้นายทุนทั้งต่างชาติและนายทุนไทยผู้ได้รับผลประโยชน์ส่วนตนจากโครงการฯนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาติ และเป็นไม่เคารพสิทธิตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของการกระทำเยี่ยงของการปกครองแบบเผด็จการ อำนาจนิยมของรัฐบาลทักษิณมากกว่าการสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ด้วยความเชื่อมั่นพลังประชาชน

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)
เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ(คปช.)
แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ(นกน.)
เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ(คกน.)
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ 75 องค์กร

เรียกร้องการปลดปล่อย ออง ซาน ซู จี

ความเป็นมา
วันที่ 30 พฤษภาคม 2546 รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้วางแผนเป็นอย่างด ีและจัดให้มีการซุ่มโจมตีนักการเมืองและนักกิจกรรมฝ่ายค้านที่เรียกร้องประชาธิปไตยของพม่าประมาณ 70 คน พวกเขาถูกตีอย่างโหดร้ายด้วยไม้ไผ่แหลมจนตาย และบางคนหายตัวไปโดยไร้ร่องรอย

นางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านหัวหน้าพรรคสันนิบาตชาติ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะที่ศรีษะ และถูกลักพาตัวไปขังไว้ในคุกของทหารพม่า ส่วนรองหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติ นายอู ทิน อู ซึ่งอายุกว่า 70 ปีได้หายตัวไปเช่นกัน และไม่มีข่าวคราวว่าเขาอยู่ที่ไหน หรือปลอดภัยหรือไม่ ุ สมาชิกฝ่ายเยาวชนส่วนใหญ่ของพรรคสันนิบาติชาติประมาณ 20 คน หลายฝ่ายเชื่อว่าพวกเขาถูกจับไปขังไว้ในคุกที่เลื่องชื่อในความโหดร้ายของพม่าชื่อ "คุกอินเส่ง"

ผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติในกิจการของประเทศพม่า นายราซาลี อิสเมล ได้เดินทางถึงพม่าเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเขาได้รับมอบหมายจากองค์การสหประชาชาติในการเข้าพบนาง ออง ซาน ซู จี และเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอ แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ายังไม่อนุญาตให้เขาเข้าพบกับนาง ออง ซาน ซู จี เท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาของรัฐบาลพม่า ในการหมิ่นประมาทและไม่ใส่ใจต่อองค์การสหประชาชาติ ซึ่งแสดงออกโดยหัวหน้าของรัฐบาลพม่า นายพล ตันฉ่วย ได้เดินทางออกจากกรุงย่างกุ้งเพื่อไปพักผ่อน
มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยทั้งหมดในพม่าถูกปิดลงโดยไม่มีกำหนด

ผู้นำทางการเมืองของพม่าที่ได้รับการเลือกตั้งและถูกกักบริเวณในบ้านของตนเอง
นางออง ซาน ซู จีและพรรคสันนิบาตแห่งชาติชนะการเลืกตั้งอย่างท่วมท้นจากประชาชนชาวพม่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 แต่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าปฏิวัติในผลการเลือกตั้งดังกล่าว และยังคงเดินหน้าปกครองประเทศอย่างผิดกฎหมายด้วยระบอบเผด็จการทหาร

พ.ศ.2534 นางออง ซาน ซู จี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในฐานะที่เธอต่อสู้และเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าด้วยวิธีการสันติวิถี ปราศจากความรุนแรง

ออง ซาน ซู จี ถูกกักในบริเวณบ้านของเธอจนถึง พ.ศ.2539 ระหว่างที่เธอถูกกักตัวในบริเวณบ้านพักนั้น เธอไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปไหนเลย แต่ทุกๆวันอาทิตย์จะมีกลุ่มประชาชนที่มารอพบเธอข้างๆกำแพงบ้าน และออง ซาน ซู จีจะออกมาพูดกับประชาชนจากหลังกำแพงในบ้านเธอ

ใน พ.ศ.2539 ออง ซาน ซู จีได้รับการปล่อยตัว เธอพยายามที่จะออกเดินทางไปปราศรัยกับประชาชนที่ให้การสนับสนุนเธอ แต่ละครั้งที่ออง ซาน ซู จี เดินทางออกจากเมืองหลวงคือเมืองย่างกุ้ง ทหารจะหยุดรถของเธอและไม่อนุญาตให้เธอไปถึงจุดหมายได้

พ.ศ. 2543 ออง ซาน ซู จี ถูกกักบริเวณภายในบ้านของเธออีกครั้งเป็นเวลา 19 เดือน

ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2544 การเจาจรลับระหว่างออง ซาน ซู จี กับผู้นำเผด็จการทหารพม่าเริ่มขึ้น ก่อให้เกิดความหวังว่าการเจรจาพูดคุยในครั้งนี้ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างการสนทนาระหว่างรัฐบาลเผด็จการ พรรคสันนิบาตแห่งชาติและชนกลุ่มน้อยต่างๆ

อิสรภาพระยะสั้น
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2545 ออง ซาน ซู จีได้รับการปล่อยจากการกักบริเวณในบ้านพัก และประกาศว่าช่วงเวลาแห่งการสร้างความไว้ใจได้หมดลงแล้ว ขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้คือ การก้าวไปข้างหน้าเพื่อเปิดการเจรจา แต่หลังจากที่เธอได้รับการปล่อยตัว รัฐบาลพม่าไม่ได้เชิญเธอกลับไปทำการเจรจา อย่างไรก็ตามเธอมีอิสรภาพมากขึ้นในการเคลื่อนไหว ออง ซาน ซู จีเริ่มที่จะเดินทางไปทั่วประเทศพม่าทันที เพื่อเยี่ยมเยือนพบปะประชาชนและเปิดที่ทำการสาขาพรรคสันนิบาตชาติของเธอ

ในทุกที่ที่เธอเดินทางไปประชาชนจำนวนมากจะเฝ้ารอ ระหว่างทางที่เธอเดินทางไปมากครั้งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อฟังคำปราศรัยและให้การสนับสนุน ออง ซาน ซู จีและพรรคของเธอ

ช่วงเวลาหนึ่ง เธอ ได้รับอนุญาตให้เดินทางและปราศรัยโดยอิสระ แต่แรงสนับสนุนออง ซาน ซู จีที่มากขึ้นนั้น ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ากลัวว่าจะมีประชาชนจำนวนมากขึ้นที่สนับสนุนเธอ และจะลุกขึ้นมาต่อต้านระะบอบการปกครองแบบเผด็จการที่เป็นอยู่ หกเดือนต่อมา รัฐบาลพม่าเริ่มที่จะทำให้การเดินทางเธอลำบากขึ้น ในเดือนธันวาคม พนักงานดับเพลิงของรัฐใช้รถดับเพลิงในการสลายฝูงชนจำวนมากที่มารอและให้การต้อนรับออง ซาน ซู จี แต่นางออง ซาน ซู จีได้ปีนขึ้นไปบนรถดับเพลิงนั้น และปราศัยต่อกับประชาชนที่ให้การสนับสนุนเธอ อย่างไรก็ตาม การคุกคามจากฝ่ายรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไป และส่อเค้าว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นการกลับมาของการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้ ออง ซาน ซู จีที่พึ่งเกิดขึ้น ก่อนหน้านั้นรัฐบาลพม่าได้จัดส่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและปล่อยนักโทษคดีอุกฉกรรจ์จากคุก เพื่อให้ออกไปทำร้ายและฆ่าผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตชาติของ ออง ซาน ซู จี

แผนการการปราบปรามอย่างรุนแรงและการวางแผนฆ่านักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ ในพื้นที่ทางตอนเหนือของพม่าที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศพม่าเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตมากขึ้น ความหวังในกระบวนการสันติภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงและกระบวนการในการสร้างการเจรจาได้ถูกทำให้พังทลายไป ด้วยการกระทำที่ผิดกฎหมายและไร้ซึ่งความรับผิดชอบของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า

ไม่มีใครรู้ว่าขณะนี้นางออง ซาน ซู จีและสมาชิกพรรคสันนิบาตชาติถูกกักตัวอยู่ที่ไหน รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าออกมาบอกว่า " เป็นการกักขัง เพื่อการปกป้อง" แต่การปกป้องโดยไร้เหตุผลและป่าเถื่อนดังกล่าวจากรัฐบาลพม่า ไม่ได้ทำให้เรามั่นใจได้เลยว่าออง ซาน ซู จีจะปลอดภัยและได้รับอิสรภาพ ในประเทศพม่าขณะนี้ประชาชนถูกตัดขาดจากการสื่อสารต่างๆ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถูกปิด

สิ่งที่คุณทำได้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ทั่วโลกประณามพฤติกรรมอันผิดกฎหมายดังกล่าวของรัฐบาลพม่า แต่กลุ่มประเทศASEAN ยังคงไม่มีการแสดงท่าทีใดต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เราเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เราประชาชนชาวเชียงใหม่ สามารถที่จะเขียนไปรษณีย์บัตร ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร แสดงความห่วงใยและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีของเรากระทำดังนี้

- เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนาง ออง ซาน ซู จีและสมาชิกพรรคสันนิบาตชาติทันที
- กระตุ้นให้รัฐบาลพม่าเริ่มต้นกระบวนการปรองดองแห่งชาติพม่าใหม่
- ยุติการจ่ายเงินจำนวน 36 ล้านบาทต่อปีเพื่อซื้อก๊าชธรรมชาติจากรัฐบาลที่มีเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม ุ หยุดทำธุรกิจหรือลงทุนในประเทศพม่า
ุ - โทรไปที่สถานีวิทยุขอเพลงของวงคาราบาว ชื่อเพลง "ออง ซาน ซู"และเพลง" Walk on " ของวง U2 ที่แต่งให้นางออง ซาน ซู จี
- กรุณาเขียนไปรษณีย์บัตรทันทีและส่งไปถึง นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทำเนียบรัฐบาล
- หากคุณเป็นชาวต่างประเทศ กรุณาเขียนจดหมาย ส่งอีเมล์ โทรสาร โทรศัพท์ ไปที่ สถานทูตของคุณโดยทันที

วันที่ 19 มิถุนายน วันคล้ายวันเกิดปีที่ 58 ของ นางออง ซาน ซู จี ขอเชิญคุณ ครอบครัวและเพื่อนๆของคุณร่วมกิจกรรมจุดเทียนภาวนาที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 20.00 น เพื่อแสดงการสนับสนุนต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยสันติวิถี และสนับสนุนนางออง ซาน ซู จี

ปลดปล่อยพม่า, ปลดปล่อย ออง ซาน ซู จี วันที่ 19 มิถุนายน 2546 ร่วมกิจกรรมจุดเทียนภาวนา ณ ประตูท่าแพ 20.00 น เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดออง ซาน ซู จี เพื่อเรียกร้องอิสรภาพของ ออง ซาน ซู จีและอิสรภาพทางการเมืองของพม่า

ขอบคุณแรงสนับสนุนจากทุกท่าน พวกเราจะเตรียมเทียนไว้สำหรับทุกท่าน (อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่)

สรุปรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กรณี ความรุนแรงอันเนื่องมาจากโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย

ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
โดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
วันที่ 11 มิถุนายน 2546

ตามที่ได้มีเหตุการณ์ความรุนแรง สืบเนื่องจากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย -มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ระหว่างที่มีการเตรียมการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย ณ โรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลานั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและตรวจสอบกรณีเหตุการณ์รุนแรงอันเนื่องมาจากโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียขึ้น คณะอนุกรรมการได้พิจารณาศึกษาและตรวจสอบ พร้อมได้ข้อยุติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีมติให้ความเห็นชอบในรายงานผลการตรวจสอบแล้ว จึงขอแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้

ความเป็นมา
รัฐบาลชุดก่อนได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียไปโดยมิได้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมิได้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในสองกระบวนการดังกล่าว ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในการนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้ทำการศึกษากรณีเรื่องนี้อย่างรอบด้าน พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนและสั่งการแก้ไขคลี่คลายปัญหาเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวถึงสองครั้ง แต่ก็มิได้รับการพิจารณาและชี้แจงถึงเหตุผลในการดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปแต่อย่างใด

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลได้มีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรดังกล่าว กลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่งได้รวมตัวชุมนุมอย่างต่อเนื่องตลอดมา ณ บริเวณลานหอยเสียบ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จึงได้รวมตัวกันเพื่อมายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนโครงการนี้อีกครั้ง ณ บริเวณโรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ในการเดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ได้มีการประสานงานระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียดังเช่นที่เคยปฏิบัติกันมา เมื่อครั้งที่รัฐบาลลงไปฟังข้อเท็จจริงจากผู้ชุมนุมคัดค้านดังกล่าว ณ บริเวณลานหอยเสียบ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ก็โดยการประสานงานของนายวัชรพันธุ์ จันทรขจร ในฐานะกรรมการอำนวยการประสานงานและติดตามผลการปฏิบัติราชการ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ในการประสานงานครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน นายวัชรพันธุ์ จันทรขจร ก็ได้ทำหน้าที่ประสานงานอีกครั้งหนึ่งดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา หากแต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาล เนื่องจากมิได้มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ เป็นเหตุให้ประเด็นการเจรจาเรื่องสถานที่ชุมนุมระหว่างผู้ชุมนุมที่ต้องการไปชุมนุมบริเวณสวนหย่อมริมคลองห่างจากโรงแรมเจบีประมาณ 150 เมตร กับฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการให้ชุมนุมบริเวณธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาถนนเพชรเกษม จึงไม่อาจเป็นที่ตกลงกันแน่ชัด

ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการมอบหมายจากรัฐบาลให้บุคคลผู้อื่นใดเข้ามารับผิดชอบประสานงานตามที่ฝ่ายชุมนุมคาดหวัง สถานการณ์ที่เริ่มต้นจากการชุมนุมเรียกร้องโดยสันติ จึงกลายเป็นการเผชิญหน้าโดยไม่จำเป็น

สรุปข้อเท็จจริงก่อน ขณะเกิด และหลังความรุนแรง
ในระหว่างการเดินทางของผู้ชุมนุมฯ จากบริเวณลานกีฬาโคกสัก อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มายังอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งด่านสกัดขบวนรถยนต์ของผู้ชุมนุมฯ ที่อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ทำให้ขบวนผู้ชุมนุมต้องหยุดอยู่ประมาณ ๒ ชั่วโมง แต่ก็ตกลงกันได้ในที่สุด และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำขบวนรถยนต์ผู้ชุมนุมเดินทางมายังอำเภอหาดใหญ่ เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. โดยมิได้นำไปยังเส้นทางเดิมที่ตกลงกันไว้ระหว่างผู้ชุมนุมกับนายวัชรพันธุ์ จันทรขจร แต่ได้นำมาจนถึงบริเวณใกล้แยกวงเวียนน้ำพุ ซึ่งรถตำรวจนำขบวนได้หลบไป ส่วนผู้ชุมนุมต้องหยุดอยู่บนถนนจุติบุญสูงอนุสรณ์ (ใกล้วงเวียนน้ำพุ) โดยไม่สามารถเคลื่อนขบวนต่อไปได้เพราะมีแนวรั้วเหล็กและเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เป็นจำนวนมากหลังแผงรั้วเหล็กดังกล่าว

ขบวนผู้ชุมนุมจึงหยุดพักรับประทานอาหาร และผู้ชุมนุมที่เป็นชาวมุสลิมได้ทำละหมาด ทั้งนี้เพื่อรอฟังผลการเจรจาระหว่างนายวัชรพันธุ์ จันทรขจร กับฝ่ายรัฐบาลในกรณีของสถานที่ชุมนุม ในระหว่างที่รอฟังผลการเจรจาอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งขบวนบริเวณหน้าแผงเหล็กกั้น แล้วให้สัญญาณให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้โล่ห์และกระบองเป็นเครื่องมือในการสลายการชุมนุมดังกล่าว ทำให้มีผู้บาดเจ็บ ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ปฏิบัติงานขององค์กรพัฒนาเอกชนไปจำนวน 12 คน โดยนำไปคุมขังไว้มิให้พบทนายความ และปรึกษา พร้อมร่วมฟังการสอบสวน อีกทั้งมิได้แจ้งสถานที่คุมขังให้ญาติทราบ และไม่ยอมให้ญาติเยี่ยมแต่อย่างใด ในภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้งข้อหาและฟ้องเป็นคดีอาญาหลายข้อหากับผู้ถูกจับกุมทั้ง 12 คน โดยอ้างว่าร่วมกับพวกรวม 35 คน ต่อศาลจังหวัดสงขลา

ดังนั้นจากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น คณะอนุกรรมการฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีความเห็น ดังนี้

ก. การที่รัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนจากโครงการที่มีผลกระทบต่อ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 46, มาตรา 56, มาตรา 58, มาตรา 59, มาตรา 60, มาตรา 76 และมาตรา 79

ข. การที่รัฐบาลใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ในขณะที่ผู้ชุมนุมใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยปราศจากหลักฐานและเหตุผลรองรับว่าผู้ชุมนุมได้ใช้หรือจะใช้กำลังบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจแต่อย่างใดนั้น เป็นการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมเกินกว่าความจำเป็น จึงเป็นเหตุทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 31, มาตรา 44 และมาตรา 48

ค. กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับ ห้ามผู้ถูกจับกุมมิให้พบและปรึกษาทนายความ รวมทั้งไม่ได้แจ้งให้ญาติผู้ต้องหาทราบในโอกาสแรก และมิให้ญาติเยี่ยมผู้ต้องหา และไม่อนุญาตให้ทนายความร่วมฟังการสอบปากคำผู้ต้องหานั้น ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 237, มาตรา 239 และมาตรา 241

มาตรการแก้ไขปัญหา

1. เพื่อเป็นการคลี่คลายความเสียหายเฉพาะหน้าให้แก่ผู้ชุมนุม อันเป็นผลจากการละเมิดสิทธิของกลุ่มผู้ชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ขอให้เยียวยาความเสียหาย โดยการชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน ตลอดจนยุติการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม ภายใน 30 วัน

2. เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้เกิดเหตุการณ์อันก่อให้เกิดความรุนแรงและล่วงละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เฉกเช่นกรณีนี้ขึ้นอีกในอนาคต คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระ เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อประกอบเป็นแนวทางที่พึงปฏิบัติโดยชอบต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และในการนี้ ชอบที่ได้มีการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับสั่งการ และระดับปฏิบัติการ ในการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ว่านี้ อนึ่งในการสอบสวนหากปรากฏผู้กระทำผิด ก็ชอบที่จะมีการแสดงความรับผิดชอบ และลงโทษตามควรแก่กรณี

ในการทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความตระหนักเป็นอย่างดี ในความสำคัญของภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารประเทศและดูแลความเรียบร้อยภายในบ้านเมืองของรัฐบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทุกระดับ แต่ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ปรารถนาที่จะได้เห็นการปฏิบัติของรัฐบาลและ เจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนคนไทยเป็นไปอย่างถูกต้อง ชอบธรรม สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญของประเทศ เพื่อความสมัครสมานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชนในชาติสืบไป.

บทความใหม่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ๒๕๔๖

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๑
อิรักในอุ้งเล็บอินทรีอเมริกัน
โดยคณะเศรษฐศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๒
ฐานคิดความยุติธรรมตะวันตก(กรีก-คริสเตียน)
เรียบเรียงโดย สมเกียรติ ตั้งนโม

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๓
กฎหมายกับการเบียดบังคนจน
ไพสิฐ พาณิชย์กุล : สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๔
ไทยกับ WTO กับทางออกที่ดีที่สุด
พอล เลอมัง - สมาชิกทางไกลมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - เจนีวา

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๕
Semiology
สัญญศาสตร์-การศึกษาเรื่องเครื่องหมาย

โดย สมเกียรติ ตั้งนโม
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๖
ข่าวเด่นที่ไม่เป็นข่าว 25 อันดับ ประจำปี 2544-2545
โดย : ภัควดี
นำมาจากกระดานข่าวขนาดยาวของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๗
ก้อนหินของนักปรัชญา :
การแต่งงานของนิเวศวิทยากับการเล่นแร่แปรธาตุ
เรียบเรียงโดย : สมเกียรติ ตั้งนโม

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๘
สามัคคีน้ำ : กรณีลุ่มน้ำแม่ตาช้าง
ปาฐกถานำโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๙
วิทยาศาสตร์กับเสรีภาพของมนุษย์
ปาฐกถานำโดย วีระ สมบูรณ์

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๑๐
อะไรคือวัฒนธรรมทางสายตา? What is visual culture
เรียบเรียงโดย สมเกียรติ ตั้งนโม

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๑๐
โฉนดที่ดินชุมชน ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมเพื่อความมั่นคงทางสังคม
โดย กฤษฎา บุญชัย

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๑๑
ยุทธวิธีคนจนกับการต่อสู้เชิงนโยบาย
โดย ประภาส ปิ่นตกแต่ง และ กฤษฎา บุญชัย

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๑๒
แปลงทรัพย์ให้เป็นทุน กระบวนการแย่งชิงทรัพย์จากคนจน
กฤษฎา บุญชัย
- โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๑๓
สิทธิมนุษยชนถดถอย หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001
นางแมรี โรบินสัน
อดีตข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๑๔
โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว (ตอนที่ ๑)
ดร.เกษียร เตชะพีระ - คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๑๕
ประเทศไทยกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
เขียนโดย พอล เลอมัง (บทความจากสมาชิก มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๑๖
Brand Image Building
เครื่องมือทางการตลาดที่ไม่เคยตกยุค ???

โดย วิภา ดาวมณี (กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน)

บทความใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๑๗
โสกราตีส รากเหง้าเหตุผลและศีลธรรมตะวันตก
โดย สมเกียรติ ตั้งนโม (วจศ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

 

กระบองที่ตีหัวชาวบ้านไม่ใช่คำตอบ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

มีปัญหาเกี่ยวกับโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ซึ่งรัฐบาลไม่เคยตอบ ทั้งรัฐบาลนี้และรัฐบาลชุดก่อน ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับคนที่จะนะเท่านั้น แต่เกี่ยวกับคนไทยทั้งประเทศ และตราบเท่าที่ยังไม่ได้ตอบชี้แจงให้กระจ่าง ปัญหาก็จะยังค้างคาอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าจะตีหัวชาวบ้านหัวร้างข้างแตกไปสักเท่าไร

1) ปัญหาความคุ้มทุนของโครงการ
โครงการนี้นับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ใน พ.ศ.2522 สืบมาจน พ.ศ.2540 กำหนดว่าไทยจะต่อท่อจากหลุมขึ้นไปมาบตาพุด เพื่อใช้ส่วนแบ่ง 50% ของไทย ส่วนมาเลเซียก็จะต่อท่อก๊าซจากหลุมเข้าไปใช้ในประเทศของตนเอง ต่างคนต่างออกค่าก่อสร้างท่อเอาเอง

ใน พ.ศ.2539-40 โครงการถูกเปลี่ยนแปลง ก๊าซจากหลุมที่ไทยจะเอาไปใช้ที่มาบตาพุดถูกลดลงมาเหลือเพียง 40% ส่วนอีก 10% ที่เหลือ ไทยจะต่อท่อส่งเข้ามาสู่สงขลา ร่วมกันไปกับส่วนของมาเลเซียอีก 50% เป็น 60%

ฉะนั้นก๊าซที่จะขึ้นที่จะนะนั้นจึงเป็นก๊าซที่ไทยจะเอามาใช้ได้เพียง 20% ของทั้งหมด ที่เหลืออีก 80% ต้องส่งต่อไปให้มาเลย์

สำหรับก๊าซจำนวนน้อยที่ไทยจะได้ใช้นี้ ไทยต้องออกเงินค่าก่อสร้างครึ่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ควรตราไว้ด้วยว่า ส่วนโครงการที่ไทยจะส่งก๊าซของไทยเองอีก 40% จากหลุมไปยังมาบตาพุดก็ยังมีอยู่ ซึ่งไทยต้องออกเงินสร้างเองทั้งหมด

ผู้ที่ได้ประโยชน์จากสัญญาอัปลักษณ์นี้คือ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน (พูดอีกอย่างหนึ่งคือผู้ถือหุ้นของบริษัทนี้) แต่ประโยชน์หรือกำไรที่จะได้ก็ไม่สู้จะสูงมากนัก ปตท.ต้องลงทุนสร้างท่อครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 21,500 ล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ยซึ่งคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 8% ต้องใช้เชื้อเพลิง 8% ของก๊าซทั้งหมดสำหรับโรงแยกก๊าซ ส่วนการขายบริการคือค่าผ่านท่อ(อัตรา 7.68 เหรียญต่อ 1,000 ลบ.ฟุต) นั้น ปตท.จะได้รับเงิน 75,000 ล้านบาท แต่เงินจำนวนนี้ทยอยจ่ายใน 20 ปี ส่วนค่าภาคหลวง 5% ที่รัฐจะได้รับจากการนี้มีมูลค่าเพียง 230 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น

ลองคิดดูเถิดว่าคุ้มหรือไม่ในแง่ธุรกิจ ยิ่งคิดทางการเมืองก็ต้องรวมเอาวิถีชีวิตของชาวบ้าน และระบบนิเวศชายฝั่งอันอุดมสมบูรณ์แต่เปราะบางของแถบนั้นด้วยแล้ว ก็อาจถือได้ว่าเป็นโครงการที่ขาดทุน แม้บริษัทมหาชนแห่งหนึ่งอาจเก็บเกี่ยวกำไรไปปันผลกันได้บ้างก็ตาม

และในที่สุด เราก็ต้องลงทุนต่อท่อจากหลุมเพื่อนำก๊าซมาใช้ที่ใดที่หนึ่งในเมืองไทยจนได้ เพราะจะปล่อยก๊าซอีก 40% ของเราไปเปล่าๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ และส่วนนี้แหละที่เราต้องลงทุนเองทั้งหมด

2) ไม่มีโครงการใช้ก๊าซในภาคใต้
โครงการนี้เป็นการนำก๊าซขึ้นมาส่งผ่านไปยังมาเลเซียเกือบจะล้วนๆ เพราะก๊าซ 10% ของไทยที่จะนำขึ้นฝั่งพร้อมกันนี้(เท่ากับ 94.16 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน) ไม่มีแผนรองรับว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร ได้แต่อ้างว่านำมาพัฒนาภาคใต้

นายกรัฐมนตรีเองพูดว่า "การทำโครงการนี้ไม่ใช่เพื่อต้องการก๊าซไปใช้ในอุตสาหกรรม เพราะไม่ได้ทำอุตสาหกรรมต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว เป็นการนำมาใช้ป้อนให้กับโรงงานที่ใช้ก๊าซเป็นพลังงาน (ท่านนายกฯไม่ได้ระบุว่าโรงงานอะไร) โรงไฟฟ้า และส่งให้ประเทศมาเลเซีย" (มติชน 27 พ.ย. 2545)

คำถามว่าจะเอาก๊าซเพียง 10% นี้ไปใช้ทำอะไรจึงเป็นคำถามที่ตอบไม่ได้ และไม่เคยตอบ ไม่ว่าจะถามในวุฒิสภาหรือในหมู่สาธารณชนก็ตาม

จนถึงปี 2546 กฟผ.ไม่เคยมีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคใต้ตอนล่างเลย (ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2001 ซึ่งวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้าไปจนถึง พ.ศ.2559) จนถึงวันที่ 1 เมษายนของปีนี้เอง กฟผ.จึงได้บรรจุแผนการสร้างโรงไฟฟ้าด้วยพลังก๊าซธรรมชาติขนาด 700 เมกะวัตต์ไว้ในโครงการ (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2003)

โดยให้เหตุผลตรงไปตรงมาไว้อย่างน่าอัศจรรย์ว่า "เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในเรื่องการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย"

ทำไมจึงต้องเป็นโรงไฟฟ้า? เพราะโรงไฟฟ้าในแผนการดังกล่าวจะใช้ก๊าซถึงวันละ 84.8 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ทำให้ก๊าซส่วนที่เป็นของไทยเหลือเพียง 9.37 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน แม้จำนวนที่น้อยลงนี้ก็นับเป็นปริมาณก๊าซที่ล้นเกินความต้องการของภาคใต้ตอนล่างอยู่ดี

แปลว่าจะเกิดโรงไฟฟ้าขึ้นอีกโรงหนึ่งเพื่อรองรับโครงการท่อก๊าซ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีคุยกับประชาชนว่าไฟฟ้าในประเทศนั้นเหลือ 9,000 ถึง 10,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงิน 4 แสนล้านบาท (บทสนทนาในวันที่ 15 มีนาคม 2546)

3) ความล้นเกินของไฟฟ้าในภาคใต้
ตามตัวเลขของ กฟผ.เอง ในปี 2545 ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้มีค่า 1,356 เมกะวัตต์ ในปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,381 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ กฟผ.ได้ลงทุนหลายพันล้านบาทสร้างระบบที่อาจเชื่อมไฟฟ้าจากภาคกลางและมาเลเซียมาใช้ในช่วงความต้องการสูงสุดอีก 650 เมกะวัตต์ โครงการเชื่อมไฟฟ้าเพื่อแลกเปลี่ยนกันนี้มีเหตุผล เพราะช่วงสูงสุดของความต้องการไฟฟ้าระหว่างภาคใต้กับมาเลเซียและภาคกลาง(ซึ่งมีไฟฟ้าล้นเกินจำนวนมากอยู่แล้ว) นั้นไม่ตรงกัน จึงสมควรดึงมาแลกเปลี่ยนกันในต่างช่วงเวลาได้ดี คุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา เคยกล่าวว่าเป็นวิธีปกติธรรมดาที่ใช้กันในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

ฉะนั้นในปีนี้และอีกสองสามปีข้างหน้า เห็นได้ชัดว่ามีความมั่นคงด้านไฟฟ้าในภาคใต้อย่างแน่นอน

ปัญหาอยู่ที่ว่าในอนาคตความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ต้องเพิ่มขึ้น (แต่จะเพิ่มในอัตราที่สูงเท่ากับ 135 เมกะวัตต์ต่อปี อย่างที่คาดการณ์หรือไม่ เถียงกันได้และน่าเถียงอย่างยิ่งด้วย) ปัญหานี้จะตอบได้ต้องกลับไปดูงานศึกษาที่ กฟผ.ทำไว้ ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้จนถึงปี 2559 จะมีถึง 5,106.3 เมกะวัตต์ โดยไม่รวมโรงไฟฟ้าพลังก๊าซที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อสนองนโยบายนี้

ในแผนนี้ได้รวมเอาไฟฟ้าที่จะผลิตจากบ่อนอก-บ้านกรูดไว้ด้วยจำนวนมาก (ในโครงการเปลี่ยนระบบสายส่งบางสะพาน-สุราษฎร์ธานี) ในขณะที่ปัจจุบันคาดกันว่าโรงไฟฟ้าทั้งสองจะเปลี่ยนเชื้อเพลิงและย้ายไปสถานที่ใหม่ ไม่ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ใดก็ตาม ปริมาณไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นก็ยังคงเดิม กระทบต่อแผนของ กฟผ.เพียงการเปลี่ยนจุดที่จะปรับปรุงสายส่งเท่านั้น ฉะนั้นปริมาณไฟฟ้าที่ภาคใต้จะมีใน พ.ศ.2559 จึงยังคงเดิม

แม้ยอมรับการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในภาคใต้อย่างเกินจริง ใน พ.ศ.2559 ภาคใต้ก็ต้องการไฟฟ้าเพียง 3,761 เมกะวัตต์ เท่านั้น

ด้วยเหตุดังนั้น โรงไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อใช้ก๊าซส่วนของไทยนี้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างแต่อย่างใด สอดคล้องกับงานศึกษาของ รศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ซึ่งสรุปเรื่องไฟฟ้าไว้ว่า "ผลจากโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซและท่อก๊าซนี้จะยังไม่เข้ามาตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ภายในระยะ 15 ปีข้างหน้าโดยตรง" (ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสำรอง โครงการก่อสร้างโรงงานแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งร่วมลงทุนไทย-มาเลเซีย, น.23)

4) ใครจ่าย
ความล้นเกินความต้องการของก๊าซและไฟฟ้า รวมทั้งการลงทุนที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ ในที่สุดคนไทยทุกคนเป็นผู้จ่าย และจ่ายในหลายลักษณะด้วย นับตั้งแต่เงินงบประมาณ ไปจนถึงค่าพลังงานที่แพงเกินจริง รวมถึงการลดถอยลงของความสามารถในการแข่งขันของการผลิตในประเทศไทย

5) วาระซ่อนเร้น
ดูเฉพาะโครงการท่อก๊าซซึ่งถูกเปลี่ยนให้นำมาขึ้นที่จะนะนั้น ไม่มีเหตุผลความชอบธรรมใดๆ เลย ดังที่กล่าวแล้ว แต่ในความเป็นจริง รัฐบาล(ทั้งชุดที่แล้วและชุดนี้) มีวาระซ่อนเร้นเบื้องหลังโครงการนี้หรือไม่

เช่นมีโครงการขนาดใหญ่ในการเปิดพื้นที่ภาคใต้เป็นเขตอุตสาหกรรม เป็นต้น หากมีอะไรเป็นวาระซ่อนเร้นเช่นนี้ ชอบที่จะเปิดเผยโครงการทั้งหมดให้สังคมไทยได้รับรู้ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมและตรวจสอบอย่างจริงจัง

6) หัวชาวบ้าน
หัวชาวบ้านจะแตกอีกเท่าไร ก่อนที่โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์จะโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศ ไม่เฉพาะแต่ชาวจะนะเท่านั้นได้เข้ามาตรวจสอบได้จริง
(อาศัยข้อมูลจากประสาท มีแต้ม, ภาระที่ไม่จำเป็นด้านพลังงาน : วิเคราะห์ปัญหาโรงไฟฟ้าและท่อก๊าซไทย-พม่า-มาเลเซีย)

 

ท่อแก๊สภาคใต้อาจจะระเบิดก่อนเริ่มโครงการ
วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ / 3 มิถุนายน 2546

บริษัททรานส์ไทย-มาเลเซียกำลังเจาะสำรวจดินแล้ว เวลาของความรุนแรงจากความขัดแย้งเรื่องท่อแก๊สกำลังใกล้เข้ามา เรามีทางเลือกไหม?

ความรุนแรงเป็นสาเหตุของการตายการพิการและการสูญเสียเชิงสุขภาพที่สำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการทางมันสมองทำให้มนุษย์สามารถอยู่เป็นครอบครัว ชุมชน เมือง และรัฐ ซึ่งมีประสิทธิภาพในสร้างความสะดวกสบายอย่างที่สัตว์อื่นไม่สามารถทำได้ แต่วิวัฒนาการส่วนนี้ก็ไม่ได้ลดทอนสัญชาติญาณแห่งความรุนแรงที่ติดมาจากสัตว์ให้หมดสิ้น

ในระดับนานาชาติ ชุมชนและรัฐชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกใช้ความรุนแรงกำจัดผู้ปกครองของอีกรัฐหนึ่งที่มีวิธีคิดที่แตกต่างกัน ภายในเอเซียด้วย การเจรจาสันติภาพระหว่างสิงหลและทมิฬหยุดชะงัก รัฐบาลกลางอินโดนีเซียทุบโต๊ะยุติการเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาเจะห์ส่งทหารเข้าไปสองหมื่น โรงเรียนถูกเผาวันเดียวสองร้อยโรงพร้อมกัน ทำนองเดียวกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศสงครามกับกบฎมุสลิมมินดาเนาภายใต้ความช่วยเหลือทางการทหารของสหรัฐอเมริกา

ความรุนแรงในประเทศไทยในอดีตเกิดจากกระแสการต่อสู้ในเมืองเกิดขึ้นระหว่างอำนาจเผด็จการทหารกับอำนาจประชาธิปไตยของปัญญาชน ระหว่างเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับราษฎรที่ถูกข่มเหงรังแก ความรุนแรงในสังคมไทยที่กำลังก่อตัวใหม่ คือ ความรุนแรงจากปัญหาการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

ในการจัดประชาพิจารณ์โดยรัฐบาลที่เทศบาลเมืองหาดใหญ่ เกิดความรุนแรงทำให้ข้าวของเสียหายไประดับหนึ่ง กลุ่มผู้คัดค้านส่งสัญญาณให้เห็นว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากวิธีที่รุนแรง ในทางกลับกัน เมื่อต้นปีนี้ อำนาจรัฐใช้ยกกองกำลังตำรวจที่เหนือกว่าทำลายการชุมนุมอย่างสันติของกลุ่มคัดค้านบริเวณใกล้โรงแรมเจบี สร้างความเสียหายต่อรถยนต์และข้าวของของฝ่ายคัดค้าน บิดเบือนและปิดข่าวสื่อมวลชน จับกลุ่มผู้นำการเคลื่อนไหว หลังจากนั้นจึงติดตามด้วยการทำลายขวัญจับกุมชาวบ้านเพิ่มเติมตั้งข้อหาต่าง ๆ สร้างความเดือดร้อนในการทำมาหากินไปตาม ๆ กัน

"อันวิสัยในพิภพแม้นรบกัน ย่อมหมายมั่นที่จะได้ชัยชนะ" ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่จะทวีความรุนแรงไปในรูปแบบใดยากที่จะคาดการณ์ได้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ มอ. เป็นมหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่แห่งความขัดแย้ง เป็นแหล่งรวมของผู้ที่มีความรู้และสติปัญญามากที่สุด อาจจะไม่เหมาะสมที่จะอยู่นิ่งเฉยเป็นทองไม่รู้ร้อน แต่ก็ยากอีกเช่นกันที่จะระงับกระแสความรุนแรงที่สั่งสม อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยน่าจะมีกิจกรรมในเชิงบวกมากกว่าการอยู่เฉย ๆ และรอผลกระทบ

เมื่อบริษัทท่อแก๊สติดต่อให้ มอ. ไปทำ EIA หรือการประเมินผลทางสิ่งแวดล้อม อาจารย์กลุ่มหนึ่งได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาเป็นทุกข์ลาภของอาจารย์เหล่านั้น เนื่องจากการทำ EIA ในประเทศไทยนั้นโดยพื้นฐานเป็นกระบวนการช่วยให้เจ้าของโครงการปรับปรุงโครงการให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดถ้าจะต้องดำเนินโครงการนั้น แต่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดูเสมือนเป็นการสร้างความชอบธรรมให้โครงการนั้นดำเนินไปได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้ฝ่ายคัดค้านโกรธเคืองอาจารย์ผู้เคราะห์ร้ายทางการเมืองเหล่านั้น

อีกด้านหนึ่งของมหาวิทยาลัยก็มีอาจารย์ผู้เห็นใจประชาชนที่เดือดร้อน ศึกษาปัญหาต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน เดินทางไปพบรัฐบาลหลายรอบเพื่อให้ข้อมูล แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อ เปลี่ยนปฏิบัติการจากสายพิราบเป็นสายเหยี่ยว คราวนี้อาจารย์ฝ่ายเห็นใจชาวบ้านอาจจะเดือดร้อนจากสายเหยี่ยวของรัฐบาลมองว่า "การจัดเลี้ยงน้ำชาเพื่อระดมหาเงินบริเวณตลาดเขียว ถนนปุณณกัณฑ์ ข้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สามารถเรี่ยไรเงินได้ประมาณ 400,000 บาท สำหรับจ่ายให้กับเจ้าของรถยนต์ที่ถูกยึดไว้เป็นของกลางในคดีก่อเหตุจลาจล" ซึ่งอาจารย์ของเราส่วนหนึ่งไปร่วมด้วยเป็นส่วนหนึ่งของความ "…พยายามดำรงและแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคัดค้านยังคงรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น…" อาจารย์ มอ. หลายคนเข้าร่วมในงานเลี้ยงน้ำชาดังกล่าวด้วย เหยี่ยวคงจะไม่ค่อยพอใจอาจารย์กลุ่มนี้

ต่อหน้าความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะทวีมากขึ้น มอ. ควรวางท่าทีอย่างไร? เราควรเอาหัวซุกทรายเหมือนนกกระจอกเทศหลบพายุหรือไม่

จุดยืนที่สำคัญของ มอ. ในกรณีนี้ ควรจะอยู่ที่วิชาการ, มนุษยธรรม และการเมือง

ในทางวิชาการ
- ประการแรก มอ. ควรรวบรวมหลักฐานทางวิชาการทั้งหมดที่อาจารย์แต่ละฝ่ายได้ศึกษาไว้ทั้งด้านสนับสนุนและด้านคัดค้าน ตรวจสอบกลั่นกรองภายในจนเป็นที่ยอมรับแล้วเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ

- ประการที่สอง มอ. ควรเก็บบันทึกข้อเท็จจริงเหตุการณ์และหลักฐานต่าง ๆ ไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นข่าวต่าง ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ เทปวิดีโอความวุ่นวายและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝ่ายค้านในการจัดประชาพิจารณ์ที่เทศบาลหาดใหญ่ บันทึกวิดีโอความรุนแรงที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้การสลายการชุมนุมอย่างสันติของฝ่ายคัดค้าน ความเดือดร้อนของชาวบ้านที่เกิดจากการติดตามจับกุมหลังจากสลายกำลังฝ่ายคัดค้านไปแล้ว รวมทั้งเรื่องต่าง ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น เพื่อผู้สนใจจะได้ศึกษาหลักฐานเหล่านี้ด้วยใจเป็นธรรม และหาทางหลีกเลี่ยงความรุนแรงเหล่านี้ในอนาคต

- ประการที่สาม มอ. อาจจะส่งเสริมการวิจัยเพื่อรวบรวมประสบการณ์ของนักวิชาการทั่วโลกในการลดความรุนแรงและความสูญเสียจากการประท้วงและการปราบจลาจล เผยแพร่วิธีการเหล่านั้นให้ทุกฝ่ายทราบเพื่อใช้เป็นทางเลือกในการดำเนินงาน

- ประการที่สี่ อุดมการนิติรัฐความถูกต้องและเป็นภาควิชาการ ความไม่เชื่อในระบบนิติรัฐเป็นความล้มเหลวทางวิชาการ ถ้าทุกคนถือสัมฤทธิผลเป็นหลัก ซึ่งก็คือวิธีที่รุนแรง สังคมจะไร้ระเบียบ ถ้าอำนาจรัฐซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ปฎิบัติการตามหลักแห่งนิติรัฐจะไปบังคับให้ประชาชนปฏิบัติได้อย่างไร อุดมการณ์นี้ควรปลูกฝังในสังคมระยะยาวผ่านระบบการศึกษา เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในอนาคต การชี้นำสังคมซึ่งเป็นปณิธานของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ต้องมุ่งสู่ความเป็นนิติรัฐ

- ประการที่ห้า การติดตามผลกระทบต่อชาวบ้านในระยะต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของ มอ. ซึ่งทั้งฝ่ายอำนาจรัฐและฝ่ายชาวบ้านน่าจะรับได้ มอ. ควรเตรียมโครงการวิจัยนี้แบบติดตามระยะยาว ทั้งนี้ผู้สนับสนุนทางการเงินควรเป็นหน่วยงานที่เป็นกลาง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) ไม่ใช่เป็นบริษัทผู้ได้กำไรจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมดังเช่นที่ได้ปฏิบัติมาเมื่อครั้งจัดทำ EIA

ในทางมนุษยธรรม
ชาวบ้านที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ไม่มีทั้งเงินและไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย การหวังพึ่งสมาคมทนายความและคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนในระยะแรกพิสูจน์แล้วว่าไร้ผล ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเองก็ยังโดนคุกคาม ดังนั้น

- ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยไม่มีความผิดเหล่านี้ สมควรได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือตามสมควรทั้งด้านกำลังใจและกำลังทรัพย์ตามสมควรโดยเฉพาะจากคนในพื้นที่ด้วยกัน

- ถ้า มอ. มีนักกฎหมาย โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ใหม่ มอ. ควรเตรียมให้ปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้เสียเปรียบในสังคม ในกรณีคือจำเลย เพื่อผดุงความเป็นธรรมตามปณิธานของสมเด็จพระราชบิดา

ในทางการเมือง
มอ. เป็นสถานการศึกษาชั้นสูงที่ประชาชนยอมรับและข้าราชการในพื้นที่รู้สึกเกรงใจ หลักสูตรปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ของ มอ. เป็นที่นิยมของข้าราชการพอ ๆ กับหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจซึ่งเป็นที่นิยมของนักธุรกิจในพื้นที่

- มอ. ควรอาศัยจุดแข็งนี้ นำปัญหาเรื่องความรุนแรงจากท่อแก๊สมาเป็นบทเรียนในภาคบริหารราชการและภาคธุรกิจ ขจัดภัยแห่งความความขลาดกลัวด้วยความเข้มแข็งแห่งข้อเท็จจริงและหลักวิชาการ

- มอ. อาจจะเป็นเวทีให้ทั้งสองฝ่ายเปลี่ยนจากการดำเนินการสงครามใต้ดินและสงครามจิตวิทยาของทั้งฝ่ายมาเป็นเวทีแห่งการเจรจา เพื่อให้ได้ทางเลือกที่ไม่ต้องอาศัยความรุนแรง

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

 

บทความใหม่สัปดาห์นี้ (1)
บทความใหม่สัปดาห์นี้ (2)
บทความใหม่สัปดาห์นี้ (3)
บทความใหม่สัปดาห์นี้ (4)
บทความใหม่สัปดาห์นี้ (5)
บทความใหม่สัปดาห์นี้ (6)
บทความใหม่สัปดาห์นี้ (7)
บทความใหม่สัปดาห์นี้ (8)
วันที่ 16 - 30 กรกฎาคม 46
คลิกไปหน้าสารบัญ
เพื่อดูบทความใหม่
ข่าวสารร้อนแรงประจำสัปดาห์ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - กรกฎาคม 2546 -The Midnight University - Hot issue in this week